หน้าแรก สัมภาษณ์
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 8 กันยายน 2544
17 ธันวาคม 2547 10:37 น.
 
1 | 2
หน้าถัดไป
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : อยากขอความกรุณาอาจารย์ช่วยอธิบายถึงสาระสำคัญของ " กฎหมายการคลัง" หรือ "การคลังมหาชน" ครับ
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
คำว่ากฎหมายการคลัง หมายถึง กฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารการเงินการคลังของประเทศใดประเทศหนึ่งซึ่งอาจเป็นหลักกฎหมายทั่วไปทางการคลังและที่เป็นตัวบทกฎหมายที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรโดยเริ่มตั้งแต่รัฐธรรมนูญ โดยอาจกล่าวได้ว่าที่มาของกฎหมายการคลังได้แก่ รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ และกฎ ข้อบังคับต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณหรือในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีอากรหรือเรื่องอื่นๆในทางการคลังซึ่งถ้าพิจารณากฎหมายของไทยแล้วจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติไว้น้อยมากในส่วนที่เกี่ยวกับรายได้ภาษีรวมทั้งรายจ่ายด้วย แม้จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ก็ไม่มีการแก้ไขในเรื่องการคลังเพราะว่าเราขาดนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ มีการเปลี่ยนแปลงมากในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแต่ส่วนที่เกี่ยวกับรายจ่าย รายได้ ภาษีไม่มีการแตะต้อง ยกเว้นบางเรื่องที่เป็นปัญหาเช่นงบ ส.ส.จะเห็นได้ชัดว่าไม่มีการปรับปรุงคำจำกัดความของกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินเพราะว่าต้องศึกษากันจริงๆต้องใช้เวลาจึงไม่มีการแก้ไข ในการศึกษากฎหมายการคลังไม่อาจศึกษาได้เฉพาะตัวบทกฎหมาย ดังนั้นจึงนิยมเรียกว่าการคลังมหาชนเป็นคำกว้างคือเป็นเรื่องระบบการคลังของมหาชนหรือของสาธารณะ ของประเทศซึ่งจะศึกษาตัวบทกฎหมายและหลักการทางทฤษฎี แนวความคิด ที่มา รวมถึงประวัติศาสตร์และลักษณะทางสังคมวิทยาของคนแต่ละชาติว่าเขามีความคิดอย่างไรถึงใช้กฎหมายการคลังแบบนี้ แล้วคนไทยมีนิสัยอย่างนี้จะเอากฎหมายของเขามาใช้ได้หรือไม่ จุดนี้ต้องศึกษาทางสังคมวิทยาและหลักการทางด้านเศรษฐศาสตร์ด้วย จะศึกษาเฉพาะตัวบทกฎหมายก็แคบไปเพราะฉะนั้นจึงใช้คำกว้างว่า การคลังมหาชน แต่การศึกษาวิชานี้ในคณะกฎหมายซึ่งในที่สุดแล้วก็ต้องไปดูตัวบทกฎหมายว่าเป็นไปตามนโยบายตั้งแต่ต้นหรือไม่ เป็นไปตามหลักการคลังทั่วไปหรือไม่ ยอมรับหลักการตรวจเงินแผ่นดินสากลหรือปฏิญญาสากลว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินหรือไม่ เรารับมา เรายึดหลักนั้นเราก็รับมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือแก้ในรัฐธรรมนูญ แสดงว่ากฎหมายสารบัญญัติเราเป็นไปตามหลักกฎหมายการคลังมหาชนสากล ในยุโรปเขาใช้คำว่า การคลังมหาชน ในคณะนิติศาสตร์อาจจะไม่ได้พิจารณาไปขนาดนั้นเขาก็ใช้คำว่ากฎหมายการคลังและการภาษีอากรไป แต่ว่าเวลาสอนก็จะสอนการคลังมหาชนหรือการคลังสาธารณะในมุมกว้างกว่ากฎหมายค่ะ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : การคลังสาธารณะหรือการคลังมหาชนประกอบด้วยสาระสำคัญอะไรบ้างครับ
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
การคลังมหาชนประกอบด้วยการเงินของรัฐทั้งในและนอกงบประมาณซึ่งเงินในงบประมาณนั้นมองได้ออกเป็น 3 มุม โดยมี 2 มุมมองใหญ่ก็คือ รายรับ เงินที่จะมีมา 1,023,000ล้านบาทก้อนนี้มองด้านหนึ่งก็คือรายรับ เมื่อเอาเงินจำนวนนี้ไปใช้จ่ายก็คือรายจ่าย รายรับแยกออกเป็นรายได้คือได้มาแล้วไม่ต้องคืน เป็นรายได้แท้ๆที่ประกอบไปด้วยภาษีอากรและรายได้ที่ไม่ใช่ภาษีอากรเป็นรายได้ แท้ๆซึ่งจะมีทฤษฎีเกี่ยวกับภาษี ในเรื่องหลักความเสมอภาค ภาษีไม่มีผลย้อนหลัง หลักความยินยอมในการจัดเก็บภาษีหมายความว่าการจัดเก็บภาษีต้องตราเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้นเป็นกฎหมายที่ต้องผ่านตัวแทนประชาชนอันนี้เป็นหลักเรื่องรายได้ หลักความเป็นธรรม หลักการคำนึงถึงเรื่องผลในทางเศรษฐกิจของการใช้ภาษีเป็นเครื่องมือในทางการคลัง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในตัวบทกฎหมาย รายรับอีกอย่างหนึ่งคือหนี้สาธารณะกรณีที่รายได้ไม่พอ กรณีเก็บภาษีไม่พอใช้จ่าย เช่นในปัจจุบันเก็บได้ 70% ภาวะปกติประเทศต่างๆจะเก็บภาษีได้ประมาณ90% ถ้าใช้งบประมาณแบบที่อยู่ในภาวะปกติก็อยู่ในสภาวะสมดุลคือรายจ่ายกับรายได้เท่ากัน แต่ถ้าอยู่ในภาวะเศรษฐกิจมีปัญหาหาไม่พอจ่ายก็ต้องกู้มา กู้มานั้นเราเรียกว่าหนี้สาธารณะก็คือรายรับที่ต้องคืน ต้องศึกษาหลักการหนี้สาธารณะว่าเป็นอย่างไร กู้จากที่ไหน ตามกฎหมายอะไร สุดท้ายคือรายจ่ายสาธารณะ รัฐบาลจะใช้นโยบายด้านรายจ่ายแก้ไขปัญหาสังคม การเมืองอย่างไรให้เป็นไปตามระบบกฎหมายการคลังมหาชนของประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็น 3 เครื่องมือสำคัญที่ประกอบกันเป็นการคลังมหาชน
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายถึงความสำคัญของกฎหมายการคลังในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายมหาชนครับ
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
กฎหมายการคลังในฐานะส่วนหนึ่งของกฎหมายมหาชน ความจริงแล้วจะพูดคำว่ากฎหมายก็จะแคบไปเพราะส่วนใหญ่จะใช้คำว่าการคลังมหาชนหรือการคลังสาธารณะ เพราะว่าถ้าพูดถึงกฎหมายอย่างเดียวก็คือกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่คือบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการคลังในรัฐธรรมนูญ กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง แต่เวลาเราสอนหรือเรียนจะไม่สามารถเรียนแค่นี้ได้ถ้าเรียนเฉพาะแต่ตัวบทกฎหมายก็จะทำให้ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมจึงมีบทบัญญัติเช่นนี้ออกมา ความจริงแล้วการคลังมหาชนมีมาพร้อมๆกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยและยังเป็นสาเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยจึงไม่จำเป็นต้องบอกว่ามีความสำคัญมากน้อยเพียงใด ในระบบกฎหมายมหาชนนั้น อาจกล่าวได้ว่าจุดกำเนิดของการคลังมหาชนในยุคกลางของยุโรปเป็นสาเหตุให้ประเทศต่างๆในยุโรปสามารถมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญ มีระบบกฎหมายปกครองตามระบอบประชาธิปไตย สาเหตุใหญ่มาจากความจำเป็นของการใช้เงินทอง พระเจ้าแผ่นดินที่ต้องการขยายขอบเขตจนเป็นสาเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในที่สุด ในยุโรปตั้งแต่ปี ค.ศ.1215 หรืออาจจะก่อนนั้นก็มีเรื่องเกี่ยวกับการเงินการคลังแต่ถ้าเรามาจับตั้งแต่ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของโลกจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยก็ถือว่าสาเหตุหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงก็คือสาเหตุเกี่ยวกับการเงินการคลัง คือในเรื่องของการบริหารการเงินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย การจัดเก็บภาษีและการนำภาษีไปใช้จ่ายซึ่งก็คือเรื่องงบประมาณจะทำอย่างไรให้ประชาชนกินดีอยู่ดีมีความสุขฝ่ายบริหารต้องเสียภาษีอย่างเป็นธรรม ใช้จ่ายอย่างจำเป็นและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงเข้าใจว่ากฎหมายการคลังมีความยากกว่ากฎหมายสาขาอื่นครับ
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
การที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการคลังเป็นเรื่องยากนั้นนับว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญสำหรับพัฒนาการของกฎหมายด้านนี้ ถ้ามองในทางวิชาการหรือในการเรียนการสอนวิชานี้ในมหาวิทยาลัยก็เข้าใจตรงกันระหว่างนักศึกษาในมหาวิทยาลัยว่าวิชานี้ยากซึ่งอาจจะเป็นเพราะชื่อ คือ ชื่อการเงินการคลังนั้นคนก็จะคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งวุ่นวาย เมื่อนักศึกษาเห็นว่ายากแล้วถ้านำมาทำเป็นวิชาบังคับซึ่งจริงๆมีความจำเป็นที่นักกฎหมายจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับวิชานี้พอมาสอนนักศึกษาก็ไม่ให้ความสำคัญเท่าไหร่คิดว่าไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและยากเกินไป และคิดว่าการจะนำกฎหมายนี้มาใช้ได้จะต้องไปทำงานที่สำนักงบประมาณหรือกระทรวงคลังเท่านั้นแต่ความจริงไม่ใช่เพราะกฎหมายการคลังเป็นเรื่องใกล้ตัวเพราะว่ากฎหมายการคลังหรือถ้าจะพูดให้กว้างคือการคลังมหาชนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการนำเงินภาษีอย่างปีนี้ 1,023,000ล้านบาทมาใช้เป็นเงินจำนวนมากซึ่งเป็นเฉพาะในเงินงบประมาณเท่านั้น การบริหารเงินจำนวนนี้โดยฝ่ายบริหารจะบรรลุวัตถุประสงค์ของเจ้าของเงินคือผู้เสียภาษีแต่ละคนหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าศึกษาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดวิธีการ ขั้นตอนในการบริหารจัดการการเงินนี้อย่างไร จะควบคุมให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีเพื่อที่จะเอาเงินนี้ไปใช้เพียงใดก็สุดแล้วแต่กฎหมายของแต่ละประเทศว่ามีความรั่วไหลแค่ไหน ระบบการควบคุมองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมนั้นมีความเป็นอิสระเป็นกลางจากฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติเพียงใดก็เป็นเรื่องยากที่จะบังคับให้ประเทศต่างๆยึดถือปฏิบัติ คือยากกว่ากฎหมายมหาชนอื่นๆเพราะมีลักษณะพิเศษไม่ใช่กฎหมายปกครองทั่วๆไปที่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรของรัฐด้วยกัน เจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนที่เป็นไปตามกฎหมายปกครองทั่วๆไปแต่วิชานี้เป็นกฎหมายปกครองที่มีเรื่องการเงิน การบริหารการเงินเข้ามาเกี่ยวทำให้ยากขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะว่ายากก็ไม่ใช่ยากแต่เป็นลักษณะเฉพาะ คือหากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ได้ปฏิบัติตามหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องการเงินก็จะไม่เข้าใจกฎระเบียบเพราะไม่ใช่เรื่องทั่วไปแต่เป็นเรื่องเฉพาะ นักศึกษาไม่ค่อยให้ความสนใจ เพราะฉะนั้นจึงไม่อยากที่จะศึกษาต่อทางด้านนี้ การที่คิดว่าวิชานี้เป็นวิชาที่ยากจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้น้อยหรือพัฒนาการทางด้านกฎหมายมหาชนในส่วนที่เกี่ยวกับการคลังมหาชนไม่พัฒนาเท่าที่ควรค่ะ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : อาจารย์คิดอย่างไรครับตอนที่ตัดสินใจเรียนการคลังที่ประเทศฝรั่งเศส
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
ตอนที่ตัดสินใจคือประมาณปีพ.ศ.2525 ก่อนที่จะได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส เห็นว่าในสมัยที่เรียนปริญญาตรีที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ได้เรียนวิชานี้ ไม่มีวิชานี้เป็นวิชาบังคับแต่มีเป็นวิชาเลือก จึงสนใจว่าทำไมสิ่งเหล่านี้เราไม่เรียนเป็นวิชาบังคับ แต่ตัวเองก็ไม่ได้เลือกเรียนวิชากฎหมายการคลังที่ ดร.เฉลิมชัย วสีนนท์ สอนเพราะคิดเหมือนเพื่อนว่าวิชานี้ยากเกินไป จนได้รับทุนไปเรียนที่ฝรั่งเศสและส่วนใหญ่อาจารย์ที่ได้รับทุนจากคณะนิติศาสตร์ที่ไปเรียนที่ฝรั่งเศสก็มักจะไปเรียนทางด้านกฎหมายมหาชนในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครองเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีใครเลือกเรียนกฎหมายการคลัง ก็เลยเลือก พอไปแล้ว 1 ปีที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็จัดหลักสูตรใหม่ ส่วนหนึ่งก็คือเอาวิชากฎหมายการคลังและการภาษีอากรซึ่งเป็นวิชาเลือกมาจัดเป็นวิชาบังคับในชั้นปีที่ 3 ต่อมาก็สลับกับกฎหมายปกครองให้ไปเรียนกฎหมายปกครองก่อนแล้วค่อยมาเรียนการคลังในปีที่ 4 ตั้งแต่ปี 2526เป็นต้นมาคือหลังจากที่ส่งคนไปเรียนในปี 2525 แต่ในยุโรปเขาเริ่มมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แล้วสำหรับวิชานี้เดิมเขาใช้ชื่อว่ากฎหมายการคลังแต่ตอนหลังก็ตัดคำว่ากฎหมายทิ้งเพราะไม่อาจจะศึกษาเฉพาะตัวบทกฎหมาย ต้องศึกษาแนวคิด ทฤษฎีจึงใช้คำว่า PUBLIC FINANCE หรือ FINANCES PUBLIQUE คือการคลังมหาชนค่ะ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : วิชานี้มีความสัมพันธ์กับกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจอย่างไรบ้างครับ
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ในรัฐธรรมนูญก็บัญญัติไว้ในหลายมาตรา ซึ่งความจริงเวลาสอนกฎหมายการคลัง ก็มีการสอนกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆไม่ได้บัญญัติเรื่องเหล่านี้เอาไว้ก็นำมาสอนในฐานะของแนวความคิดซึ่งยึดถือปฏิบัติกันในระบบการคลังในยุคต่างๆซึ่งแบ่งเป็น 2 จุดใหญ่ คือ ก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 1, 2 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เช่น มาตรา 87 ,83 ก็บัญญัติสิ่งเหล่านี้ไว้ ความจริงแล้วความคิดลัทธิเสรีนิยมเริ่มตั้งแต่สมัยการคลังคลาสสิกก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการคลังมหาชนในสมัยนั้น ต่อมาในยุโรปใช้ลัทธิเสรีนิยม คือรัฐจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องทางด้านเศรษฐกิจแต่รัฐจะทำหน้าที่ 4 อย่างคือ ป้องกันประเทศ รักษาความสงบภายใน การศาล และการระหว่างประเทศ ส่วนเรื่องอื่นๆให้เอกชนทำเอง รัฐธรรมนูญของไทยฉบับปัจจุบันได้นำหลักดังกล่าวบางส่วนมาบัญญัติไว้ในมาตรา 87 อย่างไรก็ตามก็ได้สอนเป็นพื้นฐานอยู่แล้วก่อนที่รัฐธรรมนูญจะกำหนด และจะมาสอนหลักการงบประมาณและกระบวนการงบประมาณในทางปฏิบัติว่ากฎหมายสารบัญญัตินำหลักการพวกนี้มาบัญญัติและปฏิบัติอย่างไรโดยเฉพาะในเมืองไทย ดังนั้นกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่งก็อยู่ในเนื้อหาของวิชานี้
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ในระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโทมีวิชาที่เกี่ยวกับการคลังเป็นวิชาบังคับหลายวิชาหรือไม่ครับ
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
วิชาบังคับมีวิชาเดียวคือ กฎหมายการคลังและการภาษีอากร เป็นวิชาบังคับในส่วนปริญญาตรี ส่วนวิชาเลือกมี 2 วิชาคือ กฎหมายภาษีอากร 1 และกฎหมายภาษีอากร 2 ซึ่งเรียนกฎหมายสารบัญญัติในชั้นปริญญาตรี ส่วนชั้นปริญญาโทมีวิชากฎหมายการเงินการคลังขั้นสูง และกฎหมายภาษีอากรอีกหลายวิชา แต่อยู่คนละภาควิชากัน
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : วิชาเลือกมีคนเลือกเยอะหรือไม่ครับ
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
นักศึกษาก็ให้ความสนใจพอสมควร เท่าที่สังเกตโดยมากจะเป็นเด็กที่เรียนเก่งหน่อยจึงจะเลือกเรียนภาษีค่ะคงเป็นเพราะกลัว
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : แล้วระดับปริญญาโทล่ะครับ
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
ปีนี้เป็นปีแรกที่เปิดสาขากฎหมายภาษีซึ่งวิชาในการคลังมหาชนส่วนหนึ่งถูกจัดสอนในสาขาภาษีและมีสาขากฎหมายมหาชนซึ่งเปิดสอนวิชาการเงินการคลังขั้นสูงแต่อยู่ในภาคกฎหมายมหาชน ในสาขาภาษีก็จะสอนอีกแนวหนึ่งในทางปฏิบัติมากกว่าทางด้านการคลังมหาชนมีคนเรียนประมาณ 20 คน ในสาขากฎหมายมหาชนก็ย้ายจากหลักสูตรเก่ามาเรียนก็มีจำนวนมากกว่าที่เรียนภาษีซึ่งเป็นปัญหาเหมือนกันเพราะว่าปริญญาโทเราจะจำกัดประมาณ 20 คนแต่เขาก็มาลงเรียนคือโอนจากหลักสูตรเก่ามาเรียนก็ทำให้มีประมาณ 28 -29คน ก็จะมีปัญหาตอนที่ให้present หน้าชั้นคือเวลาจะไม่พอค่ะ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : จากประสบการณ์ของอาจารย์ที่สอนหนังสือมา 20 ปี ตั้งแต่จบจากต่างประเทศมาเมื่อปี 2533 มีนิสิตทำวิทยานิพนธ์ด้านการคลังมากหรือไม่ครับ
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
ไม่มากค่ะ เนื่องจากที่เรียนอาจารย์นันทวัฒน์ฯไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า นักศึกษาเห็นว่ายากซึ่งในต่างประเทศก็เช่นเดียวกันอย่างในฝรั่งเศสมีหนังสือการคลังเล่มหนึ่งก็เขียนไว้ในคำนำว่า ชื่อเรื่องที่ทำให้คนคิดว่ายากก็เป็นอุปสรรคที่ทำให้คนไม่สนใจแล้วหันไปเรียนทางอื่นที่ตนเองถนัดมากกว่า เพราะฉะนั้นการทำในเรื่องเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ด้านการคลังก็มีไม่มาก นอกจากคนที่สนใจจริงๆหรือคนที่ทำงานอยู่ในสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)บ้าง สำนักงบประมาณบ้าง ที่เขามีโอกาสที่จะค้นและคลุกคลีกับเอกสารจึงจะทำ ทั้งที่จุฬาฯและธรรมศาสตร์ซึ่งที่ธรรมศาสตร์ โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าการคลังเป็นวิชาที่สำคัญและควรให้ความสนใจ รัฐบาลควรที่จะให้ความสนใจให้มากเนื่องจากเมืองไทยขาดนักกฎหมายมหาชนโดยเฉพาะนักกฎหมายการคลังอย่างเช่นในสถาบันที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงินการคลัง ทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบโดยเฉพาะสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่มีแต่นักกฎหมายเอกชนส่วนใหญ่เป็นที่ปรึกษากฎหมาย ควรที่จะต้องมีนักกฎหมายมหาชนในหน่วยงานเหล่านี้ให้มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขากฎหมายการคลังหรือการคลังมหาชนเป็นเรื่องเฉพาะเข้าไปอีก รัฐควรจะต้องให้การส่งเสริมโดยการสนับสนุน ของนิติกรประจำหน่วยงานต่างๆของรัฐไทยเฉพาะหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการเงินการคลังให้มีนักกฎหมายการคลังมหาชน กฎหมายปกครองให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และควรให้ทุนศึกษาเพิ่มเติมทั้งใน, นอกประเทศ ,ทุนระยะสั้น ,ยาว หรือให้งบทำวิจัยเพื่อแก้ไขระบบกฎหมายที่ใช้อยู่
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : สำหรับนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรีถ้าเขาตัดสินใจเรียนกฎหมายการคลังแล้ว อนาคตของเขาจะเป็นอย่างไรบ้างครับ คือสามารถใช้วิชาชีพนั้นไปทำงานเอกชนได้หรือไม่ หรือหากจะทำงานในภาครัฐ หน่วยงานใดบ้างที่พร้อมสำหรับผู้ที่จบทางด้านนี้ครับ
       
       รศ.ดร.อรพิน ฯ :
ชื่อวิชาก็เป็นการคลังมหาชน ส่วนใหญ่ก็คงจะต้องทำงานในภาครัฐ แต่ในภาคเอกชนก็ใช่ว่าจะละเลยหรือไม่สนใจวิชานี้เลยเพราะการไปเป็นที่ปรึกษากฎหมายทางด้านภาษีหรือด้านอื่นๆ ทางด้านการเงินการคลังมหาชนก็ต้องรู้หลักการของกฎหมายมหาชนหรือกฎหมายการคลังเพื่อที่ว่าหากรัฐใช้อำนาจไม่ชอบจะได้สามารถแนะนำลูกความหรือคนที่ตนเองเป็นที่ปรึกษาว่าเรื่องนี้รัฐทำโดยชอบหรือไม่ในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายการคลังมหาชน บทบัญญัติของกฎหมายลูกๆขัดต่อพระราชบัญญัติกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินการคลังขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขอให้ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนยกเลิกกฎเหล่านั้นได้หรือไม่ ถ้าไม่ทราบเลยเรียนแต่สารบัญญัติเรียนแต่กฎหมายเอกชนกฎหมายภาษีตามตัวบทก็จะมีแต่ข้อต่อสู้พื้นๆซึ่งจะเป็นเรื่องที่ไม่ทันการต่อระบบกฎหมายมหาชนของประเทศที่กำลังพัฒนาและมีความจำเป็นที่ต้องให้มีการพัฒนาทางด้านกฎหมายมหาชน ดิฉันบอกกับนักศึกษาวิชากฎหมายภาษีอากรสาขาภาษีว่าจะต้องทราบแนวคิดทฤษฎีทางด้านมหาชนไว้บ้างแม้จะไม่ได้ทำงานในภาครัฐก็ตาม คือในภาครัฐทุกกระทรวงต้องการนักกฎหมายทางด้านนี้อยู่แล้วและยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รับรองการมีองค์กรอิสระที่เป็นอิสระและเป็นกลาง คือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการวินัยงบประมาณและการคลังซึ่งก็กำลังจะมีระเบียบออกมาใช้บังคับเกี่ยวกับโทษปรับทางปกครอง แน่นอนว่านักกฎหมายในอนาคตต้องศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ถ้าตนเองจะไปปฏิบัติงานในทุกๆหน่วยงานของภาครัฐ ดังนั้นการศึกษาการคลังมหาชนนั้นสามารถใช้เป็นพื้นฐานของการประกอบอาชีพทั้งในภาครัฐอย่างมากและมีประโยชน์ในภาคเอกชนด้วย

1 | 2
หน้าถัดไป

 
 
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2546
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.โภคิน พลกุล รองประธานศาลปกครองสูงสุด ณ สำนักงานศาลปกครอง วันที่ 27 กรกฎาคม 2544
บทสัมภาษณ์ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ณ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย วันที่ 11 ธันวาคม 2544
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2546
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ วันอังคารที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2549
   
 
 
 
มองการปฏิรูปประเทศผ่านสายตานักกฎหมาย นันทวัฒน์ บรมานันท์ จากคนวงในสู่ภาพขยายสังคม
ปี ๒๕๕๕ การเมืองจะรุนแรง ? เหตุ ปชช.ไม่รู้
ศึกแผงลอย "สยามสแควร์"ยื้อ 8 เดือน "จุฬาฯ" เกินต้านยอมถอย แฉ! "เจ้าหน้าที่" ไม่ร่วมมือ!!!
ถามหาความกล้า"ประชาธิปัตย์"เป็นฝ่ายค้านที่สะอาดดีกว่าอยู่ในรัฐบาล แล้วเป็นสีเทา
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อัดแก้รธน. 2 มาตราไม่ได้ตอบโจทย์แก้ปัญหาปรองดอง เสนอขึ้น"บัญชีดำ"คนยกร่างรธน.ปี50
"นันทวัฒน์ บรมานันท์"ซัดคลิปลับฉาว ศาล รธน.บกพร่องเอง คนแต่งตั้งกุนซืออย่าปฏิเสธความรับผิดชอบ
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ว่าด้วยเรื่อง "ปรองดองขี้ขลาด-เส้นทางการเมืองและการปฎิรูป"
สัมภาษณ์ ดร.วรรณภา ติระสังขะ เจาะโมเดลตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จาก"ฝรั่งเศส"ถึง กฟผ. .′ความ(ไม่)เท่าเทียมกันของอาวุธ′
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ชำแหละ"รากแห่งความขัดแย้ง" ลากสังคมไทยสู่สงครามกลางเมือง !!!!
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544