สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า๒) |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
ส่วนที่ ๑ บทนำ
(๑.๑) ความเบื้องต้น : ว่าด้วย องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ
ขณะนี้ ผู้เขียนได้เขียนบทความขนาดยาว เรื่อง กระบวนทัศน์เก่าในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (ค.ศ. ๒๐๐๖) ซึ่งผู้เขียนจะเขียนเป็นตอน ๆ และยังเขียนไม่จบ โดยตอนที่หนึ่งของบทความนี้(ว่าด้วย นิทานเรื่อง สภาออกแบบบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของประเทศสารขันธ์) ได้เผยแพร่ใน www.pub-law. net ไปแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้นำลงพิมพ์ในหนังสือ รางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นวันที่มีพิธีมอบรางวัลสัญญาธรรมศักดิ์ ประจำปี ๒๕๕๐
ในบทความดังกล่าว ผู้เขียนได้ให้ความเห็นไว้ว่า กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้อยู่ในรูปแบบของสภาร่างรัฐธรรมนูญนานาอาชีพ (องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ) ตามที่กำหนดไว้รัฐธรรมนูญของคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับปัจจุบัน(พ.ศ. ๒๕๔๙)นั้น ไม่สามารถทำให้ได้มาซึ่ง รัฐธรรมนูญที่ดีที่สามารถแก้ ปัญหาการบริหารประเทศในอนาคตได้ คือไม่สามารถ ปฏิรูปการเมืองได้ เพราะกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนุญในลักษณะนี้เป็นวิธีการที่เป็น Old Paradigm กระบวนทัศน์เก่า ที่ได้เคยใช้มาแล้วในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ และ ได้ล้มเหลวมาแล้วในการยกร่างรัฐธรรมนุญ ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิด รัฐบาลที่เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างที่ไม่เคยปรากฏในประเทศไทย ดังนั้น การใช้กระบวนการเดิมโดยไม่มีการศึกษาวิเคราะห์ว่า กระบวนการยกร่างรัฐธรรม(องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ)เดิม มีความผิดพลาดอย่างไรและเพราะเหตุใดจึงผิดพลาด ย่อมจะนำความล้มเหลวมาสู่การปฏิรูปการเมืองอีก เป็นครั้งที่สอง
คุณภาพของรัฐธรรมนูญ ย่อมขึ้นอยู่กับ องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ
เพื่อให้ท่านผู้ที่สนใจปัญหาบ้านมือง สามารถเข้าใจได้ง่าย ๆ ในจุดอ่อนของกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ (โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญนานาอาชีพ) ที่เป็น Old Paradigm (โดยผู้เขียนไม่จำต้องไปถกเถียงกับผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือนักวิชาการแบบไทย ๆ) ดังนั้น ในบทความดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนจึงได้เล่าเป็นนิทาน เรื่องหนึ่ง โดยใช้ชื่อเรื่องว่า สภาออกแบบบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของประเทศสารขันธ์ เพื่อให้ท่านผู้อ่าน(ที่อ่านนิทาน)นำไป คิดและคาดคะเนปัญหาและความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยตัวท่านเองว่า สภาออกแบบบ้านฯของประเทศสารขันธ์ ซึ่งเป็นสภานานาอาชีพเหมือนกับสภาร่างรัฐธรรมนูญของเราในปัจจุบัน จะออกแบบบ้านหลังใหม่(รัฐธรรมนูญฉบับใหม่)ให้แก่ชาวสารขันธ์ได้ดีหรือไม่ดี อย่างไร และให้ท่านผู้อ่านไปคิดเอาเองว่า ปัญหาที่จะตามมาจาก กฎหมาย( คือ บ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ) ที่ยกร่าง(สร้าง)โดยสภานานาอาชีพ จะมีได้อย่างไรบ้าง ; ถ้าท่านผู้อ่านอยากทราบและสนใจนิทานเรื่องนี้ โปรดหาอ่านได้จากเว็บไซต์ดังกล่าว หรือจากหนังสือ รางวัลสัญญาธรรมศักดิ์ ประจำปีนี้
บทความ(ขนาดยาว)ดังกล่าว เป็นบทความที่ผู้เขียนมุ่งหมายจะวิเคราะห์และเตือนสังคมไทยให้หวนกลับมาพิจารณาทบทวนดู ขีดความสามารถ (หรือขีดความไม่สามารถ)ของวงการวิชาการทางกฎหมายของไทยว่า อยู่ในระดับใด(เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว) เพื่อให้คนไทยได้ประเมินดูว่า วงการวิชาการทางกฎหมายของเรา จะมีความสามารถพอที่จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ปฏิรูปการเมือง)และนำสังคมไทยให้พ้นวิกฤติทางการเมืองในอนาคตได้หรือไม่
ผู้เขียนได้กล่าวไว้ด้วยว่า ถ้าหากวงการวิชาการทางกฎหมายของเรายังไม่มีขีดความสามารถพอที่จะคิด ออกแบบกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ( ที่หลุดพ้นจากความคิดแบบเดิม ๆ - Old Paradigm คือการ จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนุญ(นานาอาชีพ มาเป็นองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ)ได้ วงการวิชาการไทย ก็คงไม่มีขีดความสามารถพอที่จะออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่(ที่จะเป็นการปฏิรูปการเมือง)ให้แก่คนไทยได้ เพราะการออกแบบ(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ระบบสถาบันการเมือง) จะยากกว่าและต้องการการมองปัญหาที่ลึก กว่าการออกแบบองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ (รูปแบบของสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ที่ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาก
ในขณะนี้ (แม้ว่าผู้เขียนจะยังเขียนบทความเรื่อง Old Paradigm ไม่จบ) แต่ ผู้เขียนก็คิดว่า ตามเหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน (เดือนพฤษภาคม กรกฎาคม) การเขียนบทความนี้ (การวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) ดูจะ มีความเร่งด่วนมากกว่า และผู้เขียนควรจะต้องเขียนบทความนี้ให้เสร็จก่อน การออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในกลางเดือนสิงหาคมนี้ ( ซึ่งขณะที่ผู้เขียนเริ่มเขียน ก็ยังไม่แน่ใจว่า จะเขียนเสร็จได้ทันเวลา หรือไม่)
ผู้เขียนรู้สึกว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯได้อ้างเหตุเพื่อทำการรัฐประหารว่า รัฐบาลเดิมได้ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม ฯลฯ แต่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ(และองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ)ที่คณะปฏิรูปการปกครองฯได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๙) ก็ดูเหมือนว่า ได้ก่อให้เกิดความแตกแยกไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความแตกแยกในการเขียนรัฐธรรมนูญที่จะให้ระบุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ (ม็อบผ้าเหลือง) และแน่นอนว่า ไม่ว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯ (คมช.และรัฐบาล ในปัจจุบัน)จะโอนอ่อนหรือไม่โอนอ่อนผ่อนตามการเรียกร้อง แต่ ผล ที่จะตามมาในอนาคตจะไปไกลกว่านี้ และผู้เขียนเห็นว่า เหตุการณ์เหล่านี้เป็นความรับผิดชอบของ คณะปฏิรูปการปกครองฯ เพราะคณะปฏิรูปการปกครอง ฯ เป็นผู้ที่กำหนดวิธีการ(กระบวนการ)ร่างรัฐธรรมนูญเช่นนี้ขึ้นเอง และไม่ใช่ความรับผิด(ชอบ)ของสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญคนใด ที่ต่างก็ทำหน้าที่ตามพฤติกรรม(ทางสังคมวิทยา)และตามความรู้ที่มีอยู่โดยปกติของตน
เราจะพิสูจน์ให้เห็น ความล้มเหลวของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้อย่างไร
ขณะนี้ เรามีสภาร่างรัฐูธรรมนูญ (นานาอาชีพ) ที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญที่คณะปฏิรูปการปกครองฯให้เราไว้ และเมื่อวันที่ ๒๖ เดือนเมษายน (พ.ศ. ๒๕๕๐)ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยกร่าง ฯ (ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ - นานาอาชีพ) ได้นำร่างรัฐธรรมนูญ( ฉบับรับฟังความคิดเห็น)ส่ง มอบให้องค์กร ๑๒ องค์กร(และบุคคล) ตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา ๒๖ ของ รัฐธรรมนูญปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๙) เพื่อให้องค์กรเหล่านั้นเสนอความคิดเห็น(ต่อคณะกรรมาธิการฯ) ก่อนที่จะดำเนินการต่อไปและก่อนที่จะจัดให้มีการออกเสียงประชามติในปลายปีนี้(พ.ศ. ๒๕๕๐) ซึ่งขณะนี้ (เดือนกรกฎาคม) ปรากฎว่า ได้มีกลุ่มมวลชนบางกลุ่มออกมารณรงค์ต่อต้าน ร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ที่ผ่านความเห็นชอบของสภาร่างฯ เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม) และทางฝ่ายที่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว รวมทั้งบุคคลในรํฐบาลและในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติก็ได้ออกมาขอร้องให้ประชาชนที่จะมาออกสียงประชามติว่า ขอให้ออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ไปก่อน ถ้าหากไม่พอใจอย่างใด ก็ขอให้ไปแก้ไขรัฐธรรมนูญในภายหลัง (?)
ผู้เขียนไม่คิดว่า การขอร้องนี้เป็นการขอร้อง ที่อยู่บนพื้นฐานของการมีเหตุผล เพราะในขณะที่อยู่ในระหว่างการรัฐประหารและผู้ที่ทำการรัฐประหารยังมีอำนาจรัฐอย่างบริบูรณ์ ซึ่งจะกำหนดรูปแบบของ องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ได้ ยังไม่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญ(ที่ดี)ได้ ดังนั้น เราคงคาดหวังไม่ได้ กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคต
ปัญหา ที่รอคนไทยอยู่ข้างหน้าดูจะไม่สิ้นสุด เพราะเราไม่อาจทราบได้ว่า ฝ่ายใดจะเข้ามาเป็นรัฐบาล และจะเข้ามาแก้ รัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๐อย่างไร และจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของใครหรือของกลุ่มใด ; ในเดือนกันยายน ๒๕๔๙ที่ผ่านมา เรา(รวมทั้งตัวผู้เขียน)ยอมรับให้มีการรัฐประหารโดย คณะปฏิรูปการปกครองฯ ก็เพราะหวังว่า จะได้มาปฏิรูปการเมืองให้คนไทย แต่ปรากฎว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯ ทำได้ดีที่สุด ก็คือ การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อที่จะได้แก้ต่อไป (?) ; ถ้าหากเป็นเช่นนี้แล้ว เราทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารมาเพื่ออะไร
ปัญหาข้างหน้า คงเป็นปัญหาของคนไทย (ผู้ที่มีสิทธิออกเสียง) ที่จะออกมาออกเสียงลงประชามติว่า จะให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ แต่สำหรับผู้เขียน(ในฐานะที่นักวิชาการ) ผู้เขียนไม่ได้สนใจว่า (ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะผ่านหรือไม่ผ่านความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติหรือไม่ แต่ ผู้เขียนสนใจว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะปฏิรูปการเมือง ทำให้รัฐบาลมีเสถียรถาพโดยไม่ มีการผูกขาดอำนาจ อันเป็นสาเหตุของการคอร์รัปชั่น และจะป้องกันวิกฤติการณ์ทางการเมืองไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ได้หรือไม่
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะขอเริ่มวิเคราะห์ จาก เอกสารชี้แจงการยกร่างรัฐธรรมนูญ ของ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยผู้เขียนจะพยายามทำความเข้าใจและตรวจสอบ แนวความคิดของ คณะกรรมาธิการซึ่งเป็นผู้ที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (บทความ ส่วนที่ ๒ ตอนที่ ๒.๑) ; ต่อจากนั้น ผู้เขียนจึงจะเสนอความเห็นของผู้เขียนว่า รูปแบบการปกครอง (form หรือ system of government) ของประเทศไทยใน(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาเปรียบเทียบกันเอาเอง (บทความ ส่วนที่ ๒ ตอนที่ ๒.๒) ; และหลังจากนั้น ในตอนท้ายของส่วนที่ ๒ ผุ้เขียนจึงจะกล่าวสรุปโดยสังเขป (ตามความเห็นของผู้เขียน) ถึง ความคิดเห็นและขีดความสามารถ(ของวงการวิชาการทางกฎหมายของไทย)โดยรวม โดยจะพิจารณาจากคำขอแปรญัตติของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๙ และจากข้อคิดเห็นขององค์กรของรัฐ ๑๒ องค์กร ( บทความ ส่วนที่ ๒ ตอนที่ ๒.๓)
บทความนี้ น่าจะเป็นบทความที่ทันต่อเหตุการณ์ ที่ทำให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาและมองเห็น ปัญหาของประเทศในอนาคต จากข้อเท็จจริง ( facts)ที่เกิดขึ้นจริง ๆต่อหน้าท่านในขณะนี้ เพราะเหตุการณ์ในปัจจุบันนี้ จะ ทำให้ท่านผู้อ่านมี โอกาสประเมินสถานการณ์ได้ด้วยตนเอง ว่า วิธีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตาม(วิธีการ)ที่ คณะปฏิรูปการปกครองฯได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิด ผลอย่างไร และต่อไป ถ้าหากจะมีการปฏิวัติหรือรัฐประหารอีกในอนาคต(หากมี) เราจะได้พิจารณาและมี ทางเลือกให้รอบคอบมากกว่านี้
ผู้เขียนเห็นว่า การวิเคราะห์โดยใช้ case study จากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ(นานาอาชีพ) พ.ศ. ๒๕๕๐ นี้ จะเป็นการวิเคราะห์ที่สำคัญที่สุด เพราะจะไม่มีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่าการเขียนรัฐธรรมนูญครั้งนี้อีกแล้ว และผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าท่านผู้อ่านอ่านบทความนี้และใช้เวลา คิดสักเล็กน้อย ท่านผู้อ่านก็พอจะสามารถคาดหมายได้ล่วงหน้า ถึงความสำเร็จหรือความไม่สำเร็จของการปฏิรูปการเมืองและอนาคตของประเทศไทย (ที่จะเกิดจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ )นี้ได้ ด้วยตัวของท่านเอง
อันที่จริง เมื่อประมาณ ๑๐ ปีมาแล้ว(ประมาณต้น ปี พ.ศ. ๒๕๔๐) ผู้เขียนได้เคยเขียนบทความบทหนึ่ง วิเคราะห์ผลงานของ สภาร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่ ๑ พ.ศ.๒๕๓๙ ซึ่งยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ (ที่ถูกยกเลิกโดยการรัฐประหารครั้งนี้)ไว้ โดยใช้ชื่อว่า การปฎิรูปการเมือง จะเกิดขึ้นได้ จริงหรือไม่ บทความบทนั้น มีความยาวประมาณ ๗๐ หน้า(จัดพิมพ์โดย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย) แต่บทความดังกล่าวอาจจะไม่ได้รับความสนใจที่กว้างขวางพอ (แม้ว่าจะมีนักวิชาการบางท่านอ้างอิงอยู่บ้าง) ทั้งนี้เพราะคนไทยตื่นเต้นไปกับนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)และนักวิชาการแบบไทย ๆ ที่พยายามให้คนไทยเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนั้น (พ.ศ. ๒๕๔๐) ว่า เป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน ; ขณะนี้ เรากำลังจะมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ฉบับที่สอง และจะมีการลงประชามติเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ในปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๐ นี้
ท่านผู้อ่านคิดว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเรา ในปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๐ นี้ จะเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขปํญหาการเมืองในอนาคตให้แก่คนไทย ได้หรือไม่ หรือรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับนี้ (อาจ) จะเป็นรัฐธรรมนูญ ที่สร้าง ปัญหาในอนาคตให้แก่คนไทย ซึ่งปัญหานั้น อาจจะร้ายแรงมากกว่าเดิม (?) (?)
(๑.๒) เราสามารถรู้ ขีดความสามารถ หรือ ขีดความไม่สามารถ ของวงการวิชาการทางกฎหมาย ได้อย่างไร
เมื่อพูดถึง ขีดความสามารถของนักกฎหมายหรือของวงการวิชาการทางกฎหมาย ก็ดูจะเป็นเรื่องของ นามธรรม - abstract หรือเป็นเรื่องของภาวะวิสัย subjective ที่ขี้นอยู่กับความเห็นของแต่ละบุคคล และหลาย ๆ ท่านคงตั้งปัญหาถามซ้ำ ๆ กัน ว่า เราจะสามารถบอกได้อย่างไรว่า ขีดความสามารถในทางกฎหมายของประเทศ(ไทย)อยู่ในระดับใด ล้าหลังหรือไม่ล้าหลัง ก็ในเมื่อเราเห็นกันอยู่ว่า ทุกวันนี้ ประเทศไทยเต็มไปด้วยนักกฎหมายที่มีปริญญาอยู่มากมาย มีทั้งปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก มีทั้งที่จบจากมหาวิทยาลัยในประเทศและมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ (มีชื่อเสียงบ้าง ไม่มีชื่อเสียงบ้าง) และนอกจากนั้น เรายังมีนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงจำนวนมากออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนให้เราฟังทุก ๆวัน และในทุก ๆ คืน เราก็มีนักวิชาการทางกฎหมายออกมาสนทนาในรายการวิทยุและโทรทัศน์ให้เราฟัง
คำตอบ ก็คือ เรารู้ได้ด้วยการทำการศึกษาวิเคราะห์ ดังเช่น การทำ case study ในบทความนี้
เราจำเป็นต้องรู้จัก ขีดความสามารถของนักวิชาการของเราก่อน จึงค่อยคิดถึง การปฏิรูปการเมือง
ความจริง ผู้เขียนได้เริ่มยก ประเด็นเรื่องขีดความสามารถของวงการวิชาการทางกฎหมายเป็นครั้งแรกเมื่อไม่นานมานี้เอง คือ ยกขึ้นกล่าวในบทความเรื่อง กระบวนทัศน -Old Paradigm ในรัฐธรรมนูญ ปัจจุบัน ( ค.ศ. ๒๐๐๖) คือในปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นี้เอง ; จริงอยู่ ในบทความบทก่อน ๆ ของผู้เขียน แม้ว่าผู้เขียนจะได้ เกริ่นถึงปัญหานี้เพื่อขอให้ท่านผู้ที่อ่านบทความของผู้เขียนให้ความสนใจไว้บ้าง แต่ผู้เขียนไม่เคย criticize อย่างชัดแจ้ง และไม่เคยใช้ คำว่า ขีดความสามารถ (ของวงการวิชาการฯ)ในบทความบทก่อน ๆของผู้เขียนมาก่อน
ขณะนี้ ผู้เขียนเห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องพูดและพิจารณาถึง ประเด็นนี้กันอย่างจริงจัง (seriously) เพราะมิฉะนั้นแล้ว (ตามความเห็นของผู้เขียน) ประเทศไทยจะไม่มีอนาคตและไม่สามารถออกจาก วงจรแห่งความเสื่อมได้
ผู้เขียนตั้งใจจะอธิบายถึง สาเหตุ ที่ทำให้ขีดความสามารถของวงการวิชาการทางกฎหมายของไทย ต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ไว้ในบทความเรื่อง กระบวนทัศน์เก่า Old Paradigm (ซี่งบทความดังกล่าวนี้ ผู้เขียนยังเขียนไม่จบ) แต่เนื่องจาก ในการเขียนบทความนี้ ซึ่งเป็นบทความที่เป็น case study ที่ผู้เขียนใช้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ( ที่ยกร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่จัดตั้งขี้นโดยคณะปฏิรูปการปกครองฯ) มา เป็นต้นแบบ เป็นบทความที่มีประเด็นศึกษาที่เกี่ยวกับ ขีดความสามารถของวงการวิชาการทางกฎหมายของไทย ในการออกแบบ design กฎหมาย (การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) เช่นเดียวกัน ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอนำปัญหานี้ ย้อนกลับมาพูดไว้ พอเป็นสังเขป
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว สังคมของเขาสามารถรู้ถึงขีดความสามารถ(หรือขีดความไม่สามารถ)ของวงการทางวิชาการทางกฎหมายของประเทศเขาได้ จากการศึกษา ผลงาน ( เขียน) ของนักกฎหมาย ที่นักกฎหมายของเขาได้แสดงออกในที่ ต่าง ๆ (ไม่ใช่สมมติขึ้นหรือเชื่อจาก ปริญญาบัตรที่นักวิชาการได้รับมา หรือจากบทบาทที่นักกฎหมายในตำแหน่งต่าง ๆ ที่ให้สัมภาษณ์ แก่สื่อมวลชน ฯ ) เช่น ในการตรวจดูความสามารถของ ผู้พิพากษา เขาก็จะตรวจสอบจากคำพิพากษาที่ผู้พิพากษาผู้นั้นเขียน ; หรือเช่น ความสามารถของ นักกฎหมาย(มหาชน)ที่รับผิดชอบยกร่างกฎหมาย เขาก็ตรวจสอบได้จากร่างกฎหมายและเอกสารอธิบายประกอบร่างกฎหมายที่นักกฎหมายผู้นั้นทำ ; หรือเช่น ความสามารถของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ก็ตรวจสอบดูได้จากตำราและบทความใน วารสารทางวิชาการ
ตัวอย่าง (คำพิพากษา เอกสารแสดงความสามารถของผู้พิพากษา ) ในเดือนพฤษภาคม ( วันที่ ๓๐) ที่ผ่านมานี้ เราเพิ่งได้มีตัวอย่างคำพิพากษาที่ดี(มาก)หนึ่งฉบับ คือ คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ชี้ขาดให้ยุบพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ที่เราคนไทยตื่นเต้นกับ คุณภาพของคำวินิจฉัยดังกล่าว
ผู้เขียนคิดว่า เพียงแต่ท่านผู้อ่าน อ่าน และนำ สาระของคำวินัจฉัยดังกล่าว ไป เปรียบเทียบกับ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีซุกหุ้น (คำวินิจฉัย ที่ ๒๐ / ๒๕๔๔ ลงวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๔) หรือกับคำวินัจฉัยคาลรัฐธรรมนูญ กรณีคุณหญิงจารุวรรณ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (คำวินิจฉัย ที่ ๔๗ / ๒๕๔๗ ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๗) หรือกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ(เดิม)ที่สำคัญ ๆ ในช่วงก่อนการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ผู้เขียนก็เชื่อว่า ท่านผู้อ่าน(แม้จะไม่ใช่นักกฎหมาย) ก็สามารถ รุ้สึกถึงความแตกต่างในคุณภาพของคำวินิจฉัย (ซึ่งตามความจริง คือ คุณภาพของตัวบุคคลที่เป็นตุลาการฯ)ได้ โดยไม่ต้องมีผู้ใดมาอธิบาย เพราะเป็นกรณีที่ชัดแจ้ง ถือเป็น self explanation
แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าการมีคำวินิจฉัยดังกล่าว ก็คือ สังคมไทยคงไม่ต้องการคำวินิจฉัยที่ดีเพียงฉบับเดียว ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอถาม ท่านผู้อ่านว่า ท่านทราบหรือไม่ว่า เราจะทำอย่างไร จึงจะทำให้คำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาล(ไม่ว่าศาลใด ๆ)ของประเทศไทย มีคุณภาพเช่นนั้น สัก ๙๐ % ของคำวินิจฉัยฯทั้งหมด และต่อเนื่องกันไปโดยไม่สิ้นสุด (เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว) และ ท่านทราบหรือไม่ว่า ถ้าจะทำให้เกิด ผลเช่นนั้น ท่านจะต้องแก้ไข กฎหมาย กี่ฉบับ
คำตอบก็คือ การที่เราจะมีคำวินิจฉัย ฯ (ของตุลาการหรือของผู้พิพากษา) ที่ดีต่อเนื่องกันไปในอนาคตโดยไม่มีที่สิ้นสุดนั้น ขึ้นอยู่กับตัวบทกฎหมายหลายประเภทและหลายฉบับ คือ กฎหมายเกี่ยวกับที่มาของตุลาการและผู้พิพากษา / กฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความ / และกฎหมายว่าด้วยการจัดส่วนราชการ (กระทรวงยุติธรรม ฯลฯ) และจะต้องแก้ไขกฎหมายเหล่านั้นพร้อม ๆ กัน ; และถ้าเราจะทำให้กฎหมายเหล่านั้น เป็น กฎหมาย(ที่ดี) เราต้องการนักกฎหมายมหาชนที่มี ขีดความสามารถสูงพอในการออกแบบ (design)กฎหมายที่ดี ; และนี่ คือ ความสำคัญของ นักกฎหมายมหาชน
ตัวอย่าง ( ร่างกฎหมาย - เอกสารแสดงความสามารถของนักกฎหมายมหาชน) เพื่อแสดงให้เห็นว่าความสามารถของนักกฎหมายมหาชน(ของประเทศไทย)ในการยกร่างกฎหมาย อยู่ในระดับใด ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างทั้งในอดีตและในปัจจุบัน คือ ในอดีด ผู้เขียนขอกล่าวถึงกฎหมายที่ผ่านมา ๒ ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ ออกใช้บังคับในสมัยรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๖ ออกใช้บังคับในสมัยรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย (กรณีการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต) ; และสำหรับตัวอย่างในปัจจุบัน ผู้เขียนขอกล่าวถึง(ร่าง)กฎหมาย ๒ ฉบับ ในสมัยรัฐบาลของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ คือ (ร่าง)พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ....... เสนอโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ และ (ร่าง) พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ..... เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม ที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายน และ(จะ)ออกใช้บังคับในสมัยของคณะรัฐบาลปัจจุบัน
ผู้เขียนคงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง ข้อเท็จจริงว่า อะไรเกิดขี้นจากกฎหมาย ๒ ฉบับและ(ร่าง)กฎหมายอีก ๒ ฉบับ รวมเป็น ๔ ฉบับดังกล่าว เพราะยังเป็นเหตุการณ์ในปัจจุบัน ที่ท่านผู้อ่านสามารถหาอ่านได้จากสื่อมวลชนทุก ๆ วัน และถือเป็นกรณี self explanation เช่นเดียวกัน [ หมายเหตุ : พระราชบัญญัติ ๒ ฉบับแรก เป็น เครื่องมือของนักการเมือง (ที่มาจากการเลือกตั้ง) ในการทุจริตคอร์รัปชั่นขายทรัพย์สินของสาธารณะ นับเป็นจำนวนแสนล้านบาท และ(ร่าง) พระราชบัญญัติ ๒ ฉบับหลัง เป็น(ร่าง)กฎหมายที่ก่อให้เกิดการขัดแย้งถึงขั้นพื้นฐาน โดย(ร่าง) ฉบับแรก ก่อให้เกิดความการขัดแย้งระหว่างกลุ่มองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นกับพลังมวลชนนอกระบบราชการ นับได้หลายหมื่นคน และ(ร่าง)ฉบับที่สอง ก่อให้เกิดการขัดแย้งระหว่างข้าราชการสองประเภท คือ ข้าราชการตำรวจกับข้าราชการกระทรวงยุติธรรม นับเป็นแสนคน ]
ความจริง ตัวอย่างของกฎหมายและ(ร่าง)กฎหมาย ที่แสดงให้เห็นถึง ขีดความ(ไม่)สามารถของนักกฎหมายมหาชน(ในการยกร่างกฎหมาย)นั้น มีอยู่มากมายและอาจพูดได้ว่าสามารถยกมาเป็น ตัวอย่างได้(เกือบ)ทุกเรื่องโดยไม่จำเป็นต้องเลือก ; กฎหมายฉบับใดก็ตามเมื่อประกาศใช้(หรือจะประกาศใช้)บังคับแล้ว มี ปัญหาความโต้แย้งที่ผิดปกติเกิดขึ้น ย่อมนำมาเป็น ตัวอย่างของความ(ไม่)สามารถของนักกฎหมายมหาชนและนำมาวิเคราะห์ได้ทั้งสิ้น
และแน่นอน ตัวอย่างที่สำคัญที่สุด ก็คือ ตัวอย่างการออกแบบ(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เป็น case study ของบทความนี้นั่นเอง
ตัวอย่าง ( ตำราและบทความวิชาการ - เอกสารแสดงความสามารถของนักวิชาการในมหาวิทยาลัย) ใน ประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจารย์หรือศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย(ของเขา )เป็นแหล่งความคิดทางวิชาการของสังคม และได้รับความเชื่อถือจากสังคม ; ความเชื่อถือ(ในนักวิชาการ)ของสังคมของเขาเกิดจาก คุณภาพของอาจารย์ฯเหล่านั้น ที่ได้แสดงออกในตำราหรือในวารสารทางวิชาการของบรรดาอาจารย์หรือศาสตราจารย์เหล่านี้ ความเชื่อถือของเขาต่อวงการวิชาการ(ของเขา) มิได้มาจากการมีบทบาททางการเมืองของอาจารย์ ฯ
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคงจะไม่ให้ความเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของเราที่มีบทบาทในทางการเมืองอยู่ในขณะนี้ เพราะในบางครั้ง สภาพทางการเมืองของประเทศไทย(ซึ่งยังไม่เป็น ประเทศที่พัฒนาแล้ว) ก็ยังคงต้องการบทบาทของอาจารย์ในทางการเมือง แต่ผู้เขียนอยากจะให้ ข้อคิดไว้เป็นข้อสังเกต ๒ ประการ คือ ประการแรก อาจารย์ที่มิได้ศึกษามาทางสาขานิติศาสตร์มักจะคิดว่า การให้ความเห็นทางกฎหมายนั้นง่าย ให้ความเห็นอย่างไรก็ได้ ไม่มีผิด แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น ความเห็นทางกฎหมาย(ที่ผิด)แต่ใด้ถูก ปล่อยให้ผ่านไปนั้น มิได้หมายความความว่าความเห็นนั้นเป็นความเห็นที่ถูกต้อง แต่เป็นเพียงเพราะว่า วงการวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่ได้รับการพัฒนาให้อยู่ในสภาพที่ติดตามวิเคราะห์เอาเหตุผล ความถูกต้องมาเสนอต่อประชาชนได้ และประการที่สอง อาจารย์ที่ศึกษาทางสาขานิติศาสตร์ บางครั้งก็อาจลืมคิดไปว่ากฎหมายนั้นมีหลายสาขาและในหลาย ๆ กรณี ต้องการการศึกษาเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และในการให้ความเห็นทางกฎหมาย(ของนักกฎหมาย) สังคมต้องการ การ ให้เหตุผลที่อธิบายครบถ้วนในทุกด้าน และมีการชั่งน้ำหนักให้ตรงตามเจตนารมณ์ของ กฎหมาย ; การให้ความเห็นทางกฎหมาย(ที่ดี) จึงมิใช่เป็นการอธิบายให้ เหตุผลเพียงด้านเดียว ที่สนับสนุนความเห็น(ข้อยุติ)ของตนเอง ; นักกฎหมายในฐานะนักกฎหมาย จึงต้องมีความเป็นกลาง
เมื่อเร็ว ๆ นี้(เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน) เราก็มี ตัวอย่าง ที่ปรากฎให้เห็นอยู่ในสื่อมวลชนอยู่หลาย กรณีพอสมควร เช่น คำแถลงการณ์ของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการย้อนหลังของการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของนักการเมือง และการร่วมลงชื่อของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งประกาศเรียกร้องให้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายหรือร่างกฎหมยบางฉบับ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า การให้ความเห็นในกฎหมายหรือร่างกฎหมายดังกล่าว ต้องการการศึกษาวิเคราะห์ ก่อนที่จะให้ความเห็นต่อสาธารณะ
สิ่งที่ผู้เขียนกังวล ก็คือ ในสังคมที่มีสภาพอ่อนแอ(เช่นสังคมไทย) การให้ความเห็น(ที่ไม่ครบถ้วน)ของนักกฎหมายก็ดีและบทบาทของนักวิชาการ(ที่มีลักษณะทางการเมืองมากกว่าวิชาการ )ก็ดี ย่อมทำให้สังคมไทยเกิดความเข้าใจสับสน และถ้าปรากฎว่า สังคม(คนส่วนใหญ่) เข้าใจผิดในปัญหาสำคัญของประเทศ และไม่มั่นใจในแหล่งความรู้ของนักวิชาการ ( ซึ่งเป็น ชนชั้นนำ กลุ่มสำคัญของสังคม)แล้ว การบริหารประเทศก็จะไร้ทิศทาง
การทำความเข้าใจในทางวิชาการในระหว่างนักวิชาการด้วยกัน คงสามารถทำความถูกต้องให้ปรากฏได้ ถ้าหากมีเวลาพอที่จะศึกษาวิเคราะห์และชี้แจงเหตุผล แต่การสร้างความเข้าใจ(ที่ถูกต้อง)ให้แก่สังคม(คนส่วนใหญ่)ที่เข้าใจผิดไปแล้วตั้งแต่ต้นนั้น ยากที่จะแก้ไขได้ ดังนั้น ตามความเห็นของผู้เขียน การให้ความรู้แก่สังคม (ในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง) เป็นครั้งแรก จึงมีความสำคัญมาก ดีกว่าการติดตามไปแก้ความเข้าใจผิดที่ได้เกิดขึ้นแล้ว (ซึ่งอาจไม่มีโอกาสเลย) ; ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนโดยส่วนตัวในฐานะนักวิชาการ จึงชอบที่จะให้ความเห็นต่อสาธารณะด้วยความระมัดระวัง และไม่ว่าการให้ความเห็นของผู้เขียนจะสั้นหรือยาว ผู้เขียนก็จะต้องแน่ใจว่า การให้ความเห็นของผู้เขียน เป็นการให้ความเห็นที่มีความครบถ้วนจากการพิจารณาหลายด้านและเป็นความเห็นที่ผู้เขียนแน่ใจว่าเป็นความเห็นที่ถูกต้องบนพื้นฐานทางวิชาการ
เท่าที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงให้ท่านผู้อ่านได้ทราบว่า สังคมมีวิธีติดตามและประเมิน ขีดความสามารถของวงการวิชาการทางกฎหมายได้อย่างไร แต่ในบทความนี้ ผู้เขียนคงจะกล่าวถึงเฉพาะการวิเคราะห์ เพื่อตรวจสอบขีดความสามารถของนักกฎหมายมหาชนในด้านการออกแบบ(ยกร่าง)กฎหมายเท่านั้น และจะทำการวิเคราะห์โดยใช้ (ร่าง) รัฐธรรมนูญ ปัจจุบัน(ที่กำลังจะมีการประชามติ ในวันที่ ๑๙ สิงหาคม นี้) ที่ยกร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (และคณะกรรมาธิการยกร่างฯ) มาเป็น case study (โดยจะยังไม่กล่าวถึง การวิเคราะห์ตรวจสอบขีดความสามารถของตุลาการและของนักวิชาการในมหาวิทยาลัย)
(อ่านต่อ)
หน้า 3
หน้า 4
หน้า 5
หน้า 6
หน้า 7
หน้า 8
หน้า 9
หน้า 10
หน้า 11
หน้า 12
หน้า 13
หน้า 14
หน้า 15
หน้า 16
หน้า 17
หน้า 18
หน้า 19
หน้า 20
หน้า 21
หน้า 22
หน้า 23
หน้า24
หน้า 25
หน้า26
หน้า 27
หน้า28
หน้า 29
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|