บทสัมภาษณ์ คุณนพดล เฮงเจริญ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ณ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2545 |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
1
|
2
|
|
|
|
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ผมขอเรียนถามถึงภาพรวมของบทบาทของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญว่าทำหน้าที่อะไรบ้างครับ
คุณนพดลฯ : สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ มีบทบาทหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ 4 ประการด้วยกัน คือ ในประการแรก จะมีบทบาทในด้านงานธุรการทั่วไปของศาลรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่สองจะมีบทบาทที่สำคัญเกี่ยวกับการศึกษารวบรวมข้อมูล คำสั่งและคำวินิจฉัยต่างๆเกี่ยวกับงานของศาลรัฐธรรมนูญและของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในประการที่สาม มีบทบาทในการสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยและเผยแพร่กิจการของศาลรัฐธรรมนูญ และประการที่สี่ คือ การปฏิบัติภารกิจอื่นตามที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มอบหมาย แต่โดยสรุปอาจกำหนดภารกิจจากกรอบที่กฎหมายได้มอบหมายมาสี่ประการ ได้ในสามภารกิจที่สำคัญ คือ ในด้านแรก ภารกิจด้านการบริหารจัดการซึ่งก็เปรียบเหมือนภารกิจของแม่บ้านของหน่วยงานที่จะดูแลให้การทำงานของคณะตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างเรียบร้อย มีความสะดวก และมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้แก่ งานสถานที่ งานยานพาหนะ งานงบประมาณ งานแผนงานโครงการต่างๆ ภารกิจที่สอง คือ ภารกิจทางด้านคณะตุลาการและงานคดี สำนักงานจะเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะเป็นฝ่ายเลขานุการของที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่การจัดวาระการจัดทำบันทึกการประชุม การจัดทำรายงานการพิจารณา รวมตลอดทั้งการจัดเตรียมสรุปวาระในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ภารกิจที่สามเป็นภารกิจทางด้านวิจัยและวิชาการ ภารกิจในส่วนนี้จะมุ่งเน้นในการจัดให้มีการศึกษาวิจัยในประเด็นที่สำคัญตามรัฐธรรมนูญเพื่อสนับสนุนทางคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้ประโยชน์และขณะเดียวกันก็เพื่อเผยแพร่ผลงานทางด้านการวิจัยออกไปสู่สาธารณะ เป็นการเผยแพร่ความรู้ในส่วนนี้ด้วย งานวิชาการในส่วนที่สำคัญก็จะเป็นเรื่องการจัดสัมมนาทางวิชาการในประเด็นหัวข้อต่างๆซึ่งจุดเน้นที่ทางสำนักงานฯได้ให้ความสำคัญจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ สิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้รับรอง นี่ก็เป็นภารกิจในภาพรวมครับ
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีสถานะเป็นหน่วยงานประเภทไหนครับ
คุณนพดลฯ : สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีสถานะเป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีฐานะเทียบเท่ากรม บุคลากรที่ทำงานเราเรียกว่าข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เหตุที่เลือกเอารูปแบบที่เป็นส่วนราชการนั้น ความจริงในเริ่มแรกก่อนที่จะมีการตั้งสำนักงานฯขึ้นมาก็มีการพูดจากันว่าจะใช้รูปแบบของสำนักงานฯให้มีรูปแบบเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการหรือว่าจะให้เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ ท้ายที่สุดทางคณะตุลาการก็เห็นควรให้มีสถานะเป็นส่วนราชการด้วยเหตุที่ว่าการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญมีลักษณะงานในเชิงราชการและจำเป็นต้องอาศัยความต่อเนื่องในการปฏิบัติ และที่สำคัญการเป็นส่วนราชการสามารถที่จะให้องค์กรมีขนาดเล็กกระทัดรัด มีสายการบังคับบัญชาที่สั้น การทำงานเน้นการทำงานในเชิงกลุ่มงานมากกว่าที่จะแบ่งส่วนงานออกไปให้ใหญ่โตเป็นลักษณะของสำนักหรือกองต่างๆจำนวนมากมาย เน้นการทำงานเป็นกลุ่มงาน มีอัตรากำลังค่อนข้างจะน้อย มีความอ่อนตัวมีความยืดหยุ่น ด้วยเหตุนี้เองท้ายที่สุดก็ได้เลือกรูปแบบของการเป็นส่วนราชการ ในครั้งแรกของการจัดตั้งนั้นการเป็นส่วนราชการมีจุดดีในแง่เวลาหาบุคลากรในระยะเริ่มต้นมาอยู่ในองค์กรใหม่ค่อนข้างจะทำได้สะดวก สามารถที่จะรับโอนผู้ที่เป็นข้าราชการอยู่แล้วเข้ามาทำหน้าที่ ถ้าหากไม่ได้มีสถานะเป็นส่วนราชการ ถ้าหากประสงค์จะได้บุคลากรที่เป็นข้าราชการอยู่มาร่วมงานเขาจะต้องลาออกจากราชการ จากจุดนี้เองจึงอาจเป็นข้อจำกัด แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้ทำงานมาระยะเวลาหนึ่งนับแต่ได้มีกฎหมายจัดตั้งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญขึ้นโดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่าการทำงานของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญนั้นก็สามารถไปได้ด้วยดีตามสมควรแม้จะมีฐานะเป็นส่วนราชการก็เป็นส่วนราชการที่เล็ก กระทัดรัด สำหรับกรอบอัตรากำลังในระยะแรกที่เราได้กำหนดไว้มีเพียง 49 อัตราเท่านั้น ใน 49 อัตรานี้ก็จะมีตั้งแต่ ระดับ11 ระดับ 10 ระดับ 9 ระดับ 8 ไล่ลงไป ระดับก็ดี อัตราเงินเดือนก็ดีเราเทียบเคียงกับระดับและอัตราเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนทุกประการ ใน 49 อัตรานี้จะมีวุฒิปริญญาเอกอยู่ 2 คน ปริญญาโทอยู่ 15 คน ปริญญาตรีอยู่ประมาณ 23 คน นอกนั้นก็ต่ำกว่าปริญญาตรี บุคคลที่เป็นมันสมองจริงๆที่จะช่วยทำงานตามภารกิจโดยเฉพาะภารกิจทางด้านกลุ่มงานคดี ภารกิจทางด้านวิจัยและวิชาการก็จะมีจำนวนประมาณ 25-30 คน นอกจากนั้นก็จะเป็นบุคลากรที่ช่วยในการบันทึกข้อมูล รับผิดชอบด้านธุรการและงานสนับสนุนในการทำงานอื่นๆครับ
|
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ใน 25 คนที่ท่านว่านี้เป็นนักกฎหมายทั้งหมดหรือไม่ครับ
คุณนพดลฯ : ไม่ใช่ครับ จะประกอบด้วยหลายสาขา เป็นนักกฎหมายประมาณครึ่งหนึ่งของบุคลากรที่มีอยู่ ส่วนที่เหลือก็จะจบทางด้านสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะทางด้านสังคมศาสตร์ครับ
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ปัจจุบันนี้ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีข้าราชการที่เป็นนักกฎหมายมหาชนแท้ๆหรือไม่ครับ
คุณนพดลฯ : ขณะนี้มีนักกฎหมายมหาชนโดยตรงค่อนข้างจะจำนวนน้อยมาก เท่าที่ดูจากคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชนจะมีเพียงรายเดียวคือ คุณสาโรจน์ โชติพันธุ์ ซึ่งจบปริญญาโททางด้านนิติศาสตร์ สาขากฎหมายมหาชน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนั้นก็มีกำลังเรียนกฎหมายมหาชนอยู่ส่วนหนึ่ง ส่วนอื่นนั้นแม้จะไม่ได้จบทางด้านกฎหมายมหาชนมาโดยตรง ทางสำนักงานฯ เองก็ได้ส่งเข้าอบรมในหลักสูตรกฎหมายมหาชนซึ่งทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เปิดให้บริการในส่วนนี้ และขณะนี้ทางสถาบันพระปกเกล้าก็ได้เปิดหลักสูตรนี้ เราก็ส่งบุคลากรของเราเข้ารับการอบรมครับ
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ต้องใช้กฎหมายมหาชนค่อนข้างมาก ท่านเลขาธิการ คิดว่ามีทางใดหรือไม่ครับที่จะพัฒนาระบบกฎหมายมหาชนสำหรับสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไปให้ถึงจุดที่ดีมากๆครับ เพราะจากปัญหาที่ท่านเลขาธิการได้กล่าวไปแล้วว่าจำนวนนักกฎหมายมหาชนยังมีน้อย ท่านเลขาธิการมีนโยบายที่จะรับนักกฎหมายมหาชนแท้ๆหรือไม่ครับ หรือมีโครงการที่จะส่งนักกฎหมายที่มีอยู่แล้วไปเรียนต่อกฎหมายมหาชนซึ่งไม่ใช่ประกาศนียบัตรระยะสั้นครับเพราะว่าแม้จะได้ผลก็จริงแต่อาจจะไม่มาก
คุณนพดลฯ : ขณะนี้บุคลากรโดยเฉพาะในด้านกลุ่มงานคดีและกลุ่มงานวิจัยวิชาการเราจำเป็นที่จะต้องได้รับบุคลากรที่จบการศึกษากฎหมายมหาชนเพิ่มเติมรวมทั้งกฎหมายทางด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วยครับ ขณะนี้ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มีประกาศออกไปเชิญชวนข้าราชการของส่วนต่างๆที่จบการศึกษาปริญญาตรีทางด้านนิติศาสตร์และจบปริญญาโททางด้านนิติศาสตร์ ทางด้านรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ รวมทั้งเนติบัณฑิต เพื่อจะรับโอนเข้ามา เดิมก็คิดอยู่เหมือนกันว่าถ้ากำหนดเฉพาะทางด้านมหาชนผมทราบดีว่าตลาดมีจำนวนค่อนข้างจำกัดอยู่ และโครงการที่เราทำในจุดแรกเป็นการเชิญชวนข้าราชการในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่มีความสนใจอยากจะที่จะเข้ามาทำงานในกลุ่มงานคดีหรือกลุ่มวิจัยวิชาการของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่จริงเราอยากได้คนที่มีพื้นฐานด้านกฎหมายมหาชนโดยตรงเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานกับเราแต่ถ้าเราไปกำหนดแคบในเบื้องต้นอาจจะไม่สามารถจัดหาได้ตามจำนวนที่เราต้องการ เรามีความประสงค์ที่จะได้บุคลากรในส่วนนี้ประมาณ 10 อัตรา อีกส่วนหนึ่งก็มีแนวคิดว่าจะเปิดรับสมัครจากผู้ที่จบปริญญาตรีทางด้านนิติศาสตร์ และปริญญาโททางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือเนติบัณฑิต จำนวนประมาณ 10 อัตรา จะสังเกตว่าต้องจบปริญญาตรีทางด้านนิติศาสตร์และปริญญาโทหรือ เนติบัณฑิตในสาขาที่กำหนดไว้ด้วย ก็จะเปิดรับสมัครจากบรรดาผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาและยังไม่ได้ทำงานยังไม่ได้รับราชการ ซึ่งจะมีการทดสอบค่อนข้างจะเข้มงวดโดยจะต้องมีการสอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ และก็ประเมินความรู้ความสามารถกันอย่างค่อนข้างจะเข้มงวดเพราะต้องการจะได้บุคลากรที่มีความรู้ทางวิชาการเข้ามาเสริมการทำงาน สำหรับที่ท่านอาจารย์ฯได้เรียนถามเมื่อสักครู่นี้ นอกเหนือจากที่ทางสำนักงานฯได้พยายามส่งบุคลากรไปอบรมหลักสูตรในระยะสั้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกฎหมายมหาชนเพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ให้แก่บุคลากรของเรา ทางสำนักงาน ฯ ก็มีส่วนสำคัญที่ได้ออกไปร่วมกับสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องในการจัดหลักสูตรการศึกษาอบรมความรู้ในเรื่องของรัฐธรรมนูญ ในเรื่องขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในเรื่องของคดีรัฐธรรมนูญเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ ขณะนี้เราร่วมมือกับทางสำนักเสริมศึกษาและบริการสังคมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และก็จะขยายความร่วมมือในส่วนนี้ออกไปยังสถาบันการศึกษาอื่นๆ ผลดีที่เกิดจากโครงการที่เราจะขยายออกไปก็คือว่า คนที่สนใจที่อยู่ภาคราชการมาเข้ารับการอบรม ส่วนหนึ่งก็จะเป็นแรงจูงใจให้สนใจกฎหมายมหาชนต่อไปในภาคหน้าและก็พร้อมที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต หากเรามีอัตราว่างในบางจุดเราก็สามารถที่จะพิจารณาจากบุคลากรที่เคยร่วมการอบรมกับเราหรือเคยร่วมในการศึกษาในหลักสูตรที่เราให้การสนับสนุนเพื่อที่จะเป็นจุดหนึ่งที่เราจะได้บุคลากรเข้ามาเสริมในการทำงานด้วย อีกจุดหนึ่งที่มีแผนในการทำงานต่อไป ซึ่งได้มอบให้ทางสถาบันรัฐธรรมนูญศึกษาได้ดำเนินการก็คือการพิจารณาจัดส่งบุคลากรของเราไปศึกษาในระดับที่สูงขึ้น เช่น ในระดับปริญญาโท ทั้งในและต่างประเทศด้านกฎหมายมหาชนซึ่งผมคิดว่าจะเป็นพื้นฐานที่ค่อนข้างสำคัญที่จะใช้ประโยชน์สำหรับการทำงานของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เราก็จะมีโครงการนี้คู่ขนานกันไป อันนี้ก็เป็นแผนที่จะเตรียมบุคลากรต่อไปครับ
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : เนื่องจากตอนนี้ใกล้จะสิ้นปีการศึกษาของทางมหาวิทยาลัยแล้ว อีกไม่นานนิสิต นักศึกษาที่จบก็คงต้องออกมาหางานกันมากพอสมควร ไม่ทราบว่าในช่วง 3-5 เดือนต่อจากนี้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีนโยบายหรือมีโครงการที่จะรับสมัครบุคลากรหรือไม่ครับ เพื่อที่จะให้ผู้ที่สนใจได้มีการเตรียมตัวแต่เนิ่นๆครับ
คุณนพดลฯ : ตามที่ผมเรียนให้ทราบเมื่อสักครู่นี้ว่า มีโครงการที่จะเปิดรับสมัครผู้ที่สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต และสำเร็จการศึกษาปริญญาโททางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือเนติบัณฑิต ซึ่งจะเป็นการเปิดกว้างสำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจได้มาสมัครเพื่อเข้ารับการคัดเลือกและบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งที่อยู่ในบัญชีเดียวกันก็อาจจะพิจารณาคัดเลือกมาทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้ช่วยดำเนินการของตุลาการ แต่ในลักษณะการดำเนินการในส่วนนี้จะเป็นการจ้างชั่วคราวไม่ใช่เป็นข้าราชการ ก็คงจะเป็น 2 ส่วนครับ จำนวนก็คงขึ้นบัญชีไม่น้อยกว่า 15-20 คน
|
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ตำแหน่งที่ท่านว่านี้ผมไม่แน่ใจนะครับว่าเป็นตำแหน่งอะไรแต่ถ้าผมใช้ว่า ตำแหน่งนักวิชาการประจำตัวของตุลาการ ผมว่าน่าจะเป็นตำแหน่งที่น่าสนใจพอสมควรเพราะดูจากระบบของฝรั่งเศสและเยอรมัน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนจะมีทีมวิชาการส่วนตัวอยู่แล้วครับ ไม่ทราบว่าในปัจจุบันนี้ทางสำนักงานได้จัดทีมส่วนตัวให้ตุลาการหรือไม่ครับ
คุณนพดลฯ : ขณะนี้ทีมส่วนตัวของตุลาการ คือ มีเลขานุการ ซึ่งมีคุณสมบัติพื้นฐานตามระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการแต่งตั้งเลขานุการของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ จบปริญญาตรี หรือมีคุณสมบัติตามที่ตุลาการเห็นสมควร อันนี้ก็เป็นการเปิดกว้างให้ท่านตุลาการเลือกใช้บุคคลที่มาทำหน้าที่เลขานุการของท่าน จุดมุ่งหมายของเลขานุการคงเป็นการช่วยการทำงานของท่านในเชิงธุรการ ในเรื่องของการติดต่อประสานงานในบางจุดนอกเหนือจากงานวิชาการบางส่วน ถ้าพูดถึงงานวิชาการโดยตรง บทบาทของเลขานุการของท่านตุลาการยังมีข้อจำกัดอยู่มาก อีกตำแหน่งหนึ่งที่เป็นบุคลากรโดยตรงของตุลาการ คือ ตำแหน่งผู้ช่วยดำเนินการ ผู้ช่วยดำเนินการนี้มีอัตราการจ้างตามที่กำหนดไว้ท่านละ 1 คน โดยจ้างตามวุฒิ หน้าที่หลักจะเน้นงานทางด้านธุรการเกี่ยวกับการพิมพ์ การจัดเอกสาร การตรวจทานเอกสาร โดยสรุป ขณะนี้จริงๆมีเพียงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านที่ประสงค์จะให้มีทีมที่จะรับผิดชอบงานทางด้านวิชาการโดยตรงที่จะสนับสนุนท่าน ทางปฏิบัติที่ทางสำนักงานได้ช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ก็คือ ทางสำนักงานฯได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงานรัฐธรรมนูญในกลุ่มงานคดีได้ช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานของตุลาการแต่ละท่านตามที่ท่านมอบหมาย อย่างไรก็ตามทางสำนักงานฯ เองก็ได้มีการเสนอทางคณะตุลาการว่าสมควรที่จะมีบุคลากรซึ่งจะเป็นการจ้างชั่วคราวซึ่งไม่ได้มีฐานะเป็นข้าราชการมาเสริมการทำหน้าที่ของท่านตุลาการฯโดยตรง แต่ข้อจำกัดก็มีอยู่ว่าถ้าหากเราต้องการเจ้าหน้าที่ที่มีคุณวุฒิและมีความรู้พอสมควร และค่าตอบแทนเรายังต้องยึดโยงในอัตราของทางราชการที่เป็นอยู่ตามวุฒิ ค่อนข้างจะมีข้อจำกัดอยู่มาก ในกรณีที่ไม่ให้เขามีฐานะเป็นข้าราชการ ในจุดนี้ก็เป็นปัญหาพอสมควรต้องปรึกษาหารือกันต่อไป เคยนำเสนอต่อทางคณะตุลาการเพื่อพิจารณาระเบียบว่าด้วยการจ้างผู้ช่วยเลขานุการของตุลาการเพื่อให้มาทำงานด้านวิชาการโดยตรงมีอัตราค่าตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าอัตราปกติของราชการ แต่ทางคณะตุลาการฯก็อยากให้รอในส่วนนี้ไว้ก่อน เพราะฉะนั้นทางที่จะทำต่อไปได้ก็คือ การจัดบุคลากรเพิ่มในลักษณะการจ้างชั่วคราว มีอัตราเงินตามคุณวุฒิที่ทางกฎหมายปกติกำหนดไปก่อน
|
|
|
1
|
2
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|