หน้าแรก บทความสาระ
สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า๑๑)
ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
18 สิงหาคม 2550 17:32 น.
 
(๔) “ชนชั้นนำ”ของสังคมไทย ไม่ได้พาคนไทย มุ่งไปสู่ “สังคมแห่งความรู้ – knowledge society”
       
ข้อสังเกตนี้ เป็นข้อสังเกตประการสุดท้ายของผู้ขียนใน “คำชี้แจง สาระสำคัญของ(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ซึ่งเป็นเอกสารประกอบร่างกฎหมาย – รัฐธรรมนูญ ขององค์การยกร่างรัฐธรรมนูญ (สภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างฯ) ของเรา
       
       ความผิดพลาดในการเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญฉบับก่อน ( พ.ศ. ๒๕๔๐ )ได้ก่อให้เกิด “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ซึ่ง ทำให้มีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งสามารถเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐและทำการทุจริตคอร์รัปชั่นได้อย่างมากมายถึงขั้นที่นำเอาทรัพย์สินของสาธารณะไปเป็นของตนเองและขายให้แก่ต่างชาติ จนเป็นเหตุให้ต้องมีการรัฐประหารขึ้นใน วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙
       ในช่วงเวลาประมาณหนึ่งปีหลังการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จนถึงปัจจุบัน(สิงหาคม) เป็นช่วงเวลาที่ “ชนชั้นนำ (elite ) ของสังคมไทย”กลุ่มต่าง ๆ ได้มีโอกาส เข้ามามีบทบาท ในทางการเมือง ด้วยการมีส่วนร่วมในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยหวังว่าจะทำให้การเมืองของประเทศไทยในอนาคต ดีกว่าอดีตที่ผ่านมา ; ชนชั้นนำกลุ่มต่าง ๆ มีตั้งแต่นักวิชาการหลากหลายสาขา / นักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง) ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่ต้องออกไปเพราะถูกรัฐประหาร และมีทั้งฝ่ายที่เคยมีอำนาจ แต่ต้องออกไปเพราะถูกฝ่ายแรกแย่งอำนาจไปและกำลังมีความหวังที่จะกลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้งหนึ่งหลังการเลือกตั้งปลายปีนี้) / นักการเมืองจำเป็นที่ต้องมาเป็นรัฐบาลชั่วคราวเพราะการรัฐประหาร / และรวมทั้ง คณะปฏิรูปการปกครองฯที่ทำการรัฐประหาร ซึ่งยังคงเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติอยู่ในขณะนี้
       อนาคตของประเทศ หรือของคนไทยทุกคน จึงขึ้นอยู่กับ ชนชั้นนำที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ถ้าท่านผู้อ่านลองสมมติว่าตัวท่านเป็นนักวิเคราะห์การเมืองไทย และเมื่อท่านได้ศึกษาสภาพและพฤติกรรมของชนชั้นนำเหล่านี้แล้ว ท่านผู้อ่านก็อาจลองคาดคะเนดูได้ว่า อนาคตของประเทศไทยข้างหน้าอันไม่ไกลนัก (สองถึงสามปี ) จะเป็นอย่างไร
       สำหรับผู้เขียน ผู้เขียนเห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่มีอนาคต ด้วยเหตุผลเพียงสั้น ๆว่า เพราะ ชนชั้นนำเหล่านี้ ไม่ได้นำสังคมไทยไปสู่ “สังคมแห่งความรู้” และ(ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญหรือรัฐธรรมนูญฉบับใด จะถูกนำมาใช้บังคับหลังการออกเสียงประชามติวันที่ ๑๙ สิงหาคม) การบริหารประเทศก็จะประสพความล้มเหลว
       
       (๑) บทบาทของนักวิชาการ ; ในส่วนที่เกี่ยวกับบทบาทขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ(สภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างฯ)ในการเขียน(ออกแบบ)ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผู้เขียนได้ให้ข้อสังเกตไว้แล้ว ดังนั้นผู้เขียนจึงจะไม่กล่าวซ้ำอีก
       “การดีเบต”ของนักวิชาการเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ : เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กล่าวคือ ในวันที่ ๓ สิงหาคมนี้ ได้มีการจัดให้มีการดีเบตร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ครั้งสำคัญ (จัดโดยมูลนิธิองค์กรกลาง – พีเนต) ซึ่งเป็นการดีเบตระหว่างนักวิชาการด้วยกัน ซึ่งแต่ละท่าน(นักวิชาการ)ที่มาดีเบต ล้วนแล้วแต่เป็นนักวิชาการที่ได้คัดสรรมาแล้วเป็นอย่างดี ; ในการดีเบต ได้มีการแยกนักวิชาการออกเป็น สองฝ่าย ฝ่ายละ ๓ ท่าน (โต้ตอบกันเป็นคู่ ๆ รวม ๓ คู่) และได้มีการถ่ายทอดการดีเบตดังกล่าวทั้งทางโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง ซึ่งท่านผุ้อ่านคงได้ทราบหรือรับฟังมาแล้ว
       ปัญหามีว่า สังคมไทยได้อะไรจากการดีเบต ครั้งนี้ ; จากการติดตาม”สาระ”ที่ท่านนักวิชาการเหล่านี้ได้ให้ความเห็นไว้ในการดีเบตดังกล่าว ผู้เขียนไม่คิดว่า คนไทยจะได้ประโยชน์อะไรมากนัก เพราะการดีเบตเป็นการพูดในลักษณะของการโต้วาที (สลับกับ “การมีส่วนร่วมของประชาชน” (โห่) โดยแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ – นปก. ที่เข้ามาร่วมฟัง ในบางครั้ง) ; นักวิชาการฝ่ายสภาร่างรัฐธรรมนูญ ๓ ท่าน ก็คงไม่มีอะไรจะพูดมากไปกว่าที่ได้เขียนไว้ใน “คำชี้แจง สาระสำคัญ ฯ”ที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้พิมพ์เผยแพร่ไปแล้ว ( คือ ลดอำนาจรัฐ - เพิ่มอำนาจประชาชน) ; และนักวิชาการฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ (ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ไม่มี “สาระ”อะไรใหม่เพิ่มเติม นอกจากกล่าวถึงข้อผิดพลาดหรือข้อบกพร่องของ(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ไม่เป็นไปประชาธิปไตย (คือ เป็นเผด็จการและเป็นอำมาตยาธิปไตย)
       ข้อที่น่าสังเกต ก็คือ ในการดีเบตดังกล่าว ไม่มีนักวิชาการคนใดที่กล่าวถึงปัญหาของ “รูปแบบของการปกครอง – form of government”ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่อย่างใด
       ผู้เขียนเห็นว่า การที่เราจะรู้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใดเป็นรัฐธรรมนูญที่ “ดี”หรือ“ไม่ดี” (จะแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเมืองของประเทศในอนาคต ได้หรือไม่) เราไม่สามารถรู้ได้ด้วยการดีเบต (หรือการอภิปราย) เพราะการที่เราจะรู้และสามารถพูดได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใดดีหรือไม่ดี จะต้องพิจารณาหลายประเด็นหรือหลายจุดพร้อม ๆ กัน จึงจะทราบได้ว่า “จุดหมาย”แต่ละจุดหมายที่กำหนดไว้ในกลไกในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ จะเกิดผลสำเร็จตามที่มุ่งหมายไว้ หรือไม่ ; ซึ่งการพิจารณาในลักษณะนี้ ไม่สามารถทำได้ด้วย “การพูด”ในการดีเบตหรือในการ อภิปราย แต่จะต้องทำคำอธิบายด้วย “การเขียน”ในรูปของเอกสารประกอบร่างกฎหมาย ; และข้อนี้เอง ที่เป็นเหตุผลที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว กำหนดให้ต้องมีเอกสารประกอบร่างกฎหมาย ที่จัดทำโดย “ผู้เชี่ยวชาญ”ไว้สำหรับแจกจ่ายให้กับสมาชิกสภานิติบัญญัติ(ของเขา)และประชาชน(ของเขา)เมื่อมีการเสนอร่างกฎหมายต่อสภา เพื่อประกอบการพิจารณาในการตัดสินใจ ; ส่วนเมื่อมีเอกสารฯดังกล่าวแล้ว ทางราชการจะกำหนดให้มีสัมมนาและการเผยแพร่ เพื่อชี้แจงเอกสารฯก็สามารถทำได้ เพราะ “เหตุผลทั้งหมด”ของการมีกฎหมาย จะปรากฏอยู่ในเอกสารแล้ว
       การออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ(ไม่ว่าในประเทศใด) จึงไม่ควรเริ่มต้น ด้วยการแจกจ่ายเอกสารตัวบทของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นับร้อย ๆ มาตราไปให้ประชาชน(ผู้ที่มีสิทธิลงคะแนน)ไปอ่านเอาเอง [หมายเหตุ แม้ว่า เอกสารตัวบทรัฐธรรมนูญ จะมี “คำชี้แจง สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ”อยู่ต่อท้ายอย่างสั้น ๆ แต่ ก็เป็นคำชี้แจงที่จัดทำขึ้นโดยมิได้มีการกำหนด “มาตรฐาน”ไว้ จึงมิใช่เป็นเอกสารที่ให้”ความรู้”แก่ประชาชน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ]
       
       ผู้เขียนเห็นว่า การจัดดีเบตหรือการโต้วาทีเรื่องรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เป็นวิธีการที่ให้“ความรู้”แก่ประชาชน ; และยิ่งกว่านั้น การให้ออกเสียงประชามติ(เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) ด้วยการฟังการดีเบตหรือการโต้วาที (ฝ่ายใดจะ“พูด”เก่งกว่ากัน หรือ ฝ่ายใดจะมีสำนวนเผ็ดร้อนกว่ากัน หรือฝ่ายใดจะเล่นถ้อยเล่นคำได้มากกว่ากัน) อาจจะเป็น “วิธีการ”ที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในสิ่งที่ควรจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ก็ได้
       
       (๒) บทบาทของนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง) จากเหตุการณ์ที่ปรากฏ จะเห็นได้ว่า นักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ไม่ว่าจะอยู่ในพรรคการเมืองพรรคใด ต่างก็สนใจอยู่เพียงว่า (ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะ ต้องมีบทบัญญัติบังคับว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น ไม่เช่นนั้นไม่เป็น “ประชาธิปไตย” ; และจำนวนส.ส. ต้องไม่น้อยไปกว่าเดิม เพราะมิฉะนั้น ส.ส.จะทำหน้าที่ไม่ได้ดี และไม่ทั่วถึง
       การบัญญัติรัฐธรรมนูญว่า ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากบุคคลที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบด้วยเสียงข้างมาก ( ดังเช่นบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก เห็นว่าเป็นประชาธิปไตย) แต่นักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ของไทย เห็นว่า “ไม่เป็นประชาธิปไตย” ; และบทบัญญัติที่บังคับให้ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง ที่ประเทศเสรีประชาธิปไตยทั่วโลก เห็นว่า “ไม่เป็นประชาธิปไตย” แต่นักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ของไทยเห็นว่า เป็นประชาธิปไตย ; สิ่งเหล่านี้ ก็เป็น “ข้อเท็จจริง”ที่แสดงให้เห็นสภาพและพฤติกรรมของนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ของไทย
       ผู้เขียนก็เลยหาข้อยุติไม่ได้ว่า (ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเรา ควรจะเป็นอย่างไร แต่ผู้เขียนคิดว่า ถ้าเราจะปฏิรูปการเมือง เรา(คนไทย) คงจะ อาศัย “ความรู้”จากนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ของเรามาช่วยแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เรา คงไม่ได้ และเราก็คงจะหา “ผู้ที่จะมาปฏิรูปการเมือง”ให้เรา(คนไทย)จากบรรดานักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ไม่พบ เช่นเดียวกัน เนื่องจากมีการขัดแย้งในประโยชน์ – conflict of interest ในทางพฤติกรรมทางสังคมวิทยา
       
       นักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ที่สุจริด ยังพอจะเหลืออยู่ หรือไม่ (?) ในช่วงเวลา ที่การเลือกตั้งครั้งใหม่ใกล้เข้ามา ปรากฎว่า ได้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองพรรคใหม่ขึ้นมาพรรคหนึ่ง เพื่อให้เป็นพรรคที่รองรับสมาชิกจากพรรคการเมืองบางพรรค(ที่ถูกคณะตุลาการรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ยุบเลิก) ได้มี “ประเด็น”เกี่ยวกับความสุจริตของตัวบุคคลที่จะเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองพรรรคใหม่ ฯ ว่า เคยพัวพันกับกรณีการทุจริตบางกรณี ; ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการตอบโต้ของบุคคลดังกล่าว ก็คือ ผู้ที่ยกประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมาพูด ก็เคยมีกรณีพัวพันการทุจริตในการออก สปก. ๔-๐๑ เช่นเดียวกัน
       ปัญหาของเรา(คนไทย) ก็คือ ดูเหมือนว่า นักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ของเราต่างคนต่างก็มีกรณีพัวพันกับการทุจริตด้วยกัน และ คงเป็นที่คาดหมายได้ว่า ต่อไป นักการเมืองเหล่านี้คงจะแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันโดยปริยาย คือ ต่างฝ่ายต่างไม่พูดถึงการทุจริตของกันและกัน และดังนั้น เรา(คนไทย) คงต้องถามตัวเองว่า การบริหารประเทศของเราในอนาคต(หลังการเลือกตั้ง) จะเป็นอย่างไร
       

       (๓) บทบาทของ “รัฐบาล” และ “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ”: เมื่อใกล้กำหนดวันออกเสียงประชามติ (วันที่ ๑๙ สิงหาคม) คณะรัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติได้เร่งดำเนินการ เพื่อชักชวนให้คนไทยออกจากบ้านเพื่อไปออกเสียงประชามติใน(ร่าง)รัฐธรรมนูญ และได้จัดให้มี events อยู่หลายเหตุการณ์ ด้วยกัน เช่น
       งาน “มหกรรมประชาธิปไตย”/ งานประกาศปฏิญญาพัฒนาการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ (วันที่ ๓ สิงหาคม) กล่าวคือ ในวันเดียวกับที่ได้จัดให้มีการดีเบตของนักวิชาการดังกล่าวข้างต้น ทางราชการได้จัดงาน “มหกรรมประชาธิปไตย”ขี้นที่ศูนย์ประชุม เมืองทองธานี โดยได้ มีการเชิญทูตานุทูตจากประเทศต่าง ๆ / ผู้นำภาครัฐ /ภาคเอกชน / พรรคการเมือง / และประชาชนจากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ มาร่วมในงานเป็นจำนวนมาก ; ในงานมหกรรมดังกล่าว ได้มีการฉายภาพวิดิทัศน์แสดงความจำเป็นของการจัดงานมหกรรมและความจำเป็นของการที่ประเทศไทยจำต้องมีการ”รัฐประหาร” ; หลังจากนั้น ท่านนายกรัฐมนตรีได้อ่านประกาศ “ปฏิญญาพัฒนาการเมืองไทย ๒๕๕๐” และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติได้กล่าวสุนทรพจน์ขอให้คนไทยช่วยกันรักษาปฏิญญาฯ และขอให้ประชาชนทุกคน ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ร่วมกันสร้างความสมานฉันท์ในชาติ ฯลฯ
       งาน”มหกรรมรวมพลังประชาธิปไตย พร้อมลงประชามติ ฯ”(วันที่ ๑๓ สิงหาคม) โดยท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงาน และนำประชาชน(ประมาณ ๕๐๐๐๐ คน ตามข่าวที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ ) เดินรณรงค์จากลานพระบรมรูปทรงม้า ไปที่ปะรำพิธีในบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำพิธีปักธงรวมพลังประชาชน พร้อมกับคณะรัฐมนตรี ข้าราชการ นักศึกษา พ่อค้า ประชาชนจากจังหวัดต่าง ๆ และหลังจากนั้น ได้มีพิธีกล่าวคำสัตย์ปฏิญญาณว่า จะไม่ซื้อสิทธิขายเสียงและจะร่วมกันพัฒนาประชาธิปไตยฯลฯ และนอกจากนั้น หลังจากนั้น ก็ยังมี งาน ฟรีคอนเสิร์ต ไปออกเสียงลงประชามติฯ ในศูนย์การค้าบางแห่ง ฯลฯ
       
       ผู้เขียนเห็นด้วยกับรัฐบาลว่า การจัดงานมหกรรมประชาธิปไตย / งานประกาศปฏิญญาพัฒนาการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ดูจะมีประโยชน์ในด้านกับต่างประเทศ เพราะเป็นการบอกกล่าวแก่ทูตานุทูตของต่างประเทศ ว่า ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งและกำลังจะมีรัฐบาลที่มาจาก “ผู้แทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง” มาแทนที่ “รัฐบาล”ที่มาจากการรัฐประหาร ในอนาคตข้างหน้าไม่นานนัก
       แต่ในด้านการปฏิรูปทางการเมือง ผู้เขียนเห็นว่า ดูจะไม่มีความหมายมากนัก เพราะการปฏิรูปการเมืองขึ้นอยู่กับ “สาระ”ของ(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มิได้ขึ้นอยู่กับงานมหกรรม / การประกาศปฏิญญา / การเดินรณรงค์ / หรือ การกล่าวคำปฏิญญาณ
       แต่ดูเหมือนว่า ทั้งรัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ได้ให้ความสนใจว่า (ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ (สภาร่างรัฐธรรมนูญ – นานาอาชีพ)เขียนมาให้นั้น จะมีโครงสร้าง form of government (ระบบสถาบันการเมือง)ที่สามารถจะแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเมืองของประเทศไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต ได้หรือไม่ ; และนอกจากนั้น งานมหกรรมฯ / ประกาศปฏิญญาฯ / และการเดินรณรงค์ ฯลฯ ก็ไม่ใช่เป็นกิจกรรมที่จะให้ “ความรู้”ที่ให้แก่สังคมไทย
       
       ผู้เขียนไม่คิดว่า “ภาระหน้าที่หลัก”ของรัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติที่เสี่ยงชีวิตทำการรัฐประหารมา จะได้แก่การจัด “งาน event”เพื่อให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิออกเสียง(ในการลงประชามติ) “เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ”ในร่างรัฐธรรมนูญ โดย ที่รัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติยังไม่แน่ใจว่า(ร่าง)รัฐธรรมนูญใหม่จะแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเมืองในอนาคตได้หรือไม่
       
       เรา (คนไทย) ยอมให้มี “การรัฐประหาร” เพื่ออะไร ; แน่นอนว่า การที่เรา(คนไทย)ยอมรับ “การรัฐประหาร”ของคณะปฏิรูปการปกครองฯ ก็เพราะการรัฐประหาร เป็นวิธีการเดียวเท่านั้นที่จะสามารถ “หยุด”การทุจริดคอร์รัปชั่น(ที่ถึงกับขายทรัพย์สินของสาธารณะให้แก่ต่างชาติ) อันเนื่องมาจากระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ได้ เพราะโดยความเป็นจริงในทางพฤติกรรมแล้ว นักการเมืองที่เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ ย่อมจะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐)ที่ให้อำนาจ(ผูกขาด)แก่พรรคการเมืองของตนเอง
       
       แต่ ผู้เขียนคิดว่า เรา(คนไทย)คงมิได้ต้องการเพียงเท่านั้น(ยกเลิก รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐) และนำตัวผู้ที่ทำการทุจริตคอร์รัปชั่นและทำความเสียหายแก่ชาติมาลงโทษเท่านั้น แต่เรา(คนไทย)คงต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองผูกขาดอำนาจจะไม่กลับเข้ามาอีก และ ต้องไม่เป็นระบบเผด็จการโดยทหารหรือโดยกลุ่มบุคคลอื่นใด และในขณะเดียวกัน ผู้เขียนก็คิดว่า เรา(คนไทย)ต้องการให้ “ระบบการเมืองในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”ของเรา เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพ พอที่จะแข่งขันในโลกในยุคโลกาภิวัตน์ได้ (ซึ่งเป็นจุดหมายของการเขียนรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ -constitutionalism ในยุค ศตวรรษ ที่ ๒๐)
       ผู้เขียนเห็นว่า ข้อนี้ เป็นภาระหน้าที่และเป็นความรับผิดชอบ ของ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”ที่ได้ทำการรัฐประหาร ซึ่งจะต้องทำให้สำเร็จและต้องอธิบายให้คนไทยเข้าใจ (ให้ได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม อย่างไร) เพื่อที่ประชาชนจะได้ใช้สิทธิการออกเสียงประชามติ เลือกระหว่าง “รัฐธรรมนูญใหม่” กับ “รัฐธรรมนูญเก่า” (ซึ่งมิใช่การเลือกระหว่าง“รัฐธรรมนูญใหม่” กับ “รัฐธรรมนูญที่ไม่รู้จะเอาฉบับใดมาแก้” ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งวิธีการเลือกเช่นนี้ ถือได้ว่า เป็นการเอาเปรียบประชาชนผู้ใช้สิทธิออกเสียงประชามติ )
       ส่วนเมื่อคณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้ทำดีที่สุดแล้ว แต่สังคมไทย(คนส่วนใหญ่)จะไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเลือกเอารัฐธรรมนูญฉบับเก่าที่เต็มไปด้วยการทุจริดคอร์รัปชั่นของพรรคการเมืองที่เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐใน “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ก็คงต้องปล่อยเป็นไปตามนั้น และถือเป็น “โชคร้าย”ของประเทศ
       
       ดูเหมือนว่า ความเห็นของผู้เขียนจะไม่ตรงกับ”คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ”และนักวิชาการที่เขียน รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่กำหนดรูปแบบขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ(สภาร่างรัฐธรรมนูญ – นานาอาชีพ) โดยอ้างว่า เพื่อ “ความเป็นประชาธิปไตย” และดังนั้น เมื่อได้(ร่าง)รัฐธรรมนูญ(จากสภาร่างรัฐธรรมนูญ – นานาอาชีพ)มาอย่างไดแล้ว ก็ให้เป็นไปตามนั้น (เหมือนกับ “รัฐสภาของประเทศสารขันธ์”ในนิทานที่ ผู้เขียนเล่าไว้ใน ส่วนที่ (๑) ข้อ ๑.๑) ; ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับความเห็นที่ว่า ผู้ที่ทำการรัฐประหารมาแล้ว ควรจะมีภาระหน้าที่เพียงแต่การจัดงาน events หรือแต่งเพลง “ไป - ออกเสียงประชามติ” เพื่อชักชวนให้ผู้มีสิทธิออกเสียง(ในการออกเสียงประชามติ) ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่แม้แต่ตนเอง(ผู้ที่ทำการรัฐประหาร)ก็ไม่มั่นใจว่า(ร่าง)รัฐธรรมนุญฉบับใหม่จะแก้ไขวิกฤติการณ์ทางการเมืองในอนาคตได้หรือไม่ จนถีงกับต้องบอกกล่าวกับประชาชนว่า ขอให้ประชาชนไปช่วยพิจารณาแก้ไขภายหลัง เนื่องจากได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วว่า ประชาชน(จำนวนห้าหมื่นคน) มีสิทธิเข้าชื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้เอง
       สิ่งที่ผู้เขียนค่อนข้างแปลกใจและไม่เข้าใจ ก็คือ ในระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ได้มีนักวิชาการบางกลุ่มที่เรียกตนเองว่าเป็นนักประชาธิปไตย กล่าวตำหนิรัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อไม่ให้ออกมาพูด “ชี้นำ”ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ( และเท่าที่ผู้เขียนติดตามดู ก็ปรากฎว่า รัฐบาลและ คมช.ก็ดูจะคล้อยตาม) แต่เหตุการณ์กลับปรากฎว่า เมื่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วและมีข้อบกพร่อง นักวิชาการกลุ่มเดียวกันนี้ ก็ออกมาตำหนิรัฐบาลและคมช.ที่ปล่อยให้(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาไม่เป็นประชาธิปไตย (?) (?)
       
       สรุป เรา(คนไทย)จะทำอย่างไร เราจึงจะพ้น “วิกฤติการณ์ทางการเมือง”ในอนาคต (ในเมื่อ “ชนชั้นนำ”ของเรา ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ / นักประชาธิปไตย / นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง / หรือนักการเมือง(จำเป็น)ที่เข้ามารักษาการ ต่างก็อยู่ในสภาพเช่นนี้) ผู้เขียนก็ คิดว่า เรา(คนไทย)คงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากทำได้ เท่าที่ทำได้ คือ การหา”ความรู้”ให้แก่ตนเอง
       อนาคตของประเทศ อยู่ที่สังคม (คนส่วนใหญ่)จะต้องมีความรู้ และเข้าใจความเป็นจริง – reality ของกลไกการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อที่สังคม (คนส่วนใหญ่)จะได้ไม่ตกเป็น “เครื่องมือ”ของนักการเมืองที่(อาศัยการเลือกตั้งในสภาพของสังคมที่อ่อนแอ) เข้ามาแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวและทำการทุจริคอร์รัปชั่น โดยอ้าง “ความเป็นประชาธิปไตย” และในขณะเดียวกัน จะต้องไม่ตกเป็น”เครื่องมือ”ของนักการเมืองที่(อาศัยการรัฐประหาร)เข้ามาใช้อำนาจเพื่อหาประโยชน์ส่วนตัว
       “ความรู้”จะทำให้สังคม(คนส่วนใหญ่) รู้เท่าทัน”ชนชั้นนำ”ของเราเอง และ จะไม่หลงเชื่อในสิ่งที่ถูกบอกให้เชื่อ
       ตัวอย่างเช่น เมื่อ เรา(คนไทย)ได้รับรู้แล้วว่า นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งสามารถคอร์รัปชั่นได้ (และสามารถคอร์รัปชั่นได้มากกว่าทหารที่ทำการ “รัฐประหาร”) ดังนั้น ถ้ามีชนชั้นนำกลุ่มใดมาแสดงการต่อต้านรัฐประหารหรือขับไล่เผด็จการทหาร (เพียงด้านเดียว) โดยไม่พูดถึงการเผด็จการพลเรือนโดยพรรคการเมืองและไม่พูดถึงการคอร์รัปชั่นโดยนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง) ย่อมเป็นที่เชื่อได้ว่า ชนชั้นนำกลุ่มนั้น เป็นบุคคลที่ไม่สุจริต และไม่ใช่ “คนที่ปรารถนาดี”ต่อชาติ
       หรือ ตัวอย่างเช่น ถ้ารัฐบาลชั่วคราวหรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติไม่ทำในสิ่งที่ควรจะต้องทำ หรือทำในสิ่งที่อธิบาย(ต่อสาธารณะ)ไม่ได้ ย่อมเป็นที่เชื่อได้ว่า บุคคลในรัฐบาลหรือในคณะมนตรีความมั่นคงนั้น ไม่ได้กระทำการเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และอาจมีประโยชน์ส่วนตัว (hidden agenda)ที่เราไม่ทราบ แอบแฝงอยู่
       
       ผู้เขียนเชื่อว่า ในขณะที่ท่านผู้อ่านได้อ่าน“สรุปความเห็นฯ”ของผู้เขียนที่เป็นการวิเคราะห์(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในตอนนี้ ท่านผู้อ่านคงจะได้ทราบ “ผล”ของการออกเสียงประชามติในวันที่ ๑๙ สิงหาคมที่ผ่านมาแล้ว และไม่ว่าผลของการลงประชามติจะออกมาเป็นประการใด ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ (พ.ศ. ๒๕๕๐)จะได้รับความเห็นชอบหรือไม่ก็ตาม ท่านผู้อ่านก็อาจนำข้อสังเกตของผู้เขียนในตอนที่ (๑) นี้ ไปพิจารณาลอง “คาดคะเน” อนาคตของประเทศไทยดูได้ ว่า ในช่วงเวลาอีก ๒-๓ ปีข้างหน้านี้ เหตุการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย จะเป็นอย่างไร
       
       ต่อจากนี้ไป จะเป็น ตอนที่ (๒) ของส่วนที่ ๒ ว่าด้วย “กรณีศึกษา – case study ฯ” ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ซึ่งผู้เขียนเขียนขึ้นโดยสมมติว่า ถ้าการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒ (รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ )นี้ ประสพความล้มเหลว และมีเหตุการณ์จำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๓ ผู้เขียนจะเขียน “เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ" อย่างไร
       
       อ่านต่อ
       
       หน้า 12
       หน้า 13
       หน้า 14
       หน้า 15
       หน้า 16
       หน้า 17
       หน้า 18
        หน้า 19
       หน้า 20
       หน้า 21
       หน้า 22
       หน้า 23
        หน้า24
       หน้า 25
        หน้า26
       หน้า 27
        หน้า28
       หน้า 29


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544