ศึกแผงลอย "สยามสแควร์"ยื้อ 8 เดือน "จุฬาฯ" เกินต้านยอมถอย แฉ! "เจ้าหน้าที่" ไม่ร่วมมือ!!! |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษากฎหมายสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ให้สัมภาษณ์ "มติชนออนไลน์" ถึงกรณีความขัดแย้งระหว่างจุฬาฯ ในฐานะเจ้าของพื้นที่ย่านสยาม สแควร์ และทางเท้า (หรือฟุตปาธ) กับบรรดาผู้ค้าแผงลอย ที่ยืดเยื้อมายาวนานกว่า 8 เดือน โดยมีตัวละครสำคัญคือ เทศกิจ เขตปทุมวัน และตำรวจ รวมถึงผู้มีอิทธิพล อีกมากมายทั้งที่ปรากฏชื่อและไม่ปรากฎชื่อ ไม่น่าเชื่อว่า กรณีดังกล่าว อาจสะท้อนภาพใหญ่ของสังคมไทย ได้อย่างชัดเจนที่สุด
ที่มาของปัญหา
แรกเริ่มเดิมที มีคนมาร้องเรียนกับจุฬาฯว่า ไม่สามารถใช้ฟุตปาธเป็นทางสัญจรได้ เวลาจะรอรถเมล์ก็ต้องลงไปรอบนถนนหลวง ทำให้เสียถนนไปหนึ่งเลน รถก็ติด คนพิการก็ไม่สามารถเข็นรถเข็นได้ ทั้งๆที่มีลิฟต์คนพิการจากบีทีเอส แต่พอลงจากลิฟต์มา ก็ไปไหนไม่ได้ เพราะติดหาบเร่แผงลอยที่ขวางทาง จุฬาฯเองจึงคิดว่า เราจะจัดระบบหาบเร่แผงลอย เพราะมีคนมาอ้างว่าจุฬาฯเก็บเงิน ทั้งที่เราไม่เคยเก็บ
จากจุดนี้ ประกอบกับที่จุฬาฯออกนอกระบบเมื่อ 2 ปีก่อน เราก็เลยทำการรังวัดที่ดินใหม่ ปรากฏว่าแนวโฉนดที่ดินของจุฬาฯ กินพื้นที่ในสยามสแควร์ไปจนสุดอยู่กลางถนนพระรามที่ 1 เพราะฉะน้ัน เมื่อถนนเป็นที่ดินของจุฬาฯ ฟุตปาธก็ต้องเป็นที่ดินของจุฬาฯ แต่ในอดีต กทม.เป็นคนดูแลฟุตปาธ ซ่อมฟุตปาธ กทม.ก็บอกว่า ฟุตปาธ เป็นพื้นที่ของเขา ก็เลยเกิดการโต้แย้งสิทธิ์กัน เวลาที่จุฬาฯขอให้ กทม.ทำอะไรให้ มันก็จะไปติดทางฝ่ายกฎหมายของเขา
ในฐานะที่ผมเป็นนักกฎหมาย และที่ปรึกษากฎหมายสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ผมพยายามที่จะบอกว่า ฟุตปาธจะเป็นของจุฬาฯ หรือเป็นของ กทม.ไม่ใช่ปัญหา ถ้าเป็นของจุฬาฯ จุฬาฯไม่ได้จะเอาฟุตปาธมาทำศูนย์การค้า เราจะเอาฟุตปาธมาให้คนเดิน ถ้าเป็นของ กทม.คุณก็ต้องดูแลตามกฎหมาย เพราะฟุตปาธไม่ใช่ที่ตั้งขายของ ไม่ใช่จุดผ่อนผัน ไม่ใช่อะไรเลย เพราะฉะน้ันต้องเคลียร์ให้หมด เราเองก็พยายามทดลองทำหลายๆเรื่อง แต่ก็ประสบความล้มเหลว
สาเหตุที่ล้มเหลว (ไม่ได้รับความร่วมมือ)
สาเหตุที่ล้มเหลวมาจากหลายส่วนด้วยกัน ส่วนหนึ่ง คือ นโยบายของรัฐบาลตอนนั้น ที่บอกว่าจะประกาศจุดผ่อนผันเพิ่มให้ขายของบนฟุตปาธได้ อันนี้ผมคิดว่า รัฐบาลเดินมาในทางที่ผิด แต่สาเหตุที่สำคัญที่สุด คือ การขาดความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ คนเป็นตำรวจก็บอกว่า ไม่สามารถดูบนฟุตปาธได้ เขาดูเฉพาะพื้นผิวจราจร
ฟุตปาธเป็นเรื่องของเทศกิจ ก็เกี่ยงกันไปเกี่ยงกันมา เราพยายามทุกวิถีทาง ขนาดไปขอความร่วมมือจากผู้ว่าฯ จากผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เรากันพื้นที่ของสยาม สแควร์ด้านหลัง ตรงอาคารสยามกิตติ์ เพื่อให้หาบเร่แผงลอยย้ายเข้ามา เขาก็ไม่ยอมย้าย
เราพยายามที่จะอ้างตัวบทกฎหมาย แต่ในการอ้างตัวบทกฎหมายของเรา มันก็มักจะมาจบตรงที่ว่า ใครเป็นเจ้าของที่ ซึ่งผมก็เถียงตลอดว่า ใครเป็นเจ้าของที่ไม่สำคัญ
คนเดินมาเป็นสิบๆปีแล้ว ทำไมคุณถึงปล่อยให้มาขายของ การไปขายตรงนั้นมันผิดกฎหมาย ถ้าคุณนึกถึงแต่ประโยชน์ของตัวคุณเอง แต่คนเดินถนนเดินไม่ได้ มันก็ลำบาก เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราพยายาม คือ ฟื้นฟูพื้นผิวฟุตปาธให้กับคนเดิน แต่ว่าเราทำไม่สำเร็จ เพราะว่าเราไม่ได้รับความร่วมมือ
มาตรการแก้ปัญหา (กรณีชายฉกรรจ์เสื้อชมพู)
สน.ปทุมวัน แนะนำให้ติดประกาศว่าที่ดินตรงนี้เป็นของจุฬาฯ เราให้ใช้เป็นทางสัญจร แต่ห้ามค้าขาย เราก็ติดป้ายเต็มไปหมด ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ แล้วเราก็แจกใบปลิว
ว่าสิ้นเดือน ตุลาคม ปี 2553 เราจะไม่ให้ขาย แต่ตอนนั้น กำลังตำรวจเทศกิจมีไม่กี่คน แค่หลักสิบ ส่วนตำรวจในโรงพัก ช่วงนั้นก็มีปัญหาเรื่องเสื้อแดงเสื้อเหลือง
เราก็เลยจ้างรปภ. ไม่ใช่ชายฉกรรจ์ เพราะคิดว่ารปภ.จะคอยเป่านกหวีดไล่ ไม่ให้ขาย แต่เราก็แพ้ เพราะรปภ.ก็คือรปภ. ถ้าเป็นชายฉกรรจ์เขาอุ้มไปแล้ว พอรปภ. บอกห้ามขาย แม่ค้าบอกจะขาย จะทำไม เราทำอะไรไม่ได้ เราจะเข้าไปจับก็ไม่ได้ เคยมีการขู่ถึงขนาดจะเอาน้ำมันร้อนๆมาสาดเจ้าหน้าที่เราด้วยซ้้ำไป
เพราะฉะน้ัน เราไม่ได้จ้างชายฉกรรจ์ในลักษณะที่สื่อเอาไปพูด แต่เป็นรปภ. แล้วเราให้ใส่เสื้อชมพูเพื่อให้รู้ว่าเป็นคนจุฬาฯ เพื่อให้รู้ว่านี่เป็นคนของเรา
แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ
จะทำอย่างไรต่อไป?
เราลองมาแล้วทุกรูปแบบ ลองเอาการ์ด เอารปภ.มา เราขอให้เทศกิจระดมพลมาจากทุกๆแห่ง วันหนึ่ง 60-70 คน ก็ไม่สำเร็จ เราขอให้ตำรวจมายืนดูก็ไม่สำเร็จ แผงที่เราเอามากั้น เราก็พยายามออกแบบมาให้ดีที่สุด ผลสุดท้าย เราพยายามเอาต้นไม้มา แต่ก็ถูกทำลาย ถูกน้ำมันราด น้ำร้อนราด ถูกถอนออกไปหมด แผงก็ถูกงัด
ตั้งแต่ต้นแล้ว เรารู้ว่าจุฬาฯทำคนเดียวไม่ได้ มันต้องร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ และเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจรัฐด้วย จุฬาฯซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่
ก็ถูกหน่วยงานของรัฐโต้แย้งว่าไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ ในขณะเดียวกันหน่วยงานของรัฐนั้นแหละ ที่มีอำนาจรัฐในการแก้ไขปัญหา แต่กลับไม่ยอมใช้อำนาจรัฐเสียเอง ในเมื่อสิ่งที่เราทำ เหมือนว่าถูกขัดโดยหน่วยงานที่มีอำนาจ เราก็ย่อมจะทำไม่สำเร็จอยู่แล้ว นี่ไม่ใช่การยกธงขาว เราเพียงต้องดำเนินการตามวิถีของเราต่อไป
สัปดาห์หน้า เราจะยกแผงทั้งหมดออก เราจะเคลียร์พื้นที่ให้โล่งเหมือนเดิม ถ้าคุณอยากจะขาย เราไม่รับทราบ แต่เราจะทำจดหมายถึงหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบว่า ขอให้ดำเนินการตามกฎหมาย แต่ถ้าเขาไม่ดำเนินการ ก็คงต้องดูต่อไป ผมก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อาจจะมีประชาชนไปฟ้อง ถ้ามีใครเดินสัญจรไม่ได้ หรือคนพิการ เขาอาจจะไปร้องเรียน หรือไปแจ้งความว่า เกิดการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
มองสังคมกรุงเทพอย่างไร
ในโลกนี้มีประเทศที่น่าอยู่เยอะ และประเทศที่ไม่น่าอยู่ กรุงเทพไม่ใช่ที่ที่น่าอยู่ ทุกคนอยู่เพื่อตัวเอง ดูอย่างคนขับมอเตอร์ไซค์ เขาจะมีกระจกสองข้างบานออกไป ข้างนอก เพื่อให้ดูซ้ายดูขวา แต่มอเตอร์ไซค์ร้อยละ 50 พับกระจกเข้ามาข้างใน เพราะว่ามันเกะกะ พอนึกอยากจะเลี้ยวก็เลี้ยว ไม่ดูกระจก คนขับรถต้องคอยระวังไม่ให้ชนมอเตอร์ไซค์ ความเป็นจริงของสังคมกรุงเทพฯ คือ ฉันจะทำอย่างที่ฉันอยากทำ
ฟุตปาธซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับคนเดิน ก็มีวินมอเตอร์ไซค์ไปจอด มีแม่ค้าไปขายของ ส่วนร้านค้าที่เขามีสัญญาเช่าที่ถูกกฎหมาย เขาก็เดือดร้อน คนเหล่านี้ต้องเสียภาษี ในขณะที่เวลาคุณขายข้างนอก คุณใช้พื้นที่สัญจรของคนอื่นมาทำมาหากิน ถามว่าคุณเสียภาษีอะไรบ้าง คุณอาจจะเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะเข้าไปซื้อน้ำมันในห้าง แต่ภาษีเงินได้ส่วนบุคคล คุณไม่เสีย แล้วของที่ขาย ก็มีทั้งของผิดกฎหมาย บุหรี่หนีภาษีก็มี ปากกาที่ไปหิ้วมาจากประเทศจีน เสื้อผ้าของปลอมทั้งนั้นเลย
ปัญหา คือ เราไม่เคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน และเราไม่เคารพกฎหมาย เพราะฉะน้ัน นี่ไม่ใช่สังคมที่น่าอยู่ การจะทำให้กรุงเทพเป็นเมืองที่น่าอยู่ สำหรับผม ก็คือทุกคนต้องเคารพกติกาของสังคม และต้องนึกถึงผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่ว่าใครอยากทำอะไรก็ทำ แล้วผู้รักษากฎหมายก็ละเว้น ไม่ยอมใช้กฎหมาย
ผมว่านี่เป็นความพ่ายแพ้ของการบังคับใช้กฎหมาย เป็นการหย่อนยานของเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งระบบ ซึ่งต้องการการปรับปรุงอย่างมาก...
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|