หน้าแรก นานาสาระจากนักเรียนไทยในต่างแดน
ศาลรัฐธรรมนูญและคดีรัฐธรรมนูญโปรตุเกส โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ ๒) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, DEA de Droit public général et Droit de l’environnement (Université de Nantes)
28 เมษายน 2551 02:20 น.
 
บทนำ
       ๑. การจัดองค์กรของศาลรัฐธรรมนูญ
       
๑.๑. องค์ประกอบและที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
       ๑.๒. โครงสร้างของศาลรัฐธรรมนูญ
       ๒. เขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
       
๒.๑. การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย
       ๒.๑.๑.) การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายก่อนมีผลบังคับใช้ (Le contrôle à priori)
       ๒.๑.๒.) การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายแบบรูปธรรม (Le contrôle concret)
       ๒.๑.๓.) การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายหลังมีผลบังคับใช้แบบนามธรรม (Le contrôle abstrait à posteriori)
       ๒.๑.๔.) การพิจารณาว่าองค์กรนิติบัญญัติละเลยการออกฎหมายซึ่งมีผลเป็นการบังคับใช้หลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ
       ๒.๒. การควบคุมการเลือกตั้ง พรรคการเมือง และประธานาธิบดี
       ๒.๒.๑.) คดีเลือกตั้ง
       ๒.๒.๒.) คดีเกี่ยวกับพรรคการเมือง
       ๒.๒.๓.) คดีเกี่ยวกับประธานาธิบดี
       
       บรรณานุกรม
       
       บทนำ
       
โปรตุเกสเริ่มนำระบบศาลรัฐธรรมนูญมาใช้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖ แต่ระบบดังกล่าวเป็นเพียงองค์กรกึ่งการเมืองและทหารซึ่งไม่สอดคล้องกับระบบศาลรัฐธรรมนูญในนานาอารยประเทศ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะปฏิวัติทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ คณะปฏิวัติดังกล่าวประกอบด้วย ประธานาธิบดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ นายกรัฐมนตรี (เฉพาะกรณีที่นายกรัฐมนตรีเป็นทหาร) และข้าราชการทหารระดับสูงอีก ๑๔ คน โดย ๘ คนมาจากกองทัพบก ๓ คนมาจากกองทัพเรือ และ ๓ คนจากกองทัพอากาศ 1
       
คณะปฏิวัติมีอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนี้
       ๑.) ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของรัฐบัญญัติ รัฐกำหนด และรัฐกฤษฎีกาให้สัตยาบันสนธิสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ ก่อน มีผลใช้บังคับ2
       ๒.) ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายทุกประเภท กรณีนี้เป็นการควบคุมภายหลังที่กฎเกณฑ์ทางกฎหมายมีผลใช้บังคับไปแล้วในรูปแบบนามธรรม 3
       
๓.) พิจารณาว่าองค์กรนิติบัญญัติไม่ออกฎหมายซึ่งมีผลเป็นการบังคับใช้หลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ ถ้าคณะปฏิวัติเห็นว่าองค์กรนิติบัญญัติไม่ออกกฎหมายตามข้อผูกพันดังกล่าว คณะปฏิวัติมีอำนาจออกคำแนะนำให้แก่องค์กรนิติบัญญัติได้ 4
       
นอกจากนี้ยังมีการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแบบรูปธรรม กล่าวคือ เมื่อมีคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ถ้าศาลไม่นำกฎเกณฑ์ทางกฎหมายมาใช้บังคับเพราะเห็นว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้อัยการร้องขอต่อคณะกรรมการรัฐธรรมนูญ (La Commission constitutionnelle) เพื่อพิจารณาประเด็นปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญดังกล่าว หากคณะกรรมการรัฐธรรมนูญมีความเห็นเช่นไรแล้วให้ส่งความเห็นนั้นไปให้คณะปฏิวัติเป็นผู้พิจารณาประกาศ 5
       
การควบคุมทำนองนี้คล้ายคลึงกับการพิจารณาคดีปกครองของฝรั่งเศสในสมัยก่อนที่เรียกว่า “La justice retenu” หรือคล้ายคลึงกับการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์โดยคณะกรรมการวินิจฉัยเรื่องราวร้องทุกข์ในคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนมีการจัดตั้งศาลปกครองในประเทศไทย
       ระบบศาลรัฐธรรมนูญโปรตุเกสในระยะเริ่มต้นถูกครอบงำโดยคณะปฏิวัติที่ส่วนใหญ่มีกรรมการมาจากทหารและยังไม่สอดคล้องกับระบบศาลรัฐธรรมนูญของประเทศอื่นๆในยุโรปอีกด้วย จากข้อบกพร่องดังกล่าวนำมาซึ่งการปฏิรูประบบศาลรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ในปี ๑๙๘๒ ซึ่งระบบเช่นว่านั้นยังคงมีผลใช้บังคับมาจนถึงปัจจุบัน
       การปฏิรูประบบศาลรัฐธรรมนูญโปรตุเกสทำโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๒ และการออกรัฐบัญญัติลงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๑๙๘๒ ว่าด้วยการจัดองค์กร การดำเนินงาน และวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีสาระสำคัญสองประการ คือ
       ประการแรก ยกเลิกระบบการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยองค์กรกึ่งการเมืองและทหาร
       ประการที่สอง จัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นทำหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
       จากการปฏิรูปดังกล่าวทำให้ระบบศาลรัฐธรรมนูญของโปรตุเกสมีลักษณะคล้ายคลึงกับประเทศในยุโรปมากขึ้น อย่างไรก็ตามระบบศาลรัฐธรรมนูญของโปรตุเกสยังคงสงวนเอกลักษณ์บางประการซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากระบบเก่าอยู่บ้าง
       
       ๑. การจัดองค์กรของศาลรัฐธรรมนูญ
       
       ๑.๑. องค์ประกอบและที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
       ศาลรัฐธรรมนูญโปรตุเกสประกอบด้วยตุลาการรวม ๑๓ คน มีที่มาแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ดังนี้กลุ่มแรก ๑๐ คน มาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียงสองในสาม ใน ๑๐ คนนี้ ๓ คนแรก สภาผู้แทนราษฎรเลือกจากผู้พิพากษาในศาลต่างๆ และอีก ๗ คนหลังสภาผู้แทนราษฎรเลือกจากนักกฎหมาย6 กลุ่มที่สอง ๓ คน เป็นผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายต่างๆ โดยให้ตุลาการ ๑๐ คนในกลุ่มแรกเป็นผู้เลือก7
       ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเลือกตุลาการด้วยกันหนึ่งคนเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ 8การลงคะแนนเสียงเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญให้ทำโดยลับและปราศจากการอภิปรายก่อนลงคะแนน ประธานศาลรัฐธรรมนูญต้องได้คะแนนเสียง ๙ คะแนนจาก ๑๓ คะแนนขึ้นไป ถ้าการลงคะแนนผ่านไป ๔ รอบแต่ยังไม่มีตุลาการคนใดได้ถึง ๙ คะแนน ให้นำรายชื่อตุลาการที่ได้ลำดับหนึ่งและสองเท่านั้นมาลงคะแนนต่อไป ถ้าการลงคะแนนผ่านไป ๔ รอบแต่ยังไม่มีตุลาการคนใดได้ถึง ๙ คะแนนอีก ให้ตุลาการที่ได้คะแนนมากกว่าเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ การลงคะแนนในแต่ละรอบให้ทำต่อเนื่องกันไป9 ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๒ ปีและเป็นติดต่อกันได้อีก ในส่วนของรองประธานศาลรัฐธรรมนูญ วิธีการได้มาและวาระก็เป็นเช่นเดียวกันกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ
       ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระ ๖ ปี10 ทั้งนี้รัฐธรรมนูญและรัฐบัญญัติลงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๑๙๘๒ ว่าด้วยการจัดองค์กร การดำเนินงาน และวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดห้ามการดำรงตำแหน่งต่ออีกวาระไว้แต่ประการใด
       ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญห้ามดำรงตำแหน่งอื่นหรือประกอบอาชีพอื่นเว้นแต่การสอนวิชากฎหมายหรือวิชาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายในมหาวิทยาลัยหรือการค้นคว้าวิจัยในแขนงวิชานิติศาสตร์11 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองรวมทั้งห้ามเข้าร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองไม่ว่ากับกลุ่มใดๆ12
       ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งเมื่อลาออกโดยความสมัครใจ, ตาย, ไร้ความสามารถทางร่างกายอย่างถาวรโดยการพิจารณาของแพทย์ ๒ คนที่ตั้งโดยศาลรัฐธรรมนูญ, ดำรงตำแหน่งอื่นที่ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และมีความผิดทางวินัยหรืออาญา13
       
       ๑.๒. โครงสร้างของศาลรัฐธรรมนูญ
       เนื่องจากคดีควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายแบบรูปธรรมมีเป็นจำนวนมาก เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาคดี กฎหมายจึงกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญแบ่งเป็นสององค์คณะเพื่อทำหน้าที่พิจารณาคดีดังกล่าว แต่ละองค์คณะประกอบด้วยตุลาการ ๖ คนและประธานองค์คณะ ๑ คน การแบ่งองค์คณะให้ทำทุกต้นปี 14
       
ในคดีอื่นๆอันได้แก่ การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายก่อนมีผลบังคับใช้, การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายหลังมีผลบังคับใช้แบบนามธรรม, การพิจารณาว่าองค์กรนิติบัญญัติไม่ยอมออกฎหมายซึ่งมีผลเป็นการบังคับใช้หลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ และคดีเกี่ยวกับพรรคการเมือง การเลือกตั้ง และประธานาธิบดี ให้พิจารณาโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากงานในเรื่องพิจารณาคดีแล้ว ที่ประชุมใหญ่ยังมีภารกิจในทางบริหารอีกด้วย เช่น กำหนดกฎเกณฑ์ภายในเพื่อการบริหารงานองค์กรศาล หรือเห็นชอบร่างงบประมาณประจำปี เป็นต้น
       ศาลรัฐธรรมนูญมีสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นหน่วยงานธุรการโดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้บังคับบัญชา ตำแหน่งเลขาธิการนี้มีสถานะเท่าเทียมกับเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ภายในสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแบ่งออกเป็นสามแผนก ได้แก่ แผนกบริหารและบัญชี แผนกงานคดี และแผนกจ่าศาล นอกจากนี้ยังมีส่วนงานสนับสนุนซึ่งแบ่งออกเป็นสามกอง ได้แก่ กองวิชาการประจำประธานศาลรัฐธรรมนูญ กองวิชาการประจำตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และกองเอกสารและข้อมูล
       
       ๒. เขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
       

       เขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญโปรตุเกสค่อนข้างกว้างกว่าประเทศอื่นๆในยุโรป ซึ่งอาจแบ่งได้ ๒ กลุ่ม ได้แก่ การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย และการควบคุมการเลือกตั้ง พรรคการเมือง และประธานาธิบดี
       
       ๒.๑. การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย
       การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายในโปรตุเกสมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายได้ทั้งก่อนที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ (à priori) และหลังจากกฎหมายมีผลใช้บังคับ (à posteriori) นอกจากนี้ยังมีอำนาจในการพิจารณาว่าองค์กรนิติบัญญัติได้ออกฎหมายซึ่งมีผลเป็นการบังคับใช้หลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่อีกด้วย
       
       ๒.๑.๑.) การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายก่อนมีผลบังคับใช้ (Le contrôle à priori)
       
การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายก่อนมีผลบังคับใช้เป็นการควบคุมแบบป้องกันก่อนที่กฎเกณฑ์ทางกฎหมายนั้นจะมีผลในระบบกฎหมาย ซึ่งมีข้อดีที่หากกฎเกณฑ์ทางกฎหมายนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้วก็อาจสิ้นผลไปก่อนที่จะมีผลใช้บังคับ
       ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้มี ๔ กลุ่ม ดังนี้
       ๑.) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ อาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (Les lois organiques) ร่างรัฐบัญญัติ (Les lois) ร่างรัฐกำหนด (Les décret-loi) สนธิสัญญาระหว่างประเทศ (Le traité international) และข้อตกลงระหว่างประเทศ (L’accord international)15
       ๒.) นายกรัฐมนตรี อาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (Les lois organiques)16
       ๓.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ๑ ใน ๕ ขึ้นไป อาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (Les lois organiques)17
       ๔.) รัฐมนตรีที่ทำหน้าที่กำกับดูแลแคว้นปกครองตนเอง อาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติของแคว้นปกครองตนเองที่รัฐมนตรีต้องลงนาม (Les décrets législatifs régionaux) และร่างกฎหมายลำดับรองของแคว้นปกครองตนเองที่รัฐมนตรีต้องลงนาม (Les décrets réglementaires régionaux)18
       จะเห็นได้ว่าวัตถุแห่งการควบคุมในกรณีการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายก่อนมีผลบังคับใช้ จำกัดอยู่เฉพาะร่างรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐบัญญัติ ร่างรัฐกำหนด ข้อตกลงระหว่างประเทศ และกฎเกณฑ์ทางกฎหมายของแคว้นปกครองตนเอง หารวมถึงกฎหมายลำดับรองอื่นๆไม่
       การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องกระทำหลังจากที่ร่างกฎหมายได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วแต่ก่อนที่ประธานาธิบดีจะลงนามในร่างกฎหมาย ทั้งนี้ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในระยะเวลา ๕ วันนับจากวันที่ตนได้รับร่างกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ไม่ให้นับวันเสาร์ วันอาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์เข้ารวมในระยะเวลานั้น ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาคำร้องให้แล้วเสร็จภายใน ๒๐ วัน แต่ระยะเวลาอาจลดลงได้ ถ้าเป็นกรณีที่ประธานาธิบดีเป็นผู้ยื่นคำร้องและมีความควยจำเป็นเร่งด่วน19
       เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายใดไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ผลของคำวินิจฉัยย่อมแตกต่างกันไปตามประเภทของร่างกฎหมายนั้น ดังนี้ 20
       
- ในกรณีที่เป็นร่างรัฐบัญญัติ ร่างรัฐกำหนด ร่างรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือข้อตกลงระหว่างประเทศ ประธานาธิบดีต้องห้ามการลงนามในร่างรัฐบัญญัติ ร่างรัฐกำหนด ร่างรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือข้อตกลงระหว่างประเทศนั้น และให้ประธานาธิบดีส่งร่างรัฐบัญญัติ ร่างรัฐกำหนด ร่างรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือข้อตกลงระหว่างประเทศกลับไปให้องค์กรนิติบัญญัติที่มีอำนาจเพื่อพิจารณาต่อไป
       องค์กรนิติบัญญัติอาจยืนยันร่างเดิมได้ด้วยเสียงสองในสามขึ้นไป หรืออาจแก้ไขเพิ่มเติมข้อความที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็ได้ หากองค์นิติบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประธานาธิบดีอาจส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้อีกครั้งหนึ่ง
       
       - ในกรณีที่เป็นร่างกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติของแคว้นปกครองตนเองหรือร่างกฎของแคว้นปกครองตนเอง รัฐมนตรีที่ทำหน้าที่กำกับดูแลแคว้นปกครองตนเองต้องห้ามการลงนามในร่างกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติของแคว้นปกครองตนเองหรือร่างกฎของแคว้นปกครองตนเองนั้น และให้รัฐมนตรีที่ทำหน้าที่กำกับดูแลแคว้นปกครองตนเองส่งร่างกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติของแคว้นปกครองตนเองหรือร่างกฎของแคว้นปกครองตนเองกลับไปให้แคว้นปกครองตนเองเพื่อพิจารณาต่อไป
       แคว้นปกครองตนเองอาจยืนยันร่างเดิมได้ด้วยเสียงสองในสามขึ้นไป หรืออาจแก้ไขเพิ่มเติมข้อความที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็ได้ หากแคว้นปกครองตนเองแก้ไขเพิ่มเติม รัฐมนตรีที่ทำหน้าที่กำกับดูแลแคว้นปกครองตนเองอาจส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้อีกครั้งหนึ่ง
       
       - ในกรณีที่เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ รัฐสภา21 อาจให้สัตยาบันในสนธิสัญญาระหว่างประเทศนั้นได้ด้วยเสียง ๒ ใน ๓ ขึ้นไป แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าสนธิสัญญาระหว่างประเทศนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็ตาม
       
       ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมาย สนธิสัญญาระหว่างประเทศหรือข้อตกลงระหว่างประเทศชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีผลผูกมัดประธานาธิบดีหรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแลแคว้นปกครองตนเองให้ต้องลงนามในร่างกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศดังกล่าว ประธานาธิบดีหรือรัฐมนตรียังคงมีอำนาจในการลงนามหรือไม่ก็ได้ หากไม่ลงนามร่างกฎหมายก็ไม่มีผลใช้บังคับ การไม่ลงนามดังกล่าวเรียกกันว่า “การยับยั้งทางการเมือง (Le veto politique)” ซึ่งต่างจากกรณีที่สภาไม่เห็นชอบร่างกฎหมายหรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญซึ่งถือเป็น “การยับยั้งทางกฎหมาย (Le veto juridique)”
       
       ๒.๑.๒.) การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายแบบรูปธรรม(Le contrôle concret)
       
การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายแบบรูปธรรมในโปรตุเกสมีเอกลักษณ์ที่เป็นการผสมระหว่างระบบการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายของสหรัฐอเมริกาและระบบการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายของยุโรป
       ในส่วนของระบบสหรัฐอเมริกา ศาลที่พิจารณาคดีมีอำนาจในการวินิจฉัยได้เองว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับในคดีชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลต้องไม่นำมาใช้บังคับกับคดีที่ตนพิจารณาอยู่ ระบบนี้เราเรียกกันว่า การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแบบกระจายการควบคุม (Le contrôle diffus) เพราะการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญกระจายไปที่ศาลทุกศาล
       ในส่วนของระบบยุโรปที่มีต้นแบบจากออสเตรียและเยอรมันนั้น ในกรณีที่คู่ความในคดีโต้แย้งหรือศาลที่พิจารณาคดีเห็นเองว่ากฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับในคดีมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้ศาลส่งประเด็นปัญหาดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ระบบนี้เราเรียกกันว่า การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแบบรวมการควบคุม (Le contrôle concentre) เพราะการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญรวมอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ
       เราอาจแยกการพิจารณาการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายแบบรูปธรรมของโปรตุเกสได้ ดังนี้
       
       การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแบบกระจายการควบคุม
       รัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลต้องไม่ใช้บังคับกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือละเมิดหลักการที่รัฐธรรมนูญรับรองแก่คดีที่อยู่ในการพิจารณาของตน22 จากบทบัญญัตินี้ทำให้ศาลทุกศาลมีหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายแบบรูปธรรมในเบื้องต้นก่อน กล่าวคือ ในกรณีที่คู่ความแห่งคดีเห็นว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับกับคดีมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คู่ความอาจยกประเด็นต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้นได้ หรือในกรณีที่ศาลแห่งคดีนั้นเห็นเองว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับกับคดีมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลอาจหยิบยกประเด็นขึ้นพิจารณาได้ ถ้าศาลแห่งคดีนั้นพิจารณาแล้วเห็นว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลต้องไม่นำกฎเกณฑ์ทางกฎหมายมาใช้บังคับกับคดี ถ้าศาลแห่งคดีนั้นพิจารณาแล้วเห็นว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลย่อมนำมาใช้ตัดสินคดีได้
       
       การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแบบรวมการควบคุม
       
เมื่อศาลได้พิพากษาคดีแล้ว คู่ความมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำพิพากษาดังกล่าวได้ใน ๒ กรณี23
       กรณีแรก คำพิพากษาที่ไม่บังคับใช้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายเพราะกฎเกณฑ์ทางกฎหมายนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
       กรณีที่สอง คำพิพากษาที่บังคับใช้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่เคยประเด็นแห่งคดีซึ่งคู่ความหรือศาลแห่งคดีเคยหยิบยกมาพิจารณาเบื้องต้นว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ศาลอาจพิพากษาคดีไปโดยนำกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่ศาลเห็นว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญแต่คู่ความเห็นว่าน่าจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาใช้กับคดี คู่ความก็อาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาคำพิพากษานี้ได้
       
       นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังบังคับให้อัยการสูงสุดต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญใน ๒ กรณี
       กรณีแรก กฎเกณฑ์ทางกฎหมายได้ที่ใช้พิพากษาคดีนั้นเป็นการปฏิเสธข้อตกลงระหว่างประเทศ กฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ (ได้แก่ รัฐบัญญัติ รัฐกำหนด และกฎหมายที่ออกโดยสภานิติบัญญัติของแคว้นปกครองตนเอง) และกฎหมายลำดับรอง24
       กรณีสอง กฎเกณฑ์ทางกฎหมายได้ที่ใช้พิพากษาคดีนั้นศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไปแล้วว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย 25
       

       จะเห็นได้ว่า เป็นระบบผสมระหว่างระบบอเมริกันกับระบบออสเตรีย - เยอรมัน ในส่วนของระบบอเมริกัน เหมือนกันที่เปิดโอกาสให้ศาลทุกศาลได้ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายได้ในเบื้องต้นก่อน แตกต่างกันที่คำพิพากษาของศาลดังกล่าวอาจถูกโต้แย้งต่อศาลรัฐธรรมนูญได้อีกครั้งหนึ่ง ในส่วนของระบบออสเตรีย - เยอรมัน เหมือนกันที่การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายแบบรูปธรรมยังคงรวมศูนย์อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ แตกต่างกันที่ศาลที่พิจารณาคดีมีโอกาสควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายได้ก่อน โดยไม่จำเป็นต้องส่งประเด็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
       อนึ่ง มีข้อควรสังเกตอันเป็นเอกลักษณ์ของโปรตุเกส คือ วัตถุแห่งการควบคุมของการควบคุมแบบรูปธรรม ได้แก่ กฎเกณฑ์ทางกฎหมายทุกประเภท หาจำกัดเฉพาะกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติดังเช่นประเทศอื่นไม่ นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่เพียงแต่ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายเท่านั้น แต่ยังควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายอีกด้วย26 อีกนัยหนึ่ง คือ วัตถุที่ถูกควบคุม คือ กฎเกณฑ์ทางกฎหมายทุกประเภท และกฎเกณฑ์ที่เป็นมาตรวัด คือ ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (Constitutionnalité) และความชอบด้วยกฎหมาย (Légalité)
       ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำพิพากษาของศาลได้ใช้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการแก้ไขคำพิพากษานั้นได้เฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือความไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวเท่านั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันเฉพาะคู่ความในคดี (Inter partes)
       
       ๒.๑.๓.) การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายหลังมีผลบังคับใช้แบบนามธรรม (Le contrôle abstrait a posteriori)
       
การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายหลังมีผลบังคับใช้แบบนามธรรมเป็นการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยที่ยังไม่มีข้อพิพาทเป็นคดีในศาลแต่องค์กรที่รัฐธรรมนูญกำหนดเป็นผู้ร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงให้พิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย
       องค์กรที่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ ได้แก่
       ๑.) ประธานาธิบดี
       ๒.) ประธานสภาผู้แทนราษฎร
       ๓.) นายกรัฐมนตรี
       ๔.) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
       ๕.) อัยการสูงสุด
       ๖.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ๑ ใน ๑๐
       ๗.) รัฐมนตรีที่ทำหน้าที่กำกับดูแลแคว้นปกครองตนเอง สภานิติบัญญัติของแคว้นปกครองตนเอง ประธานสภานิติบัญญัติของแคว้นปกครองตนเอง ประธานฝ่ายบริหารของแคว้นปกครองตนเอง หรือ สมาชิกสภานิติบัญญัติของแคว้นปกครองตนเอง จำนวน ๑ ใน ๑๐ ในกรณีร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายของสาธารณรัฐโปรตุเกสกระทบต่อสิทธิในการปกครองตนเองของแคว้นปกครองตนเอง
       วัตถุแห่งการควบคุมในกรณีการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายหลังมีผลบังคับใช้แบบนามธรรมของโปรตุเกสนับว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติและกฎหมายของฝ่ายบริหาร อีกนัยหนึ่ง วัตถุแห่งการควบคุมในกรณีนี้ คือ กฎเกณฑ์ทางกฎหมายทุกประเภท ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเฉพาะกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังมีอำนาจพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายทุกประเภท (ทั้งรัฐบัญญัติ กฎหมายลำดับรอง และกฎของฝ่ายปกครอง) ในประเด็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมายเหล่านั้นละเมิดสิทธิและสถานะของแคว้นปกครองตนเอง และมีอำนาจพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายของแคว้นปกครองตนเอง ในประเด็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมายของแคว้นปกครองตนเองนั้นละเมิดบทบัญญัติที่เกี่ยวกับสถานะของแคว้นปกครองตนเองหรือรัฐบัญญัติทั่วไปแห่งสาธารณรัฐ27
       ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายใดไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ให้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายนั้นเป็นอันสิ้นผลใช้บังคับ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีผลย้อนหลังไปกระทบต่อคดีที่ได้พิพากษาไปแล้ว เว้นแต่ กฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้นจะเกี่ยวข้องกับโทษทางอาญา ทางวินัย หรือทางสังคม หรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นคุณต่อจำเลย ในกรณีที่การสิ้นผลใช้บังคับของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายดังกล่าวมีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งนิติฐานะหรือประโยชน์ส่วนรวมเป็นอย่างยิ่ง ศาลรัฐธรรมนูญอาจกำหนดให้การสิ้นผลใช้บังคับในเวลาใดก็ได้ตามความเหมาะสม 28
       
       ๒.๑.๔.) การพิจารณาว่าองค์กรนิติบัญญัติละเลยการออกฎหมายซึ่งมีผลเป็นการบังคับใช้หลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ
       การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของโปรตุเกสที่ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างยิ่งและเป็นมรดกตกทอดมาจากสมัยคณะปฏิวัติ คือ การพิจารณาว่าองค์กรนิติบัญญัติละเลยการออกฎหมายซึ่งมีผลเป็นการบังคับใช้หลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ ในสายตาของระบบกฎหมายโปรตุเกสแล้ว ความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายไม่ได้ผูกติดกับเฉพาะกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้วหรือกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่จะมีผลใช้บังคับเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการละเลยไม่ออกกฎหมายด้วย อีกนัยหนึ่งคือ เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติต้องออกกฎหมายเพื่อเป็นการบังคับใช้หรือขยายความตามรัฐธรรมนูญหรือหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญแล้ว หากฝ่ายนิติบัญญัติละเลยไม่ออกกฎหมายดังกล่าว ย่อมถือว่าเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเช่นกัน โดยเรียกว่า “ความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจากการละเลยไม่ออกกฎหมาย” (L’inconstitutionnalité par omission)
       ควรสังเกตด้วยว่า การละเลยไม่ออกกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัตินั้น ไม่ได้หมายความเฉพาะกฎหมายที่มีผลเป็นการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเท่านั้น หากรวมถึงกฎหมายที่มีผลบังคับใช้กฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญ (Les normes constitutionnelles) ด้วย
       ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบว่าฝ่ายนิติบัญญัติละเลยไม่ออกกฎหมายที่มีผลเป็นการบังคับใช้กฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญ ได้แก่ ประธานาธิบดี ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติของแคว้นปกครองตนเองเฉพาะกรณีละเลยไม่ออกกฎหมายเกี่ยวกับแคว้นปกครองตนเอง 29
       
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจากการละเลยไม่ออกกฎหมายจริง ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งไปยังองค์กรนิติบัญญัติที่มีอำนาจ30 ผลของคำวินิจฉัยในกรณีนี้เป็นเพียงการแจ้งให้ทราบเท่านั้น ไม่ได้มีผลผูกมัดฝ่ายนิติบัญญัติให้ออกกฎหมายแต่ประการใด ฝ่ายนิติบัญญัติยังคงมีดุลพินิจตัดสินใจได้เองว่าสมควรออกกฎหมายเมื่อไรและมีเนื้อหาอย่างไร ทั้งนี้เป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจและการเคารพเจตจำนงของฝ่ายนิติบัญญัติในการริเริ่มออกกฎหมาย เมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ไม่มีสภาพบังคับเท่าไรนัก ก็อาจเป็นไปได้ว่าหนังสือที่แจ้งไปยังฝ่ายนิติบัญญัตินั้นจะกลายเป็นเพียง “หนังสือที่ตายไปแล้ว”31
       อนึ่ง ก่อนที่จะมีการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญในปี ๑๙๘๒ ในกรณีความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจากการละเลยไม่ออกกฎหมาย รัฐธรรมนูญเดิมกำหนดให้คณะปฏิวัติ32 แจ้งให้ฝ่ายนิติบัญญัติให้ออกมาตรการทางนิติบัญญัติที่จำเป็นต่อการบังคับการให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญโดยไม่ชักช้า33 แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบันได้ตัดถ้อยคำว่า “โดยไม่ชักช้า” ออกไป
       
       ๒.๒. การควบคุมการเลือกตั้ง พรรคการเมือง และประธานาธิบดี 34
       
ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง พรรคการเมือง และประธานาธิบดี ดังนี้
       
       ๒.๒.๑.) คดีเลือกตั้ง
       
(๑.) การเลือกตั้งประธานาธิบดี
       โปรตุเกสปกครองในระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดีทำนองเดียวกับฝรั่งเศส ประธานาธิบดีมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน การเลือกตั้งประธานาธิบดีอยู่ในการควบคุมของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้
       ประการแรก ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่รับสมัครและประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ศาลรัฐธรรมนูญต้องตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครที่ต้องมีอายุ ๓๕ ปีขึ้นไปและมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างน้อย ๗,๕๐๐ คนเสนอชื่อ คำวินิจฉัยเกี่ยวกับการรับสมัครอาจฟ้องเป็นคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญได้อีกครั้งหนึ่ง
       ประการที่สอง ในระหว่างการรณรงค์หาเสียง ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการประกาศว่าผู้สมัครรายใดเป็นบุคคลไร้ความสามารถไม่เหมาะกับการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้โดยพิจารณาจากความเห็นของแพทย์ ๓ คนที่ศาลรัฐธรรมนูญตั้งขึ้น
       ประการที่สาม ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการพิจารณาคดีร้องคัดค้านการเลือกตั้ง กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้งขึ้นมาหนึ่งชุดทำหน้าที่ตรวจสอบการเลือกตั้งโดยมีประธานศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวอาจถูกอุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
       (๒.) การเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป
       รัฐบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปเลขที่ ๑๔/๑๙๘๗ ลงวันที่ ๒๙ เมษายน ๑๙๘๗ กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป ดังนี้
       ประการแรก รับสมัครและประกาศรายชื่อผู้สมัคร
       ประการที่สอง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเลือกตั้งอาจถูกอุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
       (๓.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้งในแคว้นปกครองตนเอง และการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น
       ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีที่เกี่ยวกับการรับสมัครและกระบวนการเลือกตั้ง พรรคการเมืองอาจร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเลือกตั้งในกรณีที่เกี่ยวกับการจัดสรรเวลาในการหาเสียงออกอากาศทางวิทยุและโทรทัศน์
       (๔.) การลงประชามติในระดับท้องถิ่น
       ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายของการลงประชามติก่อนที่จะมีการลงประชามติ
       
       ๒.๒.๒.) คดีเกี่ยวกับพรรคการเมือง
       
รัฐธรรมนูญโปรตุเกสรับรองเสรีภาพในการจัดตั้งสมาคมไว้ว่า “พลเมืองมีสิทธิอย่างเสรีในการก่อตั้งสมาคมโดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาต” 35และเช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ที่ยอมรับบทบาทของพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญโปรตุเกสยอมรับว่า “พรรคการเมืองเป็นองค์กรที่แสดงเจตจำนงของประชาชน”36 และ “เสรีภาพในการจัดตั้งสมาคมให้นำมาใช้กับการก่อตั้งสมาคมการเมืองหรือพรรคการเมืองเพื่อเป็นองค์กรในการแสดงเจตจำนงของประชาชนและเข้ามามีส่วนร่วมในอำนาจการเมือง” 37
       
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองจะไม่มีข้อจำกัด รัฐธรรมนูญกำหนดให้พรรคการเมืองต้องเคารพหลักการความเป็นเอกราชของชาติและประชาธิปไตย38 พรรคการเมืองไม่อาจใช้คำขวัญที่กระทบโดยตรงต่อศาสนาหรือศาสนจักรและไม่อาจใช้สัญลักษณ์ที่กระทบต่อสัญลักษณ์ของชาติหรือศาสนา39
       ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองหลายประการ ได้แก่ การจดทะเบียนพรรคการเมือง40 ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของชื่อพรรค สัญลักษณ์ของพรรค รวมถึงชื่อและสัญลักษณ์ของพันธมิตรและแนวร่วมของพรรคการเมืองนั้นด้วย41 นอกจากนี้รัฐบัญญัติเลขที่ ๖๔/๑๙๗๘ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม ๑๙๗๘ ยังกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการยุบพรรคการเมืองที่มีนโยบายหรืออุดมการณ์ฟาสซิสต์ด้วย
       
       ๒.๒.๓.) คดีเกี่ยวกับประธานาธิบดี
       มาตรา ๒๑๓ แห่งรัฐธรรมนูญและมาตรา ๘๖ และต่อๆไปแห่งรัฐบัญญัติลงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๑๙๘๒ ว่าด้วยการจัดองค์กร การดำเนินงาน และวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับประธานาธิบดีในหลายกรณี ดังนี้
       (๑.) ตรวจสอบการตายของประธานาธิบดี
       (๒.) แจ้งการลาพักของประธานาธิบดี ในกรณีที่ประธานาธิบดีลาพักให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่รักษาการแทนประธานาธิบดี
       (๓.) พิจารณาสภาพร่างกายของประธานาธิบดีว่าไร้ความสามรถอย่างถาวรหรือไม่ตามรายงานของแพทย์ ๓ คนที่ศาลรัฐธรรมนูญตั้งขึ้น
       (๔.) ตรวจสอบกรณีที่ประธานาธิบดีไม่อยู่ในดินแดนของโปรตุเกสโดยไม่ได้ขอความยินยอมจากสภาผู้แทนราษฎร
       (๕.) ถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งและห้ามลงรับสมัครเลือกตั้งใหม่ในกรณีที่ศาลสูงสุดตัดสินให้ประธานาธิบดีมีความผิดทางอาญา กรณีนี้เป็นอำนาจหน้าที่ในเชิงแบบพิธีเท่านั้น เพราะคำพิพากษาของศาลสูงสุดดังกล่าวผูกมัดให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง
       
       บทสรุป
       จากการศึกษาศาลรัฐธรรมนูญและคดีรัฐธรรมนูญในระบบกฎหมายของโปรตุเกสแล้ว พบว่าศาลรัฐธรรมนูญโปรตุเกส แง่หนึ่งมีอำนาจมาก อีกแง่หนึ่งก็มีอำนาจน้อย
       ที่ว่ามีอำนาจมาก ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในคดีควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายมากกว่าศาลรัฐธรรมนูญในหลายประเทศ กล่าวคือ มีอำนาจควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายทุกประเภท ไม่จำเพาะเจาะจงว่าวัตถุแห่งคดีต้องเป็นรัฐบัญญัติเท่านั้น ตรงกันข้ามรัฐกำหนด รัฐกฤษฎีกา กฎหมายลำดับรอง กฎทางปกครอง ทั้งหลายเหล่านี้ หากมีประเด็นปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ล้วนแต่อยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น นอกจากนี้ในบางกรณีศาลรัฐธรรมนูญยังเข้าไปควบคุมความชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย อีกนัยหนึ่ง คือ ใช้ความชอบด้วยกฎหมาย (Légalité) เป็นมาตรวัด ซึ่งปกติศาลรัฐธรรมนูญจะใช้ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (Constitutionnalité) เป็นมาตรวัด เช่น กรณีวัตถุแห่งคดีเป็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่มีปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในการปกครองตนเองของประชาคมปกครองตนเอง เป็นต้น
       ที่ว่ามีอำนาจน้อย ก็ได้แก่ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีผลผูกพันทุกองค์กรทันที ในคดีควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายก่อนที่กฎหมายจะมีผลใช้บังคับนั้น แม้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่รัฐสภาก็มีสิทธิยืนยันให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ได้ด้วยเสียง ๒ ใน ๓ ขึ้นไป เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะระบบกฎหมายโปรตุเกสต้องการหาดุลยภาพระหว่างอำนาจนิติบัญญัติซึ่งถือกันว่าเป็นเจตจำนงทั่วไปของประชาชน กับอำนาจตุลาการนั่นเอง ทางหนึ่ง ปรารถนาให้มีการควบคุมการออกกฎหมายไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญโดยองค์กรตุลาการ อีกทางหนึ่ง ต้องการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจนิติบัญญัติซึ่งถือกันว่าเป็นเจตจำนงทั่วไปของประชาชนซึ่งอำนาจอื่นใดไม่อาจลบไปได้ ด้วยเหตุนี้ระบบกฎหมายโปรตุเกสจึงออกแบบให้เป็นไปตามลักษณะดังกล่าว
       ศาลรัฐธรรมนูญและคดีรัฐธรรมนูญของโปรตุเกสมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความแตกต่างกับประเทศต่างๆที่ใช้ระบบศาลรัฐธรรมนูญ บางกรณีก็อาจเรียกได้ว่าแปลกจากประเทศต้นตำรับ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจควบคุมชอบด้วยรัฐธรรมนูญไม่เพียงเพราะรัฐบัญญัติเท่านั้น แต่ยังไปควบคุมกฎหมายอื่นๆได้อีกด้วย ,คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายก่อนที่กฎหมายจะมีผลใช้บังคับ (Le contrôle à priori) ไม่มีผลผูกพันทุกองค์กรทันที แม้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่รัฐสภาก็มีสิทธิยืนยันให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ได้ด้วยเสียง ๒ ใน ๓ ขึ้นไป, คดีพิจารณาว่าองค์กรนิติบัญญัติละเลยการออกฎหมายซึ่งมีผลเป็นการบังคับใช้หลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ หรือ “ความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจากการละเลยไม่ออกกฎหมาย” (L’inconstitutionnalité par omission) เป็นต้น บางกรณีก็เป็นการผสมของระบบกฎหมายหลายๆระบบ เช่น การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายแบบรูปธรรม มีการผสมระหว่างระบบการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายแบบกระจายการควบคุมของสหรัฐอเมริกา (Le contrôle diffus) และระบบการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายแบบรวมการควบคุมของออสเตรีย-เยอรมัน (Le contrôle concentre)
       การศึกษาศาลรัฐธรรมนูญและคดีรัฐธรรมนูญในระบบกฎหมายโปรตุเกส จึงนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในการศึกษากฎหมายเปรียบเทียบ
       
       เชิงอรรถ
       1. มาตรา ๑๔๓ แห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖
       2. มาตรา ๒๗๗ และมาตรา ๒๗๘ แห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖
       3. มาตรา ๒๘๐ และมาตรา ๒๘๑ แห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖
       4. มาตรา ๒๗๙ แห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖
       5. BON Pierre, La justice constitutionnelle au Portugal, Economica, 1989, pp. 33-34.
       6. โปรตุเกสใช้ระบบสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร ไม่มีวุฒิสภา
       7. มาตรา ๒๘๔ แห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๒
       8. มาตรา ๒๘๔ วรรคสี่แห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๒
       9. มาตรา ๓๘ แห่งรัฐบัญญัติลงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๑๙๘๒ ว่าด้วยการจัดองค์กร การดำเนินงาน และวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
       10. มาตรา ๒๘๔ วรรค ๓ แห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๒
       11. มาตรา ๒๗ แห่งรัฐบัญญัติลงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๑๙๘๒ ว่าด้วยการจัดองค์กร การดำเนินงาน และวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
       12. มาตรา ๒๘ แห่งรัฐบัญญัติลงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๑๙๘๒ ว่าด้วยการจัดองค์กร การดำเนินงาน และวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
       13. มาตรา ๒๓ แห่งรัฐบัญญัติลงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๑๙๘๒ ว่าด้วยการจัดองค์กร การดำเนินงาน และวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
       14. มาตรา ๔๐ แห่งรัฐบัญญัติลงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๑๙๘๒ ว่าด้วยการจัดองค์กร การดำเนินงาน และวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
       15. มาตรา ๒๗๘ วรรคแรกแห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๒
       16. มาตรา ๒๗๘ วรรคสี่แห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๒ และแก้ไขเพิ่มเติมวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๑๙๙๒
       17. มาตรา ๒๗๘ วรรคสี่แห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๒ และแก้ไขเพิ่มเติมวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๑๙๙๒
       18. มาตรา ๒๗๘ วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๒
       19. มาตรา ๒๗๘ วรรคสามและสี่แห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๒
       20. BON Pierre, Op.cit., pp.119-124.
       21. รัฐสภาในกรณีของโปรตุเกสหมายถึงสภาผู้แทนราษฎรนั่นเอง เพราะ โปรตุเกสใช้ระบบสภาเดียว ไม่มีวุฒิสภา
       22. มาตรา ๒๐๗ แห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๒
       23. มาตรา ๒๘๐ วรรคแรกแห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๒
       24. มาตรา ๒๘๐ วรรคสามแห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๒
       25. มาตรา ๒๘๐ วรรคห้าแห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๒
       26. มาตรา ๒๘๐ วรรตสองแห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๒
       “เป็นไปได้ที่จะร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาคำพิพากษาของศาลทั้งหลาย
       a.) ซึ่งปฏิเสธไม่บังคับใช้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายด้วยเหตุผลที่ว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
       b.) ซึ่งบังคับใช้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่เคยถูกโต้แย้งในระหว่างกระบวนพิจารณาคดีนั้นมาก่อนว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
       เป็นไปได้เช่นกันที่จะร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาคำพิพากษาของศาลทั้งหลาย
       a.) ซึ่งปฏิเสธไม่บังคับใช้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายในระดับนิติบัญญัติด้วยเหตุผลที่ว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะละเมิดกฎหมายที่มีค่าบังคับในลำดับที่สูงกว่า
       b.) ซึ่งปฏิเสธไม่บังคับใช้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายของแคว้นปกครองตนเองด้วยเหตุผลที่ว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายของแคว้นปกครองตนเองนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะละเมิดบทบัญญัติที่เกี่ยวกับสถานะของแคว้นปกครองตนเองหรือรัฐบัญญัติทั่วไปแห่งสาธารณรัฐ
       c.) ซึ่งปฏิเสธไม่บังคับใช้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายด้วยเหตุผลที่ว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะละเมิดสิทธิและสถานะของแคว้นปกครองตนเอง
       d.) ซึ่งบังคับใช้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่เคยถูกโต้แย้งในระหว่างกระบวนพิจารณาคดีนั้นมาก่อนว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยเหตุผลตาม a.), b.) และ c.)”
       27. มาตรา ๒๘๑ การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายแบบนามธรรม
       ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาและประกาศให้มีผลบังคับทั่วไปถึง
       a.) ความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของทุกกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย
       b.) ความไม่ชอบด้วยกฎหมายของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายในระดับนิติบัญญัติด้วยเหตุผลที่ว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะละเมิดกฎหมายที่มีค่าบังคับในลำดับที่สูงกว่า
       c.) ความไม่ชอบด้วยกฎหมายของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายของแคว้นปกครองตนเองด้วยเหตุผลที่ว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายของแคว้นปกครองตนเองนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะละเมิดบทบัญญัติที่เกี่ยวกับสถานะของแคว้นปกครองตนเองหรือรัฐบัญญัติทั่วไปแห่งสาธารณรัฐ
       d.) ความไม่ชอบด้วยกฎหมายของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายด้วยเหตุผลที่ว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะละเมิดสิทธิและสถานะของแคว้นปกครองตนเอง
       28. มาตรา ๒๘๒ แห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๒
       29. มาตรา ๒๘๓ วรรคแรกแห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๒
       30. มาตรา ๒๘๓ วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๒
       31. BON Pierre, Op.cit., p. 155.
       32. คณะปฏิวัติทำหน้าที่เป็นองค์กรควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก่อนที่จะมีศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน
       33. มาตรา ๒๗๙ แห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖
       34. BON Pierre, Op.cit., pp. 97-104.
       35. มาตรา ๔๖ แห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๒
       36. มาตรา ๑๐ วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๒
       37. มาตรา ๕๑ วรรคแรกแห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๒
       38. มาตรา ๑๐ วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๒
       39. มาตรา ๕๑ วรรคสามแห่งรัฐธรรมนูญโปรตุเกสลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๒
       40. มาตรา ๙ (A) แห่งรัฐบัญญัติลงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๑๙๘๒ ว่าด้วยการจัดองค์กร การดำเนินงาน และวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
       41. มาตรา ๙ (B) และมาตรา ๑๐๓ แห่งรัฐบัญญัติลงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๑๙๘๒ ว่าด้วยการจัดองค์กร การดำเนินงาน และวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
       
       บรรณานุกรม
       

       BON Pierre et autres, La justice constitutionnelle au Portugal, Economica, 1989.
       MOREIRA Vital, Le Tribunal constitutionnel portugais in www.conseil-constitutionnel.fr.
       ROUSSEAU Dominique, La justice constitutionnelle en Europe, Montchrestien, 1992.


 
 
๓๐ ปีกฎหมายการทำแท้งเสรีในฝรั่งเศส โดย อ. ปิยบุตร แสงกนกกุล
หลักกฎหมายปกครองทั่วไป : ทางออกในการอุดช่องว่างกฎหมายปกครองไทย โดย นางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
บทวิเคราะห์ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ โดย อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล
การทับซ้อนของเขตอำนาจศาลปกครองและศาลยุติธรรมฝรั่งเศส : ศึกษากรณีบริการสาธารณะ โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
ตุลาการศาลปกครองกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม(ตามหลัก équité) โดยคุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
   
 
 
 
สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของผู้มีรสนิยมร่วมเพศในมุมมองกฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายสิทธิมนุษยชนยุโรป โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
การทับซ้อนของเขตอำนาจศาลปกครองและศาลยุติธรรมฝรั่งเศส : ศึกษากรณีบริการสาธารณะ โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
คำแปลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐโปรตุเกส (เฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ) โดยอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
ความรับผิดชอบทางอาญาของประธานาธิบดีฝรั่งเศส โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม
สหภาพยุโรปและการเลือกปฏิบัติ : กรณีการรับสมัครคนสูบบุหรี่เข้าทำงาน โดย คุณพิมพ์ดาว จันทรขันตี
การมีส่วนร่วมของประชาชนในฝรั่งเศส : การอภิปรายสาธารณะ (Le débat public) โดย คุณวรรณภา ติระสังขะ
ตุลาการศาลปกครองกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม(ตามหลัก équité) โดยคุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
La France : Le pays où la rue joue le rôle important (เสียงเรียกร้องจากท้องถนน) โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม
“หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” อาวุธทรงพลังในหมู่ “ลูกแกะ” โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
บทวิเคราะห์ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ โดย อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544