หน้าแรก บทความสาระ
รายงานสรุปผลการศึกษาวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
รองศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์
6 มกราคม 2548 21:09 น.

       
 
หน้าที่แล้ว
1 | 2 | 3 | 4

       

       
            
       (4.3) การแปรรูปรัฐวิสาหกิจต้องทำโดยองค์กรที่เป็นกลาง อิสระและสามารถ
       ตรวจสอบได้
จากการศึกษาถึงกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของต่างประเทศ และกระบวนการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจของไทยตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ จะพบว่า การกำหนดให้ฝ่ายการเมืองเป็นผู้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการ "เลือก" และทำ "การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ" นั้นไม่สามารถสนองตอบประโยชน์สาธารณะได้ดีเท่าที่ควรด้วยเหตุผลหลายประการ ซ้ำยังอาจ ก่อให้เกิด "ผลเสีย" อย่างมหาศาลต่อประเทศได้หากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นไปอย่างขาดทิศทางและมุ่งสนองว้ตถุประสงค์อื่นที่มิใช่ประโยชน์สาธารณะ ด้วยเหตุนี้เองที่ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ได้กำหนดให้มี "คณะกรรมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ" ขึ้นมาทำหน้าที่รับผิดชอบการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหมดและในทุกกระบวนการและทุกขั้นตอน โดยเน้นจุดสำคัญ คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยคณะกรรมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะต้องเป็นไปโดยโปร่งใส มีขั้นตอนในการดำเนินการอย่างเป็นระบบและปกป้องประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

                   
       คณะกรรมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจประกอบด้วยกรรมการจำนวน 11 คน ซึ่งใน
       ร่างมาตรา 9 ได้แบ่งกรรมการออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการโดยตำแหน่งจำนวน 4 คน จะได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ อันจะเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่ตามร่างพระราชบัญญัตินี้เพื่อรับผิดชอบในงานเลขานุการของคณะกรรมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 6 คนนั้น มาจากการเลือกของวุฒิสภาตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติและโดยการเสนอของคณะรัฐมนตรี ส่วนประธานกรรมการอันเป็นตำแหน่งที่สำคัญมากและมีบทบาทสูงในกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็ได้กำหนดให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุด คนหนึ่งมาทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ ตุลาการศาลปกครองสูงสุดผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นมาจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดและต้องได้รับอนุมัติจาก ก.ศป. ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้ง
       ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งเมื่อตุลาการผู้นั้นมาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ
       แล้ว ให้ถือว่าตุลาการผู้นั้นขาดจากความเป็นตุลาการในช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว แต่เมื่อพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวแล้วก็สามารถกลับไปเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดได้เช่นเดิม นอกจากนี้ เนื่องจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นงานที่สำคัญและมีความต่อเนื่อง ดังนั้น จึงกำหนดไว้ในร่างมาตรา 9 วรรคสอง ว่า กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อย 3 คน จะต้องเป็น ผู้ทำงานเต็มเวลา

                   
        กรรมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมีหลักประกันในการทำงาน คือ ความเป็นอิสระและต้องปลอดจากการเมืองและการประกอบธุรกิจบางประเภท ดังนั้น ในร่างมาตรา 10
       (4) ถึง (6) จึงกำหนดให้กรรมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในทางการเมือง
       สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง เจ้าหน้าที่พรรคการเมือง รวมทั้งยังห้ามเป็นหรือภายในระยะเวลา 3 ปีก่อนวันได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ ได้เคยเป็นกรรมการหรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้เสียในนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุนหรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจที่จะแปรรูป ตลอดจนห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการกิจการของผู้รับโอนหุ้นหรือบริษัทผู้รับโอนหุ้นรายใดอันมีลักษณะทำให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของผู้รับโอนหุ้นหรือบริษัทผู้รับโอนหุ้นรายนั้น

                   
        นอกจาก "ข้อห้าม" ตามร่างมาตรา 10 (4) ถึง (6) ดังกล่าวไปแล้ว เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหา "ประโยชน์ทับซ้อน" ระหว่างประโยชน์ส่วนตัวของกรรมการกับประโยชน์สาธารณะ อันจะเป็นส่วนสำคัญที่อาจ กระทบมาถึงกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
       ตามร่างพระราชบัญญัติได้ จึงมีกำหนดไว้ในร่างมาตรา 12 และร่างมาตรา 13 ให้กรรมการทุกคนต้องแจ้งเรื่องการประกอบวิชาชีพ การดำรงตำแหน่งอื่นใดหรือการเป็นตัวแทนใด ๆ ของตนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเมื่อกรรมการพ้นจากตำแหน่งแล้ว ก็ยังมีข้อห้ามตามมาอีกสำหรับระยะเวลา 5 ปี คือ ห้ามประธานกรรมการและกรรมการดำรงตำแหน่งใดในคณะกรรมการบริหารของบริษัทที่รับโอนหุ้นที่รัฐเคยถืออยู่ หรือกระทำการใด ๆ ที่เป็นการให้บริการแก่บริษัทดังกล่าว และห้ามซื้อหุ้นหรือรับโอนหุ้นของบริษัทที่รับโอนหุ้นที่รัฐเคยถืออยู่

                   
        ข้อห้ามทั้งหมดที่กล่าวไปนี้จะทำให้การดำเนินงานของคณะกรรมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นไปโดยอิสระ ปราศจากอิทธิพลครอบงำของฝ่ายการเมืองและฝ่ายเอกชนที่มุ่งประสงค์จะได้ประโยชน์จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

                   
        อนึ่ง การมีข้อห้ามต่าง ๆ จำนวนมากกำหนดไว้เช่นนี้ อาจทำให้กรรมการแปรรูป
       รัฐวิสาหกิจมีความลำบากในการดำรงชีพเนื่องจากเมื่อได้รับแต่งตั้งเข้ามาเป็นกรรมการแล้ว ก็จะต้อง "ตัดขาด" จากอาชีพอื่น ๆ ทั้งหมด ร่างมาตรา 18 จึงได้กำหนดให้มีการตราพระราช กฤษฎีกากำหนดค่าตอบแทนของกรรมการทั้งหลาย ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการซึ่งเคยเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดนั้น ร่างมาตรา 18 ก็กำหนดไว้ว่าจะต้องได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่ขณะดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด

                   
       นอกจากนี้แล้ว เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
       เป็นไปอย่างเรียบร้อย ต่อเนื่องและเป็นระบบ ในร่างมาตรา 19 ได้กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นส่วนราชการในกระทรวงการคลังที่ไม่มีฐานะเป็นกรม ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่รับผิดชอบในงานเลขานุการของคณะกรรมการและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด หน่วยงานดังกล่าวมีเลขาธิการซึ่งมีฐานะเป็นอธิบดีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างของสำนักงาน ส่วนการได้มาซึ่งเลขาธิการนั้น ร่างมาตรา 19 วรรคท้าย กำหนดให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี


                   
       (4.4) การเลือกรัฐวิสาหกิจมาทำการแปรรูป ข้อบกพร่องที่สำคัญของการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจก็คือ การขาดเกณฑ์ในการเลือกรัฐวิสาหกิจที่จะมาแปลงทุนเป็นหุ้นเพื่อทำการแปรรูปต่อไป การขาดเกณฑ์ในลักษณะ ดังกล่าวเป็นเหตุให้อำนาจในการเลือกอยู่ที่ฝ่ายบริหารโดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลในการเลือก

                   
       ร่างมาตรา 6 วรรคสอง และร่างมาตรา 7 ได้มอบอำนาจ "อย่างจำกัด" ให้กับคณะรัฐมนตรีในการ "เลือก" รัฐวิสาหกิจที่จะมาทำการแปรรูป โดยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะกระทำได้เฉพาะในกิจการที่มิใช่เป็นการจัดทำบริการสาธารณะระดับชาติหรือกิจการที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะทำได้ก็แต่เฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ปรากฏชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อแนบท้ายพระราชบัญญัติและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติเท่านั้น


                   
       (4.5) ขั้นตอนในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ร่างมาตรา 15 แห่งร่างพระราชบัญญัติ
       แปรรูปรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ได้กำหนดถึงอำนาจหน้าที่หลักของคณะกรรมการแปรรูป รัฐวิสาหกิจไว้สองประการ ซึ่งอำนาจหน้าที่หลักทั้งสองประการนี้เกี่ยวข้องกับขั้นตอนในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ร่างกฎหมายกำหนดให้มีสองขั้นตอน คือ ขั้นตอนในการศึกษาความเป็นไปได้ก่อนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และขั้นตอนในกระบวนการเพื่อแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
       


                   
       (4.5.1) ขั้นตอนในการศึกษาความเป็นไปได้ก่อนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
       แม้ในร่างพระราชบัญญัติจะกำหนด "รายชื่อ" ของรัฐวิสาหกิจที่จะต้องแปรรูปไว้แล้วก็ตาม แต่รายชื่อเหล่านั้นก็เป็นเพียง "กรอบ" กว้าง ๆ ของรัฐวิสาหกิจที่จะต้องถูกแปรรูป การแปรรูป รัฐวิสาหกิจอย่างแท้จริงจะต้อง เริ่มต้น ด้วย "การศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ" เพื่อให้ได้ ข้อยุติว่าควรหรือไม่ควรที่จะทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น และหากควรแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป

                   
        ขั้นตอนในการศึกษาความเป็นไปได้ก่อนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจึงมีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์สำคัญ คือ ศึกษาว่ารัฐวิสาหกิจสมควรแปรรูปหรือไม่ โดยขั้นตอนจะเริ่มจากในร่างมาตรา 20 ที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกรัฐวิสาหกิจที่เห็นสมควรแปรรูปจากบัญชีรายชื่อรัฐวิสาหกิจแนบท้ายร่างพระราชบัญญัติ แล้วแจ้งรายชื่อของรัฐวิสาหกิจนั้นไปที่ คณะกรรมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมีหน้าที่ในส่วนนี้ก็คือ เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกและมอบหมายให้หน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นกลางและมีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น โดยคณะกรรมการจะเป็นผู้กำหนดประเด็นในการศึกษาซึ่งอย่างน้อยจะต้องประกอบด้วย การศึกษาวิเคราะห์ผลดีและผลเสียของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น ดังที่บัญญัติไว้ในร่างมาตรา 21 หลังจากได้รับมอบหมายแล้วหน่วยงานหรือองค์กรดังกล่าวจะต้องทำการศึกษาให้เสร็จภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นสมควรให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นตามที่บัญญัติไว้ในร่างมาตรา 23 ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวคณะกรรมการอาจมีมติให้ขยายได้โดยต้องได้รับความเห็นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย เมื่อหน่วยงานหรือองค์กรดังกล่าวทำการศึกษาเสร็จแล้ว ร่างมาตรา 22 ได้กำหนดให้มีการจัดทำผลการศึกษาเป็นบันทึกรายงานอันประกอบด้วยสาระสำคัญ คือ ผลดีผลเสียของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชน ผลกระทบต่อเอกชน ผู้ประกอบธุรกิจในลักษณะเดียวกันกับกิจการที่จะแปรรูป และข้อเสนอแนะในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อยกเลิกการผูกขาดทางการค้าและกระตุ้นให้มีการแข่งขันในตลาด โดยหน่วยงานหรือองค์กรนั้นจะต้องเสนอผลการศึกษาดังกล่าวข้างต้นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา

                   
        เมื่อได้รับรายงานศึกษาความเป็นไปได้ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจากหน่วยงานหรือองค์กรที่คณะกรรมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจได้มอบหมายให้ไปทำแล้ว ร่างมาตรา 24 วรรคสองถึงวรรคสี่ กำหนดให้คณะกรรมการมีหน้าที่ 3 ประการ คือ
       


                   
        (ก) จัดทำความเห็นประกอบบันทึกรายงานดังกล่าวถึงความเหมาะสมหรือไม่ของการดำเนินการตามข้อเสนอของหน่วยงานหรือองค์กรที่ได้รับมอบหมายให้ทำการศึกษา แล้วเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา


                   
        (ข) จัดพิมพ์เผยแพร่บันทึกรายงานของหน่วยงานหรือองค์กรและความเห็นของคณะกรรมการตามวรรคสองเพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงข้อมูลดังกล่าวโดยผ่านทางสื่อสารสารสนเทศที่เหมาะสมหรือโดยวิธีการทางอิเลคทรอนิกส์อื่นใด เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและแสดงความคิดเห็นได้โดยสะดวก โดยประชาชนไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการใช้ระบบปกติ


                   
        (ค) เสนอรายงานของหน่วยงานหรือองค์กรและความเห็นของคณะกรรมการดังกล่าวข้างต้นต่อรัฐสภาเพื่อทราบ
       

                   
        นอกจากนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ประโยชน์ของประชาชน
       และประโยชน์ของรัฐ
ร่างมาตรา 25 ยังได้บัญญัติไว้ว่า หากมีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจซึ่งอาจกระทบต่อคุณภาพหรือเป้าหมายของการจัดทำบริการสาธารณะโดยรัฐอันจำเป็นเพื่อบริการแก่ประชาชนและสมควรที่จะ "รับฟัง" ความคิดเห็นของรัฐสภา นายกรัฐมนตรีอาจแจ้งไปยังประธานรัฐสภาเพื่อขอให้มีการอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ โดยรัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้ ขั้นตอนรับฟังความเห็นของรัฐสภานี้ มีขึ้นก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะตัดสินใจว่าเห็นควรหรือไม่เห็นควรแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามที่คณะกรรมการได้เสนอมาดังที่บัญญัติไว้ในร่างมาตรา 26 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ เพื่อให้ตัวแทนประชาชนมีโอกาสแสดงความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่งต่อการที่ฝ่ายบริหารจดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นต่อไป แต่อย่างไรก็ดี การตัดสินใจที่จะแปรรูปหรือไม่แปรรูปรัฐวิสาหกิจใดนั้นก็ยังคงเป็นสิ่งที่อยู่ในอำนาจของคณะรัฐมนตรีตามที่ได้บัญญัติไว้ในร่างมาตรา 26 ว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาบันทึกรายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ความเห็นของคณะกรรมการและความเห็นของรัฐสภาแล้ว หากคณะรัฐมนตรีเห็นควรให้ทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น ก็ให้แจ้งให้คณะกรรมการทราบเพื่อดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นต่อไป แต่หากคณะรัฐมนตรีมีมติไม่แปรรูปรัฐวิสาหกิจใด ก็ให้ยุติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น

                   
        จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า กระบวนการศึกษาความเป็นไปได้ก่อนการ
       แปรรูปรัฐวิสาหกิจซึ่งมีอยู่หลายขั้นตอนจะทำให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างถูกต้อง มีเหตุมีผล เป็นระบบ มีความโปร่งใสและถูกตรวจสอบได้


                   
        (4.5.2) ขั้นตอนในกระบวนการเพื่อแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หลังจากที่ผ่านการ
       ศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบจากผู้เชี่ยวชาญถึงความเป็นไปได้ของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายการเมือง คือ คณะรัฐมนตรีให้ทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจใดแล้ว ร่างมาตรา 27 ก็ได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แจ้งไปยังคณะกรรมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจถึงการตัดสินใจของตนเพื่อให้คณะกรรมการทราบและเพื่อดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่อไป

                   
       มีสิ่งที่คณะกรรมการต้องดำเนินการอยู่มาก โดยในเบื้องต้นนั้นคณะกรรมการ
       จะต้องพิจารณากำหนดรูปแบบที่จะทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก่อน หากคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ควรแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด
       ก็จะต้องดำเนินการตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัตินี้ แต่ถ้าหากคณะกรรมการ
       พบว่า สมควรแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจไปเป็น "องค์กรมหาชนทางเศรษฐกิจ" หรือเป็น "หน่วยงานอื่นของรัฐ" คณะกรรมการก็จะต้องแจ้งความเห็นดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งหากในขณะนั้นมีกฎหมายกลางว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรมหาชนทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว คณะรัฐมนตรีก็จะไปดำเนินการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจนั้นให้เป็นองค์การมหาชนทางเศรษฐกิจตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในกฎหมายต่อไป แต่หากยังไม่มี คณะรัฐมนตรีก็สามารถยกร่างกฎหมายดังกล่าวหรือยกร่างกฎหมายเฉพาะเพื่อแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจไปเป็นองค์กรมหาชนทางเศรษฐกิจหรือเป็นหน่วยงานอื่นของรัฐต่อไป

                   
       ส่วนในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ควรทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในรูปแบบของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดตามร่างมาตรา 28 (1) คณะกรรมการมีภารกิจที่ต้องดำเนินการหลายประการดังที่ได้บัญญัติไว้ในร่างมาตรา 28 เช่น กำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการในการประเมินมูลค่าของรัฐวิสาหกิจที่จะทำการแปรรูป เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการกำหนดราคาหุ้น กำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการในการแปรสภาพสัญญาต่าง ๆ ของรัฐวิสาหกิจที่จะทำการแปรรูปได้เป็นคู่สัญญาอยู่ กำหนดวิธีการขายหุ้น กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาดทางการค้าในกิจการที่แปรรูป รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์ในการโอนอสังหาริมทรัพย์ สิทธิ หน้าที่ และพนักงานของรัฐวิสาหกิจไปยังบริษัท เป็นต้น ส่วนในร่างมาตรา 25 ก็กำหนดถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการในการประเมินมูลค่าของรัฐวิสาหกิจซึ่งต้องมีการแต่งตั้งสำนักงานผู้ตรวจสอบบัญชีและที่ปรึกษาธนาคารให้เข้ามาช่วยทำการศึกษาและวิเคราะห์สถานะโดยรวมของรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะสถานะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจที่จะทำการแปรรูป เมื่อคณะกรรมการดำเนินการต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในร่างมาตรา 29 ถึงร่างมาตรา 31 เสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการจะต้องดำเนินการตามร่างมาตรา 32 คือ เสนอผลการประเมินไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นผู้กำหนดมูลค่าหรือราคาของรัฐวิสาหกิจในขั้นสุดท้าย โดยร่างมาตราดังกล่าวได้สร้างหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนไว้ด้วยว่า การโอนรัฐวิสาหกิจในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าของรัฐวิสาหกิจนั้น หรือต่ำกว่ามูลค่าที่คณะกรรมการได้ประเมินไว้ หรือการโอนรัฐวิสาหกิจที่อาจมีผลเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของประเทศชาติหรือประโยชน์สาธารณะซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้งจะกระทำมิได้

                   
       เมื่อคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในการกำหนดมูลค่าหรือราคาของรัฐวิสาหกิจที่จะ
       ทำการแปรรูปดังกล่าวไปแล้ว ร่างมาตรา 33 กำหนดว่าให้ถือว่ากฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นอันยกเลิกไปโดยผลของร่างพระราชบัญญัตินั้นตามเงื่อนเวลาที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งจะต้องไม่เกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในการกำหนดมูลค่าหรือราคาของรัฐวิสาหกิจตามร่างมาตรา 32

                   
       สำหรับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพนักงานของรัฐวิสาหกิจนั้น ในวันที่กฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจยกเลิกไป ร่างมาตรา 33 วรรคสอง กำหนดให้พนักงานโอนไปเป็นลูกจ้างของบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่โดยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และให้พนักงานได้รับเงินเดือน ค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่เดิม กับให้ถือว่าเวลาในการทำงานของพนักงานในรัฐวิสาหกิจเดิมเป็นเวลาการทำงานในบริษัทโดยไม่ถือว่าการเปลี่ยนสภาพจากรัฐวิสาหกิจเดิมเป็นบริษัทนั้นเป็นการเลิกจ้าง ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับพนักงานของรัฐวิสาหกิจเดิมที่เปลี่ยนสภาพไปเป็นบริษัทนั้น ร่างมาตรา 33 วรรคสาม กำหนดให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นยังคงอยู่ต่อไปโดยให้บริษัทมีฐานะเป็นนายจ้างแทนรัฐวิสาหกิจเดิม

                   
       เนื่องจากกระบวนการที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดข้างต้น มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์
       กับทรัพย์สินจำนวนมหาศาลของประเทศชาติ
และเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์จำนวนมาก เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในทุกขั้นตอน ร่างมาตรา 34 จึงได้กำหนดให้คณะกรรมการต้อง จัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องที่สามารถเปิดเผยได้ตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการทางสื่อสารสารสนเทศ และจัดให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นในกระบวนการต่าง ๆ ทั้งหมดด้วย


                   
        (4.6) การดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ
       ในการกำหนดมูลค่าหรือราคาของรัฐวิสาหกิจดังที่ได้กล่าวไปแล้วในหัวข้อก่อนหน้านี้ ร่างมาตรา 35 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้คณะกรรมการทราบเพื่อดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่อไป
       

                   
       ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น ร่างมาตรา 36 ได้กำหนดวิธีการไว้ 5 วิธีการ
       ด้วยกัน คือ การโอนหุ้น การแลกเปลี่ยนหุ้นของรัฐวิสาหกิจที่จะทำการแปรรูปกับหุ้นกู้ด้อยสิทธิ การสละสิทธิในการเข้าชื่อซื้อหุ้นเพิ่มทุนก่อนหรือการขายสิทธิดังกล่าว การเพิ่มทุนโดยการแลกเปลี่ยนกับการนำหุ้นหรือสินทรัพย์มาลงหุ้น และการออกหุ้นกู้ หรือหุ้นกู้ไม่ว่าจะนำมาซึ่งสิทธิ ใด ๆ หรือไม่ในทุนของรัฐวิสาหกิจ การดำเนินการตามวิธีการทั้ง 5 ประการดังกล่าว อาจทำโดยผ่านหรือไม่ผ่านกระบวนการของตลาดหลักทรัพย์ก็ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในร่างมาตรา 37 แต่อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะมีการดำเนินการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนตามกระบวนการของตลาดหลักทรัพย์ ร่างมาตรา 38 ก็ได้กำหนดให้คณะกรรมการออกประกาศกำหนดเงื่อนไขของการเสนอขายหุ้นของรัฐวิสาหกิจแห่งนั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน รวมทั้งรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการดังกล่าวให้สาธารณชนทราบด้วย
       

                   
        (4.7) สิทธิประโยชน์ของพนักงาน เพื่อให้พนักงานรัฐวิสาหกิจมีส่วนร่วมในการ
       ปรับปรุงและเร่งพัฒนาศักยภาพขององค์กรใหม่ที่เกิดขึ้น จึงกำหนดให้พนักงานรัฐวิสาหกิจมีส่วน "เป็นเจ้าของ" รัฐวิสาหกิจด้วย โดยร่างมาตรา 39 ได้กำหนดไว้ว่า คณะกรรมการอาจประกาศกำหนดให้มีการเสนอขายหุ้นบางส่วนให้แก่พนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจที่จะทำการแปรรูปได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของทุนที่จะทำการโอนไปยังบริษัทที่จะเกิดจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น หรือคณะกรรมการอาจกำหนดให้มีส่วนลดในราคาหุ้นดังกล่าวได้ แต่จะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของราคาหุ้นต่ำสุดที่เสนอขายแก่ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้น

                   
       ในการซื้อหุ้นของพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจดังกล่าวนี้ พนักงานและ
       ลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจอาจชำระเงินค่าหุ้นเป็นรายงวดได้ แต่จะต้องไม่เกินกว่า 3 ปีนับแต่วันที่มีการจัดตั้งบริษัท และเมื่อพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจได้เข้าชื่อซื้อหุ้นไปแล้ว ห้ามมิให้โอนหุ้นที่ได้มาดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี และก่อนที่จะได้ชำระค่าหุ้นครบถ้วนแล้ว


       
       



       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2547


       



            
        (4.8) มาตรการคุ้มครองประโยชน์ของรัฐ ภารกิจต่าง ๆ ที่รัฐวิสาหกิจจัดทำ
       ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นบริการสาธารณะ ดังนั้น เมื่อมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รัฐจึงจำเป็นต้องมีมาตรการบางประการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของรัฐ ซึ่งก็จะส่งผลต่อการปกป้องประโยชน์ของเอกชนด้วย มาตรการดังกล่าวมีหลายประการด้วยกัน

                   
       ในประการแรกนั้น เป็นกรณีเกี่ยวกับการขายหุ้นของรัฐวิสาหกิจ โดยร่าง
       มาตรา 40 ได้กำหนดให้เงินรายได้จากการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินเพื่อสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำบริการสาธารณะ เหตุที่ต้องกำหนดไว้เช่นนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้ฝ่ายบริหารนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นของรัฐวิสาหกิจไปใช้ทางอื่น และเพื่อให้การขายหุ้นรัฐวิสาหกิจนั้นเกิดประโยชน์ต่อประชาชนต่อไปด้วยการนำเงินเหล่านั้นไปไว้ในงบประมาณแผ่นดินที่ใช้เฉพาะในการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนต่อไป ส่วนในประการที่สองนั้น เมื่อมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่จัดทำบริการสาธารณะไปเป็นบริษัท และบริษัทดังกล่าวยังดำเนินกิจการที่มีลักษณะเป็นบริการสาธารณะอยู่ เพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของรัฐและประโยชน์ของเอกชนผู้บริโภค ในร่างมาตรา 41 จึงได้กำหนดให้มีการนำเอาระบบ "หุ้นทอง" ดังเช่นที่ใช้ในประเทศฝรั่งเศสและประเทศอังกฤษ เมื่อมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจใหม่ ๆ มาใช้โดยเรียกว่า "หุ้นที่มีลักษณะพิเศษ" หุ้นที่มีลักษณะพิเศษนี้จะเป็นหุ้นที่ให้อำนาจหรือสิทธิพิเศษแก่รัฐในกิจการได้แปรรูปไปแล้ว โดยหากแม้ว่ารัฐมีหุ้นทองแต่เพียงหุ้นเดียว แต่รัฐก็มีสิทธิมากกว่าผู้ถือหุ้นทุกรายในการดำเนินการต่างๆ ที่กำหนดไว้ในร่างมาตรา 42 คือ รัฐมีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนของรัฐเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารกิจการนั้นโดยไม่มีสิทธิออกเสียงใด ๆ แต่สามารถแจ้งข้อมูลต่าง ๆ ของรัฐที่เกี่ยวกับแนวทางในการประกอบกิจการนั้นได้ รัฐมีอำนาจคัดค้านในกรณี ที่มีการโอนสินทรัพย์หรือใช้สินทรัพย์ของกิจการนั้น เพื่อการค้ำประกันใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่กิจการนั้นได้ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของกิจการนั้น และรัฐมีอำนาจคัดค้านการขึ้นราคาค่าบริการที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน หรือคัดค้านการดำเนินการใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือต่อความมั่นคงของรัฐ โดยในร่างมาตรา 41 ได้กำหนดให้รัฐสามารถแปลงสภาพหุ้นสามัญของรัฐจำนวนหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษได้โดยการตราเป็นพระราช กฤษฎีกาได้ และเมื่อใดที่หากเหตุแห่งความจำเป็นในการคุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐหรือการดำเนินการต่าง ๆ ที่จำเป็นหมดไป หรือเมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลดังที่จะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า รัฐก็สามารถตราพระราชกฤษฎีกาแปลงหุ้นที่มีลักษณะพิเศษเป็นหุ้นสามัญได้ หุ้นที่มีลักษณะพิเศษเช่นว่านี้ถือเป็น "เครื่องมือ" สำคัญของรัฐในการปกป้องประโยชน์ของรัฐและของประชาชนมิให้ได้รับความเดือดร้อนหรือประสบปัญหายุ่งยากจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ส่วนในประการที่สามนั้น เป็นเรื่องสัดส่วนในการถือหุ้นของคนต่างชาติในรัฐวิสาหกิจที่มีการแปรรูปที่มักจะมีผู้กล่าวอ้างอยู่เสมอ ๆ ว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจคือการขายชาติให้คนต่างด้าว เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ร่างมาตรา 44 ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า บุคคลธรรมดาซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย นิติบุคคลต่างชาติรวมทั้งนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้การควบคุมของต่างชาติจะถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจที่ได้แปรรูปไปแล้วได้ไม่เกินร้อยละ 20 แห่งทุนของรัฐวิสาหกิจที่จะทำการโอน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในร่างมาตราดังกล่าว และนอกจากนี้ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของรัฐ ร่างมาตรา 44 วรรคสอง ยังได้กำหนดไว้อีกว่า ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของรัฐ คณะรัฐมนตรีอาจมีมติให้ลดอัตราการถือครองหุ้นของต่างชาติดังกล่าวลงได้อีก และในกรณีนี้หากต่างชาติเข้าถือครองหุ้นเกินจำนวนร้อยละ 20 แห่งทุนของรัฐวิสาหกิจ มาตรา 45 ก็ได้กำหนดมาตรการป้องกันไว้ว่าผู้รับโอนหุ้นที่เกินจำนวนดังกล่าวไม่สามารถใช้สิทธิออกเสียง ของตนในหุ้นที่ตนรับมาโดยมิชอบนั้นได้ และจะต้องโอนหุ้นดังกล่าวนั้นภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รัฐมนตรีแจ้งไปยังประธานกรรมการบริษัทที่เกิดจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเกี่ยวกับการโอนหุ้นที่มิชอบนั้น และให้ประธานกรรมการบริษัทแจ้งเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นต่อไป หากภายใน 3 เดือนแล้วยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ก็ให้มีการดำเนินการขายหุ้นในส่วนที่เกินนั้นโดยการบังคับตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา


       
                   
        (4.9) การกำกับดูแลบริษัทที่เกิดจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การแปรรูป
       รัฐวิสาหกิจเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ก่อนที่จะมีการดำเนิน
       การแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามร่างพระราชบัญญัตินี้ สมควรที่จะมีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลกิจการที่จะแปรรูปก่อน โดยองค์กรกำกับดูแลที่จะจัดตั้งขึ้นมานี้จะต้องจัดตั้งขึ้นหลายองค์กรแยกเป็นรายสาขาให้สอดคล้องกับสาขาของรัฐวิสาหกิจที่ปรากฏตามบัญชีรายชื่อแนบท้ายร่างพระราชบัญญัติ

                   
       ร่างมาตรา 46 ได้จัดตั้ง "คณะกรรมการกำกับดูแล" และกำหนดถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการกำกับดูแลเอาไว้ ส่วนในร่างมาตรา 47 ก็ได้กำหนดถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแล ทั้ง 2 ร่างมาตรานี้ถือได้ว่าเป็น "กรอบ" ที่ชี้แนะให้เห็นว่า องค์กรกำกับดูแลที่จะจัดตั้งขึ้นควรจะมีโครงสร้างและอำนาจหน้าที่เช่นไร

                   
       เหตุผลที่สมควรจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลก่อนที่จะมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
       ก็เพื่อให้องค์กรเหล่านั้นเข้ามาทำหน้าที่แทนรัฐในการ "กำกับดูแล" รัฐวิสาหกิจที่จะแปรรูปไปเป็นเอกชน และหน้าที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการต่อไปของรัฐวิสาหกิจที่แปรรูป เช่น การให้ใบอนุญาตหรือการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ การกำหนดอัตราค่าบริการ คุณภาพ บริการ และการลงโทษผู้ประกอบการที่ไม่ทำตามเงื่อนไขและก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชน
       

                   
       สาระสำคัญทั้ง 9 ประการดังกล่าวไปแล้วปรากฏอยู่ในร่างพระราชบัญญัติการแปรรูป
       รัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้


       
       



       ร่าง

       พระราชบัญญัติ

       การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

       พ.ศ. ....


       


       
       บันทึกหลักการและเหตุผล

       ประกอบร่างพระราชบัญญัติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

       พ.ศ. ….


       
       



       หลักการ


       ให้มีกฎหมายว่าด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ


       เหตุผล


       

                   
       เพื่อให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นไปอย่างมีระบบ มีความโปร่งใสในการดำเนินการ
       เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนภายใต้กระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเดียวกัน สมควรมีกฎหมายกลางเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อเป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้สำหรับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกแห่งที่ปรากฏรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


       
       



       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2547


       



ร่าง

       พระราชบัญญัติ

       การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

       พ.ศ. ....

       

       .................................

       .................................

       .................................

       

                   
       ...................................................................................................................

                   
       ..................................................................
       

                   
       โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

                   
       พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา .. มาตรา .. และมาตรา .. ของรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

                   
       ...................................................................................................................

                   
       .......................................................................................................

       

                   
       มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
       พ.ศ. …."
       


                   
       มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจา
       นุเบกษาเป็นต้นไป
       


                   
       มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542
       


                   
       มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

                   
       "รัฐวิสาหกิจ" หมายความว่า รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

                   
       "บริษัท" หมายความว่า บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด

                   
       "พนักงาน" หมายความว่า พนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ และให้หมายความ
       รวมถึงผู้ว่าการ ผู้อำนวยการ ผู้จัดการ เลขาธิการ และบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่
       เช่นเดียวกันกับตำแหน่งดังกล่าวด้วย

                   
       "คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

                   
       "กรรมการ" หมายความว่า กรรมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

                   
       "สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

                   
       "เลขาธิการ" หมายความว่า เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

                   
       "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่จะทำการแปรรูป
       


                   
       มาตรา 5 ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


       
       

หมวด 1

       บททั่วไป

       

       


                   
       มาตรา 6 รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐในการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ โดยมุ่งเน้นถึงการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกประเภทที่จัดตั้งโดยกฎหมายมหาชนจะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา

                   
       การแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะกระทำได้แต่เฉพาะในกิจการที่มิใช่เป็นการจัดทำบริการสาธารณะระดับชาติ หรือกิจการเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ และในกรณีที่ไม่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น การดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งให้กระทำตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ โดยจะต้องมีการกำหนดวันเสร็จสิ้นการทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไว้ด้วย

                   
       ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดประเภทของรัฐวิสาหกิจที่จะทำการแปรรูปว่าเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดทำบริการสาธารณะระดับชาติหรือเป็นกิจการเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย


                   
       มาตรา 7 คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามบัญชีรายชื่อแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามบัญชีรายชื่อแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้ จะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในเวลาห้าปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

                   
       ในกรณีที่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามบัญชีรายชื่อแนบท้ายพระราชบัญญัติไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในวรรคสอง คณะรัฐมนตรีอาจขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปได้อีกไม่เกินสองปี โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
       


                   
       มาตรา 8 การแปรรูปรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งต้องคำนึงถึงหลักการดังต่อไปนี้

                   
       (1) การคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค

                   
       (2) ความโปร่งใสในทุกขั้นตอนของกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

                   
       (3) การตรวจสอบและการประเมินผลการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกขั้นตอน

                   
       (4) การเปิดเผยข้อมูลและการรายงานผลการดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่อ
       สาธารณะอย่างเปิดเผยและสม่ำเสมอ

                   
       

หมวด 1

       คณะกรรมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
       

       

       


                   
       มาตรา 9 เพื่อให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นไปโดยโปร่งใส มีขั้นตอนในการดำเนินการอย่างเป็นระบบและเพื่อปกป้องประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ" ประกอบด้วย

                   
       (1) ตุลาการศาลปกครองสูงสุดซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมีมติ
       เลือก เป็นประธานกรรมการ

                   
       (2) กรรมการโดยตำแหน่งจำนวนสามคน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และเลขาธิการคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

                   
       (3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหกคน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้าน
       การเงินการคลัง ด้านกฎหมาย และด้านเศรษฐกิจ ด้านละหนึ่งคน โดยให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านละสองคน การเสนอชื่อต้องได้รับความยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อนั้น และให้วุฒิสภามีมติเลือกบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อซึ่งต้องกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับให้เหลือด้านละหนึ่งคน โดยผู้ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละด้านและมีคะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภาเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการ

                   
       กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อยสามคนต้องเป็นผู้ทำงานเต็มเวลา

                   
       ให้ประธานวุฒิสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและ
       กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง

                   
       ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง และให้เลขาธิการแต่งตั้งผู้ช่วย
       เลขานุการตามความจำเป็น

                   
       การได้รับเลือกตาม (1) ให้ถือว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดผู้นั้นได้รับอนุมัติจาก ก.ศป. ตามมาตรา 14 (5) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ด้วย

                   
       ในระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการตาม (1) ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด และเมื่อพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการตาม (1) แล้ว ให้ผู้นั้นกลับเข้ารับราชการเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดต่อไป เสมือนมิได้พ้นจากตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด
       


                   
       มาตรา 10 กรรมการต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

                   
       (1) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

                   
       (2) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

                   
       (3) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับ
       ความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

                   
       (4) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
       กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง

                   
       (5) เป็นหรือภายในระยะเวลาสามปีก่อนวันได้รับแต่งตั้งเคยเป็นกรรมการหรือ
       ผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้เสียในนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุน หรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจที่จะแปรรูป

                   
       (6) เป็นกรรมการหรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการกิจการของผู้รับโอนหุ้น
       หรือบริษัทผู้รับโอนหุ้นรายใด อันมีลักษณะทำให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของผู้รับโอนหุ้นหรือบริษัท
       ผู้รับโอนหุ้นรายนั้น
       


                   
       มาตรา 11 ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละห้าปี

                   
       นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

                   
       (1) ตาย

                   
       (2) ลาออก

                   
       (3) มีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 10

                   
       (4) วุฒิสภามีมติตามมาตรา 307 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้ถอด
       ถอนออกจากตำแหน่ง

                   
       (5) มิได้ดำเนินการตามมาตรา 12 ภายในกำหนดระยะเวลาที่คณะกรรมการป้องกัน
       และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนด
       


                   
       มาตรา 12 นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งและภายในระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง ประธาน
       กรรมการและกรรมการแต่ละคนต้องแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติทราบเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพ การดำรงตำแหน่งอื่นใด หรือการเป็นตัวแทนใด ๆ ของตน ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนด

                   
       ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ใดไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ครบกำหนดต้องแจ้ง
       


                   
       มาตรา 13 ภายในระยะเวลาห้าปีหลังพ้นจากตำแหน่ง ประธานกรรมการและ
       กรรมการต้องไม่กระทำการดังต่อไปนี้

                   
       (1) ดำรงตำแหน่งใดในคณะกรรมการบริหารของบริษัทที่รับโอนหุ้นที่รัฐเคยถืออยู่
       หรือกระทำการใดที่เป็นการให้บริการแก่บริษัทดังกล่าวไม่ว่าจะมีหรือไม่มีค่าตอบแทนก็ตาม

                   
       (2) ซื้อหุ้นหรือรับโอนหุ้นของบริษัทที่รับโอนหุ้นที่รัฐเคยถืออยู่
       


                   
       มาตรา 14 การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

                   
       ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

                   
       ในการปฏิบัติหน้าที่ ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียโดยตรงหรือ
       โดยอ้อมในเรื่องที่คณะกรรมการพิจารณา ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้นั้นแจ้งให้ที่ประชุม
       ทราบและให้ที่ประชุมพิจารณาว่ากรรมการผู้นั้นสมควรจะอยู่ในที่ประชุมและหรือมีมติในการประชุมเรื่องนั้นได้หรือไม่ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

                   
       การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
       


                   
       มาตรา 15 คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่หลักสองประการดังต่อไปนี้

                   
       (1) อำนาจหน้าที่ในการศึกษาความเป็นไปได้ก่อนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

                   
       (2) อำนาจหน้าที่ในกระบวนการเพื่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
       


                   
       มาตรา 16 คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือ
       ปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้

                   
       การประชุมคณะอนุกรรมการ ให้นำมาตรา 14 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
       


                   
       มาตรา 17 ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการมีอำนาจเรียกข้อมูลหรือเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการประกอบกิจการและสถานะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจจากผู้สอบบัญชีของรัฐวิสาหกิจใด ๆ ที่จะดำเนินการแปรรูปได้ และผู้สอบบัญชีจะยกเรื่องความลับในการประกอบวิชาชีพขึ้นเป็นข้อต่อสู้คณะกรรมการไม่ได้
       


                   
       มาตรา 18 ให้ประธานกรรมการ กรรมการ หรือกรรมการผู้ทำงานเต็มเวลาได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์อื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา โดยในกรณี ผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการจะต้องได้รับไม่น้อยกว่าเงินเดือนและค่าตอบแทนหรือประโยชน์อื่นที่เคยได้รับอยู่ในขณะดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด
       


                   
       มาตรา 19 ให้มีสำนักงานคณะกรรมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจขึ้นเป็นส่วนราชการใน
       กระทรวงการคลังซึ่งไม่มีฐานะเป็นกรมตามมาตรา 18 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบ
       บริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ
       แผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546 ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีเพื่อรับผิดชอบในงานเลขานุการของคณะกรรมการ และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการกำหนดโดยมีเลขาธิการซึ่งมีฐานะเป็นอธิบดีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างของสำนักงาน

                   
       ให้เลขาธิการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญหรือไม่ใช่ข้าราชการพลเรือนก็ได้ ซึ่งการแต่งตั้งให้นายกรัฐมนตรีนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ

                   
       ในกรณีที่เลขาธิการไม่ใช่ข้าราชการพลเรือน ให้แต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ความชำนาญ
       และมีประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในการบริหารหรือด้านเศรษฐศาสตร์ หรือการเงินการคลัง

                   
       หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการตามวรรคสาม ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี


       
       

หมวด 3
       

       การศึกษาความเป็นไปได้ก่อนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
       

       

       


                   
       มาตรา 20 ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นสมควรให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจใดตามบัญชีรายชื่อแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งมติดังกล่าวไปยังคณะกรรมการเพื่อที่คณะกรรมการจะได้มอบหมายให้หน่วยงานหรือองค์กรอื่นใดที่เป็นกลางเป็นผู้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ต่อไป

                   
       หลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา และคุณสมบัติของผู้ทำการศึกษา เงื่อนไขในการศึกษา รวมทั้งประโยชน์ตอบแทน ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

                   
       


                   
       มาตรา 21 คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ก่อนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ดังต่อไปนี้

                   
       (1) พิจารณาคัดเลือกและมอบให้หน่วยงานหรือองค์กรอื่นใดที่เป็นกลางศึกษาความเป็นไปได้ของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามบัญชีรายชื่อแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นสมควรให้ทำการแปรรูป

                   
       (2) กำหนดประเด็นในการศึกษาความเป็นไปได้ก่อนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่ง
       อย่างน้อยจะต้องศึกษาวิเคราะห์ผลดีและผลเสียของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งให้ครบทุก
       ด้าน ขั้นตอนในการดำเนินการที่โปร่งใส และกลไกในตรวจสอบการดำเนินการในทุกขั้นตอน


                   
       มาตรา 22 หน่วยงานหรือองค์กรที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ให้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จะต้องจัดทำผลการศึกษาเป็นบันทึกรายงาน โดยในบันทึกรายงานดังกล่าวต้องประกอบด้วยสาระสำคัญดังต่อไปนี้

                   
       (1) ผลดีและผลเสียของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

                   
       (2) ผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชน

                   
       (3) ผลกระทบต่อเอกชนผู้ประกอบธุรกิจในลักษณะเดียวกับกิจการที่จะแปรรูปรัฐ
       วิสาหกิจ

                   
       (4) ข้อเสนอแนะในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อยกเลิกการผูกขาดทาง
       การค้าและกระตุ้นให้มีการแข่งขันในตลาด
       


                   
       มาตรา 23 การศึกษาความเป็นไปได้ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต้องกระทำให้เสร็จสิ้นภายในหกเดือนนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นสมควรให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นตามมาตรา 20 เว้นแต่จะได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาจากคณะกรรมการโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี
       


                   
       มาตรา 24 เมื่อหน่วยงานหรือองค์กรที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการให้
       ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการแปรรูป รัฐวิสาหกิจเสร็จตามสาระสำคัญที่กำหนดไว้ในมาตรา 22 แล้ว ให้หน่วยงานหรือองค์กรนั้นจัดทำผลการศึกษาเป็นบันทึกรายงานและเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา

                   
       ให้คณะกรรมการจัดทำความเห็นประกอบบันทึกรายงานดังกล่าวถึงความเหมาะสมหรือไม่ของการดำเนินการตามข้อเสนอของหน่วยงานหรือองค์กรที่ได้รับมอบหมายให้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น แล้วเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

                   
       ให้คณะกรรมการจัดพิมพ์เผยแพร่บันทึกรายงานของหน่วยงานหรือองค์กรตามวรรคแรกและความเห็นของคณะกรรมการตามวรรคสองเพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงข้อมูลดังกล่าว โดยผ่านทางสื่อสารสารสนเทศที่เหมาะสมหรือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและแสดงความคิดเห็นได้โดยสะดวกโดยประชาชนไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการใช้ระบบตามปกติ

                   
       ให้คณะกรรมการเสนอรายงานบันทึกและความเห็นดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรานี้ต่อรัฐสภาเพื่อทราบ

                   
       


                   
       มาตรา 25 ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจใดซึ่งอาจกระทบต่อคุณภาพหรือเป้าหมายของการจัดทำบริการสาธารณะโดยรัฐอันจำเป็นเพื่อบริการแก่ประชาชน และเป็นการสมควรที่จะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีอาจแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้
       


                   
       มาตรา 26 เมื่อคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาบันทึกรายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ความเห็นของคณะกรรมการและความเห็นอื่นที่เกี่ยวข้องแล้ว หากคณะรัฐมนตรีเห็นควรให้ทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้คณะกรรมการทราบเพื่อดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นต่อไป แต่ถ้าคณะรัฐมนตรีมีมติไม่แปรรูปรัฐวิสาหกิจใด ให้ยุติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น

                   
       การมีมติไม่อนุมัติให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามวรรคหนึ่งไม่มีผลเป็นการผูกพันคณะรัฐมนตรีที่จะมีมติเป็นอย่างอื่นในภายหลังที่จะทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแห่งนั้นใหม่ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงหรือแนวโน้มว่า การบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจแห่งนั้นหากมีการให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินกิจการจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการและเป็นการลดต้นทุนการบริหารโดยไม่ลดคุณภาพการจัดการบริการสาธารณะแก่ประชาชน


       

หมวด 4

       กระบวนการเพื่อแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

       

       


                   
       มาตรา 27 ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจใด ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้คณะกรรมการทราบเพื่อดำเนินการเตรียมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นต่อไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้
       


                   
       มาตรา 28 คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับการเตรียมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ดังต่อไปนี้

                   
       (1) กำหนดรูปแบบที่จะทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยอาจเลือกการแปรรูปรัฐ
       วิสาหกิจในรูปของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด หรืออาจเลือกการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ
       ไปเป็นองค์การมหาชนทางเศรษฐกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐก็ได้

                   
       ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นควรให้มีการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจไปเป็นองค์การมหาชนทางเศรษฐกิจหรือเป็นหน่วยงานของรัฐในรูปแบบอื่น ให้คณะกรรมการแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อดำเนินการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นองค์การมหาชนทางเศรษฐกิจตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การมหาชนเศรษฐกิจหรือเป็นหน่วยงานของรัฐในรูปแบบอื่นตามที่จะได้มีกฎหมายจัดตั้งเป็นการเฉพาะต่อไป

                   
       (2) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอนและวิธีการในการประเมินมูลค่าของรัฐ
       วิสาหกิจที่จะทำการแปรรูปและให้ความเห็นแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการกำหนดราคาหุ้นในกรณีจะทำการแปรรูปโดยผ่านตลาดหลักทรัพย์ หรือการกำหนดราคาที่จะทำการโอนในกรณี การโอนหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์

                   
       (3) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอนและวิธีการในการแปรสภาพสัญญาต่าง ๆ ที่รัฐวิสาหกิจที่จะทำการแปรรูปเป็นคู่สัญญาอยู่

                   
       (4) กำหนดวิธีการทางกฎหมายและการเงินเกี่ยวกับการโอนความเป็นเจ้าของหรือ
       การโอนหุ้นหรือเงื่อนไขการชำระเงิน

                   
       (5) กำหนดวิธีการขายหุ้นภายหลังการแปลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้น

                   
       (6) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาดทางการค้าในกิจการ
       ที่แปรรูป

                   
       (7) กำหนดเงื่อนไขต่างๆ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของรัฐอันเนื่องมาจากการแปรรูป
       รัฐวิสาหกิจ

                   
       (8) เสนอแก้ไขบทบัญญัติต่าง ๆ ที่จำกัดการได้มาหรือการโอนไปซึ่งสิทธิต่าง ๆ เหนือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง

                   
       (9) ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามพระราช
       บัญญัตินี้

                   
       (10) กำหนดการออกหุ้นในกิจการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในเบื้องต้นก่อนที่จะโอนขาย
       ให้เอกชนตามแผนการแปรรูป

                   
       (11) กำหนดหลักเกณฑ์ในการโอนอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ
       ของรัฐวิสาหกิจที่จะทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

                   
       (12) กำหนดหลักเกณฑ์ในการโอนย้ายพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจไปยัง
       กิจการที่แปรรูปโดยไม่มีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์เดิม

                   
       (13) พิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกภาระหน้าที่ระหว่างรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่เกิด
       ขึ้นและมีอยู่ อันเกี่ยวข้องกับการจัดทำบริการสาธารณะ

                   
       ในการกำหนดราคาหุ้นตาม (2) ให้คณะกรรมการกระทำโดยการจ้างที่ปรึกษา

                   
       หลักเกณฑ์และวิธีการจ้างที่ปรึกษาตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี


                   
       มาตรา 29 คณะกรรมการต้องจัดให้มีการประเมินมูลค่าของรัฐวิสาหกิจโดยในการประเมินมูลค่าของรัฐวิสาหกิจนั้น คณะกรรมการต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ อย่างน้อยดังต่อไปนี้ คือ มูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ มูลค่าสินทรัพย์ ผลประกอบการที่ผ่านมาของรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนแนวโน้มในอนาคตของรัฐวิสาหกิจที่จะทำการแปรรูปนั้นด้วย

                   
       เพื่อให้การประเมินมูลค่าของรัฐวิสาหกิจที่จะทำการแปรรูปกระทำไปด้วยความละเอียดรอบคอบและเป็นระบบ และให้ได้ผลการประเมินที่ถูกต้องสอดคล้องใกล้เคียงกับสถานะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจตามความเป็นจริงมากที่สุด ให้คณะกรรมการแต่งตั้งสำนักงานตรวจสอบบัญชีและที่ปรึกษาธนาคารให้เข้ามาช่วยทำการศึกษาและวิเคราะห์สถานะโดยรวมของรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะสถานะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจที่จะทำการแปรรูป

                   
       ให้สำนักงานตรวจสอบบัญชีทำหน้าที่หลักในการรวบรวม ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล
       หรือเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการประกอบกิจการ เอกสารทางบัญชีและการเงินของรัฐวิสาหกิจที่จะทำการแปรรูปตามหลักการทางบัญชี

                   
       ให้ที่ปรึกษาธนาคารทำการศึกษาหลักการในการประเมินมูลค่าของรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนให้คำแนะนำในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับวิธีการในการจำหน่ายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

                   
       การคัดเลือกสำนักงานตรวจสอบบัญชีและที่ปรึกษาธนาคารให้กระทำโดยการชี้ชวน
       ให้ผู้สนใจทำคำเสนอ โดยมีคณะกรรมการสรรหาซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งเป็นผู้ทำการคัดเลือก
       ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด


                   
       มาตรา 30 เมื่อได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์สถานะโดยรวมของรัฐวิสาหกิจที่จะทำการแปรรูปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้สำนักงานตรวจสอบบัญชีและที่ปรึกษาธนาคารจัดทำรายงานผลการดำเนินการของตนเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อทำการประเมินมูลค่าของรัฐวิสาหกิจอย่างเป็นทางการต่อไป

                   
       ให้คณะกรรมการจัดทำรายงานการประเมินมูลค่าของรัฐวิสาหกิจซึ่งจะต้องประกอบด้วยผลการดำเนินงานของสำนักงานตรวจสอบบัญชีและที่ปรึกษาธนาคาร รวมทั้งความเห็นของคณะกรรมการที่มีต่อผลการดำเนินงานของสำนักงานตรวจสอบบัญชีและที่ปรึกษาธนาคาร และข้อสรุปของการประเมินมูลค่าของรัฐวิสาหกิจของคณะกรรมการ

                   
       รายงานผลการประเมินตามวรรคสองจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน


                   
       มาตรา 31 ให้คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดกิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิด และสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่จะโอนไปกับรัฐวิสาหกิจที่จะทำการแปรรูป และส่วนที่จะให้ตกเป็นของรัฐ


                   
       มาตรา 32 ให้คณะกรรมการเสนอผลการประเมินตามมาตรา 29 ไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นผู้กำหนดมูลค่าหรือราคาของรัฐวิสาหกิจในชั้นสุดท้ายต่อไป

                   
       เมื่อคณะรัฐมนตรีได้รับรายงานการประเมินมูลค่ารัฐวิสาหกิจจากคณะกรรมการแล้ว
       ให้เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่จะเป็นผู้พิจารณาในชั้นสุดท้ายในการกำหนดมูลค่าหรือ ราคาของรัฐวิสาหกิจที่จะทำการแปรรูป ทั้งนี้ การโอนรัฐวิสาหกิจในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าของ รัฐวิสาหกิจนั้นหรือต่ำกว่ามูลค่าที่คณะกรรมการได้ประเมินไว้ หรือการโอนรัฐวิสาหกิจที่อาจมีผลเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของประเทศชาติหรือประโยชน์สาธารณะซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้ง จะกระทำมิได้


                   
       มาตรา 33 เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติในการกำหนดมูลค่าหรือราคาของรัฐวิสาหกิจ
       ที่จะทำการแปรรูปตามมาตรา 32 แล้ว ให้ถือว่ากฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นอันยกเลิกไปโดยผลของพระราชบัญญัตินี้ตามเงื่อนเวลาที่คณะรัฐมนตรีกำหนดในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งจะต้องไม่เกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในการกำหนดมูลค่าหรือราคาของรัฐวิสาหกิจตาม
       มาตรา 32 ในวันที่กฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจยกเลิกไปตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานรัฐวิสาหกิจที่ทำการแปรรูปโอนไปเป็นลูกจ้างของบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่โดยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และให้พนักงานได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ต่างๆไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่เดิม กับให้ถือว่าเวลาในการทำงานของพนักงานดังกล่าวในรัฐวิสาหกิจเดิมเป็นเวลาการทำงานในบริษัทโดยไม่ถือว่าการเปลี่ยนสภาพจากรัฐวิสาหกิจเดิมเป็นบริษัทนั้นเป็นการเลิกจ้าง

                   
       ให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับพนักงานของรัฐวิสาหกิจเดิมที่เปลี่ยนสภาพเป็นบริษัทยังคงอยู่ต่อไป โดยให้บริษัทมีฐานะเป็นนายจ้างแทนรัฐวิสาหกิจเดิม
       


                   
       มาตรา 34 ในระหว่างดำเนินกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจใด ให้คณะกรรมการจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องที่สามารถเปิดเผยได้ตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการทางสื่อสารสนเทศ และให้จัดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด


       

หมวด 5
       

       การดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
       

       

       


                   
       มาตรา 35 เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติในการกำหนดมูลค่าหรือราคาของรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 33 แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้คณะกรรมการทราบเพื่อดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นต่อไป ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้

                   
       


                   
       มาตรา 36 การแปรรูปรัฐวิสาหกิจอาจกระทำได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

                   
       (1) การโอนหุ้น

                   
       (2) การแลกเปลี่ยนหุ้นของรัฐวิสาหกิจที่จะทำการแปรรูปกับหุ้นกู้ด้อยสิทธิ

                   
       (3) การสละสิทธิในการเข้าชื่อซื้อหุ้นเพิ่มทุนก่อน หรือการขายสิทธิดังกล่าว

                   
       (4) การเพิ่มทุนโดยการแลกเปลี่ยนกับการนำหุ้นหรือสินทรัพย์มาลงหุ้น

                   
       (5) การออกหุ้นกู้ หรือหุ้นกู้ไม่ว่าจะนำมาซึ่งสิทธิใดๆ หรือไม่ในทุนของรัฐวิสาหกิจ
       


                   
       มาตรา 37 ในการดำเนินการตามมาตรา 36 ให้กระทำได้โดยวิธีการอย่างใด
       อย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างไปพร้อมกันในสัดส่วนที่คณะกรรมการเห็นสมควร ดังต่อไปนี้

                   
       (1) กระทำโดยผ่านกระบวนการของตลาดหลักทรัพย์

                   
       (2) กระทำนอกตลาดหลักทรัพย์โดยทำข้อตกลงกับกลุ่มผู้รับโอนหุ้น ถ้าคณะ
       กรรมการเห็นว่าเพื่อประโยชน์ในการสร้างความมั่นคงของกิจการที่แปรรูปแล้วให้ประกอบกิจการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

                   
       การคัดเลือกกลุ่มผู้รับโอนหุ้นตาม (2) และการทำข้อตกลง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
       และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และการคัดเลือกกลุ่ม ผู้รับโอนหุ้นจะต้องไม่กระทำในลักษณะที่เป็นการให้สิทธิพิเศษแก่กลุ่มผู้รับโอนหุ้นกลุ่มใด กลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ

                   
       เพื่อประโยชน์แห่ง (2) "กลุ่มผู้รับโอนหุ้น" หมายความว่า บุคคลธรรมดาหรือ
       นิติบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป กระทำการและผูกพันตนร่วมกันในการปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในข้อตกลงที่กระทำกับรัฐมนตรี และในกรณีของนิติบุคคลจะต้องไม่มีนิติบุคคลรายหนึ่งรายใดควบคุมนิติบุคคลอีกรายหนึ่งตามนัยที่กำหนดไว้ในมาตรา 42
       วรรคสองด้วย
       


                   
       มาตรา 38 ก่อนที่จะมีการดำเนินการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนตามกระบวนการของตลาดหลักทรัพย์ ให้คณะกรรมการออกประกาศกำหนดเงื่อนไขของการเสนอขายหุ้นของรัฐวิสาหกิจแห่งนั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน รวมทั้งรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้สาธารณชนทราบ ดังนี้

                   
       (1) จำนวนหุ้นที่จะทำการเสนอขาย

                   
       (2) ราคาสุทธิของแต่ละหุ้นที่จะทำการเสนอขาย

                   
       (3) รายงานสรุปความเห็นของคณะกรรมการ

                   
       (4) เงื่อนไขต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับคำสั่งซื้อ การชำระเงินค่าหุ้นบางส่วนโดย
       หุ้นกู้ของรัฐ กำหนดเวลาของคำเสนอขายหุ้น กำหนดชำระเงินค่าหุ้นโดยผู้รับโอนหุ้น วิธีการ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และการส่งมอบหุ้นที่ทำการเสนอขาย

                   
       (5) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโอนขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่รัฐเป็นผู้รับผิดชอบ

                   
       (6) เงื่อนไขอื่นอันเกี่ยวข้องกับการเสนอขายหุ้นซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าสาธารณชน
       ควรทราบ
       


                   
       มาตรา 39 เพื่อให้พนักงานและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของบริษัทที่จะเกิดจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ตนปฏิบัติงานอยู่ คณะกรรมการอาจประกาศกำหนดให้มีการเสนอขายหุ้นบางส่วนให้แก่พนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจที่จะทำการแปรรูปได้ โดยจำนวนหุ้นที่จะเสนอขายให้แก่พนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจนั้น จะต้องไม่เกินร้อยละสิบของทุนที่จะทำการโอนไปยังบริษัทที่จะเกิดจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

                   
       คณะกรรมการอาจกำหนดให้มีส่วนลดในราคาหุ้นตามวรรคแรกได้ แต่จะต้องไม่เกินร้อยละยี่สิบของราคาหุ้นต่ำสุดที่เสนอขายแก่ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้น

                   
       พนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจอาจชำระเงินค่าหุ้นเป็นรายงวดได้แต่จะต้องไม่เกินกว่าสามปีนับแต่วันที่มีการจัดตั้งบริษัท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด

                   
       ห้ามมิให้พนักงานหรือลูกจ้างรัฐวิสาหกิจโอนหุ้นที่ได้มาตามมาตรานี้ต่อไปจนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาสามปีและก่อนที่จะได้ชำระราคาค่าหุ้นครบถ้วน
       


                   
       มาตรา 40 เงินรายได้จากการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจ ให้นำเป็นรายได้แผ่นดินเพื่อสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำบริการสาธารณะ
       


                   
       มาตรา 41 ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของรัฐหรือการคงไว้
       ซึ่งอำนาจเหนือของรัฐ และเพื่อให้รัฐยังคงมีอำนาจบางประการในการควบคุมการประกอบกิจการ
       ที่ได้แปรรูปไปแล้วและเป็นกิจการที่ยังคงมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อจัดทำบริการสาธารณะ ให้แปลงสภาพหุ้นสามัญของรัฐจำนวนหนึ่งไปเป็นหุ้นที่มีลักษณะพิเศษได้ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

                   
       เมื่อเหตุแห่งความจำเป็นในการคุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐหรือการดำเนินการตามวรรคหนึ่งหมดไป หรือเมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลตามหมวด 6 แห่งพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ตราพระราชกฤษฎีกาแปลงหุ้นที่มีลักษณะพิเศษเป็นหุ้นสามัญได้
       


                   
       มาตรา 42 หุ้นที่มีลักษณะพิเศษนำมาซึ่งอำนาจหรือสิทธิพิเศษของรัฐเหนือหุ้น
       ดังกล่าว ดังต่อไปนี้

                   
       (1) รัฐมีอำนาจในการแต่งตั้งตัวแทนของรัฐเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหาร
       กิจการนั้น โดยไม่มีสิทธิออกเสียงใด ๆ แต่สามารถแจ้งข้อมูลต่าง ๆ ของรัฐที่เกี่ยวกับแนวทางในการประกอบกิจการนั้นได้

                   
       (2) รัฐมีอำนาจคัดค้านในกรณีที่มีการโอนสินทรัพย์หรือการใช้สินทรัพย์ของกิจการ
       นั้นเพื่อการค้ำประกันใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่กิจการนั้นได้ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของกิจการนั้น

                   
       (3) รัฐมีอำนาจคัดค้านการขึ้นราคาค่าบริการที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน หรือคัด
       ค้านการดำเนินการใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือต่อความมั่นคงของรัฐ
       


                   
       มาตรา 43 ในพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีหุ้นที่มีลักษณะพิเศษ จะกำหนด
       รายการสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่รัฐอาจใช้อำนาจคัดค้านการโอน หรือในการใช้สินทรัพย์ดังกล่าวเพื่อ
       ประโยชน์ในการค้ำประกันก็ได้ โดยให้กำหนดไว้ในบัญชีแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาที่กำหนดให้
       มีหุ้นที่มีลักษณะพิเศษ
       


                   
       มาตรา 44 การโอนหุ้นไม่ว่าจะกระทำในรูปแบบใด จำนวนหุ้นทั้งหมดที่รัฐโอน
       ให้แก่บุคคลธรรมดาซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลต่างชาติรวมทั้งนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้
       การควบคุมของต่างชาติ จะต้องไม่เกินจำนวนร้อยละยี่สิบแห่งทุนของรัฐวิสาหกิจที่จะทำการโอน
       

                   
        เพื่อประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง การที่นิติบุคคลแห่งหนึ่งควบคุมนิติบุคคลอีกแห่งหนึ่ง
       ได้แก่กรณีดังต่อไปนี้
       

                   
       (1) เมื่อนิติบุคคลหนึ่งถือหุ้นจำนวนหนึ่งไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในนิติบุคคล
       อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งทำให้ได้สิทธิในการออกเสียงฝ่ายข้างมากในที่ประชุมใหญ่ของนิติบุคคลอีกแห่งหนึ่งนั้น

                   
       (2) เมื่อนิติบุคคลหนึ่งมีสิทธิในการออกเสียงฝ่ายข้างมากแต่เพียงผู้เดียวในนิติบุคคล
       อีกแห่งหนึ่ง อันเป็นผลมาจากข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับผู้ถือหุ้นของนิติบุคคลอีกแห่งหนึ่งนั้น และ
       ข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นการขัดต่อประโยชน์ของบริษัท

                   
       (3) เมื่อนิติบุคคลหนึ่งเป็นผู้กำหนดการตัดสินใจในที่ประชุมใหญ่ของนิติบุคคลอีก
       แห่งหนึ่งโดยสภาพ โดยการใช้สิทธิออกเสียงที่นิติบุคคลนั้นมีอยู่

                   
       (4) เมื่อนิติบุคคลหนึ่งมีสิทธิในการออกเสียงไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเป็น
       จำนวนเกินร้อยละยี่สิบ และไม่มีผู้ถือหุ้นรายใดที่มีสิทธิออกเสียงไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
       เกินกว่าจำนวนดังกล่าว

                   
       ในกรณีมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของรัฐ คณะรัฐมนตรีอาจมีมติให้ลดอัตราการ
       ถือครองหุ้นของต่างชาติดังกล่าวลงได้อีก

                   
       ความในวรรคหนึ่งและวรรคสามมิให้ใช้บังคับในกรณีการโอนหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์
       ซึ่งได้กระทำตามข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในทางอุตสาหกรรม การค้า และการเงินกับบริษัท
       ต่างชาติ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามความเห็นชอบของคณะกรรมการ เนื่องจากการดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแห่งนั้นอาจไม่สามารถกระทำได้หรืออาจกระทำได้ด้วยความ ยุ่งยากหากปราศจากความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนจากบริษัทต่างชาติ
       


                   
       มาตรา 45 ในกรณีที่มีการถือครองหุ้นของต่างชาติในกิจการบางประเภทเกินจำนวนร้อยละยี่สิบแห่งทุนของรัฐวิสาหกิจ ผู้รับโอนหุ้นที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าวไม่สามารถใช้สิทธิออกเสียงของตนในหุ้นที่ตนรับมาโดยมิชอบนั้นได้ และจะต้องโอนหุ้นดังกล่าวนั้นภายในระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันที่รัฐมนตรีแจ้งไปยังประธานกรรมการบริษัทที่เกิดจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเกี่ยวกับการโอนหุ้นที่ไม่ชอบนั้น และให้ประธานกรรมการบริษัทแจ้งเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นต่อไป

                   
       เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาสามเดือนตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการขายหุ้นนั้นโดยการ
       บังคับตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
       

หมวด 6

       การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการแปรรูป
       

       

       


                   
       มาตรา 46 เพื่อให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและ
       ประชาชนอย่างแท้จริง ก่อนที่จะมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัตินี้ ให้มีกฎหมายจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลตามสาขาของรัฐวิสาหกิจที่ปรากฏตามบัญชีรายชื่อแนบท้าย พระราชบัญญัตินี้ขึ้นเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการแปรรูปตามกฎหมายนี้

                   
       คณะกรรมการกำกับดูแลตามวรรคหนึ่งประกอบด้วยปลัดกระทรวงที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้นเป็นผู้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการแปรรูปเป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นมีจำนวนรวมกันไม่เกินแปดคนซึ่งมาจากผู้แทนกระทรวงการคลังจำนวนหนึ่งคน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจำนวนหนึ่งคน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ด้านการเงินการคลัง การลงทุน เศรษฐศาสตร์ การบัญชี การบริหาร และกฎหมาย ด้านละหนึ่งคน

                   
       หลักเกณฑ์วิธีการแต่งตั้งกรรมการตามวรรคสอง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การประชุม หรือการดำเนินการอื่น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
       


                   
       มาตรา 47 คณะกรรมการกำกับดูแลอย่างน้อยจะต้องมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

                   
       (1) กำหนดให้มีการแปรสภาพสัญญาที่รัฐวิสาหกิจได้ทำไว้ก่อนที่จะมีการแปรรูป
       รัฐวิสาหกิจตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ

                   
       (2) อนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ

                   
       (3) กำหนดค่าธรรมเนียมการอนุญาต

                   
       (4) กำกับดูแลให้ผู้ถือใบอนุญาตประกอบกิจการให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขใบอนุญาต

                   
       (5) กำกับดูแลปริมาณการผลิตและการให้บริการให้เพียงพอกับความต้องการของ
       ตลาด

                   
       (6) กำหนดอัตราค่าบริการ คุณภาพบริการ ควบคุมและตรวจสอบคุณภาพบริการ เพื่อให้เกิดการให้ให้บริการที่ดีและเหมาะสมต่อประชาชนผู้บริโภค

                   
       (7) ทบทวนระดับและพิกัดอัตราค่าบริการตามระยะเวลาที่กำหนดให้สอดคล้องกับนโยบายราคาตามที่กำหนดโดยรัฐบาล

                   
       (8) กำกับดูแลการกระทำอันเป็นการกีดกันการแข่งขันทางการค้าในกิจการแต่ละ
       สาขา หรือการกระทำอันเป็นการผูกขาดทางการค้าโดยเอกชน และส่งเสริมให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรี

                   
       (9) รับคำร้องเรียน สอบสวนคำร้องเรียนและวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่าง
       ผู้บริโภคกับผู้ประกอบการ และระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน

                   
       (10) กำหนดบทลงโทษผู้ประกอบการในกรณีที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาต

                   
       (11) หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ


                   
       
       ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

       ...................

       นายกรัฐมนตรี


       
       

บัญชีรายชื่อรัฐวิสาหกิจ

       ที่จะต้องทำการแปรรูป


       
       1. สาขาพลังงาน

                   
       1.1

                   
       1.2

                   
       1.3

                   
       1.4

                   
       1.5


       2. สาขาขนส่ง

                   
       2.1

                   
       2.2

                   
       2.3

                   
       2.4

                   
       2.5


       3. สาขาสื่อสารและกิจการโทรคมนาคม

                   
       3.1

                   
       3.2

                   
       3.3

                   
       3.4

                   
       3.5


       4. สาขาสาธารณูปโภค

                   
       4.1

                   
       4.2

                   
       4.3

                   
       4.4

                   
       4.5


       
       



       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2547


       



หน้าที่แล้ว
1 | 2 | 3 | 4

 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544