การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี |
|
|
|
ทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์
นักวิเคราะห์อาวุโส สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)
|
|
|
|
|
|
|
|
|
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
ทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์ นักวิเคราะห์อาวุโส สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)
บทนำ ประเทศไทยมีนโยบายจัดสวัสดิการเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแก่ผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปแบบถ้วนหน้าในสมัยรัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2551 มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่าจะ สร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่แสดงความจำนงโดยการขอขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับการสงเคราะห์ โดยจ่ายในอัตราเดือนละ 500 บาท ต่อมา ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 รัฐบาลที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ปรับอัตราการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจาก 500 บาทต่อเดือนเป็นแบบขั้นบันไดตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยผู้สูงอายุที่มีอายุ 60-69 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 600 บาท อายุ 70-79 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 700 บาท อายุ 80-89 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 800 บาท และอายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 1,000 บาท และยังคงเป็นอัตราที่รัฐบาลจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจนถึงปัจจุบัน ปัญหาของการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ปรากฏเป็นข่าวในช่วงเวลาที่ผ่านมา คือ ปัญหาที่ผู้ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหลายคนถูกตรวจสอบคุณสมบัติย้อนหลัง แล้วพบว่า เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามไม่สามารถรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ จึงถูกเรียกเงินคืน บางรายแม้เสียชีวิตไปแล้ว ลูกหลานก็ยังคงได้รับหนังสือทวงเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุพร้อมดอกเบี้ยจากหน่วยงานของรัฐ บางรายถูกเรียกเงินคืนเป็นเงินกว่า 1 แสนบาท อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ได้คลี่คลายไปในระดับหนึ่งแล้ว เมื่อมีการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบที่เกี่ยวข้อง และให้ถือว่าผู้ที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพเป็นผู้ได้รับเงินจากรัฐโดยสุจริตและไม่จำเป็นต้องส่งคืน อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยังมีปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งไม่ถูกกล่าวถึงหรือวิเคราะห์มากนัก คือ ปัญหาที่ประชาชนทั่วไปไม่ทราบหรือไม่สามารถคำนวณหาช่วงเวลาที่ต้องไปลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้อย่างถูกต้อง มีความเสี่ยงในการไปลงทะเบียนล่าช้ากว่าที่ระเบียบกำหนด ส่งผลให้ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุล่าช้าและจำนวนเงินเบี้ยยังชีพที่ได้รับน้อยลงกว่าสิทธิที่ควรจะได้ ในบางกรณีอาจมีการสูญเสียเงินเบี้ยยังชีพที่ควรจะได้ไปถึง 7,200 บาท สาเหตุสำคัญของปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่กฎ ระเบียบ และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเต็มไปด้วยมีความสลับซับซ้อนเกินกว่าที่คนธรรมดาทั่วไปจะเข้าใจและนำไปใช้คำนวณได้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังขาดเครื่องมือหรือระบบดิจิทัลที่จะช่วยคำนวณหาช่วงเวลาลงทะเบียนที่ถูกต้องได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
บทความนี้จึงมุ่งวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการคำนวณหาช่วงเวลาที่ถูกต้องในการลงทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอย่างละเอียด จากนั้น นำเสนอแนวทางการพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุทั่วประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันให้ผู้สูงอายุไปลงทะเบียนในช่วงเวลาที่ถูกต้อง และได้รับเงิน เบี้ยยังชีพถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นไปตามสิทธิที่พึงมีพึงได้
กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การคำนวณเพื่อหาช่วงเวลาที่ถูกต้องสำหรับการไปลงทะเบียนเพื่อแสดงเจตจำนงรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ มีกฎหมาย ระเบียบ และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องอยู่หลายฉบับ ดังนี้ 1. มาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า การนับอายุของบุคคล ให้เริ่มนับแต่วันเกิด ในกรณีที่รู้ว่าเกิดในเดือนใดแต่ไม่รู้วันเกิด ให้นับวันที่หนึ่งแห่งเดือนนั้นเป็นวันเกิด แต่ถ้าพ้นวิสัย ที่จะหยั่งรู้เดือนและวันเกิดของบุคคลใดให้นับอายุบุคคลนั้นตั้งแต่วันต้นปีปฏิทิน ซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด จากบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น หมายความว่า บุคคลจะมีอายุครบปีบริบูรณ์ในวันก่อนหน้า วันคล้ายวันเกิดของทุกปี 1 วัน ตามนัยของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7841/2552 ที่ระบุสาระสำคัญเรื่องการ นับอายุไว้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 เกิดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2532 จึงต้องนับอายุตั้งแต่วันเกิด คือนับตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2532 เป็นหนึ่งวันเต็ม ผู้เสียหายที่ 1 จึงมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2547 เมื่อเกิดคดีขึ้นในเวลา 02.00 น. ของวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2547 จึงถือว่า ผู้เสียหายมีอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์แล้ว นอกจากนี้ หากคำนวณอายุตามมาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะพบว่า บุคคลจะมีอายุครบ 365 หรือ 366 วันในวันก่อนวันคล้ายวันเกิดในปีปฏิทินถัดไปพอดี ดังตัวอย่างการคำนวณตามตารางที่ 1 บุคคลที่เกิดเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2505 จะมีอายุครบ 1 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2506
ตารางที่ 1 รายละเอียดการคำนวณอายุบุคคลครบ 365 วันตามมาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
วัน/เดือน/ปี พ.ศ. วันสุดท้ายของแต่ละเดือน จำนวนวัน 01/09/2505 30/09/2505 30 01/10/2505 31/10/2505 31 01/11/2505 30/11/2505 30 01/12/2505 31/12/2505 31 01/01/2506 31/01/2506 31 01/02/2506 28/02/2506 28 01/03/2506 31/03/2506 31 01/04/2506 30/04/2506 30 01/05/2506 31/05/2506 31 01/06/2506 30/06/2506 30 01/07/2506 31/07/2506 31 01/08/2506 31/08/2506 31 รวมจำนวนวัน 365
ในกรณีที่บุคคลใดทราบแต่เดือนเกิดแต่ไม่ทราบวันเกิด ให้ถือว่าเกิดวันที่ 1 ของเดือนนั้น แต่ในกรณีที่ไม่ทราบทั้งเดือนเกิดและวันเกิด ให้ถือว่าเกิดวันที่ 1 มกราคมในปีนั้น 2. ข้อ 7 วรรคหนึ่ง ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน บัญญัติว่า ให้ผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปในปีงบประมาณถัดไปลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วยตนเองต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนมีภูมิลำเนา ณ สำนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือสถานที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึง เดือนพฤศจิกายนของทุกปี โดยมีหลักฐานดังต่อไปนี้
การคำนวณว่า ผู้สูงอายุแต่ละคนจะ มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปในปีงปบระมาณถัดไป หรือไม่ เมื่อใด เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนสำหรับประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ นอกจากจะต้องทำความเข้าใจหลักการของการ นับอายุตามมาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ยังต้องทำความเข้าใจเรื่องปีงบประมาณด้วย ทั้งนี้ พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ได้ระบุความหมายของปีงบประมาณ ไว้ว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมของปีหนึ่ง ถึงวันที่ 30 กันยายนของปีถัดไป และให้ใช้ปี พ.ศ. ที่ถัดไปนั้นเป็นชื่อสำหรับปี งบประมาณนั้น ถ้าอธิบายเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย คือ ปีงบประมาณหนึ่ง เริ่มต้นจากวันที่ 1 ตุลาคม ของปีปฏิทินก่อนหน้าถึงวันที่ 30 กันยายนของปีปฏิทินที่เป็นชื่อของปีงบประมาณ เช่น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เริ่มต้นวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 เป็นต้น ดังนั้น การเชื่อมโยงการนับอายุของบุคคลกับปีงบประมาณซึ่งมีหลักเกณฑ์และช่วงเวลาแตกต่างกันได้ทำให้การคำนวณหาช่วงเวลาที่ต้องไปลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมีความสลับซับซ้อนและยุ่งยากมากยิ่งขึ้น 3. ข้อ 13 วรรคหนึ่งของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์ การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ระบุว่า การจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้แก่ผู้มีสิทธิตามระเบียบนี้ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจ่ายเป็นเงินสด หรือโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหรือในนามบุคคลที่รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สุงอายุเป็นรายเดือนภายในวันที่ 10 ของทุกเดือน 4. อย่างไรก็ตาม นอกจากกฎหมายและระเบียบทั้ง 3 ข้อข้างต้นแล้ว ยังจำเป็นต้องศึกษาแนวปฏิบัติที่กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือแจ้งเวียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท 0810.6/ว5752 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 25 กันยายน 2563 ความว่า
การรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เดือนพฤศจิกายน 2563 และเดือนมกราคม 2564 เดือนกันยายน 2564 ให้ผู้สูงอายุรายใหม่ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนมาก่อนซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว และผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งนับอายุจนถึงวันที่ 1 กันยายน 2565 (เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2505 เนื่องจากผู้สูงอายุที่เกิดตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2505 1 ตุลาคม 2505 เป็นผู้สูงอายุที่จะมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในเดือนถัดไป จากเดือนที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ คือ เดือนตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นปีงบประมาณ 2566 ดังนั้น กลุ่มผู้สูงอายุดังกล่าวต้องลงทะเบียนขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป)
จากแนวปฏิบัติข้างต้น หมายความว่า การคำนวณหาช่วงเวลาที่ถูกต้องในการขึ้นทะเบียนรับเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต้องคำนวณไปถึงเดือนที่จะรับเงินเบี้ยยังชีพเป็นเดือนแรก จากนั้น ต้องคำนวณต่อไปว่า เดือนที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพเป็นเดือนแรกนั้นอยู่ในปีงบประมาณใด แล้วจึงได้คำตอบว่า ต้องไปลงทะเบียนในปีงบประมาณก่อนหน้าด้วย นอกจากนี้ แม้ว่าข้อ 7 วรรคหนึ่ง ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 จะเปิดโอกาสให้สามารถไปลงทะเบียนได้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน แต่ในทางปฏิบัติกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพยายามเชิญชวนให้ผู้สูงอายุในเขตพื้นที่รับผิดชอบไปลงทะเบียนในเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนเป็นหลัก ส่วนการลงทะเบียนในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายนให้เป็นการลงทะเบียนเก็บตก
สรุปขั้นตอนการคำนวณหาระยะเวลาที่ต้องไปลงทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากกฎหมายและระเบียบที่ได้อธิบายมาทั้งหมด สามารถสรุปขั้นตอนการคำนวณหาระยะเวลาที่ถูกต้องที่ประชาชนต้องไปลงทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ ดังนี้ ขั้นตอนที่หนึ่ง คำนวณหาว่า ตนเองจะอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ตามมาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เมื่อใด ตัวอย่าง ผู้ที่เกิดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2506 จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ส่วนผู้ที่เกิดวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2506 จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2566 ขั้นตอนที่สอง คำนวณหาวันที่จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นเดือนแรก คือ ภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ตามขั้นตอนที่หนึ่ง ตัวอย่าง ผู้ที่เกิดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2506 มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2566 จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนแรกภายในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2566 ส่วนผู้ที่เกิดวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2506 มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2566 จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพเป็นเดือนแรกภายในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ขั้นตอนที่สาม ระบุให้ได้ว่า วันที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพเป็นเดือนแรกอยู่ในปีงบประมาณใด ตัวอย่าง ผู้ที่เกิดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2506 จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพเป็นเดือนแรกภายในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2566 อยู่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ส่วนผู้ที่เกิดวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2566 จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพเดือนแรกภายในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2566 อยู่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ขั้นตอนที่สี่ การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณก่อนปีงบประมาณที่จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพเป็นเดือนแรก ตัวอย่าง ผู้ที่เกิดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2506 จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพเป็นเดือนแรกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จึงต้องลงทะเบียนให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ผู้ที่เกิดวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2506 จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพเป็นเดือนแรกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จึงต้องลงทะเบียนให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ขั้นตอนที่ห้า กำหนดระยะเวลาที่สามารถไปลงทะเบียนได้ตามปีงบประมาณ จากตัวอย่าง ผู้ที่เกิดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2506 ต้องลงทะเบียนให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ดังนั้น จึงสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 หรือตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 โดยไม่สามารถลงทะเบียนในเดือนธันวาคมได้ และมีระยะเวลาในการลงทะเบียนทั้งสิ้น 11 เดือน ส่วนผู้ที่เกิดวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2506 ต้องลงทะเบียนให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ดังนั้น จึงสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 หรือตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 โดยไม่สามารถลงทะเบียนในเดือนธันวาคมได้ และมีระยะเวลาในการลงทะเบียนทั้งสิ้น 11 เดือนเช่นเดียวกัน ในกรณีที่ผู้สูงอายุไปลงทะเบียนก่อนช่วงเวลาที่คำนวณได้จาก 5 ขั้นตอนข้างต้น ระบบจะไม่เปิดให้ลงทะเบียนและต้องเดินทางไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใหม่อีกครั้งเมื่อถึงช่วงเวลาที่กำหนด แต่ในกรณีที่ไปลงทะเบียนล่าช้ากว่ากำหนด ผู้สูงอายุจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพในเดือนตุลาคมถัดจากวันที่ไปลงทะเบียน ในกรณีของผู้ที่เกิดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2506 จะได้เงินเบี้ยยังชีพล่าช้ากว่าสิทธิที่พึงจะได้เป็นระยะเวลา อย่างน้อย 1 เดือน คิดเป็นเงินเบี้ยยังชีพที่สูญเสียไปอย่างน้อย 600 บาท ส่วนกรณีที่ผู้ที่เกิดวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2506 ถ้าไปลงทะเบียนล่าช้ากว่าที่กำหนดจะเริ่มได้เงินเบี้ยยังชีพเป็นเดือนแรกในเดือนตุลาคมของปีงบประมาณถัดไป คือ เดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 ล่าช้ากว่าสิทธิที่พึงจะได้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 12 เดือน คิดเป็นเงินเบี้ยยังชีพที่สูญเสียไปอย่างน้อย 7,200 บาท ทั้งนี้ เราสามารถสรุปข้อมูลเปรียบเทียบที่ได้จากการคำนวณแต่ละขั้นตอนของผู้ที่เกิดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2506 และวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2506 ตามตารางที่ 2
ตารางที่ 2 เปรียบเทียบข้อมูลและช่วงเวลาที่ผู้สูงอายุต้องไปลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพตรงตามเวลา สำหรับผู้ที่เกิดวันที่ 1 และ 2 กันยายน พ.ศ. 2506
รายการคำนวณ ผู้ที่เกิดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2506 ผู้ที่เกิดวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2506 วันที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ตามกฎหมาย 31 สิงหาคม พ.ศ. 2566 1 กันยายน พ.ศ. 2566 วันที่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ย ยังชีพผู้สูงอายุเป็นเดือนแรก ภายในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2566 ภายในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ปีงบประมาณของเดือนที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นเดือนแรก ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ปีงบประมาณที่ต้องไปลงทะเบียนเพื่อรับเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ช่วงเวลาที่ต้องไปลงทะเบียนเพื่อได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตรงตามสิทธิ เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 หรือ เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 หรือ เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 จำนวนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขั้นต่ำที่เสียไปในกรณีที่ไปลงทะเบียนล่าช้า 600 บาท 7,200 บาท
จากขั้นตอนการคำนวณที่ยุ่งยากและสลับซับซ้อนตามที่ได้อธิบายมาทั้งหมด จึงเป็นเรื่องยากยิ่งที่ประชาชนแต่ละคนจะสามารถคำนวณหาช่วงเวลาที่ถูกต้องสำหรับการลงทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของตนเองได้ จึงต้องพึ่งพาการประชาสัมพันธ์หรือการเชิญชวนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 7,774 แห่ง (ประกอบด้วยเทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 195 แห่ง เทศบาลตำบล 2,247 แห่ง องค์การบริหาร ส่วนตำบล 5,300 แห่ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอีก 2 แห่ง คือ กรุงเทพมหานคร และ เมืองพัทยา เป็นหลัก ส่วนองค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่มีภารกิจในการรับลงทะเบียนผู้สูงอายุเพื่อรับ เงินเบี้ยยังชีพแต่อย่างใด
การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อช่วยในการคำนวณหาช่วงเวลาที่ถูกต้องในการลงทะเบียนเพื่อรับเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หลักการสำคัญที่สุดสำหรับการออกแบบหรือกำหนดแนวทางการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการช่วยคำนวณหาช่วงเวลาที่ถูกต้องในการลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คือ การทำความเข้าใจและตอบสนองความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการ (User needs) อย่างดีที่สุด นอกจากนี้ ระบบดิจิทัลที่จะพัฒนาขึ้นจะต้องเป็นระบบที่ใช้งานได้ง่าย (Simple) มีความมั่นคงปลอดภัย (Secure) มีเนื้อหาหรือแนวทางการใช้งานที่ชัดเจน (Clear) และสามารถใช้งานได้อย่างรวดเร็ว (Fast) หลักการที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การให้ข้อมูลอย่างเฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคล (Personalization) ซึ่งแตกต่างจากการให้ข้อมูลหรือการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบเดิมที่มักเป็นการให้ข้อมูลแบบภาพรวม เช่น ตัวอย่างข้อความประชาสัมพันธ์ที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแนะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเผยแพร่ต่อประชาชน คือ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 - เดือนพฤศจิกายน 2563 และเดือนมกราคม 2564 - เดือนกันยายน 2564 (เทศบาล/อบต.) ขอเชิญชวนให้ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ 2565 นับจนถึงวันที่ 1 กันยายน 2565 (เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2505) ที่มีคุณสมบัติ ดังนี้ .... ไปลงทะเบียนและยื่นคำขอเพื่อแสดงความจำนงขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การให้ข้อมูลในลักษณะภาพรวมเช่นนี้อาจช่วยสร้างความกระจ่างได้ระดับหนึ่ง แต่การประชาสัมพันธ์ข้างต้นหมายรวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ได้ลงทะเบียนตรงตามช่วงเวลาที่ถูกต้อง และได้สูญเสียเงินเบี้ยยังชีพที่ตนเองพึงมีพึงได้ไปแล้ว ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหามิให้ผู้สูงอายุพลาดการลงทะเบียนในช่วงเวลาที่ถูกต้อง ระบบที่จะพัฒนาขึ้นควรเป็นระบบที่ให้ข้อมูลได้อย่างเฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคลโดยคำนวณจากวันเดือนปีเกิดของผู้สูงอายุแต่ละคนตามขั้นตอนที่กฎหมายระเบียบและแนวปฏิบัติของรัฐกำหนด แนวทางการพัฒนาระบบที่พอจะประสบความสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น คือ การพัฒนาระบบดิจิทัลสำหรับการคำนวณหาช่วงเวลาที่ถูกต้องที่ผู้สูงอายุต้องไปลงทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพที่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นที่ตนเองมีภูมิลำเนาอยู่ โดยผู้ใช้งานกรอกเพียงวันเดือนปีเกิด จากนั้นระบบจะคำนวณตามขั้นตอนที่ได้อรรถาธิบายไปข้างต้น แล้วแสดงคำตอบออกมาเป็นช่วงเวลาที่ผู้สูงอายุแต่ละคนต้องไปลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพ และอาจพัฒนาเพิ่มเติมให้มีช่องทางในการแจ้งเตือนในกรณีที่ใกล้ระยะเวลาสิ้นสุดของช่วงเวลาที่ต้องไปลงทะเบียน หรือในกรณีที่ผู้สูงอายุไม่ถนัดในการใช้งานเทคโนโลยี ก็อาจขอให้ญาติพี่น้องหรือคนรู้จักกรอกข้อมูลแทนก็ได้
การพัฒนาสูตรการคำนวณ ทั้งนี้ ในการจัดทำไฟล์ต้นแบบ (Prototype) ได้ทดลองสร้างสูตรคำนวณใน Microsoft Excel ตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในกฎหมาย ระเบียบ และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ดังตัวอย่างผู้สูงอายุที่เกิดเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2506 จะมีสูตรที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. วันเดือนปีเกิด กรอกข้อมูลว่า 01/09/2506 2. วันที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ตามกฎหมาย สร้างสูตรการคำนวณว่า =DATE(YEAR(01/09/2506)+60 MONTH(01/09/2506),DAY(01/09/2506)-1) หมายความว่า ให้บวกจำนวนปีไป 60 ปี และลบวันไป 1 วัน ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับการนับอายุของบุคคล ผลลัพธ์ที่ได้ คือ 31/08/2566 3. วันที่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นเดือนแรก สร้างสูตรการคำนวณว่า =DATE(YEAR(31/08/2566),MONTH(31/08/2566)+1,DAY(10)) ผลลัพธ์ที่ได้ คือ 10/09/2566 4. ปีงบประมาณของเดือนที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นเดือนแรก สร้างสูตรการคำนวณว่า =(IF(OR(MONTH(10/09/2566)=10,MONTH(10/09/2566)=11,MONTH(10/09/2566)=12),YEAR(10/09/2566)+1,YEAR(10/09/2566)))+543 หมายความว่า ถ้าเดือนเป็นเดือน 10, 11 และ 12 ให้ถือเป็นปีงบประมาณถัดไป ส่วนการ +543 ในตอนท้ายเพื่อแปลงคริสต์ศักราชเป็นพุทธศักราช ผลลัพธ์ที่ได้ คือ 2566 5. ปีงบประมาณที่ต้องไปลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สร้างสูตรการคำนวณว่า (2566)-1 หมายความว่า ต้องไปลงทะเบียนให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณก่อนหน้าปีงบประมาณที่จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นเดือนแรก ผลลัพธ์ที่ได้ คือ 2565 6. ช่วงเวลาที่ต้องไปลงทะเบียนเพื่อได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตรงตามสิทธิ สร้างสูตรการคำนวณว่า =เดือนตุลาคม-เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. &(2565)-1& หรือเดือนมกราคม-เดือนกันยายน พ.ศ. &(2565) หมายความว่า ให้ไปลงทะเบียนได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนในปีปฏิทินก่อนหน้าปีงบประมาณที่คำนวณได้ตามขั้นตอนที่ 5 หรือเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายนในปีปฏิทินเดียวกับปีงบประมาณตาม ขั้นตอนที่ 5 เช่นเดียวกัน ผลลัพธ์ที่ได้ คือ เดือนตุลาคม-เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 หรือเดือนมกราคม-เดือนกันยายน พ.ศ. 2565 สูตรทั้งหมดนี้จะทำงานต่อเนื่องกันจนได้คำตอบออกมาเป็นผลลัพธ์สุดท้ายในขั้นตอนที่ 6 นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มรายละเอียดอื่น ๆ เช่น กำหนดให้มีการแจ้งเตือน (Alert and Notifications) เป็นระยะ ๆ ไปยังที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (Email Address) หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ผู้ใช้งานได้กรอกไว้ด้วยก็ได้ ทั้งนี้ อาจพัฒนาระบบคำนวณนี้เป็นเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือเพิ่มเติมเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น แอปพลิเคชันทางรัฐ เป๋าตัง เราชนะ คนละครึ่ง เป็นต้น
สรุป ผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมาย ระเบียบ และ แนวปฏิบัติของรัฐกำหนดมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอัตราเริ่มต้นเดือนละ 600 บาทในเดือนถัดจากเดือนที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เงื่อนไขสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับเงินเบี้ยยังชีพตรงเวลาและตรงตามสิทธิที่พึงได้ คือ การไปลงทะเบียน ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนเองมีภูมิลำเนาอยู่ในช่วงเวลาที่ถูกต้อง ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นและถูกละเลยตลอดมา คือ วิธีการคำนวณหาช่วงเวลาที่ถูกต้องสำหรับผู้สูงอายุแต่ละคนนั้น มีขั้นตอนที่ยุ่งยากและสลับซับซ้อน อีกทั้งยังต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจทั้งด้านกฎหมายและการบริหารราชการแผ่นดินในระดับที่ลึกซึ้งพอสมควร ทั้งการนับอายุบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมทั้งการคำนวณปีงบประมาณซึ่งแตกต่างจากปีปฏิทินที่ประชาชนส่วนใหญ่คุ้นเคย ผลที่ตามมาคือ ประชาชนต้องรอรับฟังข่าวสารประชาสัมพันธ์จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 7,774 แห่งเป็นหลัก โดยไม่สามารถตรวจสอบสิทธิหน้าที่ของตนเองได้โดยสะดวกว่า ต้องไปลงทะเบียนเมื่อใด หากผู้สูงอายุไปลงทะเบียนก่อนช่วงเวลาที่ถูกต้องไว้ จะไม่สามารถลงทะเบียนได้ และต้องกลับไป ลงทะเบียนใหม่อีกครั้ง แต่ถ้าไปลงทะเบียนหลังช่วงเวลาที่ถูกต้อง ผู้สูงอายุจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพช้าและน้อยกว่าสิทธิที่พึงมีพึงได้ แนวทางแก้ไขที่สามารถประสบความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันสั้น คือ การพัฒนาระบบดิจิทัลที่ใช้คำนวณหาช่วงเวลาที่ถูกต้องสำหรับการลงทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นรายบุคคล โดยผู้ใช้งานเพียงกรอกวันเดือนปีเกิดตามบัตรประจำตัวประชาชนเท่านั้น ระบบจะคำนวณหาช่วงเวลาที่ต้องไปลงทะเบียนตามสูตรที่สร้างขึ้นให้สอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบ และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ช่วยให้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และยังเป็นการส่งมอบเครื่องมือดิจิทัลให้แก่ประชาชนทุกคนเพื่อให้สามารถรับรู้และพิทักษ์สิทธิของตนเองในการรับสวัสดิการจากรัฐได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องหวังพึ่งพาการแจ้งข้อมูลข่าวสารหรือการประชาสัมพันธ์จากภาครัฐเพียงช่องทางเดียวอีกต่อไป เชิงอรรถ บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน บันทึกการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) วันอังคารที่ 30 ธันวาคม พุทธศักราช 2551 ณ ห้องประชุมวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ. ราชกิจจานุเบกษา, 126 (29 ง), 19 มีนาคม 2552, หน้า 284 [http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2552/D/029/277.PDF] ระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2552. ราชกิจจานุเบกษา, 126 (ตอนพิเศษ 30 ง), 24 กุมภาพันธ์ 2552, หน้า 3 [http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2552/E/030/1.PDF] บันทึกการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญทั่วไป) วันอังคารที่ 23 ธันวาคม พุทธศักราช 2554 ณ ตึกรัฐสภา. ราชกิจจานุเบกษา, 128 (148 ง), 6 ตุลาคม 2554, หน้า 132 [http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2554/D/148/125.PDF] เรียกคืน เบี้ยผู้สูงอายุ อีกรายที่ชัยนาท หญิงอายุ 56 ปี ขอติดคุก ไม่มีเงินสู้คดี. 25 มกราคม 2564. ประชาชาติธุรกิจ, [https://www.prachachat.net/general/news-600755]; ไวรัสเบี้ยคนชราโผล่อีก! ยายวัย 70 ปี ถูกเรียกคืนกว่า 5 หมื่นบาท ย้อนหลัง 8 ปี. 27 มกราคม 2564. แนวหน้า, [https://www.naewna.com/local/548612]; Jiratchaya Chaichumkhun. 3 กุมภาพันธ์ 2564. สรุปปัญหาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ทำไมผู้สูงอายุหลายหมื่นคนถึงถูกเรียกคืนเงินย้อนหลัง?. The Matter, [https://thematter.co/quick-bite/elderly-welfare-allowance/134613] จบปัญหาเรียกคืนเบี้ยผู้สูงอายุ สั่งแก้ระเบียบมท.เอื้อผู้รับบำนาญพิเศษ. 5 กุมภาพันธ์ 2564. เดลินิวส์, [https://www.dailynews.co.th/politics/823548/] พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2535. ราชกิจจานุเบกษา, 109 (42), 8 เมษายน 2535, หน้า 7-8 [http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2535/A/042/1.PDF] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7841/2552 [https://deka.in.th/view-503070.html] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560. ราชกิจจานุเบกษา, 134 (ตอนพิเศษ 223 ง), 1 [http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/223/1.PDF] พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561. ราชกิจจานุเบกษา, 135 (92 ก), 11 พฤศจิกายน 2561. หน้า 2 [http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/092/1.PDF] และ อิสร์กุล อุณหเกตุ. 28 ธันวาคม 2560. ทำไมปีงบประมาณจึงเริ่มที่เดือนตุลาคม? [https://themomentum.co/public-expenditure/] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562. ราชกิจจานุเบกษา, 136 (ตอนพิเศษ 55 ง), 5 มีนาคม 2562. หน้า 1 [http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/055/T_0001.PDF] หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.6/ว5752 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 25 กันยายน 2563. [http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2020/9/24233_1_1601289792202.pdf] เรื่องเดียวกัน Digital Transformation Agency, Australia. 1. Understand user needs, [https://www.dta.gov.au/help-and-advice/digital-service-standard/digital-service-standard-criteria/1-understand-user-needs] สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน). โครงการพัฒนาตนเองของคณะกรรมการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลองค์การมหาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ณ เครือรัฐออสเตรเลีย วันที่ 16-22 กรกฎาคม พ.ศ. 2559. 2559. http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER6/DRAWER021/GENERAL/DATA0000/00000167.PDF Marlieke Kieboom. Five things to think of when personalizing digital government services, The Momentum. 28 July 2017 [https://medium.com/@marli_k/five-things-to-think-of-when-personalizing-digital-government-services-81b70b578efb] หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.6/ว5752 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 25 กันยายน 2563. [http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2020/9/24233_1_1601289792202.pdf]
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|