|
|
หลักความเสมอภาค 3 มกราคม 2548 18:50 น.
|
1. แนวความคิดของหลักความเสมอภาค
หลักความเสมอภาคถือว่าเป็นหลักพื้นฐานของศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งมนุษย์ย่อมได้รับการรับรองและคุ้มครองจากกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันในฐานะที่เป็นมนุษย์โดยมิต้องคำนึงถึงคุณสมบัติอื่นๆ อาทิเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ถิ่นกำเนิด เป็นต้น และขณะเดียวกันก็ถือได้ว่าหลักความเสมอภาคนี้เป็นหลักที่ควบคุมมิให้รัฐใช้อำนาจของตนตามอำเภอใจโดยการใช้อำนาจของรัฐแก่กลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งรัฐต้องสามารถอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดรัฐจึงกระทำการอันก่อให้เกิดผลกระทบหรือเป็นการให้ประโยชน์แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้นโดยเฉพาะ หากการให้เหตุผลไม่อาจรับฟังได้แสดงว่าการใช้อำนาจของรัฐนั้นเป็นไปตามอำเภอใจ ดังนั้นหลักความเสมอภาคจึงเป็นหลักสำคัญในการรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสามารถนำมาตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการได้
1.1 ที่มาและแนวความคิดของหลักความเสมอภาค
การศึกษาถึงหลักความเสมอภาคนั้นในเบื้องต้นนั้นย่อมต้องศึกษาถึงแนวคิดและพัฒนาการเป็นอันพื้นฐานของหลักความเสมอภาค ดังนี้
1.1.1 รากฐานแนวคิดของหลักความเสมอภาค
แนวคิดทางกฎหมายของหลักความเสมอภาคในปัจจุบันได้รับการรับรองอย่างชัดแจ้งโดยถือว่าบุคคลย่อมมีความเสมอภาคที่จะได้รับการรับรองและคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน (Fairness) ซึ่งหมายถึง หลักความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมาย (Equality before the law) ที่เป็นการยอมรับสิทธิเสรีภาพอันเป็นสาระสำคัญของความเป็นมนุษย์ที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิดและไม่อาจพรากไปได้ จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงการยอมรับตามทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติ (Natural law) ซึ่งผู้ที่มีความคิดเช่นนี้ได้แสดงความคิดเห็นต่อต้านลัทธิสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยต้องการกีดกันพระมหากษัตริย์ไม่ให้ใช้พระราชอำนาจผิดทำนองคลองธรรมโดยอ้างถึงหลักกฎหมายที่ว่า บุคคลทุกคนเกิดมาย่อมเสมอภาคกันและมีสิทธิบางประการ เช่น สิทธิในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน ติดตัวมาสิทธินี้ไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนได้ 1 และหลักกฎหมายธรรมชาตินี้ยังเป็นแนวความคิดที่สอดคล้องกับสิทธิปัจเจกชนนิยม (Individualism) ในสมัยนั้นด้วยโดยได้ให้ความสำคัญกับปัจเจกชนและสิทธิทั้งหลายของปัจเจกชนซึ่งจุดกำเนิดของระบบปัจเจกชนนิยมในทางกฎหมายมหาชนคือ คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองฝรั่งเศส ลงวันที่ 26 สิงหาคม 1789 โดยการปฏิวัติปี 1789 นี้ได้ยกเลิกระบอบกษัตริย์ที่ปกครองด้วยระบบศักดินาซึ่งบุคคลขึ้นอยู่กับฐานันดรและชนชั้นที่ตนสังกัด แต่ผู้ปฏิวัติได้ยกความสำคัญของปัจเจกชนขึ้นแทน โดยคำประกาศนี้ให้ความสำคัญกับคนแต่ละคนรวมทั้งสิทธิเสรีภาพของบุคคลนั้นว่าเป็นหัวใจของสังคม ตามทฤษฎีนี้ถือว่าหัวใจของสังคมอยู่ที่การยอมรับคุณค่าของทุกคนแต่ละคนรวมกันเป็นสังคม รัฐหรือสังคมไม่สามารถก้าวก่ายสิทธิของเขาได้ เว้นเพื่อประโยชน์ส่วนร่วม2 อันจะเห็นได้จากคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมืองปี ค.ศ.1789 ซึ่งมีข้อความว่า มนุษย์เกิดมาและมีชีวิตอยู่โดยอิสระและโดยเสมอกันภายใต้กฎหมายความแตกต่างในสังคมจะมีได้ก็เพื่อประโยชน์อันร่วมกัน ต่อมาความคิดที่ว่ามนุษย์เกิดมาย่อมเสมอภาคกันตามปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนปีค.ศ.1789 นี้ได้รับการยืนยันและขยายความโดยอารัมภบทของรัฐธรรมนูญปี 1946 และปัจจุบันหลักการดังกล่าวได้ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณะรัฐฝรั่งเศสฉบับลงวันที่ 3 มิถุนายน 1958 โดยได้แสดงความยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนและหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติโดยรัฐธรรมนูญปี 1958 ได้ยืนยันปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมืองปี 1789 และอารัมภบทของรัฐธรรมนูญปี 1946 ไว้ด้วย
ดังนั้นจึงถือได้ว่าความคิดที่เป็นรากฐานของหลักความเสมอภาคภายใต้รัฐธรรมนูญและหลักความเสมอภาคภายใต้กฎหมายจึงเป็นเรื่องเดียวกัน คือเรื่องหลักความเสมอภาคซึ่งเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตยดังจะเห็นได้จากอุดมคติในการปกครองของสาธารณะรัฐฝรั่งเศสอันได้แก่ เสรีภาพ เสมอภาค และภารดรภาพ3 ประกอบกับมาตรา 1 แห่งรัฐธรรมนูญนี้ที่ได้รับรองถึงความเสมอภาคตามกฎหมายของประชาชนโดยไม่แบ่งแยกแหล่งกำเนิด เชื้อชาติ หรือศาสนา สาธารณรัฐเคารพต่อความเชื่อของทุกนิกาย4 อันเป็นหลักสำคัญในการปกครองประเทศ และต่อมาประเทศต่างๆ ก็ได้นำแนวคิดดังกล่าวไประบุในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเพื่อรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามหลักความเสมอภาคอย่างเป็นรูปธรรมนั่นเอง
1.1.2 วิวัฒนาการแนวคิดของหลักความเสมอภาค
แนวความคิดเรื่องความเสมอภาคในสมัยดั้งเดิมนั้นเกิดจากคำสอนของศาสนาคริสต์ที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจและระบบทาสที่มีอยู่ในยุคโรมัน และต่อมาในสมัยกลางระบบศักดินาได้ยกเลิกแนวคิดเรื่องความเสมอภาค โดยสร้างลำดับชั้นของสังคมขึ้นซึ่งแปรผ้นตามที่ดินและเจ้าของที่ดินเจ้าศักดินา แต่อย่างไรก็ตามความไม่เสมอภาคดังกล่าวในสมัยกลางค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเกิดชนชั้นกลางที่เข้มแข็งขึ้นจนนำไปสู่การเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงความไม่เสมอภาคทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งต่อมาได้มีเอกสารที่แสดงออกถึงหลักความเสมอภาคที่ดีที่สุดคือปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมืองฝรั่งเศส ลงวันที่ 26 สิงหาคม ปี ค.ศ.1789 โดยบัญญัติรับรองไว้ถึง 3 มาตราได้แก่
มาตรา 1 มนุษย์กำเนิดและดำรงชีวิตอย่างมีอิสระและเสมอภาคกันตากฎหมาย การแบ่งแยกทางสังคมจะกระทำได้ก็แต่เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของส่วนรวม
มาตรา 6 กฎหมายคือการแสดงออกของเจตนารมณ์ร่วมกัน...กฎหมายจะต้องเหมือนกันสำหรับทุกคนไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองหรือลงโทษก็ตาม พลเมืองทุกคนเท่าเทียมกันเบื้องหน้ากฎหมายและได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียมกันในเรื่องศักดิ์ศรี สถานะและงานภาครัฐตามความสามารถโดยปราศจากความแตกต่าง เว้นแต่เฉพาะพลังและพรสวรรค์ของแต่ละคน
มาตรา 13 เพื่อทำนุบำรุงกองทัพและเพื่อรายจ่ายในการดำเนินงานของรัฐ จำเป็นที่จะต้องเก็บภาษี ซึ่งจะต้องมีการกระจายภาระภาษีอย่างเท่าเทียมกันสำหรับพลเมืองทุกคนโดยคำนึงถึงความสามารถของแต่ละคน
ในภายหลังแนวคิดของหลักความเสมอภาคดังกล่าวก็ได้ถูกนำไปบัญญัติในรัฐธรรมนูญของเกือบทุกประเทศเพื่อเป็นการรับรองหลักการดังกล่าวไว้อย่างชัดแจ้ง อาทิ5
รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ฉบับปัจจุบัน ลงวันที่ 4 ตุลาคม 1958 บัญญัติถึงหลักความเสมอภาคไว้ในมาตราแรกว่า ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐที่แบ่งแยกมิได้ เป็นของประชาชน เป็นประชาธิปไตยและเป็นของสังคม สาธารณรัฐรับรองถึงความเสมอภาคตามกฎหมายของประชาชนโดยไม่แบ่งแยกแหล่งกำเนิดเชื้อชาติหรือศาสนา สาธารณรัฐเคารพต่อความเชื่อของทุกนิกาย
รัฐธรรมนูญสหพันธรัฐเยอรมัน ฉบับปัจจุบันลงวันที่ 23 พฤษภาคม 1949 บัญญัติๆไว้ในมาตรา 3 1. มนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมาย
2. ชายและหญิงมีความเท่าเทียมกันตามกฎหมาย รัฐผูกพันที่จะต้องดำเนินการให้มีความเสมอภาคอย่างแท้จริงระหว่างหญิงและชาย และจะต้องดำเนินการให้ยกเลิกอุปสรรคที่ดำรงอยู่
3. บุคคลย่อมไม่ถูกเลือกปฏิบัติหรือมีอภิสิทธิ์เพราะเหตุในเรื่องเพศ ชาติกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา ชาติ ถิ่นกำเนิด ความเชื่อ หรือความคิดเห็นในทางศาสนาหรือในทางการเมือง บุคคลย่อมไม่ถูกแบ่งแยกด้วยเหตุเพราะความพิการ
รัฐธรรมนูญอิตาลี ฉบับปัจจุบันลงวันที่ 27 ธันวาคม 1947 บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ว่า
พลเมืองทุกคนมีศักดิ์ศรีทางสังคมอย่างเดียวกันและเท่าเทียมกันเบื้องหน้ากฎหมายโดยปราศจากการแบ่งแยกเพราะเพศ เชื้อชาติ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง สภาพร่างกายหรือสภาพทางสังคม
เป็นหน้าที่ของสาธารณรัฐที่จะต้องขจัดอุปสรรคทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคมที่ขัดขวางต่อการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้ใช้แรงงานในองค์กรทางการเมือง เศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศ ทั้งนี้ภายใต้ข้อจำกัดที่ไม่กระทบต่อเสรีภาพและความเสมอภาคของพลเมือง
รัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐออสเตรีย ฉบับปัจจุบันลงวันที่ 1 ตุลาคม 1920 บัญญัติไว้ในมาตรา 7 ว่า
1. พลเมืองของสหพันธ์ทุกคนมีความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมาย อภิสิทธิ์จากการเกิด เพศ สภาพร่างกาย ชนชั้น ศาสนาไม่อาจมีได้ บุคคลย่อมไม่ถูกกีดกันเพราะความพิการสาธารณรัฐผูกพันที่จะคุ้มครองความเสมอภาคในการปฏิบัติต่อคนพิการและบุคคลธรรมดาทั่วไปในทุกแง่มุมของชีวิตประจำวัน
2. สหพันธรัฐ มลรัฐและเทศบาลรับรองหลักความเสมอภาคระหว่างชายและหญิงมาตรการที่มุ่งส่งเสริมความเสมอภาคดังกล่าวย่อมได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามาตรการเหล่านั้นต้องการขจัดความไม่เสมอภาคที่ดำรงอยู่...
นอกจากนี้ยังมีเอกสารระหว่างประเทศหลายฉบับที่ได้บัญญัติรับรองหลักความเสมอภาคไว้เช่นกัน เช่น ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ,กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Convention of Civil and Political Rights) , ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิในการพัฒนา (Declaration on the Rights to Development) โดยได้ระบุหลักเกณฑ์การไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลทุกคน
จากแนวคิดหลักความเสมอภาคในระบบสากลข้างต้นได้มีอิทธิพลต่อประเทศไทยในการกำหนดบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคเช่นกัน โดยก่อนการปฏิวัติการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ.2475 นั้นประเทศไทยไม่มีการนำหลักความเสมอภาคมาใช้แต่ประการใดซึ่งเห็นได้จากการมีส่วนร่วมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่ทำโดยบุคคลบางกลุ่มเท่านั้นเมื่อคณะราษฎรทำการปฏิวัติจึงได้ร่างประกาศ 6 ประการซึ่งมีหลักความเสมอภาคอันเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่ง6
แต่อย่างก็ตาม แม้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 จะมิได้กล่าวถึงหลักความเสมอภาคไว้โดยเฉพาะซึ่งก็น่าจะเป็นเพราะต้องการความรวดเร็วและมุ่งให้เป็นธรรมนูญฉบับชั่วคราว ทั้งอีกคณะราษฎรเห็นว่าได้ยอมรับหลักความเสมอภาคไว้ในประกาศ 6 ประการซึ่งถือเป็นปฏิญญาแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญของสยามที่มีผลบังคับได้ดังเช่นรัฐธรรมนูญอยู่แล้วจึงไม่มีความจำเป็นต้องบัญญัติให้มีการซ้ำซ้อนแต่ประการใด แต่ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 นี้ก็เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติให้ชายและหญิงมีความเสมอภาคในการออกเสียงเลือกตั้งโดยบัญญัติไว้ในมาตรา 14 ว่า ราษฎรไม่ว่าเพศใด...ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงมติเลือกผู้แทนหมู่บ้านได้....... หลังจากนั้นก็มีรัฐธรรมนูญอีกหลายฉบับที่บัญญัติหลักความเสมอภาคไว้โดยชัดแจ้งโดยมักบัญญัติให้ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิดหรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญเสมอกัน7 แต่การใช้กฎหมายของไทยนับตั้งแต่ที่ได้มีการนำหลักความเสมอภาคมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก หลักดังกล่าวแทบจะไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึง หลักความเสมอภาคจึงเป็นเพียงหลักการที่บัญญัติรับรองคุ้มครองไว้โดยไม่ก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้พัฒนาการของหลักความเสมอภาคในระบบกฎหมายไทยจึงเป็นไปอย่างจำกัด8
จากพัฒนาการของหลักความเสมอภาคที่มีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานที่ประเทศไทยได้รับมาจากระบบสากลนั้นจะเห็นได้ว่าพัฒนาการดังกล่าวมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปจนกระทั่งมีการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ขึ้นพัฒนาการจึงได้มีการก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัด โดยได้มีการนำแนวคิดหลักความเสมอภาคในต่างประเทศมาบัญญัติเป็นหลักความเสมอภาคในมาตรา 30 แห่งรัฐธรรมนูญจึงทำให้มีความก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องทำความเข้าใจในแนวคิดเรื่องหลักความเสมอภาคด้วยเพื่อจะทำให้หลักการดังกล่าวบังคับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมซึ่งผลลัพธ์ก็จะเป็นการคุ้มครองประชาชนภายใต้หลักความเสมอภาคนั่นเอง
1.2 ความหมายของหลักความเสมอภาค
หลักความเสมอภาคนั้นมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับหลักเสรีภาพเนื่องจากเป็นหลักการที่จะทำให้การใช้เสรีภาพเป็นไปอย่างเสมอกันทุกผู้ทุกคน แต่หากเสรีภาพสามารถใช้ได้เพียงบุคคลบางคนเท่านั้นในขณะที่คนบางกลุ่มบางคนเข้าถึงไม่ได้ในกรณีดังกล่าวก็ไม่ถือว่ามีเสรีภาพแต่ประการใด9 ความเสมอภาคจึงเป็นฐานของเสรีภาพและเป็นหลักประกันในการทำให้เสรีภาพเกิดขึ้นได้จริง ดังนั้นหลักความเสมอภาคใต้กฎหมายจึงเป็นหลักการที่ทำให้มีการปฏิบัติต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ อย่างเท่าเทียมกันหรือไม่เลือกปฏิบัติ (non-discrimination) ทั้งนี้การปฏิบัติตามหลักความเสมอภาคนั้นจะต้องปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญเหมือนกันอย่างเท่าเทียมกัน และจะต้องปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญแตกต่างกันให้แตกต่างกันไปตามลักษณะของเรื่องนั้นๆ จึงจะทำให้เกิดความยุติธรรมภายใต้หลักความเสมอภาคขึ้นได้
1.3 ประเภทของหลักความเสมอภาค
หลักความเสมอภาคเมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายสามารถแยกประเภทของหลักความเสมอภาคได้ 2 ประเภทดังนี้10
1.3.1 หลักความเสมอภาคทั่วไป
หลักความเสมอภาคทั่วไปเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลทุกคนที่อาจกล่าวอ้างกับการกระทำใดๆของรัฐได้ หากเรื่องนั้นมิได้มีการกำหนดไว้ในหลักความเสมอภาคเฉพาะเรื่อง แต่หากเรื่องใดมีหลักความเสมอภาคเฉพาะเรื่องกำหนดไว้แล้วก็ให้พิจารณาไปตามหลักความเสมอภาคเฉพาะเรื่องนั้นๆ
1.3.2 หลักความเสมอภาคเฉพาะเรื่อง
หลักความเสมอภาคเฉพาะเรื่องคือ หลักความเสมอภาคที่ใช้เฉพาะภายในขอบเขตเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ เช่น หลักความเสมอภาคเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับชายและหญิง เป็นต้น
ความสัมพันธ์ระหว่างหลักความเสมอภาคทั่วไปกับหลักความเสมอภาคเฉพาะเรื่องนั้น ถือได้ว่าหลักความเสมอภาคทั่วไปเป็นพื้นฐานของหลักความเสมอภาคเฉพาะเรื่อง แต่หลักความเสมอภาคทั่วไปนั้นสามารถนำไปใช้ได้กับทุกๆเรื่องโดยไม่จำกัดขอบเขตเรื่องใดเรื่องหนึ่งและบุคคลทุกๆคนย่อมอ้างหลักความเสมอภาคทั่วไปได้ ส่วนหลักความเสมอภาคเฉพาะเรื่องอาจถูกจำกัดโดยใช้เฉพาะเรื่องหรือเฉพาะกลุ่มบุคคลที่รัฐธรรมนูญมุ่งคุ้มครองเท่านั้น โดยหลักความเสมอภาคเฉพาะเรื่องนั้นยังถือเป็นหลักกฎหมายพิเศษซึ่งย่อมมาก่อนหลักความเสมอภาคทั่วไป ถ้ากฎเกณฑ์ใดได้รับการพิจารณาหลักความเสมอภาคเฉพาะเรื่องแล้วก็ไม่จำต้องนำมาพิจารณาตามหลักความเสมอภาคทั่วไปอีก
1.3.3 ตารางแสดงถึงหลักความเสมอภาคทั่วไปและเฉพาะเรื่องตามหลักการของรัฐธรรมนูญ
ประเทศหลักความเสมอภาคทั่วไปหลักความเสมอภาคเฉพาะเรื่อง
เยอรมัน
บุคคลย่อมเสมอภาคกันตามกฎหมาย
(รัฐธรรมนูญสหพันธรัฐเยอรมันมาตรา 3 วรรค 1)
1. ความมีสิทธิเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง (มาตรา 3 วรรค 2)
2. ข้อห้ามมิให้เลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา (มาตรา 3 วรรค 3)
3. ความมีสถานะเท่าเทียมกันระหว่างเด็กที่เกิดนอกสมรสกับเด็กที่บิดามารดาได้สมรสกันตามกฎหมาย(มาตรา6วรรค 5)
4. สิทธิอันเท่าเทียมกันต่อหน้าที่ในทางราชการ (มาตรา 12 วรรค 2)
5. ข้อห้ามมิให้มีการการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานเพื่อบังคับใช้กับกรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ (มาตรา 19 วรรค 1)
6. การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันต่อพรรคการเมือง (มาตรา 21)
7. ความเสมอภาคของชาวเยอรมันในการรับราชการ (มาตรา 33 วรรค 1 ถึงวรรค 3)
8. ความเสมอภาคในการเลือกตั้ง (มาตรา 38 วรรค1 และมาตรา 28 วรรค 1)
9. ข้อห้ามมิให้มีการจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งเป็นการเฉพาะ (มาตรา 101วรรค1)
ไทย
บุคคลย่อมเสมอกันในทางกฎหมายและได้รับความ
คุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 30 วรรค 1)
1.ความมีสิทธิเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย
(มาตรา 30 วรรค 2 )
2. บุคคลมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี (มาตรา 43)
3. บุคคลมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (มาตรา 42)
4. สิทธิได้รับความคุ้มครองโดยรัฐจากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เด็กและเยาวชนซึ่งไม่มีผู้ดูแล มีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอบรมจากรัฐ (มาตรา 53)
5. บุคคลอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ (มาตรา 54)
6. ผู้พิการมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ (มาตรา 55)
7. หลักความเสมอภาคในการเลือกตั้ง (มาตรา 104)
8. ความเสมอภาคของพรรคการเมือง (มาตรา 113)
9. ความเสมอภาคของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นวุฒิสภา (มาตรา 129)
2. หลักเกณฑ์ของหลักความเสมอภาค
หลักแห่งความเสมอภาคเป็นหลักเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติแก่บุคคลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แต่โดยการใช้หลักความเสมอภาคที่มีความหลากหลายในการปฏิบัติเนื่องจากสาระสำคัญของข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันไป ดังนั้นการปฏิบัติแก่บุคคลตามหลักความเสมอภาคย่อมแตกต่างกันไปทั้งนี้ย่อมต้องเป็นความแตกต่างที่ยอมรับได้ ซึ่งหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตามหลักความเสมอภาคเพื่อให้เกิดความยุติธรรมมีดังนี้
2.1 หลักเกณฑ์ของการปฏิบัติให้เท่าเทียมกันหรือข้อห้ามเลือกปฏิบัติตามหลักความเสมอภาค
หลักแห่งความเสมอภาคได้ปรากฏเป็นที่ยอมรับและนำไปปฏิบัติซึ่งมีผลเป็นการผูกพันองค์กรของรัฐที่จะต้องเคารพและปฏิบัติตาม โดยในการปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวมีหลักเกณฑ์กว้างๆ ดังนี้
2.1.1 ต้องใช้กฎเกณฑ์อันเดียวกันกับทุกคนเว้นแต่ว่าสถานการณ์แตกต่างกันไป
หลักเกณฑ์ทั่วไปของการปฏิบัติคือต้องใช้กฎเกณฑ์เดียวกันในสถานการณ์เดียวกัน เว้นแต่ว่าสถานะการณ์นั้นแตกต่างออกไป จึงเป็นการต้องห้ามแก่ผู้บัญญัติกฎเกณฑ์ที่จะต้องไม่ออกกฎเกณฑ์ให้มีผลไม่เสมอภาคแก่บุคคล กล่าวคือเหตุการณ์ที่เหมือนกันหรือที่เหมือนกันในสาระสำคัญนั้นต้องได้รับการปฎิบัติโดยกฎเกณฑ์เช่นเดียวกัน แต่หากมิใช่เรื่องที่มีสภาพการณ์อย่างเดียวกันก็สามารถปฏิบัติให้แตกต่างกันได้ ดังนั้นกฎเกณฑ์ที่มาบังคับใช้แก่บุคคลซึ่งออกฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารย่อมมีเนื้อหา รายละเอียด และผลบังคับที่แตกต่างกันไปได้ เช่น ความเสมอภาคในการได้รับบริการสาธารณะจากรัฐประชาชนทุกคนสามารถใช้บริการรถเมล์ของรัฐอย่างเสมอภาคทุกคนซึ่งเป็นหลักความเสมอภาคอย่างกว้างๆ อีกตัวอย่างหนึ่ง การที่รัฐกำหนดราคาตั๋วรถไฟเป็นชั้นหนึ่ง ชั้นสองและชั้นสามตามปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละคนที่แตกต่างกันไปตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองว่าบุคคลย่อมเสมอภาคกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
2.1.2 การใช้กฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันนั้นต้องมีความสัมพันธ์กับสาระสำคัญของกฎเกณฑ์นั้น
การใช้กฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันนั้นต้องคำนึงถึงสาระสำคัญของกฎเกณฑ์ คือกฎเกณฑ์ที่จะนำมาใช้ต้องมีความสัมพันธ์กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ดังนั้นถึงแม้จะอยู่ในสถานะที่เหมือนกันแต่ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญนั้นแตกต่างกันแล้วกฎเกณฑ์ที่นำมาใช้บังคับนั้นต้องแตกต่างกันไปด้วย แต่ถ้าเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่เป็นสาระสำคัญและอยู่ในสถานะที่เหมือนกันแล้วกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับนั้นจะต้องเป็นกฎเกณฑ์เดียวกัน เช่นกฎหมายบำเหน็จบำนาญกำหนดให้ข้าราชการต้องรับราชการ 10 ปี ขึ้นไปจึงจะมีสิทธิรับบำเหน็จบำนาญ ฝ่ายนิติบัญญัติจะออกกฎหมายบัญญัติให้ข้าราชการซึ่งรับราชการเพียง 2 ปีที่ผู้บังคับบัญชาเห็นควรยกย่องให้ได้รับบำเหน็จบำนาญเท่ากับข้าราชการซึ่งได้บำนาญ 10 ปีเช่นนี้หาได้ไม่ เพราะเมื่อเหตุไม่เหมือนกันคือเวลาราชการไม่เท่ากันก็ควรได้รับผลปฏิบัติแตกต่างกันไม่ควรให้ได้รับผลปฏิบัติเสมอกันแม้ว่าจะอยู่ในสถานะที่เป็นข้าราชการเหมือนกันก็ตามที11
2.1.3 การปฏิบัติให้แตกต่างกันอันเนื่องมาจากผลประโยชน์มหาชน
การปฏิบัติต่อบุคคลตามหลักความเสมอภาคนั้นย่อมต้องคำนึงถึงเรื่องประโยชน์สาธารณะเหนือประโยชน์ประโยชน์ส่วนบุคคลหรือประโยชน์ของปัจเจกชน ดังนี้จะอ้างหลักความเสมอภาคในการใช้กฎเกณฑ์เพื่อมาคุ้มครองปัจเจกชนนั้นหาได้ไม่ เช่น ในกรณีที่มีความไม่สงบเกิดขึ้นในบ้านเมืองทางการจำเป็นต้องใช้มาตรการบางอันเพื่อก่อให้เกิดความสงบสุขกลับมาสู่บ้านเมืองอย่างเร็วที่สุดและการใช้มาตรการดังกล่าวนั้นสะท้อนให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติและการเคารพต่อหลักแห่งความเสมอภาค ผู้ที่เดือดร้อนจากการกระดังกล่าวจะอ้างหลักแห่งความเสมอภาคต่อรัฐหาได้ไม่
2.1.4 การอ้างประโยชน์สาธารณะเพื่อไม่ต้องเคารพต่อหลักแห่งความเสมอภาคนั้น จะต้องไม่เป็นการก่อให้เกิดการแบ่งแยกอย่างที่ไม่สามารถยอมรับได้
การอ้างประโยชน์สาธารณะในการปฏิบัติให้แตกต่างกันนั้นแม้จะถือว่าเป็นการกระทบต่อหลักแห่งความเสมอภาคและก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติก็ตามที แต่อย่างไรก็ดีการกระทำดังกล่าวนั้นจะต้องไม่ก่อให้เกิดการแบ่งแยกอย่างที่ไม่สามารถยอมรับได้ ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วก็ไม่สามารถใช้กฎเกณฑ์ดังกล่าวได้ การแบ่งแยกอย่างที่ไม่สามารถยอมรับได้นั้นที่เห็นได้ชัดก็คือ การแบ่งแยกที่เป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เช่น การแบ่งแยกในเรื่อง แหล่งกำเนิด เชื้อชาติ ศาสนา เพศ เป็นต้น
2.1.5 การเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรมมุ่งลดความเหลื่อมล้ำที่ดำรงอยู่
การเลือกปฏิบัติที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำที่ดำรงอยู่ หรือการปฏิบัติในทางบวก คือการดำเนินการตามกฎหมายที่แตกต่างกันในลักษณะชั่วคราวที่ผู้มีอำนาจกำหนดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและยกระดับบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีสถานะด้อยกว่าบุคคลอื่นเพื่อทดแทนความไม่เท่าเทียมกันที่ดำรงอยู่12 ซึ่งหลักการนี้เกิดจากแนวคิดของประธานาธิปดีเคนเนดี้และประธานาธิปดีจอห์นสันที่ต้องการสร้างความเป็นธรรมขึ้นในสังคมอเมริกา โดยหลักการดังกล่าวได้รับการยอมรับด้วยการตรากฎหมายสิทธิพลเมือง (Civil Rights Act) ขึ้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 196413 และศาลฎีกาของสหรัฐอเมริกาดำเนินการตามหลักดังกล่าวโดยการตัดสินในคดี Regents of University of California V.Bakke 438 US265 (1978) ว่าการที่มหาวิทยาลัยสำรองที่นั่ง 16%ของคณะแพทยศาสตร์ให้แก่นักศึกษาชนกลุ่มน้อยต่างๆถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำที่ดำรงอยู่ เป็นต้น นอกจากนี้หลักการเลือกปฏิบัติที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำที่ดำรงอยู่นี้ยังได้รับจากรับรองจากศาลประชาคมยุโรปโดยมีการนำหลักเกณฑ์นี้มาตัดสินในคดี Affaire linguistique belge ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 1969 ว่า ความไม่เสมอภาคทางกฎหมายบางประเภทมีขึ้นเพื่อแก้ไขความไม่เสมอภาคในทางความเป็นจริง 14
แต่อย่างไรก็ตาม ในประเทศฝรั่งเศสหลักการนี้กลับมิได้รับการยอมรับเพราะถือว่าขัดกับหลักกับหลักความเสมอภาค โดยตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสได้วินิจฉัยได้ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 1982 ว่าการที่รัฐสภาตรากฎหมายกำหนดว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลแบบบัญชีรายชื่อนั้น บัญชีรายชื่อใดบัญชีรายชื่อหนึ่งจะมีผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาลเพศเดียวกันเกินกว่า 75% ไม่ได้ คือว่าขัดกับหลักความเสมอภาคที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ15
เชิงอรรถ
1. สมยศ เชื้อไทย.คำอธิบายหลักรัฐธรรมนูญทั่วไป. (กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์,2535) หน้า 138.
[กลับไปที่บทความ]
2. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ.คำอธิบายกฎหมายมหาชนเล่ม 1. (กรุงเทพฯ : วิญญูชน,2538) หน้า 70.
[กลับไปที่บทความ]
3. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ.1958 มาตรา 2 พิมพ์ครั้งที่ 1 (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2541) หน้า 2.
[กลับไปที่บทความ]
4. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. เรื่องเดียวกัน,หน้า 2.
[กลับไปที่บทความ]
5. สมคิด เลิศไพฑูรย์ ,หลักความเสมอภาค,วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 (มิถุนายน 2543) หน้า 161-164.
[กลับไปที่บทความ]
6. ปรีดี พนมยงค์.คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน,ในแนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ . (กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์,2535) หน้า 41-43.อ้างถึงในสมคิด เลิศไพฑูรย์,หลักความเสมอภาควารสารนิติศาสตร์ปีที่30 ฉบับที่ 2 (มิถุนายน 2543),หน้า174.
[กลับไปที่บทความ]
7. สมคิด เลิศไพฑูรย์,เรื่องเดียวกัน,หน้า175.
[กลับไปที่บทความ]
8. บรรเจิด สิงคะเนติ.สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เรื่องหลักความเสมอภาค.(กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2543)หน้า 1-2.
[กลับไปที่บทความ]
9. Claude-Albert COLLIARD,op.cit,p.215. อ้างถึงในสมคิด เลิศไพฑูรย์ ,หลักความเสมอภาค,วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 (มิถุนายน 2543) หน้า 165.
[กลับไปที่บทความ]
10. บรรเจิด สิงคะเนติ.สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เรื่องหลักความเสมอภาค.(กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2543)หน้า 7-12.
[กลับไปที่บทความ]
11. ตัวอย่างจากสมยศ เชื้อไทย.หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2535)หน้า 139.
[กลับไปที่บทความ]
12. F.MELIN-SOUCRAMENINE, Les adaptions du principe degalite a la diversite des territoires, RFDA., 1977p.911. อ้างถึงในสมคิด เลิศไพฑูรย์ ,หลักความเสมอภาค,วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 (มิถุนายน 2543) หน้า 170.
[กลับไปที่บทความ]
13. Patrick WACHSMANN, Libertes Publiques,(Paris:Dalloz,1996),p.224.อ้างถึงในสมคิด เลิศไพฑูรย์,เรื่องเดียวกัน,หน้า170.
[กลับไปที่บทความ]
14. Jean-Francois FLAUSS, Discrimination positive et convention europeenne des droits de l homme, in Pouvoir et Liberte Etudes Offertes a Jacques MOURGEON (Bruxelles:Emile Bruylant,1998),p.419. อ้างถึงในสมคิด เลิศไพฑูรย์ ,หลักความเสมอภาค,วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 (มิถุนายน 2543) หน้า 170.
[กลับไปที่บทความ]
15. Patrick WACHSMANN,op. cit,p.234.อ้างถึงในสมคิด เลิศไพฑูรย์,เรื่องเดียวกัน,หน้า171.
[กลับไปที่บทความ]
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2547
|
2.1.6 การปฏิบัติให้แตกต่างกันอันเนื่องมาจากระบบที่แตกต่างกัน
การปฏิบัติให้แตกต่างกันนั้นอาจมีผลสืบเนื่องจากการมีระบบที่แตกต่างกัน ดังนั้นการจะพิจารณาเปรียบเทียบว่ามีการปฏิบัติเท่าเทียมกันหรือไม่ ต้องมีการเปรียบเทียบว่าอยู่ในระบบเดียวกันหรือไม่ เช่น การที่กำหนดให้ข้าราชการ ทหาร หรือตำรวจ มีสิทธิในการประท้วงการนัดหยุดงานเพื่อต่อรองค่าจ้างหรือเงินเดือนของข้าราชการ ซึ่งแตกต่างไปจากระบบของเอกชนที่ให้ลูกจ้างมีสิทธิที่ใช้การประท้วง การนัดหยุดงานตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นเครื่องมือในการต่อรอง เรื่องเงื่อนไขในการจ้างได้ ในกรณีนี้มิอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันอันเป็นขัดต่อหลักความเสมอภาค ทั้งนี้เพราะระบบของราชการกับระบบของภาคเอกชนนั้นมีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนั้น ในบางกรณีจึงไม่อาจจะนำระบบที่แตกต่างกันมาพิจารณาเปรียบเทียบกับการปฏิบัติที่แตกต่างกันได้16
2.1.7 การปฏิบัติให้แตกต่างกันอันเนื่องมาจากประเพณี
ขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกัน อาจเป็นเหตุผลในการปฏิบัติให้แตกต่างกัน โดยการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมนั้นต้องไม่ยึดหลักการปฏิบัติกันมายาวนานเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาความถูกต้อง แต่จะต้องใช้หลักความยุติธรรมของประชาชนในขณะปัจจุบันเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ตัวอย่างเช่น สถาบันการศึกษาของรับแห่งหนึ่งได้ตั้งมาเป็นเวลายาวนานมาก ซึ่งในขณะที่ตั้งนั้นมีความมุ่งหมายเพื่อจะให้เฉพาะลูกหลานของข้าราชการเท่านั้นได้ศึกษาเล่าเรียน ต่อมาเมื่อการศึกษาเปิดกว้างขึ้นสำหรับการรับบุคคลอื่นเข้าศึกษา แต่สถาบันดังกล่าวก็ยังกำหนดไว้ว่าผู้ที่เป็นข้าราชการของหน่วยงานนั้นย่อมได้รับสิทธิพิเศษในการคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันแห่งนั้น ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่าการยึดถือประเพณีที่ปฏิบัติมาอย่างยาวนานของสถาบันการศึกษาแห่งนั้นไม่อาจจะใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาหลักความเสมอภาคได้ เพราะการพิจารณาหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องอาศัยหลักความยุติธรรมที่เป็นนอยู่ในปัจจุบันเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเป็นต้น17
2.2 หลักความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมาย18
หลักความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมายได้ปรากฎในรูปแบบหลากหลายแตกต่างกันออกไปดังนี้
2.2.1 ความเสมอภาคในกระบวนการยุติธรรม
ความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมายและความเสมอภาคในกระบวนการยุติธรรมมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และในบางกรณีก็ผสมผสานกันจนกล่าวได้ว่าความเสมอภาคในกระบวยการยุติธรรมเป็นกรณีเฉพาะของการนำหลักความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมายมาใช้ ตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส วินิจฉัยว่าการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้พิพากษาศาลอาญานายเดียวสามารถพิจารณาคดีลหุโทษทั้งหลายได้ โดยมีข้อยกเว้นให้เป็นอำนาจของอธิบดีผู้พิพากษาที่จะเป็นผู้กำหนดให้คดีนั้นอาจพิจารณาโดยองค์คณะผู้พิพากษาได้ กฎหมายดังกล่าวย่อมขัดกับหลักความเสมอภาคในกระบวนการยุติธรรม เพราะกฎหมายดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการที่ประชาชนจะตกอยู่ภายใต้กระบวนการที่เหมือนกันหรือรับผิดตามกฎหมายอย่างเดียวกัน หรือในกรณีที่กฎหมายฉบับหนึ่งต้องการคุ้มครองและปกป้องเสรีภาพของบุคคลจึงบัญญัติให้คู่ความในคดีแพ่งสามารถร้องขอต่อศาลให้พิจารณาใหม่ได้ในกรณีที่มีเหตุผลที่มีน้ำหนักว่าการร้องขอดังกล่าวมิได้มีการยกขึ้นอ้างในศาลที่พิจารณาคดีครั้งแรกหรือกรณีที่มีเหตุผลที่มีน้ำหนักว่าบุคคลที่ได้รับความเสียหายมิได้ปรากฏตัวในศาลที่พิจารณาคดีครั้งแรก ซึ่งตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสเห็นว่าการขอให้พิจารณาคดีใหม่ดังกล่าวของผู้เสียหายก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคในกระบวนการยุติธรรมเพราะผู้เสียหายอาจใช้สิทธิดังกล่าวหรือไม่ก็ได้ในขณะที่ผู้ถูกฟ้องเป็นจำเลยอาจได้รับประโยชน์หรือไม่ได้รับประโยชน์จากการพิจารณาครั้งที่สองของศาลก็ได้
2.2.2 ความเสมอภาคในภาระสาธารณะ
ตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสได้วินิจฉัยถึงหลักความเสมอภาคในเรื่องภาษีอันเป็นภาระของสาธารณะชนไว้ในหลายกรณี โดยเห็นว่าฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจที่จะกำหนดฐานภาษีได้เองโดยคำนึงถึงหลักความเสมอภาค อย่างไรก็ตาม ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีที่แตกต่างกันโดยคำนึงถึงลักษณะพิเศษของกิจกรรมที่หลากหลายของผู้ใช้แรงงานอิสระได้ เช่นเดียวกับการกำหนดอัตรายกเว้นที่แตกต่างกันโดยคำนึงถึงผลประกอบการ การกำหนดอัตราภาษีที่แตกต่างกัน หรือการให้ประโยชน์ทางภาษีด้วยมาตรการกระตุ้นให้มีการจัดตั้งและพัฒนามูลนิธิหรือสมาคมทางวัฒนธรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ส่วนรวมไม่ถือว่าขัดกับหลักความเสมอภาค
2.2.3 ความเสมอภาคในการทำงานภาครัฐ
โดยหลักทั่วไปนั้นถือว่าการสอบแข่งขันเป็นวิธีการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานภาครัฐที่เหมาะสมและเสมอภาคที่สุด อย่างไรก็ตาม ตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสไม่ถือว่าการสอบแข่งขันเป็นวิธีการเพียงวิธีการเดียวที่จะคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานภาครัฐเท่านั้น ดังนั้นการที่กำหนดให้สมาชิกสภาท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปี ผู้บริหารสหภาพแรงงาน ผู้บริหารสมาคมที่มีวัตถุประสงค์ในการทำประโยชน์ร่วมกันหรือผู้บริหารองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือกันระหว่างสมาชิกเป็นผู้มีสิทธิสอบเข้าโรงเรียนการบริหารแห่งชาติจึงไม่ขัดกับหลักความเสมอภาค หรือการรับบุคคลากรด้านการตรวจสอบและควบคุมจากบุคคลภายนอกหน่วยงานเท่านั้นก็ไม่ถือว่าขัดกับหลักความเสมอภาคเช่นกัน ตุลาการรัฐธรรมนูญยังวินิฉัยว่าการกำหนดให้รับบุคคลากรด้านการต่างประเทศในอัตราส่วน 5% จากบุคคลที่มิได้เป็นข้าราชการแต่ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานการฑูตที่ทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือนไม่ขัดกับหลักความเสมอภาคในการทำงานภาครัฐ แต่การกำหนดหลักเกณฑ์ในการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งระหว่างบุคคลในระดับหรือประเภทเดียวกันแตกต่างกันออกไป ศาลปกครองฝรั่งเศสเห็นว่าขัดกับหลักความเสมอภาค
2.2.4 ความเสมอภาคในการเลือกตั้ง
ตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสได้วินิจฉัยเรื่องนี้ไว้โดยเห็นว่า ในการเลือกตั้งบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลแรงงาน หากกฎหมายกำหนดให้นายจ้างแต่ละคนสามารถออกเสียงได้เท่ากับจำนวนลูกจ้างที่ตนเองมีอยู่แต่ไม่เกิน 50 เสียงนั้น เป็นการขัดกับหลักความเสมอภาคและไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายเพราะในการเลือกตั้งผู้พิพากษาในศาลหนึ่งนั้นการที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวนลูกจ้างมากกว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนอื่น ไม่ถือว่าเป็นเหตุที่จะมีสิทธิออกเสียงมากกว่าคนอื่นได้ นอกจากนี้การกำหนดโควต้าของผู้ได้รับเลือกตั้งตามเพศถือว่าขัดกับหลักความเสมอภาค ในส่วนที่เกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น เดิมทีศาลฎีกาของประเทศสหรัฐอเมริกาถือว่าเป็นเรื่องทางการเมืองจึงไม่รับพิจารณา อย่างไรก็ตาม ต่อมาศาลได้เปลี่ยนแนวคำพิพากษาดังกล่าว โดยพิพากษาในคดี BAKER c/CARR วันที่ 26 มีนาคม 1962 ว่าศาลมีอำนาจพิจารณาว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งทำให้จำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งในแต่ละเขตแตกต่างกันหรือไม่ และคำพิพากษาในคดี DAVID c/BANDEMER วันที่ 30 มิถุนายน 1986 ที่ศาลยืนยันอำนาจที่จะตรวจสอบว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งที่มีลักษณะไม่เป็นกลางหรือไม่ เช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันที่ได้วินิจฉัยในคำพิพากษาลงวันที่ 22 พฤษภาคม 1963 ยืนยันถึงความเท่าเทียมกันของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่ไม่เสมอภาคอย่างชัดแจ้งหรือการแบ่งเขตเลือกตั้งที่เป็นไปตามอำเภอใจ
2.2.5 ความเสมอภาคในการรับบริการสาธารณะ
หลักความเสมอภาคนั้นไม่ใช่หลักความเป็นเอกภาพคือไม่ใช่การปฏิบัติที่เหมือนกันทุกกรณีแต่เป็นความเสมอภาคแบบสัดส่วนคือเป็นการปฏิบัติที่เหมือนกันในสถานการณ์เช่นเดียวกัน ดังนั้นการปฏิบัติต่อผู้ใช้บริการสาธารณะอย่างแตกต่างกันตามหลักความเสมอภาคแบบสัดส่วนก็ต้องสามารถอธิบายถึงความสัมพันธ์อันแตกต่างของแต่ละสถานการณ์ที่ได้รับการปฏิบัติอย่างแตกต่างกันได้ ตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสได้วินิจฉัยเรื่องนี้ว่าการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมของเรือข้ามฟากระหว่างจังหวัด La Rochelle กับเกาะ Re แตกต่างกันระหว่างคนอาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่กับคนอาศัยอยู่บนเกาะ โดยคนที่อาศัยอยู่บนเกาะได้รับส่วนลดนั้นถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่แตกต่างกันเพราะสถานการณ์ที่แตกต่าง เช่นเดียวกับการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมของผู้ใช้บริการที่อาศัยหรือมีที่ทำงานในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จัดทำบริการสาธารณะแตกต่างไปจากอัตราของบุคคลอื่น ย่อมไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาค แต่ในกรณีที่เทศบาลกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเชื้อชาติของบุคคลที่จะได้รับสวัสดิการสังคมถือว่าขัดหลักความเสมอภาค
2.3 บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันรับรองหลักแห่งความเสมอภาค
จากสาระสำคัญอันเป็นข้อห้ามเลือกปฏิบัติอันนำมาสู่หลักความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมายนั้นประเทศต่างๆได้นำแนวคิดดังกล่าวมาเป็นหลักพื้นฐานอันนำไปสู่การการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยได้ระบุไว้ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายแม่บทในการปกครองประเทศ ดังนั้นจากผลของความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญจึงทำให้หลักแห่งความเสมอภาคผูกพันองค์กรของรัฐให้ต้องปฏิบัติตาม และปัจจุบันรัฐธรรมนูญของเกือบทุกประเทศทั่วโลกได้รับรองหลักการดังกล่าวไว้อย่างแจ้งชัด ดังจะได้ยกตัวอย่างบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอันรับรองหลักแห่งความเสมอภาค ดังนี้
2.3.1 บทบัญญัติอันรับรองหลักแห่งความเสมอภาคในกฎหมายฝรั่งเศส19
หลักแห่งความภาคได้ปรากฏอยู่ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ลง
วันที่ 26 สิงหาคม 1789 ดังนี้
...สภานิติบัญญัติแห่งชาตินี้ จึงรับรองและประกาศสิทธิต่อไปนี้ของมนุษย์และพลเมืองแต่ละคนภายใต้การคุ้มครองของพระเจ้า
มาตรา 1 มนุษย์ทุกคนเกิดมาและดำรงอยู่อย่างมีอิสระและเสมอภาคกันในสิทธิ การแบ่งแยกทางสังคมจะกระทำได้ก็แต่เพื่อประโยชน์ร่วมกัน
มาตรา 2 วัตถุประสงค์ของสังคมการเมืองทุกสังคมย่อมเป็นไปเพื่อการคุ้มครองรักษาสิทธิตามธรรมชาติ ซึ่งไม่มีอายุความของมนุษย์ สิทธิเหล่านี้ได้แก่ เสรีภาพ กรรมสิทธิ์ ความมั่นคงปลอดภัยและการต่อต้านการกดขี่ข่มเหง
มาตรา 6 ...กฎหมายต้องเป็นสิ่งที่เหมือนกันสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองหรือการลงโทษ พลเมืองย่อมเสมอภาคกันตามกฎหมาย... 20
จากบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าฝรั่งเศสในยุคนั้นได้ตระหนักถึงหลักสิทธิมนุษยชนของปัจเจกชนและนำมาบัญญัติเป็นตัวบทกฎหมาย ถ้าพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่าในช่วงนั้นของฝรั่งเศสเป็นยุคแห่งการปฏิวัติครั้งใหญ่ของฝรั่งเศสอันเกิดจากความไม่พึงพอใจในการปกครองประเทศของผู้ปกครองประเทศที่กดขี่ข่มเหงเอาเปรียบประชาชนและไม่สนใจความเป็นอยู่ของประชาชน เมื่อมีการปฏิวัติเกิดขึ้นในปี 1789 ผู้ก่อการปฏิวัติจึงต้องการประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรรับรองสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนเพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงและการรับประกันแก่ปัจเจกชนว่าจะไม่ได้รับการข่มเหงจากชนชั้นปกครองอีกต่อไปและถ้าสังเกตชื่อของคำประกาศดังกล่าวในภาษาฝรั่งเศสที่เขียนว่า Declation des droits de lhomme et du citoyen จะเห็นว่าเป็นการรับรองสิทธิมนุษยชนของประชาชนแต่ละคนและของพลเมืองแต่ละคน ดังที่ Robespierre21 กล่าวไว้ว่า พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้ถูกทำลายลงแล้ว ชนชั้นขุนนางชนชั้นพระได้ปลาสการไปแล้ว ยุคแห่งความเสมอภาคได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว 22 การประกาศรับรองดังกล่าวเป็นการยกเลิกกลุ่มอภิสิทธิ์ชนตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงประมุขแห่งประเทศและเป็นการประกาศรับรองความเสมอภาคของปัจเจกชนโดยกฎหมายซึ่งก็หมายความว่าทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย ผู้ปกครอง ผู้ใช้กฎหมายต้องปฏิบัติและใช้กฎหมายแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน
ถ้าพิจารณาคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ. 1789 ของฝรั่งเศส23 ได้แสดงถึงที่มาในส่วนที่เกี่ยวกับหลักแห่งความเสมอภาคอยู่ 2 ประการ คือ
ประการแรก นั้นมาจากนั้นมาจากแนวความคิดทางปรัชญาแห่งสำนักกฎหมายฝ่ายธรรมชาติประกอบกับแนวคิดปัจเจกชนนิยม
ประการที่สอง มาจากสภาพความกดดันของสังคมในยุคนั้นอันนำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องมีการรับรองสิทธิมนุษยชนดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นจึนถึงทุกวันนี้ คำประกาศดังกล่าวเป็นเอกสารและหลักการทางการเมืองสมัยใหม่และทำให้ประเทศฝรั่งเศสได้ชื่อว่าเป็นประเทศแห่งสิทธิมนุษยชนมาจนถึงทุกวันนี้
การประกาศรับรองหลักแห่งความเสมอภาคที่ปรากฏอยู่ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ. 1789 ได้เป็นต้นแบบของกฎหมายฝรั่งเศสที่ตามมาภายหลังว่าการบัญญัติตัวบทกฎหมายใดนั้นจะต้องคำนึงและเคารพถึงหลักการแห่งความเสมอภาคที่ประกาศในคำประกาศดังกล่าวด้วยดังปรากฏอยู่ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญปี 1946 วรรค 3 ที่บัญญัติว่า กฎหมายให้หลักประกันว่าสิทธิของผู้หญิงเท่าเทียมกันกับสิทธิของผู้ชาย และในคำปรารภของรัฐธรรมนูญปี 1958 วรรค 3 บัญญัติว่า อาศัยอำนาจตามหลักการดังกล่าวและหลักเสรีภาพในการตัดสินใจของประชาชน สาธารณรัฐได้มอบดินแดนโพ้นทะเลแสดงเจตจำนงที่จะเข้าร่วมกับสาธารณรัฐสถาบันใหม่ได้จัดตั้งขึ้นบนพื้นฐานของอุดมคติร่วมกันแห่งเสรีภาพ เสมอภาค และภารดรภาพ... และในมาตรา 1 ถัดมาก็ได้บัญญัติรับรองหลักแห่งความเสมอภาคอีก ฝรั่งเศส...รับรองถึงความเสมอภาคตามกฎหมายของประชาชน โดยไม่แบ่งแยกแหล่งกำเนิด เชื้อชาติ หรือศาสนา
ด้วยเหตุนี้หลักแห่งความเสมอภาคจึงเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญอันหนึ่งของกฎหมายมหาชนฝรั่งเศส เช่น ความเสมอภาคทางกฎหมาย ความเสมอภาคในการได้รับการบริการจากรัฐ ความเสมอภาคในการรับเข้าทำงานจากรัฐและถือว่าหลักแห่งความเสมอภาคเป็นหลักพื้นฐานของกฎหมายมหาชนฝรั่งเศส24 เป็นต้น ดังนั้นองค์กรของรัฐจึงรับรองและต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดด้วย เช่น ศาลปกครองฝรั่งเศสได้ตัดสินในคดี Sieur Roubeau ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 1913 โดยรับรองหลักแห่งความเสมอภาคของพลเมืองทุกคนต่อกฎเกณฑ์ของฝ่ายปกครอง และในคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสในวันที่ 27 ธันวาคม 1973 ได้กล่าวว่า โดยพิจารณาจากบทบัญญัติสุดท้ายและวรรคที่เพิ่มเติมขึ้นโดยมาตรา 180 ของประมวลกฎหมายภาษีนั้น...มีความพยายามที่จะสร้างการแบ่งแยกระหว่างพลเมืองในส่วนที่เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะนำพยานหักล้างคำตัดสินของสำนักภาษีของฝ่ายปกครอง บทบัญญัติมาตราดังกล่าวนั้นขัดกับหลักความเสมอภาคตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองปี 1789 และที่ได้รับการบัญญัติรับรองอย่างสมเกียรติในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ... และในวันที่ 22 มกราคม 1990 ตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสได้ตัดสินรับรองหลักการดังกล่าวในคดีที่สำคัญอันเกี่ยวกับมาตรฐานขั้นต่ำที่สำคัญเกี่ยวกับบุคคลต่างชาติผู้สูงอายุว่า
พิจารณาเห็นว่าผู้บัญญัติกฎหมายสามารถบัญญัติกฎหมายลักษณะพิเศษที่เกี่ยวกับคนต่างชาติโดยมีเงื่อนไขที่ต้องเคารพ...เสรีภาพและสิทธิขั้นพื้นฐานที่มีศักดิ์เทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญอันเป็นที่ยอมรับนับถือโดยทุกคนที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรสาธารณรัฐ
2.3.2 บทบัญญัติอันรับรองหลักแห่งความเสมอภาคในกฎหมายเยอรมัน25
หลักความเสมอภาคของเยอรมันได้รับการบัญญัติไว้ในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญโดยบัญญัติไว้ดังนี้
มาตรา 3 (ความเสมอภาค)
(1) บุคคลย่อมเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย
(2) ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน ให้รัฐดำเนินการสนับสนุนเพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งความมีสิทธิเท่าเทียมกันของหญิงและชาย และก่อให้เกิดผลในการขจัดความไม่เท่าเทียมกันที่มีอยู่
(3) บุคคลไม่อาจจะถูกเลือกปฏิบัติได้เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศ เชื้อชาติ สัญชาติ ภาษา ถิ่นกำเนิด และเผ่าพันธุ์ ความเชื่อ ความคิดในทางศาสนาหรือการเมือง บุคคลไม่อาจได้รับการปฏิบัติอย่างเสียเปรียบเพราะเหตุแห่งความพิการของบุคคลนั้น
รัฐธรรมนูญของเยอรมันได้บัญญัติถึงหลักความเสมอภาคไว้ในมาตรา 3 โดยได้วางหลักการพื้นฐานไว้ดังนี้ กล่าวคือ มาตรา 3 วรรค 1 เป็นการบัญญัติถึงหลักความเสมอภาคทั่วไป หรือที่เรียกว่า ความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย กับหลักความเสมอภาคในการบัญญัติกฎหมาย หรือที่เรียกว่า ความเสมอภาคของกฎหมาย อันเป็นหลักที่ผูกพันฝ่ายนิติบัญญัติต่อหลักความเสมอภาคซึ่งมีผลมาจากมาตรา 1 วรรค 3 ที่บัญญัติให้ฝ่ายนิติบัญญัติต้องผูกพันต่อสิทธิขั้นพื้นฐาน และความสำคัญของมาตรา 3 วรรค 1 ได้ขยายผลไปเกือบทุกๆเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการกระทำของฝ่ายปกครองที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่เอกชน เช่น มาตรการในการให้เงินสนับสนุนแก่กิจการของเอกชนเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการกระทำของฝ่ายปกครองที่ฝ่ายปกครองมีดุลพินิจในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้หลักความเสมอภาคยังมีบทบาทสำคัญในขอบเขตของกฎหมายเกี่ยวกับการประกันสังคม กฎหมายภาษี และกฎหมายแรงงาน เป็นต้น
มาตรา 3 วรรค 2 เป็นเรื่องหลักความเสมอภาคเฉพาะเรื่อง ที่กล่าวถึงความเสมอภาคเฉพาะเรื่องระหว่างชายและหญิง นอกจากนี้หลักความเสมอภาคเฉพาะเรื่องยังมีบัญญัติไว้ในมาตราต่างๆของรัฐธรรมนูญเยอรมันอีกหลายมาตรา
มาตรา 3 วรรค 3 เป็นเรื่องหลักข้อห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งในมาตรา 3 วรรค 3 นี้ได้ยกตัวอย่างในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา เป็นต้น ที่มิอาจยกเป็นเหตุแห่งการเลือกปฏิบัติได้ เนื่องจากสิทธิดังกล่าวสิทธิอันเป็นศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ที่มิอาจถูกล่วงละเมิดได้โดยประการทั้งปวง นอกจากนี้ หลักความเสมอภาคตามมาตรา 3 วรรค 3 นี้ยังได้มีส่วนสำคัญในการสร้างหลักสำคัญในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เช่น หลักความเสมอภาคของพรรคการเมือง เป็นต้น
มาตรา 3 นี้เป็นมาตราที่มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับมาตรา 1 (ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์) และมาตรา 2 (เสรีภาพส่วนบุคคล) ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมาตราดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นแนวคิดพื้นฐานแห่งรัฐในการกำหนดขอบเขตของอำนาจมหาชนกับสิทธิของปัจเจกบุคคล ซึ่งองค์กรของรัฐซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจมหาชนต้องคำนึงถึงหลักความเสมอภาคเป็นสำคัญ
2.3.3 บทบัญญัติอันรับรองหลักความเสมอภาคในระบบกฎหมายไทย
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พุทธศักราช 2540) ได้มีการบัญญัติในเรื่องความเสมอภาคไว้ในมาตรา 30 ว่า
บุคคลย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน
การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา อายุ สภาพทางกาย หรือสุขภาพ สภาวะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้
มาตราการที่รัฐธรรมนูญกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม
จากบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นเป็นการนำมาจากมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญสหพันธรัฐเยอรมันฉบับปัจจุบัน โดยวรรคแรกเป็นการรับรองหลักความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมาย (Equality before the law) วรรคสองรับรองความเสมอภาคระหว่างเพศ และวรรคสามกำหนดห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทยก็ไปไกลกว่าของประเทศสหพันธรัฐเยอรมัน โดยได้มีการบัญญัติไว้ในมาตรา 30 วรรคท้าย รับรองให้รัฐสามารถเลือกปฏิบัติอันเป็นการลดความเลื่อมล้ำที่ดำรงอยู่ได้ดังเช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐอิตาลี และสหพันธรัฐออสเตรีย นอกจากนี้รัฐธรรมนูญของไทยฉบับปัจุบันยังได้กำหนดสิทธิต่างๆขึ้นมาให้ซึ่งต้องเคารพหลักความเสมอภาคด้วย เช่น มาตรา 43 วรรคแรกสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย มาตรา 52 วรรคแรก สิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณะสุขที่ได้มาตรฐาน มาตรา 75 วรรคแรก รัฐต้องอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างรวดเร็วและเท่าเทียมกัน มาตรา 78 ต้อง...พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธรณูปการตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ มาตรา 80 ต้อง...ส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชาย... 26เป็นต้น
จากบทบัญญัติอันรับรองหลักแห่งความเสมอภาค จะสังเกตได้ว่าการระบุบทบัญญัติในกฎหมายนั้นมีวิธีการในการรับรองหลักแห่งความเสมอภาคอยู่สามวิธี คือ27
วิธีแรก เป็นวิธีที่ใช้โดยทั่วไปที่แม้กฎหมายจะไม่ระบุคำว่า เสมอกัน เสมอภาค หรือ เท่าเทียมกัน ไว้ก็ตามแต่กฎหมายดังกล่าวก็มีลักษณะที่ใช้บังคับกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เช่น มาตรา 19 พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดดำเนินกิจการรับทำการเก็บ ขนหรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยโดยทำเป็นธุรกิจหรือโดยได้รับประโยชน์ตอบแทนด้วยการคิดค่าบริการ... ซึ่งมีความหมายว่า ห้ามทุกคนโดยเสมอภาค หรือมาตรา 94 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ที่บัญญัติว่า เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษผู้ใดซึ่งมีหน้าที่...จะต้องจัดให้มีระบบบำบัดอากาศเสีย ระบบบำบัดน้ำเสียหรือระบบกำจัดของเสียอย่างอื่น... ซึ่งมีความหมายบังคับให้ทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเสมอภาค เป็นต้น
วิธีที่สอง เป็นวิธีที่กฎหมายระบุคำว่า เสมอกัน เสมอภาค หรืออื่นๆ ในลักษณะเดียวกันอย่างชัดเจน เช่น มาตรา 10 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกัน ในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย... หรือในมาตรา 60 ที่ว่า ให้รัฐ...จัดสรรงบประมาณและทรัพยากรทางการศึกษาอื่นเป็นพิเศษให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความจำเป็นในการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการเป็นพิเศษแต่ละกลุ่ม...โดยคำนึงถึงความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษาและความเป็นธรรม... เป็นต้น
วิธีที่สาม เป็นวิธีที่กฎหมายบัญญัติในทางตรงกันข้ามโดยห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติ เช่น มาตรา 9 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งใน...คำพิพากษาเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย...เนื่องจากกระทำโดย...มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม... เป็นต้น
2.3.3.1 ข้อยกเว้นของหลักความเสมอภาคตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
ตามหลักทั่วไปหลักความเสมอภาคนั้นผูกพันต่อการกระทำของรัฐทุกๆเรื่อง แต่ก็มิได้หมายความว่าต้องปฏิบัติให้เหมือนกันในทุกกรณี ทั้งนี้ต้องพิจารณาความแตกต่างของสาระสำคัญของข้อเท็จจริงประกอบกับต้องคำนึงถึงการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะด้วย ดังนั้นการปฏิบัติให้เหมือนกันโดยมิได้พิจารณาความแตกต่างของข้อเท็จจริงในเรื่องนั้นๆย่อมเป็นการขัดหลักความเสมอภาค อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญก็มีบทบัญญัติหลายเรื่องที่บัญญัติยกเว้นหลักความเสมอภาค เช่น28
1) เรื่องการคิดคำนวณเพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในบัญชีรายชื่อ ซึ่งตามมาตรา 100 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ ให้ถือว่าไม่มีผู้ใดในบัญชีนั้นได้รับเลือกตั้ง และมิให้นำคะแนนเสียงดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อหาสัดส่วนจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามวรรคสอง
ในกรณีนี้ยกเว้นหลักความเสมอภาคไว้ 2 กรณี ดังนี้
กรณีแรก ความเสมอภาคในแง่ของค่าของคะแนนเสียงที่ผู้เลือกตั้งลงให้กับพรรคการเมืองดังกล่าวมิได้ถูกนำมาคิดคำนวณจึงมีผลให้คะแนนดังกล่าวมีค่าเท่ากับศูนย์
กรณีที่สอง พรรคการเมืองดังกล่าวย่อมไม่อาจเข้าไปมีส่วนในการคิดคำนวณเพื่อให้ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบัญชีรายชื่อ หลักการที่ตัดพรรคการเมืองที่ได้คะแนนรวมจากคะแนนที่ลงให้กับพรรคซึ่งต่ำกว่า 5% ออกนั้น มีความมุ่งหมายเพื่อไม่ให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยในระบบการเมืองมากเกินไป อันจะมีผลต่อระบบการเมืองโดยรวมทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ
2) การกำหนดคุณสมบัติการเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 107 (3) และสมาชิกวุฒิสภา ตามมาตรา 125 (3) ได้กำหนดให้ผู้มีคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
3) เรื่องเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภาในการกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริง แสดงความเห็น หรือออกเสียงลงคะแนนย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดมิได้ตามมาตรา 157
4) เรื่องความคุ้มกันสมาชิกรัฐสภา ตามมาตรา 165 มาตรา 166 และมาตรา 167
5) การแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามหมวด 10 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
6) การดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 308 ถึงมาตรา 311
เชิงอรรถ
16. บรรเจิด สิงคะเนติ.สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เรื่องหลักความเสมอภาค.(กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2543)หน้า 21.
[กลับไปที่บทความ]
17. บรรเจิด สิงคะเนติ.สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เรื่องหลักความเสมอภาค.(กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2543)หน้า 22.
[กลับไปที่บทความ]
18. สมคิด เลิศไพฑูรย์ ,หลักความเสมอภาค,วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 (มิถุนายน 2543) หน้า 171-174.
[กลับไปที่บทความ]
19. เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์.หลักความเสมอภาคตามกฎหมายฝรั่งเศส.รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub-law.net (กรุงเทพ : สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ,2545),หน้า97-105.
[กลับไปที่บทความ]
20. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ.กฎหมายมหาชนเล่ม 3 .(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิติธรรม,2538)หน้า 73-74.
[กลับไปที่บทความ]
21. โรเบสปิแอร์เป็นผู้นำกลุ่มมงตาญยารด์คนหนึ่งที่นิยมระบอบสาธารณรัฐ เป็นสมาชิกของคณะกรรมการรักษาความปลอดภัยสาธารณะและเป็นผู้เสนอนโยบายก่อความสยดสยองอันนำไปสู่ยุคแห่งความสยดสยองของฝรั่งเศสที่นำพาความตามมาสู่ประชาชน นักการเมือง ผู้ก่อการปฏิวัติโดยการประหารชีวิตด้วยกิโยตินและในที่สุดโรเบสปิแอร์ก็ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตินเช่นกันในปี 1794
[กลับไปที่บทความ]
22. Olivier Duhamel,Le pouvior politique en France,Paris,Edition du Seuil,p,359.
[กลับไปที่บทความ]
23. ถึงแม้คำประกาศดังกล่าวจะได้รับอิทธิพลแรงบันดาลใจและความคิดจากการประกาศอิสรภาพของอเมริกาปีค.ศ.1776 ก็ตาม แต่เนื้อหาและความหมายเต็มไปด้วยปรัชญาว่าด้วยสิทธิตามธรรมชาติโดยเฉพาะความคิดของรุสโซในหนังสือสัญญาประชาคม
[กลับไปที่บทความ]
24. Jean Rivero Les libertes publiques Tome 1 Les Droits de lhomme,Paris,PUF,1997,p.63.
[กลับไปที่บทความ]
25. บรรเจิด สิงคะเนติ.หลักพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์.(กรุงเทพ : วิญญูชน,2543)หน้า 107-109.
[กลับไปที่บทความ]
26. สมคิด เลิศไพฑูรย์ ,หลักความเสมอภาค,วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 (มิถุนายน 2543) หน้า 176-177.
[กลับไปที่บทความ]
27. สมคิด เลิศไพฑูรย์.เรื่องเดียวกัน.หน้า177-178.
[กลับไปที่บทความ]
28. บรรเจิด สิงคะเนติ.สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เรื่องหลักความเสมอภาค.(กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2543)หน้า 24-25.
[กลับไปที่บทความ]
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2547
|
2.3.3.2 หลักความเสมอภาคตามคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาล
แยกพิจารณาได้ 2 กรณี คือ29
1. หลักความเสมอภาคตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญได้วางแนวคำวินิจฉัยอันเกี่ยวกับหลักความเสมอภาคไว้ดังนี้
กรณีแรก ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในคำวินิจฉัยที่ 5/2542 ว่า การที่สถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้ไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เนื่องจากมาตรา 30 เป็นเรื่องการคุ้มครองเสรีภาพของปวงชนชาวไทยให้บุคคลมีความเสมอภาคในทางกฎหมายและได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน แต่การคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย และโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจทั้งนี้เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้นการคิดดอกเบี้ยตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2535 จึงมิใช่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามมาตรา 30
กรณีที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในคำวินิจฉัยที่ 37/2542 ว่าการที่หน่วยงานของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ปฏิบัติต่อกิจการของหน่วยงานในลักษณะที่แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เนื่องจากเมื่อพิจารณาตามมาตรา 30 จะพบว่าเป็นหลักความเสมอภาคทางกฎหมายที่ห้ามมิให้มีการปฏิบัติที่แตกต่างกันระหว่างบุคคลที่มีสถานะเดียวกันโดยไม่มีเหตุอันควร เมื่อสำนักงานผู้ตรวจราชการแผ่นดินของรัฐสภามีลักษณะพิเศษเฉพาะในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมิใช่ส่วนราชการ มิใช่รัฐวิสาหกิจ และมิได้เป็นหน่วยงานเอกชนอันจะต้องอยู่ภายใต้การบังคับกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานแล้ว การปฏิบัติต่อกิจการของสำนักงานฯในลักษณะที่แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานจึงเป็นการสมเหตุสมผล เหมาะกับสถานะของผู้ปฏิบัติงานในสำนักงานฯ จึงไม่เป็นการเลือกปฏิบัติอันขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 30
2. หลักความเสมอภาคตามคำพิพากษาศาลฎีกา
ศาลฎีกาได้พิพากษายืนยันถึงหลักความเสมอภาคของผู้มีสัญชาติไทยในการมีสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ในคำพิพากษาที่ 881/2495 ว่าจำเลย (นายอำเภอสันป่าตอง) ได้เข้าใจผิดในข้อสำคัญที่คิดไปว่า จำเลยมีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใครๆซื้อที่ดินก็ได้ ซึ่งไม่ถูกต้องจำเลยหามีอำนาจเช่นนั้นไม่ กล่าวคือหากไม่มีกฎหมายให้อำนาจแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่หามีอำนาจในการหน่วงเหนี่ยวขัดขวางการขอจดทะเบียนนิติกรรมอันเป็นการจำกัดสิทธิของราษฎรได้ ซึ่งย่อมแสดงว่าคนไทยทุกคนย่อมมีสิทธิเสมอกันในอันที่จะถือกรรมสิทธิ์ในทรัพยสินใดๆเว้นแต่จะมีกฎหมายห้าม
2.3.3.3 หลักความเสมอภาคตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ คณะกรรมการกฤษฎีกา
คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ได้วินิจฉัยเรื่องหลักแห่งความเสมอภาคของเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ในหลายกรณีได้แก่30
1. ความเสมอภาคในการรับบริการสาธารณะ
คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ได้วินิจฉัยในเรื่องที่เกี่ยวกับการรับนักเรียนเข้าโรงเรียนสาธิต31 ว่า หลักเกณฑ์ที่โรงเรียนได้กำหนดไว้เป็นกรณีพิเศษและนำมาใช้คัดเลือกนักเรียนจากการสอบด้วยนั้น ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 4 ประการ คือ (1) พิจารณารับบุตรหรือธิดาของผู้ปกครองนักเรียน ซึ่งมีบุตรธิดาอยู่ในโรงเรียนแล้ว โดยผู้ปกครองนั้นได้ร่วมมือในการสนับสนุนช่วยเหลือกิจการโรงเรียนด้วยดีมาโดยตลอด (2) พิจารณารับหลานของอาจารย์ในโรงเรียนหรือบุตรหลานของบูรพาจารย์ (3) พิจารณารับบุตรหรือธิดาของผู้ที่ทำประโยชน์ต่อโรงเรียนมหาวิทยาลัยหรือประเทศชาติ แม้จะไม่มีพี่น้องอยู่ในโรงเรียนนี้มาก่อน และ (4) พิจารณารับเด็กของผู้ฝากที่สำคัญจากส่วนราชการต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือราชการโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ปรากฏว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เป็นกรณีพิเศษนี้มิได้มีการประกาศให้สาธารณชนทราบโดยทั่วไป แม้จะปรากฏว่ามีอยู่ในหนังสือครบรอบ 15 ปี ของโรงเรียนก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าประกาศให้สาธารณชนทราบด้วย หลักเกณฑ์นี้ยังเป็นหลักเกณฑ์ที่ให้ความได้เปรียบแก่บุคคลบางกลุ่ม ผู้ปกครองที่ไม่มีบุตรหรือธิดาเรียนในโรงเรียนและประสงค์จะให้บุตรหรือธิดาเข้าเรียนในโรงเรียนนี้ก็จะไม่ทราบหลักเกณฑ์ดังกล่าว คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์เห็นว่า การนำหลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเป็นกรณีพิเศษนี้มาใช้ในการคัดเลือกนักเรียนนั้น มิได้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตร ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้โรงเรียนใช้ดุลพินิจได้ตามอำเภอใจ อันเป็นการเลือกปฏิบัติให้เป็นคุณแก่บุคคลบางกลุ่มเท่านั้น จึงไม่เป็นธรรมต่อนักเรียนที่สมัครสอบคัดเลือกเข้าเรียนในโรงเรียนโดยทั่วหน้ากัน อันเป็นการขัดต่อหลักความเสมอภาคของบุคคลในการเสาะแสวงหาโอกาสที่จะเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนของรัฐ
นอกจากนี้คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ยังได้วินิจฉัย32 กรณีการเคหะแห่งชาติผ่อนผันผู้เช่าซื้ออาคารบางคน ทั้งที่ล่วงเลยกำหนดระยะเวลาตามแนวปฏิบัติที่การเคหะแห่งชาติกำหนดไว้ แต่ไม่ผ่อนผันผู้เช่าซื้ออาคารบางคนนั้น ไม่มีเหตุผลอันสมควร ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์ที่ไม่เท่าเทียมกันกับรายอื่น การเคหะแห่งชาติมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง การปฏิบัติงานของการเคหะแห่งชาติจึงควรมุ่งเน้นในทางอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เช่าซึ้อภายในกรอบระเบียบ หลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติที่กำหนดซึ่งได้ประกาศล่วงหน้าให้ทราบทั่วกันและควรปฏิบัติต่อผู้เช่าซื้อทุกรายโดยเท่าเทียมกัน
2. ความเสมอภาคในการทำงานภาครัฐ
คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ได้พิจารณาถึงการที่ผู้บังคับบัญชาเสนอเลื่อนขั้นผู้ใต้บังคับบัญชาเพียงครึ่งขั้นด้วยเหตุที่ผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่มาในวันพัฒนาคณะ ทั้งๆที่ผู้ใต้บังคับบัญชาหลายคนที่ไม่ได้มาในวันนั้นไม่ได้รับผลกระทบหรือถูกนำเอากรณีดังกล่าวไปใช้ในการพิจารณาเลื่อนขั้นค่าจ้างด้วย กรณีนี้จึงถือได้ว่า เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม 33หรือกรณีที่ข้าราชการกู้เงินปลูกบ้านเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและได้อยู่อาศัยจริงในบ้านนั้น ข้าราชการผู้นั้นย่อมมีสิทธิได้รับเบิกค่าเช่าบ้านได้เช่นเดียวกับคนอื่น แม้ข้าราชการผู้นั้นจะแบ่งห้องเช่าโดยไม่นำค่าเช่าที่ได้รับมาหักจำนวนเงินที่ขอเบิกก็ตาม หน่วยราชการก็ไม่สามารถตัดสิทธิข้าราชการผู้นั้นได้ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎเกณฑ์ มิฉะนั้นอาจเกิดความลักลั่นในทางปฏิบัติอันเป็นเหตุให้เกิดความไม่เสมอภาคแก่ข้าราชการผู้ต้องใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านตามพระราชกฤษฎีกา34 แต่ในกรณีที่สถาบันราชภัฏไม่อนุญาตให้ผู้ร้องทุกข์โอนไปรับราชการที่ส่วนราชการอื่นจนกว่าผู้ร้องทุกข์จะชดใช้หนี้ทุนให้ครบจำนวนก่อนนั้น คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์35 เห็นว่าผู้ร้องทุกข์ไม่อาจหยิบยกกรณีการโอนข้าราชการของกรมสามัญศึกษา...ปฏิเสธความรับผิดตามสัญญาได้เพราะกรณีนั้นเป็นการใช้ดุลพินิจของส่วนราชการที่ต่างกัน
3.ความผูกพันต่อหลักความเสมอภาค
หลักแห่งความเสมอภาคเป็นหลักซึ่งเกี่ยวข้องต่อบุคคลในการที่จะได้รับผลปฏิบัติอย่างเสมอภาคจากรัฐโดยองค์กรของรัฐเป็นผู้ถูกผูกพันที่จะต้องไม่กระทำการอันเป็นการขัดต่อหลักความเสมอภาค แต่หากมีการกระทำอันส่งผลกระทบต่อหลักความเสมอภาคแล้วผู้ได้รับการกระทบสิทธิย่อมมีสิทธิฟ้องร้องต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อเยียวยาสิทธิได้ ดังนั้นความผูกพันต่อหลักความเสมอภาคจึงมีผู้เกี่ยวข้อง คือ ผู้กล่าวอ้างให้ได้รับการปฏิบัติตามหลักความเสมอภาคอันได้แก่ผู้ทรงสิทธิซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล และผู้ผูกพันที่จะต้องปฏิบัติต่อบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลตามหลักความเสมอภาคอันได้แก่องค์กรของรัฐนั่นเอง
3.1 ผู้ทรงสิทธิและผู้ผูกพันต่อหลักความเสมอภาค
หลักความเสมอภาคมีความสัมพันธ์กับผู้ทรงสิทธิเสรีภาพ และองค์กรของรัฐ ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้
3.1.1 ผู้ทรงสิทธิ
เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยได้กำหนดถึงสิทธิประเภทต่าง ๆ ที่บุคคลสามารถเป็นผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพได้ ซึ่งสิทธิที่จะกล่าวในที่นี้คือ สิทธิในความเสมอภาค ตามมาตรา 30 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่บุคคลผู้ทรงสิทธิจะได้รับการปฏิบัติจากรัฐอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งตามหมวด 3 ของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ซึ่งเมื่อพิจารณาจากชื่อหมวดดังกล่าวจะพบว่าเป็นสิทธิหน้าที่ของบุคคลธรรมดา แม้ตามหมวด 3 ของรัฐธรรมนูญไทยมิได้มีการบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งว่านิติบุคคลและกลุ่มบุคคลสามารถเป็นผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากระบบกฎหมายไทยแล้วพบว่านิติบุคคลย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิและหน้าที่ได้เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพจะพึงใช้แก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น ดังนั้นผู้ที่จะเป็นผู้อ้างถึงความเสมอภาคที่จะได้รับการปฏิบัติจากองค์กรของรัฐอย่างเท่าเทียมกันจึงประกอบด้วยบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ดังนี้
3.1.1.1 บุคคลธรรมดา
โดยทั่วไปสิทธิและเสรีภาพที่บุคคลธรรมดาจะเป็นผู้ทรงสิทธิได้นั้นย่อมต้องเป็นสิทธิของบุคคลซึ่งมีชีวิต ดังนั้นสิทธิเสรีภาพของบุคคลจึงเป็นไปตามความสามารถของบุคคลซึ่งต้องพิจารณาตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 15 วรรคแรก ที่ได้บัญญัติว่า สภาพของบุคคลเริ่มตั้งแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก... จึงถือว่าทารกที่คลอดมาต้องมีสภาพบุคคลเสียก่อนจึงจะมีสิทธิบางประการตามกฎหมาย จึงกล่าวได้ว่าการอ้างหลักความเสมอภาคในสิทธิต่างๆตามนั้นต้องพิจารณาประกอบกับความสามารถของบุคคลประกอบด้วยแม้ปกติพลเมืองของรัฐย่อมใช้สิทธิเสรีภาพต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน แต่การทรงสิทธิเสรีภาพบางประการย่อมได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันและไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะการใช้สิทธิเสรีภาพบางประการมีความเกี่ยวพันกับความสามารถของบุคคลซึ่งพิจารณาตามเกณฑ์อายุในการใช้สิทธิเสรีภาพ เช่นสิทธิในการเลือกตั้ง ตามมาตรา 105 ได้บัญญัติให้บุคคลอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี บริบูรณ์มีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือสิทธิของบุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐตามรัฐธรรมนูญมาตรา 54 เป็นต้น จึงถือได้ว่าโดยหลักประชาชนทุกคนย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอกัน แต่การทรงสิทธิบางประการอาจถูกจำกัดหรือปฏิบัติให้แตกต่างกันอันเนื่องมาจากเงื่อนไขของความสามารถหรือเกณฑ์อายุที่ใช้พิจารณาความสามารถในการใช้สิทธิของบุคคลได้
แต่อย่างไรก็ตาม การทรงสิทธิต่างๆโดยอ้างถึงหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญนั้นอาจไม่อยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายที่มีลำดับชั้นต่ำกว่ารัฐธรรมนูญแต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากการทรงสิทธิเสรีภาพอันอ้างหลักความเสมอภาคได้นั้นอาจกำหนดโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แม้จะไม่เข้าเงื่อนไขการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแพ่งในเรื่องความสามารถของบุคคลก็ตาม
โดยหลักบุคคลธรรมดาทั่วไปย่อมอ้างหลักความเสมอภาคได้ ซึ่งการอ้างหลักดังกล่าวเป็นผลมาจากลักษณะของสิทธิตามมาตรา 30 ซึ่งบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน... และจากชื่อหมวดที่บัญญัติให้เป็นหมวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย จึงทำให้บทบัญญัติของสิทธิเสรีภาพตามหมวด 3 บังคับใช้กับปวงชนชาวไทยหรือคนสัญชาติ ดังนั้นบุคคลต่างด้าวไม่สามารถเป็นผู้ทรงสิทธิในความเสมอภาคตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญได้ แม้หลักแห่งความเสมอภาคจะเป็นหลักการแห่งสิทธิมนุษยชนก็ตาม ซึ่งเมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติเรื่องสิทธิและเสรีภาพแล้วจะพบว่าเป็นเรื่องของการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลในการแสดงเจตจำนงทางการเมืองซึ่งโดยหลักก็เป็นเรื่องของคนในรัฐนั้นๆเองจึงถือเป็นเหตุผลอันอาจยกขึ้นอ้างของการปฏิบัติต่อบุคคลอันมิใช่บุคคลสัญชาติอย่างไม่เท่าเทียมกันได้ หากรัฐธรรมนูญจะให้สิทธิเสรีภาพแก่บุคคลต่างด้าวประการใดก็ต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะในกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้คนต่างด้าวจะมีสิทธิเพียงใดย่อมเป็นไปตามสนธิสัญญาและกฎหมายอื่นซึ่งไม่ใช่ของรัฐธรรมนูญ36 จากข้อจำกัดในเรื่องสัญชาติจึงส่งผลให้คนต่างด้าวถูกจำกัดการเป็นผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตาม ในหมวด 8 ของรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดถึงกระบวนการในทางอาญาซึ่งมีลักษณะของสิทธิมนุษยชนอันเกี่ยวพันกับสิทธิและเสรีภาพในชีวิตร่างกายที่บุคคลไม่ว่าสัญชาติใดพึงมีในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ดังนั้นบุคคลต่างด้าวย่อมสามารถเป็นผู้ทรงสิทธิอันจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันอันเนื่องมาจากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือตามสิทธิมนุษยชนซึ่งได้ถูกนำมาบัญญัติรับรองไว้อย่างชัดแจ้งนั่นเอง
3.1.1.2 นิติบุคคลในกฎหมายเอกชน
หลักความเสมอภาคนั้นมีความสัมพันธ์กับการทรงสิทธิเสรีภาพของนิติบุคคล ซึ่งเมื่อได้พิจารณาถึงการมีสิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อาจสรุปได้ว่านิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนสามารถเป็นผู้ทรงสิทธิหรือสามารถอ้างถึงหลักความเสมอภาคได้ แต่สิทธิที่นิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนจะเป็นผู้ทรงสิทธิได้นั้นจะต้องไม่ใช่สิทธิและเสรีภาพซึ่งโดยสภาพแล้วจะพึงมีพึงได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือสิทธิที่นิติบุคคลหรือกลุ่มบุคคลจะอ้างได้นั้นจะต้องไม่ใช่สิทธิและเสรีภาพที่เชื่อมโยงอยู่กับความเป็นมนุษย์หรือสิทธิและเสรีภาพในลักษณะที่เกี่ยวกับความเป็นบุคคล ซึ่งลักษณะดังกล่าวไม่มีอยู่ในความเป็นนิติบุคคล อาทิ สิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นต้น37
ส่วนในกรณีของนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน จะเห็นได้ว่าลักษณะทั่วไปของนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนนั้นผู้ที่อยู่เบื้องหลังนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนนั้นมิใช่บุคคลธรรมดา หากแต่เป็น รัฐ ที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน38 การดำเนินตามสิทธิและหน้าที่ของนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนถือเป็นองค์กรที่ใช้สิทธิและหน้าที่ในนามของรัฐ แต่เมื่อพิเคราะห์จากการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลแล้วจะพบว่าการใช้สิทธิกล่าวอ้างในสิทธิและเสรีภาพของตนนั้นต้องกระทำต่อรัฐผู้ซึ่งมีหน้าที่ในการรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ในกรณีดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพของนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนที่จะเรียกร้องเอาแก่รัฐ ซึ่งในขณะเดียวกันนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนก็อยู่ในฐานะของหน่วยงานรัฐซึ่งอยู่ในฐานะของผู้ที่ต้องผูกพันต่อหลักความเสมอภาคด้วยเช่นกันทำให้เกิดความขัดแย้งในอำนาจหน้าที่ซึ่งไม่อาจใช้ในขณะเดียวกันได้ จากเหตุผลนี้เองจึงส่งผลให้นิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนไม่อาจเป็นทั้งผู้ทรงสิทธิที่จะอ้างถึงหลักความเสมอภาคและไม่อาจเป็นทั้งผู้ที่ต้องผูกพันตามหลักความเสมอภาคตามมาตรา 30 ในขณะเดียวกันได้ แต่หากพิจารณาเนื้อหาของหลักความเสมอภาคแล้ว หลักความเสมอภาคควรที่จะนำมาใช้กับนิติบุคคลในทางกฎหมายมหาชนเฉพาะกรณีที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างนิติบุคคลในทางกฎหมายมหาชนด้วยกัน39
3.1.2 องค์กรของรัฐผู้ถูกผูกพันต่อหลักความเสมอภาค
โดยหลักทั่วไปแล้ว หลักความเสมอภาคย่อมผูกพันองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งหมด หรือผูกมัดทั้งทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร และทางตุลาการ ในการที่ต้องให้สิทธิแก่บุคคลที่จะได้รับผลปฏิบัติอย่างเสมอภาค ดังนี้40
3.1.2.1 ความผูกพันของฝ่ายนิติบัญญัติต่อหลักความเสมอภาค
ความผูกพันของฝ่ายนิติบัญญัติต่อหลักความเสมอภาคนั้นเป็นไปตามหลักความเสมอภาคในการบัญญัติกฎหมายหรือที่เรียกว่า ความเสมอภาคของกฎหมาย ซึ่งเป็นเกณฑ์ในการบัญญัติกฎหมายที่ต้องบัญญัติกฎหมายให้มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปและไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง อย่างไรก็ตาม แม้ฝ่ายนิติบัญญัติจะบัญญัติกฎหมายในลักษณะที่มีผลเป็นการทั่วไปก็ตามแต่ก็อาจนำไปสู่การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันได้ เนื่องจากการที่จะต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันนั้นไม่อาจพิจารณาได้อย่างแน่นอนในหลายๆกรณีที่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบว่ากฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยเคารพหลักความเสมอภาคและถูกนำไปปฏิบัติอย่างเสมอภาคกัน ทั้งนี้ต้องให้ความอิสระแก่การใช้ดุลพินิจของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมีการให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติในการกำหนดลักษณะสำคัญของการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันโดยการเปรียบเทียบสาระสำคัญของแต่ละกรณีในการปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญให้เหมือนกันและปฏิบัติต่างกันในสิ่งที่มีสาระสำคัญต่างกัน จึงเป็นผลให้การตรวจสอบจะทำได้เฉพาะกรณีที่ฝ่ายนิติบัญญัติใช้อำนาจดุลพินิจเกินขอบอำนาจที่กฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ตาม การละเมิดหลักความเสมอภาคอาจเกิดได้จากการประเมินสาระสำคัญของสำคัญของข้อเท็จจริงผิดพลาดจนนำไปสู่การปฏิบัติให้แตกต่างกันในข้อเท็จจริงที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือปฏิบัติเหมือนกันในข้อเท็จจริงที่ต่างกัน กรณีนี้หากขาดเหตุผลที่อาจรับฟังได้ การกำหนดของฝ่ายนิติบัญญัติดังกล่าวย่อมเป็นการละเมิดหลักความเสมอภาค
นอกจากนี้ยังมีหลักสำคัญประการหนึ่งในการบัญญัติกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติที่ต้องตระหนักเป็นพิเศษคือ ระบบกฎหมาย กล่าวคือการบัญญัติกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติต้องคำนึงถึงหลักพื้นฐานในเรื่องนั้นๆโดยต้องพิจารณาองค์ประกอบของกฎหมายที่จะบัญญัติขึ้นใหม่ว่าต้องมีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่ได้บัญญัติไว้แล้ว
ในกรณีที่มีการละเมิดหลักความเสมอภาคโดยฝ่ายนิติบัญญัติ สามารถแยกได้เป็นสามกรณีคือ
1) การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันซึ่งมีทั้งการให้ประโยชน์แก่บุคคลหนึ่ง และก่อให้เกิดภาระแก่บุคคลหนึ่ง การแก้ปัญหาในกรณีการปฏิบัติไม่เท่าเทียมกันในกรณีนี้อาจทำได้โดยการขยายประโยชน์ให้กับบุคคลอีกกลุ่มหนึ่ง หรือการขยายภาระให้กับบุคคลอีกกลุ่มหนึ่ง หรือการทำให้ประโยชน์และภาระมีความเท่าเทียมกันระหว่างบุคคลทั้งสองกลุ่ม
2)การปฏิบัติที่เป็นการให้ประโยชน์อย่างไม่เท่าเทียมกัน การแก้ปัญหาอาจทำได้โดยการขยายประโยชน์แก่กลุ่มบุคคลอื่นด้วย ทั้งนี้ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย
3) การปฏิบัติที่เป็นการให้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน บทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดภาระอย่างไม่เท่าเทียมกันนั้น ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเยอรมันได้มีความเห็นว่าโดยทั่วไปแล้วบทบัญญัติดังกล่าวเป็นโมฆะ หากขาดเหตุผลจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือหลักกฎหมายอื่นสนับสนุนบทบัญญัติดังกล่าว
กฎหมายที่ขัดกับหลักความเสมอภาคนั้น อาจสรุปผลของการละเมิดหลักความเสมอภาคได้ ดังนี้41
1) ในกรณีที่กฎหมายนั้นก่อให้เกิดภาระแก่ประชาชนโดยขัดกับหลักความเสมอภาค กฎเกณฑ์ที่ขัดกับหลักความเสมอภาคนั้นอาจเป็นโมฆะเพียงบางส่วนหรืออาจจะเป็นโมฆะทั้งฉบับ ทั้งนี้แล้วแต่ความเกี่ยวพันของเนื้อหากฎหมายนั้นๆ
2) ในกรณีที่เป็นการให้ประโยชน์ซึ่งขัดกับหลักความเสมอภาคนั้นหลักความเสมอภาคจะเข้าไปมีผลในกรณีดังกล่าว เมื่อหลักตามรัฐธรรมนูญก็ดีหรือเมื่อพิจารณาอย่างเป็นระบบในทางเนื้อหาของหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวก็ดี หรือจากเจตนารมณ์ของกฎเกณฑ์ดังกล่าวก็ดี เรียกร้องให้การให้ประโยชน์ดังกล่าวต้องเป็นไปอย่างเสมอภาค
3) ในกรณีที่เป็นการให้ประโยชน์ซึ่งขัดกับหลักความเสมอภาคนั้น แต่การขยายการให้ประโยชน์ดังกล่าวนั้นไม่ได้ถูกเรียกร้องจากหลักตามรัฐธรรมนูญก็ดี หรือจากระบบของกฎเกณฑ์นั้นก็ดี หรือจากเจตนารมณ์ของกฎเกณฑ์นั้นก็ดี ในกรณีนี้ให้ยกเลิกการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ หรือการยกเลิกการวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวที่ได้กระทำไปแล้ว หรือการให้หยุดการดำเนินคดีในเรื่องดังกล่าวไว้ก่อน
3.1.2.2 ความผูกพันของฝ่ายบริหารต่อหลักความเสมอภาค
การกระทำของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายปกครองนั้นอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ42
1) การกระทำในลักษณะที่เป็นการออกกฎหมายลำดับรอง ซึ่งได้แก่การออกกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศต่างๆ
2) การกระทำในลักษณะที่มีผลเป็นการเฉพาะรายหรือเฉพาะบุคคล
การกระทำของฝ่ายปกครองในลักษณะการออกกฎหมายลำดับรองต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจและอยู่ภายในกรอบของกฎหมายแม่บทที่ให้อำนาจ หากการกระทำของฝ่ายปกครองนั้นอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายแม่บทก็ย่อมถือว่ากฎหมายลำดับรองนั้นไม่ขัดกับหลักความเสมอภาค เว้นแต่กฎหมายแม่บทที่ให้อำนาจนั้นเองที่ขัดต่อหลักความเสมอภาค
ส่วนกรณีการกระทำของฝ่ายปกครองในการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของกฎหมายนั้น โดยหลักการกระทำของฝ่ายปกครองเป็นการกระทำที่มีผลเป็นเฉพาะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเท่านั้น ดังนั้นการกระทำของฝ่ายปกครองจะละเมิดหลักความเสมอภาคได้ก็ต่อเมื่อฝ่ายปกครองได้ปฏิบัติต่อกรณีเฉพาะที่มีข้อเท็จจริงเหมือนกันให้แตกต่างกัน โดยการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันนี้อาจเกิดขึ้นได้สองกรณี คือ กรณีแรกเป็นกรณีที่กฎหมายให้อำนาจแก่ฝ่ายปกครองในการใช้ดุลพินิจในการเลือกใช้มาตรการใดมาตรการหนึ่ง หรือในกรณีที่สองเป็นกรณีที่กฎหมายไม่ได้กำหนดอำนาจดุลพินิจให้เจ้าหน้าที่เลือกปฎิบัติกล่าวคือมีการกำหนดกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติไว้อย่างชัดแจ้งผูกพันให้ฝ่ายปกครองต้องปฏิบัติตามหรือไม่มีอำนาจดุลพินิจในการเลือกปฏิบัติ หากไม่ได้มีการดำเนินการตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งก็จะเป็นการปฏิบัติอย่างไม่เสมอภาคในลักษณะที่เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้
ขอบเขตดุลพินิจของฝ่ายปกครองตามหลักความเสมอภาคนั้น ถือเป็นข้อจำกัดการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครอง โดยการใช้ดุลพินิจนั้นต้องผูกพันต่อการปฏิบัติที่ผ่านมาซึ่งเป็นกรณีที่มีข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน เว้นแต่จะมีเหตุผลที่สามารถแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะด้องใช้ดุลพินิจแตกต่างจากที่เคยปฏิบัติมา43
หากเกิดกรณีละเมิดหลักความเสมอภาคของฝ่ายปกครอง โดยฝ่ายปกครองไม่ยึดถือหลักการปฏิบัติเช่นเดียวกันในกรณีที่มีข้อเท็จจริงเหมือนกันโดยไม่มีเหตุผลอันอาจรับฟังได้ บุคคลผู้ได้รับการกระทบสิทธิอาจโต้แย้งการกำหนดภาระแก่บุคคลนั้นหรืออาจเรียกร้องประโยชน์จากฝ่ายปกครอง หากกรณีการให้ประโยชน์นั้นขัดหลักความเสมอภาค
3.1.2.3 ความผูกพันฝ่ายตุลาการต่อหลักความเสมอภาค
ความผูกพันของฝ่ายตุลาการต่อหลักความเสมอภาคนั้นอาจแยกพิจารณาออกได้เป็น 3 ประการ คือ44
1) ความเสมอภาคของประชาชนต่อการฟ้องศาล โดยประชาชนมีสิทธิที่จะโต้แย้งและฟ้องร้องการกระทำของรัฐ อันเป็นสิทธิที่รับรองคุ้มครองให้ประชาชนสามารถฟ้องศาลได้ นอกจากนี้ยังรวมถึงการนำบรรดาข้อพิพาทระหว่างประชาชนด้วยกันขึ้นสู่ศาลได้โดยไม่มีข้อจำกัด ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายวิธีพิจารณาความของเรื่องนั้นๆ
2) ความเสมอภาคของประชาชนต่อหน้าศาล โดยประชาชนมีความเท่าเทียมกันในการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อหน้าศาล ซึ่งเป็นไปตาม หลักการรับฟังคู่ความ โดยในการดำเนินกระบวนการพิจารณานั้นต้องเปิดโอกาสให้แก่คู่กรณียกข้อต่อสู้ของตนขึ้นกล่าวอ้างในคดีได้ และศาลต้องเปิดโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในการรับฟังคู่ความทั้งสองฝ่าย และต้องให้ความสำคัญแก่บุคคลผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยว่าเป็น ประธานแห่งคดีหรือบุคคลสำคัญในคดี หากกระบวนการพิจารณาคดีดำเนินการโดยไม่คำนึงถึงหลักการดังกล่าวจะถือเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันขัดกับหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และยังขัดกับความเสมอภาคของประชาชนต่อหน้าศาลด้วย
ความเสมอภาคในการใช้กฎหมายโดยศาล เป็นความผูกพันของผู้พิพากษาต่อกฎหมายต่างๆอย่างเท่าเทียมกันในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน โดยหลักดังกล่าวเป็นข้อห้ามมิให้ศาลใช้อำนาจโดยอำเภอใจ หลักความเสมอภาคในการใช้กฎหมายโดยศาลนั้นอาจจำแนกเป็น 3 รูปแบบ คือ
(1) บุคคลย่อมมีสิทธิเรียกร้องอย่างเท่าเทียมกันกับการไม่ให้ใช้กฎหมายให้แตกต่างไปจากบทบัญญัติของกฎหมาย
(2) บุคคลย่อมมีสิทธิเรียกร้องอย่างเท่าเทียมกันกับการให้ใช้บทบัญญัติของกฎหมายกับคดีของตนอย่างเคร่งครัด
(3) ความมีสิทธิในการเรียกร้องอย่างเท่าเทียมกันกับการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ดุลพินิจอย่างปราศจากข้อบกพร่อง
4. การตรวจสอบกฎหมายตามหลักความเสมอภาค
การพิจารณาว่ากฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งละเมิดต่อหลักความเสมอภาคหรือไม่ จะต้องตรวจสอบในประเด็นต่อไปนี้45
1) กฎหมายฉบับนั้นได้กำหนดให้มีการปฏิบัติให้แตกต่างกันสำหรับข้อเท็จจริงที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือไม่
2) การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันนั้นอาจให้เหตุผลตามรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ โดยมีข้อพิจารณาในการตรวจสอบดังนี้
(1) การบัญญัติกฎหมายดังกล่าวนั้นเป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการของการบัญญัติกฎหมายหรือไม่
(2) กฎหมายฉบับดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับหลักเงื่อนไขการบัญญัติกฎหมายของรัฐสภาหรือไม่ กล่าวคือกฎหมายฉบับนั้นฝ่ายนิติบัญญัติได้กำหนดสิ่งอันเป็นสาระสำคัญเอง โดยมิได้มอบให้เป็นอำนาจของฝ่ายปกครอง
(3) ข้อพิจารณาเกี่ยวกับหลักความเสมอภาค
(3.1) การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันนั้นมีความมุ่งหมายเพื่อวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
(3.2) ในกรณีของเงื่องไขพิเศษตามหลักความเสมอภาคเฉพาะเรื่องการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันในเรื่องนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขของหลักความเสมอภาคเฉพาะเรื่องนั้นๆหรือไม่ เช่น การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันนั้นละเมิดหลักเกณฑ์ของข้อห้ามมิให้เลือกปฏิบัติหรือไม่ หรือการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันนั้นมีความเหมาะสมและมีความจำเป็นเพื่อการบรรลุวัตถุประสงค์หรือตามหลักความได้สัดส่วนหรือไม่
(4) การตรวจสอบเนื้อหาของกฎหมายกับหลักความเสมอภาค มีการตรวจสอบ 4 ระดับดังนี้46
(4.1) ประการแรกฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องมีความชัดเจนต่อความแตกต่างที่ปรากฏในทางข้อเท็จจริงอย่างสมบูรณ์และปราศจากความผิดพลาด และจะต้องประเมินพื้นฐานที่ถูกต้องเป็นจริงนั้นโดยเจตจำนงของฝ่ายนิติบัญญัติเองในการที่กำหนดกฎเกณฑ์ดังกล่าว ในขณะเดียวกันการกำหนดกลุ่มบุคคลที่จะใช้ในการเปรียบเทียบก็ดีหรือการกำหนดลักษณะขององค์ประกอบก็ดี ย่อมขึ้นกับความมุ่งหมายของกฎเกณฑ์ในเรื่องนั้นๆ
(4.2) ความเหมือนกันหรือความแตกต่างกันของเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่นำไปสู่การบัญญัติกฎหมายนั้นจะต้องมีการประเมินภายในขอบเขตของหลักกฎหมายทั่วไป และหากมีการกำหนดให้แตกต่างความแตกต่างนั้นจะต้องสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่ได้กำหนดได้แล้ว ในกรณีเป็นไปตาม หลักความสอดคล้องหลักกฎหมายทั่วไป หลักกฎหมายทั่วไปนั้นมีความสำคัญต่อการประเมินตามความเสมอภาคคือบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังรวมถึงบทบัญญัติของกฎหมายต่างๆที่ได้รับหลักการมาจากรัฐธรรมนูญ
(4.3) นอกเหนือจาก หลักความสอดคล้องกับกฎหมายทั่วไป แล้วกฎเกณฑ์ของกฎหมายในเรื่องนั้นจะต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์เฉพาะของกฎหมายในขอบเขตเรื่องนั้นๆด้วย หรือที่เรียกว่า หลักความสอดคล้องกับหลักกฎหมายเฉพาะเรื่อง
(4.4) ในการบัญญัติกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง การตัดสินใจของฝ่ายนิติบัญญัติบนพื้นฐานของความสอดคล้องกันของระบบกฎหมายจะต้องสอดคล้องกับความคิดพื้นฐานและทำให้แต่ละองค์ประกอบของกฎหมายนั้นมีผลในทางปฏิบัติ
(5) องค์ประกอบและผลในทางกฎหมายในเรื่องดังกล่าวได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนหรือไม่
จากหลักเกณฑ์ของหลักความเสมอภาคที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้นถือได้ว่าหลักความเสมอภาคเป็นหลักเกณฑ์อันสำคัญยิ่งประการหนึ่งที่จะทำให้การใช้สิทธิเสรีภาพบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายได้รับรองและคุ้มครอง โดยจะก่อให้เกิดการใช้สิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกันของประชาชนทุกผู้ทุกคน และเกิดความยุติธรรมแก่ทุกกรณีจากการที่รัฐมีความผูกพันที่ต้องออกกฎเกณฑ์มาใช้กับประชาชน การบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ออกมานั้นแก่ประชาชน และการเยียวยาสิทธิให้แก่ประชาชน ทั้งนี้การที่จะบรรลุผลตามหลักความเสมอภาคได้นั้นย่อมต้องอาศัยความเข้าใจและตระหนักในสิทธิของประชาชนในการกล่าวอ้างถึงหลักความเสมอภาคต่อรัฐ และขณะเดียวกันองค์กรของรัฐก็ต้องปฏิบัติต่อประชาชนโดยเคารพหลักความเสมอภาคเป็นสำคัญ จึงจะทำให้หลักความเสมอภาคเกิดผลในทางปฏิบัติได้
จบ
เชิงอรรถ
29. สมคิด เลิศไพฑูรย์ ,หลักความเสมอภาค,วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 (มิถุนายน 2543) หน้า 178-181.
[กลับไปที่บทความ]
30. สมคิด เลิศไพฑูรย์.เรื่องเดียวกัน.หน้า177-178.
[กลับไปที่บทความ]
31. คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ 25/2543 เรื่องไม่ได้รับความเป็นธรรมในการสอบคัดเลือกเข้าเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.อ้างถึงในสมคิด เลิศไพฑูรย์.เรื่องเดียวกัน.หน้า181.
[กลับไปที่บทความ]
32. คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ 13/2540
[กลับไปที่บทความ]
33. คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ 27/2542 เรื่องการพิจารณาเลื่อนขั้นค่าจ้างลูกจ้างประจำไม่ชอบด้วยกฎหมาย
[กลับไปที่บทความ]
34. คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ 24/2541
[กลับไปที่บทความ]
35. คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ 118/2540
[กลับไปที่บทความ]
36. วิษณุ เครืองาม.กฎหมายรัฐธรรมนูญ.พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ : นิติธรรม),2530
[กลับไปที่บทความ]
37. บรรเจิด สิงคะเนติ,หลักพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญใหม่,หน้า67.
[กลับไปที่บทความ]
38. เรื่องเดียวกัน,หน้า68.
[กลับไปที่บทความ]
39. เรื่องเดียวกัน,หน้า110.
[กลับไปที่บทความ]
40. บรรเจิด สิงคะเนติ,หลักพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญใหม่,หน้า125-135.
[กลับไปที่บทความ]
41. Pieroth/Schlink, Grundrechte-Staatsrecht II , 9.Aufl., S, 162 อ้างถึงในบรรเจิด สิงคะเนติ,หลักพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญใหม่,หน้า 130.
[กลับไปที่บทความ]
42. บรรเจิด สิงคะเนติ.สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เรื่องหลักความเสมอภาค.(กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2543)หน้า 29.
[กลับไปที่บทความ]
43. Maunz/Zippelius,Deutsches Stattsrecht,280 Aufl.,S.218 อ้างถึงในบรรเจิด สิงคะเนติ,หลักพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญใหม่,หน้า131.
[กลับไปที่บทความ]
44. บรรเจิด สิงคะเนติ.สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เรื่องหลักความเสมอภาค.(กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2543)หน้า 33-36.
[กลับไปที่บทความ]
45. Pieroth/Schlink, Grundrechte-Staatsrecht II , 9.Aufl., S, 132 อ้างถึงในบรรเจิด สิงคะเนติ,หลักพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญใหม่,หน้า 135-137.
[กลับไปที่บทความ]
46. Paul Kirchhof, Gleichheit vor dem Grundgesetz, NJW 1987, S.2356 อ้างถึงในบรรเจิด สิงคะเนติ,เรื่องเดียวกัน,หน้า 136-137.
[กลับไปที่บทความ]
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2547
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=657
เวลา 24 พฤศจิกายน 2567 18:23 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|