การมีส่วนร่วมของประชาชนในฝรั่งเศส : การอภิปรายสาธารณะ (Le débat public) โดย คุณวรรณภา ติระสังขะ |
|
|
|
วรรณภา ติระสังขะ นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, D.E.A. กฎหมายมหาชนและกฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัย Nantes ประเทศฝรั่งเศส, กำลังศึกษาระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัย Nantes ประเทศฝรั่งเศส |
|
25 มิถุนายน 2549 21:25 น. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
ในประเทศฝรั่งเศส การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในด้านที่เกี่ยวกับการออกคำสั่งทางปกครอง เริ่มต้นมาจากการที่ประชาชนมีความตื่นตัวในการร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของตน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและสังคม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เรื่องการจัดการผังเมืองและการเวนคืนที่ดิน ซึ่งประชาชนชาวฝรั่งเศสมีความตื่นตัวอย่างมากในการร่วมแสดงความคิดเห็น ต่อมา ในช่วงปี ค.ศ. 1970 มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองในด้านที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ประกอบกับปัญหาในเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นปรากฏเด่นชัดขึ้นในสังคมฝรั่งเศส ดังนั้น จึงก่อให้เกิดการเรียกร้องของประชาชนและองค์กรภาคเอกชน ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการของรัฐที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อทรัพยากรธรรมชาติ หรือการจัดการพื้นที่ โดยเฉพาะในเรื่องการจัดการเรื่องทรัพยากรธรรมชาติของประเทศนั้น ประเทศฝรั่งเศสได้ให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อโครงการต่างๆของรัฐ ทั้งนี้เพราะความตื่นตัวของนานาประเทศในเรื่องสิทธิของประชาชนด้านสิ่งแวดล้อม หรือการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติแบบยั่งยืน ตลอดจนถึงการเข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญาระหว่างประเทศต่างๆ ทำให้ประเทศฝรั่งเศสหันมาใส่ใจและเน้นนโยบายการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนโดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
ในการแสดงความคิดเห็นอีกรูปแบบหนึ่งนอกเหนือจากการรับฟังความคิดเห็นในรูปแบบของการทำประชาพิจารณ์ (lenquête publique) และการประชุมปรึกษาหารือหรือการร่วมแสดงความคิดเห็นแล้ว (la concertation) ประเทศฝรั่งเศสยังมีการจัดการรับฟังความคิดเห็นที่สำคัญต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและน่าสนใจอีกวิธีการหนึ่งคือรูปแบบของ การอภิปรายสาธารณะ (หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า การโต้แย้งสาธารณะ) การจัดให้มีการอภิปรายสาธารณะนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการการเตรียมจัดทำโครงการการพัฒนาพื้น ที่หรือจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์แห่งชาติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การมหาชน และหน่วยงานเอกชน ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่มีความเสี่ยงทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นอย่างมากหรือมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเรื่องของการพัฒนาพื้นที่หรือผังเมือง ซึ่งมักจะเป็นการดำเนินงานที่ขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนในการดำเนินงาน ดังนั้น เพื่อเป็นการให้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นไปไดด้วยดี ประเทศฝรั่งเศสจึงตรากฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวกับการจัดทำ "อภิปรายสาธารณะ" (Le débat public) ในรัฐบัญญัติที่ 95-101 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1995 ว่าด้วยเรื่องการส่งเสริมรักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (La Loi du 2 févier 1995 relative au renforcement de la protection de lenvironnement ) (ซึ่งถูกนำไปรวบรวมไว้ในประมวลกฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อม มาตรา L.121-1 ถึงมาตรา 121-5) และได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐบัญญัติลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2002 (La Loi du 27 févier 2002 relative à la démocratie de proximité) ซึ่งถือว่าเป็นการบัญญัติตามอนุสัญญา Aarhus (La Convention dAarhus) ที่ประเทศฝรั่งเศสได้ร่วมลงนาม
การจัดทำ "อภิปรายสาธารณะ" (Le débat public) นี้เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นสำหรับโครงการที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม หรือการปรับปรุงพื้นที่หรือผังเมือง และเป็นโครงการที่มีความเสี่ยงทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ภายใต้การกำกับดูแลของ "คณะกรรมการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติ" (La Commission nationale du débat public) ซึ่งมีสถานะตามกฎหมายเป็น "องค์กรมหาชนอิสระ" (L'autorité administrative indépendante) คณะกรรมการชุดนี้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทั้งนี้รวมไปตลอดถึงการให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจอันดีต่อประชาชนในข้อมูลของโครงการ ดังนั้นคณะกรรมการดังกล่าวจึงมีหน้าที่ช่วยลดความขัดแย้งของภาคประชาชนที่เกิดจากการดำเนินโครงการต่างๆ ของรัฐได้
ในบทความนี้ จะขอแยกนำเสนอรายละเอียดขอการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในรูปแบบการอภิปรายสาธารณะออกเป็น (1) ขอบเขตของการใช้บังคับ (เรื่องที่จะจัดให้มีการอภิปรายสาธารณะ), (2) กระบวนการของการจัดอภิปรายสาธารณะ, (3) อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติ (La Commission nationale de débat public), (4) องค์ประกอบของคณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติ และ (5) ผลของการจัดอภิปรายสาธารณะ
1. ขอบเขตของการใช้บังคับ (เรื่องที่จะจัดให้มีการอภิปรายสาธารณะ)
สำหรับเรื่องที่ต้องจัดให้มีการอภิปรายสาธารณะนั้น ตามประมวลกฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อมว่าด้วยหมวดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานของคณะกรรมการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติ และวัตถุประสงค์ของการอภิปรายสาธารณะ ( Section 1 : Missions de la Commission nationale du débat public Champ d'application et objet du débat public) กำหนดไว้ในมาตรา L.121-1 ว่า ในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในรูปแบบของการอภิปรายสาธารณะนั้น เป็นโครงการหรือการดำเนินงานของรัฐที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมหรือต่อการจัดการพื้นที่หรือผังเมือง อีกทั้งยังเป็นโครงการที่มีความเสี่ยงทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นอย่างมากไม่ว่าโครงการหรือการดำเนินงานนั้นจะมีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะของชาติหรือประโยชน์สาธารณะของท้องถิ่นก็ตาม การกำหนดเรื่องให้มีการจัดทำอภิปรายสาธารณะนี้อาจถูกกำหนดไว้ในเงื่อนไขของการริเริ่มในการดำเนินโครงการของรัฐนั้นๆเองหรือเป็นไปตามกฎหมายเฉพาะเป็นรายๆไปที่ได้กำหนดไว้ว่าต้องให้มีการดำเนินการจัดการอภิปรายสาธารณะ ในเรื่องเฉพาะที่กฎหมายกำหนดให้มีการจัดทำการอภิปรายสาธารณะนั้นได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐกฤษฎีการตามความเห็นชอบของสภาแห่งรัฐซึ่งเป็นเสมือนดัชนีแนบท้ายในการกำหนดตัวอย่าง หรือเรื่องของโครงการที่จำเป็นต้องจัดให้มีการดำเนินการอภิปรายสาธารณะ
รัฐกฤษฎีการลงวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 2002 ตามความเห็นชอบของสภาเห็นรัฐได้กำหนดเรื่องหรือโครงการที่ต้องผ่านการดำเนินการอภิปรายสาธารณะ โดยคำนึงถึงสภาพของโครงการหรือองค์ประกอบของโครงการ ตลอดจนเขตหรือท้องที่ที่เกี่ยวข้องหรือโดยคำนึงถึงระดับและหลักเกณฑ์ในทางเทคนิค และระดับของค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ตัวอย่างเช่น
ในการสร้างถนนทางหลวงหรือขยายถนนทางหลวงให้มีช่องทาง
มากกว่า 2x2
สร้างทางรถไฟสายใหม่
สร้างหรือขยายช่องทางการขนส่งทางน้ำ หรือทางอากาศ
สร้างสถานีผลิตนิวเคลียร์
สร้างโรงงานไฟฟ้าหรือการวางเสาเกี่ยวกับการเดินไฟฟ้าหรือแก๊ส เป็นต้น
2. กระบวนการของการจัดอภิปรายสาธารณะ
กระบวนการริเริ่มของการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นในรูปแบบของการอภิปรายสาธารณะนั้นเริ่มจาก เมื่อมีการร้องขอต่อคณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติในเรื่องที่เกี่ยวกับโครงการการพัฒนาพื้นที่หรือการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นโครงการที่โดยสภาพลักษณะทางเทคนิค หรือค่าใช้จ่ายที่คาดหมายล่วงหน้าอาจประเมินได้ในขั้นตอนเตรียมจัดทำนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือมีระดับเกินกว่าที่กำหนดไว้ในรัฐกฤษฎีกา (รัฐกฤษฎีการที่กำหนดเรื่องหรือโครงการที่ต้องผ่านการดำเนินการอภิปรายสาธารณะ โดยผ่านความเห็นชอบของสภาแห่งรัฐแล้ว) ให้ผู้เป็นเจ้าของโครงการหรือองค์กรของรัฐที่รับผิชอบโครงการนั้นๆเสนอเรื่องต่อคณะกรรม การการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติ โดยเอกสารที่ต้องส่งให้คณะกรรมการต้องประกอบไปด้วย วัตถุประสงค์และลักษณะสำคัญของโครงการ ค่าความเสี่ยงทางสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่คาดหมายไว้และรายละเอียดของผลกระทบอย่างรุนแรงของโครงการต่อสิ่งแวดล้อมหรือต่อการพัฒนาพื้นที่
นอกจากนี้ ในกรณีที่เป็นโครงการที่มีค่าใช้จ่ายที่ประเมินไว้ล่วงหน้าต่ำกว่าที่กรอบของรัฐกฤษฎีกากำหนด แต่ในเรื่องหลักเกณฑ์ทางเทคนิคมีระดับที่สูงกว่าหรือตามที่รัฐกฤษฎีกากำหนดไว้นั้น ให้ผู้เป็นเจ้าของโครงการหรือองค์กรของรัฐที่รับผิดชอบโครงกากรทำหารเปิดเผยลักษณะสำคัญของโครงการนั้นต่อประชาชน ในกรณีนี้ ผู้เป็นเจ้าของโครงการหรือองค์กรของรัฐที่รับผิดขอบโครงการและสมาชิดรัฐสภาสิบคน อาจยื่นคำขอให้คณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติจัดให้มีการอภิปรายสาธารณะได้ นอกจากนี้แล้ว สภาแห่งภูมิภาค สภาจังหวัด สภาเทศบาล หรือองค์กรมหาชนด้านความร่วมมือระหว่างชุมชนที่มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาพื้นที่หรือผังเมืองที่เกี่ยวข้อง หรือสมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่ได้รับรองตากฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีการดำเนินกิจการทั่วประเทศ ก็อาจร้องขอให้คณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติเปิดให้มีการจัดทำการอภิปรายสาธารณะได้เช่นกัน การร้องขอให้คณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติให้กระทำภายในกำหนดระยะเวลาสองเดือนนับแต่เมื่อผู้เป็นเจ้าของโครงการเปิดเผยโครงการนั้นแก่สาธารณะชน
นอกจากการร้องขอของผู้เป็นเจ้าของโครงการหรือองค์กรของรัฐที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการแล้ว รัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมโดยร่วมกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอาจร้องขอต่อคณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติเพื่อให้มีการจัดการอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับเรื่องทางด้านสิ่งแวดล้อมหรือการจัดการผังเมืองได้
เมื่อมีการร้องขอตามบทบัญญัติมาตรา L.121-8 ของประมวลกฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อมแล้วข้างตน คณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติกำหนดวิธีการของการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการตัดสินใจภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ให้คณะกรรมกาพิจารณาว่า สำหรับโครงการแต่ละโครงการนั้นสมควรจัดให้มีการอภิปรายสาธารณะหรือไม่ โดยคำนึงถึงประโยชน์แห่งชาติของโครงการนั้น ผลกระทบของโครงการต่อพื้นที่ ความเสี่ยงทางสังคมและเศรษฐกิจของโครงการนั้น และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
หากคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็นต้องจัดให้มีการอภิปรายสาธารณะ คณะกรรมการอาจจัดการอภิปรายสาธารณะเองโดยมอบหมายให้คณะกรรมการพิเศษที่คณะกรรมการตั้งขึ้นเป็นผู้ดำเนินการ หรือมอบหมายให้ผู้เป็นเจ้าของโครงการหรือองค์กรของรัฐที่รับผิดชอบโครงการดำเนินการจัดอภิปรายสาธารณะ โดยคณะกรรมการจะกำหนดวิธีการดำเนินอภิปรายสาธารณะและเป็นผู้กำกับดูแลให้การดำเนินการอภิปรายสาธารณะเป็นไปด้วยดี
หากคณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีความจำเป็นในการจัดการอภิปรายสาธารณะ คณะกรรมการอาจแนะนำให้ผู้เป็นเจ้าของโครงการหรือองค์กรของรัฐที่รับผิดชอบโครงการดำเนินการขอความร่วมมือกับประชาชนโดยวิธีการอื่นๆตามที่คณะกรรมการเสนอ
(2) ให้คณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติทำคำสั่งภายในระยะเวลา สองเดือนว่าจะรับคำร้องขอให้มีการจัดทำการอภิปรายสาธารณะหรือไม่ โดยทำเป็นคำสั่งและชี้แจงเหตุผลประกอบ
ในกรณีที่เลยกำหนดระยะเวลาสองเดือนแล้วไม่มีคำสั่งและคำชี้แจงของคณะกรรมการ ให้ถือว่าคณะกรรมการปฏิเสธที่จะดำเนินการจัดให้มีการอภิปรายสาธารณะ
(3) ค่าใช้จ่ายในการจัดอภิปรายสาธารณะนั้น ให้เป็นความรับผิดชอบของผู้เป็นเจ้าของโครงการหรือองค์กรของรัฐผู้รับผิดชอบโครงการ ส่วนค่าใช้จ่ายของผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมให้คณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบ
กฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติจัดทำและประกาศกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการอภิปรายสาธารณะ ซึ่งจะต้องมีกำหนดระยะเวลาไม่เกินสี่เดือน กำหนดระยะเวลาดังกล่าวอาจขยายต่อไปได้อีกสองเดือนโดยคำสั่งของคณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติพร้อมเหตุผลประกอบ
คณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติอาจร้องขอให้เจ้าของโครงการหรือองค์กรของรัฐที่รับผิดชอบโครงการส่งเอกสารที่จะใช้ในการอภิปรายสาธารณะเพิ่มเติมได้ โดยระยะเวลาในการดำเนินการอภิปรายสาธารณะจะนับต่อเมื่อคณะกรรมการได้รับเอกสารนั้นครบสมบูรณ์แล้ว
ภายในกำหนดระยะเวลาสองเดือนนับแต่วันปิดการอภิปรายสาธารณะ ให้ประธานคณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติประกาศรายงานการดำเนินการอภิปรายสาธารณะต่อประชาชนและสรุปผลการดำเนินงานดังกล่าว
3. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติ (La Commission nationale de débat public)
กฎหมายกำหนดให้มี "คณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติ" ซึ่งเป็นองค์กรอิสระทางปกครองเป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดดูแลความเรียบร้อย และใช้อำนาจหน้าที่ในการจัดทำให้เกิดการอภิปรายสาธารณะให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้น เราสามารถแบ่งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติได้เป็น 4 ประการด้วยกันคือ
(1) คณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติมีหน้าที่ในการจัดการให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในรูปแบบของการอภิปรายสาธารณะโดยเคารพต่อหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน
(2) คณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติมีหน้าที่ในการกำกับดูแลให้มีการเคารพต่อการแจ้งข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นของการดำเนินโครงการให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้มีข้อมูลข่าวสารอย่างเพียงพอในการร่วมแสดงความคิดเห็นต่อไป
(3) คณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติสามารถใช้อำนาจเมื่อมีคำขอในการให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำต่างๆแก่องค์กรที่มีอำนาจและผู้เป็นเจ้าของโครงการในปัญหาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับร่วมมือกับประชาชนตลอดระยะเวลาของการเตรียมจัดทำโครงการ
(4) คณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะยังมีหน้าที่ในการให้ความเห็นและคำแนะนำในลักษณะทั่วไปหรือทางเทคนิค (หรือทางวิชาการ) เพื่อสนับสนุนและเพื่อเป็นการส่งเสริมพัฒนาการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อให้เกิดความร่วมมืออันดีของประชาชน
แต่อย่างไรก็ดี คณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะแห่งชาตินี้ไม่มีอำนาจในการพิจารณาในเนื้อหาของโครงการที่เสนอมายังตน
4. องค์ประกอบของคณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติ
ตามมาตรา L.121-3 ของประมวลกฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อมประเทศฝรั่งเศส ได้กำหนดให้คณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติประกอบด้วยกรรมการ 21 คน ซึ่งมีวาระการดำรงตำแห่งห้าปี นอกจากประธานคณะกรรมการหนึ่งคนและรองประธานคณะกรรมการสองคนแล้ว คณะกรรมการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติประกอบด้วย
(1) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคนและวุฒิสมาชิกหนึ่งคน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภาตามลำดับ
(2) ผู้แทนชุมชนจำนวนหกคน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐกฤษฎีกา ตามข้อเสนอ แนะของสมาคมที่เป็นตัวแทน ของผู้แทนดังกล่าว
(3) สมาชิกสภาแห่งรัฐ (Le Conseil d'Etat ) หนึ่งคน ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยที่ประชุมใหญ่ของสภาแห่งรัฐ
(4) ผู้พิพากษาศาลฎีกาหนึ่งคน ซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
(5) ตุลาการศาลบัญชีหนึ่งคน ซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยที่ประชุมใหญ่ศาลบัญชี
(6) ตัวแทนตุลาการศาลปกครองและศาลปกครองชั้นอุทธรณ์หนึ่งคน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐกฤษฎีกา ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง และศาลปกครองชั้นอุทธรณ์
(7) ตัวแทนสมาคมคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการรับรองตามารตรา L.141-1 ที่ดำเนินกิจการทั่วประเทศสองคน ซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยกฎหระทรวงที่ออกโดยนายกรัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อม
(8) ตัวแทนผู้บริโภคและผู้ใช้บริการสองคน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยกฎกระทรวงที่ออกโดยนายกรัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและด้านคมนาคมตามลำดับ
(9) ผู้ทรงคุณวุฒิสองคน ซึ่งหนึ่งคนต้องเคยปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งได้รับการแต่งตั้ง โดยกฎกระทรวงที่ออกโดยนายกรัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของรัฐมนตรีด้านอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีด้านการ พัสดุตามลำดับ
ประธานคณะกรรมการและรองประธานคณะกรรมการได้รับการแต่ตั้งโดยการออกเป็นรัฐกฤษฎีกา กรรมการอาจได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งได้เพิ่มได้อีกครั้งหนึ่ง
กฎหมายของฝรั่งเศสยังกำหนดความเป็นกลางของคณะกรรมการชุดนี้ไว้ว่า หากกรรมการในคณะกรรมการนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินงานในฐานะส่วนตัวหรืออันเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน กรรมการนั้นๆ ไม่สามารถเข้าร่วมการอภิปรายหรือกระบวนการในการขอความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานนั้นๆ ได้
5. ผลของการจัดอภิปรายสาธารณะ
ผลของการรับฟังความคิดเห็นโดยการจัดอภิปรายสาธารณะนี้ ไม่มีผลผูกพันใดๆให้เจ้าของโครงการหรือฝ่ายปกครองต้องปฏิบัติตามความเห็นของประชาชน เป็นแต่เพียงนำเอาความคิดเห็นของประชาชนมาประกอบการตัดสินใจในการเปลี่ยนแปลงหรือดำเนินโครงการต่อไป แต่อย่างไรก็ดี เมื่อมีการจัดการอภิปรายสาธารณะแล้ว ให้ผู้เป็นเจ้าของโครงการหรือองค์กรของรัฐที่รับผิดชอบโครงการตัดสินใจเกี่ยวกับหลักการและเงื่อนไขของการดำเนินโครงการนั้นต่อไป โดยทำเป็นหนังสือและประกาศให้ประชาชนรับทราบ ภายในระยะเวลาสามเดือนภายหลังประกาศผลการอภิปรายสาธารณะ ให้ผู้เป็นเจ้าของโครงการหรือองค์กรของรัฐที่รับผิดชอบโครงการระบุการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญที่ทำต่อโครงการ และส่งหนังสือดังกล่าวไปยังคณะกรรมการการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติ
บทสรุป
การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในรูปแบบการอภิปรายสาธารณะนี้เป็นกระบวน การหนึ่งในหลายๆกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นของประเทศฝรั่งเศส การอภิปรายสาธารณะนี้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นไม่นาน แต่ก็ได้รับการยอมรับจากประชาชน ทั้งนี้เพราะ ความเป็นกลางของคณะกรรมการจัดการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติ เพราะคณะกรรมการจัดการอภิปรายสาธารณะแห่งชาติ นั้นมีสถานะเป็นองค์การมหาชนอิสระ ซึ่งมีที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่หลายหลาย เพื่อจะเป็นหลักประกันว่า ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นนี้ จะไม่เป็นเพียงการจัดทำตามที่กฎหมายบังคับไว้ หรือเป็นการประชาสัมพันธ์เท่านั้น แต่เป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริงเพื่อนำความคิดเห็นของประชาชนเหล่านั้นมาใช้เป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจของรัฐหรือเจ้าของโครงการต่อไป การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในรูปแบบการอภิปรายสาธารณะนี้ อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ประเทศไทยควรพิจารณาถึงเพื่อนำมาปรับปรุงกฎหมายในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในประเทศไทย ให้เป็นรูปธรรมและสัมฤทธิ์ผลอย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญต่อไป
อ้างอิง
PRIEUR Michel, Droit de lenvironnement, Dalloz, 2004.
VALLEMONT Serge, Le débat public : une réforme dans lEtat, 2001.
BUSSON Benoît, La mis en place de la Commission nationale du débat public, Droit de lenvironnement n°55, 1998.
CHAMINADE André, La démocratie de proximité : Loi n°2002-276 du 27 février 2002, La Semaine juridique édition générale, n° 21-22 mai 2002.
JAMAY Florence, Principe de participation, Juris-Classeur, Environnement 2002. Fasc.135.
STRUILLOU Jean-François, Commission nationale du débat public- le droit à la participation, Etudes foncières, n°104, 2003.
www.debatpublic.fr
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|