หน้าแรก บทความสาระ
หลักความเสมอภาค
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์
3 มกราคม 2548 18:50 น.
 
หน้าที่แล้ว
1 | 2 | 3

       
       
            
       2.3.3.2 หลักความเสมอภาคตามคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาล

                   
       แยกพิจารณาได้ 2 กรณี คือ29


                   
       1. หลักความเสมอภาคตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

                   
       ศาลรัฐธรรมนูญได้วางแนวคำวินิจฉัยอันเกี่ยวกับหลักความเสมอภาคไว้ดังนี้

                   
       กรณีแรก ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในคำวินิจฉัยที่ 5/2542 ว่า การที่สถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้ไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เนื่องจากมาตรา 30 เป็นเรื่องการคุ้มครองเสรีภาพของปวงชนชาวไทยให้บุคคลมีความเสมอภาคในทางกฎหมายและได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน แต่การคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย และโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจทั้งนี้เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้นการคิดดอกเบี้ยตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2535 จึงมิใช่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามมาตรา 30

                   
       กรณีที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในคำวินิจฉัยที่ 37/2542 ว่าการที่หน่วยงานของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ปฏิบัติต่อกิจการของหน่วยงานในลักษณะที่แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เนื่องจากเมื่อพิจารณาตามมาตรา 30 จะพบว่าเป็นหลักความเสมอภาคทางกฎหมายที่ห้ามมิให้มีการปฏิบัติที่แตกต่างกันระหว่างบุคคลที่มีสถานะเดียวกันโดยไม่มีเหตุอันควร เมื่อสำนักงานผู้ตรวจราชการแผ่นดินของรัฐสภามีลักษณะพิเศษเฉพาะในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมิใช่ส่วนราชการ มิใช่รัฐวิสาหกิจ และมิได้เป็นหน่วยงานเอกชนอันจะต้องอยู่ภายใต้การบังคับกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานแล้ว การปฏิบัติต่อกิจการของสำนักงานฯในลักษณะที่แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานจึงเป็นการสมเหตุสมผล เหมาะกับสถานะของผู้ปฏิบัติงานในสำนักงานฯ จึงไม่เป็นการเลือกปฏิบัติอันขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 30

                   
       2. หลักความเสมอภาคตามคำพิพากษาศาลฎีกา

                   
       ศาลฎีกาได้พิพากษายืนยันถึงหลักความเสมอภาคของผู้มีสัญชาติไทยในการมีสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ในคำพิพากษาที่ 881/2495 ว่าจำเลย (นายอำเภอสันป่าตอง) ได้เข้าใจผิดในข้อสำคัญที่คิดไปว่า จำเลยมีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใครๆซื้อที่ดินก็ได้ ซึ่งไม่ถูกต้องจำเลยหามีอำนาจเช่นนั้นไม่ กล่าวคือหากไม่มีกฎหมายให้อำนาจแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่หามีอำนาจในการหน่วงเหนี่ยวขัดขวางการขอจดทะเบียนนิติกรรมอันเป็นการจำกัดสิทธิของราษฎรได้ ซึ่งย่อมแสดงว่าคนไทยทุกคนย่อมมีสิทธิเสมอกันในอันที่จะถือกรรมสิทธิ์ในทรัพยสินใดๆเว้นแต่จะมีกฎหมายห้าม


                   
       2.3.3.3 หลักความเสมอภาคตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ คณะกรรมการกฤษฎีกา

                   
       คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ได้วินิจฉัยเรื่องหลักแห่งความเสมอภาคของเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ในหลายกรณีได้แก่30

                   
       1. ความเสมอภาคในการรับบริการสาธารณะ


                   
       คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ได้วินิจฉัยในเรื่องที่เกี่ยวกับการรับนักเรียนเข้าโรงเรียนสาธิต31 ว่า หลักเกณฑ์ที่โรงเรียนได้กำหนดไว้เป็นกรณีพิเศษและนำมาใช้คัดเลือกนักเรียนจากการสอบด้วยนั้น ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 4 ประการ คือ (1) พิจารณารับบุตรหรือธิดาของผู้ปกครองนักเรียน ซึ่งมีบุตรธิดาอยู่ในโรงเรียนแล้ว โดยผู้ปกครองนั้นได้ร่วมมือในการสนับสนุนช่วยเหลือกิจการโรงเรียนด้วยดีมาโดยตลอด (2) พิจารณารับหลานของอาจารย์ในโรงเรียนหรือบุตรหลานของบูรพาจารย์ (3) พิจารณารับบุตรหรือธิดาของผู้ที่ทำประโยชน์ต่อโรงเรียนมหาวิทยาลัยหรือประเทศชาติ แม้จะไม่มีพี่น้องอยู่ในโรงเรียนนี้มาก่อน และ (4) พิจารณารับเด็กของผู้ฝากที่สำคัญจากส่วนราชการต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือราชการโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ปรากฏว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เป็นกรณีพิเศษนี้มิได้มีการประกาศให้สาธารณชนทราบโดยทั่วไป แม้จะปรากฏว่ามีอยู่ในหนังสือครบรอบ 15 ปี ของโรงเรียนก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าประกาศให้สาธารณชนทราบด้วย หลักเกณฑ์นี้ยังเป็นหลักเกณฑ์ที่ให้ความได้เปรียบแก่บุคคลบางกลุ่ม ผู้ปกครองที่ไม่มีบุตรหรือธิดาเรียนในโรงเรียนและประสงค์จะให้บุตรหรือธิดาเข้าเรียนในโรงเรียนนี้ก็จะไม่ทราบหลักเกณฑ์ดังกล่าว คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์เห็นว่า การนำหลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเป็นกรณีพิเศษนี้มาใช้ในการคัดเลือกนักเรียนนั้น มิได้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตร ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้โรงเรียนใช้ดุลพินิจได้ตามอำเภอใจ อันเป็นการเลือกปฏิบัติให้เป็นคุณแก่บุคคลบางกลุ่มเท่านั้น จึงไม่เป็นธรรมต่อนักเรียนที่สมัครสอบคัดเลือกเข้าเรียนในโรงเรียนโดยทั่วหน้ากัน อันเป็นการขัดต่อหลักความเสมอภาคของบุคคลในการเสาะแสวงหาโอกาสที่จะเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนของรัฐ

                   
       นอกจากนี้คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ยังได้วินิจฉัย32 กรณีการเคหะแห่งชาติผ่อนผันผู้เช่าซื้ออาคารบางคน ทั้งที่ล่วงเลยกำหนดระยะเวลาตามแนวปฏิบัติที่การเคหะแห่งชาติกำหนดไว้ แต่ไม่ผ่อนผันผู้เช่าซื้ออาคารบางคนนั้น ไม่มีเหตุผลอันสมควร ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์ที่ไม่เท่าเทียมกันกับรายอื่น การเคหะแห่งชาติมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง การปฏิบัติงานของการเคหะแห่งชาติจึงควรมุ่งเน้นในทางอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เช่าซึ้อภายในกรอบระเบียบ หลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติที่กำหนดซึ่งได้ประกาศล่วงหน้าให้ทราบทั่วกันและควรปฏิบัติต่อผู้เช่าซื้อทุกรายโดยเท่าเทียมกัน


                   
       2. ความเสมอภาคในการทำงานภาครัฐ

                   
       คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ได้พิจารณาถึงการที่ผู้บังคับบัญชาเสนอเลื่อนขั้นผู้ใต้บังคับบัญชาเพียงครึ่งขั้นด้วยเหตุที่ผู้ใต้บังคับบัญชา “ไม่มาในวันพัฒนาคณะ” ทั้งๆที่ผู้ใต้บังคับบัญชาหลายคนที่ไม่ได้มาในวันนั้นไม่ได้รับผลกระทบหรือถูกนำเอากรณีดังกล่าวไปใช้ในการพิจารณาเลื่อนขั้นค่าจ้างด้วย กรณีนี้จึงถือได้ว่า เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม 33หรือกรณีที่ข้าราชการกู้เงินปลูกบ้านเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและได้อยู่อาศัยจริงในบ้านนั้น ข้าราชการผู้นั้นย่อมมีสิทธิได้รับเบิกค่าเช่าบ้านได้เช่นเดียวกับคนอื่น แม้ข้าราชการผู้นั้นจะแบ่งห้องเช่าโดยไม่นำค่าเช่าที่ได้รับมาหักจำนวนเงินที่ขอเบิกก็ตาม หน่วยราชการก็ไม่สามารถตัดสิทธิข้าราชการผู้นั้นได้ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎเกณฑ์ มิฉะนั้นอาจเกิดความลักลั่นในทางปฏิบัติอันเป็นเหตุให้เกิดความไม่เสมอภาคแก่ข้าราชการผู้ต้องใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านตามพระราชกฤษฎีกา34 แต่ในกรณีที่สถาบันราชภัฏไม่อนุญาตให้ผู้ร้องทุกข์โอนไปรับราชการที่ส่วนราชการอื่นจนกว่าผู้ร้องทุกข์จะชดใช้หนี้ทุนให้ครบจำนวนก่อนนั้น คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์35 เห็นว่าผู้ร้องทุกข์ไม่อาจหยิบยกกรณีการโอนข้าราชการของกรมสามัญศึกษา...ปฏิเสธความรับผิดตามสัญญาได้เพราะกรณีนั้นเป็นการใช้ดุลพินิจของส่วนราชการที่ต่างกัน


       
       3.ความผูกพันต่อหลักความเสมอภาค

                   
       หลักแห่งความเสมอภาคเป็นหลักซึ่งเกี่ยวข้องต่อบุคคลในการที่จะได้รับผลปฏิบัติอย่างเสมอภาคจากรัฐโดยองค์กรของรัฐเป็นผู้ถูกผูกพันที่จะต้องไม่กระทำการอันเป็นการขัดต่อหลักความเสมอภาค แต่หากมีการกระทำอันส่งผลกระทบต่อหลักความเสมอภาคแล้วผู้ได้รับการกระทบสิทธิย่อมมีสิทธิฟ้องร้องต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อเยียวยาสิทธิได้ ดังนั้นความผูกพันต่อหลักความเสมอภาคจึงมีผู้เกี่ยวข้อง คือ ผู้กล่าวอ้างให้ได้รับการปฏิบัติตามหลักความเสมอภาคอันได้แก่ผู้ทรงสิทธิซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล และผู้ผูกพันที่จะต้องปฏิบัติต่อบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลตามหลักความเสมอภาคอันได้แก่องค์กรของรัฐนั่นเอง


                   
       3.1 ผู้ทรงสิทธิและผู้ผูกพันต่อหลักความเสมอภาค

                   
       หลักความเสมอภาคมีความสัมพันธ์กับผู้ทรงสิทธิเสรีภาพ และองค์กรของรัฐ ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้


                   
       3.1.1 ผู้ทรงสิทธิ

                   
       เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยได้กำหนดถึงสิทธิประเภทต่าง ๆ ที่บุคคลสามารถเป็นผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพได้ ซึ่งสิทธิที่จะกล่าวในที่นี้คือ “สิทธิในความเสมอภาค” ตามมาตรา 30 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่บุคคลผู้ทรงสิทธิจะได้รับการปฏิบัติจากรัฐอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งตามหมวด 3 ของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ซึ่งเมื่อพิจารณาจากชื่อหมวดดังกล่าวจะพบว่าเป็นสิทธิหน้าที่ของบุคคลธรรมดา แม้ตามหมวด 3 ของรัฐธรรมนูญไทยมิได้มีการบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งว่านิติบุคคลและกลุ่มบุคคลสามารถเป็นผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากระบบกฎหมายไทยแล้วพบว่านิติบุคคลย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิและหน้าที่ได้เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพจะพึงใช้แก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น ดังนั้นผู้ที่จะเป็นผู้อ้างถึงความเสมอภาคที่จะได้รับการปฏิบัติจากองค์กรของรัฐอย่างเท่าเทียมกันจึงประกอบด้วยบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ดังนี้


                   
       3.1.1.1 บุคคลธรรมดา

                   
       โดยทั่วไปสิทธิและเสรีภาพที่บุคคลธรรมดาจะเป็นผู้ทรงสิทธิได้นั้นย่อมต้องเป็นสิทธิของบุคคลซึ่งมีชีวิต ดังนั้นสิทธิเสรีภาพของบุคคลจึงเป็นไปตามความสามารถของบุคคลซึ่งต้องพิจารณาตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 15 วรรคแรก ที่ได้บัญญัติว่า “สภาพของบุคคลเริ่มตั้งแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก...” จึงถือว่าทารกที่คลอดมาต้องมีสภาพบุคคลเสียก่อนจึงจะมีสิทธิบางประการตามกฎหมาย จึงกล่าวได้ว่าการอ้างหลักความเสมอภาคในสิทธิต่างๆตามนั้นต้องพิจารณาประกอบกับความสามารถของบุคคลประกอบด้วยแม้ปกติพลเมืองของรัฐย่อมใช้สิทธิเสรีภาพต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน แต่การทรงสิทธิเสรีภาพบางประการย่อมได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันและไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะการใช้สิทธิเสรีภาพบางประการมีความเกี่ยวพันกับความสามารถของบุคคลซึ่งพิจารณาตามเกณฑ์อายุในการใช้สิทธิเสรีภาพ เช่นสิทธิในการเลือกตั้ง ตามมาตรา 105 ได้บัญญัติให้บุคคลอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี บริบูรณ์มีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือสิทธิของบุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐตามรัฐธรรมนูญมาตรา 54 เป็นต้น จึงถือได้ว่าโดยหลักประชาชนทุกคนย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอกัน แต่การทรงสิทธิบางประการอาจถูกจำกัดหรือปฏิบัติให้แตกต่างกันอันเนื่องมาจากเงื่อนไขของความสามารถหรือเกณฑ์อายุที่ใช้พิจารณาความสามารถในการใช้สิทธิของบุคคลได้

                   
       แต่อย่างไรก็ตาม การทรงสิทธิต่างๆโดยอ้างถึงหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญนั้นอาจไม่อยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายที่มีลำดับชั้นต่ำกว่ารัฐธรรมนูญแต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากการทรงสิทธิเสรีภาพอันอ้างหลักความเสมอภาคได้นั้นอาจกำหนดโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แม้จะไม่เข้าเงื่อนไขการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแพ่งในเรื่องความสามารถของบุคคลก็ตาม
       

                   
       โดยหลักบุคคลธรรมดาทั่วไปย่อมอ้างหลักความเสมอภาคได้ ซึ่งการอ้างหลักดังกล่าวเป็นผลมาจากลักษณะของสิทธิตามมาตรา 30 ซึ่งบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน...” และจากชื่อหมวดที่บัญญัติให้เป็นหมวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย จึงทำให้บทบัญญัติของสิทธิเสรีภาพตามหมวด 3 บังคับใช้กับปวงชนชาวไทยหรือคนสัญชาติ ดังนั้นบุคคลต่างด้าวไม่สามารถเป็นผู้ทรงสิทธิในความเสมอภาคตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญได้ แม้หลักแห่งความเสมอภาคจะเป็นหลักการแห่งสิทธิมนุษยชนก็ตาม ซึ่งเมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติเรื่องสิทธิและเสรีภาพแล้วจะพบว่าเป็นเรื่องของการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลในการแสดงเจตจำนงทางการเมืองซึ่งโดยหลักก็เป็นเรื่องของคนในรัฐนั้นๆเองจึงถือเป็นเหตุผลอันอาจยกขึ้นอ้างของการปฏิบัติต่อบุคคลอันมิใช่บุคคลสัญชาติอย่างไม่เท่าเทียมกันได้ หากรัฐธรรมนูญจะให้สิทธิเสรีภาพแก่บุคคลต่างด้าวประการใดก็ต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะในกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้คนต่างด้าวจะมีสิทธิเพียงใดย่อมเป็นไปตามสนธิสัญญาและกฎหมายอื่นซึ่งไม่ใช่ของรัฐธรรมนูญ36 จากข้อจำกัดในเรื่องสัญชาติจึงส่งผลให้คนต่างด้าวถูกจำกัดการเป็นผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตาม ในหมวด 8 ของรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดถึงกระบวนการในทางอาญาซึ่งมีลักษณะของสิทธิมนุษยชนอันเกี่ยวพันกับสิทธิและเสรีภาพในชีวิตร่างกายที่บุคคลไม่ว่าสัญชาติใดพึงมีในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ดังนั้นบุคคลต่างด้าวย่อมสามารถเป็นผู้ทรงสิทธิอันจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันอันเนื่องมาจากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือตามสิทธิมนุษยชนซึ่งได้ถูกนำมาบัญญัติรับรองไว้อย่างชัดแจ้งนั่นเอง


                   
       3.1.1.2 นิติบุคคลในกฎหมายเอกชน

                   
       หลักความเสมอภาคนั้นมีความสัมพันธ์กับการทรงสิทธิเสรีภาพของนิติบุคคล ซึ่งเมื่อได้พิจารณาถึงการมีสิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อาจสรุปได้ว่านิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนสามารถเป็นผู้ทรงสิทธิหรือสามารถอ้างถึงหลักความเสมอภาคได้ แต่สิทธิที่นิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนจะเป็นผู้ทรงสิทธิได้นั้นจะต้องไม่ใช่สิทธิและเสรีภาพซึ่งโดยสภาพแล้วจะพึงมีพึงได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือสิทธิที่นิติบุคคลหรือกลุ่มบุคคลจะอ้างได้นั้นจะต้องไม่ใช่สิทธิและเสรีภาพที่เชื่อมโยงอยู่กับความเป็นมนุษย์หรือสิทธิและเสรีภาพในลักษณะที่เกี่ยวกับความเป็นบุคคล ซึ่งลักษณะดังกล่าวไม่มีอยู่ในความเป็นนิติบุคคล อาทิ สิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นต้น37

                   
       ส่วนในกรณีของนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน จะเห็นได้ว่าลักษณะทั่วไปของนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนนั้นผู้ที่อยู่เบื้องหลังนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนนั้นมิใช่บุคคลธรรมดา หากแต่เป็น “รัฐ” ที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน38 การดำเนินตามสิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนถือเป็นองค์กรที่ใช้สิทธิและหน้าที่ในนามของรัฐ แต่เมื่อพิเคราะห์จากการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลแล้วจะพบว่าการใช้สิทธิกล่าวอ้างในสิทธิและเสรีภาพของตนนั้นต้องกระทำต่อรัฐผู้ซึ่งมีหน้าที่ในการรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ในกรณีดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพของนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนที่จะเรียกร้องเอาแก่รัฐ ซึ่งในขณะเดียวกันนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนก็อยู่ในฐานะของหน่วยงานรัฐซึ่งอยู่ในฐานะของผู้ที่ต้องผูกพันต่อหลักความเสมอภาคด้วยเช่นกันทำให้เกิดความขัดแย้งในอำนาจหน้าที่ซึ่งไม่อาจใช้ในขณะเดียวกันได้ จากเหตุผลนี้เองจึงส่งผลให้นิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนไม่อาจเป็นทั้งผู้ทรงสิทธิที่จะอ้างถึงหลักความเสมอภาคและไม่อาจเป็นทั้งผู้ที่ต้องผูกพันตามหลักความเสมอภาคตามมาตรา 30 ในขณะเดียวกันได้ แต่หากพิจารณาเนื้อหาของหลักความเสมอภาคแล้ว หลักความเสมอภาคควรที่จะนำมาใช้กับนิติบุคคลในทางกฎหมายมหาชนเฉพาะกรณีที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างนิติบุคคลในทางกฎหมายมหาชนด้วยกัน39


                   
       3.1.2 องค์กรของรัฐผู้ถูกผูกพันต่อหลักความเสมอภาค

                   
       โดยหลักทั่วไปแล้ว หลักความเสมอภาคย่อมผูกพันองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งหมด หรือผูกมัดทั้งทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร และทางตุลาการ ในการที่ต้องให้สิทธิแก่บุคคลที่จะได้รับผลปฏิบัติอย่างเสมอภาค ดังนี้40


                   
        3.1.2.1 ความผูกพันของฝ่ายนิติบัญญัติต่อหลักความเสมอภาค

                   
        ความผูกพันของฝ่ายนิติบัญญัติต่อหลักความเสมอภาคนั้นเป็นไปตามหลักความเสมอภาคในการบัญญัติกฎหมายหรือที่เรียกว่า “ความเสมอภาคของกฎหมาย” ซึ่งเป็นเกณฑ์ในการบัญญัติกฎหมายที่ต้องบัญญัติกฎหมายให้มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปและไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง อย่างไรก็ตาม แม้ฝ่ายนิติบัญญัติจะบัญญัติกฎหมายในลักษณะที่มีผลเป็นการทั่วไปก็ตามแต่ก็อาจนำไปสู่การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันได้ เนื่องจากการที่จะต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันนั้นไม่อาจพิจารณาได้อย่างแน่นอนในหลายๆกรณีที่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบว่ากฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยเคารพหลักความเสมอภาคและถูกนำไปปฏิบัติอย่างเสมอภาคกัน ทั้งนี้ต้องให้ความอิสระแก่การใช้ดุลพินิจของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมีการให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติในการกำหนดลักษณะสำคัญของการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันโดยการเปรียบเทียบสาระสำคัญของแต่ละกรณีในการปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญให้เหมือนกันและปฏิบัติต่างกันในสิ่งที่มีสาระสำคัญต่างกัน จึงเป็นผลให้การตรวจสอบจะทำได้เฉพาะกรณีที่ฝ่ายนิติบัญญัติใช้อำนาจดุลพินิจเกินขอบอำนาจที่กฎหมายกำหนด

                   
       อย่างไรก็ตาม การละเมิดหลักความเสมอภาคอาจเกิดได้จากการประเมินสาระสำคัญของสำคัญของข้อเท็จจริงผิดพลาดจนนำไปสู่การปฏิบัติให้แตกต่างกันในข้อเท็จจริงที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือปฏิบัติเหมือนกันในข้อเท็จจริงที่ต่างกัน กรณีนี้หากขาดเหตุผลที่อาจรับฟังได้ การกำหนดของฝ่ายนิติบัญญัติดังกล่าวย่อมเป็นการละเมิดหลักความเสมอภาค

                   
       นอกจากนี้ยังมีหลักสำคัญประการหนึ่งในการบัญญัติกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติที่ต้องตระหนักเป็นพิเศษคือ ระบบกฎหมาย กล่าวคือการบัญญัติกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติต้องคำนึงถึงหลักพื้นฐานในเรื่องนั้นๆโดยต้องพิจารณาองค์ประกอบของกฎหมายที่จะบัญญัติขึ้นใหม่ว่าต้องมีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่ได้บัญญัติไว้แล้ว

                   
       ในกรณีที่มีการละเมิดหลักความเสมอภาคโดยฝ่ายนิติบัญญัติ สามารถแยกได้เป็นสามกรณีคือ

                   
       1) การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันซึ่งมีทั้งการให้ประโยชน์แก่บุคคลหนึ่ง และก่อให้เกิดภาระแก่บุคคลหนึ่ง การแก้ปัญหาในกรณีการปฏิบัติไม่เท่าเทียมกันในกรณีนี้อาจทำได้โดยการขยายประโยชน์ให้กับบุคคลอีกกลุ่มหนึ่ง หรือการขยายภาระให้กับบุคคลอีกกลุ่มหนึ่ง หรือการทำให้ประโยชน์และภาระมีความเท่าเทียมกันระหว่างบุคคลทั้งสองกลุ่ม

                   
       2)การปฏิบัติที่เป็นการให้ประโยชน์อย่างไม่เท่าเทียมกัน การแก้ปัญหาอาจทำได้โดยการขยายประโยชน์แก่กลุ่มบุคคลอื่นด้วย ทั้งนี้ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย

                   
       3) การปฏิบัติที่เป็นการให้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน บทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดภาระอย่างไม่เท่าเทียมกันนั้น ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเยอรมันได้มีความเห็นว่าโดยทั่วไปแล้วบทบัญญัติดังกล่าวเป็นโมฆะ หากขาดเหตุผลจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือหลักกฎหมายอื่นสนับสนุนบทบัญญัติดังกล่าว
       

                   
       กฎหมายที่ขัดกับหลักความเสมอภาคนั้น อาจสรุปผลของการละเมิดหลักความเสมอภาคได้ ดังนี้41

                   
       1) ในกรณีที่กฎหมายนั้นก่อให้เกิดภาระแก่ประชาชนโดยขัดกับหลักความเสมอภาค กฎเกณฑ์ที่ขัดกับหลักความเสมอภาคนั้นอาจเป็นโมฆะเพียงบางส่วนหรืออาจจะเป็นโมฆะทั้งฉบับ ทั้งนี้แล้วแต่ความเกี่ยวพันของเนื้อหากฎหมายนั้นๆ

                   
       2) ในกรณีที่เป็นการให้ประโยชน์ซึ่งขัดกับหลักความเสมอภาคนั้นหลักความเสมอภาคจะเข้าไปมีผลในกรณีดังกล่าว เมื่อหลักตามรัฐธรรมนูญก็ดีหรือเมื่อพิจารณาอย่างเป็นระบบในทางเนื้อหาของหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวก็ดี หรือจากเจตนารมณ์ของกฎเกณฑ์ดังกล่าวก็ดี เรียกร้องให้การให้ประโยชน์ดังกล่าวต้องเป็นไปอย่างเสมอภาค

                   
       3) ในกรณีที่เป็นการให้ประโยชน์ซึ่งขัดกับหลักความเสมอภาคนั้น แต่การขยายการให้ประโยชน์ดังกล่าวนั้นไม่ได้ถูกเรียกร้องจากหลักตามรัฐธรรมนูญก็ดี หรือจากระบบของกฎเกณฑ์นั้นก็ดี หรือจากเจตนารมณ์ของกฎเกณฑ์นั้นก็ดี ในกรณีนี้ให้ยกเลิกการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ หรือการยกเลิกการวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวที่ได้กระทำไปแล้ว หรือการให้หยุดการดำเนินคดีในเรื่องดังกล่าวไว้ก่อน


                   
       3.1.2.2 ความผูกพันของฝ่ายบริหารต่อหลักความเสมอภาค

                   
       การกระทำของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายปกครองนั้นอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ42

                   
       1) การกระทำในลักษณะที่เป็นการออกกฎหมายลำดับรอง ซึ่งได้แก่การออกกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศต่างๆ

                   
       2) การกระทำในลักษณะที่มีผลเป็นการเฉพาะรายหรือเฉพาะบุคคล

                   
       การกระทำของฝ่ายปกครองในลักษณะการออกกฎหมายลำดับรองต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจและอยู่ภายในกรอบของกฎหมายแม่บทที่ให้อำนาจ หากการกระทำของฝ่ายปกครองนั้นอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายแม่บทก็ย่อมถือว่ากฎหมายลำดับรองนั้นไม่ขัดกับหลักความเสมอภาค เว้นแต่กฎหมายแม่บทที่ให้อำนาจนั้นเองที่ขัดต่อหลักความเสมอภาค

                   
       ส่วนกรณีการกระทำของฝ่ายปกครองในการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของกฎหมายนั้น โดยหลักการกระทำของฝ่ายปกครองเป็นการกระทำที่มีผลเป็นเฉพาะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเท่านั้น ดังนั้นการกระทำของฝ่ายปกครองจะละเมิดหลักความเสมอภาคได้ก็ต่อเมื่อฝ่ายปกครองได้ปฏิบัติต่อกรณีเฉพาะที่มีข้อเท็จจริงเหมือนกันให้แตกต่างกัน โดยการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันนี้อาจเกิดขึ้นได้สองกรณี คือ กรณีแรกเป็นกรณีที่กฎหมายให้อำนาจแก่ฝ่ายปกครองในการใช้ดุลพินิจในการเลือกใช้มาตรการใดมาตรการหนึ่ง หรือในกรณีที่สองเป็นกรณีที่กฎหมายไม่ได้กำหนดอำนาจดุลพินิจให้เจ้าหน้าที่เลือกปฎิบัติกล่าวคือมีการกำหนดกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติไว้อย่างชัดแจ้งผูกพันให้ฝ่ายปกครองต้องปฏิบัติตามหรือไม่มีอำนาจดุลพินิจในการเลือกปฏิบัติ หากไม่ได้มีการดำเนินการตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งก็จะเป็นการปฏิบัติอย่างไม่เสมอภาคในลักษณะที่เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้

                   
       ขอบเขตดุลพินิจของฝ่ายปกครองตามหลักความเสมอภาคนั้น ถือเป็นข้อจำกัดการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครอง โดยการใช้ดุลพินิจนั้นต้องผูกพันต่อการปฏิบัติที่ผ่านมาซึ่งเป็นกรณีที่มีข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน เว้นแต่จะมีเหตุผลที่สามารถแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะด้องใช้ดุลพินิจแตกต่างจากที่เคยปฏิบัติมา43

                   
       หากเกิดกรณีละเมิดหลักความเสมอภาคของฝ่ายปกครอง โดยฝ่ายปกครองไม่ยึดถือหลักการปฏิบัติเช่นเดียวกันในกรณีที่มีข้อเท็จจริงเหมือนกันโดยไม่มีเหตุผลอันอาจรับฟังได้ บุคคลผู้ได้รับการกระทบสิทธิอาจโต้แย้งการกำหนดภาระแก่บุคคลนั้นหรืออาจเรียกร้องประโยชน์จากฝ่ายปกครอง หากกรณีการให้ประโยชน์นั้นขัดหลักความเสมอภาค
       


                   
       3.1.2.3 ความผูกพันฝ่ายตุลาการต่อหลักความเสมอภาค

                   
       ความผูกพันของฝ่ายตุลาการต่อหลักความเสมอภาคนั้นอาจแยกพิจารณาออกได้เป็น 3 ประการ คือ44

                   
       1) ความเสมอภาคของประชาชนต่อการฟ้องศาล โดยประชาชนมีสิทธิที่จะโต้แย้งและฟ้องร้องการกระทำของรัฐ อันเป็นสิทธิที่รับรองคุ้มครองให้ประชาชนสามารถฟ้องศาลได้ นอกจากนี้ยังรวมถึงการนำบรรดาข้อพิพาทระหว่างประชาชนด้วยกันขึ้นสู่ศาลได้โดยไม่มีข้อจำกัด ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายวิธีพิจารณาความของเรื่องนั้นๆ

                   
       2) ความเสมอภาคของประชาชนต่อหน้าศาล โดยประชาชนมีความเท่าเทียมกันในการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อหน้าศาล ซึ่งเป็นไปตาม “หลักการรับฟังคู่ความ” โดยในการดำเนินกระบวนการพิจารณานั้นต้องเปิดโอกาสให้แก่คู่กรณียกข้อต่อสู้ของตนขึ้นกล่าวอ้างในคดีได้ และศาลต้องเปิดโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในการรับฟังคู่ความทั้งสองฝ่าย และต้องให้ความสำคัญแก่บุคคลผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยว่าเป็น ประธานแห่งคดีหรือบุคคลสำคัญในคดี หากกระบวนการพิจารณาคดีดำเนินการโดยไม่คำนึงถึงหลักการดังกล่าวจะถือเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันขัดกับหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และยังขัดกับความเสมอภาคของประชาชนต่อหน้าศาลด้วย

                   
       ความเสมอภาคในการใช้กฎหมายโดยศาล เป็นความผูกพันของผู้พิพากษาต่อกฎหมายต่างๆอย่างเท่าเทียมกันในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน โดยหลักดังกล่าวเป็นข้อห้ามมิให้ศาลใช้อำนาจโดยอำเภอใจ หลักความเสมอภาคในการใช้กฎหมายโดยศาลนั้นอาจจำแนกเป็น 3 รูปแบบ คือ

                   
       (1) บุคคลย่อมมีสิทธิเรียกร้องอย่างเท่าเทียมกันกับการไม่ให้ใช้กฎหมายให้แตกต่างไปจากบทบัญญัติของกฎหมาย

                   
       (2) บุคคลย่อมมีสิทธิเรียกร้องอย่างเท่าเทียมกันกับการให้ใช้บทบัญญัติของกฎหมายกับคดีของตนอย่างเคร่งครัด

                   
       (3) ความมีสิทธิในการเรียกร้องอย่างเท่าเทียมกันกับการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ดุลพินิจอย่างปราศจากข้อบกพร่อง


       4. การตรวจสอบกฎหมายตามหลักความเสมอภาค

                   
       การพิจารณาว่ากฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งละเมิดต่อหลักความเสมอภาคหรือไม่ จะต้องตรวจสอบในประเด็นต่อไปนี้45

                   
       1) กฎหมายฉบับนั้นได้กำหนดให้มีการปฏิบัติให้แตกต่างกันสำหรับข้อเท็จจริงที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือไม่

                   
       2) การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันนั้นอาจให้เหตุผลตามรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ โดยมีข้อพิจารณาในการตรวจสอบดังนี้

                   
       (1) การบัญญัติกฎหมายดังกล่าวนั้นเป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการของการบัญญัติกฎหมายหรือไม่

                   
       (2) กฎหมายฉบับดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับหลักเงื่อนไขการบัญญัติกฎหมายของรัฐสภาหรือไม่ กล่าวคือกฎหมายฉบับนั้นฝ่ายนิติบัญญัติได้กำหนดสิ่งอันเป็นสาระสำคัญเอง โดยมิได้มอบให้เป็นอำนาจของฝ่ายปกครอง

                   
       (3) ข้อพิจารณาเกี่ยวกับหลักความเสมอภาค
       

                   
       (3.1) การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันนั้นมีความมุ่งหมายเพื่อวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

                   
       (3.2) ในกรณีของเงื่องไขพิเศษตามหลักความเสมอภาคเฉพาะเรื่องการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันในเรื่องนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขของหลักความเสมอภาคเฉพาะเรื่องนั้นๆหรือไม่ เช่น การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันนั้นละเมิดหลักเกณฑ์ของข้อห้ามมิให้เลือกปฏิบัติหรือไม่ หรือการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันนั้นมีความเหมาะสมและมีความจำเป็นเพื่อการบรรลุวัตถุประสงค์หรือตามหลักความได้สัดส่วนหรือไม่

                   
        (4) การตรวจสอบเนื้อหาของกฎหมายกับหลักความเสมอภาค มีการตรวจสอบ 4 ระดับดังนี้46

                   
        (4.1) ประการแรกฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องมีความชัดเจนต่อความแตกต่างที่ปรากฏในทางข้อเท็จจริงอย่างสมบูรณ์และปราศจากความผิดพลาด และจะต้องประเมินพื้นฐานที่ถูกต้องเป็นจริงนั้นโดยเจตจำนงของฝ่ายนิติบัญญัติเองในการที่กำหนดกฎเกณฑ์ดังกล่าว ในขณะเดียวกันการกำหนดกลุ่มบุคคลที่จะใช้ในการเปรียบเทียบก็ดีหรือการกำหนดลักษณะขององค์ประกอบก็ดี ย่อมขึ้นกับความมุ่งหมายของกฎเกณฑ์ในเรื่องนั้นๆ

                   
        (4.2) ความเหมือนกันหรือความแตกต่างกันของเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่นำไปสู่การบัญญัติกฎหมายนั้นจะต้องมีการประเมินภายในขอบเขตของหลักกฎหมายทั่วไป และหากมีการกำหนดให้แตกต่างความแตกต่างนั้นจะต้องสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่ได้กำหนดได้แล้ว ในกรณีเป็นไปตาม “หลักความสอดคล้องหลักกฎหมายทั่วไป” หลักกฎหมายทั่วไปนั้นมีความสำคัญต่อการประเมินตามความเสมอภาคคือบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังรวมถึงบทบัญญัติของกฎหมายต่างๆที่ได้รับหลักการมาจากรัฐธรรมนูญ

                   
        (4.3) นอกเหนือจาก “หลักความสอดคล้องกับกฎหมายทั่วไป” แล้วกฎเกณฑ์ของกฎหมายในเรื่องนั้นจะต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์เฉพาะของกฎหมายในขอบเขตเรื่องนั้นๆด้วย หรือที่เรียกว่า “หลักความสอดคล้องกับหลักกฎหมายเฉพาะเรื่อง”

                   
        (4.4) ในการบัญญัติกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง การตัดสินใจของฝ่ายนิติบัญญัติบนพื้นฐานของความสอดคล้องกันของระบบกฎหมายจะต้องสอดคล้องกับความคิดพื้นฐานและทำให้แต่ละองค์ประกอบของกฎหมายนั้นมีผลในทางปฏิบัติ

                   
       (5) องค์ประกอบและผลในทางกฎหมายในเรื่องดังกล่าวได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนหรือไม่
       

                   
        จากหลักเกณฑ์ของหลักความเสมอภาคที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้นถือได้ว่าหลักความเสมอภาคเป็นหลักเกณฑ์อันสำคัญยิ่งประการหนึ่งที่จะทำให้การใช้สิทธิเสรีภาพบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายได้รับรองและคุ้มครอง โดยจะก่อให้เกิดการใช้สิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกันของประชาชนทุกผู้ทุกคน และเกิดความยุติธรรมแก่ทุกกรณีจากการที่รัฐมีความผูกพันที่ต้องออกกฎเกณฑ์มาใช้กับประชาชน การบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ออกมานั้นแก่ประชาชน และการเยียวยาสิทธิให้แก่ประชาชน ทั้งนี้การที่จะบรรลุผลตามหลักความเสมอภาคได้นั้นย่อมต้องอาศัยความเข้าใจและตระหนักในสิทธิของประชาชนในการกล่าวอ้างถึงหลักความเสมอภาคต่อรัฐ และขณะเดียวกันองค์กรของรัฐก็ต้องปฏิบัติต่อประชาชนโดยเคารพหลักความเสมอภาคเป็นสำคัญ จึงจะทำให้หลักความเสมอภาคเกิดผลในทางปฏิบัติได้


       



       จบ
       


       
       


       
เชิงอรรถ


       
                   
       29. สมคิด เลิศไพฑูรย์ ,หลักความเสมอภาค,วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 (มิถุนายน 2543) หน้า 178-181.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       30. สมคิด เลิศไพฑูรย์.เรื่องเดียวกัน.หน้า177-178.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       31. คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ 25/2543 เรื่องไม่ได้รับความเป็นธรรมในการสอบคัดเลือกเข้าเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.อ้างถึงในสมคิด เลิศไพฑูรย์.เรื่องเดียวกัน.หน้า181.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       32. คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ 13/2540
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       33. คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ 27/2542 เรื่องการพิจารณาเลื่อนขั้นค่าจ้างลูกจ้างประจำไม่ชอบด้วยกฎหมาย
       
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       34. คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ 24/2541
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       35. คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ 118/2540
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       36. วิษณุ เครืองาม.กฎหมายรัฐธรรมนูญ.พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ : นิติธรรม),2530
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       37. บรรเจิด สิงคะเนติ,หลักพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญใหม่,หน้า67.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       38. เรื่องเดียวกัน,หน้า68.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       39. เรื่องเดียวกัน,หน้า110.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       40. บรรเจิด สิงคะเนติ,หลักพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญใหม่,หน้า125-135.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       41. Pieroth/Schlink, Grundrechte-Staatsrecht II , 9.Aufl., S, 162 อ้างถึงในบรรเจิด สิงคะเนติ,หลักพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญใหม่,หน้า 130.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       42. บรรเจิด สิงคะเนติ.สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เรื่องหลักความเสมอภาค.(กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2543)หน้า 29.
       
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       43. Maunz/Zippelius,Deutsches Stattsrecht,280 Aufl.,S.218 อ้างถึงในบรรเจิด สิงคะเนติ,หลักพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญใหม่,หน้า131.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       44. บรรเจิด สิงคะเนติ.สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เรื่องหลักความเสมอภาค.(กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2543)หน้า 33-36.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       45. Pieroth/Schlink, Grundrechte-Staatsrecht II , 9.Aufl., S, 132 อ้างถึงในบรรเจิด สิงคะเนติ,หลักพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญใหม่,หน้า 135-137.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       46. Paul Kirchhof, Gleichheit vor dem Grundgesetz, NJW 1987, S.2356 อ้างถึงในบรรเจิด สิงคะเนติ,เรื่องเดียวกัน,หน้า 136-137.
       
[กลับไปที่บทความ]


       


       
       


       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2547


       



หน้าที่แล้ว
1 | 2 | 3

 
 
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544