|
|
สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า๑๙) 25 ธันวาคม 2550 21:37 น.
|
(ข) หลักการสำคัญ ของระบบรัฐสภา (parliamentary system) : หลังจากที่เราได้ทราบถึงประสบการณ์ของยุโรปในช่วงการวิวัฒนาการของระบบรัฐสภา parliamentary system ในระยะ ๑๐ ปีแรกของลัทธิ constitutionalism ในปลายศตวรรษที่ ๑๘ (ระยะ constitutional instability) มาแล้ว ; ต่อไปนี้ เราลองข้ามเวลามาสัก ๒๐๐ ปี และมาพิจารณา หลักการ(สำคัญ)ของระบบรัฐสภา เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยผู้เขียนจะขอสรุป และขอกล่าว แยกเป็น ๒ ตอนอย่างสั้น ๆ คือ ตอนที่หนึ่ง ว่าด้วยระบบรัฐสภาตามที่ท่านผู้อ่าน(และคนไทย)ได้เรียนรู้จากตำราวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ (ไทย ) และตอนที่สอง ว่าด้วยระบบรัฐสภาที่อยู่นอกตำราวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ (ไทย)
(๑) ระบบรัฐสภาในตำราวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ(ไทย) ที่ใช้สอนนักศึกษา(ไทย) ในมหาวิทยาลัย(ไทย) : นอกจากตำรารัฐธรรมนูญของไทย จะสอนว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แยกเป็น ๓ อำนาจ และพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตย ทางรัฐสภา ทางคณะรัฐมนตรี และทางศาล แล้ว ; ในส่วนที่เกี่ยวกับรูปแบบของการปกครอง - form of government ตำรารัฐธรรมนูญ(ไทย)ก็จะอธิบายว่า อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารจะแยกจากกัน โดย รัฐสภา(ซึ่งรัฐธรรมนูญบางฉบับ ก็มีสภาเดียว บางฉบับก็มีสองสภา แล้วแต่ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใด) เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ และคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร ; และสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ให้ความเห็นชอบใน ตัวบุคคลที่จะเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร (นายกรัฐมนตรี) และรัฐมนตรี ; และทั้งสองอำนาจหรือทั้งสององค์กรนี้ จะถ่วงดุลซึ่งกันและกัน
สำหรับประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจทั้งสอง (อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร) ตำรารัฐธรรมนูญ(ไทย)ก็จะบอกกับเราว่า ในระบบรัฐสภา - parliamentary system ฝ่ายบริหาร (พระมหากษัตริย์ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี ) มีอำนาจยุบสภา และในทางกลับกัน ฝ่ายนิติบัญญัติ (สภาผู้แทนราษฎร) จะมีอำนาจในการให้หรือไม่ให้ความไว้วางใจแก่ฝ่ายบริหาร โดยสภาผู้แทนราษฎรจะมีอำนาจในการลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ หรือลงมติไม่ใว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นรายบุคคลก็ได้ ; และเมื่อสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้ใจ ก็จะมีผลทำให้คณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี(แล้วแต่กรณี) ต้องพ้นจากตำแหน่ง
นอกจากนั้น ตำรารัฐธรรมนูญ(ไทย)ยังสอนเราว่า ฝ่ายนิติบัญญัติ(รัฐสภา) มีอำนาจกำกับและควบคุมฝ่ายบริหาร(รัฐบาล) ด้วยวิธีการต่าง ๆ หลายประการ คือ การให้ความเห็นชอบในการตรากฎหมาย (ของรัฐบาล) / การควบคุมการใช้จ่ายเงินของแผ่นดิน (โดยการตรากฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย) / การตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวนการกระทำของรัฐบาล / การตั้งกระทู้ถามรัฐบาล / การเปิดอภิปรายเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากรัฐบาล / การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล / ฯลฯ
กล่าวโดยทั่วไป ตำรารัฐธรรมนูญ(ไทย) ก็จะอธิบายถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในหมวดต่าง ๆ เช่น ประมุขของรัฐ พระมหากษัตริย์ / สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย / แนวนโยบายของรัฐ / การปกครองท้องถิ่น / ศาลยุติธรรมและศาลต่าง ๆ / การแก้ไขรัฐธรรมนูญ / ฯลฯ
(๒)ระบบรัฐสภา ที่อยู่ นอกตำราวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ(ไทย) : แต่ก่อนที่ผู้เขียนจะอธิบายให้ท่านผู้อ่านทราบว่า ในทางปฏิบัติ สิ่งที่สอนและอธิบายไว้ในตำราวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ(ไทย)นั้น (อาจ)มิได้เกิดขึ้นจริงตามตำรา และการสอนตามตำราดังกล่าว เป็นการสอนที่ทำให้คนไทยเข้าใจ ระบบรัฐสภาอย่างผิด ๆ ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงลักษณะทั่วไปของ ระบบรัฐสภา ให้ท่านผู้อ่านทราบไว้ก่อน ดังนี้
ประการแรก ก็คือ ตำราวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ(ไทย) ไม่เคยบอกให้เรา(คนไทย)รู้ว่า ระบบรัฐสภา(parliamentary system) มี ๒ รูปแบบ และตามความเป็นจริงในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆในโลก ที่ใช้ ระบบรัฐสภาอยู่ในขณะนี้ ก็มีรัฐธรรมนูญทั้ง ๒ รูปแบบ เพียงแต่ว่า นักวิชาการ(ไทย)ไม่มีเวลาว่างไปศึกษาและเอามาสอนนักศึกษา(ไทย)เท่านั้น ; ความแตกต่างในหลักการระหว่างระบบรัฐสภารูปแบบแรกกับรูปแบบที่สอง อาจกล่าวได้อย่างย่อ ๆ ก็คือ รูปแบบแรก เป็นรูปแบบที่พระมหากษัตริย์เป็นทั้งประมุขของรัฐและประมุขของฝ่ายบริหารในขณะเดียวกัน และพระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้ อำนาจบริหารได้ด้วยพระองค์เอง ; แต่รูปแบบที่สอง เป็นรูปแบบที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ (เพียงประการเดียว)ในลักษณะที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ และพระราชอำนาจ(เกือบทั้งหมด)ของพระมหากษัตริย์จะเป็นอำนาจในทางพิธีการ
สิ่งที่น่าสนใจและควรรู้ตอไป ก็คือ วิวัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงระหว่างรูปแบบ(ของระบบรัฐสภา)ทั้งสองรูปแบบว่า มีความเป็นมาอย่างไร และขอบเขต(หรือเส้นแบ่ง)ความแตกต่างระหว่างสองรูปแบบนั้น อยู่ที่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่รัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร) ไม่ได้เขียนบทบัญญัติไว้ให้ชัดเจน
(๒.๑) รูปแบบแรก (ของระบบรัฐสภา) ได้แก่ ระบบรัฐสภา ที่พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้ อำนาจบริหารโดยตรง(ในฐานะที่เป็นทั้งประมุขของรัฐและประมุขของฝ่ายบริหาร พร้อมกัน) และสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ใช้ อำนาจนิติบัญญัติ
เราทราบแล้วว่า ระบบรัฐสภานั้นเริ่มต้นมาจากแนวความคิดว่าด้วย หลักการ การแบ่งแยกอำนาจ the separation of powers (โดยจะถือว่าเป็นความเห็นของนักปราชญ์คนใดก็ได้ เพราะนักปราชญ์มีอยู่หลายคนที่มีความเห็นเหมือน ๆ กัน) และโดยที่ประเทศในยุโรปขณะนั้น เป็นประเทศที่มีการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองสูงสุดในประเทศ โดยเป็นการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชอยู่แล้ว; ดังนั้น ข้อเท็จจริงนี้ จึงเป็นข้อจำกัดของการ เขียนรัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร)ของประเทศในยุโรป ที่จะเขียนรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีประมุขของประเทศ (และหัวหน้าฝ่ายบริหาร)ที่จะมาจาก การเลือกตั้ง ดังเช่นการเขียนรัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ใช้ระบบประธานาธิบดี presidential system; และนอกจากนั้น ประเทศต่างในยุโรปโดยทั่ว ๆ ไป ก็ไม่มีประเทศใดที่ วีรบุรุษสงครามที่ประชาชนทั่วไปยกย่องและนิยมชมชอบอย่างสูงพอที่จะให้เป็น ผู้นำประเทศได้ เหมือนกับ นายพล George Washington ที่นำชาวอเมริกัน ต่อสู้กับอังกฤษ จนชนะและก่อตั้งประเทศที่เป็นอิสระได้ (ยกเว้นประเทศฝรั่งเศส ที่มี นโปเลียน เป็นวีรบุรุษ ในปี ค.ส. ๑๗๙๑ แต่นโปเลียน เลือกที่จะเป็น จักรพรรดิ แทนที่จะเป็นประธานาธิบดี )
[หมายเหตุ ตามประวัติศาสตร์(ของสหรัฐอเมริกา) ในปี ค.ศ ๑๗๘๗ ท่านทราบหรือไม่ว่า ถ้า George Washington ต้องการ George Washington อาจจจะเป็น กษัตริย์ของสหรัฐอเมรกาก็ได้ เพราะ หลังจากที่ชาวอเมริกันทำสงครามชนะประเทศอังกฤษแล้ว ความเห็นทางการเมืองในมลรัฐต่าง ๆ มีความแตกแยก และบางมลรัฐมีแนวโน้มที่จะแยกตัวออกเป็นประเทศอิสระ ดังนั้น จึงได้มีความคิดที่จะใช้ ระบบกษัตริย์เป็นรูปแบบการปกครองสหรัฐอเมริกา และให้ George Washington เป็นกษัตริย์ ; แต่ George Washington ไม่เห็นด้วย ; George Washington ต้องการให้สหรัฐอเมริกามีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง และได้ใช้ความเป็น ผู้นำของตน ทำให้มลรัฐต่าง ๆ เข้ามาร่วมมือกันร่างรัฐธรรมนูญ ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ Constitutional Convention ที่ Philadelphia ค.ศ. ๑๗๘๗ จนกระทั่งร่างรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ และ ได้สร้าง ระบบประธานาธิบดีโดยมีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งและมีวาระในการดำรงตำแหน่ง ขึ้น เป็นครั้งแรกของโลก
เมื่อได้รัฐธรรมนูญ(ในระบบประธานาธิบดี)มาแล้ว George Washington ได้แสดงความลังเลและจะไม่ยอมรับเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา แต่ George Washingtonไม่มีเหตุผลพอที่จะปฏิเสธการเรียกร้องของคนทั่วไป เพราะประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ในภาวะที่ต้องการ ผู้นำในระยะเวลาเริ่มต้นของการสร้างประเทศใหม่ ; และเมื่อ George Washington ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีแล้ว ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่ ๘ ปี(สองสมัย) ประธานาธิบดี George Washington ได้วางแนวทางการบริหารราชการ ไว้เป็นแบบอย่างสำหรับประธานาธิบดีคนต่อไป - ดังเช่นในเรื่องการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของประเทศ ที่ George Washington ได้ใช้หลักเกณฑ์ระบบ merit system ในการแต่งตั้ง ทั้ง ๆ ตามกฎหมาย ( รัฐธรรมนูญ) การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ดังกล่าว เป็น อำนาจของประธานาธิบดีที่สามารถแต่งตั้งได้ตามใจชอบ เป็นต้น
และตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของสหรัฐอเมริกา ได้ เริ่มถูกบิดเบือน ( abused)เพื่อประโยชน์ส่วนตัว(ของประธานาธิบดี) ในสมัยของประธานาธิบดี Andrew Jackson ( ค.ศ. ๑๘๒๙) โดยประธานาธิบดี Andrew Jackson ได้อ้างเหตุผลและใช้คำว่า เพื่อความเป็นประชาธิปไตย เหมือน ๆ กับข้ออ้าง ของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของไทยในปัจจุบัน ค.ศ. ๒๐๐๗ ]
ด้วยเหตุนี้ ประเทศในยุโรป แม้ว่าจะเปลี่ยนแนวความคิด (concept)จากหลักการที่ถือว่า อำนาจของพระมหากษัตริย์เป็น divine right (ที่มาจากพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบน) มาเป็นความคิดว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ(หรือของประชาชน) แล้วก็ตาม แต่รูปแบบของระบบรัฐสภา(ตามรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร) ในระยะแรกของประเทศในยุโรป (ตาม หลักการแบ่งแยกอำนาจ) พระมหากษัตริย์ก็จะยังเป็นผู้ที่ใช้ อำนาจบริหาร(ด้วยพระองค์เอง)ในฐานะที่ถือว่าเป็นผู้แทนของประชาชน ( ดังที่ผู้เขียนได้เล่าให้ท่านผู้อ่าน ทราบมาแล้ว จากรัฐธรรมนูญฉบับแรกของฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. ๑๗๙๑ ดังกล่าวข้างต้น)
หลักการ(สำคัญ) ของระบบรัฐสภา parliamentary system ในรูปแบบแรก : หลักการ(สำคัญ) ของระบบรัฐสภาในรูปแบบแรกนี้ อาจสรุป ได้อย่างสั้น ๆ ดังต่อไปนี้ อำนาจ(ในการ)บริหาร เป็นของพระมหา กษัตริย์(ซึ่งเป็นผู้ใช้แทน ประชาชน) และพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้ตามพระราชอัธยาศัย ส่วนสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจ(ในทาง)นิติบัญญัติ คือ การออกกฎหมาย(พระราชบัญญัติ) ซึ่งจะเป็นไปตามหลักการว่าด้วย การแบ่งแยกอำนาจ โดยพระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจยับยั้ง(ร่าง)กฎหมายได้ (แต่ไม่เด็ดขาด) คือ ถ้าสภาผู้แทนราษฎรยืนยันร่างกฎหมายด้วยเสียงข้างมากตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ (ร่าง)กฎหมายนั้นก็สามารถนำมาใช้บังคับได้ ; ส่วนสำหรับอำนาจในการริเริ่มเสนอกฎหมายนั้น ทั้งฝ่ายบริหาร(พระมหากษัตริย์)และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่างก็มีอำนาจด้วยกัน คือฝ่ายใดจะเสนอร่างกฎหมายก็ได้
ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจ(อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร) : ในระบบรัฐสภารูปแบบแรก จะไม่เหมือนกับที่เราเข้าใจอยู่ในปัจจุบัน เพราะระบบรัฐสภาในระยะนั้น พระมหากษัตริย์จะทรงมีอำนาจในการยุบสภาในกรณีที่กษัตริย์เห็นว่าสภาเป็นอุปสรรคในการตรากฎหมาย ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ แต่สภาผู้แทนราษฎรจะไม่มีอำนาจลงมติ (ไม่ไว้วางใจ)ให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีให้พ้นจากตำแหน่งได้ เพราะอำนาจในการเปลี่ยนแปลงตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เป็นของพระมหากษัตริย์
สรุปได้ก็คือ ในระบบรัฐสภารูปแบบแรก พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจทั้งในฐานะที่เป็น ประมุขของรัฐ (ประเทศ) และเป็น ประมุขของฝ่ายบริหาร(รัฐบาล)ไปด้วยกัน ดังจะเห็นได้จากการเรียกชื่อคณะรัฐมนตรีในระบบรัฐสภาในปัจจุบัน ว่า รัฐบาลของพระมหากษัตริย์
โปรดสังเกตว่า ระบบรัฐสภา(รูปแบบแรก) ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๙๑ ซึ่งเป็น รัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร)ฉบับแรกของโลกที่กำหนด ระบบรัฐสภา parliamentary ขึ้น นั้น พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจทางบริหารเหล่านี้ได้ด้วยพระองค์เอง แม้ว่าจะมีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่(เคารพ)สักการะ จะละเมิดมิได้ ( la personne du roi est inviolable et sacree) และกำหนดว่า พระบรมราชโองการทุกฉบับของกษัตริย์จะต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนอง (Section IV , article 4) ; ดังนั้น ต้องเป็นที่เข้าใจว่า การที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้น มิได้หมายความว่า พระมหากษัตริย์จะทรงใช้อำนาจบริหารนั้นด้วยพระองค์เองไม่ได้
และเนื่องจากในตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ไม่เคยสอนระบบรัฐสภาในรูปแบบแรกนี้แก่นักศึกษาไทย ดังนั้น ในการอภิปรายของผู้เขียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๙ (ก่อนการรัฐประหาร เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เพียง ๗ วัน) ผู้เขียนจึงได้จัดทำเอกสารวิชาการและ คัดลอกบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ที่มีสถาบันกษัตริย์และใช้ ระบบรัฐสภาในรูปแบบแรก (ที่พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจบริหารด้วยพระองค์เอง) บังคับอยู่ในปัจจุบันนี้( ค.ศ. ๒๐๐๗) มาให้นักศึกษาและคนไทยได้รับรู้ไว้ เป็นจำนวน ๖ ประเทศ คือ เดนมาร์ก / เบลเยียม / สวีเดน / นอร์เวย์ / เนเธอร์แลนด์ / ลักซัมเบอร์ก
[ หมายเหตุ :- โปรดดู หนังสือ กระบวนทัศน์ใหม่ สำหรับการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒ จัดพิมพ์โดย สถาบันพระปกเกล้า พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เอกสารทางวิชาการ ชุดที่ ๓ ; ทั้งนี้ โดยผู้เขียนได้ highlight คือ ขีดเส้นไต้ ข้อความในบทมาตราต่างๆ(ในรัฐธรรมนูญ ประเทศเหล่านี้) เพื่อแสดงให้เห็นถึง ความเกี่ยวโยงของบทมาตราต่าง ๆที่มีความสัมพันธ์กัน เป็น โครงสร้างของระบบรัฐสภารูปแบบที่หนึ่ง (กษัตริย์ทรงใช้ อำนาจบริหารด้วยพระองค์เอง) เพราะถ้าหากผู้เขียนไม่ทำเช่นนี้แล้ว ผู้เขียนเกรงว่า นักวิชาการ(ไทย) จะสังเกตไม่เห็น(รูปแบบของระบบรัฐสภาแบบที่หนึ่ง)เนื่องจากขาด ความรู้พื้นฐาน ผู้เขียนคิดว่า วิธีการขีดเส้นไต้เช่นนี้เป็นการให้ ความรู้ด้วยวิธีอย่างง่าย ๆ และรวดเร็วสำหรับนักวิชาการไทย เรียกได้ว่าป็น instant knowledge คล้าย ๆ กับ การชงกาแฟ instant coffee ]
(๒.๒) รุปแบบที่สอง(ของระบบรัฐสภา) ได้แก่ ระบบรัฐสภา ที่มีหลักการว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุขของรัฐ (ประเทศ) ในลักษณะที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ แต่ในการใช้พระราชอำนาจในฐานะ ประมุขของฝ่ายบริหารจะถูกจำกัดลง ; รัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร)ในระบบรัฐสภารูปแบบหลังนี้ จะเป็นรูปแบบที่ไม่มี ระบบการถ่วงดุล เพราะองค์กรฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) จะมาจากตัวบุคคลที่สภาผู้แทนราษฎร(ฝ่ายนิติบัญญัติ) เป็นผู้กำหนด
หลักการ(สำคัญ) ของระบบรัฐสภา parliamentary system ในรูปแบบที่สอง : รัฐธรรมนูญที่ใช้ระบบรัฐสภาในรูปแบบที่สองนี้ จะมีหลักการว่า อำนาจ(ในการ)บริหารจะเป็นของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ซึง(นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี)จะต้องบริหารประเทศด้วยความไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎร โดยสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบ(หรือไม่เห็นชอบ)ในตัวบุคคลที่เป็นฝ่ายบริหาร ด้วยการลงไว้วางใจ(หรือไม่ไว้วางใจ)นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ และสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบในนโยบายของรัฐบาล (ซึ่งจะต้องแถลงต่อสภา) ฯลฯ
สำหรับ รายละเอียดเกี่ยวกับ รูปแบบที่สองของระบบรัฐสภา นี้ ผู้เขียนคงจะไม่ต้องอธิบาย(เพราะจะทำให้บทความนี้ยาวเกินไปโดยไม่จำเป็น) โดยผู้เขียนจะขอถือเอาตาม หลักการที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ของไทย ที่ผู้เขียนเชื่อว่า นักศึกษาไทยและคนไทยทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้ว เพราะรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ(ยกเว้นธรรมนูญการปกครอง ที่มาจากการปฏิวัติ)ได้ใช้ ระบบรัฐสภา ในรูปแบบที่สองนี้ [หมายเหตุ ทั้งนี้ ยกเว้นบทบัญญัติเรื่องการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง และบทบัญญติที่ทำให้ ส.ส. ต้องปฏิบัติตามมติพรรคการเมือง ซึ่งทำให้ ส.ส. ไม่มีความอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ได้ตามมโนธรรมของตนเอง ฯลฯ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวนี้ เป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยโดยเฉพาะ ที่นักการเมืองไทยและนักวิชาการไทยเขียนขึน และมีเพียงฉบับเดียวในโลก ซึ่งตามระบบสากล ถือว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น]
เมื่อได้ทราบระบบรัฐสภา ทั้ง ๒ รูปแบบแล้ว สิ่งที่จะต้องทราบต่อไป ก็คือ วิวัฒนาการของรูปแบบ ๒ รุปแบบ ของ ระบบรัฐสภา parliamentary system : และอันที่จริงแล้ว สาระเรื่อง comparative forms of government และวิวัฒนาการของระบบรัฐสภาในบทความนี้ มิใช่เป็นบทความบทแรกที่ผู้เขียนได้เขียนเรื่องนี้ไว้ ผู้เขียนได้เคยเขียน เรื่องนี้ไว้ครั้งหนึ่งแล้ว เพียงแต่ในบทความบทนี้ ผู้เขียนได้มาเขียน ขยายให้มี สาระมากขึ้น
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เมื่อผู้เขียนสังเกตเห็นว่า ตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญที่ใช้สอนในมหาวิทยาลัยของเรา มิได้ มีสาระที่ให้ความรู้แก่นักศึกษา(ไทย)เกี่ยวกับ วิวัฒนาการของระบบรัฐสภา ตลอดจนมิได้มี สาระที่ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ forms of government รูปแบบการปกครอง (พร้อมทั้งแนวความคิดและทฤษฎีที่เป็นสากล) ในลักษณะที่เป็น กฎหมายเปรียบเทียบ comparative law (ไม่ใช่เขียนอธิบายตามบทบัญญัติในหมวดต่าง ๆ ตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ) ; ดังนั้น ในการเขียนบทความ(ขนาดยาว)ของผู้เขียนเรื่อง Constitutionalism ทางออกของประเทศไทย(พ.ศ. ๒๕๓๗) ผู้เขียนจึงได้นำ comparative forms of government มาเขียนไว้ด้วย เพื่อเตือนวงการวิชาการทางกฎหมายของไทยให้ระลึกถึงความสำคัญของ comparative law ในการสอนกฎหมายในยุคปัจจุบัน
ผู้เขียนคิดว่า บทความของผู้เขียน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการเสนอเรื่องนี้ในวงการวิชาการทางกฎหมายของไทย โดยเป็น เวลาหลังจาก การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ และมีการสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญมาแล้ว นานถึง ๖๒ ปี
ในบทความเรื่อง constitutionalism (พ.ศ. ๒๕๓๗) ดังกล่าว ผู้เขียนได้นำวิวัฒนาการของระบบรัฐสภา parliamentary systemของโลกในช่วง ๒๐๐ ปีที่ผ่านมา (หลังจากยุคของ มองเตสกีเออ และ รุสโซ และ ฯลฯ) มา เล่าสู่กันฟังอย่างย่อ ๆ คือ เล่าตั้งแต่ รูปแบบของระบบรัฐสภาในระยะแรก (ระบบ dualist) ที่เริ่มต้นในปี ค.ศ. ๑๗๙๑ ซึ่งเป็นปีที่มีรัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร) ที่กำหนดระบบรัฐสภาขึ้นเป็นฉบับแรกของฝรั่งเศส (และของโลก) ไปสู่ช่วงที่สอง ของระบบรัฐสภา ซึ่งเป็นระบบสภาแบบอำนาจเดี่ยว - monist และในที่สุด ได้มาถึงระบบรัฐสภาในช่วงที่สาม (rationalized system) เมื่อ ๗๐ ปีที่ผ่านมา
ผู้เขียนคิดว่า เป็นที่น่าเสียดายว่า ที่บทความดังกล่าวได้ผ่านไปโดยไม่ปรากฏการเปลี่ยนแปลงในการเรียนการสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญในมหาวิทยาลัย(ไทย) แต่อย่างใด; และจากติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐) ได้ปรากฏข้อเท็จจริงให้เห็นว่า การแสดงความคิดเห็นของบรรดาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับการยกร่างรัฐธรรมนูญในระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา มิได้มีความคิดเห็นใหม่ ที่จะแก้ไขความผิดพลาดในการร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐) เมื่อสิบปีก่อนแต่อย่างใด ทั้ง ๆในระหว่างการใช้รัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. ๒๕๔๐ ได้มีการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็น ข้อเท็จจริงที่แสดงถึงความผิดพลาดของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ปรากฏให้เห็นอย่างมากมาย
ผู้เขียนคิดว่า คงมีนักวิชาการ(ไทย)จำนวนน้อยมาก ที่ทราบว่า ในปัจจุบันนี้ ยังมี รัฐธรรมนูญของต่างประเทศหลายประเทศ ที่บัญญัติให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจบริหารด้วยพระองค์เอง ใช้บังคับอยู่
ข้อสังเกตของผู้เขียน ในข้อ (ข)ว่าด้วย หลักการสำคัญ ของ ของ ระบบรัฐสภา parliamentary system นี้ ผู้เขียนขอให้ข้อสังเกตไว้ ๓ ประการ ดังต่อไปนี้
ข้อสังเกตประการที่ (๑) the July Revolution (1830) : ก่อนที่ผู้เขียนจะให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับขีดความสามารถของวงการวิชาการทางกฎหมายและความบกพร่องในตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญของเรา ผู้เขียนคิดว่า ท่านผู้อ่านควรทราบเรื่อง การปฎิวัติ เดือน กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๓๐ ไว้ก่อนบ้างเล็กน้อย พอให้เป็นพื้นฐานเกี่ยวกับ ระบบรัฐสภา
ผู้เขียนเชื่อว่า ท่านผู้อ่านทุกท่านทราบเรื่อง การปฏิวัติ ในปี ค.ศ. ๑๗๘๙ (ของประเทศฝรั่งเศส) มาแล้วก่อนที่จะอ่านบทความนี้ ไม่มากก็น้อย แต่ผู้เขียนเชื่อว่า คงมีท่านผู้อ่านจำนวนน้อยมากหรือ(เกือบ)ไม่มี ที่ทราบเรื่อง การปฎิวัติใน เดือน กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๓๐ - the July Revolution ( ๑๘๓๐) มาก่อน ; ผู้เขียนไม่เคยพบตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญ(ไทย)เล่มใด ที่กล่าวถึง the revolution of July ๑๘๓๐ มาก่อน และผู้เขียนก็ไม่เคยพบว่า มีนักวิชาการและนักกฎหมายไทย(โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักกฎหมายรัฐธรรมนูญ)ท่านใด ได้เคยกล่าวถึง July Revolution (๑๘๓๐) เช่นเดียวกัน
the July Revolution (1830) คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร ; คำตอบ ก็คือ การปฏิวัติของประเทศฝรั่งเศส ในเดือนกรกฎาคมใน ปี ค.ศ. ๑๘๓๐ เป็นเหตุการณ์สำคัญ (หลังการสิ้นยุคของนโปเลียน) ที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเกิดความตื่นตัวในการมีรัฐธรรมนูญ)ลายลักษณ์อักษร)ครั้งใหญ่ทั่วยุโรป และเป็นเหตุการณ์สำคัญ ที่ทำให้กษัตริย์ของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปมีบทบาทในการพัฒนาระบบรัฐสภา parliamentary system ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ประสบการณ์ของประเทศฝรั่งเศสในระหว่าง ปี ค.ศ. ๑๘๓๐ ๑๘๔๘ ได้ทำให้รูปแบบของการปกครองในระบบรัฐสภา parliamentary system ของประเทศในยุโรป ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีวิวัฒนาการ โดย แยกออกเป็น ๒ รูปแบบ(ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น) คือ แยกเป็นระบบ dualist ซึ่งเป็นระบบที่มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์ที่ใช้อำนาจบริหารโดยตรง กับสภาผู้แทนราษฎรที่ใช้ อำนาจนิติบัญญัติ รูปแบบหนึ่ง กับอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นระบบ monist ที่เป็นระบบการผูกขาดอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร ( ซึ่งเป็น รูปแบบ ที่ไม่มีการถ่วงดุลระหว่างอำนาจของกษัตริย์กับสภาผู้แทนราษฎร) แต่การถ่วงดุลระหว่างอำนาจ (คณะรัฐบาล กับสภาผู้แทนราษฎร) จะมีหรือไม่มี ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นจริงทางการเมือง ที่เกิดจากพฤติกรรมของนักการเมืองและพฤติกรรมของชุมชน(ในการเลือกตั้ง) ซึ่งสภาพความเป็นจริงนี้ จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ที่อยู่นอกตัวบทรัฐธรรมนูญ
ก่อนอื่น เราคงจะต้องทราบไว้ด้วยว่า ในยุคของนโปเลียน (ค.ศ. ๑๘๐๒ ๑๘๑๔) นโปเลียนได้กำหนดให้ประเทศที่อยู่ภายไต้การครอบครองของฝรั่งเศสทุกประเทศ มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร และจำนวนหนึ่งของประเทศเหล่านั้น นโปเลียนได้ให้พี่น้องของตนเป็นกษัตริย์ ; นโปเลียนวางระบบการบริหารประเทศดังกล่าวไว้ในมาตรฐานเดียวกัน คือ เลิกระบบ feudalism และ serfdom (ทาสติดที่ดิน) / ให้เสรีภาพในการถือศาสนา (ยกเว้นสเปญ) / การศึกษาระดับประถมศึกษา - รัฐจัดให้ฟรี / การศึกษาระดับอุดมศึกษา - เปิดกว้าง ค่าเล่าเรียนถูก ไม่จำกัดเชื้อชาติและศาสนา / ใช้บทกฎหมายในระบบเดียวกัน คือ Code Napoleon / มีการจัดส่วนราชการและกระบวนการยุติธรรมรวมทั้งศาลปกครอง ในรูปแบบเดียวกัน
เมื่อนโปเลียนหมดอำนาจลง (ค.ศ. ๑๘๑๔) รัฐธรรมนูญในสมัยนโปเลียนของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ได้ถูกยกเลิกไป ประเทศเหล่านี้มีความเป็นอิสระ และได้มีการจัดแบ่ง ดินแดนของประเทศต่าง ๆในยุโรป กันใหม่ โดยกลุ่มประเทศที่เป็นพันธมิตร์ร่วมกันทำสงครามล้มอำนาจของประเทศฝรั่งเศส ประชุมกัน ที่เรียกว่า the Congress of Vienna
แต่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปได้รับ ผลดีจากการจัดระบบบริหารพื้นฐานของประเทศ ที่นโปเลียนได้วางรากฐานไว้ให้
ซึ่งหมายความว่า ประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ได้มีการวางพื้นฐานของ กฎหมายที่เป็นระบบพื้นฐานการบริหารประเทศ โดยอัจฉริยบุคคลของโลก มาก่อนที่ประเทศไทยจะมีการรัฐประหารโดยคณะการปฏิรูปการปกครองฯ ในวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ (ค.ศ. ๒๐๐๖) เป็นเวลากว่า ๒๐๐ ปี คือ ก่อนที่ประเทศไทย จะมี นักการเมืองจำเป็นมาอาสาปฏิรุปการเมืองให้คนไทย โดยมีความคิด เพียงว่า ขอให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เขียนอะไรมาก็ได้ (โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ - นานาอาชีพ เพื่อความเป็นประชาธิปไตย) ให้เสร็จภายในหนึ่งปี และเข้าใจว่า ประชาธิปไตย คือ การจัดการเลือกตั้ง(ให้บริสุทธิและยุติธรรม)]
หลังจากยุคนโปเลียน ประเทศฝรั่งเศสได้กลับมามีรัฐูธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร)ฉบับใหม่ คือ รัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๘๑๔ ที่ใช้ระบบรัฐสภา parliamentary system ในรูปแบบที่พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้ อำนาจบริหารโดยตรง ( ในลักษณะเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับแรกของฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๙๑) แต่ใช้ระบบสภานิติบัญญัติ ๒ สภา(ตามรูปแบบของประเทศอังกฤษ ) โดยให้สภาที่สอง(สภาสูง Chambre des pairs) เป็นสภาขุนนาง (nobility / clergy) ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และสภาล่าง (สภาผู้แทนราษฎร Chambre des deputes des departements) มาจากการเลือกตั้ง
ประเทศฝรั่งเศสหลังจากนโปเลียนหมดอำนาจ (ค.ศ. ๑๘๑๔) ยังคงเป็นประเทศมหาอำนาจและเป็นประเทศที่เป็น ผู้นำของยุโรปในด้านความรู้ และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและรูปแบบของรัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศส ก็เป็น ประสบการณ์ที่รับรู้และมีผลกระทบต่อการเมืองของประเทศต่าง ๆในยุโรป
การปฏิวัติเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๓๐ เกิดจากการผิดพลาดของกษัตริย์ฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. ๑๘๓๐ กล่าวคือในปี ค.ศ. ๑๘๓๐ (ในระหว่างการใช้บังคับรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๘๑๔) สภาผู้แทนราษฎร(สภาล่าง) ไม่พอใจในรัฐมนตรีหลายคนที่กษัตริย์ฝรั่งเศสแต่งตั้งและเรียกร้องในกษัตริย์ เปลี่ยนตัวรัฐมนตรี แต่กษัตริย์ฝรั่งเศส (ในขณะนั้น คือ พระเจ้า ชาร์ลส ที่ ๑๐ Charles X )ไม่ยอมเปลี่ยนรัฐมนตรีและกลับสั่งให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรและทำการเลือกตั้งใหม่ ; แต่ผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่า ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามา เป็นกลุ่มที่เป็นไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งทำให้รัฐบาลคิดจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งหนึ่ง อันเป็นต้นเหตุของการคัดค้านและมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ; กษัตริย์ฝรั่งเศส (พระเจ้า ชาร์ลส ที่ ๑๐) ถูกบังคับให้สละราชสมบัติและไปประทับที่ประเทศอังกฤษ
แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น ชาวฝรั่งเศสก็ยังคงยอมรับสถาบันกษัตริย์อยู่และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของฝรั่งเศส (รัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๘๓๐) ก็ยังคงมี form of government ที่เหมือนกับรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๘๑๔ แต่ได้มีการเปลี่ยนกษัตริย์ (เปลี่ยนราชวงศ์จากสาย Bourbon ไปเป็นสาย Duc dOrleans); แต่บังเอิญกษัตริย์องค์ใหม่ของฝรั่งเศส ( Louis - Philippe) เป็นกษัตริย์ที่ไม่มีความสามารถ และไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมในภาวะที่ประเทศฝรั่งเศสอยู่ในยุคของเศรษฐกิจถดถอย recession และนอกจากจาก รัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปป์ ยังเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวาง อันเป็นสาเหตุให้เกิดการปฏิวัติและ ล้มล้างระบบกษัตริย์อีกครั้งหนึ่ง ในปี ค.ศ. ๑๘๔๘ และรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ของฝรั่งเศส ใน ปี ค.ศ. ๑๘๔๘ ได้ทำให้ประเทศฝรั่งเศสกลายเป็นประเทศสาธารณรัฐอีกครั้งหนึ่ง เป็นครั้งที่สอง Second Republic (ค.ศ. ๑๘๔๘ ๑๘๕๒ )
July Revolution ใน ปี ค.ศ. ๑๘๓๐ ของประเทศฝรั่งเศส ( ตรงกับสมัยรัชกาล ที่ ๓ ของไทย) เป็นเหตุการณ์สำคัญ ที่ก่อให้เกิด กระแสการปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย อย่างกว้างขวางในยุโรป และทำให้กษัตริย์ของประเทศในยุโรป ต้องให้รัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร)แก่ประชาชน ; รูปแบบการปกครอง form of government ในรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆในยุโรปขณะนั้น คือ ระบบรัฐสภา - parliamentary system ที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ อำนาจบริหารโดยตรง
หลังจากนั้น วิวัฒนาการของระบบรัฐสภา parliamentary systemของประเทศในยุโรป(ที่มีกษัตริย์)เหล่านี้ ก็จะแตกต่างไปจากวัวัฒนาการของระบบรัฐสภาของประเทศฝรั่งเศส
ระบบรัฐสภาของประเทศฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐธรรมนูญ ฝรั่งเศสหลังจาก ปี ค.ศ. ๑๘๗๕ (สาธารณรัฐ ที่ สาม - Third Republic) การบริหารประเทศของประเทศฝรั่งเศส จะเป็นไปตาม ระบบรัฐสภา(รูปแบบที่สอง) คือ เป็นระบบรัฐสภ าที่เป็น สภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรที่ผูกขาดอำนาจรัฐ โดยไม่มีการถ่วงดุลระหว่าง องค์กรที่ใช้ อำนาจบริหาร (ประธานาธิบดี ในฐานะประมุขของประเทศ) กับองค์กรที่ใช้ อำนาจนิติบัญญัติ
กล่าวคือ ในทางปฏิบัติ ระบบการเมืองของฝรั่งเศสจะไม่มีการยุบสภา แม้ว่าตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ประธานาธิบดี(ที่มาจากการเลือกตั้งโดยรัฐสภา) ของฝรั่งเศส ในฐานะที่เป็น ประมุขของประเทศ จะมี อำนาจยุบสภาได้ (ด้วยความเห็นชอบของสภาสูง) ก็ตาม ; ทั้งนี้ เนื่องมาจากความทรงจำและประสบการณ์เดิม ๆ ที่ เกี่ยวกับ ความผิดพลาด ในการยุบสภา ของกษัตริย์ พระเจ้าชาร์ล ที่ ๑๐ ในอดีต และการยุบสภาของประธานาธิบดี (Mac Mahom)ใน ปี ค.ศ. ๑๘๗๗ ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ; โดยต่อจากนั้น ประธานาธิบดี(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ของฝรั่งเศสในฐานะที่เป็นประมุขของประเทศ ไม่กล้าเสี่ยงที่จะสั่งยุบสภาผู้แทนราษฎรอีก
ตามความเป็นจริงของสภาพสังคมของฝรั่งเศส ระบบรัฐสภาของฝรั่งเศส จึงไม่มีการถ่วงดุลระหว่างองค์กรที่ใช้ อำนาจบริหาร และองค์กรที่ใช้ อำนาจนิติบัญญัติ [หมายเหตุ สำหรับจุดอ่อนหรือข้อเสีย ของ ระบบรัฐสภา ในรูปแบบที่ไม่มีระบบการถ่วงดุลการใช้อำนาจของนักการการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ผู้เขียนจะได้กล่าวต่อไปในหัวข้อที่ว่าด้วย การปรับเปลี่ยน rationalization ระบบรัฐสภา ของประเทศเยอรมันนีและประเทศฝรั่งเศส ต่อไป]
ในทางตรงกันข้ามกับประเทศผรั่งเศส กษัตริย์ของประเทศอื่นในยุโรป จะ เข้าใจบทบาทของตนเอง ดีกว่ากษัตริย์ของประเทศฝรั่งเศส ; ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ว่า บทบาทของกษัตริย์ในประเทศเหล่านี้ ได้ทำให้การเมืองและระบอบประชาธิปไตยที่มี สภาผู้แทนราษฎร พัฒนาต่อเนื่องกันไปได้โดยราบรื่น ดังจะเห็นได้ว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของประเทศเหล่านี้ ยังคง รูปแบบ ของระบบรัฐสภา parliamentary system ที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารโดยตรงไว้ แม้ในปัจจุบันนี้ พ.ศ. ๒๕๕๐ ค.ศ. ๒๐๐๖ ซึ่งเป็นต้น ศตวรรษที่ ๒๑
แต่สิ่งที่ ปรับเปลี่ยนไปตามระดับการพัฒนาของสังคมและพฤติกรรมของนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ในช่วงระยะเวลาแห่งประวัติศาสตร์ ของประเทศเหล่านี้ ก็คือ บทบาทของกษัตริย์ ในการใช้พระราชอำนาจในทางปฏิบัติตามความเป็นจริง - reality ในฐานะที่เป็น สถาบันที่ถ่วงดุล การใช้อำนาจของ นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง มิให้กระทำการที่ออกนอกกรอบของ วัตถุประสงค์ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย คือ การใช้อำนาจรัฐ ที่ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม (ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว) ทั้งนี้ โดยที่ตัวบทรัฐธรรมนูญ ไม่มีการเปลึ่ยนแปลง
บทบาทของพระมหากษัตริย์ของประเทศในยุโรป (ที่มีรัฐธรรมนูญที่ใช้ระบบรัฐสภาในรูปแบบแรก )เหล่านี้ เป็นกลไกที่ทำให้ ระบอบประชาธิปไตยสามารถพัฒนาไปอย่างสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและพฤติกรรมของนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง) ในแต่ละช่วงระยะเวลาที่ผ่านไป
เป็นที่น่าเสียดายว่า ประเทศไทยไม่ได้มี โอกาสเช่นนี้ม าตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ และในปัจจุบันนี้ พ.ศ. ๒๕๕๐ ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า ด้วยความไม่รอบรู้ของนักวิชาการ(ไทย) ได้เขียนรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้บรรดานักการเมือง ที่มาจากเลือกตั้ง (ทั้งที่เป็นนายทุนธุรกิจระดับท้องถิ่น และนายทุนธุรกิจระดับชาติ) ของเรา สามารถใช้อิทธิพลทางการเงินในการเลือกตั้ง (ในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ) เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐได้ โดยผ่านทาง พรรคการเมือง ด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง (ที่นายทุน ออกเงินล่วงหน้าให้ในการเลือกตั้ง) และส.ส. ต้องปฏิบัติตามมติพรรค(โดยไม่มีสิทธิที่จะปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ได้ตามมโนธรรมของตนเอง) และนายกรัฐมนตรีจะต้องมาจาก ส.ส. ( ได้แก่หัวหน้าพรรคเจ้าของทุนในการจัดตั้งพรรค )เท่านั้น และซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญประเทศเดียวในโลกที่เขียนเช่นนี้ )
ข้อสังเกตประการที่ (๒) ความล้าหลัง (และการสอนอย่างผิด ๆ )ของ ตำราวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ (ไทย) ที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษา (ไทย) : จากสาระดังกล่าวข้างต้น( ความเป็นมาของ ระบบรัฐสภา parliamentary system) จะเห็นได้ว่า ตำราวิชากฎหมายรัฐูธรรมนูญ (ที่เขียนโดยนักวิชาการระดับสูงในวงการวิชาการทางกฎหมายของเรา) ได้สอนนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี(ไทย)ในมหาวิทยาลัย(ไทย) อย่าง ผิดพลาด และตกหล่นในประการสำคัญ ถึง ๒ ประการ คือ (ก) ประการแรก เกี่ยวกับ บทบาทของสถาบันกษัตริย์ ในการวิวัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย และ (ข) ประการที่สอง เกี่ยวกับ ความเป็นจริง - realityที่เกิดขึ้น(จริง) ในการบริหารประเทศภายใต้ ระบบรัฐสภา (ที่ไม่ตรงกับคำอธิบายในตำรา )
อ่านต่อ
หน้า 20
หน้า 21
หน้า 22
หน้า 23
หน้า24
หน้า 25
หน้า26
หน้า 27
หน้า28
หน้า 29
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1173
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 21:00 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|