หน้าแรก นานาสาระจากนักเรียนไทยในต่างแดน
คำแปลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐโปรตุเกส (เฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ) โดยอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ ๒) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, DEA de Droit public général et Droit de l’environnement (Université de Nantes)
28 เมษายน 2551 02:20 น.
 
รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐโปรตุเกส
       
ลงวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๗๖1
       
       ภาค ๓
       องค์กรที่ใช้อำนาจมหาชน
       
       ตอน ๕
       ศาล
       

       บทที่ ๑ บททั่วไป
       

       มาตรา ๒๐๕ การดำเนินงานทางตุลาการ
       
ศาลเป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยเพื่อกระบวนการยุติธรรมในนามของประชาชน
       ในกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องให้หลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายของพลเมือง ต้องลงโทษการละเมิดความชอบด้วยกฎหมาย และยุติข้อพิพาททั้งทางมหาชนและทางเอกชน
       ในการดำเนินงานทางตุลาการ ศาลมีสิทธิในการขอความช่วยเหลือจากองค์กรอื่น
       อาจมีรัฐบัญญัติจัดตั้งองค์กรและกระบวนการยุติข้อพิพาทที่ไม่ใช่ศาลได้
       
       มาตรา ๒๐๖ ความเป็นอิสระ
       
ศาลเป็นอิสระและอยู่ภายใต้กฎหมาย
       
       มาตรา ๒๐๗ การพิจารณาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
       
ศาลต้องไม่บังคับใช้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือหลักการที่รัฐธรรมนูญรับรองเข้ากับข้อเท็จจริงเพื่อพิพากษาคดี
       
       มาตรา ๒๐๘ คำพิพากษาของศาล
       
คำพิพากษาของศาลต้องให้เหตุผลตามคดีและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎหมาย
       คำพิพากษาของศาลมีผลต่อทุกองค์กรทางมหาชนและเอกชน และมีศักดิ์สูงกว่าคำวินิจฉัยขององค์กรอื่น
       ให้มีรัฐบัญญัติกำหนดเงื่อนไขของการบังคับการตามคำพิพากษาและมาตรการลงโทษในกรณีไม่บังคับการตามคำพิพากษา
       
       มาตรา ๒๐๙ การนั่งพิจารณาคดีของศาล
       
การนั่งพิจารณาคดีของศาลต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน เว้นแต่ศาลเห็นว่าจำเป็นต้องคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเพื่อประกันการดำเนินงานของศาลให้เป็นไปตามปกติ
       
       ตอน ๖
       ศาลรัฐธรรมนูญ

       
       มาตรา ๒๒๓ นิยาม
       ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเฉพาะเจาะจงในกระบวนการยุติธรรมที่มีลักษณะทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
       
       มาตรา ๒๒๔ องค์ประกอบและสถานะของตุลาการ
       
ศาลรัฐธรรมนูญประกอบไปด้วยตุลาการสิบสามคน สิบคนเลือกโดยสภาผู้แทนราษฎร และอีกสามคนเลือกโดยตุลาการสิบคนแรก
       ตุลาการหกคนต้องเลือกจากผู้พิพากษาในศาลอื่น และตุลาการที่เหลือต้องเป็นนักกฎหมาย
       ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระหกปี
       ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเลือกตุลาการด้วยกันหนึ่งคนเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ
       ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความเป็นอิสระ เป็นกลาง และไม่ต้องรับผิด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญห้ามดำรงตำแหน่งที่เป็นการขัดกับหน้าที่เช่นเดียวกับผู้พิพากษาในศาลอื่น
       ให้มีรัฐบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวกับสถานะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
       
       มาตรา ๒๒๕ เขตอำนาจ
       
ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๗ เป็นต้นไป
       ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเช่นเดียวกันในกรณีดังต่อไปนี้
       a.) ตรวจสอบการตายของประธานาธิบดี ประกาศว่าประธานาธิบดีไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ก่อนครบวาระเนื่องจากปัญหาทางสุขภาพอย่างถาวร และตรวจสอบการถอดถอดประธานธิบดีออกจากตำแหน่งอย่างถาวร
       b.) ตรวจสอบการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของประธานาธิบดีตามมาตรา ๑๓๒ วรรคสามและมาตรา ๑๓๓ วรรคสาม
       c.) ตัดสินในชั้นสุดท้ายในคดีเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของกระบวนการเลือกตั้ง ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
       d.) ตรวจสอบการตายและความไร้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดีของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ทั้งนี้ตามบทบัญญัติในวรรคสามแห่งมาตรา ๑๒๗
       e.) ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการจัดตั้งพรรคการเมืองและการยุบรวมพรรคการเมือง พิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของชื่อ ชื่อย่อ และสัญลักษณ์ของพรรคการเมือง และมีอำนาจออกคำสั่งยุบพรรคการเมือง ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
       f.) ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายในเบื้องต้นของการลงประชามติและการปรึกษาหารือทางตรงในระดับท้องถิ่น
       ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในกรณีอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและรัฐบัญญัติ
       
       มาตรา ๒๒๖ การจัดองค์กรและการดำเนินงาน
       ให้มีรัฐบัญญัติกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับองค์คณะ การจัดองค์กร และการดำเนินงานของศาลรัฐธรรมนูญ
       รัฐบัญญัตินั้นต้องกำหนดกฎเกณฑ์ในการดำเนินงานของศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้มีองค์คณะทั่วไปเพื่อทำหน้าที่พิจารณาคดีควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายแบบรูปธรรมหรือเพื่อทำหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
       รัฐบัญญัตินั้นต้องกำหนดกฎเกณฑ์ในการยื่นคำร้องต่อองค์คณะเต็มของศาลรัฐธรรมนูญ...
       
       ภาค ๔
       การคุ้มครองรัฐธรรมนูญและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
       
       ตอน ๑
       การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

       
       มาตรา ๒๗๗ ความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
       
กฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือหลักการที่รัฐธรรมนูญรับรอง กฎเกณฑ์นั้นย่อมไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
       ความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในเชิงรูปแบบของสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ได้ให้สัตยาบันแล้วย่อมทำให้สนธิสัญญาระหว่างประเทศนั้นไม่ใช้บังคับในระบบกฎหมายภายในของโปรตุเกสเว้นแต่สนธิสัญญาระหว่างประเทศนั้นใช้บังคับในระบบกฎหมายภายในของรัฐคู่สนธิสัญญาไปแล้ว ถ้าความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของสนธิสัญญาระหว่างประเทศดังกล่าวเป็นผลมาจากการละเมิดบทบัญญัติพื้นฐาน สนธิสัญญาระหว่างประเทศนั้นไม่ใช้บังคับในระบบกฎหมายภายในของโปรตุเกส
       
       มาตรา ๒๗๘ การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแบบป้องกัน
       
ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอาจร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแบบป้องกันของสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่อยู่ในขั้นตอนรอการให้สัตยาบันของประธานาธิบดี ของร่างรัฐบัญญัติและร่างรัฐกำหนดที่อยู่ในขั้นตอนรอการประกาศใช้ของประธานาธิบดี ของข้อตกลงระหว่างประเทศที่อยู่ในขั้นตอนรอการลงนามของประธานาธิบดี 2
       
รัฐมนตรีกิจการแคว้นปกครองตนเองอาจร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแบบป้องกันของร่างกฎหมายฝ่ายนิติบัญญัติของแคว้นปกครองตนเอง ร่างกฎหมายลำดับรองของแคว้นปกครองตนเอง และร่างรัฐบัญญัติทั่วไปแห่งสาธารณรัฐ ที่อยู่ในขั้นตอนรอการลงนามของรัฐมนตรีกิจการแคว้นปกครองตนเอง
       การร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแบบป้องกันต้องทำภายในแปดวันนับจากได้รับร่างกฎหมายนั้นไว้
       ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ นายกรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งในห้าขึ้นไปของสมาชิกทั้งหมดอาจอาจร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแบบป้องกันของร่างรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่อยู่ในขั้นตอนรอการประกาศใช้ของประธานาธิบดี3
       ก่อนที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะส่งร่างรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีเพื่อลงนาม ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรแจ้งแก่นายกรัฐมนตรีและกลุ่มการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน
       การร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแบบป้องกันตามวรรคสี่ต้องทำภายในแปดวันนับจากวันที่นายกรัฐมนตรีและกลุ่มการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรได้รับแจ้งจากประธานสภาผู้แทนราษฎรตามวรรคก่อน
       ภายใต้บังคับของบทบัญญัติตามวรรคแรก ประธานาธิบดีไม่อาจประกาศใช้ร่างรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญก่อนสิ้นระยะเวลาแปดวันนับจากประธานาธิบดีได้รับร่างรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย ในกรณีที่มีการร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว
       ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยภายในระยะเวลายี่สิบห้าวัน ในกรณีตามวรรคแรก ประธานาธิบดีอาจขอลดระยะเวลาลงได้ด้วยเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วน
       
       มาตรา ๒๗๙ ผลของคำวินิจฉัย
       
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ร่างรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐบัญญัติ ร่างรัฐกำหนด ข้อตกลงระหว่างประเทศ ร่างกฎหมายฝ่ายนิติบัญญัติของแคว้นปกครองตนเอง ร่างกฎหมายลำดับรองของแคว้นปกครองตนเอง และร่างรัฐบัญญัติทั่วไปแห่งสาธารณรัฐ4 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ประธานาธิบดีหรือรัฐมนตรีกิจการแคว้นปกครองตนเองแล้วแต่กรณีต้องไม่ลงนามประกาศใช้ และให้ประธานาธิบดีหรือรัฐมนตรีกิจการแคว้นปกครองตนเองส่งกลับไปให้องค์กรนิติบัญญัติที่มีอำนาจให้ความเห็นชอบเพื่อพิจารณาต่อไป
       ในกรณีตามวรรคแรก สนธิสัญญาระหว่างประเทศ ร่างรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐบัญญัติ ร่างรัฐกำหนด ข้อตกลงระหว่างประเทศ ร่างกฎหมายฝ่ายนิติบัญญัติของแคว้นปกครองตนเอง ร่างกฎหมายลำดับรองของแคว้นปกครองตนเอง และร่างรัฐบัญญัติทั่วไปแห่งสาธารณรัฐ ไม่อาจถูกประกาศใช้หรือลงนามได้ เว้นแต่องค์กรนิติบัญญัติที่มีอำนาจจะตัดบทบัญญัติที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้นออก หรือยืนยันให้ความเห็นชอบบทบัญญัติที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้นด้วยเสียงสองในสามขึ้นไป
       เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมาย ประธานาธิบดีหรือรัฐมนตรีกิจการแคว้นปกครองตนเองแล้วแต่กรณี อาจร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแบบป้องกันได้ใหม่
       เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎเกณฑ์ในสนธิสัญญาระหว่างประเทศไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ สนธิสัญญาระหว่างประเทศดังกล่าวจะได้รับการให้สัตยาบันได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนสองในสามขึ้นไปให้ความเห็นชอบ
       
       มาตรา ๒๘๐ การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายแบบรูปธรรม
       เป็นไปได้ที่จะร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาคำพิพากษาของศาลทั้งหลาย
       a.) ซึ่งปฏิเสธไม่บังคับใช้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายด้วยเหตุผลที่ว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
       b.) ซึ่งบังคับใช้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่เคยถูกโต้แย้งในระหว่างกระบวนพิจารณาคดีนั้นมาก่อนว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
       เป็นไปได้เช่นกันที่จะร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาคำพิพากษาของศาลทั้งหลาย
       a.) ซึ่งปฏิเสธไม่บังคับใช้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายในระดับนิติบัญญัติด้วยเหตุผลที่ว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะละเมิดกฎหมายที่มีค่าบังคับในลำดับที่สูงกว่า
       b.) ซึ่งปฏิเสธไม่บังคับใช้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายของแคว้นปกครองตนเองด้วยเหตุผลที่ว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายของแคว้นปกครองตนเองนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะละเมิดบทบัญญัติที่เกี่ยวกับสถานะของแคว้นปกครองตนเองหรือรัฐบัญญัติทั่วไปแห่งสาธารณรัฐ
       c.) ซึ่งปฏิเสธไม่บังคับใช้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายด้วยเหตุผลที่ว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะละเมิดสิทธิและสถานะของแคว้นปกครองตนเอง
       d.) ซึ่งบังคับใช้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่เคยถูกโต้แย้งในระหว่างกระบวนพิจารณาคดีนั้นมาก่อนว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยเหตุผลตาม a.), b.) และ c.)
       ในกรณีที่กฎเกณฑ์ทางกฎหมายซึ่งศาลไม่บังคับใช้เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ กฎหมายในระดับนิติบัญญัติ หรือรัฐกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุดต้องร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาตาม a.) ของวรรคแรก และ a.) ของวรรคสอง แล้วแต่กรณี
       การร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาตาม b.) ของวรรคแรก และ d.) ของวรรคสอง ให้เฉพาะคู่ความที่ยกประเด็นความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือความไม่ชอบด้วยกฎหมายในระหว่างกระบวนพิจารณาคดีเท่านั้นที่อาจร้องขอได้ ให้มีรัฐบัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์การรับคำร้องดังกล่าว
       เป็นไปได้เช่นกันที่จะร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาคำพิพากษาของศาลทั้งหลายซึ่งบังคับใช้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยมาแล้วว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในกรณีนี้สำนักงานอัยการสูงสุดต้องร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา
       คำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องเกี่ยวกับประเด็นความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือความไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น
       
       มาตรา ๒๘๑ การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายแบบนามธรรม
       
ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาและประกาศให้มีผลบังคับทั่วไปถึง
       a.) ความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของทุกกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย
       b.) ความไม่ชอบด้วยกฎหมายของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายในระดับนิติบัญญัติด้วยเหตุผลที่ว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะละเมิดกฎหมายที่มีค่าบังคับในลำดับที่สูงกว่า
       c.) ความไม่ชอบด้วยกฎหมายของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายของแคว้นปกครองตนเองด้วยเหตุผลที่ว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายของแคว้นปกครองตนเองนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะละเมิดบทบัญญัติที่เกี่ยวกับสถานะของแคว้นปกครองตนเองหรือรัฐบัญญัติทั่วไปแห่งสาธารณรัฐ
       d.) ความไม่ชอบด้วยกฎหมายของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายด้วยเหตุผลที่ว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะละเมิดสิทธิและสถานะของแคว้นปกครองตนเอง
       การพิจารณาและประกาศให้มีผลบังคับทั่วไปถึงความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือความไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว อาจถูกร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญโดย
       a.) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ
       b.) ประธานสภาผู้แทนราษฎร
       c.) นายกรัฐมนตรี
       d.) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
       e.) อัยการสูงสุด
       f.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งในสิบขึ้นไป
       g.) รัฐมนตรีกิจการแคว้นปกครองตนเอง สภาของแคว้นปกครองตนเอง ประธานสภาของแคว้นปกครองตนเอง ประธานฝ่ายบริหารของแคว้นปกครองตนเอง หรือสมาชิกสภาของแคว้นปกครองตนเองจำนวนหนึ่งในสิบขึ้นไป ในกรณีร้องขอเพื่อพิจารณาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเนื่องจากละเมิดสิทธิของแคว้นปกครองตนเอง หรือเพื่อพิจารณาความไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากละเมิดสถานะของแคว้นปกครองตนเองหรือรัฐบัญญัติทั่วไปแห่งสาธารณรัฐ
       
       มาตรา ๒๘๒ ผลของการประกาศความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือความไม่ชอบด้วยกฎหมาย
       การประกาศให้มีผลบังคับทั่วไปถึงความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือความไม่ชอบด้วยกฎหมายของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายย่อมมีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่กฎเกณฑ์ทางกฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับ
       ในกรณีที่เป็นความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือความไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะละเมิดกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่ออกมาภายหลัง ให้มีผลนับแต่มีคำวินิจฉัย
       ผลของคำวินิจฉัยไม่กระทบต่อคดีที่พิพากษาเสร็จเด็ดขาด เว้นแต่เกี่ยวกับเรื่องโทษทางอาญา โทษทางวินัย โทษทางสังคม หรือเป็นคุณแก่จำเลย
       เมื่อเหตุผลด้านความมั่นคงแห่งนิติฐานะ ความเป็นธรรม และผลประโยชน์ส่วนรวมที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเรียกร้อง ศาลรัฐธรรมนูญอาจกำหนดให้ความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือความไม่ชอบด้วยกฎหมายมีผลจำกัดกว่าที่กำหนดไว่ใรวรรคแรกและวรรคสองก็ได้
       
       มาตรา ๒๘๓ ความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจากการละเลยไม่ออกกฎหมาย
       ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา หรือประธานสภาของแคว้นปกครองตนเองเฉพาะกรณียกประเด็นการละเมิดสิทธิของแคว้นปกครองตนเอง อาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาและตรวจสอบการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเนื่องจากการละเลยไม่ออกมาตรการทางนิติบัญญัติที่จำเป็นต่อการบังคับใช้กฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญ
       เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตรวจพบความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจากการละเลยไม่ออกมาตรการทางนิติบัญญัติที่จำเป็นต่อการบังคับใช้กฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งต่อองค์กรนิติบัญญัติที่มีเขตอำนาจ
       
       เชิงอรรถ
       
       1. แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๑๙๙๒
       2. ถ้อยคำในบทบัญญัติตามมาตรานี้ ใช้คำว่า “ทุกรัฐกฤษฎีกาที่ยื่นต่อประธานาธิบดีเพื่อประกาศใช้รัฐบัญญัติหรือรัฐกำหนด และทุกรัฐกฤษฎีกาที่ยื่นต่อประธานาธิบดีเพื่อลงนามในข้อตกลงระหว่างประเทศ ” เนื่องจากระบบของโปรตุเกสมีเอกลักษณ์เฉพาะ กล่าวคือ การส่งร่างรัฐบัญญัติร่างรัฐกำหนด ร่างข้อตกลงระหว่างประเทศ หรือร่างกฎเกณฑ์ทางกฎหมายอื่นใดที่ต้องให้ประธานาธิบดีลงนาม ไม่ได้ส่งไปในรูปของตัวร่างแต่อย่างใด หากส่งไปในรูปของรัฐกฤษฎีกาเพื่อลงนามประกาศใช้แทน เพื่อความเข้าใจโดยง่าย ผู้เขียนจึงขอแปลถ้อยคำดังกล่าวให้สอดคล้องกับกระบวนการนิติบัญญัติของไทยและของหลายๆประเทศ โดยใช้ถ้อยคำดังที่ปรากฏแทนคำว่า “ทุกรัฐกฤษฎีกาที่ยื่นต่อประธานาธิบดีเพื่อประกาศใช้รัฐบัญญัติหรือรัฐกำหนด และทุกรัฐกฤษฎีกาที่ยื่นต่อประธานาธิบดีเพื่อลงนามในข้อตกลงระหว่างประเทศ ”
       3. ถ้อยคำในบทบัญญัติตามมาตรานี้ ใช้คำว่า “ทุกรัฐกฤษฎีกาที่ยื่นต่อประธานาธิบดีเพื่อประกาศใช้รัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ” เนื่องจากในระบบโปรตุเกสนั้น การส่งร่างรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีลงนามประกาศใช้ ไม่ได้ส่งไปในรูปตัวร่างแต่อย่างใด หากส่งไปในรูปของรัฐกฤษฎีกาเพื่อลงนามประกาศใช้แทน เพื่อความเข้าใจโดยง่าย ผู้เขียนจึงขอแปลถ้อยคำดังกล่าวให้สอดคล้องกับกระบวนการนิติบัญญัติของไทยและของหลายๆประเทศ โดยใช้ถ้อยคำ “ร่างรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่อยู่ในขั้นตอนรอการประกาศใช้ของประธานาธิบดี” แทนคำว่า “ทุกรัฐกฤษฎีกาที่ยื่นต่อประธานาธิบดีเพื่อประกาศใช้รัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ”
       4. ถ้อยคำในบทบัญญัติตามมาตรานี้ ใช้คำว่า “ทุกรัฐกฤษฎีกา...” ซึ่งโดยความหมายที่แท้จริงแล้วก็คือรัฐกฤษฎีกาที่ยื่นให้ประธานาธิบดีเพื่อลงนามประกาศใช้ร่างกฎหมายต่างๆนั่นเอง ดังที่อธิบายไว้แล้วในเชิงอรรถที่ ๒ และ ๓ เพื่อความเข้าใจโดยง่าย ผู้เขียนจึงขอแปลถ้อยคำดังกล่าวให้สอดคล้องกับกระบวนการนิติบัญญัติของไทยและของหลายๆประเทศ โดยใช้ถ้อยคำ “สนธิสัญญาระหว่างประเทศ ร่างรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐบัญญัติ ร่างรัฐกำหนด ข้อตกลงระหว่างประเทศ ร่างกฎหมายฝ่ายนิติบัญญัติของแคว้นปกครองตนเอง ร่างกฎหมายลำดับรองของแคว้นปกครองตนเอง และร่างรัฐบัญญัติทั่วไปแห่งสาธารณรัฐ” แทนคำว่า “ทุกรัฐกฤษฎีกา...”


 
 
๓๐ ปีกฎหมายการทำแท้งเสรีในฝรั่งเศส โดย อ. ปิยบุตร แสงกนกกุล
หลักกฎหมายปกครองทั่วไป : ทางออกในการอุดช่องว่างกฎหมายปกครองไทย โดย นางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
บทวิเคราะห์ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ โดย อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล
การทับซ้อนของเขตอำนาจศาลปกครองและศาลยุติธรรมฝรั่งเศส : ศึกษากรณีบริการสาธารณะ โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
ตุลาการศาลปกครองกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม(ตามหลัก équité) โดยคุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
   
 
 
 
สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของผู้มีรสนิยมร่วมเพศในมุมมองกฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายสิทธิมนุษยชนยุโรป โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
การทับซ้อนของเขตอำนาจศาลปกครองและศาลยุติธรรมฝรั่งเศส : ศึกษากรณีบริการสาธารณะ โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
ศาลรัฐธรรมนูญและคดีรัฐธรรมนูญโปรตุเกส โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
ความรับผิดชอบทางอาญาของประธานาธิบดีฝรั่งเศส โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม
สหภาพยุโรปและการเลือกปฏิบัติ : กรณีการรับสมัครคนสูบบุหรี่เข้าทำงาน โดย คุณพิมพ์ดาว จันทรขันตี
การมีส่วนร่วมของประชาชนในฝรั่งเศส : การอภิปรายสาธารณะ (Le débat public) โดย คุณวรรณภา ติระสังขะ
ตุลาการศาลปกครองกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม(ตามหลัก équité) โดยคุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
La France : Le pays où la rue joue le rôle important (เสียงเรียกร้องจากท้องถนน) โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม
“หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” อาวุธทรงพลังในหมู่ “ลูกแกะ” โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
บทวิเคราะห์ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ โดย อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544