หน้าแรก สัมภาษณ์
"นันทวัฒน์ บรมานันท์"ซัดคลิปลับฉาว ศาล รธน.บกพร่องเอง คนแต่งตั้งกุนซืออย่าปฏิเสธความรับผิดชอบ
7 พฤศจิกายน 2553 22:20 น.
 
ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ผ่านวิทยุ เอฟเอ็ม 100.5 รายการ "ช่วยกันคิดทิศทางข่าว" เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม เกี่ยวกับการแต่งตั้งที่ปรึกษาและเลขานุการศาลรัฐธรรมนูญ ว่า
       การที่จะนำคนของตัวเองเข้ามาในตำแหน่งที่ปรึกษา ขอถามว่าการที่นำคนของตัวเองเข้ามาควรจะคุมคนของตัวเองให้ได้ด้วยหรือไม่ จะมองอีกมุมหนึ่งหน่วยงานธุรการของศาลมีอยู่แล้ว คือ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งพวกนี้มีสำนักงานอยู่แล้ว ทำไมไม่ให้สำนักงานเหล่านี้คัดเลือกบุคคลที่ไว้ใจได้ที่สุด เป็นกลางที่สุด เข้ามาทำหน้าที่เข้ามาเป็นเลขานุการของตุลาการของผู้พิพากษา มอบหมายให้เป็นหน้าที่ของสำนักงาน จะได้ตัดตอนว่าตุลาการมาคนเดียวพร้อมความเก่งในสมองในตัวท่านเอง แล้วใช้ความเก่งในการพิจารณาวินิจฉัย ส่วนงานธุรการให้สำนักงานรับผิดชอบไป หากตุลาการต้องการที่จะค้นคว้าเพิ่มเติมไม่ต้องให้ที่ปรึกษาแต่มอบหมายให้ทางสำนักงานทำแทน เพราะสำนักงานมีหน่วยงานทางวิชาการอยู่แล้ว เช่น สำนักงานศาลปกครองจะมีหน่วยงานทางวิชาการจะแข็งมาก มีการแปล มีการจัดสัมมนา การทำงานกับต่างประเทศ บางคนเก่งกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคน ฉะนั้นน่าจะให้ไปอยู่ในหน่วยธุรการศาลมากกว่า ตุลาการมาคนเดียวดีกว่าเพื่อให้ความรับผิดชอบอยู่เฉพาะตัว
       
       "เวลาจะพิมพ์อะไรแล้วกลัวความลับรั่วและนำคนของตัวเองเข้ามาต้องรับผิดชอบ ไม่เช่นนั้นความรับผิดชอบจะตกอยู่ที่ตัวสำนักงาน ผมมองว่าน่าจะดีกว่า บางทีเราแยกความรับผิดชอบออกจากตัวตุลาการให้ท่านรับผิดชอบเฉพาะการพิพากษาพิจารณาคดี ส่วนความรับผิดชอบทางด้านธุรการหน่วยงานสนับสนุนทางวิชาการให้สำนักงานไปทำ บางอย่างประหยัดงบประมาณไปได้เยอะ คุมเรื่องคนเรื่องความปลอดภัยได้มากกว่าเพราะคนที่ดูแลหน่วยงานธุรการจะต้องคัดเลือกคนที่ไว้ใจได้ที่สุดเพราะความรับผิดชอบจะตกอยู่ที่คนคัดเลือก เพราะวันนี้เรายังต้องมาคุยกันเรื่องความรับผิดชอบว่าคุณเป็นคนนำเข้ามาแล้วคนของคุณมีเรื่องโยงเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วจะบอกว่าไล่ออกแสดงความรับผิดชอบ ผมว่ามันไม่ใช่การแสดงความรับผิดชอบ ลักษณะที่เราเข้าใจกันอยู่ ซึ่งมันไม่ใช่ความรับผิดชอบ" ดร.นันทวัฒน์ กล่าว
       
       ผู้ดำเนินรายการถามว่าเรียกร้องความรับผิดชอบที่สูงกว่านี้ ?
       
       ดร.นันทวัฒน์ กล่าวว่า ถ้าวันนี้เป็นเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญสังคมต้องบีบให้เลขาธิการลาออกแน่นอน ว่าเลือกคนแบบนี้เข้ามาได้อย่างไร ในสถานที่ที่ต้องรักษาความลับมากที่สุด เลือกคนแบบนี้เข้ามาได้อย่างไร ถ้ามองมุมกลับกันหากเป็นเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญคงถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว
       
       ผู้ดำเนินรายการถามว่า เป็นไปได้อย่างไรที่ประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคลิปลับออกมาเผยแพร่ตามที่เป็นข่าวสารในตอนนี้?
       
       ดร.นันทวัฒน์ กล่าวว่า ไม่ทราบต้องถามทางสำนักงาน ผมคิดว่าสังคมต้องให้ความสนใจมากกว่านี้โดยเฉพาะหน่วยธุรการไม่ได้มีปัญหาเรื่องการแต่งตั้งตัวบุคคลเข้าไปแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นความรับผิดชอบของผู้ตั้งที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีเหล่านี้ต้องดูแล้วว่าใครเป็นคนรับผิดชอบ
       
       "ผมมีเรื่องขำที่นึกขึ้นมาได้สมัยที่ผมเป็นที่ปรึกษาศาลรัฐธรรมนูญ ไปเจอตุลาการท่านหนึ่งท่านมีมือถือที่ถ่ายรูปได้ ด้วยความคุ้นเคยจึงถามไปว่า ซื้อโทรศัพท์ใหม่มีกล้องถ่ายรูปด้วยเหรอ ท่านก็ตอบว่า ไม่ สำนักงานซื้อให้ ผมก็ถามด้วยว่า ท่านจะเก็บไว้ถ่ายรูปคู่ความที่มาพิจารณาคดีหรืออย่างไร สำหรับตุลาการหากอยากได้โทรศัพท์มือถือที่ถ่ายรูปได้ ทำไมไม่ซื้อเอง ประหยัดเงินรัฐได้ตั้งเยอะแยะ จริงๆของพวกนี้ไม่ควรพาเข้าไปในห้องประชุมด้วยซ้ำไป วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญต้องทบทวน ดูเจ้าหน้าที่ทั้งหมดแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น ข่าวรั่วออกมาเป็นไปไม่ได้ เลขาธิการต้องออกมาชี้แจงให้ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้เรื่องเงียบไปแล้วก็จบมันไม่ถูก" ดร.นันทวัฒน์ กล่าว
       
       ผู้ดำเนินรายการถามว่า เมื่อใกล้ถึงวันพิพากษาตัดสินคดียุบพรรคแรงกดดัน เสียดสี กระแสดิสเครดิตต่อศาลต่อบุคคลแรงขึ้นเรื่อยๆมองปรากฏการณ์นี้อย่างไรบ้าง
       
       "ผมไม่ได้มองว่าเป็นแรงกดดันอะไรเลย ผมมองว่าเป็นข้อบกพร่องการทำงานของหน่วยงาน ถ้าวันนี้ไม่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น อาจจะเพราะความประมาทเลิ่นเล่อ ความไม่รับผิดชอบอะไรก็ไม่มี จะไปบอกว่าคนนั้นคนนี้ทำไปกดดันเรื่องเกิดขึ้นในศาลไม่ใช่นอกศาล และเกิดขึ้นโดยมีที่มาจากที่ปรึกษาของประธานศาลด้วย อย่าไปบอกว่าคนนอกกดดัน พอหลุดออกมาแล้วบอกว่าคนข้างนอกพูดแล้วบอกว่าคนนอกกดดัน ท่านจะไปทำอะไรกันก็ได้ แล้วพอถึงเวลาคนข้างนอกทราบ แล้วต้องรูดซิปปากพูดไม่ได้ ผมว่าไม่ใช่ การนำเสนอข่าวนี้ดีแล้ว อย่างน้อยสังคมจะได้รับรู้เรื่องการรักษาความปลอดภัย การคัดเลือกคนคุณแย่มาก วันก่อนผมอ่านในมติชนเห็นตัวเลขที่ประเทศชาติเอาเงินภาษีอากรของประชาชนไปจ่ายให้ ค่าที่ปรึกษา รถประจำตำแหน่ง ผมว่ามันไม่คุ้มเลยทำไมไม่ซื้อโตโยต้า วีออส ขับกัน อยากขับรถคันโตๆมีเงินเดือนเป็นแสนทำไมไม่ซื้อกันเอง ผมว่ามันไม่ถูก รถประจำตำแหน่งต้องพอเพียง ขับรถตัวเองคันโตๆมาจากบ้านแล้วมาจอดใช้รถหลวงไม่เห็นจะมีปัญหาอะไรใช้ในเวลาราชการคันเล็กๆประหยัดดี ทำไมต้องขับคันโตให้ราชการเสียเงิน ไม่รู้สึกอะไรเลยหรือไง " ดร.นันทวัฒน์ กล่าว
       
       ผู้ดำเนินรายการถามถึงกรณีที่อดีตตุลาการศาลปกครองที่เกษียณไปแล้วได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาได้เงินเดือนคนละ5-6 หมื่น มีประมาณ 10 กว่าคนปีหนึ่งเป็นล้านบาทเหมาะสมหรือไม่
       
       ดร.นันทวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องขององค์กรอิสระทั้งหมดถ้ามีการทบทวนได้น่าจะดี น่าจะหาคนมาทำการวิจัยหรือดูว่าการทำให้หน่วยงานอิสระตั้งงบประมาณขึ้นมาดูแลตัวเองได้ มันถูกหรือไม่ถูก ประเทศเราไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย เรามีคนจนจำนวนมากและกำลังคิดที่จะขยายฐานภาษีเพื่อให้เป็นรัฐสวัสดิการ คนจะได้มีความเสมอภาคกัน
       
       "ถ้าต้องเสียเงินกับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องแบบนี้ต้องเก็บภาษีอีกเยอะแยะ คนที่เกษียณไปแล้วมีความสามารถเป็นที่ปรึกษาจริงๆแล้วท่านก็รับเงินเดือนกันมาเยอะๆแล้ว ท่านทำเพื่อชาติไม่ได้หรืออย่างไร มีห้องทำงานมีข้าวให้กินมีค่าน้ำมันรถเหมือนเบี้ยประชุมก็น่าจะพอ ควรจะลงไปดูระบบจ่ายเงินของประเทศชาติได้แล้ว เพราะยังมีอีกหลายเรื่อง ยกตัวอย่าง องค์กรอิสระอีกตั้งหลายแห่งเวลาที่เดินทางไปต่างประเทศ ใช้เงินกันแบบอภิมหาศาล นั่งรถบีเอ็มดับเบิลยู ซีรี่ย์ 7 นั่งเครื่องบินชั้น 1 อาหารการกินต้องดีที่สุด ซึ่งเป็นเงินของประเทศที่มาจากภาษีอากรทั้งนั้น หรือจะบอกว่าเป็นเงินที่ตัวเองหามาได้ แต่ในเมื่อเป็นเงินของรัฐเอาไปสร้างโรงเรียนโรงพยาบาลดีกว่า ท่านไปเมืองนอกครั้งหนึ่ง7-8 คน ไปสร้างโรงเรียนในต่างจังหวัดได้1 แห่งทีเดียว บางครั้งต้องมาดูว่าเรากำหนดฐานเงินเดือนสูงมาก องค์กรมหาชนก้เช่นเดียวกันระดับรองผู้อำนวยการมีเงินเดือน 6 หลัก" ดร.นันทวัฒน์ กล่าว


 
 
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2546
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 8 กันยายน 2544
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.โภคิน พลกุล รองประธานศาลปกครองสูงสุด ณ สำนักงานศาลปกครอง วันที่ 27 กรกฎาคม 2544
บทสัมภาษณ์ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ณ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย วันที่ 11 ธันวาคม 2544
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2546
   
 
 
 
มองการปฏิรูปประเทศผ่านสายตานักกฎหมาย นันทวัฒน์ บรมานันท์ จากคนวงในสู่ภาพขยายสังคม
ปี ๒๕๕๕ การเมืองจะรุนแรง ? เหตุ ปชช.ไม่รู้
ศึกแผงลอย "สยามสแควร์"ยื้อ 8 เดือน "จุฬาฯ" เกินต้านยอมถอย แฉ! "เจ้าหน้าที่" ไม่ร่วมมือ!!!
ถามหาความกล้า"ประชาธิปัตย์"เป็นฝ่ายค้านที่สะอาดดีกว่าอยู่ในรัฐบาล แล้วเป็นสีเทา
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อัดแก้รธน. 2 มาตราไม่ได้ตอบโจทย์แก้ปัญหาปรองดอง เสนอขึ้น"บัญชีดำ"คนยกร่างรธน.ปี50
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ว่าด้วยเรื่อง "ปรองดองขี้ขลาด-เส้นทางการเมืองและการปฎิรูป"
สัมภาษณ์ ดร.วรรณภา ติระสังขะ เจาะโมเดลตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จาก"ฝรั่งเศส"ถึง กฟผ. .′ความ(ไม่)เท่าเทียมกันของอาวุธ′
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ชำแหละ"รากแห่งความขัดแย้ง" ลากสังคมไทยสู่สงครามกลางเมือง !!!!
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544