หน้าแรก นานาสาระจากนักเรียนไทยในต่างแดน
ศาสนา – ความเชื่อ : การแสดงออก และการยอมรับในมุมมองกฎหมายฝรั่งเศส โดย นางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
นางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
16 พฤษภาคม 2548 09:37 น.
 
เสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อเป็นเสรีภาพ “ย่อย” ในหมวดเดียวกันกับ เสรีภาพในทางความคิด ซึ่งจะไม่มีความเป็น “อันตราย” แต่อย่างไร หากเป็นเพียงแต่การ “คิด” แต่ไม่มีการ “แสดงออก” ดังนั้นในมุมมองกฎหมายฝรั่งเศสจึงแบ่งหมวดหมู่ เสรีภาพในทางความคิด (la liberté de pensée) และ เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิด (la liberté d’expression) โดยถือกันว่า เสรีภาพทางความคิดนั้นเป็นเสรีภาพเพียงเสรีภาพเดียวที่มีความเด็ดขาด (absolu) กล่าวคือไม่มีข้อจำกัดใดๆจะมาปิดกั้นได้ แต่สิ่งที่กฎหมายจะเข้าไปจำกัดและตรวจสอบคือ เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิด (la liberté d’expression) ซึ่งมีตัวอย่างที่เห็นได้อย่างง่ายๆ ก็คือ การดูแลตรวจสอบสิ่งพิมพ์ หรือ การจำกัดการแสดงออกซึ่งความคิดและความเชื่อจากการแสดงออกทางพิธีกรรม การชุมนุม รวมทั้งการแสดงสัญญลักษณ์บางอย่างที่แสดงถึงความคิดและความเชื่อของตน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็น “องค์ประกอบ” ที่สำคัญในการ “แสดง” ถึงการนับถือศาสนาและความเคร่งศาสนาโดยมีความแตกต่างกันและรายละเอียดปลีกย่อยตามที่กำหนดไว้ในแต่ละศาสนา
       
       รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับปัจจุบัน ได้กล่าวถึงเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนาไว้ในมาตราแรก โดยการยอมรับถึงการเป็น “รัฐฆราวาส” ของสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยใช้ศัพท์คำว่า « laïcité » ซึ่งมีความหมายถึงการที่สาธารณรัฐมีความเป็นอิสระออกจากศาสนจักร แตกต่างจากประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางบางประเทศ เช่น อิหร่าน ซึ่งได้กำหนดถึงการ “อิง” ของสถาบันและศาสนจักรเอาไว้ ในเชิงที่ว่า “รัฐบาลอยู่ภายใต้กฎหมายและความยุติธรรมของคัมภีร์โคราน (le Coran หรือ อัล-กุรอาน)” นอกจากนี้ในทางวิชาการฝรั่งเศสถือกันว่า เราสามารถพิจารณาหลัก laïcité ได้เป็นสองกรณี คือ ในเชิงที่ว่าสาธารณรัฐ “ยอมรับ” การมีอยู่มีอยู่ของทุกศาสนา หรือ การเป็นกลางทางศาสนา และ ในเชิงนิเสธที่ว่า สาธารณรัฐจะ “ไม่ยอมรับ” การมีอยู่ของสิ่งใดๆที่ขัดต่อศาสนาและขัดขวางต่อการเป็นอยู่ของสาธารณรัฐ แต่อย่างไรก็ดี คำว่า “เสรีภาพในการนับถือศาสนา” กลับเป็นคำศัพท์ที่ไม่ปรากฎในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสแต่อย่างใด แต่กลับเป็นถ้อยคำที่ปรากฎอยู่ในสนธิสัญญาระหว่างประเทศ กล่าวคือ ปฎิญญาสากลแห่งสิทธิมนุษยชน ในมาตรา 18 และ ปฎิญญาสิทธิมนุยชนยุโรปในมาตรา 9 และมาตรา 14 ที่ยอมรับสิทธิในการนับถือศาสนาและการแสดงออกทางความเชื่อ รวมทั้งเสรีภาพในการเปลี่ยนศาสนาตลอดจนการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
       
       สำหรับสาธารณรัฐฝรั่งเศสเองนั้น ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิค ดังนั้น จึงถือได้ว่า ศาสนาดังกล่าว “เป็นศาสนาของรัฐ” โดยที่รัฐเองกลับไม่เข้าไปมีส่วนในการจัดการหรือการดำเนินการของศาสนจักร ตลอดจนการให้เงินสนับสนุนในกิจกรรมใดๆของศาสนจักร ทั้งนี้ ในเรื่องการจัดการดังกล่าว ได้มีกฎหมายฉบับ 9 décembre 1905 ได้วางหลักเอาไว้ถึงการแยกจากกันโดยเด็ดขาดระหว่างสาธารณรัฐและศาสนจักร แต่อย่างไรก็ดี “ความเป็นกลางทางศาสนา” ของฝรั่งเศสเองก็กลับได้มีการแสดงออกใน “กฎหมายลูก” ในการบัญญัติถึงหลักที่เกี่ยวข้องในเรื่องต่างๆของศาสนา เช่น ประเด็นเรื่องของการรับมรดกในประมวลกฎหมายแพ่ง หรือ ในกรณีการถือว่าการเก็บความลับในการสารภาพบาปถือเป็นหน้าที่ในการเก็บความลับในการประกอบอาชีพ (le secret professionnel) ตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นต้น นอกจากนั้นอิทธิพลของกฎหมายฉบับ 9 décembre 1905 ยังได้ปรากฎในการจัดการบริการสาธารณะบางประการเช่น โรงเรียน โรงพยาบาล วิทยาลัย หรือ อาคารสงเคราะห์ ซึ่งได้มีกฎหมายในปี 1959 ขยายความในเรื่องดังกล่าวในเวลาต่อมา
       
       และเนื่องจากศาสนาถือเป็นข้อเท็จจริงทางสังคม กล่าวคือ เป็นข้อเท็จจริงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพสังคมที่ปรากฎในช่วงเวลานั้นๆ ดังนั้น กฎหมายฉบับลงวันที่ 9 décembre 1905 จึงมีปัญหามากในการปรับใช้ในสภาพสังคมปัจจุบัน เนื่องจากฝรั่งเศสในปัจจุบันเป็นดินแดนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ทั้งนี้ เนื่องมาจากการเปิดรับประชากรจากประเทศอดีตอาณานิคมของตน รวมทั้ง ผู้ลี้ภัยจากประเทศต่างๆซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลายในด้านความเชื่อและวัฒนธรรม สาธารณรัฐฝรั่งเศสเองจึงต้องมีการแก้ปัญหาด้วยการออกกฎลำดับรองออกมาจำนวนมากในการแก้ปัญหาต่างๆในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา เพื่อเป็นการประนีประนอมการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข ตัวอย่างเช่น การแก้ปัญหาในการจัดอาหารที่มีการใช้เนื้อที่มีการฆ่าโดยผ่านกรรมวิธีฮาราล (halal) ตามความเชื่อของศาสนาอิสลามสำหรับทหารชาวมุสลิม การเลื่อนการสอบในวันเสาร์ในโรงเรียนประถมซึ่งถือเป็นวันหยุดของชาวยิว เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดีขณะนี้ฝรั่งเศสเองกำลังเผชิญหน้ากับความยากลำบากในการจัดการ “ศาสนาที่สอง” ของสาธารณรัฐ ซึ่งก็คือศาสนาอิสลาม ทำให้ต้องมีการจัดตั้งองค์กรที่ชื่อว่า CORIF หรือ Conseil de réflexion sur l’Islam en France ซึ่งมีหน้าที่ในการเป็นตัวแทนของผู้นับถือศาสนาอิสลามในประเทศฝรั่งเศสในการต่อรองหรือเจรจากับฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งการชี้แจงและทำความเข้าใจถึงการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิม ซึ่งตัวอย่างในกรณีล่าสุดก็คงหนีไม่พ้นกฎหมายฉบับลงวันที่ 15 mars 2004 (ค้นคว้าเพิ่มเติมใน หน้าต่างนานาสาระจากนักเรียนไทยในต่างแดน เรื่อง เหตุการณ์สำคัญในกฎหมายมหาชนฝรั่งเศสตลอดปี 2004 โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล) ซึ่งกล่าวถึงการ ห้ามแสดงออกถึงสัญลักษณ์ทางศาสนาอย่างปรากฎให้เห็นชัดเจน โดยถ้อยคำทางกฎหมายนั้นถือเป็นการใช้บังคับสำหรับศาสนาทุกศาสนา แต่ทางฝ่ายผู้นับถือศาสนาอิสลามมีความเห็นว่า กฎหมายฉบับดังกล่าว ออกมาเพื่อที่จะบังคับ “โดยเฉพาะ” กับผู้นับถือศาสนาอิสลาม เนื่องจากศาสนาอิสลามเองมี “สัญลักษณ์” ที่แสดงออกในด้านความเชื่อนี้เด่นชัดมากกว่าศาสนาอื่นๆ ซึ่งก็คือ ผ้าคลุมหน้า หรือ le foulard นั่นเอง
       
       ประเด็นในเรื่องผ้าคลุมหน้าตามความเชื่อของศาสนาอิสลามนั้น ได้เป็นประเด็นในการหารือของสภาแห่งรัฐตั้งแต่ปี 1989 โดยสภาแห่งรัฐยอมรับว่า ผ้าคลุมหน้าถือเป็นรูปแบบหนึ่งในการแสดงออกซึ่งความคิดและความเชื่อ โดยในมุมมองของสภาแห่งรับนั้น ถือว่าได้ “เปิด” รับเสรีภาพในเรื่องดังกล่าวในอัตราส่วนที่ต่ำกว่าที่ข้อตกลงระหว่างประเทศ คือ ปฎิญญาสิทธิมนุยชนยุโรปได้กำหนดไว้ กล่าวคือ สภาแห่งรัฐได้ “ผูก” เรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนาเข้ากับบริการสาธารณะ โดยมองว่าการกระทำการใดๆของผู้ใช้บริการสาธารณะและผู้ให้บริการสาธารณะ จะต้องเคารพหลักกฎหมายในการใช้บริการสาธารณะ ครูผู้อยู่ในฐานะ “ผู้ให้บริการสาธารณะ” จะต้องเป็นกลางและเคารพ “ผู้ใช้บริการสาธารณะ” ซึ่งก็คือ นักเรียนและครอบครัวของนักเรียน จึงเป็นที่มาของแนวปฏิบัติว่า ครูจะต้องเคารพต่อความเชื่อทางศาสนาของนักเรียนที่อาจจะมีความแตกต่างจากความเชื่อของตน รวมทั้ง ครูเองจะต้องมี “ความเป็นกลาง” กล่าวคือ ไม่มีการแสดงออกในทางความเชื่อที่เด่นชัด ดังนั้น จึงเป็นที่มาของคำตัดสินของสภาแห่งรัฐที่ห้ามครูผู้สอนในโรงเรียนรัฐสวมผ้าคลุมหน้า อันเป็นสัญลักษณ์ของ “การแสดงออกทางความเชื่อที่เด่นชัดและไม่เป็นกลาง” ในทางกลับกัน นักเรียนในฐานะ “ผู้ใช้บริการสาธารณะ” เองก็จะต้องเคารพในบทบาทหน้าที่ของรัฐในการเป็น “ตำรวจทางปกครอง” ในการจำกัดหลักการสามประการคือ ความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยสาธารณะ (l’ordre et la sécurité publics) การเคารพเสรีภาพของบุคคลอื่น (la liberté d’autrui) และประการที่สามคือ ความจำเป็นในการดำเนินการไปได้ด้วยดีของบริการสาธารณะในด้านการศึกษา (les nécessités inhérents au bon fonctionnement du service public d’enseignement) จึงเป็นที่มาของการสั่งห้ามนักเรียนในการสวมผ้าคลุมหน้าในการประกอบกิจกรรมบางอย่างในโรงเรียน เช่น วิชาพละศึกษา นั่นเอง
       
       นอกจากในประเด็นเรื่อง “ศาสนา” แล้ว สาธารณรัฐฝรั่งเศสเองยังมีการให้สิทธิเสรีภาพในเรื่องของ “ความเชื่อ” หรือ “ลัทธิ” ด้วย กล่าวคือ เสรีภาพในความเชื่อ หรือ la liberté des cultes เองก็มีกฎหมายรองรับอยู่สองฉบับ คือ กฎหมายฉบับเดิม (กฎหมายฉบับลงวันที่ 9 décembre 1905) และกฎหมายฉบับลงวันที่ 1 juillet 1901 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับเสรีภาพในการสมาคม (la liberté d’association) จึงถือได้ว่าในเรื่องของ “ความเชื่อ” ซึ่งมีนิยามคือ “ศาสนาที่ไม่ได้รับการยอมรับ” นั้น โดยหลักการแล้วกฎหมายฝรั่งเศสให้การยอมรับในระดับเดียวกับเสรีภาพในการนับถือศาสนา (จะเห็นได้จากมีการใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน) แต่ในทางปฎิยัติเองรัฐก็กลับมีการเข้มงวดและระมัดระวังการให้เสรีภาพในกรณีนี้มาก กล่าวคือ รัฐจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ความเชื่อนั้นๆอาจจะเป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่อย่างไรก็ดีในกรณีนี้ฝรั่งเศสเองก็ได้มี กฎหมายฉบับลงวันที่ 1 juillet 1901 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เปิดโอกาสให้มีการใช้ เสรีภาพในการสมาคม (la liberté d’association) อย่างเต็มที่ ดังนั้น ในเรื่องของความเชื่อหรือลัทธิต่างๆนั้นรัฐจึงอนุญาตให้มีการรวมกลุ่มกันได้โดยถือตามกฎหมายฉบับดังกล่าว เราจึงพบว่า มีลักทธิความเชื่อ หรือ นิกายต่างๆ ปรากฎอยู่ในประเทศฝรั่งเศสในรูปของ “สมาคมทางวัฒนธรรม” หรือ les associations culturelles ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันโดยไม่มีการแสวงหาผลกำไร (avec le but non lucratif) โดยได้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบจากทางรัฐในขั้น autorisation préalable มาแล้ว ตัวอย่างของความเชื่อต่างๆเหล่านี้ที่พบได้ทั่วไปในฝรั่งเศสก็เช่น Les témoins de Jéhovah, la sectes Moon, l’Eglise de scientologie, l’Association international pour la conscience de Krisna หรือ l’Ordres séculaire des Druides โดยสำหรับ Les témoins de Jéhovah หรือ พยานพระยะโฮวานั้น เคยมีคดีที่น่าสนใจเรื่องการถ่ายเลือด ซึ่ง ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ได้เคยค้นคว้าและเขียนเป็นบทความไว้แล้ว และสำหรับเสรีภาพในเรื่องความเชื่อนี้ คำวินิจฉัยของสภาแห่งรัฐเองก็ถือเป็นหลักในทางเดียวกันว่า จะต้องไม่เป็นการขัดแย้งกับความสงบเรียบร้อยและ ต้องเคารพต่อความความสงบของสังคม (contraire à l’ordre public et respect la tranquillité public) และถือว่า “ตำรวจทางปกครอง” เองก็มีหน้าที่สอดส่องดูแลในการการรวมกลุ่มกันโดยถือตามเงื่อนไขดังกล่าวด้วย
       
       อ้างอิง
       1.หนังสือ
       CHARVIN Robert et SUEUR Jean-Jacques, Droits de l’homme et liberté de la personne, 4e édition, Litec
       RIVERO Jean, Libertés publiques, t.1, 9e édition, PUF 2003
       LIBRETON Gille, Libertés publiques et droits de l’homme, 6e édition, Armand colin, 2003
       SAINT-JAMMES Virginie, La conciliation des droits de l’homme et des libertés en droit public, PUF
       TURPIN Dominique, Liberté publiques et droits fondamentaux, SEUIL, 2004
       2.บทความ
       LATOURNERI Dominique, Sectes et laïcité, Revue de droit public et la science politique en France et l’étranger, t. 105, Sept-Oct 2004, n°5, LGDJ, p.1327
       RIVERO Jean, La notion juridique de laïcité, D.1949, chron. p. 30


 
 
๓๐ ปีกฎหมายการทำแท้งเสรีในฝรั่งเศส โดย อ. ปิยบุตร แสงกนกกุล
หลักกฎหมายปกครองทั่วไป : ทางออกในการอุดช่องว่างกฎหมายปกครองไทย โดย นางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
บทวิเคราะห์ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ โดย อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล
การทับซ้อนของเขตอำนาจศาลปกครองและศาลยุติธรรมฝรั่งเศส : ศึกษากรณีบริการสาธารณะ โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
การอยู่ร่วมกันของบุคคลในความสัมพันธ์ในด้านครอบครัวตามกฎหมายฝรั่งเศส โดย นางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
   
 
 
 
สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของผู้มีรสนิยมร่วมเพศในมุมมองกฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายสิทธิมนุษยชนยุโรป โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
การทับซ้อนของเขตอำนาจศาลปกครองและศาลยุติธรรมฝรั่งเศส : ศึกษากรณีบริการสาธารณะ โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
ศาลรัฐธรรมนูญและคดีรัฐธรรมนูญโปรตุเกส โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
คำแปลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐโปรตุเกส (เฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ) โดยอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
ความรับผิดชอบทางอาญาของประธานาธิบดีฝรั่งเศส โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม
สหภาพยุโรปและการเลือกปฏิบัติ : กรณีการรับสมัครคนสูบบุหรี่เข้าทำงาน โดย คุณพิมพ์ดาว จันทรขันตี
การมีส่วนร่วมของประชาชนในฝรั่งเศส : การอภิปรายสาธารณะ (Le débat public) โดย คุณวรรณภา ติระสังขะ
ตุลาการศาลปกครองกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม(ตามหลัก équité) โดยคุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
La France : Le pays où la rue joue le rôle important (เสียงเรียกร้องจากท้องถนน) โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม
“หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” อาวุธทรงพลังในหมู่ “ลูกแกะ” โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544