หน้าแรก บทความสาระ
การฟ้องปิดปาก
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
19 สิงหาคม 2561 18:25 น.
 
เครื่องมือหนึ่งของรัฐหรือนายทุนที่ใช้ในการแก้แค้นหรือข่มขู่และสร้างความยุ่งยากต่อผู้ที่มีความคิดเห็นต่อต้านหรือขั้วการเมืองฝั่งตรงกันข้ามกับตนก็คือสิ่งที่เรียกว่า “การฟ้องปิดปาก” ซึ่งตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Strategic Lawsuit Against Public Participation(การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อต่อต้านการมีส่วนร่วมของสาธารณชน) หรือที่เรียกย่อๆว่า SLAPPs ที่อ่านออกเสียงเหมือนกับคำว่า Slap ที่แปลว่า “ตบ”หรือ “ตบปาก”ซึ่งก็คือการฟ้องคดีเพื่อตบปากให้หยุดพูดหรือหยุดวิพากษ์วิจารณ์นั่นเอง อย่างไรก็ตามนอกจากคำว่าSLAPPsแล้วก็ยังมีอีกศัพท์อีกคำหนึ่งใกล้เคียงกันคือคำว่า Judicial Harassment ที่แปลว่าการยืมมือกระบวนการยุติธรรมเพื่อทำให้ตนเองบรรลุผล เช่น ทำให้คนที่เห็นต่างเลิกพูดด้วยเหตุแห่งความหวาดกลัวหรือมีภาระยุ่งยากกับการถูกดำเนินคดี เป็นต้น
       ตัวอย่างที่รัฐใช้SLAPPsเป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีฝ่ายตรงกันข้ามมีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการอาศัย พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ,คำสั่งคสช.ที่ 3/2558(ห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป),พรบ.ชุมนุมสาธารณะฯ,ปอ.มาตรา 116(ยุยงปลุกปั่น),ม.328(หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา),พรบ.ประชามติฯ, ฯลฯ ดำเนินการต่อผู้ที่เห็นต่างจากตนเอง เช่น คดีเวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร,คดีคนอยากเลือกตั้ง,คดี อ.ชาญวิทย์,คดี  อ.วรเจตน์,คดีคุณเอกชัย,คดีทนายอานนท์ ล่าสุดก็คือคดีแกนนำพรรคอนาคตใหม่ เป็นต้น ส่วนตัวอย่างคดีที่เอกชนใช้ SLAPPsก็เช่น คดีของอานดี ฮอลล์ที่ถูกฟ้องฐานนำเสนอข้อมูลการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในโรงงานผลไม้กระป๋องหรือกรณีเหมืองทองเมืองเลยที่บริษัททำเหมืองฟ้องทั้งข้อหาหมิ่นประมาทและพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นต้น
       จริงอยู่อาจจะมีข้อโต้แย้งว่าเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย แต่อย่าลืมว่าการใช้สิทธิตามกฎหมายต้องเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตตามหลักที่ว่า “บุคคลผู้มาศาลต้องมาด้วยมือสะอาด”(He who comes to the court must come with clean hands)นั่นเอง แต่การที่ใช้SLAPPsนั้นเป็นการฟ้องคดีโดยใช้ศาลเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งไม่ให้พูด โดยผู้ฟ้องคดีเพียงแค่ต้องการให้เกิดภาระทางคดีแก่ผู้ที่ถูกฟ้องแต่ไม่ได้หวังผลชนะในทางคดีแต่อย่างใด ซึ่งผู้ฟ้องคดีมีเจตนาให้ผู้ที่ถูกฟ้องคดีเกิดความวิตกกังวลในการพูดหรือใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อีกทั้งระบบวิธีพิจารณาคดีแบบกล่าวหานั้นสร้างความยุ่งยากให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีในการพิสูจน์ตนเอง ซึ่งจะยิ่งแย่หนักขึ้นไปอีกหากผู้ถูกฟ้องคดีไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายได้  
       นอกจากการใช้สิทธิตามกฎหมายที่ต้องเป็นการใช้สิทธิที่สุจริตแล้ว กฎหมายที่นำมาใช้ต้องมีความชอบธรรมในการตราขึ้นว่ามีที่มาชอบธรรมหรือไม่ เป็นไปตามหลักของอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนหรือไม่ หรือว่ามาจากการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจ อีกทั้งเนื้อหาสาระของกฎหมายที่ใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น ต้องเป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุด้วย ซึ่งก็คือ
       (1) หลักความเหมาะสม ความสัมฤทธิ์ผล กล่าวคือมาตรการนั้นสามารถบรรลุความมุ่งหมายได้จริงหรือไม่และเข้ากันได้กับบริบทหรือสถานการณ์นั้นๆหรือไม่
       (2) หลักความจำเป็น เมื่อเหมาะสมแล้วก็ต้องเป็นมาตรการที่กระทบต่อสิทธิของประชาชนน้อยที่สุด ไม่มีมาตรการอื่นอีกแล้วที่กระทบต่อสิทธิของประชาชนน้อยกว่ามาตรการนี้ เพราะหากมีมาตรการอื่นที่บรรลุความมุ่งหมายได้แล้วกระทบสิทธิของประชาชนน้อยกว่า มาตรการนั้นถือว่าขัดกับหลักความจำเป็นนี้
       (3) หลักความได้สัดส่วน หรือหลักความสมดุล กล่าวคือจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์สาธารณะกับผลกระทบต่อเอกชนว่าอยู่ในสัดส่วนที่สมดุลกันหรือไม่ ถ้ากระทบต่อเอกชนมากแต่ได้ประโยชน์สาธารณะน้อยไม่คุ้มกันก็เป็นการขัดต่อหลักความได้สัดส่วน
       อย่างไรก็ตามทางฝ่ายศาลโดยสำนักงานศาลยุติธรรมเองก็ได้มองเห็นปัญหา “การฟ้องปิดปาก”นี้โดยสำนักงานศาลยุติธรรมได้เสนอขอแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป  โดยข้อเสนอของศาลยุติธรรมระบุไว้ในมาตรา 161/1 ว่า
       “มาตรา 161/1 ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ ก่อนไต่สวนมูลฟ้อง หากความปรากฏต่อศาลว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้ง หรือเอาเปรียบจำเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ ศาลจะมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องนั้นก็ได้ และห้ามโจทก์ยื่นฟ้องคดีนั้นอีก คำสั่งเช่นว่านี้ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่”
       พฤติกรรมที่เข้าข่ายข้อกฎหมายข้างต้น อาทิ การฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา มีการไปฟ้องในที่ไกลๆ โดยอ้างว่ารับทราบเรื่องที่นั่น ลักษณะนี้อาจเข้าข่ายฟ้องเพื่อกลั่นแกล้ง ไม่ได้ฟ้องเพราะมุ่งหวังชนะคดี แต่ต้องการให้คู่กรณีรู้สึกกลัวเพื่อทำการต่อรองบางอย่าง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่การเสนอแก้กฎหมายครั้งนี้เน้นไปที่ “เอกชนใช้สิทธิฟ้องเอง”เท่านั้น  ส่วนการฟ้องโดยพนักงานอัยการยังมีความเชื่อว่าได้ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วจากกระบวนการในชั้นสอบสวน จึงยังให้สิทธิพนักงานอัยการฟ้องได้ ซึ่งผมเห็นว่าแม้จะเป็นการยื่นฟ้องโดยพนักงานอัยการก็ตาม แต่ศาลก็ควรมีอำนาจตรวจสอบและสั่งไม่ฟ้องได้เช่นเดียวกับกรณีบุคคลยื่นฟ้องเอง เพราะในบางเรื่องพนักงานอัยการก็มีเวลาตรวจสอบสำนวนน้อย เช่น มีเวลาเพียงไม่กี่วันในการสั่งฟ้อง อัยการก็ต้องรีบสั่งฟ้องไปก่อน เป็นต้น
       อนึ่ง ใน พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 21 ได้ให้อำนาจพนักงานอัยการสามารถสั่งไม่ฟ้องได้ในกรณีฟ้องแล้วไม่เป็นประโยชน์กับสาธารณะ ซึ่งพนักงานอัยการสามารถใช้ดุลยพินิจตีความได้กว้างขวางมาก ดังเช่นในหลายคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมของฝ่ายประชาธิปไตยทั้งหลายแต่ก็ยังมีการใช้ดุลพินิจนี้ในจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนคดีที่มีอยู่
       จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า “การฟ้องปิดปาก”นั้นเป็นเรื่องที่เราจะต้องให้ความสำคัญและให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะสังคมใดที่มีการใช้ “การฟ้องปิดปาก”มากก็แสดงให้เห็นว่าสังคมนั้นปราศจากความเป็นนิติรัฐ นิติธรรม สังคมโลกก็จะพากันรังเกียจเดียดฉันท์ ไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วย
       เช่นเดียวกันไม่ว่าใครก็ตามที่ใช้การ “ฟ้องปิดปาก”เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งผู้อื่นโดยไม่สุจริตย่อมมีโอกาสที่จะถูก “ฟ้องกลับ”ได้เช่นกัน และโดยเฉพาะอย่างผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมได้รับโทษทัณฑ์เพิ่มขึ้นอีกเป็นของธรรมดา
        
       -------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การเมืองหลังเลือกตั้งปี 62
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544