หน้าแรก นานาสาระจากนักเรียนไทยในต่างแดน
La France : Le pays où la rue joue le rôle important (เสียงเรียกร้องจากท้องถนน) โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม
นางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม นักศึกษากฎหมายระดับปริญญาเอกสาขากฎหมายมหาชนเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยปารีส12 ประเทศฝรั่งเศส
16 เมษายน 2549 23:13 น.
 
การชุมนุม การเดินขบวนและการประท้วงนัดหยุดงานถือได้ว่าเป็นวิธีการหนึ่งของการแสดงความคิดเห็นของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย จุดประสงค์ในการชุมนุมนั้นอาจจะเพื่อคัดค้านในตัวบทกฎหมาย ในนโยบายของประเทศ และอาจรวมไปถึงการคัดค้านขับไล่ผู้นำประเทศ บรรยากาศการชุมนุมอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น การชุมนุมประท้วงของเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นฝ่าย “ทักษิณ..ออกไป” หรือ ฝ่าย”ทักษิณ…สู้ๆ” ต่างฝ่ายต่างก็ชุมนุมกันอย่างสงบ ไม่เกิดการปะทะหรือเผชิญหน้ากัน
       
       ในระหว่างที่คนไทยกำลังเกาะติดกับสถานการณ์การประท้วงในประเทศนั้น ประเทศต้นแบบประชาธิปไตยอย่างฝรั่งเศสก็มีการชุมนุมประท้วงเช่นกัน หากกล่าวถึงการชุมนุมประท้วงและการนัดหยุดงานในฝรั่งเศสนั้น อาจถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว ในปีหนึ่งๆจะมีการชุมนุมและนัดหยุดงานกันเสมอโดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ๆ นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จลาจลเริ่มจากชานเมืองปารีสลุกลามไปเมืองต่างๆทั่วประเทศเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา มีการเผารถยนต์ สถานที่ราชการ ห้างร้าน อาคารบ้านเรือน ทำให้เกิดความเสียเป็นอย่างมากต่อภาครัฐและภาคเอกชน จนรัฐบาลตัดสินใจประกาศใช้กฎอัยการศึก เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ภาพลักษณ์การชุมนุมประท้วงและนัดหยุดงานของชาวฝรั่งเศสต่อสายตาชาวโลกเต็มไปด้วยการใช้กำลังและความรุนแรง
       
       สำหรับการชุมนุมประท้วงใหญ่ครั้งล่าสุดที่ยืดเยื้อตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์และเพิ่งเริ่มจะบางเบาเมื่อไม่กี่วันมานี้นั้น เกิดจากการที่นายกรัฐมนตรี Dominique De Villepin ใช้อำนาจตามมาตรา 49-3 รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ. 1958 (1) ให้รัฐสภาผ่านร่างกฎหมาย ”ความเสมอภาคทางด้านโอกาส” (Le projet-loi sur l’égalité des chances) (2) โดยที่รัฐสภาไม่ต้องทำการลงมติ หากภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงหลังจากที่นายกรัฐมนตรีขอผ่านร่างกฏหมายตามมาตรา 49-3 ไม่มีการเสนอและลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ถือว่าผ่านสภา ประเด็นที่น่าสนใจคือ ร่างกฎหมาย”ความเสมอภาคทางด้านโอกาส” ยังไม่มีการทำประชาพิจารณ์หรือปรึกษาสหภาพแรงงานแต่อย่างใดทั้งนี้รัฐบาลให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรได้รับการอนุมัติโดยเร็ว ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวก็ผ่านสภา และประกาศในรัฐกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 เป็นที่เรียบร้อย
       
       เหตุที่นายกรัฐมนตรี De Villepin เร่งให้สภาผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้เพราะในสังคมฝรั่งเศสนั้นมีเรื่องให้แก้ไขเร่งด่วนไม่เฉพาะแต่ปัญหาด้านเศรษฐกิจ (การว่างงาน การย้ายการลงทุนไปยังประเทศยุโรปตะวันออก ฯลฯ) แต่ยังมีปัญหาเรื่องความสมานฉันท์ของคนในชาติ กล่าวคือ หากพิจารณาถึงบริบททางด้านสังคมและวัฒนธรรมของฝรั่งเศสจะพบว่าปมปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่าง ”คนฝรั่งเศสแท้ๆ กับ คนฝรั่งเศสที่มีเชื้อสายอื่นๆ”ยังคงค้างคาอยู่ในใจ”ชาวฝรั่งเศส”หลายๆคน โดยเฉพาะคนฝรั่งเศสที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวประเทศอาณานิคมนั้นยังคงคิดว่าตนเองได้รับการเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐและนายจ้าง เพื่อคลี่คลายปมปัญหาดังกล่าวจึงมีการเสนอให้ผ่านร่างกฎหมายว่าด้วย ”ความภาคทางด้านโอกาส” (Le projet-loi sur l’égalité des chances) ฉบับนี้เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกันทั้งในเรื่องโอกาสในการศึกษาและโอกาสในการทำงาน ลดการเลือกปฏิบัติจากอำนาจรัฐ อีกทั้งเพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน อันนำไปสู่การลดปัญหาการว่างงานของบัณทิต อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีประกาศจะเสนอผ่านร่างกฎหมายจนถึงวันนี้ได้เกิดเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงไม่ยอมรับร่างกฎหมายและกฏหมายฉบับดังกล่าวโดยนักเรียน นักศึกษา หนึ่งในสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ซึ่งเป็นชนวนของการประท้วงและเกิดความรุนแรง คือ มาตรา 8 ว่าด้วย “สัญญาการจ้างงานครั้งแรก” ( Le Contrat Première Embauche – CPE)
       
       ตามกฎหมายแรงงานฝรั่งเศส สัญญาจ้างงานอาจแบ่งได้เป็นสัญญาที่ระบุระยะการจ้างงาน (Le Contrat à Durée Déterminée – CDD) และสัญญาที่ไม่ระบุระยะการจ้างงาน (Le Contrat à Durée Indéterminée – CDI) ในสัญญาทั้งสองประเภทนี้นายจ้างสามารถบอกเลิกจ้างได้โดยที่ต้องระบุเหตุผลในการเลิกจ้างนั้นๆ และลูกจ้างยังได้รับเงินชดเชยจากการเลิกจ้างในอัตราอย่างน้อยร้อยละ 10 ของค่าตอบแทนทั้งหมด รวมถึงได้รับค่าชดเชยหากลูกจ้างไม่ได้ใช้สิทธิลาพักร้อน
       แต่ “สัญญาการจ้างงานครั้งแรก” หรือ CPE นั้น เป็นสัญญาที่บริษัทของเอกชนที่มีลูกจ้างมากกว่า 20 คน สามารถเสนอแก่ผู้สมัครงานที่อายุต่ำกว่า 26 ปีได้ สัญญาชนิดนี้ไม่ระบุระยะเวลาการจ้างงาน แต่ประเด็นที่ก่อให้เกิดการประท้วงและจลาจล คือ กฎหมายได้กำหนดว่าในระยะสองปีแรกของการทำงานถือเป็นช่วง “ทดลองงาน” ซึ่งนายจ้างสามารถบอกเลิกงานได้ทุกเมื่อแต่ต้องแจ้งล่วงหน้าตามระยะเวลาที่กฎหมายระบุ (สองสัปดาห์ถึงหนึ่งเดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการเริ่มต้นสัญญา) โดยที่ไม่ต้องให้เหตุผลของการเลิกจ้าง แต่ลูกจ้างจะยังได้รับค่าชดเชยจากการถูกเลิกจ้าง เป็นจำนวนร้อยละ 8 ของค่าตอบแทนที่ได้รับตั้งแต่การเริ่มสัญญาจ้างงาน หากถูกเลิกจ้างหลังจากทำงานมากกว่าสี่เดือนก็จะได้รับเงินชดเชยเพิ่มเติมอีกด้วย ทั้งนี้ เมื่อผ่านระยะสองปีแรกไปแล้วสิทธิของลูกจ้างตามสัญญา CPE ก็จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานเฉกเช่นลูกจ้างตามสัญญาที่ไม่ระบุระยะการเลิกจ้าง (Le Contrat à Durée Indéterminée – CDI)
       
       หากมองถึงกฎหมายฉบับนี้ในมุมมองของรัฐบาล รัฐบาลคาดการว่ากฎหมายใหม่นี้จะสร้างงานใหม่ได้ถึง 80,000 ตำแหน่ง โดยเฉพาะมาตรา 8 ที่ถือว่าเป็นปัญหา จะเห็นว่า “สัญญาการจ้างงานครั้งแรก” (CPE) จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของแรงงานอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถลดอัตราการว่างงานในบรรดาผู้เพิ่งจบการศึกษาได้ สร้างความมั่นคงในระยะยาวให้แก่ลูกจ้างเพราะสัญญานี้เมื่อพ้นระยะสองปีแรกก็จะถือว่าเป็นสัญญาที่ไม่ระบุระยะการจ้างงานได้ อีกทั้งจะทำให้เกิดการแข่งขันในการพัฒนาฝีมือและศักยภาพการทำงานของแรงงานมากขึ้น อันจะก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
       
       หากมองในมุมของประชาชน เนื่องด้วยความที่ฝรั่งเศสเป็นรัฐสวัสดิการ ดังนั้น แม้เพียงมีการออกกฎหมายที่เอื้อผลประโยชน์ต่อผู้ประกอบการหรือนายจ้างเพียงเล็กน้อยและมีการริดรอนสิทธิของแรงงาน ประชาชนก็มักจะออกมาแสดงพลังเสียงของ”เจ้าของประเทศที่แท้จริง”ในทันที เช่น กฎหมายฉบับว่าด้วย “ความเสมอภาคทางโอกาส” (Le projet-loi sur l’égalité des chances)นี้ ที่ประชาชนเห็นว่าได้เอื้อผลประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ กล่าวคือ หากบริษัทต้องการเพิ่มผลผลิตในระยะสั้นๆ เช่น สินค้าจำพวกที่ใช้เป็นฤดูกาล ก็สามารถว่าจ้างแรงงานมาเพิ่มผลผลิตเป็นการเร่งด่วนได้ทุกเมื่อและเมื่อไม่ต้องการแรงงานเหล่านั้นแล้วก็สามารถบอกเลิกได้โดยไม่ต้องให้เหตุผล ทำให้บริษัทมีสภาพคล่องในการบริหารแรงงานและบุคลากร ข้อดีอีกประการสำหรับผู้ประกอบการและนายจ้างคือ รัฐบาลได้สนับสนุนให้เกิดการจ้างงานแก่ผู้สมัครงานที่อายุต่ำกว่า 26 ปี ด้วยสัญญาการจ้างงาน CPE ดังกล่าว ดังนั้นหากบริษัทใดมีการจ้างแรงงานด้วยสัญญาประเภทนี้ก็จะได้รับการลดหย่อนเงินภาษีที่นายจ้างต้องจ่ายให้รัฐเป็นเวลาสามปีอีกด้วย
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่าการชุมนุมประท้วงครั้งนี้ ผู้ร่วมชุมนุมส่วนใหญ่คือนักเรียนและนักศึกษา เหตุเพราะผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ คือ ผู้สมัครงานที่อายุต่ำกว่า 26 ปี ซึ่งก็คือบัณฑิตจบใหม่นั่นเอง ในมุมมองของกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มนี้อาจพิจารณาได้ในหลายประเด็น
       
       ประเด็นแรก การที่กฎหมายให้สิทธิแก่นายจ้างในการที่จะสามารถบอกเลิกการจ้างงานได้ตลอดระยะเวลา”การทดลองงาน”สองปีแรกนั้นก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในอาชีพต่อลูกจ้าง อาจกล่าวได้ว่า สัญญาการจ้างงานครั้งแรก (CPE) นั้นสร้างความไม่มั่นคงในอาชีพให้แก่ลูกจ้างมากกว่าสัญญาที่ระบุระยะการจ้างงาน (CDD) กล่าวคือ สัญญาการจ้างงานครั้งแรกนั้นแม้ว่าเมื่อผ่านพ้นระยะทดลองงานสองปีแรกไปแล้วจะมีคุณสมบัติเหมือนสัญญาที่ไม่ระบุระยะการเลิกจ้าง (CDI) แต่ก็ไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าลูกจ้างจะไม่ถูกไล่ออก แม้ไม่ได้กระทำความผิดแต่ก็อาจจะถูกให้ออกได้ทุกเมื่อภายในระยะสองปีแรก
       
       นอกไปจากนี้ แม้ว่าในทางกฏหมายลูกจ้างจะได้รับสิทธิและมีสิทธิที่จะเรียกร้องสิทธิของตนเองได้ภายใต้กฏหมายแรงงาน แต่ในทางปฏิบัติลูกจ้างจะไม่มีสามารถออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเองตามกฏหมายแรงงานระหว่างช่วงทดลองงานได้ ทั้งนี้เพราะกฏหมายได้ให้สิทธิแก่นายจ้างในการบอกเลิกจ้างได้โดยที่ไม่ต้องให้เหตุผล อันก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมแก่ลูกจ้างภายใต้สัญญาCPE ซึ่งแตกต่างกับสัญญาที่ระบุระยะการจ้างงาน (CDD)ในจุดที่ว่าแม้สัญญา CDDจะเป็นสัญญาที่ระบุระยะเวลาการจ้างงานในระยะสั้นๆ คือไม่เกินสิบแปดเดือน แต่ตลอดระยะเวลาของการทำสัญญาจ้างนั้น นายจ้างไม่สามารถให้ลูกจ้างออกจากงานโดยปราศจากเหตุผลที่เหมาะสม
       
       อีกประการหนึ่ง สมาชิกวุฒิสภาจำนวนหกสิบคนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหกสิบคนได้ร้องขอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายดังกล่าว เช่น ในประเด็นว่าด้วยความไม่ชอบด้วยกฎหมายแรงงานเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของลูกจ้าง (ระยะเวลาทดลองงานกว่าสองปี สามารถให้ออกงานโดยไม่ต้องระบุเหตุผล ฯลฯ) และในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2549 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าร่างกฏหมายว่าด้วย “ความเสมอภาคทางโอกาส” ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (3) โดยเฉพาะต่อย่อหน้าที่ 5 ของคำปรารถของรัฐธรรมนูญลงวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ.1946ที่ว่า “ทุกคน…มีสิทธิที่จะมีงานทำ บุคคลไม่อาจถูกกระทบสิทธิต่อการทำงานหรือต่องานที่ได้รับจ้าง เพราะเหตุผลของชาติกำเนิด ความคิดเห็น ความเชื่อของบุคคลนั้น” (4) นอกจากนี้คณะตุลาการศาลยังให้เหตุผลว่า เนื่องด้วยเยาวชนและบัณฑิตจบใหม่จัดเป็นบุคคลด้อยโอกาส ( Des personnes défavorisées) อีกทั้งยังไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญข้อใดห้ามฝ่ายนิติบัญญัติในการออกมาตรการพิเศษเพื่อช่วยเหลือบุคคลด้อยโอกาส (des personnes défavorisées) จึงสมควรเป็นอย่างยิ่งที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะเสนอสัญญาการจ้างงานชนิดใหม่เพื่อเอื้อให้เยาวชนสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ง่ายขึ้น และหากลูกจ้างจากสัญญา CPE จะได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากลูกจ้างอื่นๆก็เพื่อที่จะบรรลุจุดประสงค์ที่ฝ่ายนิติบัญญัติประสงค์ คือ ก่อให้เกิดการจ้างงานเยาวชนและบัณฑิตจบใหม่มากที่สุด
       
       นับแต่การประกาศความประสงค์ของนายกรัฐมนตรีที่จะเสนอร่างกฎหมายจนถึงวันที่ประกาศใช้บังคับกฎหมายว่าด้วย “ความเสมอภาคทางด้านโอกาส” กลุ่มนักเรียน นักศึกษาได้ออกมาชุมนุมประท้วงกันอย่างรุนแรง มีการปิดสถานศึกษาเป็นเวลาเกือบสองเดือน สร้างความวุ่นวายให้แก่สังคมฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก ในท้ายที่สุด เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีฌากส์ ชีรักได้ประกาศยกเลิกมาตรา 8 ว่าด้วย สัญญาการจ้างงานครั้งแรก ในวันที่ 13 เมษายนรัฐสภาได้ผ่านร่างกฎหมาย “การเข้าสู่ตลาดแรงงานในบริษัทของเยาวชน” ( Loi sur l'accès des jeunes à la vie active en entreprise) เพื่อใช้แทนมาตรา 8 ข้างต้น
       
       ข้อเสนอและวิธีการเพื่อยุติปัญหาดังกล่าวของรัฐบาลส่งผลให้ในหลายโรงเรียนและมหาวิทยาลัยหลายแห่งลงมติที่จะกลับมาทำการเรียนการสอนแล้ว แต่ยังมีอีกหลายๆแห่งที่ยังยืนยันที่จะให้รัฐบาลประกาศยกเลิกกฎหมายทั้งฉบับมิใช่เพียงมาตรา 8 เพียงข้อเดียว อย่างไรก็ตามการชุมนุมประท้วงครั้งนี้ก็เป็นผลดีต่อโรงเรียนกวดวิชาต่างๆโดยเฉพาะหลักสูตรกวดวิชาของนักเรียนที่จะต้องสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาที่หลายๆแห่งมีนักเรียนมาสมัครเพิ่มกว่าปีก่อนๆ สูงถึงสองถึงสามเท่า
       
       ผลพวงอีกประการหนึ่งของ “การเห็นแย้งกับความคิดเห็นของประชาชน” ที่มีต่อรัฐบาลคือ รัฐบาลไม่กล้าที่จะเสนอร่างกฎหมาย”ห้ามการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ” ทั้งนี้เพราะเกรงว่าเพิ่งจะสงบศึก”สัญญา CPE”ไปได้ไม่นาน ก็ต้องมาเตรียมรับมือกับผู้ชุมนุมประท้วงเรื่องการสูบบุหรี่อีก ที่สำคัญ ประเทศฝรั่งเศสจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2007 ที่จะถึงนี้ จึงไม่เป็นการดีแน่ต่อผู้ที่ฝันใฝ่ตำแหน่งผู้นำประเทศที่จะดำเนินนโยบายประชา”ไม่”นิยม และหลังจากการประท้วงเรื่องสัญญาการจ้างงานครั้งแรกผ่านไป นักวิเคราะห์ทางการเมืองหลายๆ คนได้ให้ความเห็นว่าอนาคตทางการเมืองที่เคยทำท่าจะรุ่งโรจน์ของนายก De Villepin ได้ดับสนิทเสียแล้ว
       
       เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสคงจะสะท้อนให้หลายๆ ฝ่ายได้ตระหนักว่า วันใดที่”เจ้าของประเทศที่แท้จริง” รวมพลังกันออกมาร้องตะโกนบนถนน คนที่มีเสียงข้างมากในสภาควรจะรับฟังไว้บ้างก็น่าจะดีไม่น้อย
       
       เชิงอรรถ
       1. มาตรา 49-3 รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ. 1985 “ นายกรัฐมนตรีหลังจากที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว อาจขอผูกพันความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อสภาผู้แทนราษฎรไว้กับการลงมติผ่านร่างรัฐบัญญัติฉบับใดฉบับหนึ่งได้ ในกรณีดังกล่าวถือว่าสภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบร่างรัฐบัญญัติฉบับนั้นแล้ว เว้นแต่จะมีการเสนอญัตติไม่ไว้ใจรัฐบาลภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงหลังจากนั้น และสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในวรรคก่อน” ( ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์, คำแปลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ. 1985, วิญญูชน, 2549.)
       2. Loi n° 2006-396 du 31 mars 2006 pour l'égalité des chances (JO 02/04/2006, p. 4950)
       http://www.legifrance.gouv.fr/citoyen/jorf_nor.ow?numjo=SOCX0500298L
       3. Conseil Constitutionnel Décision n° 2006-535 DC - 30 mars 2006 Loi pour l'égalité des chances
       4. ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์, คำแปลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ. 1985, วิญญูชน, 2549


 
 
๓๐ ปีกฎหมายการทำแท้งเสรีในฝรั่งเศส โดย อ. ปิยบุตร แสงกนกกุล
หลักกฎหมายปกครองทั่วไป : ทางออกในการอุดช่องว่างกฎหมายปกครองไทย โดย นางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
บทวิเคราะห์ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ โดย อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล
การทับซ้อนของเขตอำนาจศาลปกครองและศาลยุติธรรมฝรั่งเศส : ศึกษากรณีบริการสาธารณะ โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
ตุลาการศาลปกครองกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม(ตามหลัก équité) โดยคุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
   
 
 
 
สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของผู้มีรสนิยมร่วมเพศในมุมมองกฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายสิทธิมนุษยชนยุโรป โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
การทับซ้อนของเขตอำนาจศาลปกครองและศาลยุติธรรมฝรั่งเศส : ศึกษากรณีบริการสาธารณะ โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
ศาลรัฐธรรมนูญและคดีรัฐธรรมนูญโปรตุเกส โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
คำแปลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐโปรตุเกส (เฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ) โดยอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
ความรับผิดชอบทางอาญาของประธานาธิบดีฝรั่งเศส โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม
สหภาพยุโรปและการเลือกปฏิบัติ : กรณีการรับสมัครคนสูบบุหรี่เข้าทำงาน โดย คุณพิมพ์ดาว จันทรขันตี
การมีส่วนร่วมของประชาชนในฝรั่งเศส : การอภิปรายสาธารณะ (Le débat public) โดย คุณวรรณภา ติระสังขะ
ตุลาการศาลปกครองกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม(ตามหลัก équité) โดยคุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
“หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” อาวุธทรงพลังในหมู่ “ลูกแกะ” โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
บทวิเคราะห์ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ โดย อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544