บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยณ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 25 กันยายน 2544 |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
1
|
2
|
|
|
|
ผู้สัมภาษณ์ : อยากให้อาจารย์อธิบายถึงวัตถุประสงค์ในการจัดทำ pub-law.net ครับเพื่อให้ผู้ใช้บริการwebsiteที่เพิ่งเข้ามาชมเป็นครั้งแรกหรือให้ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้อ่านวัตถุประสงค์ที่อาจารย์ได้เคยบอกไว้แล้วในตอนแรกได้ทราบครับ
ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : จุดเริ่มต้นจริงๆเกิดขึ้น เมื่อปีที่แล้วตอนที่ผมเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส เพื่อนอาจารย์ชาวฝรั่งเศสอวด website ของคณะเขาซึ่งมีรายละเอียดข้อมูลพื้นฐานด้านกฎหมายที่สมบูรณ์ แต่เมื่อผมเปิด website ของคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ให้เขาดูก็รู้สึกว่า website ของคณะเราไม่ได้มีเนื้อหาสาระทางวิชาการที่จะไปเทียบเท่ากับของเขาได้เลย ก็เลยมีความคิดอยากจะจัดทำ websiteขึ้นมาบ้าง ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนผมจะเดินทางไปฝรั่งเศสในครั้งนั้นคือ อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้เคยให้ความคิดกับผมว่าควรจะสร้าง website ขึ้นมาให้เป็นสื่อกลางของการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ อาจารย์ได้ให้คำแนะนำไว้เยอะมาก ดังนั้นพอกลับมาจากฝรั่งเศสก็เริ่มทำอย่างจริงจังโดยได้รับความช่วยเหลือหลายๆด้านจากคุณสนธิ ลิ้มทองกุล แห่งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ สำหรับกลุ่มเป้าหมายในตอนต้นของการทำ website ผมตั้งใจที่จะให้นิสิตที่คณะใช้เป็นหลัก คือมีความคิดที่อยากให้นิสิตที่เรียนปริญญาโทสาขากฎหมายมหาชนของผมมีแหล่งหาข้อมูลได้ง่ายและสมบูรณ์ ต่อมาผมก็พัฒนาความคิดต่อไปอีกว่าปริญญาตรีผมก็สอนกฎหมายมหาชน ไหนๆทำแล้วก็ให้นิสิตปริญญาตรีใช้ด้วย นอกจากนี้ผมก็มีเพื่อน มีรุ่นน้องที่อยู่ตามส่วนราชการต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานศาลปกครอง ซึ่งก็มักจะถามปัญหาด้านกฎหมายมหาชนผมอยู่เรื่อยๆ ก็น่าจะให้ใช้ประโยชน์จาก website ด้วย ดังนั้นความตั้งใจเดิมจากที่จะทำเป็น website เล็กๆ มีข้อมูลน้อยๆก็เลยต้องเหน็ดเหนื่อยสร้างข้อมูลให้มากขึ้นอย่างทุกวันนี้ครับ
ผู้สัมภาษณ์ : สาระสำคัญของ pub-law.net ในส่วนต่างๆมีที่มาและวัตถุประสงค์อย่างไรครับ
ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ปัจจุบัน pub-law.net ของเราแบ่งเป็น 10 หน้าwebsite โดยผมจะขอแยกอธิบายรายหน้า คือ ในหน้าแรก นั้น เป็นหน้าที่ผมตั้งใจทำให้เหมือนกับวารสารกฎหมายเล่มหนึ่ง ดังนั้นผมจึงจัดให้มีบทบรรณาธิการและพยายามให้บทบรรณาธิการในแต่ละครั้งมีลักษณะเป็นบทความทางวิชาการหรือมีสาระทางวิชาการด้วย นอกจากนี้ในหน้าแรกก็จะเป็นเหมือนกับสารบัญของ websiteซึ่งผู้ใช้บริการจะทราบว่าใน websiteของเรามีสาระอะไรบ้างและในแต่ละครั้งมีอะไรเปลี่ยนแปลงใหม่ ตั้งแต่เริ่มต้นผมพยายามปรับปรุงสาระของ websiteทุกสองอาทิตย์ เหตุผลที่เป็นสองอาทิตย์ไม่ใช่ทุกอาทิตย์ก็เพราะผมไม่มีคนช่วยทำและงานประจำผมก็มากอยู่แล้ว ดังนั้น สองอาทิตย์จึงเป็นระยะเวลาที่ผมพอจะทำได้ ก็เลยปรับ websiteทุกสองอาทิตย์ ต่อมาในหน้าที่สอง คือ บทความสาระ นั้น ผมได้นำเอาบทความจากนักกฎหมายมหาชนทั้งรุ่นที่กำลังดังอยู่ในปัจจุบันและนักกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่มาลงเป็นประจำ โดยผมจะขอความร่วมมือไปยังเพื่อนนักวิชาการเหล่านั้น และนอกจากนี้บางครั้งหากหาไม่ทันผมก็ต้องลงมือเขียนเองทั้งๆที่ในบางครั้งผมก็ไม่อยากเขียนเนื่องจากเกรงว่าจะทำให้ผู้ใช้บริการเข้าใจผิดว่าเป็น websiteที่ผมทำเพื่อpromote ตัวเอง ต่อมาในหน้าที่ 3 ห้องสมุดกฎหมายนั้น เราได้นำเอารัฐธรรมนูญและกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่มีลักษณะเป็นกฎหมายมหาชนมาลงไว้โดยผู้ใช้บริการสามารถ download ออกมาใช้งานได้ ปัจจุบันเรามีข้อมูลของรัฐธรรมนูญในอดีตทุกฉบับตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเดิม website เราเป็น website เดียวที่มีการพิมพ์รัฐธรรมนูญในอดีตทุกฉบับลงไปให้ผู้ใช้บริการสามารถ download ไปใช้ได้ แต่ตอนนี้เนื่องจากเราถูก website หนึ่งของหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งดูดข้อมูลนี้ไปใส่ใน website ของตน เราจึงไม่ใช่ website เดียวอีกต่อไป ต่อมาเราก็มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ส่วนกฎหมายอื่นๆผมก็ได้พยายามแยกออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ กฎหมายปกครอง กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ และกฎหมายมหาชนทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งในสองประเภทหลังนี้เป็นเรื่องใหม่มากสำหรับวงการวิชาการบ้านเรา แต่ผมก็พยายามจัดหมวดหมู่ขึ้นโดยนำเอาตัวบทกฎหมายที่มีลักษณะนั้นเข้ามาบรรจุไว้ในหัวข้อดังกล่าว ในหน้าที่ 4 ถือเป็นจุดเด่นของ website เราคือ มุมค้นคว้า ผมตั้งใจทำให้นิสิตนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่หรือกำลังทำวิทยานิพนธ์ได้รับความสะดวกในการหาข้อมูล จึงทำดัชนีค้นข้อมูลบรรณานุกรมกฎหมายมหาชน แยกเป็นหมวดหมู่หลัก คือ รัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง และกฎหมายมหาชนอื่นๆ ซึ่งจะประกอบด้วย รายชื่อหนังสือ บทความ วิทยานิพนธ์ เกี่ยวกับหัวข้อเหล่านั้นที่มีคนเขียนในประเทศไทยโดยเป็นข้อมูลทั้งของไทยและของต่างประเทศ นอกจากนี้ในหน้าเดียวกันผมยังนำเสนอรายชื่อนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนที่มีผลงานที่ดีจำนวนหนึ่งเอาไว้โดยผู้ใช้บริการสามารถดูข้อมูลของบุคคลเหล่านั้นได้ว่าผลิตผลงานอะไรออกมาบ้าง และในส่วนผลงานที่เป็นหนังสือผมก็ได้นำสารบัญของหนังสือของนักวิชาการเหล่านั้นมาใส่ไว้ด้วยเพื่อให้ความสะดวกในการค้นคว้าให้มากที่สุด ในหน้าที่ 5 คือ คำวินิจฉัย หน้าที่เพิ่งเริ่มได้ไม่นานโดยผมเห็นว่าจะทำให้ website มีความสมบูรณ์มากขึ้นหากเรานำคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาขององค์กรสำคัญๆมาลงไว้ ผมได้รับความกรุณาจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงาน ปปช. ในการสนับสนุนด้านข้อมูลซึ่งต้องขอขอบคุณไว้อีกครั้งหนึ่ง ณ ที่นี้ ส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภานั้น ผมทำหนังสืออย่างเป็นทางการขอไป 6 เดือนแล้วจนบัดนี้ก็ยังไม่ได้ เข้าใจว่าคงประสงค์จะให้เราช่วยเผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้น ต่อมาในหน้าที่ 6 นั้น ผมเจตนาทำหน้า หนังสือตำรา ก็เพื่อreview ตำราด้านกฎหมายมหาชนใหม่ๆที่เพิ่งออกมา เนื่องจากผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือจึงได้เปรียบผู้อื่น เพราะผมจะรู้ว่ามีหนังสืออะไรออกใหม่ สาระซ้ำกับของคนอื่นหรือไม่ ซึ่งผมสามารถบอกได้เลยว่าควรซื้อหนังสือเล่มนั้นหรือไม่ ผมจึงนำเอาประโยชน์ตรงนี้มาใช้เพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้บริการในระดับหนึ่ง คือหนังสือที่นำมาแนะนำจะเป็นหนังสือที่ใช้ได้ สามารถหาซื้อได้ ปัจจุบันมีสำนักพิมพ์หลายแห่งส่งหนังสือมาให้ผมซึ่งผมก็เลือกแนะนำเฉพาะเล่มที่ดีๆเท่านั้น การแนะนำหนังสือนี้ ผมไม่มีส่วนได้เสียอะไรกับสำนักพิมพ์ทั้งสิ้น ตั้งใจทำเพื่อให้คนจะซื้อหนังสือได้เสียเงินซื้อหนังสือที่คุ้มค่าเงินของตนมากที่สุด ส่วนในหน้าที่ 7 เวทีทรรศนะ ผมได้เปิดเอาไว้เพื่อให้ผู้ที่สงสัยหรือมีปัญหาด้านกฎหมายมหาชนสามารถถามคำถามเข้ามาได้โดยผมจะไม่ตอบด้วยตัวเองทั้งหมดแต่จะขอให้เพื่อนนักวิชาการที่ชำนาญเป็นผู้ตอบในส่วนที่แต่ละคนชำนาญ หน้าต่อมาหน้าที่ 8 คือ สัมภาษณ์ นั้น เกิดขึ้นมาไม่นานเช่นกันโดยผมเห็นว่า การสัมภาษณ์นักกฎหมายมหาชนที่มีบทบาทหรือดำรงตำแหน่งสำคัญในหน้าที่การงานจะทำให้ผู้อ่านได้เห็นภาพในการทำงานและชีวิตของคนเหล่านั้นซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้อ่านเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นผมจึงเลือกสัมภาษณ์บุคคลเหล่านั้นโดยพยายามสอบถามถึงรายละเอียดต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การทำงาน การมองความสำคัญของระบบกฎหมายมหาชนในบ้านเรา รวมทั้งข้อแนะนำสำหรับนักกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่ด้วย ในหน้าที่ 9 คือ ลิงค์กฎหมาย นั้น ก็เป็นธรรมดาของ website ที่จะต้องทำ link กฎหมายเอาไว้ แต่ของเราพยายามทำให้ดีกว่านั้น คือ มี link กฎหมายมหาชนไปยังเยอรมันและฝรั่งเศสด้วยเพื่อให้ผู้อ่านสามารถไปดูได้ยังแหล่งข้อมูล ในหน้าที่ 10 หน้าสุดท้ายซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่กี่วันนี้เอง คือ รวมศัพท์กฎหมายมหาชนฝรั่งเศส-ไทย นั้น ผมทำขึ้นเพื่อให้เด็กไทยที่กำลังเรียนกฎหมายมหาชนอยู่ที่ฝรั่งเศสจำนวนกว่า 20 คน รวมทั้งเด็กไทยในประเทศไทยที่กำลังเรียนกฎหมายมหาชนอยู่และอยากอ่านหนังสือภาษาฝรั่งเศสได้รับความสะดวกมากขึ้นในการค้นคว้าหาความรู้จากหนังสือภาษาฝรั่งเศส จะเห็นได้ว่าทั้ง 10 หน้าของ website นี้จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งหมดที่มิได้ลอกเลียนแบบมาจากที่ใดเลย
|
ผู้สัมภาษณ์ : การตอบรับจากนักวิชาการทางด้านกฎหมายมหาชนและประชาชนทั่วไปเป็นอย่างไรบ้างครับ
ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ปัจจุบันเราเปิดให้บริการเป็นเวลา 7 เดือนเศษและมีผู้ใช้บริการประมาณหนึ่งหมื่นสี่พันคนซึ่งตัวเลขก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ในตอนต้นตอนที่เรายังไม่ได้เปิดตัว website นี้ คือ ผมใช้เวลาในการเตรียมตัวสร้างฐานข้อมูลต่างๆอยู่ประมาณ 6 เดือนด้วยความช่วยเหลือจากลูกศิษย์ปริญญาโท สาขากฎหมายมหาชนสองสามคน คนหนึ่งทำหน้าที่เป็น webmaster อีกสองคนช่วยค้นข้อมูลและพิมพ์ตามเค้าโครงและเรื่องที่ผมได้วางแนวทางเอาไว้ ซึ่งในตอนนั้นผมก็พยายามพูดกับเพื่อนนักวิชาการกฎหมายมหาชนหลายคนที่มีโอกาสได้เจอกัน ทุกคนก็เห็นด้วยทุกคนก็รับปากว่าจะช่วย แต่ว่าเนื่องจากผมไม่มีสถานที่ทำงานสำหรับ website นี้เป็นหลักเป็นแหล่ง เราไม่มีอะไรเลย เราทำแบบสมัครเล่นใช้ห้องทำงานที่บ้าน ที่คณะเป็นหลัก ดังนั้นผมจึงไม่ค่อยกล้าที่จะเชิญคนหลายๆคนเข้ามาร่วมด้วยแต่ในทางปฏิบัติแล้วก็มีการพูดคุยกันตลอดเวลา แม้กระทั่งทุกวันนี้ทุกคนก็รู้ว่า website ของผมมีอยู่และเป็น website ทางด้านกฎหมายมหาชน ผมเคยถามเพื่อนอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์หลายๆคนทุกคนก็ยอมรับและดีใจกับเรา เดี๋ยวนี้เวลาผมเจอหน้าใครก็มักจะถูกถามว่า website เป็นอย่างไรบ้าง ทุกคนก็รู้ว่าผมทำ website และทุกคนก็ใช้ข้อมูล แม้กระทั่งตัวนักกฎหมายมหาชนผู้ใหญ่เองที่ปัจจุบันทำงานอยู่ไม่ว่าจะเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดหรือว่าตุลาการศาลปกครองหลายๆคนต่างก็ให้ความร่วมมือและสนับสนุนมาโดยตลอด แม้กระทั่งเวลามีผู้ใช้บริการถามคำถามเข้ามาใน website หรือผมต้องการขอความช่วยเหลือด้านข้อมูลต่างๆ เมื่อผมติดต่อไปเขาเหล่านั้นก็ให้ความช่วยเหลืออย่างดีตลอด เพราะฉะนั้นผมจึงอาจสรุปได้ว่า การตอบรับจากนักกฎหมายมหาชนโดยทั่วไปน่าพอใจ ทุกคนเห็นด้วยกับการทำ website นี้ แต่ว่าเนื่องจากข้อบกพร่องอาจจะอยู่ที่ผม คือ ผมยังไม่มีที่ทำงานสำหรับ website นี้อย่างเป็นหลักเป็นแหล่งต้องอาศัยที่ทำงานในคณะหรือว่าที่อื่นๆ ดังนั้น ผมจึงไม่กล้าเชิญเพื่อนนักวิชาการคนอื่นมาร่วมงานอย่างเป็นกิจลักษณะและอีกอย่างหนี่งที่เป็นปัญหาสำคัญคือ website ของเราทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ เผยแพร่ความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชน เราไม่มีรายได้จากที่อื่นๆไม่ว่าจะเป็นจากการโฆษณาหรือจากการขายข้อมูล ดังนั้น ผมจึงไม่สามารถจ่ายค่าตอบแทนต่างๆให้กับบางคนได้ ทุกวันนี้ก็เกรงใจหลายๆคนอยู่ที่ช่วยเหลือโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนเลย
ผู้สัมภาษณ์ : เนื่องจากที่อาจารย์บอกว่าเว็บนี้เป็นเว็บที่ไม่มีรายได้ ดังนั้นเป้าหมายหรือจุดที่จะชี้วัดความสำเร็จของเว็บนี้คืออะไรครับ
ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : จำนวนคนเข้ามาดูครับ คือ จะเห็นว่าในช่วงแรกตอนที่เปิดตัว website ใหม่ๆเดือนหนึ่งๆคนเข้ามาดูไม่กี่คนเพราะยังไม่มีคนรู้จัก website จนในที่สุดเราตัดสินใจที่จะเริ่มโฆษณา โดยการทำปากกาแจก พิมพ์ในเชิญชวนให้ใช้เว็บมาติดตามส่วนราชการต่างๆ แม้กระทั่งในศาลปกครองผมก็ไปฝากติดไว้ ซึ่งก็ได้รับmail จากผู้ใช้บริการคนหนึ่งว่าไปฟ้องคดีที่ศาลปกครองแล้วเห็นใบเชิญชวนหรือใบชี้แจงว่ามีเว็บกฎหมายมหาชนเขาก็เข้ามาดูครับ จนกระทั่งปัจจุบัน pub-law.net นับว่าประสบผลสำเร็จอย่างดีเพราะมีผู้เข้าใช้บริการร่วมร้อยคนต่อวัน ร้อยคนต่อวันสำหรับ website เอกชนขนาดเล็กที่มีสาระจำกัดมากเฉพาะกฎหมายมหาชนนับได้ว่าเป็นจำนวนที่น่าพอใจสำหรับผมครับ
ผู้สัมภาษณ์ : การทำเว็บมีปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไรบ้างครับ
ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ปัญหาจริงๆของผมคือ เวลาครับ เพราะผมจะทำข้อมูลทางวิชาการคนเดียว ผมต้องคอยหาบทความจากเพื่อนนักวิชาการ ต้องทำอะไรหลายๆอย่างด้วยตัวเองเพราะฉะนั้นจึงค่อนข้างลำบาก คือ จริงๆแล้ว website ทางวิชาการอย่างนี้ควรจะมีนักวิชาการสัก 4-5 คน มาช่วยกันทำด้วย แต่ด้วยปัญหาที่บอกไปแล้วผมข้างต้นผมจึงไม่ค่อยกล้าเอ่ยปากชวนใครต่อใครเข้ามาช่วยเพราะเราทำด้วยใจจริงๆ ค่าตอบแทนก็ไม่มี มีแต่รายจ่าย เพราะฉะนั้นก็ค่อนข้างลำบากแต่ก็พยายามทำอยู่ให้มันดีครับ ส่วนปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งในตอนนี้ที่กำลังประสบอยู่ก็คือ มี website อื่นเข้ามา "ดูด" ข้อมูลของเราไป เรื่องนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องของจรรยาบรรณนะครับ คนที่ทำ website กับผมหรือเพื่อนๆของผมคงทราบดีว่าผมตั้งใจทำ website นี้อย่างมาก ข้อมูลส่วนมากเราจะพิมพ์เอง ทุกคนเหน็ดเหนื่อยกับการพิมพ์ การตรวจคำผิด การนำข้อมูลไปใส่ใน website ไม่กี่วันก็มีคนเข้ามา "ดูด" ข้อมูลของเราไปแปลงนิดแปลงหน่อยและใส่ไว้ใน website ของตัวเอง เราสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นข้อมูลของเราครับที่เขา "ดูด" เอาไป ที่น่าแปลกใจก็คือ website ที่เข้ามาเอาข้อมูลของเราไปเป็น website ของหน่วยงานของรัฐ ผมรู้สึกแย่มากเพราะต้องเสียภาษีอากรไปให้รัฐนำเงินไปจ้างคนประเภทที่ไม่มีจรรยาบรรณเข้ามาทำงานเอาเปรียบประชาชนเช่นผม อยากมีข้อมูลก็ควรจะทำเอง พิมพ์เอง หรือไม่อย่างนั้นถ้าจะให้เป็นสุภาพบุรุษจริงก็มาขอตรงๆหรือทำ link กับเราก็ได้ครับ ปัญหานี้คือปัญหาใหญ่ในวันนี้ครับ
|
|
|
1
|
2
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|