หน้าแรก สัมภาษณ์
ปี ๒๕๕๕ การเมืองจะรุนแรง ? เหตุ ปชช.ไม่รู้
5 มกราคม 2555 22:05 น.
 
ท่ามกลางการแสดงความคิดเห็นของนักโหราศาสตร์ และ นักวิชาการ ในประเด็นเรื่องการเมืองมีแนวโน้มจะรุนแรงในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่งสาเหตุหลักๆ ก็มีการมองกันว่าจะมาจากการเมืองเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ
       
       ดังนั้น ทางสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น เลยได้ไปพูดคุยกับ ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อที่จะนำมุมมองความคิดของท่านอาจารย์นันทวัฒน์ มานำเสนอต่อแฟนๆ ข่าวของเรา และก็ไม่ผิดหวังอาจารย์นันทวัฒน์ได้ชี้ให้พวกเราได้เห็นว่า "เหตุและผลของการน่าจะเกิดความรุนแรงนั้นมาจากอะไร? รวมไปจนถึงแนวทางในการป้องกันที่จะไม่ให้เกิดความรุนแรง"
       
        
       ถาม : อาจารย์ครับ จะขอมุมมองการเมืองในปี 2555 ซึ่งหลายคนมองว่าสถานการณ์ระอุวุ่นวายแน่ ในมุมมองของอาจารย์จะเป็นอย่างไรครับ
       
       ตอบ: ประเด็นไม่น่าจะต่างจากปีที่ผ่านมา เราจะเอา วัน- เดือน-ปี มาเป็นเส้นแบ่ง ก็คงจะลำบาก เพราะเหตุการณ์ต่างๆ มันต่อเนื่องมา จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงวันนี้ มันมีวิวัฒนาการของมันที่เพิ่มมากขึ้นๆ เพราะฉะนั้นเรื่องที่กังวล มันก็เป็นแค่ช่วงเวลาที่จะเกิดขึ้นในปีพ.ศ. ใหม่ แค่นั้นเอง แต่เหตุการณ์ไม่น่าจะต่างจากเดิม เพราะปัญหาทั้งหมดก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข และข้อเรียกร้องทั้งหมด ก็ยังเป็นข้อเรียกร้องอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหา 2 มาตรฐาน เรื่องอะไร ทุกอย่าง ก็ยังเกิดขึ้น ยังอยู่เช่นเดิม
       
       
       ถาม : ถ้าจะมองว่าในปี 2555 เหตุการณ์ทางการเมืองจะไม่ดูรุนแรงหรือระอุ หมายถึงข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ได้รับการแก้ไข
       ตอบ: หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า พอปลายเดือนมกราคมนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะพิจารณาคดีเกี่ยวกับรถและเรือดับเพลิงของกทม. ซึ่งจะมีผู้ต้องหาเป็นนักการเมืองระดับสูงหลายคน และเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สืบทอดมาจากรัฐประหารด้วย ซึ่งเกี่ยวเนื่องต่อการตั้งการตั้ง คตส. การตั้ง ป.ป.ช.ต่อมา เพราะฉะนั้นการเปิดศักราชในเดือนมกราคม ด้านการเมืองก็เป็นคดีรถดับเพลิงเรือดับเพลง ซึ่งเข้าใจว่าคดีน่าจะใชเวลา 3-4 เดือน ถึงจะเสร็จ หลังจากนั้น ก็จะมีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจจะตามมาด้วยข้อวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับเรื่อง มาตรา112 ซึ่งกำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ และเรายังไม่ทราบว่าองค์ประกอบทางด้านอื่น จะมีอะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ข้อเสนอทางด้านปรองดองจะออกมาเป็นอย่างไร จะได้รับการยอมรับหรือเปล่า ซึ่งทางการเมืองก็ไม่ต่างจากของเดิม เพียงแต่ว่าอาจจะมีอะไรมากขึ้น และถ้าเลยไปไกลถึงขนาดคิดว่า จะมีการออกกฎหมายหรืออะไรก็ตามที่เป็นการนิรโทษกรรม มันก็จะหนักขึ้นไปอีก ก็อย่างที่ทราบจะมีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย
       
       
       ถาม : ทางออกในเรื่องนี้ควรจะเป็นอย่างไร ในประเด็นหลักๆ ที่อาจารย์ว่ามา
       ตอบ: ก็ต้องตามดู และดูแบบแบบสงบและหาทางออกที่มันเป็นไปได้ คือวิธีการที่จะไปประท้วง ไปคัดค้าน ไปกดดันต่างๆ คิดว่าไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง ทางออกที่ถูกต้องควรจะเป็นวิธีอื่นมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราจะพูดถึงเรื่องเราไม่เห็นด้วยกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็ต้องใช้เหตุผล ต้องชี้แจง ยกตัวอย่างกรณีมาตรา 112 ที่เป็นปัญหาอยู่ ใครที่เห็นด้วยก็ต้องเอาข้อมูลออกมาให้ประชาชนดูว่ามันเป็นอย่างไรบ้างเพื่อสนับสนุน ความเห็นด้วยของฝ่ายตน เช่นยกตัวอย่างประเทศที่มีระบบกษัตริย์ กฎหมายลักษณะต่างๆ แบบนี้เป็นอย่างไร มีการกลั่นกรองหรือเปล่า มีการป้องกันไม่ให้ใช้กฎหมาย เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งทางการเมืองหรือเปล่า ในต่างประเทศ ต้องให้ความรู้กับสาธารณชนก่อน ไม่ใช่เราบอกเค้าไม่ดีอย่างเดียว หรือดีอย่างเดียว ไม่ถูก อันที่จริงต้องต่อสู้ด้วยเหตุผล
       
       
       ถาม : อาจารย์ครับ พูดถึงเรื่องปรองดอง มีคณะทำงานหลายชุดแล้ว ที่มีการตั้งกันขึ้นมา แล้วดูเหมือนว่าการทำงานก็จะมีคำถามว่ามีการซ้ำซ้อนกันหรือเปล่า ทางออกที่ดีในมุมมองของอาจารย์เรื่องนี้ควรจะเป็นอย่างไร
       ตอบ: คือจริงๆ เรื่องการปรองดองมันเป็นเรื่องที่หากเราใช้คำว่าพฤติกรรมมนุษย์ก็น่าจะถูกต้อง พฤติกรรมของคนคือคนเราลองไม่ชอบกันขึ้นมา ไม่ว่าจะเอากฎหมายกฎหมายระเบียบ ต่างๆ มาวาง มาขึง มารัด มันก็อาจเป็นไปได้ชั่วครู่ ก็คือเราสงบความไม่ชอบไว้ในใจ แต่ว่าเราแสดงออกมาก็ไม่มีอะไร แต่ในใจ ใจก็ไม่ชอบกันอยู่ ผมว่ามันต้องแก้ปัญหาที่ก้นบึ้งของจิตใจมากกว่า ก็แต่ละคนต้องไปแก้ปัญหาในจิตใจตัวเอง ต้องยอมรับบ้าง ยอมรับอย่างใจเป็นกลางบ้าง แล้วข้อสำคัญที่สุด ก็คือหน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในหลายเรื่องที่ทุกคนพยายามบอกว่า 2 มาตรฐาน ก็ต้องพยายามทำให้มันกลายเป็นมาตรฐานเดียว ยกตัวอย่าง เช่น คดีความต่างๆ ที่อยู่ในทุกๆ ชั้น เจ้าหน้าที่ ที่รับผิดชอบหรือองค์กรที่รับผิดชอบ ถ้าศาลทำไม่ได้ ก็อาจให้สำนักงานศาลออกมาชี้แจงว่า เรื่องมันอยู่ตรงไหน ที่ชาวบ้านบอกว่าทำไมฝ่ายนี้เร็ว ทำไมฝ่ายนี้ช้า ให้เหตุผลหน่อย ให้เหตุผลที่เป็นเรื่องเป็นราว ทำให้ทุกคนยอมรับได้ ให้ทุกคนเห็นภาพว่า เขาไม่ได้ดึงเรื่องนั้น เขาไม่ได้ช่วย ไม่ได้ไปเร่งเรื่องนี้ มันเป็นกระบวนการทางกฎหมาย มันติดที่อะไร คืออย่างน้อยออกมาชี้แจงทำความเข้าใจเดือนละหนก็ยังดี ออกมาทำให้ประชาชนรับทราบผมว่า มันจะคลี่คลายไปได้เยอะพอสมควรเหมือนกัน เพราะว่าทุกวันนี้ปัญหาหลักมันอยู่ที่การเลือกปฏิบัติ 2 มาตรฐาน ผมว่าน่ะเกิน 60-70 % ที่ยังคลางแคลงใจกันอยู่ ส่วนเรื่องอื่นที่ยังไม่จำเป็นก็ปล่อยมันไป ยกตัวอย่างกรณีคุณทักษิณ คุณทักษิณ ดูข่าวท่านก็อยู่ต่างประเทศอย่างสะดวกสบายอยู่แล้ว ก็น่าจะอยู่อย่างสะดวกสบายต่อไป ในการเร่งวิธีกลับมาโดยมีปัญหาแบบนี้ผมว่า มันน่าจะสร้างปัญหามากขึ้น กับสังคม คือรอให้ทุกอย่างสงบแล้ว จะทำอะไรก็ทำ แต่ในตอนนี้เรากำลังเผชิญปัญหาเยอะแยะเต็มไปหมด รัฐบาลเองก็เหนื่อยในหลายๆ เรื่อง คณะกรรมการต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมา อย่าง คอป. ก็รอให้เขาทำให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อนเป็นชิ้นเป็นอันและหมดหน้าที่ก่อนแล้วค่อยมาดูว่าเขาพูดถึงปัญหาคุณทักษิณว่ายังไงบ้าง เขาแก้ปัญหาให้กับสังคมอย่างไรบ้าง และถ้าเดินตามนั้นแล้ว มันแก้ปัญหาได้ก็น่าจะดี เพราะว่า คอป. ก็ตั้งมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว และรัฐบาลชุดนี้ก็เห็นชอบให้ทำงานด้วย ผมคิดว่าเราน่าจะรอกันอย่างสงบ รอให้เขาทำให้เสร็จ ส่วนทาง คอป. เองก็น่าจะเร่งทำให้เสร็จไม่ใช่ปล่อยรายงานออกมาชนิดเป็นชิ้นๆ และก็ต่อกันไม่ติด ว่าเรื่องนั้นว่ายังไง คือสรุปออกมาให้ชัดเจนเลยและก็หยุดหน้าที่ คือจบไปเลย เราจะรู้ว่านี่คือทางออกที่แท้จริงและชัดเจนของสังคม และจะก้าวและไม่ก้าวค่อยว่ากันไป
       
       
       ถาม : ถ้าจะมองประเด็นอย่างที่อาจารย์ว่า ก็คือสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน แต่ละปีกแต่ละส่วนอยู่ด้วยความไม่รู้เพราะไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบออกมาพูดถึงปัญหาอุปสรรคหรือว่าการดำเนินการที่เกิดขึ้นให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้ ถ้าจะมองแบบนั้นพอจะมองได้หรือเปล่าครับอาจารย์
       ตอบ: ได้ จริงๆ ผมจะยกตัวอย่างง่ายๆ วันนี้หลังรัฐประหาร คตส. ทำคดีกี่เรื่อง และวันนี้คดีเหล่านั้นอยู่ตรงไหน บางเรื่องหายไปเลย บางเรื่องก็ยังอยู่ ทำไมปีพ.ศ.ใหม่แล้วหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละหน่วยงาน ไม่ออกมาสรุปผลการดำเนินงานคดีเหล่านี้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง รัฐบาลเองต้องใจกว้างด้วย เปิดโอกาสด้วย ไม่ว่าจะเป็นปฏิปักษ์กับคนในรัฐบาลก็ตาม แต่ต้องให้เขาชี้แจงว่า เรื่องมันอยู่ตรงไหน คาดว่ามันน่าจะมีผลออกมาชัดเจนเมื่อไหร่ บางอย่างยกตัวอย่างอย่างเช่น เรื่องอยู่ในกระบวนการของศาล อาจจะคาดไม่ได้ แต่เราทราบว่าเหลือนัดสืบพยานอีกกี่ปาก สืบพยานเสร็จแล้ว ศาลจะตัดสิน ใช้เวลาอีกกี่วันอะไรอย่างนี้ และเขามีสิทธิ์อุทธรณ์ไหม อย่างนี้สมมุติว่าถ้าเราทราบเราจะได้รู้ เรื่องเหล่านี้มันอยู่ในกระบวนการของมัน และจะจบเมื่อไหร่เราพอจะคาดเดากันได้ วันนี้เราบอกว่ารัฐบาลคุณทักษิณ ปี 49 ทุจริตคอร์รัปชั่นเยอะแยะไปหมด ตัดสินออกมาผมยังไม่เห็นเลย ผมก็อยากดูเหมือนกันว่าอย่างไรก็บ้าง ผลออกมาเป็นอย่างไร
       
       
       ถาม : อาจารย์ครับพูดถึงเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจเป็นชนวน อาจารย์ก็เคยเขียนบทความไปบ้างแล้ว จะรบกวนให้นำเสนออีกทีว่า ถ้าจะแก้ควรจะมีแนวทางอย่างไรในการแก้
       ตอบ: ผมไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญทันทีเลย ผมเคยพูดเคยเขียนหลายครั้งแล้ว ว่าเราต้องตอบให้ได้ก่อนว่ารัฐธรรมนูญที่บอกว่า 40 กับรัฐธรรมนูญ 50 ดีหรือไม่ดีตรงไหนก่อน ตอนที่มีการรัฐประหาร เขาก็ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 40 เพราะว่าไม่ดี ตอนที่มีการเขียนรัฐธรรมนูญ 50 ขึ้นมา ก็มีคนจำนวนหนึ่งไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ 50 บางคนก็บอกว่าดี ผมว่าจริงๆ แล้วมันต้องเริ่มต้นจากการที่เราบอกว่ารัฐธรรมนูญ 40 กับ 50 ดีหรือไม่ดีตรงไหน? ก่อน แล้วสมมุติว่าเราคิดว่าผลออกมาแล้วรัฐธรรมนูญ 50 ไม่ดีจริงๆ จะแก้ก็แก้ จะเอารัฐธรรมนูญ 40 ตรงไหนมาใช้ก็ใช้ แต่ต้องมีการยืนยันให้ชัดเจนก่อน เพราะว่าจากที่เห็นที่ผ่านมาในบางครั้งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเองก็อาจจะมีปัญหา ใช้คำว่าอาจจะนะ แต่ในบางกรณีก็ไม่ได้เกิดจากปัญหาจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่เกิดปัญหาจากบุคคลที่เอารัฐธรรมนูญมาใช้ตีความทำให้มันไม่ชัดเจนมากกว่า ยกตัวอย่างเช่นวิวาทะการตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อเร็วๆ นี้ ประธานศาลรัฐธรรมนูญลาออกจากการเป็นประธาน คำถามว่ายังอยู่ในตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ก็เถียงกัน ฝ่ายที่เห็นด้วยก็เถียงไปแบบหนึ่ง ฝ่ายที่ไม่เป็นด้วยก็เถียงอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั่นนี่คือวิธีการคิด หรือปัญหาข้อกฎหมายเราต้องดูก่อน ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกฎหมายเขียนชัดหรือไม่ชัด หรือว่าเราคิดกันไปเอง หรือตีความเข้าข้างตัวเอง พอเราได้คำตอบพวกนี้เราแล้วเราถึงทราบว่าควรจะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ เพราะถ้าเราสตาร์ทจากการตั้ง สสร.ขึ้นมาแก้รัฐธรรมนูญเลย ผมว่าไม่น่าจะถูกต้อง เอาเป็นว่าไม่ถูกต้องดีกว่า ไม่อยากใช้คำว่าไม่น่าจะ ผมคิดว่าไม่ถูกต้อง ต้องศึกษาก่อน ต้องมีผลการศึกษาที่ชัดเจนก่อน มันถึงจะเกิดประโยชน์ คือยังไงก็ได้ที่มีคำตอบออกมาว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาจากตัวบท เป็นปัญหาจากโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ หรือเป็นปัญหาจากนักกฎหมาย หรือปัญหาชาวบ้าน หรือประชาชนทั่วไป จะตีความเข้าข้างตนเอง หรือตีความเป็นปรปักษ์กับคนอื่น มันต้องดูตรงนี้ก่อน ถ้าตัวบทรัฐธรรมนูญชัดเจน เป็นปัญหาตีความแล้วแก้ถ้าเป็นปัญหาตีความจะไปแก้ทำไม? ก็ต้องพยายามออกมาต่อสู้ว่าตัวบทว่าอย่างนี้นั่นแหละ จะไปตีความเข้าข้าง หรือไปตีความปฏิปักษ์กับเขา ก็ไม่ถูก
       
       
       ถาม : อีกเหตุหนึ่งที่หลายคนมองว่าน่าจะเป็นเหตุของความวุ่นวายรุนแรงทางการเมือง ก็คือเรื่องปรับครม. รบกวนอาจารย์ไปที่เรื่องปรับ ครม. สักนิดหนึ่ง กระทรวงไหนที่ต้องมีการปรับเปลี่ยน
       ตอบ: ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะเท่าที่ผมดูผมคิดว่ารัฐมนตรี สำหรับผมตำแหน่งรัฐมนตรี ควรเป็นตำแหน่งที่ควรจะได้คนที่มีความชำนาญในด้านนั้นมากที่สุด เราลองนึกว่ารัฐมนตรีกระทรวงหนึ่งต้องดูแลรับผิดชอบประชาชนตั้ง 50-60 ล้านคน เราจะเอาคนที่ไม่เก่งเลย หรือไม่มีความรู้ หรือไม่มีความถนัด หรือไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นมา ผมคิดว่าไม่ได้ อันนี้ผมคงตอบไม่ได้ว่ากระทรวงไหน ผมคิดว่าทุกคนคงตอบได้เหมือนกันหมด คือเราต้องไปดูภูมิหรือพื้นฐานของรัฐมนตรีทุกคน ว่ามีความรู้ความชำนาญหรือความถนัด เข้าใจปัญหาของกระทรวงที่ตนเองเข้าไปอย่างถ่องแท้หรือเปล่า จริงๆ แล้วไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนี้ที่มีปัญหานี้ ผมเข้าใจว่าที่ผ่านมาหลายรัฐบาลเราก็เจอปัญหาแบบนี้ รัฐมนตรีบางกระทรวง ก็มาจากคนที่มีความรู้อีกด้านหนึ่ง แล้วคนที่มีความรู้ด้านนั้น ไปอยู่กระทรวงที่ตนเองถนัดก็ไม่ได้ เพราะความรู้ตัวเองน้อยกว่าคนอื่นในกระทรวงด้วยซ้ำไป ไม่อยากยกตัวอย่างกระทรวงเพราะอาจเดี่ยวจะไม่ดี เอาเป็นว่าคนที่เข้ามาเป็นเสนาบดีต้องเป็นคนที่มีความชำนาญที่สุดในด้านนั้นๆ เพราะต้องเข้ามาดูแล เข้ามาแก้ปัญหาให้กับคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เป็นหัวคะแนน ไม่ใช่ไปเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรืออะไรทั้งนั้น ที่จะมาตอบแทนให้ตำแหน่งกัน เพราะฉะนั้นคงต้องแบบนี้ ผมไม่ตอบตรงๆ แล้วกันว่าใคร กระทรวงไหน จะต้องปรับออกหรือเปลี่ยนตัว ไปดูภูมิหลังของรัฐมนตรีแต่ละคนแล้วกันว่าตรงหรือไม่ตรง ถ้าไม่ตรงก็พยายามทำให้ตรงดีกว่า
       
       
       ถาม : อาจารย์ครับจะแก้อย่างไร ฟังจากที่อาจารย์พูดมาเห็นปัญหาแล้ว เพราะที่ผ่านมาโครงสร้างการเมืองเรา จะยึดตรงที่การให้ตำแหน่งกับกลุ่มหรือว่าทายาทนักการเมืองที่มีอิทธิพลต่อพรรค ตรงนี้เราจะแก้กันอย่างไร
       ตอบ: คือสังคมต้องช่วยกันกดดันกับสื่อ เพราะว่าจริงๆ แล้ว อย่างผมยกตัวอย่าง อย่างตัวผมเอง ผมเป็นนักกฎหมายถ้าจะส่งผมไปอยู่กระทรวงไหนที่ไม่ใช่ไม่เกี่ยวกะกฎหมายโดยตรงแป๊ะ มันก็ไม่ได้ มันก็ต้องออกมากดดัน ผมอาจจะอยู่ได้ สมมุตินะว่าผมอาจจะอยู่กระทรวงยุติธรรมได้ เพราะว่าผมเป็นนักกฎหมาย แต่ถามว่านักกฎหมายที่จะไปอยู่กระทรวงยุติธรรมได้ควรจะมีความถนัดมากกว่าผมหรือเปล่า เพราะกระทรวงยุติธรรมดูแลเกี่ยวกับเรื่องอาญาเยอะ เพราะก็ไม่ใช่ผม ผมเป็นนักกฎหมายมหาชน ก็ต้องเป็นนักกฎหมายเอกชน คือนักกฎหมายด้วยกันเองก็ยังมีคนอื่นที่เก่งกว่าอีก เพราะฉะนั้นสื่อจะต้องเอาข้อมูลออกมาเผยแพร่ เวลามีปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงานของรัฐมนตรี ที่ไม่ถูกกระทรวง ทุกคนก็ต้องออกมาช่วยกันดู เพราะคนที่ไม่มีความรู้เพราะคุณไม่ได้เรียนมา เพราะคุณไม่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้คุณถึงทำให้กระทรวงหรือประเทศของเราเป็นอย่างนี้ ต้องออกมาจี้แบบนี้ทุกครั้ง ถ้าไม่ทำแบบนี้ผู้รับผิดชอบหรือผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งรัฐมนตรีก็จะไม่ทราบว่าจริงๆ แล้ว เขาเลือกคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีผิดเพราะบางทีเหตุผลที่เลือกอาจจะมาจากเรื่องอื่นมากกว่าเรื่องความรู้ความสามารถ เรื่องนี้น่าเห็นใจประเทศชาติกับประชาชน เพราะประเทศเราก็เห็นอยู่แล้วถอยเอาถอยเอา วันดีคืนดี อย่างน้ำท่วมก็ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับบ้านเรา ก็ต้องเกิด ก็ทำให้เรามีปัญหาเยอะขึ้น เพราฉะนั้นคนที่จะเข้ามาแก้ปัญหาเยอะขณะนี้ได้จริงๆ คงต้องเป็นมืออาชีพที่สุด ไม่ใช่มืออาชีพธรรมดา สื่อก็ต้องช่วยกันพูด ช่วยกันนำเสนออะไรต่างๆ
       
       
       ถาม : อาจารย์พูดถึงมืออาชีพในบรรดาคอการเมือง เขาบอกว่าในขณะนี้บรรดาการเมืองแทบจะไม่มี นักการเมืองที่บริหารงานแบบมืออาชีพแล้ว เพราะติดบ้านอยู่ในบ้านเลขที่ 111และบ้านเลขที่ 109 เขาบอกว่าต้องรอหลังพฤษภาคม บ้านเลขที่ 111 ก็จะออกมาโลดแล่นทางการเมืองได้ ก็จะทำมีตัวเลือกมากขึ้น อาจารย์มองอย่างไรในประเด็นนี้
       ตอบ: ใน 111 คน เราต้องไปดูก่อนเป็นใครบ้าง เพราะบางคนก็ไม่เคยมีตำแหน่งทางการเมือง เป็นแค่กรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิ์เฉยๆ บางคนก็อาจมีตำแหน่งทางการเมือง แต่เราทราบหรือไม่ทราบว่าคนเหล่านั้นผิดจริงหรือไม่ผิดจริง เพราะรัฐบาลคุณทักษิณที่บริหารประเทศ โดยในข้อเท็จริงต้องไปดูว่า 111 คน ต้องไปดูก่อนว่ามีกี่คนที่อยู่ในรัฐบาลชุดนั้น และคนเหล่านั้นมาถึงในวันนี้ถูกสังคมปฏิเสธไปแล้ว หรือไม่ก็ปฏิเสธตัวเองไปแล้วก็มี เพราะเท่าที่อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ บางคนหลังรัฐประหารก็ออกมาให้ข่าวเป็นปฏิปักษ์กับพรรคมาก ออกมาต่อว่าพรรคที่เคยสังกัด เพราะฉะนั้นคนพวกนี้ถึงหลุดออกมา พรรคเขาก็ไม่ควรจะเอาเข้ามายุ่งอยู่แล้ว โดยมารยาทก็มีคนว่าเขาเยอะแยะไปหมด ทางพรรคก็ไม่ควรจะรับมา ก็เหลือแค่คนที่มีอยู่กลุ่มหนึ่งเท่านั้นในบ้านเลขที่111 ที่ยังเงียบอยู่และยังเป็นภาคีร่วมกับพรรค เราต้องมาดูว่าคนเหล่านี้มีความสามารถจริงหรือเปล่า 5 ปีที่ผ่านมา คุณติดตามข่าวสารบ้านเมือง หรือคุณพักผ่อนอย่างเดียว เข้ามาถึงคุณจะต่อติดกับสถานการณ์ได้ไหม หรือทำอะไรได้ไหม และข้อสำคัญจริงๆ คือ การทำงานเป็นทีม สมัยก่อนคุณทักษิณ ทุกคนทราบอยู่แล้วคุณทักษิณมีภาวะผู้นำสูงมาก ในขณะที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเรายังไม่เห็นว่ามีภาวะผู้นำสูงเท่ากับคุณทักษิณ เพราะฉะนั้นคนที่เป็นผู้นำและมีภาวะผู้นำสูงสามารถ ถ้าใช้ภาษาพูด สามารถทุบโต๊ะได้ทุกๆเรื่อง และทุกๆ คน ทำตาม มันก็สามารถเดินไปในทิศทางเดียวกัน แต่ถ้าเกิดผู้นำที่ยังไม่มีภาวะผู้นำสูงมาก คนก็จะปฏิเสธ และถ้าคนเหล่านั้น ออกมาเขาคิดว่าเขาเก่งกว่าและมีความสามารถมากกว่านายกฯ หรือรองนายกฯ บางคน และไม่ทำตาม ผมว่าก็ยุ่งเหมือนกัน คือเป็นองค์ประกอบภาพรวมที่เราต้องดูทั้งวงไม่ใช่ดูคนเดียว
       
       
       ถาม : อยากให้อาจารย์มองการทำงานของสื่อ ในมุมมองของอาจารย์ว่าเป็นอย่างไรในปัจจุบัน ในรอบปีที่ผ่านมา
       
       ตอบ: ผมก็ตามสื่อทุกอย่าง ทุกสาย ผมรู้สึกว่ามีการแบ่งค่ายแบ่งพวกกันมากขึ้น และพอตั้งใจแบ่งค่ายแบ่งขั้ว มันก็เลยกลายเป็นศัตรูในแวดวงสื่อ ประชาชนตาดำๆ เองก็เลือกสื่อที่จะเข้าไป อย่างเช่นคุณชอบฝ่ายนี้คุณก็เข้าไป เมื่อเขามีเรื่องใดขึ้นมาเรื่องหนึ่งถูกหรือผิดก็ไม่ทราบ เพราะคุณก็คล้อยตามเขาไปแล้ว ก็เลยทำให้สังคมขัดแย้งกันมากขึ้น ผมอยากเห็นสื่อเป็นกลางมากกว่านี้ ลดความรุนแรงในการเสนอข่าว คุณจะชอบหรือไม่ชอบเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คุณสามารถใช้หน้ากระดาษหรือหน้าเฟซบุ๊ก ของคุณเองในฐานะส่วนตัวได้ แต่กับสื่อที่จะออกสาธารณะ ที่สำหรับสาธารณชนก็ควรเป็นข้อมูลในลักษณะที่เป็นกลาง และให้ประชาชนได้คิดเองมากกว่า ไม่ใช่ชี้นำความคิดประชาชนจนกระทั่งสังคมแตกเป็นฝักเป็นฝ่าย


 
 
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2546
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 8 กันยายน 2544
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.โภคิน พลกุล รองประธานศาลปกครองสูงสุด ณ สำนักงานศาลปกครอง วันที่ 27 กรกฎาคม 2544
บทสัมภาษณ์ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ณ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย วันที่ 11 ธันวาคม 2544
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2546
   
 
 
 
มองการปฏิรูปประเทศผ่านสายตานักกฎหมาย นันทวัฒน์ บรมานันท์ จากคนวงในสู่ภาพขยายสังคม
ศึกแผงลอย "สยามสแควร์"ยื้อ 8 เดือน "จุฬาฯ" เกินต้านยอมถอย แฉ! "เจ้าหน้าที่" ไม่ร่วมมือ!!!
ถามหาความกล้า"ประชาธิปัตย์"เป็นฝ่ายค้านที่สะอาดดีกว่าอยู่ในรัฐบาล แล้วเป็นสีเทา
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อัดแก้รธน. 2 มาตราไม่ได้ตอบโจทย์แก้ปัญหาปรองดอง เสนอขึ้น"บัญชีดำ"คนยกร่างรธน.ปี50
"นันทวัฒน์ บรมานันท์"ซัดคลิปลับฉาว ศาล รธน.บกพร่องเอง คนแต่งตั้งกุนซืออย่าปฏิเสธความรับผิดชอบ
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ว่าด้วยเรื่อง "ปรองดองขี้ขลาด-เส้นทางการเมืองและการปฎิรูป"
สัมภาษณ์ ดร.วรรณภา ติระสังขะ เจาะโมเดลตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จาก"ฝรั่งเศส"ถึง กฟผ. .′ความ(ไม่)เท่าเทียมกันของอาวุธ′
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ชำแหละ"รากแห่งความขัดแย้ง" ลากสังคมไทยสู่สงครามกลางเมือง !!!!
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544