หน้าแรก นานาสาระจากนักเรียนไทยในต่างแดน
๓๐ ปีกฎหมายการทำแท้งเสรีในฝรั่งเศส โดย อ. ปิยบุตร แสงกนกกุล
อ. ปิยะบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
6 มกราคม 2548 12:59 น.
 
สวัสดีครับ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวคราวที่น่าสนใจในฝรั่งเศสคงหนีไม่พ้นเรื่องการลาออกจากตำแหน่ง รมต.คลังของนายนิโกล่าส์ ซาร์โกซี่ เพื่อไปดำรงตำแหน่งประธานพรรค UMP สื่อมวลชนที่นี่ตั้งประเด็นกันว่าพรรค UMP ที่เป็นพรรครัฐบาลจะยังคงสนับสนุนการทำงานของประธานาธิบดีชีรัคต่อไปหรือไม่ เป็นที่ทราบกันดีว่าสิงห์หนุ่มซาร์โกซี่กับเสือเฒ่าชีรัคมีอาการเกาเหลากันมานาน ปฐมเหตุเริ่มมาตั้งแต่การหาเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี ๑๙๙๕ ที่ซาร์โกซี่ไปสนับสนุนนายเอดูอาร์ด บัลลาดูร์ให้ชิงตำแหน่งกับชีรัค มาถึงในสมัยรัฐบาลปัจจุบัน ซาร์โกซี่ก็ทำงานเชิงรุกแบบออกนอกหน้าคนอื่นเรียกว่าบดบังรัศมีชีรัคและนายกรัฐมนตรีราฟฟาแร็งไปหมด แถมยังแสดงความเห็นอีกว่าควรแก้รัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดให้เป็นประธานาธิบดีได้ไม่เกิน ๒ วาระ เรื่องนี้เป็นการส่งสัญญาณไปยังชีรัคอย่างชัดเจน เพราะชีรัคซึ่งเป็นประธานาธิบดีรอบนี้เป็นรอบที่ ๒ ตั้งใจว่าจะลงสมัครอีกรอบหนึ่งเพราะหากชีรัคออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีไปแล้วความคุ้มกันในการดำเนินคดีทุจริตในสมัยเป็นนายกเทศมนตรีปารีสก็จะหมดไป ต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาลแบบคนธรรมดา ทางชีรัคเองก็ไม่กล้าเอาซาร์โกซี่ออกจากตำแหน่งเพราะคนฝรั่งเศสนิยมชมชอบ แต่ก็พยายามหาวิธีลดบทบาททีละน้อยด้วยการย้ายซาร์โกซี่จากรมต.มหาดไทยไปเป็นรมต.คลังแทนแต่ซาร์โกซี่กลับไปทำผลงานได้ดีอีก ทางซาร์โกซี่เองก็รู้ดีว่าตนเองกำลังถูกตัดตอนจึงประกาศว่าถ้าร่างกฎหมายงบประมาณประจำปี ๒๐๐๕ ผ่านสภาไปได้ด้วยดีแล้วตนจะลาออกจากตำแหน่งรมต.เพื่อไปชิงตำแหน่งประธานพรรค UMP แทน หมากของซาร์โกซี่นับว่าเฉียบขาดยิ่งนัก เพราะจากการร่วมรัฐบาลมาเกือบ ๓ ปี ผลงานทั้งที่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลังก็ได้การยอมรับสูงซึ่งคงไม่มีทางสูงไปกว่านี้อีกแล้ว เกิดอยู่ไปจนถึงปลายสมัยกระแสอาจจะตกลงไปก็ได้ ไหนจะโดนชีรัคบีบเช้าบีบเย็น อย่ากระนั้นเลยชิงลาออกมาเองตอนที่ความนิยมยังสูงอยู่แล้วเปลี่ยนจากงานบริหารไปเป็นคุมพรรค UMP เพื่อเตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในปี ๒๐๐๗ ดีกว่า ซาร์โกซี่ตั้งใจว่าจะไปจัดทัพสร้างขุมกำลังในพรรค UMP เพื่อผลักดันให้ตนเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี ๒๐๐๗ หมากของซาร์โกซี่นี้นอกจากจะเป็นการหลบไปซ่องสุมกำลังเตรียมเลือกตั้งสมัยหน้าแล้วยังเป็นการพลิกเกมส์จากเดิมที่ถูกชีรัคบีบทุกวันกลายมาเป็นตนเองในฐานะคนคุมเสียงในพรรค UMP ไปบีบชีรัคและรัฐบาลแทนอีกด้วย นี่ก็เป็นการเมืองของพรรคฝ่ายขวาไว้คราวหน้าผมจะเล่าให้ฟังถึงพรรคสังคมนิยมที่เป็นคู่ท้าชิงในการเลือกตั้งครั้งหน้าบ้างเพราะตอนนี้ก็เริ่มจัดทัพเตรียมสู้ศึกเช่นกัน
       
       มาถึงประเด็นหลักของคราวนี้ที่ผมสรรหามาเล่าให้ฟังกันบ้าง เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายนที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ ๓๐ ปีที่สภาผู้แทนราษฏรให้ความเห็นชอบร่างรัฐบัญญัติอนุญาตให้มีการทำแท้งเสรีที่นางซีโมน เวย (Simone Veil) รมต.สาธารณสุข (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญ) เป็นผู้เสนอ การอภิปรายก่อนลงมติใช้เวลายาวนานสามวันสามคืน ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรก็มีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง ๒๘๔ ต่อ ๑๘๙ เป็นที่น่าสังเกตว่าเสียงที่ลงมติเห็นชอบกลับมาจากพรรคสังคมนิยมและพรรคฝ่ายซ้ายอื่นๆที่เป็นฝ่ายค้าน ในขณะที่ส.ส.จำนวนมากของพรรคฝ่ายขวาที่เป็นรัฐบาลกลับลงมติไม่เห็นชอบ (เสียงข้างมากในสภาของพรรคฝ่ายขวามี ๒๙๒ เสียงแต่กลับลงมติเห็นชอบเพียง ๙๙ เสียง) เรียกได้ว่า กฎหมายนี้ผ่านได้เพราะฝ่ายค้านช่วยไว้โดยแท้ (กรณีฝ่ายค้านช่วยลงมติรับร่างกฎหมายเช่นนี้คงเกิดขึ้นได้ยากหรืออาจไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย) เป็นที่ทราบกันดีว่าพรรคฝ่ายขวามีทัศนคติที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมต่อการทำแท้งแต่เหตุใดรัฐบาลฝ่ายขวาภายใต้นายกรัฐมนตรีฌาคส์ ชีรัคและประธานาธิบดีวาเลรี่ จิสการ์ด เดสแต็งซึ่งก็มาจากฝ่ายขวากลับผลักดันกฎหมายนี้ เหตุต่อเนื่องมาจากนายจิสการ์ด เดสแต็งได้หยิบหยกประเด็นสิทธิสตรีไปใช้ในการหาเสียงและสัญญาว่าจะผลักดันให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น เมื่อจัดตั้งรัฐบาลก็แต่งตั้งรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิงรวมถึง ๔ คน ดังนั้นประธานาธิบดีจิสการ์ด เดสแต็งจึงสนับสนุนนางเวยอย่างเต็มที่ในการผลักดันกฎหมายการทำแท้งเสรีถึงแม้เสียงคัดค้านในพรรคจะมีมากก็ตาม ประกอบกับบรรยากาศในช่วงนั้นที่ตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของสังคมนิยม สตรีนิยม สวัสดิการนิยม และการเรียกร้องความเสมอภาค ซึ่งเริ่มแพร่กระจายตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาคม ๑๙๖๘ ที่นักศึกษาและผู้ใช้แรงงานร่วมกันประท้วงประธานาธิบดีเดอ โกลล์
       รัฐบัญญัติ “เวย” (loi « Veil ») ซึ่งเรียกตามชื่อนางซีโมน เวยนี้ไม่ได้เป็นเพียงการปลดปล่อยให้มีการทำแท้งได้ตามความสมัครใจเท่านั้นแต่ยังเป็นสัญลักษณ์ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของสตรีนิยมอีกด้วย การทำแท้งเสรีถือเป็นการปลดแอกของสตรีอีกครั้งหลังจากการเรียกร้องให้สตรีมีสิทธิเลือกตั้งสำเร็จเมื่อ ๒๑ ตุลาคม ๑๙๔๕ จะว่าไปแล้วฝรั่งเศสซึ่งเรามองกันว่าเป็นประเทศที่ก้าวหน้าในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค แต่ในความเป็นจริงสิทธิสตรีในบางประเด็นยังล้าหลังอยู่สังเกตได้จากสตรีพึ่งมีสิทธิเลือกตั้งเมื่อปี ๑๙๔๕ ซึ่งช้ากว่าไทยที่ให้สิทธิแก่สตรีตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ (ค.ศ. ๑๙๓๒) ปัจจุบันนี้ก็ยังมีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเงินเดือนของหญิงและชาย
       
       ผมขอเล่าเงื่อนไขและกระบวนการในการทำแท้งโดยย่อๆนะครับ การทำแท้งหรือที่เรียกกันในฝรั่งเศสว่า “ L’interruption volontaire de grossesse, IVG ” นั้น กฎหมายได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่าการทำแท้งมีขึ้นได้ตามคำร้องขอของหญิงมีครรภ์ซึ่งเห็นว่าตนอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์ (une situation de détresse) หญิงมีครรภ์เป็นเพียงผู้เดียวที่จะตัดสินใจว่าอย่างไรที่เรียกว่า สถานการณ์ที่ยากลำบากอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์ ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
       
       ๑. การทำแท้งต้องกระทำโดยแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุข
       
       ๒. การทำแท้งมีขึ้นได้ภายในระยะเวลา ๑๒ สัปดาห์แรกของอายุครรภ์ เดิมรัฐบัญญัติ “เวย” กำหนดไว้ที่ ๑๐ สัปดาห์ต่อมาในปี ๒๐๐๑ รัฐบัญญัติ “โอบรี้” (loi « Aubry ») ได้ขยายระยะเวลาของอายุครรภ์ที่สามารถทำแท้งได้ออกไปเป็น ๑๒ สัปดาห์
       
       ๓. ในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์เป็นผู้เยาว์ เดิมจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง ปัจจุบันรัฐบัญญัติ “โอบรี้” (loi « Aubry ») แก้ไขให้ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองแต่ต้องพาบุคคลบรรลุนิติภาวะตามแต่ที่ตนเลือกมาด้วย
       
       ๔. ในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์เป็นคนต่างประเทศ ต้องอาศัยในฝรั่งเศสมาไม่น้อยกว่า ๓ เดือน เว้นแต่เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง
       
       ๕. หญิงที่ร้องขอทำแท้งต้องผ่านการปรึกษาหารือจากแพทย์และนักสังคมสงเคราะห์ โดยเริ่มจากการปรึกษาแพทย์ครั้งแรกเพื่อรับทราบข้อมูลและวิธีการทำแท้งในรูปแบบต่างๆ ขั้นตอนนี้ใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ ในสัปดาห์เดียวกันนั้น หญิงต้องผ่านการสัมภาษณ์โดยนักสังคมสงเคราะห์ ผลจากการสัมภาษณ์ไม่ได้บังคับให้หญิงต้องเปลี่ยนใจไม่ทำแท้งแต่หญิงยังคงมีสิทธิในการยืนยันตามคำร้องเดิม เมื่อผ่านการสัมภาษณ์แล้วหญิงจะได้ใบรับรอง ปิดท้ายด้วยการปรึกษาแพทย์ครั้งที่สองเพื่อให้หญิงยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร กฎหมายกำหนดให้การปรึกษาแพทย์ครั้งที่สองนี้ต้องมีขึ้นอย่างช้า ๑ สัปดาห์หลังการปรึกษาแพทย์ครั้งแรกและ ๒ วันหลังการสัมภาษณ์โดยนักสังคมสงเคราะห์ จากนั้นก็ขึ้นทะเบียนรอรับการทำแท้งต่อไป
       วิธีการทำแท้งนอกจากจะวางยาสลบและใช้เครื่องมือทำตามที่เรารู้กันดีแล้วยังมีการทำแท้งโดยการกินยาให้แท้งลูก เช่น RU 486 อีกด้วยซึ่งกฎหมายพึ่งอนุญาตในปี ๑๙๘๘ แต่บังคับให้ใช้กันในโรงพยาบาลเท่านั้น จนกระทั่งเดือน กรกฎาคม ๒๐๐๔ นายฟิลิปป์ ดูสท์ บลาซี่ รมต.สาธารณสุขได้ออกรัฐกฤษฎีกากำหนดให้การทำแท้งด้วยการใช้ยาสามารถทำได้นอกโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามการกินยาให้แท้งลูกนี้กฎหมายอนุญาตให้ทำได้ภายใน ๕ สัปดาห์ของอายุครรภ์เท่านั้น สำหรับค่าใช้จ่ายจากการทำแท้งทั้งสองวิธีสามารถนำไปเบิกจากกองทุนประกันสังคมได้
       จากการสำรวจสถานการณ์ด้านการทำแท้งในปัจจุบันของฝรั่งเศสพบว่า อัตราการทำแท้งในช่วงปี ๑๙๙๐ ถึง ๑๙๙๕ ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ รายต่อปี นับแต่ปี ๑๙๙๖ อัตราก็ค่อยๆเพิ่มขึ้น ในปี ๒๐๐๒ จำนวนทำแท้งรวม ๒๐๕,๖๒๗ เทียบกับจำนวนการเกิด ๘๐๐,๐๐๐ คน จำนวนการทำแท้งในสตรีที่มีอายุระหว่าง ๑๕ ปีถึง ๔๙ ปีอยู่ที่ ๑๔.๓ ต่อ ๑,๐๐๐ อัตราการทำแท้งของผู้เยาว์อยู่ที่ ๑๐,๗๐๐ ราย สองในสามของการทำแท้งทั้งหมดเกิดขึ้นที่โรงพยาบาลของรัฐ ร้อยละ ๓๕ ใช้วิธีการทำแท้งโดยการใช้ยา สตรีฝรั่งเศสเดินทางไปทำแท้งยังต่างประเทศปีละประมาณ ๕,๐๐๐ คน แคว้นที่อัตราการทำแท้งสูงได้แก่ Ile-de-France, Languedoc-Roussillon, Provence-Alpes-Côte d'Azur และเกาะ Corse ส่วนแคว้นที่มีอัตราต่ำได้แก่ Pays de la Loire และ Basse-Normandie
       
       ลองมาดูกฎหมายของประเทศอื่นกันบ้าง ผมสำรวจกฎหมายเรื่องทำแท้งของประเทศต่างๆในสหภาพยุโรปแล้วพบว่า ส่วนใหญ่กฎหมายจะอนุญาตให้มีการทำแท้งเสรีได้ภายในระยะเวลา ๑๒ สัปดาห์แรกของอายุครรภ์ เมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วการทำแท้งไม่อาจเกิดขึ้นได้เว้นแต่กรณีจำเป็นต้องทำเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายต่อร่างกายหรือชีวิตของมารดาและบุตร ฮอลแลนด์ สหราชอาณาจักร และสวีเดน เป็นประเทศที่อนุญาตให้ทำแท้งได้ในระยะเวลายาวนานที่สุดในสหภาพยุโรป กล่าวคือ ๒๔ สัปดาห์ของอายุครรภ์สำหรับการทำแท้งในสองครั้งแรก และลดลงเหลือ ๑๘ สัปดาห์สำหรับการทำแท้งในครั้งที่สาม ระยะเวลาที่ยาวนานดังกล่าวทำให้คนต่างชาติจำนวนมากเดินทางมายังฮอลแลนด์และสหราชอาณาจักรเพื่อทำแท้ง ส่วนสวีเดนนั้นมีกฎหมายห้ามคนต่างชาติเข้ามาทำแท้งในประเทศตน
       กล่าวสำหรับฮอลแลนด์ เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ฮอลแลนด์จะอนุญาตให้ทำแท้งได้ในระยะเวลาที่นานกว่าประเทศอื่นๆ แต่อัตราการทำแท้งกลับต่ำที่สุดในโลกเพียง ๖.๕ ต่อจำนวนสตรี ๑๐๐๐ คน ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลฮอลแลนด์มุ่งให้การศึกษาเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิดเป็นสำคัญ ในทางปฏิบัติอายุครรภ์นานที่สุดที่มาทำแท้งอยู่ที่ ๒๒ สัปดาห์ กรณีอายุครรภ์ถึง ๒๔ สัปดาห์หาได้ยาก ร้อยละ ๙๕.๕ ของการทำแท้งทั้งหมดในฮอลแลนด์มีระยะเวลาของอายุครรภ์ที่ ๑๓ สัปดาห์ คนต่างชาตินิยมเดินทางมาทำแท้งที่ฮอลแลนด์ ในปี ๒๐๐๓ มีจำนวนถึง ๔,๓๔๗ รายจากจำนวนการทำแท้งทั้งหมด ๓๓,๑๕๙ ครั้งหรือคิดเป็นร้อยละ ๑๓ จำนวนการทำแท้งนอกจากเกิดจากคนต่างชาติที่อาศัยประโยชน์จากกฎหมายของฮอลแลนด์แล้วยังมาจากคนชาติอื่นที่อพยพเข้ามาจนเป็นพลเมืองฮอลแลนด์อีกด้วย จึงเกิดข้อถกเถียงกันว่าเป็นการสมควรหรือไม่ที่จะออกกฎหมายห้ามคนต่างชาติเดินทางเข้ามาทำแท้งและควรลดระยะเวลาของอายุครรภ์ที่สามารถทำแท้งลงไปหรือไม่ น่าแปลกใจอยู่ไม่น้อยที่ฮอลแลนด์พึ่งมีกฎหมายรับรองการทำแท้งเมื่อปี ๑๙๘๔ หรือ ๑๐ ปีให้หลังฝรั่งเศสแต่สิทธิการทำแท้งในฮอลแลนด์ก็ก้าวไกลไปกว่าฝรั่งเศสมาก
       โรมาเนียรับรองให้การทำแท้งชอบด้วยกฎหมายเมื่อปี ๑๙๘๙ ภายหลังการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ และเป็นเพียงประเทศเดียวในยุโรปที่อัตราการทำแท้งสูงกว่าอัตราการเกิด (ปี ๒๐๐๓ มีการทำแท้งรวม ๒๓๐,๐๐๐ รายในขณะที่มีการเกิด ๒๑๒,๔๕๙ คน) ในปี ๑๙๘๕ สเปนได้ออกกฎหมายยกเว้นโทษจากการทำแท้งใน ๒ กรณี กรณีแรกเป็นกรณีที่จำเป็นต้องทำแท้งเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายอย่างร้ายแรงต่อกายและใจของมารดาหรือการตั้งครรภ์อันเนื่องมาจากถูกข่มขืน กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้ภายใน ๑๒ สัปดาห์แรกของอายุครรภ์ กรณีที่สองเป็นกรณีที่เสี่ยงต่อการไม่สมประกอบของทารกในครรภ์ กฎหมายได้ขยายระยะเวลาออกไปเป็น ๒๒ สัปดาห์ของอายุครรภ์ โปรตุเกสก็เช่นกัน กฎหมายอนุญาตให้มีการทำแท้งได้ในกรณีเป็นอันตรายต่อกายหรือใจของมารดา (๑๒ สัปดาห์ของอายุครรภ์) การตั้งครรภ์เนื่องมาจากถูกข่มขืน (๑๖ สัปดาห์) และเสี่ยงต่อการไม่สมประกอบของทารก (๒๔ สัปดาห์) สตรีที่ทำแท้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี อย่างไรก็ตามจากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าอัตราการทำแท้งเถื่อนในโปรตุเกสมีสูงมากประมาณ ๒๐,๐๐๐ ถึง ๔๐,๐๐๐ รายต่อปี นอกจากนี้ในแต่ละปีสตรีโปรตุเกสประมาณ ๑,๐๐๐ คนเดินทางไปยังสเปนประเทศเพื่อนบ้านเพื่อทำแท้ง ด้านคลินิกที่รับทำแท้งในสเปนก็นิยมลงโฆษณาตามสื่อต่างๆในโปรตุเกสเป็นประจำ
       เอสโตเนียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจ กฎหมายเอสโตเนียอนุญาตให้มีการทำแท้งได้ภายใน ๑๒ สัปดาห์แรกของอายุครรภ์ แต่ในสายตาของชาวเอสโตเนียแล้วมองว่าการทำแท้งเป็นการคุมกำเนิดธรรมดาชนิดหนึ่ง อีกนัยหนึ่งชาวเอสโตเนียมักไม่ป้องกันการตั้งครรภ์ก่อน เมื่อมีการตั้งครรภ์ก็ใช้วิธีทำแท้งเอา ด้วยเหตุนี้อัตราการทำแท้งจึงมีสูงมาก ในปี ๒๐๐๒ คิดแบบเฉลี่ยแล้วพบว่ามีการทำแท้ง ๘๓ รายต่อการเกิด ๑๐๐ คน สตรีในช่วงอายุ ๑๕-๔๙ ปีมีอัตราการทำแท้งสูงถึง ๓๒ ต่อ ๑,๐๐๐ (ในขณะที่อัตราเฉลี่ยรวมทุกประเทศในสหภาพยุโรปอยู่ที่ ๑๐.๔ ต่อ ๑,๐๐๐) ร้อยละ ๗๐ ของสตรีที่มาทำแท้งต่างเคยผ่านการทำแท้งมาก่อนแล้ว สาเหตุหนึ่งที่ชาวเอสโตเนียมักใช้วิธีการทำแท้งเป็นหลักคือ ในสมัยที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตนั้น ยาคุมกำเนิดขาดแคลนและถุงยางอนามัยไม่เพียงพอและขาดคุณภาพ ประกอบกับประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการป้องกันการตั้งครรภ์ อัตราการทำแท้งที่สูงจนน่าตกใจดังกล่าวทำให้ทางการเอสโตเนียหันมารณรงค์ให้ประชาชนใช้ถุงยางอนามัยและยาคุมกำเนิด อีกทางหนึ่งก็สนับสนุนให้มีบุตรด้วยการให้เงินช่วยเหลือและสวัสดิการต่างๆ
       ประเทศอื่นๆที่อนุญาตให้มีการทำแท้งเสรี ได้แก่ เยอรมนี ฮังการี สาธารณรัฐเชค ลิธัวเนีย แลตเวีย สโลวาเกีย เบลเยียม เดนมาร์ก และลักเซมเบิร์ก (๑๒ สัปดาห์) ออสเตรีย (๑๒ สัปดาห์แต่ ขยายเป็น ๒๐ สัปดาห์ในกรณีเป็นอันตรายต่อมารดาและทารก) ฟินแลนด์ (๑๒ สัปดาห์แต่ขยายเป็น ๒๔ สัปดาห์ในกรณีเป็นอันตรายต่อมารดาและทารก) กรีซ (๑๒ สัปดาห์แต่ขยายเป็น ๒๐ สัปดาห์ในกรณีการตั้งครรภ์เกิดจากการข่มขืน) สโลเวเนียและอิตาลี (๑๐ สัปดาห์)
       ไอร์แลนด์ มอลตา โปแลนด์ และไซปรัส เป็น ๔ ประเทศในสหภาพยุโรปที่ไม่อนุญาตให้มีการทำแท้งเว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้นซึ่งเป็นกรณีที่จำกัดจริงๆ การทำแท้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมีโทษหนัก ไอร์แลนด์และมอลตาเคร่งครัดกับการทำแท้งมากถึงขนาดหยิบยกมาเป็นประเด็นในการเจรจาเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปว่าสหภาพยุโรปต้องไม่แทรกแซงกฎหมายภายในของตนในเรื่องการทำแท้ง กล่าวสำหรับไอร์แลนด์นั้น ในรอบ ๒๐ ปีที่ผ่านมามีความพยายามทำประชามติให้ออกกฎหมายอนุญาตให้มีการทำแท้งได้ถึง ๓ ครั้งแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ในแต่ละปีสตรีไอร์แลนด์ประมาณ ๗,๐๐๐ คนเดินทางไปทำแท้งยังประเทศที่อนุญาต อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นเพียงกรณีเดียวที่กฎหมายอนุญาต คือ เป็นอันตรายแก่ชีวิตของมารดาแต่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองของมารดาหรือคณะกรรมการเฉพาะกิจที่จะพิจารณาเป็นรายกรณีไป โปแลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกมีอิทธิพลสูง ด้วยเหตุนี้กฎหมายจึงไม่อนุญาตให้มีการทำแท้งเว้นแต่ในกรณีที่เป็นอันตรายต่อมารดา การตั้งครรภ์เกิดจากถูกข่มขืน และเสี่ยงต่อการไม่สมประกอบของทารก แพทย์ที่ทำแท้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปีในขณะที่สตรีที่เข้ารับการทำแท้งไม่มีโทษ ไม่น่าแปลกใจเลยว่าอัตราการทำแท้งเถื่อนในโปแลนด์จึงมีสูง ในปี ๒๐๐๓ การทำแท้งโดยชอบด้วยกฎหมายมีเพียง ๑๗๐ รายในขณะที่การทำแท้งเถื่อนมีสูงถึง ๑๒๐,๐๐๐ ราย หลังจากการต่อสู้อย่างยาวนานในที่สุดการเรียกร้องขององค์กรสตรีก็สำเร็จ ขณะนี้รัฐสภาของโปแลนด์กำลังพิจารณาร่างกฎหมายอนุญาตให้มีการทำแท้งได้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตามบรรดาองค์กรสตรีวิตกว่าแม้ร่างดังกล่าวจะได้รับความเห็นชอบจากสภาแต่ถ้าฝ่ายขวากลับมาครองอำนาจประกอบกับด้วยแรงผลักดันของศาสนจักรก็มีความเป็นไปได้ว่าการทำแท้งจะเป็นสิ่งต้องห้ามอีก ทางด้านไซปรัส มีข้อสังเกตว่าแม้กฎหมายจะกำหนดให้การทำแท้งเป็นสิ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ในทางปฏิบัติแล้วเจ้าหน้าที่มักเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ปล่อยปละละเลยให้มีการทำแท้งเถื่อน สังเกตได้จากไม่มีแพทย์ที่ทำแท้งเถื่อนรายใดถูกดำเนินคดีเลย
       
       ประเด็นเรื่องการทำแท้งถ้าจะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้วเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างสิทธิในการมีชีวิตของทารกในครรภ์กับสิทธิในร่างกายของมารดา ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนยุโรปได้รับรองสิทธิในชีวิตไว้ชัดเจนแต่ไม่ได้รับรองสิทธิในการทำแท้งอย่างเสรี อย่างไรก็ตามคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปไม่ได้บอกไว้ชัดเจนว่าสิทธิในชีวิตนั้นเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไร ตัวอ่อนในครรภ์จะถือว่าเป็นผู้ทรงสิทธิในชีวิตแล้วหรือไม่ ดังนั้นการทำแท้งจะไปกระทบกับสิทธิในชีวิตหรือไม่ยังน่าสงสัยอยู่ คำพิพากษาบรรทัดฐานในหลายประเทศในยุโรปยืนยันว่ากฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญเพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้รับรองสิทธิในการมีชีวิตของตัวอ่อนในครรภ์ การถกเถียงเรื่องการทำแท้งเสรีเป็นที่น่าสนใจและยังคงดำรงต่อไปเพราะนอกจากมุมมองทางกฎหมายแล้วการทำแท้งยังไปเกี่ยวพันกับประเด็นอื่นๆตั้งแต่สิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิสตรี ศาสนา ศีลธรรม จารีตประเพณี ค่านิยม อุดมการณ์การเมืองระหว่างอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายก้าวหน้า ตลอดจนปัญหาทางนิติปรัชญาอีกด้วย ผมขอทิ้งทายบทความตอนนี้ไว้ด้วยประวัติศาสตร์โดยสังเขปของการต่อสู้เรื่องการทำแท้งและการคุมกำเนิดในฝรั่งเศส พบกันใหม่ครั้งหน้าครับ
       
       การต่อสู้อันยาวนานเรื่องการทำแท้งและการคุมกำเนิดในฝรั่งเศส
       
       ๑๘๒๐ ประมวลกฎหมายแพ่งหรือที่รู้จักกันในนามของ “ประมวลกฎหมายนโปเลียน” กำหนดให้ การทำแท้งเป็นความผิดระวางโทษจำคุก
       
       ๓๑ กรกฎาคม ๑๙๒๐ มีรัฐบัญญัติกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ ๖ เดือนถึง ๒ ปีแก่ผู้กระทำความผิดฐานสนับสนุนให้เกิดการทำแท้งและการโฆษณาชวนเชื่อให้คุมกำเนิด และเพิ่มโทษหนักขึ้นไปเป็นจำคุกตั้งแต่ ๑ ปีถึง ๕ ปีเมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๓ ส่วนสตรีที่ทำแท้งมีโทษจำคุกตั้งแต่ ๖ เดือนถึง ๒ ปี
       
       ๑๙๔๒ ในระบอบวิชี่ (Régime de Vichy) สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ภายใต้การยึดครองของเยอรมนี ความผิดฐานทำแท้งถือเป็นอาชญากรรมต่อความมั่นคงของรัฐและอาจรับโทษถึงขั้นประหารชีวิต กฎหมายนี้ยกเลิกไปภายหลังจากฝรั่งเศสได้รับการปลดปล่อยจากเยอรมนี
       
       ๑๙๔๓ มารี หลุยส์ จิโรด์ (Marie-Louise Giraud) และเดซิเร ปิออจ (Désiré Pioge) ถูกประหารชีวิตด้วยกีโยตินในความผิดฐานทำแท้ง
       
       ๑๙๕๖ การก่อตั้งสมาคม “การเป็นมารดาอย่างมีความสุข” (Maternité heureuse) ซึ่งต่อมาในปี ๑๙๖๐ กลายเป็นสมาคม “ขบวนการเพื่อการวางแผนครอบครัวแห่งฝรั่งเศส” (Mouvement français pour le Planning familial, MFPF) มีวัตถุประสงค์ในการผลักดันให้การคุมกำเนิดเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
       
       ๒๙ ธันวาคม ๑๙๖๗ รัฐบัญญํติ “เนอว์เวิร์ธ” (loi « Neuwirth ») อนุญาตให้มีการผลิต การนำเข้า และการจำหน่ายยาคุมกำเนิดได้ภายใต้ใบสั่งของแพทย์ ผู้เยาว์ที่อายุไม่เกิน ๒๑ ปีต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ปกครอง อย่างไรก็ตามการโฆษณาเชิงพาณิชย์เกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงการมีบุตรยังเป็นสิ่งต้องห้าม
       
       ๕ เมษายน ๑๙๗๑ นิตยสารนูเวล ออบแซร์วาเตอร์ตีพิมพ์จดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้มีการทำแท้งเสรีของสตรีมีชื่อเสียง ๓๔๓ คนในหลายวงการตั้งแต่ทนายความ นักแสดง นักเขียน
       
       กรกฎาคม ๑๙๗๑ การก่อตั้งสมาคม “เลือก” (Choisir) โดยจีแซล อาลิมี่ (Gisèle Halimi) ทนายความผู้ยึดมั่นในสตรีนิยมและซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) นักเขียนชื่อดัง
       
       ตุลาคม ๑๙๗๒ จีแซล อาลิมี่รับอาสาเป็นทนายความจำเลยในคดี “โบบินยี่ ” (Bobigny) ที่มารี-แคลร์ เชอวาลิเยร์ (Marie-Claire Chevalier) วัย ๑๗ ปีตกเป็นจำเลยในความผิดฐานทำแท้ง คดีดังกล่าวเป็นที่จับตามองของสาธารณชนท่ามกลางบรรยากาศที่ตลบอบอวลไปด้วยสตรีนิยม ในขณะที่การเรียกร้องให้มีการทำแท้งเสรีเป็นไปอย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ท้ายที่สุดศาลตัดสินยกฟ้อง
       
       เมษายน ๑๙๗๓ การก่อตั้งสมาคม “ขบวนการเพื่อการปลดปล่อยการทำแท้งและการคุมกำเนิดอย่างเสรี” (Mouvement pour la libération de l'avortement et de la contraception, MLAC)
       
       ๒๘ มิถุนายน ๑๙๗๔ มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐบัญญัติ ปี ๑๙๖๗ ใน ๒ ประเด็น คือ ผู้เยาว์สามารถซื้อยาคุมกำเนิดได้เองโดยไม่จำต้องมีการอนุญาตจากผู้ปกครอง และอนุญาตให้เบิกค่าใช้จ่ายในเรื่องยาคุมกำเนิดจากกองทุนประกันสังคมได้
       
       ๒๙ พฤศจิกายน ๑๙๗๔ หลังจากการโต้เถียงอย่างยาวนาน ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐบัญญัติว่าด้วยการยกเลิกโทษในความผิดฐานทำแท้ง การทำแท้งโดยสมัครใจสามารถมีได้ภายใน ๑๐ สัปดาห์ของอายุครรภ์ รัฐบัญญัติดังกล่าวเรียกขานกันว่า รัฐบัญญัติ “เวย” (loi « Veil ») ตามชื่อของนางซีโมน เวย (Simone Veil) รมต.สาธารณสุขผู้เสนอร่างเข้าสู่การพิจารณาของสภา
       
       ๑๗ มกราคม ๑๙๗๕ หลังจากการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐบัญญัติ “เวย” ได้รับการประกาศใช้ โดยให้ทดลองใช้ก่อน ๕ ปี จนกระทั่ง ๓๐ พฤศจิกายน ๑๙๗๙ รัฐบัญญัตินี้จึงมีผลเด็ดขาดถาวร
       ธันวาคม ๑๙๘๒ รัฐบัญญัติ “รูดี้” (loi « Roudy ») อนุญาตให้เบิกค่าใช้จ่ายจากการทำแท้งจากเงินกองทุนประสังคมได้
       
       ๑๙๘๘ อนุญาตให้ใช้ยา RU 486 ซึ่งเป็นยาเม็ดที่ทำให้แท้งลูก การใช้ยาดังกล่าวมีกรอบที่เคร่งครัดและสงวนให้ใช้ได้เฉพาะในศูนย์ที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุขไว้
       
       มกราคม ๑๙๙๓ รัฐบัญญัติ “เนเอิร์ทซ์” (loi « Neiertz ») กำหนดความผิดฐานการกีดขวางการทำแท้ง การบังคับใช้รัฐบัญญัตินี้ครั้งแรกคือการลงโทษจำคุกสมาชิกกลุ่มจู่โจม “ต่อต้านการทำแท้ง” (anti-IVG)
       
       ๑๙๙๙ อนุญาตให้ขายยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินที่ใช้หลังการมีเพศสัมพันธ์ได้
       
       มีนาคม ๒๐๐๑ ห้องพยาบาลในสถานศึกษาต้องจัดให้มียาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินที่ใช้หลังการมีเพศสัมพันธ์
       
       กรกฎาคม ๒๐๐๑ รัฐบัญญัติ “โอบรี้” (loi « Aubry ») ได้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐบัญญัติ “เวย” ใน ๒ ประเด็นคือ ขยายระยะเวลาของอายุครรภ์ที่สามารถทำแท้งได้ออกไปจากเดิม ๑๐ สัปดาห์เป็น ๑๒ สัปดาห์ และผู้เยาว์สามารถทำแท้งได้โดยไม่จำต้องขออนุญาตจากผู้ปกครองแต่ต้องพาบุคคลบรรลุนิติภาวะตามแต่ที่ตนเลือกมาด้วย
       
       มกราคม ๒๐๐๒ ร้านขายยาทั่วไปต้องแจกยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินที่ใช้หลังการมีเพศสัมพันธ์ฟรีให้แก่ผู้เยาว์
       
       กรกฎาคม ๒๐๐๔ รัฐกฤษฎีกาอนุญาตให้มีการทำแท้งโดยการกินยาประเภท Mifégyne เช่น RU 486 ได้ภายนอกโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายจากยาดังกล่าวสามารถเบิกได้จากกองทุนประกันสังคม
       
       บรรณานุกรมคัดสรรสำหรับผู้สนใจค้นคว้าเพิ่มเติมในประเด็นการทำแท้ง
       
       Xavier Gauthier, Naissance d’une liberté. Avortement, contraception, le grand combat des femmes au XX siècle, J’ai lu, 2004.
       กล่าวถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของสตรีในเรื่องการคุมกำเนิดและการทำแท้งในศตวรรษที่ ๒๐อย่างละเอียด
       
       Jean-Yves Le Naour et Catherine Valenti, Histoire de l’avortement : XIX-XX siècle, L’univers historique, 2003.
       เป็นงานอีกเล่มที่บรรยายถึงประวัติศาสตร์การทำแท้ง
       
       Maurer Béatrice, Le principe de respect de la dignité humaine et la Convention européenne des droits de l'homme, Centre d'études et de recherches internationales et communautaires - Université d'Aix-Marseille III, La Documentation française, collection Monde européen et international, 1999.
       กล่าวถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กับการทำแท้ง
       
       Louis Favoreu et Loic Philip, Les grandes décisions du Conseil constitutionnel, Dalloz, 2001, pp.300-327.
       คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญลงวันที่ ๑๕ มกราคม ๑๙๗๕ เกี่ยวกับร่างรัฐบัญญัติ “เวย” และคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๐๐๑ เกี่ยวกับร่างรัฐบัญญัติ “โอบรี้”
       
       L’interruption volontaire de grossesse en droit comparé, Actes de la table ronde internationale sur l’interruption volontaire de grossesse dans les jurisprudences constitutionnelles comparées (Aix-en-Provence 22 octobre 1986), AIJC, 1986, pp.80-239.
       เกี่ยวกับกฎหมายทำแท้งเปรียบเทียบ
       
       http://www.vie-publique.fr/dossier_polpublic/jeunes_justice/chrono/pdf/ivg_guide.pdf
       เข้าไปดาวน์โหลดคู่มือเพื่อความเข้าใจเงื่อนไขและกระบวนการในการทำแท้งในฝรั่งเศสได้ เป็นไฟล์ PDF
       
       http://www.ladocumentationfrancaise.fr/brp/notices/994000389.shtml
       เข้าไปดาวน์โหลดรายงานสถานการณ์การทำแท้งปัจจุบันในฝรั่งเศสพร้อมข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาได้ เขียนโดย Israël NISAND เป็นไฟล์ PDF
       
       http://www.ladocumentationfrancaise.fr/dossier_actualite/ivg/
       เป็นเว็บไซต์ของ La documentation française รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นไว้ นอกจากนี้ยังอ้างอิงเอกสารที่น่าสนใจหลายชิ้นที่เราสามารถไปค้นต่อได้อีกด้วย


 
 
หลักกฎหมายปกครองทั่วไป : ทางออกในการอุดช่องว่างกฎหมายปกครองไทย โดย นางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
บทวิเคราะห์ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ โดย อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล
การทับซ้อนของเขตอำนาจศาลปกครองและศาลยุติธรรมฝรั่งเศส : ศึกษากรณีบริการสาธารณะ โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
ตุลาการศาลปกครองกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม(ตามหลัก équité) โดยคุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
การอยู่ร่วมกันของบุคคลในความสัมพันธ์ในด้านครอบครัวตามกฎหมายฝรั่งเศส โดย นางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
   
 
 
 
สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของผู้มีรสนิยมร่วมเพศในมุมมองกฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายสิทธิมนุษยชนยุโรป โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
การทับซ้อนของเขตอำนาจศาลปกครองและศาลยุติธรรมฝรั่งเศส : ศึกษากรณีบริการสาธารณะ โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
ศาลรัฐธรรมนูญและคดีรัฐธรรมนูญโปรตุเกส โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
คำแปลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐโปรตุเกส (เฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ) โดยอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
ความรับผิดชอบทางอาญาของประธานาธิบดีฝรั่งเศส โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม
สหภาพยุโรปและการเลือกปฏิบัติ : กรณีการรับสมัครคนสูบบุหรี่เข้าทำงาน โดย คุณพิมพ์ดาว จันทรขันตี
การมีส่วนร่วมของประชาชนในฝรั่งเศส : การอภิปรายสาธารณะ (Le débat public) โดย คุณวรรณภา ติระสังขะ
ตุลาการศาลปกครองกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม(ตามหลัก équité) โดยคุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
La France : Le pays où la rue joue le rôle important (เสียงเรียกร้องจากท้องถนน) โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม
“หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” อาวุธทรงพลังในหมู่ “ลูกแกะ” โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544