สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า ๒๘) |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
(ข) elite ประเภทที่ (๒) นักวิชาการในวงการทางกฎหมายของไทย : elite กลุ่มสอง ที่ต้องรับผิดชอบในความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่สอง (พ.ศ. ๒๕๕๐) ก็คือ นักกฎหมายของประเทศไทย ซึ่งคงไม่ใช่จำกัดเฉพาะแต่ นักกฎหมายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ เท่านั้น แต่หมายถึงสภาพโดยรวมของนักกฎหมายไทย
ผู้เขียนขอเรียนว่า ผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์(ของต่างประเทศ) มักจะวิเคราะห์ ความเจริญและความล้มเหลวของประเทศ โดยพิจารณาจาก สภาพและบทบาท ของ ชนชั้นนำ (elite) ในสังคมของประเทศ เพราะชนชั้นนำของประเทศเป็น พลังขับเคลื่อนของสังคม โดยรวม
ในบทความที่ผ่านมา ผุ้เขียนได้กล่าวถึง การวิเคราะห์ เหตุการณ์รุนแรงของประเทศฝรั่งเศสในปลายศตวรรษที่ ๑๘ ที่ผู้เชียวชาญทางประวัติศาสตร์ของเขาอธิบายไว้ว่า เกิดมาจากพฤติกรรมของ elite (ของฝรั่งเศส) ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มตุลาการ หรือผู้พิพากษา ที่เรียกว่า parlementaire ของศาล parlement ซึ่งเป็นระบบศาลที่ผูกขาดอำนาจชี้ขาดคดีทั่วประเทศของฝรั่งเศสอยู่ในขณะนั้น โดยศาล parlement จะยอมรับและบังคับใช้ กฎหมายของรัฐเฉพาะกฎหมายที่พวกตนลงทะเบียนไว้เท่านั้น ; กลุ่มตุลาการ parlementaire ไม่ยอม(ลงทะเบียน)รับ กฎหมายที่รัฐบาลของกษัตริย์ฝรั่งเศสตราขึ้นเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ เพราะเป็นกฎหมายที่ตนเองและพรรคพวกเสียประโยชน์ ประเทศฝรั่งเศสจึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จนเหตุการณ์รุกลาม ฯลฯ กับ elite อีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มนักวิชาการ ที่ทำตัวเป็นนักปราชญ์ the philosophes ที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพของเอกชน แต่ไม่สนใจและไม่รับรู้ว่าสังคมจะแก้ปัญหาและบริหารประเทศไปได้อย่างไร
ผู้เขียนคิดว่า เรา (ท่านผู้อ่านและผู้เขียน) ลองมาทดลอง วิเคราะห์ สภาพ ปัญหาการเมืองของประเทศไทย บนพื้นฐานของสภาพและบทบาท ของ elite ชนชั้นนำในสังคมไทยของเราในปัจจุบัน ดูบ้าง เพื่อที่จะได้คาดคะเนดูว่า อนาคตของประเทศไทย(อันไม่ไกลนัก) จะเป็นอย่างไร ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์
ใน ข้อ (ก) ที่แล้วมา ผู้เขียนได้วิเคราะห์บทบาทของชนชั้นนำ ประเภท นักการเมืองจำเป็น ที่เข้ามาบริหารประเทศด้วยการรัฐประหาร ซึ่งเป็นเพียงการวิเคราะห์เฉพาะกิจ ที่สืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เท่านั้น โดยผู้เขียนมีความเห็นว่า หลังจากที่ นักการเมืองจำเป็นคณะนี้ได้อาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาความเสื่อมของการบริหารราชการแผ่นดิน( ที่เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมโหฬาร ในช่วง ๕ - ๖ ปีที่แล้วมาในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๔ พ.ศ. ๒๕๔๙) ซึ่งปรากฎว่า หลังจากที่นักการเมืองจำเป็นได้ใช้เวลา ไปประมาณ ๑ ปี ๓ เดือน นักการเมืองจำเป็น ก็ประสบความล้มเหลวอย่างบูรณาการ เพราะขาด ความรู้และ ความเสียสละ
ต่อไปนี้ ในข้อ (ข) (ค) และ (ง) ผู้เขียนจะได้นำ สภาพและบทบาทของ elite กลุ่มที่เป็นพื้นฐานของสังคมไทย ๓ ประเภท ( ได้แก่ นักกฎหมาย / นายทุนธุรกิจ ( นักเลือกตั้ง) / นักวิชาการประเภท the philosophes) มาลองวิเคราะห์อย่างรวบรัดสั้น ๆ ( เท่าที่จะทำได้ ) เพื่อศึกษาถึง พฤติกรรมและ ความรู้ ของกลุ่ม elite ชนชั้นนำที่เป็นพื้นฐานของสังคม ของเรา ; โดยจะเริ่มต้นที่ elite ประเภทที่เป็น นักกฎหมายก่อน
ผู้เขียนมีความเห็นว่า การที่ประเทศไทยต้องตกอยู่ในสภาพการณ์ตามที่ปรากฏอยู่ ณ ขณะนี้(เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑) เป็นเพราะนักกฎหมายและนักวิชาการของเราเขียน(ออกแบบ)กฎหมายไม่เป็น และนักกฎหมายและนักวิชาการของเราไม่มี ความรู้พอ ที่พาคนไทยออกจากวงจรแห่งความเสื่อม (vicious circle)ได้ และได้กลายเป็น เครื่องมือของนักธุรกิจนายทุนที่รวมทุนกันตั้งพรรคการเมือง เข้ามาแสวงหาประโยชน์ ใน ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ) ตามรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๓๔ (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๓๕) , รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ และ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐
ในการศึกษาถึง พฤติกรรม และ ความรู้ ของนักกฎหมาย ผู้เขียนขอแยกนักกฎหมายออกเป็น ๒ จำพวก คือ นักกฎหมายทั่วไป จำพวกหนึ่ง และ นักกฎหมายรัฐธรรมนูญ(ในฐานะ ผู้เชี่ยวชาญ) รวมทั้งนักกฎหมายที่คิดว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ อีกจำพวกหนึ่ง
(๑) นักกฎหมายทั่วไป :
ผู้เขียนคิดว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่แปลก คือ เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิชาการอื่น ๆอย่างมากมาย เช่น การแพทย์ วิศวกรรม สถาปัตย์กรรม เศรษฐศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ฯลฯ และทำให้เรา (คนไทย)เชื่อว่า เราก็มีความก้าวหน้าทาง กฎหมาย เช่นเดียวกับวิชาการด้านอื่น ๆ
ถ้าผู้เขียนจะบอกว่า ประเทศไทย (ที่มีคนไทย ๖๓ ล้านคนเศษ) เป็นประเทศล้าหลังในวิชากฎหมาย (ซึ่งบางที อาจจะถึงประมาณ ๑๐๐ ปี) ผู้เขียนก็เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะตกใจว่าเป็นไปได้อย่างไร ก็ในเมื่อบ้านเมืองเราเต็มไปด้วยนักกฎหมายมากมาย ; และนอกจากนั้น ก็คงจะมีนักกฎหมายและนักวิชาการจำนวนมากออกมาโต้แย้งว่า ผู้เขียนพูดไม่จริง เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ประเทศไทยจะล้าหลังได้ถึงขนาดนั้น ในเมื่อประเทศไทยมีผู้ที่ศึกษากฎหมายและจบ ปริญญาเอกทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของต่างประเทศ เป็นจำนวนมาก และจบสูงกว่าผู้เขียนเสียอีก และนอกจากนั้น ประเทศไทยก็มี บทกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารประเทศมากมาย ประเทศอื่นมีบทกฎหมายอะไร เราก็มีบทกฎหมายนั้น ๆ
ปัญหาจึงมีอยู่ว่า ผู้เขียนจะพิสูจน์หรือมีวิธีพิสูจน์ ให้ท่านผู้อ่าน เห็นได้อย่างไร
ผู้เขียนคงจะไม่พิสูจน์และ(ไม่)ให้ความเห็นของผู้เขียนว่า นักกฎหมายไทยล้าหลังเพียงใด แต่ผู้เขียนจะขอกำหนด ประเด็น ให้เป็นข้อพิจารณา และจะขอให้ท่านผู้อ่านไปช่วยพิจารณา ชั่งน้ำหนักและมีความเห็นด้วยตัวของท่านเอง และในตอนสุดท้ายของหัวข้อนี้ ผู้เขียนจะเก็บรวบรวม ข้อเท็จจริง (ที่เป็น ปัญหากฎหมายที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน ที่แสดงให้เห็นถึง สภาพของนักกฎหมายของเรา ณ ขณะนี้ - พ.ศ. ๒๕๕๑) ที่สำคัญ ๆมา บันทึกไว้ในบทความนี้ เพื่อให้ท่านผุ้อ่านมีเวลานำไป คิดต่อไป
และถ้าท่านผู้อ่านอยากจะทราบอย่างเคร่า ๆว่า นักกฎหมายไทย ล้าหลังจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ย้อนหลังไปไกลสักเพียงใด ก็ขอให้ท่านผู้อ่านก็ลองคำนวณดูว่า กว่าที่ประเทศไทยของเราจะเต็มไปด้วย นักกฎหมายประเภทศรีธนญชัย และนักกฎหมายประเภทนิติบริกร เรา (ประเทศไทย)ได้ใช้เวลาสะสมมานานแล้วสักกี่สิบปี ; การที่ประเทศไทยของเราเต็มไปด้วย นักกฎหมายประเภทศรีธนญชัยและนักกฎหมายประเภทนิติบริกรมานานเท่าใด ก็แสดงว่าประเทศไทยได้ละเลยและไม่สนใจใน วิชากฎหมายมานานเท่านั้น
(๑.๑) คำว่า นักกฎหมายที่ได้รับ ปริญญา(บัตร) กับ คำว่า นักกฎหมายที่มี ความรู้ มีความหมายไม่เหมือนกัน
เพื่อที่จะตอบคำถามที่ว่า ทำไม ผู้เขียนจึงกล่าวว่า ประเทศไทยล้าหลังในวิชากฎหมาย ( ซึ่งอาจจะกว่า ๑๐๐ ปี) ในขณะที่ท่านผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับผู้เขียน เห็นว่า ประเทศไทยมีนักกฎหมายที่ได้รับ ปริญญาจำนวนมาก
คำตอบจึงอยู่ที่ว่า นักกฎหมายที่ได้รับ ปริญญา(บัตร) มีความหมายไม่เหมือนกับ นักกฎหมายที่มีความรู้; ทั้งนี้ โดยผู้เขียนจะยังไม่พูดถึงความแตกต่าง ระหว่าง มาตรฐานของปริญญา(บัตร)ที่นักกฎหมาย(ไทย)ได้รับ จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยภายในประเทศ หรือมหาวิทยาลัยของต่างประเทศ (ไม่ว่าจะเป็นประเทศใกล้หรือไกลจากประเทศไทย) ที่ไม่เหมือนกัน ; โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านผู้อ่านคงทราบแล้วว่า มีข่าวปรากฏเป็นครั้งคราวว่า มหาวิทยาลัยของรัฐของเราบางแห่ง ได้ให้ ปริญญา (เอก) เพื่อประโยชน์ของบุคคลบางกลุ่ม (นักการเมือง) หรือเพื่อมุ่งหมายในการหารายได้(ให้อาจารย์ของมหาวิทยาลัย) จากการเก็บค่าหน่วยกิจปริญญาเอก มากกว่าที่ (มหาวิทยาลัย)จะคำนึงถึง มาตรฐานของปริญญาเอกของประเทศโดยรวม ; ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้ ล้วนแต่จะเป็น การเพิ่มเติม ปัญหาของสังคม(ไทย)ในอนาคต ให้มากขึ้น
ดังนั้น การที่ประเทศไทย มีผู้ที่เรียนจบ ปริญญา(เอก)ทางกฎหมาย (ไม่ว่าจากต่างประเทศหรือในประเทศไทย)เป็นจำนวนมากเท่าได จึงมิได้หมายความว่า ประเทศไทยจะมี นักกฎหมายที่เก่งกฎหมายเป็นจำนวนมาก (เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว)
การเรียนจบปริญญา(เอก) มีความหมาย เพียงว่า เรา(ประเทศไทย)มี ผู้ที่สอบได้ปริญญา(เอก) โดยสอบผ่านหลักสูตรและการทำวิทยานิพนธ์เฉพาะเรื่อง(ตามที่มหาวิทยาลัยต่างประเทศกำหนด) เป็นจำนวนมากเท่านั้น ; แต่ ความเก่งหรือ ความเชี่ยวชาญของนักกฎหมายนั้น ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลที่จบปริญญาเหล่านั้นว่า จะขวนขวายพัฒนาความรู้ของตนเองได้ดี เพียงใด (หลังจากที่จบการศึกษาแล้ว)
ท่านผู้อ่านคงต้องทบทวนปัญหานี้ด้วยการถามตัวท่านเอง เป็นคำถามต่อไป ว่า ในบรรดานักกฎหมายของเราที่สอบได้ปริญญา(เอก)จากต่างประเทศนั้น มีผู้ที่ขวนขวายพัฒนาความรู้ของตนเองเพิ่มเติมให้สูงขึ้น มีจำนวนมากน้อยเพียงใด สักกี่เปอร์เซ็นต์ของนักกฎหมายที่สอบได้ปริญญา(เอก)เหล่านั้น และลองเปรียบเทียบกับจำนวนนักกฎหมาย ที่อาศัยการมีปริญญาจากต่างประเทศเพื่อสร้างความเชื่อถือให้กับตนเอง (แต่ ไม่พัฒนาความรู้ของตนเอง) มีจำนวนมากน้อยเพียงใด
นอกจากนั้น แม้ว่านักกฎหมายที่จบปริญญา(บัตร) ไม่ว่าจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของต่างประเทศหรือจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย จะมีความตั้งใจที่จะพัฒนาตนเองมากเพียงใด แต่ความเก่งหรือความเชี่ยวชาญของนักกฎหมาย ก็ยังขึ้นอยู่กับ โอกาสในการเข้าถึงตำรา (ดี ๆ) ของประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขึ้นอยู่กับความรู้ในภาษาต่างประเทศเพื่อที่จะไปอ่านตำราของประเทศที่พัฒนาแล้ว ; ทั้งนี้เราต้องไม่ลืมว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่เป็นเอกราชมาโดยตลอด ดังนั้น นักกฎหมายของเราจึงมี จุดอ่อนในด้านภาษาต่างประเทศ ; และท่านผู้อ่านควรต้องทราบด้วยว่า ประเทศเพื่อนบ้านของเรา ที่ประชาชนของเขาไม่รู้ภาษาต่างประเทศของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีไต้ จีน ประเทศเหล่านี้ (เขา)มีโครงการแปลตำราของประเทศที่พัฒนาแล้ว(หลายประเทศ - หลายภาษา)อย่างเป็นล่ำเป็นสัน แต่ประเทศไทยไม่มี [หมายเหตุ ประเทศญี่ปุ่น มีโครงการแปลตำราต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ไม่ต่ำกว่า ๑๔๐ ปี]
ปัญหาต่อมา ก็คือ ท่านผู้อ่านและบุคคลภายนอกทั่ว ๆ ไป จะมีโอกาสทราบได้ อย่างไรว่า นักกฎหมายของเรามี ความรู้(จริง ๆ ) มากน้อย เพียงได ; ข้อที่ท่านผู้อ่านจะต้องพึงสังวรณ์ไว้ ก็คือ ความเก่งหรือ ความเชี่ยวชาญของนักกฎหมาย มิได้ขึ้นอยู่กับการดำรง ตำแหน่งในทางราชการของนักกฎหมาย และมิได้ขึ้นอยู่กับความคล่องแคล่วในการใช้ สำนวนโต้ตอบของนักกฎหมายในการโต้วาทีหรือการออก รายการอภิปรายปัญหากฎหมาย ทางวิทยุโทรทัศน์หรือสื่อมวลชน ; แต่ความเก่งหรือ ความเชี่ยวชาญของนักกฎหมาย จะแสดงออกให้เห็นได้จากความเห็น(ของนักกฎหมาย) ที่ปรากฏใน ผลงาน(เขียน)ของนักกฎหมาย ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถตรวจสอบและประเมินได้ ; ผลงาน(เขียน)เหล่านี้ ก็มีเป็นต้นว่า ตำรากฎหมายที่นักกฎหมายเขียน คำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของศาลที่เขียนโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการ บันทึกความเห็นทางกฎหมายของที่ปรึกษากฎหมาย หรือแม้แต่ร่างกฎหมายที่เขียน(ออกแบบ)โดยนักกฎหมาย
แต่ทั้งนี้ ในการที่จะประเมิน ความเก่งหรือความเชี่ยวชาญของนักกฎหมายได้ ก็คงต้องมีเงื่อนไขว่า ท่านผู้อ่านหรือบุคคลภายนอก(ที่จะประเมินความรู้ของนักกฎหมาย) จะต้องมีความรู้พื้นฐานพอที่จะประเมินความรู้ของนักกฎหมายเหล่านั้นได้ ; ถ้าไม่มี ก็คงต้องอาศัยนักวิชาการในมหาวิทยาลัยมาช่วยตรวจสอบ วิเคราะห์และประเมินให้ ตามที่จะปรากฏให้เห็นได้จากบทความในวารสาร(วิชาการ)ทางกฎหมายหรือในสื่อมวลชน ; แต่ถ้าประเทศของเรายังไม่มี นักวิชาการ(ในมหาวิทยาลัย)ประเภทนี้มากพอ หรือว่านักกฎหมาย(ที่จะถูกประเมิน)ดังกล่าว กลายเป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัยเสียเอง ก็คงต้องถือว่า เป็นความ โชคร้ายของประเทศไทย และแสดงว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่ด้อยพัฒนา ต่ำลงมาอีกระดับหนึ่ง
ทำไม ประเทศไทยของเราจึงเต็มไปด้วย นักกฎหมายประเภทศรีธนญชัย ; ในขณะนี้ ถ้าท่านผู้อ่านฟังข่าวหรือหยิบหนังสือพิมพ์ขึ้นมาอ่าน ท่านผู้อ่านคงพบว่า ประเทศไทยของเราเต็มไปด้วย ปัญหากฎหมาย และท่านผู้อ่านคงจะสับสนกับความเห็นทางกฎหมายของ นักกฎหมาย(และนักการเมือง)ของเรา ที่มีอยู่มากมาย ; และบรรดานักกฎหมาย(และนักการเมือง)ของเราเหล่านี้ ต่างคนต่างก็อ้างเหตุผลของตนเอง จนเรา(คนไทย)ก็ไม่อาจทราบได้ว่า ความเห็นของนักกฎหมาย(และนักการเมือง)คนใด เป็นเหตุผลที่ถูกต้อง
เช่น ในขณะนี้ (เดือนมีนาคม - เมษายน ๒๕๕๑) เราก็จะพบว่า นักกฎหมาย(และนักการเมือง)ต่างคนต่างก็พูดว่า ตนแก้กฎหมาย(รัฐธรรมนูญ)เพื่อประโยชน์ของประชาชนหรือเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และไม่มีใครสักคนเดียวที่จะพูดว่าตนเองแก้กฎหมาย(รัฐธรรมนูญ)เพื่อประโยชน์ของตนเอง ; ปัญหามีว่า แล้วเรา(คนไทย) จะใช้ เกณฑ์อะไร มาวัดความถูกต้อง(ของคำพูด) ของนักกฎหมาย(และนักการเมือง)เหล่านี้
นอกจาก เหตุผลของนักกฎหมายแบบศรีธนญชัยแล้ว ในปัจจุบันนี้ เหตุผลที่เรามักจะได้ยินกันบ่อย ๆ จาก นักกฎหมายและนักวิชาการของเรา ที่นำมา อ้างเพื่อยืนยันความถูกต้องในความเห็น(ของตน) อีกประหนึ่ง ก็คือ เพื่อความเป็นประชาธิปไตย หรือ เพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งทำให้เรา(คนไทย)คล้อยตามและเชื่อไปด้วยว่า ถ้าหากมีการเลือกตั้งเพื่อความเป็นประชาธิปไตยแล้ว หรือถ้าหากประชาชนได้มีส่วนร่วมแล้ว การกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ ถูกต้อง
และในทางปฎิบัติ เราก็จะพบว่า นักการเมืองของเรา ก็จะจัดตั้ง กลุ่มมวลชน(ไม่ว่าจะจ้างมาหรือไม่จ้าง) เพื่อให้ กลุ่มมวลชนมาชุมนุมเรียกร้องและแสดงความเห็นสนับสนุนความเห็นของนักการเมือง เพื่อที่ตนเอง(นักการเมือง)จะได้อ้างว่า ตนเองมี ความถูกต้องตามหลักการของความเป็นประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชน
ดูเหมือนว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลก ที่มีสภาพเช่นนี้ ; ผู้เขียนไม่เคยพบสถานการณ์เช่นนี้ในสังคมของ ประเทศที่พัฒนาแล้ว
แนวความคิดในเรื่อง ความเป็นประชาธิปไตย (หลักการแบ่งแยกอำนาจหรือการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งผู้แทน) ของ Montesquieu , Hobbes, และของนักปราชญ์อื่น ๆ เมื่อ ๓๐๐ ปีก่อน นั้น เป็น แนวความคิด concept ที่ถูกนำมาใช้ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้มี สภาผู้แทนราษฎร และในปัจจุบันนี้ (ต้นศตวรรษที่ ๒๑) วิวัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองดังกล่าว ได้จบสิ้นไปนานแล้ว
ปัจจุบันนี้ ปัญหาของระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยในยุคศตวรรษที่ ๒๐ ๒๑ เป็นปัญหาใหม่ คือ เป็นปัญหาของการทุจริตคอร์รัปชั่นของ นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ในระบอบประชาธิปไตย ที่อาศัยความบกพร่องของรูปแบบของการปกครอง form of governmentตามรัฐธรรมนูญ และอาศัย ความอ่อนแอและความหลากหลายของ สภาพสังคมในการเลือกตั้ง เพื่อเข้ามาใช้อำนาจรัฐในการทุจริตและแสวงหาประโยชน์ให้ตนเอง
ในช่วง ๒๐๐ ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่กลาง ศตวรรษที่ ๑๙) จนถึงปัจจุบัน( ต้นศตวรรษ ที่ ๒๑) ทฤษฎีกฎหมาย(นิติปรัชญา) / แนวความคิดในการพัฒนารูปแบบของการปกครอง form of government / การเขียน(ออกแบบ) กฎหมายที่เป็นระบบบริหารพื้นฐานของประเทศ (ของประเทศที่พัฒนาแล้ว) ได้พัฒนาไปไกล และไกลมากจนนักกฎหมายและนักวิชาการของเรา(ประเทศไทย)ตามไม่ทัน
การมีส่วนร่วมของประชาชน ในปัจจุบัน เป็นวิธีการอย่างหนึ่ง ที่ใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งเหตุผลที่จะทำให้การบริหารประเทศ เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมให้มากที่สุด ; แต่ การมีส่วนร่วมของประชาชน มิไช่ เป็นเหตุผลในตัวของมันเอง ; และ เช่นเดียวกัน การที่ การมีส่วนร่วมของประชาขนกลุ่มหนึ่งที่มีจำนวนมวลชน (ไม่ว่าจะจ้างมาหรือไม่จ้างมา) มากกว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง ก็มิได้หมายความว่า ประชาชนกลุ่มที่มีจำนวนมวลชนมากกว่า จะมีเหตุผลที่ดีกว่า ประชาชนกลุ่มที่มีจำนวนน้อยกว่า ทั้งนี้ เพราะความถูกต้องของเหตุผลขึ้นอยู่กับทความเป็นจริงในทางวิชาการ และ ขึ้นอยู่กับ คุณภาพ(พฤติกรรม)และ ความรู้ของประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วม
ทำอย่างไร จึงจะทำให้ นักกฎหมายของเรา ไม่เป็น นักกฎหมายแบบศรีธนญชัย (หรือเป็นลูกหลานของศรีธนญชัย) และทำอย่างไร นักกฎหมาย (และนักวิชาการ)ของเรา จึงจะพ้นจากการหลงวกวน อยู่กับ แนวความคิด เพื่อความเป็นประชาธิปไตย เมื่อ ๓๐๐ ปีก่อน
หลักการทางวิชาการในปัจจุบัน เขาใช้อะไร มาเป็น เกณฑ์วัดความถูกต้อง(ของเหตุผล)ของนักกฎหมาย(หรือของนักการเมือง) ซึ่งมิใช่เป็นการวัดด้วยจำนวนหัวของมวลชนที่มาชุมนุมกัน ไม่ว่ามวลชนเหล่านั้นจะถูกจ้างมาหรือไม่ ; และมิใช่ว่า ใครคอร์รัปชั่นไว้ได้มาก ก็มีเงินมาก และจ้างมวลชนได้มาก
ผู้เขียนเห็นว่า ก่อนที่นักกฎหมายของเรา จะ คิดแก้ปัญหาความเสื่อมของการบริหารประเทศ และก่อนที่จะหา ความรู้จากกฎหมายมหาชน เพื่อนำมาแก้ปัญหาดังกล่าว (ซึ่งต้องใช้เวลา) ผู้เขียนคิดว่า นักกฎหมายของเรา คงจะต้องเริ่มต้นด้วยการตรวจสอบ วิธีคิดของตนเองเสียก่อน เพราะ วิธีคิดเป็นงื่อนไขขั้นต้นของการหา ความรู้ ; และวิชาที่สอนวิธีคิด(ทางกฎหมาย)ให้แก่เรา ก็คือ นิติปรัชญา ปรัชญาทางกฎหมาย นั่นเอง ; วิชานิติปรัชญาสอนให้เรารู้ว่า ในโลกปัจจุบัน เขาใช้ เกณฑ์อะไร มาวัดความถูกต้องของเหตุผลของนักกฎหมาย(และนักการเมือง)
ท่านผู้อ่านที่เป็นนักกฎหมายหรือนักวิชาการ ลองทดสอบถามตัวท่านเองดูก็ได้ว่า ท่านรู้หรือไม่ว่า แนวความคิดของนิติปรัชญาในยุคศตวรรษที่ ๒๐ ๒๑ มีอย่างไร ทั้งนี้โดยท่านผู้อ่านไม่จำเป็นต้องบอก ชื่อของนักปราชญ์เหล่านี้ก็ได้ เพราะบางทีชื่อเหล่านี้ก็เรียกยากและยากที่จะจำ ; แต่แน่นอน นักปราชญ์เหล่านี้ คงไม่ใช่ชื่อ Montesquieu , Rousseau, Hobbes , etc.ที่เรารู้ ๆ กันอยู่ )
การที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ประเทศไทยล้าหลังในวิชากฎหมาย ซึ่งอาจจะกว่า ๑๐๐ ปี ซึ่งตามความจริงแล้ว ผู้เขียนกำหนดระยะเวลานี้ จากการพิจารณาดู ความสนใจในวิชานิติปรัชญาของนักกฎหมายและนักวิชาการของเรา นี้เอง ; และระยะเวลาที่ถูกต้องของความล้าหลังของนักกฎหมายไทย น่าจะเป็นประมาณสัก ๑๕๐ ปี ทั้งนี้ โดย ผู้เขียนพิจารณาดูจาก แนวความคิด conceptของนักกฎหมายที่มาช่วยยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๙ ให้แก่คณะปฎิรูปการปกครองฯ (ที่ทำการรัฐประหาร เมื่อวันที่ ๑๙ กันยนยน พ.ศ. ๒๕๔๙) และ พิจารณาดูจากเอกสาร คำชี้แจงสาระสำคัญ ของร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่เขียนโดย คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วย elite (นักกฎหมายและนักวิชาการ) ของสังคมไทยในปัจจุบันจำนวนมาก (โปรดย้อนไปดูการวิเคราะห์เอกสารเหล่านี้ จากบทความนี้ในตอนต้น)
ผู้เขียนมีความเห็นว่า แนวความคิดพื้นฐานของนักกฎหมายและนักวิชาการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ (รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ และรัฐธรรมนูญถาวรฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐) ยังอยู่ภายไต้ หลักการของความเป็นประชาธิปไตย ตั้งแต่สมัยของ Montesquieu etc.เมื่อ ๓๐๐ ปีก่อน และนักกฎหมายและนักวิชาการของเราในปัจจุบัน ยังไม่มีการรับรู้ หลักการของ นิติปรัชญา ในยุคศตวรรษ ที่ ๒๐(ที่เริ่มต้น ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ ๑๙)
(๑.๒) ความรู้ กับ พฤติกรรม (ของนักกฎหมาย) เป็นของ ๒ สิ่งที่ ไม่เหมือนกัน
ผู้เขียนเห็นว่า การทำการวิเคราะห์หรือการวิจารณ์ ความขัดแย้งหรือ ความแตกต่างในความคิดเห็น (ทางกฎหมาย) ในเรื่องต่าง ๆ ที่ปรากฏให้เห็นในหน้าสื่อมวลชน (เป็นประจำวัน) เป็น รายกรณี - case by case) ไปนั้น ย่อมไม่สามารถแสดงให้เห็น สภาพพิกลพิการทางกฎหมายของสังคม(ไทย)ในภาพรวมได้
ในหลาย ๆ กรณี จะเห็นได้ว่า ความขัดแย้งและความเห็น(ทางกฎหมาย)ที่แตกต่างกันนั้น เป็นความขัดแย้ง ในระหว่าง บุคคล (ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือนักวิชาการ) ที่ แก่งแย่ง ผลประโยชน์ในระหว่างกันเอง หรือ แย่งอำนาจด้วยกันเอง และต่างฝ่ายต่างพยายามบิดเบือน เหตุผลให้เข้าข้างตนเอง ดังนั้น การพยายามที่จะหา เหตุผลหรือกำหนดว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดและฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูกเป็นรายกรณี (case be case) จึงเป็นการมอง ปัญหาที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง reality เพราะว่า แม้ว่า ทั้งสองฝ่ายจะมีความเห็นทางกฎหมายที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองฝ่ายก็มี พฤติกรรมที่เหมือนกัน คือ ความเห็นแก่ตัว ; และดังนั้น การกำหนดว่าฝ่ายใดผิดและ ฝ่ายใดถูก จึงไม่ใช่ แนวทาง ที่จะนำไปสู่ การแก้ปัญหาความเสื่อมในการบริหารประเทศ
การขัดแย้งหรือการมีความเห็น(ทางกฎหมาย)แตกต่างกัน ในหลาย ๆ กรณี มิได้เกิดจาก ความรู้หรือความไม่รู้(กฎหมาย)ของนักกฎหมาย แต่เกิดจาก พฤติกรรมของนักกฎหมาย(และนักการเมือง)ที่ต่างฝ่ายต่างเห็นแก่ตัว และมุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตัว ; ความรู้กับพฤติกรรม ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ; ในข้อที่ (๑.๑) เราได้พูดถึง ความรู้ของนักกฎหมายและนักวิชาการของเรามาแล้ว ดังนั้น ในข้อที่ (๑.๒) เราจะมาพิจารณาถึง พฤติกรรม หรือคุณภาพของนักกฎหมายและนักวิชาการ
ความแตกต่างระหว่าง ความรู้ กับ ความดี ; ความรู้เป็นสิ่งที่แสวงหามาได้จากการศึกษาและการเรียนรู้ แต่ ความดีเป็นพฤติกรรมทางสังคมวิทยา -sociology ที่เป็นลักษณะธรรมชาติของคน ; พฤติกรรมของคน(มนุษย์) มีทั้งด้านดีและด้านเลว ; ด้านดีก็มี เช่น ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ฯลฯ หรือ ด้านไม่ดี(เลว)ก็มี เช่น การทุจริตคอร์รัปชั่นฉ้อโกง ความอกตัญญู ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ฯลฯ ; ความรู้กับความดี เป็นของสองสิ่งที่แตกต่างกัน ; คนที่มีความรู้ อาจเป็น คนดีก็ได้หรือเป็น คนไม่ดีก็ได้ และเช่นเดียวกัน คนที่ไม่มีความรู้ อาจเป็นคนดีก็ได้หรือเป็นคนไม่ดีก็ได้ ; หรือจะพูดในทางกลับกันก็ได้ว่า คนดี อาจเป็นคนที่มีความรู้ก็ได้ หรือเป็นคนที่ไม่มีความรู้ก็ได้ และ คนไม่ดี อาจเป็นคนที่มีความรู้ก็ได้ หรือเป็นคนที่ไม่มีความรู้ก็ได้
ดังนั้น แม้ว่า จะสมมติว่า ประเทศไทยเรามีนักกฎหมายที่มีความรู้ที่เก่งและเชี่ยวชาญ (กฎหมาย) จำนวนมาก (ซึ่งความจริง ไม่มี) แต่ก็มิได้หมายความว่า นักกฎหมายนั้นจะเป็น คนดีเสมอไป นักกฎหมายจะเป็นคนดีหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของนักกฎหมาย ดังนี้ การที่ประเทศไทยเราเต็มไปด้วย นักกฎหมายประเภทศรีธนญชัยหรือนิติบริกร จึงเป็นปัญหาทั้งในด้านความรู้(การศึกษา) และปัญหาในด้านสังคมวิทยา(พฤติกรรม)
กฎหมายมหาชน คือ อะไร กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายแห่งยุคปัจจุบัน ที่สอนให้เรานำ กฎหมายมาใช้ เพื่อประโยชน์ในวางกฎเกณฑ์ของสังคมเพื่อการอยู่ร่วมกัน - social control ; และ กฎหมายมหาชน เป็นวิชาการที่อยู่บนพื้นฐานของสังคมวิทยา ซึ่งหมายความว่า ในการเขียน(ออกแบบ)กฎหมายก็ดี และในการนำกฎหมายมาใช้ (the application of laws)ก็ดี จำเป็นจะต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริง - facts ทางสังคมวิทยา (พฤติกรรมของคน มนุษย์) ; ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า สภาพทางสังคมวิทยาในแต่ละประเทศ ย่อมแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นสภาพของชุมชนโดยทั่วไป และสภาพ(พฤติกรรม)ของ ชนชั้นนำ elite ของชุมชน ซึ่งเป็นพลังผลักดันสังคม
ในการไปบรรยาย ณ ที่หลาย ๆ แห่ง เพื่อที่จะ ทำ ความเข้าใจกับความหมายและขอบเขตของ กฎหมายมหาชนให้กับท่านผู้ที่มาฟังการบรรยายของผู้เขียน ผู้เขียนจะมี ตัวอย่างอยู่ ๒-๓ ตัวอย่างสำหรับเล่าให้ท่านที่มาฟังการบรรยายฟัง ; ซึ่งเป็น ตัวอย่างที่ผู้เขียนใช้สำหรับแนะนำให้ผู้ที่มาฟังการบรรยายของผู้เขียนมองเห็นความสำคัญของ สังคมวิทยาในกฎหมายมหาชน และเป็นตัวอย่างเพื่อตรวจสอบดูว่า ท่านผู้ที่ฟังการบรรยาย ฯ ได้คิดถึง กฎหมายมหาชนจากด้านสังคมวิทยา มากน้อยเพียงใด
ผู้เขียนขออนุญาตนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านไว้ในบทความนี้สำหรับคิดเล่นๆ อีกครั้งหนี่ง ซึ่งท่านผู้อ่านบางท่านอาจได้ฟังจากผู้เขียนมาแล้วหลายครั้ง ; และสำหรับท่านผู้อ่านที่ยังไม่เคยฟัง ตัวอย่างเหล่านี้ ก็อาจทดสอบความคิดของท่านเองก็ได้ว่า ในการพิจารณาสภาพการเมืองของเราในปัจจุบันนี้ ท่านได้คำนึงถึงและวิเคราะห์สภาพทางสังคมวิทยา ของสังคมไทย มากน้อยเพียงใด
ตัวอย่างที่ (๑) ระบบสำคัญกว่าคน หรือ คนสำคัญกว่าระบบ : ในตัวอย่างนี้ ผุ้เขียนได้ยกตัวอย่างว่า ผู้เขียนมีความเห็นว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือในการวางระบบและควบคุมสังคม และดังนั้น ระบบจึงสำคัญกว่าคน ; แต่ในขณะที่ผู้เขียนกำลังพูดอยู่นี้ ได้มีผู้คัดค้านความเห็นของผู้เขียน โดยผู้ที่ค้าน มีความเห็นว่าคนสำคัญกว่าระบบ โดยให้เหตุผลว่า ถ้าคนเป็น คนดีแล้ว ระบบก็จะไม่มีความสำคัญอย่างใด ดังนี้ จึงควรเน้นที่การศึกษาศีลธรรม ฟังธรรม และ อบรมให้คนเป็นคนดี
ผู้เขียนได้ขอให้ท่านผู้ที่ฟังการบรรยาย ออกความเห็น(โดยยกมือ) ว่า ท่านผู้ฟัง ฯ เห็นด้วยกับความเห็นฝ่ายใด ระบบสำคัญกว่าคนหรือ คนสำคัญกว่าระบบ; ซึ่งปรากฎว่า จะมีท่านผู้ฟังให้ความเห็นมาทั้งสองด้าน
คำเฉลยที่ผู้เขียนบอกแก่ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยาย ก็คือ คำตอบทั้งสองด้าน เป็นคำตอบที่ผิดทั้งคู่ เพราะคำถามที่ผู้เขียนถามไปนั้น เป็นคำถามที่ลวง เพราะเป็น คำถามที่ไม่ได้พิจารณาจากความเป็นจริง - realityในทางสังคมวิทยา; เพราะถ้าได้คำนึงถึงความเป็นจริงในทางสังคมวิทยาแล้ว ก็จะพบคำตอบดังนี้ คือ ระบบสำคัญกว่าคน เพราะระบบเป็นกฎเกณฑ์สำหรับความควบคุม คนไม่ดี (ซึ่งจะมีเป็นจำนวนมาก) แต่ในขณะเดียวกัน คนสำคัญกว่าระบบ เพราะ คนเป็นผู้ที่สร้างระบบ ถ้าไม่มี คนมาสร้างระบบ ระบบก็เกิดขึ้นไม่ได้ และคนที่สร้างระบบนั้น ย่อมจะต้องเป็น คนดี(ซึ่งจะมีเป็นจำนวนน้อย)
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ในการตอบคำถามทั้งสองดังกล่าว ย่อมจะไม่สามารถตอบให้ถูกต้องได้เลย ไม่ว่าจะตอบในทางใด เว้นแต่ว่าในการตอบคำถามนั้น จะต้องตอบโดยระบุเงื่อนไขที่เป็นข้อสันนิษฐานทางสังคมวิทยาของคำตอบไว้ให้ชัดเจน
ต่อจากนั้น ผู้เขียนก็กล่าวถึงความสำคัญของ สังคมวิทยาในกฎหมายมหาชน โดยให้เป็นข้อสังเกตสำหรับท่านที่มาฟังการบรรยายของผู้เขียน ไว้ ๒ ประการ คือ ประการแรก นักกฎหมายมหาชนจะต้องรู้ว่า เหตุผลของผู้ที่คัดค้าน (ผู้เขียน) ที่กล่าวว่า ถ้าคนเป็นคนดีแล้ว ระบบก็ไม่มีความสำคัญอย่างใดนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไม่ได้เลย ; เพราะการที่จะทำให้ทุกคนในสังคมเป็นคนดี บำเพ็ญตนสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า และสละความโลภ โกรธ หลงได้โดยครบถ้วนทุกคน เป็นการ ขัดกับพฤติกรรมตามธรรมชาติของคน(มนุษย์) ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ; และในโลกเรานี้ คนเห็นแก่ตัวย่อมมีมากกว่า คนที่ไม่เห็นแก่ตัว เสมอไป ; และประการที่สอง ในสังคม(ไทย)ของเรา เรายากที่จะหา คนดีที่จะมาสร้างระบบ(ให้คนไทย) เพราะ คนดีที่จะมาสร้างระบบให้นั้น ย่อมหมายความอยู่ในตัวว่า คนดีนั้นย่อมต้องอยู่ในตำแหน่งที่มี อำนาจรัฐในการสร้างระบบอยู่แล้ว ; ดังนั้น การที่จะสร้างระบบให้คนไทย จึงเป็นการตัดอำนาจของตนเอง(ผู้ที่สร้างระบบ) ; การสร้างระบบ จึงต้องการความเสียสละและความไม่เห็นแก่ตัวของผู้ที่จะสร้างระบบ ซึ่งขัดกับพฤติกรรมตามธรรมชาติของ Elite ของสังคมไทย และด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยเราจึง ปฏิรูปการเมือง ไม่ได้
ในขณะนี้ (เดื่อนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑) การเมืองของประเทศกำลังจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๐) ; และไม่ว่าจะแก้ไขทั้งฉบับหรือแก้ไขบางมาตรา ผู้เขียนเห็นว่า เรา(คนไทย)จะได้มี โอกาสที่จะได้ รู้จักกับพฤติกรรมของนักการเมืองที่ผูกขาดอำนาจรัฐอยู่ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง นายทุนธุรกิจ )อีกครั้งหนึ่ง ; เพียงแต่ท่านผู้อ่านติดตามดูว่า นักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ของเรา จะให้ ใครเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ ท่านก็จะสามารถทราบถึง พฤติกรรมของนักการเมือง elite ของสังคมไทย ของเราได้
ตัวอย่างที่ (๒) ในตัวอย่างนี้ ผุ้เขียนได้ถามท่านผู้ที่ฟังการบรรยายของผู้เขียนว่า เรามักจะได้ยิน นักการเมืองและนักวิชาการของเรา พูดอยู่เสมอว่า ระบอบประชาธิปไตยของเราจะดีขึ้น ถ้าประชาชนมีการศึกษาสูงขึ้น เพราะประชาชนจะรู้จักเลือก คนดี ; ผู้เขียนถามท่านผู้ที่มาฟังการบรรยายว่า ท่านผู้ฟังเชื่อว่า สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ จริงหรือไม่
ผู้เขียนอธิบายว่า การศึกษาไม่ได้ทำให้คนเป็น คนดี เพราะ ความดีกับ ความรู้(จากการศึกษา) เป็นของสองสิ่งที่ไม่เหมือนกัน; การพูดเช่นนั้นของนักการเมืองหรือของนักวิชาการ เป็นการพูดที่ทำให้คนไทยหลงทาง (และพูดโดยไม่สุจริตใจ) ; ความเห็นแก่ตัวเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของคน(มนุษย์) ; และไม่ว่าคนเราจะมีการศึกษาสูงขึ้นหรือไม่ คนที่เห็นแก่ตัวก็ย่อมจะมีจำนวนมากกว่าคนที่ไม่เห็นแก่ตัวอยู่เสมอไป โดยไม่คำนึงว่า คนเหล่านั้น จะเป็นนักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ที่ได้รับเลือกตั้ง / หรือเป็นนักกฎหมาย / หรือเป็นประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
การศึกษาที่ดี อาจทำให้ ความเห็นแก่ตัวของคน(มนุษย์)ลดน้อยลง และมีการใช้เหตุผลในการตัดสินใจมากขึ้น แต่การศึกษาไม่อาจเปลี่ยนความคิดพื้นฐานตามธรรมชาติของมนุษย์ได้ และมนุษย์แต่ละคนมีความสำนึกในการต่อสู้เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ และนั่นคือ ความเห็นแก่ตัว
การศึกษาของประชาชน มิใช่เป็น เงื่อนไข ที่ทำให้นักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)นำมาอ้างว่า ตนควรมีอำนาจใน การผูกขาดการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญต่อไป จนกว่าประชาชนจะมีการศึกษาสูงขึ้น( เพื่อที่จะได้รู้จักเลือก คนดี) ; และ เช่นเดียวกัน การศึกษาของประชาชน ก็คงจะไม่ทำให้ นักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)เปลี่ยนพฤติกรรมของตน จากคนที่แสวงหาอำนาจและแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นจากทรัพยากรของชาติ กลายมาเป็น คนดี ที่ไม่ซื้อเสียงในการเลือกตั้ง และเป็นคนที่เสียสละ ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น(เมื่อมีโอกาส) และไม่แก้รัฐธรรมนูญเพื่อตนเอง
ผู้เขียนเห็นว่า การศึกษาของ ประชาชน ก็เป็นเรื่องการศึกษาของประชาชน ที่รัฐจะต้องให้การศึกษาแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ประกอบอาชีพและดำรงชีวิตอยู่ในสังคม ส่วนนักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ของเราเคยมีพฤติกรรมอย่างไร ก็คงจะมีพฤติกรรมอย่างนั้น และเรา(คนไทย)คงจะต้องแสวงหามาตรการและรูปแบบของกฎหมาย(รัฐธรรมนูญ)ที่มีประสิทธิภาพมาควบคุมพฤติกรรมของนักการเมือง นั่นก็คือ การปฏิรูปการเมือง ; ทั้งสองเรื่องนี้ ต้องพิจารณาแยกจากกัน และ ไม่ใช่ เหตุผลที่เกี่ยวเนื่องกัน
สิ่งที่เรา(คนไทย)ควรจะระลึกไว้ ก็คือ ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ได้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้
คำกล่าวนี้ เป็นตรรก (logic)ที่เป็นความจริงแท้ ที่ไม่มีกาลเวลา ; ปัญหาของเราคนไทย ก็คือ จะเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญอย่างไร จึงจะทำให้ คนดีได้เข้ามาปกครองบ้านเมือง และไม่ให้ คนไม่ดีมาก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้ ; และแน่นอน ต้องไม่ใช่ ระบอบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ ฉบับเดียวในโลก ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของไทย (พ.ศ. ๒๕๕๐) และ แน่นอนเช่นเคียวกัน โดยพฤติกรรมทางสังคมวิทยา คนไม่ดีที่มีอำนาจรัฐอยู่แล้ว ย่อมไม่แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้ คนดีได้เข้ามาปกครองบ้านเมือง
(๑.๓) วิธีคิด กับ การสอนวิชา นิติปรัชญา - legal philosophy ในมหาวิทยาลัยของไทย
ผู้เขียนเชื่อว่า ท่านผู้อ่านคงคิดเหมือนกับผู้เขียน คือ เราไม่(ค่อย)พบว่านักกฎหมายและนักวิชาการของไทยพูดถึง วิชานิติปรัชญา ; แม้ในขณะนี้ เมื่อพูดถึง วิชานิติปรัชญา ผู้เขียนก็เชื่อว่า ท่านผู้อ่านหลายท่านก็คงถามว่า วิชานิติปรัชญาคือวิชาอะไร และเรียนไปทำอะไร ; และสำหรับผู้ที่เคยเป็นนักศึกษาในคณะนิติศาสตร์และเคยเรียนวิชานิติปรัชญามาแล้ว ก็อาจพูดว่า เรียนไปแล้วก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เรียนไปเพื่อสอบเอาคะแนนเพื่อให้ได้ปริญญา(บัตร)เท่านั้น ; และ แม้แต่มหาวิทยาลัยของรัฐที่มีชื่อเสียงบางแห่งของเราเอง ก็เพิ่งนำวิชานิติปรัชญามาบรรจุไว้ในหลักสูตรของคณะนิติศาสตร์ เมื่อสัก ๑๐ ปีเศษมานี้เอง
ถ้าผู้เขียนพูดอย่างง่าย ๆว่า วิชานิติปรัชญา ได้แก่ วิชาที่สอน วิธีคิดของนักกฎหมาย ให้แก่ นักกฎหมาย ; และเมื่อผู้เขียนกล่าวเช่นนี้ ก็คงจะมีผู้พูดต่อไปว่า คนเรา คิดเป็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว นักกฎหมายก็คิดเหมือนกับคนอื่น ๆ ดูจะไม่เห็นมีความจำเป็นอะไรจะต้องมาสอนให้นักกฎหมาย คิดกันอีก
ผู้เขียนขอเรียนว่า เพราะการที่เรา(คนไทย)ไม่ให้ความสำคัญแก่วิชานิติปรัชญานี้เอง ที่เป็น ต้นเหตุของการที่ประเทศไทยเต็มไปด้วย นักกฎหมายประเภทศรีธนญชัย และ นักกฎหมายประเภทนิติบริกรจนล้นประเทศ และทำให้คนไทยคิดว่า นักกฎหมายที่เก่ง คือ นักกฎหมายที่มีความสามารถในการเล่นถ้อยคำสำนวน และสามารถหลบหลีกความรับผิดตาม(บท)กฎหมายได้ (ตามที่เห็น ๆ กันอยู่ ในกรณีต่าง ๆ ที่ คตส.กำลังตรวจสอบอยู่ในปัจจุบันนี้)
บทความนี้ คงไม่ใช่บทความที่จะบรรยาย วิชานิติปรัชญา แต่ผู้เขียนขอเรียนอย่างสั้น ๆ ว่า ประโยชน์และความสำคัญของการเรียนรู้ วิชานิติปรัชญา มีอยู่ ๒ ด้าน คือ ด้านแรกเป็นด้านของนักกฎหมายเอง โดย การเรียนวิชานิติปรัชญา จะทำให้นักกฎหมายมี วิธีคิด อย่างมีเหตุผล(reasoning)และมีความสมเหตุสมผล(logical) และมีความรับผิดชอบต่อสังคม และในด้านที่สองเป็นด้านของสังคม การเรียนรู้นิติปรัชญา จะทำให้สังคมและคนทั่วไป สามารถรู้ได้ว่า นักกฎหมายใดเป็น คนดีหรือไม่ดี เป็นนักกฎหมายที่ใช้วิชาชีพโดยสุจริตหรือไม่ หรือว่าเป็นนักกฎหมายประเภทที่ใช้ความรู้ทางกฎหมายเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว
บรรดานักปราชญ์หรือนักคิดของคนเรา(โลก) ได้พยายามคิดนำ กฎหมายมาใช้ในการวางระบบสังคม มาเป็นเวลานานนับเป็นร้อย ๆ ปี ; ความคิดเกี่ยวกับความหมายของคำว่า กฎหมายและ ทฤษฎีกฎหมายมีวิวัฒนาการมาโดยลำดับตามความเจริญทางวิทยาการของมนุษย์ จนถึงยุคปัจจุบัน(ศตวรรษที่ ๒๐ ๒๑) ; และ ตำรานิติปรัชญา บอกกับเราว่า นิติปรัชญาในยุคศตวรรษที่ ๒๐ นี้ เป็นนิติปรัชญาที่อยู่บนพื้นฐานของสังคมวิทยา (พฤติกรรมของมนุษย์ ) - sociological approaches
นิติปรัชญาแห่งยุคศตวรรษที่ ๒๐ สอนให้เรารู้ว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือของสังคม มีจุดมุ่งหมาย (purpose) เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสังคม และเพื่อประสานประโยชน์ระหว่าง ประโยชน์ของปัจเจกชน(เอกชน) กับ ประโยชน์ของสังคม; และนิติปรัชญาแห่งยุคศตวรรษที่ ๒๐ บอกให้เราหาความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของคน และทำการวิจัยสภาพทางสังคมวิทยาสำหรับการเขียน(ออกแบบ)กฎหมาย เพื่อที่จะทำให้การบังคับใช้ กฎหมาย(กฎเกณฑ์ของสังคม social control) เกิดผลตาม จุดมุ่งหมายของกฎหมาย โดยมีประสิทธิภาพที่ดีที่สุด ; นิติปรัชญาไม่ได้สอนให้นักกฎหมายของเราเป็น ศรีธนญชัย ที่อธิบายกฎหมายและตีความกฎหมาย เพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์
แต่ทำไม ผู้เขียนจึงไม่พบว่า นักกฎหมายของเราพูดถึงหลักนิติปรัชญาในยุค ศตวรรษ ที่ ๒๐ แต่เรากลับพบว่า นักกฎหมายและนักวิชาการของเรา(พ.ศ. ๒๕๕๐) พูดกันแต่ว่า เพื่อความเป็นประชาธิปไตย และการเป็นประชาธิปไตยต้องมี เลือกตั้ง ตามความคิดของ Montesquieu ฯลฯ เมื่อ ๓๐๐ ปีก่อน; ในขณะที่นักกฎหมายและนักวิชาการของประเทศอื่น ๆ เขาพูดถึงปัญหาว่า ทำอย่างไร กลไกในการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงจะมีประสิทธิภาพ (?) (?) (?)
อ่านต่อ
หน้า 29
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|