หน้าแรก นานาสาระจากนักเรียนไทยในต่างแดน
การอยู่ร่วมกันของบุคคลในความสัมพันธ์ในด้านครอบครัวตามกฎหมายฝรั่งเศส โดย นางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
นางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
พนักงานคดีปกครอง 4 สำนักงานศาลปกครอง
นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขา Master 2 Recherche Protection des droits fondamentaux en Europe (specialisation en Droit interne)
16 ธันวาคม 2547 11:57 น.
 
            
       Website pub-law ของอาจารย์นันทวัฒน์เป็น website ที่ดิฉันเข้ามาเยี่ยมชมโดยเสมอ และได้มีโอกาสติดตามบทความจาก website นี้มาอ่านเพื่อเป็นการ "กันลืม" แนวความคิดด้านกฎหมายที่ห่างหายไปในระหว่างหนึ่งปีเต็มที่กลับไปสู่การเป็น "นักเรียน" ในโรงเรียนภาษา ในเดือนตุลาคมนี้ จะเป็นเดือนแรกที่ดิฉันได้กลับไปใช้ชีวิตในฐานะ "นักศึกษากฎหมาย" อีกครั้ง จึงมีความคิดว่าควรจะหันกลับไปสร้างเสริมภูมิความรู้ด้านกฎหมาย ซึ่งทางออกที่ดีในเรื่องนี้น่าจะเป็นการ "คิดดัง" และ "คิดออกมาเป็นตัวอักษร" ประกอบกับขณะนี้มี "หน้าต่าง" ของ "นานาสาระจากนักเรียนไทยในต่างแดน" ขึ้นใน website pub-law ดิฉันจึงขอถือโอกาสนี้ ในการเขียนบทความในสไตล์เล่าสู่กันฟังแบบง่ายๆ สบายๆ ลงในหน้าต่างนี้ เพราะถือเป็นแบบฝึกหัดที่ดีสำหรับ "มือใหม่" ในทางวงการวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางวงการกฎหมายมหาชนอย่างดิฉัน


                   
       ในรอบหนึ่งปีเต็มที่ดิฉันใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนภาษา ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของทุนรัฐบาลฝรั่งเศส นั้น หนึ่งเดือนก่อนที่จะจบการเรียน ดิฉันมีโอกาสเข้าชั้นเรียนภาษากฎหมายฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นชั้นเรียนเฉพาะทางเป็นพิเศษ แตกต่างไปจากภาษาฝรั่งเศสทั่วไป โดยหลักแล้วชั้นเรียนพิเศษดังกล่าวจะเป็นความร่วมมือระหว่างคณะอักษรศาสตร์และคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย จึงจะเป็นชั้นเรียนที่พบได้ในการเรียนภาษาของมหาวิทยาลัย สำหรับโรงเรียนภาษาเอกชนอย่างเช่นโรงเรียนของดิฉันนั้น นับว่าเป็นโชคดีที่ในครั้งนั้น มีนักเรียนต่างชาติที่มีความประสงค์ในการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในสาขานิติศาสตร์อยู่ในจำนวนหนึ่ง จึงสามารถไป "ร้องขอ" ต่อผู้รับผิดชอบของทางโรงเรียน เพื่อให้มีการเปิดชั้นเรียนดังกล่าวในกรณีพิเศษขึ้นได้ ดิฉันจึงขอถือโอกาสนำประโยชน์ในการเข้าชั้นเรียนดังกล่าวมาเล่าสู่กันฟังในลักษณะของ "เกร็ด" เล็กน้อยในระบบกฎหมายฝรั่งเศส


                   
       ในระบบกฎหมายฝรั่งเศสได้กล่าวถึงการอยู่ร่วมกันของบุคคลในความสัมพันธ์ในด้านครอบครัวไว้เป็นสามสถานะด้วยกัน คือ การแต่งงาน (mariage) การอยู่ร่วมกันโดยไม่มีการจดทะเบียนสมรส (concubinage)และ การอยู่ร่วมกันโดยการทำสัญญาที่เรียกว่า pacs ซึ่งการอยู่ร่วมกันของบุคคลในความสัมพันธ์ด้านครอบครัวทั้งสามสถานะดังกล่าวก็มีความแตกต่างกันในด้านต่างๆ เช่น วัตถุประสงค์ในการอยู่ร่วมกัน เพศที่กฎหมายยินยอมให้เลือกสถานะใดสถานะหนึ่ง สิทธิและหน้าที่ การถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน การถือสิทธิในกรณีที่คู่สมรสเสียชีวิต สิทธิเกี่ยวกับการมีบุตรหรือการรับบุตรบุญธรรม รวมทั้งกรณีต่างๆเมื่อมีการสิ้นสุดความสัมพันธ์ในแต่ละสถานะ ซึ่งถือว่าเป็นระบบของการอยู่ร่วมกันของบุคคลในความสัมพันธ์ในด้านครอบครัวที่แตกต่างไปจากกฎหมายครอบครัวของบ้านเรา ซึ่งจะกล่าวถึงเพียงแต่การแต่งงานโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหมายถึงการจดทะเบียนสมรส และการแต่งงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหมายถึงการอยู่กินด้วยกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส ดังนั้นจึงถือได้ว่ารูปแบบของการอยู่ร่วมกันของบุคคลในความสัมพันธ์ในด้านครอบครัวในสายตาของกฎหมายไทย ถือเพียงแค่รูปแบบของการจดทะเบียนสมรสเป็นหลัก ซึ่งจะส่งผลให้สิทธิและหน้าที่ ตลอดจนการถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของคู่สมรสที่มีการจดทะเบียนสมรส ซึ่งมีกำหนดไว้โดยชัดแจ้งในประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยครอบครัว แตกต่างกับคู่สมรสที่ไม่มีการจดทะเบียนสมรส ซึ่งถือเป็นเพียงการอยู่ร่วมกันของบุคคลสองคนในสถานะเช่นเดียวกับหุ้นส่วนและมีการแบ่งทรัพย์ในลักษณะเดียวกับกรรมสิทธิ์ร่วม ทั้งนี้ ถือตามที่คำพิพากษาฎีกาวางหลักไว้


                   
       ระบบกฎหมายฝรั่งเศสถือว่าการแต่งงาน (mariage) เป็นความสัมพันธ์ในขั้น "เหนียวแน่น" กล่าวคือ เป็นความสัมพันธ์ที่มีจุดประสงค์เพื่อการสร้างครอบครัว และมีความผูกพันกันระหว่างคู่สมรส กฎหมายจึงได้มีการกำหนดสิทธิและหน้าที่ในกรณีดังกล่าวไว้โดยละเอียด กฎหมายอนุญาตให้บุคคลที่จะผูกพันกันในสถานะดังกล่าวว่าต้องเป็นบุคคลต่างเพศกัน หากเป็นผู้เยาว์จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ทั้งนี้ บุคคลดังกล่าวต้องไม่มีความผูกพันกันในทางสายเลือดโดยตรง (un lien de parenté)ในทางเหนือขึ้นไปหรือลงมา เช่น พี่ชายกับน้องสาว ลุงกับหลาน หรือ อากับหลาน เป็นต้น รูปแบบทางทะเบียนของการแต่งงานคือการไปจดทะเบียนสมรสที่ Maire หรือที่เทศบาลของแต่ละเมือง คู่สมรสโดยการแต่งงานมีหน้าที่ในการซื่อสัตย์ต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทรัพย์สินของคู่สมรสในกรณีดังกล่าวถือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วม ยกเว้นในกรณีที่มีการทำสัญญาก่อนสมรสหรือสัญญาต่างๆไว้เป็นพิเศษ คู่สมรสสามารถใช้สิทธิต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ เช่น สิทธิในการลาคลอดตามกฎหมายแรงงาน หรือสิทธิในการได้เงินช่วยเหลือในกรณีการสิ้นสุดลงของการสมรส เป็นต้น สำหรับในประเด็นเกี่ยวกับบุตร คู่สมรสสิทธิต่างๆร่วมกันในการดูแลบุตร เช่น การให้การศึกษา การดูแล รวมทั้งมีสิทธิในการรับบุตรบุญธรรม การสิ้นสุดการแต่งงานมีได้โดยสองทาง คือ การหย่าตามกฎหมาย และการตายของคู่สมรส


                   
       สำหรับความสัมพันธ์ในแบบที่สอง ซึ่งถือเป็นความสัมพันธ์ที่มีความเหนียวแน่นและผูกพันที่เบาบางกว่าความสัมพันธ์ประเภทแรกนั้น concubinage หรือการอยู่ร่วมกันโดยไม่มีการจดทะเบียนสมรส เป็นความสัมพันธ์ที่กฎหมายอนุญาตให้สำหรับบุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศกัน ทั้งนี้ จะต้องไม่เป็นกรณีที่ละเมิดต่อกฎหมายอาญาเรื่องการปกป้องสิทธิผู้เยาว์ (des lois penale de protection des mineurs)อนึ่ง กฎหมายไม่ได้ห้ามว่าบุคคลดังกล่าวต้องไม่มีความผูกพันกันในทางสายเลือดโดยตรง (un lien de parenté)ในทางเหนือขึ้นไปหรือลงมา ดังนั้น เราจึงอาจพบว่า concubinage อาจเป็นกรณีที่ความสัมพันธ์กันในทางสายเลือดในระดับหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้นกฎหมายไม่ได้กำหนดแบบพิธีเป็นรูปแบบทางทะเบียนเช่นเดียวกับแบบแรก เพราะถือเป็นการอยู่ด้วยกันโดยข้อเท็จจริง (union de fait) ดังนั้นจึงทำให้ concubinage มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า l'union libre ในทางตรงกันข้ามกับความสัมพันธ์แบบแรก คู่สมรสแบบ concubinage ไม่มีสิทธิหน้าที่ใดๆต่อกัน ซึ่งส่งผลต่อมาถึงเรื่องความผูกพันในด้านทรัพย์สินว่าไม่ถือเป็นทรัพย์สินร่วมกัน จึงไม่มีกรณีที่เจ้าหนี้ของคู่สมรสฝ่ายหนึ่งจะสามารถบังคับเอากับทรัพย์สินของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ หรือไม่มีกรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดจะถือเอากรรมสิทธ์ในกรณีเงินเก็บของคู่สมรสที่ตายได้ นอกจากนั้น concubinage จึงไม่สามารถใช้สิทธิต่างๆทั้งที่เป็นสิทธิในทางความเป็นจริงได้ เช่น การลาคลอด เป็นต้น สำหรับในกรณีเกี่ยวกับบุตร กฎหมายถือว่า concubinage มีสิทธิในการดูแลบุตรเช่นเดียวกับคู่สมรสในกรณีการแต่งงาน แต่ไม่มีสิทธิรับบุตรบุญธรรม และเนื่องจาก concubinage เป็นการอยู่ร่วมกันแบบข้อเท็จจริง การสิ้นสุดของ concubinage จึงเป็นไปตามข้อเท็จจริงโดยเสรี และการตายของอีกฝ่าย


                   
       สำหรับรูปแบบของการอยู่ร่วมกันของบุคคลในความสัมพันธ์ในด้านครอบครัวสถานะที่สาม คือ pacs ซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นทางออกของกลุ่มรักร่วมเพศก่อนหน้าที่ประเทศฝรั่งเศสจะมีกฎหมายยอมรับการแต่งงานของกลุ่มรักร่วมเพศ (le mariage homosexuel)ซึ่งเป็นที่มาของความขัดแย้งในระบบการเมืองฝรั่งเศสมากพอสมควร ก่อนหน้าที่ประเทศฝรั่งเศสจะมีการยอมรับ pacs ว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความสัมพันธ์ในด้านครอบครัวนั้น ได้มีการถกเถียงกันว่า pacs จะเป็นตัวทำลายระบบการแต่งงานในระบบกฎหมายฝรั่งเศส ซึ่งหมายถึงการทำลายระบบสถาบันครอบครัว เนื่องจากการอยู่ร่วมกันในลักษณะนี้จะมีการทำสัญญา pacs ซึ่งมีเนื้อหาในบางประเด็นคล้ายกับสิทธิและหน้าที่ตามการแต่งงานทะเบียนสมรส แต่ในท้ายที่สุด pacs ก็ได้รับการ vote และต่อมาก็ไม่พบว่าการมีอยู่ของ pacs จะทำลายความศักดิ์สิทธิ์และระบบสถาบันครอบครัวแต่อย่างใด ดังนั้นจึงถือได้ว่า pacs เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการอยู่ร่วมกันของบุคคลในความสัมพันธ์ในด้านครอบครัว การยอมรับการมีอยู่ของ pacs จะ เห็นได้จากการที่ภาษาฝรั่งเศสสร้างคำกิริยา se pacser ขึ้นมาใช้ในกรณีนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากจุดประสงค์ของ pacs คือการอยู่ร่วมกันในสังคม (pour organiser leur vie commune) ดังนั้น ในเรื่องเกี่ยวกับเพศ กฎหมายจึงอนุญาตให้บุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศกันที่บรรลุนิติภาวะแล้วเข้าทำสัญญา pacs กันได้ อย่างไรก็ดี ข้อยกเว้นในกรณีนี้มีเช่นเดียวกับการแต่งงาน กล่าวคือ ห้ามบุคคลที่มีความผูกพันกันในทางสายเลือดโดยตรง (un lien de parenté)ในทางเหนือขึ้นไปหรือลงมา ยิ่งไปกว่านั้น ยังห้ามบุคคลที่มีการแต่งงาน หรือ มีสัญญา pacs ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว สำหรับในเรื่องทางทะเบียนและรูปแบบ กฎหมายกำหนดให้คู่สัญญา pacs ต้องมีการประกาศที่ศาลชั้นต้น (le tribunal d'instance)แต่ไม่ได้กำหนดว่าคู่สัญญา pacs ต้องมีหน้าที่ในการซื้อสัตย์ต่อกันดังเช่นที่กำหนดไว้ในกรณีการแต่งงาน แต่ในสัญญา pacs เองได้กำหนดไว้ในตัวสัญญาว่าคู่สัญญาต้องมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ในกรณีการก่อหนี้ คู่สัญญา pacs ถือว่าเป็นหนี้ร่วม ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าคู่สัญญา pacs มีความผูกพันกันในด้านทรัพย์สินกันในระดับที่มากกว่า concubinage เพราะกฎหมายกำหนดให้มีการแบ่งทรัพย์สมบัติเป็นครึ่งเมื่อมีการเซ็นสัญญา ในทางกลับกัน pacs กลับไม่ได้ให้ประโยชน์ในด้านสิทธิต่างๆในด้านสังคม เช่น ค่าเลี้ยงดู แต่กลับให้สิทธิในด้านการทำงาน เช่น การลาคลอด นอกจากนี้ ประเด็นที่สำคัญของ pacs คือการไม่ให้สิทธิใดๆเกี่ยวกับเรื่องบุตร รวมทั้งการรับบุตรบุญธรรม ซึ่งประเด็นในเรื่องนี้ถือว่าเป็นช่องว่างของ pacs ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเรื่องการแต่งงานของกลุ่มรักร่วมเพศให้มีการรับบุตรบุญธรรมได้ด้วย การสิ้นสุดของ pacs มีได้สี่กรณีคือ การสิ้นสุดโดยข้อเท็จจริงโดยการตัดสินใจของคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การตกลงใจเลิกสัญญากันโดยคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย (ซึ่งทั้งสองกรณีนี้จะมีกระบวนการทางศาลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย) การสิ้นสุดโดยการแต่งงาน และการสิ้นสุดโดยการตายของคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง


                   
       จึงจะเห็นได้ว่าระบบกฎหมายฝรั่งเศสได้กำหนดรูปแบบใหม่ๆในการอยู่ร่วมกันของบุคคลในความสัมพันธ์ในด้านครอบครัวที่ค่อนข้างละเอียดในแต่ละสถานะ ซึ่งในแต่ละสถานะก็มีข้อดี ข้อเสีย และความผูกพัน ตลอดจนสิทธิหน้าที่แตกต่างกัน รวมทั้งได้กำหนดเพศของคู่สัญญาไว้อย่างชัดเจน จะเห็นได้ว่าการแต่งงานซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นความสัมพันธ์ที่ ได้รับการยอมรับเป็นการทั่วไปในสังคม เป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนน้อยที่สุด เพราะมีกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจน และคุ้มครองอย่างเต็มที่ ในขณะที่ concubinage หรือ pacs ค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อน และขาดสิทธิบางประการเมื่อเทียบกับการแต่งงาน เช่น สิทธิการฟ้องหย่าในกรณีบางประการที่กฎหมายถือว่าเป็นความผิด เช่น การมีชู้ เพราะถือเป็นการละเมิดต่อหน้าที่ที่จะต้องซื่อสัตย์ต่อกัน หรือสิทธิในการร้องขอค่าเลี้ยงดูในกรณีที่ความสัมพันธ์ดังกล่าวจบสิ้น เป็นต้น การเลือกสถานะในการอยู่ร่วมกันแบบใดจะส่งผลต่อไปถึงการพิจารณาความช่วยเหลือจากสวัสดิการของรัฐ (securité social)ซึ่งเป็นจุดเด่นของรัฐสวัสดิการอย่างประเทศฝรั่งเศส ในฐานะผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากสวัสดิการดังกล่าวในด้านที่อยู่อาศัยในทุกเดือนอย่างดิฉัน ดิฉันมีความชื่นชมโดยส่วนตัวถึง "ความใจกว้าง"ของประเทศฝรั่งเศสในการให้สิทธิคนต่างชาติค่อนข้างมากเช่นนี้ จึงมีความเห็นโดยส่วนตัวว่าระบบสวัสดิการสังคมของประเทศฝรั่งเศสค่อนข้างเป็นระบบที่น่าสนใจ หากมีโอกาสดิฉันจะนำมาเล่าสู่กันฟังเป็นการต่อไปนะคะ


 
 
๓๐ ปีกฎหมายการทำแท้งเสรีในฝรั่งเศส โดย อ. ปิยบุตร แสงกนกกุล
หลักกฎหมายปกครองทั่วไป : ทางออกในการอุดช่องว่างกฎหมายปกครองไทย โดย นางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
บทวิเคราะห์ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ โดย อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล
การทับซ้อนของเขตอำนาจศาลปกครองและศาลยุติธรรมฝรั่งเศส : ศึกษากรณีบริการสาธารณะ โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
ตุลาการศาลปกครองกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม(ตามหลัก équité) โดยคุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
   
 
 
 
สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของผู้มีรสนิยมร่วมเพศในมุมมองกฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายสิทธิมนุษยชนยุโรป โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
การทับซ้อนของเขตอำนาจศาลปกครองและศาลยุติธรรมฝรั่งเศส : ศึกษากรณีบริการสาธารณะ โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
ศาลรัฐธรรมนูญและคดีรัฐธรรมนูญโปรตุเกส โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
คำแปลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐโปรตุเกส (เฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ) โดยอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
ความรับผิดชอบทางอาญาของประธานาธิบดีฝรั่งเศส โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม
สหภาพยุโรปและการเลือกปฏิบัติ : กรณีการรับสมัครคนสูบบุหรี่เข้าทำงาน โดย คุณพิมพ์ดาว จันทรขันตี
การมีส่วนร่วมของประชาชนในฝรั่งเศส : การอภิปรายสาธารณะ (Le débat public) โดย คุณวรรณภา ติระสังขะ
ตุลาการศาลปกครองกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม(ตามหลัก équité) โดยคุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
La France : Le pays où la rue joue le rôle important (เสียงเรียกร้องจากท้องถนน) โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม
“หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” อาวุธทรงพลังในหมู่ “ลูกแกะ” โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544