หน้าแรก สัมภาษณ์
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2546
17 ธันวาคม 2547 11:08 น.
 
หน้าที่แล้ว
1 | 2 | 3
หน้าถัดไป
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ในฐานะที่ท่านเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่อยู่ในระบบราชการมานาน ท่านมีความเห็นอย่างไรกับการปฏิรูประบบราชการที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมาครับ
       
       ศ.ดร.อมรฯ :
การปฏิรูประบบราชการที่รัฐบาลแก้ไขกฎหมาย 2-3 ฉบับในเดือนตุลาคม 2545 ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลเรียกว่า "การปฏิรูประบบราชการ" และก็พยายามให้คนอื่นๆ เรียกตามไปด้วย แต่ผมคิดว่า การที่จะรู้ว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเป็นการปฏิรูประบบราชการหรือไม่นั้น เราคงต้องวิเคราะห์ดูจากสิ่งที่รัฐบาลแก้ นักวิชาการคงต้องดูจากสาระความเป็นจริง นักวิชาการคงไม่เรียกตามที่คนอื่นบอกให้เรียก อันที่จริงผมไม่อยากจะพูดอะไรที่เกี่ยวกับการเมืองหรือให้ความเห็นที่กระทบรัฐบาล รัฐบาลปัจจุบันให้ข่าวและออกเป็นประกาศทางราชการว่าการปฏิรูประบบราชการครั้งแรกนั้นทำมานาน 110 ปีมาแล้ว คือ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และจากนั้นมาก็เพิ่งจะมีการปฏิรูปราชการอีกครั้งหนึ่งคือครั้งนี้ ผมเห็นว่าเกินความจริง
       การปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นการปฏิรูประบบราชการจริง และผมก็ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้แล้วเมื่อ 3-4 ปีก่อน สมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านปฏิรูประบบราชการ แต่พระองค์ท่านยังไม่ได้ปฏิรูประบบการเมือง และจนกระทั่งเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.2453 พระองค์ท่านก็ไม่มีโอกาสปฏิรูปการเมือง ทั้งๆ ที่พระองค์ท่านมีพระราชประสงค์จะให้รัชกาลที่ 6 พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทยในอีกระยะ 2-3 ปี แต่สำหรับการแก้ไขกฎหมาย 2-3 ฉบับเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินและการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ครั้งนี้ ผมคิดว่า เราอย่าเอาไปเปรียบเทียบกับการปฏิรูประบบราชการสมัยรัชกาลที่ 5 เลย ท่านดูเอาเองก็แล้วกันว่า หลังจากที่เราแก้กฎหมาย 2-3 ฉบับนี้แล้ว ระบบราชการของเราชะงักงันไปหรือไม่ และมีปัญหาอะไรตามมาบ้างท่านดูเอาเอง ผมคงบอกไม่ได้และไม่บอก
       ในทางวิชาการ ผมถามปัญหาอยู่ในใจว่า ในการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินและกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมนั้น มีความจำเป็นจะต้องทำพร้อมกันทั้งหมดทุกกระทรวงหรือไม่ และการทำทั้งหมดทุกกระทรวงในคราวเดียวกันนี้ เกิดผลดีหรือผลเสีย ซึ่งผมยังตอบไม่ได้ และนอกจากนั้น ปรากฏว่า หลังการปฏิรูประบบราชการ ก็มีกระทรวง ICT และได้มีการตราพระราชกำหนดเกี่ยวกับภาษีสรรพสามิตออกมา ซึ่งบางคนเรียกว่า เป็นการแปรสัญญาสัมปทานการโทรคมนาคม ซึ่งผมก็มีคำถามในใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้ มีบุคคลในรัฐบาลคิดไว้ก่อนที่รัฐบาลจะแก้ไขกฎหมายปฏิรูประบบราชการหรือไม่ ซึ่งคำถามนี้ผมก็ยังตอบไม่ได้ ท่านอาจารย์ช่วยวิเคราะห์หาคำตอบให้ผมด้วยก็แล้วกัน ในต่างประเทศ เรื่องเหล่านี้จะต้องมี study report ทางวิชาการพิมพ์เผยแพร่ให้ประชาชนทราบผลการวิเคราะห์ก่อนว่า ผลดีผลเสียของส่วนรวมอยู่ที่ไหน เพราะการเสนอร่างกฎหมายเป็นเพียง"วิธีการ"เท่านั้น มิใช่ว่าเสนอกฎหมายไปแล้ว มาเถียงกันว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ใครรู้หรือใครไม่รู้ ผมอยากจะเห็นว่า รัฐบาลมี "หน้าที่" ต้อง publish เอกสารวิเคราะห์ที่เป็นกลาง และเผยแพร่ตามที่ต่างประเทศเขาทำกัน ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใส transparency ในการบริหารประเทศ โดยจะได้ไม่มีการกล่าวอ้างในภายหลังว่า มีข้อเท็จจริงที่คนภายนอกไม่รู้
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ท่านมองว่าการเรียนการสอนด้านกฎหมายมหาชนในประเทศไทยในปัจจุบันมีความเหมาะสมหรือไม่ และมีปัญหาอย่างไรบ้าง
       
       ศ.ดร.อมรฯ :
ผมได้พูดและได้เขียนไว้หลายครั้งแล้วว่า การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยของเราพัฒนาไปไม่ได้ตราบเท่าที่ตำราของเราไม่พอ ตำราของเราที่สอนๆ กันอยู่ส่วนมากเป็นตำราที่ดัดแปลงมาจากตำราของต่างประเทศ ผู้เขียนตำราก็มักจะไปลอกตำราต่างประเทศเอามาเป็นตอนๆ แล้วเอามาสอนนักศึกษา ตำราประเภทนี้ไม่สามารถสร้างความเข้าใจและสร้างความคิดในเชิงวัฒนาการให้แก่นักศึกษาได้ และนอกจากนั้น ตำราของเราก็มีจำนวนจำกัด อาจารย์ผู้สอนก็มักจะเอาตำราที่ตนเองเขียนมาสอนและนักศึกษาก็ไม่มีตำราที่มีคุณภาพที่จะเอามาอ่านเปรียบเทียบกัน
       การเรียนกฎหมายของเราก็จะเหมือนๆ กัน คือ นักศึกษาท่องจำและดูว่าอาจารย์ผู้สอนใช้ตำราอะไร ส่วนใหญ่ก็จะเป็นตำราเฉพาะที่ผู้สอนเขียนขึ้นเอง นักศึกษาก็อ่านเท่านั้นแล้วก็สอบได้ ซึ่งผมคิดว่า ถ้าหากการเรียนการสอนของเรายังอยู่ในสภาพอย่างนี้ ผมมองว่านักศึกษาของเราคง "คิด" ไม่เป็นและไม่มีวิธีคิด ความจริง วิธีคิดนั้นขึ้นอยู่กับระบบการศึกษา ถ้าเราสอนให้เขาคิดเขาก็คิด การสอนที่จะทำให้เขาคิด อย่างแรกเลยตำราต้องเยอะ เพราะมิฉะนั้นแล้ว อาจารย์ผู้สอนจะไปบอกให้นักศึกษาไปอ่านตำราหลายๆ เล่มก็คงไม่ได้ และนอกจากนั้นตำราที่มีอยู่ทั่วๆ ไปก็ไม่ถึงมาตรฐานของตำราในประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้น สรุปอุปสรรคขั้นแรก ก็คือ การเรียนของนักศึกษาขึ้นอยู่กับตำรา ในเมื่อตำรามีไม่พอ ก็มอบให้นักศึกษาไปศึกษาเพิ่มเติมเอาเองไม่ได้ และตำราเกือบทั้งหมดของเราผมก็เห็นว่า ดีไม่พอเพราะว่าเป็นการแปลตัดต่อตำราของต่างประเทศมา ไม่ครบถ้วน
       การแก้ปัญหาการเรียนการสอนนั้นแน่นอนว่ามีหลายประการ แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ต้องเพิ่มตำราและยกระดับตำราให้เป็นตำราที่ดีมีมาตรฐาน ดังนั้น ผมจึงได้เน้นในเรื่องการแปลตำราของต่างประเทศ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เขามีหน่วยงานที่รับผิดชอบและมีงบประมาณอย่างพอเพียง เขาแปลตำราของต่างประเทศมากมายเพราะตำราของต่างประเทศเป็นตำราที่ดีอยู่แล้ว ได้มาตรฐานอยู่แล้ว ดังนั้น ประการแรกคือ ตำราต้องมากเพราะเมื่อตำรามากแล้ว การสอนก็จะง่ายขึ้น
       นอกจากนั้น การมีตำรามากและการมีการแปลตำราจากต่างประเทศมาก ยังจะเป็นการยกระดับการสอนของผู้สอนหรืออาจารย์ไปด้วยในตัว เพราะว่าถ้าผู้สอนสอนผิดหรือสอนไม่ตรงหรือเขียนตำราผิด นักศึกษาที่ไปอ่านตำราต่างประเทศที่แปลไว้ให้ก็จะรู้เลยว่าอาจารย์ผู้สอนนั้นมีคุณภาพหรือไม่ การปฏิรูปการศึกษานิติศาสตร์ คือ การเพิ่มตำรา โดยแปลตำราให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการบังคับให้ผู้สอนต้องยกระดับตัวเองไปด้วย ไม่ใช่ไปเขียนตำราเอาเองตัดตอนแปลมาจากตำราต่างประเทศ ตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย แล้วก็มาสอนเพื่อให้นักศึกษาท่องมาสอบ เมื่อตำรามากขึ้นระบบการสอนก็จะเปลี่ยนไปเอง นักศึกษาที่เรียนประเภทท่องจำก็จะสอบไม่ผ่านเพราะว่าตนเองไม่ได้ไปอ่านตำราเพิ่มเติมที่อาจารย์มอบหมายให้ไปอ่าน
       แน่นอนครับ ผมเห็นว่าถ้าตำราเป็นอยู่เช่นในปัจจุบันแล้ว การเรียนการสอนนิติศาสตร์คงพัฒนาไม่ได้ เราไม่ควรไปเน้นที่การเพิ่มเครดิตในการเรียนภาษาต่างประเทศ เพื่อให้นักศึกษาไปอ่านตำราจากภาษาต่างประเทศโดยตรง เพราะเป็นการยากที่จะให้นักศึกษาจำนวนมากมีความสามารถถึงขั้นอ่านตำราต่างประเทศได้โดยมีความเข้าใจลึกซึ้งเหมือนภาษาของตนเอง การใช้วิธีแปลตำราต่างประเทศที่ดีๆ จะยกระดับความรู้และความคิดของนักศึกษานิติศาสตร์ของเราได้อย่างทั่วถึง รวดเร็วกว่าและประหยัดกว่า และแน่นอนนะครับว่า การแปลตำราต่างประเทศ คงต้องมีระบบการคัดเลือกตำราที่จะนำมาแปลด้วย คงไม่ใช่สักแต่ว่าแปลหนังสือเล่มใดก็ได้ สำคัญที่ว่า ผู้แปลตำราของเรามีความสามารถแปลตำราได้ดีเพียงใด
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : คำถามสุดท้ายครับ เพื่อเป็นข้อคิดเห็นสำหรับนักกฎหมายมหาชนหรือ ผู้สนใจกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่เป็นแนวทางปฏิบัติ ท่านมีข้อแนะนำอย่างไรบ้างสำหรับนักกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่ครับ
       
       ศ.ดร.อมรฯ :
ขณะนี้เราไปไหนมาไหน ก็มักจะมีคนอ้างว่าเป็นนักกฎหมายมหาชนเต็มไปหมด และสังคมก็ไม่รู้ว่าจะใช้เงื่อนไขอะไรมาชี้แจงว่า คนนี้เป็นนักกฎหมายมหาชนหรือไม่ใช่ ผมคิดว่า ก่อนอื่นเราคงจะต้องมา define ความหมายของคำว่า นักกฎหมายมหาชนกันก่อน คือ ก่อนที่จะบอกว่าใครเป็นนักกฎหมายมหาชนรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่
       ผมคิดว่า ถ้าระบบการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยไม่ได้ปรับปรุง การที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ซึ่งไม่ใช่นักกฎหมายเข้าใจว่านักกฎหมายมหาชนคืออะไรนั้นคงยาก การปรับปรุงการเรียนการสอนซึ่งผมหมายถึงปรับทั้งการเรียนการสอน "การเรียน" ผมหมายถึงนักศึกษาต้องเปลี่ยนวิธีเรียน และ"การสอน" ผมหมายถึงอาจารย์ต้องปรับเปลี่ยนวิธีสอนเสียใหม่ เพราะความเป็นนักกฎหมายมหาชนอยู่ที่ "วิธีคิด" มิใช่พอพบว่านักกฎหมายคนใดเคยเรียนกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายมหาชน เช่นกฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อม ก็จะทำให้บุคคลนั้นกลายเป็นนักกฎหมายมหาชนได้
       แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ใครก็ตามที่อยากเป็นนักกฎหมายมหาชนไม่ว่ารุ่นใหม่หรือรุ่นเก่าคงต้องพัฒนาต้วเอง อย่าพยายามคิดว่าเมื่อตนเองเรียนจบกฎหมายมหาชนมาแล้วจะเป็นนักกฎหมายมหาชน เพราะการเรียนเป็นเพียงการวางพื้นฐานความรู้เท่านั้นเอง แต่การที่เราจะ"คิด"แบบนักกฎหมายมหาชนนั้น ผมคิดว่า เราจะต้องศึกษานิติปรัชญา แล้วพัฒนาตนเองที่จะเขียนกฎหมาย หรือนำตัวบทกฎหมายที่คนอื่นเขาเขียนไว้แล้ว มาใช้ในภาคปฏิบัติหรือในการปฏิบัติงาน ให้ตรงกับเจตนารมย์ของนิติปรัชญากฎหมาย จึงจะเรียกตนเองว่าเป็นนักกฎหมายมหาชนได้
       อันที่จริง นิติปรัชญาในยุคศตวรรษที่ 20 นี้ก็เป็นกฎหมายมหาชนทั้งหมด คือมุ่งที่จะใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์แก่สังคม และตามความเห็นผม ความเป็นนักกฎหมายมหาชนจะต้องพิสูจน์ได้ด้วยผลงานที่แสดง"วิธีคิด"ของแต่ละบุคคลในการนำ"กฎหมาย"มาใช้เพื่อสังคม ความเป็นนักกฎหมายมหาชนจึงไม่ใช่การเล่นสำนวนถ้อยคำหรือการตีความแบบศรีธนนชัยที่เราพบเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ฯ ที่กรุณาสละเวลาและให้สัมภาษณ์ครับ
       


หน้าที่แล้ว
1 | 2 | 3
หน้าถัดไป

 
 
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 8 กันยายน 2544
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.โภคิน พลกุล รองประธานศาลปกครองสูงสุด ณ สำนักงานศาลปกครอง วันที่ 27 กรกฎาคม 2544
บทสัมภาษณ์ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ณ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย วันที่ 11 ธันวาคม 2544
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2546
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ วันอังคารที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2549
   
 
 
 
มองการปฏิรูปประเทศผ่านสายตานักกฎหมาย นันทวัฒน์ บรมานันท์ จากคนวงในสู่ภาพขยายสังคม
ปี ๒๕๕๕ การเมืองจะรุนแรง ? เหตุ ปชช.ไม่รู้
ศึกแผงลอย "สยามสแควร์"ยื้อ 8 เดือน "จุฬาฯ" เกินต้านยอมถอย แฉ! "เจ้าหน้าที่" ไม่ร่วมมือ!!!
ถามหาความกล้า"ประชาธิปัตย์"เป็นฝ่ายค้านที่สะอาดดีกว่าอยู่ในรัฐบาล แล้วเป็นสีเทา
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อัดแก้รธน. 2 มาตราไม่ได้ตอบโจทย์แก้ปัญหาปรองดอง เสนอขึ้น"บัญชีดำ"คนยกร่างรธน.ปี50
"นันทวัฒน์ บรมานันท์"ซัดคลิปลับฉาว ศาล รธน.บกพร่องเอง คนแต่งตั้งกุนซืออย่าปฏิเสธความรับผิดชอบ
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ว่าด้วยเรื่อง "ปรองดองขี้ขลาด-เส้นทางการเมืองและการปฎิรูป"
สัมภาษณ์ ดร.วรรณภา ติระสังขะ เจาะโมเดลตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จาก"ฝรั่งเศส"ถึง กฟผ. .′ความ(ไม่)เท่าเทียมกันของอาวุธ′
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ชำแหละ"รากแห่งความขัดแย้ง" ลากสังคมไทยสู่สงครามกลางเมือง !!!!
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544