หน้าแรก นานาสาระจากนักเรียนไทยในต่างแดน
“หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” อาวุธทรงพลังในหมู่ “ลูกแกะ” โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ ๒) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, DEA de Droit public général et Droit de l’environnement (Université de Nantes)
19 มีนาคม 2549 22:55 น.
 
“หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” อาวุธทรงพลังในหมู่ “ลูกแกะ”
        
       สงครามแย่งชิง “ความจงรักภักดี” ระหว่างทักษิณกับสนธิ โดยมีข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” เป็นอาวุธกำลังดำเนินไปอย่างเผ็ดร้อนและยากจะคาดเดาว่าจะลงเอยเช่นใด จนกระทั่งมีพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม เหตุการณ์ก็เริ่มคลี่คลายไปตามลำดับ ด้วยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเช่นนี้ จึงน่าสนใจว่าที่เรียกกันว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นมีจริงหรือไม่ และมีลักษณะอย่างไร
       
       -๑.-
       ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒
       

       ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ บัญญัติว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
       ความผิดตามมาตรา ๑๑๒ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการกระทำที่ครบทั้งองค์ประกอบภายนอกและองค์ประกอบภายใน องค์ประกอบภายนอกก็คือ ต้องหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ส่วนองค์ประกอบภายในคือ ต้องมีเจตนา
       มีถ้อยคำที่ควรพิจารณาอยู่ ๓ ถ้อยคำ ได้แก่ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย
       อย่างไรจึงเรียก “หมิ่นประมาท”?
       “หมิ่นประมาท” ตามมาตรา ๑๑๒ มีความหมายเดียวกับหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปตามมาตรา ๓๒๖ กล่าวคือ เป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เมื่ออ่านมาตรา ๑๑๒ ประกอบกับมาตรา ๓๒๖ แล้ว การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หมายถึง การใส่ความพระมหากษัตริย์ต่อบุคคลที่สามโดยที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์นั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เช่น นาย ก.เล่าให้นาย ข.ฟังถึงเรื่องพระมหากษัตริย์อันทำให้พระมหากษัตริย์เสียชื่อเสียง ไม่ว่าเรื่องที่เล่ามานั้นจะจริงหรือเท็จก็ตาม ถ้าพระมหากษัตริย์เสียหาย ก็ถือว่านาย ก.หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แล้ว
       อย่างไรจึงเรียก “ดูหมิ่น”?
       “ดูหมิ่น” หมายถึงการแสดงเหยียดหยาม อาจกระทำทางกริยา เช่น ยกส้นเท้า ถ่มน้ำลาย หรือกระทำด้วยวาจา เช่น ด่าด้วยคำหยาบคาย
       ส่วน “แสดงความอาฆาตมาดร้าย” หมายถึง การแสดงว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายในอนาคต เช่น ขู่ว่าจะปลงพระชนม์ไม่ว่าจะมีเจตนากระทำตามที่ขู่จริงหรือก็ตาม
       การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ต้องกระทำต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เท่านั้น ไม่รวมถึงเชื้อพระวงศ์คนอื่นๆ
       และเช่นกันไม่รวมถึงท่านผู้หญิง คุณหญิง ข้าราชบริพาร สิ่งของ หรือสัตว์เลี้ยง…
       โดยทั่วไป การหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ผู้กระทำอาจยกเหตุตามมาตรา ๓๒๙ มาอ้างว่าตนกระทำได้ เพราะเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามทำนองคลองธรรม หรือในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำหรือในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมหรือการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
       นอกจากนี้ผู้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทอาจอ้างเหตุยกเว้นโทษได้ตามมาตรา ๓๓๐ หากพิสูจน์ได้ว่าที่หมิ่นประมาทไปนั้นเป็นความจริง แต่ห้ามพิสูจน์ในกรณีที่ข้อที่เป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัวและการพิสูจน์ไปก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
       อย่างไรก็ตามคำพิพากษาฎีกายืนยันว่าเหตุให้หมิ่นประมาทได้ตามมาตรา ๓๒๙ และเหตุยกเว้นโทษตามมาตรา ๓๓๐ ไม่นำมาใช้บังคับกับกรณีพระมหากษัตริย์ เพราะ พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ มีสถานะแตกต่างจากบุคคลทั่วไปซึ่งมาตรา ๑๑๒ มุ่งคุ้มครองเป็นพิเศษ ดังนั้นหากใครหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และจะอ้างต่อศาลว่าตนติชมด้วยความเป็นธรรม ศาลก็ไม่รับฟัง
       อนึ่ง แม้กฎหมายจะไม่อนุญาตให้อ้างได้ว่าการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เป็นไปเพื่อการวิจารณ์หรือติชมด้วยความเป็นธรรม แต่เราจะเห็นถึงน้ำพระทัยของในหลวงที่ทรงเปิดกว้างรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ในตัวพระองค์ ดังความบางตอนจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๘ ที่ว่า
       “แต่ว่าความจริงก็ต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน และก็ไม่กลัวว่าถ้าใครจะมาวิจารณ์ว่าทำไม่ดีตรงนั้น ตรงนั้นจะได้รู้ เพราะว่าถ้าบอกว่าพระเจ้าอยู่หัว ไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน... ฉะนั้น ก็ที่บอกว่าการวิจารณ์เรียกว่าละเมิดพระมหากษัตริย์ ละเมิด ให้ละเมิดได้ แต่ถ้าเขาละเมิดผิด เขาก็ถูกประชาชนบอก เป็นเรื่องขอให้เขารู้ว่าวิจารณ์อย่างไร ถ้าเขาวิจารณ์ถูกก็ไม่ว่า แต่ถ้าวิจารณ์ผิด ไม่ดี แต่เมื่อบอกว่าไม่ให้วิจารณ์ ละเมิดไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญว่าอย่างนั้น ลงท้ายพระมหากษัตริย์ก็เลยลำบาก แย่ อยู่ในฐานะลำบาก ถ้าไม่ให้วิจารณ์ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวนี้ต้องวิจารณ์ ต้องละเมิด แล้วไม่ให้ละเมิด พระเจ้าอยู่หัวเสีย พระเจ้าอยู่หัวเป็นคนไม่ดี”
       
       -๒.-
       ความผิดฐาน “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” มีในระบบกฎหมายไทยจริงหรือ ?
       

       จากการสำรวจประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่นๆ ไม่พบคำว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นความผิดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่แสดงถึงเดชานุภาพและบารมีของกษัตริย์ ที่พูดว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ในปัจจุบันนั้นน่าจะเป็นการพูดที่ติดปากกันมากกว่า (ไม่ว่าจะติดมาเพราะจงใจหรือบังเอิญ)
       ข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ที่ “ลูกแกะ” เสื้อเหลืองกับ “ลูกแกะ” รัฐบาลยัดเยียดให้แก่กันและกันนั้น เอาเข้าจริงก็คือข้อหา “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” ตามมาตรา ๑๑๒ นั่นเอง
       สมควรกล่าวด้วยว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ย่อมกินความกว้างกว่า “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์”
       สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในการประชุมอนุกรรมการตรวจพิจารณาแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาของคณะกรรมการกฤษฎีกา วันที่ ๗ มกราคม ๒๔๘๔ หลวงประสาทศุภนิติได้ซักถามในที่ประชุมว่าหากจะใช้คำว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” จะเป็นอย่างไร หม่อมเจ้าสกลวรรณกร วรวรรณ ตอบว่า ปัจจุบันนี้ใช้ไม่ได้ ไม่มีข้อหาทางอาญา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” มีแต่ข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ดูwww.midnightuniv.org/midnight2545/document9554.html)
       
       กล่าวให้ถึงที่สุด ในระบบกฎหมายไทยปัจจุบันไม่มีความผิดฐาน “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” มีเพียงแต่ “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” ซึ่งโดยเนื้อหาก็เหมือนกับความผิดฐานหมิ่นประมาทคนธรรมดา จะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาก็ใช้นิยามเดียวกัน คือ “การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามอันน่าจะทำให้ผู้อื่นเสียหาย” ที่แตกต่างกันก็มีสามประการ คือ หนึ่ง หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์มีโทษหนักกว่าหมิ่นประมาทคนธรรมดา สอง หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไม่อาจนำเหตุให้กระทำการได้ตามมาตรา ๓๒๙ และมาตรา ๓๓๐ มาอ้างได้ และสาม ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เป็นความผิดเกี่ยวด้วยความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร บุคคลที่ มาตรา ๑๑๒ ประสงค์จะคุ้มครอง คือ พระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในขณะที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา ๓๒๖ เป็นความผิดเกี่ยวด้วยเสรีภาพและชื่อเสียง มุ่งคุ้มครองบุคคลธรรมดา
       
       -๓-
       ยุติการยัดเยียดข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” กันเถิด
       

       การฟ้องร้องโดยอ้างว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” แท้จริงแล้วเป็นการฟ้องร้องในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ จึงต้องมาพิจารณากรณีฟ้องและขู่ว่าจะฟ้องทั้งหลายนั้นเข้าข่ายความผิดตามมาตรา ๑๑๒ หรือไม่
       ไม่ว่าจะเป็นกรณีนายแพทย์คนหนึ่งยกย่องโครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรคว่า ต่อไปนี้ชาวบ้านที่ถือบัตรทองไปโรงพยาบาลก็เสมือนนำธนบัตรมีพระบรมฉายาลักษณ์ติดหน้าผากไปด้วย
       ไม่ว่าจะเป็นกรณีนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์นำสติ๊กเกอร์พระราชดำรัสไปติดตามที่ต่างๆ
       ไม่ว่าจะเป็นกรณีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ยินยอมให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเข้าไปตรวจสอบบัญชีโดยอ้างว่าจะเป็นการ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”
       ไม่ว่าจะเป็นกรณีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
       ไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างสนธิกับทักษิณ
       วิญญูชนพึงตรึกตรองดูเถิดว่า…
       กรณีเหล่านี้เป็นการใส่ความพระมหากษัตริย์ให้ผู้อื่นทราบอันทำให้พระมหากษัตริย์เสียหายอันถือเป็น “การหมิ่นประมาท” พระมหากษัตริย์หรือไม่
       กรณีเหล่านี้เป็นการแสดงเหยียดหยามทางกริยาหรือทางวาจาต่อพระมหากษัตริย์อันถือเป็น “การดูหมิ่น” พระมหากษัตริย์หรือไม่
       กรณีเหล่านี้เป็นการแสดงว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายพระมหากษัตริย์อันถือเป็น “การแสดงความอาฆาตมาดร้าย” พระมหากษัตริย์หรือไม่
       ถ้าไม่เป็น แล้วที่ฟ้องร้องกันทั่วบ้านทั่วเมืองนี่คืออะไร?
       ทั้งหลายทั้งปวงเป็นการต่อสู้กันทางการเมืองและผลประโยชน์ โดยเอาข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” มาเป็นอาวุธหรือเกราะกำบังทั้งนั้น การกล่าวอ้างลอยๆว่า “เอ็งกำลังจะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนะเว้ย” กลายเป็นเพียงการข่มขู่ แบล็คเมล์ หรือหยิบยกขึ้นอ้างเพื่อผลประโยชน์บางประการโดยปราศจากซึ่งฐานทางกฎหมาย
       เช่นนี้แล้วนักฟ้องร้องและแจ้งความข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ทั้งหลายนั้นจะกล้าประกาศว่าข้าจงรักภักดียิ่งกว่าใครได้เต็มปากอีกหรือ?
       เอาเข้าจริงคนที่ฟ้องร้องก็ไม่ได้หวังผลว่าจะต้องมีใครติดคุก แต่ขอเพียงปักชนักติดหลังให้ศัตรูว่าโดนแจ้งความ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว
       กล่าวได้ว่าสังคมไทยปัจจุบันแปรสภาพโทษทางกฎหมายของข้อหา “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” (ภายใต้เสื้อคลุม “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”) ให้กลายเป็นโทษทางสังคม จะทำอย่างไรได้ก็บรรดา “ลูกแกะ” ช่างอ่อนไหวกับเรื่องพรรค์นี้เสียเหลือเกิน
       ต้องไม่ลืมว่า ยิ่งมีการฟ้องร้องข้อหานี้มากเท่าไร ยิ่งทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศมากเท่านั้น เพราะถ้าเราตีความในมุมกลับ หากมีการกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาก ก็หมายความว่า เดชานุภาพของพระมหากษัตริย์มีข้อบกพร่อง จึงมีคนหมิ่นบ่อยๆ มิพักต้องกล่าวถึงกรณีหากเป็นคดีความขึ้นในศาลซึ่งคู่ความอาจต้องให้การบางอย่างบางประการอันอาจกระทบสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นไปอีก
       ความผิดฐานหมิ่นประมาทประมุขของรัฐเป็นความจำเป็นที่กฎหมายในทุกประเทศต้องมีเพื่อเป็นการคุ้มครองสถาบัน อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศ กฎหมายไม่เปิดโอกาสให้มีการฟ้องว่าบุคคลหนึ่งหมิ่นประมาทประมุขของรัฐอย่างพร่ำเพรื่อ หากแต่เจ้าหน้าที่จะสอบถามไปที่สำนักพระราชวัง (กรณีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข) หรือสำนักงานประธานาธิบดี (กรณีประธานาธิบดีเป็นประมุข) ว่าเห็นควรจะให้ฟ้องร้องหรือไม่
       น่าคิดว่ากฎหมายไทยควรถึงเวลาทบทวนประเด็นดังกล่าวหรือยังและสมควรกำหนดให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นคนแจ้งความหรือฟ้องจะดีกว่าหรือไม่ การเปิดโอกาสให้ใครก็ได้เดินไปแจ้งความแก่ตำรวจว่ามีคนหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แล้วตำรวจก็รับแจ้งความดำเนินคดีทุกครั้งไปนั้น ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
       ความจริงแล้ว กรณียัดเยียดข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้กันในสังคมไทย หากเจ้าหน้าที่มีดุลพินิจสักนิด ก็ไม่เห็นมีความจำเป็นแต่ประการใดที่เจ้าหน้าที่จะต้องรับข้อหานั้นเข้าสู่กระบวนการพิจารณา
       จากพระราชดำรัส ๔ ธันวาคม ๒๕๔๘ จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงเปิดกว้างต่อการวิพากษ์วิจารณ์ และไม่สนับสนุนให้มีการฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์กันอย่างพร่ำเพรื่อ พระองค์ทรงแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า “...และมีแปลกๆ คราวนี้นักกฎหมายก็ชอบให้ฟ้อง ให้จับเข้าคุก อันนี้นักกฎหมายเขาสอน สอนนายกฯ บอกว่าต้องฟ้อง ต้องลงโทษ ก็ขอสอนนายกฯ ใครบอกว่าให้ลงโทษ อย่าลงโทษเขา ลงโทษไม่ดี ไม่ใช่นายกฯเดือดร้อน แต่พระมหากษัตริย์เดือดร้อน”
       เช่นนี้แล้ว บรรดานักจงรักภักดีและหมู่ลูกแกะทั้งฟากเสื้อเหลืองและฟากรัฐบาลจะมิพึงสนองพระราชดำรัสหรอกหรือ


 
 
๓๐ ปีกฎหมายการทำแท้งเสรีในฝรั่งเศส โดย อ. ปิยบุตร แสงกนกกุล
หลักกฎหมายปกครองทั่วไป : ทางออกในการอุดช่องว่างกฎหมายปกครองไทย โดย นางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
บทวิเคราะห์ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ โดย อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล
การทับซ้อนของเขตอำนาจศาลปกครองและศาลยุติธรรมฝรั่งเศส : ศึกษากรณีบริการสาธารณะ โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
ตุลาการศาลปกครองกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม(ตามหลัก équité) โดยคุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
   
 
 
 
สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของผู้มีรสนิยมร่วมเพศในมุมมองกฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายสิทธิมนุษยชนยุโรป โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
การทับซ้อนของเขตอำนาจศาลปกครองและศาลยุติธรรมฝรั่งเศส : ศึกษากรณีบริการสาธารณะ โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
ศาลรัฐธรรมนูญและคดีรัฐธรรมนูญโปรตุเกส โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
คำแปลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐโปรตุเกส (เฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ) โดยอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
ความรับผิดชอบทางอาญาของประธานาธิบดีฝรั่งเศส โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม
สหภาพยุโรปและการเลือกปฏิบัติ : กรณีการรับสมัครคนสูบบุหรี่เข้าทำงาน โดย คุณพิมพ์ดาว จันทรขันตี
การมีส่วนร่วมของประชาชนในฝรั่งเศส : การอภิปรายสาธารณะ (Le débat public) โดย คุณวรรณภา ติระสังขะ
ตุลาการศาลปกครองกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม(ตามหลัก équité) โดยคุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
La France : Le pays où la rue joue le rôle important (เสียงเรียกร้องจากท้องถนน) โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม
บทวิเคราะห์ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ โดย อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544