หน้าแรก สัมภาษณ์
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 8 กันยายน 2544
17 ธันวาคม 2547 10:37 น.
 
หน้าที่แล้ว
1 | 2
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ธรรมศาสตร์มีแนวความคิดที่จะเพิ่มการผลิตมหาบัณฑิตปริญญาโททางด้านการคลังออกมาให้กับสังคมบ้างหรือไม่ครับ
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
ความจริงแล้วเป็นที่น่าภูมิใจอย่างยิ่งที่เรียนไปแล้วว่าธรรมศาสตร์สอนกฎหมายการคลังมาโดยตลอดตั้งแต่มีมหาวิทยาลัยแต่ตอนหลังก็ไม่ได้เป็นวิชาบังคับแต่เป็นวิชาเลือกจนมาเป็นวิชาบังคับอีกทีในปี 2526 ก็บอกกับนักศึกษาว่าน่าภูมิใจที่ธรรมศาสตร์สอนกฎหมายการคลังให้กับนักศึกษาและก็ชี้ให้เห็นความสำคัญของวิชานี้และก็บอกว่าเกี่ยวข้องกับตนเองอย่างไรในชีวิตประจำวัน แต่ไม่เป็นที่น่าภูมิใจสำหรับประเทศไทยเนื่องจากคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยอื่นไม่ได้ให้ความสำคัญกับวิชานี้เลย ให้เป็นวิชาเลือกบ้างเป็นวิชาอื่นบ้างเพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขในระดับประเทศ แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่พัฒนาทางด้านกฎหมายมหาชน ความจริงก็เริ่มมานานแต่เข้ารูปเข้ารอยก็ 20 ปีให้หลัง อย่างเช่นการมีศาลปกครองเราก็เรียนกันมา 20 ปีแล้วแต่ศาลปกครองก็เพิ่งมีเพราะฉะนั้นการที่ธรรมศาสตร์ให้ความสำคัญทางด้านกฎหมายมหาชนทั้ง 3 สาขา คือ ปกครอง รัฐธรรมนูญและการคลัง แต่เนื่องจากการคลังนั้นเราไม่มีอาจารย์จบมาทางด้านนี้มากและส่วนใหญ่ปัญหาเฉพาะหน้าก็เป็นปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายปกครองเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ก็จะเน้นหนักไปทางด้านนั้นเป็นส่วนใหญ่ แต่กฎหมายการคลังก็จะมีส่วนไปด้วยเสมอในทุกครั้งที่มีการจัดอบรมจะต้องมีการอธิบายเกี่ยวกับวิชานี้แทรกเสริมเข้าไปด้วยทุกครั้งค่ะ ส่วนการผลิตบัณฑิตปริญญาโททางด้านนี้คณะก็ไม่ได้เน้นลงไป ทั้งนี้ให้เป็นไปตามทางเลือกของนักศึกษาว่าจะเลือกทำวิทยานิพนธ์ด้านใดในทางกฎหมายมหาชน
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : แต่ยังไม่มีเป้าที่จะผลิตบัณฑิตทางด้านการคลังออกมาเพิ่มจากปกติใช่หรือไม่ครับ
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
ยังไม่ได้แยกเป็นสาขาการคลังมหาชนต่างหากจากภาคมหาชนเพราะฉะนั้นก็ลำบาก เพราะอย่างสอนปริญญาโทก็สอนแค่เทอมเดียวแล้วแต่ว่านักศึกษาจะเลือกทำวิทยานิพนธ์หรือไม่ เดิมยังสอนสองเทอมแต่ตอนนี้เหลือเทอมเดียวฉะนั้นก็ลำบากต่างจากกับต่างประเทศบางประเทศที่มีสาขานี้เฉพาะเลย
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ถ้าเราจะตั้งสาขานี้ขึ้นมาควรจะประกอบด้วยวิชาอะไรบ้างครับ
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
ที่สำคัญจะต้องเรียนกฎหมายการคลังและการภาษีอากรเป็นวิชาหลักและภาษีอากรที่เป็นหลักทางทฤษฎี แนวคิด หลักกฎหมายทั่วไปทางภาษี ของภาษีทางตรงหรือทางอ้อม กฎหมายภาษีระหว่างประเทศ วิธีพิจารณาคดีภาษีซึ่งเป็นวิธีพิจารณาคดีปกครองประเภทหนึ่งแต่พิเศษเนื่องจากกฎหมายภาษีก็เป็นกฎหมายการคลังประเภทหนึ่ง เมื่อกฎหมายการคลังเป็นกฎหมายพิเศษกฎหมายภาษีในกฎหมายการคลังก็เป็นกฎหมายพิเศษ วิธีพิจารณาก็เป็นวิธีพิจารณาคดีปกครองที่มีลักษณะพิเศษก็ต้องเรียนในสิ่งเหล่านี้และศึกษาว่าแนวความคิดนี้ต่างกับกฎหมายปกครองทั่วไปอย่างไร นอกจากนั้นยังต้องเรียนกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง หรือกฎหมายมหาชนด้านอื่นเป็นวิชาเลือก
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : แต่จะนำมาใช้กับบ้านเราได้หรือไม่ครับเพราะบ้านเราจัดให้คดีภาษีอากรอยู่กับศาลภาษีอากรซึ่งอยู่ทางฝ่ายศาลยุติธรรม
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
อันนี้ต้องชี้ทางให้ถูกต้องในทางวิชาการ ชี้ให้เห็นปัญหาคือหมายความว่าโดยสภาพ หรือโดยธรรมชาติของกฎหมายภาษีแล้วควรเป็นกฎหมายสาขาใด ในทางปฏิบัติจริงๆจะเป็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องที่เราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงได้ในทันทีแต่ต้องชี้แนวทางให้ถูกว่าในทางวิชาการกฎหมายภาษีเป็นกฎหมายมหาชนและเป็นกฎหมายปกครองชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรจะเป็นก็คือคนที่จะมาพิจารณาพิพากษาคดีภาษีก็ควรจะใช้วิธีพิจารณาคดีปกครองไม่ใช่วิธีพิจารณาคดีแพ่ง คดีภาษีก็อาจจะขึ้นศาลแพ่งแต่คุณก็ควรจะใช้วิธีพิจารณาคดีปกครองทางหนึ่ง หรืออาจโอนคดีภาษีมาให้อยู่ในอำนาจศาลปกครองก็เป็นอีกทางหรือถ้าจะเก็บเอาไว้ก็ต้องใช้วิธีพิจารณาคดีปกครองกับคดีภาษี ไม่ใช่ใช้วิธีพิจารณาความแพ่งกับคดีภาษี
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : แสดงว่าอาจารย์เห็นว่าในปัจจุบันศาลปกครองควรจะเป็นผู้พิจารณาคดีภาษี
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
ก็ไม่เชิงอย่างนั้น คือ โดยหลักควรจะเป็นเช่นนั้นแต่ทางแก้อีกทางก็คือควรจะแก้วิธีพิจารณาคดีภาษีให้มาสอดคล้องกับวิธีพิจารณาคดีปกครองอย่างเช่นในฝรั่งเศสคดีภาษีขึ้นทั้งสองศาลทั้งศาลยุติธรรมและศาลปกครองแต่ผู้พิพากษาต้องสวมหมวกใบเดียวเป็นผู้พิพากษาภาษีใช้วิธีพิจารณาคดีภาษีซึ่งมีลักษณะร่วมกับวิธีพิจารณาคดีปกครองไม่ใช่วิธีพิจารณาคดีแพ่งเพราะฉะนั้นคดีภาษีของไทยเมื่อมีศาลภาษีแล้วคดีภาษีทุกคดีขึ้นศาลภาษีก็น่าจะใช้วิธีพิจารณาคดีปกครองเพราะว่าเนื้อหาหรือธรรมชาติของคดีนั้นไม่ต่างจากคดีปกครองทั่วไปและถ้าไปใช้วิธีพิจารณาทางแพ่งโดยอนุโลมก็ไม่เป็นธรรมด้วยสำหรับผู้เสียภาษีในฐานะผู้อยู่ใต้ปกครองเช่นกันค่ะ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ขอกลับมาประเด็นเรื่องการศึกษากฎหมายการคลังครับ คืออาจารย์คิดว่าคนที่จะเข้ามาเรียนกฎหมายการคลังได้ดีต้องเก่งคำนวณหรือไม่ครับเพราะส่วนใหญ่จุดอ่อนของคนที่เข้ามาเรียนนิติศาสตร์คืออ่อนคำนวณ
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
อันนี้เป็นความคิดที่นักศึกษาคิดกันไว้แต่แรกเลย พอเห็นชื่อวิชาก็บอกเลยว่าเป็นเรื่องตัวเลขและส่วนใหญ่นักศึกษานิติศาสตร์นอกจากไม่เก่งภาษาต่างประเทศแล้วยังไม่เก่งเลขก็เป็นอุปสรรคอีก 2 อย่างนี้เป็นเรื่องคู่กัน แต่พอเข้ามาเรียนแล้วก็อธิบายให้นักศึกษาฟังว่าการเรียนการคลังมหาชนในคณะนิติศาสตร์ เราเรียนการคลังมหาชนในทางกฎหมายไม่ใช่เรียนเศรษฐศาสตร์การคลัง หรือรัฐศาสตร์การคลังเพราะฉะนั้นก็เลิกกังวลได้ อาจจะมีบ้างก็ง่ายๆ คำนวณง่ายๆ บวกลบเลขได้ อ่านเลขตามช่องตารางของงบประมาณรายจ่ายประจำปีเท่านั้นพอ แต่เราจะเน้นแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์บ้างเท่าที่จำเป็นและศึกษารัฐศาสตร์บ้าง ในที่สุดก็ไปจบที่กฎหมายแต่ไม่สามารถเรียนกฎหมายอย่างเดียวโดยไม่มีแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์หรือรัฐศาสตร์หรือทางสังคมวิทยาเพราะคนเราคิดต่างกันคือ คนไทยอาจจะไม่ชอบเสียภาษีแต่คนทางยุโรปเหนือเขาเห็นว่าภาษีมีความสำคัญ เขายอมที่จะเสียแต่ของเราชอบหนีภาษีเพราะเราไม่ได้มองลึกว่าไปว่าภาษีสำคัญต่อประเทศ ไม่มีสิ่งตอบแทนให้เราโดยตรงแต่มันให้โดยอ้อม ตัวเราคนเดียวไม่สามารถทำทางด่วนได้แต่เงินภาษีเราต่างหากที่ไปทำ ตรงนั้นเป็นผลพลอยได้ที่หาค่าไม่ได้ระหว่างเงินเล็กๆน้อยๆที่แต่ละคนเสียให้กับรัฐ ไม่เหมือนกับเสื้อผ้าที่เราพอใจซื้อมาอันนี้เราได้โดยตรงแต่การเสียภาษีนั้นเป็นการได้โดยอ้อมแล้วคนก็ไม่เห็นจึงอธิบายให้นักศึกษาฟังว่าวิชานี้เป็นสิ่งใกล้ตัว การเก็บภาษีคุณเกิดมาคุณก็เสียภาษีแล้วแต่เป็นภาษีทางอ้อม ตั้งแต่อยู่จนตายก็เสียภาษีทางอ้อม แม้จะไม่มีเงินได้ก็เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ภาษีนั้นรัฐก็เอาไปใช้จ่ายเพราะฉะนั้นจะเกี่ยวกับเราอยู่ตลอดเวลาiรัฐต้องจัดเก็บภาษีทุกขณะตั้งแต่ได้มาซึ่งทรัพย์สิน ใช้จ่ายทรัพย์สินนั้น , สะสมไว้หรือนำไปลงทุน ดังนั้นจะว่าไม่เกี่ยวกับเราเลยก็ไม่ได้ แต่ที่ยอมเสียทรัพย์ต้องทราบว่าประโยชน์ของภาษีมีมากต่อประเทศและต้องเลือกคนไว้ใจได้โดยมีระบบกฎหมายที่ดีสามารถควบคุมตรวจสอบการบริหารเงินภาษีจำนวนมากของประชาชนให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและส่วนรวมโดยอยู่ภายใต้กฎหมายที่เป็นธรรมและถูกต้องซึ่งก็คือกฎหมายการคลังนั่นเอง
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : อาจารย์ประสบปัญหาในการสอนกฎหมายการคลังบ้างหรือไม่ครับ เช่น สอนแล้วยากที่จะทำให้นักศึกษาเข้าใจได้ดี
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
แรกๆเป็นค่ะเพราะอาจจะไม่ทราบถึงอุปสรรคหรือปัญหา คือตอนที่กลับมาจากฝรั่งเศสใหม่ ก็ป้อนเต็มที่นักศึกษาก็กลัวบอกว่ายากเนื้อหามาก แต่พอตอนหลังมีการประเมินก็ได้feedbackกลับมาว่ายาก เราก็พยายามทำสิ่งยากให้เป็นสิ่งง่าย อธิบายให้เข้าใจ ชี้ให้เห็นว่ามีความสำคัญอย่างไรเป็นพื้นฐาน แล้วใกล้กับตัวแค่ไหน ต่อไปนักศึกษาก็บอกว่าวิชานี้ไม่ยากอย่างที่คิดแล้วหลายคนก็เพิ่งมาให้ความสนใจทางด้านนี้และไปทำงานเกี่ยวกับวิชาที่เรียนไม่ว่าจะเป็นกรมบัญชีกลางหรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินก็มี หรือส่วนราชการอื่นๆรวมทั้งศาลปกครองซึ่งในที่สุดแล้วก็ต้องมีเรื่องการคลังมหาชนหรือว่าศาลรัฐธรรมนูญก็เช่นเดียวกันที่ต้องมีการตีความกฎหมายเกี่ยวกับการคลัง ซึ่งนักศึกษาก็เห็นความสำคัญตอนนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ผมเข้าใจว่าอุปสรรคประการต่อมาก็คือคนสอนที่ขาดแคลนด้วยใช่หรือไม่ครับเพราะในแต่ละมหาวิทยาลัยมีอาจารย์ด้านนี้อยู่น้อยมาก
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
ใช่ค่ะ คือปัญหาเป็นวงจร เมื่อนักศึกษาเห็นว่าไม่น่าสนใจ ยาก ก็ไม่เรียน รัฐบาลยังมองไม่เห็นความสำคัญด้านนี้ จึงขาดพลังที่จะเรียกร้องต่างๆดังเช่นในสาขากฎหมายมหาชนอื่น เช่น กฎหมายปกครองซึ่งมีผู้ศึกษามากพอจนเกิดพลังเรียกร้อง ในที่สุดก็ได้มาซึ่งศาลปกครองเป็นต้น
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ทางธรรมศาสตร์มีแนวคิดที่จะส่งคนไปเรียนเพิ่มทางด้านกฎหมายการคลังหรือเชิญผู้เชี่ยวชาญมาสอนเพิ่มหรือไม่ครับ
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
ส่งคนไปเรียนเพิ่มเป็นเรื่องที่รัฐจำกัดอัตราข้าราชการ ทำให้ไม่รู้จะส่งคนที่ไหนไปเพราะไม่มีใครเข้ามาจึงต้องเป็นไปตามอัตราที่มีอยู่ ประเทศไทยนั้นนักกฎหมายทางด้านนี้นับคนได้ฉะนั้นขาดมาก และจุดที่เป็นปัญหาที่เมืองไทยกำลังเผชิญอยู่ก็เป็นเรื่องการคลังมหาชนแต่เราไม่มีนักกฎหมายด้านนี้ทำให้เรามองไม่เห็นว่าปัญหาคืออะไรค่ะ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : นักกฎหมายการคลังมหาชนที่ถือว่าอาวุโสที่สุดในเวลานี้คือใครครับ
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
ท่านอาจารย์ ดร. เฉลิมชัย วสีนนท์ ท่านอาจารย์ ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาส และท่านอาจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ นั้น ท่านก็เป็นผู้ที่พิจารณาในแง่กลไก โครงสร้างของการจัดองค์กรของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุมการบริหารการคลังของประเทศ อย่างเช่นที่ท่านเสนอร่างกฎหมายของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในปี พ.ศ.2536
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : อุปสรรคต่อไปผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องตำราที่แทบจะไม่มีเลย
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
แต่ก็มีบ้างของอาจารย์เก่าๆเป็นหนังสือเก่าๆสมัยนานแล้ว ในเรื่องตำราขาดนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งแต่อุปสรรคที่สำคัญอีกประการก็คือ พอจะเขียนหนังสือก็มีกฎหมายที่จะปรับปรุงหลายฉบับเช่นกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ จึงทำให้ต้องชะงักไปเพราะถ้าเขียนไปก็ต้องมาแก้กันมากค่ะ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ในภาพรวมอาจารย์พอใจหรือไม่ครับกับการเรียนการสอนกฎหมายการคลังในประเทศไทย
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
ที่ธรรมศาสตร์ก็น่าพอใจจุดหนึ่งแต่สำหรับประเทศไทยคิดว่ายังเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องแก้ไขและต้องส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนอย่างเร่งด่วนต่อไปค่ะ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : อยากให้อาจารย์สรุปข้อดี จุดเด่นรวมทั้งประโยชน์ของการศึกษากฎหมายการคลังครับ
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
ข้อดีประการแรกคือ จะเข้าใจระบบการเมืองโดยเฉพาะของไทยรวมทั้งแนวคิดต่างๆได้ดีขึ้น ถ้าได้ศึกษากฎหมายการคลังอาจเห็นแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงระบบกฎหมายการจัดการองค์กรของรัฐ ถ้ามองในด้านอาชีพจะเห็นว่าในอนาคตมีความต้องการเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วไปที่มีความรู้ทางด้านนี้ เช่น เจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบสำนวนที่จะไปทำเกี่ยวกับวินัยงบประมาณและการคลังที่ต้องการนักกฎหมายการคลังหรือการคลังมหาชน ซึ่งเราจะสอนอยู่ในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมการบริหารงบประมาณ ทำให้นำไปประกอบอาชีพได้ สามารถไปสอบเป็นตุลาการศาลปกครองทำงานเกี่ยวกับการคลังมหาชน หรือถ้ามีความเชี่ยวชาญก็สามารถไปเป็นอาจารย์ที่ยังขาดอยู่สำหรับคณะนิติศาสตร์ทั่วประเทศและมหาวิทยาลัยเอกชน หรือเป็นที่ปรึกษากฎหมายรัฐในส่วนราชการทั้งในส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่น ในภาคเอกชนก็เป็นที่ปรึกษากฎหมายที่มีความรู้กฎหมายการคลังมหาชนอยู่บ้างเสริมกฎหมายเอกชนในด้านต่างๆให้สมบูรณ์ หรือศึกษาค้นคว้าวิจัยในหัวข้อเหล่านี้เพื่อแก้ไขระบบกฎหมาย ระบบการบริหารราชการด้านการคลัง คือตลาดงานด้านนี้ยังเปิดกว้างอยู่ค่ะ ส่วนราชการต่างๆยังต้องการนักกฎหมายด้านนี้อยู่อีกมาก
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : คนที่เข้ามาเรียนกฎหมายการคลังจะต้องมีคุณสมบัติพิเศษกว่าคนอื่นหรือไม่ครับ
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
ไม่ต้องค่ะเป็นนักกฎหมายธรรมดาเพียงแต่ผ่านการศึกษาวิชากฎหมายปกครอง กฎหมายรัฐธรรมนูญมาเพื่อจะได้เข้าใจพื้นฐานหลักกฎหมายมหาชนเบื้องต้นหรือกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจที่เป็นพื้นเพราะวิชานี้จะเฉพาะลงไปจากสิ่งเหล่านั้น คือ อยู่ในรัฐธรรมนูญแต่ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเงินการคลัง เพราะฉะนั้นไม่ต้องมีลักษณะพิเศษอย่างใดไม่ต้องเก่งเลขแต่อยู่ที่ความชอบเท่านั้นเองนอกนั้นก็ไม่มีอุปสรรคใดๆทั้งสิ้นค่ะ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : อยากให้อาจารย์ให้ข้อคิดเห็นแก่นิสิตนักศึกษาเกี่ยวกับการศึกษากฎหมายการคลังครับ
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
ปัญหาและความเข้าใจเกี่ยวกับวิชานี้คือคนมักจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่เกี่ยวกับเราเลย ถ้าจะเกี่ยวก็ต้องเป็นกรณีที่จบไปแล้วต้องไปทำงานกระทรวงการคลังหรือสำนักงบประมาณซึ่งจริงๆไม่ใช่ การเรียนกฎหมายการคลังนั้นเรียนไปเพื่อเป็นพื้นฐานให้นักกฎหมายคนนั้นมีความเข้าใจในเรื่องการคลังไม่ว่าจะไปประกอบอาชีพอะไรจะได้เข้าใจสถานะของตัวเองว่าการเป็นผู้เสียภาษีนั้น เราเห็นหรือไม่ว่าวัตถุประสงค์ของภาษีนั้นเก็บเพื่ออะไร ทำไมจึงเก็บ ถ้าเราไม่มีพื้นฐานทางด้านนี้เลยเราก็จะมีความคิดแบบเก่าๆไม่ชอบภาษี ชอบอภิสิทธิ์ทางภาษี เลือกตัวแทน (ส.ส.) ได้สำหรับผู้ที่มีแนวคิดที่สอดคล้องกับหลักการคลังในเรื่องความเป็นธรรม ความเสมอภาคต่างๆ อยากให้มาเรียนกฎหมายการคลังกันมากๆเนื่องจากประเทศยังขาดนักกฎหมายในด้านนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ยากที่จะอธิบายตั้งแต่ระดับผู้บริหารประเทศลงมาจนถึงข้าราชการ ผู้ปฏิบัติการที่จะให้ความรู้ความเข้าใจก็ต้องสอนเป็นการทั่วไปสำหรับนักกฎหมายแล้วเขาก็จะค่อยๆแทรกไปตามส่วนต่างๆค่ะ ฉะนั้นคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องจัดวิชานี้ให้เป็นวิชาบังคับสำหรับการศึกษาในคณะนิติศาสตร์ค่ะ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ขอบพระคุณอาจารย์มากครับที่ได้กรุณาสละเวลาให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ครับ
       
       


หน้าที่แล้ว
1 | 2

 
 
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2546
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.โภคิน พลกุล รองประธานศาลปกครองสูงสุด ณ สำนักงานศาลปกครอง วันที่ 27 กรกฎาคม 2544
บทสัมภาษณ์ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ณ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย วันที่ 11 ธันวาคม 2544
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2546
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ วันอังคารที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2549
   
 
 
 
มองการปฏิรูปประเทศผ่านสายตานักกฎหมาย นันทวัฒน์ บรมานันท์ จากคนวงในสู่ภาพขยายสังคม
ปี ๒๕๕๕ การเมืองจะรุนแรง ? เหตุ ปชช.ไม่รู้
ศึกแผงลอย "สยามสแควร์"ยื้อ 8 เดือน "จุฬาฯ" เกินต้านยอมถอย แฉ! "เจ้าหน้าที่" ไม่ร่วมมือ!!!
ถามหาความกล้า"ประชาธิปัตย์"เป็นฝ่ายค้านที่สะอาดดีกว่าอยู่ในรัฐบาล แล้วเป็นสีเทา
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อัดแก้รธน. 2 มาตราไม่ได้ตอบโจทย์แก้ปัญหาปรองดอง เสนอขึ้น"บัญชีดำ"คนยกร่างรธน.ปี50
"นันทวัฒน์ บรมานันท์"ซัดคลิปลับฉาว ศาล รธน.บกพร่องเอง คนแต่งตั้งกุนซืออย่าปฏิเสธความรับผิดชอบ
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ว่าด้วยเรื่อง "ปรองดองขี้ขลาด-เส้นทางการเมืองและการปฎิรูป"
สัมภาษณ์ ดร.วรรณภา ติระสังขะ เจาะโมเดลตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จาก"ฝรั่งเศส"ถึง กฟผ. .′ความ(ไม่)เท่าเทียมกันของอาวุธ′
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ชำแหละ"รากแห่งความขัดแย้ง" ลากสังคมไทยสู่สงครามกลางเมือง !!!!
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544