หน้าแรก สัมภาษณ์
บทสัมภาษณ์ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 11 กรกฎาคม 2544
17 ธันวาคม 2547 10:23 น.
 
1 | 2 | 3
หน้าถัดไป
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : อยากเรียนถามอาจารย์ถึงความสำคัญของกฎหมายมหาชนในประเทศไทย เพราะนับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมามีการกล่าวถึงกฎหมายมหาชนมากขึ้นเรื่อยๆ อาจารย์เห็นว่ากฎหมายมหาชนทุกวันนี้มีความสำคัญกับระบบต่างๆของประเทศไทยอย่างไรครับ
       
       ศ.ดร.สุรพลฯ :
ผมคิดว่าสังคมไทยทุกวันนี้ถึงจุดเปลี่ยน เราเลือกที่จะเปลี่ยนตามแนวทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แนวทางที่มีคนพยายามคิดที่จะทำมาเป็นเวลานานคือ เราจะเป็นประเทศที่ปกครองโดยกฎหมายและมีกติกาที่ชัดเจนในเรื่องทุกๆเรื่อง ความจริงเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่มีมานานแล้ว 60-70 ปี หรืออาจจะเป็น 100 ปีมาแล้วที่เราเลือกที่จะปกครองโดยกฎหมายและใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรแต่ที่ผ่านมาปัญหาของเราก็คือการปกครองโดยกฎหมายและใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรนั้นเราไปให้ความสนใจอยู่ 2 เรื่อง เท่านั้นคือเรามองกฎหมายในลักษณะที่เป็นเครื่องมือในการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมมากเกินไป ผมคิดว่าไม่เกิน 10 ปีมานี้ที่เราเริ่มสนใจกฎหมายในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็คือ กฎหมายที่จะวางหลักเกณฑ์การจัดการให้มีบริการสาธารณะที่ดีในสังคมซึ่งตรงนี้ก็สอดคล้องกับความพยายามที่จะต้องมีกฎหมายสาขาใหม่ๆ มีนักกฎหมายสาขาใหม่ๆเกิดขึ้นและก็เป็นจังหวะหรือเป็นความบังเอิญซึ่งผมไม่แน่ใจที่สุดท้ายเราก็มีรัฐธรรมนูญซึ่งวางแนวทางที่ให้เราเป็นประเทศที่ปกครองโดยกฎหมายและใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจัดระบบบริการสาธารณะที่ดีให้กับสังคมไทย เพราะฉะนั้นก็สอดคล้องกับพัฒนาการของกฎหมายสาขามหาชน ซึ่งผมคิดว่าเมื่อกติกาของสังคมตกลงกันให้ไปในทิศทางตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดโดยมีconceptรวมๆคือรัฐต้องจัดทำบริการสาธารณะให้ดีโดยมีหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำกับ ดังนั้นจึงต้องมีการตรากฎหมายสมัยใหม่ที่คำนึงถึงบริการสาธารณะ ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงแง่เดียวยังไม่ได้กล่าวในแง่ทางการเมือง ส่วนในแง่การบริหารจัดการจะต้องทำบริการสาธารณะให้ดี มีหลักเกณฑ์บางอย่างที่ชัดเจนขึ้นจึงจะเป็นการส่งเสริมให้กฎหมายมหาชนเติบโตขึ้น กติกาในการบริหารประเทศของเราไม่ได้ลงลึกหรือไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก่อนพอถูกรัฐธรรมนูญบังคับว่าหลายเรื่องต้องทำ หลายเรื่องหนีไม่ได้ ก็ไปหาคำตอบกันว่าองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระหมายความว่าอย่างไร ต้องไปดูว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนคืออะไร ต้องไปดูว่าการปกครองท้องถิ่นที่บอกว่าต้องมีอำนาจต้องมีสิทธิในการจัดการของตนเองหมายความว่าอย่างไร ซึ่งตรงนี้เป็นเทคนิคทางกฎหมายทั้งนั้นแล้วก็เป็นกฎหมายสมัยใหม่ซึ่งเมื่อก่อนเราไม่ได้คิดกันในประเทศไทยซึ่งก็ส่งเสริมทำให้กฎหมายมหาชนเติบโตขึ้นอย่างมากในหลายปีที่ผ่านมาและก็มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งขณะนี้ผมคิดว่าเราไม่มีนักกฎหมายมหาชนมากพอที่จะเข้าไปรับภารกิจอันนี้ได้ มหาวิทยาลัยถูกสันนิษฐานไว้ว่าจะเป็นแหล่งที่มีนักกฎหมายมหาชนมากสุดแต่เอาเข้าจริงๆก็ไม่พอเพราะทุกหน่วยงานก็พยายามที่จะจัดอะไรใหม่ๆเพื่อให้เข้า concept ที่ว่าต้องทำให้บริการสาธารณะดีขึ้น ทุกหน่วยงานทุกกระทรวงทบวงกรมก็ต้องการคนที่พอจะเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ไปช่วย คนที่มีอยู่ก็ไม่พอ ผมคิดว่าขณะนี้เห็นแล้วว่าเป็นยุคของการเติบโตของกฎหมายมหาชนในประเทศไทยและจะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้หลังจากรัฐธรรมนูญใช้เมื่อ ปี 2540 มีหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานที่ตื่นตัวแต่ไม่ทั้งหมด เวลาที่ผ่านไปจะทำให้ตื่นตัวขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งกลายเป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีนักกฎหมายมหาชนไปอยู่ในองค์กร อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการตื่นตัวเท่านั้นวันข้างหน้าจะยิ่งมีอะไรมากกว่านี้มากทีเดียวครับ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : เเมื่อ 10 ปีเศษที่ผ่านมาอาจารย์คิดอย่างไรถึงเรียนกฎหมายมหาชน ทั้งๆที่ในช่วงนั้นกฎหมายมหาชนในบ้านเรายังแทบจะมองไม่เห็นเลยว่าอะไรคือกฎหมายมหาชน
       
       ศ.ดร.สุรพลฯ :
ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องท้าทาย เนื่องจากโดยตัวสนองเป็นเรื่องใหม่ในสังคม ผมคิดว่าแรงบันดาลใจน่าจะมาจากท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ ซึ่งพูด เขียน คิด ในเรื่องพวกนี้มากและก็มีวรรณกรรมในเรื่องเหล่านี้อยู่มากมาย ถ้าคิดถึงการจัดการในงานสาธารณะ คิดถึงการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจ คิดถึงการจัดระบบบริหารที่ดี ไม่มีคำตอบในระบบกฎหมายแบบเดิมของเราซึ่งเป็นกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายอาญาเพราะฉะนั้นคนที่สนใจในเรื่องเหล่านี้และอยากจะหาคำตอบก็ไม่มีทางเลือกอื่นมีสาขากฎหมายเดียวเท่านั้นที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ ที่จะหาทางเลือกหรือจะสามารถนำเสนออะไรบางอย่างที่จะจัดการกับปัญหาสังคมไทยได้ก็คือกฎหมายมหาชน ผมคิดว่าต่อไปนี้เป็นคำอธิบายที่สำคัญคือถ้าเผื่อว่าใครก็ตามที่เรียนได้ดีพอสมควรพอเรียนจบแล้วไม่ต้องการเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการก็จะเหลือทางออกไม่มากก็คือต้องมาเรียนกฎหมายมหาชนไม่เช่นนั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไร ซึ่งก็หมายความว่าถ้าจะใช้วิชาชีพกฎหมายก็ต้องไปเป็นผู้พิพากษา อัยการ หรือเป็นทนายความ ทำงานในlawfirm แต่เมื่อไม่เป็นเหล่านี้เสียแล้วการจะอยู่ในวิชาชีพกฎหมายก็ไม่มีอะไรท้าทายมากไปกว่ามาเรียนกฎหมายมหาชน ผมคิดว่าตรงนั้นเป็นเหตุผลของคนจำนวนมากในสมัยเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วในgeneration ที่สนใจจะเรียนกฎหมายมหาชนครับ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : อาจารย์มองว่า ในช่วงก่อนมีรัฐธรรมนูญพัฒนาการในด้านกฎหมายมหาชนในบ้านเราช้าหรือไม่ครับ เพราะเมื่อสักครู่อาจารย์พูดว่าหลังจากมีรัฐธรรมนูญแล้วพัฒนาการเกิดขึ้นเร็ว
       
       ศ.ดร.สุรพลฯ :
ผมคิดว่าช้า จะเรียกว่าช้ามากก็คงได้แต่สาเหตุของความล่าช้าก็สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศคือถ้าประเทศไม่เป็นประชาธิปไตยแล้วระบบการปกครองโดยกฎหมายก็มีไม่ได้ การจะมาคิดเรื่องการจัดองค์กรภาครัฐ คิดเรื่องการจัดระบบบริการสาธารณะที่มีกฎหมายเป็นหลักนั้นก็เป็นไปไม่ได้อยู่ในตัวเพราะมีความสัมพันธ์กันระหว่างความเป็นประชาธิปไตย การปกครองโดยกฎหมายและการปกครองในระบบการมีผู้แทนกับพัฒนาการของกฎหมายมหาชนถ้ารัฐประหารบ่อยๆก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี สุดท้ายกติกาอะไรที่ไม่ถูกใจก็เลิกเสีย การปกครองโดยกฎหมายซึ่งเป็นฐานของระบบคิดของกฎหมายมหาชนก็อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นถามว่าช้าหรือไม่ผมคิดว่าค่อนข้างช้า แต่ว่าในระยะหลังก่อนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้ผมคิดว่าก็ดีขึ้นอาจจะตั้งแต่ปี 2538-2540 ผมคิดว่าดีขึ้น ที่ดีขึ้นในส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีนักกฎหมายมหาชนมากขึ้นในสังคมไทย ผมคิดว่าที่สำคัญก็คือการที่มีนักกฎหมายมหาชนเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดนโยบายในการตัดสินทิศทางซึ่งคงต้องยอมรับว่าท่านอาจารย์ ดร.โภคิน พลกุล เป็นหัวหอกสำคัญที่ทำให้เกิดความตื่นตัวริเริ่มทำให้มีกฎหมายใหม่ๆที่เป็นพื้นฐานของกฎหมายมหาชนปัจจุบันแล้วทำให้ระบบกฎหมายมหาชนได้รับความสนใจมากขึ้น สมัยอาจารย์โภคินฯ ก็เกิดพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เกิดพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ในสมัยที่ท่านเป็นรัฐมนตรีสำนักนายกฯที่ดูแลเรื่องกฎหมาย เมื่อมีกกฎหมายสองฉบับนี้กฎหมายฉบับอื่นก็ตามมาไม่ยากนักและกฎหมายสองฉบับนี้ก็สร้างความตื่นตัวสร้างความสนใจและในที่สุดก็เปิดโอกาสให้กฎหมายมหาชนพิสูจน์ตนเองว่าสุดท้ายน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม น่าจะเป็นผลดีต่อการจัดระบบบริการสาธารณะ น่าจะดีสำหรับประชาชนเพราะกฎหมายจะพิสูจน์ตนเองว่าเมื่อใช้บังคับแล้วสามารถเปลี่ยนอะไรหลายอย่างได้จริงและพอใช้บังคับกฎหมายข้อมูลข่าวสารแล้วก็ตามมาด้วยอะไรอีกหลายอย่างซึ่งบังเอิญไปรับกับการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่พอดีซึ่งก็เปิดยุคใหม่ให้กว้างขึ้นกว่าเดิม ซึ่งนอกจากกฎหมายที่เป็นกฎหมายในระดับกฎหมายปกครอง เปลี่ยน conceptในเชิงการใช้อำนาจรัฐ การกำกับดูแลอำนาจ ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจ ก็ยิ่งทำให้พัฒนาการไปได้ดีมากขึ้น ผมคิดว่าที่ช้ามานานก็ด้วยเหตุผลทางการเมือง แต่ก่อนใช้รัฐธรรมนูญ 2-3 ปี ก็มีการพัฒนาขึ้นถึงจุดที่น่าพอใจครับ

1 | 2 | 3
หน้าถัดไป

 
 
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2546
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 8 กันยายน 2544
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.โภคิน พลกุล รองประธานศาลปกครองสูงสุด ณ สำนักงานศาลปกครอง วันที่ 27 กรกฎาคม 2544
บทสัมภาษณ์ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ณ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย วันที่ 11 ธันวาคม 2544
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2546
   
 
 
 
มองการปฏิรูปประเทศผ่านสายตานักกฎหมาย นันทวัฒน์ บรมานันท์ จากคนวงในสู่ภาพขยายสังคม
ปี ๒๕๕๕ การเมืองจะรุนแรง ? เหตุ ปชช.ไม่รู้
ศึกแผงลอย "สยามสแควร์"ยื้อ 8 เดือน "จุฬาฯ" เกินต้านยอมถอย แฉ! "เจ้าหน้าที่" ไม่ร่วมมือ!!!
ถามหาความกล้า"ประชาธิปัตย์"เป็นฝ่ายค้านที่สะอาดดีกว่าอยู่ในรัฐบาล แล้วเป็นสีเทา
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อัดแก้รธน. 2 มาตราไม่ได้ตอบโจทย์แก้ปัญหาปรองดอง เสนอขึ้น"บัญชีดำ"คนยกร่างรธน.ปี50
"นันทวัฒน์ บรมานันท์"ซัดคลิปลับฉาว ศาล รธน.บกพร่องเอง คนแต่งตั้งกุนซืออย่าปฏิเสธความรับผิดชอบ
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ว่าด้วยเรื่อง "ปรองดองขี้ขลาด-เส้นทางการเมืองและการปฎิรูป"
สัมภาษณ์ ดร.วรรณภา ติระสังขะ เจาะโมเดลตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จาก"ฝรั่งเศส"ถึง กฟผ. .′ความ(ไม่)เท่าเทียมกันของอาวุธ′
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ชำแหละ"รากแห่งความขัดแย้ง" ลากสังคมไทยสู่สงครามกลางเมือง !!!!
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544