หน้าแรก สัมภาษณ์
ถามหาความกล้า"ประชาธิปัตย์"เป็นฝ่ายค้านที่สะอาดดีกว่าอยู่ในรัฐบาล แล้วเป็นสีเทา
9 มิถุนายน 2554 11:36 น.
 
ดร.นันทวัฒน์ ถามหาความกล้า"ประชาธิปัตย์"เป็นฝ่ายค้านที่สะอาดดีกว่าอยู่ในรัฐบาล แล้วเป็นสีเทา
       
       
       นับถอยหลังการเลือกตั้ง 3 ก.ค.  " มติชนออนไลน์"  สัมภาษณ์พิเศษ นักกฎหมายมหาชน ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ในประเด็นสำคัญที่อยากให้คุณได้อ่านก่อนไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง
       
       มองกรณีพรรคเพื่อไทย ดัน "คุณยิ่งลักษณ์" เป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 มีนัยอะไร
       กรณีคุณยิ่งลักษณ์ เป็นกรณีที่น่าสนใจ เพราะหลังจากที่พรรคไทยรักไทยถูกยุบ แล้วคุณสมัคร(สุนทรเวช)มาเป็นหัวหน้าพรรค เราก็พูดกันตลอดว่า นี่คือ นอมินี ทุกคนพยายามที่จะขุดคุ้ย แต่ทางพรรคก็พยายามบอกว่า ไม่เกี่ยวกับคุณทักษิณ แต่ในวันนี้ ทุกอย่างชัด เกิดการยอมรับขึ้น คุณยิ่งลักษณ์เองก็บอก ข่าวก็ลงว่า "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ" เพราะฉะนั้นวันนี้ ทุกอย่างชัดเจน    เหมือนกับการเอาหวยใต้ดินขึ้นมาบนดิน ทุกอย่างขึ้นมาอยู่ข้างบน แล้วสู้กันให้เห็นชัดๆไปเลย ซึ่งผมคิดว่าดีที่สุด ที่เอาคุณยิ่งลักษณ์เป็นหัวหน้าพรรค เป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 นี่เป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุด กับประเทศชาติและประชาชนด้วย
       ดีสำหรับประเทศชาติ ก็คือว่า เราจะได้ไม่ต้องขุดคุ้ยกันอีก จะได้ไม่ต้องหาว่ามีนอมินี เพื่อจะยุบพรรคการเมืองอีก
       ดีสำหรับประชาชน ก็คือ ประชาชนจะได้รู้ไปเลยว่า นี่เป็นพรรคของคุณทักษิณ คุณทักษิณหนุนอยู่ และนี่คือน้องคุณทักษิณ เพราะฉะน้ัน ถ้าคุณชอบ คุณก็เลือกไปเลย ถ้าไม่ชอบ  ก็ไม่ต้องเลือกไปเลย เพราะอย่างเมื่อก่อน อาจจะมีบางคนไม่ชอบคุณทักษิณ แต่ชอบคุณสมัคร แล้วก็คิดว่าเป็นพรรคคุณสมัคร แต่พอไปเลือก กลับได้คุณทักษิณมา หรืออย่างบางคนชอบคุณทักษิณ แต่ไม่ชอบคุณสมัคร ก็เลยไม่เลือก ทั้งๆที่คุณทักษิณอยู่ข้างหลัง เพราะฉะนั้นวันนี้ทุกอย่างชัด
        
       นิรโทษกรรมมีความชอบธรรมไหม
       เรื่องนิรโทษกรรม ผมว่าวันนี้ เป็นการเอาชนะคะคานกัน เราจะเห็นได้ว่าตอนปฏิวัติ ก็มีการนิรโทษกรรม ถ้าถามว่าโทษของการปฏิวัติร้ายแรงกว่าโทษที่คุณทักษิณ กับ 111 คน ทำหรือเปล่า ผมว่าแรงกว่าเยอะมาก เพราะเราเห็นอยู่แล้วว่า หลังจากการปฏิวัติปี 2549 ประเทศไทยถอยหลังไป จนกระทั่งวันนี้ยังไม่สามารถก้าวกลับมาอยู่จุดเดิมได้ แม้ว่าเราจะมีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 3 คน เพราะฉะนั้น โทษมันร้ายแรงผิดกันเยอะมาก เรานิรโทษกรรมตอนปฏิวัติไปแล้ว แต่อันนี้ไม่นิรโทษกรรม ผมว่าไม่เป็นธรรม
       
       ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย พรรคไหนใช้การโฆษณาด้านการเมือง (political marketing) ได้เข้าตากว่ากัน
       คือก่อนที่คุณจะมาถึงจุดที่ต้องมีการโฆษณา หรือการหาเสียง หรือนำเอาเทคนิคในภาคเอกชน ในเรื่องการโฆษณาขายของมาใช้กับการเมืองได้ คุณจะต้องมีจุดขายก่อน
       ผมยกตัวอย่าง เช่น โตชิบา (Toshiba) มีจุดขายว่า "นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต" หรือ ฮิตาชิ (Hitashi) "เปิดปุ๊บติดปั๊บ" จากคำพูดเหล่านี้ถามว่า แล้วพรรคการเมืองมีคำต่อท้ายเหล่านี้หรือยัง
       สิ่งที่จะเอามาต่อท้ายได้ ก็คือ นโยบายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากที่สุด ซึ่งในวันนี้ยังไม่มี ผมมองว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคต้องมีนโยบาย แล้วนโยบายหลักของแต่ละพรรคไม่ควรจะปรับเปลี่ยน
       ยกตัวอย่าง สมัยผมเรียนหนังสืออยู่ที่ฝรั่งเศส มีผู้ชายคนหนึ่งชื่อว่า ฌอง มารี เลอร์เพ็น (Jean Marie Le Pen)  เขาตั้งพรรคชาตินิยมขวาจัด แล้วแคมเปญของเขาตลอดเวลา
       ก็คือ เขาจะไม่เอาคนต่างชาติ ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในฝรั่งเศส เพราะคนเหล่านี้มาแย่งงาน แย่งสวัสดิการ มาระรานคนฝรั่งเศสตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อเขาขึ้นเวที เขาก็จะถูกพวกคนต่างชาติ อย่างแขก อาหรับโห่ไล่ ไปที่ไหนก็ถูกด่าถูกบ่น
       วันนี้ ฌอง มารี เลอร์เพ็น ก็ยังเล่นการเมืองอยู่ ลงสมัครประธานาธิบดีไม่รู้กี่หน แต่ก็ไม่ได้ จนลูกสาวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค นโยบายทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม นี่คือสิ่งที่ผมอยากเห็น
       คือ นักการเมืองต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ซึ่งอันนี้เราไม่เคยเห็น สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ผมไม่แน่ใจว่ามีนโยบายแบบนี้หรือเปล่าตั้งแต่ตั้งพรรคมา ทั้งที่ควรจะต้องมีเป็นนโยบายหลัก
       ส่วนนโยบายรอง ก็คือนโยบายที่จะแก้ปัญหาของประเทศเป็นครั้งคราว สมมติวันนี้เรามีปัญหาต้องการปรับประเทศเป็นระบบสวัสดิการ คุณก็ต้องเพิ่มนโยบายเข้ามา
       ที่ผ่านมาผมอาจจะเห็นอยู่ 2 พรรคด้วยกัน คือ พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย มีคุณสมคิด ศรีสังคม, คุณแคล้ว นรปติ พรรคนี้ไม่เคยได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ไม่เคยได้จัดตั้งรัฐบาล เลย แต่ว่าเป็นพรรคที่ถูกตั้งขึ้น แล้วมีนโยบายที่ชัดเจน อีกพรรคหนึ่งก็คือ พรรคไทยรักไทย (ของเดิม) ซึ่งเปลี่ยนมาเป็นพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน นโยบายของเขาเหมือนเดิมทุกอย่าง ก็คือ แบบแจก แบบประชานิยม ส่วนพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคอื่นๆ เป็นนโยบายที่เกิดขึ้นมาตามเขา
       แต่ในวันนี้ นโยบายของบางพรรค คือ ปกป้องสถาบัน ซึ่งผมมองว่านี่ไม่ใช่นโยบาย เพราะการปกป้องสถาบันเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน หรือพรรคการเมืองที่หาเสียงว่าจะปรองดอง ก็ไม่ใช่อีก เพราะการปรองดองไม่ใช่หน้าที่ของพรรคการเมืองเลย และถ้าปรองดองได้ พรรคประชาธิปัตย์ปรองดองไปตั้งนานแล้ว แต่เราเลือกพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อดูแลประชาชน มาออกกฎหมาย มาทำอะไรต่อมิอะไร แล้วพอพรรคการเมืองไม่มีนโยบายที่ชัดเจน ไปทำ political marketing มันก็ไม่ชัด
       ผมยกตัวอย่าง การทำ political marketing ให้เห็นรูปธรรม เช่น มีพรรคหนึ่งบอกว่า จะปรับประเทศเป็นรัฐสวัสดิการ คุณก็ต้องปล่อยแคมเปญที่จะทำออกมา เช่น คุณจะให้ประชาชนเรียนฟรี 12  ปี แต่ต้องบอกด้วยว่า จะเอาเงินจากไหนมารองรับสวัสดิการ จะขึ้นภาษีอะไรบ้าง จะลดภาษีอะไรบ้าง และจะใช้ที่หนี้ที่รัฐบาลไม่รู้กี่รัฐบาลกู้เขามาได้อย่างไร ประชาชนควรจะได้รับรู้ว่าคุณเอาเงินจากที่ไหนมาผ่อน คุณจะไปโกงใครเขามาหรืออย่างไร ประชาชนก็ควรจะได้รับรู้ เพราะเห็นติดป้ายกันเต็มไปหมดว่า พรรคนั้น พรรคนี้ จะให้ราคาข้าวสูงกว่าความเป็นจริง อะไรต่อมิอะไรเยอะแยะไปหมด เพราะฉะนั้น รัฐบาลต้องให้ข้อมูลเหล่านี้แก่ประชาชน ว่าถ้าพวกเขาเลือกพรรคนี้แล้ว จะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศชาติและประชาชน แต่วันนี้มันไม่มีอะไรชัดเจนเลย
        
       นักวิชาการเลือกพรรคใด ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ กับเพื่อไทย
       ผมตอบไม่ได้ คือ ในฐานะที่ผมเป็นประชาชน บวกกับเป็นนักวิชาการ ผมต้องการเห็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมที่สุด และต้องการทราบว่า พรรคการเมืองต่างๆจะทำตามนโยบายเหล่านั้น ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาภาคใต้ก่อนปฏิวัติหรือปฏิวัติก็แก้ไม่ได้ ขนาดนายกฯสุรยุทธ์ จุลานนท์ ออกมาขอโทษประชาชนแทนคุณทักษิณ ที่คุณทักษิณไปพูดคำว่า "โจรกระจอก" ก็แก้ไม่ได้ คุณทักษิณเองก็พยายามพับนก จนตกน้ำตกทะเลเต็มไปหมด ก็ยังแก้ไม่ได้
       หรือแม้แต่คุณสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบทบ.) เป็นหัวหน้าปฏิวัติ จนกระทั่งรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ว่า ถ้าหากได้เป็นรัฐบาล จะแก้ไขปัญหาภาคใต้ให้หมด เพราะมีฐานเสียงอยู่ภาคใต้ ก็ยังแก้ไม่ได้    เพราะฉะน้ัน ใครเป็นรัฐบาล ผมไม่เดือดร้อน แต่ผมต้องการทราบว่า เราจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร  เพราะปัญหาเหล่านี้มันยืดเยื้อมานานมาก แต่เราไม่สามารถแก้ได้เท่านั้นเอง
       หรืออย่างเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น สมัยก่อนเราบอกว่า คุณทักษิณทุจริตคอร์รัปชั่น แต่รัฐบาลชุดนี้ ผมไม่มีหลักฐานและบอกไม่ได้ว่าทุจริตหรือไม่ เพียงแต่สิ่งที่ภาคเอกชนแถลงข่าว บ่งชี้ว่า มีการคอร์รัปชั่นที่มากที่สุด ถึง 50% ซึ่งน่าตกใจมาก
       ผมรู้สึกเสียดายที่พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจร่วมรัฐบาล แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของพรรคร่วมรัฐบาลได้ ก็เลยเกิดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะถ้าผมเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่ และเป็นพรรคที่ได้ชื่อว่าสะอาดพรรคหนึ่ง แต่ถ้าต้องปล่อยให้พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเป็นสีดำบ้างสีเทาบ้างมาอยู่ร่วมกัน ผมคงรู้สึกอดสูใจพอสมควรเหมือนกัน  เพราะฉะน้ั้น นโยบายหนึ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ ควรจะนำเสนอกับประชาชนในงวดนี้ คือ จะทำอย่างไรที่จะให้คอร์รัปชั่นลดลง ผมไม่ต้องการให้มันสิ้นซากหรอก เพราะทำไม่ได้   แต่อย่างน้อย ลดลงจนเหลือ 20% ก็ยังดี
        
       ทำไมพรรคการเมืองใหญ่ๆ ไม่ขายนโยบายปราบคอร์รัปชั่น
       ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะจริงๆแล้ว เรื่องคอร์รัปชั่นถือเป็นวาระสำคัญของประเทศเลยก็ว่าได้ ดูอย่างการประชุม ครม.หนสุดท้าย ซึ่งเป็นการประชุม ครม.ที่ใครต่อใครก็
       กล่าวขวัญถึงว่ายาวนานที่สุด และมีการอนุมัติงบประมาณไปมากที่สุดเลย แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าตัวเลขที่อนุมัติไปนั้น ถึงเวลาแล้วมันจะตกไปถึงประชาชนหรือประเทศชาติเป็นจำนวนเท่าไหร่ แล้วหายไปเท่าไหร่
        
       อยากเห็นความกล้าหาญของพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องใด
       ผมตั้งคำถามว่า กล้าไหมที่จะประกาศว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคที่เป็นสีดำหรือสีเทา คือขอเป็นฝ่ายค้านที่สะอาด ดีกว่าอยู่ในรัฐบาล แล้วเป็นสีดำหรือสีเทา เพราะผมคิดว่า การทรยศคดโกงต่อประเทศชาติ มันไม่ได้หรอก ถึงแม้ว่าเราไม่โกง แต่เรามองเห็นเขาโกง แล้วเราไม่ห้ามเขาหรือเราไม่แสดงปฏิกิริยาออกมา
       ในทางกฎหมาย มันก็ผิด คุณเจอคนกำลังจะฆ่าคน แล้วคุณยืนดูไม่ห้าม มันก็ผิดเหมือนกัน แต่การผิดต่อประเทศชาติกับผิดต่อประชาชนคนหนึ่ง ฐานมันต่างกันเยอะมาก
       คุณทำผิดต่อประเทศชาติ หมายความว่า คุณมองเห็นเขาโกง มองเห็นเขาเอางบประมาณแผ่นดินไปใช้ แต่คุณไม่ห้ามปราม คุณไม่มีบทลงโทษ มันก็เท่ากับว่า คุณเอาภาษีอากร
       ซึ่งลูกหลานอาจจะเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียน เปลี่ยนมาเป็นสมุดหนังสือ หรือเอาไปสร้างเป็นโรงพยาบาล รักษาคนเจ็บคนป่วย แต่ต้องมาตกอยู่ในมือของคนพวกนี้ มันน่าเสียใจแทนประเทศชาติ
        
       คาดหวังกับการเลือกตั้ง 54 มากน้อยแค่ไหน
       คือองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดสำหรับความนิ่งทางการเมือง คือ คนที่อยู่นอกระบบควรจะต้องหยุด ส่วนคนที่อยู่ในระบบก็ต้องใช้ระบบแก้ปัญหาไป อย่างถ้าถามว่า รู้สึกอย่างไรที่ นปช.   ไปอยู่ในปาร์ตี้ลิสต์ ผมบอกว่าผมไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะผมถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่เขาตัดสินใจเดินจากนอกระบบเข้ามาสู้ในระบบ แต่ว่าอย่าออกไปข้างนอกอีก
       เราคงจำได้ว่ามีส.ส.พรรครัฐบาลคนหนึ่ง ซึ่งเมื่อก่อนอยู่นอกระบบแล้วก็อยู่ในระบบด้วย เวลาออกไปต่อสู้ข้างนอกถนน เขาก็บอกว่า เขามาในฐานะส่วนตัว แต่พออยู่ในสภา ก็ใช้สิทธิ ในสภา ซึ่งมันไม่ใช่ ถ้าคุณตัดสินใจเข้ามาอยู่ในสภาแล้ว คุณก็ต้องใช้วิถีทางของสภา อภิปรายไม่ไว้วางใจ แปรญัตติ หรือว่าตั้งกระทู้ก็แล้วแต่ แต่ไม่ใช่ว่า คุณแพ้ในสภา แล้วคุณ  ออกมาระดมพลข้างนอก เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าดี ที่ นปช.เข้ามาอยู่ในปาร์ตี้ลิสต์
       คราวนี้รัฐบาลใหม่จะอยู่รอดได้อย่างไร สำหรับผม คนที่อยู่นอกระบบจะต้องหยุด ต้องเลิกโหมกระพือข่าว สร้างข่าว เลิกทุกสิ่งที่ทำให้สังคมแตกแยก ผมเชื่อพลังของประชาชน เพียงแต่มันต้องมีเหตุที่สมควร แต่อย่างการปิดถนนหน้าทำเนียบกับเรื่องเขาพระวิหาร มันไม่ใช่ คือทุกอย่างมันมีกระบวนการของมัน เรื่องระหว่างประเทศ เขาก็มีองค์กรที่เขารับผิดชอบดูแล เราก็ต้องว่าไปตามนั้น
       สมัยก่อน เราใช้วิธียื่นหนังสือให้รัฐบาล ไม่ใช่ว่ามาปิดถนน แล้วสั่งให้รัฐบาลทำ ถ้าเป็นผม ผมก็ไม่ยอมเหมือนกัน คุณมาสั่งให้รัฐบาลทำในสิ่งที่มันมีพิธีกรรมทางการทูต มีกฎหมาย กฎระเบียบอยู่แล้ว มันไม่ได้ พลังของประชาชนทำได้เท่าที่ควรจะต้องทำ เว้นไว้แต่ว่า ถ้ารัฐบาลไม่ยอมทำ หรือรัฐบาลมีปฏิกิริยาที่จะทำให้เราสูญเสียอธิปไตยจริงๆ
       อย่างเช่น ยกเขาพระวิหารให้ประเทศอื่น เพื่อแลกกับบ่อน้ำมัน แต่อันนี้ มันยังอยู่ในพิธีกรรมทางการทูต
       เพราะฉะน้ัน ที่ผมเสนอ คือ ภายหลังการเลือกตั้ง ทุกคนต้องหยุด ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตาม เราต้องเปิดโอกาสให้รัฐบาลได้ทำงานสักระยะหนึ่ง แล้วใช้กระบวนการในสภา
       ตรวจสอบ ทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรืออะไรก็สุดแล้วแต่ คราวนี้ ถ้ากระบวนการภายในตรวจสอบไม่ได้ เพราะว่าเป็นเผด็จการทางรัฐสภา ทั้งหมดฮั้วกัน ช่วยกัน อันนั้น เราต้อง ออกมา
       
       มองเรื่อง  โหวต โน ของพันธมิตรฯ อย่างไร
       ผมคิดว่า การโหวตโน ไม่ได้ตอบโจทย์ของการเลือกตั้ง เพราะถ้าผลการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ปรากฏว่า ไม่มีนักการเมืองคนไหนได้เลือกเลย ถามว่าทำอย่างไร ในระบอบ
       ประชาธิปไตยก็ต้องเลือกตั้งใหม่อีก เสียอีกสี่พันล้านบาท ส่วนเรื่องเอาคนเก่ง หรือคนนอกเข้ามา ผมไม่เชื่อ เพราะตั้งแต่ผมเรียนหนังสือมาจนถึงปัจจุบัน ผมก็เห็นว่ามีปฏิวัติแล้วไม่รู้ กี่ครั้ง และทุกครั้งที่มีการปฏิวัติ ก็มีการเอาคนที่ไม่ใช่นักการเมือง ที่เชื่อว่าเป็นน้ำดีทั้งหมดมา แต่คำถามคือ คุณแก้ปัญหาได้ไหม มีคนดีที่คัดเลือกเข้ามาเป็นคณะรัฐมนตรี  แต่ถามว่า คนดีทำอะไรได้บ้าง ผมก็ยังไม่เห็น
       สำหรับผม ถ้าเราไม่ดูเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ถามว่าคนที่มาจากระบบเลือกตั้งหรือไม่ได้มาจากระบบเลือกตั้ง  มีใครทำอะไรให้ประเทศได้บ้าง แล้วจะเอาการแต่งตั้งมาแทนการเลือกตั้ง มันจะแก้ปัญหาได้เหรอ ผมคิดว่า วิธีเลือกที่ดีที่สุด ก็คือการใช้ระบบประชาธิปไตย ใช้การเลือกตั้งนั่นแหละ แล้วเราก็ต้องเพิ่มมาตรการนอกสภาให้มันรุนแรงมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มที่เคลื่อนไหวต่างๆ รวมถึงสื่อ และนักวิชาการ เราต้องคอยตามนโยบาย แล้วคอยจี้ให้รัฐบาลทำตามนโยบายที่ตัวเองแถลงตอนหาเสียงด้วย นโยบายของรัฐบาลตามกฎหมายด้วย
       เพราะฉะน้ัน ผมว่าโหวตโน ไม่ใช่คำตอบ จะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง ไม่เคยแก้ปัญหาได้เลย บ้านเราต้องอยู่ในระบบ ต้องผ่านการเลือกตั้ง ต้องเรียนรู้ระบบ และอดทนกับมัน เพียงแต่ว่ากลไกในการตรวจสอบข้างนอกต้องแข็ง และไม่เล่นพรรคเล่นพวกกัน ไม่ใช่ว่าพอพวกตัวเองเข้าไปเป็นรัฐบาล แล้วไม่ตรวจสอบ ผมว่าไม่ใช่
        
        
       ความเป็นกลางของ กกต. ในการเลือกตั้ง
       คือ ความเป็นกลางของ กกต.ใหญ่กับ กกต.จังหวัด มันต้องแยกกัน สำหรับ กกต.ใหญ่ ผมว่าทำอะไรไม่ได้มาก เพราะหน้าที่ของเขา ก็คือออกกฎระเบียบ แค่นั้นเอง แต่ผมมองว่า
       ประเด็นสำคัญมันอยู่ที่การให้ใบเหลืองใบแดง ซึ่งผมอยากให้ศาลเป็นผู้ดูแลมากกว่า ผมไม่อยากให้ กกต.ไปใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะจะถูกหรือผิด กกต.ก็ถูกครหาอยู่แล้ว  มันก็เหมือนกับผมเป็นอาจารย์ แล้วผมให้เด็กคนหนึ่งสอบตก เด็กไม่เคยบอกหรอกว่าตอบไม่ได้ แต่เขาจะบอกว่าอาจารย์สอนไม่รู้เรื่อง เพราะฉะน้ัน คนที่ถูกตัดสิทธิ์ เขาก็จะบอกว่า  กกต.แกล้ง หรือฝ่ายโน้นฝ่ายนี้แกล้ง เพราะฉะน้ัน กตต.ควรใช้อำนาจให้จำกัดที่สุด แล้วปล่อยให้เป็นหน้าที่ของศาลจะดีกว่า หมายความว่า การจะให้ใบแดง ต้องชัดที่สุด แบบไม่มี  ข้อกังขาใดๆ แต่ถ้ามีแม้เพียงเล็กน้อย รอให้ศาลพิพากษาเลย
       คือ ที่ผมคิดว่าต้องมีการปฏิรูป กตต. เพราะ กกต.มีความแตกต่างจากหน่วยงานราชการทั่วไป เพราะมันมีความแก่งแย่งกันทางการเมืองอยู่ด้วย มันมีความพยายามที่จะสร้างเหตุการณ์สร้างสถานการณ์ สร้างหลักฐานที่ไม่ถูกต้อง เพื่อที่จะล้มคู่แข่งทางการเมือง แต่การที่ทุกอย่างมากระจุกอยู่ที่ กตต.มันไม่ถูกต้อง ผมเคยเสนอไว้เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ว่าควรจะเอารูปแบบ  ของศาลเลือกตั้งมาใช้ ตั้งเป็นศาลเฉพาะกิจขึ้นมา โดยอาจจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ตุลาการศาลปกครองส่วนหนึ่ง, ผู้พิพากษาศาลปกครองส่วนหนึ่ง และเราก็อาจจะหามาอีกส่วนหนึ่ง
        
       คาดหวังอะไรคุณอภิสิทธิ์ ที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีรอบสอง
       สิ่งที่ผมผิดหวังพอสมควร คือ พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่ามาก น่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ น่าจะเป็นระบบมากกว่านี้ อย่างเรื่องทุจริต คอร์รัปชั่น มันต้องทุบโต๊ะ เพราะผมคิดว่าคุณอภิสิทธิ์ทราบดีอยู่แล้วว่า ปัญหาที่สำคัญที่สุดของประเทศ คือ นักธุรกิจทุจริตคอร์รัปชั่น โดยนักการเมืองร่วมกับข้าราชการและภาคเอกชน เพราะฉะนั้น มันควรจะต้องหลีกจุดนี้ให้มากที่สุด แต่รัฐบาลชุดนี้ ก็มีข้อกล่าวหาเยอะมาก
        
       แล้วมองคุณทักษิณอย่างไร
       คุณทักษิณ ผมว่าเป็นคนที่น่าเสียดายที่สุด คุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่มีอะไรครบมากที่สุดในความคิดของผม เงินก็มีเยอะ คุมเสียงข้างมากในสภาก็ได้ คุมในพรรคตัวเองก็ได้ ตอนนั้นใครๆก็เรียกว่า "นายใหญ่" คือ ทุบโต๊ะได้หมด จะเอาใคร ไม่เอาใคร แต่แทนที่จะใช้ความเป็นผู้นำสูงสุดในลักษณะแบบนั้น แก้ไขปัญหาระยะยาว
       ของประเทศ กลับไปเสียเรื่องจุกจิก มันก็เลยทำให้พลาดโอกาส ซึ่งนายกฯคนอื่นไม่มีทางทำได้แล้ว เพราะการจะเป็นแบบนั้นได้ ต้องมีหลายอย่างประกอบกัน อย่างเช่น ต้องมีบุคลิก  ต้องมีเสียงข้างมาก และก็ต้องมีศรัทธาพอสมควร ซึ่งเขาหมดไปแล้วโอกาสนั้น เพราะเขาเลือกเลี้ยวซ้ายแทนที่จะเลี้ยวขวา.
        
       (เรื่อง/ภาพ ชชานนท์ ลิ่มทอง )
        
        


 
 
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2546
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 8 กันยายน 2544
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.โภคิน พลกุล รองประธานศาลปกครองสูงสุด ณ สำนักงานศาลปกครอง วันที่ 27 กรกฎาคม 2544
บทสัมภาษณ์ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ณ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย วันที่ 11 ธันวาคม 2544
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2546
   
 
 
 
มองการปฏิรูปประเทศผ่านสายตานักกฎหมาย นันทวัฒน์ บรมานันท์ จากคนวงในสู่ภาพขยายสังคม
ปี ๒๕๕๕ การเมืองจะรุนแรง ? เหตุ ปชช.ไม่รู้
ศึกแผงลอย "สยามสแควร์"ยื้อ 8 เดือน "จุฬาฯ" เกินต้านยอมถอย แฉ! "เจ้าหน้าที่" ไม่ร่วมมือ!!!
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อัดแก้รธน. 2 มาตราไม่ได้ตอบโจทย์แก้ปัญหาปรองดอง เสนอขึ้น"บัญชีดำ"คนยกร่างรธน.ปี50
"นันทวัฒน์ บรมานันท์"ซัดคลิปลับฉาว ศาล รธน.บกพร่องเอง คนแต่งตั้งกุนซืออย่าปฏิเสธความรับผิดชอบ
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ว่าด้วยเรื่อง "ปรองดองขี้ขลาด-เส้นทางการเมืองและการปฎิรูป"
สัมภาษณ์ ดร.วรรณภา ติระสังขะ เจาะโมเดลตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จาก"ฝรั่งเศส"ถึง กฟผ. .′ความ(ไม่)เท่าเทียมกันของอาวุธ′
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ชำแหละ"รากแห่งความขัดแย้ง" ลากสังคมไทยสู่สงครามกลางเมือง !!!!
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544