หน้าแรก บทความสาระ
หลักความเสมอภาค
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์
3 มกราคม 2548 18:50 น.
 
หน้าที่แล้ว
1 | 2 | 3
หน้าถัดไป

       
       
            
       2.1.6 การปฏิบัติให้แตกต่างกันอันเนื่องมาจากระบบที่แตกต่างกัน

                   
       การปฏิบัติให้แตกต่างกันนั้นอาจมีผลสืบเนื่องจากการมีระบบที่แตกต่างกัน ดังนั้นการจะพิจารณาเปรียบเทียบว่ามีการปฏิบัติเท่าเทียมกันหรือไม่ ต้องมีการเปรียบเทียบว่าอยู่ในระบบเดียวกันหรือไม่ เช่น การที่กำหนดให้ข้าราชการ ทหาร หรือตำรวจ มีสิทธิในการประท้วงการนัดหยุดงานเพื่อต่อรองค่าจ้างหรือเงินเดือนของข้าราชการ ซึ่งแตกต่างไปจากระบบของเอกชนที่ให้ลูกจ้างมีสิทธิที่ใช้การประท้วง การนัดหยุดงานตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นเครื่องมือในการต่อรอง เรื่องเงื่อนไขในการจ้างได้ ในกรณีนี้มิอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันอันเป็นขัดต่อหลักความเสมอภาค ทั้งนี้เพราะระบบของราชการกับระบบของภาคเอกชนนั้นมีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนั้น ในบางกรณีจึงไม่อาจจะนำระบบที่แตกต่างกันมาพิจารณาเปรียบเทียบกับการปฏิบัติที่แตกต่างกันได้16


                   
       2.1.7 การปฏิบัติให้แตกต่างกันอันเนื่องมาจากประเพณี

                   
       ขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกัน อาจเป็นเหตุผลในการปฏิบัติให้แตกต่างกัน โดยการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมนั้นต้องไม่ยึดหลักการปฏิบัติกันมายาวนานเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาความถูกต้อง แต่จะต้องใช้หลักความยุติธรรมของประชาชนในขณะปัจจุบันเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ตัวอย่างเช่น สถาบันการศึกษาของรับแห่งหนึ่งได้ตั้งมาเป็นเวลายาวนานมาก ซึ่งในขณะที่ตั้งนั้นมีความมุ่งหมายเพื่อจะให้เฉพาะลูกหลานของข้าราชการเท่านั้นได้ศึกษาเล่าเรียน ต่อมาเมื่อการศึกษาเปิดกว้างขึ้นสำหรับการรับบุคคลอื่นเข้าศึกษา แต่สถาบันดังกล่าวก็ยังกำหนดไว้ว่าผู้ที่เป็นข้าราชการของหน่วยงานนั้นย่อมได้รับสิทธิพิเศษในการคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันแห่งนั้น ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่าการยึดถือประเพณีที่ปฏิบัติมาอย่างยาวนานของสถาบันการศึกษาแห่งนั้นไม่อาจจะใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาหลักความเสมอภาคได้ เพราะการพิจารณาหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องอาศัยหลักความยุติธรรมที่เป็นนอยู่ในปัจจุบันเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเป็นต้น17


                   
       2.2 หลักความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมาย18

                   
        หลักความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมายได้ปรากฎในรูปแบบหลากหลายแตกต่างกันออกไปดังนี้


                   
        2.2.1 ความเสมอภาคในกระบวนการยุติธรรม

                   
        ความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมายและความเสมอภาคในกระบวนการยุติธรรมมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และในบางกรณีก็ผสมผสานกันจนกล่าวได้ว่าความเสมอภาคในกระบวยการยุติธรรมเป็นกรณีเฉพาะของการนำหลักความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมายมาใช้ ตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส วินิจฉัยว่าการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้พิพากษาศาลอาญานายเดียวสามารถพิจารณาคดีลหุโทษทั้งหลายได้ โดยมีข้อยกเว้นให้เป็นอำนาจของอธิบดีผู้พิพากษาที่จะเป็นผู้กำหนดให้คดีนั้นอาจพิจารณาโดยองค์คณะผู้พิพากษาได้ กฎหมายดังกล่าวย่อมขัดกับหลักความเสมอภาคในกระบวนการยุติธรรม เพราะกฎหมายดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการที่ประชาชนจะตกอยู่ภายใต้กระบวนการที่เหมือนกันหรือรับผิดตามกฎหมายอย่างเดียวกัน หรือในกรณีที่กฎหมายฉบับหนึ่งต้องการคุ้มครองและปกป้องเสรีภาพของบุคคลจึงบัญญัติให้คู่ความในคดีแพ่งสามารถร้องขอต่อศาลให้พิจารณาใหม่ได้ในกรณีที่มีเหตุผลที่มีน้ำหนักว่าการร้องขอดังกล่าวมิได้มีการยกขึ้นอ้างในศาลที่พิจารณาคดีครั้งแรกหรือกรณีที่มีเหตุผลที่มีน้ำหนักว่าบุคคลที่ได้รับความเสียหายมิได้ปรากฏตัวในศาลที่พิจารณาคดีครั้งแรก ซึ่งตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสเห็นว่าการขอให้พิจารณาคดีใหม่ดังกล่าวของผู้เสียหายก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคในกระบวนการยุติธรรมเพราะผู้เสียหายอาจใช้สิทธิดังกล่าวหรือไม่ก็ได้ในขณะที่ผู้ถูกฟ้องเป็นจำเลยอาจได้รับประโยชน์หรือไม่ได้รับประโยชน์จากการพิจารณาครั้งที่สองของศาลก็ได้


                   
        2.2.2 ความเสมอภาคในภาระสาธารณะ

                   
        ตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสได้วินิจฉัยถึงหลักความเสมอภาคในเรื่องภาษีอันเป็นภาระของสาธารณะชนไว้ในหลายกรณี โดยเห็นว่าฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจที่จะกำหนดฐานภาษีได้เองโดยคำนึงถึงหลักความเสมอภาค อย่างไรก็ตาม ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีที่แตกต่างกันโดยคำนึงถึงลักษณะพิเศษของกิจกรรมที่หลากหลายของผู้ใช้แรงงานอิสระได้ เช่นเดียวกับการกำหนดอัตรายกเว้นที่แตกต่างกันโดยคำนึงถึงผลประกอบการ การกำหนดอัตราภาษีที่แตกต่างกัน หรือการให้ประโยชน์ทางภาษีด้วยมาตรการกระตุ้นให้มีการจัดตั้งและพัฒนามูลนิธิหรือสมาคมทางวัฒนธรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ส่วนรวมไม่ถือว่าขัดกับหลักความเสมอภาค


                   
        2.2.3 ความเสมอภาคในการทำงานภาครัฐ

                   
        โดยหลักทั่วไปนั้นถือว่าการสอบแข่งขันเป็นวิธีการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานภาครัฐที่เหมาะสมและเสมอภาคที่สุด อย่างไรก็ตาม ตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสไม่ถือว่าการสอบแข่งขันเป็นวิธีการเพียงวิธีการเดียวที่จะคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานภาครัฐเท่านั้น ดังนั้นการที่กำหนดให้สมาชิกสภาท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปี ผู้บริหารสหภาพแรงงาน ผู้บริหารสมาคมที่มีวัตถุประสงค์ในการทำประโยชน์ร่วมกันหรือผู้บริหารองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือกันระหว่างสมาชิกเป็นผู้มีสิทธิสอบเข้าโรงเรียนการบริหารแห่งชาติจึงไม่ขัดกับหลักความเสมอภาค หรือการรับบุคคลากรด้านการตรวจสอบและควบคุมจากบุคคลภายนอกหน่วยงานเท่านั้นก็ไม่ถือว่าขัดกับหลักความเสมอภาคเช่นกัน ตุลาการรัฐธรรมนูญยังวินิฉัยว่าการกำหนดให้รับบุคคลากรด้านการต่างประเทศในอัตราส่วน 5% จากบุคคลที่มิได้เป็นข้าราชการแต่ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานการฑูตที่ทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือนไม่ขัดกับหลักความเสมอภาคในการทำงานภาครัฐ แต่การกำหนดหลักเกณฑ์ในการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งระหว่างบุคคลในระดับหรือประเภทเดียวกันแตกต่างกันออกไป ศาลปกครองฝรั่งเศสเห็นว่าขัดกับหลักความเสมอภาค


                   
        2.2.4 ความเสมอภาคในการเลือกตั้ง

                   
       ตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสได้วินิจฉัยเรื่องนี้ไว้โดยเห็นว่า ในการเลือกตั้งบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลแรงงาน หากกฎหมายกำหนดให้นายจ้างแต่ละคนสามารถออกเสียงได้เท่ากับจำนวนลูกจ้างที่ตนเองมีอยู่แต่ไม่เกิน 50 เสียงนั้น เป็นการขัดกับหลักความเสมอภาคและไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายเพราะในการเลือกตั้งผู้พิพากษาในศาลหนึ่งนั้นการที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวนลูกจ้างมากกว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนอื่น ไม่ถือว่าเป็นเหตุที่จะมีสิทธิออกเสียงมากกว่าคนอื่นได้ นอกจากนี้การกำหนดโควต้าของผู้ได้รับเลือกตั้งตามเพศถือว่าขัดกับหลักความเสมอภาค ในส่วนที่เกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น เดิมทีศาลฎีกาของประเทศสหรัฐอเมริกาถือว่าเป็นเรื่องทางการเมืองจึงไม่รับพิจารณา อย่างไรก็ตาม ต่อมาศาลได้เปลี่ยนแนวคำพิพากษาดังกล่าว โดยพิพากษาในคดี BAKER c/CARR วันที่ 26 มีนาคม 1962 ว่าศาลมีอำนาจพิจารณาว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งทำให้จำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งในแต่ละเขตแตกต่างกันหรือไม่ และคำพิพากษาในคดี DAVID c/BANDEMER วันที่ 30 มิถุนายน 1986 ที่ศาลยืนยันอำนาจที่จะตรวจสอบว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งที่มีลักษณะไม่เป็นกลางหรือไม่ เช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันที่ได้วินิจฉัยในคำพิพากษาลงวันที่ 22 พฤษภาคม 1963 ยืนยันถึงความเท่าเทียมกันของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่ไม่เสมอภาคอย่างชัดแจ้งหรือการแบ่งเขตเลือกตั้งที่เป็นไปตามอำเภอใจ


                   
       2.2.5 ความเสมอภาคในการรับบริการสาธารณะ

                   
       หลักความเสมอภาคนั้นไม่ใช่หลักความเป็นเอกภาพคือไม่ใช่การปฏิบัติที่เหมือนกันทุกกรณีแต่เป็นความเสมอภาคแบบสัดส่วนคือเป็นการปฏิบัติที่เหมือนกันในสถานการณ์เช่นเดียวกัน ดังนั้นการปฏิบัติต่อผู้ใช้บริการสาธารณะอย่างแตกต่างกันตามหลักความเสมอภาคแบบสัดส่วนก็ต้องสามารถอธิบายถึงความสัมพันธ์อันแตกต่างของแต่ละสถานการณ์ที่ได้รับการปฏิบัติอย่างแตกต่างกันได้ ตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสได้วินิจฉัยเรื่องนี้ว่าการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมของเรือข้ามฟากระหว่างจังหวัด La Rochelle กับเกาะ Re แตกต่างกันระหว่างคนอาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่กับคนอาศัยอยู่บนเกาะ โดยคนที่อาศัยอยู่บนเกาะได้รับส่วนลดนั้นถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่แตกต่างกันเพราะสถานการณ์ที่แตกต่าง เช่นเดียวกับการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมของผู้ใช้บริการที่อาศัยหรือมีที่ทำงานในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จัดทำบริการสาธารณะแตกต่างไปจากอัตราของบุคคลอื่น ย่อมไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาค แต่ในกรณีที่เทศบาลกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเชื้อชาติของบุคคลที่จะได้รับสวัสดิการสังคมถือว่าขัดหลักความเสมอภาค


                   
       
       2.3 บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันรับรองหลักแห่งความเสมอภาค

                   
       จากสาระสำคัญอันเป็นข้อห้ามเลือกปฏิบัติอันนำมาสู่หลักความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมายนั้นประเทศต่างๆได้นำแนวคิดดังกล่าวมาเป็นหลักพื้นฐานอันนำไปสู่การการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยได้ระบุไว้ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายแม่บทในการปกครองประเทศ ดังนั้นจากผลของความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญจึงทำให้หลักแห่งความเสมอภาคผูกพันองค์กรของรัฐให้ต้องปฏิบัติตาม และปัจจุบันรัฐธรรมนูญของเกือบทุกประเทศทั่วโลกได้รับรองหลักการดังกล่าวไว้อย่างแจ้งชัด ดังจะได้ยกตัวอย่างบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอันรับรองหลักแห่งความเสมอภาค ดังนี้


                   
       2.3.1 บทบัญญัติอันรับรองหลักแห่งความเสมอภาคในกฎหมายฝรั่งเศส19

                   
       หลักแห่งความภาคได้ปรากฏอยู่ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ลง
       วันที่ 26 สิงหาคม 1789 ดังนี้

                   
       “...สภานิติบัญญัติแห่งชาตินี้ จึงรับรองและประกาศสิทธิต่อไปนี้ของมนุษย์และพลเมืองแต่ละคนภายใต้การคุ้มครองของพระเจ้า

                   
       มาตรา 1 มนุษย์ทุกคนเกิดมาและดำรงอยู่อย่างมีอิสระและเสมอภาคกันในสิทธิ การแบ่งแยกทางสังคมจะกระทำได้ก็แต่เพื่อประโยชน์ร่วมกัน

                   
       มาตรา 2 วัตถุประสงค์ของสังคมการเมืองทุกสังคมย่อมเป็นไปเพื่อการคุ้มครองรักษาสิทธิตามธรรมชาติ ซึ่งไม่มีอายุความของมนุษย์ สิทธิเหล่านี้ได้แก่ เสรีภาพ กรรมสิทธิ์ ความมั่นคงปลอดภัยและการต่อต้านการกดขี่ข่มเหง

                   
       มาตรา 6 ...กฎหมายต้องเป็นสิ่งที่เหมือนกันสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองหรือการลงโทษ พลเมืองย่อมเสมอภาคกันตามกฎหมาย...” 20

                   
       จากบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าฝรั่งเศสในยุคนั้นได้ตระหนักถึงหลักสิทธิมนุษยชนของปัจเจกชนและนำมาบัญญัติเป็นตัวบทกฎหมาย ถ้าพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่าในช่วงนั้นของฝรั่งเศสเป็นยุคแห่งการปฏิวัติครั้งใหญ่ของฝรั่งเศสอันเกิดจากความไม่พึงพอใจในการปกครองประเทศของผู้ปกครองประเทศที่กดขี่ข่มเหงเอาเปรียบประชาชนและไม่สนใจความเป็นอยู่ของประชาชน เมื่อมีการปฏิวัติเกิดขึ้นในปี 1789 ผู้ก่อการปฏิวัติจึงต้องการประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรรับรองสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนเพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงและการรับประกันแก่ปัจเจกชนว่าจะไม่ได้รับการข่มเหงจากชนชั้นปกครองอีกต่อไปและถ้าสังเกตชื่อของคำประกาศดังกล่าวในภาษาฝรั่งเศสที่เขียนว่า “Declation des droits de l’homme et du citoyen” จะเห็นว่าเป็นการรับรองสิทธิมนุษยชนของประชาชนแต่ละคนและของพลเมืองแต่ละคน ดังที่ Robespierre21 กล่าวไว้ว่า “พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้ถูกทำลายลงแล้ว ชนชั้นขุนนางชนชั้นพระได้ปลาสการไปแล้ว ยุคแห่งความเสมอภาคได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว” 22 การประกาศรับรองดังกล่าวเป็นการยกเลิกกลุ่มอภิสิทธิ์ชนตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงประมุขแห่งประเทศและเป็นการประกาศรับรองความเสมอภาคของปัจเจกชนโดยกฎหมายซึ่งก็หมายความว่าทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย ผู้ปกครอง ผู้ใช้กฎหมายต้องปฏิบัติและใช้กฎหมายแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน

                   
       ถ้าพิจารณาคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ. 1789 ของฝรั่งเศส23 ได้แสดงถึงที่มาในส่วนที่เกี่ยวกับหลักแห่งความเสมอภาคอยู่ 2 ประการ คือ

                   
       ประการแรก นั้นมาจากนั้นมาจากแนวความคิดทางปรัชญาแห่งสำนักกฎหมายฝ่ายธรรมชาติประกอบกับแนวคิดปัจเจกชนนิยม

                   
       ประการที่สอง มาจากสภาพความกดดันของสังคมในยุคนั้นอันนำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องมีการรับรองสิทธิมนุษยชนดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นจึนถึงทุกวันนี้ คำประกาศดังกล่าวเป็นเอกสารและหลักการทางการเมืองสมัยใหม่และทำให้ประเทศฝรั่งเศสได้ชื่อว่าเป็นประเทศแห่งสิทธิมนุษยชนมาจนถึงทุกวันนี้

                   
       การประกาศรับรองหลักแห่งความเสมอภาคที่ปรากฏอยู่ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ. 1789 ได้เป็นต้นแบบของกฎหมายฝรั่งเศสที่ตามมาภายหลังว่าการบัญญัติตัวบทกฎหมายใดนั้นจะต้องคำนึงและเคารพถึงหลักการแห่งความเสมอภาคที่ประกาศในคำประกาศดังกล่าวด้วยดังปรากฏอยู่ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญปี 1946 วรรค 3 ที่บัญญัติว่า ”กฎหมายให้หลักประกันว่าสิทธิของผู้หญิงเท่าเทียมกันกับสิทธิของผู้ชาย” และในคำปรารภของรัฐธรรมนูญปี 1958 วรรค 3 บัญญัติว่า “อาศัยอำนาจตามหลักการดังกล่าวและหลักเสรีภาพในการตัดสินใจของประชาชน สาธารณรัฐได้มอบดินแดนโพ้นทะเลแสดงเจตจำนงที่จะเข้าร่วมกับสาธารณรัฐสถาบันใหม่ได้จัดตั้งขึ้นบนพื้นฐานของอุดมคติร่วมกันแห่งเสรีภาพ เสมอภาค และภารดรภาพ...” และในมาตรา 1 ถัดมาก็ได้บัญญัติรับรองหลักแห่งความเสมอภาคอีก “ฝรั่งเศส...รับรองถึงความเสมอภาคตามกฎหมายของประชาชน โดยไม่แบ่งแยกแหล่งกำเนิด เชื้อชาติ หรือศาสนา

                   
       ด้วยเหตุนี้หลักแห่งความเสมอภาคจึงเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญอันหนึ่งของกฎหมายมหาชนฝรั่งเศส เช่น ความเสมอภาคทางกฎหมาย ความเสมอภาคในการได้รับการบริการจากรัฐ ความเสมอภาคในการรับเข้าทำงานจากรัฐและถือว่าหลักแห่งความเสมอภาคเป็นหลักพื้นฐานของกฎหมายมหาชนฝรั่งเศส24 เป็นต้น ดังนั้นองค์กรของรัฐจึงรับรองและต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดด้วย เช่น ศาลปกครองฝรั่งเศสได้ตัดสินในคดี Sieur Roubeau ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 1913 โดยรับรอง”หลักแห่งความเสมอภาคของพลเมืองทุกคนต่อกฎเกณฑ์ของฝ่ายปกครอง” และในคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสในวันที่ 27 ธันวาคม 1973 ได้กล่าวว่า “โดยพิจารณาจากบทบัญญัติสุดท้ายและวรรคที่เพิ่มเติมขึ้นโดยมาตรา 180 ของประมวลกฎหมายภาษีนั้น...มีความพยายามที่จะสร้างการแบ่งแยกระหว่างพลเมืองในส่วนที่เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะนำพยานหักล้างคำตัดสินของสำนักภาษีของฝ่ายปกครอง บทบัญญัติมาตราดังกล่าวนั้นขัดกับหลักความเสมอภาคตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองปี 1789 และที่ได้รับการบัญญัติรับรองอย่างสมเกียรติในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ...” และในวันที่ 22 มกราคม 1990 ตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสได้ตัดสินรับรองหลักการดังกล่าวในคดีที่สำคัญอันเกี่ยวกับมาตรฐานขั้นต่ำที่สำคัญเกี่ยวกับบุคคลต่างชาติผู้สูงอายุว่า
       ”พิจารณาเห็นว่าผู้บัญญัติกฎหมายสามารถบัญญัติกฎหมายลักษณะพิเศษที่เกี่ยวกับคนต่างชาติโดยมีเงื่อนไขที่ต้องเคารพ...เสรีภาพและสิทธิขั้นพื้นฐานที่มีศักดิ์เทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญอันเป็นที่ยอมรับนับถือโดยทุกคนที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรสาธารณรัฐ”
       


                   
       2.3.2 บทบัญญัติอันรับรองหลักแห่งความเสมอภาคในกฎหมายเยอรมัน25

                   
        หลักความเสมอภาคของเยอรมันได้รับการบัญญัติไว้ในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญโดยบัญญัติไว้ดังนี้


                   
       มาตรา 3 (ความเสมอภาค)

                   
       “ (1) บุคคลย่อมเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย

                   
        (2) ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน ให้รัฐดำเนินการสนับสนุนเพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งความมีสิทธิเท่าเทียมกันของหญิงและชาย และก่อให้เกิดผลในการขจัดความไม่เท่าเทียมกันที่มีอยู่

                   
        (3) บุคคลไม่อาจจะถูกเลือกปฏิบัติได้เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศ เชื้อชาติ สัญชาติ ภาษา ถิ่นกำเนิด และเผ่าพันธุ์ ความเชื่อ ความคิดในทางศาสนาหรือการเมือง บุคคลไม่อาจได้รับการปฏิบัติอย่างเสียเปรียบเพราะเหตุแห่งความพิการของบุคคลนั้น”


                   
       รัฐธรรมนูญของเยอรมันได้บัญญัติถึงหลักความเสมอภาคไว้ในมาตรา 3 โดยได้วางหลักการพื้นฐานไว้ดังนี้ กล่าวคือ มาตรา 3 วรรค 1 เป็นการบัญญัติถึงหลักความเสมอภาคทั่วไป หรือที่เรียกว่า “ความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย” กับหลักความเสมอภาคในการบัญญัติกฎหมาย หรือที่เรียกว่า “ความเสมอภาคของกฎหมาย” อันเป็นหลักที่ผูกพันฝ่ายนิติบัญญัติต่อหลักความเสมอภาคซึ่งมีผลมาจากมาตรา 1 วรรค 3 ที่บัญญัติให้ฝ่ายนิติบัญญัติต้องผูกพันต่อสิทธิขั้นพื้นฐาน และความสำคัญของมาตรา 3 วรรค 1 ได้ขยายผลไปเกือบทุกๆเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการกระทำของฝ่ายปกครองที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่เอกชน เช่น มาตรการในการให้เงินสนับสนุนแก่กิจการของเอกชนเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการกระทำของฝ่ายปกครองที่ฝ่ายปกครองมีดุลพินิจในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้หลักความเสมอภาคยังมีบทบาทสำคัญในขอบเขตของกฎหมายเกี่ยวกับการประกันสังคม กฎหมายภาษี และกฎหมายแรงงาน เป็นต้น

                   
       มาตรา 3 วรรค 2 เป็นเรื่องหลักความเสมอภาคเฉพาะเรื่อง ที่กล่าวถึงความเสมอภาคเฉพาะเรื่องระหว่างชายและหญิง นอกจากนี้หลักความเสมอภาคเฉพาะเรื่องยังมีบัญญัติไว้ในมาตราต่างๆของรัฐธรรมนูญเยอรมันอีกหลายมาตรา

                   
       มาตรา 3 วรรค 3 เป็นเรื่องหลักข้อห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งในมาตรา 3 วรรค 3 นี้ได้ยกตัวอย่างในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา เป็นต้น ที่มิอาจยกเป็นเหตุแห่งการเลือกปฏิบัติได้ เนื่องจากสิทธิดังกล่าวสิทธิอันเป็นศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ที่มิอาจถูกล่วงละเมิดได้โดยประการทั้งปวง นอกจากนี้ หลักความเสมอภาคตามมาตรา 3 วรรค 3 นี้ยังได้มีส่วนสำคัญในการสร้างหลักสำคัญในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เช่น หลักความเสมอภาคของพรรคการเมือง เป็นต้น

                   
       มาตรา 3 นี้เป็นมาตราที่มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับมาตรา 1 (ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์) และมาตรา 2 (เสรีภาพส่วนบุคคล) ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมาตราดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นแนวคิดพื้นฐานแห่งรัฐในการกำหนดขอบเขตของอำนาจมหาชนกับสิทธิของปัจเจกบุคคล ซึ่งองค์กรของรัฐซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจมหาชนต้องคำนึงถึงหลักความเสมอภาคเป็นสำคัญ


                   
       2.3.3 บทบัญญัติอันรับรองหลักความเสมอภาคในระบบกฎหมายไทย

                   
       รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พุทธศักราช 2540) ได้มีการบัญญัติในเรื่องความเสมอภาคไว้ในมาตรา 30 ว่า

                   
       “บุคคลย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

                   
       ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

                   
       การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา อายุ สภาพทางกาย หรือสุขภาพ สภาวะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้

                   
       มาตราการที่รัฐธรรมนูญกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม”

                   
       จากบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นเป็นการนำมาจากมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญสหพันธรัฐเยอรมันฉบับปัจจุบัน โดยวรรคแรกเป็นการรับรองหลักความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมาย (Equality before the law) วรรคสองรับรองความเสมอภาคระหว่างเพศ และวรรคสามกำหนดห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทยก็ไปไกลกว่าของประเทศสหพันธรัฐเยอรมัน โดยได้มีการบัญญัติไว้ในมาตรา 30 วรรคท้าย รับรองให้รัฐสามารถเลือกปฏิบัติอันเป็นการลดความเลื่อมล้ำที่ดำรงอยู่ได้ดังเช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐอิตาลี และสหพันธรัฐออสเตรีย นอกจากนี้รัฐธรรมนูญของไทยฉบับปัจุบันยังได้กำหนดสิทธิต่างๆขึ้นมาให้ซึ่งต้องเคารพหลักความเสมอภาคด้วย เช่น มาตรา 43 วรรคแรก“สิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” มาตรา 52 วรรคแรก “สิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณะสุขที่ได้มาตรฐาน” มาตรา 75 วรรคแรก “รัฐต้องอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างรวดเร็วและเท่าเทียมกัน” มาตรา 78 “ต้อง...พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธรณูปการตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ” มาตรา 80 “ต้อง...ส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชาย...” 26เป็นต้น

                   
       จากบทบัญญัติอันรับรองหลักแห่งความเสมอภาค จะสังเกตได้ว่าการระบุบทบัญญัติในกฎหมายนั้นมีวิธีการในการรับรองหลักแห่งความเสมอภาคอยู่สามวิธี คือ27

                   
       วิธีแรก เป็นวิธีที่ใช้โดยทั่วไปที่แม้กฎหมายจะไม่ระบุคำว่า “เสมอกัน” “เสมอภาค” หรือ “เท่าเทียมกัน” ไว้ก็ตามแต่กฎหมายดังกล่าวก็มีลักษณะที่ใช้บังคับกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เช่น มาตรา 19 พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดดำเนินกิจการรับทำการเก็บ ขนหรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยโดยทำเป็นธุรกิจหรือโดยได้รับประโยชน์ตอบแทนด้วยการคิดค่าบริการ...” ซึ่งมีความหมายว่า ห้ามทุกคนโดยเสมอภาค หรือมาตรา 94 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ที่บัญญัติว่า “เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษผู้ใดซึ่งมีหน้าที่...จะต้องจัดให้มีระบบบำบัดอากาศเสีย ระบบบำบัดน้ำเสียหรือระบบกำจัดของเสียอย่างอื่น...” ซึ่งมีความหมายบังคับให้ทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเสมอภาค เป็นต้น
       

                   
       วิธีที่สอง เป็นวิธีที่กฎหมายระบุคำว่า “เสมอกัน” “เสมอภาค” หรืออื่นๆ ในลักษณะเดียวกันอย่างชัดเจน เช่น มาตรา 10 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า “การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกัน ในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย...” หรือในมาตรา 60 ที่ว่า “ให้รัฐ...จัดสรรงบประมาณและทรัพยากรทางการศึกษาอื่นเป็นพิเศษให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความจำเป็นในการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการเป็นพิเศษแต่ละกลุ่ม...โดยคำนึงถึงความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษาและความเป็นธรรม...” เป็นต้น
       

                   
       วิธีที่สาม เป็นวิธีที่กฎหมายบัญญัติในทางตรงกันข้ามโดยห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติ เช่น มาตรา 9 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งใน...คำพิพากษาเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย...เนื่องจากกระทำโดย...มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม...” เป็นต้น

                   
       2.3.3.1 ข้อยกเว้นของหลักความเสมอภาคตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

                   
       ตามหลักทั่วไปหลักความเสมอภาคนั้นผูกพันต่อการกระทำของรัฐทุกๆเรื่อง แต่ก็มิได้หมายความว่าต้องปฏิบัติให้เหมือนกันในทุกกรณี ทั้งนี้ต้องพิจารณาความแตกต่างของสาระสำคัญของข้อเท็จจริงประกอบกับต้องคำนึงถึงการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะด้วย ดังนั้นการปฏิบัติให้เหมือนกันโดยมิได้พิจารณาความแตกต่างของข้อเท็จจริงในเรื่องนั้นๆย่อมเป็นการขัดหลักความเสมอภาค อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญก็มีบทบัญญัติหลายเรื่องที่บัญญัติยกเว้นหลักความเสมอภาค เช่น28

                   
       1) เรื่องการคิดคำนวณเพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในบัญชีรายชื่อ ซึ่งตามมาตรา 100 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ ให้ถือว่าไม่มีผู้ใดในบัญชีนั้นได้รับเลือกตั้ง และมิให้นำคะแนนเสียงดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อหาสัดส่วนจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามวรรคสอง

                   
       ในกรณีนี้ยกเว้นหลักความเสมอภาคไว้ 2 กรณี ดังนี้

                   
       กรณีแรก ความเสมอภาคในแง่ของค่าของคะแนนเสียงที่ผู้เลือกตั้งลงให้กับพรรคการเมืองดังกล่าวมิได้ถูกนำมาคิดคำนวณจึงมีผลให้คะแนนดังกล่าวมีค่าเท่ากับศูนย์

                   
       กรณีที่สอง พรรคการเมืองดังกล่าวย่อมไม่อาจเข้าไปมีส่วนในการคิดคำนวณเพื่อให้ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบัญชีรายชื่อ หลักการที่ตัดพรรคการเมืองที่ได้คะแนนรวมจากคะแนนที่ลงให้กับพรรคซึ่งต่ำกว่า 5% ออกนั้น มีความมุ่งหมายเพื่อไม่ให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยในระบบการเมืองมากเกินไป อันจะมีผลต่อระบบการเมืองโดยรวมทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ

                   
       2) การกำหนดคุณสมบัติการเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 107 (3) และสมาชิกวุฒิสภา ตามมาตรา 125 (3) ได้กำหนดให้ผู้มีคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

                   
       3) เรื่องเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภาในการกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริง แสดงความเห็น หรือออกเสียงลงคะแนนย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดมิได้ตามมาตรา 157

                   
       4) เรื่องความคุ้มกันสมาชิกรัฐสภา ตามมาตรา 165 มาตรา 166 และมาตรา 167

                   
       5) การแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามหมวด 10 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

                   
       6) การดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 308 ถึงมาตรา 311


       
       


       
เชิงอรรถ


       
                   
       16. บรรเจิด สิงคะเนติ.สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เรื่องหลักความเสมอภาค.(กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2543)หน้า 21.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       17. บรรเจิด สิงคะเนติ.สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เรื่องหลักความเสมอภาค.(กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2543)หน้า 22.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       18. สมคิด เลิศไพฑูรย์ ,หลักความเสมอภาค,วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 (มิถุนายน 2543) หน้า 171-174.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       19. เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์.”หลักความเสมอภาคตามกฎหมายฝรั่งเศส”.รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub-law.net (กรุงเทพ : สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ,2545),หน้า97-105.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       20. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ.กฎหมายมหาชนเล่ม 3 .(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิติธรรม,2538)หน้า 73-74.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       21. โรเบสปิแอร์เป็นผู้นำกลุ่มมงตาญยารด์คนหนึ่งที่นิยมระบอบสาธารณรัฐ เป็นสมาชิกของคณะกรรมการรักษาความปลอดภัยสาธารณะและเป็นผู้เสนอนโยบายก่อความสยดสยองอันนำไปสู่ยุคแห่งความสยดสยองของฝรั่งเศสที่นำพาความตามมาสู่ประชาชน นักการเมือง ผู้ก่อการปฏิวัติโดยการประหารชีวิตด้วยกิโยตินและในที่สุดโรเบสปิแอร์ก็ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตินเช่นกันในปี 1794
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       22. Olivier Duhamel,Le pouvior politique en France,Paris,Edition du Seuil,p,359.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       23. ถึงแม้คำประกาศดังกล่าวจะได้รับอิทธิพลแรงบันดาลใจและความคิดจากการประกาศอิสรภาพของอเมริกาปีค.ศ.1776 ก็ตาม แต่เนื้อหาและความหมายเต็มไปด้วยปรัชญาว่าด้วยสิทธิตามธรรมชาติโดยเฉพาะความคิดของรุสโซในหนังสือ”สัญญาประชาคม”
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       24. Jean Rivero Les libertes publiques Tome 1 Les Droits de l’homme,Paris,PUF,1997,p.63.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       25. บรรเจิด สิงคะเนติ.หลักพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์.(กรุงเทพ : วิญญูชน,2543)หน้า 107-109.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       26. สมคิด เลิศไพฑูรย์ ,หลักความเสมอภาค,วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 (มิถุนายน 2543) หน้า 176-177.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       27. สมคิด เลิศไพฑูรย์.เรื่องเดียวกัน.หน้า177-178.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       28. บรรเจิด สิงคะเนติ.สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เรื่องหลักความเสมอภาค.(กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2543)หน้า 24-25.
       
[กลับไปที่บทความ]


       


       
       


       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2547


       



หน้าที่แล้ว
1 | 2 | 3
หน้าถัดไป

 
 
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544