สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า๗) |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
(๑.๒) การวิเคราะห์ (ความเห็นของผู้เขียน)
ในการวิเคราะห์นี้ ผู้เขียนจะขอให้ความเห็นเป็น ๓ ส่วน คือ (ก) ในส่วนแรก จะเป็นข้อสังเกตโดยทั่วไป (general observation) ในเอกสาร คำชี้แจง สาระสำคัญฯ และ (ข) จะเป็นข้อสังเกตในแนวทาง ๔ แนวทาง ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ โดยผู้เขียนจะแยกพิจารณาในแต่ละแนวทางอย่างย่อ ๆ และในท้ายสุด (ค) จะเป็นการสรุป ความเห็นโดยรวม ของผู้เขียน ที่ได้มาจากข้อสังเกต ในข้อ (ก) และ ข้อ (ข)
อนึ่ง ใคร่ขอเรียนว่า ในการวิเคราะห์ของผู้เขียนนี้ ผู้เขียน มิได้มีความมุ่งหมายที่จะยกประเด็นทุก ๆ ประเด็นที่มีปัญหา แต่เป็นการวิเคราะห์ที่มีความมุ่งหมายจะ เลือกเฉพาะประเด็นที่สำคัญ ที่น่าจะเป็นประโยชน์ในด้านความรู้แก่ท่านผู้อ่าน และในขณะเดียวกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึง ความไม่สมบูรณ์ของคำชี้แจง สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฯ ของคณะกรรมาธิการยกร่าง ฯ
(ก) ข้อสังเกตโดยทั่วไป (general observation)
ในประการแรก ผู้เขียนขอเรียนว่า หลังจากที่ได้ติดตามการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่(โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างฯ) และติดตามการบริหารบ้านเมือง(โดย คมช. และ รัฐบาล)ในช่วงเวลา ๖-๗ เดือนที่ผ่านจนถึงขณะนี้แล้ว ผู้เขียนมีความเชื่อว่า ประเทศไทยกำลังมุ่งกลับไปสู่สถานะการณ์เดิมก่อนมีการรัฐประหารฯ และประเทศไทย จะกลับเข้าสู่ vicious circle ไม่ช้าก็เร็ว
ปัญหาของประเทศในขณะนี้ มีปัญหาทั้งในด้านการร่าง รัฐธรรมนูญ(ฉบับใหม่) เช่น ประเด็นเรื่อง ที่มาของวุฒิสมาชิก ว่าสมควรจะกำหนดอย่างไร หรือประเด็น เรื่องการสมควรจะเบรรจุเรื่องพุทธศาสนาไว้ใน(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และมีปัญหาทั้งในด้านการบริหารประเทศ โดยรัฐบาลและโดย คมช . เช่น ปัญหาว่าบุคคลในคณะปฏิรูปการปกครอง ฯ สมควรจะมีบทบาททางการเมืองต่อไปหลังการเลือกตั้งหรือไม่ หรือเราจะแก้ปัญหาการอายัดทรัพย์และม็อบการเมืองของกลุ่มอำนาจทางการเมืองเดิมที่จะต่อเนื่องไป(หลังการเลือกตั้ง) เป็นต้น ผู้เขียนมีความเห็นว่า ปัญหาเหล่านี้ เกิดมาจากระดับความรู้พื้นฐานและสภาพของวงการวิชาการทางกฎหมายของเราเอง กล่าวคือ เราไม่เข้าใจว่า ปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเมืองของเราเกิดมาจาก สาเหตุอะไร และความหมายของ การปฏิรูปการเมือง คืออะไร และเราจะต้องทำอะไรบ้าง(เพื่อประโยชน์ส่วนรวม) ; ดังนั้น รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙ฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน จึงผิดพลาดมาตั้งแต่การกำหนด(ออกแบบ) รูปแบบขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ และรูปแบบของการบริหารประเทศ(ชั่วคราว)
ผู้เขียนเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ก็คือ ปัญหาที่สืบเนื่องมาจากความผิดพลาดตั้งแต่การเริ่มต้นของการรัฐประหารนั่นเอง และเราคงจะไม่สามารถออกจากปัญหานี้ได้ ถ้าเราไม่รู้จัก ขีดความสามารถของตัวเราเอง ซึ่งผู้เขียนก็ไม่อาจทราบได้ว่า วงการวิชาการทางกฎหมายของต่างประเทศ (รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านเรา เช่น สิงคโปร์) เขามีความรู้สึกอย่างไร เมื่อเขามองสภาพการขัดแย้งของสังคมเรา ที่เกิดขึ้นทุก ๆ วัน ในขณะนี้
ในส่วนที่ ๒ นี้ ผู้เขียนจะขอให้ความเห็นเฉพาะในส่วนของการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาของการบริหารบ้านเมือง ผู้เขียนจะขอให้ความเห็นไว้ใน ส่วนที่ ๓
ในการให้ข้อสังเกตของผู้เขียนใน คำชึ้แจง สาระสำคัญฯของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ นี้ ผู้เขียนจะวิเคราะห์โดย ถือตามเกณฑ์ มาตรฐาน ของการทำเอกสารประกอบร่างกฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้ว ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ใน ส่วนที่ ๑ ข้อ ๑.๒
[ หมายเหตุ :- การจัดทำเอกสารประกอบร่างกฎหมาย มีจุดมุ่งหมายและมีมาตรฐาน ดังต่อไปนี้ (๑) ประการแรก เป็นเอกสารที่ มีความมุ่งหมายจะให้ความรู้และความเข้าใจใน(ร่าง)รัฐธรรมนูญแก่ประชาชนทั่ว ไป โดยสังเขป และ (๒) ประการที่สอง เพื่อให้บรรลุความมุ่งหมายดังกล่าว เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องอธิบาย โครงสร้างของร่างรัฐธรรมนูญ / จุดมุ่งหมายในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ของบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ / ความคาดหมายในความสำเร็จหรืออุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นฯ / และสาระสำคัญอย่างอื่นที่จำเป็นที่ประชาชนควรได้รับรู้ ]
คำชี้แจง สาระสำคัญฯ ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้ทำให้ประชาชนรู้ถึง ความจำเป็นที่ต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับเดิม พ.ศ. ๒๕๔๐ หรือไม่ (ซึ่งหมายถึง ความจำเป็นที่ต้องมี การรัฐประหารเพื่อล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ด้วย) (?) (?)
ถ้าจะดูข้อความของ คำชี้แจง สาระสำคัญฯ ก็จะพบว่า คำชี้แจงดังกล่าวมีข้อความขึ้นต้นสั้น ๆ ดังนี้ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .......ร่างขึ้น บนสถานการณ์ที่จะต้องนำพาประเทศไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ จัดให้มีการเลือกตั้ง ภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ แก้ปัญหาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ที่ก่อให้เกิด การผูกขาดอำนาจรั ฐและการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม การดำเนินการทางการเมืองที่ขาดความโปร่งใส ไม่มีคุณธรรมและจริยธรรม ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ล้มเหลว และการใช้สิทธิเสรึภาพของประชาชนยังไม่ได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมอย่างเต็มที่
และข้อความเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฯลฯ มีเพียงเท่านี้ เพราะข้อความต่อไป ก็คือ ....ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ...... จึงมีสาระสำคัญที่มุ่งจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยดำเนินการใน ๔ แนวทางด้วยกัน คือ .......
จากข้อความดังกล่าว จะเห็นว่า มีสาระสำคัญที่เราควรจะต้องทราบอยู่ ๒ ประการ ก็คือ (๑) อะไรคือ การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์( ที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯประสงค์จะนำพาเราไปสู่ ) และ (๒) อะไรคือ การผูกขาดอำนาจรัฐ และการผูกขาดอำนาจรัฐ ที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐นั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร (ทั้งนี้เพราะข้อความต่อ ๆไปที่คณะกรรมาธิการยกร่าง ฯ กล่าวถึง คือ การใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมก็ดี การดำเนินการทางการเมืองที่ขาดความโปร่งใส ไม่มีคุณธรรมและจริยธรรม ก็ดี ระบบการตรวจสอบอำนาจรัฐที่ล้มเหลวก็ดี หรือแม้แต่สิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครอง ก็ดี มิใช่ข้อความที่เป็นสาระสำคัญ เนื่องจากข้อความเหล่านี้ ล้วนแต่เป็น ผลที่เกิดมาจากการผูกขาดอำนาจรัฐทั้งสิ้น)
ดูเหมือนว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ตั้งใจจะบอกกับเราว่า วิกฤติการณ์ทางการเมืองที่เกิดขี้น มาจากสาเหตุ คือ การผูกขาดอำนาจรัฐ (ซึ่งก่อให้เกิด การใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส ฯลฯ ) และจุดหมายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เราจะมุ่งไปสู่ ก็คือ ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
แต่ในคำชี้แจง สาระสำคัญฯ ดังกล่าว คณะกรรมาธิการยกร่าง ฯ ไม่ได้บอกกับเรา ว่า การผูกขาดอำนาจรัฐ(ที่เป็นปัญหาของ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐) เกิดขึ้น จากข้อผิดพลาดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๕๐ ว่าด้วยเรื่องอะไร และบทมาตราใด(บ้าง) (?) และ ข้อนี้ คือ ข้อสังเกตประการแรก ของผู้เขียน
การที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ อ้างแต่เพียงว่า มี การผูกขาดอำนาจเท่านั้น ย่อมไม่เพียงพอที่จะพิจารณาแก้ปัญหา เพราะการผูกขาดอำนาจเป็นข้อเท็จจริง facts ที่ปรากฎ และแม้ว่าทุกคนจะมองเห็นและยอมรับว่า ข้อเท็จจริงนี้ได้เกิดขึ้นจริงและมีอยู่จริง แต่ถ้าจะแก้ปัญหา คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จำเป็นจะต้องทราบก่อนว่า ข้อเท็จจริง ( คือ การผูกขาดอำนาจ)นั้น เกิดขึ้นเพราะ เหตุใด และอะไร คือ ข้อผิดพลาดในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉบับเดิม (พ.ศ. ๒๕๔๐) ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจ
ถ้าคณะกรรมาธิการยกร่างฯ(และสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ไม่รู้ถึง สาเหตุที่เป็นข้อผิดพลาดในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉบับเดิม (พ.ศ. ๒๕๔๐)ที่ก่อให้เกิดการ ผูกขาดอำนาจรัฐแล้ว ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ (และสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ที่อยุ่ใน(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ อ้างว่า มีสาระสำคัญที่มุ่งจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว) อาจจะมิใช่ มาตรการที่แก้ปัญหาการผูกขาดอำนาจรัฐ เลยก็ได้
เท่าที่ปรากฎ(ใน คำชี้แจงฯ) คณะกรรมาธิการยกร่างฯ (และสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ไม่ได้ทำการวิเคราะห์หรือบอกกับเราว่า การผูกขาดอำนาจ เกิดจากข้อผิดพลาดในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับเดิม พ.ศ. ๒๕๔๐ ว่าด้วยเรื่องอะไร และมาตราใด(บ้าง ) ; นี่คือ ข้อผิดพลาดที่สำคัญที่สุด ของคณะกรรมาธิการยกร่าง ฯ ; ผู้เขียนคิดว่า ในทางวิชาการ ถ้าคณะกรรมาธิการยกร่างฯจะอธิบายและวิเคราะห์ให้คนไทยเห็นว่า การผูกขาดอำนาจรัฐได้เกิดจากบทบัญญัติของรัฐูธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ว่าด้วยเรื่องอะไร คนไทยย่อมจะเข้าใจได้โดยง่ายว่า บทบัญญัติต่าง ๆ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดีอย่างไร และจะแก้ปัญหาในอนาคตได้อย่างไร
อนึ่ง ผู้เขียนขอเรียนในเบื้องต้นไว้ก่อนว่า ตามความเห็นของผู้เขียน ผู้เขียนเห็นว่า บรรดา(ร่าง)บทบัญญัติที่กำหนดมาตรการต่าง ๆใน๔ แนวทาง ที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ (และสภาร่างรัฐธรรมนูญ) เขียนไว้ใน(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จำนวนมากนั้น ไม่มีมาตรการใดเลยที่แก้ไข การผูกขาดอำนาจรัฐ ; ใน(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดูจะ มีแต่มาตรการปลีกย่อย ที่คณะกรรมาธิการยกร่าง ฯพยายามจะแก้อาการ symptoms ของโรค ( คือ อาการของ การผูกขาดอำนาจรัฐ) โดยมิได้รักษาโรค ซึ่งเป็น cause (ต้นเหตุ)ของอาการเหล่านั้น
[ หมายเหตุ :- สำหรับ การวิเคราะห์ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ที่เป็น สาเหตุที่ทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจรัฐ ผู้เขียนจะได้ไปกล่าวใน ส่วนที่ ๒ ตอนที่ (๒) ข้อ (๒.๑ )ว่าด้วย การออกแบบรัฐธรรมนูญ เพื่อการปฏิรูปการเมือง ]
คำชี้แจง สาระสำคัญฯของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ทำให้ประชาชนรู้ถึง วิธีแก้ปัญหาของเหตุ ที่ทำให้จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐ หรือไม่ (?) (?)
คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้กล่าวขึ้นต้นไว้ใน คำชี้แจง สาระสำคัญ ฯ ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ร่างขึ้นบนสถานการณ์ที่จะต้องนำพาประเทศไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ จัดให้มีการเลือกตั้ง ภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ แก้ปัญหาของรัฐธรรมนูญ ...ที่ก่อให้เกิด การผูกขาดอำนาจรัฐ ฯลฯ ; ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า คณะกรรมาธิการยกร่าง ฯ ต้องการที่จะเขียน (ออกแบบ)รัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นการปกครองในระบอบประชาธิไตยที่สมบูรณ์ และดังนั้น ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ จึงเป็น จุดหมายของการเขียนรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ครั้งนี้
ในประเด็นนี้ ผู้เขียนขอให้ข้อสังเกต ๓ ประการ คือ
คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่ได้บอกว่า ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์(ที่ต้องนำพาประเทศไปสู่) คือ ระบอบอย่างไร ; ในเมื่อ คณะกรรมาธิการยกร่างฯเสนอว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เป็นจุดหมายของการร่างรํฐธรรมนูญฉบับใหม่ (การปฎิรูปการเมือง) และเป็นวิธีการแก้ปัญหาการผูกขาดอำนาจรัฐ(ที่เกิดจาก รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐) อย่างน้อยเราควรจะต้องทราบก่อนว่า อะไร คือ หลักเกณฑ์ของการเป็นระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เพื่อเราจะทราบได้ว่า เราอยู่ใน แนวทางที่ถูกต้องที่มุ่งไปสู่จุดหมายหรือไม่ และเราจะมีโอกาสไปถึงจุดหมายได้หรือไม่ มากน้อย ; แต่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่ได้บอกเรา ข้อนี้ คือ ข้อสังเกตประการที่สองของผู้เขียน
คณะกรรมาธิการยกร่างฯได้กำหนดแนวทางการดำเนินการเพื่อแก้ไข ปัญหา(ดังกล่าว)การผูกขาดอำนาจรัฐ ฯลฯ เพื่อที่จะทำให้การปกครองประเทศไทยไปสู่จุดหมาย คือ เป็นระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ไว้ ๔ แนวทาง คือ (๑) ขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่ ; (๒) ลดการผูกขาดอำนาจรัฐ ฯ ; (๓) ทำให้การเมืองมีความโปร่งใส ฯ ; (๔) ทำให้ระบบตรวจสอบมีความเข้มแข็ง
การที่คณะกรรมาธิการยกร่างกำหนด จุดหมาย(ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์) และกำหนด แนวทางในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่(๔ แนวทาง) โดยที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ยังมิได้วิเคราะห์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิมมีข้อผิดพลาดอย่างไร ได้ทำให้ผู้เขียนมีข้อสงสัย ว่า แนวทาง ๔ แนวทางที่(คณะกรรมาธิการยกร่างฯ)กำหนดไว้ จะแก้ไขปัญหาการผูกขาดอำนาจรัฐได้จริง หรือไม่ และ ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯกำหนดให้เป็น จุดหมายของการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น คือ อะไร มีหลักเกณฑ์อย่างไร
คณะกรรมาธิการยกร่าง ฯ เห็นว่า ระบอบประชาธิไตยที่สมบูรณ์ จะเกิดจาก การขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่ (?)
คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้กำหนด แนวทาง (เพี่อแก้ปํญหาการผูกขาดอำนาจรัฐ) ไว้ ๔ แนวทาง และในแนวทางที่ (๑) คือ การคุ้มครอง ส่งเสริม และขยายสิทธิ และเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่ ; จากการกำหนดแนวทางเช่นนี้ ทำให้เข้าใจได้ว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯ เห็นว่า การขยายฯ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่ เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ ระบอบการปกครองเป็น ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
ข้อนี้ เป็น ข้อสังเกตประการที่สามของผู้เขียน เพราะผู้เขียนไม่คิดว่า ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย(ไม่ว่าจะเรียกว่าสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์) สิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่สามารถขยายได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากจะถูกจำกัดด้วยสิทธิและประโยชน์ส่วนรวมของสังคม ; ผู้เขียนเห็นว่า การปกครองในระบอบประชาธิไตยที่ดี คือ ระบอบการปกครอง(ที่เป็นประชาธิปไตย) ที่มีระบบการบริหารประเทศที่มีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยมีการชดเชยและมีการประสานประโยชน์กับประโยชน์ของเอกชนตามความเป็นธรรม
การเขียน คำชี้แจง สาระสำคัญฯในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คงมิใช่เป็นการเขียนที่เกินกว่าความเป็นจริงเพื่อให้ประชาชนเชื่อหรือเพื่อให้ลงมติ(ในการออกเสียงประชามติ)รับรองร่างรัฐธรรมนูญที่องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญได้ร่างขึ้น แต่องค์กรผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ที่จะต้องให้ข้อเท็จจริงและชี้แจงเหตุผลที่เป็นไปตามตรรกตามหลักวิชาการ ผู้เขียนมีความเห็นว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ดี (ไม่ว่าจะเรียกว่าสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์) มิได้มีเกณฑ์วัดกันที่ การมีบทบัญญัติที่ให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพ(ซึ่งเป็นประโยชน์ส่วนตัวของปัจเจกชน)แก่ประชาขน อย่างเต็มที่หรือไม่เต็มที่
การมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ได้หมายความว่า การเขียนรัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพอย่างเต็มที่
ในอดีตกาลนับพันปีมาแล้ว ในสมัย city state ในยุคกรีกโบราณ ที่แต่ละรัฐมีพลเมืองเพียงแค่เป็นพันหรือเป็นหมื่น (และคนที่เป็นทาสหรือเมืองขึ้น ไม่ถือเป็น พลเมือง) พลเมืองสามารถใช้สิทธิบริหารประเทศได้โดยตรง direct democracy แต่ในโลกปัจจุบัน ที่แต่ละประเทศ เป็น nation state มีพลเมืองนับเป็นล้าน ๆ คน ย่อมเป็นไปไม่ได้ ที่จะให้พลเมือง (ประชาชน)มาใช้สิทธิในการปกครองประเทศโดยตรง ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องใช้ระบอบประชาธิปไตยโดยทางผู้แทน- representative democracy ; และในทุก รูปแบบของการปกครอง (forms หรือ systems of government)ตามรัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร)ของทุกประเทศ (ไม่ว่าจะเป็นระบบประธานาธิบดี presidential system หรือ ระบบรัฐสภา parliamentary หรือระบบใด ๆ ) จึงเป็น วิธีการใช้อำนาจ(อธิปไตย) ตาม ระบอบประชาธิไตยโดยทางผู้แทน ด้วยกันทั้งสิ้น
ปัญหาที่เกิดขี้นจากการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยทางผู้แทน representative democracy ก็คือ ผู้แทน(ที่ได้รับเลือกตั้ง)ใช้อำนาจไปโดยไม่ตรงกับความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ผู้แทนที่มาจากเลือกตั้งใช้อำนาจรัฐ(โดยอ้างประชาชน)เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว [หมายเหตุ แม้แต่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ ที่ยกร่างรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ(นานาอาชีพ) ก็เป็นการใช้อำนาจการเมืองโดยทาง ผู้แทนเช่นเดียวกัน ]
ดังนั้น ในปัจจุบันนี้ การเขียนรัฐธรรมนูญก็ดีและในการเขียนกฎหมาย(พระราชบัญญัติ)ก็ดี ผู้ที่มีอำนาจในการให้รัฐธรรมนูญ (pouvoir constituant) หรือผู้ร่างกฎหมาย จึงได้นำ การให้ประชาชนมีส่วนร่วมมาเป็น วิธีการเพื่อทำให้การใช้อำนาจรัฐของผู้แทน(ที่มาจากการเลือกตั้ง) มีความโปร่งใส - transparency หรือเพื่อทำให้การใช้อำนาจรัฐตรงกับความประสงค์ของประชาชนส่วนใหญ่
แต่ปัญหา การให้ประชาชนมีส่วนร่วมนี้ มิใช่เป็นปัญหาด้านเดียว คือ เป็นปัญหาที่จากนักการเมือง(ผู้แทน)ที่มาเลือกตั้งเท่านั้น แต่เป็นปัญหาสองด้าน เพราะมีปัญหาจากด้านการใช้อำนาจ (ในการมีส่วนร่วม)ของประชาชนอยู่ด้วย เพราะประชาชนมีจำนวนมาก แบ่งเป็นกลุ่มผลประโยชน์มากมาย และประชาชนแต่ละกลุ่มมีพื้นฐานความรู้และความคิด (ประสบการณ์)แตกต่างกัน ภาระกิจของรัฐมีความซับซ้อนเกินกว่าที่ประชาชนจะรับรู้และรับผิดชอบ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ปัญหาในทางสังคมวิทยา คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน ยังอยู่บนพื้นฐานของพฤติกรรมมนุษย์ คือ การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวของกลุ่มผลประโยชน์ (ประชาชน) และนอกจากนั้น ประชาชนยังอ่อนไหวต่อสื่อโฆษณาที่ชักนำให้ออกนอกเหตุผล และใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ
ดังนั้น คำว่า การมีส่วมร่วมของประชาชน จึงมิไช่เป็นคำที่จะถูกนำมาอ้างในการแก้ปัญหาหรืออ้างว่าเพื่อความเป็นประชาธิปไตยได้ทุก ๆ เรื่อง จนกว่าจะต้องทราบก่อนว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น มีใน เรื่องใด / อย่างไร / และมีขอบเขตอย่างไร ; จึงจะทำให้ การมีส่วนร่วมของประชาชน เกิดประโยชน์ในการทำให้การบริหารประเทศ มีประสิทธิภาพ และเป็นไป เพื่อประโยชน์ส่วนรวม public interest ของสังคม ซึ่งจำเป็นต้องเป็น ระบอบประชาธิปไตยโดยทางผู้แทน- representative democrady
พูดง่าย ๆ ก็คือ การที่คณะกรรมาธิการยกร่าง ฯ กล่าวในคำชี้แจงฯต่อประชาชนว่า การขยายฯ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่ (เพื่อให้การปกครองของประเทศไทยเป็น ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์) นั้น มิได้มีความหมายว่า การบริหารประเทศตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คณะกรรมาธิการยกร่าง ฯ เสนอมานั้น จะมีประสิทธิภาพและเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม (หรือแม้แต่จะแก้ไขปัญหาการผูกขาดอำนาจรัฐ ) แต่กลับจะมีผลในทางตรงกันข้าม คือ กลับจะทำให้คนไทยมองสิทธิเสรีภาพส่วนตัวเป็นหลัก และไม่ได้เสริมสร้างให้คนใทยมีประสบการณ์ทางการเมืองเพิ่มขึ้น และมองเห็นความสำคัญของหน้าที่ของพลเมืองในการอยู่ร่วมกันในสังคม [หมายเหตุ สำหรับ การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้เสนอแก้ไข) ในแนวทางที่ (๑) ซึ่งมี ๕หัวข้อ รวม รายการทั้งหมด ๓๒ รายการนั้น ผู้เขียนจะได้ไปให้ข้อสังเกตอีกครั้งหนึ่ง ในข้อ (ข)) ]
คณะกรรมาธิการยกร่างฯ เห็นว่า รัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญติบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญนั้น เป็น ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
ใน คำชี้แจง สาระสำคัญฯของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่มีข้อความใดเลยที่บอกกล่าวกับประชาชนว่า (ร่าง)รัฐธรรมนูญของไทยฉบับใหม่ของเรายังมีบทบัญญัติที่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง(ซี่งเป็นรัฐธรรมนูญประเทศเดียวในโลก) และ เพราะเหตุใด คณะกรรมาธิการยกร่างฯ(และสภาร่างรัฐธรรมนูญ) จึงยังคงใช้บทบัญญัตินี้อยู่ และไม่ได้อธิบายว่า บทบัญญัติบังคับนี้ จะทำให้การปกครองของประเทศ(ไทย) เป็น การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ( ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะนำพาประเทศไปสู่ ฯ) ได้ อย่างไร
ถ้าจะตรวจดู คำชี้แจง สาระสำคัญฯ ก็จะพบว่าคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้กล่าวถึง รายการที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองและ ส.ส. ไว้เพียง ๔ ประการ (ในแนวทางที่(๒) ว่าด้วย การลดการผูกขาดอำนาจรัฐ ฯ ) คือ (๑) ห้ามควบรวมพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในสภา ในระหว่างอายุของสภา เพื่อป้องกันการเกิดเสียงข้างมากอย่างผิดปกติในสภา มาตรา ๑๐๔ (ข้อ ๒.๒ ๗ ); (๒) ส.ส.มีอิสระจากมติพรรคการเมืองในการตั้งกระทู้ถาม / การอภิปราย / การลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มาตรา ๑๖๒ วรรคสอง (ข้อ ๒.๓ ๒ ) ; (๓) ส.ส.สามารถเสนอร่างกฎหมายได้โดยไม่ต้องขออนุญาติจากพรรคการเมืองของตนอีกต่อไป มาตรา ๑๔๒ (๒) (ข้อ ๒.๓ -๓ ) ; และ (๔) ประธานสภาและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นกรรมการบริหารหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองในขณะเดียวกัน ไม่ได้ (ข้อ ๓.๕ -๑)
ในทั้ง ๔ กรณีนี้ ผู้เขียนไม่ทราบว่า ถ้าคณะกรรมาธิการยกร่างฯมีความเห็นว่า สมควรมีบทบัญญัติห้ามควบรวมพรรคการเมือง(ในระหว่างอายุของสภา) เพราะจะ ทำให้เสียงข้างมากในสภา ผิดปกติ ผู้เขียนก็อยากทราบว่า แล้วในกรณีที่ ส.ส.(ของพรรคการเมืองสองสามพรรค)ลงมติเหมือน ๆกัน เพราะพรรคการเมืองเหล่านั้นได้รับทุนมาจากนักธุรกิจคนเดียวกัน คณะกรรมาธิการยกร่างฯจะเห็นว่า การลงมติดังกล่าวจะเป็น เสียงข้างมากที่ผิดปรกติหรือไม่ (?) ; และผู้เขียนลองสมมตต่อไปว่า ภายไต้ รัฐธรรมนูญที่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค และพรรคการเมืองมีการจ่าย เงินช่วยเหลือสังคม(มากบ้างน้อยบ้าง)ให้แก่ ส.ส.ในสังกัดเป็นรายเดือน ผู้เขียนก็อยากจะเรียนถามคณะกรรมาธิการยกร่างฯว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯคาดหมายว่า ส.ส.จะใช้อิสระภาพ(ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯเขียนไว้ให้)ในการตั้งกระทู้ถาม / ลงมติไม่ใว้วางรัฐมนตรี / เสนอร่างกฎหมาย โดยไม่ทำตามมติหรือคำขอของพรรค (รวมทั้งในกรณีของประธานสภาและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่ดำรง ตำแหน่งในพรรค แต่ยังเป็นสมาชิกพรรคการเมือง) ถามว่า บุคคลเหล่านี้ จะใช้อิสรภาพ และเสี่ยงที่จะถูกงด เงินช่วยเหลือสังคมรายเดือนจากพรรคการเมือง มากน้อยเพียงใด
ปัญหาเหล่านี้ ไม่น่าจะเป็นปัญหาที่ตอบยากจนเกินไป ผู้เขียนจีงไม่เข้าใจว่า เพราะเหตุใด คณะกรรมาธิการยกร่าง ฯ ในฐานะที่เป็นองค์กรระดับชาติ จึงคิดและเสนอมาตรการเหล่านี้
ข้อนี้ เป็นข้อสังเกตประการที่ สี่ ของผู้เขียน ; อะไร คือ (ความหมาย)ของ ระบอบประชาธิปไตย (ที่สมบูรณ์) และอะไร คือ (ความหมาย)ของ ระบอบเผด็จการ ตามความเข้าใจของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เพราะระบอบเผด็จการนั้น มีได้ทั้ง ระบอบเผด็จการทหารและระบอบเผด็จการพลเรือน
เมื่อ ๗ ๘ ปีก่อน(หลังจากที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ใช้บังคับแล้ว) ผู้เขียนเคยอภิปรายในวงการวิชาการอยู่หลายครั้ง และได้ให้ความเห็นไว้ว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ (ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เป็น รัฐธรรมนูญ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เป็น ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง พร้อมทั้งได้ให้ข้อเท็จจริงไว้ด้วยว่า ไม่มีรัฐธรรมนูญของประเทศใดในโลกที่มีบทบัญญัติบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง และให้พรรคการเมืองมีอำนาจลงมติให้ส.ส. พ้น(จากสมาชิกพรรคและ)จากการเป็น ส.ส.ได้
ในการอภิปรายดังกล่าว ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ เพื่อให้ได้รับรู้กันว่า ในประเทศเหล่านั้น ได้มีบทบัญญัติให้หลักประกันว่า ส.สจะมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามมโนธรรม (conscious)ของตน [หมายเหตุ :- แม้แต่รัฐธรรมนูญของประเทศคอมมิวนิสต์ก็มิได้มีบทบัญญัติเหมือนกับประเทศไทย รัฐธรรมนูญของประเทศคอมมิวนิสต์มีบทบัญญัติเพียงว่า การบริหารประเทศจะอยู่ภายไต้การนำของประชาชนที่เป็น workers / peasant / intellectual เท่านั้น ]
แต่สิ่งที่ผู้เขียนแปลกใจอย่างยิ่ง ก็คือ ประเด็น ที่ผู้เขียนยกขึ้นในการอภิปรายแต่ละครั้ง (รัฐธรรมนูญไทย ไม่เป็นประชาธิปไตย)นี้ ได้เงียบหายไปในวงการวิชาการอย่างประหลาด และไม่มีเสียงสะท้อนกลับ ไม่มีนักวิชาการคนใดพูดถึง ไม่มีนักวิชาการคนใดออกมาวิจารณ์ว่าความเห็นของผู้เขียนถูกหรือผิด และไม่มีนักวิชาการคนใดบอกว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย
จนกระทั่งในเดือนกันยายน ๒๕๔๙ ที่ผ่านมานี้ ผู้เขียนอดรนทนไม่ได้ ดังนั้น เมื่อได้รับเชิญไปอภิปรายที่คณะนิติศาสต์ร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนได้เปลี่ยนวิธีการในการอภิปรายของผู้เขียน ซึ่งโดยปกติผู้เขียนจะแจก เอกสารประกอบการอภิปรายโดยระบุแสดงหัวข้อที่ผู้เขียนใช้เป็นแนวในพูดอภิปราย เป็นการแจก เอกสารทางวิชาการโดยคัดลอกตัวบทรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ เป็นชุด ๆ พร้อมทั้งขีดเส้นใต้ (highlight)ให้เห็นข้อความที่เป็นสาระสำคัญในบทบัญญัติมาตราต่าง ๆในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ เพื่อแสดงให้เห็นถึงรูปแบบของ ระบบการปกครองที่ประเทศนั้น ๆใช้อยู่ เพราะผู้เขียนคิดว่านักวิชาการไทยของเรา คงจะมีงานอยู่มากและคงไม่มีเวลาไปค้นคว้าหาตำราหรือหาเอกสารทางวิชาการ ผู้เขียน จึงจัดหามาให้โดยทำเป็นเอกสารที่พร้อมจะ(ถูก)อ่าน โดยท่านนักวิชาการไม่ต้องไปแสวงหาเอาเอง (โปรดดู เอกสารวิชาการ รวม ๖ ชุด จากหนังสือ กระบวนทัศน์ใหม่ สำหรับการปฏิรุปการเมือง ครั้งที่ ๒ สถาบันพระปกเกล้า พฤศจิกายน ๒๕๔๙)
ถ้านักวิชาการไทยได้อ่าน ตัวบทรัฐธรรมนูญ(ต่าง ๆ)ของประเทศที่พัฒนาแล้วที่อยู่ในเอกสารวิชาการดังกล่าว นักวิชาการก็จะทราบได้ทันทีว่า หลักเกณฑ์ ของ การเป็นระบอบประชาธิปไตย คือ อะไร; แต่ก็ดูเหมือนว่า ผู้เขียนต้องผิดหวังอีกครั้งหนึ่ง เพราะนักวิชาการไทยคงยังไม่มีเวลาไปอ่านเอกสารวิชาการที่ผู้เขียนเ จัดหามาให้ดังกล่าว เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมาเกือบปี ประเด็นนี้ ก็ยังเงียบหายไปในวงวิชาการไทย(อย่างแปลกประหลาด)เช่นเดิม ไม่มีผู้ใดพูดถึง
ผู้เขียนได้เคยบอกกับบุคคลในวงการรัฐบาลว่า ในกรณีที่ประเทศมหาอำนาจ ( เช่น สหรัฐอเมริกา)กล่าวหาประเทศไทยว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะมีการรัฐประหาร ผู้เขียนให้ความเห็นว่า ขอให้ยก ประเด็นต่อสู้ชี้แจงไปว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ ถูกยกเลิกไปโดยการรัฐประหาร เป็น รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีการบังคับให้ผู้แทน(ราษฎร)ต้องสังกัดพรรคการเมือง โดยผุ้แทน(ราษฎร)ไม่มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามมโนธรรม( conscious)ของตน และรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้ก่อให้เกิด ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ ซี่งเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ และทำการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมากมาย จึงจำเป็นต้องมีการรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ; ซึ่งข้อชี้แจงดังกล่าวนี้ ประเทศมหาอำนาจฝ่ายเสรีประชาธิปไตยจะเข้าใจได้ทันที เพราะเป็นหลักการที่ประเทศเหล่านี้ยึดถือปฏิบัติกันอยู่ และดังนั้น ประเทศมหาอำนาจเหล่านั้นจะไม่มีเหตุผลใดที่โต้แย้งเราได้ ; แต่น่าเสียดาย สิ่งเหล่านี้ มิได้เกิดขึ้น
มาในครั้งนี้ ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสภาร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ปรากฏ ว่า ได้มีผู้ใดยกประเด็นปัญหาว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ของเรา เป็น รัฐธรรมนูญที่เป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตยขี้นมาพิจารณา ; ดูเหมือนว่า นักวิชาการทางกฎหมายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในขณะนี้(พ.ศ. ๒๕๕๐) กับนักวิชาการทางกฎหมายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับเดิม (พ.ศ..๒๕๔๐) เป็นนักวิชาการทางกฎหมาย ที่มี แนวความคิดเหมือน ๆ กัน (ซึ่งอาจเป็นบุคคลเดียวกันหรือเป็นกลุ่มบุคคลกลุ่มเดียวกัน ผู้เขียนไม่อาจทราบได้) คือ เห็นว่า รัฐธรรมนูญที่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค โดย ส.ส.ไม่มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ของ ส.ส. ได้ตามมโนธรรมของตน เป็นการปกครองใน ระบอบประชาธิปไตย(ที่สมบูรณ์) [ หมายเหตุ :- สำหรับ ต้นเหตุของแนวความคิดของนักวิชาการแบบไทย ๆ ที่เขียนรัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร) )ที่สร้างระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นักธุรกิจนายทุน) และเป็นรัฐธรรมนูญ ประเทศเดียวในโลก ผุ้เขียนจะไปกล่าวใน ตอนที่ (๒) ข้อ (๒.๑) ว่าด้วย ข้อผิดพลาดของ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ]
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคงต้องขอยืนยันว่า ตามความเห็นของผู้เขียน รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็น รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และถ้า(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังคงบทบัญญัติ (การบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง ) เช่นเดียวกันนี้ไว้อีก รํฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะเป็น รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เช่นเดียวกัน [หมายเหตุ :- ส่วนการที่จะเขียน (ออกแบบ)รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย และในขณะเดียวกัน เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้รํฐบาลมีเสถียรภาพโดยไม่มีการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง ผู้เขียนจะไปกล่าวใน ตอนที่ (๒) ]
อ่านต่อ
หน้า 8
หน้า 9
หน้า 10
หน้า 11
หน้า 12
หน้า 13
หน้า 14
หน้า 15
หน้า 16
หน้า 17
หน้า 18
หน้า 19
หน้า 20
หน้า 21
หน้า 22
หน้า 23
หน้า24
หน้า 25
หน้า26
หน้า 27
หน้า28
หน้า 29
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|