หน้าแรก บทความสาระ
สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า๑๙)
ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
25 ธันวาคม 2550 21:37 น.
 
(ข) “ หลักการสำคัญ” ของระบบรัฐสภา (parliamentary system) : หลังจากที่เราได้ทราบถึงประสบการณ์ของยุโรปในช่วงการวิวัฒนาการของระบบรัฐสภา – parliamentary system ในระยะ ๑๐ ปีแรกของลัทธิ constitutionalism ในปลายศตวรรษที่ ๑๘ (ระยะ constitutional instability) มาแล้ว ; ต่อไปนี้ เราลองข้ามเวลามาสัก ๒๐๐ ปี และมาพิจารณา หลักการ(สำคัญ)ของระบบรัฐสภา เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยผู้เขียนจะขอสรุป และขอกล่าว แยกเป็น ๒ ตอนอย่างสั้น ๆ คือ ตอนที่หนึ่ง ว่าด้วยระบบรัฐสภาตามที่ท่านผู้อ่าน(และคนไทย)ได้เรียนรู้จากตำราวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ (ไทย ) และตอนที่สอง ว่าด้วยระบบรัฐสภาที่อยู่นอกตำราวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ (ไทย)
       
       (๑) “ระบบรัฐสภา”ในตำราวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ(ไทย) ที่ใช้สอนนักศึกษา(ไทย) ในมหาวิทยาลัย(ไทย) : นอกจากตำรารัฐธรรมนูญของไทย จะสอนว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แยกเป็น ๓ อำนาจ และพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตย ทางรัฐสภา ทางคณะรัฐมนตรี และทางศาล แล้ว ; ในส่วนที่เกี่ยวกับรูปแบบของการปกครอง - form of government ตำรารัฐธรรมนูญ(ไทย)ก็จะอธิบายว่า อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารจะแยกจากกัน โดย รัฐสภา(ซึ่งรัฐธรรมนูญบางฉบับ ก็มีสภาเดียว บางฉบับก็มีสองสภา แล้วแต่ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใด) เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ และคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร ; และสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ให้ความเห็นชอบใน “ตัวบุคคล”ที่จะเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร (นายกรัฐมนตรี) และรัฐมนตรี ; และทั้งสองอำนาจหรือทั้งสององค์กรนี้ จะถ่วงดุลซึ่งกันและกัน
       สำหรับประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจทั้งสอง (อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร) ตำรารัฐธรรมนูญ(ไทย)ก็จะบอกกับเราว่า ในระบบรัฐสภา - parliamentary system ฝ่ายบริหาร (พระมหากษัตริย์ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี ) มีอำนาจยุบสภา และในทางกลับกัน ฝ่ายนิติบัญญัติ (สภาผู้แทนราษฎร) จะมีอำนาจในการให้หรือไม่ให้ความไว้วางใจแก่ฝ่ายบริหาร โดยสภาผู้แทนราษฎรจะมีอำนาจในการลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ หรือลงมติไม่ใว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นรายบุคคลก็ได้ ; และเมื่อสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้ใจ ก็จะมีผลทำให้คณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี(แล้วแต่กรณี) ต้องพ้นจากตำแหน่ง
       นอกจากนั้น ตำรารัฐธรรมนูญ(ไทย)ยังสอนเราว่า ฝ่ายนิติบัญญัติ(รัฐสภา) มีอำนาจกำกับและควบคุมฝ่ายบริหาร(รัฐบาล) ด้วยวิธีการต่าง ๆ หลายประการ คือ การให้ความเห็นชอบในการตรากฎหมาย (ของรัฐบาล) / การควบคุมการใช้จ่ายเงินของแผ่นดิน (โดยการตรากฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย) / การตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวนการกระทำของรัฐบาล / การตั้งกระทู้ถามรัฐบาล / การเปิดอภิปรายเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากรัฐบาล / การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล / ฯลฯ
       กล่าวโดยทั่วไป ตำรารัฐธรรมนูญ(ไทย) ก็จะอธิบายถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในหมวดต่าง ๆ เช่น ประมุขของรัฐ – พระมหากษัตริย์ / สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย / แนวนโยบายของรัฐ / การปกครองท้องถิ่น / ศาลยุติธรรมและศาลต่าง ๆ / การแก้ไขรัฐธรรมนูญ / ฯลฯ
       
       (๒)“ระบบรัฐสภา” ที่อยู่ นอกตำราวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ(ไทย) : แต่ก่อนที่ผู้เขียนจะอธิบายให้ท่านผู้อ่านทราบว่า ในทางปฏิบัติ สิ่งที่สอนและอธิบายไว้ในตำราวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ(ไทย)นั้น (อาจ)มิได้เกิดขึ้นจริงตามตำรา และการสอนตามตำราดังกล่าว เป็นการสอนที่ทำให้คนไทยเข้าใจ “ระบบรัฐสภา”อย่างผิด ๆ ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงลักษณะทั่วไปของ “ระบบรัฐสภา” ให้ท่านผู้อ่านทราบไว้ก่อน ดังนี้
       ประการแรก ก็คือ ตำราวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ(ไทย) ไม่เคยบอกให้เรา(คนไทย)รู้ว่า ระบบรัฐสภา(parliamentary system) มี ๒ รูปแบบ และตามความเป็นจริงในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆในโลก ที่ใช้ “ระบบรัฐสภา”อยู่ในขณะนี้ ก็มีรัฐธรรมนูญทั้ง ๒ รูปแบบ เพียงแต่ว่า นักวิชาการ(ไทย)ไม่มีเวลาว่างไปศึกษาและเอามาสอนนักศึกษา(ไทย)เท่านั้น ; ความแตกต่างในหลักการระหว่างระบบรัฐสภารูปแบบแรกกับรูปแบบที่สอง อาจกล่าวได้อย่างย่อ ๆ ก็คือ รูปแบบแรก เป็นรูปแบบที่พระมหากษัตริย์เป็นทั้งประมุขของรัฐและประมุขของฝ่ายบริหารในขณะเดียวกัน และพระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้ “อำนาจบริหาร”ได้ด้วยพระองค์เอง ; แต่รูปแบบที่สอง เป็นรูปแบบที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ (เพียงประการเดียว)ในลักษณะที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ และพระราชอำนาจ(เกือบทั้งหมด)ของพระมหากษัตริย์จะเป็นอำนาจในทางพิธีการ
       สิ่งที่น่าสนใจและควรรู้ตอไป ก็คือ วิวัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงระหว่างรูปแบบ(ของระบบรัฐสภา)ทั้งสองรูปแบบว่า มีความเป็นมาอย่างไร และขอบเขต(หรือเส้นแบ่ง)ความแตกต่างระหว่างสองรูปแบบนั้น อยู่ที่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่รัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร) ไม่ได้เขียนบทบัญญัติไว้ให้ชัดเจน
       
       (๒.๑) รูปแบบแรก (ของระบบรัฐสภา) ได้แก่ ระบบรัฐสภา ที่พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้ “อำนาจบริหาร”โดยตรง(ในฐานะที่เป็นทั้งประมุขของรัฐและประมุขของฝ่ายบริหาร พร้อมกัน) และสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ใช้ “อำนาจนิติบัญญัติ”
       เราทราบแล้วว่า ระบบรัฐสภานั้นเริ่มต้นมาจากแนวความคิดว่าด้วย “หลักการ การแบ่งแยกอำนาจ – the separation of powers” (โดยจะถือว่าเป็นความเห็นของนักปราชญ์คนใดก็ได้ เพราะนักปราชญ์มีอยู่หลายคนที่มีความเห็นเหมือน ๆ กัน) และโดยที่ประเทศในยุโรปขณะนั้น เป็นประเทศที่มีการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองสูงสุดในประเทศ โดยเป็นการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชอยู่แล้ว; ดังนั้น ข้อเท็จจริงนี้ จึงเป็นข้อจำกัดของการ เขียนรัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร)ของประเทศในยุโรป ที่จะเขียนรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีประมุขของประเทศ (และหัวหน้าฝ่ายบริหาร)ที่จะมาจาก “การเลือกตั้ง” ดังเช่นการเขียนรัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ใช้ระบบประธานาธิบดี – presidential system; และนอกจากนั้น ประเทศต่างในยุโรปโดยทั่ว ๆ ไป ก็ไม่มีประเทศใดที่ “วีรบุรุษสงคราม”ที่ประชาชนทั่วไปยกย่องและนิยมชมชอบอย่างสูงพอที่จะให้เป็น “ผู้นำ”ประเทศได้ เหมือนกับ นายพล George Washington ที่นำชาวอเมริกัน ต่อสู้กับอังกฤษ จนชนะและก่อตั้งประเทศที่เป็นอิสระได้ (ยกเว้นประเทศฝรั่งเศส ที่มี นโปเลียน เป็นวีรบุรุษ ในปี ค.ส. ๑๗๙๑ แต่นโปเลียน เลือกที่จะเป็น “จักรพรรดิ” แทนที่จะเป็นประธานาธิบดี )
       [หมายเหตุ ตามประวัติศาสตร์(ของสหรัฐอเมริกา) ในปี ค.ศ ๑๗๘๗ ท่านทราบหรือไม่ว่า ถ้า George Washington ต้องการ George Washington อาจจจะเป็น “กษัตริย์”ของสหรัฐอเมรกาก็ได้ เพราะ หลังจากที่ชาวอเมริกันทำสงครามชนะประเทศอังกฤษแล้ว ความเห็นทางการเมืองในมลรัฐต่าง ๆ มีความแตกแยก และบางมลรัฐมีแนวโน้มที่จะแยกตัวออกเป็นประเทศอิสระ ดังนั้น จึงได้มีความคิดที่จะใช้ “ระบบกษัตริย์”เป็นรูปแบบการปกครองสหรัฐอเมริกา และให้ George Washington เป็นกษัตริย์ ; แต่ George Washington ไม่เห็นด้วย ; George Washington ต้องการให้สหรัฐอเมริกามีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง และได้ใช้ความเป็น “ผู้นำ”ของตน ทำให้มลรัฐต่าง ๆ เข้ามาร่วมมือกันร่างรัฐธรรมนูญ ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ – Constitutional Convention ที่ Philadelphia ค.ศ. ๑๗๘๗ จนกระทั่งร่างรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ และ ได้สร้าง “ระบบประธานาธิบดี”โดยมีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งและมีวาระในการดำรงตำแหน่ง ขึ้น เป็นครั้งแรกของโลก
       เมื่อได้รัฐธรรมนูญ(ในระบบประธานาธิบดี)มาแล้ว George Washington ได้แสดงความลังเลและจะไม่ยอมรับเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา แต่ George Washingtonไม่มีเหตุผลพอที่จะปฏิเสธการเรียกร้องของคนทั่วไป เพราะประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ในภาวะที่ต้องการ “ผู้นำ”ในระยะเวลาเริ่มต้นของการสร้างประเทศใหม่ ; และเมื่อ George Washington ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีแล้ว ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่ ๘ ปี(สองสมัย) ประธานาธิบดี George Washington ได้วางแนวทางการบริหารราชการ ไว้เป็นแบบอย่างสำหรับประธานาธิบดีคนต่อไป - ดังเช่นในเรื่องการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของประเทศ ที่ George Washington ได้ใช้หลักเกณฑ์ระบบ merit system ในการแต่งตั้ง ทั้ง ๆ ตามกฎหมาย ( รัฐธรรมนูญ) การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ดังกล่าว เป็น “อำนาจ”ของประธานาธิบดีที่สามารถแต่งตั้งได้ตามใจชอบ เป็นต้น
       และตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของสหรัฐอเมริกา ได้ เริ่มถูกบิดเบือน ( abused)เพื่อประโยชน์ส่วนตัว(ของประธานาธิบดี) ในสมัยของประธานาธิบดี Andrew Jackson ( ค.ศ. ๑๘๒๙) โดยประธานาธิบดี Andrew Jackson ได้อ้างเหตุผลและใช้คำว่า “เพื่อความเป็นประชาธิปไตย” เหมือน ๆ กับข้ออ้าง ของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของไทยในปัจจุบัน ค.ศ. ๒๐๐๗ ]
       
ด้วยเหตุนี้ ประเทศในยุโรป แม้ว่าจะเปลี่ยนแนวความคิด (concept)จากหลักการที่ถือว่า “อำนาจ”ของพระมหากษัตริย์เป็น divine right (ที่มาจากพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบน) มาเป็นความคิดว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ(หรือของประชาชน) แล้วก็ตาม แต่รูปแบบของระบบรัฐสภา(ตามรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร) ในระยะแรกของประเทศในยุโรป (ตาม “หลักการแบ่งแยกอำนาจ”) พระมหากษัตริย์ก็จะยังเป็นผู้ที่ใช้ “อำนาจบริหาร”(ด้วยพระองค์เอง)ในฐานะที่ถือว่าเป็นผู้แทนของประชาชน ( ดังที่ผู้เขียนได้เล่าให้ท่านผู้อ่าน ทราบมาแล้ว จากรัฐธรรมนูญฉบับแรกของฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. ๑๗๙๑ ดังกล่าวข้างต้น)
       หลักการ(สำคัญ) ของระบบรัฐสภา – parliamentary system ในรูปแบบแรก : หลักการ(สำคัญ) ของระบบรัฐสภาในรูปแบบแรกนี้ อาจสรุป ได้อย่างสั้น ๆ ดังต่อไปนี้ อำนาจ(ในการ)บริหาร เป็นของพระมหา กษัตริย์(ซึ่งเป็นผู้ใช้แทน “ประชาชน”) และพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้ตามพระราชอัธยาศัย ส่วนสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจ(ในทาง)นิติบัญญัติ คือ การออกกฎหมาย(พระราชบัญญัติ) ซึ่งจะเป็นไปตามหลักการว่าด้วย การแบ่งแยกอำนาจ โดยพระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจยับยั้ง(ร่าง)กฎหมายได้ (แต่ไม่เด็ดขาด) คือ ถ้าสภาผู้แทนราษฎรยืนยันร่างกฎหมายด้วยเสียงข้างมากตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ (ร่าง)กฎหมายนั้นก็สามารถนำมาใช้บังคับได้ ; ส่วนสำหรับอำนาจในการริเริ่มเสนอกฎหมายนั้น ทั้งฝ่ายบริหาร(พระมหากษัตริย์)และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่างก็มีอำนาจด้วยกัน คือฝ่ายใดจะเสนอร่างกฎหมายก็ได้
       ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจ(อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร) : ในระบบรัฐสภารูปแบบแรก จะไม่เหมือนกับที่เราเข้าใจอยู่ในปัจจุบัน เพราะระบบรัฐสภาในระยะนั้น พระมหากษัตริย์จะทรงมีอำนาจในการยุบสภาในกรณีที่กษัตริย์เห็นว่าสภาเป็นอุปสรรคในการตรากฎหมาย ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ แต่สภาผู้แทนราษฎรจะไม่มีอำนาจลงมติ (ไม่ไว้วางใจ)ให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีให้พ้นจากตำแหน่งได้ เพราะอำนาจในการเปลี่ยนแปลงตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เป็นของพระมหากษัตริย์
       
สรุปได้ก็คือ ในระบบรัฐสภารูปแบบแรก พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจทั้งในฐานะที่เป็น “ประมุขของรัฐ (ประเทศ)” และเป็น “ประมุขของฝ่ายบริหาร(รัฐบาล)”ไปด้วยกัน ดังจะเห็นได้จากการเรียกชื่อคณะรัฐมนตรีในระบบรัฐสภาในปัจจุบัน ว่า “รัฐบาลของพระมหากษัตริย์”
       โปรดสังเกตว่า ระบบรัฐสภา(รูปแบบแรก) ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๙๑ ซึ่งเป็น รัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร)ฉบับแรกของโลกที่กำหนด “ระบบรัฐสภา – parliamentary ขึ้น นั้น พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจทางบริหารเหล่านี้ได้ด้วยพระองค์เอง แม้ว่าจะมีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่(เคารพ)สักการะ จะละเมิดมิได้ ( la personne du roi est inviolable et sacree) และกำหนดว่า พระบรมราชโองการทุกฉบับของกษัตริย์จะต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนอง (Section IV , article 4) ; ดังนั้น ต้องเป็นที่เข้าใจว่า การที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้น มิได้หมายความว่ พระมหากษัตริย์จะทรงใช้อำนาจบริหารนั้นด้วยพระองค์เองไม่ได้
       และเนื่องจากในตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ไม่เคยสอนระบบรัฐสภาในรูปแบบแรกนี้แก่นักศึกษาไทย ดังนั้น ในการอภิปรายของผู้เขียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๙ (ก่อนการรัฐประหาร เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เพียง ๗ วัน) ผู้เขียนจึงได้จัดทำเอกสารวิชาการและ คัดลอกบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ที่มีสถาบันกษัตริย์และใช้ “ระบบรัฐสภา”ในรูปแบบแรก (ที่พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจบริหารด้วยพระองค์เอง) บังคับอยู่ในปัจจุบันนี้( ค.ศ. ๒๐๐๗) มาให้นักศึกษาและคนไทยได้รับรู้ไว้ เป็นจำนวน ๖ ประเทศ คือ เดนมาร์ก / เบลเยียม / สวีเดน / นอร์เวย์ / เนเธอร์แลนด์ / ลักซัมเบอร์ก
       [ หมายเหตุ :- โปรดดู หนังสือ “ กระบวนทัศน์ใหม่ สำหรับการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒” จัดพิมพ์โดย สถาบันพระปกเกล้า พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เอกสารทางวิชาการ ชุดที่ ๓ ; ทั้งนี้ โดยผู้เขียนได้ highlight คือ ขีดเส้นไต้ “ข้อความ”ในบทมาตราต่างๆ(ในรัฐธรรมนูญ ประเทศเหล่านี้) เพื่อแสดงให้เห็นถึง ความเกี่ยวโยงของบทมาตราต่าง ๆที่มีความสัมพันธ์กัน เป็น “โครงสร้าง”ของระบบรัฐสภารูปแบบที่หนึ่ง (กษัตริย์ทรงใช้ “อำนาจบริหาร”ด้วยพระองค์เอง) เพราะถ้าหากผู้เขียนไม่ทำเช่นนี้แล้ว ผู้เขียนเกรงว่า นักวิชาการ(ไทย) จะสังเกตไม่เห็น(รูปแบบของระบบรัฐสภาแบบที่หนึ่ง)เนื่องจากขาด “ความรู้พื้นฐาน” – ผู้เขียนคิดว่า วิธีการขีดเส้นไต้เช่นนี้เป็นการให้ “ความรู้”ด้วยวิธีอย่างง่าย ๆ และรวดเร็วสำหรับนักวิชาการไทย เรียกได้ว่าป็น “instant knowledge” คล้าย ๆ กับ การชงกาแฟ instant coffee ]
       
       (๒.๒) รุปแบบที่สอง(ของระบบรัฐสภา) ได้แก่ ระบบรัฐสภา ที่มีหลักการว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็น “ประมุขของรัฐ (ประเทศ)” ในลักษณะที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ แต่ในการใช้พระราชอำนาจในฐานะ “ประมุขของฝ่ายบริหาร”จะถูกจำกัดลง ; รัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร)ในระบบรัฐสภารูปแบบหลังนี้ จะเป็นรูปแบบที่ไม่มี “ระบบการถ่วงดุล” เพราะองค์กรฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) จะมาจากตัวบุคคลที่สภาผู้แทนราษฎร(ฝ่ายนิติบัญญัติ) เป็นผู้กำหนด
       หลักการ(สำคัญ) ของระบบรัฐสภา – parliamentary system ในรูปแบบที่สอง : รัฐธรรมนูญที่ใช้ระบบรัฐสภาในรูปแบบที่สองนี้ จะมีหลักการว่า อำนาจ(ในการ)บริหารจะเป็นของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ซึง(นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี)จะต้องบริหารประเทศด้วยความไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎร โดยสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบ(หรือไม่เห็นชอบ)ในตัวบุคคลที่เป็นฝ่ายบริหาร ด้วยการลงไว้วางใจ(หรือไม่ไว้วางใจ)นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ และสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบในนโยบายของรัฐบาล (ซึ่งจะต้องแถลงต่อสภา) ฯลฯ
       สำหรับ รายละเอียดเกี่ยวกับ รูปแบบที่สองของระบบรัฐสภา นี้ ผู้เขียนคงจะไม่ต้องอธิบาย(เพราะจะทำให้บทความนี้ยาวเกินไปโดยไม่จำเป็น) โดยผู้เขียนจะขอถือเอาตาม “หลักการ”ที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ของไทย ที่ผู้เขียนเชื่อว่า นักศึกษาไทยและคนไทยทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้ว เพราะรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ(ยกเว้นธรรมนูญการปกครอง ที่มาจากการปฏิวัติ)ได้ใช้ “ระบบรัฐสภา” ในรูปแบบที่สองนี้ [หมายเหตุ ทั้งนี้ ยกเว้นบทบัญญัติเรื่องการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง และบทบัญญติที่ทำให้ ส.ส. ต้องปฏิบัติตามมติพรรคการเมือง ซึ่งทำให้ ส.ส. ไม่มีความอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ได้ตามมโนธรรมของตนเอง ฯลฯ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวนี้ เป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยโดยเฉพาะ ที่นักการเมืองไทยและนักวิชาการไทยเขียนขึน และมีเพียงฉบับเดียวในโลก ซึ่งตามระบบสากล ถือว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่“ไม่เป็นประชาธิปไตย” ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น]
       
       เมื่อได้ทราบระบบรัฐสภา ทั้ง ๒ รูปแบบแล้ว สิ่งที่จะต้องทราบต่อไป ก็คือ วิวัฒนาการของรูปแบบ ๒ รุปแบบ ของ ระบบรัฐสภา – parliamentary system : และอันที่จริงแล้ว สาระเรื่อง “comparative forms of government” และวิวัฒนาการของระบบรัฐสภาในบทความนี้ มิใช่เป็นบทความบทแรกที่ผู้เขียนได้เขียนเรื่องนี้ไว้ ผู้เขียนได้เคยเขียน เรื่องนี้ไว้ครั้งหนึ่งแล้ว เพียงแต่ในบทความบทนี้ ผู้เขียนได้มาเขียน ขยายให้มี “สาระ”มากขึ้น
       ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เมื่อผู้เขียนสังเกตเห็นว่า ตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญที่ใช้สอนในมหาวิทยาลัยของเรา มิได้ มี“สาระ”ที่ให้ความรู้แก่นักศึกษา(ไทย)เกี่ยวกับ วิวัฒนาการของระบบรัฐสภา ตลอดจนมิได้มี “สาระ”ที่ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ forms of government – รูปแบบการปกครอง (พร้อมทั้งแนวความคิดและทฤษฎีที่เป็นสากล) ในลักษณะที่เป็น “กฎหมายเปรียบเทียบ – comparative law” (ไม่ใช่เขียนอธิบายตามบทบัญญัติในหมวดต่าง ๆ ตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ) ; ดังนั้น ในการเขียนบทความ(ขนาดยาว)ของผู้เขียนเรื่อง “Constitutionalism – ทางออกของประเทศไทย”(พ.ศ. ๒๕๓๗) ผู้เขียนจึงได้นำ comparative forms of government มาเขียนไว้ด้วย เพื่อเตือนวงการวิชาการทางกฎหมายของไทยให้ระลึกถึงความสำคัญของ comparative law ในการสอนกฎหมายในยุคปัจจุบัน
       ผู้เขียนคิดว่า บทความของผู้เขียน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการเสนอเรื่องนี้ในวงการวิชาการทางกฎหมายของไทย โดยเป็น เวลาหลังจาก การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ และมีการสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญมาแล้ว นานถึง ๖๒ ปี
       
ในบทความเรื่อง constitutionalism (พ.ศ. ๒๕๓๗) ดังกล่าว ผู้เขียนได้นำวิวัฒนาการของระบบรัฐสภา – parliamentary systemของโลกในช่วง ๒๐๐ ปีที่ผ่านมา (หลังจากยุคของ มองเตสกีเออ และ รุสโซ และ ฯลฯ) มา “เล่า”สู่กันฟังอย่างย่อ ๆ คือ เล่าตั้งแต่ รูปแบบของระบบรัฐสภาในระยะแรก (ระบบ dualist) ที่เริ่มต้นในปี ค.ศ. ๑๗๙๑ ซึ่งเป็นปีที่มีรัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร) ที่กำหนดระบบรัฐสภาขึ้นเป็นฉบับแรกของฝรั่งเศส (และของโลก) ไปสู่ช่วงที่สอง ของระบบรัฐสภา ซึ่งเป็นระบบสภาแบบอำนาจเดี่ยว - monist และในที่สุด ได้มาถึงระบบรัฐสภาในช่วงที่สาม (rationalized system) เมื่อ ๗๐ ปีที่ผ่านมา
       ผู้เขียนคิดว่า เป็นที่น่าเสียดายว่า ที่บทความดังกล่าวได้ผ่านไปโดยไม่ปรากฏ”การเปลี่ยนแปลง”ในการเรียนการสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญในมหาวิทยาลัย(ไทย) แต่อย่างใด; และจากติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐) ได้ปรากฏ“ข้อเท็จจริง”ให้เห็นว่า การแสดง“ความคิดเห็น”ของบรรดาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับการยกร่างรัฐธรรมนูญในระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ – ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา มิได้มีความคิดเห็นใหม่ ที่จะแก้ไขความผิดพลาดในการร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐) เมื่อสิบปีก่อนแต่อย่างใด ทั้ง ๆในระหว่างการใช้รัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. ๒๕๔๐ ได้มีการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็น “ข้อเท็จจริง”ที่แสดงถึงความผิดพลาดของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ปรากฏให้เห็นอย่างมากมาย
       ผู้เขียนคิดว่า คงมีนักวิชาการ(ไทย)จำนวนน้อยมาก ที่ทราบว่า ในปัจจุบันนี้ ยังมี “รัฐธรรมนูญของต่างประเทศหลายประเทศ ที่บัญญัติให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจบริหารด้วยพระองค์เอง” ใช้บังคับอยู่
       
       ข้อสังเกตของผู้เขียน ในข้อ (ข)ว่าด้วย หลักการสำคัญ ของ ของ ระบบรัฐสภา – parliamentary system นี้ ผู้เขียนขอให้ข้อสังเกตไว้ ๓ ประการ ดังต่อไปนี้
       

       ข้อสังเกตประการที่ (๑) “the July Revolution (1830) ” : ก่อนที่ผู้เขียนจะให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับขีดความสามารถของวงการวิชาการทางกฎหมายและความบกพร่องในตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญของเรา ผู้เขียนคิดว่า ท่านผู้อ่านควรทราบเรื่อง การปฎิวัติ เดือน กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๓๐ ไว้ก่อนบ้างเล็กน้อย พอให้เป็นพื้นฐานเกี่ยวกับ “ระบบรัฐสภา”
       ผู้เขียนเชื่อว่า ท่านผู้อ่านทุกท่านทราบเรื่อง การปฏิวัติ ในปี ค.ศ. ๑๗๘๙ (ของประเทศฝรั่งเศส) มาแล้วก่อนที่จะอ่านบทความนี้ ไม่มากก็น้อย แต่ผู้เขียนเชื่อว่า คงมีท่านผู้อ่านจำนวนน้อยมากหรือ(เกือบ)ไม่มี ที่ทราบเรื่อง การปฎิวัติใน เดือน กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๓๐ - the July Revolution ( ๑๘๓๐) มาก่อน ; ผู้เขียนไม่เคยพบตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญ(ไทย)เล่มใด ที่กล่าวถึง the revolution of July ๑๘๓๐ มาก่อน และผู้เขียนก็ไม่เคยพบว่า มีนักวิชาการและนักกฎหมายไทย(โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นักกฎหมายรัฐธรรมนูญ”)ท่านใด ได้เคยกล่าวถึง July Revolution (๑๘๓๐) เช่นเดียวกัน
       “the July Revolution (1830) ” คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร ; คำตอบ ก็คือ การปฏิวัติของประเทศฝรั่งเศส ในเดือนกรกฎาคมใน ปี ค.ศ. ๑๘๓๐ เป็นเหตุการณ์สำคัญ (หลังการสิ้นยุคของนโปเลียน) ที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเกิดความตื่นตัวในการมีรัฐธรรมนูญ)ลายลักษณ์อักษร)ครั้งใหญ่ทั่วยุโรป และเป็นเหตุการณ์สำคัญ ที่ทำให้กษัตริย์ของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปมีบทบาทในการพัฒนาระบบรัฐสภา – parliamentary system ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย
       ประสบการณ์ของประเทศฝรั่งเศสในระหว่าง ปี ค.ศ. ๑๘๓๐ – ๑๘๔๘ ได้ทำให้รูปแบบของการปกครองในระบบรัฐสภา – parliamentary system ของประเทศในยุโรป ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีวิวัฒนาการ โดย แยกออกเป็น ๒ รูปแบบ(ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น) คือ แยกเป็นระบบ dualist ซึ่งเป็นระบบที่มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์ที่ใช้”อำนาจบริหาร”โดยตรง กับสภาผู้แทนราษฎรที่ใช้ “อำนาจนิติบัญญัติ” รูปแบบหนึ่ง – กับอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นระบบ monist ที่เป็นระบบการผูกขาดอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร ( ซึ่งเป็น “รูปแบบ” ที่ไม่มีการถ่วงดุลระหว่างอำนาจของกษัตริย์กับสภาผู้แทนราษฎร) แต่การถ่วงดุลระหว่างอำนาจ (คณะรัฐบาล กับสภาผู้แทนราษฎร) จะมีหรือไม่มี ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นจริงทางการเมือง ที่เกิดจากพฤติกรรมของนักการเมืองและพฤติกรรมของชุมชน(ในการเลือกตั้ง) ซึ่งสภาพความเป็นจริงนี้ จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ที่อยู่นอกตัวบทรัฐธรรมนูญ
       
       ก่อนอื่น เราคงจะต้องทราบไว้ด้วยว่า ในยุคของนโปเลียน (ค.ศ. ๑๘๐๒ – ๑๘๑๔) นโปเลียนได้กำหนดให้ประเทศที่อยู่ภายไต้การครอบครองของฝรั่งเศสทุกประเทศ มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร และจำนวนหนึ่งของประเทศเหล่านั้น นโปเลียนได้ให้พี่น้องของตนเป็นกษัตริย์ ; นโปเลียนวางระบบการบริหารประเทศดังกล่าวไว้ในมาตรฐานเดียวกัน คือ เลิกระบบ feudalism และ serfdom (ทาสติดที่ดิน) / ให้เสรีภาพในการถือศาสนา (ยกเว้นสเปญ) / การศึกษาระดับประถมศึกษา - รัฐจัดให้ฟรี / การศึกษาระดับอุดมศึกษา - เปิดกว้าง ค่าเล่าเรียนถูก ไม่จำกัดเชื้อชาติและศาสนา / ใช้บทกฎหมายในระบบเดียวกัน คือ Code Napoleon / มีการจัดส่วนราชการและกระบวนการยุติธรรมรวมทั้งศาลปกครอง ในรูปแบบเดียวกัน
       เมื่อนโปเลียนหมดอำนาจลง (ค.ศ. ๑๘๑๔) รัฐธรรมนูญในสมัยนโปเลียนของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ได้ถูกยกเลิกไป ประเทศเหล่านี้มีความเป็นอิสระ และได้มีการจัดแบ่ง ดินแดนของประเทศต่าง ๆในยุโรป กันใหม่ โดยกลุ่มประเทศที่เป็นพันธมิตร์ร่วมกันทำสงครามล้มอำนาจของประเทศฝรั่งเศส ประชุมกัน ที่เรียกว่า “the Congress of Vienna”

       แต่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปได้รับ ผลดีจากการจัดระบบบริหารพื้นฐานของประเทศ ที่นโปเลียนได้วางรากฐานไว้ให้
       
ซึ่งหมายความว่า ประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ได้มีการวางพื้นฐานของ “กฎหมายที่เป็นระบบพื้นฐานการบริหารประเทศ” โดยอัจฉริยบุคคลของโลก มาก่อนที่ประเทศไทยจะมีการรัฐประหารโดยคณะการปฏิรูปการปกครองฯ ในวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ (ค.ศ. ๒๐๐๖) เป็นเวลากว่า ๒๐๐ ปี คือ ก่อนที่ประเทศไทย จะมี “นักการเมืองจำเป็น”มาอาสาปฏิรุปการเมืองให้คนไทย โดยมีความคิด เพียงว่า ขอให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เขียนอะไรมาก็ได้ (โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ - นานาอาชีพ เพื่อความเป็นประชาธิปไตย) ให้เสร็จภายในหนึ่งปี และเข้าใจว่า ประชาธิปไตย คือ “การจัดการเลือกตั้ง”(ให้บริสุทธิและยุติธรรม)]
       หลังจากยุคนโปเลียน ประเทศฝรั่งเศสได้กลับมามีรัฐูธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร)ฉบับใหม่ คือ รัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๘๑๔ ที่ใช้ระบบรัฐสภา – parliamentary system ในรูปแบบที่พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้ “อำนาจบริหาร”โดยตรง ( ในลักษณะเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับแรกของฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๙๑) แต่ใช้ระบบสภานิติบัญญัติ ๒ สภา(ตามรูปแบบของประเทศอังกฤษ ) โดยให้สภาที่สอง(สภาสูง – Chambre des pairs) เป็นสภาขุนนาง (nobility / clergy) ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และสภาล่าง (สภาผู้แทนราษฎร – Chambre des deputes des departements) มาจากการเลือกตั้ง
       ประเทศฝรั่งเศสหลังจากนโปเลียนหมดอำนาจ (ค.ศ. ๑๘๑๔) ยังคงเป็นประเทศมหาอำนาจและเป็นประเทศที่เป็น “ผู้นำ”ของยุโรปในด้านความรู้ และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและรูปแบบของรัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศส ก็เป็น ประสบการณ์ที่รับรู้และมีผลกระทบต่อการเมืองของประเทศต่าง ๆในยุโรป
       
       “การปฏิวัติเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๓๐” เกิดจากการผิดพลาดของกษัตริย์ฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. ๑๘๓๐ กล่าวคือในปี ค.ศ. ๑๘๓๐ (ในระหว่างการใช้บังคับรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๘๑๔) สภาผู้แทนราษฎร(สภาล่าง) ไม่พอใจในรัฐมนตรีหลายคนที่กษัตริย์ฝรั่งเศสแต่งตั้งและเรียกร้องในกษัตริย์ เปลี่ยนตัวรัฐมนตรี แต่กษัตริย์ฝรั่งเศส (ในขณะนั้น คือ พระเจ้า ชาร์ลส ที่ ๑๐ Charles X )ไม่ยอมเปลี่ยนรัฐมนตรีและกลับสั่งให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรและทำการเลือกตั้งใหม่ ; แต่ผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่า ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามา เป็นกลุ่มที่เป็นไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งทำให้รัฐบาลคิดจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งหนึ่ง อันเป็นต้นเหตุของการคัดค้านและมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ; กษัตริย์ฝรั่งเศส (พระเจ้า ชาร์ลส ที่ ๑๐) ถูกบังคับให้สละราชสมบัติและไปประทับที่ประเทศอังกฤษ
       แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น ชาวฝรั่งเศสก็ยังคงยอมรับสถาบันกษัตริย์อยู่และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของฝรั่งเศส (รัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๘๓๐) ก็ยังคงมี form of government ที่เหมือนกับรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๘๑๔ แต่ได้มีการเปลี่ยนกษัตริย์ (เปลี่ยนราชวงศ์จากสาย Bourbon ไปเป็นสาย Duc d’Orleans); แต่บังเอิญกษัตริย์องค์ใหม่ของฝรั่งเศส ( Louis - Philippe) เป็นกษัตริย์ที่ไม่มีความสามารถ และไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมในภาวะที่ประเทศฝรั่งเศสอยู่ในยุคของเศรษฐกิจถดถอย – recession และนอกจากจาก รัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปป์ ยังเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวาง อันเป็นสาเหตุให้เกิดการปฏิวัติและ ล้มล้างระบบกษัตริย์อีกครั้งหนึ่ง ในปี ค.ศ. ๑๘๔๘ และรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ของฝรั่งเศส ใน ปี ค.ศ. ๑๘๔๘ ได้ทำให้ประเทศฝรั่งเศสกลายเป็นประเทศสาธารณรัฐอีกครั้งหนึ่ง เป็นครั้งที่สอง – Second Republic (ค.ศ. ๑๘๔๘ – ๑๘๕๒ )
       “July Revolution” ใน ปี ค.ศ. ๑๘๓๐ ของประเทศฝรั่งเศส ( ตรงกับสมัยรัชกาล ที่ ๓ ของไทย) เป็นเหตุการณ์สำคัญ ที่ก่อให้เกิด “กระแส”การปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย อย่างกว้างขวางในยุโรป และทำให้กษัตริย์ของประเทศในยุโรป ต้องให้รัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร)แก่ประชาชน ; รูปแบบการปกครอง – form of government ในรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆในยุโรปขณะนั้น คือ ระบบรัฐสภา - parliamentary system ที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ “อำนาจบริหาร”โดยตรง
       
หลังจากนั้น วิวัฒนาการของระบบรัฐสภา – parliamentary systemของประเทศในยุโรป(ที่มีกษัตริย์)เหล่านี้ ก็จะแตกต่างไปจากวัวัฒนาการของระบบรัฐสภาของประเทศฝรั่งเศส
       
       ระบบรัฐสภาของประเทศฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐธรรมนูญ ฝรั่งเศสหลังจาก ปี ค.ศ. ๑๘๗๕ (สาธารณรัฐ ที่ สาม - Third Republic) การบริหารประเทศของประเทศฝรั่งเศส จะเป็นไปตาม “ระบบรัฐสภา(รูปแบบที่สอง)” คือ เป็นระบบรัฐสภ าที่เป็น สภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรที่ผูกขาดอำนาจรัฐ โดยไม่มีการถ่วงดุลระหว่าง องค์กรที่ใช้ “อำนาจบริหาร” (ประธานาธิบดี ในฐานะประมุขของประเทศ) กับองค์กรที่ใช้ “อำนาจนิติบัญญัติ”
       กล่าวคือ ในทางปฏิบัติ ระบบการเมืองของฝรั่งเศสจะไม่มีการยุบสภา แม้ว่าตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ “ประธานาธิบดี”(ที่มาจากการเลือกตั้งโดยรัฐสภา) ของฝรั่งเศส ในฐานะที่เป็น ประมุขของประเทศ จะมี “อำนาจยุบสภา”ได้ (ด้วยความเห็นชอบของสภาสูง) ก็ตาม ; ทั้งนี้ เนื่องมาจากความทรงจำและประสบการณ์เดิม ๆ ที่ เกี่ยวกับ “ความผิดพลาด” ในการยุบสภา ของกษัตริย์ – พระเจ้าชาร์ล ที่ ๑๐ ในอดีต และการยุบสภาของประธานาธิบดี (Mac Mahom)ใน ปี ค.ศ. ๑๘๗๗ ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ; โดยต่อจากนั้น ประธานาธิบดี(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ของฝรั่งเศสในฐานะที่เป็นประมุขของประเทศ ไม่กล้าเสี่ยงที่จะสั่งยุบสภาผู้แทนราษฎรอีก
       
ตามความเป็นจริงของสภาพสังคมของฝรั่งเศส “ระบบรัฐสภา”ของฝรั่งเศส จึงไม่มีการถ่วงดุลระหว่างองค์กรที่ใช้ “อำนาจบริหาร” และองค์กรที่ใช้ “อำนาจนิติบัญญัติ” [หมายเหตุ สำหรับจุดอ่อนหรือข้อเสีย ของ “ระบบรัฐสภา” ในรูปแบบที่ไม่มีระบบการถ่วงดุลการใช้อำนาจของนักการการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ผู้เขียนจะได้กล่าวต่อไปในหัวข้อที่ว่าด้วย การปรับเปลี่ยน – rationalization ระบบรัฐสภา ของประเทศเยอรมันนีและประเทศฝรั่งเศส ต่อไป]
       
       ในทางตรงกันข้ามกับประเทศผรั่งเศส กษัตริย์ของประเทศอื่นในยุโรป จะ เข้าใจบทบาทของตนเอง ดีกว่ากษัตริย์ของประเทศฝรั่งเศส ; ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ว่า บทบาทของกษัตริย์ในประเทศเหล่านี้ ได้ทำให้การเมืองและระบอบประชาธิปไตยที่มี “สภาผู้แทนราษฎร” พัฒนาต่อเนื่องกันไปได้โดยราบรื่น ดังจะเห็นได้ว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของประเทศเหล่านี้ ยังคง “รูปแบบ “ของระบบรัฐสภา – parliamentary system ที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารโดยตรงไว้ แม้ในปัจจุบันนี้ พ.ศ. ๒๕๕๐ – ค.ศ. ๒๐๐๖ ซึ่งเป็นต้น ศตวรรษที่ ๒๑
       แต่สิ่งที่ ปรับเปลี่ยนไปตามระดับการพัฒนาของสังคม
และพฤติกรรมของนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ในช่วงระยะเวลาแห่งประวัติศาสตร์ ของประเทศเหล่านี้ ก็คือ บทบาทของกษัตริย์ ในการใช้พระราชอำนาจในทางปฏิบัติตามความเป็นจริง - reality ในฐานะที่เป็น “สถาบัน”ที่ถ่วงดุล การใช้อำนาจของ นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง มิให้กระทำการที่ออกนอกกรอบของ “วัตถุประสงค์”ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย คือ การใช้อำนาจรัฐ ที่ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
(ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว) ทั้งนี้ โดยที่ตัวบทรัฐธรรมนูญ ไม่มีการเปลึ่ยนแปลง
       บทบาทของพระมหากษัตริย์ของประเทศในยุโรป (ที่มีรัฐธรรมนูญที่ใช้ระบบรัฐสภาในรูปแบบแรก )เหล่านี้ เป็นกลไกที่ทำให้ “ระบอบประชาธิปไตย”สามารถพัฒนาไปอย่างสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและพฤติกรรมของนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง) ในแต่ละช่วงระยะเวลาที่ผ่านไป
       เป็นที่น่าเสียดายว่า ประเทศไทยไม่ได้มี “โอกาส”เช่นนี้ม าตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ และในปัจจุบันนี้ พ.ศ. ๒๕๕๐ ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า ด้วยความไม่รอบรู้ของนักวิชาการ(ไทย) ได้เขียนรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้บรรดานักการเมือง ที่มาจากเลือกตั้ง (ทั้งที่เป็นนายทุนธุรกิจระดับท้องถิ่น และนายทุนธุรกิจระดับชาติ) ของเรา สามารถใช้อิทธิพลทางการเงินในการเลือกตั้ง (ในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ) เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐได้ โดยผ่านทาง “พรรคการเมือง” ด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง (ที่นายทุน ออกเงินล่วงหน้าให้ในการเลือกตั้ง) และส.ส. ต้องปฏิบัติตามมติพรรค(โดยไม่มีสิทธิที่จะปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ได้ตามมโนธรรมของตนเอง) และนายกรัฐมนตรีจะต้องมาจาก ส.ส. ( ได้แก่“หัวหน้าพรรค”เจ้าของทุนในการจัดตั้งพรรค )เท่านั้น และซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญประเทศเดียวในโลกที่เขียนเช่นนี้ )
       
       ข้อสังเกตประการที่ (๒) “ความล้าหลัง (และการสอนอย่างผิด ๆ )”ของ ตำราวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ (ไทย) ที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษา (ไทย) : จากสาระดังกล่าวข้างต้น( ความเป็นมาของ ระบบรัฐสภา – parliamentary system) จะเห็นได้ว่า ตำราวิชากฎหมายรัฐูธรรมนูญ (ที่เขียนโดยนักวิชาการระดับสูงในวงการวิชาการทางกฎหมายของเรา) ได้สอนนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี(ไทย)ในมหาวิทยาลัย(ไทย) อย่าง ผิดพลาด และตกหล่นในประการสำคัญ ถึง ๒ ประการ คือ (ก) ประการแรก เกี่ยวกับ “บทบาทของสถาบันกษัตริย์ ” ในการวิวัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย และ (ข) ประการที่สอง เกี่ยวกับ “ความเป็นจริง - reality”ที่เกิดขึ้น(จริง) ในการบริหารประเทศภายใต้ “ระบบรัฐสภา” (ที่ไม่ตรงกับคำอธิบายใน“ตำรา” )
       
       อ่านต่อ
       
       หน้า 20
       หน้า 21
       หน้า 22
       หน้า 23
        หน้า24
       หน้า 25
        หน้า26
       หน้า 27
        หน้า28
       หน้า 29


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544