หน้าแรก นานาสาระจากนักเรียนไทยในต่างแดน
ความรับผิดชอบทางอาญาของประธานาธิบดีฝรั่งเศส โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม
นางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม นักศึกษาระดับปริญญาเอกUniversité de Paris XII สาขากฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ
2 เมษายน 2550 00:06 น.
 
ประเทศฝรั่งเศสกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ รอบแรกในวันที่ 22 เมษายน และรอบที่สองในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2550 ที่จะถึงนี้ ซึ่งในระหว่างการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีก็มักจะมีการให้ข้อสัญญาต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจหรือทางด้านสังคม มองย้อนกลับไปถึงการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งก่อน คือ ในปี ค.ศ. 2002 ประธานาธิบดี Jacques CHIRAC ผู้สมัครรับเลือกตั้งในขณะนั้นได้ให้สัญญาว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเรื่องการรับผิดทางอาญาของประธานาธิบดี และในปี 2007 ซึ่ง ประธานาธิบดี J. CHIRAC กำลังจะหมดวาระนี้ รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ. 1958 หมวดที่เก้า ว่าด้วยศาลอาญาชั้นสูง มาตราที่ 67 และ 68 จึงถูกหยิบยกขึ้นมาแก้ไขเพิ่มเติมในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2007 ที่ผ่านมา
       โดยทั่วไปแล้วในระบอบการปกครองไม่ว่าจะเป็นในระบอบใด หลักว่าด้วยความไม่ต้องรับผิดชอบของประมุขของชาติ (Le principe d’irresponsabilité) จัดได้ว่าเป็นจารีตประเพณีและกฎหมายที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป ในส่วนของการเมืองการปกครองฝรั่งเศสก็เช่นกัน รัฐธรรมนูญปี ค.ศ. 1791 มาตรา 2 บัญญัติว่า “บุคคลของกษัตริย์จะถูกละเมิดไม่ได้และศักดิ์สิทธิ์” รัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1875 มาตรา 6 วรรคสอง ระบุว่า “ประธานาธิบดีต้องรับผิดชอบเฉพาะกรณีทรยศต่อชาติอย่างร้ายแรง” (La haute trahison) รัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1946 และฉบับปัจจุบัน คือ ฉบับปี ค.ศ. 1958 ก็ได้นำหลักการและบทบัญญัติเรื่องหลักว่าด้วยความไม่ต้องรับผิดชอบของประมุขของชาติ (Le principe d’irresponsabilité)ดังกล่าวยึดถือเรื่อยมา
       
       รัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1958 บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องความรับผิดชอบทางอาญาของประธานาธิบดีไว้ในหมวดที่เก้าว่าด้วย “ศาลอาญาชั้นสูง” ประกอบด้วย 2 มาตรา ดังนี้....
       มาตรา 67
       ให้มีศาลอาญาชั้นสูง
       ศาลอาญาชั้นสูงประกอบด้วยผู้พิพากษาที่เลือกจากสมาชิกของสภาทั้งสองในที่ประชุมของแต่ละสภาจำนวนเท่าๆกัน โดยให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเลือกจากสมาชิกวุฒิสภาเพื่อประกอบเป็นศาลอาญาชั้นสูงในทุกครั้งภายหลังจากที่ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปหรือเลือกตั้งตามวาระของสภาใดสภาหนึ่ง และให้ผู้พิพากษาศาลอาญาชั้นสูงเลือกประธานศาลอาญาชั้นสูงจากบรรดาผู้พิพากษาด้วยกัน
       ทำให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดองค์ประกอบของศาลอาญาชั้นสูง หลักเกณฑ์ในการดำเนินงานรวมทั้งกระบวนวิธีพิจารณาของศาล"
       
       มาตรา 68
       ประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบต่อการดำเนินการใดๆในการปฏิบัติหน้าที่ในขณะดำรงตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่มีการทรยศต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง ประธานาธิบดีจะถูกกล่าวหาว่ากระทำการดังกล่าวได้ก็แต่โดยมติของสภาทั้งสองที่ได้ออกเสียงลงคะแนนอย่างเปิดเผยและได้รับความเห็นชอบในมติดังกล่าวด้วยเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของแต่ละสภา ในกรณีดังกล่าว ให้ศาลอาญาชั้นสูงเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดการกระทำของประธานาธิบดี"
       
       นอกจากบัญญัติตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น คณะตุลาการรัฐธรรมนูญและศาลฎีกาได้ตีความและวางแนวทางในการบังคับใช้มาตรา 67 และ 68 ในสองวาระต่างกัน คือ
       
       - คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ (คำวินิจฉัยที่ 99 – 408 DC ลงวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1999) วินิจฉัยสนธิสัญญาก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ (La Cour pénale internationale) ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมาตราที่ต้องวินิจฉัยคือ อนุมาตรา 1 ของมาตรา 17 แห่งสนธิสัญญาดังกล่าวซึ่งบัญญัติไว้ว่า “บทบัญญัติแห่งสนธิสัญญานี้ใช้บังคับกับทุกกรณีอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการยกเว้นให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของรัฐในตำแหน่งใด ๆ เลยโดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งผู้นำประเทศ หรือรัฐบาล คณะรัฐมนตรี หรือรัฐสภา... ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดทางอาญาที่บัญญัติไว้ในสนธิสัญญานี้ได้และไม่สามารถเป็นเหตุหรือเป็นข้ออ้างให้นำมาลดหย่อนโทษได้” นอกจากนี้ในอนุมาตรา 2 ของมาตรา 27 ก็ได้บัญญัติต่อไปอีกว่า “ความคุ้มกันหรือกระบวนวิธีพิจารณาพิเศษที่ใช้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของรัฐตามกฎหมายภายในหรือกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่สามารถบังคับให้ศาลอาญาระหว่างประเทศงดเว้นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามสนธิสัญญานี้ได้” ซึ่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 27 แห่งสนธิสัญญาก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศขัดกับหลักความรับผิดของประธานาธิบดี ซึ่งระบุไว้ในมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญปี ค.ศ. 1958 กล่าวคือ ความรับผิดชอบทางอาญาของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจะถูกพิพากษาได้ก็แต่โดยศาลอาญาชั้นสูงแต่เพียงศาลเดียว
       
       - คำพิพากษาของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา (L’Assemblée plénière de la Cour de cassation) เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 2001 พิจารณาคดีเกี่ยวกับคดีความทุจริตเกี่ยวกับการยักยอกทรัพย์สินของรัฐและการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐวิสาหกิจร่วม (La societé d’économic mixte) แห่งเมืองปารีส ซึ่งในขณะพิจารณาคดีความศาลอาญาชั้นต้นมีความจำเป็นต้องเรียกประธานาธิบดี J.CHIRAC มาเป็นพยานเพราะขณะที่เกิดการกระทำตามคำฟ้องนั้นประธานาธิบดี J.CHIRAC ดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองปารีส
       ที่ประชุมในศาลฎีกาพิพากษาว่าความรับผิดทางอาญาจะถูกพิจารณาได้ก็แต่ศาลอาญาชั้นสูงแต่เพียงศาลเดียว โดยได้ขยายความต่อจากคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไปอีกว่า ศาลอาญาชั้นสูงมีอำนาจเฉพาะกรณีความผิดฐาน “ทรยศต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง” (La haute trahison) ที่ประธานาธิบดีได้กระทำลงไปในระหว่างดำรงตำแหน่งเท่านั้น ความผิดอื่นๆเป็นหน้าที่ของศาลในระบบปกติที่จะพิจารณาตามหลักว่าด้วยความเสมอภาคตามกฎหมายของพลเมือง (Le principe d’égalité des citoyens devant la loi) ซึ่งเป็นหลักการที่รัฐธรรมนูญรับรอง และในระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี การดำเนินการต่าง ๆ ของศาลจักต้องถูกระงับไว้ก่อนจนกว่าวาระการดำรงตำแหน่งจะสิ้นสุด
       
       ซึ่งจากการที่ประธานาธิบดี J.CHIRAC มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีนี้เองเป็นที่มาของสัญญาต่อประชาชนระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2002 ว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นเรื่องความรับผิดทางอาญาของประธานาธิบดี ตามรัฐกฤษฎีกาที่ 2002 – 961 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 2002 ประธานาธิบดี J.CHIRAC ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งนำโดยศาสตราจารย์ Pierre AVRIL ศึกษาถึงความรับผิดทางอาญาของประธานาธิบดีและจัดทำความเห็นนำเสนอต่อประธานาธิบดี
       
       และเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1958 หมวดที่เก้า 1 ว่าด้วย “ศาลอาญาชั้นสูง” มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ ยืนยันหลักการไม่ต้องรับผิดทางอาญาของประธานาธิบดี (Le principe d’irresponsabilité pénale du Chef d’Etat) และ มีประเด็นใหม่ คือ กำหนดหลักเกณฑ์ว่าด้วย “ความรับผิดทางการเมือง” (La responsabilité politique) ของประธานาธิบดี
       
       1. การยืนยัน “หลักการไม่ต้องรับผิดทางอาญาของประธานาธิบดี”
       
       รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสฉบับปี ค.ศ. 1958 ให้ความสำคัญแก่ประธานาธิบดีเป็นอย่างมากจะเห็นได้จากการที่กล่าวถึงประธานาธิบดีในหมวดที่สอง ต่อจากหมวดที่หนึ่งที่กล่าวถึง “อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ” ในมาตราห้ากำหนดให้ “ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐต้องดูแลให้มีการเคารพในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้และจะต้องใช้อำนาจที่มีอยู่ ดูแลการให้การดำเนินการของสถาบันการเมืองแห่งรัฐเป็นไปโดยปกติและมีความต่อเนื่องของรัฐ” 2
       จากบทบาทและหน้าที่อันสำคัญยิ่งดังกล่าวของประธานาธิบดีและเพื่อให้การบริหารปกครองประเทศเป็นไปด้วยดีตาม “หลักว่าด้วยความต่อเนื่อง” (Le principe de la continuité) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาในมาตรา 67 วรรคหนึ่ง จึงให้สิทธิความคุ้มกันทางศาลแก่ประธานาธิบดีที่จะไม่ต้องรับผิดใดๆต่อการกระทำของตนอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งหากจะตีความคำว่า “การกระทำใดๆในตำแหน่งประธานาธิบดี” การกระทำดังกล่าวน่าจะครอบคลุมถึงทุกการกระทำที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีแห่งรัฐพึงปฏิบัติและจะต้องกระทำ เช่น อำนาจพิเศษทางการทหาร อำนาจในการประกาศและบังคับใช้รัฐบัญญัติหรือรัฐกำหนดเฉพาะโดยประธานาธิบดี อำนาจในการยุบสภา เป็นต้น โดยความคุ้มกันทางศาลเกี่ยวกับการกระทำโดยตำแหน่งประธานาธิบดีนี้ คุ้มครองทั้งระหว่างและหลังระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
       
       ข้อควรสังเกตประการหนึ่ง คือ หัวข้อวาระการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ระบุว่าเป็น “ความรับผิดทางอาญาของประธานาธิบดี” หากเมื่อศึกษาในรายละเอียดโดยเฉพาะมาตรา 67 วรรคสอง พบว่า ความคุ้มกันทางศาลเกี่ยวกับความรับผิดในการกระทำอันนอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดีมิได้จำกัดอยู่แค่เพียงความรับผิดทางอาญา แต่ยังครอบคลุมไปถึงความรับผิดทางแพ่งและทางปกครอง ต่อหน้าทุกประเภทศาลหรือองค์กรทางปกครองอื่นๆอีกด้วย จึงกล่าวได้ว่า การไม่ต้องรับผิดของประธานาธิบดีในระหว่างการดำรงตำแหน่งนั้นครอบคลุมไปถึงทุกชนิดประเภทการกระทำทั้งก่อนและระหว่างการดำรงตำแหน่ง แต่ความคุ้มกันทางศาลเกี่ยวกับการกระทำที่นอกเหนือจากหน้าที่ประธานาธิบดีนี้มีลักษณะเป็นเพียงความคุ้มกันทางศาลเพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะตามมาตรา 67 วรรคสองและสาม สรุปใจความได้ว่า แม้ในระหว่างการดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีมาอาจถูกเรียกไปเป็นพยาน ขอข้อมูล ขอคำแนะนำหรือพิจารณาคดีในศาลใด หรือในองค์กรใด ๆ ของฝ่ายปกครองได้ ทุกกระบวนการและการพิจารณาคดีต่าง ๆ จะถูกระงับไว้ตลอดระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และอายุความของคดีจะไม่ถูกนับรวมด้วยเช่นกัน ตามหลักที่ว่า Contra non valentem agree non curit praescriptio แต่หนึ่งเดือนหลังจากหมดวาระการดำรงตำแหน่งศาลหรือองค์กรฝ่ายปกครองก็สามารถเริ่มพิจารณาคดีหรือดำเนินการพิจารณาคดีต่อจากที่ถูกระงับไว้ได้
       ทั้งนี้เห็นได้ว่า การที่รัฐให้ความคุ้มกันทางศาลแก่ประธานาธิบดีแม้จะเป็นไปตามหลักว่าด้วยความต่อเนื่อง (Le principe de la continuité) ของการบริหารและปกครองเพื่อความดำรงอยู่ของรัฐ แต่เมื่อมองในมุมมองของคู่คดีอาจกล่าวได้ว่า การให้ความคุ้มกันทางศาลดังกล่าวขัดกับหลักว่าด้วยความเสมอภาคตามกฎหมายของพลเมือง (Le principe d’égalité des citoyens devant la loi) ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ปี ค.ศ. 1789 (La Déclaration des Droits de l’Homme et du Ctoyen) และ สิทธิร้องขอความเป็นธรรมต่อศาล (Le droit des tiers à recourir à un juge) ภายใต้ความคุ้มครองตามสนธิสัญญาแห่งสหภาพยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (La Convention Européenne des Droits de l’Homme) จึงได้มีผู้เสนอในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานาธิบดีต้องรับผิดทางอาญา แต่ ความคิดดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับ
       
       แม้ว่าประธานาธิบดีจะได้รับความคุ้มกันทางศาลในการกระทำใด ๆ ทั้งในและนอกเหนือระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง แต่ความคุ้มกันทางศาลดังกล่าวก็มีข้อยกเว้น 2 ประการ ดังนี้
       1) ตามมาตรา 53-2 สาธารณรัฐฝรั่งเศสยอมรับการดำเนินคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศ (La Cour pénale internationale) ต่อประมุขของประเทศในการกระทำและดำเนินการตามอำนาจของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส
       2) มาตรา 68 กำหนดให้ประธานาธิบดีต้องรับผิดในกรณี “ละเลยต่อหน้าที่ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ของประธานาธิบดี”
       
       การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ไม่ได้เป็นการเพิ่มเติมแนวความคิดใหม่ ถือได้ว่า การแก้ไขมาตรา 67 ครั้งนี้เป็นเพียงการนำคำวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (คำวินิจฉัยวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1999) และคำพิพากษาของศาลฎีกา (คำพิพากษาลงวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 2001) มากำหนดไว้และให้ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น
       
       2. การกำหนดให้มีความรับผิดทางการเมืองของประธานาธิบดี
       
       ประเด็นที่น่าสนใจของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 ที่ผ่านมา คือ การให้มีการถอดถอนประธานาธิบดี (La destitution) ได้ ในกรณี “ละเลยต่อหน้าที่ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ของประธานาธิบดี” (en cas de manquement de ses devoirs manifestement incompatible avec l’exercice de son mandat) โดยให้เป็นอำนาจของรัฐสภาทำหน้าที่เป็นศาลอาญาชั้นสูง (Le Parlement constitué en Haute Cour)
       
       การกำหนดให้อำนาจแก่รัฐสภาสามารถถอดถอนประธานาธิบดีนั้นถือว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับระบบรัฐสภาของฝรั่งเศสซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากแนวความคิดเรื่องการถอดถอนประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกา (impeachment)
       
       เดิมที่นั้นมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญกล่าวเพียงให้ประธานาธิบดีรับผิดในกรณีที่มี “ การทรยศต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง” (La haute trahison) และให้ศาลอาญาชั้นสูงเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดการกระทำของประธานาธิบดี โดยที่มิได้ระบุถึงลักษณะของโทษที่จะได้รับ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “กรณีละเลยต่อหน้าที่ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ของประธานาธิบดี (en cas de manquement de ses devoirs manifestement incompatible avec l’exercice de son mandat) ทั้งนี้เพราะคำว่า “ การทรยศต่อประเทศชาติ ” นั้นเป็นคำที่ไม่มีนิยามแน่นอนในรัฐธรรมนูญ ในตัวบทกฎหมาย ในคำวินิจฉัยหรือในคำพิพากษาใด ๆ และอาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการร่วมมือกับต่างชาติเพื่อทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศฝรั่งเศส ดังนั้นมาตรา 68 ที่เพิ่งได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมจึงใช้คำที่ชี้เฉพาะให้เชื่อมโยงกับการทำงานในบทบาทหน้าที่ของประธานาธิบดีมากขึ้น
       
       ประธานาธิบดีจะถูกถอดถอนได้ก็ต่อเมื่อมีการละเลยต่อหน้าที่และการละเลยนั้นจะต้องเกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ ในส่วนของ “ การละเลยต่อหน้าที่ ” พิจารณาได้ 2 ลักษณะ คือ
       1. พฤติกรรมหรือการกระทำส่วนตัวที่อาจะถือได้ว่าเป็นการละเลยต่อหน้าที่ประธานาธิบดี เช่น การกล่าวปราศรัยโดยส่อไปทางเหยียดสีผิว เชื้อชาติ ศาสนาอันนำมาซึ่งความรุนแรง หรือ พฤติกรรมส่วนตัวอื่น ๆ อันไม่เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี หากพฤติกรรมดังกล่าวนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ของประธานาธิบดีก็ไม่อาจจัดเป็นสาเหตุของการถูกถอดถอนได้ 3
       2. การละเลยต่อหน้าที่ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าประธานาธิบดีจะต้องปฏิบัติ อันเป็นอำนาจและหน้าที่ที่ส่งผลถึงความต่อเนื่องของการบริหารงานของรัฐ เช่น การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี การลงนามและประกาศใช้รัฐบัญญัติ เป็นต้น หากประธานาธิบดีละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวและก่อให้เกิดผลเสียต่อการบริหารงานของรัฐ บทลงโทษของการละเลยนี้ คือ การถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ซึ่งถือว่าเป็นการลงโทษทางการเมือง มิใช่การลงโทษในทางแพ่ง ทางอาญาหรือทางปกครองแต่ประการใด การที่ประธานาธิบดีถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งทำให้หมดสภาพและสิทธิเรื่องความคุ้มกันทางศาล เปิดโอกาสให้สามารถบังคับใช้มาตรา 67 วรรคสามได้ กล่าวคือ องค์กรของฝ่ายปกครองหรือศาลสามารถดำเนินการหรือพิจารณาคดีของประธานาธิบดีที่ถูกถอดถอนในส่วนของความผิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่
       
       กระบวนการในการพิจารณาความผิดฐานบกพร่องต่อหน้าที่ของประธานาธิบดีเป็นสิทธิของรัฐสภาทำหน้าที่ในฐานะศาลอาญาชั้นสูง โดยขั้นตอนแรกจะต้องมี “องค์กรที่ทำหน้าที่กล่าวหา” อาจจะเป็นวุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎร ต่อมา ในแต่ละสภาจะต้องลงมติสองในสามเพื่อรับมติการถอดถอนประธานาธิบดี จากนั้น หากมติการถอดถอนดังกล่าวได้รับคะแนนเสียงสองในสาม ในแต่ละสภา วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรจะประชุมร่วมกันทำหน้าที่เป็น “ศาลอาญาชั้นสูง” และร่วมลงมติอีกครั้งเพื่อถอดถอนประธานาธิบดี ประธานาธิบดีจะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งก็ต่อเมื่อรัฐสภาในฐานะของศาลอาญาชั้นสูงลงมติสองในสาม
       
       กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีของฝรั่งเศส (La destitution) แม้จะได้แนวคิดมาจากเรื่อง impeachment ของสหรัฐอเมริกา แต่ในความเป็นจริงแล้วกระบวนการถอดถอนของทั้งสองประเทศแตกต่างกันพอสมควร กล่าวคือ ในระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกามีการแบ่งแยกอำนาจที่ชัดเจน (Le principe de la séparation des pouvoirs) และใช้ระบบ check and balance แต่ในระบบฝรั่งเศสรัฐสภาอยู่ภายในอำนาจของประธานาธิบดี (La subordination du Parlement au Président)
       กระบวนการพิจารณาสหรัฐอเมริกา คือ สภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่กล่าวหาและวุฒิสภาเป็นองค์กรพิจารณาความผิด โดยมีประธานศาลสูงสุด (Supreme Court) ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะพิจารณา ทำให้องค์กรพิจารณาความผิดของสหรัฐอเมริกามีลักษณะเป็นองค์กรศาล ต่างจากกระบวนการถอดถอนของฝรั่งเศสที่องค์ทำหน้าที่กล่าวหาและองค์ทำหน้าที่พิจารณาความผิดเป็นองค์กรเดียวกัน คือ รัฐสภา (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา)
       นอกจากความแตกต่างในเรื่องขององค์กร ยังแตกต่างในเรื่องของลักษณะความผิด เพราะในระบบฝรั่งเศสรัฐสภาทำหน้าที่ศาลอาญาชั้นสูงพิจาณาเพียงความผิดของประธานาธิบดีเท่านั้น แต่ในระบบของสหรัฐอเมริกาประธานาธิบดีสามารถถูกถอดถอนได้ทั้งจากความผิดทางแพ่ง อาญา ปกครองและความผิดทางการเมือง ตัวอย่างสำคัญ เช่น คดี Watergate ของประธานาธิบดี Nixon หรือความรับผิดนอกเหนือจากประเด็นการเมืองของประธานาธิบดี Clinton
       
       การกำหนดกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายซ้ายว่ามีเพียงประธานาธิบดีที่มาจากฝ่ายซ้ายเท่านั้นที่จะถูกลงมติถอดถอน ทั้งนี้เพราะในความเป็นจริงแล้วเสียงส่วนใหญ่ของวุฒิสภา (สภาสูง) มักจะเป็นสมาชิกของพรรคฝ่ายขวา ทำให้เป็นไปได้ยากที่สมาชิกพรรคฝ่ายซ้ายทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะสามารถรวบรวมเสียงได้ถึงสองในสามเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีที่มาจากฝ่ายขวา
       อีกประเด็นที่ถูกวิจารณ์ คือ ประเด็นเกี่ยวกับการแบ่งอำนาจ (La séparation des pouvoirs) กล่าวคือ การที่ให้อำนาจแก่รัฐสภาสามารถถอดถอนประธานาธิบดีได้ทำให้ระบบสาธารณรัฐที่ห้าเปลี่ยนไป ทั้งนี้เพราะแต่เดิมนั้นรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.1958 มุ่งเน้นให้ความสำคัญแก่ประธานาธิบดีมากกว่ารัฐสภา ภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจแก่รัฐสภาสามารถถอดถอนประธานาธิบดีได้ จึงทำให้เป็นเกิดการ “ควบคุม” การทำงานของประธานาธิบดีรูปแบบหนึ่ง
       นอกจากนี้ แม้จะมีผู้เกรงว่าประธานาธิบดีที่กำลังจะถูกถอดถอนอาจจะชิงยุบสภาในระหว่างการถูกพิจารณาความผิดของตน แต่นักวิชาการโดยส่วนใหญ่เชื่อว่าประธานาธิบดีที่มีความผิดอยู่กับตัวคงไม่ยุบสภาทั้งๆ ที่คะแนนเสียงของตนเองไม่ดีเป็นแน่
       
       การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2007 ในเรื่องความรับผิดทางอาญา โดยเฉพาะในส่วนที่เปิดโอกาสให้มีกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีได้ แม้จะเป็นสิ่งใหม่ต่อระบบรัฐสภาฝรั่งเศส โดยที่นักวิชาการหลายคนกล่าวว่าเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติที่ประธานาธิบดีจะถูกถอดถอนโดยศาลอาญาสูงสุด หรือ มาตราดังกล่าวอาจจะไม่ถูกนำมาบังคับใช้เลย แต่การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าวในวันนี้คงจะเป็นการดีกว่าที่วันหนึ่งข้างหน้ามีเหตุการณ์บังคับให้ต้องถอดถอนประธานาธิบดีแต่ไม่มีข้อกฎหมายใดอนุญาต และ สุดท้ายการบริหารประเทศก็อาจจะถึงทางตัน
       
       เชิงอรรถ
       1. รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ. 1958 ภายหลังการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007
       หมวดที่เก้า ศาลอาญาชั้นสูง
       
       มาตรา 67
       ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐไม่ต้องรับผิดชอบต่อการดำเนินการใดๆในตำแหน่งประธานาธิบดีเว้นแต่ที่กำหนดไว้ในมาตรา 53-2 และมาตรา 68
       ในระหว่างวาระการดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีไม่อาจถูกเรียกไปเป็นพยาน ขอข้อมูล ขอคำแนะนำ หรือ พิจารณาคดีในศาลใดหรือในองค์กรใดๆของฝ่ายปกครองฝรั่งเศสได้ อายุความในการพิจารณาคดีถูกระงับไว้ชั่วคราว
       กระบวนการและการพิจารณาคดีใดๆถูกระงับไว้ระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสามารถถูกนำกลับมาพิจารณาต่อได้เมื่อประธานาธิบดีหมดวาระไปแล้วหนึ่งเดือน
       
       มาตรา 68
       ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอาจถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้เฉพาะในกรณีละเลยต่อหน้าที่ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ของประธานาธิบดี การถอดถอนเป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะทำหน้าที่เป็นศาลอาญาชั้นสูงขึ้น
       ข้อเสนอที่จะให้มีการพิจารณาถอดถอนประธานาธิบดีโดยศาลอาญาชั้นสูงตามมติของสภาใดสภาหนึ่งในรัฐสภาจะต้องเสนอให้อีกสภาหนึ่งพิจารณาใน 15 วัน
       ศาลอาญาชั้นสูงมีประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่เป็นประธาน การพิจารณาให้ถอดถอนต้องแล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือนโดยการลงคะแนนลับ คำพิพากษาของศาลอาญาชั้นสูงมีผลบังคับในทันที
       การลงมติตามร่างมาตรานี้จะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกที่ประกอบกันเป็นสภาหรือจำนวนสมาชิกของศาลอาญาชั้นสูง ห้ามมิให้มีการลงคะแนนโดยตัวแทน
       ให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินการตามมาตรานี้
       
       2. คำแปลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ. 1958, แปลโดย ศ.ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์, สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2548, หน้า 22.
       
       3. Didier MAUS, Débat dans le forum avec Didier MAUS Professeur de Droit constitutionel à l’Université de Paris I, LEMONDE.FR, 16 janvier 2007.


 
 
๓๐ ปีกฎหมายการทำแท้งเสรีในฝรั่งเศส โดย อ. ปิยบุตร แสงกนกกุล
หลักกฎหมายปกครองทั่วไป : ทางออกในการอุดช่องว่างกฎหมายปกครองไทย โดย นางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
บทวิเคราะห์ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ โดย อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล
การทับซ้อนของเขตอำนาจศาลปกครองและศาลยุติธรรมฝรั่งเศส : ศึกษากรณีบริการสาธารณะ โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
ตุลาการศาลปกครองกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม(ตามหลัก équité) โดยคุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
   
 
 
 
สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของผู้มีรสนิยมร่วมเพศในมุมมองกฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายสิทธิมนุษยชนยุโรป โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
การทับซ้อนของเขตอำนาจศาลปกครองและศาลยุติธรรมฝรั่งเศส : ศึกษากรณีบริการสาธารณะ โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
ศาลรัฐธรรมนูญและคดีรัฐธรรมนูญโปรตุเกส โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
คำแปลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐโปรตุเกส (เฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ) โดยอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
สหภาพยุโรปและการเลือกปฏิบัติ : กรณีการรับสมัครคนสูบบุหรี่เข้าทำงาน โดย คุณพิมพ์ดาว จันทรขันตี
การมีส่วนร่วมของประชาชนในฝรั่งเศส : การอภิปรายสาธารณะ (Le débat public) โดย คุณวรรณภา ติระสังขะ
ตุลาการศาลปกครองกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม(ตามหลัก équité) โดยคุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
La France : Le pays où la rue joue le rôle important (เสียงเรียกร้องจากท้องถนน) โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม
“หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” อาวุธทรงพลังในหมู่ “ลูกแกะ” โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
บทวิเคราะห์ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ โดย อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544