สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า ๒๓) |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
๓. ความผิดพลาด (ซ้ำ) ครั้งที่สาม (รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐) : ผู้เขียนเชื่อว่า ความผิดพลาดครั้งนี้เป็นความผิดพลาดครั้งสำคัญ(ที่สุด)ของประเทศไทย และจะเป็น เหตุการณ์ที่จะอยู่ในประวัติศาสตร์ของประเทศ(ไทย) ในอนาคต ; ความผิดพลาดในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๐) เป็น เหตุการณ์ ที่แสดงให้เห็นถึง คุณภาพ และ ความรู้ของ elite ขนชั้นนำของสังคมไทยในทุก ๆ กลุ่ม(จำพวก) อย่างกว้างขวาง ซึ่งสามารถพอที่จะใช้เป็นพื้นฐานของการคาดคะเน อนาคตของคนไทย ( ๖๓ ล้านคนเศษ ) ที่จะต้องอยู่ภายไต้การนำ ของ elite- ชนชั้นนำของสังคม (เท่าที่เรามีอยู่นี้ ) ว่า เรา(คนไทย) จะอยู่ได้อย่างไร ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน
ความผิดพลาดครั้งที่ ๓ นี้ แม้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาอันสั้น เพียง ๑ ปี๓ เดือน คือ จากปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ( การรัฐประหารในวันที่ ๑๙ กันยายน) จนสิ้นปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ( วันเลือกตั้งทั่วไป ๒๓ ธันวาคม) แต่เป็นความผิดพลาดในช่วงของระยะวิกฤติและเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการเมืองไทย คือเกิดขึ้น ในช่วงเวลาที่คนไทยแตกแยกเป็น ๒ ฝ่ายและพร้อมที่จะรับรู้ เหตุผลของการปฏิรูปการเมือง (ถ้าจะมีการชึ้แจงที่ถูกต้อง)
ในช่วงเวลาหนึ่งปีเศษที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่ elite ชนชั้นนำของคนไทย จะต้องพิสูจน์ตนเองว่า จะปฏิรูปการเมืองให้คนไทย ได้หรือไม่ แต่ก็เป็นที่น่าผิดหวัง ที่ elite ชนชั้นนำของสังคมไทย ได้ทำให้ระยะเวลา ๑ ปีเศษที่ผ่านมา เป็น ระยะเวลา แห่งความว่างเปล่า
ความผิดพลาดครั้งนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า จะมีผลต่อประวัติศาสตร์ของประเทศไทย อย่างคาดไม่ถึง และเป็นความผิดพลาดที่ไม่สามารถให้อภัยได้
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ (ที่ได้ยกร่างขึ้นโดย สภาร่างรัฐธรรมนูญ - นานาอาชีพ ที่ได้จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๙) ยังคงใช้ รูปแบบการปกครอง form of government เหมือนกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ คือ ใช้ ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดย พรรคการเมือง(นายทุนธรุกิจ) ที่เป็นรูปแบบที่เปิด โอกาส ให้นายทุนธุรกิจ ที่อาศัยการเลือกตั้ง (ในขณะที่สังคมไทยมีความอ่อนแอและขาดประสบการณ์) เข้ามาการผูกขาดอำนาจรัฐ และแสวงหาประโยชน์โดยการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ; ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)นี้เอง ที่ได้ทำให้เกิดความเสื่อมในระบบบริหารประเทศ อย่างมากและต่อเนื่องกันมา จนถึงขั้นที่ จำเป็นต้องมีการรัฐประหาร ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ อีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน(พ.ศ. ๒๕๕๐)ของเราซึ่งนอกจากจะมิได้พัฒนาไปข้างหน้าด้วยหลักทางวิชาการแล้ว ยังปรากฏว่าได้เพิ่ม vice (ความเลวร้าย)ให้มากกว่าเดิม โดยได้แก้ไข มาตรการบางมาตรการที่เป็นการเอื้อประโยชน์(ในการเลือกตั้ง)ให้แก่พรรคการเมืองและนักการเมืองที่มีเงินและอิทธิพลทางการเงิน มากยิ่งเก่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อน (รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ )อีกด้วย ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็นต้นว่า การบัญญัติให้ทำการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง แทนการนับคะแนนรวมกันของทุกหน่วยเลือกตั้ง(ในแต่ละเขต) ตามที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเดิม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้ นักการเมือง ผู้ที่ทำการซื้อ (ขาย)เสียง สามารถตรวจสอบการใช้เงินซื้อเสียงในแต่ละหน่วยเลือกตั้งได้ และติดตามเอาความรับผิดจากผู้ที่ได้รับเงินไปแล้วแต่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาได้ หรือ การกำหนดเขตเลือกตั้งให้มีเขตใหญ่ขึ้น( โดย เลือก เขตละ ๓คน) แทนการเลือกตั้งเขตละหนึ่งคน ตามที่กำหนดไว้เดิม ฯลฯ
ดังนั้น จึงเป็นที่คาดหมาย และ สามารถบอกล่วงหน้าได้ตั้งแต่ต้นว่า ในการเลือกตั้งทั่วไป(วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐)ภายไต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ พรรคการเมืองเดิม(ใน ชื่อใหม่) ที่เป็นพรรคการเมืองที่มีเงินทุนจำนวนมาก ย่อมจะได้ ส.ส.เป็นจำนวนมากกว่าพรรคการเมืองอื่น (โปรดดู บทความของผู้เขียนใน ตอนที่ผู้เขียนได้เขียนไว้ก่อน วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐)
คน เป็นผู้สร้างระบบ เพื่อให้ระบบควบคุม คนไม่ดีไม่ให้สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้แก่บ้านเมือง ; ถ้าระบบไม่ดี เราคงต้องมาพิจารณาดูว่า คนที่สร้างระบบ เป็น คนดีหรือคนไม่ดี
การร่างรัฐธรรมนูญ(ฉบับปัจจุบัน) พ.ศ. ๒๕๕๐ (ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ๒๕๕๐) นี้ เป็นเหตุการณ์ที่ได้เปิดเผย พฤติกรรมและ ความรู้ของ elite ชนชั้นนำของสังคมไทยอย่างกว้างขวาง อย่างที่เราไม่เคยมีโอกาสมาก่อน และเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิเคราะห์ ผู้เขียนได้แยก elite ของเราออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ไว้ ๔ ประเภท (จำพวก) คือ (๑)นักการเมือง (จำเป็น)ที่ได้อำนาจรัฐ มาด้วย การรัฐประหาร / (๒) นักวิชาการเดิม ๆ ในวงการวิชาการทางกฎหมาย / (๓) นักการเมือง (นายทุนธุรกิจ)ที่มาจาก การเลือกตั้ง(โดยอาศัยเงินและอิทธิพลทางการเงินในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ ) ที่มุ่งหมายเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ ใน ระบบเผด็จการทางรัฐสภา / และ (๔ ) นักวิชาการประเภทเป็น the philosophes ที่มุ่งหาชื่อเสียงให้แก่ตนเอง ด้วยการแสดงตนว่าสนใจในสิทธิเสรีภาพของเอกชน โดยไม่สนใจ วิชาการในกลไกการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพื่อการแก้ปัญหาและการประสานประโยชน์ ((ระหว่างประโยชน์ส่วนรวมกับประโยชน์ของเอกชน)
โดยผู้เขียนจะได้วิเคราะห์เรียงตามลำดับทีละประเภท ดังต่อไปนี้
[ หมายเหตุ : อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ผู้เขียนจะกล่าวต่อไปถึงพฤติกรรมของ elite ของสังคมไทย ผู้เขียนขอกล่าวถึงเหตุการณ์ ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของทางราชการ (รัฐบาลและข้าราชการประจำ)บางประการ ที่ผู้เขียนค่อนข้างประหลาดใจและออกจะกังวลกับอนาคตของประเทศ และผู้เขียนต้องขอบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นไว้ในบทความนี้ เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาต่อไป
ในระหว่างการรัฐประหาร(พ.ศ. ๒๕๕๐) ผู้เขียนเห็นว่า มี ข้อเท็จจริง factsที่สำคัญ ๒ ประการ ที่ ต่างประเทศควรได้รับรู้ไว้เป็นทางการ เพื่อประโยชน์ในการบริหารและการปฏิรูปการเมืองของประเทศไทย (๑) ข้อเท็จจริงประการแรก คือ รัฐธรรมนูญ ฉบับ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ (ที่ถูกรัฐประหาร) เป็นรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญํติบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง และมีบทบัญญัติให้อำนาจแก่พรรคการเมืองในการบังคับ ส.ส.ให้ต้องปฏิบัติตามมติของพรรค(ในการทำหน้าที่ของ ส.ส.)ได้ และ (๒)ข้อเท็จจริงประการที่สอง คือ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้มีหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ใช้พรรคการเมืองของตนที่คุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร (เกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎร) โดยให้สภาผู้แทนราษฎรออกกฎหมายฉบับหนึ่งเพื่อประโยชน์ของตนเองในการขายทรัพย์สินของชาติที่ตนได้มาภายไต้สัญญาสัมปทานจากรัฐ และต่อมา หัวหน้าพรรคการเมืองนั้นได้ขายทรัพย์สินนั้นไปภายใน ๓ วันหลังจากที่กฎหมายนั้นประกาศใช้บังคับ
ข้อเท็จจริง - facts ทั้ง ๒ ประการนี้ เป็นข้อเท็จจริง ที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าวงการของประเทศที่พัฒนาแล้วและประชาชน(ของเขา)ได้รับทราบแล้ว เขาจะเข้าใจเป็นอย่างดี ว่า facts ที่เกิดขึ้นนี้ คือ อะไร และ ถ้า facts เช่นนี้ เกิดขึ้นในประเทศ(ของเขา)แล้ว ประชาชน(ของเขา)และกระบวนการทางกฎหมาย(ของเขา) จะดำเนินการอย่างไร
สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนต้องประหลาดใจเป็นอย่างมาก ก็เพราะว่า ดูเหมือนว่าทางราชการจะไม่สนใจในข้อคิดเห็นของผู้เขียน และไม่มีการดำเนินการอย่างใดเพื่อให้ประเทศที่พัฒนาแล้วได้รับรู้ถึงข้อเท็จจริงทั้ง ๒ ประการเหล่านี้ และในทางตรงกันข้าม ยังมีการกระทำของทางราชการในลักษณะที่เป็นการช่วยปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าวมิให้ต่างประเทศได้รับรู้อีกด้วย เช่น ในการแปลคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ ๓-๕/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐ เพื่อส่งให้แก่หน่วยงานของเราในต่างประเทศ ปรากฏว่า ได้มีการตัดสาระ(สำคัญ)ของคำวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคมของสภาผู้แทนราษฎรและการขายทรัพย์สินของนักการเมือง ฯลฯ ออกจากคำแปลของทางราชการ เป็นต้น
ผู้เขียนเห็นว่า การที่ทางราชการไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงเรื่องนี้ต่อต่างประเทศ อาจอธิบายได้ด้วยเหตุผล เพียง ๒ เหตุผล เท่านั้น คือ ประการแรก ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องของทางราชการ ไม่มีความรู้และไม่ทราบถึงความสำคัญของข้อเท็จจริงนี้ หรือ มิฉะนั้น ประการที่สอง คือ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องของทางราชการ ไม่มี ความสุจริตใจต่อประเทศ(ไทย) ]
(ก) elite ประเภทที่ (๑) นักการเมือง(จำเป็น)ที่ได้อำนาจรัฐมาด้วย การรัฐประหาร(วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙) :
elite กลุ่มแรก ที่ต้องรับผิดชอบในความล้มเหลวอย่างสมบูรณ์แบบ(บูรณาการ)ในการแก้ปัญหาความเสื่อมของการบริหารประเทศที่เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น ได้แก่ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตเรียกอย่าง สั้นๆ ว่า เป็น นักการเมือง(จำเป็น) เพราะดูเหมือนว่า บุคคลในคณะปฏิรูปการปกครองฯ คณะนี้ อาจเข้าสู่การเมืองเนื่องจากสถานการณ์บังคับ และไม่ได้เตรียมตัวที่จะเป็น นักการเมือง ; และโดยที่ความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ดูจะตกอยู่กับ นักการเมือง(จำเป็น)นี้ทั้งหมด ความในข้อนี้คงจะ(ค่อนข้าง)ยาวพอสมควร
มีข้อเท็จจริงหลาย ๆ ประการ ที่แสดงให้เห็นว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯได้ทำการรัฐประหารมาโดยไม่ทราบว่า ประเทศมี ปัญหา อะไร และเมื่อไม่ทราบว่า ประเทศมีปัญหาอะไร นักการเมือง(จำเป็น)นี้ จึงไม่สามารถ ที่จะกำหนดแนวทาง และ วิธีการ ในการแก้ปัญหา(ของประเทศ)ได้
จากคำ แถลงการณ์ ของ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ลงวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เวลา ๒๓.๕๐ น. คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้ให้เหตุผลในการปฎิรูปการปกครอง ไว้ ๔ ประการ คือ (๑) การบริหารของรัฐบาล(เดิม)นั้น ได้สร้างปัญหาขัดแย้งแบ่งฝ่าย ทำลายความรักสามัคคีของคนในชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ; (๒) การบริหารราชการแผ่นดินส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบ อย่างกว้างขวาง ; (๓) หน่วยงานและองค์กรอิสระ ถูกครอบงำทางการเมืองจนไม่สามารถตอบสนองเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญได้ ; และ (๔) มีการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์
ในการทำงานของคณะปฏิรูปการปกครองฯในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ทั้งปี คณะปฏิรูปการปกครองฯได้พยายามย้ำถึงสาเหตุของการรัฐประหารดังกล่าวข้างต้น อยู่หลายครั้ง และพยายามอธิบายความชอบธรรมในการทำรัฐประหารของตนเอง ในการเข้ามาแก้ปัญหาเหล่านี้
อันที่จริงแล้ว ถ้าจะพิจารณาดูสาระของ แถลงการณ์ให้ถ่องแท้แล้ว จะเห็นได้ว่า เหตุผลในการปฏิรูปการปกครอง(การรัฐประหาร) ทั้ง ๔ ประการตามที่ คณะปฏิรูปการปกครองฯได้กล่าวมานั้น (ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความขัดแย้งก็ดี / การส่อในทางทุจริตประพฤติมิชอบก็ดี / การครอบงำหน่วยงานและองค์กรอิสระก็ดี / การกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ดี) ต่างก็เป็นเพียง ผลที่เกิดมาจากการบริหารประเทศของรัฐบาลเดิม(ที่ถูกรัฐประหารให้ออกไป) แต่ในคำแถลงการณ์ดังกล่าว มิได้ระบุว่า อะไรเป็น สาเหตุที่ทำให้รัฐบาล(เดิม)สามารถบริหารประเทศ จนทำให้เกิด ผลอย่างนั้นได้
พูดง่าย ๆ ก็ คือ ข้อเท็จจริงตามที่คณะปฏิรูปการปกครองกล่าวมา(ทั้ง ๔ ประการ)นั้น เป็นเพียง อาการ symptomsของโรค ที่แสดงออกมาให้เห็น แต่ไม่ใช่ โรค diseaseที่เป็นสาเหตุของอาการ ; และวิธีการที่จะแก้ ปัญหาของประเทศ คือ การรักษาโรค ไม่ใช่รักษาอาการของโรค
ความจริง อาการของโรค ทั้ง ๔ ประการตามที่กล่าวไว้ในคำแถลงการณ์ดังกล่าว มาจาก โรคเดียวกัน คือ การใช้อำนาจของ รัฐบาล ขาดกลไกการควบคุมและการถ่วงดุลอำนาจ อันมาจาก ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ) ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ นั่นเอง
ความไม่รู้(ในปัญหาของประเทศ) ของนักการเมือง (จำเป็น)นี้ ได้แสดงออกมาปรากฏให้เห็น ตั้งแต่ การตรารัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙ (ประกาศใช้บังคับ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙) หลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เพียง ๑๑ วัน เพราะถ้าได้อ่านรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวแล้ว ก็สามารถคาดหมายล่วงหน้าได้อย่าง แน่นอน ว่า องค์กรที่อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น สภาร่างรัฐธรรมนูญ / สภานิติบัญญัติแห่งชาติ / ฝ่ายบริหาร - คณะรัฐมนตรี ต่างก็ไม่อยู่ใน รูปแบบ ที่จะสามารถทำหน้าที่ตามที่ถูกคาดหมายให้ทำตามรัฐธรรมนูญได้
และ ดูเหมือนว่า หลังจากที่ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้แต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ คตส. (ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ ๓๐ ๓๐ กันยายน ๒๕๑๙) และจัดตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ นานาอาชีพ / สภานิติบัญญัติแห่งชาติ / ฝ่ายบริหาร คณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๙ แล้ว คณะปฏิรูปการปกครองฯ (ซึ่งเปลี่ยนฐานะมาเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) ก็คิดว่าตนเองหมดภารกิจแล้ว(ลอยตัว) และคิดว่า การแก้ปัญหาของประเทศ เป็นหน้าที่ของ องค์กรต่าง ๆ(ที่ตนเองแต่งตั้งขึ้น)จะต้องดำเนินการต่อไปด้วยตนเอง และแต่ละองค์กรต่างก็จะต้องรับผิดชอบในผลงานของตนเอง
ผู้เขียนเห็นว่า เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เพราะความล้มเหลวขององค์กรเหล่านั้น ย่อม เป็นความรับผิดชอบของ คณะปฏิรูปการปกครองฯ ทั้งหมด เนื่องจากคณะปฏิรูปการปกครองฯเป็นผู้ที่ริเริ่มนำรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ มาใช้บังคับ และเป็นผู้ที่ริเริ่มคัดเลือกและเสนอแต่งตั้งองค์กรต่าง ๆในรัฐูธรรมนูญ(เหล่านั้น) เอง
ความชอบธรรมในการทำรัฐประหาร ไม่สามารถอธิบายได้ ด้วยการบอกแก่คนไทยว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯได้ใช้กำลังทหารเข้ามาล้ม คณะรัฐบาลชุดเดิม ที่เป็นสาเหตุของ ความไม่ดี ต่าง ๆ เพื่อต่อไปข้างหน้า คนไทยจะได้มี คณะรัฐบาลชุดใหม่ หลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ (โดยที่คณะรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามา ก็จะได้แก่บุคคลเดิม ๆ เหมือน ๆ กับ คณะรัฐบาลชุดเดิม) ; ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำการรัฐประหาร ไปทำไม
คงไม่ประโยชน์อะไรที่จะมากล่าวว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯทำความผิดพลาด อย่างไร และคณะปฏิรูปการปกครองฯจะได้รับ ผลจากความผิดพลาดของตนเอง อย่างไร เพราะในขณะนี้(เดือนมกราคม) สิ่งเหล่านี้ เป็นความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นและจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ; ซึ่งตามความจริง ผู้เขียนไม่สนใจว่า อะไรจะเกิดแก่คณะปฏิรูปการปกครองฯทั้งในขณะนี้และในอนาคต แต่ผู้เขียนเสียดายโอกาสของคนไทยใน การปฏิรูปการเมืองที่เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์เป็นเวลาถึง ๑ปี ๓ เดือนเศษ
ผู้เขียนเห็นว่า ตลอดปีที่ผ่านมา (พ.ศ. ๒๕๕๐) คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ ไม่ได้ทำ ในสิ่งที่ควรต้องทำ และในทางกลับกัน สิ่งที่คณะปฏิรูปการปกครอง ฯได้ทำในปีที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นว่า คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ ไม่มี ความรู้พอ และไม่มี ความเสียสละพอ ที่จะทำการปฏิรูปการเมืองให้แก่คนไทย
ผู้เขียนคิดว่า ผู้เขียนจะขอให้ความเห็น(ส่วนตัว) ถึง สิ่งที่คณะปฏิรูปการปกครองฯควรจะต้องทำ (แต่ไม่ได้ทำ) ดูจะเป็นประโยชน์มากกว่าที่จะกล่าวว่าคณะปฏิรูปการปกครองฯทำ อะไรที่ผิดพลาดบ้าง ; ซึ่งผู้เขียนขอให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาทบทวนดู ใน ๓ หัวข้อ ดังต่อไปนี้
(๑)ภารกิจของการทำรัฐประหาร คือ อะไร
(๒) ความเสียสละของการทำรัฐประหาร คือ อย่างไร และ
(๓) ความล้มเหลวในการปฏิบัติ ภารกิจของคณะปฏิรูปการปกครอง ฯ ได้แสดงให้เห็นถึงความไม่รู้และความไม่เสียสละของคณะปฏิรูปการปกครอง ฯ อย่างไรบ้าง
(๑)ภารกิจของการทำรัฐประหาร คือ อะไร (?) ภารกิจเหล่านี้ คือ สิ่งที่คณะปฏิรูปการปกครองฯ ควรจะทำ แต่ไม่ได้ทำในปีที่ผ่านมานั่นเอง ทั้งนี้โดยจะยังไม่พิจารณาว่า ถ้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ จะทำให้ภารกิจสำเร็จ คณะปฏิรูปการปกครองฯ ควรจะต้องทำอย่างไร(how)
ผู้เขียนเห็นว่า ในเบื้องต้น เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองฯ หรือใครก็ตาม ที่ทำรัฐประหาร ย่อมหมายความว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้ กำหนด ภารกิจให้แก่ตนเอง ที่จะต้องทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของคนไทย ๒ ประการด้วยกัน คือ
( ๑.๑) ภารกิจประการแรก ได้แก่ การจัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะวาง ระบบสถาบันการเมืองสำหรับการบริหารบ้านเมืองในอนาคต ที่จะต้องดีกว่าเก่า คือ ดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิมพ.ศ. ๒๕๔๐ และแก้ไขข้อผิดพลาดในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ให้สำเร็จ และก็เพราะ รัฐธรรมนูญฉบับเดิมข้อผิดพลาดนี้เอง คือ เป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ฉบับเดียวในโลก ที่ทำให้รัฐบาล(เดิม)สามารถกระทำ ความไม่ดีต่าง ๆได้มากมาย เช่น การสร้างปัญหาขัดแย้งในสังคม / ส่อไปในทางทุจริตอย่างกว้างขวาง / ครอบงำองค์กรอิสระ / หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ฯลฯ ที่เป็น เหตุผลของการทำรัฐประหาร และทำให้ การรัฐประหาร ของคณะปฏิรูปการปกครองมีความชอบธรรม
ภารกิจนี้ อาจเรียกง่าย ๆ ว่า เป็น การปฏิรูปการเมือง อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด ที่คณะปฏิรูปการปกครองฯ ควรจะต้องทำให้สำเร็จ
( ๑.๒) ภารกิจประการที่สอง ได้แก่ การบริหารราชการแผ่นดินในระหว่างที่ทำการปฏิรูปการเมือง (การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) ; การบริหารราชการแผ่นดินมีขอบเขตกว้างขวางมากกว่าที่ คณะปฏิรูปการปกครองฯคิดว่ามี และเพื่อความเข้าใจง่าย ๆ ผู้เขียนขอแยก งานที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ออกเป็น ๓ ประเภท ดังนี้ คือ (๑) การบริหารประเทศที่เป็นภาระปกติของรัฐบาล (๒) การเร่งรัดนำบุคคลที่กระทำความผิดฉ้อโกงแผ่นดินมาลงโทษในกระบวนการยุติธรรม (๓)การตราหรือการ แก้ไข กฎหมาย(ที่สำคัญ) ที่เป็นระบบบริหารพื้นฐานของประเทศในการปกครองระบอบประชาธิปไตย (ให้ได้มาตรฐานหรือใกล้เคียงกับมาตรฐาน ของประเทศ ที่พัฒนาแล้ว )
จะเห็นได้ว่า งานบริหารราชการแผ่นดินในช่วงของการรัฐประหาร จะมี มากกว่าและ ยากกว่างานบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในภาวะปกติ เพราะ ภารกิจ ที่เกี่ยวกับ การบริหารราชการแผ่นดินของคณะปฏิรูปการปกครองฯ มีทั้งส่วนที่เป็นการบริหารราชการแผ่นดินตามปกติ (ซึ่งจะต้องเร่งทำ)แล้ว และยังมีส่วนที่เป็น การปฏิรูปทางการเมืองรวมอยู่ด้วย ; ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า ภายในระยะเวลาที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ว่าจะเป็นหนึ่งปีหรือสองปี คณะปฏิรูปการปกครองฯ (และรัฐบาลและสภานิติบัญญัติที่คณะปฏิรูปการปกครองฯจัดตั้งขึ้น)ย่อมไม่สามารถทำได้ทัน
คณะปฏิรูปการปกครองฯมีทั้งงานจำเป็นที่จะต้องทำให้เสร็จสิ้นในขณะปัจจุบัน และมีทั้งงานที่ต้องทำเพื่ออนาคต และมีทั้งงานที่มีความสำคัญมากและมีทั้งงานที่มีความสำคัญน้อย ดังนั้น ความสำ เร็จในการ การบริหารราชการแผ่นดินของคณะปฏิรูปการปกครองฯ จึงมิใช่อยู่เพียงแต่การทำงานประจำให้สำเร็จไปโดยดีที่สุดเท่านั้น แต่คณะปฏิรูปการปกครองฯยังจะต้องจัดลำดับความสำคัญของงานว่า งานใดควรทำก่อนงานใดควรทำหลัง และ งานที่จำเป็นต้องทำแต่ยังทำไม่เสร็จสิ้น ( หรือยังไม่ได้เริ่มทำ) คณะปฏิรูปการปกครองฯ ก็ยังจะต้อง คิดต่อไปว่า จะทำอย่างไร ให้ บุคคลอื่นสามารถทำงานที่จำเป็นต้องทำเหล่านั้นลุล่วงไปได้หลังจากการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
การที่ คณะปฏิรูปการปกครองฯ (หรือ รัฐบาลที่คณะปฏิรูปการปกครองฯแต่งตั้งขึ้น) คิดว่า จะเข้ามา บริหารราชการแผ่นดิน เพื่อรอการจัดให้มีการเลือกตั้ง เพี่อจะได้มีรัฐบาล(ที่มาจากเลือกตั้ง) เพื่อความเป็นประชาธิปไตย จึงเป็นความคิดที่ผิด ( แม้ว่า จะสมมติขึ้นว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็น รัฐธรรมนูญที่ดีกว่าฉบับเดิม และ รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อไป จะเป็นรัฐบาลที่ดีกว่ารัฐบาลก่อนการรัฐประหาร ซึ่งไม่ใช่กรณีที่เกิดขึ้น ก็ตาม) ; และถ้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ (หรือรัฐบาล) คิดได้เพียงเท่านี้ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะทำการรัฐประหาร เพราะ รัฐบาลที่ถูกล้มไปเพราะการรัฐประหาร ก็เป็นรัฐบาลที่มาจาก การเลือกตั้งอยู่แล้ว
การรัฐประหารเป็นสิ่งจำเป็นและการที่ผู้เขียนยอมรับการทำรัฐประหาร ก็เพราะว่านักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ได้บิดเบือน ระบอบประชาธิปไตย ให้เป็น ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ) และใช้ การเลือกตั้งในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ เป็น เครื่องมือของการเข้าสู่อำนาจรัฐโดยอาศัยการใช้เงินและอิทธิพลทางการเงิน และได้เข้ามาทำการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งถ้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ ไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ ก็ไม่ควรทำรัฐประหารหรือ ไม่ควรอาสาเข้ามาเป็นรัฐบาล(ชั่วคราว)
แต่เท่าที่ปรากฏ ดูเหมือนว่า คณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะไม่รู้จักภารกิจของตนเอง
(๒) ความเสียสละของการทำรัฐประหาร คือ อย่างไร ผู้เขียนคิดว่า ในการทำรัฐประหาร คณะปฏิรูปการปกครองฯ จะต้องเสียสละ และจะต้องทำให้ความเสียสละนี้เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป เพื่อความเชื่อถือและความศรัทธาต่อคณะปฏิรูปการปกครองฯ
(๒.๑) คณะปฏิรูปการปกครองฯ จะต้องลืม การสืบทอดอำนาจ โดยสิ้นเชิง และอย่าหลงไปกับความ คิด (ของนักกฎหมายแบบไทย ๆ ที่ได้เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ และ พ.ศ. ๒๕๓๔ สำหรับคณะรัฐประหารชุดก่อน ๆ )ว่า หลังการรัฐประหารแล้ว จะหานักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ที่เป็นพันธมิตรของตน(ทหาร) มาร่วมกันจัดตั้ง พรรคการเมืองเพื่อเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ ใน ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(ที่มีการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค ฯลฯ) และจะได้เป็น รัฐบาล ต่อไป
ผู้เขียนเห็นว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯ มีเหตุผลหลาย ๆ เหตุผล ที่ ควรต้องลืมการสืบทอดอำนาจไม่ว่าด้วยประการใด ๆ และตั้งใจปฏิบัติ ภารกิจทั้งสองประการให้สำเร็จเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ; เหตุผลสำคัญในทางวิชาการ ก็คือ ระบบนี้( ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง)ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย และเป็นระบบผูกขาดอำนาจ ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนากลไกการปกครองในระบอบประชาธิปไตยไปข้างหน้าได้ และทำให้เรา(คนไทย) ต้องตกอยู่ในวังวนของ vicious circle
นอกจากนั้น ก็ยังมีเหตุผลในทางส่วนตัวของคณะปฏิรูปการปกครองฯเอง เพราะจากประสบการณ์ที่แล้ว ๆ มา ไม่ว่าจะเป็น พรรคเสรีมนังคศิลา / พรรคสหประชาไทย/ หรือพรรคสามัคคีธรรม จะเห็นได้ว่า พรรคการเมืองประเภทนี้ จะดำรงอยู่ได้เพียงชั่วระยะอันสั้น ทั้งนี้ตราบเท่าที่นักการเมือง (นายทุนธุรกิจ-ระดับท้องถิ่น) ยังมีผลประโยชน์ร่วมกันกับคณะรัฐประหารเท่านั้น และหลังจากการเลือกตั้งแล้ว นักการเมือง (นายทุนธุรกิจ-ระดับท้องถิ่น)เจ้าของและผู้ลงทุนในการจัดตั้งพรรคการเมือง ก็จะใช้ (use)คณะรัฐประหาร ไปชั่วระยะหนึ่ง และต่อจากนั้น นักการเมืองนายทุนธุรกิจ ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ก็จะเข้ายึดครอง การผูกขาดอำนาจรัฐ โดยพรรคการเมืองแทนทหาร
แต่เท่าที่ปรากฏ ดูเหมือนว่า คณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะไม่มีคุณลักษณะที่เป็นความเสียสละ ในข้อนี้
(๒.๒) การทำงานอย่างโปร่งใส (transparency) และไม่หาประโยชน์ให้แก่ตนเอง คณะปฏิรูปการปกครองฯ จะต้องเข้าใจว่า ใน การทำรัฐประหารนั้น ย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯได้ทำลายเครือข่ายการทุจริตคอร์รัปชั่นและการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ของบรรดานักการเมืองนายทุนธุรกิจ (ที่มาจากการเลือกตั้ง)จำนวนมาก ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะเป็นศัตรู (หรือผู้ที่ไม่หวังดี)ต่อคณะปฏิรูปการปกครองฯ และยังต้องการกลับคืนเข้าสู่อำนาจรัฐใน ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ตามรัฐธรรมนูญเดิม
คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ จะต้องทราบว่า วิธีการต่อสู้ของ คนไม่ดี จะมีอยู่วิธีเดียว คือ การทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า คนที่มาเปิดเผย ความไม่ดีของตนนั้น เป็น คนที่ไม่ดีเหมือนกัน และด้วยเหตุนี้ คนไม่ดี เหล่านี้ ก็จะเก็บข้อมูลและพยายามไปค้นหาและขุดคุ้ยข้อเท็จจริงต่าง ๆเท่าที่จะหามาได้ จริงบ้างเท็จบ้าง และถ้าหาไม่ได้ ก็เอาเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นมา แล้วใช้ สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือในการเสนอข่าวทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องที่ใหญ่ ทั้งนี้ โดยมีเจตนาให้เรื่องเหล่านี้ กลบเกลื่อนการทุจริตคอร์รัปชั่นจำนวนมากของตน [หมายเหตุ : ถ้าท่านผู้อ่านมีเวลาพอ ก็ขอให้ลองกลับไปทบทวนเหตุการณ์ และข่าวต่าง ๆ ในสื่อมวลชนในช่วงเวลาที่ผ่านมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ท่านผู้อ่านก็จะสังเกตเห็น วิธีการ ดังกล่าวนี้ได้ ]
ดังนั้น หลักการสำคัญในการปฏิบัติตามภารกิจ ของ คณะปฏิรูปการปกครองฯ ในขณะที่ใช้อำนาจรัฐในขณะที่ทำรัฐประหาร ก็คือ คณะปฏิรูปการปกครองฯ จะต้องทำงานด้วยความโปร่งใส (transparency) / ไม่แสวงหาประโยชน์ส่วนตัว / และต้องมี จุดหมายที่แน่ชัดและเปิดเผย
ผู้เขียนคิดว่า ถ้า คณะปฏิรูปการปกครองฯมีความตั้งใจจริงที่จะทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมแล้ว คณะปฏิรูปการปกครองฯจะต้องไม่หวั่นไหวกับ วิธีการเช่นนี้ เพราะตราบใดที่ท่าน (คณะปฏิรูปการปกครองฯ) ทำงานด้วยความโปร่งใส / ไม่แสวงหาประโยชน์ส่วนตัว / และ มีจุดหมายที่แน่นอนเปิดเผย ตราบนั้นประชาชนย่อมสนับสนุนและอยู่กับท่านเสมอ และ คณะปฏิรูปการปกครอง ฯไม่ควรต้องเกรงกลัวกับการข่มขู่ด้วย วิธีการเหล่านี้ เพราะคณะปฏิรูปการปกครองฯจะต้องคิดว่า ถ้าท่าน(คณะปฏิรูปการปกครองฯ)ไม่กล้าปฏิบัติตาม ภารกิจของท่าน และไม่ทำงานในสิ่งที่ท่าน ควรจะต้องทำ ผู้ที่ได้ประโยชน์ จากท่าน ก็คือ นักการเมืองที่ทำการทุจริดคอร์รัปชั่นนั่นเอง และคณะปฏิรูปการปกครองฯก็จะเป็นผู้ที่ทำลายทั้งตัวท่านเองและทำลายทั้งความหวังของคนไทย และทำให้นักการเมืองดังกล่าวได้กลับคืนสู่อำนาจรัฐ ในระบบเผด็จ(ในระบบรัฐสภา) โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ) อีกครั้งหนึ่ง
แต่เท่าที่ปรากฏ ดูเหมือนว่า คณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะไม่มีคุณลักษณะที่เป็นความเสียสละ ในข้อนี้ เช่นเดียวกัน
ตัวอย่างที่ปรากฏในเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ที่อาจทำให้คนทั่วไปสงสัยได้ว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯขาดความเสียสละ ก็คือ การซื้ออาวุธฯลฯของราชการทหาร ; ซึ่งกรณีเช่นนี้ ผู้เขียนคิดว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯไม่สมควรจะปล่อยให้เกิดขึ้น ; เพราะถ้าหากคณะปฏิรูปการปกครองฯไม่ประสงค์จะเปิดเผยรายละเอียดเนื่องจากเป็นความลับทางทหาร คณะปฏิรูปการปกครองฯก็อาจหา วิธีการที่สร้างความเชื่อถือให้แก่คนทั่วไปได้ ; ถ้าจะถามว่า ในทางกฎหมายมหาชน ทำประการใดได้บ้าง ; ผู้เขียนก็เห็นว่า มีทางทำได้ เป็นต้นว่า กำหนด กระบวนการจัดซื้ออาวุธฯลฯให้เป็นระบบที่มีการกลั่นกรองที่ดี และเปิดเผย (กระบวนการนั้น)ให้เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น คณะปฏิรูปการปกครองฯก็เพียงแต่กล่าวว่า การจัดซื้ออาวุธนี้ได้ผ่านกระบวนการกลั่นกรองตามระเบียบแบบแผนที่กำหนดไว้แล้ว(อย่างเปิดเผย) โดยมีบุคคล(ที่คนทั่วไปเชื่อถือในความสุจริต)ได้ร่วมพิจารณาและเห็นชอบด้วยแล้ว; เช่นนี้ ผู้เขียนก็เชื่อว่า คนทั่วไปก็จะคลายความสงสัยลงได้ เพราะคนทั่วไปจะเชื่อใน กระบวนการกลั่นกรอง(ที่ดี) และเชื่อใน ตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องที่เชื่อถือได้ ทั้งนี้ โดยคณะปฏิรูปการปกครองฯไม่จำเป็นต้องเปิดเผยรายละเอียดของอาวุธที่เป็นความลับทางราชการทหารที่ไปซื้อมา แต่อย่างใด; วิธีการเช่นนี้ เป็นวิธีการที่ใช้ทั่วไปทางกฎหมายมหาชน ของประเทศที่พัฒนาแล้ว
(วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๑ ผู้เขียนยังเขียนไม่จบ)
อ่านต่อ
หน้า24
หน้า 25
หน้า26
หน้า 27
หน้า28
หน้า 29
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|