หน้าแรก บทความสาระ
สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า ๒๔)
ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
7 กุมภาพันธ์ 2551 14:17 น.
 
(๓) ความล้มเหลวในการปฏิบัติ “ภารกิจ”ของคณะปฏิรูปการปกครอง ฯ ( ที่แสดงให้เห็นถึง “ความไม่รู้”และ “ความไม่เสียสละ” ของคณะปฏิรูปการปกครอง ฯ) ; ความในหัวข้อนี้ อาจจะยาวกว่าสองข้อก่อน เพราะเป็นหัวข้อที่ต้องมีการทบทวนทั้ง“ข้อเท็จจริง” และ“หลักวิชาการ”ไปพร้อม ๆ กัน
       เมื่อเราได้ทราบ “ภารกิจ(สองประการ)”ของการทำรัฐประหารมีอย่าไรแล้ว ต่อไปนี้เราลองมาพิจารณาดูว่า ทำไม “คณะปฏิรูปการปกครองฯ” จึงไม่สามารถทำให้ภารกิจดังกล่าวบรรลุผลได้ ; คำตอบอย่างง่าย ๆ ก็คือ การที่คณะปฏิรูปการปกครองฯไม่สามารถทำภารกิจให้สำเร็จ ก็เพราะคณะปฏิรูปการปกครองฯไม่มี “ความรู้”และไม่มี “ความเสียสละ”; แต่ ปัญหามีว่า อะไร คือ “ความรู้”หรือ “ความเสียสละ” ที่คณะปฏิรูปการปกครองฯควรรู้หรือควรมี ( แต่คณะปฏิรูปการปกครองฯ ไม่รู้หรือไม่มี)
       
       (๓.๑) “รัฐธรรมนูญ - ชั่วคราว ” ในฐานะที่ เป็น เครื่องมือในการกำหนดวิธีการ ที่จะทำให้ “ภารกิจของการรัฐประหาร”ให้สำเร็จ : ซึ่งในการรัฐประหาร (วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙) “เครื่องมือ” ซึ่งจะเป็นวิธีการที่ทำให้ภารกิจของ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ให้สำเร็จ ก็คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ประกาศใช้บังคับ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙
       “ผลงาน” เป็นตัวชี้วัด (KPI ) ประสิทธิภาพ ในการทำงานของสถาบันต่าง ๆ ตามที่ได้จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙
       ขณะนี้ ผู้เขียนคงไม่จำเป็นต้องประเมินผลงานของสถาบันเหล่านี้ เพราะขณะนี้ (มกราคม ๒๕๕๑) “ผล”ของการทำงานของสถาบันต่าง ๆ ( คือ สภาร่างรัฐูธรรมนูญ – นานาอาชีพ / สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) / และคณะรัฐบาล – คณะรัฐมนตรี ) ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ชัดอย่างแน่นอนแล้วว่า “ภารกิจของการรัฐประหาร”ทั้งสองประการของคณะปฏิรูปการปกครองฯไม่ประสบความสำเร็จ และการทำรัฐประหาร วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ล้มเหลว โดยสิ้นเชิง และทำให้เราคนไทยกลับมาสู่ “ที่เดิม” ก่อนการรัฐประหาร วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙
       แต่ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่า เรา(คนไทย)ควรจะต้องทราบว่า เพราะเหตุใด “คณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” จึงล้มเหลว เพื่อต่อไปข้างหน้า เราจะได้ปฏิรูปการเมืองได้ดีกว่านี้ ไม่ว่าเราจะปฏิรูปการเมืองด้วยวิธีใด
       
       • จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙ เราจะเห็นได้ว่า ภารกิจประการแรก (การจัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้มอบหมายให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ – นานาอาชีพ” และ ภารกิจประการที่สอง(การบริหารราชการแผ่นดิน) คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้มอบหมายให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ “รัฐบาล –คณะรัฐมนตรี” กับ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)”
       ความสำเร็จ หรือ ความไม่สำเร็จ ของ “ภารกิจ”(ทั้งสองประการ)ของคณะปฏิรูปการปกครองฯ ย่อมขึ้นอยู่กับ การออกแบบ “การจัดองค์กร”( ซึ่งได้แก่ ที่มา / องค์ประกอบ(บุคคล) / อำนาจหน้าที่ / เงื่อนไขและวิธีทำงาน/ ฯลฯ) ของสถาบันหรือองค์กรต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙ กำหนดขึ้น; ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดังกล่าว กำหนด(ออกแบบ)การจัดองค์กรของสถาบันฯ ต่าง ๆ ได้ดีและเหมาะสมกับ “ภารกิจ” ภารกิจนั้นก็สำเร็จ ; ถ้ากำหนด (ออกแบบ)ไม่ดี ไม่เหมาะสมกับภารกิจ ภารกิจนั้นก็ไม่สำเร็จ [หมายเหตุ ถ้าท่านผู้อ่านอยากทราบว่า การออกแบบ(เขียน)กฎหมาย ( เขา)ทำกันอย่างไร จึงจะเป็นการออกแบบ(กฎหมาย)ที่ดี ขอให้ท่านผู้อ่านได้โปรดย้อนไปดู “ตัวอย่าง”ของการออกแบบการเขียนกฎหมาย ที่ผู้เขียนได้เขียนไว้ในตอนแรก ๆ ของบทความนี้ ว่าด้วย การออกแบบ - Section ๓๐๑ ของกฎหมายการค้าของสหรัฐอเมริกา ]
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ เป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบ สภาร่างรัฐธรรมนูญ / สภานิติบัญญัติแห่งชาติ /รัฐบาล – คณะรัฐมนตรี ไม่เหมาะสมกับภารกิจ จึงทำให้ภารกิจทั้งสองประการไม่ประสบความสำเร็จ
       

       • “ผู้ใด”เป็น ผู้รับผิดชอบในการเขียน(ออกแบบ) “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ; ผู้เขียนเห็นว่า ผู้ที่ต้องรับผิดชอบในความล้มเหลวของ “การปฏิรูปการเมือง” ซึ่งเป็นผลมาจากการออกแบบรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.๒๕๔๙ ที่ไม่เหมาะสมกับภารกิจ ได้แก่ elite ของสังคมไทย ๒ ประเภท (หรือจำพวก)
       elite ประเภทแรก ที่ต้องรับผิดชอบในลำดับแรก ได้แก่ นักการเมือง(จำเป็น) คือ “คณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”นั่นเอง ; เพราะคณะปฏิรูปการปกครอง ฯ เป็นผู้ตัดสินใจให้นำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดังกล่าวมาประกาศใช้บังคับ ; “คณะปฏิรูปการปกครองฯ”ทำการรัฐประหารมาแล้ว แต่ขาด “ความรู้” และตัดสินใจผิดในเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะคณะปฏิรูปการปกครองฯ ควรจะต้องทราบดีว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว (เครื่องมือในการกำหนดวิธีการในการทำ “ภารกิจ”)นั้น เมื่อได้ประกาศใช้บังคับไปแล้ว (ในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙) ย่อมแก้ไขไม่ได้(ในทางปฏิบัติ) และดังนั้น จะต้องระมัดระวังใน “คุณภาพ”ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวให้มากที่สุด
       เราสามารถบอกได้ทันที ว่า ภารกิจของการรัฐประหารจะล้มเหลวอย่างแน่นอน ตั้งแต่วันแรก ๆ ที่เพิ่งทำการรัฐประหารเสร็จใหม่ ๆ คือ เพียง ๑๑ วัน นับจากวันที่ทำการรัฐประหาร วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ถ้าเรามี “ความรู้”ว่า รูปแบบของสถาบันหรือองค์กรต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙ กำหนดขึ้นนั้น ไม่เหมาะสมกับ “ภารกิจ”
       elite ประเภทที่สอง ที่จะต้องรับผิดชอบ ฯ ; แน่นอนว่า ในการเขียนรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ ( “เครื่องมือ”ในการกำหนดวิธีการในการทำภารกิจ ) ย่อมต้องมีนักกฎหมาย(มหาชน)หรือนักวิชาการ ที่มีส่วนในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ รวมอยู่ด้วย เพราะคณะปฏิรูปการปกครองฯมิได้เขียนขึ้นเอง
       ดังนั้น ผู้ที่ต้องรับผิดชอบในลำดับรองลงไป ก็คือ นักกฎหมายหรือนักวิชาการ ที่ทำการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งจะต้องรับผิดชอบใน “ฐานะ”ที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพ ; และเหตุผลหนึ่ง(ซึ่งอาจมีได้หลายเหตุผล)ในการออกแบบผิดพลาด ก็คือ นักกฎหมายหรือนักวิชาการที่ได้ยกร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว เหล่านี้ ยังมีขีดความรู้ไม่สูงพอในการ(เขียน) ออกแบบการจัดองค์กร(ที่ดี) ขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ (สภาร่างรัฐธรรมนูญ – นานาอาชีพ) เพื่อจะทำให้ภารกิจของคณะปฏิรูปการปกครองสำเร็จ
       ต่อไปนี้ เราลองมาพิจารณาในเชิงวิเคราะห์ทางวิชาการ (อย่างสังเขป)ว่า ภารกิจสองภารกิจนี้ในแต่ละภารกิจ ล้มเหลวเพราะเหตุใด
       
       (๓.๒) ทำไม ภารกิจประการแรก - การจัดให้มีรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ของ “คณะปฏิรูปการปกครองฯ” จึงล้มเหลว (?) ; “ภารกิจ”ที่เป็นเป้าหมายสำคัญของ “คณะปฏิรูปการปกครองฯ”ในการทำรัฐประหารที่จะต้องทำให้สำเร็จ คือ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่(ที่ดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิม) ซึ่งจะเรียกว่า การปฏิรูปการเมือง ; ซึ่ง ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้มอบหมายภารกิจนี้ ให้แก่ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ – นานาอาชีพ”( เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ – ฉบับถาวร)
       สภาร่างรัฐธรรมนูญนี้ ได้เริ่มทำงานตั้งแต่ต้นปี (เดือนมกราคม) พ.ศ. ๒๕๕๐ และขณะนี้( เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ) หลังการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ ๒๓ ธันวาคม คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้นำเรา(คนไทย) กลับมาสู่ “ที่เดิม”ก่อนการรัฐประหาร (วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙) ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า ท่านผู้อ่านสามารถมองเห็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องอธิบาย คือ
       จาก “รัฐบาลเดิม”ของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่ได้ถูกล้มไปเพราะการรัฐประหาร เรากลับมาสู่การมี “รัฐบาลใหม่”ของพรรคการเมือง(ชื่อ)ใหม่ ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ยอมรับอย่างเปิดเผยว่าเป็นพรรคการเมืองที่เป็น “พรรคโนมินี”ของพรรคการเมืองเดิม ของกลุ่มนักการเมือง(เดิม) ซึ่งเป็นกลุ่มนายทุนธุรกิจชุดเดิม [ หมายเหตุ : และล่าสุดก็คือ ศาลยุติธรรม(ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง)ได้วินิจฉัย ยกคำร้องของผู้ที่มาร้องต่อศาลในประเด็น “ความเป็นโนมินีของพรรคการเมืองพรรคใหม่” โดยศาลยุติธรรมเห็นว่า เป็นคดีพรรคการเมือง ไม่ใช่คดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งตามมาตรา ๒๑๙ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ จึงไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยของศาลฎีกา ; คำสั่งศาลฎีกา ที่ ๗๗ / ๒๕๕๑ โดย นายชาลี ทัพภวิมล นายสิทธิชัย พรหมศร นายวิเชียร มงคล ผู้พิพากษา ลงวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๑ อ่านเวลา ๑๖.๐๐ น.]
       และจาก “รัฐธรรมนูญ ฉบับเดิม พ.ศ. ๒๕๔๐” (ที่ถูกรัฐประหารยกเลิกไป ) ซึ่งมี form of government เป็น “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ)”(ประเทศเคียวในโลก) ที่มีบทบัญญัติให้ ส.ส ต้องสังกัดพรรคการเมือง / พรรคการเมืองมีอำนาจบังคับให้ ส.ส. ต้องปฏิบัติตามมติของพรรค / นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. (เท่านั้น) เรากลับมาสู่การมี “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๐” ซึ่งมี form of government ที่ยังเป็นระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ) เหมือนเดิมหรือหนักยิ่งกว่าเดิม
       
ผู้เขียนคิดว่า ในการที่จะตอบคำถามว่า ทำไม การร่าง “รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ (ฉบับปัจจุบัน)” ของคณะปฏิรูปการปกครอง จึงล้มเหลว (?) วิธีตอบคำถามที่ดีที่สุดและเข้าใจได้ง่ายที่สุด น่าจะได้แก่ การอธิบายว่า ถ้าเราต้องการ(ร่าง)รัฐธรรมนูญ (ฉบับถาวร)ที่ดีสักฉบับหนึ่ง เราจะต้องมี “ความรู้”อะไรบ้าง และต้อง “ทำ” อะไรบ้าง ; เพราะ “อะไร”ก็ตาม ที่ผิดแผกแตกต่างออกไปจากนี้ ก็คือ “สาเหตุ”แห่งความล้มเหลวของคณะปฏิรูปการปกครองฯ ในการจัดหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ที่ดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเก่า) นั่นเอง ; เราลองมาพิจารณาดู โดยเรียงลำดับ “หัวข้อ” ดังต่อไปนี้
       
       • “จุดหมาย”และปรัชญาของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือ อะไร ; เราคงต้องเริ่มต้น(อย่างสั้น ๆ )ด้วยการทำความเข้าใจว่า “อะไร ” คือ จุดหมายของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
       เราทราบอยู่แล้วว่า แต่เดิม เมื่อ ๒๐๐ – ๓๐๐ ปีก่อน คือก่อนที่เราจะมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยเช่นในปัจจุบัน ประเทศต่าง ๆ ต่างก็ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีพระราชอำนาจสูงสุดและเด็ดขาดแต่ผู้เดียว ; และตามประวัติศาสตร์ของประเทศในยุโรป ก็จะพบว่า ในบางครั้ง พระมหากษัตริย์ก็มิได้ใช้อำนาจ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม (เช่น เก็บภาษีไป แต่มิได้นำไปใช้เพื่อประโยชน์ในการป้องกันประเทศ ฯลฯ) และในบางครั้ง ก็ละเมิดสิทธิเสรีภาพของเอกชนโดยไม่จำเป็น (เช่น การบังคับให้ถือศาสนาตามพระมหากษัตริย์ หรือการเกณฑ์ราษฎรเพื่อใช้แรงงานในสิ่งที่ไม่ใช่สาธารณประโยชน์ หรือไม่ใช่ในภาวะสงครามเพื่อการป้องกันประเทศ เป็นต้น )
       ดังนั้น จึงได้มีนักคิด (นักปรัชญา)คิด “หลักการ”ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยถือว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ; แต่เนื่องจากประชาชนมีจำนวนมากไม่สามารถเข้ามาบริหารประเทศพร้อม ๆ กันได้ จึงได้มี “การเลือกตั้ง”เพื่อให้มี ผู้แทน(ราษฎร) เข้ามาใช้ “อำนาจรัฐ”แทนประชาชน ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นหลักประกันว่า “การใช้อำนาจรัฐ”นั้น จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน และการจำกัดสิทธิเสรีภาพของเอกชนนั้น ได้ทำไปเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน (ทั้งนี้ โดยในขณะนั้น ยังมิได้พูดถึงปัญหาว่า ผู้แทนราษฎร ก็อาจใช้ “อำนาจรัฐ”เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของตนเองได้ เช่นเดียวกันกับกษัตริย์ )
       ผู้เขียนคงไม่จำเป็นต้องไปกล่าวอ้างตำราของนักปราชญ์ท่านใดเพราะเป็นที่รู้ ๆกันอยู่แล้ว โดย ผู้เขียนขอสรุปและกล่าวอย่างสั้น ๆ ว่า “จุดหมาย”และปรัชญาของการปกครองระบอบประชาธิปไตย คือ การบริหารประเทศ ที่มุ่งไปสู่ ประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนหรือสังคม และการประสานประโยชน์ ระหว่างประโยชน์ของปัจเจกชน(เอกชน) กับประโยชน์ส่วนรวมของสังคม
       
       • “การเลือกตั้ง” เป็น วิธีการที่จำเป็นของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ; เราได้ทราบแล้วว่า “ประชาธิปไตยโดยทางผู้แทน – representative democracy”เกิดขึ้น เพราะเป็นความจำเป็นอันเนื่องจากพลเมืองในแต่ละประเทศมีเป็นจำนวนมาก จะให้พลเมืองทั้งหมดมาใช้ “อำนาจอธิปไตย”ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ ดังนั้น โดยหลักการ กลไก (mechanism)ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นประชาธิปไตยโดยทางผู้แทน และการจะมีผู้แทนได้ก็ต้องมี “การเลือกตั้ง” ; ดังนั้น การเลือกตั้ง จึงเป็น “วิธีการที่จำเป็น”ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่มิใช่ “จุดหมาย”ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
       สำหรับ “การมีส่วนร่วมของประชาชน”ซึ่งเป็นวิธีการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างหนึ่งในปัจจุบัน แต่การนำมาใช้จะมากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับ “ปัจจัย”หลายๆ ประการในแต่ละกรณี เช่น ความยากง่ายของเรื่อง / ความสำคัญของเรื่อง / ความรู้และประสบการณ์ของประชาชน / ประโยชน์ของส่วนรวมของชาติกับประโยชน์ของท้องถิ่น / ประโยชน์ของกลุ่มผลประโยชน์เฉพาะบางกลุ่มกับประโยชน์ของกลุ่มผลประโยชน์โดยทั่วไป / ฯลฯ ; ปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่ “ การมีส่วนร่วมของประชาชน”ในหลาย ๆ รูปแบบและในหลาย ๆ เงื่อนไข เช่น การจำกัดคุณสมบัติของประชาชนผู้มีส่วนร่วม / การจำกัดพื้นที่ในการรับฟังความเห็นของประชาชนผู้มีส่วนร่วม / การให้น้ำหนักของความเห็นของประชาชนที่มีส่วนร่วม / การแบ่งประเภทของการมีส่วนร่วมของประชาชน ฯลฯ ; ทั้งหมดนี้ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ ที่มุ่งต่อ “ประโยชน์แก่ส่วนรวม” อันเป็นจุดหมายของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
       เท่าที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า “การเลือกตั้ง(ผู้แทนราษฎร)”เป็นวิธีการที่จำเป็น(ต้องมี)ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะ แตกต่างกับ “จุดหมายของการปกครองระบอบประชาธิปไตย” เพราะจุดหมายของการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีจุดหมายเดียว คือ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมและการประสานประโยชน์ ระหว่างประโยชน์ของปัจเจกชนกับประโยช์ส่วนรวม และจะไม่เปลี่ยนแปลง ; แต่“การเลือกตั้ง(ผู้แทนราษฎร)”ซึ่งเป็นวิธีการที่จำเป็น(ต้องมี)ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีได้หลายระบบ - หลายรุปแบบ เช่น ระบบประธานาธิบดี / ระบบรัฐสภาแบบดั้งเดิม conventional system / ระบบพรรคการเมืองพรรคเดียวของประเทศสังคมนิยม / ระบบรัฐสภาแบบ semi – parliamentary system / ฯลฯ และระบบปลีกย่อยต่าง ๆ ; รูปแบบเหล่านี้ ได้ถูกกำหนดขึ้น ให้เหมาะสมและสอดคล้อง กับสภาพของสังคมวิทยาและวัฒนธรรมของชุมชนและสภาพการบริหารพื้นฐาน ของแต่ละประเทศ ที่มีวิวัฒนาการในทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แตกต่างกัน ; ทั้งนี้ เพื่อทำให้ “สถาบันการเมือง” (ที่มาจากการเลือกตั้ง ตามรูปแบบที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ) ใช้อำนาจรัฐให้เป็น “ประโยชน์ส่วนรวม” อันเป็นจุดหมายของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
       “การเลือกตั้ง” และ “ประชาธิปไตย” ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ; คำพูดที่นักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)และนักวิชาการของเรา ชอบพูดให้เราฟังว่า “ให้เรามีการเลือกตั้ง เพื่อเราจะได้เป็นประชาธิปไตย” จึงเป็นคำพูดที่สร้างความเข้าใจผิดให้แก่คนไทยทั้งประเทศ เพราะทำให้คนไทยคิดว่า การเลือกตั้งเป็น “จุดหมาย”ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ; ซึ่งความจริง ไม่ใช่เช่นนั้น ; เพราะ “ประชาธิปไตย”หมายถึง จุดหมาย ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย( คือ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม) แต่“การเลือกตั้ง”เป็นเพียงวิธีการ(ที่จำเป็น)เพื่อให้ได้มีผู้แทนของประชาชน ซึ่งมีวิธีการได้หลายรูปแบบ
       ดังนั้น ถ้าการเลือกตั้งของเราก่อให้เกิด “การผูกขาดอำนาจรัฐ”ในระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)และเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น ; ผู้เขียนคิดว่า เรา(คนไทย)มี “หน้าที่”ที่จะต้องทบทวนรูปแบบของ “การเลือกตั้ง” (และอำนาจของผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง)”ที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของเรา
       
       
• รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร (written constitution) เป็น“เครื่องมือ”ของรัฐสมัยใหม่ (modern state) ในการวาง “กฎเกณฑ์การบริหารประเทศ” เพื่อให้การบริหารประเทศเป็นไปตาม “จุดหมาย”และปรัชญาของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
       
รัฐธรรมนุญ (ฉบับถาวร) จะต้องกำหนด “จุดหมาย”และ ปรัชญาของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และจะต้องกำหนด “ระบบสถาบันการเมือง”- form of government (ซึ่งจะต้องมีการเลือกตั้ง) ที่จะทำให้“จุดหมาย”และ ปรัชญาของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย บังเกิดเป็นผลที่ดีที่สุด
       โดยปกติ รัฐธรรมนูญของทุกประเทศ จะมีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับจุดหมายและปรัชญาของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอยู่อย่างหลากหลาย ทั้งที่เป็นบทบัญญัติโดยตรงที่กำหนด เจตนารมณ์ที่เป็นจุดหมายและปรัชญาของการปกครองระบอบประชาธิปไตยไว้โดยชัดแจ้ง และทั้งที่เป็นบทบัญญัติเฉพาะเรื่องที่แสดงให้เห็นเจตนารมณ์อยู่ในบทบัญญัติต่าง ๆ
       “form of government – ระบบสถาบันการเมือง”ที่ดี ก็คือ ระบบบริหารประเทศ ที่มี “รัฐบาล”ที่มีประสิทธิภาพและมีเสถียรภาพ และมีกลไกที่กำกับให้การบริหารของ “รัฐบาล”อยู่ในกรอบของจุดหมายและปรัชญาของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ; แต่ในบรรดา form of government ในรัฐธรรมนูญของประเทศต่างทั่วโลก ผู้เขียนไม่เคยพบว่า มีรัฐธรรมนูญของประเทศใดในโลกที่ใช้ “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง” ที่มีบทบัญญัติให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค / ให้พรรคการเมืองมีอำนาจบังคับให้ ส.ส. ต้องปฏิบัติตามมติของพรรค / จำกัดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. (เท่านั้น) เหมือนประเทศไทย แม้แต่ประเทศเดียว
       บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแยกออกได้เป็นหลาย “ส่วน” ตามที่ได้เคยกล่าวมาแล้ว และส่วนที่สำคัญที่สุดของการเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญ ก็คือ “form of government หรือ ระบบสถาบันการเมือง”; ซึ่ง (ตามที่ผู้ขียนได้กล่าวไว้ในตอนแรก ๆ ของบทความนี้) ปรากฏว่า นักวิชาการไทย ไม่ว่าจะเป็นนักกฎหมายหรือนักวิชาการสาขาอื่น (อาจ)ไม่รู้จัก หรือไม่สนใจ เรื่อง form of government เพราะ ตลอดระยะเวลาของการร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญ(นานาอาชีพ)ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ทั้งปี ผู้เขียนไม่พบว่า มีนักวิชาการท่านใด(ทั้งที่เป็นสมาชิกในสภาร่างรัฐธรรมนูญ และมิได้เป็นสมาชิก) กล่าวถึง “ form of government – รูปแบบของการปกครอง”แม้แต่คนเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การสอนวิชานิติศาสตร์และวิชารัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของไทย ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และทำให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญของเรา ไม่มี “ความรู้”ในระดับมาตรฐานสากลที่จะทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ
       ตามปกติ ในการออกแบบ(เขียน)รัฐธรรมนูญของต่างประเทศ(ทั้ง ฉบับ)นั้น ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ(ของเขา)จะพิจารณาและเขียนบันทึกประกอบรัฐธรรมนูญโดยอธิบายประเด็นที่สำคัญที่สุดก่อน คือ อธิบายประเด็นเรื่อง form of government – รูปแบบของการปกครอง ว่า รัฐธรรมนูญของเขา กำหนด “form of government”อย่างไร เพราะเหตุใด / มีข้อที่จะต้องปรับแก้(rationalize) form of government อย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด / ระบบถ่วงดุลอำนาจเพื่อป้องกันมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจหรือระบบเผด็จการ เป็นอย่างไร ฯลฯ รวมตลอดไปถึง รูปแบบ (ที่มา – อำนาจหน้าที่ –วิธีพิจารณาหรือวิธีทำงาน)ของศาลหรือองค์กรอิสระต่าง ๆ ฯลฯ
       แต่สภาร่างรัฐธรรมนูญ(นานาอาชีพ)ของเรา ยกร่างรัฐธรรมนูญแตกต่างไปจากต่างประเทศ และดูเหมือนว่า จะเป็นการพิจารณาและร่างรัฐธรรมนูญตามสามัญสำนึก (common sense) “เพื่อความเป็นประชาธิปไตย” ; ดังจะเห็นได้จาก ประเด็นสำคัญในการร่างรัฐธรรมนุญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ ตามที่ปรากฏในแนวทาง ๔ แนวทาง ใน คำชี้แจง สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช.... ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (นานาอาชีพ) ที่เริ่มต้นด้วย “แนวทางที่ หนึ่ง – การขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างเต็มที่ ซึ่งผู้เขียนก็ไม่อาจทราบว่า เพราะเหตุใด สภาร่างรัฐธรรมนูญของเราจึงเริ่มต้นเช่นนั้น ซึ่ง อาจเป็นไปได้ว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญ(นานาอาชีพ)ของเรา ไม่ทราบว่า “จุดหมาย”และ ปรัชญาของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือ อะไร ; และ “แนวทางที่สอง – ลดการผูกขาดอำนาจรัฐ ฯ” แต่ปรากฎว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญ(นานาอาชีพ)ของเรา ยังคงใช้ “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง”(ซึ่งเป็นประเทศเดียวในโลก)ไว้ โดยที่สภาร่างรัฐธรรมนูญเองอาจไม่รู้ว่า สิ่งที่ตนเองเขียนบทบัญญัติในแต่ละมาตรา (ที่แยกจากกัน) นั้น เมื่อรวมกันเข้า ผลก็ คือ “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ซึ่งไม่มีประเทศใดในโลกยอมให้เกิดขึ้น และสภาร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีคำอธิบายว่า เพราะเหตุใด สภาร่างรัฐธรรมนูญ จึงใช้และยังคงใช้ “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง” [หมายเหตุ โปรดดู รายละเอียดในตอนต้นบทความนี้ ส่วนที่ (๒) ตอนที่ (๑) ว่าด้วย “ การวิเคราะห์ คำชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ]
       ข้อเท็จจริง ( facts)นี้ เป็นหลักฐานยืนยันถึง “คุณภาพ (พฤติกรรม)” ของ elite ของสังคมไทยในระดับสูงสุดของประเทศ จำนวน ๑๐๐ คน (ที่ได้คัดสรรมาแล้วอย่างดี เพื่อให้ทำ “หน้าที่”สำคัญที่สุดของประเทศ คือ เป็นสมาชิกของสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ที่มอง “สิทธิและเสรีภาพของปัจเจกชน(เอกชน)”และประโยชน์ส่วนตัว สำคัญกว่า “ประโยชน์ส่วนรวม” ; และข้อเท็จจริงนี้ เป็นเหตุผลหนึ่งในบรรดาข้อเท็จจริงทั้งหลายที่แสดงให้เห็นความเห็นแก่ตัวของ elite ของสังคมไทยประเภท ต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้เขียนต้องมีความเห็นว่า “ประเทศไทยอยู่ไม่รอด และ จะเป็นประเทศที่ไร้อนาคต”
       
       • นายทุนธุรกิจ (ของเรา) สร้างความสับสนให้แก่คนไทย ระหว่างคำว่า “ประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นจุดหมายของระบอบการปกครอง กับ “การเลือกตั้ง” ซึ่งเป็นเพียงวิธีการที่จำเป็น(ต้องมี) ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย (เพื่อให้ได้ “ผุ้แทนราษฎร”มาใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน) เพื่อประโยชน์ของตนเอง
       
ได้กล่าวแล้วว่า “การเลือกตั้ง”ซึ่งเป็นวิธีการที่จำเป็นต้องมีในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีได้หลายรูปแบบให้เราเลือก และแต่ละประเทศจะเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพสังคมและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ฯลฯ ที่จะทำให้“จุดหมาย”และ ปรัชญาของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย บรรลุผลสำเร็จ(ให้มากที่สุด)
       แต่นายทุนธุรกิจ (ทั้งนายทุนระดับท้องถิ่นและนายทุนระดับชาติ) ทำให้คนไทยเข้าใจ(อย่างผิด ๆ ) ว่า การเลือกตั้ง (ซึ่งเป็น “วิธีการที่จำเป็น”ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย) เป็น “จุดหมาย”ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย และพยายามทำให้คนไทยฝังใจ ซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า “เราต้องเลือกตั้ง เพื่อความเป็นประชาธิปไตย” แต่หลีกเลี่ยงไม่พยายามพูดถึงประเด็นว่า “เราจะเลือกตั้งกันอย่างไร (how) ในระบบใด ประเทศไทยจึงจะมีการบริหารที่ดีที่สุด เพื่อประโยชน์ส่วนรวม” ทั้งนี้ เพื่อที่คนไทยทั่วไปจะได้ไม่สนใจและมองไม่เห็น “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง" ที่ซ่อนอยู่ในรัฐธรรมนูญ และ เพื่อที่ตนเองจะได้ใช้ “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง” เพื่อประโยชน์แก่กลุ่มตนเอง (นายทุนธุรกิจ ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ) ต่อไป
       นายทุนธุรกิจ ได้รับความร่วมมือจาก นักกฎหมายและนักวิชาการแบบไทย ๆ ให้ช่วยบอกกับคนไทยว่า ถ้าไม่มีการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคแล้ว “รัฐบาล”ของเราจะไม่มีเสถียรภาพ เพราะ ส.ส.ของเราจะ(ขายเสียง) แสวงหาประโยชน์จากการใช้สิทธิของตนในสภา ตามที่เคยปรากฏมาแล้วในอดีต
       
แต่สิ่งที่ท่านผู้อ่านอาจไม่ได้สังเกต ก็คือ นักกฎหมายและนักวิชาการไม่ได้บอกกับคนไทยว่า มีวิธีการอื่นอีกหรือไม่ (นอกจากการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค ฯลฯ) ที่ทำให้ “รัฐบาล”มีเสถียรภาพได้ ; และนักกฎหมายและนักวิชาการก็ไม่ได้บอกกับคนไทยว่า ระหว่างการคอร์รัปชั่นของ “ส.ส.(ในสภาผู้แทนราษฎร)” กับการคอร์รัปชั่นของ “รัฐบาล(พรรคการเมือง)”ที่ผูกขาดอำนาจรัฐทั้งในฝ่ายบริหารและในสภาผู้แทนราษฎร กรณีใดจะเสียหายแก่ประเทศมากกว่ากัน ; และนักกฎหมายและนักวิชาการก็ไม่ได้บอกกับคนไทย ทำไมไม่มีประเทศใดในโลกที่ใช้ “ระบบเผด็จการ ในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง” และประเทศ(ของเขา)สร้างเสถียรภาพให้แก่รัฐบาล(ของเขา)ได้อย่างไร ; การที่นักกฎหมายและนักวิชาการ “งดเว้น”ไม่บอกกล่าวแก่คนไทยในเรื่องดังกล่าวข้างต้น อาจมีเหตุผลอธิบายได้เพียง ๒ เหตุผล คือ นักกฎหมายและนักวิชาการของเรา มี “ความรู้”ไม่พอ หรือนักกฎหมายและนักวิชาการของเรา หวังประโยชน์ตอบแทน ( ในทางหนึ่งทางใด) จากนักการเมือง – นายทุนธุรกิจ
       

       ปัญหาการบริหารประเทศในโลกปัจจุบัน อยู่ที่การออกแบบหรือเลือก “รูปแบบ”ระบบสถาบันการเมือง – form of government) ; ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมี “การเลือกตั้ง” แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะต้องมี “รัฐบาล” ที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ (โดยไม่เกิดระบบเผด็จการ ในทางใดทางหนึ่ง ) ด้วย
       “พรรคการเมือง” ในรัฐธรรมนูญของไทย (รวมทั้งรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐) ได้(กลาย)เป็น “super institution – สถาบันสูงสุด” ที่มีอำนาจเหนือ “สถาบันสภาผู้แทนราษฎร” และสถาบันฝ่ายบริหาร – รัฐบาล” ตามรัฐธรรมนูญ และนายทุนธุรกิจ (ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น) ได้ใช้ “พรรคการเมือง”เป็นเครื่องมือในการเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐในระบบรัฐสภา – parliamentary system (ซึ่งมีหลักการว่า พรรคการเมืองใดคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร พรรคนั้นเป็นรัฐบาล)
       นายทุนธุรกิจ(ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น) เหล่านี้ ได้ลงทุนออกเงินล่วงหน้าในการจัดตั้งพรรคการเมือง และ อาศัย “การเลือกตั้ง”ที่ต้องใช้เงินและอิทธิพลทางการเงิน ในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอและสภาพพิกลพิการของระบบบริหารพื้นฐานของประเทศ ประกอบกับ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่บังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค / ให้พรรคมีอำนาจบังคับให้ ส.ส.ต้องปฏิบัติตามมติพรรค / และกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. (เท่านั้น) เพื่อกลับเข้ามาเป็น “รัฐบาล” และหากำไรจากการลงทุน
       และเพราะเหตุนี้ ในการเลือกตั้งของเรา เราจึงมีแต่ “นักการเมือง – นายทุนธุรกิจ” หน้าเดิม ๆ (หรือ ลูกหรือภริยา ของนักการเมืองหน้าเดิม ๆ ) ; โดยที่เรา(คนไทย) ไม่รู้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เป็นสิ่งที่เรา(คนไทย)ได้ก่อให้เกิดขึ้นเอง ด้วยการที่เราเขียนรัฐธรรมนูญบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค ฯลฯ
(เพื่อประโยชน์ของนายทุนธุรกิจ ที่ลงทุนตั้งพรรคการเมือง)
       ผู้เขียนคิดว่า ขณะนี้ “นายทุนนักธุรกิจ”ไม่ว่าจะเป็นนายทุนระดับท้องถิ่น หรือนายทุนระดับชาติบัง(ด้วยความร่วมมือจากนักวิชาการแบบไทย ๆ ) ได้เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ ใน“ระบบเผด็จการ(ในระบบรัฐสภา) โดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ)” และทำการทุจริตคอร์รัปชั่นและแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากทรัพยากรของส่วนรวม มานานพอสมควรแล้ว
       ดังนั้น เรา(คนไทย) จึงควร ต้องแสวงหา “ความรู้” เพื่อจะได้นำความรู้นั้น มาแสวงหา “รูปแบบ – form of government”(ที่มีการเลือกตั้ง) ที่เหมาะสมกับสภาพสังคมและสภาพความเป็นอยู่ของเรา(คนไทย) และนำรูปแบบนั้นมาใช้ เพื่อทำให้ประเทศของเรามีการบริหารประเทศ ที่สามารถทำให้ “จุดหมาย”และปรัชญาของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นผลสำเร็จ ( คือ form of government ที่ “รัฐบาล”มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ โดยไม่มีการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว)
       ผู้เขียนคิดว่า ในขณะนี้ เรา(คนไทย)ควรที่จะเอาใจใส่ มองความเป็นจริง – reality ที่เกิดขึ้นต่อหน้าเราทุกวันนี้ และช่วยกันปฏิรูปการเมือง เพื่อที่ประเทศไทยจะได้มีอนาคต( กันเสียที)
       ผู้เขียนเห็นว่า เรา (คนไทย)คงไม่มีโอกาสที่จะพึ่งหรือขอความช่วยเหลือ จาก elite ของเราเองได้มากนัก ไม่ว่าจะเป็น elite ประเภท “นักการเมือง(จำเป็น)” หรือ นักการเมืองประเภท “นายทุนธุรกิจ”(ไม่ว่าจะเป็นนายทุนระดับท้องถิ่นหรือนายทุนระดับชาติ) หรือประเภท “นักวิชาการ"”(ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการในวงการกฎหมายหรือวงการอื่น) เพราะบรรดา elite ของสังคมไทยเหล่านี้ ต่างก็มีประโยชน์ส่วนตัวของเขาที่จะต้องรักษาไว้ ; ดังนั้น ผู้เขียนคิดว่า เรา(คนไทย) จึงต้องพึ่งตนเองเท่านั้น
       
       • “(ร่าง) รัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่ดี ” ย่อมต้องมาจาก “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ (ที่ดี) ” ตามรูปแบบ ที่ (จะ) กำหนดไว้ใน รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ; ก่อนอื่น โปรดสังเกตว่า ผู้เขียนใช้คำว่า “(ร่าง) รัฐธรรมนูญฯ ที่ดี ย่อมมาจากองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญที่ดี“ โดย ผู้เขียนมิได้ใช้คำว่า “ รัฐธรรมนูญฯ ที่ดี ย่อมมาจากองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญที่ดี ” ทั้งนี้เพราะบทความนี้ เป็นบทความทางวิชาการ ที่มีประเด็นเพียงว่า ทำอย่างไรจึงจะได้ “ร่างรัฐธรรมนูญ”(ฉบับถาวรที่จะใช้ในภาวะปกติ)ที่ดี ขึ้นมาสักหนึ่งฉบับ
       ส่วนปัญหาในทางการเมือง คือ เมื่อได้ “ร่างรัฐธรรมนูญที่ดี”มาแล้ว “ผู้ใด”จะเป็นผู้ที่มีอำนาจรัฐ ที่จะนำเอา “ร่างรัฐธรรมนูญ”ดังกล่าวออกมาใช้บังคับ เป็นปัญหาของคนไทยทั้งชาติที่จะต้อง “คิด”; ไม่ใช่ปัญหาของผู้เขียน
       [หมายเหตุ ตามความจริงแล้ว ในปัจจุบันนี้ ผู้เขียนคงต้องเรียนกับท่านผู้อ่านว่า ผู้เขียนยังมองไม่เห็นว่า จะมี “ผู้ใด”ที่มีอำนาจรัฐ ที่จะนำร่างรัฐธรรมนูญที่ดี(แม้ว่าจะมี) มาใช้บังคับ เพราะ ผู้เขียนมีความเชื่อในหลักการทางสังคมวิทยา - พฤติกรรม (sociology) ว่า บรรดานักการเมืองนายทุนธุรกิจ (ไม่ว่าจะเป็นนายทุนระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น) ที่ได้รับการเลือกตั้งมา (ในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ) เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐นั้น คงจะไม่ยอมสละการผูกขาดอำนาจรัฐของตนเอง (ใน“ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง”) ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันพ.ศ. ๒๕๕๐ ได้บัญญัติไว้ให้ อย่างแน่นอน ; และ ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงได้กล่าวไว้ในตอนต้นของหัวข้อนี้ว่า ความผิดพลาดของ “คณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”ครั้งนี้ เป็นความผิดพลาดที่ไม่สามารถให้อภัยได้ เพราะได้ทำให้ปัญหาการเมืองของประเทศกลับไปสู่สภาพเดิมก่อนการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และยากที่จะแก้ไข ]
       ผู้เขียนคงไม่จำต้องอธิบายว่า เพราะเหตุใด (ร่าง)รัฐธรรมนูญที่ดี จึงต้องมาจาก “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ(ที่ดี)” เพราะท่านผู้อ่านคงทราบอยู่แล้วว่า ถ้าองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยบุคคลที่ไม่มีความรู้(สูงพอ) องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็ไม่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญที่ดีได้ หรือ แม้จะสมมติว่า ในองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญนี้ มีบุคคลที่มีความรู้(สูงพอ)และมีความเสียสละจำนวนหนึ่ง แต่มีจำนวนน้อยกว่าบุคคลที่ไม่มีความเสียสละ(ไม่ว่าจะมีความรู้หรือไม่มีความรู้) องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็คงไม่สามารถเขียน (ผลิต)รัฐธรรมนูญที่ดีได้ เช่นเดียวกัน
       ในที่นี้ ผู้เขียนขอพูดเพียงว่า “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญที่ดี” คือ องค์กรที่ต้องมี “หลักเกณฑ์”อย่างไร จึงจะเป็นองค์กร ที่สามารถผลิตร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่ดีได้
       ผู้เขียนก็ขอตอบอย่างสั้น ๆ ว่า ตามหลักการ ของกฎหมายมหาชน(ยุคใหม่ แล้ว ถ้าจะเขียนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อจัดตั้ง “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ”ที่ดี รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้น จะต้องมีเงื่อนไข ๒ ประการ คือ ประการแรก จะต้องเป็นองค์กรที่มี “องค์ประกอบ(บุคคล)” ที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับภารกิจ คือ การร่างรัฐธรรมนูญ และประการที่สอง จะต้องเป็นองค์กรที่มี “วิธีทำงาน” ที่เหมาะสมกับภารกิจเช่นเดียวกัน และเงื่อนไขทั้งสองประการนี้ จะต้องประกอบเข้าด้วยกัน เงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงเงื่อนไขเดียว ย่อมไม่เพียงพอ ; ฟังดูก็ง่าย ๆ แต่ทำไมเรา(คนไทย)ทำไม่ได้สักที (?)
       ผู้ขียนเชื่อว่า คงมีท่านผู้อ่านจำนวนมากที่ “คิด”ว่า เงื่อนไขที่เกี่ยวกับ “วิธีทำงาน”ขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีความสำคัญ และเห็นว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราว ( “เครื่องมือ”ในการจัดตั้งองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ – ฉบับถาวร)ไม่มีความจำเป็นจะต้องกำหนดวิธีทำงานฯในรายละเอียดมากนัก กำหนดไว้พอให้เป็น “แนวทาง”ในการทำงานขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญก็น่าจะพอเพียงแล้ว และควร “ปล่อย”ให้เป็นอำนาจขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะไปพิจารณากำหนดเอาเอง (เพื่อความคล่องตัว)
       ผู้เขียนขอเรียนว่า “ความคิด”เช่นนั้นเป็นความคิดที่ผิด และไม่ตรงกับหลักกฎหมายมหาชน(ยุคใหม่) เพราะการเขียนรัฐธรรมนูญชั่วคราว(การจัดตั้งองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ)ที่ให้อำนาจแก่องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญไปกำหนด “วิธีทำงาน”เอาเอง เท่ากับเป็นการเปิด “โอกาส”ให้บุคคลที่เป็นองค์ประกอบขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ สามารถบิดเบือน (abuse) การใช้อำนาจ(ของตนเอง)ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ – ฉบับถาวร ได้ และจะทำให้รูปแบบของร่างรัฐธรรมนูญ-ฉบับถาวรนั้น (อาจ)มีกลไก (mechanism)ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ “กลุ่มผลประโยชน์”กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือ แม้แต่เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มของตนเอง(ที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ)ก็ได้ ทั้งนี้โดยที่คนทั่วไปสังเกตไม่เห็น(และไม่มีใบเสร็จ)
       ตามหลักการของกฎหมายมหาชน(ยุคใหม่) กฎหมายจะต้องกำหนด “วิธีทำงาน”ขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ (ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว) ให้พอเพียงที่จะทำให้ การยกร่างรัฐธรรมนูญ(ฉบับถาวร)นั้นเป็นไปอย่าง “โปร่งใส – transparency” เพื่อให้บุคคลภายนอกสามารถตรวจสอบการใช้ “ดุลพินิจ”และตรวจสอบ “เหตุผล”ของผู้ใช้อำนาจรัฐ(สมาชิกขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ)ได้ (โปรดดู “ตัวอย่าง”ของกฎหมายที่ดี ที่กำหนดวิธีการปฏิบัติการที่โปร่งใส ได้จากกฎหมายว่าด้วยการค้าของสหรัฐอเมริกา Section 301 ข้างต้น)
       การกำหนดให้ผู้ที่ร่างกฎหมายมี “หน้าที่”ต้องทำเอกสารประกอบร่างกฎหมาย และการกำหนด“มาตรฐาน”ของเอกสารที่ผู้ที่ร่างกฎหมายมี “หน้าที่” ต้องทำ ฯลฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งของหลักการของกฎหมายมหาชน(ยุคใหม่) เช่นเดียวกัน; และโปรดสังเกตว่า แม้แต่การกำหนดบังคับให้ต้องทำ “เอกสารประกอบร่างกฎหมาย”อย่างเดียว (โดยไม่กำหนดมาตรฐานของเอกสาร ฯ ) ก็ยังไม่พอเพียง เพราะ องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีหน้าที่จัดทำเอกสารดังกล่าว (อาจ)ใช้ดุลพินิจของตนเอง อธิบาย “เหตุผล”ของร่างกฎหมายเพียงเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง – half truth เท่าที่องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญต้องการจะเปิดเผยและชี้นำเพื่อทำให้คนทั่วไปเชื่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ตนเองร่างขึ้น เป็น “รัฐธรรมนูญที่ดี”ก็ได้
       ดังนั้น ตามหลักกฎหมายมหาชน นอกเหนือจากการกำหนด “หน้าที่”ให้ผู้ที่ร่างกฎหมายต้องทำเอกสารประกอบร่างกฎหมายแล้ว จึงจะต้องมีการกำหนด “มาตรฐาน”ของเอกสารประกอบร่างกฎหมายไว้ด้วย เพื่อ (ผู้ที่ร่างกฎหมาย)จะได้มีการอธิบายเหตุผลทางวิชาการ ของ “หลักการ(สำคัญ)”ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร (ฉบับใหม่) อย่างครบถ้วน [หมายเหตุ โปรดย้อนไปดู “ตัวอย่าง”ของการกำหนด “หน้าที่”ของนักกฎหมายที่มีหน้าที่ร่างกฎหมายจะต้องปฏิบัติ ได้จาก Legislation Handbook ของประเทศออสเตรเลีย ที่ผู้เขียนได้นำมากล่าวไว้ในตอนต้น ของบทความนี้ ]
       “ตัวอย่าง” ที่เห็นกัน ก็มีอยู่แล้ว คือ “คำชี้แจง สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .....” ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ-นานาอาชีพ (ที่ใช้เผยแพร่ ในการออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน) ซึ่งเป็นคำชี้แจงต่อประชาชน ประเภทที่ไม่ครบถ้วน คือ เป็น half truth [หมายเหตุ โปรดดู ส่วนที่ (๒) ตอนที่(๑) ว่าด้วย “การวิเคราะห์ คำชี้แจงสาระสำคัญของ(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” ]
       
       อ่านต่อ
       หน้า 25
        หน้า26
       หน้า 27
        หน้า28
       หน้า 29


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544