หน้าแรก สัมภาษณ์
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.โภคิน พลกุล รองประธานศาลปกครองสูงสุด ณ สำนักงานศาลปกครอง วันที่ 27 กรกฎาคม 2544
17 ธันวาคม 2547 10:34 น.
 
หน้าที่แล้ว
1 | 2 | 3 | 4
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : อาจารย์ครับ กฎหมายมหาชนที่เกิดจากการทำงานของอาจารย์ในขณะเป็นรัฐมนตรีว่ามีอะไรบ้างครับขอทราบทั้งกฎและระเบียบ ด้วยนะครับว่าเพราะว่ามีระบียบสำนักนายกเรื่องประชาพิจารณ์ด้วย
       
       ดร.โภคินฯ :
เอาเท่าที่จำได้นะครับเพราะมีมากจำไม่ค่อยได้ ที่จำได้ก็กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง กฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ระเบียบสำนักนายกว่าด้วยการประชาพิจารณ์ ระเบียบสำนักนายกว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนของหน่วยงานของรัฐ นอกจากนี้ก็มีกฎหมายองค์การบริหารส่วนจังหวัดรวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวกับการปรับปรุงรายได้ของท้องถิ่นครับ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : กฎเกณฑ์ที่สำคัญอีกหนึ่งฉบับที่เป็นประโยชน์กับข้าราชการค่อนข้างมากคือ วิธีการประเมินครับ
       
       ดร.โภคินฯ :
คือเป็นของก.พ. ความจริงหน้าที่ของผมก็ไม่ได้เกี่ยวกับ ก.พ.โดยตรงแต่เห็นว่าเป็นปัญหาของระบบราชการ คือการให้ความดีความชอบเป็นกรณีพิเศษสำหรับข้าราชการที่ปฏิบัติงานดีในแต่ละปีโดยมีการเลื่อนขั้นเงินเดือนขั้นครึ่งหรือสองขั้น หลายหน่วยงานการพิจารณาผลการปฏิบัติราชการเป็นความลับ วิธีการประเมินไม่มีระบบและก็ไม่รู้ว่าต้องประเมินปีละกี่ครั้ง ประเมินอย่างไรบ้าง ผมบอกว่าเป็นปัญหาต่อความเหลื่อมล้ำก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมค่อนข้างมาก ก็ปรึกษาหารือในคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ ก.พ. โดยทาง ก.พ. ขอให้ทำเรื่องนี้เป็นมติคณะรัฐมนตรีตอกย้ำลงไปอีกว่าต่อไปนี้ต้องเป็นอย่างนี้คือ การเลื่อนขั้นเงินเดือนสองขั้นต่อไปนี้ต้องเปิดเผยและต้องมีวาระการประเมินอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ผมได้นำเอาแนวทางมาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ฝ่ายเอกชนบางทีเขาบอกว่าเขาประเมินทุกเดือนทุกสามเดือน สำหรับบริษัทไม่ใหญ่มากทำได้แต่ถ้าบริษัทใหญ่จะทำได้ยาก การประเมินบ่อยมีข้อดีคือทำให้ผู้ประเมิน และผู้ถูกประเมินรู้ตัว หน่วยงานพอใหญ่มักมีความห่างเหินบางที่ผู้บังคับบัญชาอาจจะเรียกใช้อยู่คน 2 คน คนอื่นที่เดินในหน่วยงานไม่รู้จักเลยไม่เคยเห็น คนเหล่านั้นก็ไม่รู้จะทำอะไร อันนี้เป็นข้อดีข้อที่ 1 ส่วนข้อที่ 2 คือการที่ผู้บังคับบัญชาต้องประเมินทำให้ต้องลงไปดูหรือมีคนช่วยดูและเมื่อประเมินแล้วต้องแจ้งไปยังผู้ถูกประเมินซึ่งเขาจะได้โต้แย้งกลับมาว่าที่ท่านเข้าใจนั้นไม่ถูกต้อง ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นแบบนี้ เช่นอาจจะได้ข้อมูลว่าบ่าย 3 โมงก็กลับบ้านไปแล้วทั้งที่ความจริงเขานั่งอยู่ถึงทุ่มสองทุ่มทุกวัน แต่อาจจะมีคนให้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง เขาจะได้บอกว่าเรื่องที่ผู้บังคับบัญชาได้ฟังมาไม่จริงมีพยานยืนยัน ผู้บังคับบัญชาจะได้รู้ด้วยว่าประเมินถูกหรือผิด ถ้าเราประเมินถูกเขาจะได้รู้ตัวว่านายเขารู้นะว่าเป็นอย่างนี้ และก็จะrecordและพอถึงเวลาที่ควรจะได้ขั้นครึ่งสองขั้น คนอื่นก็ปฏิเสธไม่ได้เพราะความจริงเป็นอย่างนั้น ที่ผ่านมาแม้ระบบอาจารย์จะเห็นว่าบางทีคณบดีเสนอไปอย่างกลับไปเปลี่ยนในชั้นอธิการบดีก็มี เช่น คนที่ควรจะได้พอไปถึงอธิการบดีกลับกลายเป็นอีกคนที่ได้ไป โดยไม่มีคำอธิบายว่าเหตุผลเป้นอย่างไร การประเมินไม่ใช่การประเมินเอาตามใจชอบ อันนี้จะเห็นว่าหลายหน่วยงานปิดเป็นความลับ บอกไม่ได้เรื่อง 2 ขั้นจะรู้ต้องไปแอบดูซองเงินเดือนว่าใครได้ ถามว่าการบอกว่าคนนี้ดีและให้บำเหน็จในความดีของเขาต้องปกปิดกันหรือ ผมว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เป็นปัญหา การที่เราจะบอกว่าคนไหนดีเราจะต้องเปิดเผยให้คนอื่นรู้เลยว่าคนนนี้ดีคนอื่นจะได้เอาอย่างและคนอื่นจะได้ดูด้วยว่าคนที่ว่าดีนั้นดีจริงหรือไม่ ผมก็พยายามผลักดันจุดนี้ระยะแรกก็ดื้อๆยังไม่ค่อยยอมเดี๋ยวนี้คงจะยอมตามมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งพอมีกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมากำกับอยู่ด้วยแล้วถึงแม้จะไม่ตรงกับเรื่องนี้ 100 % แรกๆคนไม่ค่อยรู้เรื่องไม่ค่อยอยากทำตามเดี๋ยวนี้กลายเป็นระบบแล้ว นอกจากนี้ยังมีศาลปกครองมาตอกย้ำอีกด้วย ดังนั้นการสั่งการอะไรไปถ้ากระทบสิทธิบุคคลจะต้องให้เหตุผลในการออกคำสั่งต่อผู้ถูกกระทบสิทธิด้วย ต่อไปนี้ข้าราชการทุกคนจะเริ่มตระหนักแล้วว่าถ้าทำไม่ถูกต้องจะถูกฟ้องศาลปกครอง ข้าราชการไทยหากถูกฟ้องศาลก็รู้สึกไม่อยากโดนแล้ว แม้ว่าไม่ใช่คดีอาญาก็ตาม อย่าลืมว่าศาลปกครองถ้าศาลเพิกถอนคำสั่งหรือศาลสั่งว่าคุณเพิกเฉยคุณละเลยก็จะกระทบต่อความก้าวหน้าในการทำงานต่อไปครับ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : หลังจากที่เป็นอาจารย์สอนกฎหมายมหาชน เป็นนักการเมืองที่ใช้กฎหมายมหาชน ผลักดันกฎหมายสำคัญของประเทศ วันนี้อาจารย์เป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด อาจารย์จะใช้ความรู้ความสามารถทางด้านกฎหมายมหาชนพัฒนาศาลปกครองไปในแนวทางใดครับ
       
       ดร.โภคินฯ :
ต้องเรียนอย่างนี้ครับว่า เวลาเราไปทำงานในส่วนที่เป็นการเมืองที่ได้เล่ามาแล้วนั้นก็คือดูในส่วนที่เป็นนโยบายเป็นทิศทางว่าทำอย่างไรจะผลักดันสิ่งที่คิดว่าต้องทำ สิ่งที่ถูกต้องให้ออกไปได้มากที่สุด ในเชิงของการเป็นรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องกฎหมายให้รัฐบาลซึ่งครั้งนั้นก็ประสบความสำเร็จ ในระยะแรกรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลยังไม่ค่อยยอมรับเพราะเห็นว่าเรามาจากสายวิชาการแม้จะเห็นว่าเราประสบความสำเร็จทางวิชาการมาพอสมควร แต่ท่านก็ไม่แน่ใจว่าเราจะทำได้หรือไม่ แต่หลังจากนั้นผมคิดว่าผมได้รับการยอมรับอย่างเต็มที่จากรัฐมนตรีต่างๆด้วยการใช้เหตุใช้ผล ดังนั้นในระยะหลังถ้าเป็นเรื่องกฎหมาย รัฐมนตรีและรองนายกหรือบางท่านก็บอกว่าให้อาจารย์โภคินฯไปจัดการเลยหรือว่าผมมีข้อท้วงติงว่าอันนี้เป็นอย่างนี้ก็ให้แก้ไขหรือมอบให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯไปดำเนินการเลย คือเขามีความเชื่อมั่นว่าถ้ามอบให้เรามาแล้วเรื่องนั้นจะไม่เหลวไหลและได้ผลถูกต้องเป็นประโยชน์ จนบางครั้งคนไปเข้าใจผิดนึกว่ารัฐบาลจะต้องเชื่อเราคือเป็นแต่ในเรื่องของกฎหมายเท่านั้นเพราะส่วนใหญ่ไม่มีคนสนใจในรายละเอียดหรือแม้แต่การชี้แจงในสภาจะเห็นว่ากฎหมายบางฉบับไม่เกี่ยวกับผมแต่ผมก็ต้องช่วยชี้แจง ผมจะไปรู้ได้อย่างไรว่าหมวกนิรภัยมีที่ไหนมีกี่โรงงานผมไม่รู้หรอก แต่ถ้าตอบในเชิงกฎหมายว่าทำไมเป็นอย่างนี้ทำไมไม่เขียนอย่างนั้น อันนี้ผมช่วยได้ แต่บางทีช่วยทุกคนทุกกฎหมายก็ไม่ไหวเพราะว่ามันเยอะจริงๆ ครั้นพอมาทำงานด้านตุลาการก็เห็นได้ชัดว่าถ้าพูดในสิ่งที่เราเห็นถึงความไม่ถูกต้อง เช่นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ไปในทางที่ไม่ชอบทั้งหลายแล้ว ในเชิงบริหารเราสั่งการอะไรไปก็แล้วแต่กระทรวงนั้นๆเป็นข้อแรก ประการต่อมาถึงแม้ว่าจะบริหารการประสานการอะไรกันก็เป็น case by case ไม่ได้เกิดเป็นบรรทัดฐาน ถือไม่ได้ว่าเป็นแบบแผนเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติตามต่อไปและบางครั้งพอเกิดเรื่องใหม่ก็เท่ากับการทำผิดอีกอย่าง เป็นอย่างนี้ตลอดในทางบริหาร แต่พอมาเป็นตุลาการมีข้อดีที่ว่าสิ่งที่ศาลฟังว่าไม่ถูกต้องถ้ามีคำพิพากษาถึงที่สุดก็จะจบถือว่าต้องปฏิบัติตามนั้นก็เป็นการสร้างแบบแผนที่เป็นมาตรฐานและชัดเจน ดังนั้นผมจึงเขียนในการแนะนำศาลปกครองในเอกสารต่างๆที่ออกไปว่าการมีศาลปกครองวัตถุประสงค์หลักอันหนึ่งก็คือ การสร้างแบบแผนที่ดีในการปฏิบัติราชการซึ่งจะก่อให้เกิดการบริหารราชการที่ดี ข้าราชการก็ได้ เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ได้ ประชาชนก็ได้ สังคมโดยรวมก็ได้ ที่ดีคืออะไร ก็คือการใช้อำนาจโดยระมัดระวัง ใช้อำนาจให้ถูกต้องให้อยู่ในกรอบอยู่ในวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ให้อำนาจและเคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่กฎหมายคุ้มครองรับรอง ข้าราชการจะคิดเอาแต่ตัวเองสะดวกคิดเอาแต่ตัวเองสบาย จะผิดจะถูกไม่รู้ฉันจะเอาอย่างนี้ปัจจุบันนี้ทำไม่ได้ง่ายๆแล้ว ประชาชนเองก็ต้องรู้เหมือนกันว่าอันนี้เป็นสิทธิที่ทำได้อันนี้มันเกินไป ทำไม่ได้ อันนี้เป็นคนละเรื่อง ถ้าเรามาร้องกับฝ่ายการเมืองก็อาจจะได้เพราะบรรยากาศมันคนละแบบ แต่มาร้องกับศาลไม่ได้แน่เพราะต้องเป็นไปตามระเบียบกฎเกณฑ์ตั้งแต่ต้น การจะตัดสินชี้ขาดปัญหาศาลต้องให้เหตุผลดูข้อเท็จจริงด้วยเหตุด้วยผลดูข้อกฎหมายต่างๆว่าเป็นอย่าไร จะเป็นอีกมิติหนึ่งซึ่งสืบเนื่องลงมาจากระบบการบริหาร ผมเชื่อว่าตัวเราเข้าใจอย่างนี้แล้วก็มาวางบรรทัดฐานกันต่อไป สังคมทั้งระบบก็จะดีและถ้าการบริหารราชการเป็นไปโดยสุจริตถูกต้องทุกฝ่ายย่อมได้หมด ผมย้ำตลอดเวลาแม้แต่ทำงานที่นี่กับทุกท่านที่มีโอกาสพูดคุยบอกว่าถ้าเราทำงานโดยสุจริงมีเหตุมีผลไม่ต้องไปกลัวอะไรทั้งสิ้น คือสุจริตก็เป็นเกราะอันหนึ่งแล้ว อันที่ 2 แม้สุจริตแต่ต้องไม่เลอะๆเทอะๆอย่านี้ก็ใช้ไม่ได้ สุจริตต้องมีเหตุมีผลอธิบายได้และต้องพร้อมยอมรับวอีกฝ่ายที่มีเหตุมีผลดีกว่า ถูกต้องกว่า เพราะเหตุผลที่ถูกต้องน่าจะมีอันเดียวไม่น่าจะมีหลายอันพร้อมๆกันและเลือกอันไหนก็ได้เพราะนี่คือศาล แต่ถ้าเป็นฝ่ายบริหารเป็นไปได้ที่เขาจะเลือกมาตรการต่างๆที่อาจจะเหมาะสมกับจังหวะและสถานการณ์ ส่วนคำวินิจฉัยจะต้องมีเหตุมีผลที่ถูกต้องที่สุดอันเดียว ไม่ใช่เลือกอันไหนก็ได้วันไหนก็ได้ อย่างนี้คงไม่ใช่ศาล เช่น การไล่ข้าราชการคนนี้ออกแล้วฟังว่าไม่ชอบ ก็ต้องตอบให้ได้ว่าไม่ชอบเพราะเหตุอะไร ตราบใดที่กฎหมายหรือกติกายังเป็นอย่างนี้ผลก็จะยังเป็นอย่างนี้ ผมเชื่อว่าจากจุดเหล่านี้ถ้าพวกเราช่วยกันอย่างเต็มที่สิ่งที่ได้วางออกมาแล้วคือตัวกฎหมายที่วางโครงสร้าง วางอำนาจหน้าที่ ระเบียบแบบแผนต่างๆจะสามารถลงไปสู่การปฏิบัติได้ ศาลจะเป็นคนที่บอกว่าที่ถูกต้องเป็นอย่างนี้หลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ อย่างนี้ใช้ได้ เป็นต้น ก็คิดว่าน่าจะทำให้สังคมโดยรวมดีขึ้นแต่คงต้องใช้เวลาครับ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ผมขอถามอาจารย์สั้นๆนะครับว่าอาชีพการเป็นอาจารย์ การเป็นนักการเมือง การเป็นตุลาการ อาจารย์ได้เคยนึกบ้างหรือไม่ครับว่าอาจารย์พอใจสภาพแบบไหนมากกว่ากัน
       
       ดร.โภคินฯ :
ว่าไปแล้วทั้ง 3 อาชีพของผมก็มีแกนที่เหมือนกันคือ ทำแต่งานวิชาการ อาจารย์เคยทำงานอยู่กับผมก็จะเห็นว่าเป็นนักการเมืองก็ไม่ได้เป็น ส.ส. คือไม่ได้ไปเยี่ยมราษฎร ไปอะไรต่างๆ งานหลักก็คืออ่านแต่หนังสือ อ่านร่างกฎหมายเตรียมชี้แจงกฎหมาย เป็นต้น ตอนเป็นอาจารย์ก็คงเข้าใจแล้วว่าอาชีพอาจารย์เป็นอย่างไร มาเป็นตุลาการก็แบบเดิม 3 อาชีพแล้วแต่ทั้ง 3 อาชีพทำแต่ด้านวิชาการเป็นหลัก เพียงแต่ถ้าถามว่าชอบอาชีพแบบไหน ความจริงชอบอาชีพแบบอาจารย์หรือเป็นตุลาการเพราะเรามีความเป็นอิสระเราอยากยืนอยู่ในจุดที่เราคิดว่าถูกต้อง มีเหตุมีผล เรายืนได้อย่างสง่างาม เป็นการเมืองก็สามารถทำได้ แต่ต้องมี Spirit ในแง่ของการปกป้องเสียงข้างมากเพราะการเมืองมักตัดสินตามเสียงข้างมากเป็นหลักและบางครั้งก็ตอบไม่ได้ว่าอันไหนถูกอันไหนผิดอยู่ที่ความเหมาะสมของแต่ละสถานการณ์ ถ้าเป็นทางเลือกที่เป็นเรื่องกฎหมายแล้วผมก็จะบอกว่าอันนี้ไม่ได้จะให้ถูกต้องเป็นแบบนี้ ถ้าเป็นทางเลือกในเรื่องความเหมาะสมของการบริหาร การกำหนดแบบนี้ก็ยากเหมือนกันเพราะว่ามันตอบยาก แต่ถ้าฝ่ายการเมืองว่าอย่างนี้ที่ถูกและผมเห็นว่าไม่ถูกก็จะติงทันทีว่าทำไม่ได้ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้รับความยอมรับครับ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ในฐานะที่อาจารย์เป็นนักกฎหมายมหาชนชั้นนำของเมืองไทยคนหนึ่ง ผมอยากให้อาจารย์ให้ข้อเสนอแนะหรือข้อคิดเห็นสำหรับคนที่จะมาเป็นนักกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่ที่เขาควรจะเตรียมตัวอย่างไรหรือควรจะทำอย่างไรบ้างในการที่จะเป็นนักกฎหมายมหาชนที่ดีในวันข้างหน้าครับ
       
       ดร.โภคินฯ :
ก็คงจะมี 2 ด้านนะครับ ด้านที่เป็นความประพฤติและจิตใจกับด้านที่เป็นความรู้ ด้านความประพฤติจิตใจคงไม่ยากคงตรงกันคือ คนเราไม่ว่าอยู่ที่ไหนอาชีพอะไรต้องมีความสุจริตและที่สำคัญสังคมจะต้องไม่มีการbias คือความลำเอียง ตรงนี้เราต้องตรวจสอบตัวเราตลอดเวลาเพราะทุกคนจะมีbias ง่ายมาก biasแบบเป็นเพื่อนกัน พี่ น้อง ยังเรื่องธรรมดา biasจากความรู้สึกเช่นเราเป็นคนอารมรณ์ฉุนเฉียวหงุดหงิดง่ายเป็นคนไม่ชอบคนมีลักษณะอย่างนี้ bias ตรงนี้เกิดได้ง่ายกว่าเพื่อนหรือญาติมาขอ ตรงนี้ต้องพยายามบอกตัวเองว่าคนนั้นอาจจะกวนสุดๆแต่เขาเป็นของเขาอย่างนั้นไม่มีอะไร อีกประการหนึ่งก็คือนักกฎหมายต้องเคร่งครัดยากยิ่งกว่าชนชั้นอื่นในสิ่งที่เป็นอคติตรงนี้ต้องพร้อมที่จะมีเมตตา เมตตาที่ว่านี้ก็ไม่ใช่ไปช่วยคนผิดให้ถูก เมตตาก็คือพร้อมที่จะเข้าใจและให้โอากาสเพื่อให้เขาทำในสิ่งที่ถูกต้องที่ดีต่อไป ส่วนเรื่องความรู้ผมคิดว่านักกฎหมายมหาชนจะรู้แต่ในเรื่องกฎหมายมหาชนแต่เพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ คงต้องมีความรู้ในกฎหมายด้านอื่นๆด้วยแต่คงไม่ต้องถึงขนาดเป็น expert ต้องรู้พื้นฐานกฎหมายเอกชน ขณะเดียวกันกฎหมายมหาชนก็คงต้องเอาใจใส่ ต้องมีความรอบรู้ ความรอบรู้เกิดจากการอ่าน การพูดคุย การไปอบรมสัมมนาต่างๆ ผมบอกลูกศิษย์ตลอดเวลาที่ไปสอนว่าพวกคุณห่วงกังวลเรื่องสอบอยากถามข้อสอบ แต่พวกคุณยังสอบแค่เทอมละครั้ง2 ครั้ง ผมสอบเกือบทุกวันเพราะต้องไปบรรยาย ประชุมอภิปราย นี่คือการสอบทั้งนั้น ไม่ใช่นั่งเทียนแล้วไปได้ต้องอ่านต้องค้นต้องตรวจสอบตลอดเวลา ไหนจะต้องเขียนบทความเขียนหนังสือ ซึ่งเป็นการสอบอย่างหนึ่งจะopen book หรือไม่ก็ตามแต่ แต่ก็ต้องมีการค้นมีการทำอะไรอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ถือเป็นการฝึกฝนที่สำคัญนอกจากนี้อย่าไปปฏิเสธความรู้ในสาขาอื่น ผมเป็นคนนอนดึกตี 2 ตี 3 เฉลี่ยแล้วไม่มีก่อนตี 1 บางทีหลังเที่ยงคืนก็อ่านหนังสือเขียนหนังสือ บางทีไม่รู้ว่าจะทำอะไรก็ดูUBCแต่พูดอย่างนี้มีข้อจำกัดเพราะหลายท่านอาจจะดูไม่ได้ แต่ถ้ามีโอกาสหาความรู้เหล่านี้ได้ผมก็ดูรายการอย่าง science detective หรือ health ช่อง discovery ช่อง National geographic ช่อง Animal Planet เรื่องวิวัฒนาการอะไรใหม่ๆ สิ่งนี้ช่วยให้เราได้ความรอบรู้เป็นอย่างนี้เป็นอย่างนั้นนะ เราอย่าไปปฏิเสธเลย อยากเน้นเรื่องภาษาด้วยเพราะว่าภาษาเป็นเครื่องมือไปสู่ความความรู้ ยิ่งเราใช้ภาษาได้หลายภาษาเราก็ไปหาความรู้ได้จากหลายที่ ผมมีข้อดีที่ผมรู้ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศสซึ่งก็ถือว่าเป็นภาษาสำคัญของโลกทำให้เราหาข้อมูลได้มากขึ้น ยิ่งถ้ารู้ภาษา จีน ญี่ปุ่นก็ยิ่งดีใหญ่ เพราะฉะนั้นตรงนี้จึงอย่าไปปฏิเสธ นักกฎหมายส่วนใหญ่กลัวเรื่องภาษาก็เลยถอยไปหมดจะอ่านแต่ภาษาไทยจึงมีข้อจำกัด ดังนั้นพรมแดนแห่งความรู้นี้ต้องถือว่าเราเปิดแม้แต่งานอดิเรกผมก็มีหลายอย่าง หนังสือเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงผมก็อ่าน ผมซื้อตำราเกี่ยวกับแมว หมา นก นอกจากนี้ผมเป็นคนชอบด้านหนังสือคอมพิวเตอร์ ผมคงใช้คอมพิวเตอร์สู้ลูกชายผมไม่ได้เพราะผมไม่ได้ใช้ทุกวัน แต่ถามว่าทำไมระบบอันนี้เป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนั้น มันเกิดอะไรใหม่ๆ ตรงไหนทำไมเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไม IBM จากยักษ์ใหญ่ทุกวันนี้สู้ Microsoftไม่ได้ เพราะคนทำ software ได้เปรียบมัน dynamic มากกว่า อันนี้ก็เป็นองค์ความรู้อย่างหนึ่ง ผมเล่นกล้องผมก็ศึกษาเรื่องกล้องตั้งแต่กล้องธรรมดา ศึกษาว่าทำไมกล้องแบบsnapshot จึงwork ก็พบว่าญี่ปุ่นคิดว่ากล้องสมัยก่อนคนใช้กล้องต้องใช้เป็นเกิดความคิดว่าคนใช้กล้องเป็นทั่วโลกมีกี่คน ทำอย่างไรให้คนที่อยากใช้กล้องแต่ใช้ไม่เป็นแค่กดก็ได้แล้ว คุณภาพพอไปได้ ญี่ปุ่นคิดการตลาดตรงนี้โดยการพยายามผลิต snapshot ปีเดียวก็เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ทำให้คนอีกไม่รู้กี่ร้อยล้านคนเข้ามาใช้กล้องถ่ายรูปได้โดยง่าย อันนี้ก็เป็นความรู้อย่างหนึ่ง ตอนหลังก็พัฒนามาเป็น digital ซึ่งมีข้อจำกัดแต่อย่างไรก็ตามอยากให้มีการเรียนรู้แบบนี้ มีโอกาสก็อ่าน ไม่ใช่ไม่ชอบแล้วปฏิเสธ เรื่องต้นไม้ก็ควรจะต้องรู้ว่านี่คือต้นอะไร สิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรม ก็ฝากไว้อย่างนี้แล้วกันครับ อย่าไปบอกว่านักกฎหมายมหาชนต้องอ่านแต่ตำรากฎหมายปกครองเพราะจะไม่ workครับ ขอบคุณครับ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ขอขอบพระคุณอาจารย์ที่ได้กรุณาสละเวลาให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ครับ
       
       


หน้าที่แล้ว
1 | 2 | 3 | 4

 
 
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2546
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 8 กันยายน 2544
บทสัมภาษณ์ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ณ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย วันที่ 11 ธันวาคม 2544
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2546
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ วันอังคารที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2549
   
 
 
 
มองการปฏิรูปประเทศผ่านสายตานักกฎหมาย นันทวัฒน์ บรมานันท์ จากคนวงในสู่ภาพขยายสังคม
ปี ๒๕๕๕ การเมืองจะรุนแรง ? เหตุ ปชช.ไม่รู้
ศึกแผงลอย "สยามสแควร์"ยื้อ 8 เดือน "จุฬาฯ" เกินต้านยอมถอย แฉ! "เจ้าหน้าที่" ไม่ร่วมมือ!!!
ถามหาความกล้า"ประชาธิปัตย์"เป็นฝ่ายค้านที่สะอาดดีกว่าอยู่ในรัฐบาล แล้วเป็นสีเทา
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อัดแก้รธน. 2 มาตราไม่ได้ตอบโจทย์แก้ปัญหาปรองดอง เสนอขึ้น"บัญชีดำ"คนยกร่างรธน.ปี50
"นันทวัฒน์ บรมานันท์"ซัดคลิปลับฉาว ศาล รธน.บกพร่องเอง คนแต่งตั้งกุนซืออย่าปฏิเสธความรับผิดชอบ
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ว่าด้วยเรื่อง "ปรองดองขี้ขลาด-เส้นทางการเมืองและการปฎิรูป"
สัมภาษณ์ ดร.วรรณภา ติระสังขะ เจาะโมเดลตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จาก"ฝรั่งเศส"ถึง กฟผ. .′ความ(ไม่)เท่าเทียมกันของอาวุธ′
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ชำแหละ"รากแห่งความขัดแย้ง" ลากสังคมไทยสู่สงครามกลางเมือง !!!!
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544