หน้าแรก บทความสาระ
ข้อเสนอสำหรับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในประเทศไทย [ตอนที่ 2]
รองศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์
3 มกราคม 2548 17:27 น.
 
หน้าที่แล้ว
1 | 2 | 3 | 4
หน้าถัดไป

       
บทที่ 3

       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540)

       กับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

       


                   
       รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ได้บัญญัติเรื่องการเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ในมาตรา 59 ซึ่งจากบทบัญญัติของมาตราดังกล่าวได้กำหนดให้ "กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ" แต่ในปัจจุบันยังมิได้มีการตรากฎหมายมารองรับบทบัญญัติดังกล่าว การจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจึงยังคงต้องนำระเบียบส่วนนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 มาใช้เป็นแนวทางในการจัดทำประชาพิจารณ์ แต่อย่างไรก็ดี เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ได้มีการดำเนินการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. …. ขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยในที่นี้จะขอนำเสนอสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. …. ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
       
       3.1 แนวความคิดในการบัญญัติเรื่องการจัดทำประชาพิจารณ์ไว้ใน
       รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540)

                   
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) นับได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ได้มีการบัญญัติเรื่อง "ประชาพิจารณ์" ไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยในขั้นตอนของการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอร่างของคณะกรรมาธิการในเรื่องประชาพิจารณ์ดังนี้67
       
       


                   
       "มาตรา 3/3/9 บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะได้รับคำชี้แจงข้อมูลและเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ก่อนการอนุญาต หรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจที่มีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยหรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ"
       


                   
       คณะทำงานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชี้แจงว่า ร่างมาตรานี้เป็นเรื่อง "ประชาพิจารณ์" ซึ่งจะเป็นกรณีที่รัฐกำลังจะดำเนินการใด หรือจะอนุญาตให้บุคคลใดกระทำการใด และการนั้นอาจกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฯลฯ บุคคลที่จะถูกผลกระทบมีสิทธิได้รับการชี้แจงจากหน่วยงานของรัฐ และมีสิทธิเสนอความเห็น นอกจากนั้น ที่มีคำว่า "ส่วนได้เสียสำคัญอื่นใด" ก็เพื่อให้ขยายถึงกรณีอื่นนอกจากสิ่งแวดล้อม เช่น การที่จะมีการออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดศุลกากร shipping ก็น่าจะมีสิทธิแสดงความเห็นได้ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมาธิการเห็นชอบตามที่เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอ และต่อมาการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นชอบให้ย้ายคำว่า "คำชี้แจง" ไว้หลังคำว่า "ข้อมูล" และเพิ่มเติมคำว่า "หรือราชการส่วนท้องถิ่น" ดังนี้
       


                   
       "มาตรา 59 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่กฎหมายบัญญัติ"
       


                   
       จากที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นที่มาของมาตรา 59 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540)


       
       3.2 ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. ….

                   
       ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. …. มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ คือ

                   
       3.2.1 ความเป็นมาในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. ….

                   
        เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ได้บัญญัติเรื่องประชาพิจารณ์ไว้ในมาตรา 59 ซึ่งบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวได้กำหนดให้ "กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ" ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) มาตรา 59 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์) จึงได้ขอให้ทบวงมหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการยกร่างกฎหมายว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งหลังจากที่ทบวงมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. …. เรียบร้อยแล้ว รองนายกรัฐมนตรี (นายพิชัย รัตตกุล) ได้มีคำสั่งให้นำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสนอคณะกรรมการนโยบายและประสานงานการดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญพิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและประสานงานการดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2542 คณะกรรมการ ฯ ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. …. ตามที่ทบวงมหาวิทยาลัยเสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาโดยรับข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรี และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณา แล้วเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง68 ซึ่ง ในปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. …. จึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา


                   
       3.2.2 เหตุที่ต้องมีการจัดทำประชาพิจารณ์

                   
       ร่างกฎหมายว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกำหนดไว้ว่า
       การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกิดขึ้นได้ ในกรณีที่ ก่อนที่ หน่วยงานของรัฐ69 จะมีคำสั่งทาง
       ปกครองให้มีการดำเนินงานตามโครงการของรัฐ70 ในเรื่องใดที่มีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม
       สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตหรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับประชาชนหรือชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐอาจจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์71 โครงการของรัฐนั้นก่อนได้ แต่ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าโครงการของรัฐในเรื่องดังกล่าวไม่จำเป็นต้องจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ หน่วยงานของรัฐต้องประกาศรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบ ซึ่งอย่างน้อยต้องระบุแนวนโยบายของรัฐ สภาพปัญหา ผลกระทบที่เล็งเห็น การเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น ก่อนที่หน่วยงานของรัฐจะมีคำสั่งทางปกครองไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน72


                   
       แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็ได้เปิดโอกาสให้ ผู้มีสิทธิแสดงความคิดเห็น73 สามารถใช้สิทธิในการ เรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งการใช้สิทธิดังกล่าวสามารถกระทำได้ 2 วิธี คือ

                   
        3.2.2.1 ผู้มีสิทธิแสดงความคิดเห็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งพันคนเข้าชื่อร้องขอต่อหน่วยงานของรัฐ ให้จัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ก่อนที่หน่วยงานของรัฐจะมีคำสั่งทางปกครองไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวัน หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ในโครงการของรัฐนั้น74

                   
        3.2.2.2 ผู้มีสิทธิแสดงความคิดเห็นยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อวินิจฉัย ก่อนที่หน่วยงานของรัฐจะมีคำสั่งทางปกครองไม่น้อยกว่าหกสิบวัน และเมื่อคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ได้วินิจฉัยแล้ว ให้แจ้งมติให้หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการเพื่อดำเนินการตามมติของคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ต่อไป มติของคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ให้เป็นที่สุด75


                   
       3.2.3 คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการรับฟังความคิดเห็นของ
       ประชาชน


                   
        ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ชุดแรกคือ คณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และชุดที่สองคือ คณะกรรมการประชาพิจารณ์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
       

                   
        3.2.3.1 คณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของ
       ประชาชน


                   
        ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให้คณะกรรมการที่ปรึกษาฯประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี (ประธานกรรมการ) ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐหรือเอกชนและจากผู้ที่มิได้เป็นข้าราชการ สมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกหรือเจ้าหน้าที่หรือที่ปรึกษาของพรรคการเมือง ซึ่งในจำนวนนี้ต้องมาจากผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐหรือเอกชนไม่น้อยกว่าสามคน โดยมีเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ มีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้ คือ 76

                   
        (ก) ดูแลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้เป็นไปโดยความ
       เรียบร้อย ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้

                   
        (ข) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการทำประชาพิจารณ์

                   
        (ค) ให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม
       พระราชบัญญัตินี้

                   
        (ง) วินิจฉัย หรือตอบข้อหารือเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นของ
       ประชาชน

                   
        (จ) วินิจฉัยคำร้องขอให้มีการทำประชาพิจารณ์

                   
        (ฉ) วินิจฉัยข้ออุทธรณ์ ผลการตัดสินการทำประชาพิจารณ์

                   
        (ช) มีหนังสือเรียกให้เจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่นใด มาชี้แจงหรือแสดง
       ความคิดเห็นหรือให้ส่งวัตถุ เอกสาร หรือพยานหลักฐานมาเพื่อประกอบการพิจารณาได้

                   
        (ซ) จัดทำรายงานประจำปี สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นของ
       ประชาชน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี

                   
        (ฌ) เรื่องอื่น ๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
       


                   
        3.2.3.2 คณะกรรมการประชาพิจารณ์77

                   
        เมื่อหน่วยงานของรัฐกำหนดให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์โครงการของรัฐโครงการใดแล้ว หน่วยงานของรัฐจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์ในเรื่องนั้น ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอีกไม่น้อยกว่าหกคนแต่ไม่เกินสิบคน ซึ่งในจำนวนนี้อย่างน้อยสามคนต้องไม่เป็นบุคลากรของหน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการนั้น คณะกรรมการประชาพิจารณ์นับว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการจัดทำประชาพิจารณ์ เนื่องจากมาตรา 15 ของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให้คณะกรรมการประชาพิจารณ์มีอำนาจหน้าที่จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้เป็นไปโดยความเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ กำหนด
       


                   
       3.2.4 ผู้มีสิทธิเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

                   
        ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
       พ.ศ. …. มาตรา 3 ได้ให้นิยามของ "ผู้มีสิทธิแสดงความคิดเห็น" ไว้ว่า "ผู้มีสิทธิแสดงความคิดเห็น หมายความว่า บุคคล กลุ่มบุคคล นิติบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานตามโครงการของรัฐ หรือผู้สนใจทั่วไป" ดังนั้น บุคคลข้างต้นจึงเป็นผู้มีสิทธิเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
       


                   
       3.2.5 กระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์

                   
        เมื่อมีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นโครงการใดของรัฐแล้ว คณะกรรมการประชาพิจารณ์จะเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งในการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน คณะกรรมการประชาพิจารณ์จะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ คือ

                   
        3.2.5.1 การจัดทำประชาพิจารณ์ต้องกระทำโดยเปิดเผย และอย่างน้อยต้องแจ้งรายละเอียดของโครงการ กำหนดสถานที่และเวลาในการจัดทำประชาพิจารณ์ให้ผู้มีสิทธิแสดงความเห็นหรือผู้แทนทราบไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนถึงวันทำประชาพิจารณ์ โดยติดประกาศไว้ที่หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการนั้น78

                   
        3.2.5.2 การดำเนินการในวันจัดทำประชาพิจารณ์ ให้ ผู้แทนหน่วยงานของรัฐแถลงข้อเท็จจริง และความเห็นเกี่ยวกับโครงการของรัฐก่อน แล้วจึงให้ ผู้ชำนาญการหรือที่ปรึกษา79แถลง ต่อจากนั้นจึงให้ ผู้มีสิทธิแสดงความคิดเห็นแถลง เมื่อเสร็จสิ้นแล้วคณะกรรมการประชาพิจารณ์จะกำหนดให้ฝ่ายใดแถลงชี้แจงหรือซักถามก่อนหลังก็ได้ รวมทั้งอาจเรียกให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย เสนอพยานบุคคล พยานวัตถุ พยานเอกสารเพิ่มเติมก็ได้ โดยให้คณะกรรมการการประชาพิจารณ์คำนึงถึงข้อโต้แย้งของทุกฝ่าย ตลอดจนผลกระทบในด้านต่างๆ และให้ดำเนินการด้วยความยืดหยุ่น สุจริตและเป็นธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลประกอบการตัดสินในของรัฐที่ชัดเจนและถูกต้องตามหลักวิชาการและสภาพความเป็นจริงมากที่สุด80

                   
        3.2.5.3 เมื่อคณะกรรมการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายเสร็จแล้ว จะต้องจัดทำรายงานการประชาพิจารณ์ ซึ่งรายงานฉบับดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังนี้ คือ81

                   
        (ก) รายชื่อกรรมการประชาพิจารณ์ ผู้แทนหน่วยงานของรัฐ ผู้ชำนาญการ ที่ปรึกษา และผู้มีสิทธิแสดงความคิดเห็นหรือผู้แทน

                   
        (ข) ข้อเท็จจริงโดยสรุปเกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่ และการประชุม

                   
        (ค) ความเป็นมาและรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการของรัฐ

                   
        (ง) ข้อโต้แย้งของทุกฝ่าย

                   
        (จ) ข้อสรุปหรือผลที่ได้จากการทำประชาพิจารณ์ในด้านความ
       เหมาะสม ผลกระทบ ทางเลือกอื่น ถ้าหากมีและข้อสังเกตในการดำเนินงานตามโครงการของรัฐ โดยอ้างอิงจากสำนวนหลักฐานเท่านั้น

                   
        หลังจากคณะกรรมการประชาพิจารณ์ทำรายงานข้างต้นเสร็จสิ้นแล้ว ให้คณะกรรมการประชาพิจารณ์เสนอรายงานดังกล่าวต่อหน่วยงานของรัฐที่จัดให้มีการทำประชาพิจารณ์เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินความเป็นไปได้ของโครงการนั้น

                   
        3.2.5.4 เมื่อหน่วยงานของรัฐได้พิจารณารายงานของคณะกรรมการประชาพิจารณ์แล้ว ให้ประกาศผลการตัดสินใจพร้อมด้วยเหตุผลเกี่ยวกับโครงการของรัฐให้ประชาชนทราบโดยเปิดเผยไว้ที่หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการนั้น และส่งรายงานให้คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ทราบด้วย

                   
        3.2.5.5 ในกรณีที่ผู้มีสิทธิแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยกับผลการตัดสินใจของหน่วยงานของรัฐ ผู้มีสิทธิแสดงความคิดเห็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งพันคน อาจเข้าชื่อยื่นอุทธรณ์ผลการตัดสินของหน่วยงานของรัฐ ต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ได้ ภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐประกาศผลการตัดสิน และให้คณะกรรมการที่ปรึกษาดำเนินการพิจารณาข้ออุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ในการนี้ อาจมีมติให้หน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของโครงการนั้นชะลอการออกคำสั่งทางปกครองนั้นไว้ก่อนก็ได้ โดยให้ถือว่ามติของคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ เป็นที่สุด82


                   
       3.2.6 ผลของการจัดทำประชาพิจารณ์

                   
        ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
       พ.ศ. …. มาตรา 21 วรรคท้าย กำหนดว่า ผลที่ได้จากการทำประชาพิจารณ์ให้ใช้เป็นแนวทางหรือข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการดำเนินงานตามโครงการของรัฐ แต่ทั้งนี้ไม่ว่ารัฐจะตัดสินใจดำเนินการตามผลที่ได้จากการจัดทำประชาพิจารณ์หรือไม่ก็ตาม ให้หน่วยงานของรัฐรับข้อสรุปและข้อเสนอแนะที่ได้จากการจัดทำประชาพิจารณ์ไปพิจารณาด้วย
       

                   
       จากการศึกษาข้างต้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นแนวทางในการจัดทำประชาพิจารณ์ ตลอดจนเห็นความแตกต่างของการจัดทำประชาพิจารณ์ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 กับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. …. โดยจะได้ทำการเปรียบเทียบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 กับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. … ดังนี้


       
       


       
เชิงอรรถ


       
                   
       67. มนตรี รูปสุวรรณ และคณะ, เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 , (กรุงเทพมหานคร : วิญญูชน, 2542), หน้า 141-142.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       68.หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร.0204/3379 ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2543.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       69.ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. …. มาตรา 3 ได้ให้นิยามไว้ว่า

                   
       "หน่วยงานของรัฐ หมายความว่า ส่วนราชการที่เป็นกระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเทียบเท่ากรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและหมายความรวมถึงรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนองค์การอื่น ๆ ของรัฐ".
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       70. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. …. มาตรา 3 ได้ให้นิยามไว้ว่า

                   
       "โครงการของรัฐ หมายความว่า การดำเนินงานไม่ว่าในลักษณะใดๆ ตามนโยบายหรือโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือการบริหารราชการ หรือโครงการที่จะต้องได้รับสัมปทาน การอนุญาต อนุมัติ หรือความเห็นชอบจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น".
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       71. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. …. มาตรา 3 ได้ให้นิยามไว้ว่า

                   
       "ประชาพิจารณ์ หมายความว่า การที่หน่วยงานของรัฐจัดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการของรัฐก่อนการอนุญาต หรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับประชาชน หรือชุมชนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัตินี้".
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       72. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. …. มาตรา 10.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       73. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. …. มาตรา 3 ได้ให้นิยามไว้ว่า

                   
       "ผู้มีสิทธิแสดงความคิดเห็น หมายความว่า บุคคล กลุ่มบุคคล นิติบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานตามโครงการของรัฐ หรือผู้สนใจทั่วไป".
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       74. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. …. มาตรา 11.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       75. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. …. มาตรา 12.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       76. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. …. มาตรา 6.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       77. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. …. มาตรา 14.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       78. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. … มาตรา 18.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       79. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. ….
            
       มาตรา 3 ได้ให้นิยามของคำว่า ผู้ชำนาญการและที่ปรึกษาไว้ว่า

                   
       "ผู้ชำนาญการ หมายความว่า ผู้ทรงคุณวุฒิในโครงการของรัฐ ไม่ว่าจะมีส่วนได้เสียหรือไม่ ตามที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือผู้มีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้แต่งตั้งให้ชี้แจ้งข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน"

                   
       "ที่ปรึกษา หมายความว่า ผู้ทรงคุณวุฒิในโครงการของรัฐไม่ว่าจะมีส่วนได้เสียหรือไม่ ตามที่คณะกรรมการประชาพิจารณ์แต่งตั้งให้ชี้แจงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน".
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       80.ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. …. มาตรา 18.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       81. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. …. มาตรา 20 และมาตรา 21.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       82. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. …. มาตรา 20 และมาตรา 23.
       
[กลับไปที่บทความ]


       


       
       


       
       



       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2546


       



หน้าที่แล้ว
1 | 2 | 3 | 4
หน้าถัดไป

 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544