หน้าแรก สัมภาษณ์
บทสัมภาษณ์ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 11 กรกฎาคม 2544
17 ธันวาคม 2547 10:23 น.
 
หน้าที่แล้ว
1 | 2 | 3
หน้าถัดไป
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : อาจารย์มองเห็นความสำคัญของการมีนักกฎหมายมหาชนในส่วนราชการทุกระดับไม่ว่าส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หรือส่วนท้องถิ่นหรือไม่ครับ คือมีความจำเป็นหรือไม่ในการมีนักกฎหมายมหาชนอยู่ในส่วนราชการเหล่านั้นครับ
       
       ศ.ดร.สุรพลฯ :
คงต้องบอกว่าในอดีตเกือบจะไม่มีความจำเป็นเพราะเราไม่เคยคิดเรื่องการปกครองโดยกฎหมายหรือการจัดระบบบริการสาธารณะโดยกฎหมาย การบริหารจัดการของเราเป็นเรื่องเอากฎหมายแพ่งมาใช้โดยนิติบุคคลที่เป็นกระทรวง ทบวง กรม เท่านั้นเอง แต่บัดนี้conceptเรื่องนี้เปลี่ยนไปแล้วด้วยกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง กฎหมายความรับผิดทางละเมิด กฎหมายข้อมูลข่าวสาร กฎหมายจัดตั้งศาลปกครอง เพราะฉะนั้นในยุคสมัยใหม่ 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่างานราชการทุกชนิดทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐต้องมีนักกฎหมายมหาชนแล้วสุดท้ายหน่วยงานไหนที่ไม่ตระหนักหรือไม่เตรียมพร้อมที่จะรับความเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มพูนความรู้บุคลากรของตนเองในด้านกฎหมายมหาชน พัฒนานักกฎหมายตนเองให้มีความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชนมากขึ้นหรือรับนักกฎหมายที่มีความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชนเข้าไปในองค์กรของตนเองในที่สุดก็จะถูกระบบจัดการคือ หน่วยงานนั้นก็จะมีปัญหากับศาลปกครองก็จะมีปัญหากับคณะกรรมการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและก็จะมีปัญหาในเรื่องที่ไม่สามารถจัดระบบความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่สามารถที่จะดำเนินการทางวินัยให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองแล้วก็จะต้องไปขึ้นศาลปกครอง ขณะนี้มีหน่วยงานของรัฐจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ตื่นตัว พอดีกับระยะเวลาที่เริ่มมีกฎหมายมหาชนและองค์กรปลายทางที่ทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบซึ่งก็คือศาลปกครองก็เพิ่งเริ่มต้นมาไม่กี่เดือนจึงยังไม่มีใครเห็นผลตรงนี้ แต่ในระยะสั้นๆครั้งหน้าเมื่อมีคดีขึ้นศาลปกครองมากขึ้นและมีคำวินิจฉัยที่ชัดเจนผมคิดว่าสภาพนี้จะเปลี่ยนให้ทุกหน่วยงานของรัฐให้ตระหนักว่าจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะหานักกฎหมายมหาชนไปช่วยทำงานในเรื่องที่ตัวเองทำมาแต่เดิมและเคยบอกว่าไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่พอมาถึงวันนี้จะเริ่มมีปัญหาแล้วเพราะ concept ของการทำราชการ conceptของการใช้อำนาจเปลี่ยน แต่คนไม่เปลี่ยนก็ต้องมีคนใหม่หรือคนเก่ามาทำให้มีความรู้ความสามารถทางด้านนี้มากขึ้น ตรงนี้เป็นทิศทางที่ปฏิเสธไม่ได้ ผมเห็นตัวอย่างอันนี้ชัดจากโครงการอบรมกฎหมายมหาชนที่ธรรมศาสตร์ทำต่อเนื่องกันมา6 ปี ได้รับความนิยมสูงมากเป็นเรื่องที่คนเข้ามาอบรมแล้วไปชักชวนเพื่อนฝูงให้เข้ามาอบรมจนกระทั่งเราไม่สามารถรับทุกคนได้หมดแม้ว่าในระยะเวลาอีก 1-2 ปีข้างหน้าก็ยังต้องรอกันต่อไปเพราะเต็มหมดแล้วทั้งๆที่ไม่ได้มีการโฆษณาไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์อะไรทั้งสิ้น เพราะในระยะหลังคนที่เข้ารับการอบรมจากโครงการนี้รู้ว่าเขาสามารถเอาความรู้ทางกฎหมายมหาชนที่ได้ไปใช้กับงานของเขาได้อย่างไรและเป็นประโยชน์อย่างไร แตกต่างอย่างไรกับคนที่ไม่เคยรู้ไม่เคยเข้าใจด้านนี้ สุดท้ายก็มีคนเข้ามามากมายจนกระทั่งมีความต้องการในส่วนนี้มากตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าในอนาคตข้างหน้ากฎหมายมหาชนจะเป็นกฎหมายที่ได้รับความสำคัญสูงมากและก็เป็นความจำเป็นขององค์กรจัดทำบริการสาธารณะทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐในรูปแบบอื่นปฏิเสธไม่ได้
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ในฐานะคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์มีมาตราการอย่างไรบ้างที่จะเร่งการผลิตนักกฎหมายมหาชนออกไปให้สังคมให้มากขึ้นกว่าเดิมครับ
       
       ศ.ดร.สุรพลฯ :
คงอธิบายได้หลายด้านด้วยกันในแง่ของการผลิตนักกฎหมายมหาชนออกไปผมคิดว่าในปีนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเริ่มต้นทบทวนหลักสูตรปริญญาตรีใหม่ว่าเมื่อองค์กรหรือว่ากลไกทางกฎหมายมหาชนเกิดชึ้นอย่างชัดเจนอย่างนี้แล้วหลักสูตรการเรียนชั้นปริญญาตรีของเราซึ่งเคยเรียนกัน 4 ปี และเรียนเน้นหนักแพ่ง อาญา เป็นหลักยังเหมาะสมกับสังคมไทยหรือไม่ แนวทางอาจจะมีได้หลายอย่างโดยในที่นี้ผมขอแบ่งออกเป็น 3 แนวทาง คือ
       แนวทางที่หนึ่ง คืออาจจะให้ลดจำนวนหรือเพิ่มจำนวนกฎหมายมหาชนเข้ามาซึ่งหมายความอยู่ในตัวว่าต้องลดหลักสูตรเดิมบางส่วนลงไป
       แนวทางที่สอง คืออาจจะแยกความเชี่ยวชาญพิเศษของนักศึกษาออกไปในชั้นปี 3-ปี 4 ให้นักศึกษาเลือกทางเฉพาะซึ่งเดิมเคยคิดที่จะทำในมหาวิทยาลัยนี้มาก่อน แต่มีปัญหาค่อนข้างมากว่าเป็นการตัดโอกาสของนักศึกษาเพราะนักศึกษาที่ศึกษาทางมหาชนแล้วจะกลับไปเป็นศาล เป็นอัยการลำบากขณะที่ไม่มีตลาดรองรับคน แต่ขณะนี้ตลาดเปิดก็ทำให้ตอบได้ว่าเป็นความสามารถพิเศษที่คนเหล่านี้จะมีโอกาสได้งานในทางมหาชนมากกว่าถ้าเขาเลือกตั้งแต่ชั้นปี 3 ปี 4
       แนวทางที่สาม คือถ้าหากเราเห็นว่าพื้นฐานการเรียนชั้นปริญญาตรีแบบเดิมยังจำเป็นสำหรับการเป็นนักกฎหมาย ปริญญาตรีทางกฎหมายอาจจะต้องขยายเวลาขึ้นเป็น 5 ปี แล้วปีที่ 5 ก็เป็นเลือกเรียนเฉพาะทางซึ่งเมื่อเรียนจบก็จะต้องมีการคิดราคาของคุณวุฒิให้สูงกว่าปริญญาตรี 1 ขั้นสำหรับการเข้ารับราชการ
       สามแนวทางนี้เป็นแนวทางที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังจะเริ่มดำเนินการโดยจะตั้งคณะกรรมการมาศึกษาการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษากฎหมายระดับปริญญาตรีทั้งหมดซึ่งที่กล่าวมานี้ยังอยู่ในกรอบแรกคือ การผลิตคนเข้าสู่สังคมและก็ยังจำกัดอยู่ที่ระดับปริญญาตรี
       สำหรับระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกสูงขึ้นไป ผมคิดว่าหน้าที่สำคัญอันหนึ่งที่เราจะต้องทำให้กับสังคมก็คือถ้าเห็นว่ามีความจำเป็นหรือมีความต้องการทางนี้ก็ต้องผลิตคนที่มีความรู้ความสามารถทางกฎหมายมหาชนออกไปเพิ่มขึ้น ปีนี้สาขากฎหมายมหาชนของธรรมศาสตร์รับนักศึกษาเพิ่มขึ้นประมาณเท่าตัวจาก 10 กว่าคนก็กลายเป็น 30 คน แล้วก็เข้าใจว่าจำนวนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในปีต่อๆไป จริงๆแล้วเกือบจะไม่มีข้อจำกัดขึ้นอยู่กับความสามารถของนักศึกษา ขึ้นกับความสนใจว่าจะเลือกเรียนสาขาอะไร ปีนี้ธรรมศาสตร์เปิดปริญญาโททางนิติศาสตร์ 8 สาขา โดย 5 สาขาเป็นสาขาเก่าที่มีอยู่แล้วและอีก 3 สาขาเป็นสาขาใหม่ แม้ว่าจะมีการเปิดเพิ่มอีก 3 สาขา แต่เราก็พบว่ามีความต้องการเข้าศึกษาในสาขากฎหมายมหาชนสูงมาก จำนวนที่ผมเรียนก็คือจากที่เคยรับ 12-13 คนในแต่ละปีก็กลายเป็น 30 คนในปีนี้
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : 8 สาขาเฉลี่ยแล้วสาขาละกี่คนครับ
       
       ศ.ดร.สุรพลฯ :
โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 20-30 คนครับ คือปีนี้เรารับปริญญาโท 180 คนครับ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ผมเห็นในหลักสูตรปริญญาโทของธรรมศาสตร์มีเปิดสาขาสิ่งแวดล้อมด้วยหรือครับ
       
       ศ.ดร.สุรพลฯ :
ครับเป็นสาขาใหม่ มีสาขาสิ่งแวดล้อม สาขาการค้าระหว่างประเทศ สาขาภาษีอากร โดยเป็น 3 สาขาใหม่ที่เพิ่มขึ้นจาก 5 สาขาที่มีมาก่อนแล้วก็คือ แพ่ง ธุรกิจ ระหว่างประเทศ อาญา และมหาชน ในส่วนของปริญญาเอกนั้น ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปธรรมศาสตร์จะขยายการรับนักศึกษาปริญญาเอกเพิ่มขึ้น คือระบบการการรับนักศึกษาปริญญาเอกของเราค่อนข้างเข้มงวด ขณะนี้เรามีหลักสูตรปริญญาเอกมา 4 ปีแต่มีนักศึกษาที่จบปริญญาเอกคนเดียวและมีนักศึกษาปริญญาเอกในโครงการไม่กี่คนเพราะเราเข้มงวดตั้งแต่ตอนรับเข้าค่อนข้างมาก แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยต้องการคนที่มีความรู้เฉพาะทาง คนที่มีความรู้พิเศษลึกซึ้งในบางด้านมากขึ้นซึ่งคงไม่ใช่สาขามหาชนด้านเดียวแต่ในแง่ของจำนวนแล้วผมตั้งเป้าว่าในปีหน้าธรรมศาสตร์น่าจะมีความสามารถรับบัณฑิต มหาบัณฑิตเข้ามาเรียนในหลักสูตรปริญญาเอกได้ไม่น้อยกว่าปีละ 5-10 คน ตามศักยภาพที่เรามีอยู่ คงต้องดูจากจำนวนอาจารย์ ดูจากความสามารถด้านอื่นๆประกอบด้วยแต่คงมากว่านั้นไม่ได้และก็คงไม่มีเหตุผลที่จะทำน้อยอย่างที่เคยทำมาในอดีต บางปีธรรมศาสตร์ไม่เคยรับปริญญาเอกเลยเพราะดูแล้วไม่มีใครมีคุณสมบัติครบตามที่เราต้องการซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ อาจเป็นเพราะมาตรฐานที่เราวางไว้สูงมากเกินไปแต่จะให้เรารับปีละ 30-40 คนก็คงลำบาก เราดูศักยภาพอาจารย์ดูปริมาณงานดูอะไรต่างๆหลายด้าน ผมคิดว่าจำนวนระหว่าง 5- 10 คนน่าจะเป็นจำนวนที่เหมาะสมสำหรับศักยภาพที่เรามีอยู่ที่เราน่าจะตอบสนองสังคมไทยได้ อันนี้เป็นด้านเดียวคือด้านการผลิตบัณฑิตให้กับสังคม ซึ่งผมแยกเป็น 3 ระดับซึ่งคงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 ระดับในเวลาอันใกล้นี้และความเปลี่ยนแปลงหลายส่วนก็มาจากพัฒนาการกฎหมายมหาชนโดยเฉพาะ
       ในอีกด้านหนึ่งคือ การที่จะทำให้นักกฎหมายที่มีอยู่เดิมมีความรู้ความเข้าใจ มีศักยภาพในบริบทที่เปลี่ยนไปคือการที่กฎหมายมหาชนมีความสำคัญมากขึ้น ผมคิดว่าอันนี้ธรรมศาสตร์เป็นหน่วยงานทางการศึกษาหน่วยงานแรกที่ทำเรื่องนี้ คือ เราทำหลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชนมาตั้งแต่ปี 2538 ตั้งแต่ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรชัดเจนในสังคมไทยด้วยซ้ำ แต่เรารู้ว่ามันจะมีความเปลี่ยนแปลงอันนั้น เราคาดหมายได้ว่าในอนาคตข้างหน้าถ้าโครงสร้างทางกฎหมายเปลี่ยนแปลง แนวคิดทางกฎหมายเปลี่ยนแปลงแต่ไม่ได้เตรียมคนเอาไว้รองรับในที่สุดโครงสร้างใหม่ก็อาจจะมีอุปสรรค เราอาจจะต้องกลับไปสู่โครงสร้างแบบเก่าเพราะเห็นว่ามันไร้ผลไม่มีประสิทธิภาพ ทำไม่ได้เพราะฉะนั้นแนวความคิดแบบนี้ทำให้เกิดโครงการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชนซึ่งก็รับเอาคนที่ทำงานอยู่แล้วในภาครัฐเข้ามาฝึกอบรมประมาณ 200 ชั่วโมงในแต่ละรุ่น ปีหนึ่งเราทำได้ 2 รุ่น รุ่นละ 90 คนก็ตกปีละประมาณ 180 คน ขณะนี้เราทำได้ประมาณ 1,000 คน จนถึงขณะนี้มาถึงรุ่นที่ 12 ผมคิดว่าเป็นพื้นฐานที่ดีมากสำหรับสังคมเพราะเราไม่ได้เลือกคนจากหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดแต่พยายามดึงคนจากทุกหน่วยงาน หน่วยงานละคนสองคนเข้ามาให้แต่ละหน่วยงานมีคนที่พอจะรู้เข้าใจกลไกความเปลี่ยนแปลงและเป็นตัวเชื่อมโยงไปสู่คนอื่นๆในหน่วยงาน คือในแต่ละกรมต้องมีคนหรือสองคนที่พอรู้เรื่องเหล่านี้หรือเข้าใจconceptและก็รู้ว่าถ้ามีปัญหาจะต้องทำอย่างไรกับเรื่องนั้น เราพยายามจะขยายตรงนี้ไปให้กว้างมากที่สุด คือ ให้ไปทุกกรม ทุก รัฐวิสาหกิจให้ได้ ขณะนี้เราให้priority แก่หน่วยงานที่ยังไม่เคยมีคนเข้ามา ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็คือ ขณะนี้เรามีบุคลากรระดับสูงเข้ามาสู่โครงการนี้มาก เราได้อธิบดี รองปลัดกระทรวง รองอธิบดีมากมายจากหลายหน่วยงานเข้ามาในโครงการและคนเหล่านี้เข้าใจว่าการบริหารจัดการหรือการใช้อำนาจรัฐ บริบทของการใช้อำนาจเปลี่ยนไปอย่างไร ตัวเขาอยู่ตรงไหน เขาจะต้องทำอะไร เขาจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วมากเพราะเขามีคนที่จะฟังคำสั่ง เขาสามารถตัดสินใจทำอะไรหลายๆอย่างได้ หลายๆคนที่เป็นอธิบดี รองฮธิบดีพอกลับไปก็ไปตั้งคนในหน่วยงานของตนให้มาศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับงานของเขาเองว่ามีอะไรที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายมหาชนทั้งๆที่ดูแล้วหน่วยงานอาจจะไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่ถ้าศึกษาแล้วจะเห็นว่ามีความเกี่ยวข้องมากอย่างที่เขาปฏิเสธไม่ได้และหากเขาไม่ต้องการเป็นจำเลยต่อศาลปกครองก็ต้องมีคนที่จะเข้ามารับผิดชอบการใช้อำนาจตรงนี้ ปรากฏการณ์นี้เห็นได้ในหลายหน่วยงานซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายโดยตรงแต่ในความเข้าใจเบื้องต้นของคน 1,000 คน ที่เราทำนี้ผมคิดว่าเป็นแนวทางอันหนึ่งและก็เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาธรรมศาสตร์ก็เริ่มต้นโครงการหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชนขึ้นเป็นหลักสูตร 1 ปีเป็นหลักสูตรหลังปริญญาตรีรับเฉพาะนักกฎหมาย หลักสูตรแรกที่ผมพูดถึงคน 1,000 คนเป็นเรื่องที่คนที่อยากจะศึกษาสาขาอะไรก็ได้เข้ามาเรียนโดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานทางกฎหมาย แต่พอเป็นประกาศนียบัตรบัณฑิตเราเน้นไปที่นักกฎหมายโดยแท้เข้ามาแล้วเรียนกฎหมายมหาชนโดยเฉพาะ 1 ปี ขณะนี้มาถึงรุ่นที่ 3 แล้วเรารับรุ่นละประมาณ 60-80 คนครับ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : เรียนกี่หน่วยกิตครับ
       
       ศ.ดร.สุรพลฯ :
เรียน 32 หน่วยกิต ภายใน 1 ปี แบ่งเป็น 2ภาค เรียนทุกวัน ตอนเย็นวันละ 3ชั่วโมงนับ หน่วยกิตตามหลักเกณฑ์ของทบวง
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ที่อาจารย์พูดมาเป็นการเตรียมความพร้อมทางด้านบุคลากรทั้งหมดแต่ทีนี้จากที่ผมประสบเองและจากที่ได้สัมภาษณ์นักกฎหมายมหาชนบางท่าน มีความเห็นคล้ายๆกันว่าเราขาดแคลนตัวกฎหมาย เอกสารทางวิชาการด้วย ทางอาจารย์มหาวิทยาลัยเองมีโครงการจะทำอะไรบ้างหรือไม่ครับเกี่ยวกับการหาตำราทางด้านกฎหมายมหาชนครับ
       
       ศ.ดร.สุรพลฯ :
ผมคิดว่ามี 2 ส่วน เวลาที่บอกว่าเราขาดแคลนตำราหรือเอกสารอ้างอิงหรือขาดแคลนคู่มือที่จะใช้ในการทำงานหมายความถึง 2 เรื่องด้วยกันคือ 1. ตำราโดยแท้ ก็คือตำราพื้นฐานในเรื่องต่างๆ ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจรัฐ ตำรากฎหมายปกครอง ตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญ ตำราการคลัง อันนี้ต้องรับว่าขาดจริงกับอีกส่วนหนึ่งก็คือตำราประยุกต์ ก็คือตำราที่บอกว่าเป็นตำราจริงๆถ้าจะเขียนในเงื่อนไขของสังคมไทยซึ่งเริ่มมีการพัฒนาไม่สามารถทำได้ทันทีต้องใช้เวลา ต้องรอcase ต้องรอให้มีหลักกฎหมายอะไรบางอย่างนานพอสมควร วิธีที่จะได้ตำราพื้นฐานที่ง่ายที่เร็วที่สุดก็คือการแปลตำราต่างประเทศซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับสภาพสังคมไทย เพราะอ่านแล้วเข้าใจแต่เอามาใช้ไม่ได้เพราะเราไม่มีกลไกอย่างนั้นไม่มีทฤษฎีอย่างนั้นไม่มีธรรมเนียมประเพณีทางกฎหมายเช่นนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ขาดอันที่สองก็คือตำราในลักษณะของตำราประยุกต์ที่จะบอกว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ควรจะทำอย่างไร ถ้าผมแยกเป็น 2 ส่วนผมคิดว่ามหาวิทยาลัยช่วยในเรื่องนี้ค่อนข้างมากทั้ง 2 ด้านด้วยกัน ในแง่ของตำราที่เป็นตำราในทางทฤษฎีซึ่งส่วนใหญ่จะต้องแปลหรือต้องเรียบเรียงมาจากตำราต่างประเทศ ผมคิดว่าขณะนี้ในกรอบของกรรมการพัฒนากฎหมายในกรอบของศาลปกครองก็ดีมีความพยายามที่จะทำตำราในลักษณะของการแปลตำราอย่างนี้ขึ้นมามากพอสมควรและในคณะกรรมการปฏิรูประบบบริหารภาครัฐซึ่งก็มีงบประมาณให้จำนวนหนึ่งก็กำลังเริ่ม เข้าใจว่าในเดือนนี้ก็จะเริ่มออกประกาศให้ทุนสำหรับแปลตำรากฎหมายต่างประเทศซึ่งตรงนี้จะช่วยได้มาก ในช่วง 2 ปีต่อจากนี้เราจะเริ่มเห็นตำราคลาสสิกหรือเป็นตำราพื้นฐานในทางกฎหมายซึ่งอาจจะเป็นฝรั่งเศสเป็นเยอรมันค่อนข้างมาก แต่ในบทบาทที่ 2 ที่ผมคิดว่าได้ทำกันอยู่ค่อนข้างมากก็คือเขียนตำราหรืองานวิจัยที่จะตอบคำถามสังคมไทยในเรื่องกฎหมายมหาชน อาจารย์ภาคมหาชนของธรรมศาสตร์มีไม่มากนัก 10 กว่าคน แต่ผมเข้าใจว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้เรามีรายงานการวิจัยมากกว่าจำนวนอาจารย์ถ้านับเป็นเล่มผมคิดว่าอย่างน้อยเราก็มี 20-30 เล่มที่เป็นรายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชนไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ แต่ก็เป็นเรื่องเฉพาะค่อนข้างมากยังไม่สามารถลงไปถึงปัญหาเฉพาะ คือลงไปในเรื่องที่จำกัดค่อนข้างมากยังไม่สามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในลักษณะเป็นตำราทั่วไปได้อย่างแท้จริง แต่มันก็จะเป็นประโยชน์สำหรับการศึกษาวิเคราะห์หรือทำงานในเรื่องนั้นๆ ผมยกตัวอย่างขณะนี้เรามีงานวิจัยหลายเรื่องที่พูดถึงศาลรัฐธรรมนูญ พูดถึงเรื่อง ป.ป.ช. พูดถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง พูดถึงองค์กรปกครองอิสระตามรัฐธรรมนูญ พูดถึงการจัดระบบองค์การมหาชน พูดถึงการจัดตั้งองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระมาดูแลเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ งานเหล่านี้มีอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปมีส่วนร่วมมากมายรวมตลอดถึงการจัดระบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบใหม่ ถ้านับคนเหล่านี้ในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมาผมพบว่ามีหลายสิบชิ้นและก็เป็นความพยายามเท่าที่เราทำได้สำหรับสังคมไทยตามบทบาทของอาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งผมคิดว่างานหลักจะต้องเป็นงานสอน งานถ่ายทอด แต่ก็ต้องไปพร้อมๆกับการทำตำราหรือทำงานวิจัย ถ้าดูในภาพรวมผมคิดว่าสำหรับธรรมศาสตร์เองทางด้านกฎหมายมหาชนทำอะไรได้มากเป็นที่น่าพอใจครับ

หน้าที่แล้ว
1 | 2 | 3
หน้าถัดไป

 
 
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2546
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 8 กันยายน 2544
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.โภคิน พลกุล รองประธานศาลปกครองสูงสุด ณ สำนักงานศาลปกครอง วันที่ 27 กรกฎาคม 2544
บทสัมภาษณ์ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ณ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย วันที่ 11 ธันวาคม 2544
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2546
   
 
 
 
มองการปฏิรูปประเทศผ่านสายตานักกฎหมาย นันทวัฒน์ บรมานันท์ จากคนวงในสู่ภาพขยายสังคม
ปี ๒๕๕๕ การเมืองจะรุนแรง ? เหตุ ปชช.ไม่รู้
ศึกแผงลอย "สยามสแควร์"ยื้อ 8 เดือน "จุฬาฯ" เกินต้านยอมถอย แฉ! "เจ้าหน้าที่" ไม่ร่วมมือ!!!
ถามหาความกล้า"ประชาธิปัตย์"เป็นฝ่ายค้านที่สะอาดดีกว่าอยู่ในรัฐบาล แล้วเป็นสีเทา
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อัดแก้รธน. 2 มาตราไม่ได้ตอบโจทย์แก้ปัญหาปรองดอง เสนอขึ้น"บัญชีดำ"คนยกร่างรธน.ปี50
"นันทวัฒน์ บรมานันท์"ซัดคลิปลับฉาว ศาล รธน.บกพร่องเอง คนแต่งตั้งกุนซืออย่าปฏิเสธความรับผิดชอบ
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ว่าด้วยเรื่อง "ปรองดองขี้ขลาด-เส้นทางการเมืองและการปฎิรูป"
สัมภาษณ์ ดร.วรรณภา ติระสังขะ เจาะโมเดลตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จาก"ฝรั่งเศส"ถึง กฟผ. .′ความ(ไม่)เท่าเทียมกันของอาวุธ′
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ชำแหละ"รากแห่งความขัดแย้ง" ลากสังคมไทยสู่สงครามกลางเมือง !!!!
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544