บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2546 |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ผมได้ทราบว่า ท่านมีแนวความคิดว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการเมืองรอบสอง ขอความกรุณาท่านช่วยขยายความด้วยครับ
ศ.ดร.อมรฯ : แนวความคิดของการปฏิรูปการเมืองรอบสองนั้น ผมได้เคยกล่าวไว้แล้วนะครับว่า ถ้าจะปฏิรูปการเมืองก็หนีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ไปไม่พ้น เพราะการเขียนรัฐธรรมนูญเป็นการวางกฎเกณฑ์ของการสร้าง "ระบบสถาบันการเมือง" ผมคิดว่าเราอย่ามาพูดถึงการรอการปฏิรูปการเมืองด้วยการพัฒนาการศึกษาตามที่นักการเมืองชอบพูดกัน เพราะแม้ว่าการปฏิรูปการศึกษาจะเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ แต่การศึกษาอบรมนั้นไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของคนซึ่งได้แก่ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวอันเป็นธรรมชาติของคนได้ในระยะเวลาสั้นๆ การเปลี่ยนพฤติกรรมของชุมชน จะต้องใช้เวลาเป็นร้อยๆ ปีและต้องผ่านประวัติศาสตร์เหมือนชุมชนในยุโรป ซึ่งการใช้เวลาสั้นๆ แม้แต่ 20-30 ปีก็ไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของชุมชนในสภาพสังคมเศรษฐกิจการเมืองในปัจจุบันได้ และผมก็คิดว่านักการเมืองของเราก็รู้ถึงความเป็นจริงข้อนี้ดี
แต่ทำไมนักการเมืองของเรามักจะพูดถึงการปฏิรูปการศึกษาโดยไม่พูดถึงปฏิรูปการเมืองด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ ดูเหมือนว่า นักการเมืองของเราคงไม่อยากเสียอำนาจและเสียโอกาสที่มีอยู่ ในขณะนี้ และเมื่อไม่อยากจะปฏิรูปการเมืองก็ต้องพูดถึงการปฏิรูปการศึกษาไปพลางก่อน เพื่อให้สังคมเชื่อว่าการศึกษาจะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองได้ แต่สิ่งนักการเมืองไม่พูดให้ชัดเจนก็คือ เมื่อไรสังคมไทยคือคนส่วนใหญ่ของคน 60 ล้านคน คือคนจำนวนมากกว่า 30 ล้านคนจะมีระดับพัฒนาเหมือนสังคมของประเทศที่พัฒนาแล้ว ผมคิดว่า ซึ่งอาจจะอีกนาน อาจจะถึง 100 ปี
เมื่อสักครู่ผมได้พูดแล้วว่า ระบบสถาบันการเมืองในปัจจุบันนี้ อำนาจรัฐขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองพรรคใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพรรคใหญ่พรรคเดียวหรือหลายพรรครวมกลุ่มเข้าด้วยกัน ดังนั้นเมื่อสภาพการเมืองของเราเกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว ผมคิดว่า เราคงมีโอกาสที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้น้อยมาก
อย่างไรก็ตาม ในฐานะนักวิชาการไม่ว่าจะเป็นผมหรือเป็นอาจารย์ก็ตาม มีหน้าที่ต้องคิดล่วงหน้าและชี้ปัญหาประเทศเพื่อให้คนส่วนใหญ่ในสังคม"คิด" คือ ประการแรก เราต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่แน่ๆ ถ้าอยากปฏิรูปการเมือง ประการที่สอง รัฐธรรมนูญที่ดี คือรัฐธรรมนูญที่มี"ระบบสถาบันการเมือง"ที่เหมาะสมกับสภาพทางสังคมวิทยาการเมืองของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยและเหมาะสมกับพฤติกรรมของนักการเมืองของเราที่เป็นอยู่จริง ทั้งนี้โดยยังไม่ต้องพูดว่าใครจะมาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้คนไทยเพราะขณะนี้ผมก็ยังมองไม่เห็นว่าใครจะมาเขียนให้
เรามาพูดถึง"รูปแบบ"อย่างคร่าวๆ ว่า รัฐธรรมนูญที่ดีของสังคมไทยน่าจะมีโครงสร้างอย่างไร ในการพูดเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน ผมได้บอกไว้แล้วว่า ตามสภาพสังคมวิทยาทางการเมืองของชุมชนส่วนใหญ่ของเราที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผมมีความเห็นว่าระบบสถาบันการเมืองของเราจะต้องมีสถาบันการเมืองทางบริหารเป็นฝ่ายนำ พูดง่ายๆ ก็คือ การบริหารจะต้องมี leadership ของผู้นำ
แต่การมี leadership ในระบบสถาบันการเมืองของประเทศไทยนี้ ผมเรียกไว้ว่า strong prime minister ซึ่งเป็นคำที่มีเจตนาให้มีความหมายแตกต่างกับคำทางวิชาการทั่วๆ ไป ที่มักจะเรียกรูปแบบสถาบันการเมืองที่มีฝ่ายบริหารเป็นฝ่ายนำว่า strong executive กล่าวคือ ในระบบประธานาธิบดีโดยตรงก็ดี ระบบกึ่งประธานาธิบดีก็ดี ทางวิชาการเขาจะเรียกกันว่า strong executive แต่ในทางวิชาการคำว่า executive ที่ใช้กับระบบรัฐสภา - parliamentary system จะมีความหมายแตกต่างกับระบบประธานาธิบดีและระบบกึ่งประธานาธิบดี เพราะคำ executive ในระบบรัฐสภา มีความหมายตั้งแต่คณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีรวมจนไปถึง king หรือรวมถึงประธานาธิบดีในระบบรัฐสภา ซึ่งเป็น "ประมุขของรัฐ" ด้วย ซึ่งก็เป็นเหตุผลในทางประวัติศาสตร์ซึ่งไม่จำเป็นต้องอธิบายในที่นี้ ดังนั้น หากเราใช้คำว่า strong executive ในระบบรัฐสภาแล้ว วงการวิชาการทั่วไปก็จะเข้าใจไปว่าเรามุ่งรวมไปถึงประมุขของรัฐ คือพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขฝ่ายบริหารด้วย ด้วยเหตุนี้ เมื่อเราต้องการสร้าง leadership ของฝ่ายบริหารในระบบรัฐสภาโดยไม่ต้องการให้"ฝ่ายบริหาร"มีความหมายรวมไปถึง king ด้วย ผมจึงตั้งใจใช้คำว่า strong prime minister แทน strong executive เพื่อที่จะตัดความหมายและบทบาทของ strong prime minister นี้ไม่ให้รวมถึง king ซึ่งเป็นประมุขของรัฐและเป็นประมุขฝ่ายบริหารด้วย
ตรงนี้เอง คงจะต้องถือเป็น unique ของระบอบการปกครองของเราเอง ซึ่งเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเนื่องจากระบบของไทยเรามีพระมหากษัตริย์ที่ดีที่สุดในโลก ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนของใคร คำว่า strong prime minister ก็จะหมายความว่า ระบบบริหารของเราจะมี leadership หรือผู้นำทางบริหารในระดับที่ต่ำกว่าประมุขของรัฐ คือระดับนายก โดยผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจค่อนข้างมาก โดยไม่รวมถึงอำนาจประมุขของรัฐ
แนวทางนี้จะแตกต่างกับแนวทางการแก้ปัญหา"จุดอ่อน"ของระบบรัฐสภาของต่างประเทศที่นิยมใช้ระบบกึ่งประธานาธิบดี semi-presidential system เข้ามาเสริมจุดอ่อนในระบบรัฐสภา โดยเพิ่มอำนาจให้แก่ประมุขของรัฐ คือ ให้ประธานาธิบดีเข้ามากำกับฝ่ายบริหาร ในระดับคณะรัฐมนตรี ผมเห็นว่า แนวทางการเพิ่มอำนาจให้ประธานาธิบดีในระบบ semi-presidential ในปัจจุบัน น่าจะเอาความคิดมาจากอำนาจของ king ในอดีตในยุคเริ่มต้นของประชาธิปไตย
สิ่งที่รัฐธรรมนูญปี 2540 ผิดพลาดก็เพราะว่านักวิชาการของเราคิดจะสร้าง strong prime minister ด้วยการสร้างระบบพรรคการเมืองด้วยการบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรค เพราะกลัว ส.ส.จะเปลี่ยนพรรคหรือขายสิทธิออกเสียงในสภา และทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ และในปัจจุบันนี้ก็มีนักการเมืองหลายคนอ้างว่าที่รัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดเช่นนี้ ก็เพราะมีเจตนาที่จะให้พรรคการเมืองเหลือน้อยพรรคคือทำให้มีพรรคการเมืองพรรคใหญ่เพียง 2 พรรค และนายกรัฐมนตรีจะได้มาจากหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก เพื่อ prime minister จะได้มีเสียงสนับสนุนในสภามากและรัฐบาลจะได้มีเสถียรภาพ
ผมคิดว่าแนวทางนี้ผิด ผมไม่เห็นด้วยเพราะทำให้เกิดเผด็จการทางรัฐสภา ผมต้องการสร้าง strong prime minister โดยไม่มีเผด็จการทางรัฐสภา ซึ่งโครงสร้างนี้สามารถสร้างขึ้นได้และควรจะต้องสร้างขึ้น
การสร้างเสถียรภาพให้รัฐบาลโดยการออกกฎหมายหรือเขียนรัฐธรรมนูญบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคโดยไม่คำนึงถึงวิวัฒนาการและความพร้อมทางสังคมวิทยาการเมืองของสังคม เป็นสิ่งที่เป็นอันตราย เสี่ยงต่อการเผด็จการที่ขาดกลไกถ่วงดุล และในประเทศเสรีประชาธิปไตยก็ไม่เคยมีการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค แน่นอนผมเห็นว่า strong prime minister หรือ strong executive เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการบริหารประเทศตามสภาพสังคมและสภาพการเมืองในยุคปัจจุบัน ดังจะเห็นได้ว่าแม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วและมีสภาพสังคมที่พร้อมกว่าเรา ก็ยังใช้การปกครองในระบบประธานาธิบดีหรือกึ่งประธานาธิบดี ซึ่งเป็นระบบที่เป็น strong executive
ขณะนี้เราพบว่าเรามี strong prime minister ที่หลายคนอาจจะชอบว่านายกรัฐมนตรีของเรานี่เข้มแข็งดี มี leadership แต่ผมไม่ชอบการสร้าง strong prime minister พร้อมกับมีการคุมเสียงข้างมากในสภา เพราะการคุมเสียงข้างมากในสภาจะก่อให้เกิดเผด็จการทางรัฐสภาและทำให้ระบบการควบคุมฝ่ายบริหารในทางการเมืองอ่อนหรือไม่มีเลย ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารประเทศสามารถซ่อนผลประโยชน์ส่วนตัวหรือที่เรียกกันว่าคอรัปชั่นทางนโยบายได้โดยง่าย
ในการพูดของผมเมื่อเดือนพฤศจิกายน ผมบอกว่า ถ้าเราจะสร้าง strong prime minister ในระบบรัฐสภาของไทยโดยไม่ให้มีเผด็จการทางรัฐสภานั้น เราคงต้องคิดเองเพราะไม่มีต้นแบบที่ไหน เราไม่สามารถใช้ระบบกึ่งประธานาธิบดีมาเสริมจุดอ่อนของระบบรัฐสภาได้เหมือนประเทศอื่น เพราะขัดกับสภาพของสังคมของเราที่มี king
สิ่งที่เราสามารถนำมาพิจารณาเป็น"ตัวอย่าง"พอให้แนวคิดได้ ก็คือ ประเทศเกาหลีใต้ เพราะรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้ได้มีการนำระบบกึ่งประธานาธิบดีตามแบบของประธานาธิบดี Charles de Gaulle ของฝรั่งเศสมาใช้ คือ semi-presidential system โดยรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้กำหนดให้ประธานาธิบดีซึ่งเป็น"ประมุขของรัฐ" ให้มีอำนาจมากขึ้น และสามารถตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งในที่นี้ผมจะไม่ขอพูดถึงกลไกของระบบกึ่งประธานาธิบดีในรายละเอียดเพราะจะยาวเกินไป แต่เกาหลีใต้ได้ดัดแปลงระบบกึ่งประธานาธิบดีของฝรั่งเศสโดยเกาหลีใต้ได้ขยายวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีออกไปเป็น 5 ปี ซึ่งเดิมเคยกำหนดไว้ 4 ปี ตามรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสสมัย de Gaulle เคยขยายกำหนดไว้ถึง 7 ปี แต่เพิ่งมาลดเป็น 5 ปี เมื่อเร็วๆ นี้
ดังนั้น ถ้าเราใช้วิธีคิดทางวิชาการ เราก็จะเห็นว่า ระยะเวลา 4 ปีสำหรับบุคคลที่มีความสามารถและเข้ามาบริหารเพื่อแก้ความเสื่อมในการบริหาร คงจะเป็นระยะเวลาที่น้อยเกินไป ด้วยเหตุนี้เอง ประธานาธิบดี de Gaulle จึงได้ขยายระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีออกไปเป็น 7 ปีในปี ค.ศ.1958 นี่ก็คือความคิดเบื้องหลังของ statesman ของแต่ละประเทศที่เข้ามาปฏิรูปการเมืองด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมก็เห็นด้วยว่า 4 ปีนั้นสั้นไปสำหรับการปฏิรูประบบบริหารให้มีกลไกที่ดีและมีระบบที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่มีกลไกการบริหารพิกลพิการเช่นประเทศไทย ดังนั้น ในการพูดของผมเมื่อเดือนพฤศจิกายน ผมจึงได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีมีวาระยาว 6 ปี แต่สำหรับประเทศไทย ซึ่งจะเป็นระบบ strong prime minister ในระบบรัฐสภาที่มิใช่ระบบ strong executive ในระบบกึ่งประธานาธิบดี เพราะในระบบของเขา เขาสามารถบัญญัติแยกระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีออกจากระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีได้ ดังนั้น เมื่อเราแยกไม่ได้เพราะเราเป็นระบบรัฐสภา เมื่อเราขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีออกไปเป็น 6 ปี เราคงมีความจำเป็นจะต้องขยายวาระของสมาชิกสภาผู้แทนออกไปเป็น 6 ปีด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม เราก็อาจจะไม่จำเป็นต้องขยายระยะเวลาเทอมของสภาออกไปอย่างถาวรก็ได้ โดยเราอาจจะเขียนกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่า วาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภา 1 ครั้งหรือ 2 ครั้งในช่วงต้นของการใช้รัฐธรรมนูญเท่านั้นที่สภามี term 6 ปี ความคิดก็คือว่าเมื่อมี strong prime minister ก็ต้องให้เวลาแก่นายกในการแก้ไขปัญหาและปฏิรูประบบราชการให้พอเพียง แต่เมื่อพ้น 2 ครั้งไปแล้ว มีการปฏิรูประบบการบริหารไปแล้ว เราจะกลับมาให้วาระของนายกรัฐมนตรีมีเพียง 4 ปีก็ได้
แต่สิ่งที่ผมต้องชม statesman ของเกาหลีใต้ ก็คือ statesman ของเกาหลีใต้เขากลัวการเผด็จการที่จะเกิดมาจากการแสวงหาอำนาจของตัวประธานาธิบดีเอง คือ เกาหลีใต้ได้เขียนสิ่งที่ฝรั่งเศสไม่กล้าเขียน ก็คือเขากำหนดให้ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่ง 1 ครั้ง คือ 5 ปีเท่านั้น และห้าม re-election ซึ่งผมคิดว่าดีและถูกต้องเหมาะสมสำหรับพฤติกรรมของนักการเมืองในประเทศทางตะวันออกและประเทศไทย ดังนั้น ผมก็เอามาเสนอว่า ถ้าจะปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ ก็ให้นายกรัฐมนตรีของเราขยายวาระ 6 ปี และอยู่ term เดียว ตามรูปแบบนี้นายกรัฐมนตรีก็จะไม่จำเป็นต้องใช้ populist policy เพื่อสร้างคะแนนนิยมเพื่อให้ตนเองได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกครั้งหนึ่ง และระยะเวลา 6 ปีนี้ก็เพียงพอสำหรับคนเก่ง ๆ แล้ว เพราะหากคนเก่งมีอะไรดีๆ ก็นำมาใช้ให้หมดภายใน 6 ปี และก็ไม่ต้องสร้างนโยบายที่เอาใจประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือหลายๆ กลุ่ม at the expense of ประโยชน์ส่วนรวมในระยะยาว มีอะไรดีที่เป็นประโยชน์ส่วนรวมก็ทำได้เลยและไม่ต้องกังวลว่าตนเองจะได้รับเลือกตั้งอีกหรือไม่
โดยรวมๆ ก็คือ ตามความเห็นของผม ระบบ strong prime minister จะต้อง 1.ต้องให้มีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งเพียงพอที่นายกรัฐมนตรีจะแก้ปัญหาความเสื่อมของการบริหารได้และขยายเวลาให้พอ และ 2. ห้าม re-election คือ ห้ามเป็นนายกรัฐมนตรีสองสมัย
ปัญหาต่อมา ก็คือ ถ้ามี strong prime minister โดยไม่มีพรรคการเมืองพรรคใหญ่เพราะเราไม่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค โดยผู้สมัคร ส.ส.จะสังกัดพรรคก็ได้ ไม่สังกัดพรรคก็ได้ และไม่มีบทบัญญัติบังคับว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. ก็คงมีคำถามว่า แล้วเราจะสร้าง prime minister ให้ strong ได้อย่างไร
เราจะเห็นว่า ในประเทศเสรีประชาธิปไตยทุกประเทศนั้น เขาไม่มีการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองเลยยกเว้นประเทศคอมมิวนิสต์เท่านั้น ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะใช้มาตรการอะไรที่ทำให้การดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีไม่ต้องขึ้นอยู่กับมติความไว้วางใจของสภาที่มี ส.ส.หลายพรรค
วิธีที่ผมได้เสนอไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน ก็คือ เมื่อใดที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี นอกจากจะมีผลให้นายกรัฐมนตรีต้องออกจากตำแหน่งแล้ว ก็ให้สภาผู้แทนราษฎรยุบไปโดยอัตโนมัติตามนายกรัฐมนตรีไปด้วย ส.ส.ทุกคนต้องไปเลือกตั้งพร้อมกันหมด วิธีนี้ผมจำไม่ได้ว่าผมเอามาจากไหน รัฐธรรมนูญต่างประเทศอาจมีหรือไม่มีมาตรการนี้ก็ได้ เหตุผลที่ผมวางมาตรการนี้ก็เป็นไปตามหลักพฤติกรรมของมนุษย์นั่นเอง เพราะในบรรดา ส.ส.ซึ่งขณะนี้มีจำนวนอยู่ 500 คนนั้น ผมเชื่อว่าเสียงส่วนมากคงไม่อยากให้ตนเองต้องไปเลือกตั้งใหม่แน่ๆ ฉะนั้นการที่สภาจะได้เสียงข้างมากจาก ส.ส.เพื่อมีมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีโดยที่ตนเองจะต้องไปเสียเงินเสียทองและใช้สารพัดวิธีการให้เพื่อตนเองได้รับการเลือกตั้งกลับมาใหม่ สภาคงจะไม่ได้เสียงข้างมากเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ง่ายๆ และดังนั้น ผมเชื่อว่า มติเช่นนี้ไม่น่าเกิดขึ้น
จะเห็นได้ว่าการเขียนรัฐธรรมนูญในรูปแบบนี้ก็จะเป็นไปตามหลักการของสังคมวิทยาการเมืองตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั่นเอง คือ คำนึงถึงพฤติกรรมของคน และกลไกทางกฎหมายก็จะสร้างอยู่บนพื้นฐานของพฤติกรรมของคน ส่วนกรณีที่ว่า ถ้านายกรัฐมนตรีเป็นคนไม่ดี ทุจริตคอรัปชั่น ส.ส.ก็จะไปใช้มาตรการอื่นตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ตามมาตรฐานทาง impeachment หรือตามระบบ ปปช.หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งตามมาตรการเหล่านี้ นายกอาจต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่ ส.ส.ไม่ต้องออกตามนายกรัฐมนตรี
สรุปก็คือว่า แนวทางทางวิชาการที่ใช้กันอยู่ในต่างประเทศ ก็จะถูกนำมาประยุกต์ใช้ คือ ในด้านของฝ่ายบริหาร ก็จะมีการขยายเวลาการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีให้ยาวขึ้น โดยห้าม re-election หรือเป็นซ้ำ ส่วนในด้านสภาก็ไม่มีการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค และก็แน่นอนว่าคงไม่มีการเขียนบังคับว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.ด้วย
สำหรับผู้ที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีในระบบสถาบันการเมืองในรูปแบบที่ ส.ส.ในสภามีมาจากหลายพรรคการเมืองและบางคนก็ไม่สังกัดพรรค ผมก็เชื่อว่าโดยสังคมวิทยาหรือพฤติกรรมของคน ถ้านายกรัฐมนตรีไม่สุจริต ส.ส.ก็คงไม่ใช้วิธีการที่จะลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเพราะตนเองจะต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ไปด้วย แต่ ส.ส.คงจะใช้กลไกทางสถาบันอิสระที่รัฐธรรมนูญวางไว้ให้ ซึ่ง ส.ส.สามารถยกประเด็นและดำเนินการตามกระบวนการที่วางไว้ได้ และเราคงคาดหมายได้ว่า ระบบสถาบันการเมืองในรูปแบบนี้ นายกรัฐมนตรีคงต้องทำดีเท่านั้น
ส่วนปัญหาในการเลือกสรรตัวนายกรัฐมนตรีครั้งแรกจะเป็นอย่างไร แน่นอนว่านายกรัฐมนตรีถ้าได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็จะอิสระจาก ส.ส.โดยไม่ต้องเกรงมติไม่ไว้วางใจจาก ส.ส. แต่ก่อนที่จะได้เป็นนายกคือในการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรกนั้น ถ้าถามว่าจะมีการซื้อเสียง ส.ส.เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จะทำได้หรือไม่ ผมก็บอกว่ามีได้ แต่จะต้องระลึกไว้ว่าคนที่จะซื้อเสียง ส.ส.ที่ไม่มีระบบสังกัดพรรคการเมือง เพื่อให้ตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น คงจะต้องใช้เงินจำนวนมาก และเมื่อซื้อเสียงได้และเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ตนเองจะไม่มีโอกาสได้เงินคืนมาโดยง่ายเพราะว่าการใช้อำนาจนั้นจะถูกกลไกควบคุมโดยสถาบันต่างๆ ดังนั้น พูดง่ายๆ ก็คือ ซื้อตำแหน่งได้แต่เขาจะซื้อไปทำไม เพราะหากำไรยากและคอรัปชั่นยาก
อันที่จริง แนวความคิดนี้ก็เอาแนวความคิดมาจากหลักการ strong executive ในระบบ semi presidential นั้นเอง เป็นแต่เพียงมาปรับใช้กับระบบรัฐสภาของเรา เรามีกษัตริย์ที่ดีที่สุดในโลกและเราไม่อยากให้พระองค์ท่านต้องลงมาใช้อำนาจในทางการเมืองโดยตรงเหมือนกับระบบ semi presidential เราก็ปรับวิธีการของเราเอง ผมคิดว่าในฐานะนักวิชาการ ผมก็ทดลองวางรูปแบบระบบรัฐสภาแบบใหม่ rationalized parliamentary system ไว้ให้พิจารณาดู แต่ผมยังไม่อาจบอกได้ว่าใครจะสามารถนำเอารูปแบบนี้มาเขียนเป็นรัฐธรรมนูญให้เรา เพราะว่าคนที่จะเขียนรัฐธรรมนูญในรูปแบบนี้ เท่าที่เห็นมาก็มีประธานาธิบดี de Gaulle หรือ statesman ของเกาหลีใต้ซึ่งผมไม่จำเป็นต้องระบุชื่อ
บุคคลที่จะเลือกเขียนรัฐธรรมนูญในรูปแบบต่างๆ ที่นักวิชาการคิดไว้ให้เลือกนั้น จะต้องเป็น statesman คือ มีอัจฉริยะ มีความเสียสละ มีบารมี และที่สำคัญก็คือ ต้องมีอำนาจในการแก้รัฐธรรมนูญด้วย สำหรับประเทศฝรั่งเศส ประธานาธิบดี de Gaulle เป็นนักการเมืองที่มีความรอบรู้ มีประสพการณ์ และมีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการเรียกร้องจากประชาชนทั้งประเทศ แต่ในประเทศไทย คงต้องรอไปก่อน รอให้คนไทยหา"ทางออก"เอาเอง
ในการอภิปรายเมื่อเร็วๆ นี้ของสถาบันนโยบายศึกษาของอาจารย์ชัยอนันต์ ดูเหมือนจะต้นเดือนมกราคม มีนักวิชาการบางคนคิดว่า ผมมีความเห็นว่าการเขียนรัฐธรรมนูญที่ดีนั้น ควรเขียนโดยนักวิชาการ ซึ่งผมก็บอกว่า ไม่ใช่ นักวิชาการเป็นเพียงนักคิดและเสนอความเห็นให้สังคมเลือก แต่ผู้ที่จะปฏิรูปการเมืองได้ จะต้องเป็น statesman ที่มีอัจฉริยะ มีความรอบรู้ และมีบารมี มิใช่นักวิชาการ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของสังคม คือคนส่วนใหญ่ของประเทศที่จะต้องคิด และแสวงหา statesman เอาเอง ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของนักวิชาการ เพราะนักวิชาการเป็นเพียงคนคิดแต่ไม่มีอำนาจที่จะมาเขียนรัฐธรรมนูญ และนักวิชาการเองก็ทะเลาะกันเอง เถียงกัน สร้างความเชื่อถือไม่ได้ และนักกาารเมืองของเราก็จะแสวงหาประโยชน์จากความแตกต่างในความคิดความเห็นของนักวิชาการ ซึ่งเป็นพฤติกรรมปกติ
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|