หน้าแรก นานาสาระจากนักเรียนไทยในต่างแดน
เหตุการณ์สำคัญในกฎหมายมหาชนฝรั่งเศสตลอดปี ๒๐๐๔ โดยอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ ๒) DEA de Droit public général et Droit de l’environnement (l’Université de Nantes)
21 กุมภาพันธ์ 2548 07:14 น.
 
ตลอดปี ๒๐๐๔ มีเหตุการณ์ในแวดวงกฎหมายมหาชนฝรั่งเศสมากมาย ในด้านตัวบทกฎหมายพบว่ามีกฎหมายใหม่ๆเกิดขึ้นมากทั้งที่เป็นกฎหมายในระดับนิติบัญญัติและในระดับฝ่ายบริหาร ในด้านคำพิพากษามีคำพิพากษาใหม่ๆทั้งในส่วนที่เดินตามแนวคำพิพากษาบรรทัดฐานเดิมและในส่วนที่วางหลักการใหม่หรือกลับแนวจากคำพิพากษาบรรทัดฐานเดิม ในโอกาสที่เริ่มต้นปี ๒๐๐๕ ไปได้ไม่นาน ผู้เขียนจึงขอรวบรวมเหตุการณ์สำคัญเหล่านี้ไว้อย่างย่อๆโดยมุ่งหวังให้เป็นประโยชน์แก่นักศึกษาไทยที่กำลังศึกษากฎหมายมหาชนอยู่ในประเทศฝรั่งเศสเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการค้นคว้าเพิ่มเติมต่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการสอบปากเปล่า (L’examen oral) ในระดับ Master 2 ที่อาจารย์มักนำเรื่องที่อยู่ในเหตุการณ์ปัจจุบัน (L’actualité) มาออกข้อสอบ และหวังอีกว่างานชิ้นนี้อาจเป็นประโยชน์แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจความเป็นไปของกฎหมายฝรั่งเศสไม่มากก็น้อย
       
       เดือนมกราคม : กฎหมายว่าด้วยการบังคับใช้หลักความเป็นรัฐฆราวาสในโรงเรียนของรัฐ
       
       ๒๘ มกราคม ๒๐๐๔ คณะรัฐมนตรีเสนอร่างรัฐบัญญัติว่าด้วยการบังคับใช้หลักความเป็นรัฐฆราวาสในโรงเรียนของรัฐต่อสภาผู้แทนราษฎร ร่างรัฐบัญญัติดังกล่าวได้เพิ่มเติมมาตรา L๑๔๑-๕-๑ ในประมวลกฎหมายการศึกษาความว่า “ใน โรงเรียนของรัฐ ห้ามนักเรียนสวมใส่สัญลักษณ์ทางศาสนาหรือถือสัญลักษณ์ทางศาสนาอย่าง ปรากฏให้เห็นชัดเจน ” และ “กฎเกณฑ์ภายในของแต่ละโรงเรียนต้องกำหนดกระบวนการพิจารณาโทษทางวินัยแก่นักเรียนที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญํติดังกล่าว” ร่างรัฐบัญญัติดังกล่าวใช้เวลาพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาราวสามเดือนจนกระทั่งวันที่ ๑๕ มีนาคมจึงได้รับความเห็นชอบโดยกำหนดให้หลักความเป็นรัฐฆราวาสในโรงเรียนของรัฐเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๐๐๔-๒๐๐๕ เป็นต้นไป
       
       ปัจจุบันประเทศฝรั่งเศสประกอบไปด้วยประชากรหลายเชื้อชาติ ทั้งที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆในยุโรป และอดีตอาณานิคม เช่น โมร็อกโก ตูนิเซีย แอลจีเรีย กัมพูชา ลาว เวียดนาม ไอวอรี่โคสต์ เป็นต้น จากความหลากหลายทางเชื้อชาติดังกล่าวรัฐบาลจึงจำเป็นต้องสร้างความกลมกลืนร่วมกันในชาติแต่ปัญหาหนึ่งที่ฝรั่งเศสประสบคือการหลอมรวมวัฒนธรรมของชาวมุสลิมให้เข้ากับวัฒนธรรมฝรั่งเศส ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลฝรั่งเศสพยายามรณรงค์ให้นักเรียนหญิงมุสลิมไม่คลุมผ้าที่เรียกว่า “หิญาบ” ในโรงเรียนแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก สาเหตุนี้นำมาซึ่งการผลักดันร่างกฎหมายการบังคับใช้หลักความเป็นรัฐฆราวาสในโรงเรียนของรัฐ กล่าวให้ถึงที่สุดกฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องนโยบายทางการเมืองที่ต้องการสร้างความกลมกลืนกันในชาติโดยการใช้หลักความเป็นรัฐฆราวาสมาอ้างอย่างแท้จริง เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐบัญญัติฉบับนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น
       
       ภายหลังที่รัฐบัญญัตินี้ได้รับความเห็นชอบได้มีการประท้วงของมุสลิมในฝรั่งเศสจำนวนมากแต่รัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติยืนยันเสมอมาว่ารัฐบัญญัติฉบับนี้ไม่ได้มุ่งหมายไปที่มุสลิมโดยเฉพาะแต่ห้ามการแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนาทุกศาสนา อย่างไรก็ตามฝ่ายมุสลิมเห็นว่าเป็นเพียงข้ออ้างให้แนบเนียนเท่านั้นเพราะในความเป็นจริงแล้วก็มีแต่พวกมุสลิมที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้มากที่สุด ปัจจุบันกฎหมายได้ใช้บังคับกับบรรดาโรงเรียนของรัฐทั้งหลายแล้วและมีนักเรียนบางคนที่กำลังถูกดำเนินการทางวินัยเพราะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว สมควรกล่าวไว้ด้วยว่า กฎหมายนี้ห้ามการแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนาเฉพาะใน โรงเรียนของรัฐ และห้ามเฉพาะการแสดง อย่างชัดแจ้ง เท่านั้น ดังนั้นการแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนาในโรงเรียนเอกชนหรือการแสดงอย่างมิดชิดจึงไม่ต้องห้าม
       
       กล่าวสำหรับหลักการความเป็นรัฐฆราวาส (la laïcité) ฝรั่งเศสประกาศตนเป็นรัฐฆราวาสมาตั้งแต่ปฏิวัติ ๑๗๘๙ ในมาตรา ๑๐ แห่งคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ๑๗๘๙ ได้รับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนาว่า “ไม่มีผู้ใดต้องกังวลใจเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็น แม้จะเป็นเรื่องทางศาสนา ถ้าการแสดงออกดังกล่าวนั้นไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยตามที่กฎหมายกำหนด” ต่อมาปี ๑๗๙๑ รัฐธรรมนูญได้รับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนาไว้อีกครั้งและประกันว่า ศาสนาคริสต์ทั้งนิกายคาทอลิก โปรเตสแตนท์ หรือยูดาห์ จะมีสิทธิเท่าเทียมกัน หลักการความเป็นรัฐฆราวาสเริ่มเข้ามาสู่แวดวงการศึกษาในปี ๑๘๘๑ โดยนาย Jules Ferry ผลักดันให้ออกกฎหมายรับรองว่า การศึกษาในฝรั่งเศสเป็นการศึกษาที่ บังคับ (obligatoire) ไม่เสียค่าใช้จ่าย (gratuit) และ ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา (laïque) ต่อมาในปี ๑๙๐๕ รัฐสภาได้ออกรัฐบัญญัติแยกศาสนจักรออกจากอาณาจักรอย่างเด็ดขาดว่า “สาธารณรัฐไม่รับรอง ไม่สนับสนุนทางการเงิน และไม่อุดหนุนใดๆแก่ทุกๆลัทธิ” ในสมัยสาธารณรัฐที่ ๔ รัฐธรรมนูญ ๑๙๔๖ รับรองไว้ในคำปรารภซึ่งยังมีผลบังคับอยู่ในปัจจุบันในศักดิ์ระดับรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะวรรคที่ ๑๓ ที่ว่า “การจัดการศึกษาภาครัฐที่ เป็นกลางทางศาสนา และไม่เสียค่าใช้จ่ายนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐ” ปัจจุบันรัฐธรรมนูญ ๑๙๕๘ ก็รับรองไว้ในมาตรา ๑ ว่า “ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐอันแบ่งแยกไม่ได้ เป็นกลางทางศาสนา (laïque) ประชาธิปไตยและสังคม ฝรั่งเศสรับรองความเสมอภาคตามกฎหมายต่อพลเมืองทุกคนโดยไม่แยกชาติกำเนิด สีผิว หรือศาสนา ฝรั่งเศสเคารพในทุกความเชื่อ องค์กรของฝรั่งเศสเป็นองค์กรกระจายอำนาจ” หลักการความเป็นรัฐฆราวาสเรียกร้องให้รัฐและองค์กรของรัฐทั้งหมดต้องเป็นกลางในทางศาสนาในสองแง่มุมคือ ต้องไม่แทรกแซงเรื่องความเชื่อต่างๆของแต่ละคนประการหนึ่ง และรับรองความเสมอภาคให้แก่ทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาหรือความเชื่อใดอีกประการหนึ่ง ในส่วนของการศึกษา ทุกโรงเรียนของรัฐต้องไม่มีการแสดงถึงสัญลักษณ์ศาสนาหรือความเชื่อใดและห้ามมีการสอนวิชาศาสนาอีกด้วย
       กล่าวให้ถึงที่สุด หลักความเป็นรัฐฆราวาสเข้ามาเกี่ยวข้องกับการห้ามแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนาในโรงเรียนได้หรือไม่และอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับการให้ความหมายของคำว่า “ความเป็นรัฐฆราวาส” นั่นเอง ฝ่ายหนึ่งมองว่า ความเป็นรัฐฆราวาสต้องแสดงถึงการไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาใดเลย อีกฝ่ายหนึ่งเห็นในทางตรงกันข้ามว่า ในเมื่อเป็นรัฐฆราวาสที่เป็นกลางทางศาสนาและไม่ยุ่งเกี่ยวกับประเด็นทางศาสนาแล้วจะมาห้ามการแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนาในโรงเรียนได้อย่างไร ในท้ายที่สุดคำว่า “ความเป็นรัฐฆราวาส” จะมีความหมายเช่นใดยังน่าสงสัยอยู่
       
       ค้นคว้าเพิ่มเติม
       MALAURIE P., « Laïcité, voile islamique et réforme législative. Loi n° 2004-228 du 15 mars 2004 », JCP, 2004, I, 224.
       KOUBI Geneviève, « Une précision tenue pour insigne. A propos de la loi n° 2004-228 du 15 mars 2004 encadrant, en application du principe de laïcité, le port de signes ou de tenues manifestant une appartenance religieuse dans les écoles, collèges et lycées publics », JCP A, 2004, n° 1340.
       DURAND-PRINBORGNE Claude, « La loi sur la laïcité, une volonté politique au centre de débats de société », AJDA, 2004, 5 avril, pp. 704-709.
       กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
       La loi du 15 mars 2004 relatif à l'application du principe de laïcité dans les écoles, collèges et lycées publics
       
       เดือนกุมภาพันธ์ : คำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปไม่ได้มีผลต่อคำวินิจฉัยของสภาแห่งรัฐเสมอไป
       
       ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๔ สภาแห่งรัฐโดยที่ประชุมใหญ่ได้ตัดสินไม่รับคำฟ้องของนาง Chevrol ด้วยเหตุที่ว่าเป็นฟ้องซ้ำเพราะสภาแห่งรัฐเคยไม่รับฟ้องในคำฟ้องเดียวกันนี้มาแล้วเมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๑๙๙๙ ถ้ากล่าวเพียงเท่านี้ก็ดูราวกับว่าคดีดังกล่าวไม่สำคัญเท่าไรนักแต่เป็นเพียงกรณีฟ้องซ้ำโดยทั่วไปเท่านั้นไฉนจึงต้องพิจารณาโดยที่ประชุมใหญ่ของสภาแห่งรัฐและต้องหยิบยกให้เป็นเหตุการณ์สำคัญทางกฎหมายมหาชนด้วย
       
       เราจะเห็นความสำคัญของคดี Chevrol (CE 11 février 2004) ได้ก็ต่อเมื่อทราบความเป็นมาทั้งหมดเสียก่อน ปฐมเหตุของคดี Chevrol เริ่มจากนาง Chevrol-Benkeddach ได้ร้องขอให้รัฐบาลฝรั่งเศสรับรองปริญญาเอกสาขาแพทยศาสตร์ที่ตนสำเร็จมาจากแอลจีเรียตามมาตรา ๕ แห่งคำประกาศของรัฐบาลฝรั่งเศสที่ทำไว้กับแอลจีเรียลงวันที่ ๑๙ มีนาคม ๑๙๖๒ เมื่อคราวให้เอกราชแก่แอลจีเรีย กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสยืนยันว่าไม่สามารถปฏิบัติตามที่นาง Chevrol ร้องขอได้เพราะคำประกาศของรัฐบาลฝรั่งเศสลงวันที่ ๑๙ มีนาคม ๑๙๖๒ ไม่มีผลต่อกฎหมายภายในฝรั่งเศสเนื่องจากทางแอลจีเรียเองไม่ได้ปฏิบัติตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ (La réciprocité) ตามมาตรา ๕๕ แห่งรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า “สนธิสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศที่ได้ให้สัตยาบันหรือให้ความเห็นชอบแล้วย่อมมีสถานะสูงกว่ารัฐบัญญัติ ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขที่ คู่สัญญาจะต้องบังคับใช้สนธิสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศนั้นเช่นเดียวกัน ” นาง Chevrol จึงฟ้องต่อสภาแห่งรัฐ สภาแห่งรัฐโดยที่ประชุมใหญ่พิจารณาแล้วเห็นว่าสภาแห่งรัฐไม่มีอำนาจในการพิจารณาว่ากรณีใดเป็นไปตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติหรือไม่จึงสั่งไม่รับคำฟ้อง (CE 9 avril 1999) กล่าวให้ถึงที่สุด สภาแห่งรัฐเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องการกระทำทางรัฐบาล (L’acte de gouvernement) ที่สภาแห่งรัฐจะไม่ก้าวล่วงไปพิจารณานั่นเอง
       
       นาง Chevrol เห็นว่ากรณีที่สภาแห่งรัฐไม่รับคำฟ้องของตนน่าจะเป็นการปฏิเสธความยุติธรรมอันเป็นการไม่ชอบด้วยหลักกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม (Le procès équitable) ตามมาตรา ๖-๑ แห่งอนุสัญญายุโรปว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (La convention européenne de sauvegarde des droits de l'homme et des libertés fondamentales) จึงนำเรื่องไปฟ้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (La Cour européenne des droits de l’homme, CEDH) ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปพิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีดังกล่าวตุลาการศาลปกครองฝรั่งเศสสามารถเรียกให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศมาให้การได้ว่ากรณีเป็นไปตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติหรือไม่อย่างไร การไม่รับคำฟ้องของนาง Chevrol เท่ากับเป็นการปฏิเสธความยุติธรรม (Le déni de justice) อันไม่ชอบด้วยหลักกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม (Le procès équitable) ตามมาตรา ๖-๑ แห่งอนุสัญญายุโรปว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน จึงตัดสินให้รัฐฝรั่งเศสชดใช้ค่าเสียหายแก่นาง Chevrol (CEDH 13 février 2003)
       
       จากคำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปดังกล่าว นาง Chevrol จึงร้องขอต่อสภาแห่งรัฐให้พิจารณาเรื่องของตนที่สภาแห่งรัฐเคยไม่รับฟ้องมาแล้วอีกครั้งหนึ่ง สภาแห่งรัฐพิจารณาแล้วเห็นว่า “ไม่มีบทบัญญัติใดในอนุสัญญายุโรปว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติในมาตรา ๔๖ และไม่มีบทบัญญัติใดในกฎหมายภายใน ที่กำหนดให้คำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๓ ต้องมีผลให้สภาแห่งรัฐต้องเปิดกระบวนพิจารณาคดีขึ้นใหม่ในคดี Chevrol ซึ่งปิดกระบวนพิจารณาไปแล้วเมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๑๙๙๙” จึงวินิจฉัยให้ไม่รับคำฟ้องของนาง Chevrol (CE 11 février 2004, Chevrol)
       
       คดี Chevrol ในครั้งหลังนี้ สภาแห่งรัฐยืนยันว่าคดีที่สภาแห่งรัฐในฐานะศาลปกครองสูงสุดตัดสินไม่รับฟ้องไปแล้วนั้น สภาแห่งรัฐไม่สามารถเปิดกระบวนพิจารณาคดีดังกล่าวขึ้นใหม่ได้อีกครั้ง แม้ว่าศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปจะตัดสินว่าการไม่รับฟ้องจะไม่ชอบด้วยกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมและลงโทษรัฐฝรั่งเศสก็ตาม กล่าวให้ถึงที่สุด สภาแห่งรัฐถือว่าศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปไม่ใช่ศาลสูงของตนเองที่คำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปจะมีผลบังคับให้สภาแห่งรัฐต้องกลับคำตัดสินในคดีเดิมได้
       
       อนึ่ง มีข้อควรสังเกตจากคดี Chevrol ๕ ประการ คือ
       ประการแรก คดีที่มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดแล้ว คู่ความเดิมไม่สามารถฟ้องเพื่อขอเปิดกระบวนพิจารณาใหม่ในข้อพิพาทเดิมได้อีก เว้นแต่ มีเหตุเข้าเงื่อนไขของการขอพิจารณาใหม่ตามมาตรา R๘๓๑-๑ ถึง R๘๓๔-๑ แห่งประมวลกฎหมายกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง กรณีของนาง Chevrol ไม่มีเหตุใดที่เข้าเงื่อนไขของการขอพิจารณาใหม่
       ประการที่สอง ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปตัดสินคดีของนาง Chevrol โดยตั้งอยู่บนฐานที่ว่าการไม่รับฟ้องของสภาแห่งรัฐเป็นการปฏิเสธความยุติธรรมอันเป็นการไม่ชอบด้วยหลักกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม (Le procès équitable) ตามมาตรา ๖-๑ แห่งอนุสัญญายุโรปว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานหรือไม่เท่านั้น หาได้ก้าวล่วงไปพิจารณาถึงประเด็นความชอบด้วยกฎหมายของการที่รัฐบาลฝรั่งเศสปฏิเสธไม่รับรองปริญญาเอกทางแพทยศาสตร์ของนาง Chevrol แต่ประการใด
       ประการที่สาม ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำวินิจฉัยของศาลภายในของรัฐสมาชิกจึงไม่มีอำนาจในการเพิกถอนหรือกลับคำวินิจฉัยของศาลภายใน ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเป็นเพียงองค์กรตรวจสอบการกระทำของรัฐสมาชิกที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและมีอำนาจในการสั่งให้รัฐสมาชิกนั้นชดใช้ค่าเสียหายเท่านั้น
       ประการที่สี่ ผลของคำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปอาจมีผล โดยอ้อม ต่อการพิจารณาคดีของศาลภายใน กล่าวคือ กรณีที่ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้ตัดสินว่าการวินิจฉัยของศาลภายในเป็นการไม่ชอบด้วยอนุสัญญายุโรปว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน แม้จะไม่สามารถบังคับให้ศาลภายในต้องกลับคำวินิจฉัยในคดีนั้นได้แต่หากมีคดีใหม่เกิดขึ้นที่มีข้อเท็จจริงในลักษณะเดียวกัน ศาลภายในอาจนำคำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปมาใช้ในการพิจารณาได้ เช่น กรณีของนาง Chevrol แม้สภาแห่งรัฐจะไม่สามารถกลับคำวินิจฉัยของตนที่เคยไม่รับฟ้องไว้ แต่ถ้าในอนาคตมีคดีที่มีข้อเท็จจริงที่คล้ายกับคดี Chevrol สภาแห่งรัฐอาจนำบรรทัดฐานที่เกิดจากคำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๓ มาใช้ในการพิจารณาได้
       ประการที่ห้า แม้นาง Chevrol จะฟ้องเพื่อขอเปิดกระบวนพิจารณาใหม่ไม่ได้ แต่นาง Chevrol อาจร้องขอต่อฝ่ายปกครองที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณารับรองปริญญาทางแพทยศาสตร์ของตนได้อีกครั้งหนึ่ง โดยหยิบยกคำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๓ ขึ้นอ้าง ถ้าฝ่ายปกครองยังยืนยันปฏิเสธเช่นเดิม นาง Chevrol ก็สามารถฟ้องต่อสภาแห่งรัฐได้
       
       ค้นคว้าเพิ่มเติม
       AJDA,
2003, p.357.
       AJDA, 2003, p.439-442.
       
       คดีที่เกี่ยวข้อง
       
CE 9 avril 1999, Chevrol
       
CEDH 13 février 2003 Chevrol c. La France
       
CE 11 février 2004, Chevrol
       
       
เดือนมีนาคม : ภายหลังการต่อสู้อันยาวนานสภาแห่งรัฐตัดสินให้รัฐต้องชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้เสียชีวิตจากการสูดดมแร่ใยหิน
       
       ๓ มีนาคม ๒๐๐๔ สภาแห่งรัฐโดยที่ประชุมใหญ่ได้วินิจฉัยคดีรวม ๔ คดีให้รัฐชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีคนงานที่เสียชีวิตจากการสูดดมฝุ่นละอองของแร่ใยหินเนื่องจากรัฐมีความรับผิดฐานไม่ป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดจากแร่ใยหิน
       
       คดีทั้งสี่สืบเนื่องมาจากนาง Bourdignon นาง Botella นาย Thomas และนาย Xueref ญาติของคนงานผู้เสียชีวิตจากการสูดดมฝุ่นละอองของแร่ใยหินฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นเรียกค่าเสียหายจากรัฐ ศาลปกครองชั้นต้นมาร์กเซย์ตัดสินให้รัฐชดใช้ค่าเสียหาย (TA Marseille 30 mai 2000 Mme. Bourdignon, TA Marseille 30 mai 2000 M.et Mme.Botella et autres, TA Marseille 30 mai 2000 M. Thomas, TA Marseille 30 mai 2000 M. Xueref) กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมในฐานะตัวแทนของรัฐไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณ์ต่อศาลปกครองอุทธรณ์มาร์กเซย์ ศาลปกครองอุทธรณ์มาร์กเซย์ยืนตามศาลปกครองชั้นต้น (CAA Marseille 18 octobre 2001 min. Emploi et solidarité c. Bourdignon, c. M.et Mme.Botella et autres, c. M. Thomas, c. M. Xueref) กระทรวงแรงงานฯฎีกาต่อไปที่สภาแห่งรัฐในฐานะศาลปกครองสูงสุด สภาแห่งรัฐพิจารณาแล้วยืนยันว่า รัฐมีความรับผิดในกรณีที่ละเลยหรือล่าช้าในการป้องกันความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพของคนงานที่ได้รับจากการสูดดมแร่ใยหินในขณะทำงาน เมื่อนายจ้างมีหน้าที่ในการรับประกันความปลอดภัยและคุ้มครองสุขภาพของคนงานแล้ว ฝ่ายปกครองย่อมมีหน้าที่ในการให้ข้อมูลถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานให้แก่นายจ้างและลูกจ้างทราบด้วย รวมทั้งออกมาตรการที่เหมาะสมเพื่อกำจัดหรือป้องกันความเสี่ยงอันตรายดังกล่าว ก่อนปี ๑๙๗๗ รัฐมิได้มีมาตรการใดๆในการกำจัดหรือป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดจากการสูดดมแร่ใยหิน ดังนั้นรัฐจึงมีความรับผิดต่อผู้เสียหายจากการสูดดมแร่ใยหิน วินิจฉัยให้ยกฎีกาของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
       แร่ใยหิน (L’amiante) เป็นแร่ที่ใช้กันมากในการก่อสร้าง รายงานทางการแพทย์ในหลายประเทศยืนยันว่าการสูดดมแร่ใยหินเป็นอันตรายต่อระบบหายใจอันอาจนำมาซึ่งโรคเยื่อหุ้มปอดอักเสบหรือมะเร็งปอด องค์การอนามัยโลก องค์การการค้าโลก และสหภาพยุโรปได้ออกกฎเกณฑ์ควบคุมการใช้และการส่งออกตลอดจนมาตรการคุ้มครองคนงานที่มีโอกาสสูดดมแร่ใยหิน กล่าวสำหรับฝรั่งเศส มีเพียงการคุ้มครองคนงานเพียงกว้างๆไว้ในประมวลกฎหมายแรงงาน หมวด ๓ ของบรรพ ๒ ว่าด้วยสุขอนามัย ความปลอดภัย และสภาพของการทำงาน ในส่วนที่จำเพาะเจาะจงเกี่ยวข้องกับแร่ใยหินต้องรอจนกระทั่งถึงปี ๑๙๗๗ จึงมีรัฐกฤษฎีกาลงวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๑๙๗๗ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา L๒๓๑-๒ วรรค ๒ แห่งประมวลกฎหมายแรงงาน รัฐกฤษฎีกาดังกล่าวมุ่งคุ้มครองคนงานที่สูดดมแร่ใยหินจากการทำงานที่ใช้แร่ใยหินและผลิตภัณฑ์จากแร่ใยหินโดยกำหนดค่าเฉลี่ยของแร่ใยหินในบรรยากาศที่คนงานอาจสูดดมเข้าไปได้ไม่เกิน ๒ fibres ต่อมิลลิลิตร รัฐกฤษฎีกานี้ยังกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่แจ้งต่อคนงานถึงความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดจากแร่ใยหินตลอดจนแจ้งถึงข้อควรระวังจากแร่ใยหินด้วย นอกจากนี้นายจ้างยังต้องแจ้งต่อผู้ตรวจแรงงานถึงสภาพการใช้แร่ใยหิน จำนวนเวลาทำงานในหนึ่งวันของคนงาน และมาตรการป้องกันและคุ้มครองคนงานจากแร่ใยหิน ฝรั่งเศสเริ่มตระหนักถึงอันตรายจากแร่ใยหินมากขึ้นเรื่อยๆในที่สุดจึงตัดสินใจออกรัฐกฤษฎีกาลงวันที่ ๒๘ เมษายน ๑๙๘๘ ใช้บังคับเพื่อห้ามการใช้ การซื้อขาย การส่งออกผลิตภัณฑ์บางประเภทที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนผสม ในท้ายที่สุด ภายหลังการประท้วงให้เลิกใช้แร่ใยหินและจากการที่มีผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตจากแร่ใยหินจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี ๑๙๙๔ ที่ครูและนักเรียนโรงเรียน Gérardmer ได้สูดดมฝุ่นจากแร่ใยหินที่ลอยมาจากการก่อสร้างใกล้เคียงกับโรงเรียน รัฐบาลได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยสาธารณสุขและการวิจัยทางแพทย์แห่งชาติ (Institut national de la santé et de la recherche médicale, INSERM) ไปศึกษาวิจัยผลกระทบของแร่ใยหิน จากการศึกษาของสถาบันฯพบว่าแร่ใยหินเป็นอันตรายอย่างมาก ในแต่ละปีมีผู้เจ็บป่วยและได้รับผลกระทบจำนวนมากถึง ๓,๐๐๐ ราย รัฐบาลจึงตัดสินใจออกรัฐกฤษฎีกาลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๑๙๙๖ เพื่อห้ามใช้ ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ส่งออก ผลิต หรือแปรรูปแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์จากแร่ใยหินทุกประเภทอย่างเด็ดขาด
       
       ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหินจำนวนมากได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนายจ้างและรัฐ ตลอดปี ๑๙๙๙ ถึง ๒๐๐๒ จำนวนคดีทั้งในศาลยุติธรรมและศาลปกครอง ทั้งที่เป็นคดีแพ่ง คดีอาญา และคดีปกครองที่เกี่ยวกับกรณีแร่ใยหินได้เพิ่มมากขึ้น (มีคดีที่น่าแปลกใจคดีหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๐๐๐ ผู้เสียหายรายหนึ่งได้ฟ้องศาลคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อขอให้ลงโทษทางอาญาแก่อดีตรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม การผังเมืองและสิ่งแวดล้อมรวม ๑๓ คนที่เคยดำรงตำแหน่งในช่วงปี ๑๙๗๖ ถึง ๑๙๙๖ ดู F. Labrousse, « Amiante et responsabilité », LPA, N° 42, 1996, p.4.) เพื่อลดจำนวนคดีในศาลและให้ผู้เสียหายมีโอกาสได้เงินชดเชยอย่างไม่ล่าช้า รัฐบาลจึงหามาตรการจ่ายค่าชดเชยให้แก่คนงานเสียก่อนที่จะเกิดข้อพิพาทกันในศาลด้วยการออกรัฐกฤษฎีกาลงวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๐๐๑ จัดตั้งกองทุนชดเชยให้แก่ผู้เสียหายจากแร่ใยหิน (Fonds d’indemnisation des victimes de l’amiante, FIVA) ผู้เสียหายจากแร่ใยหินมีสิทธิในการร้องขอค่าชดเชยจากกองทุนดังกล่าวได้ คณะกรรมการกองทุนจะพิจารณาด้วยกระบวนการพิจารณาที่รวดเร็วและเป็นธรรม ในกรณีที่ได้รับค่าชดเชยไปแล้วผู้เสียหายไม่มีสิทธิใช้กระบวนการทางศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายในมูลเหตุเดียวกันได้อีก เป็นที่น่าสงสัยว่าบทบัญญัติที่เป็นการจำกัดสิทธิในการฟ้องคดีเช่นนี้จะขัดต่อหลักกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม (Le procès équitable) ตามมาตรา ๖-๑ แห่งอนุสัญญายุโรปว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานและสิทธิในการฟ้องคดี (Le droit au recours effectif) ตามมาตรา ๑๓ แห่งอนุสัญญาเดียวกันหรือไม่ ต่อข้อสงสัยดังกล่าวสภาแห่งรัฐได้ยืนยันว่ากรณีดังกล่าวไม่ขัดแต่ประการใด (CE 26 février 2003, M.Mekhantar) ในส่วนของคดีทั้งสี่ที่หยิบยกมานี้ ผู้ฟ้องคดีได้ร้องขอค่าชดเชยจากกองทุนฯแล้วแต่ได้รับการปฏิเสธจึงนำเรื่องมาฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
       
       คดีทั้งสี่นี้สภาแห่งรัฐยืนยันให้รัฐต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยมุ่งไปที่ประเด็นว่ารัฐละเลยหรือล่าช้าในการออกมาตรการป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดจากแร่ใยหินหรือไม่ สภาแห่งรัฐใช้ปี ๑๙๗๗ เป็นจุดชี้ขาด กล่าวคือ ก่อนปี ๑๙๗๗ สภาแห่งรัฐเห็นว่ารัฐไม่ได้ออกมาตรการใดๆเลยทั้งที่มีรายงานการวิจัยจำนวนมากถึงอันตรายของแร่ใยหินทั้งต่างประเทศและในประเทศ ตลอดจนกฎเกณฑ์ควบคุมและป้องกันการใช้แร่ใยหินทั้งในระดับองค์การระหว่างประเทศและสหภาพยุโรป แต่รัฐพึ่งออกมาตรการป้องกันความเสี่ยงเมื่อปี ๑๙๗๗ (ตามรัฐกฤษฎีกาลงวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๑๙๗๗) เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้เสียชีวิตในคดีทั้งสี่นี้ เป็นคนงานที่สูดดมแร่ใยหินมาตั้งแต่ ก่อนปี ๑๙๗๗ รัฐจึงต้องรับผิดจากความผิดที่ละเลยไม่ออกมาตรการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดกับคนงานอันเนื่องมาจากแร่ใยหินในช่วงก่อนปี ๑๙๗๗ (La responsabilité de l’Etat du fait de sa carence fautive à prendre les mesures de prévention des risques liés à l’exposition des travailleurs aux poussières d’amiante)
       
       อนึ่ง มีข้อควรสังเกตว่าสภาแห่งรัฐไม่ได้พิจารณาถึงประเด็นความรับผิดของนายจ้างที่ต้องรับผิดร่วมกันกับรัฐ (Le cumul de la responsabilité) เนื่องจากกระทรวงแรงงานฯในฐานะตัวแทนของผู้ถูกฟ้องคดีพึ่งยกประเด็นดังกล่าวขึ้นอ้างในการฎีกาต่อสภาแห่งรัฐหาได้ยกขึ้นตั้งแต่แรกเริ่มไม่ สภาแห่งรัฐจึงไม่อาจพิจารณาประเด็นดังกล่าวให้ได้ น่าคิดต่อไปว่านายจ้างจะต้องรับผิดร่วมกับรัฐในกรณีนี้หรือไม่ ในเมื่อรัฐต้องรับผิดจากการละเลยไม่ออกมาตรการป้องกันเช่นนี้แล้ว ไฉนนายจ้างซึ่งมีหน้าที่ในการคุ้มครองความปลอดภัยของลูกจ้างจะไม่มีความผิดในกรณีที่ลูกจ้างได้รับความเสียหายจากการทำงานที่จ้างด้วยเล่า นอกจากนี้ในกรณีที่นายจ้างต้องรับผิดร่วมแล้วนายจ้างจะรับผิดเท่าไร รัฐจะไปไล่เบี้ยกับนายจ้างได้เท่าไร และกองทุนชดเชยให้แก่ผู้เสียหายจากแร่ใยหินจะต้องร่วมจ่ายค่าชดเชยให้ด้วยหรือไม่ยังน่าสงสัยอยู่
       
       อุทาหรณ์จากคดีทั้งสี่ดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยในกรณีไข้หวัดนกที่มีผู้เสียชีวิตจากการรับประทานไก่ที่ติดโรคไข้หวัดนกและเจ้าของฟาร์มไก่ที่จำเป็นต้องฆ่าไก่จำนวนมากเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคนั้น ผู้เสียหายจากกรณีดังกล่าวน่าจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐได้โดยพิสูจน์ว่ารัฐมีความรับผิดเนื่องจากทราบถึงการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกมาตั้งแต่แรกเริ่มแต่ไม่ออกมาตรการป้องกันหรือเตือนแต่ประการใด ยิ่งไปกว่านั้นยังปกปิดข้อมูลและปฏิเสธว่าโรคไข้หวัดนกในประเทศไทยนั้นเป็นเพียงข่าวลือ การฟ้องคดีในลักษณะดังกล่าวนอกจากจะเป็นการเรียกค่าเสียหายแล้วยังเปิดโอกาสให้ศาลปกครองไทยได้วางหลักในเรื่องความรับผิดของฝ่ายปกครองจากการละเลยล่าช้าอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นในกรณีที่ฝ่ายปกครองมีความรับผิดจริง อย่างน้อยฝ่ายปกครองจะได้ตระหนักว่าต่อไปฝ่ายปกครองไม่ควรปฏิบัติเช่นที่ผ่านมาอีก เป็นที่น่าสนใจว่าในอนาคตเมื่อมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้น ผู้เสียหายจะยอมฟ้องร้องหรือไม่หรือพึงพอใจกับเงินชดเชยที่รัฐบาลให้เท่านั้น และศาลปกครองไทยจะตัดสินให้ฝ่ายปกครองมีความรับผิดหรือไม่ อย่างไร
       
       ค้นคว้าเพิ่มเติม
       BENOIT Lilian, « Maladies professionnelles dues à l’exposition des travailleurs aux poussière d’amiante. Responsabilité de l’Etat », Jurisclasseur-Environnement, Avril 2004, p.25-27.
       DELALOY Guillaume, « Amiante : le Conseil d’Etat confirme la responsabilité de l’Etat », Revue mensuelle de Jurisclasseur-Droit administratif, Mai 2004, p.35-37.
       DURAND Christelle, « Commentaire CAA Marseille 18 octobre 2001 min. Emploi et solidarité c. Bourdignon, Botella, Thomas, Xueref (4 espèces) », Droit de l’environnement, Mars 2002, N° 96, p.54.
       LABROUSSE François, « Amiante » in Jurisclasseur Environnement, Fasc.752, 1999.
       ROMI Raphaël, « L’amiante, Carrefour entre droit de la santé publique et droit de l’environnement », Droit de l’environnement, Juillet-Août 2000, N° 80, p.13.
       « Utilisation et traitement de l’amiante » in Lamy environnement , Etude 510, Novembre 2003.
       
       เดือนเมษายน : ระบบแลกเปลี่ยนโควตาการแพร่กระจายก๊าซที่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจก
       ๑๕ เมษายน ๒๐๐๔ รัฐบาลได้ออกรัฐกำหนดว่าด้วยการสร้างระบบแลกเปลี่ยนโควตาการแพร่กระจายก๊าซที่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจกซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐบัญญัติลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๐๐๔ และเป็นการอนุวัตรให้เป็นไปตาม Directive 2003/87 ที่ออกโดยสหภาพยุโรปและคณะกรรมการก่อตั้งระบบแลกเปลี่ยนโควตาการแพร่กระจายก๊าซที่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจกแห่งประชาคมยุโรป
       ระบบแลกเปลี่ยนโควตาการแพร่กระจายก๊าซที่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจกมุ่งหมายจะลดการแพร่กระจายของก๊าซโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดการแบ่งโควตาซึ่งจะแพร่กระจายก๊าซได้ไม่เกินหนึ่งตัน รัฐกำหนดนี้ใช้บังคับกับกิจกรรมที่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจก เช่น อุตสาหกรรมด้านพลังงาน โลหะ เหล็ก แร่ธาตุ กระดาษและครอบคลุมเฉพาะก๊าซหลักก๊าซเดียวที่เป็นบ่อเกิดสำคัญของสภาวะเรือนกระจกคือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ บริษัทหรือผู้ประกอบการที่เข้าข่ายจะต้องขออนุญาตในการแพร่กระจายก๊าซดังกล่าวเสียก่อนทั้งนี้ภายใต้จำนวนไม่เกินโควตาที่กำหนด รัฐเป็นผู้ขายโควตาให้แต่ละผู้ประกอบการโดยโควตาครั้งแรกนั้นไม่เสียค่าใช้จ่าย ในแต่ละปีผู้ประกอบการต้องลดจำนวนโควตาลงเรื่อยๆ เพื่อเป็นการง่ายต่อการกำหนดราคาที่เหมาะสมตามกลไกตลาดรัฐจึงเปิดตลาดให้ซื้อขายแลกเปลี่ยนโควตาซึ่งสามารถทำกันได้ภายในฝรั่งเศสและข้ามไปยังรัฐสมาชิกสหภาพยุโรปอื่น โควตาดังกล่าวถือเป็นสังหาริมทรัพย์
       
       ค้นคว้าเพิ่มเติม
       MISTRAL Christophe, « Le régime juridique des droits d'émission de gaz à effet de serre en France », LPA, 2004, 22 juillet.
       MOLINER-DUBOST Marianne, « Le système français de quotas d'émission de gaz à effet de serre », AJDA, 2004, 7 juin, pp. 1132-1134.
       THIEFFRY Patrick, « Droits d'émission et éco-fiscalité : de nouveaux instruments de lutte contre les changements climatiques à géométrie variable », LPA, 2004, 1-2 avril.
       กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
       
L’ordannace n° 2004-330 du 15 avril 2004 portant création d'un système d'échange de quotas d'émission de gaz à effet de serre
       
       เดือนพฤษภาคม : การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองโดยศาลปกครองไม่จำเป็นต้องมีผลย้อนหลังเสมอไป
       ๑๑ พฤษภาคม ๒๐๐๔ สภาแห่งรัฐโดยที่ประชุมใหญ่ได้ตัดสินคดีที่ได้สร้างหลักการใหม่ในเรื่องการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองโดยศาลปกครอง (CE Ass. 11 mai 2004, Association AC ! et autres) ในคดีนี้สมาคมต่อต้านการว่างงาน (Association Agir contre le chômage, AC !) และพวกได้ยื่นฟ้องต่อสภาแห่งรัฐเพื่อขอเพิกถอนประกาศรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวกับข้อตกลงเรื่องการประกันการว่างงาน สภาแห่งรัฐโดยที่ประชุมใหญ่พิจารณาแล้วเห็นว่าประกาศรัฐมนตรีไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะกระบวนการออกประกาศผิดขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญจึงวินิจฉัยให้เพิกถอนประกาศดังกล่าว อย่างไรก็ตามสภาแห่งรัฐเห็นว่าหากวินิจฉัยให้เพิกถอนย้อนหลังจะเกิดผลกระทบต่อคนว่างงานจำนวนมากที่ได้รับผลประโยชน์จากประกาศฉบับนี้ไปแล้ว ดังนั้นสภาแห่งรัฐจึงกำหนดให้การเพิกถอนมี ผลย้อนหลัง สำหรับบางส่วนของประกาศรัฐมนตรีและอีกบางส่วนให้การเพิกถอนมี ผลในอนาคต นับแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๐๐๔
       เดิมกฎหมายปกครองฝรั่งเศสถือหลักว่า การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองโดยศาลต้องมีผลย้อนหลังกลับไปเสมือนว่าคำสั่งทางปกครองนั้นไม่มีผลมาตั้งแต่เริ่มต้น (Les actes annulés pour excès de pouvoir sont réputés n’être jamais intervenus) ตามคำวินิจฉัยในคดี Rodière (CE 26 décembre 1926) แต่คำวินิจฉัยในคดี Association AC ! et autres ได้สร้างบรรทัดฐานขึ้นใหม่ว่า การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองโดยศาลไม่ได้มีผลย้อนหลังเสมอไป ศาลปกครองมีอำนาจในการกำหนดให้การเพิกถอนมีผลในอนาคตได้โดยพิจารณาจากความมั่นคงแห่งนิติฐานะของผู้ที่เกี่ยวข้องและประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าคดี Association AC ! et autres ได้ยกเลิกบรรทัดฐานจากคดี Rodière สภาแห่งรัฐยืนยันว่าโดยหลักแล้วการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองโดยศาลยังคงมีผลย้อนหลัง เว้นแต่ในบางกรณีที่จำเป็นต้องคุ้มครองประโยชน์ที่ได้รับไปแล้วของผู้รับคำสั่งหรือจำเป็นต้องรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะ ศาลก็มีอำนาจกำหนดให้การเพิกถอนคำสั่งมีผลในอนาคตได้
       
       คดี Association AC ! et autres แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการในกฎหมายปกครองฝรั่งเศสสองประเด็น ประเด็นที่หนึ่ง ศาลปกครองยอมรับหลักความมั่นคงแห่งนิติฐานะ (le principe de sécurité juridique) และหลักการคุ้มครองความเชื่อถือและไว้วางใจ (le principe de confiance légitime) มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้หลักการดังกล่าวถูกรับรองไว้ในกฎหมายประชาคมยุโรปมาช้านานโดยอิทธิพลของกฎหมายปกครองเยอรมัน อย่างไรก็ตามศาลปกครองยังคงปฏิเสธไม่ยอมรับให้หลักความมั่นคงแห่งนิติฐานะและหลักการคุ้มครองความเชื่อถือและไว้วางใจมีสถานะเป็นหลักกฎหมายทั่วไปในกฎหมายปกครองฝรั่งเศส ประเด็นที่สอง อำนาจของศาลปกครองในคดีเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครอง (le recours pour excès de pouvoir) มีมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมศาลปกครองมีอำนาจเพียงสั่งเพิกถอนเท่านั้นแต่ปัจจุบันศาลปกครองมีอำนาจในการกำหนดให้การเพิกถอนมีผลในเวลาใดได้ (la modulation dans le temps des effets d’une annulation contentieuse) นอกจากนี้ศาลปกครองยังมีอำนาจในการออก injonction สั่งให้ฝ่ายปกครองปฏิบัติหรือสั่งปรับ (astreinte) ฝ่ายปกครองที่ไม่ปฏิบัติตาม injonction นั้น เมื่อศาลปกครองมีอำนาจมากขึ้นเช่นนี้ทำให้ความแตกต่างระหว่างคดีขอให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครอง (le recours pour excès de pouvoir) กับคดีที่ศาลมีอำนาจเต็ม (le contentieux de pleine juridiction) เหลือน้อยลง
       
       กล่าวสำหรับกฎหมายไทย มาตรา ๗๒ (๑) และวรรค ๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ กำหนดว่า ในกรณีเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครอง ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดว่าจะให้มีผลย้อนหลังหรือไม่ย้อนหลังหรือมีผลไปในอนาคตถึงขณะใดขณะหนึ่งได้ หรือจะกำหนดให้มีเงื่อนไขอย่างใดก็ได้ ทั้งนี้ตามความเป็นธรรมแห่งกรณี จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจศาลปกครองไว้อย่างชัดเจนในการกำหนดให้การเพิกถอนมีผลในเวลาใดได้ไว้อยู่แล้ว ประเด็นที่เกิดในคดี Association AC ! et autres จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาในกฎหมายไทยเท่าไรนัก
       
       ค้นคว้าเพิ่มเติม
       BONICHOT Jean-Claude, « L’arrêt AC ! : évolution ou révolution ? », AJDA, 2004, p.1049.
       BRONDEL Sévérine, « L’annulation n’a plus d’effet rétroactif automatique », AJDA, 2004, p.1004.
       LANDAIS Claire et LENICA Frédéric, « Chronique générale de jurisprudence administrative française », AJDA, 2004, p.1183-1193.
       RFDA, mai-juin 2004. มีข้อสังเกตของ Jacques-Henri STAHL และ Anne COURREGES เสนอต่อประธานแผนกคดีปกครอง และความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดี Christophe DEVYS ในคดี Association AC ! et autres
       RFDA, juillet-aout, 2004. มีบทความที่เกี่ยวกับอำนาจของศาลปกครองในการกำหนดให้การเพิกถอนคำสั่งมีผลในเวลาใดของหลายประเทศในยุโรป
       
       คดีที่เกี่ยวข้อง
       
CE 26 décembre 1926, Rodière ดู GAJA, p.268-273.
       CE 27 juillet 2001, Titran
       CE 29 juin 2001, Thalès Vassilikiotis
       

       เดือนมิถุนายน : หลักการใหม่เรื่องการประกาศและการมีผลใช้บังคับของกฎ
       
       รัฐกำหนดเลขที่ ๒๐๐๔-๑๖๔ ลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๔ ว่าด้วยรูปแบบและผลของการประกาศรัฐบัญญัติและการกระทำบางประเภท (L’ordonnance du 20 février 2004 relative aux modalités et effets de la publication des lois et de certains actes) มีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๐๐๔ รัฐกำหนดนี้ได้วางหลักเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับการประกาศและการมีผลใช้บังคับของรัฐบัญญัติและกฎ
       
       เดิมบทบัญญัติในมาตรา ๒ แห่งรัฐกำหนดลงวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๑๘๗๐ กำหนดให้ รัฐบัญญัติ รัฐกฤษฎีกาหรือกฎที่มีผลใช้บังคับในอาณาเขตกรุงปารีสให้มีผลใช้บังคับโดยทั่วกันนับแต่หนึ่งวันหลังจากการ ประกาศในรัฐกิจจานุเบกษา (le Journal officiel) ส่วนรัฐบัญญัติ รัฐกฤษฎีกาหรือกฎที่มีผลใช้บังคับในอาณาเขตจังหวัดอื่นให้มีผลใช้บังคับโดยทั่วกันนับแต่หนึ่งวันหลังจากรัฐบัญญัติ รัฐกฤษฎีกาหรือกฎ ส่งไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด การติดต่อสื่อสารไปยังที่ห่างไกลออกไปในสมัยก่อนจำเป็นต้องใช้เวลาจึงจำเป็นอยู่เองที่ต้องกำหนดให้วันที่มีผลใช้บังคับในปารีสกับจังหวัดอื่นๆต่างกันออกไป ๑๓๐ ปีเศษต่อมา ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่การติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็วและง่ายขึ้นจึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องคงความแตกต่างดังกล่าวไว้ ด้วยเหตุนี้ รัฐกำหนดลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๔ จึงยกเลิกความแตกต่างของวันที่มีผลใช้บังคับระหว่างรัฐบัญญัติ รัฐกฤษฎีกาหรือกฎที่มีผลใช้บังคับในอาณาเขตกรุงปารีสกับรัฐบัญญัติ รัฐกฤษฎีกาหรือกฎที่มีผลใช้บังคับในอาณาเขตจังหวัดอื่น และกำหนดให้รัฐบัญญัติและการกระทำทางปกครองที่ประกาศลงในรัฐกิจจานุเบกษาให้มีผลใช้บังคับ พร้อมกันทั่วประเทศ นับแต่วันที่กำหนดหรือวันถัดไปนับจากการประกาศลงในรัฐกิจจานุเบกษา (มาตรา ๑) ในกรณีฉุกเฉินการมีผลใช้บังคับอาจเริ่มตั้งแต่วันที่ออกเลยก็ได้ กล่าวสำหรับการกระทำทางปกครองที่ประกาศลงในรัฐกิจจานุเบกษาคงมีเพียงแต่การการะทำทางปกครองที่มีผลทั่วไป (l’acte réglementaire) เช่น รัฐกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง หรือกฎ เท่านั้น หารวมถึงคำสั่งทางปกครองที่มีผลเฉพาะเจาะจง (l’acte individuel) ไม่ ต้องไม่ลืมว่าหลักเกณฑ์การมีผลของคำสั่งทางปกครองแตกต่างจากกฎ กล่าวคือ มีผลเมื่อแจ้งให้ผู้รับคำสั่งทราบ (la notification) ซึ่งแตกต่างจากการการะทำทางปกครองที่มีผลทั่วไปที่ต้องประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน (la publication) จึงจะมีผลใช้บังคับ ดังนั้น กรณีนี้จึงไม่รวมถึงคำสั่งทางปกครองแต่ประการใด กล่าวให้ถึงที่สุดบทบัญญํติในมาตรา ๑ นี้ใช้เฉพาะกับรัฐบัญญัติ รัฐกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง หรือกฎเท่านั้น
       
       ในมาตรา ๒ ได้กำหนดถึงสิ่งที่ต้องประกาศลงในรัฐกิจจานุเบกษา ได้แก่ รัฐบัญญัติ รัฐกำหนด รัฐกฤษฎีกา และการกระทำทางปกครองบางประเภทที่รัฐบัญญัติหรือรัฐกฤษฎีกากำหนดให้ต้องประกาศลงในรัฐกิจจานุเบกษา การประกาศลงในรัฐกิจจานุเบกษาดังกล่าวต้องอยู่ในรูปแบบของกระดาษหรือรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งก็คืออินเตอร์เนทนั่นเอง การประกาศในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ต้องเป็นการถาวรและเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (มาตรา ๓) สภาแห่งรัฐอาจขอความเห็นจากคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพแห่งชาติในการออกรัฐกฤษฎีกากำหนดว่าคำสั่งทางปกครองที่มีผลเฉพาะเจาะจงใดบ้างที่ห้ามเผยแพร่ต่อสาธารณะในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวกับสถานะและสัญชาติของบุคคล (มาตรา ๔) สภาแห่งรัฐมีอำนาจในการออกรัฐกฤษฎีกากำหนดว่าการกระทำทางปกครองประเภทใดบ้างที่มีผลใช้บังคับได้โดยการประกาศในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์อย่างเดียวโดยไม่จำเป็นต้องประกาศในรูปของกระดาษ (มาตรา ๕)
       
       อนึ่ง พึงระลึกไว้เสมอว่า การเกิดขึ้นของกฎ (L’existence) กับการมีผลใช้บังคับ (L’entrée en vigueur) ของกฎไม่ใช่เรื่องเดียวกัน กล่าวคือ เมื่อผู้มีอำนาจในการออกกฎได้ลงนามในกฎแล้ว กฎดังกล่าวก็ปรากฏขึ้นในระบบกฎหมายแต่ยังไม่มีผลใช้บังคับกับบุคคลทั่วไปจนกว่าจะได้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน (กรณีนี้ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SEILLER Bertrand, « L’entrée en vigueur des actes unilatéraux », AJDA, 2004, p.1463.)
       
       การเกิดขึ้น (L’existence) ------ การลงนาม (La signature)
       การมีผลใช้บังคับ (L’entrée en vigueur) ------ การประกาศ (La publication)
       การสิ้นผล (La disparition) ------ การยกเลิก (L’abrogation) การเพิกถอน (Le retrait)
       
       ค้นคว้าเพิ่มเติม
       SEILLER Bertrand, « L’entrée en vigueur des actes unilatéraux », AJDA, 2004, p.1463.
       VERPEAUX Michel, « La fin d'un monde », AJDA, 2004, p. 737.
       กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
       
L’ordonnance du 20 février 2004 relative aux modalités et effets de la publication des lois et de certains actes
       
       เดือนกรกฎาคม : คำสั่งพักงานนายกเทศมนตรีเนื่องจากการจดทะเบียนสมรส ณ ที่ทำการเทศบาลให้แก่คู่สมรสเพศเดียวกัน
       ๑๙ กรกฎาคม ๒๐๐๔ ศาลปกครองชั้นต้นบอร์กโดซ์ได้ตัดสินยกคำฟ้องของนายโนแอล มาแมร์ (Noël Mamère) นายกเทศมนตรีเมือง Bègles ที่ขอเพิกถอนคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่สั่งพักงานตนเป็นเวลาหนึ่งเดือนเนื่องจากจดทะเบียนสมรส ณ ที่ทำการเทศบาลให้แก่คู่สมรสเพศเดียวกันอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบตามกฎหมายว่าด้วยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฐมเหตุของคดีนี้มาจากการที่นายมาแมร์ นายกเทศมนตรีเมือง Bègles สังกัดพรรคเขียว (Les Verts) ได้ประกาศต่อสาธารณชนว่าจะจดทะเบียนสมรสให้แก่พวกรักร่วมเพศ ทางด้านอัยการได้คัดค้านว่าการจดทะเบียนสมรสดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนกระทั่งวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๐๐๔ นายมาแมร์ก็จัดงาน ณ ที่ทำการเทศบาลตามที่ประกาศไว้จริง งานดังกล่าวได้รับความสนใจจากบุคคลทั่วไปและสื่อมวลชนจำนวนมากนำมาซึ่งประเด็นถกเถียงกันว่าฝรั่งเศสสมควรมีกฎหมายยอมรับการสมรสของคู่สมรสเพศเดียวกันได้หรือยังและการไม่อนุญาตให้คนเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสนั้นจะขัดต่อเสรีภาพในครอบครัวหรือไม่ ต่อมาในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๐๐๔ นายโดมินิก เดอ วิลล์แป็ง (Dominique de Villepin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ออกคำสั่งพักงานในหน้าที่นายกเทศมนตรีเมือง Bègles แก่นายมาแมร์เป็นเวลาหนึ่งเดือนด้วยเหตุผลที่ว่า บทบัญญัติในมาตรา ๖๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งกำหนดว่า ในกรณีที่อัยการคัดค้านว่าการสมรสไม่เป็นไปตามกฎหมาย นายทะเบียนสมรสไม่อาจจดทะเบียนสมรสให้ได้ เมื่อนายมาแมร์ในฐานะเป็นนายทะเบียนได้ทราบคำค้านของอัยการแล้วแต่ยังจดทะเบียนสมรสให้แก่คู่สมรสเพศเดียวกันต่อไปเช่นนี้ จึงถือว่านายมาแมร์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดเจนและร้ายแรง นายมาแมร์ไม่เห็นด้วยจึงฟ้องต่อศาลปกครองบอร์กโดซ์เพื่อขอเพิกถอนคำสั่งพักงานดังกล่าว ศาลปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่า คำสั่งของรัฐมนตรีมหาดไทยชอบด้วยกฎหมายจึงยกคำร้องของนายมาแมร์
       ประเด็นสำคัญของกรณีดังกล่าวซึ่งศาลปกครองไม่ก้าวล่วงไปกล่าวถึง คือ การสมรสของคู่สมรสรักร่วมเพศชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตามเราอาจพิจารณาโดยนัยได้จากคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีที่ว่า การจดทะเบียนสมรสในวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๐๐๔ ให้แก่คู่สมรสที่เป็นชายทั้งค¬ู่นั้นเป็นการกระทบอย่างร้ายแรงต่อสถานะและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Une atteinte grave au fonctionnement de l’état civil) นอกจากนี้การที่ศาลปกครองตัดสินยกคำร้องก็เป็นการแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าศาลปกครองไม่ยอมรับการจดทะเบียนสมรสของคู่สมรสเพศเดียวกัน เพราะหากศาลปกครองยอมรับแล้วก็น่าจะเพิกถอนคำสั่งพักงานนายมาแมร์ผู้จดทะเบียนสมรสให้แก่คู่สมรสเพศเดียวกันนั้นเสีย
       
       เดือนสิงหาคม : กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
       ๖ สิงหาคม ๒๐๐๔ รัฐบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้ออกใช้บังคับโดยมีวัตถุประสงค์ในการอนุวัตรการให้เป็นไปตาม Directive européenne 95/46/CE ลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๑๙๙๕ ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายข้อมูลส่วนบุคคล รัฐบัญญัตินี้ได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหลายฉบับ ได้แก่ รัฐบัญญัติลงวันที่ ๖ มกราคม ๑๙๗๘ ว่าด้วยข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพ ประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
       
       รัฐบัญญัติลงวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๐๐๔ ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้ยกเลิกข้อความคิด Les informations nominatives และสร้างข้อความคิดว่าด้วย “ข้อมูลที่มีลักษณะส่วนบุคคล” (Les données à caractère personnel) ขึ้นมาทดแทนซึ่งมีความหมายกว้างกว่าเดิม กล่าวคือ ข้อมูลที่มีลักษณะส่วนบุคคล ได้แก่ ข้อมูลใดๆที่เกี่ยวข้องกับบุคคลธรรมดา (La personne physique) อันระบุตัวหรืออาจระบุตัวบุคคลธรรมดานั้นได้ไม่ว่า โดยทางตรงหรือทางอ้อม โดยการอ้างจากหมายเลขประจำตัวบุคคล หรือปัจจัยอื่นๆที่เหมาะสม จะเห็นได้ว่ากฎหมายได้ขยายความให้ข้อมูลส่วนบุคคลรวมไปถึง ชื่อ หมายเลขประจำตัวบุคคล เสียง ภาพ ลายนิ้วมือ มีข้อสังเกตว่ากฎหมายนี้มุ่งใช้บังคับกับข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลธรรมดา (La personne physique) เท่านั้น หารวมถึงข้อมูลของนิติบุคคล (La personne morale)ไม่
       
       รัฐบัญญัติดังกล่าวได้ขยายเขตอำนาจของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพแห่งชาติ (Commission nationale de l'informatique et des libertés, CNIL) ให้ครอบคลุมไปถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นภาพและเสียงด้วย นอกจากนี้คณะกรรมการฯยังมีอำนาจในการควบคุมการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลทั้งก่อนใช้ (a priori) และหลังใช้ (a posteriori) อีกด้วย กล่าวคือ ก่อนที่บุคคลใดจะใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของใครก็ตามต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการฯเสียก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วคณะกรรมการฯยังตามไปตรวจสอบได้อีกว่าการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ คณะกรรมการฯมีอำนาจสั่งให้ยุติการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวได้ ในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามคณะกรรมการฯมีอำนาจในการลงโทษปรับได้ไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ ยูโร กรณีที่การเก็บและใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรง คณะกรรมการฯอาจสั่งระงับการเก็บและการใช้ข้อมูลดังกล่าวได้ทันที กรณีเช่นนี้ประธานคณะกรรมการฯย่อมมีอำนาจในการร้องขอต่อศาลปกครองให้ออกมาตรการฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (Le référé liberté) ได้
       
       ในประเด็นการโอนข้อมูลส่วนบุคคลไปยังต่างประเทศ รัฐบัญญัติลงวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๐๐๔ ได้กำหนดห้ามการโอนข้อมูลส่วนบุคคลไปยังประเทศที่ไม่มีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เหมาะสมเพียงพอ (Un niveau de protection adéquat) การประเมินว่ามาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศใดมีมาตรฐานเพียงพอหรือไม่นั้นเป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยุโรป
       
       มาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ดีนอกจากจะมีการตรวจสอบและปราบปรามการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วยังจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันก่อนที่ความเสียหายจะเกิดขึ้นควบคู่กันไปด้วย รัฐบัญญัติลงวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๐๐๔ เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวจึงได้สร้างระบบการควบคุมตนเองขึ้น กล่าวคือ บรรดาบริษัทที่เก็บและใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นอาจจัดทำประมวลจริยธรรมว่าด้วยการเก็บและใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัทตนเองเพื่อเป็นกฎเกณฑ์ที่ตนจะใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพแห่งชาติอาจให้คำแนะนำในการปฏิบัติแก่บริษัทเหล่านั้นได้ด้วย
       
       อนึ่ง พึงสังเกตไว้ด้วยว่าหลักการพื้นฐานของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกับกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการแตกต่างกัน กล่าวคือ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตั้งอยู่บนฐานของการคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัว (Le droit au respect de la vie privée) ในขณะที่กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการมุ่งคุ้มครองสิทธิในการรับรู้ของประชาชนเป็นสำคัญ
       
       ค้นคว้าเพิ่มเติม
       สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, แนวทางการจัดทำกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, ธันวาคม ๒๕๔๖.
       MAITROT DE LA MOTTE Alexandre, « La réforme de la loi informatique et liberté et le droit au respect de la vie privée », AJDA, 2004, p. 2269.
       กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
       
La loi n° 2004-801 du 6 août 2004 relative à la protection des personnes physiques à l'égard des traitements de données à caractère personnel
       La loi n° 78-17 du 6 janvier 1978 relative à l'informatique, aux fichiers et aux libertés
       
       เดือนกันยายน : เปิดศาลปกครองอุทธรณ์เพิ่มขึ้นที่แวร์ซาย
       
       ๑ กันยายน ๒๐๐๔ ศาลปกครองอุทธรณ์แวร์ซายเปิดทำการขึ้นเป็นครั้งแรก รัฐกฤษฎีกาลงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๐๐๔ ได้กำหนดให้มีศาลปกครองอุทธรณ์แห่งใหม่ขึ้นที่เมืองแวร์ซาย (มาตรา ๑) โดยมีเขตอำนาจเป็นศาลปกครองชั้นอุทธรณ์ของศาลปกครองชั้นต้น Cergy-Pontoise และศาลปกครองชั้นต้น Versailles (มาตรา ๔) ซึ่งครอบคลุมเมือง Seine-Saint-Denis, Val-d'Oise, Essonne, Hauts-de-Seine และ Yvelines ศาลปกครองอุทธรณ์แวร์ซายมีองค์คณะรวม ๓ องค์คณะ (มาตรา ๕) เดิมคดีที่อุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้น Cergy-Pontoise และศาลปกครองชั้นต้น Versailles อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองอุทธรณ์ปารีส เมื่อมีการเปิดศาลปกครองอุทธรณ์แวร์ซายแล้ว ประธานศาลปกครองอุทธรณ์ปารีสต้องโอนคดีที่ได้ลงทะเบียนไว้กับจ่าศาลหลังวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๐๐๑ แต่ยังไม่เข้าสู่กระบวนพิจารณาก่อนวันที่ ๑ กันยายน ๒๐๐๔ และเป็นคดีที่ต่อไปจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองอุทธรณ์แวร์ซาย ไปให้กับศาลปกครองอุทธรณ์แวร์ซาย (มาตรา ๖)
       
       เดือนตุลาคม : ศาลปกครองสั่งเพิกถอนประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ให้ก่อสร้างทางรถรางสายใหม่และขยายเส้นทางรถรางสายเดิมด้วยเหตุผลที่การศึกษาผลกระทบของโครงการไม่เพียงพอ
       
       ๑๙ ตุลาคม ๒๐๐๔ ศาลปกครองชั้นต้นสตราสบูร์กสั่งเพิกถอนประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัด Bas-Rhin ที่อนุญาตให้สร้างเส้นทางรถรางเพราะประกาศอนุญาตให้ก่อสร้างดังกล่าวออกมาโดยมีการศึกษาผลกระทบ (les études d’impact) ที่ไม่เพียงพอ ในคดีนี้สมาคม Résidents du secteur Orbay-Kurgaten et le collectif Jean Jaurès-Ribeauville สมาคม Ostwald Protection de la nature et de l’environnement และสมาคม Défense des intérêts de la Robertsau เป็นแกนนำในการฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัด ลงวันที่ ๑ เมษายน ๒๐๐๔ ที่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ในเขตเมือง Strasbourg เมือง Ostwald และเมือง Lingolsheim เพื่อก่อสร้างเส้นทางรถรางสาย E และขยายเส้นทางรถรางสาย B, C และ D
       
       ศาลปกครองได้หยิบยกบทบัญญัติในมาตรา ๒ แห่งรัฐกฤษฎีกาลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๑๙๗๗ ซึ่งออกตามความในมาตรา L๑๒๒-๓ แห่งประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมขึ้นพิจารณา บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า เนื้อหาในการศึกษาผลกระทบต้องระบุถึงความสำคัญของโครงการและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ต้องแสดงถึง ๑.) การวิเคราะห์สภาพปัจจุบันของสิ่งแวดล้อมรอบๆโครงการไม่ว่าจะเป็นความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ พื้นที่กสิกรรม ป่า น้ำ หรือสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ๒.) การวิเคราะห์ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งชั่วคราวและถาวรที่มีต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อป่า แม่น้ำ ดิน น้ำ อากาศ อุณหภูมิ ทรัพยากรธรรมชาติ และความสมดุลทางชีวภาพ ผลกระทบต่อการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม ผลกระทบต่อความสะดวกสบายของผู้อยู่อาศัยข้างเคียง เช่น เสียง ความสั่นสะเทือน กลิ่น แสงสว่าง ผลกระทบต่อสุขอนามัย สุขภาพ ความปลอดภัยและความสะอาด ๓.) เหตุผลของการดำเนินโครงการ ๔.) มาตรการกำจัด ลด และฟื้นฟูความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัย ๕.) การวิเคราะห์ถึงวิธีการที่ใช้ในการประเมินผลกระทบ ๖.) ในกรณีที่เป็นโครงการก่อสร้างขนส่งมวลชน การศึกษาผลกระทบต้องประกอบด้วยการวิเคราะห์ข้อเสียในเรื่องมลภาวะและเหตุเดือดร้อนรำคาญชั่งน้ำหนักกับข้อดีที่การใช้พลังงานอาจลดลงเนื่องจากผลักดันให้คนมาใช้ขนส่งมวลชนแทน
       
       ศาลปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่า การศึกษาผลกระทบของโครงการกล่าวแต่เพียงเส้นทางการเดินรถรางและแผนที่ใหม่หลังจากเส้นทางรถรางได้สร้างแล้วเสร็จ แต่ไม่ได้วิเคราะห์ถึงผลที่ตามมาเกี่ยวกับอัตราความหนาแน่นของการจราจรและการเคลื่อนตัวของรถยนต์บนท้องถนน ปราศจากการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั้งชั่วคราวและถาวรต่อการไหลเวียนของรถยนต์อันเนื่องจากการสร้างเส้นทางรถรางสายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อสร้างในส่วนที่สำคัญที่สุดของโครงการซึ่งจำเป็นต้องมีการรื้อถอนและสร้างใหม่ก็ไม่มีการศึกษาผลกระทบในส่วนนี้ ดังนั้น การศึกษาผลกระทบจากโครงการก่อสร้างดังกล่าวจึงไม่เพียงพอตามที่บทบัญญัติในมาตรา ๒ แห่งรัฐกฤษฎีกาลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๑๙๗๗ กำหนด วินิจฉัยให้เพิกถอนประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดลงวันที่ ๑ เมษายน ๒๐๐๔
       
       ค้นคว้าเพิ่มเติม
       MOUSTARDIER A., « Le décret du 1er août 2003 modifiant le décret du 12 octobre 1977 relatif aux études d'impact apporte-t-il réellement des nouveautés ? », LPA, 11-12 novembre 2003. PRIEUR Michel, Droit de l'environnement, Dalloz, 2004, p.
       เดือนพฤศจิกายน : คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรปมีข้อความที่ขัดกับรัฐธรรมนูญจึงจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนที่จะให้สัตยาบันสนธิสัญญา
       ๑๙ พฤศจิกายน ๒๐๐๔ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องของประธานาธิบดีที่ขอให้คณะตุลาการฯตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรปว่า สนธิสัญญามีบทบัญญัติที่ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส การให้สัตยาบันสนธิสัญญาดังกล่าวจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียก่อน
       ความเดิมเริ่มจากสหภาพยุโรปได้จัดทำสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรป (Le traité établissant une Constitution pour l'Europe) ซึ่งได้รับการลงนามเห็นชอบ ณ กรุงโรมโดยประมุขของรัฐสมาชิกเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๐๐๔ จากนั้นรัฐสมาชิกต้องนำสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรปดังกล่าวไปให้สัตยาบันตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายภายในของแต่ละรัฐสมาชิก กล่าวสำหรับฝรั่งเศส บทบัญญัติในมาตรา ๕๔ แห่งรัฐธรรมนูญกำหนดว่า “ในกรณีที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ ... และวินิจฉัยว่าความผูกพันระหว่างประเทศใดมีข้อความขัดต่อรัฐธรรมนูญ การให้สัตยาบันต่อความผูกพันระหว่างประเทศดังกล่าวจะทำได้ต่อเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว” กรณีนี้ประธานาธิบดีได้ร้องขอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรป คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า บทบัญญัติในสนธิสัญญาขัดกับรัฐธรรมนูญและจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลสองประการ ดังนี้
       ประการแรก บทบัญญัติในสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรปมีผลเปลี่ยนแปลงต่อเงื่อนไขที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งชาติ ( Les conditions essentielles d'exercice de la souveraineté nationale) กล่าวคือ สาธารณรัฐฝรั่งเศสต้องโอนอำนาจบางประการไปให้แก่สหภาพยุโรปและมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้อำนาจซึ่งได้โอนไปยังสหภาพยุโรปก่อนหน้านั้นแล้ว โดยเฉพาะในประเด็นการลงมติเอกฉันท์และการลงมติเสียงข้างมากพิเศษในคณะมนตรียุโรป
       ประการที่สอง บทบัญญัติในสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรปมีผลต่อการเพิ่มอำนาจใหม่ให้แก่รัฐสภาฝรั่งเศสในสองประเด็นได้แก่ ประเด็นแรก รัฐสภามีสิทธิคัดค้านการแก้ไขเพิ่มเติมสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรปโดยกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างง่าย ( La révision simplifiée) ตามมาตรา IV-๔๔๔ วรรคสาม ประเด็นที่สอง รัฐสภามีอำนาจในการทำความเห็นเสนอต่อสภายุโรป คณะมนตรียุโรปหรือคณะกรรมาธิการยุโรปว่าข้อเสนอร่างกฎหมายในระดับยุโรปไม่สอดคล้องกับหลักว่าด้วยการเข้าเสริมของสหภาพยุโรปในเรื่องที่เป็นอำนาจของรัฐสมาชิก (Le principe de subsidiarité) ตามพิธีสารหมายเลข ๑ ว่าด้วยบทบาทของรัฐสภาของรัฐสมาชิกที่มีต่อสหภาพยุโรป และพิธีสารหมายเลข ๒ ว่าด้วยการบังคับใช้หลักว่าด้วยการเข้าเสริมของสหภาพยุโรปในเรื่องที่เป็นอำนาจของรัฐสมาชิกและหลักความได้สัดส่วน จึงจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐให้สอดคล้องกับสนธิสัญญา
       ในส่วนของบทบัญญัติในมาตรา I-๖ แห่งสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรป ที่บัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ได้รับความเห็นชอบจากสถาบันแห่งสหภาพยุโรปมีศักดิ์สูงกว่ากฎหมายของรัฐสมาชิก” นั้น คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะบทบัญญัติในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่หากแต่เคยมีมาแล้วและคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๐๐๔ (CC 10 juin 2004, Loi pour la confiance dans l'économie numérique) คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้พิจารณาในส่วนของกฎบัตรว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานแห่งสหภาพยุโรป (La Charte des droits fondamentaux de l'Union européenne) ซึ่งได้ผนวกเข้าเป็นภาคที่ ๒ ของสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญนี้ด้วยว่าไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญทั้งในส่วนที่เป็นเนื้อหาและในส่วนที่อาจกระทบต่อการใช้อำนาจอธิปไตย
       คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ยืนยันอีกด้วยว่าสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรปไม่ได้สร้างสหพันธรัฐขึ้นใหม่ สาธารณรัฐฝรั่งเศสยังคงความเป็นรัฐเดี่ยวที่ไม่ตกอยู่ภายใต้สหพันธรัฐใด เพราะหากสหภาพยุโรปเป็นสหพันธรัฐและฝรั่งเศสเป็นรัฐเดี่ยวที่อยู่ในอาณัติจริงแล้ว การถอนตัวดังกล่าวย่อมไม่อาจทำได้ แต่ในความเป็นจริงฝรั่งเศสมีสิทธิในการถอนตัวออกจากการเป็นรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรปได้เสมอ อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญยุโรปก็ไม่อาจกระทำได้โดยปราศจากความเห็นชอบของรัฐสมาชิกแม้เพียงรัฐเดียว นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยุโรปหาได้มีผลกระทบต่อความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไม่ รัฐธรรมนูญยังคงเป็นกฎหมายสูงสุดตามลำดับชั้นกฎหมายของระบบกฎหมายภายในฝรั่งเศส
       เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเช่นนี้จึงจำเป็นอยู่เองที่ต้องดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนที่จะให้สัตยาบันสนธิสัญญา ขณะนี้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหมวด ๑๕ แห่งรัฐธรรมนูญ (Le projet de loi constitutionnelle modifiant le titre XV de la Constitution) ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนให้ความเห็นชอบ กล่าวสำหรับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในฝรั่งเศสอาจทำได้สองวิธีคือ การนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติตามมาตรา ๘๙ วรรคสองวิธีหนึ่ง และการได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงมากกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภาตามมาตรา ๘๙ วรรคสามอีกวิธีหนึ่ง
       ประธานาธิบดีฌาคส์ ชีรัคแสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่า เพื่อประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางเช่นกรณีรัฐธรรมนูญยุโรปนี้ ภายหลังจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในกรณีดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ตนจะอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ แห่งรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ประชาชนลงประชามติว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการให้สัตยาบันสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรป ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๕ มีการเปิดประชุมร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหมวด ๑๕ แห่งรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่าเสียงเกินกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภาลงมติเห็นชอบ การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในกรณีนี้จึงมีผลตามมาตรา ๘๙ วรรคสาม และได้รับการประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๐๐๕ เป็นต้นไป ขณะนี้จึงเหลือแต่เพียงขั้นตอนการลงประชามติเท่านั้นซึ่งประธานาธิบดีฌาคส์ ชีรัคได้ออกรัฐกฤษฎีกาลงวันที่ ๙ มีนาคม ๒๐๐๕ กำหนดให้มีการลงประชามติในวันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๐๐๕ โดยได้จัดทำในรูปของร่างรัฐบัญญัติอนุญาตให้มีการให้สัตยาบันสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรป (Le projet de loi autorisant la ratification du traité établissant une Constitution pour l'Europe) ที่มีเพียงหนึ่งมาตราความว่า “อนุญาตให้มีการให้สัตยาบันสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรปซึ่งแนบท้ายอยู่ในรัฐบัญญัตินี้” และให้ประชาชนลงประชามติในปัญหาที่ว่า “ท่านเห็นชอบกับร่างรัฐบัญญัติซึ่งอนุญาตให้มีการให้สัตยาบันสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญยุโรปหรือไม่” « Approuvez-vous le projet de loi qui autorise la ratification du traité établissant une Constitution pour l'Europe ? »
       ค้นคว้าเพิ่มเติม
       
CASSIA Paul., AJDA 2004, p. 2185. « Décision n° 2004-505 DC du 19 novembre 2004, Traité établissant une Constitution pour l'Europe », Cahier du Conseil constitutionnel, N° 18. LASCOMBE M. et VANDENDRIESSCHE X., « Questions sur la révision constitutionnelle », AJDA, 2005, p.169. RICCI Jean-Claude, « Le traité établissant une constitution pour l'Europe ou "le Conseil constitutionnel est nu". Libres propos sur la décision 2004-505 DC du 19 novembre 2004 », Revue de la recherche juridique - Droit prospectif, 2004 (4), pp. 2115-2118. SCHOETTL Jean-Eric, « La ratification du «Traité établissant une Constitution pour l'Europe» appelle-t-elle une révision de la Constitution française ? », LPA, 29 novembre 2004, pp.3-25. VERPEAUX M., « Le traité, rien que le traité », AJDA, 2004 p. 2417.
       คดีที่เกี่ยวข้อง
       CC 9 avril 1992, Traité sur l'Union européenne (Maastricht) CC 31 décembre 1997, Traité d'Amsterdam modifiant le traité sur l'Union européenne et autres traités
       CC 19 novembre 2004, Traité établissant une Constitution pour l'Europe
       
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
       Traité du 29 octobre 2004 établissant une Constitution pour l'Europe Le projet de loi constitutionnelle modifiant le titre XV de la Constitution
       เดือนธันวาคม : สภาแห่งรัฐสั่งให้บริษัทยูเทลแซทยุติการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ช่องอัล มานาร์
       
       ๑๓ ธันวาคม ๒๐๐๔ สภาแห่งรัฐมีคำสั่งให้บริษัทยูเทลแซทยุติการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ช่องอัล มานาร์ (Al Manar) ภายใน ๔๘ ชั่วโมงตามคำร้องขอของประธานคณะกรรมการกิจการวิทยุและโทรทัศน์และสั่งปรับวันละ ๕,๐๐๐ ยูโรหากปฏิบัติตามคำสั่งของสภาแห่งรัฐล่าช้า
       
       สถานีโทรทัศน์ อัล มานาร์ เป็นสถานีโทรทัศน์ของเลบานอนที่มีบริษัทกลุ่มสื่อสารเลบานอนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และมีความใกล้ชิดกับกลุ่มการเมืองเฮซโบเลาะห์ (Le Hezbollah) ในประเทศฝรั่งเศสสถานีนี้ออกอากาศผ่านระบบเคเบิลทีวีของบริษัทยูเทลแซท บ่อยครั้งที่สถานีโทรทัศน์อัล มานาร์ออกอากาศรายการที่หมิ่นเหม่ต่อการบ่มเพาะความเกลียดชังและความรุนแรงระหว่างศาสนาและสัญชาติจนกระทั่งได้รับคำเตือนจากคณะกรรมการกิจการวิทยุและโทรทัศน์และต้องทำความตกลงกับคณะกรรมการกิจการวิทยุและโทรทัศน์ลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๐๐๔ ว่าจะไม่ออกอากาศรายการในลักษณะดังกล่าวอีก อย่างไรก็ตามสถานีโทรทัศน์อัล มานาร์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงแต่กลับออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาเช่นเดิม คณะกรรมการกิจการวิทยุและโทรทัศน์ (Conseil supérieur de l'audiovisuel) จึงมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๐๐๔ ว่าสถานีโทรทัศน์อัล มานาร์ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาเกลียดชังชาวยิว (antisémite) อันขัดกับมาตรา ๑๕ วรรคท้ายแห่งรัฐบัญญัติลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๖ ว่าด้วยเสรีภาพในการสื่อสารที่บัญญัติว่า “คณะกรรมการกิจการวิทยุและโทรทัศน์มีหน้าที่ในการตรวจสอบไม่ให้รายการมีเนื้อหาที่กระตุ้นให้เกิดความเกลียดชังหรือความรุนแรงอันเนื่องมาจากเหตุผลทางสีผิว เพศ ประเพณี ศาสนา หรือสัญชาติ” และร้องขอต่อสภาแห่งรัฐให้ออกมาตรการฉุกเฉินสั่งให้ระงับการออกอากาศโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๒-๑๐ แห่งรัฐบัญญัติลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๖
       
       สภาแห่งรัฐซึ่งทำหน้าที่ตุลาการในคดีมาตรการฉุกเฉินที่เกี่ยวกับวิทยุและโทรทัศน์พิจารณาแล้วเห็นว่า สถานีโทรทัศน์ช่องอัล มานาร์ได้ออกอากาศรายการ “ไฟบนเส้นทางสู่เยรูซาเล็ม” และ คลิปมิวสิควิดีโอ “เยรูซาเล็มเป็นของเรา” ซึ่งมีเนื้อหาที่กระตุ้นให้เกิดความเกลียดชังและความรุนแรงอันเนื่องมาจากศาสนาและเชื้อชาติทั้งนี้เนื้อหารายการเขียนโดยมุมมองทางทหารที่ส่งสัญญาณให้ต่อต้านชาวยิว อันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติในมาตรา ๑ และมาตรา ๑๕ แห่งรัฐบัญญัติลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๖ แม้ว่าการออกอากาศของสถานีอัล มานาร์ในฝรั่งเศสจะอยู่ในวงจำกัดแต่การออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาทำนองดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าย่อมเป็น “การกระทบอย่างร้ายแรงต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน” « Des incidences néfastes sur la sauvegarde de l’ordre public » จึงสั่งให้บริษัทยูเทลแซทยุติการการออกอากาศสถานีสถานีโทรทัศน์ช่องอัล มานาร์อย่างช้าภายใน ๔๘ ชั่วโมงนับแต่การแจ้งคำสั่งและปรับวันละ ๕,๐๐๐ ยูโรต่อวันในกรณีปฏิบัติตามคำสั่งของศาลล่าช้า
       
       กล่าวสำหรับมาตรการฉุกเฉินเกี่ยวกับวิทยุและโทรทัศน์ (Le référé audiovisuel) บทบัญญัติในมาตรา L ๕๕๓-๑ แห่งประมวลกฎหมายกระบวนการยุติธรรมทางปกครองและมาตรา ๔๒-๑๐ แห่งรัฐบัญญัติลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๙๘๖ กำหนดว่าในกรณีที่บริษัทที่ประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงหรือกฎหมาย ประธานคณะกรรมการกิจการวิทยุและโทรทัศน์อาจร้องขอต่อประธานแผนกคดีแห่งสภาแห่งรัฐเพื่อออกมาตรการฉุกเฉินสั่งให้บริษัทดังกล่าวปฏิบัติตามหน้าที่หรือระงับผลที่เกิดขึ้นหรือเพื่อออกมาตรการใดๆที่จำเป็นต่อการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อตกลงและสั่งปรับได้ในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการนั้น
       
       ในคดีมาตรการฉุกเฉินเกี่ยวกับวิทยุและโทรทัศน์ ประธานแผนกคดีแห่งสภาแห่งรัฐซึ่งอยู่ในสถานะตุลาการคดีมาตรการฉุกเฉิน (Le juge de référé) มีอำนาจในการออก injonction เพื่อสั่งให้บริษัทที่ประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ปฏิบัติตาม มีอำนาจในการออกมาตรการใดๆที่จำเป็น (toute mesure conservatoire) อีกทั้งมีอำนาจในการสั่งปรับ (une astreinte) ด้วย ประธานแผนกคดีแห่งสภาแห่งรัฐได้ออกมาตรการฉุกเฉินที่เกี่ยวกับวิทยุและโทรทัศน์ในหลายกรณีที่บริษัทไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงหรือกฎหมาย เช่น การโฆษณาเกินเวลา การออกอากาศรายการจากประชาคมยุโรปหรือรายการที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสไม่ครบตามสัดส่วนที่กำหนด การออกมาตรการป้องกันการออกอากาศภาพยนตร์โป๊เกินเวลาหนึ่งชั่วโมง การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการกิจการวิทยุและโทรทัศน์ที่ควบคุมการออกอากาศซ้ำ การระงับการฝ่าฝืนกฎหมายของบริษัทประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ เป็นต้น
       
       ค้นคว้าเพิ่มเติม
       
CHAPUS René, Droit du contentieux administratif, Montchrestien, 2004, p.1394-1396.
       MAILLARD DESGREES DU LOU D., « Référé en matière de communication audiovisuel », JCJA, T.1, fasc. N° 57.


 
 
๓๐ ปีกฎหมายการทำแท้งเสรีในฝรั่งเศส โดย อ. ปิยบุตร แสงกนกกุล
หลักกฎหมายปกครองทั่วไป : ทางออกในการอุดช่องว่างกฎหมายปกครองไทย โดย นางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
บทวิเคราะห์ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ โดย อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล
การทับซ้อนของเขตอำนาจศาลปกครองและศาลยุติธรรมฝรั่งเศส : ศึกษากรณีบริการสาธารณะ โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
การอยู่ร่วมกันของบุคคลในความสัมพันธ์ในด้านครอบครัวตามกฎหมายฝรั่งเศส โดย นางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
   
 
 
 
สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของผู้มีรสนิยมร่วมเพศในมุมมองกฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายสิทธิมนุษยชนยุโรป โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
การทับซ้อนของเขตอำนาจศาลปกครองและศาลยุติธรรมฝรั่งเศส : ศึกษากรณีบริการสาธารณะ โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
ศาลรัฐธรรมนูญและคดีรัฐธรรมนูญโปรตุเกส โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
คำแปลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐโปรตุเกส (เฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ) โดยอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
ความรับผิดชอบทางอาญาของประธานาธิบดีฝรั่งเศส โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม
สหภาพยุโรปและการเลือกปฏิบัติ : กรณีการรับสมัครคนสูบบุหรี่เข้าทำงาน โดย คุณพิมพ์ดาว จันทรขันตี
การมีส่วนร่วมของประชาชนในฝรั่งเศส : การอภิปรายสาธารณะ (Le débat public) โดย คุณวรรณภา ติระสังขะ
ตุลาการศาลปกครองกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม(ตามหลัก équité) โดยคุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
La France : Le pays où la rue joue le rôle important (เสียงเรียกร้องจากท้องถนน) โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม
“หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” อาวุธทรงพลังในหมู่ “ลูกแกะ” โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544