|
|
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 8 กันยายน 2544 17 ธันวาคม 2547 10:37 น.
|
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : อยากขอความกรุณาอาจารย์ช่วยอธิบายถึงสาระสำคัญของ " กฎหมายการคลัง" หรือ "การคลังมหาชน" ครับ
รศ.ดร.อรพิน ฯ : คำว่ากฎหมายการคลัง หมายถึง กฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารการเงินการคลังของประเทศใดประเทศหนึ่งซึ่งอาจเป็นหลักกฎหมายทั่วไปทางการคลังและที่เป็นตัวบทกฎหมายที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรโดยเริ่มตั้งแต่รัฐธรรมนูญ โดยอาจกล่าวได้ว่าที่มาของกฎหมายการคลังได้แก่ รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ และกฎ ข้อบังคับต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณหรือในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีอากรหรือเรื่องอื่นๆในทางการคลังซึ่งถ้าพิจารณากฎหมายของไทยแล้วจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติไว้น้อยมากในส่วนที่เกี่ยวกับรายได้ภาษีรวมทั้งรายจ่ายด้วย แม้จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ก็ไม่มีการแก้ไขในเรื่องการคลังเพราะว่าเราขาดนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ มีการเปลี่ยนแปลงมากในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแต่ส่วนที่เกี่ยวกับรายจ่าย รายได้ ภาษีไม่มีการแตะต้อง ยกเว้นบางเรื่องที่เป็นปัญหาเช่นงบ ส.ส.จะเห็นได้ชัดว่าไม่มีการปรับปรุงคำจำกัดความของกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินเพราะว่าต้องศึกษากันจริงๆต้องใช้เวลาจึงไม่มีการแก้ไข ในการศึกษากฎหมายการคลังไม่อาจศึกษาได้เฉพาะตัวบทกฎหมาย ดังนั้นจึงนิยมเรียกว่าการคลังมหาชนเป็นคำกว้างคือเป็นเรื่องระบบการคลังของมหาชนหรือของสาธารณะ ของประเทศซึ่งจะศึกษาตัวบทกฎหมายและหลักการทางทฤษฎี แนวความคิด ที่มา รวมถึงประวัติศาสตร์และลักษณะทางสังคมวิทยาของคนแต่ละชาติว่าเขามีความคิดอย่างไรถึงใช้กฎหมายการคลังแบบนี้ แล้วคนไทยมีนิสัยอย่างนี้จะเอากฎหมายของเขามาใช้ได้หรือไม่ จุดนี้ต้องศึกษาทางสังคมวิทยาและหลักการทางด้านเศรษฐศาสตร์ด้วย จะศึกษาเฉพาะตัวบทกฎหมายก็แคบไปเพราะฉะนั้นจึงใช้คำกว้างว่า การคลังมหาชน แต่การศึกษาวิชานี้ในคณะกฎหมายซึ่งในที่สุดแล้วก็ต้องไปดูตัวบทกฎหมายว่าเป็นไปตามนโยบายตั้งแต่ต้นหรือไม่ เป็นไปตามหลักการคลังทั่วไปหรือไม่ ยอมรับหลักการตรวจเงินแผ่นดินสากลหรือปฏิญญาสากลว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินหรือไม่ เรารับมา เรายึดหลักนั้นเราก็รับมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือแก้ในรัฐธรรมนูญ แสดงว่ากฎหมายสารบัญญัติเราเป็นไปตามหลักกฎหมายการคลังมหาชนสากล ในยุโรปเขาใช้คำว่า การคลังมหาชน ในคณะนิติศาสตร์อาจจะไม่ได้พิจารณาไปขนาดนั้นเขาก็ใช้คำว่ากฎหมายการคลังและการภาษีอากรไป แต่ว่าเวลาสอนก็จะสอนการคลังมหาชนหรือการคลังสาธารณะในมุมกว้างกว่ากฎหมายค่ะ
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : การคลังสาธารณะหรือการคลังมหาชนประกอบด้วยสาระสำคัญอะไรบ้างครับ
รศ.ดร.อรพิน ฯ : การคลังมหาชนประกอบด้วยการเงินของรัฐทั้งในและนอกงบประมาณซึ่งเงินในงบประมาณนั้นมองได้ออกเป็น 3 มุม โดยมี 2 มุมมองใหญ่ก็คือ รายรับ เงินที่จะมีมา 1,023,000ล้านบาทก้อนนี้มองด้านหนึ่งก็คือรายรับ เมื่อเอาเงินจำนวนนี้ไปใช้จ่ายก็คือรายจ่าย รายรับแยกออกเป็นรายได้คือได้มาแล้วไม่ต้องคืน เป็นรายได้แท้ๆที่ประกอบไปด้วยภาษีอากรและรายได้ที่ไม่ใช่ภาษีอากรเป็นรายได้ แท้ๆซึ่งจะมีทฤษฎีเกี่ยวกับภาษี ในเรื่องหลักความเสมอภาค ภาษีไม่มีผลย้อนหลัง หลักความยินยอมในการจัดเก็บภาษีหมายความว่าการจัดเก็บภาษีต้องตราเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้นเป็นกฎหมายที่ต้องผ่านตัวแทนประชาชนอันนี้เป็นหลักเรื่องรายได้ หลักความเป็นธรรม หลักการคำนึงถึงเรื่องผลในทางเศรษฐกิจของการใช้ภาษีเป็นเครื่องมือในทางการคลัง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในตัวบทกฎหมาย รายรับอีกอย่างหนึ่งคือหนี้สาธารณะกรณีที่รายได้ไม่พอ กรณีเก็บภาษีไม่พอใช้จ่าย เช่นในปัจจุบันเก็บได้ 70% ภาวะปกติประเทศต่างๆจะเก็บภาษีได้ประมาณ90% ถ้าใช้งบประมาณแบบที่อยู่ในภาวะปกติก็อยู่ในสภาวะสมดุลคือรายจ่ายกับรายได้เท่ากัน แต่ถ้าอยู่ในภาวะเศรษฐกิจมีปัญหาหาไม่พอจ่ายก็ต้องกู้มา กู้มานั้นเราเรียกว่าหนี้สาธารณะก็คือรายรับที่ต้องคืน ต้องศึกษาหลักการหนี้สาธารณะว่าเป็นอย่างไร กู้จากที่ไหน ตามกฎหมายอะไร สุดท้ายคือรายจ่ายสาธารณะ รัฐบาลจะใช้นโยบายด้านรายจ่ายแก้ไขปัญหาสังคม การเมืองอย่างไรให้เป็นไปตามระบบกฎหมายการคลังมหาชนของประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็น 3 เครื่องมือสำคัญที่ประกอบกันเป็นการคลังมหาชน
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายถึงความสำคัญของกฎหมายการคลังในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายมหาชนครับ
รศ.ดร.อรพิน ฯ : กฎหมายการคลังในฐานะส่วนหนึ่งของกฎหมายมหาชน ความจริงแล้วจะพูดคำว่ากฎหมายก็จะแคบไปเพราะส่วนใหญ่จะใช้คำว่าการคลังมหาชนหรือการคลังสาธารณะ เพราะว่าถ้าพูดถึงกฎหมายอย่างเดียวก็คือกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่คือบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการคลังในรัฐธรรมนูญ กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง แต่เวลาเราสอนหรือเรียนจะไม่สามารถเรียนแค่นี้ได้ถ้าเรียนเฉพาะแต่ตัวบทกฎหมายก็จะทำให้ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมจึงมีบทบัญญัติเช่นนี้ออกมา ความจริงแล้วการคลังมหาชนมีมาพร้อมๆกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยและยังเป็นสาเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยจึงไม่จำเป็นต้องบอกว่ามีความสำคัญมากน้อยเพียงใด ในระบบกฎหมายมหาชนนั้น อาจกล่าวได้ว่าจุดกำเนิดของการคลังมหาชนในยุคกลางของยุโรปเป็นสาเหตุให้ประเทศต่างๆในยุโรปสามารถมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญ มีระบบกฎหมายปกครองตามระบอบประชาธิปไตย สาเหตุใหญ่มาจากความจำเป็นของการใช้เงินทอง พระเจ้าแผ่นดินที่ต้องการขยายขอบเขตจนเป็นสาเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในที่สุด ในยุโรปตั้งแต่ปี ค.ศ.1215 หรืออาจจะก่อนนั้นก็มีเรื่องเกี่ยวกับการเงินการคลังแต่ถ้าเรามาจับตั้งแต่ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของโลกจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยก็ถือว่าสาเหตุหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงก็คือสาเหตุเกี่ยวกับการเงินการคลัง คือในเรื่องของการบริหารการเงินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย การจัดเก็บภาษีและการนำภาษีไปใช้จ่ายซึ่งก็คือเรื่องงบประมาณจะทำอย่างไรให้ประชาชนกินดีอยู่ดีมีความสุขฝ่ายบริหารต้องเสียภาษีอย่างเป็นธรรม ใช้จ่ายอย่างจำเป็นและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงเข้าใจว่ากฎหมายการคลังมีความยากกว่ากฎหมายสาขาอื่นครับ
รศ.ดร.อรพิน ฯ : การที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการคลังเป็นเรื่องยากนั้นนับว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญสำหรับพัฒนาการของกฎหมายด้านนี้ ถ้ามองในทางวิชาการหรือในการเรียนการสอนวิชานี้ในมหาวิทยาลัยก็เข้าใจตรงกันระหว่างนักศึกษาในมหาวิทยาลัยว่าวิชานี้ยากซึ่งอาจจะเป็นเพราะชื่อ คือ ชื่อการเงินการคลังนั้นคนก็จะคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งวุ่นวาย เมื่อนักศึกษาเห็นว่ายากแล้วถ้านำมาทำเป็นวิชาบังคับซึ่งจริงๆมีความจำเป็นที่นักกฎหมายจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับวิชานี้พอมาสอนนักศึกษาก็ไม่ให้ความสำคัญเท่าไหร่คิดว่าไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและยากเกินไป และคิดว่าการจะนำกฎหมายนี้มาใช้ได้จะต้องไปทำงานที่สำนักงบประมาณหรือกระทรวงคลังเท่านั้นแต่ความจริงไม่ใช่เพราะกฎหมายการคลังเป็นเรื่องใกล้ตัวเพราะว่ากฎหมายการคลังหรือถ้าจะพูดให้กว้างคือการคลังมหาชนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการนำเงินภาษีอย่างปีนี้ 1,023,000ล้านบาทมาใช้เป็นเงินจำนวนมากซึ่งเป็นเฉพาะในเงินงบประมาณเท่านั้น การบริหารเงินจำนวนนี้โดยฝ่ายบริหารจะบรรลุวัตถุประสงค์ของเจ้าของเงินคือผู้เสียภาษีแต่ละคนหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าศึกษาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดวิธีการ ขั้นตอนในการบริหารจัดการการเงินนี้อย่างไร จะควบคุมให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีเพื่อที่จะเอาเงินนี้ไปใช้เพียงใดก็สุดแล้วแต่กฎหมายของแต่ละประเทศว่ามีความรั่วไหลแค่ไหน ระบบการควบคุมองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมนั้นมีความเป็นอิสระเป็นกลางจากฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติเพียงใดก็เป็นเรื่องยากที่จะบังคับให้ประเทศต่างๆยึดถือปฏิบัติ คือยากกว่ากฎหมายมหาชนอื่นๆเพราะมีลักษณะพิเศษไม่ใช่กฎหมายปกครองทั่วๆไปที่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรของรัฐด้วยกัน เจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนที่เป็นไปตามกฎหมายปกครองทั่วๆไปแต่วิชานี้เป็นกฎหมายปกครองที่มีเรื่องการเงิน การบริหารการเงินเข้ามาเกี่ยวทำให้ยากขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะว่ายากก็ไม่ใช่ยากแต่เป็นลักษณะเฉพาะ คือหากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ได้ปฏิบัติตามหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องการเงินก็จะไม่เข้าใจกฎระเบียบเพราะไม่ใช่เรื่องทั่วไปแต่เป็นเรื่องเฉพาะ นักศึกษาไม่ค่อยให้ความสนใจ เพราะฉะนั้นจึงไม่อยากที่จะศึกษาต่อทางด้านนี้ การที่คิดว่าวิชานี้เป็นวิชาที่ยากจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้น้อยหรือพัฒนาการทางด้านกฎหมายมหาชนในส่วนที่เกี่ยวกับการคลังมหาชนไม่พัฒนาเท่าที่ควรค่ะ
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : อาจารย์คิดอย่างไรครับตอนที่ตัดสินใจเรียนการคลังที่ประเทศฝรั่งเศส
รศ.ดร.อรพิน ฯ : ตอนที่ตัดสินใจคือประมาณปีพ.ศ.2525 ก่อนที่จะได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส เห็นว่าในสมัยที่เรียนปริญญาตรีที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ได้เรียนวิชานี้ ไม่มีวิชานี้เป็นวิชาบังคับแต่มีเป็นวิชาเลือก จึงสนใจว่าทำไมสิ่งเหล่านี้เราไม่เรียนเป็นวิชาบังคับ แต่ตัวเองก็ไม่ได้เลือกเรียนวิชากฎหมายการคลังที่ ดร.เฉลิมชัย วสีนนท์ สอนเพราะคิดเหมือนเพื่อนว่าวิชานี้ยากเกินไป จนได้รับทุนไปเรียนที่ฝรั่งเศสและส่วนใหญ่อาจารย์ที่ได้รับทุนจากคณะนิติศาสตร์ที่ไปเรียนที่ฝรั่งเศสก็มักจะไปเรียนทางด้านกฎหมายมหาชนในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครองเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีใครเลือกเรียนกฎหมายการคลัง ก็เลยเลือก พอไปแล้ว 1 ปีที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็จัดหลักสูตรใหม่ ส่วนหนึ่งก็คือเอาวิชากฎหมายการคลังและการภาษีอากรซึ่งเป็นวิชาเลือกมาจัดเป็นวิชาบังคับในชั้นปีที่ 3 ต่อมาก็สลับกับกฎหมายปกครองให้ไปเรียนกฎหมายปกครองก่อนแล้วค่อยมาเรียนการคลังในปีที่ 4 ตั้งแต่ปี 2526เป็นต้นมาคือหลังจากที่ส่งคนไปเรียนในปี 2525 แต่ในยุโรปเขาเริ่มมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แล้วสำหรับวิชานี้เดิมเขาใช้ชื่อว่ากฎหมายการคลังแต่ตอนหลังก็ตัดคำว่ากฎหมายทิ้งเพราะไม่อาจจะศึกษาเฉพาะตัวบทกฎหมาย ต้องศึกษาแนวคิด ทฤษฎีจึงใช้คำว่า PUBLIC FINANCE หรือ FINANCES PUBLIQUE คือการคลังมหาชนค่ะ
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : วิชานี้มีความสัมพันธ์กับกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจอย่างไรบ้างครับ
รศ.ดร.อรพิน ฯ : กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ในรัฐธรรมนูญก็บัญญัติไว้ในหลายมาตรา ซึ่งความจริงเวลาสอนกฎหมายการคลัง ก็มีการสอนกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆไม่ได้บัญญัติเรื่องเหล่านี้เอาไว้ก็นำมาสอนในฐานะของแนวความคิดซึ่งยึดถือปฏิบัติกันในระบบการคลังในยุคต่างๆซึ่งแบ่งเป็น 2 จุดใหญ่ คือ ก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 1, 2 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เช่น มาตรา 87 ,83 ก็บัญญัติสิ่งเหล่านี้ไว้ ความจริงแล้วความคิดลัทธิเสรีนิยมเริ่มตั้งแต่สมัยการคลังคลาสสิกก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการคลังมหาชนในสมัยนั้น ต่อมาในยุโรปใช้ลัทธิเสรีนิยม คือรัฐจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องทางด้านเศรษฐกิจแต่รัฐจะทำหน้าที่ 4 อย่างคือ ป้องกันประเทศ รักษาความสงบภายใน การศาล และการระหว่างประเทศ ส่วนเรื่องอื่นๆให้เอกชนทำเอง รัฐธรรมนูญของไทยฉบับปัจจุบันได้นำหลักดังกล่าวบางส่วนมาบัญญัติไว้ในมาตรา 87 อย่างไรก็ตามก็ได้สอนเป็นพื้นฐานอยู่แล้วก่อนที่รัฐธรรมนูญจะกำหนด และจะมาสอนหลักการงบประมาณและกระบวนการงบประมาณในทางปฏิบัติว่ากฎหมายสารบัญญัตินำหลักการพวกนี้มาบัญญัติและปฏิบัติอย่างไรโดยเฉพาะในเมืองไทย ดังนั้นกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่งก็อยู่ในเนื้อหาของวิชานี้
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ในระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโทมีวิชาที่เกี่ยวกับการคลังเป็นวิชาบังคับหลายวิชาหรือไม่ครับ
รศ.ดร.อรพิน ฯ : วิชาบังคับมีวิชาเดียวคือ กฎหมายการคลังและการภาษีอากร เป็นวิชาบังคับในส่วนปริญญาตรี ส่วนวิชาเลือกมี 2 วิชาคือ กฎหมายภาษีอากร 1 และกฎหมายภาษีอากร 2 ซึ่งเรียนกฎหมายสารบัญญัติในชั้นปริญญาตรี ส่วนชั้นปริญญาโทมีวิชากฎหมายการเงินการคลังขั้นสูง และกฎหมายภาษีอากรอีกหลายวิชา แต่อยู่คนละภาควิชากัน
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : วิชาเลือกมีคนเลือกเยอะหรือไม่ครับ
รศ.ดร.อรพิน ฯ : นักศึกษาก็ให้ความสนใจพอสมควร เท่าที่สังเกตโดยมากจะเป็นเด็กที่เรียนเก่งหน่อยจึงจะเลือกเรียนภาษีค่ะคงเป็นเพราะกลัว
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : แล้วระดับปริญญาโทล่ะครับ
รศ.ดร.อรพิน ฯ : ปีนี้เป็นปีแรกที่เปิดสาขากฎหมายภาษีซึ่งวิชาในการคลังมหาชนส่วนหนึ่งถูกจัดสอนในสาขาภาษีและมีสาขากฎหมายมหาชนซึ่งเปิดสอนวิชาการเงินการคลังขั้นสูงแต่อยู่ในภาคกฎหมายมหาชน ในสาขาภาษีก็จะสอนอีกแนวหนึ่งในทางปฏิบัติมากกว่าทางด้านการคลังมหาชนมีคนเรียนประมาณ 20 คน ในสาขากฎหมายมหาชนก็ย้ายจากหลักสูตรเก่ามาเรียนก็มีจำนวนมากกว่าที่เรียนภาษีซึ่งเป็นปัญหาเหมือนกันเพราะว่าปริญญาโทเราจะจำกัดประมาณ 20 คนแต่เขาก็มาลงเรียนคือโอนจากหลักสูตรเก่ามาเรียนก็ทำให้มีประมาณ 28 -29คน ก็จะมีปัญหาตอนที่ให้present หน้าชั้นคือเวลาจะไม่พอค่ะ
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : จากประสบการณ์ของอาจารย์ที่สอนหนังสือมา 20 ปี ตั้งแต่จบจากต่างประเทศมาเมื่อปี 2533 มีนิสิตทำวิทยานิพนธ์ด้านการคลังมากหรือไม่ครับ
รศ.ดร.อรพิน ฯ : ไม่มากค่ะ เนื่องจากที่เรียนอาจารย์นันทวัฒน์ฯไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า นักศึกษาเห็นว่ายากซึ่งในต่างประเทศก็เช่นเดียวกันอย่างในฝรั่งเศสมีหนังสือการคลังเล่มหนึ่งก็เขียนไว้ในคำนำว่า ชื่อเรื่องที่ทำให้คนคิดว่ายากก็เป็นอุปสรรคที่ทำให้คนไม่สนใจแล้วหันไปเรียนทางอื่นที่ตนเองถนัดมากกว่า เพราะฉะนั้นการทำในเรื่องเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ด้านการคลังก็มีไม่มาก นอกจากคนที่สนใจจริงๆหรือคนที่ทำงานอยู่ในสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)บ้าง สำนักงบประมาณบ้าง ที่เขามีโอกาสที่จะค้นและคลุกคลีกับเอกสารจึงจะทำ ทั้งที่จุฬาฯและธรรมศาสตร์ซึ่งที่ธรรมศาสตร์ โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าการคลังเป็นวิชาที่สำคัญและควรให้ความสนใจ รัฐบาลควรที่จะให้ความสนใจให้มากเนื่องจากเมืองไทยขาดนักกฎหมายมหาชนโดยเฉพาะนักกฎหมายการคลังอย่างเช่นในสถาบันที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงินการคลัง ทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบโดยเฉพาะสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่มีแต่นักกฎหมายเอกชนส่วนใหญ่เป็นที่ปรึกษากฎหมาย ควรที่จะต้องมีนักกฎหมายมหาชนในหน่วยงานเหล่านี้ให้มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขากฎหมายการคลังหรือการคลังมหาชนเป็นเรื่องเฉพาะเข้าไปอีก รัฐควรจะต้องให้การส่งเสริมโดยการสนับสนุน ของนิติกรประจำหน่วยงานต่างๆของรัฐไทยเฉพาะหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการเงินการคลังให้มีนักกฎหมายการคลังมหาชน กฎหมายปกครองให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และควรให้ทุนศึกษาเพิ่มเติมทั้งใน, นอกประเทศ ,ทุนระยะสั้น ,ยาว หรือให้งบทำวิจัยเพื่อแก้ไขระบบกฎหมายที่ใช้อยู่
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : สำหรับนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรีถ้าเขาตัดสินใจเรียนกฎหมายการคลังแล้ว อนาคตของเขาจะเป็นอย่างไรบ้างครับ คือสามารถใช้วิชาชีพนั้นไปทำงานเอกชนได้หรือไม่ หรือหากจะทำงานในภาครัฐ หน่วยงานใดบ้างที่พร้อมสำหรับผู้ที่จบทางด้านนี้ครับ
รศ.ดร.อรพิน ฯ : ชื่อวิชาก็เป็นการคลังมหาชน ส่วนใหญ่ก็คงจะต้องทำงานในภาครัฐ แต่ในภาคเอกชนก็ใช่ว่าจะละเลยหรือไม่สนใจวิชานี้เลยเพราะการไปเป็นที่ปรึกษากฎหมายทางด้านภาษีหรือด้านอื่นๆ ทางด้านการเงินการคลังมหาชนก็ต้องรู้หลักการของกฎหมายมหาชนหรือกฎหมายการคลังเพื่อที่ว่าหากรัฐใช้อำนาจไม่ชอบจะได้สามารถแนะนำลูกความหรือคนที่ตนเองเป็นที่ปรึกษาว่าเรื่องนี้รัฐทำโดยชอบหรือไม่ในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายการคลังมหาชน บทบัญญัติของกฎหมายลูกๆขัดต่อพระราชบัญญัติกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินการคลังขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขอให้ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนยกเลิกกฎเหล่านั้นได้หรือไม่ ถ้าไม่ทราบเลยเรียนแต่สารบัญญัติเรียนแต่กฎหมายเอกชนกฎหมายภาษีตามตัวบทก็จะมีแต่ข้อต่อสู้พื้นๆซึ่งจะเป็นเรื่องที่ไม่ทันการต่อระบบกฎหมายมหาชนของประเทศที่กำลังพัฒนาและมีความจำเป็นที่ต้องให้มีการพัฒนาทางด้านกฎหมายมหาชน ดิฉันบอกกับนักศึกษาวิชากฎหมายภาษีอากรสาขาภาษีว่าจะต้องทราบแนวคิดทฤษฎีทางด้านมหาชนไว้บ้างแม้จะไม่ได้ทำงานในภาครัฐก็ตาม คือในภาครัฐทุกกระทรวงต้องการนักกฎหมายทางด้านนี้อยู่แล้วและยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รับรองการมีองค์กรอิสระที่เป็นอิสระและเป็นกลาง คือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการวินัยงบประมาณและการคลังซึ่งก็กำลังจะมีระเบียบออกมาใช้บังคับเกี่ยวกับโทษปรับทางปกครอง แน่นอนว่านักกฎหมายในอนาคตต้องศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ถ้าตนเองจะไปปฏิบัติงานในทุกๆหน่วยงานของภาครัฐ ดังนั้นการศึกษาการคลังมหาชนนั้นสามารถใช้เป็นพื้นฐานของการประกอบอาชีพทั้งในภาครัฐอย่างมากและมีประโยชน์ในภาคเอกชนด้วย
|
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ธรรมศาสตร์มีแนวความคิดที่จะเพิ่มการผลิตมหาบัณฑิตปริญญาโททางด้านการคลังออกมาให้กับสังคมบ้างหรือไม่ครับ
รศ.ดร.อรพิน ฯ : ความจริงแล้วเป็นที่น่าภูมิใจอย่างยิ่งที่เรียนไปแล้วว่าธรรมศาสตร์สอนกฎหมายการคลังมาโดยตลอดตั้งแต่มีมหาวิทยาลัยแต่ตอนหลังก็ไม่ได้เป็นวิชาบังคับแต่เป็นวิชาเลือกจนมาเป็นวิชาบังคับอีกทีในปี 2526 ก็บอกกับนักศึกษาว่าน่าภูมิใจที่ธรรมศาสตร์สอนกฎหมายการคลังให้กับนักศึกษาและก็ชี้ให้เห็นความสำคัญของวิชานี้และก็บอกว่าเกี่ยวข้องกับตนเองอย่างไรในชีวิตประจำวัน แต่ไม่เป็นที่น่าภูมิใจสำหรับประเทศไทยเนื่องจากคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยอื่นไม่ได้ให้ความสำคัญกับวิชานี้เลย ให้เป็นวิชาเลือกบ้างเป็นวิชาอื่นบ้างเพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขในระดับประเทศ แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่พัฒนาทางด้านกฎหมายมหาชน ความจริงก็เริ่มมานานแต่เข้ารูปเข้ารอยก็ 20 ปีให้หลัง อย่างเช่นการมีศาลปกครองเราก็เรียนกันมา 20 ปีแล้วแต่ศาลปกครองก็เพิ่งมีเพราะฉะนั้นการที่ธรรมศาสตร์ให้ความสำคัญทางด้านกฎหมายมหาชนทั้ง 3 สาขา คือ ปกครอง รัฐธรรมนูญและการคลัง แต่เนื่องจากการคลังนั้นเราไม่มีอาจารย์จบมาทางด้านนี้มากและส่วนใหญ่ปัญหาเฉพาะหน้าก็เป็นปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายปกครองเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ก็จะเน้นหนักไปทางด้านนั้นเป็นส่วนใหญ่ แต่กฎหมายการคลังก็จะมีส่วนไปด้วยเสมอในทุกครั้งที่มีการจัดอบรมจะต้องมีการอธิบายเกี่ยวกับวิชานี้แทรกเสริมเข้าไปด้วยทุกครั้งค่ะ ส่วนการผลิตบัณฑิตปริญญาโททางด้านนี้คณะก็ไม่ได้เน้นลงไป ทั้งนี้ให้เป็นไปตามทางเลือกของนักศึกษาว่าจะเลือกทำวิทยานิพนธ์ด้านใดในทางกฎหมายมหาชน
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : แต่ยังไม่มีเป้าที่จะผลิตบัณฑิตทางด้านการคลังออกมาเพิ่มจากปกติใช่หรือไม่ครับ
รศ.ดร.อรพิน ฯ : ยังไม่ได้แยกเป็นสาขาการคลังมหาชนต่างหากจากภาคมหาชนเพราะฉะนั้นก็ลำบาก เพราะอย่างสอนปริญญาโทก็สอนแค่เทอมเดียวแล้วแต่ว่านักศึกษาจะเลือกทำวิทยานิพนธ์หรือไม่ เดิมยังสอนสองเทอมแต่ตอนนี้เหลือเทอมเดียวฉะนั้นก็ลำบากต่างจากกับต่างประเทศบางประเทศที่มีสาขานี้เฉพาะเลย
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ถ้าเราจะตั้งสาขานี้ขึ้นมาควรจะประกอบด้วยวิชาอะไรบ้างครับ
รศ.ดร.อรพิน ฯ : ที่สำคัญจะต้องเรียนกฎหมายการคลังและการภาษีอากรเป็นวิชาหลักและภาษีอากรที่เป็นหลักทางทฤษฎี แนวคิด หลักกฎหมายทั่วไปทางภาษี ของภาษีทางตรงหรือทางอ้อม กฎหมายภาษีระหว่างประเทศ วิธีพิจารณาคดีภาษีซึ่งเป็นวิธีพิจารณาคดีปกครองประเภทหนึ่งแต่พิเศษเนื่องจากกฎหมายภาษีก็เป็นกฎหมายการคลังประเภทหนึ่ง เมื่อกฎหมายการคลังเป็นกฎหมายพิเศษกฎหมายภาษีในกฎหมายการคลังก็เป็นกฎหมายพิเศษ วิธีพิจารณาก็เป็นวิธีพิจารณาคดีปกครองที่มีลักษณะพิเศษก็ต้องเรียนในสิ่งเหล่านี้และศึกษาว่าแนวความคิดนี้ต่างกับกฎหมายปกครองทั่วไปอย่างไร นอกจากนั้นยังต้องเรียนกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง หรือกฎหมายมหาชนด้านอื่นเป็นวิชาเลือก
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : แต่จะนำมาใช้กับบ้านเราได้หรือไม่ครับเพราะบ้านเราจัดให้คดีภาษีอากรอยู่กับศาลภาษีอากรซึ่งอยู่ทางฝ่ายศาลยุติธรรม
รศ.ดร.อรพิน ฯ : อันนี้ต้องชี้ทางให้ถูกต้องในทางวิชาการ ชี้ให้เห็นปัญหาคือหมายความว่าโดยสภาพ หรือโดยธรรมชาติของกฎหมายภาษีแล้วควรเป็นกฎหมายสาขาใด ในทางปฏิบัติจริงๆจะเป็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องที่เราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงได้ในทันทีแต่ต้องชี้แนวทางให้ถูกว่าในทางวิชาการกฎหมายภาษีเป็นกฎหมายมหาชนและเป็นกฎหมายปกครองชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรจะเป็นก็คือคนที่จะมาพิจารณาพิพากษาคดีภาษีก็ควรจะใช้วิธีพิจารณาคดีปกครองไม่ใช่วิธีพิจารณาคดีแพ่ง คดีภาษีก็อาจจะขึ้นศาลแพ่งแต่คุณก็ควรจะใช้วิธีพิจารณาคดีปกครองทางหนึ่ง หรืออาจโอนคดีภาษีมาให้อยู่ในอำนาจศาลปกครองก็เป็นอีกทางหรือถ้าจะเก็บเอาไว้ก็ต้องใช้วิธีพิจารณาคดีปกครองกับคดีภาษี ไม่ใช่ใช้วิธีพิจารณาความแพ่งกับคดีภาษี
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : แสดงว่าอาจารย์เห็นว่าในปัจจุบันศาลปกครองควรจะเป็นผู้พิจารณาคดีภาษี
รศ.ดร.อรพิน ฯ : ก็ไม่เชิงอย่างนั้น คือ โดยหลักควรจะเป็นเช่นนั้นแต่ทางแก้อีกทางก็คือควรจะแก้วิธีพิจารณาคดีภาษีให้มาสอดคล้องกับวิธีพิจารณาคดีปกครองอย่างเช่นในฝรั่งเศสคดีภาษีขึ้นทั้งสองศาลทั้งศาลยุติธรรมและศาลปกครองแต่ผู้พิพากษาต้องสวมหมวกใบเดียวเป็นผู้พิพากษาภาษีใช้วิธีพิจารณาคดีภาษีซึ่งมีลักษณะร่วมกับวิธีพิจารณาคดีปกครองไม่ใช่วิธีพิจารณาคดีแพ่งเพราะฉะนั้นคดีภาษีของไทยเมื่อมีศาลภาษีแล้วคดีภาษีทุกคดีขึ้นศาลภาษีก็น่าจะใช้วิธีพิจารณาคดีปกครองเพราะว่าเนื้อหาหรือธรรมชาติของคดีนั้นไม่ต่างจากคดีปกครองทั่วไปและถ้าไปใช้วิธีพิจารณาทางแพ่งโดยอนุโลมก็ไม่เป็นธรรมด้วยสำหรับผู้เสียภาษีในฐานะผู้อยู่ใต้ปกครองเช่นกันค่ะ
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ขอกลับมาประเด็นเรื่องการศึกษากฎหมายการคลังครับ คืออาจารย์คิดว่าคนที่จะเข้ามาเรียนกฎหมายการคลังได้ดีต้องเก่งคำนวณหรือไม่ครับเพราะส่วนใหญ่จุดอ่อนของคนที่เข้ามาเรียนนิติศาสตร์คืออ่อนคำนวณ
รศ.ดร.อรพิน ฯ : อันนี้เป็นความคิดที่นักศึกษาคิดกันไว้แต่แรกเลย พอเห็นชื่อวิชาก็บอกเลยว่าเป็นเรื่องตัวเลขและส่วนใหญ่นักศึกษานิติศาสตร์นอกจากไม่เก่งภาษาต่างประเทศแล้วยังไม่เก่งเลขก็เป็นอุปสรรคอีก 2 อย่างนี้เป็นเรื่องคู่กัน แต่พอเข้ามาเรียนแล้วก็อธิบายให้นักศึกษาฟังว่าการเรียนการคลังมหาชนในคณะนิติศาสตร์ เราเรียนการคลังมหาชนในทางกฎหมายไม่ใช่เรียนเศรษฐศาสตร์การคลัง หรือรัฐศาสตร์การคลังเพราะฉะนั้นก็เลิกกังวลได้ อาจจะมีบ้างก็ง่ายๆ คำนวณง่ายๆ บวกลบเลขได้ อ่านเลขตามช่องตารางของงบประมาณรายจ่ายประจำปีเท่านั้นพอ แต่เราจะเน้นแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์บ้างเท่าที่จำเป็นและศึกษารัฐศาสตร์บ้าง ในที่สุดก็ไปจบที่กฎหมายแต่ไม่สามารถเรียนกฎหมายอย่างเดียวโดยไม่มีแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์หรือรัฐศาสตร์หรือทางสังคมวิทยาเพราะคนเราคิดต่างกันคือ คนไทยอาจจะไม่ชอบเสียภาษีแต่คนทางยุโรปเหนือเขาเห็นว่าภาษีมีความสำคัญ เขายอมที่จะเสียแต่ของเราชอบหนีภาษีเพราะเราไม่ได้มองลึกว่าไปว่าภาษีสำคัญต่อประเทศ ไม่มีสิ่งตอบแทนให้เราโดยตรงแต่มันให้โดยอ้อม ตัวเราคนเดียวไม่สามารถทำทางด่วนได้แต่เงินภาษีเราต่างหากที่ไปทำ ตรงนั้นเป็นผลพลอยได้ที่หาค่าไม่ได้ระหว่างเงินเล็กๆน้อยๆที่แต่ละคนเสียให้กับรัฐ ไม่เหมือนกับเสื้อผ้าที่เราพอใจซื้อมาอันนี้เราได้โดยตรงแต่การเสียภาษีนั้นเป็นการได้โดยอ้อมแล้วคนก็ไม่เห็นจึงอธิบายให้นักศึกษาฟังว่าวิชานี้เป็นสิ่งใกล้ตัว การเก็บภาษีคุณเกิดมาคุณก็เสียภาษีแล้วแต่เป็นภาษีทางอ้อม ตั้งแต่อยู่จนตายก็เสียภาษีทางอ้อม แม้จะไม่มีเงินได้ก็เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ภาษีนั้นรัฐก็เอาไปใช้จ่ายเพราะฉะนั้นจะเกี่ยวกับเราอยู่ตลอดเวลาiรัฐต้องจัดเก็บภาษีทุกขณะตั้งแต่ได้มาซึ่งทรัพย์สิน ใช้จ่ายทรัพย์สินนั้น , สะสมไว้หรือนำไปลงทุน ดังนั้นจะว่าไม่เกี่ยวกับเราเลยก็ไม่ได้ แต่ที่ยอมเสียทรัพย์ต้องทราบว่าประโยชน์ของภาษีมีมากต่อประเทศและต้องเลือกคนไว้ใจได้โดยมีระบบกฎหมายที่ดีสามารถควบคุมตรวจสอบการบริหารเงินภาษีจำนวนมากของประชาชนให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและส่วนรวมโดยอยู่ภายใต้กฎหมายที่เป็นธรรมและถูกต้องซึ่งก็คือกฎหมายการคลังนั่นเอง
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : อาจารย์ประสบปัญหาในการสอนกฎหมายการคลังบ้างหรือไม่ครับ เช่น สอนแล้วยากที่จะทำให้นักศึกษาเข้าใจได้ดี
รศ.ดร.อรพิน ฯ : แรกๆเป็นค่ะเพราะอาจจะไม่ทราบถึงอุปสรรคหรือปัญหา คือตอนที่กลับมาจากฝรั่งเศสใหม่ ก็ป้อนเต็มที่นักศึกษาก็กลัวบอกว่ายากเนื้อหามาก แต่พอตอนหลังมีการประเมินก็ได้feedbackกลับมาว่ายาก เราก็พยายามทำสิ่งยากให้เป็นสิ่งง่าย อธิบายให้เข้าใจ ชี้ให้เห็นว่ามีความสำคัญอย่างไรเป็นพื้นฐาน แล้วใกล้กับตัวแค่ไหน ต่อไปนักศึกษาก็บอกว่าวิชานี้ไม่ยากอย่างที่คิดแล้วหลายคนก็เพิ่งมาให้ความสนใจทางด้านนี้และไปทำงานเกี่ยวกับวิชาที่เรียนไม่ว่าจะเป็นกรมบัญชีกลางหรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินก็มี หรือส่วนราชการอื่นๆรวมทั้งศาลปกครองซึ่งในที่สุดแล้วก็ต้องมีเรื่องการคลังมหาชนหรือว่าศาลรัฐธรรมนูญก็เช่นเดียวกันที่ต้องมีการตีความกฎหมายเกี่ยวกับการคลัง ซึ่งนักศึกษาก็เห็นความสำคัญตอนนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ผมเข้าใจว่าอุปสรรคประการต่อมาก็คือคนสอนที่ขาดแคลนด้วยใช่หรือไม่ครับเพราะในแต่ละมหาวิทยาลัยมีอาจารย์ด้านนี้อยู่น้อยมาก
รศ.ดร.อรพิน ฯ : ใช่ค่ะ คือปัญหาเป็นวงจร เมื่อนักศึกษาเห็นว่าไม่น่าสนใจ ยาก ก็ไม่เรียน รัฐบาลยังมองไม่เห็นความสำคัญด้านนี้ จึงขาดพลังที่จะเรียกร้องต่างๆดังเช่นในสาขากฎหมายมหาชนอื่น เช่น กฎหมายปกครองซึ่งมีผู้ศึกษามากพอจนเกิดพลังเรียกร้อง ในที่สุดก็ได้มาซึ่งศาลปกครองเป็นต้น
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ทางธรรมศาสตร์มีแนวคิดที่จะส่งคนไปเรียนเพิ่มทางด้านกฎหมายการคลังหรือเชิญผู้เชี่ยวชาญมาสอนเพิ่มหรือไม่ครับ
รศ.ดร.อรพิน ฯ : ส่งคนไปเรียนเพิ่มเป็นเรื่องที่รัฐจำกัดอัตราข้าราชการ ทำให้ไม่รู้จะส่งคนที่ไหนไปเพราะไม่มีใครเข้ามาจึงต้องเป็นไปตามอัตราที่มีอยู่ ประเทศไทยนั้นนักกฎหมายทางด้านนี้นับคนได้ฉะนั้นขาดมาก และจุดที่เป็นปัญหาที่เมืองไทยกำลังเผชิญอยู่ก็เป็นเรื่องการคลังมหาชนแต่เราไม่มีนักกฎหมายด้านนี้ทำให้เรามองไม่เห็นว่าปัญหาคืออะไรค่ะ
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : นักกฎหมายการคลังมหาชนที่ถือว่าอาวุโสที่สุดในเวลานี้คือใครครับ
รศ.ดร.อรพิน ฯ : ท่านอาจารย์ ดร. เฉลิมชัย วสีนนท์ ท่านอาจารย์ ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาส และท่านอาจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ นั้น ท่านก็เป็นผู้ที่พิจารณาในแง่กลไก โครงสร้างของการจัดองค์กรของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุมการบริหารการคลังของประเทศ อย่างเช่นที่ท่านเสนอร่างกฎหมายของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในปี พ.ศ.2536
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : อุปสรรคต่อไปผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องตำราที่แทบจะไม่มีเลย
รศ.ดร.อรพิน ฯ : แต่ก็มีบ้างของอาจารย์เก่าๆเป็นหนังสือเก่าๆสมัยนานแล้ว ในเรื่องตำราขาดนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งแต่อุปสรรคที่สำคัญอีกประการก็คือ พอจะเขียนหนังสือก็มีกฎหมายที่จะปรับปรุงหลายฉบับเช่นกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ จึงทำให้ต้องชะงักไปเพราะถ้าเขียนไปก็ต้องมาแก้กันมากค่ะ
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ในภาพรวมอาจารย์พอใจหรือไม่ครับกับการเรียนการสอนกฎหมายการคลังในประเทศไทย
รศ.ดร.อรพิน ฯ : ที่ธรรมศาสตร์ก็น่าพอใจจุดหนึ่งแต่สำหรับประเทศไทยคิดว่ายังเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องแก้ไขและต้องส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนอย่างเร่งด่วนต่อไปค่ะ
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : อยากให้อาจารย์สรุปข้อดี จุดเด่นรวมทั้งประโยชน์ของการศึกษากฎหมายการคลังครับ
รศ.ดร.อรพิน ฯ : ข้อดีประการแรกคือ จะเข้าใจระบบการเมืองโดยเฉพาะของไทยรวมทั้งแนวคิดต่างๆได้ดีขึ้น ถ้าได้ศึกษากฎหมายการคลังอาจเห็นแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงระบบกฎหมายการจัดการองค์กรของรัฐ ถ้ามองในด้านอาชีพจะเห็นว่าในอนาคตมีความต้องการเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วไปที่มีความรู้ทางด้านนี้ เช่น เจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบสำนวนที่จะไปทำเกี่ยวกับวินัยงบประมาณและการคลังที่ต้องการนักกฎหมายการคลังหรือการคลังมหาชน ซึ่งเราจะสอนอยู่ในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมการบริหารงบประมาณ ทำให้นำไปประกอบอาชีพได้ สามารถไปสอบเป็นตุลาการศาลปกครองทำงานเกี่ยวกับการคลังมหาชน หรือถ้ามีความเชี่ยวชาญก็สามารถไปเป็นอาจารย์ที่ยังขาดอยู่สำหรับคณะนิติศาสตร์ทั่วประเทศและมหาวิทยาลัยเอกชน หรือเป็นที่ปรึกษากฎหมายรัฐในส่วนราชการทั้งในส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่น ในภาคเอกชนก็เป็นที่ปรึกษากฎหมายที่มีความรู้กฎหมายการคลังมหาชนอยู่บ้างเสริมกฎหมายเอกชนในด้านต่างๆให้สมบูรณ์ หรือศึกษาค้นคว้าวิจัยในหัวข้อเหล่านี้เพื่อแก้ไขระบบกฎหมาย ระบบการบริหารราชการด้านการคลัง คือตลาดงานด้านนี้ยังเปิดกว้างอยู่ค่ะ ส่วนราชการต่างๆยังต้องการนักกฎหมายด้านนี้อยู่อีกมาก
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : คนที่เข้ามาเรียนกฎหมายการคลังจะต้องมีคุณสมบัติพิเศษกว่าคนอื่นหรือไม่ครับ
รศ.ดร.อรพิน ฯ : ไม่ต้องค่ะเป็นนักกฎหมายธรรมดาเพียงแต่ผ่านการศึกษาวิชากฎหมายปกครอง กฎหมายรัฐธรรมนูญมาเพื่อจะได้เข้าใจพื้นฐานหลักกฎหมายมหาชนเบื้องต้นหรือกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจที่เป็นพื้นเพราะวิชานี้จะเฉพาะลงไปจากสิ่งเหล่านั้น คือ อยู่ในรัฐธรรมนูญแต่ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเงินการคลัง เพราะฉะนั้นไม่ต้องมีลักษณะพิเศษอย่างใดไม่ต้องเก่งเลขแต่อยู่ที่ความชอบเท่านั้นเองนอกนั้นก็ไม่มีอุปสรรคใดๆทั้งสิ้นค่ะ
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : อยากให้อาจารย์ให้ข้อคิดเห็นแก่นิสิตนักศึกษาเกี่ยวกับการศึกษากฎหมายการคลังครับ
รศ.ดร.อรพิน ฯ : ปัญหาและความเข้าใจเกี่ยวกับวิชานี้คือคนมักจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่เกี่ยวกับเราเลย ถ้าจะเกี่ยวก็ต้องเป็นกรณีที่จบไปแล้วต้องไปทำงานกระทรวงการคลังหรือสำนักงบประมาณซึ่งจริงๆไม่ใช่ การเรียนกฎหมายการคลังนั้นเรียนไปเพื่อเป็นพื้นฐานให้นักกฎหมายคนนั้นมีความเข้าใจในเรื่องการคลังไม่ว่าจะไปประกอบอาชีพอะไรจะได้เข้าใจสถานะของตัวเองว่าการเป็นผู้เสียภาษีนั้น เราเห็นหรือไม่ว่าวัตถุประสงค์ของภาษีนั้นเก็บเพื่ออะไร ทำไมจึงเก็บ ถ้าเราไม่มีพื้นฐานทางด้านนี้เลยเราก็จะมีความคิดแบบเก่าๆไม่ชอบภาษี ชอบอภิสิทธิ์ทางภาษี เลือกตัวแทน (ส.ส.) ได้สำหรับผู้ที่มีแนวคิดที่สอดคล้องกับหลักการคลังในเรื่องความเป็นธรรม ความเสมอภาคต่างๆ อยากให้มาเรียนกฎหมายการคลังกันมากๆเนื่องจากประเทศยังขาดนักกฎหมายในด้านนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ยากที่จะอธิบายตั้งแต่ระดับผู้บริหารประเทศลงมาจนถึงข้าราชการ ผู้ปฏิบัติการที่จะให้ความรู้ความเข้าใจก็ต้องสอนเป็นการทั่วไปสำหรับนักกฎหมายแล้วเขาก็จะค่อยๆแทรกไปตามส่วนต่างๆค่ะ ฉะนั้นคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องจัดวิชานี้ให้เป็นวิชาบังคับสำหรับการศึกษาในคณะนิติศาสตร์ค่ะ
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ขอบพระคุณอาจารย์มากครับที่ได้กรุณาสละเวลาให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ครับ
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=167
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 13:01 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|