หน้าแรก บทความสาระ
รายงานสรุปผลการศึกษาวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
รองศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์
6 มกราคม 2548 21:09 น.
 
หน้าที่แล้ว
1 | 2 | 3 | 4
หน้าถัดไป

       
            
       สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วและปรากฏอยู่ในเนื้อหาสาระของกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ จึงทำให้เข้าใจได้ว่า กฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นกฎหมายที่ "ซ่อนเร้น" วัตถุประสงค์สำคัญอย่างหนึ่ง คือ มีการกำหนดไว้ในกฎหมายให้อำนาจกับฝ่ายการเมืองที่เป็นรัฐบาลที่จะทำการแปลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เป็นหุ้นและนำหุ้นของรัฐวิสาหกิจนั้นออกขายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งก็ต้องเป็นภาระของประชาชนที่จะต้องรอดูต่อไปว่า การกระทำดังกล่าวนั้นทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติหรือของฝ่ายการเมืองที่เป็นรัฐบาล
       

            
       (5) การยกเลิกกฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจโดยฝ่ายบริหาร ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่ถือว่า "รุนแรง" และ "ร้ายแรง" ที่สุดประเด็นหนึ่งที่ก่อให้เกิดกระแสความขัดแย้งในสังคม แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาแล้วว่าสามารถทำได้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำลายความเข้าใจในระบบ "ลำดับศักดิ์ของกฎหมาย" ที่มีอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านานแล้ว

                   
       หากจะตั้งคำถามว่า ทำไมกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจจึงไม่บัญญัติให้การยกเลิกกฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจที่แปลงทุนเป็นหุ้นและจดทะเบียนเป็นบริษัท ทำโดยกฎหมายระดับเดียวกับกฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจนั้น คำตอบคงมีอยู่สองประการ คือ ประการแรก การจัดทำกฎหมายยกเลิกกฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจระดับพระราชบัญญัติต้องทำเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาที่มักจะอ้างกันอยู่เสมอว่าจะต้องใช้ระยะเวลานาน ไม่ทันความต้องการของรัฐบาล กับคำตอบประการที่สอง คือ ต้องการให้อำนาจแก่ฝ่ายการเมือง ที่เป็นรัฐบาลที่จะ "รวบรัด" การดำเนินการต่าง ๆ ทั้งหมดให้อยู่ที่ฝ่ายของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น ความประสงค์ดังกล่าวจึงแสดงออกมาในมาตรา 28 แห่งกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจที่ว่า "ในกรณีที่มีมติคณะรัฐมนตรียุบเลิกรัฐวิสาหกิจใด ให้ถือว่ากฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นอันยกเลิกตามเงื่อนเวลาที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาที่ตราขึ้นเพื่อการนั้น"

                   
       บทบัญญัติดังกล่าวได้ทำลายระบบลำดับศักดิ์ของกฎหมายในประเทศไทยลงอย่าง สิ้นเชิง ความชอบธรรมต่าง ๆ สามารถเกิดขึ้นได้จากการเขียนกฎหมายตามความต้องการของตนเองแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงจารีตประเพณีหรือสิ่งอื่น ๆ ที่ปฏิบัติกันอยู่มาเป็นเวลานาน ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การให้อำนาจฝ่ายบริหารยุบเลิกรัฐวิสาหกิจได้โดย ไม่ต้องผ่านกระบวนการทางรัฐสภา แม้จะเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ทำโดยไม่ต้องมีการตรากฎหมาย
       หลายฉบับ แต่ก็เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและไม่สมควร รวมทั้งยังเป็นการให้อำนาจ "คณะรัฐมนตรี" อีกประการหนึ่งอย่างเกินความจำเป็น ซึ่งจะส่งผลกระทบตามมาในวันข้างหน้าอย่างมาก


                   
       (6) กระบวนการตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจทั้งหมดไม่มีความโปร่งใส
       ข้อสังเกตทั้ง 4 ประการดังกล่าวข้างต้นนำมาซึ่งบทสรุปของข้อสังเกตในประการสุดท้าย คือ ความไม่โปร่งใสในกระบวนการต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ

                   
       จากข้อมูลที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ทำให้ทราบว่า รัฐวิสาหกิจจำนวนกว่า 60 แห่ง มีสินทรัพย์รวมกันกว่า 4 ล้านล้านบาท มีพนักงานกว่า 1 ล้านคน มีงบประมาณรวมกัน ปีละประมาณ 1 ล้านล้านบาท ทำรายได้ให้แก่รัฐประมาณปีละ 20,000 ล้านบาท จากข้อมูลดังกล่าวทำให้เราเห็นภาพว่า รัฐวิสาหกิจก็คือ "ขุมทรัพย์" หนึ่งของประเทศไทย ขุมทรัพย์นี้มิได้เกิดขึ้นมาจากการเนรมิตหรือความบังเอิญ แต่เกิดขึ้นมาจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมาได้ทุ่มเทเงินงบประมาณจำนวนมากเพื่อให้รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นสามารถดำเนินการจัดทำบริการสาธารณให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือการ "ขาย" รัฐวิสาหกิจเหล่านี้จึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ เพื่อวัตถุประสงค์สองประการ คือ มิให้รัฐและประชาชนที่ต่างก็มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจต้องเสียประโยชน์ ซึ่งในกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ ก็มิได้มีบทบัญญัติที่กำหนดให้กระบวนการแปลงทุนเป็นหุ้นต้องโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
            
        แต่อย่างไรก็ตาม เนื้อหาสาระของกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจมิได้ตอบสนองสองสิ่งที่กล่าวไปข้างต้น คือ ประโยชน์ของรัฐและประโยชน์ของประชาชน รัฐได้ลงทุนไปในรัฐวิสาหกิจเป็นอย่างมาก แต่เมื่อจะ "ขาย" รัฐวิสาหกิจ กลับทำโดยการใช้กฎหมายไม่กี่มาตราและคนไม่กี่คน ซึ่งคนไม่กี่คนเหล่านั้นเป็น "ฝ่ายการเมือง" ที่เรามักจะตั้งข้อสงสัยว่าเข้ามาทำงาน
       เพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้องมากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติ ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวนี้ มิได้เกิดจากคนเพียงบางคน หากตรวจสอบเหตุผลในการปฏิวัติรัฐประหารแทบทุกครั้ง ก็จะพบว่าการปฏิวัติรัฐประหารส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่คณะปฏิวัติรัฐประหาร "ทนไม่ได้" กับการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมือง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเกิดขึ้นก็ด้วยเหตุผลสำคัญ คือ ต้องการวางมาตรการและกลไกในการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมือง ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะมอบอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทุกขั้นตอนในการ "ขาย" รัฐวิสาหกิจให้กับนักการเมืองเพื่อให้เข้ามาดำเนินการดังกล่าว ซึ่ง "เสี่ยง" ต่อการทำให้รัฐต้องเสียประโยชน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ต่อไปอีกไม่รู้จักจบสิ้น นอกจากนี้ ในกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจเองก็มิได้มีบทบัญญัติหรือมาตรการใดมารองรับหรือเป็นหลักประกันให้กับประชาชนทั้งหลายว่า เมื่อ "ขาย" รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นไปแล้ว ประชาชนจะยังได้รับบริการที่ดีและราคาไม่แพงเหมือนครั้งที่รัฐวิสาหกิจเป็นผู้จัดทำโดยอาศัยงบประมาณของรัฐหรือไม่
            
       จึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยใช้มาตรการตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจมีปัจจัยความเสี่ยงสูงที่จะทำให้รัฐขาดประโยชน์ และประชาชนก็เช่นกัน ที่จะต้องประสบปัญหาต่าง ๆ ทั้งนี้ เนื่องมาจากกระบวนการของกฎหมายฉบับนี้ไม่โปร่งใส ให้อำนาจฝ่ายการเมืองอย่างมากตั้งแต่เริ่มต้นคัดเลือกรัฐวิสาหกิจที่จะนำมา "ขาย" การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการดำเนินการทุกขั้นตอน รวมทั้งในตอนจบสามารถมีมติคณะรัฐมนตรียุบเลิกรัฐวิสาหกิจได้ กระบวนการต่าง ๆ ที่ให้อำนาจฝ่ายการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจึงเป็นกระบวนการที่รวบรัดและไม่โปร่งใสอันอาจส่งผลทำให้ประเทศชาติและประชาชนต้องเสียประโยชน์ได้


       
       (3) แนวทางในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย
       


                   
       การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ดีย่อมจะต้องมีความโปร่งใสในการดำเนินการและ เปิดเผยการดำเนินการในทุกขั้นตอน ทั้งนี้ เพื่อความ "สุจริตใจ" ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใน
       กระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และเพื่อ "ตรวจสอบ" กระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจว่าเป็นไป
       โดยถูกต้องหรือไม่ ความโปร่งใสและการเปิดเผยดังกล่าวไปแล้วจำเป็นต้องมีอยู่ในทุกขั้นตอนของกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เริ่มตั้งแต่การทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การเลือกรัฐวิสาหกิจมาแปรรูป การตัดสินใจทางการเมืองที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
       ไปแล้ว กระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งระบบ รวมไปถึงการดำเนินการภายหลังการแปรรูป รัฐวิสาหกิจไปแล้ว เหตุผลที่ต้องสร้างความโปร่งใสและการเปิดเผยในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็เพื่อวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญคือ เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และเพื่อป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบิดเบือนการใช้อำนาจเพื่อแสวงหาประโยชน์โดย มิชอบจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

                   
       เพื่อให้ได้มาซึ่งวิธีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ครบถ้วน โปร่งใสและเปิดเผย รวมทั้งยังเป็นการสนองตอบประโยชน์สาธารณะ หลังจากที่ได้ทำการศึกษาวิจัยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งของไทยและของต่างประเทศ พบว่ากระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยนั้น ควรพิจารณาจากการป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากขั้นตอนในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจรวม 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ
       


                   
       ก. ขั้นตอนในการเลือกรัฐวิสาหกิจที่จะถูกแปรรูป การ "เลือก" รัฐวิสาหกิจมาทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจดูเป็นสิ่งที่ "ง่าย" และดูเหมือน "ไม่ยุ่งยาก" แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ขั้นตอนในการเลือกรัฐวิสาหกิจมาแปรรูปกลับเป็นขั้นตอนสำคัญที่อาจบิดเบือนการใช้อำนาจดุลพินิจโดยมิชอบของนักการเมืองได้โดยง่าย เพราะการเลือกรัฐวิสาหกิจมาแปรรูปนั้น เป็น ขั้นตอนที่เกี่ยวข้องหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ส่วนรวมของรัฐได้มากที่สุด เพราะ
       เป็นความ "ขัดแย้ง" กันโดยตรงระหว่าง "ผลประโยชน์ส่วนรวม" กับ "ผลประโยชน์ส่วนตัว"
       ของนักการเมืองที่มีอำนาจกำหนดรัฐวิสาหกิจที่จะถูกแปรรูป สังเกตได้จากการดำเนินการที่เกิดขึ้นในประเทศไทยภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจที่นักการเมืองเป็นผู้ "เลือก" รัฐวิสาหกิจที่จะนำมาแผลงทุนเป็นหุ้น ซึ่งรัฐวิสาหกิจที่ผ่านกระบวนการแปลงทุนเป็นหุ้นตามกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ล้วนแต่เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีผลประกอบการดีและก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงเป็นอย่างมากต่อฝ่ายการเมือง

                   
       ปัญหาที่สำคัญก็คือ จะใช้วิธีการอย่างไรในการเลือกรัฐวิสาหกิจที่เหมาะสมที่จะมาทำการแปรรูป ความเหมาะสมดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการศึกษาวิเคราะห์ทาง
       วิชาการ
อย่างเป็นระบบก่อนอย่างครบถ้วนและเป็นกลาง มีบันทึกรายงานการศึกษาวิเคราะห์และเปิดเผยต่อบุคคลภายนอกเพื่อตรวจสอบได้ ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้เป็นแนวทางให้มีการตัดสินใจอย่าง ถูกต้องทางการเมืองบนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนรวม

                   
       นอกจากนี้ อีกวิธีการหนึ่งที่เหมาะสมสำหรับการเลือกรัฐวิสาหกิจที่จะมาทำการ
       แปรรูปก็คือ การกำหนดรัฐวิสาหกิจที่จะมีการแปรรูปไว้ในกฎหมาย เพื่อที่จะได้ให้มีการ "ควบคุม"
       และ "ตรวจสอบ" โดยสมาชิกรัฐสภาอันเป็นตัวแทนของประชาชน วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่ใช้กันอยู่ในประเทศฝรั่งเศสที่กำหนดให้มีบัญชีรายชื่อรัฐวิสาหกิจที่จะถูกแปรรูปไว้ท้ายกฎหมายว่าด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การกำหนดรายชื่อในลักษณะดังกล่าวเป็นการยืนยันหลักเกี่ยวกับอำนาจในการปกครองประเทศของประชาชนโดยผ่านทางตัวแทนของประชาชน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจอันมีผลเป็นการ "ขาย" สมบัติของประเทศชาติ จึงควรได้รับการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนจากตัวแทนของประชาชนก่อน อย่างไรก็ดี แม้รัฐสภาจะให้ความยินยอมอนุมัติให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้วยวิธีการดังกล่าวไปแล้ว แต่การที่ฝ่ายการเมืองจะ "หยิบยก" รัฐวิสาหกิจใดมาทำการแปรรูป ก็จำต้องดำเนินการตามกระบวนการที่กล่าวมาแล้วข้างต้นทั้งหมดคือ ต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ทางวิชาการอย่างเป็นระบบครบถ้วน เป็นกลาง มีบันทึกรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ที่สามารถเปิดเผยต่อบุคคลภายนอกเพื่อตรวจสอบได้


                   
       ข. การดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เมื่อฝ่ายการเมืองได้ทำการเลือกรัฐวิสาหกิจ
       ที่จะทำการแปรรูปได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือสมควรที่จะพิจารณาว่า การดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจควรจะประกอบด้วยกิจกรรมใดบ้าง ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วจะพบว่า การดำเนินการ แปรรูปรัฐวิสาหกิจประกอบด้วยขั้นตอนหลายขั้นตอน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเหตุแห่งการรั่วไหลของทรัพย์สินของรัฐ และยังอาจเป็นช่องทางให้มีการใช้อำนาจในทางมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ การดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจึงควรดำเนินการโดยผู้ที่มีความเป็นกลางและมีกระบวนการที่โปร่งใส เปิดเผย และสามารถตรวจสอบได้
        กระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เริ่มต้นด้วยการประเมินมูลค่าของรัฐวิสาหกิจเป็นสิ่งแรก กระบวนการประเมินมูลค่าของรัฐวิสาหกิจสมควรทำโดยคณะกรรมการอิสระที่ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำ เพื่อให้การประเมินมูลค่าของรัฐวิสาหกิจเป็นไปโดยถูกต้องและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม คณะกรรมการที่จะเข้ามาประเมินมูลค่าของรัฐวิสาหกิจจะต้องมีการกำหนดคุณสมบัติไว้อย่างชัดเจนในกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งยังจะต้องกำหนดมาตรการในการป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าวกลับเข้าไปรับประโยชน์จากกิจการที่ตนได้มีส่วนร่วมในการแปรรูป

                   
       นอกจากนี้แล้ว ในกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจยังประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ที่สำคัญที่ควรกำหนดรายละเอียดไว้ในกฎหมายด้วย ได้แก่ การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการโอนหุ้น การแปลกเปลี่ยนหุ้น หลักเกณฑ์ในการถือหุ้นของคนต่างด้าว เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของรัฐ รวมทั้งการกำหนดหุ้นที่มีลักษณะพิเศษเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของรัฐเช่นกัน หลักเกณฑ์ในการกระจายหุ้นให้แก่ประชาชน และสิทธิและเงื่อนไขในการเสนอหุ้นให้แก่พนักงาน รายละเอียดต่าง ๆ นี้ สมควรกำหนดไว้ในกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐและประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ เนื่องจากการบิดเบือนการใช้อำนาจของ เจ้าหน้าที่ของรัฐอาจเกิดขึ้นได้ในหลายขั้นตอน เช่น การประเมินราคาทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอาจเลือกจ้างบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับตนให้มาประเมินก็ได้ หรือการกระจายหุ้นให้แก่พนักงานรัฐวิสาหกิจที่ถูกแปรรูป อาจมีการกำหนดให้สิทธิแก่พนักงานมากเกินกว่าที่ควร โดยมีความมุ่งหมายเพื่อแลกกับการที่พนักงานจะไม่ต่อต้านหรือไม่คัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งกรณีดังกล่าวถือเป็นการนำเอาทรัพย์สินของรัฐมาแบ่งเป็นประโยชน์ระหว่างเอกชนด้วยกัน คือ ระหว่างนักการเมืองกับพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อประชาชนส่วนรวม
       


                   
       ค. การดำเนินกิจการหลังแปรรูปแล้ว เมื่อมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปเป็นของเอกชนแล้ว ผู้คนมักไม่ค่อยให้ความสนใจในกิจการดังกล่าวเท่าไหร่ เพราะคิดว่าเมื่อแปรรูปไปแล้วก็เสร็จสิ้น แต่อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่ากิจการที่เปลี่ยนสภาพความเป็นเจ้าของจากของรัฐ ไปเป็นของเอกชนนั้น ยังมีสภาพเป็นบริการสาธารณะอยู่ และรัฐยังเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ไม่ว่าจะมากหรือน้อย และนอกจากนี้ ในบางกรณีกิจการนั้นก็ยังมีการใช้สิทธิพิเศษของรัฐอยู่ หรือบางกิจการก็อาจเป็นกิจการที่ผูกขาดโดยสภาพ เช่น การผลิตน้ำมันปิโตรเลียม เป็นต้น ดังนั้น กิจการเหล่านี้แม้เมื่อแปรรูปไปเป็นของเอกชนแล้ว แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีประโยชน์ที่สังคมต้องรักษาไว้ เพราะเอกชนผู้เข้ามาบริหารหรือเป็นผู้ถือหุ้นอาจไม่สนใจประโยชน์ส่วนรวม หรืออาจดำเนินกิจการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ส่วนรวมได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยอาจเป็นการดำเนินกิจการที่สุจริตหรือไม่สุจริตก็ได้
            
        ด้วยเหตุดังกล่าว ในต่างประเทศจึงมีการนำเอาระบบ "หุ้นทอง" หรือ "หุ้นบุริมสิทธิ" มาใช้ในการคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวม


       
       (4) สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ....
       


                   
       ร่างพระราชบัญญัติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ที่คณะผู้วิจัยได้นำเสนอไว้ท้ายคำอธิบายร่างกฎหมายว่าด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนี้ ประกอบด้วยรายละเอียดจำนวน 47 มาตรา และในตอนท้ายของร่างพระราชบัญญัติยังปรากฏบัญชีรายชื่อรัฐวิสาหกิจที่จะต้องทำการแปรรูปเอาไว้ด้วย

                   
       ในบรรดาบทบัญญัติทั้ง 47 มาตรา และบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ ประกอบด้วย สาระสำคัญอันเป็นกลไกสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ รวม 8 ประการด้วยกัน คือ
       


                   
       (4.1) การแปรรูปรัฐวิสาหกิจต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เนื่องจากรัฐ
       วิสาหกิจเป็น "สมบัติของประเทศ" ที่จัดตั้งขึ้นด้วย "เงินของประเทศ" และดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อ "คนทั้งประเทศ" ดังนั้น การดำเนินการใด ๆ ที่มีต่อรัฐวิสาหกิจที่ "อาจ" ก่อให้เกิดผลกระทบต่อตัวของรัฐวิสาหกิจเอง ต่อประชาชน หรือต่อประโยชน์สาธารณะ จึงควรเป็นไปอย่างมีระบบ รอบคอบและได้รับความเห็นชอบจากประชาชนผู้เป็นทั้ง "เจ้าของ" รัฐวิสาหกิจและเป็น "ผู้ใช้บริการ" ของรัฐวิสาหกิจ

                   
       โดยทั่วไปแล้ว การแปรรูปรัฐวิสาหกิจย่อมต้องทำเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจนอกจากส่วนใหญ่จะจัดตั้งโดยกฎหมายระดับพระราชบัญญัติแล้ว รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ยังดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศและส่วนใหญ่อีกเช่นกันที่ใช้งบประมาณแผ่นดินในการลงทุนที่สำคัญ ๆ ดังนั้น การดำเนินการใด ๆ ที่มีผลให้มีการเปลี่ยนสภาพของรัฐวิสาหกิจจากการเป็นกิจการของรัฐไปเป็นกิจการของเอกชน จึงย่อมต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชน ซึ่งในประเทศอังกฤษและประเทศญี่ปุ่นที่ได้ทำการศึกษาไปแล้วในรายงานวิจัยนี้ ใช้วิธีให้รัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนออกกฎหมายมาเพื่อแปรรูปรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง หรือในกรณีของประเทศฝรั่งเศสที่ใช้วิธีออกกฎหมายกลาง (loi de portee generale) มาเพื่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกแห่งให้เป็นไปภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน และกำหนดรายชื่อรัฐวิสาหกิจที่จะต้องทำการแปรรูปไว้ท้ายพระราชบัญญัติ ซึ่งก็ถือได้ว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามรายชื่อที่ปรากฏอยู่ในบัญชีแนบท้ายกฎหมายกลางนั้นได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาแล้วเช่นกัน

                   
       เมื่อได้พิจารณาถึงรูปแบบทั้งสองของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คือ การออกกฎหมายมาเพื่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นรายแห่งและการออกกฎหมายกลางมาเพื่อใช้ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกแห่งภายใต้เกณฑ์เดียวกัน คณะผู้วิจัยเห็นว่ารูปแบบที่เหมาะสมที่สุดที่สมควรนำมาใช้ในประเทศไทย ก็คือรูปแบบของการมีกฎหมายกลางเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ "ขั้นต่ำ" ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

                   
       การเลือกรูปแบบของการมีกฎหมายกลางสำหรับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ก็เพราะ
       ว่าเมื่อมาพิจารณาดู "นโยบาย" ของรัฐบาลและแนวโน้มต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศแล้ว จะพบว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในประเทศไทยนั้น "น่าจะ" เกิดขึ้นกับรัฐวิสาหกิจหลาย ๆ แห่ง ซึ่งหากจะใช้วิธีการออกกฎหมายเพื่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นรายแห่ง ก็จะทำให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งระบบเป็นไปอย่างช้า และอาจเกิดปัญหาอื่นตามมาด้วย เช่น ความ "ไม่เข้าใจ" ของรัฐสภาในกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ในกฎหมายว่าด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งจะต้องกำหนดไว้อย่างละเอียด หรือการอื่นที่มีผลกระทบโดยตรงต่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่
       รัฐบาลและรัฐสภาอาจ "ดำเนินการร่วมกัน" เพื่อประโยชน์อื่นที่มิใช่ประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น
       การมีกฎหมายกลางที่กำหนดหลักเกณฑ์ขั้นพื้นฐานไว้เป็นการทั่วไปสำหรับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและในกฎหมายกลางดังกล่าวก็มีบทบัญญัติที่ "มอบ" อำนาจหน้าที่ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้แก่องค์กรอื่นไปดำเนินการ จึงเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยที่มีนโยบายที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก

                   
       ที่ผ่านมา แม้ประเทศไทยจะนำเอากฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจมาเป็นกฎหมายกลางที่ใช้ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่กฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจก็เป็นกฎหมายที่มีข้อบกพร่องในหลายประการดังที่ได้กล่าวไปแล้วในงานวิจัยนี้ และกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ
       ก็มิได้เป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างแท้จริง กระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
       อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอนจึงเป็นไปโดยผลของกฎหมายและกฎ ระเบียบต่าง ๆ จำนวนหนึ่ง ดังนั้น เพื่อให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นไปอย่างถูกต้องครบถ้วน จึงสมควรสร้างกฎหมายกลางเพื่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจขึ้นมาให้มี โดยกำหนดให้มี "สาระและมาตรการ" ในการแปรรูป รัฐวิสาหกิจไว้ในทุกขั้นตอน เพื่อวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญ คือ การคุ้มครองและปกป้องประโยชน์
       สาธารณะ

                   
       อนึ่ง เพื่อให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นไปโดย "ความเห็นชอบ" ของประชาชน
       เพราะรัฐวิสาหกิจทั้งหลายเป็นสมบัติของชาติและของประชาชน และเพื่อให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
       ทำโดยตัวแทนของประชาชน ร่างพระราชบัญญัติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... นี้จึงได้กำหนดบัญชีรายชื่อของรัฐวิสาหกิจที่จะแปรรูปไปเป็นกิจการของเอกชนไว้ในบัญชีรายชื่อแนบท้ายกฎหมายกลางว่าด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การกำหนดรายชื่อรัฐวิสาหกิจที่จะทำการแปรรูปไว้ในบัญชีรายชื่อแนบท้ายพระราชบัญญัติ นอกจากจะทำให้รัฐวิสาหกิจที่จะถูกแปรรูปถูก "กำหนด" และผ่าน "ความเห็นชอบ" ของตัวแทนประชาชนคือรัฐสภาแล้ว ยังเป็นการ "ป้องกัน" มิให้ฝ่ายบริหารใช้อำนาจ "เลือก" รัฐวิสาหกิจมาแปรรูป ซึ่งการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารอาจมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะก็ได้

                   
       หลักเกณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดปรากฏอยู่ในร่างมาตรา 6 ร่างมาตรา 7 และบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัติ กล่าวคือ ในร่างมาตรา 6 จะเป็นการยืนยันเจตนารมณ์และหลักการของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจว่าจะต้องทำไปด้วยความรอบคอบ มุ่งเน้นประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐในการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน ซึ่งในร่างมาตรา 6 ก็ได้กำหนดไว้ว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะทำได้เฉพาะในกิจการที่มิใช่เป็นการจัดทำบริการสาธารณะระดับชาติหรือกิจการเกี่ยวกับความมั่นคง การแปรรูปรัฐวิสาหกิจต้องดำเนินการตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายนี้ อนึ่ง หากมีปัญหาว่ารัฐวิสาหกิจใดเป็นรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับการ จัดทำบริการสาธารณะระดับชาติหรือเป็นกิจการที่เกี่ยวกับความมั่นคงหรือไม่ ก็ให้คณะรัฐมนตรีเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้

                   
       ส่วนระยะเวลาในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น เนื่องจากในบัญชีรายชื่อแนบท้าย
       พระราชบัญญัติได้กำหนดรายชื่อรัฐวิสาหกิจที่จะต้องถูกแปรรูปเอาไว้ ดังนั้น ในร่างพระราชบัญญัติจึงกำหนดให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ "เลือก" รัฐวิสาหกิจจากบัญชีรายชื่อแนบท้ายพระราชบัญญัติมาทำการแปรรูปให้เสร็จทั้งหมดภายใน 5 ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ หากไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาดังกล่าว ก็อาจขยายระยะเวลาออกไปได้อีกไม่เกิน 2 ปี โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

                   
       การที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ "เลือก" รัฐวิสาหกิจตามบัญชีรายชื่อ
       แนบท้ายพระราชบัญญัติมาทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ พร้อมกับกำหนดระยะเวลาในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามบัญชีรายชื่อแนบท้ายพระราชบัญญัติทั้งหมดรวมแล้วไม่เกิน 7 ปีเอาไว้ ก็เพื่อให้การกำหนดรายชื่อรัฐวิสาหกิจไว้ในบัญชีรายชื่อแนบท้ายพระราชบัญญัติเป็นไปด้วยความเหมาะสม ฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องใช้วิจารณญาณอย่างเต็มที่ในการกำหนดรายชื่อรัฐวิสาหกิจเฉพาะที่จำเป็นต้องแปรรูปไว้ในบัญชีรายชื่อแนบท้ายพระราชบัญญัติให้ฝ่ายบริหารสามารถดำเนินการได้ทันภายในกรอบเวลา 7 ปีดังกล่าว
       


                   
       (4.2) การแปรรูปรัฐวิสาหกิจต้องทำด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในทุก
       ขั้นตอนและเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า รัฐวิสาหกิจเป็นสมบัติของประเทศที่จัดตั้งและดำเนินการได้ด้วยภาษีอากรของประชาชน ดังนั้น เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจใด จึงควรทำด้วยความรอบคอบด้วยกระบวนการที่โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนและเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ "ผู้หนึ่งผู้ใด" ได้ประโยชน์จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น

                   
       เพื่อเป็นการยืนยันหลักการดังกล่าว ร่างมาตรา 8 แห่งร่างพระราชบัญญัติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ได้วางกรอบของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ดี ที่เหมาะสมกับประเทศไทยไว้ 4 ประการ คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค การแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งกระบวนการต้องมีความโปร่งใสในทุกขั้นตอน สามารถตรวจสอบและประเมินผลได้ รวมทั้งข้อมูลและรายงานผลการดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหมดจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ

                   
       หลักทั้ง 4 ประการข้างต้น จะช่วยทำให้กระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตาม
       ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง
       


       
       



       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2547


       



หน้าที่แล้ว
1 | 2 | 3 | 4
หน้าถัดไป

 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544