หน้าแรก นานาสาระจากนักเรียนไทยในต่างแดน
เมื่อชาวฝรั่งเศสลงประชามติไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรป (ตอนจบ) โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ ๒) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, DEA de Droit public général et Droit de l’environnement (Université de Nantes)
21 สิงหาคม 2548 23:44 น.
 
เมื่อชาวฝรั่งเศสลงประชามติไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรป (ตอนจบ) โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
       
       ๒. ฝรั่งเศสกับการลงประชามติในประเด็นธรรมนูญยุโรป
       
สนธิสัญญาก่อตั้งธรรมนูญยุโรป (Le traité établissant une Constitution pour l'Europe) กำหนดว่าสนธิสัญญาก่อตั้งธรรมนูญยุโรปจะมีผลใช้บังคับก็ต่อเมื่อ ๒๕ รัฐสมาชิกให้สัตยาบัน หากมีเพียงรัฐสมาชิกเพียงรัฐเดียวที่ไม่ให้สัตยาบัน ธรรมนูญยุโรปก็เป็นอันสิ้นผลไป เท่ากับว่าธรรมนูญยุโรปนี้จะมีผลใช้บังคับได้จำต้องมีมติเอกฉันท์จากรัฐสมาชิกทั้งหมด ส่วนแต่ละรัฐสมาชิกจะให้สัตยาบัน ด้วยวิธีการใดให้เป็นไปตามกฎหมายภายในของแต่ละรัฐสมาชิก
       ประเทศที่จัดให้มีการให้สัตยาบันด้วยช่องทางรัฐสภา คือให้รัฐสภาเป็นผู้ลงมติ มี ๑๕ ประเทศ ได้แก่ เยอรมัน เบลเยียม สวีเดน ฟินแลนด์ เอสโตเนีย แลตเวีย ลิธัวเนีย ไซปรัส สโลเวเนีย สโลวะเกีย กรีซ ฮังการี ออสเตรีย อิตาลี มอลตา ประเทศที่จัดให้มีการให้สัตยาบันด้วยช่องทางประชามติ คือให้ประชาชนเป็นผู้ลงมติโดยตรง มี ๑๐ ประเทศ ได้แก่ ไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ลักเซมเบิร์ก สเปน โปแลนด์ ฮอลแลนด์ เดนมาร์ก โปรตุเกส สาธารณรัฐเชค
       
       จนถึงขณะนี้มีประเทศที่ให้สัตยาบันไปแล้วรวม ๑๓ ประเทศ คือ ลิธัวเนีย (รัฐสภาให้ความเห็นชอบเมื่อ ๑๑ พ.ย.๒๐๐๔) ฮังการี (รัฐสภาให้ความเห็นชอบเมื่อ ๒๐ ธ.ค.๒๐๐๔) อิตาลี (รัฐสภาให้ความเห็นชอบเมื่อ ๒๕ มกราคม ๒๐๐๕) สโลเวเนีย (รัฐสภาให้ความเห็นชอบเมื่อ ๑ ก.พ.๒๐๐๕) สเปน (ประชามติให้ความเห็นชอบเมื่อ ๒๐ ก.พ. ๒๐๐๕) กรีซ (รัฐสภาให้ความเห็นชอบเมื่อ ๑๙ เม.ย.๒๐๐๕) สโลวะเกีย (รัฐสภาให้ความเห็นชอบเมื่อ ๑๑ พ.ค. ๒๐๐๕) ออสเตรีย (รัฐสภาให้ความเห็นชอบเมื่อ ๑๒ พ.ค. ๒๐๐๕) เยอรมัน (รัฐสภาให้ความเห็นชอบเมื่อ ๒๗ พ.ค. ๒๐๐๕) ฝรั่งเศส (ประชามติไม่ให้ความเห็นชอบเมื่อ ๒๙ พ.ค. ๒๐๐๕) ฮอลแลนด์ (ประชามติไม่ให้ความเห็นชอบเมื่อ ๑ มิ.ย. ๒๐๐๕) มอลตา (รัฐสภาให้ความเห็นชอบเมื่อ ๖ ก.ค. ๒๐๐๕) และลักเซมเบิร์ก (ประชามติให้ความเห็นชอบเมื่อ ๑๐ ก.ค. ๒๐๐๕) เหลืออีก ๑๒ ประเทศที่ยังไม่ให้สัตยาบันแบ่งเป็น ๖ ประเทศที่ใช้ช่องทางรัฐสภา ได้แก่ เบลเยียม (อยู่ในระหว่างพิจารณา) ไซปรัส (อยู่ในระหว่างพิจารณา) แลตเวีย (อยู่ในระหว่างพิจารณา) มอลตา (ก.ค.๒๐๐๕) เอสโตเนีย (ปลายปี ๒๐๐๕) สวีเดน (ธันวาคม ๒๐๐๕) ฟินแลนด์ (ธันวาคม ๒๐๐๕) และ ๖ ประเทศที่ใช้ช่องทางประชามติ ได้แก่ โปแลนด์ (๒๕ ก.ย. ๒๐๐๕) เดนมาร์ก (๒๗ ก.ย. ๒๐๐๕) โปรตุเกส (ต.ค.๒๐๐๕) ไอร์แลนด์ (ต้นปี ๒๐๐๖) สหราชอาณาจักร (ฤดูใบไม้ผลิ ๒๐๐๖) สาธารณรัฐเชค (ยังไม่กำหนด)
       กล่าวสำหรับฝรั่งเศส ประธานาธิบดี Jacques Chirac ได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่า เพื่อประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางเช่นกรณีรัฐธรรมนูญยุโรปนี้ ตนจะไม่ถือสิทธิให้สัตยาบันสนธิสัญญาแต่เพียงลำพัง แต่จะอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ แห่งรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนลงประชามติว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการให้สัตยาบันสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรป รัฐบาลจึงได้จัดทำร่างกฎหมายมาฉบับหนึ่ง ชื่อว่า “ร่างรัฐบัญญัติอนุญาตให้มีการให้สัตยาบันสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรป” จากนั้นก็ให้ประชาชนมาลงประชามติต่อร่างรัฐบัญญัตินี้ในปัญหาที่ว่า “ท่านเห็นชอบกับร่างรัฐบัญญัติซึ่งอนุญาตให้มีการให้สัตยาบันสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรปหรือไม่” อีกนัยหนึ่งคือ ให้ประชาชนไปลงประชามติให้ความเห็นชอบในร่างรัฐบัญญัติ เมื่อร่างรัฐบัญญัติได้รับความเห็นชอบก็เท่ากับว่าเป็นการอนุญาตให้ประธานาธิบดีไปให้สัตยาบันสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรปได้นั่นเอง
       ในส่วนของการลงประชามติในฝรั่งเศสนั้น นับแต่เริ่มนำระบบการลงประชามติมาใช้ในสาธารณรัฐที่ ๕ ตั้งแต่ปี ๑๙๕๘ ฝรั่งเศสมีการลงประชามติรวม ๙ ครั้ง
       ครั้งแรก วันที่ ๒๘ กันยายน ๑๙๕๘
       
การลงประชามติในเรื่องให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ ๑๙๕๘ ร้อยละ ๘๒.๖๐ เห็นด้วย
       ครั้งที่สอง วันที่ ๘ มกราคม ๑๙๖๑
       
การลงประชามติในเรื่องการปกครองตนเองของชาวแอลจีเรีย ร้อยละ ๗๔.๙๙ เห็นด้วย
       ครั้งที่สาม วันที่ ๘ เมษายน ๑๙๖๒
       
การลงประชามติในเรื่องข้อตกลงเมืองเอเวียงว่าด้วยการหยุดยิงที่แอลจีเรีย ร้อยละ ๙๐.๘๑ เห็นด้วย
       ครั้งที่สี่ วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๑๙๖๒
       
การลงประชามติในเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ร้อยละ ๖๒.๒๕ เห็นด้วย
       ครั้งที่ห้า วันที่ ๒๗ เมษายน ๑๙๖๙
       การลงประชามติในเรื่องการกระจายอำนาจให้แคว้นและการเปลี่ยนแปลงบทบาทของวุฒิสภา ร้อยละ ๕๒.๔๑ ไม่เห็นด้วย โดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนมากถึงร้อยละ ๘๐
       ครั้งที่หก วันที่ ๒๓ เมษายน ๑๙๗๒
       การลงประชามติในเรื่องการรับสหราชอาณาจักร เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ และนอร์เวย์เข้าเป็นสมาชิกในประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ร้อยละ ๖๘.๓๒ เห็นด้วย มีผู้ไม่ออกมาใช้สิทธิร้อยละ ๓๙.๗๖
       ครั้งที่เจ็ด วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๑๙๘๘
       การลงประชามติในเรื่องสถานะใหม่ของนิว คาเลโดเนีย ดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส ร้อยละ ๘๐ เห็นด้วยแต่มีผู้ไม่ออกมาใช้สิทธิสูงถึงร้อยละ ๖๓.๑๑
       ครั้งที่แปด วันที่ ๒๐ กันยายน ๑๙๙๒
       การลงประชามติในเรื่องรับรองสนธิสัญญามาสทริชซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่วางรากฐานสหภาพยุโรปในปัจจุบันนี้ ร้อยละ ๕๑.๐๕ เห็นด้วย ผู้ไม่ออกมาใช้สิทธิร้อยละ ๓๐.๓๑
       ครั้งที่เก้า วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๐๐๐
       
การลงประชามติในเรื่องลดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีจากเดิม ๗ ปีให้เหลือ ๕ ปี ร้อยละ ๗๓.๒๑เห็นด้วย ผู้ไม่ออกมาใช้สิทธิสูงเป็นประวัติการณ์เกือบร้อยละ ๗๐
       
       การลงประชามติครั้งที่สิบในเรื่องของธรรมนูญยุโรปมีขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๐๐๕ ผลปรากฏว่าผู้ให้ความเห็นชอบร้อยละ ๔๕.๓๒ ผู้ไม่ให้ความเห็นชอบร้อยละ ๕๔.๖๘ จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิร้อยละ ๖๙.๓๔ มีบัตรเสียหรือไม่ลงคะแนนร้อยละ ๒.๕๑
       
       ๒.๑. ทำไมชาวฝรั่งเศสไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรป?
       ทำไมชาวฝรั่งเศสไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรปถึงเกือบร้อยละ ๕๕ ? ต่อประเด็นปัญหานี้ เราพอจะวิเคราะห์ถึงสาเหตุได้ ๔ ประการ ดังนี้
       
       ประการแรก ชาวฝรั่งเศสต้องการลงโทษรัฐบาล
       
เป็นที่ทราบกันดีว่าการลงคะแนนตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งก็ดี การลงประชามติก็ดี เปรียบเสมือนการเล่นกับกระแสสังคม ใครจับอารมณ์ของประชาชนในช่วงนั้นถูกหรือใครช่วงชิงจังหวะได้ถูกที่ถูกเวลาย่อมเป็นผู้ชนะ และคงไม่เกินเลยไปนักหากจะกล่าวว่าผลของการลงคะแนนเสียงสะท้อนถึงอารมณ์ทางการเมืองของประชาชนในห้วงเวลานั้น
       
       ก่อนหน้านี้ประชาชนได้ลงคะแนนไปในทิศทางไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลมาแล้วถึงสองครั้ง ครั้งแรก การเลือกตั้งสมาชิกสภาแคว้นเมื่อเดือนมีนาคม ๒๐๐๔ ซึ่งฝ่ายซ้ายได้ไปเกือบทุกที่นั่ง และครั้งที่สอง การเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๐๐๔ ที่ฝ่ายซ้ายได้ที่นั่งไปมากกว่าครึ่งอีกเช่นกัน อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลนิ่งนอนใจกับสัญญาณ “ไม่เอา” รัฐบาลทั้งสองครั้งดังกล่าว ตรงกันข้ามรัฐบาลพยายามฟื้นคะแนนนิยมกลับมาเรื่อยๆ แต่ทว่าเมื่อใดที่คะแนนนิยมเริ่มฟื้นกลับมา รัฐบาลก็มักจะมีโครงการหรือนโยบายใหม่ๆที่กระทบส่วนได้เสียของประชาชนจำนวนมาก เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย การปฏิรูประบบประกันสังคม การขยายระยะเวลาการทำงาน การปฏิรูประยะเวลาเกษียณอายุ ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลอ้างเสมอมาว่านโยบายแต่ละชุดจำเป็นต่อการปฏิรูประบบเศรษฐกิจและสังคมเสมือนกับการกินยาขมเพื่อให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงเช่นนี้แล้วจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าตลอดสามปีที่ผ่านมาทำไมคะแนนนิยมของรัฐบาลจึงไม่กระเตื้องขึ้นเลย
       
       เมื่ออารมณ์ “ไม่เอา” รัฐบาลพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ประจวบเข้ากับกำหนดวันลงประชามติมาถึงพอดี มิต้องสงสัยเลยว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยการลงประชามติ ๒๙ พ.ค. เป็นช่องทางในการลงโทษรัฐบาลเป็นครั้งที่สาม
       
       ประการที่สอง ชาวฝรั่งเศสจำนวนมากเกรงว่าจะเสียผลประโยชน์จากธรรมนูญยุโรป
       เนื้อหาในธรรมนูญยุโรปมีหลายส่วนที่อาจกระทบระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ดำรงอยู่มานานในฝรั่งเศส โดยเฉพาะในภาค ๓ ว่าด้วยนโยบายของสหภาพยุโรป กล่าวกันว่าธรรมนูญยุโรปนี้สมาทานระบบทุนนิยมเสรีซึ่งสอดคล้องกับกระแสหลักของโลกปัจจุบันและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของการก่อตั้งสหภาพยุโรปที่ต้องการให้การไหลเวียนของทุนภายในสหภาพยุโรปเป็นไปอย่างเสรี ชาวฝรั่งเศสจำนวนมากเกรงกันว่าระบบบริการสาธารณะและระบบสวัสดิการสังคมที่เลื่องชื่อในการคุ้มครองคนฝรั่งเศสจะถูกสั่นคลอนโดยธรรมนูญยุโรปไม่มากก็น้อย และยังวิตกกันว่าธรรมนูญยุโรปจะเปลี่ยนแปลงให้สหภาพยุโรปและฝรั่งเศสไปในทิศทางเดียวกับสหรัฐอเมริกา
       
       ประการที่สาม ความเข้าใจที่ผิดพลาด
       ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือความไม่รู้ก็ตาม คนฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งนำประเด็นปัญหาแทบจะทุกเรื่องเข้ามาพัวพันกับธรรมนูญยุโรปนี้ ราวกับว่าการลงประชามติไม่เอาธรรมนูญยุโรปเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอย่างไรอย่างนั้น ประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ในสังคมขณะนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างว่าเป็นผลมาจากธรรมนูญยุโรป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบการสอบ Bac การเปลี่ยนหลักสูตรในมหาวิทยาลัยหรือที่เรียกกันว่า LMD การขยายเวลาเกษียณ การขยายเวลาการทำงาน การลดจำนวนวันหยุด การก่อการร้าย การห้ามใช้ผ้าคลุมศีรษะของสตรีมุสลิมในโรงเรียน อัตราการว่างงาน การไหลออกของผู้ประกอบการไปยังประเทศจีนและยุโรปตะวันออก การทุ่มตลาด ฯลฯ ทั้งๆที่ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับธรรมนูญยุโรปแต่ประการใด หากจะเกี่ยวข้องก็เพียงแต่ว่าธรรมนูญยุโรปพูดไว้กว้างๆ ส่วนในรายละเอียดเป็นเรื่องในทางปฏิบัติที่ต้องเจรจาต่อรองกันต่อไปในอนาคต
       
       นอกจากนี้ชาวฝรั่งเศสบางส่วนยังเข้าใจผิดว่าการไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรปจะทำให้รัฐบาลหันมาสนใจในประเด็นที่ตนเรียกร้อง หรือแสดงถึงความเป็น “กบฏ” ต่อการเปลี่ยนแปลงของฝรั่งเศสเพื่อรับกับกระแสโลกในศตวรรษที่ ๒๑ หรืออาจทำให้ฝรั่งเศสไปเจรจาต่อรองแก้ไขเนื้อหาบางส่วนได้อย่างมีน้ำหนัก
       
       ความเข้าใจที่ผิดพลาดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลอ่อนประชาสัมพันธ์ ตรงกันข้ามรัฐบาลและกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนธรรมนูญยุโรปต่างทุ่มเทในการประชาสัมพันธ์มากพอควร แต่ทว่าในเมื่ออารมณ์ของประชาชนไม่เห็นด้วยและเลือกที่จะปักใจเชื่อแล้วว่าธรรมนูญยุโรปไม่ส่งผลดีต่อฝรั่งเศสแล้ว ก็เป็นการยากที่จะรณรงค์ทำความเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักศึกษา เมื่ออารมณ์ของนักศึกษาคนหนุ่มสาวเดือดพล่านแล้วก็เปรียบเสมือนกับยาสีฟันที่ถูกบีบออกจากหลอดซึ่งเราไม่อาจจับมันยัดกลับเข้าไปในหลอดได้ดังเดิม
       
       ประการที่สี่ เสียงในฝ่ายซ้ายแตกกันเอง
       
ธรรมชาติของฝ่ายขวาจัดที่บูชาในชาตินิยมและอธิปไตยนิยมย่อมไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรปที่มีเป้าหมายบูรณาการแต่ละประเทศเข้าด้วยกันโดยลดบทบาทของรัฐสมาชิกลงแต่กลับไปเน้นที่บทบาทของสหภาพยุโรปเป็นหลัก เช่นเดียวกัน ธรรมชาติของฝ่ายซ้ายจัดที่ต่อต้านรัฐ ตลาด ทุน ตลอดจนการแข่งขันเสรี แน่นอนที่จะไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรปซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมในสหภาพยุโรป จึงเป็นการยากที่จะหวังคะแนนเสียงเห็นด้วยจากสองขั้วนี้ ส่วนรัฐบาลที่เป็นขวากลางซึ่งมีนโยบายสนับสนุนสหภาพยุโรปมาตลอดและยังเป็นฝ่ายริเริ่มการจัดทำธรรมนูญยุโรป จึงย่อมคาดหวังได้ว่าฝ่ายขวากลางจะลงคะแนนเสียงให้กับธรรมนูญยุโรป อย่างไรก็ตามเพียงแค่เสียงของฝ่ายขวากลางอาจได้ไม่เกินร้อยละ ๕๐ จึงจำเป็นต้องอาศัยเสียงของฝ่ายซ้ายที่มีพรรคสังคมนิยมและพรรคเขียวมาร่วมสนับสนุน
       
       เมื่อพิจารณาถึงฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศสแล้ว โดยปกติพรรคสังคมนิยมและพรรคเขียวจะมีนโยบายสนับสนุนสหภาพยุโรปเสมอมา การปฏิรูปสหภาพยุโรปในหลายกรณีทำในสมัยรัฐบาลฝ่ายซ้าย แรกเริ่มเดิมทีคาดกันว่าไม่น่าจะมีปัญหาในการได้คะแนนเสียงสนับสนุนแต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น พรรคสังคมนิยมเกิดเสียงแตกแบ่งเป็นสองขั้ว ขั้วสนับสนุนนำโดยนาย Francois Hollande ผู้นำหมายเลขหนึ่งของพรรค นาย Lionel Jospin อดีตนายกรัฐมนตรี นาย Jack Lang อดีต รมต.ศึกษา นาง Martine Aubry อดีต รมต.สาธารณสุข นาย Dominic Strauss-Kahn อดีต รมต.คลัง ฯลฯ ขั้วต่อต้านนำโดยนาย Laurent Fabius อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้นำหมายเลขสองของพรรค นาย Henri Emmanuelli อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ความขัดแย้งทางความคิดภายในพรรคสังคมนิยมไม่อาจหาข้อยุติได้จึงนำมาซึ่งการจัดให้มีการลงมติภายในพรรคโดยสมาชิกพรรคทั่วประเทศ ผลปรากฏว่าฝ่ายสนับสนุนธรรมนูญยุโรปชนะไปเพราะเสียงข้างมากและผู้กุมอำนาจในพรรคส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นฝ่ายสนับสนุนทั้งสิ้น ทางด้านฝ่ายต่อต้านธรรมนูญยุโรปก็ยังคงยืนยันไม่เห็นด้วยกับมติพรรคจึงออกมารณรงค์หาเสียงในนามพรรคเช่นกันภายใต้ชื่อว่าพรรคสังคมนิยมที่ไม่สนับสนุนธรรมนูญยุโรป กล่าวกันว่าการแตกเป็นสองขั้วความคิดในพรรคสังคมนิยมส่วนหนึ่งมาจากสงครามภายในพรรคที่ทั้ง Hollande และ Fabius ต่างแย่งชิงการนำพรรคเพื่อเป็นผู้สมัครประธานาธิบดี ๒๐๐๗
       
       แม้ฝ่ายสนับสนุนธรรมนูญยุโรปได้รับชัยชนะในการลงคะแนนภายในพรรคไป แต่ผลการลงประชามติกลับตรงกันข้าม กล่าวคือ ผู้สนับสนุนพรรคสังคมนิยมไปลงคะแนนไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรปถึงร้อยละ ๕๙ ในขณะที่เห็นด้วยเพียงร้อยละ ๔๑ เท่ากับว่าฝ่ายสนับสนุนธรรมนูญยุโรปนำโดยนาย Hollande ได้รับชัยชนะภายในพรรคแต่ฝ่ายไม่สนับสนุนนำโดยนาย Fabius แย่งชิงเสียงของมวลชนผู้ลงคะแนนตัวจริงได้มากกว่า
       
       เมื่อสถานการณ์ที่ฝ่ายขวาจัดและซ้ายจัดไม่เอาธรรมนูญยุโรป ฝ่ายขวากลางที่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรปก็มีเสียงไม่เพียงพอ ประกอบกับเสียงฝ่ายซ้ายแตกออกเป็นสองขั้วเช่นนี้แล้ว โอกาสที่ผลการลงประชามติจะออกมาในทางที่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรปคงเป็นการยากอยู่ไม่น้อย ปรากฏให้เห็นจากตัวเลขที่น่าสนใจหลังจากผลการลงประชามติออกมาอย่างเป็นทางการ ดังนี้
       ผู้สนับสนุนพรรค UMP (พรรครัฐบาล ขวากลาง) ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๗๖
       ผู้สนับสนุนพรรค UMP (พรรครัฐบาล ขวากลาง) ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๒๔
       ผู้สนับสนุนพรรค UDF (ขวากลาง) ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๗๖
       ผู้สนับสนุนพรรค UDF (ขวากลาง) ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๒๔
       ผู้สนับสนุนพรรค FN และพรรค MPF (ขวาจัด) ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๔
       ผู้สนับสนุนพรรค FN และพรรค MPF (ขวาจัด) ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๙๖
       รวมฝ่ายขวา ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๖๕
       รวมฝ่ายขวา ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๓๕
       
       ผู้สนับสนุนพรรคสังคมนิยม ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๔๑
       ผู้สนับสนุนพรรคสังคมนิยม ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๕๙
       ผู้สนับสนุนพรรคเขียวและพรรคอื่นๆที่มีแนวทางเดียวกับพรรคเขียว ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๓๖
       ผู้สนับสนุนพรรคเขียวพรรคอื่นๆที่มีแนวทางเดียวกับพรรคเขียว ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๖๔
       ผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๕
       ผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๙๕
       รวมฝ่ายซ้าย ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๓๓
       รวมฝ่ายซ้าย ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๖๗
       ไม่ระบุว่าสนับสนุนพรรคใด ออกเสียงเห็นด้วย ร้อยละ ๓๙
       ไม่ระบุว่าสนับสนุนพรรคใด ออกเสียงไม่เห็นด้วย ร้อยละ ๖๑
       
       ๒.๒. ผลกระทบต่อฝรั่งเศส
       เมื่อผลการลงประชามติออกมาว่าชาวฝรั่งเศสไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรปเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศฝรั่งเศสทั้งการเมืองภายในประเทศและบทบาทของฝรั่งเศสต่อสหภาพยุโรป
       
       ผลกระทบประการแรก : การเมืองภายในประเทศ
       ประธานาธิบดี Jacques Chirac และแกนนำรัฐบาลรู้ดีว่าในเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรปนั้นมีจำนวนหนึ่งทำไปเพื่อลงโทษรัฐบาล เมื่อคนส่วนใหญ่ส่งสัญญาณแรงๆไปที่รัฐบาลเช่นนี้ Chirac ก็มิอาจนิ่งนอนใจได้ ทันทีที่ผลการลงคะแนนออกมาอย่างไม่เป็นทางการ Chirac รีบออกโทรทัศน์แถลงทันทีว่าจะมีการปรับเปลี่ยนการเมืองภายในบางประการแน่นอน สองวันให้หลัง นาย Jean-Pierre Raffarin ก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
       
       กล่าวสำหรับนาย Raffarin ผู้นี้ ชาวฝรั่งเศสเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าตั้งแต่ปี ๒๐๐๒ จนถึงปัจจุบัน นับเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ฝรั่งเศสมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้ความอันดับต้นๆในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ อาจสงสัยกันว่าแล้วเหตุใด Chirac จึงเลือกเขามาเป็นนายกรัฐมนตรี สาเหตุที่ Chirac เลือกนาย Raffarin และปล่อยให้ดำรงตำแน่งมาได้สามปีท่ามกลางเสียงก่นด่าจากทุกสารทิศมีเพียงประการเดียว คือ Chiracไม่ต้องการนายกรัฐมนตรีที่เข้มแข็งและมีคะแนนนิยมมากกว่าตน บทเรียนจากรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี Lionel Jospin ที่มาจากฝ่ายซ้ายสอน Chirac เสมอมาว่า ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกนายกรัฐมนตรีที่ง่ายต่อการควบคุมไว้จะดีกว่า กล่าวให้ถึงที่สุด การลาออกจากตำแหน่งของนาย Raffarin ก็เท่ากับว่า Raffarin ตกเป็นผู้รับเคราะห์จากผลการลงประชามติในครั้งนี้โดยแท้
       
       Chirac รีบกลบกระแสความไม่พอใจรัฐบาลไม่ให้ประทุต่อไปด้วยการให้ Raffarin ลาออก (อาจไปเป็นประธานวุฒิสภาต่อไป) แล้วตั้งนาย Dominic de Villepin มาดำรงตำแหน่งแทน พร้อมทั้งแต่งตั้งนาย Nicolas Sarkozy คู่ปรับต่างวัยซึ่งมีคะแนนนิยมสูงกลับมาเป็น รมต.มหาดไทยอีกคำรบหนึ่ง
       
       กล่าวสำหรับนาย de Villepin ผู้นี้ รู้กันดีว่าเป็นผู้สนับสนุนชีรัค (chiraquien) ตัวยง พิสูจน์ฝีไม้ลายมือมาแล้วทั้งในตำแหน่ง รมต.ต่างประเทศ และรมต.มหาดไทย คะแนนนิยมก็ไม่เลวนัก Chirac จึงเลือกมาเพราะเป็นคนที่ตนควบคุมได้และมีภาพลักษณ์ดีในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม de Villepin ก็มีข้อเสียที่ภาพลักษณ์ของนักการทูตซึ่งดูไม่ค่อยติดดินเท่าไรนักประกอบกับไม่เคยลงรับสมัครเลือกตั้งในทุกระดับทำให้ไม่ค่อยมีฐานคะแนนเป็นของตนเอง
       
       ส่วนนาย Sarkozy นั้น เป็นที่สงสัยมากว่าไฉนจึงยอมกลับมาเป็นหมายเลขสองในรัฐบาลนี้อีก Sarkozy มีความต้องการเป็นผู้สมัครในนามพรรครัฐบาลเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ๒๐๐๗ ซึ่งอาจต้องขัดใจกับ Chirac ที่ปรารถนาจะลงอีกรอบเช่นกัน ปลายปีที่แล้ว Sarkozy ลาออกจาก รมต.คลัง ไปเป็นหัวหน้าพรรค UMP เพื่อคุมฐานเสียงพรรคในการผลักดันตนเองเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ๒๐๐๗ แล้วเหตุใดครั้งนี้จึงยอมกลับมาช่วยกันกู้วิกฤต และเหตุใดจึงไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
       
       การปรับเปลี่ยนตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลชุดนี้ของ Chirac สะท้อนให้เห็นว่าเขาตระหนักดีถึงอุณหภูมิการเมืองของประชาชนที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ และการปรับเปลี่ยนในครั้งนี้ก็นับได้ว่าเป็นจังหวะที่เหมาะเจาะอีกด้วย เพราะเมื่อปรับเสร็จก็เข้าฤดูพักร้อนที่ทุกคนจะละวางประเด็นการเมืองไว้ชั่วคราวแล้วมุ่งหน้าไปพักผ่อนอย่างเต็มที่ กว่าจะกลับมาสู้กันใหม่ก็ต้นเดือนกันยายน ซึ่งขณะนั้นอุณหภูมิการเมืองที่ร้อนระอุมาก่อนก็อาจลดลงได้
       
       ผลกระทบประการที่สอง : บทบาทของฝรั่งเศสในสหภาพยุโรป
       
เมื่อฝรั่งเศสในฐานะผู้ก่อตั้งและเป็นแกนนำของสหภาพยุโรป อีกทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มในการจัดทำธรรมนูญยุโรปนี้ด้วย กลับกลายเป็นประเทศแรกที่ปฏิเสธไม่รับธรรมนูญยุโรปเสียเอง เช่นนี้แล้วภาวะผู้นำของฝรั่งเศสในสหภาพยุโรปคงลดลงไปอย่างมิต้องสงสัย
       
       คืนวันที่ ๒๙ พ.ค. หลังจากรู้ผลอย่างไม่เป็นทางการ Chirac ออกมาแถลงทันทีว่า ผลของประชามตินี้เป็นการแสดงออกที่สวยงามตามวิถีประชาธิปไตย ประชาชนในฐานะเจ้าของอธิปไตยได้แสดงเจตนารมณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรป อย่างไรก็ตาม Chirac ย้ำว่าผลครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าฝรั่งเศสจะไม่เอาด้วยกับการรวมตัวกันในนามสหภาพยุโรป พร้อมทั้งยืนยันว่าฝรั่งเศสจะเป็นแกนหลักในการดำเนินงานของสหภาพยุโรปต่อไป อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วฝรั่งเศสย่อมเสียหน้าไปพอสมควร และจะยิ่งเสียหนักขึ้นหากสมาชิกทั้ง ๒๔ ประเทศต่างเห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรป แต่กลับไม่มีผลใช้บังคับเนื่องจากฝรั่งเศสเป็น “แกะดำ” เพียงประเทศเดียวที่ไม่เห็นด้วย
       
       ฝรั่งเศสมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการจับมือกับเยอรมันเพื่อเป็นแกนนำของสหภาพยุโรปในการต่อสู้กับสหรัฐอเมริกาในเวทีการเมืองโลก ปรากฏว่าเยอรมันให้สัตยาบันธรรมนูญยุโรปนี้ไปแล้วด้วยช่องทางรัฐสภา เมื่อ “Franco-allemand” ไม่ครบคู่เสียแล้ว ก็เป็นที่น่าคิดว่าเยอรมันจะกลายเป็นผู้นำเดี่ยวในสหภาพยุโรปหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีสเปนซึ่งต้องการขึ้นมาเป็นแกนนำบ้าง แต่ติดที่ว่าไม่ได้เป็นประเทศผู้ก่อตั้งและไม่มีทุนมากเหมือนแกนนำประเทศอื่นๆ จากประเด็นธรรมนูญยุโรปในครั้งนี้ นับว่าสเปนได้ช่วงชิงการนำไปมากขึ้นเพราะเป็นประเทศแรกที่ให้สัตยาบันด้วยช่องทางประชามติ
       
       ประเด็นที่น่าคิดต่อไปอีก เมื่อธรรมนูญยุโรปคว่ำไปแล้ว หากมีการเจรจาเพื่อจัดทำธรรมนูญยุโรปใหม่ในครั้งต่อไป ฝรั่งเศสจะมีอำนาจต่อรองเหลือมากน้อยเพียงใด ถ้าจะเสนอเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือหาเสียงสนับสนุนจากเพื่อนสมาชิกแล้วจะมีใครฟังฝรั่งเศสอีกหรือไม่
       
       ฝ่ายที่สนับสนุนธรรมนูญยุโรปในฝรั่งเศสต่างหยิบยกข้อวิตกเหล่านี้มาเป็นประเด็นหาเสียงในการรณรงค์ก่อนมีประชามติ แต่ฝ่ายไม่สนับสนุนกลับเห็นตรงกันข้ามว่าหากฝรั่งเศสรับธรรมนูญยุโรปไปก็ไปแก้ไขเพิ่มเติมได้ลำบากเพราะต้องใช้มติเอกฉันท์หรือมติเสียงข้างมากพิเศษ
       
       อย่างไรก็ตาม แม้ฝรั่งเศสอาจเสียหน้าและอาจเสียบทบาทในสหภาพยุโรปไปบ้าง แต่ในท้ายที่สุดสหภาพยุโรปคงขาดฝรั่งเศสไปไม่ได้และฝรั่งเศสก็มิอาจขาดจากสหภาพยุโรปได้เช่นกัน ฝรั่งเศสยังมีศักยภาพเพียงพอในการผลักดันสหภาพยุโรปไปข้างหน้าเพื่อต่อกรกับสหรัฐอเมริกา (มหาอำนาจปัจจุบัน) จีนและอินเดีย (มหาอำนาจใหม่) และรัสเซีย (มหาอำนาจเก่าที่อาจจะกลับมา) ในขณะที่ฝรั่งเศสเองก็มิอาจเผชิญหน้ากับมหาอำนาจเหล่านี้เพียงลำพัง ด้วยเหตุนี้ทั้งฝรั่งเศสและประเทศสมาชิกอื่นๆต่างก็จำเป็นต้องรวมตัวกันเพื่อช่วงชิงการนำในเวทีการเมืองโลก
       
       ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าเราพิจารณาถึงฝ่ายที่ไม่สนับสนุนธรรมนูญยุโรป เสียงส่วนใหญ่ก็ไม่ได้บอกว่าจะไม่สนับสนุนการรวมตัวกันในนามสหภาพยุโรป หากแต่ขอเพียงแก้ไขปรับปรุงสหภาพยุโรปในทางที่เขาเห็นควร เช่น ไม่ทุนนิยมเสรีจนเกินไป, ปกป้องประโยชน์และเอกลักษณ์ของชาติบ้าง เป็นต้น มีเพียงเสียงส่วนน้อยซึ่งเป็นพวกขวาจัดเท่านั้นที่ประกาศอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ฝรั่งเศสไปร่วมกับสหภาพยุโรป
       
       ๒.๓. ผลกระทบต่อประเทศสมาชิกอื่นๆและสหภาพยุโรป
       ธรรมนูญยุโรปนี้จะมีผลใช้บังคับก็ต่อเมื่อสมาชิกทั้ง ๒๕ ประเทศให้สัตยาบันทั้งหมด เมื่อฝรั่งเศสไม่ให้สัตยาบันเป็นประเทศแรกก็หมายความว่าไม่มีทางที่ธรรมนูญยุโรปนี้จะมีผลไม่ว่าประเทศที่เหลือจะให้สัตยาบันทั้งหมดก็ตาม อย่างไรก็ตาม ประเทศที่เริ่มกระบวนการให้สัตยาบันหลังฝรั่งเศสหลายประเทศ เช่น ฮอลแลนด์ ลักเซมเบิร์ก โปแลนด์ ต่างยืนยันว่า ผลประชามติ ๒๙ พ.ค. ไม่มีผลเหนี่ยวรั้งกระบวนการให้สัตยาบันของตน มีเพียงสหราชอาณาจักรเท่านั้นที่ประกาศว่าจะไม่ดำเนินกระบวนการให้สัตยาบันด้วยประชามติเพราะไม่เห็นความจำเป็นอีกต่อไป เพราะถึงตนจะยอมรับธรรมนูญยุโรปนี้ก็ไม่มีทางที่จะมีผลใช้บังคับ
       
       เป็นที่ทราบกันดีว่าสหราชอาณาจักรไม่ได้พิสมัยในสหภาพยุโรปเท่าไรนัก จะเห็นได้จากการไม่ร่วมใช้เงินยูโร หรือการไม่เข้าร่วมในข้อตกลง “เช็งเก้น” ที่กำหนดให้การเดินทางภายในสหภาพยุโรปเป็นไปอย่างเสรีโดยไม่ต้องขอวีซ่า ส่วนหนึ่งมาจากคนอังกฤษซึ่งมีความอนุรักษ์และภาคภูมิใจในชาติของตนสูง และไม่อยากเสียเอกลักษณ์บางอย่างจากการเข้าร่วมสหภาพยุโรป เชื่อกันว่าเมื่อไรที่อังกฤษทำประชามติในประเด็นที่เกี่ยวกับสหภาพยุโรปแล้ว ยากนักที่จะผ่านได้ กรณีนี้ก็เช่นกัน รัฐบาลสหราชอาณาจักรคาดการณ์ไว้ว่าอาจมีสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งที่ไม่รับธรรมนูญยุโรปนี้ และประเทศนั้นก็ต้องรับผิดชอบไปในข้อหาเป็นต้นเหตุคว่ำธรรมนูญ ตนจึงหลีกเลี่ยงขอเป็นประเทศสุดท้ายที่จะเริ่มกระบวนการให้สัตยาบันในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี ๒๐๐๖ หากมีอุบัติเหตุให้ธรรมนูญยุโรปคว่ำไปเสียก่อน สหราชอาณาจักรก็จะไม่ขอเริ่มกระบวนการให้สัตยาบัน และยังไม่ตกเป็นที่กล่าวหาว่าเป็นเหตุให้ธรรมนูญยุโรปไม่มีผลใช้บังคับ
       
       ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑ มิ.ย. ที่ผ่านมา ฮอลแลนด์หนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งสหภาพยุโรปได้จัดให้มีการลงประชามติ ผลปรากฏว่าชาวฮอลแลนด์ร้อยละ ๖๑.๖ ไม่รับธรรมนูญยุโรป มีผู้รับเพียงร้อยละ ๓๙.๔ จากผู้ออกมาใช้สิทธิรวมร้อยละ ๖๒.๘ ก่อนหน้านี้ผลสำรวจในฮอลแลนด์ก็ออกมาแบบสุ่มเสี่ยงว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน แต่ผลจริงๆออกมากลับสูงกว่าที่คาดคิด วิเคราะห์กันว่าสาเหตุหนึ่งที่จำนวนผู้ไม่เห็นด้วยมีจำนวนมากกว่าที่คาดไว้ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ฝรั่งเศสไม่รับธรรมนูญยุโรปก่อนหน้านั้นเพียง ๒ วัน
       
       ไม่น่าแปลกใจที่ประเทศก่อตั้งหรือประเทศที่ร่ำรวยในสหภาพยุโรปจะไม่อยากรับธรรมนูญนี้เท่าไรนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหภาพยุโรปขยายตัวออกไปเป็น ๒๕ ประเทศและจะเป็น ๒๗ ในปี ๒๐๐๗ นี้ ซึ่งสมาชิกใหม่ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศในยุโรปตะวันออกซึ่งยากจน แกนนำทั้งหลายจึงเกรงกันว่าจะต้องไปแบกรับภาระจากสมาชิกใหม่เหล่านี้
       
       เมื่อมีรัฐสมาชิกรัฐใดรัฐหนึ่งไม่รับธรรมนูญยุโรปแล้วย่อมทำให้ธรรมนูญยุโรปไม่มีผลใช้บังคับไป จึงเกิดประเด็นปัญหาตามมาว่าสหภาพยุโรปจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร กรณีนี้สนธิสัญญาก่อตั้งธรรมนูญยุโรปกำหนดไว้ชัดเจนว่า ในกรณีที่ธรรมนูญยุโรปไม่ผ่าน ให้นำสนธิสัญญานีซซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันมาใช้บังคับต่อไป อย่างไรก็ตาม วิตกกันว่าสนธิสัญญานีซอาจไม่เหมาะสมต่อไปในสภาพการณ์ที่สหภาพยุโรปขยายตัวออกไปมากดังเช่นทุกวันนี้ เมื่อต้องย้อนกลับไปใช้สนธิสัญญานีซดังเดิมแล้วจะเกิดปัญหาตามมาหรือไม่ ยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่
       
       ความจริงแล้ว ในระหว่างจัดทำธรรมนูญยุโรป มีผู้เสนอกันว่าควรมี “แผนสอง” ไว้รองรับในกรณีที่ธรรมนูญยุโรปไม่ผ่าน แผนสองที่คิดกันไว้ก็เช่น กำหนดให้นำธรรมนูญยุโรปนี้กลับมาให้องค์กรในสหภาพยุโรปพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือแก้ไขเพิ่มเติม แต่ปรากฏว่าแนวทางนี้ไม่ผ่านในชั้นร่างธรรมนูญยุโรป จนถึงขณะนี้มีการถกเถียงกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป ในธรรมนูญยุโรปได้เปิดช่องไว้ว่าในกรณีที่มีประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ยินยอมให้สัตยาบัน Conseil européen สามารถนำเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาหาทางออกได้
       ทางออกทางหนึ่งที่คาดการณ์กันไว้ คือ อาจให้มีการปรับปรุงธรรมนูญยุโรปโดยคงไว้ซึ่งบทบัญญัติในหมวดที่หนึ่งและสองซึ่งว่าด้วยสถาบันในสหภาพยุโรปและสิทธิขั้นพื้นฐานเอาไว้ และตัดหมวดที่สามว่าด้วยนโยบายของสหภาพยุโรปออกไป เพราะเสียงส่วนใหญ่ของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรปส่วนใหญ่ไม่พอใจในหมวดที่สาม กล่าวกันว่าอาจเป็นความผิดพลาดของคณะกรรมการร่างธรรมนูญยุโรปก็ได้ที่นำเรื่องนโยบายสหภาพยุโรปมาบัญญัติเป็นหมวดที่สามของธรรมนูญยุโรปนี้ เพราะเรื่องนโยบายเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและเต็มไปด้วยผลประโยชน์ การบัญญัติไว้ในธรรมนูญยุโรปย่อมทำให้กลายเป็นประเด็นขัดแย้งและนำไปสู่การไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญยุโรปในท้ายที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำมาให้ประชาชนซึ่งมีธรรมชาติของสัตว์การเมืองที่ต้องปกป้องผลประโยชน์ของตนเป็นผู้ลงประชามติแล้วย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะไม่ผ่าน จึงเห็นกันว่าประเด็นทางนโยบายเหล่านี้ควรเจรจาต่อรองกันต่อไปในอนาคตภายในองค์กรของสหภาพยุโรปจะเหมาะสมกว่า
       
       ………
       
       โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี !!!
       การบูรณาการเพื่อสร้างความแข็งแกร่งแก่สหภาพยุโรปก็ไม่มีทางได้มาโดยไม่เสียอะไรไป จำเป็นต้องมีรัฐสมาชิกที่เสียประโยชน์บ้าง ระยะแรกเริ่มคงหนีไม่พ้นสมาชิกแกนนำทั้งหลายที่ต้องแบกรับภาระสมาชิกใหม่ แต่ระยะยาวเมื่อสมาชิกขยับขึ้นมาในระดับที่ไล่เลี่ยกันแล้ว ก็เป็นสมาชิกด้วยกันเองที่จะได้ประโยชน์ร่วมกัน แน่นอนว่าคงไม่มีสมาชิกรายใดที่อยากจะพลาด “รถไฟขบวนสหภาพยุโรป”นี้ ณ วันนี้ ไม่มีใครปฏิเสธว่าสหภาพยุโรปไม่จำเป็น ทุกคนยอมรับกันว่าสหภาพยุโรปต้องเดินต่อไปและไม่มีทางถอยกลับอีกแล้ว เพียงแต่ว่าจะเดินไปในทิศทางไหนเท่านั้นเอง
       
       เชิงอรรถ (ต่อ)
       (5) PHILIP Christian, La Constitution européenne, PUF, 2004, p.85.


 
 
๓๐ ปีกฎหมายการทำแท้งเสรีในฝรั่งเศส โดย อ. ปิยบุตร แสงกนกกุล
หลักกฎหมายปกครองทั่วไป : ทางออกในการอุดช่องว่างกฎหมายปกครองไทย โดย นางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
บทวิเคราะห์ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ โดย อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล
การทับซ้อนของเขตอำนาจศาลปกครองและศาลยุติธรรมฝรั่งเศส : ศึกษากรณีบริการสาธารณะ โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
ตุลาการศาลปกครองกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม(ตามหลัก équité) โดยคุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
   
 
 
 
สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของผู้มีรสนิยมร่วมเพศในมุมมองกฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายสิทธิมนุษยชนยุโรป โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
การทับซ้อนของเขตอำนาจศาลปกครองและศาลยุติธรรมฝรั่งเศส : ศึกษากรณีบริการสาธารณะ โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
ศาลรัฐธรรมนูญและคดีรัฐธรรมนูญโปรตุเกส โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
คำแปลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐโปรตุเกส (เฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ) โดยอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
ความรับผิดชอบทางอาญาของประธานาธิบดีฝรั่งเศส โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม
สหภาพยุโรปและการเลือกปฏิบัติ : กรณีการรับสมัครคนสูบบุหรี่เข้าทำงาน โดย คุณพิมพ์ดาว จันทรขันตี
การมีส่วนร่วมของประชาชนในฝรั่งเศส : การอภิปรายสาธารณะ (Le débat public) โดย คุณวรรณภา ติระสังขะ
ตุลาการศาลปกครองกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม(ตามหลัก équité) โดยคุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
La France : Le pays où la rue joue le rôle important (เสียงเรียกร้องจากท้องถนน) โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม
“หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” อาวุธทรงพลังในหมู่ “ลูกแกะ” โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544