ผู้สัมภาษณ์ : อยากให้อาจารย์อธิบายถึงวัตถุประสงค์ในการจัดทำ pub-law.net ครับเพื่อให้ผู้ใช้บริการwebsiteที่เพิ่งเข้ามาชมเป็นครั้งแรกหรือให้ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้อ่านวัตถุประสงค์ที่อาจารย์ได้เคยบอกไว้แล้วในตอนแรกได้ทราบครับ
ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : จุดเริ่มต้นจริงๆเกิดขึ้น เมื่อปีที่แล้วตอนที่ผมเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส เพื่อนอาจารย์ชาวฝรั่งเศสอวด website ของคณะเขาซึ่งมีรายละเอียดข้อมูลพื้นฐานด้านกฎหมายที่สมบูรณ์ แต่เมื่อผมเปิด website ของคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ให้เขาดูก็รู้สึกว่า website ของคณะเราไม่ได้มีเนื้อหาสาระทางวิชาการที่จะไปเทียบเท่ากับของเขาได้เลย ก็เลยมีความคิดอยากจะจัดทำ websiteขึ้นมาบ้าง ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนผมจะเดินทางไปฝรั่งเศสในครั้งนั้นคือ อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้เคยให้ความคิดกับผมว่าควรจะสร้าง website ขึ้นมาให้เป็นสื่อกลางของการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ อาจารย์ได้ให้คำแนะนำไว้เยอะมาก ดังนั้นพอกลับมาจากฝรั่งเศสก็เริ่มทำอย่างจริงจังโดยได้รับความช่วยเหลือหลายๆด้านจากคุณสนธิ ลิ้มทองกุล แห่งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ สำหรับกลุ่มเป้าหมายในตอนต้นของการทำ website ผมตั้งใจที่จะให้นิสิตที่คณะใช้เป็นหลัก คือมีความคิดที่อยากให้นิสิตที่เรียนปริญญาโทสาขากฎหมายมหาชนของผมมีแหล่งหาข้อมูลได้ง่ายและสมบูรณ์ ต่อมาผมก็พัฒนาความคิดต่อไปอีกว่าปริญญาตรีผมก็สอนกฎหมายมหาชน ไหนๆทำแล้วก็ให้นิสิตปริญญาตรีใช้ด้วย นอกจากนี้ผมก็มีเพื่อน มีรุ่นน้องที่อยู่ตามส่วนราชการต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานศาลปกครอง ซึ่งก็มักจะถามปัญหาด้านกฎหมายมหาชนผมอยู่เรื่อยๆ ก็น่าจะให้ใช้ประโยชน์จาก website ด้วย ดังนั้นความตั้งใจเดิมจากที่จะทำเป็น website เล็กๆ มีข้อมูลน้อยๆก็เลยต้องเหน็ดเหนื่อยสร้างข้อมูลให้มากขึ้นอย่างทุกวันนี้ครับ
ผู้สัมภาษณ์ : สาระสำคัญของ pub-law.net ในส่วนต่างๆมีที่มาและวัตถุประสงค์อย่างไรครับ
ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ปัจจุบัน pub-law.net ของเราแบ่งเป็น 10 หน้าwebsite โดยผมจะขอแยกอธิบายรายหน้า คือ ในหน้าแรก นั้น เป็นหน้าที่ผมตั้งใจทำให้เหมือนกับวารสารกฎหมายเล่มหนึ่ง ดังนั้นผมจึงจัดให้มีบทบรรณาธิการและพยายามให้บทบรรณาธิการในแต่ละครั้งมีลักษณะเป็นบทความทางวิชาการหรือมีสาระทางวิชาการด้วย นอกจากนี้ในหน้าแรกก็จะเป็นเหมือนกับสารบัญของ websiteซึ่งผู้ใช้บริการจะทราบว่าใน websiteของเรามีสาระอะไรบ้างและในแต่ละครั้งมีอะไรเปลี่ยนแปลงใหม่ ตั้งแต่เริ่มต้นผมพยายามปรับปรุงสาระของ websiteทุกสองอาทิตย์ เหตุผลที่เป็นสองอาทิตย์ไม่ใช่ทุกอาทิตย์ก็เพราะผมไม่มีคนช่วยทำและงานประจำผมก็มากอยู่แล้ว ดังนั้น สองอาทิตย์จึงเป็นระยะเวลาที่ผมพอจะทำได้ ก็เลยปรับ websiteทุกสองอาทิตย์ ต่อมาในหน้าที่สอง คือ บทความสาระ นั้น ผมได้นำเอาบทความจากนักกฎหมายมหาชนทั้งรุ่นที่กำลังดังอยู่ในปัจจุบันและนักกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่มาลงเป็นประจำ โดยผมจะขอความร่วมมือไปยังเพื่อนนักวิชาการเหล่านั้น และนอกจากนี้บางครั้งหากหาไม่ทันผมก็ต้องลงมือเขียนเองทั้งๆที่ในบางครั้งผมก็ไม่อยากเขียนเนื่องจากเกรงว่าจะทำให้ผู้ใช้บริการเข้าใจผิดว่าเป็น websiteที่ผมทำเพื่อpromote ตัวเอง ต่อมาในหน้าที่ 3 ห้องสมุดกฎหมายนั้น เราได้นำเอารัฐธรรมนูญและกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่มีลักษณะเป็นกฎหมายมหาชนมาลงไว้โดยผู้ใช้บริการสามารถ download ออกมาใช้งานได้ ปัจจุบันเรามีข้อมูลของรัฐธรรมนูญในอดีตทุกฉบับตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเดิม website เราเป็น website เดียวที่มีการพิมพ์รัฐธรรมนูญในอดีตทุกฉบับลงไปให้ผู้ใช้บริการสามารถ download ไปใช้ได้ แต่ตอนนี้เนื่องจากเราถูก website หนึ่งของหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งดูดข้อมูลนี้ไปใส่ใน website ของตน เราจึงไม่ใช่ website เดียวอีกต่อไป ต่อมาเราก็มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ส่วนกฎหมายอื่นๆผมก็ได้พยายามแยกออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ กฎหมายปกครอง กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ และกฎหมายมหาชนทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งในสองประเภทหลังนี้เป็นเรื่องใหม่มากสำหรับวงการวิชาการบ้านเรา แต่ผมก็พยายามจัดหมวดหมู่ขึ้นโดยนำเอาตัวบทกฎหมายที่มีลักษณะนั้นเข้ามาบรรจุไว้ในหัวข้อดังกล่าว ในหน้าที่ 4 ถือเป็นจุดเด่นของ website เราคือ มุมค้นคว้า ผมตั้งใจทำให้นิสิตนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่หรือกำลังทำวิทยานิพนธ์ได้รับความสะดวกในการหาข้อมูล จึงทำดัชนีค้นข้อมูลบรรณานุกรมกฎหมายมหาชน แยกเป็นหมวดหมู่หลัก คือ รัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง และกฎหมายมหาชนอื่นๆ ซึ่งจะประกอบด้วย รายชื่อหนังสือ บทความ วิทยานิพนธ์ เกี่ยวกับหัวข้อเหล่านั้นที่มีคนเขียนในประเทศไทยโดยเป็นข้อมูลทั้งของไทยและของต่างประเทศ นอกจากนี้ในหน้าเดียวกันผมยังนำเสนอรายชื่อนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนที่มีผลงานที่ดีจำนวนหนึ่งเอาไว้โดยผู้ใช้บริการสามารถดูข้อมูลของบุคคลเหล่านั้นได้ว่าผลิตผลงานอะไรออกมาบ้าง และในส่วนผลงานที่เป็นหนังสือผมก็ได้นำสารบัญของหนังสือของนักวิชาการเหล่านั้นมาใส่ไว้ด้วยเพื่อให้ความสะดวกในการค้นคว้าให้มากที่สุด ในหน้าที่ 5 คือ คำวินิจฉัย หน้าที่เพิ่งเริ่มได้ไม่นานโดยผมเห็นว่าจะทำให้ website มีความสมบูรณ์มากขึ้นหากเรานำคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาขององค์กรสำคัญๆมาลงไว้ ผมได้รับความกรุณาจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงาน ปปช. ในการสนับสนุนด้านข้อมูลซึ่งต้องขอขอบคุณไว้อีกครั้งหนึ่ง ณ ที่นี้ ส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภานั้น ผมทำหนังสืออย่างเป็นทางการขอไป 6 เดือนแล้วจนบัดนี้ก็ยังไม่ได้ เข้าใจว่าคงประสงค์จะให้เราช่วยเผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้น ต่อมาในหน้าที่ 6 นั้น ผมเจตนาทำหน้า หนังสือตำรา ก็เพื่อreview ตำราด้านกฎหมายมหาชนใหม่ๆที่เพิ่งออกมา เนื่องจากผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือจึงได้เปรียบผู้อื่น เพราะผมจะรู้ว่ามีหนังสืออะไรออกใหม่ สาระซ้ำกับของคนอื่นหรือไม่ ซึ่งผมสามารถบอกได้เลยว่าควรซื้อหนังสือเล่มนั้นหรือไม่ ผมจึงนำเอาประโยชน์ตรงนี้มาใช้เพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้บริการในระดับหนึ่ง คือหนังสือที่นำมาแนะนำจะเป็นหนังสือที่ใช้ได้ สามารถหาซื้อได้ ปัจจุบันมีสำนักพิมพ์หลายแห่งส่งหนังสือมาให้ผมซึ่งผมก็เลือกแนะนำเฉพาะเล่มที่ดีๆเท่านั้น การแนะนำหนังสือนี้ ผมไม่มีส่วนได้เสียอะไรกับสำนักพิมพ์ทั้งสิ้น ตั้งใจทำเพื่อให้คนจะซื้อหนังสือได้เสียเงินซื้อหนังสือที่คุ้มค่าเงินของตนมากที่สุด ส่วนในหน้าที่ 7 เวทีทรรศนะ ผมได้เปิดเอาไว้เพื่อให้ผู้ที่สงสัยหรือมีปัญหาด้านกฎหมายมหาชนสามารถถามคำถามเข้ามาได้โดยผมจะไม่ตอบด้วยตัวเองทั้งหมดแต่จะขอให้เพื่อนนักวิชาการที่ชำนาญเป็นผู้ตอบในส่วนที่แต่ละคนชำนาญ หน้าต่อมาหน้าที่ 8 คือ สัมภาษณ์ นั้น เกิดขึ้นมาไม่นานเช่นกันโดยผมเห็นว่า การสัมภาษณ์นักกฎหมายมหาชนที่มีบทบาทหรือดำรงตำแหน่งสำคัญในหน้าที่การงานจะทำให้ผู้อ่านได้เห็นภาพในการทำงานและชีวิตของคนเหล่านั้นซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้อ่านเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นผมจึงเลือกสัมภาษณ์บุคคลเหล่านั้นโดยพยายามสอบถามถึงรายละเอียดต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การทำงาน การมองความสำคัญของระบบกฎหมายมหาชนในบ้านเรา รวมทั้งข้อแนะนำสำหรับนักกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่ด้วย ในหน้าที่ 9 คือ ลิงค์กฎหมาย นั้น ก็เป็นธรรมดาของ website ที่จะต้องทำ link กฎหมายเอาไว้ แต่ของเราพยายามทำให้ดีกว่านั้น คือ มี link กฎหมายมหาชนไปยังเยอรมันและฝรั่งเศสด้วยเพื่อให้ผู้อ่านสามารถไปดูได้ยังแหล่งข้อมูล ในหน้าที่ 10 หน้าสุดท้ายซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่กี่วันนี้เอง คือ รวมศัพท์กฎหมายมหาชนฝรั่งเศส-ไทย นั้น ผมทำขึ้นเพื่อให้เด็กไทยที่กำลังเรียนกฎหมายมหาชนอยู่ที่ฝรั่งเศสจำนวนกว่า 20 คน รวมทั้งเด็กไทยในประเทศไทยที่กำลังเรียนกฎหมายมหาชนอยู่และอยากอ่านหนังสือภาษาฝรั่งเศสได้รับความสะดวกมากขึ้นในการค้นคว้าหาความรู้จากหนังสือภาษาฝรั่งเศส จะเห็นได้ว่าทั้ง 10 หน้าของ website นี้จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งหมดที่มิได้ลอกเลียนแบบมาจากที่ใดเลย
|
ผู้สัมภาษณ์ : การตอบรับจากนักวิชาการทางด้านกฎหมายมหาชนและประชาชนทั่วไปเป็นอย่างไรบ้างครับ
ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ปัจจุบันเราเปิดให้บริการเป็นเวลา 7 เดือนเศษและมีผู้ใช้บริการประมาณหนึ่งหมื่นสี่พันคนซึ่งตัวเลขก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ในตอนต้นตอนที่เรายังไม่ได้เปิดตัว website นี้ คือ ผมใช้เวลาในการเตรียมตัวสร้างฐานข้อมูลต่างๆอยู่ประมาณ 6 เดือนด้วยความช่วยเหลือจากลูกศิษย์ปริญญาโท สาขากฎหมายมหาชนสองสามคน คนหนึ่งทำหน้าที่เป็น webmaster อีกสองคนช่วยค้นข้อมูลและพิมพ์ตามเค้าโครงและเรื่องที่ผมได้วางแนวทางเอาไว้ ซึ่งในตอนนั้นผมก็พยายามพูดกับเพื่อนนักวิชาการกฎหมายมหาชนหลายคนที่มีโอกาสได้เจอกัน ทุกคนก็เห็นด้วยทุกคนก็รับปากว่าจะช่วย แต่ว่าเนื่องจากผมไม่มีสถานที่ทำงานสำหรับ website นี้เป็นหลักเป็นแหล่ง เราไม่มีอะไรเลย เราทำแบบสมัครเล่นใช้ห้องทำงานที่บ้าน ที่คณะเป็นหลัก ดังนั้นผมจึงไม่ค่อยกล้าที่จะเชิญคนหลายๆคนเข้ามาร่วมด้วยแต่ในทางปฏิบัติแล้วก็มีการพูดคุยกันตลอดเวลา แม้กระทั่งทุกวันนี้ทุกคนก็รู้ว่า website ของผมมีอยู่และเป็น website ทางด้านกฎหมายมหาชน ผมเคยถามเพื่อนอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์หลายๆคนทุกคนก็ยอมรับและดีใจกับเรา เดี๋ยวนี้เวลาผมเจอหน้าใครก็มักจะถูกถามว่า website เป็นอย่างไรบ้าง ทุกคนก็รู้ว่าผมทำ website และทุกคนก็ใช้ข้อมูล แม้กระทั่งตัวนักกฎหมายมหาชนผู้ใหญ่เองที่ปัจจุบันทำงานอยู่ไม่ว่าจะเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดหรือว่าตุลาการศาลปกครองหลายๆคนต่างก็ให้ความร่วมมือและสนับสนุนมาโดยตลอด แม้กระทั่งเวลามีผู้ใช้บริการถามคำถามเข้ามาใน website หรือผมต้องการขอความช่วยเหลือด้านข้อมูลต่างๆ เมื่อผมติดต่อไปเขาเหล่านั้นก็ให้ความช่วยเหลืออย่างดีตลอด เพราะฉะนั้นผมจึงอาจสรุปได้ว่า การตอบรับจากนักกฎหมายมหาชนโดยทั่วไปน่าพอใจ ทุกคนเห็นด้วยกับการทำ website นี้ แต่ว่าเนื่องจากข้อบกพร่องอาจจะอยู่ที่ผม คือ ผมยังไม่มีที่ทำงานสำหรับ website นี้อย่างเป็นหลักเป็นแหล่งต้องอาศัยที่ทำงานในคณะหรือว่าที่อื่นๆ ดังนั้น ผมจึงไม่กล้าเชิญเพื่อนนักวิชาการคนอื่นมาร่วมงานอย่างเป็นกิจลักษณะและอีกอย่างหนี่งที่เป็นปัญหาสำคัญคือ website ของเราทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ เผยแพร่ความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชน เราไม่มีรายได้จากที่อื่นๆไม่ว่าจะเป็นจากการโฆษณาหรือจากการขายข้อมูล ดังนั้น ผมจึงไม่สามารถจ่ายค่าตอบแทนต่างๆให้กับบางคนได้ ทุกวันนี้ก็เกรงใจหลายๆคนอยู่ที่ช่วยเหลือโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนเลย
ผู้สัมภาษณ์ : เนื่องจากที่อาจารย์บอกว่าเว็บนี้เป็นเว็บที่ไม่มีรายได้ ดังนั้นเป้าหมายหรือจุดที่จะชี้วัดความสำเร็จของเว็บนี้คืออะไรครับ
ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : จำนวนคนเข้ามาดูครับ คือ จะเห็นว่าในช่วงแรกตอนที่เปิดตัว website ใหม่ๆเดือนหนึ่งๆคนเข้ามาดูไม่กี่คนเพราะยังไม่มีคนรู้จัก website จนในที่สุดเราตัดสินใจที่จะเริ่มโฆษณา โดยการทำปากกาแจก พิมพ์ในเชิญชวนให้ใช้เว็บมาติดตามส่วนราชการต่างๆ แม้กระทั่งในศาลปกครองผมก็ไปฝากติดไว้ ซึ่งก็ได้รับmail จากผู้ใช้บริการคนหนึ่งว่าไปฟ้องคดีที่ศาลปกครองแล้วเห็นใบเชิญชวนหรือใบชี้แจงว่ามีเว็บกฎหมายมหาชนเขาก็เข้ามาดูครับ จนกระทั่งปัจจุบัน pub-law.net นับว่าประสบผลสำเร็จอย่างดีเพราะมีผู้เข้าใช้บริการร่วมร้อยคนต่อวัน ร้อยคนต่อวันสำหรับ website เอกชนขนาดเล็กที่มีสาระจำกัดมากเฉพาะกฎหมายมหาชนนับได้ว่าเป็นจำนวนที่น่าพอใจสำหรับผมครับ
ผู้สัมภาษณ์ : การทำเว็บมีปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไรบ้างครับ
ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ปัญหาจริงๆของผมคือ เวลาครับ เพราะผมจะทำข้อมูลทางวิชาการคนเดียว ผมต้องคอยหาบทความจากเพื่อนนักวิชาการ ต้องทำอะไรหลายๆอย่างด้วยตัวเองเพราะฉะนั้นจึงค่อนข้างลำบาก คือ จริงๆแล้ว website ทางวิชาการอย่างนี้ควรจะมีนักวิชาการสัก 4-5 คน มาช่วยกันทำด้วย แต่ด้วยปัญหาที่บอกไปแล้วผมข้างต้นผมจึงไม่ค่อยกล้าเอ่ยปากชวนใครต่อใครเข้ามาช่วยเพราะเราทำด้วยใจจริงๆ ค่าตอบแทนก็ไม่มี มีแต่รายจ่าย เพราะฉะนั้นก็ค่อนข้างลำบากแต่ก็พยายามทำอยู่ให้มันดีครับ ส่วนปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งในตอนนี้ที่กำลังประสบอยู่ก็คือ มี website อื่นเข้ามา "ดูด" ข้อมูลของเราไป เรื่องนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องของจรรยาบรรณนะครับ คนที่ทำ website กับผมหรือเพื่อนๆของผมคงทราบดีว่าผมตั้งใจทำ website นี้อย่างมาก ข้อมูลส่วนมากเราจะพิมพ์เอง ทุกคนเหน็ดเหนื่อยกับการพิมพ์ การตรวจคำผิด การนำข้อมูลไปใส่ใน website ไม่กี่วันก็มีคนเข้ามา "ดูด" ข้อมูลของเราไปแปลงนิดแปลงหน่อยและใส่ไว้ใน website ของตัวเอง เราสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นข้อมูลของเราครับที่เขา "ดูด" เอาไป ที่น่าแปลกใจก็คือ website ที่เข้ามาเอาข้อมูลของเราไปเป็น website ของหน่วยงานของรัฐ ผมรู้สึกแย่มากเพราะต้องเสียภาษีอากรไปให้รัฐนำเงินไปจ้างคนประเภทที่ไม่มีจรรยาบรรณเข้ามาทำงานเอาเปรียบประชาชนเช่นผม อยากมีข้อมูลก็ควรจะทำเอง พิมพ์เอง หรือไม่อย่างนั้นถ้าจะให้เป็นสุภาพบุรุษจริงก็มาขอตรงๆหรือทำ link กับเราก็ได้ครับ ปัญหานี้คือปัญหาใหญ่ในวันนี้ครับ
|
ผู้สัมภาษณ์ : คำถามต่อไปผมขอถามเรื่องอื่นนอกจากการทำ website ครับ คือปัจจุบันนี้คำว่านักกฎหมายมหาชนกำลังเป็นคำที่นิยมติดปาก ในทัศนะของอาจารย์นักกฎหมายมหาชนต้องมีคุณสมบัติหรือลักษณะอย่างไรบ้างครับ
ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : คำถามนี้ค่อนข้างตอบลำบาก เพราะถ้าจะย้อนไปในสมัยที่ผมเรียนอยู่ต่างประเทศแล้วกลับมาผมเองก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นนักกฎหมายมหาชนหรือไม่ เพราะวิธีคิด เราก็ยังคิดแบบนักกฎหมายไทยอยู่ คือ เรายังคิดถึงประโยชน์ของเอกชนมากกว่าประโยชน์ของรัฐ เราจะเห็นได้ว่าวิวัฒนาการของการเป็นนักกฎหมายมหาชนในต่างประเทศนั้นค่อนข้างยาวไกล คนที่เป็นนักกฎหมายมหาชนเขาจะมองดูประโยชน์ของมหาชนเป็นหลัก ในการเขียนกฎหมาย ในการจัดตั้งองค์กรก็จะต้องดูโครงสร้างองค์กรที่เป็นเหตุเป็นผลตามแบบฉบับของการจัดองค์กรสมัยใหม่ คือ ให้องค์กรนั้นทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ ไม่มีการทุจริตคอรัปชั่นก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นการจัดโครงสร้างองค์กรตามหลักกฎหมายมหาชนที่หลายๆคนได้ไปเรียนกลับมาจึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างแนวความคิดของกฎหมายมหาชนในปัจจุบัน คือว่าทำอย่างไรให้คนที่มีอำนาจในการปกครองประเทศอยู่ภายในกรอบที่กฎหมายมหาชนกำหนด เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเราเน้นการจัดโครงสร้างองค์กรตามหลักกฎหมายมหาชนไม่ว่าจะเป็นวิธีคิด วิธีเลือกคนเข้ามาทำงานที่ต้องมีความเป็นอิสระแยกต่างหากจากผู้แต่งตั้ง การดำรงตำแหน่งได้วาระเดียวเพื่อไม่ให้ทำตัวให้เป็นที่รักของผู้มีอำนาจแต่งตั้งจะได้ถูกแต่งตั้งเข้ามาอีกรอบ หรือว่าเข้ามาในตำแหน่งแล้วจะถูกปลดออกได้ก็ต้องมีหลักเกณฑ์ มีกติกา ไม่ใช่ปลดออกได้ตามอำเภอใจอย่างที่คณะรัฐมนตรียุคก่อนสามารถทำได้ เพราะฉะนั้นสิ่งต่างเหล่านี้คือหลักและแนวคิดของกฎหมายมหาชน ส่วนคำถามที่ว่านักกฎหมายมหาชนคือใครนั้น ในวันนี้ผมว่านักกฎหมายมหาชนค่อนข้างเยอะแล้ว คือ จบปริญญาตรีนิติศาสตร์ แล้วจบปริญญาโทกฎหมายมหาชนก็กลายเป็นนักกฎหมายมหาชน ผมไม่แน่ใจว่ามหาวิทยาลัยในวันนี้เราสามารถผลิตนักกฎหมายมหาชนในความหมายแท้ๆ คือ เพื่อออกไปเป็นนักกฎหมายในภาครัฐและดูแลประโยชน์ของรัฐและประโยชน์ของประชาชนให้สมดุลกัน ผมไม่แน่ใจว่ามีที่ไหนผลิตได้เต็มที่บ้าง เพราะว่านักกฎหมายก็คือนักกฎหมาย ในวันนี้ผมไม่ค่อยเห็นความแตกต่าง อีกอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การคัดเลือกบุคคลต่างๆเข้ามาในสายนักกฎหมายมหาชนเราจะเห็นได้ว่าแม้กระทั่ง สสร. เองมีนักกฎหมายที่เข้ามาในโควต้านักกฎหมายมหาชนก็มีหลายสาขา ในวันนี้อย่างที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ นิสิตสาขากฎหมายมหาชนทำวิทยานิพนธ์กันหลายๆเรื่อง เรื่องสิ่งแวดล้อมก็มี เรื่องการเกษตรก็มี เรื่องศาลปกครองก็มี เรื่องศาลรัฐธรรมนูญก็มี เรื่องแรงงานก็มี หรือแม้แต่เรื่องคุ้มครองผู้บริโภคก็มี เรารวมกฎหมายประเภทต่างๆหลายๆอย่างแล้วเรียกว่าเป็นกฎหมายมหาชน แต่ในขณะที่คำว่านักกฎหมายมหาชนตามความต้องการของท้องตลาดในวันนี้คือ นักกฎหมายมหาชนที่เป็นกฎหมายปกครองแท้ๆที่ผมเข้าใจว่าส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมายปกครองที่เป็นที่ต้องการของส่วนราชการต่างๆ แต่อาจมีข้อยกเว้นสำหรับบางส่วนเช่น ศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา อาจต้องการผู้ที่เลือกเรียนหนักไปทางรัฐธรรมนูญ ส่วนนักกฎหมายมหาชนอีกสาขา คือ กฎหมายการคลังนั้นเลิกพูดไปได้เลยเพราะคนที่มีความรู้พอจะมาสอนได้แทบจะไม่มีแล้ว ที่เห็นๆก็มีอาจารย์อรพินฯ ที่ผมเคยสัมภาษณ์ลงเว็บไปแล้ว เอกสารตำราก็ไม่มี ผมว่าพัฒนาการของสาขานี้ยังไม่ดี ดังนั้นก็คงมีเฉพาะกฎหมายปกครองกับรัฐธรรมนูญที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นนักกฎหมายมหาชนที่มหาวิทยาลัยต่างๆสามารถผลิตออกมาได้ในเวลานี้
ผู้สัมภาษณ์ : จากคำถามข้อเมื่อครู่ คือ อาจารย์เห็นว่าหลักสูตรวิชากฎหมายมหาชนของคณะนิติศาสตร์ ในระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโททั้งที่อาจารย์สอนและของที่อื่นในประเทศไทยตอนนี้เพียงพอกับความต้องการของภาครัฐและภาคเอกชนหรือไม่ครับ
ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : คือ ของที่อื่นผมคงไม่ก้าวล่วงไปวิพากษ์วิจารณ์ ผมคงดูแต่เฉพาะของผมครับ อย่างของคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เราเองก็พยายามจะปรับ วันนี้นิสิตปริญญาตรีที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้น ปี 3 จะเป็นเด็กรุ่นแรกที่ต้องแยกสาขาตั้งแต่ปี 3 เทอม 2 โดยเขาต้องแยกเป็นสาขากฎหมายมหาชนหรือสาขาอื่นๆซึ่งก็หมายความว่าเขาจะจบการศึกษาระดับปริญญาตรีโดยเรียนรวมกัน 5 เทอม และแยกสาขา 3 เทอม ผมไม่แน่ใจว่าหลังจากจบปริญญาตรีไปแล้วเขาสามารถที่จะเข้าไปทำงานในหน่วยงานของรัฐเป็นนักกฎหมายมหาชนในหน่วยงานของรัฐเหล่านั้นได้ทันทีหรือไม่ เพราะว่าอย่างที่เห็น คือ หลักสูตรปริญญาตรีในประเทศไทยเรานั้น เราสอนเด็กจนเรียนหนังสือจบ ตอนอายุ 20 เศษๆแล้วเขาก็จะกลายเป็นนักกฎหมายมหาชน ผมว่าบางครั้งอาจจะไม่ค่อยเหมาะสมเท่าใดนักเพราะว่าในสายตาของผมนักกฎหมายมหาชนควรจะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานสักพักหนึ่งอย่างเช่น คนที่ทำงานอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในวันนี้ต้องถือว่าคนเหล่านั้นเป็นนักกฎหมายมหาชนระดับแนวหน้าของประเทศ ออกไปอยู่ที่ไหนก็มีแต่คนอยากได้ เพราะว่าเขาทำงานมีประสบการณ์ทั้งในการเรียนและการทำงานช่วงระยะเวลาหนึ่ง จะเห็นได้ว่าในคณะผมมีอาจารย์จบปริญญาโทสาขากฎหมายมหาชนมาแต่ผมเข้าใจว่าบางคนความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชนยังไม่แตก เหตุผลที่ยังไม่แตกก็เพราะว่าเรียนหนังสือจบปริญญาโทกฎหมายมหาชนเท่านั้นยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน มองไม่เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าถามความรู้สึกผม ผมว่าไม่ว่าจะเรียนจบปริญญาตรีหรือปริญญาโทสาขากฎหมายมหาชนก็ตาม คงต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งในการฝึกเพื่อจะให้มีความสามารถมากขึ้นแล้วถึงจะปล่อยให้ออกไปทำอะไรต่ออะไรโดยลำพังได้
ผู้สัมภาษณ์ : การฝึกหรือการพัฒนานักกฎหมายมหาชนในองค์กรต่างๆ อาจารย์เห็นว่าการพัฒนานักกฎหมายมหาชนควรพัฒนาไปในทิศทางใดและมีองค์กรใดที่พัฒนานักกฎหมายมหาชนได้สำเร็จพอจะยกเป็นตัวอย่างได้ครับ
ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ที่เห็นได้จริงๆคือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาครับ อย่างตัวผม ผมก็เคยรับราชการที่นั่นก่อนที่ผมจะโอนย้ายมาเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ ผมมีเพื่อนหลายคนที่รับราชการที่นั่นแล้วออกไปอยู่ตามที่ต่างๆ เราจะสามารถทำงานรับใช้หน่วยงานได้ดีมากๆเพราะเราถูกฝึกมาให้มีความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชนค่อนข้างมากไม่ว่าจะเป็นส่วนที่เกี่ยวกับการจัดทำร่างกฎหมาย การทำความเห็นกฎหมายหรือว่าในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีปกครองซึ่งในอดีต เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ เพราะฉะนั้นคนที่ออกจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วไปอยู่ที่อื่นจะถือว่าเขาเป็นคนที่มีคุณภาพค่อนข้างดีพอสมควร ในวันนี้เราจะเห็นได้ว่าสำนักงานศาลปกครองบริหารงานได้โดยคนที่มาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกทั้งตุลาการเองหลายคนก็เคยเป็นข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือเคยเป็นกรรมการร่างกฎหมายหรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์มาแล้ว ซึ่งเขาเหลานั้นก็สามารถนำความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชนที่เกิดขึ้นและสะสมในช่วงเวลาที่อยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาใช้ประโยชน์ได้ หน่วยงานอื่นผมยังไม่แน่ใจเพราะผมไม่ได้สัมผัสโดยตรง แต่ผมอยากพูดนิดหนึ่งคือ ในเรื่องการเรียนการสอน ผมเข้าใจว่าการเรียนการสอนเป็นการให้เฉพาะทฤษฎีเท่านั้นแม้ว่าอาจารย์ผู้สอนจะพยายามยกตัวอย่าง จะพยายามยกประเด็นแสดงให้ผู้เรียนเห็นถึงว่า คืออะไร กฎหมายมหาชนมีเพื่ออะไร แต่ในทางปฏิบัติจริงๆแล้วต้องปฏิบัติถึงจะรู้ว่าลักษณะเด่น ข้อดีข้อเสียของกฎหมายมหาชนเป็นอย่างไร เพราะที่เราเรียนเราสอนนั้นก็สอนตำราของต่างประเทศทั้งนั้น วันนี้ศาลปกครองตั้งขึ้นแล้วและเริ่มมีคำพิพากษาออกมาบางส่วนแล้ว อีก10 ปีข้างหน้าผมเข้าใจว่าพื้นฐานทางด้านกฎหมายมหาชนของเราคงจะมีมากขึ้นเพราะว่าในการเรียนการสอนของเราก็คงจะเอาคำพิพากษาของศาลปกครองมาสอนเหมือนกับสมัยที่เรามีการเรียนการสอนกฎหมายเอกชนในเรื่องวิธีพิจารณาความแพ่ง วิธีพิจารณาความอาญา เราก็เอาคำพิพากษาศาลฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาศาลชั้นต้นมาสอนเหมือนกัน ผมว่าต้องให้เวลาสัก 10 ปีเพื่อจะพัฒนาหลักกฎหมายมหาชนในบ้านเราด้วยครับ และองค์กรหลักที่จะเป็นองค์กรสำคัญในการพัฒนาระบบกฎหมายมหาชนในบ้านเราในวันนี้ก็คือ ศาลปกครองนั่นเอง ผมเห็นว่า คงมีเฉพาะตุลาการศาลปกครองเท่านั้นที่จะเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการพัฒนาหลักกฎหมายมหาชนในบ้านเราด้วยการสร้างคำพิพากษาที่มีผลเป็นการสร้างหลักหรือสร้างทฤษฎีต่างๆขึ้นมาให้กับระบบกฎหมายมหาชน ยกตัวอย่างเช่น สัญญาทางปกครองในเวลานี้ทุกคนก็ยังงงๆกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดานักกฎหมายเอกชนทั้งหลาย หากเมื่อไหร่มีคดีประเภทสัญญาทางปกครองเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลปกครอง ตุลาการศาลปกครองก็ควรสร้างหลักเกณฑ์ต่างๆขึ้นมาใช้กับเรื่องสัญญาทางปกครองเพื่อให้แนวความคิดหรือทฤษฎีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองเกิดขึ้นกับวงการวิชาการด้านกฎหมายมหาชนของเรา
|
ผู้สัมภาษณ์ : ไม่ทราบว่า 10 ปีจะนานไปหรือไม่ครับ
ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : คือ ผมไม่สามารถเดาได้ว่านานหรือไม่ แต่เราดูประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส เมื่อเริ่มตั้งหน่วยงานที่พิจารณาคดีปกครองใช้เวลาหลายสิบปีที่จะสร้างหลักกฎหมายปกครองแต่ละเรื่องขึ้นมา บ้านเราอาจจะเรียนลัดได้แต่ว่าการเรียนลัดไม่ได้เกิดขึ้นเองต้องมีการฟ้องคดีมาก่อน เราคงไม่สามารถไปก่อให้เกิดคดีได้ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องสัญญาทางปกครอง ในวันนี้นักวิชาการหลายต่อหลายคนรวมทั้งผมด้วยกำลังรออยู่ว่า จะมีปัญหาเรื่องสัญญาทางปกครองขึ้นศาลปกครองเมื่อไหร่ ลักษณะของสัญญาทางปกครองในระบบกฎหมายไทยจะเป็นอย่างไร ฝ่ายปกครองจะมีเอกสิทธิ์เหนือฝ่ายเอกชนหรือไม่ จะมีคำว่าประโยชน์สาธารณะอยู่ในนั้นด้วยหรือไม่ เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นทฤษฎีที่เราเรียนกันมาเป็น 10 ปี แต่ว่าในวันนี้ศาลปกครองเริ่มทำงานแล้วและศาลปกครองเองมีอำนาจหน้าที่ในการดูสัญญาทางปกครองด้วย ถ้าเกิดมีข้อพิพาทเรื่องสัญญาทางปกครองขึ้นไปสู่ศาลเราก็อาจจะเห็นภาพสัญญาทางปกครองในระบบกฎหมายไทยได้ แต่ของเหล่านี้เราไม่สามารถไปผลักดันให้เกิดคดีขึ้นมาได้ คงต้องรอ เพราะฉะนั้นที่ผมว่า 10 ปีไม่น่าจะนาน เพราะปัญหาต่างๆไม่ว่าจะเป็นนิติกรรมทางปกครองฝ่ายเดียว หลายฝ่าย หรือคำสั่งทางปกครองประเภทต่างๆแม้กระทั่งสัญญาทางปกครอง สิ่งต่างๆเหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่ต้องรอให้ศาลพิจารณาพิพากษาก่อนถึงจะนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานหรือเป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางที่แน่นอนของกฎหมายมหาชนในวันข้างหน้าในบ้านเราได้
ผู้สัมภาษณ์ : แต่ในขณะที่รัฐธรรมนูญได้กำเนิดองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ต้องใช้กฎหมายมหาชนขึ้นมามาก เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ปปช. กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ทีนี้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรดังกล่าวอาจจะไม่ใช่นักกฎหมายมหาชนและจากปัญหาที่อาจารย์ได้กล่าวไว้แล้วในคำถามข้างต้นว่าจะต้องอาศัยเวลาเป็น 10 ปี อาจารย์คิดว่าตรงนี้จะเกิดผลอะไรหรือไม่ครับ คือ เรามีองค์กรแต่องค์ความรู้เราไม่ถึง คนของเราไม่พร้อม อาจารย์มองปัญหาตรงนี้อย่างไรครับ
ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ผมว่ามันขึ้นอยู่กับการรับทราบว่าเรามีความรู้ความสามารถแค่ไหนก่อน ผมยังจำวันที่อาจารย์ชัยอนันต์ ฯ ได้รับเลือกเข้าไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ ผมไปทานเข้าบ้านอาจารย์หลังจากนั้นไม่กี่วัน อาจารย์หยิบหนังสือมาอวดผม 4-5 เล่มบอกว่า เพิ่งได้มาไม่นาน หนังสือที่อาจารย์ชัยอนันต์ฯหยิบมาอวดเป็นคำพิพากษาของศาลซึ่งตัดสินคดีเกี่ยวกับกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาให้ผมดู อาจารย์บอกผมว่าเราต้องศึกษาจากประสบการณ์ของต่างประเทศด้วยเพราะบ้านเรายังเป็นของใหม่แล้วหน้าที่ดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับตัวอาจารย์เองด้วย ผมคิดว่าตัวอย่างที่ยกอาจารย์ชัยอนันต์ฯ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ ผมเคยไปที่ห้องทำงานอาจารย์โภคินฯ รองประธานศาลปกครองสูงสุด ในห้องอาจารย์โภคินฯ อาจารย์ซื้อหนังสือจากฝรั่งเศสและถ่ายเอกสารหนังสือเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายปกครองมามากวางอยู่บนชั้นหนังสือเต็มไปหมด นักวิชาการทั้งสองเป็นตัวอย่างที่ดีของนักวิชาการทั้งหลายเพราะมีความใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลา สิ่งต่างๆเหล่านี้ผมยังคิดว่ามันขึ้นอยู่กับแต่ละตัวบุคคลที่ว่าเมื่อเข้าไปดำรงตำแหน่งเหล่านั้นแล้วคงต้องประเมินความรู้ความสามารถตัวเองว่าเราจะสามารถทำงานได้ดีสมกับที่เป็นองค์กรระดับชาติหรือไม่ ถ้าคิดว่าตัวเองมีความสามารถยังไม่ถึงหรือต้องการเพิ่มพูนความสามารถให้มากขึ้นไปกว่าเดิมก็ต้องอ่านต้องค้นคว้าเพิ่มเติมต้องศึกษาเพิ่มเติม เพราะหนังสืออ่านวันเดียวก็ได้ คืออยากรู้เรื่องไหนก็หามาอ่านวันเดียวก็รู้เรื่องแล้ว ผมว่าคนระดับผู้ใหญ่ที่ได้รับเลือกเข้าไปถ้าประเมินตัวเองถูกและหาความรู้เพิ่มเติมก็สามารถทำงานในหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบได้ดีอย่างแน่นอน
ผู้สัมภาษณ์ : มีหลายคนได้กล่าวเอาไว้ว่าคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาลในส่วนที่ต้องเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนที่ผ่านมาเช่นของศาลรัฐธรรมนูญ ในบางครั้งก็มีการให้เหตุผลที่มีที่มาจากหลักกฎหมายแพ่งหรือหลักกฎหมายอาญา ตรงนี้อาจารย์มีความเห็นว่าอย่างไรครับ
ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ตรงนี้ผมอาจจะตอบลำบากเพราะผมไม่ได้ใส่ใจในตรงนั้น คือ ผมมองคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ส่วนใหญ่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นจะเป็นเรื่องเฉพาะ ถ้าเราไปดูศาลรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสในการวินิจฉัยก็จะคล้ายๆกัน คือ เป็นเรื่องเฉพาะซึ่งไม่สามารถนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานได้ แต่ในบางกรณีก็อาจมีการนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานได้เหมือนกันเพราะผลของคำวินิจฉัยนั้นได้สร้างหลักเกณฑ์ทางกฎหมายขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น คำว่าความเสมอภาค ศาลรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสบอกว่า คำว่าความเสมอภาคแม้จะไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญก็ตามแต่ความเสมอภาคเป็นหลักที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี ค.ศ.1789 เพราะฉะนั้นหลักนี้ถือว่าเป็นหลักที่มีคุณค่าตามรัฐธรรมนูญ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญประกาศว่า หลักว่าด้วยความเสมอภาคเป็นหลักที่มีคุณค่าตามรัฐธรรมนูญหรือมีลักษณะเหมือนรัฐธรรมนูญ ในการจัดทำกฎหมายแม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้พูดถึงเรื่องเสมอภาคไว้แต่องค์กรทุกองค์กรที่มีหน้าที่จัดทำกฎหมายก็จะยึดหลักเรื่องความเสมอภาคของบุคคลเป็นแนวทางในการร่างกฎหมาย ถ้าเมื่อใดที่ร่างกฎหมายใดจัดทำขึ้นโดยไม่ยึดหลักว่าด้วยความเสมอภาคก็จะถือว่าขัดรัฐธรรมนูญเพราะศาลรัฐธรรมนูญของเขาเคยวางเกณฑ์เอาไว้แล้ว อันนี้เป็นการสร้างบรรทัดฐานให้เกิดขึ้นในระบบของเขา ในขณะที่ของบ้านเราในวันนี้ยังเป็นเรื่องเฉพาะอยู่ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอนาคตหากมีการให้ความเห็นไว้ในคำวินิจฉัยที่สามารถนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานระดับประเทศได้ดังเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในต่างประเทศจึงจะถือว่าศาลรัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จในการทำงานส่วนหนึ่ง
ผู้สัมภาษณ์ : แต่ถึงอาจารย์เห็นว่าไม่เป็นบรรทัดฐาน แต่รัฐธรรมนูญก็บัญญัติรับรองให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันเป็นบรรทัดฐาน ส่วนคดีที่เขาโต้แย้งกับมาก อย่างเช่น การวินิจฉัยความหมายคำว่า จำคุก ด้วยการเอาหลักกฎหมายอาญามาตอบ แม้ว่าอาจารย์จะเห็นว่าไม่เป็นบรรทัดฐานแต่รัฐธรรมนูญก็บังคับให้เป็นบรรทัดฐาน เช่นนี้อาจารย์เห็นว่าอย่างไรครับ
ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ผมก็ยังยืนยังเหมือนเดิมครับว่าผมไม่ถือเป็นบรรทัดฐาน เพราะในการตัดสินหรือการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ด้วยความเคารพผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญควรดูจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ สภาพของรัฐธรรมนูญมากกว่าไปนำเอากฎหมายเอกชนมาใช้ อันนี้เป็นความเห็นผมและผมก็เคยเขียนบทความและให้สัมภาษณ์ไปหลายครั้งแล้วในส่วนนี้ เพราะว่าผมไม่เห็นด้วยกับการนำเอากฎหมายเอกชนมาใช้ ผมเคยประสบปัญหานี้ตั้งแต่ทำงานอยู่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์บางคนที่มาจากระบบศาลเอกชนพยายามจะนำเอาคำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นเรื่องกฎหมายเอกชนมาใช้เป็นหลักในการเขียนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ซึ่งในอดีตถือว่าเป็นศาลปกครองเหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันแยกจากกันเด็ดขาดระหว่างกฎหมายเอกชนกับกฎหมายมหาชน ถ้าเราจะตัดสินในระบบกฎหมายมหาชน เราควรจะใช้เหตุผลทางด้านกฎหมายมหาชนมากว่าจะไปใช้เหตุผลทางด้านกฎหมายเอกชน
ผู้สัมภาษณ์ : จากที่สังเกตนักวิชาการที่มีประวัติลงใน pub-law.net นักวิชาการทั้งหมดจบจากฝรั่งเศสหรือเยอรมัน เช่นนี้หมายความว่าหลักกฎหมายมหาชนหรือหลักกฎหมายปกครองที่ถือว่าดีหรือเป็นที่นิยมมาจาก 2 ประเทศนี้เท่านั้นหรือครับ หรือว่ามีประเทศอื่นที่นักกฎหมายไทยเราไปเรียนหลักกฎหมายมหาชนกลับมาได้บ้างครับ
ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ถ้าจะถามผมจริงๆผมก็คงต้องเข้าข้างตัวเองว่า กฎหมายมหาชนฝรั่งเศสถือว่าเป็นแม่แบบของระบบกฎหมายมหาชนของโลก มีการแบ่งแยกกฎหมายมหาชนกับกฎหมายเอกชนออกจากกันอย่างเด็ดขาดมาเป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว มีการแบ่งแยกศาลที่พิจารณาคดีที่เกิดขึ้นในระบบกฎหมายมหาชนกับระบบกฎหมายเอกชนออกมาเป็นอิสระเป็นเวลากว่า 100 ปีเช่นกัน มีการเรียนการสอนกฎหมายมหาชนแยกกับกฎหมายเอกชนเป็นเวลากว่า 100 ปีเช่นกัน เพราะฉะนั้นวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นมากว่า 100 ปีทำให้เขาเป็นผู้นำทางด้านกฎหมายมหาชน ส่วนประเทศเยอรมันนั้น เนื่องจากผมได้ไปเรียนที่นั่น แต่จากการอ่านหนังสือหรือบทความของเพื่อนนักวิชาการทำให้เห็นว่าเยอรมันเองก็มีระบบกฎหมายมหาชนที่เป็นระบบที่ดีพอสมควรเหมือนกัน คราวนี้คนที่มีชื่ออยู่ใน website ถ้าผู้อ่านหรือผู้ใช้บริการ pub-law.net เข้าไปดูจะเห็นว่าบุคคลที่มีรายชื่อเหล่านั้นเป็นบุคคลที่ผมนำเอาผลงานจำนวนมากมานำเสนอไว้ คือ อาจารย์ที่มีรายชื่อเหล่านั้นเขียนเอกสาร บทความ หนังสือทางด้านวิชาการเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนค่อนข้างมาก ส่วนประเด็นที่ว่าเรามีนักกฎหมายมหาชนที่จบจากประเทศอื่นหรือไม่ผมคิดว่าก็คงมีครับ ผมรู้จักนักกฎหมายที่จบกฎหมายปกครองจากประเทศอังกฤษ จบจากประเทศออสเตรียก็มี แต่คนเหล่านี้ไม่มีข้อเขียนหรือบทความที่มากพอหรืออยู่ในปริมาณที่เราใช้อ้างอิงได้ ผมเลยไม่ได้เอาชื่อใส่เอาไว้แต่ในที่สุดแล้วผมก็ยังคิดว่าประเทศฝรั่งเศสยังเป็นหลักทางด้านกฎหมายมหาชนอยู่เพราะว่าระบบศาลปกครองของเราเองในวันนี้ก็ได้รับอิทธิพลจากทางฝรั่งเศสและเยอรมันค่อนข้างสูง ถ้าเราจะเลยไปถึงรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติต่างๆในรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นเรื่องคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่องการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน เรื่องการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พวกนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสทั้งสิ้น ในที่สุดเราอาจกล่าวได้ว่าทั้งรัฐธรรมนูญ ทั้งกฎหมายปกครอง เราได้รับอิทธิพลมาจากกฎหมายฝรั่งเศสค่อนข้างมากพอสมควรครับ
ผู้สัมภาษณ์ : คำถามก่อนสุดท้าย คือ จะเห็นว่าในหน้าแนะนำหนังสือ อาจารย์แนะนำหนังสือมาก คือ จะเห็นว่าอาจารย์อ่านหนังสือมาก อาจารย์พอจะแนะนำหนังสือสำหรับผู้ที่สนใจศึกษากฎหมายมหาชนเบื้องต้นหรือว่าเป็นวารสารทางกฎหมายมหาชนสำหรับคนที่ไม่อยู่ในแวดวงวิชาการจะได้ติดตามอ่านครับ
ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : คือเราต้องแยกก่อนว่าหนังสือกฎหมายมหาชนยุคใหม่กับยุคเก่า หนังสือกฎหมายมหาชนยุคใหม่เป็นสิ่งที่ผมไม่มีความสุขกับมันมากเท่าที่ควร ในฐานะที่เป็นคนอ่านหนังสือและผมเข้าศูนย์หนังสือของจุฬาฯเพื่อดูหนังสือดูความเปลี่ยนแปลงของหนังสือตลอดระยะเวลาเป็น 10 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเรามีหนังสือกฎหมายมหาชนที่ไม่มีคุณภาพค่อนข้างมาก ย้อนหลังกลับไปสัก 4-5 ปี ตำราเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนยุคเก่านั้น เราจะเห็นว่าหนังสือเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนที่ใช้กันอยู่มีไม่กี่เล่มมีหนังสือเกี่ยวกับกฎหมายปกครองที่ใช้เป็นหลักอยู่เพียงเล่มเดียว คือ ตำรากฎหมายปกครองของอาจารย์ประยูร กาญจนดุล ต่อมาก็มีคนพยายามออกหนังสือกฎหมายปกครองบ้างซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะไปลอกของอาจารย์ประยูรฯ มาค่อนข้างมาก มีการสลับบทสลับหัวข้อ แต่ก็ถือว่าได้รับอิทธิพลและถือว่าคัดลอกมาจากของอาจารย์ประยูรฯค่อนข้างมากนะครับ คราวนี้ศักราชใหม่ของกฎหมายมหาชนก็เริ่มจากการที่อาจารย์บวรศักดิ์ ฯ เขียนหนังสือกฎหมายมหาชนเล่ม 1 เล่ม 2 และเล่ม 3 ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนังสือกฎหมายมหาชนยุคใหม่ หลังจากนั้นก็มีคนพยายามเขียนหนังสือกฎหมายมหาชนแบบต่างๆออกมาที่แตกต่างจากที่เคยมีมาแล้วของอาจารย์ประยูรฯ แม้กระทั่งตัวผมเองผมก็เขียนหนังสือบริการสาธารณะและหนังสืออื่นๆขึ้นมา อันนี้ถือว่าเป็นหนังสือกฎหมายมหาชนยุคใหม่ แต่ในวันนี้หนังสือกฎหมายมหาชนยุคใหม่เหล่านั้นกลับหายไปอีกแล้ว หนังสือที่ออกมาช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมากลายเป็นหนังสือที่มีลักษณะเหมือนหนังสือกฎหมายมหาชนยุคเก่า คือเอาหนังสือที่มีอยู่แล้วของคนอื่นๆมาตัดแปะไปตัดต่อ ยกตัวอย่างวันนี้มีหนังสือคำอธิบายกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองอยู่หลายเล่มแต่เราจะเห็นได้ว่าแต่ละเล่มนั้นไม่มีเนื้อหาสาระที่สมควรจะต้องเสียเงินซื้อได้เลยเพราะเป็นการเอากฎหมายมาตัดแปะแล้วอธิบายด้วยความสั้นๆ เราต้องย้อนกลับไปดูวารสารศาลปกครอง เล่ม 1 ที่แจกตอนเปิดศาล ซึ่งผมคิดว่ายังมีขายอยู่ จะเห็นว่า อาจารย์โภคินฯเขียนบทความเรื่องวิธีพิจารณาคดีปกครอง ในนั้นผมถือว่าเป็นบทความที่อยู่ในลักษณะของบทความด้านกฎหมายมหาชนยุคใหม่เหมือนกัน อาจารย์โภคินฯเอากฎหมายมาอธิบายก็จริงแต่ก็มีการสอดแทรกเป็นระยะให้เห็นถึงลักษณะเดียวกันที่อธิบายหลักที่เกิดขึ้นในต่างประเทศและที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศไทยสมัยที่ยังเป็นคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ว่าเคยตัดสินประเด็นนี้ว่าอย่างไร ต่างประเทศว่าอย่างไร คือ อาจารย์โภคินฯพยายามสอดแทรกความเห็นต่างๆของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์หรือของต่างประเทศเพื่อให้ผู้อ่านเห็นถึงความที่น่าจะเป็นถ้าเกิดเรานำมาตราต่างๆของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองมาใช้ ผมถือว่าการเขียนลักษณะนั้นเป็นการเขียนในลักษณะที่ดีมากและเป็นการทำงานของนักวิชาการอย่างแท้จริง ในขณะที่บางเล่มที่ออกมาหลังจากของอาจารย์โภคินฯ แต่ก็ย้อนกลับไปใช้รูปแบบเดิมๆที่เคยทำกับหนังสือของอาจารย์ประยูรฯ ก็คือ เอาของที่เขามีอยู่แล้วมาวางแล้วเขียนด้วยคำอธิบาย 2-3 บรรทัด พิมพ์หนังสือเล่มโตๆ เขียนหน้าปกชื่อโก้ๆออกมาแต่ไม่มีสาระ พูดตรงๆผมสงสารผู้ซื้อ ผมเคยเขียนบทบรรณาธิการคราวก่อนๆว่า จริงๆแล้วสำนักพิมพ์ไม่ควรพิมพ์หนังสือพวกนี้ด้วยซ้ำไปเพราะเสียชื่อสำนักพิมพ์ ปัจจุบันผมเห็นว่าสำนักพิมพ์ควรจะตั้ง readers ที่อาจจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยหรือเป็นผู้รู้ก็ได้มาคอยทบทวนดูว่าควรจะพิมพ์หนังสือเล่มไหนบ้าง เพราะบางคนจ่าหน้าว่าเป็นอาจารย์ เป็นข้าราชการระดับสูงแต่สาระของหนังสือผมว่าไม่ควรให้มีซ้ำในท้องตลาดมากขนาดนี้ ถ้าหนังสือมีจำนวนน้อยแต่เป็นหนังสือดีจะดีกว่ามีหนังสือจำนวนมากแต่ไม่มีคุณภาพเพราะว่าคนลำบากคือคนซื้อ สำนักพิมพ์ก็ลำบากเหมือนกัน อันนี้ก็คือหนังสือกฎหมายมหาชนที่ผมรู้สึกในวันนี้
ส่วนที่ถามว่าผมชอบใจหนังสือกฎหมายมหาชนเล่มไหนมากเป็นพิเศษนั้น คือผมไม่มีโอกาสแนะนำ คือ ผมพยายามแนะนำหนังสือใหม่ๆที่ออกมาก่อน ผมเคยจะแนะนำอยู่ 2-3 หนแต่ยังไม่มีโอกาสเลยถือโอกาสแนะนำในที่นี้ ผมเข้าใจว่าคนที่เป็นนักกฎหมายมหาชนที่จะรู้พื้นฐานกฎหมายมหาชนดีๆได้ควรจะต้องอ่านหนังสือกฎหมายมหาชนของอาจารย์บวรศักดิ์ฯ เล่ม 1 เล่ม 2 และเล่ม 3อย่างละเอียดครับ หนังสือนี้ผมเข้าใจว่าพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิญญูชน ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ยังมีขายอยู่ ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษและคิดว่าเป็นพื้นฐานทางด้านกฎหมายมหาชนยุคแรกๆที่ยังใช้ได้อยู่จนทุกวันนี้ คือ นิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน ของอาจารย์โภคินฯ อันนี้ไม่มีพิมพ์เป็นเล่มอาจจะต้องอ่านจากวารสารอัยการ ซึ่งพิมพ์ต่อเนื่องกันเป็นปี เข้าใจว่าที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเอาไปโรเนียวเป็นเล่มให้เด็กเรียนเหมือนกัน ใครสนใจจะหาเล่มนี้อาจจะลองสอบถามอาจารย์โภคินฯที่ศาลปกครองเผื่อว่าอาจารย์จะพิมพ์ใหม่ก็จะเป็นการดีสำหรับแวดวงวิชาการของเรา หรือลองดูในบรรณานุกรมส่วนตัวของอาจารย์โภคินฯใน pub-law.net จะเห็นว่าเราได้บอกไว้แล้วว่าบทความเรื่องนิติบุคคลในกฎหมายมหาชนซึ่งเป็นบทความขนาดยาว 20 ตอนจบสามารถหาอ่านได้ที่ไหน เรื่องนี้ผมถือว่าเป็นหลักเลย ถ้าคุณไม่รู้เรื่องนิติบุคคลในกฎหมายมหาชนอย่างดี คุณจะไม่สามารถศึกษากฎหมายมหาชนได้อย่างดีครับ
ผู้สัมภาษณ์ : สุดท้ายนี้ อาจารย์มีอะไรจะฝากถึงผู้เข้าชมเว็บบ้างหรือไม่ครับ
ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : คือผมต้องขอขอบคุณทุกคนที่ใช้ website นี้ครับ ผมกับทีมงานจะพยายามกันอย่างสุดๆเหมือนกันครับ ไม่ว่าจะเหนื่อยกันขนาดไหนหรือลำบากกันขนาดไหนเราก็พยายามให้ดีที่สุด ผู้ใช้บริการคงเห็นแล้วว่าเราไม่มีรายได้อะไรทั้งนั้นจาก website ไม่มีโฆษณาไม่มีอะไรเลยทุกอย่าง ท่านเข้ามาใช้ไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไรทั้งนั้น เพราะฉะนั้น website นี้จึงเป็น website ที่ตั้งใจทำโดยนักวิชาการเพื่อประโยชน์ทางวิชาการแท้ๆแต่เพียงอย่างเดียว ผู้ใช้บริการอยากให้เรามีอะไรตรงไหน อยากให้เราเพิ่มอะไรตรงไหนก็ลองmailมาบอกกันนะครับ ถ้าปรับปรุงได้หรือไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะทำได้ ก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด อย่างไรก็ตามจะพยายามต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะไม่ไหว ถ้าไม่ไหวขึ้นมาเมื่อใดก็จะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าสักเดือนหนึ่ง แล้วก็จะหาคนมาช่วยดูแลต่อซึ่งผมก็เคยคิดเล่นๆเหมือนกันว่า ถ้าผมทำไม่ไหวหรือว่าหมดทุนที่จะทำผมจะมอบ pub-law.net ให้คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ หรือให้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รับไปต่อทำถ้าเขาเห็นความจำเป็น แต่อย่างไรก็ตามขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าจะพยายามทำให้ดีที่สุดและให้เป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะทำไม่ไหวครับ
ผู้สัมภาษณ์ : ขอขอบคุณอาจารย์ที่กรุณาสละเวลาให้สัมภาษณ์ครับ
|