บทสัมภาษณ์ คุณนพดล เฮงเจริญ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ณ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2545

17 ธันวาคม 2547 11:01 น.

       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ผมขอเรียนถามถึงภาพรวมของบทบาทของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญว่าทำหน้าที่อะไรบ้างครับ
       
       คุณนพดลฯ :
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ มีบทบาทหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ 4 ประการด้วยกัน คือ ในประการแรก จะมีบทบาทในด้านงานธุรการทั่วไปของศาลรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่สองจะมีบทบาทที่สำคัญเกี่ยวกับการศึกษารวบรวมข้อมูล คำสั่งและคำวินิจฉัยต่างๆเกี่ยวกับงานของศาลรัฐธรรมนูญและของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในประการที่สาม มีบทบาทในการสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยและเผยแพร่กิจการของศาลรัฐธรรมนูญ และประการที่สี่ คือ การปฏิบัติภารกิจอื่นตามที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มอบหมาย แต่โดยสรุปอาจกำหนดภารกิจจากกรอบที่กฎหมายได้มอบหมายมาสี่ประการ ได้ในสามภารกิจที่สำคัญ คือ ในด้านแรก ภารกิจด้านการบริหารจัดการซึ่งก็เปรียบเหมือนภารกิจของแม่บ้านของหน่วยงานที่จะดูแลให้การทำงานของคณะตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างเรียบร้อย มีความสะดวก และมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้แก่ งานสถานที่ งานยานพาหนะ งานงบประมาณ งานแผนงานโครงการต่างๆ ภารกิจที่สอง คือ ภารกิจทางด้านคณะตุลาการและงานคดี สำนักงานจะเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะเป็นฝ่ายเลขานุการของที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่การจัดวาระการจัดทำบันทึกการประชุม การจัดทำรายงานการพิจารณา รวมตลอดทั้งการจัดเตรียมสรุปวาระในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ภารกิจที่สามเป็นภารกิจทางด้านวิจัยและวิชาการ ภารกิจในส่วนนี้จะมุ่งเน้นในการจัดให้มีการศึกษาวิจัยในประเด็นที่สำคัญตามรัฐธรรมนูญเพื่อสนับสนุนทางคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้ประโยชน์และขณะเดียวกันก็เพื่อเผยแพร่ผลงานทางด้านการวิจัยออกไปสู่สาธารณะ เป็นการเผยแพร่ความรู้ในส่วนนี้ด้วย งานวิชาการในส่วนที่สำคัญก็จะเป็นเรื่องการจัดสัมมนาทางวิชาการในประเด็นหัวข้อต่างๆซึ่งจุดเน้นที่ทางสำนักงานฯได้ให้ความสำคัญจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ สิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้รับรอง นี่ก็เป็นภารกิจในภาพรวมครับ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีสถานะเป็นหน่วยงานประเภทไหนครับ
       
       คุณนพดลฯ :
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีสถานะเป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีฐานะเทียบเท่ากรม บุคลากรที่ทำงานเราเรียกว่าข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เหตุที่เลือกเอารูปแบบที่เป็นส่วนราชการนั้น ความจริงในเริ่มแรกก่อนที่จะมีการตั้งสำนักงานฯขึ้นมาก็มีการพูดจากันว่าจะใช้รูปแบบของสำนักงานฯให้มีรูปแบบเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการหรือว่าจะให้เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ ท้ายที่สุดทางคณะตุลาการก็เห็นควรให้มีสถานะเป็นส่วนราชการด้วยเหตุที่ว่าการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญมีลักษณะงานในเชิงราชการและจำเป็นต้องอาศัยความต่อเนื่องในการปฏิบัติ และที่สำคัญการเป็นส่วนราชการสามารถที่จะให้องค์กรมีขนาดเล็กกระทัดรัด มีสายการบังคับบัญชาที่สั้น การทำงานเน้นการทำงานในเชิงกลุ่มงานมากกว่าที่จะแบ่งส่วนงานออกไปให้ใหญ่โตเป็นลักษณะของสำนักหรือกองต่างๆจำนวนมากมาย เน้นการทำงานเป็นกลุ่มงาน มีอัตรากำลังค่อนข้างจะน้อย มีความอ่อนตัวมีความยืดหยุ่น ด้วยเหตุนี้เองท้ายที่สุดก็ได้เลือกรูปแบบของการเป็นส่วนราชการ ในครั้งแรกของการจัดตั้งนั้นการเป็นส่วนราชการมีจุดดีในแง่เวลาหาบุคลากรในระยะเริ่มต้นมาอยู่ในองค์กรใหม่ค่อนข้างจะทำได้สะดวก สามารถที่จะรับโอนผู้ที่เป็นข้าราชการอยู่แล้วเข้ามาทำหน้าที่ ถ้าหากไม่ได้มีสถานะเป็นส่วนราชการ ถ้าหากประสงค์จะได้บุคลากรที่เป็นข้าราชการอยู่มาร่วมงานเขาจะต้องลาออกจากราชการ จากจุดนี้เองจึงอาจเป็นข้อจำกัด แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้ทำงานมาระยะเวลาหนึ่งนับแต่ได้มีกฎหมายจัดตั้งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญขึ้นโดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่าการทำงานของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญนั้นก็สามารถไปได้ด้วยดีตามสมควรแม้จะมีฐานะเป็นส่วนราชการก็เป็นส่วนราชการที่เล็ก กระทัดรัด สำหรับกรอบอัตรากำลังในระยะแรกที่เราได้กำหนดไว้มีเพียง 49 อัตราเท่านั้น ใน 49 อัตรานี้ก็จะมีตั้งแต่ ระดับ11 ระดับ 10 ระดับ 9 ระดับ 8 ไล่ลงไป ระดับก็ดี อัตราเงินเดือนก็ดีเราเทียบเคียงกับระดับและอัตราเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนทุกประการ ใน 49 อัตรานี้จะมีวุฒิปริญญาเอกอยู่ 2 คน ปริญญาโทอยู่ 15 คน ปริญญาตรีอยู่ประมาณ 23 คน นอกนั้นก็ต่ำกว่าปริญญาตรี บุคคลที่เป็นมันสมองจริงๆที่จะช่วยทำงานตามภารกิจโดยเฉพาะภารกิจทางด้านกลุ่มงานคดี ภารกิจทางด้านวิจัยและวิชาการก็จะมีจำนวนประมาณ 25-30 คน นอกจากนั้นก็จะเป็นบุคลากรที่ช่วยในการบันทึกข้อมูล รับผิดชอบด้านธุรการและงานสนับสนุนในการทำงานอื่นๆครับ


       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ใน 25 คนที่ท่านว่านี้เป็นนักกฎหมายทั้งหมดหรือไม่ครับ
       
       คุณนพดลฯ :
ไม่ใช่ครับ จะประกอบด้วยหลายสาขา เป็นนักกฎหมายประมาณครึ่งหนึ่งของบุคลากรที่มีอยู่ ส่วนที่เหลือก็จะจบทางด้านสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะทางด้านสังคมศาสตร์ครับ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ปัจจุบันนี้ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีข้าราชการที่เป็นนักกฎหมายมหาชนแท้ๆหรือไม่ครับ
       
       คุณนพดลฯ :
ขณะนี้มีนักกฎหมายมหาชนโดยตรงค่อนข้างจะจำนวนน้อยมาก เท่าที่ดูจากคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชนจะมีเพียงรายเดียวคือ คุณสาโรจน์ โชติพันธุ์ ซึ่งจบปริญญาโททางด้านนิติศาสตร์ สาขากฎหมายมหาชน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนั้นก็มีกำลังเรียนกฎหมายมหาชนอยู่ส่วนหนึ่ง ส่วนอื่นนั้นแม้จะไม่ได้จบทางด้านกฎหมายมหาชนมาโดยตรง ทางสำนักงานฯ เองก็ได้ส่งเข้าอบรมในหลักสูตรกฎหมายมหาชนซึ่งทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เปิดให้บริการในส่วนนี้ และขณะนี้ทางสถาบันพระปกเกล้าก็ได้เปิดหลักสูตรนี้ เราก็ส่งบุคลากรของเราเข้ารับการอบรมครับ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ต้องใช้กฎหมายมหาชนค่อนข้างมาก ท่านเลขาธิการ คิดว่ามีทางใดหรือไม่ครับที่จะพัฒนาระบบกฎหมายมหาชนสำหรับสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไปให้ถึงจุดที่ดีมากๆครับ เพราะจากปัญหาที่ท่านเลขาธิการได้กล่าวไปแล้วว่าจำนวนนักกฎหมายมหาชนยังมีน้อย ท่านเลขาธิการมีนโยบายที่จะรับนักกฎหมายมหาชนแท้ๆหรือไม่ครับ หรือมีโครงการที่จะส่งนักกฎหมายที่มีอยู่แล้วไปเรียนต่อกฎหมายมหาชนซึ่งไม่ใช่ประกาศนียบัตรระยะสั้นครับเพราะว่าแม้จะได้ผลก็จริงแต่อาจจะไม่มาก
       
       คุณนพดลฯ :
ขณะนี้บุคลากรโดยเฉพาะในด้านกลุ่มงานคดีและกลุ่มงานวิจัยวิชาการเราจำเป็นที่จะต้องได้รับบุคลากรที่จบการศึกษากฎหมายมหาชนเพิ่มเติมรวมทั้งกฎหมายทางด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วยครับ ขณะนี้ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มีประกาศออกไปเชิญชวนข้าราชการของส่วนต่างๆที่จบการศึกษาปริญญาตรีทางด้านนิติศาสตร์และจบปริญญาโททางด้านนิติศาสตร์ ทางด้านรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ รวมทั้งเนติบัณฑิต เพื่อจะรับโอนเข้ามา เดิมก็คิดอยู่เหมือนกันว่าถ้ากำหนดเฉพาะทางด้านมหาชนผมทราบดีว่าตลาดมีจำนวนค่อนข้างจำกัดอยู่ และโครงการที่เราทำในจุดแรกเป็นการเชิญชวนข้าราชการในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่มีความสนใจอยากจะที่จะเข้ามาทำงานในกลุ่มงานคดีหรือกลุ่มวิจัยวิชาการของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่จริงเราอยากได้คนที่มีพื้นฐานด้านกฎหมายมหาชนโดยตรงเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานกับเราแต่ถ้าเราไปกำหนดแคบในเบื้องต้นอาจจะไม่สามารถจัดหาได้ตามจำนวนที่เราต้องการ เรามีความประสงค์ที่จะได้บุคลากรในส่วนนี้ประมาณ 10 อัตรา อีกส่วนหนึ่งก็มีแนวคิดว่าจะเปิดรับสมัครจากผู้ที่จบปริญญาตรีทางด้านนิติศาสตร์ และปริญญาโททางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือเนติบัณฑิต จำนวนประมาณ 10 อัตรา จะสังเกตว่าต้องจบปริญญาตรีทางด้านนิติศาสตร์และปริญญาโทหรือ เนติบัณฑิตในสาขาที่กำหนดไว้ด้วย ก็จะเปิดรับสมัครจากบรรดาผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาและยังไม่ได้ทำงานยังไม่ได้รับราชการ ซึ่งจะมีการทดสอบค่อนข้างจะเข้มงวดโดยจะต้องมีการสอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ และก็ประเมินความรู้ความสามารถกันอย่างค่อนข้างจะเข้มงวดเพราะต้องการจะได้บุคลากรที่มีความรู้ทางวิชาการเข้ามาเสริมการทำงาน สำหรับที่ท่านอาจารย์ฯได้เรียนถามเมื่อสักครู่นี้ นอกเหนือจากที่ทางสำนักงานฯได้พยายามส่งบุคลากรไปอบรมหลักสูตรในระยะสั้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกฎหมายมหาชนเพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ให้แก่บุคลากรของเรา ทางสำนักงาน ฯ ก็มีส่วนสำคัญที่ได้ออกไปร่วมกับสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องในการจัดหลักสูตรการศึกษาอบรมความรู้ในเรื่องของรัฐธรรมนูญ ในเรื่องขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในเรื่องของคดีรัฐธรรมนูญเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ ขณะนี้เราร่วมมือกับทางสำนักเสริมศึกษาและบริการสังคมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และก็จะขยายความร่วมมือในส่วนนี้ออกไปยังสถาบันการศึกษาอื่นๆ ผลดีที่เกิดจากโครงการที่เราจะขยายออกไปก็คือว่า คนที่สนใจที่อยู่ภาคราชการมาเข้ารับการอบรม ส่วนหนึ่งก็จะเป็นแรงจูงใจให้สนใจกฎหมายมหาชนต่อไปในภาคหน้าและก็พร้อมที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต หากเรามีอัตราว่างในบางจุดเราก็สามารถที่จะพิจารณาจากบุคลากรที่เคยร่วมการอบรมกับเราหรือเคยร่วมในการศึกษาในหลักสูตรที่เราให้การสนับสนุนเพื่อที่จะเป็นจุดหนึ่งที่เราจะได้บุคลากรเข้ามาเสริมในการทำงานด้วย อีกจุดหนึ่งที่มีแผนในการทำงานต่อไป ซึ่งได้มอบให้ทางสถาบันรัฐธรรมนูญศึกษาได้ดำเนินการก็คือการพิจารณาจัดส่งบุคลากรของเราไปศึกษาในระดับที่สูงขึ้น เช่น ในระดับปริญญาโท ทั้งในและต่างประเทศด้านกฎหมายมหาชนซึ่งผมคิดว่าจะเป็นพื้นฐานที่ค่อนข้างสำคัญที่จะใช้ประโยชน์สำหรับการทำงานของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เราก็จะมีโครงการนี้คู่ขนานกันไป อันนี้ก็เป็นแผนที่จะเตรียมบุคลากรต่อไปครับ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : เนื่องจากตอนนี้ใกล้จะสิ้นปีการศึกษาของทางมหาวิทยาลัยแล้ว อีกไม่นานนิสิต นักศึกษาที่จบก็คงต้องออกมาหางานกันมากพอสมควร ไม่ทราบว่าในช่วง 3-5 เดือนต่อจากนี้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีนโยบายหรือมีโครงการที่จะรับสมัครบุคลากรหรือไม่ครับ เพื่อที่จะให้ผู้ที่สนใจได้มีการเตรียมตัวแต่เนิ่นๆครับ
       
       คุณนพดลฯ :
ตามที่ผมเรียนให้ทราบเมื่อสักครู่นี้ว่า มีโครงการที่จะเปิดรับสมัครผู้ที่สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต และสำเร็จการศึกษาปริญญาโททางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือเนติบัณฑิต ซึ่งจะเป็นการเปิดกว้างสำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจได้มาสมัครเพื่อเข้ารับการคัดเลือกและบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งที่อยู่ในบัญชีเดียวกันก็อาจจะพิจารณาคัดเลือกมาทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้ช่วยดำเนินการของตุลาการ แต่ในลักษณะการดำเนินการในส่วนนี้จะเป็นการจ้างชั่วคราวไม่ใช่เป็นข้าราชการ ก็คงจะเป็น 2 ส่วนครับ จำนวนก็คงขึ้นบัญชีไม่น้อยกว่า 15-20 คน


       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ตำแหน่งที่ท่านว่านี้ผมไม่แน่ใจนะครับว่าเป็นตำแหน่งอะไรแต่ถ้าผมใช้ว่า ตำแหน่งนักวิชาการประจำตัวของตุลาการ ผมว่าน่าจะเป็นตำแหน่งที่น่าสนใจพอสมควรเพราะดูจากระบบของฝรั่งเศสและเยอรมัน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนจะมีทีมวิชาการส่วนตัวอยู่แล้วครับ ไม่ทราบว่าในปัจจุบันนี้ทางสำนักงานได้จัดทีมส่วนตัวให้ตุลาการหรือไม่ครับ
       
       คุณนพดลฯ :
ขณะนี้ทีมส่วนตัวของตุลาการ คือ มีเลขานุการ ซึ่งมีคุณสมบัติพื้นฐานตามระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการแต่งตั้งเลขานุการของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ จบปริญญาตรี หรือมีคุณสมบัติตามที่ตุลาการเห็นสมควร อันนี้ก็เป็นการเปิดกว้างให้ท่านตุลาการเลือกใช้บุคคลที่มาทำหน้าที่เลขานุการของท่าน จุดมุ่งหมายของเลขานุการคงเป็นการช่วยการทำงานของท่านในเชิงธุรการ ในเรื่องของการติดต่อประสานงานในบางจุดนอกเหนือจากงานวิชาการบางส่วน ถ้าพูดถึงงานวิชาการโดยตรง บทบาทของเลขานุการของท่านตุลาการยังมีข้อจำกัดอยู่มาก อีกตำแหน่งหนึ่งที่เป็นบุคลากรโดยตรงของตุลาการ คือ ตำแหน่งผู้ช่วยดำเนินการ ผู้ช่วยดำเนินการนี้มีอัตราการจ้างตามที่กำหนดไว้ท่านละ 1 คน โดยจ้างตามวุฒิ หน้าที่หลักจะเน้นงานทางด้านธุรการเกี่ยวกับการพิมพ์ การจัดเอกสาร การตรวจทานเอกสาร โดยสรุป ขณะนี้จริงๆมีเพียงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านที่ประสงค์จะให้มีทีมที่จะรับผิดชอบงานทางด้านวิชาการโดยตรงที่จะสนับสนุนท่าน ทางปฏิบัติที่ทางสำนักงานได้ช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ก็คือ ทางสำนักงานฯได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงานรัฐธรรมนูญในกลุ่มงานคดีได้ช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานของตุลาการแต่ละท่านตามที่ท่านมอบหมาย อย่างไรก็ตามทางสำนักงานฯ เองก็ได้มีการเสนอทางคณะตุลาการว่าสมควรที่จะมีบุคลากรซึ่งจะเป็นการจ้างชั่วคราวซึ่งไม่ได้มีฐานะเป็นข้าราชการมาเสริมการทำหน้าที่ของท่านตุลาการฯโดยตรง แต่ข้อจำกัดก็มีอยู่ว่าถ้าหากเราต้องการเจ้าหน้าที่ที่มีคุณวุฒิและมีความรู้พอสมควร และค่าตอบแทนเรายังต้องยึดโยงในอัตราของทางราชการที่เป็นอยู่ตามวุฒิ ค่อนข้างจะมีข้อจำกัดอยู่มาก ในกรณีที่ไม่ให้เขามีฐานะเป็นข้าราชการ ในจุดนี้ก็เป็นปัญหาพอสมควรต้องปรึกษาหารือกันต่อไป เคยนำเสนอต่อทางคณะตุลาการเพื่อพิจารณาระเบียบว่าด้วยการจ้างผู้ช่วยเลขานุการของตุลาการเพื่อให้มาทำงานด้านวิชาการโดยตรงมีอัตราค่าตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าอัตราปกติของราชการ แต่ทางคณะตุลาการฯก็อยากให้รอในส่วนนี้ไว้ก่อน เพราะฉะนั้นทางที่จะทำต่อไปได้ก็คือ การจัดบุคลากรเพิ่มในลักษณะการจ้างชั่วคราว มีอัตราเงินตามคุณวุฒิที่ทางกฎหมายปกติกำหนดไปก่อน


       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ผมขอเรียนถามถึงเป้าของทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในการรับคน คือสมมติว่าถ้าหากมีคนที่จบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยมาสมัคร เวลาศาลรัฐธรรมนูญจะรับศาลรัฐธรรมนูญจะดูรายละเอียดวิชาที่เขาเรียนมาว่าเกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่เป็นประการที่หนึ่ง ประการที่สอง คือ ดูว่าเขาทำวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญหรือภายในขอบอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่ผมถามคำถามนี้ก็เพื่อว่าให้ผู้ที่สนใจที่จะทำงานที่ศาลรัฐธรรมนูญนี้จะได้เตรียมตั้งแต่ตอนทำวิทยานิพนธ์หรือตอนศึกษาว่าจะเลือกวิชาที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญหรือวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเตรียมตัวที่จะมาทำงานที่นี้ครับ
       
       คุณนพดลฯ :
ผมคิดว่าในส่วนนี้ มันคงจะเป็นระยะนะครับ คือในระยะเริ่มแรกที่เราได้มีการปรับโครงสร้างอัตรากำลังที่ผมได้เรียนเมื่อสักครู่ว่าเรามีกรอบอัตรากำลัง 49 อัตรา เป็นระยะที่หนึ่งภายใต้โครงสร้างเดิมที่เราแบ่งกลุ่มงานออกเป็นสำนักอำนวยกิจการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งรับผิดชอบภารกิจในการบริหารจัดการทั่วไปของศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็จะมีกลุ่มทางด้านวิเคราะห์กฎหมายและคดี และกลุ่มวิจัยและวิชาการซึ่งรับผิดชอบงานทางด้านวิชาการของสำนักงาน และตามแผนในช่วงปี2545-2549 โครงสร้างขององค์กรตามแผนนี้เรากำหนดออกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนแรกจะเป็นสำนักประธานศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนที่สอง เป็นสำนักอำนวยกิจการศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนที่สามจะเป็นกลุ่มงานคดี และซึ่งแต่เดิมเรามีบุคลากรเพียงสิบคนและก็แบ่งออกเป็นสามกลุ่ม เราจะเพิ่มออกเป็น 8 กลุ่ม กลุ่มสุดท้ายเรามีการกำหนดให้จัดตั้งสถาบันรัฐธรรมนูญศึกษาขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบงานทางด้านวิจัยและวิชาการ จะเห็นได้ว่าอัตรากำลังตามโครงสร้างที่ได้กำหนดใหม่ในขั้นที่สองเราจะเพิ่มจาก 49 อัตราเป็น 79 อัตราในปีนี้ และในปี 2546-2548 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนเรามีเป้าสุดท้ายเป็น 99 อัตรา อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความเหมาะสมที่เราต้องการให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่เล็กกระทัดรัด สายการบังคับบัญชาที่สั้น คล่องตัว และใช้อัตรากำลังที่ค่อนข้างน้อย เราจึงตั้งเป้าอัตรากำลังในขั้นที่สองไว้ 79 อัตรา ขอเรียนเพิ่มเติมว่า 49 อัตราในขั้นที่หนึ่งก็ดี 79 อัตราในขั้นที่สองก็ดี ถ้าเทียบกับหน่วยงานพลเรือนที่เป็นอยู่เรายังมีจำนวนน้อยกว่ากอง น้อยกว่าสำนักของหลายแห่งในส่วนราชการที่เป็นพลเรือนทั้งหลาย ทั้งนี้ก็เพราะว่าเราเป็นหน่วยงานใหม่โอกาสที่เราจะจัดองค์กรให้กระทัดรัด คล่องตัว ใช้อัตรากำลังน้อยก็เป็นสิ่งที่เราพึงกระทำก็ต้องเน้นในจุดนี้ครับ จำนวนบุคลากรที่เพิ่มขึ้น 30 อัตราในระยะแรกจริงๆเราต้องการผู้ที่มีความรู้พื้นฐานทางด้านกฎหมายมหาชนโดยตรงทั้งนี้ก็เพราะเป็นระยะเริ่มต้นที่เราต้องรวบรวมบุคลากรในส่วนนี้ก่อน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จบการศึกษาด้านกฎหมายมหาชนอาจมีจำนวนน้อยเราจึงต้องเปิดกว้างไว้ก่อน ดังนั้นในขั้นที่สามต่อไปจะต้องวางแผนเตรียมการไว้ว่าเราคงจะต้องประสานกับหน่วยงานทางด้านการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยบางแห่งที่จะช่วยสนับสนุนในการผลิตบุคลากรในบางสาขาในบางวิชาที่เราเน้นเพื่อมาเสริมการทำงานของเราในขั้นต่อไป เพราะฉะนั้นในขั้นที่สองเราเปิดกว้างที่จะรับบุคลากรที่จบทางด้านนิติศาสตร์ เป็นพื้นฐานและจบปริญญาโทในสามด้านที่ผมได้เรียนไว้แล้วหรือจบเนติบัณฑิตเข้ามาซึ่งเป็นระยะที่อาจจะถือว่าเร่งด่วน ในระยะที่สองนี้ เราคงจะดูประกอบอยู่เหมือนกันในชั้นของการพิจารณาความเหมาะสมของบุคคลที่เราจะรับโอนมาหรือสอบคัดเลือกเข้ามาจากผู้ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ อาจจะดูในชั้นประเมินบุคคล ประเมินคุณสมบัติ ประเมินความรู้ความสามารถ ตรวจสอบคุณสมบัติพื้นฐานเกี่ยวกับวิชากที่เรียนหรืองานเอกสารวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ที่ได้จัดทำก็จะเป็นจุดสำคัญส่วนหนึ่งประกอบกับที่เขาได้ทดสอบด้วยวิธีการสอบข้อเขียนก็จะเป็นส่วนเสริมขึ้นมา เราจะพยายามให้น้ำหนักในส่วนนี้เพื่อที่จะได้บุคลากรตรงตามที่เราประสงค์ แต่ในขั้นที่สามเป็นที่แน่นอนว่าเราต้องร่วมกับสถาบันการศึกษาที่จะผลิตบุคลากรเข้ามาเสริมอัตรากำลังของเราที่เราคิดว่ามันต้องขยายออกไปตามแผนของเรา ทั้งนี้เพราะว่าสิ่งที่เราคาดหมายอยู่ประการหนึ่งก็คือว่า คำร้องที่เข้ามาสู่ศาลรัฐธรรมนูญนั้นขณะนี้ค้างอยู่ในมือถึง 87 คำร้อง แล้วก็มีแนวโน้มที่จะมีคำร้องมาสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มมากขึ้น เหตุที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย มีองค์ประกอบอยู่ 2 ประการ คือ เมื่อประชาชนได้มีความรู้เข้าใจ ตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองเขาก็สามารถที่จะหาหนทางเยียวยาในกรณีที่สิทธิเสรีภาพของเขาถูกละเมิดโดยเฉพาะการถูกละเมิดโดยบทบัญญัติของกฎหมายซึ่งเป็นภารกิจและหน้าที่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเข้าไปดูแลไม่ให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงทำให้จำนวนคำร้องอาจมีมากขึ้น ถ้าจะดูจาก 87 คำร้องที่ค้างอยู่จะเห็นว่าเป็นคำร้องที่ประชาชนโต้แย้งผ่านศาลยุติธรรม ผ่านทางศาลปกครองมีจำนวนถึงประมาณ 63 คำร้องด้วยกัน สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะชี้ให้เห็นว่าประชาชนตื่นตัวที่จะใช้สิทธิเยียวยาในกรณีที่เขาเห็นว่าสิทธิเสรีภาพของเขาถูกละเมิดโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะต้องส่งมายังศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 264 นี่ก็เป็นเหตุผลประการแรกที่เราคาดว่าจะทำให้มีคำร้องมาสู่ศาลรัฐธรรมนูญมาก เหตุผลประการที่สอง คือ องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ได้กำเนิดขึ้นมาหลายองค์กรขณะนี้ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่กันอย่างเต็มที่มากขึ้น เมื่อองค์กรตามรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่กันมากขึ้นก็แน่นอนว่าจะต้องมีส่วนสัมพันธ์กับทางศาลรัฐธรรมนูญในอันที่จะต้องมีคำร้องมาสู่ศาลรัฐธรรมนูญเนื่องจากเกิดปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือในกรณีที่ประชาชนใช้สิทธิผ่านไปยังองค์กรต่างๆเพื่อส่งมายังศาลรัฐธรรมนูญ ผมก็เชื่อว่าคำร้องน่าจะมาสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้น การที่เราจะสนับสนุนการทำหน้าที่ของคณะตุลาการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งก็คือการจัดเตรียมบุคลากรเพื่อรองรับการทำงานของคณะตุลาการให้มีความเหมาะสมทั้งปริมาณและกฎหมายมากยิ่งขึ้น ในขั้นที่สามคงต้องเป็นขั้นที่เราต้องกำหนดความต้องการออกไปว่าเราต้องการบุคลากรเน้นในสาขาวิชาใดที่จะช่วยในการดำเนินงานของศาลรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ในปัจจุบันนิสิตนักศึกษาสามารถเข้าฟังการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างเสรีหรือไม่ครับ
       
       คุณนพดลฯ :
การประชุมพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนั้นจะกระทำโดยเปิดเผยเมื่อออกนั่งพิจารณา การออกนั่งพิจารณานั้นจะเป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสให้คู่ความในคดีได้มาชี้แจงแสดงหลักฐานและนำพยานมาเบิกความ ศาลจะเปิดโอกาสให้ประชาชน สื่อมวลชนที่สนใจเข้ามารับฟัง เข้ามาสังเกตการณ์ในการออกนั่งพิจารณาได้โดยประชาชน สื่อมวลชนต้องปฏิบัติตามระเบียบของศาลเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในการออกนั่งพิจารณา การออกนั่งพิจารณานั้นตุลาการจะสวมครุยแล้วขึ้นนั่งบัลลังก์ แล้วก็จะเปิดโอกาสให้คู่ความโดยเริ่มจากฝ่ายผู้ร้องเป็นผู้แถลงก่อนแล้วถัดจากนั้นจะเปิดโอกาสให้คู่ความอีกฝ่ายได้ซักถามทางฝ่ายผู้ร้อง แล้วผลัดกันทางฝ่ายผู้ถูกร้องก็เปิดโอกาสให้ผู้ร้องได้ซักถาม และจะมีการนำพยานแต่ละฝ่ายมาเบิกความอันนี้ก็เป็นกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในระบบของการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญใช้ระบบของการไต่สวน ซึ่งระบบของการไต่สวนนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเองสามารถแสวงหาข้อมูลข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาของตนเองได้อย่างเต็มที่ซึ่งต่างจากระบบของการกล่าวหา แต่อย่างไรก็ตามในการออกนั่งพิจารณาก็ยังมีวิธีการบางอย่างของระบบกล่าวหาที่ใช้อยู่ในศาลยุติธรรม เช่นการซักถาม การซักค้าน ต่างๆเหล่านี้ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ทางศาลรัฐธรรมนูญเองได้อนุญาตให้คู่ความในคดีได้มีโอกาสซักถามซักค้านเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงให้ได้ข้อมูลออกมาประกอบการพิจารณาของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้คำร้องในเรื่องใดที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นสมควรที่จะให้ออกนั่งพิจารณา ทางศาลรัฐธรรมนูญจะมีประกาศของศาลรัฐธรรมนูญออกมาให้คู่ความได้รับทราบ รวมทั้งประกาศดังกล่าวจะเผยแพร่แจ้งไปยังสื่อมวลชนและปิดประกาศไว้ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้จะนำเข้าไปในเว็บไซต์ของสำนักงานของศาลรัฐธรรมนูญด้วยเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบว่าคำร้องของศาลในเรื่องใดที่จะมีการออกนั่งพิจารณาในวันเวลาใด


       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : อยากให้ท่านเลขาธิการช่วยเล่าให้ฟังถึงบทบาททางด้านวิชาการเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนของสำนักศาลรัฐธรรมนูญเพราะผมเห็นมีงานวิจัยมาก มีหนังสือ มีวารสารศาลรัฐธรรมนูญที่ออกเป็นรายสามเดือน แล้วก็มีสิ่งพิมพ์ต่างๆอีกมากครับ
       
       คุณนพดลฯ :
ต้องเรียนว่าสังคมปัจจุบันของเราความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชนได้รับความสนใจศึกษามากขึ้น จากความเป็นรัฐเดิมซึ่งเราอาจเรียกว่าเป็นรัฐชาติ คือ ความเป็นรัฐยังคงอำนาจสูงสุดที่จะปกครองดูแลประชาชนในรูปแบบเดิมแต่ในปัจจุบันเมื่อมีพัฒนาการใหม่ออกมาเป็นประชารัฐซึ่งถือประชาชนเป็นศูนย์กลางตรงนี้เองทำให้กฎหมายมหาชนเพิ่มบทบาทมากขึ้น แต่ความจริงถ้าเราย้อนดูในอดีตกฎหมายมหาชนเองก็ได้มีวิวัฒนาการสืบเนื่องมาโดยลำดับและก็ได้มีพัฒนาการมายาว นาน มาถึงปัจจุบันผมเชื่อว่าองค์กรของรัฐทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หรือจะเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งอยู่ในกำกับดูแลของรัฐบาลก็คงต้องให้ความสำคัญต่อกฎหมายมหาชนมากยิ่งขึ้นทั้งนี้ก็เพราะการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องคำนึงถึงประชาชนเป็นจุดสำคัญ โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนมีอยู่ตามที่รัฐธรรมนูญรับรองจะต้องได้รับการคุ้มครอง ปกป้อง รักษา และที่สำคัญก็คือการใช้อำนาจใดๆของหน่วยงานของรัฐก็ดีจะต้องถูกจำกัดตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายได้บัญญัติในขอบเขตที่จำกัดจริงๆ ที่สำคัญคือ จะต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบที่เข้มงวด ในส่วนของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเองเราได้ให้ความสำคัญต่องานทางด้านวิจัยวิชาการและงานที่ส่งผลต่อการพัฒนางานทางด้านกฎหมายมหาชน ในจุดแรกจะเป็นงานวิจัยตามประเด็นที่ปรากฏตามรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญได้รับรองในเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่างๆเป็นต้น การที่เราส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยในหัวข้อที่กำหนดตามรัฐธรรมนูญเป็นที่แน่นอนครับว่า ผลที่เกิดจากการศึกษาวิจัยย่อมทำให้พบให้เห็นถึงปัญหา อุปสรรคต่างๆที่มีผลกระทบถึงระบบกฎหมายของบ้านเราซึ่งจะต้องนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมากยิ่งขึ้น ในจุดนี้เองทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วิจัยออกมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่จัดตั้งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมา จำนวนงานวิจัยที่ได้ศึกษาแล้วเสร็จไปแล้วมีประมาณ 4 เรื่องด้วยกันได้แก่เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ เรื่องเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไทย ตามมาตรา 264 และมาตรา 266 เรื่อง การอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 28 และเรื่อง ปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ และการกระทำของบุคคล ตามมาตรา 198 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และที่อยู่ระหว่างการวิจัยอีก 4 เรื่อง ได้แก่เรื่อง สิทธิของบุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนตามรัฐธรรมนูญ เน้นศึกษาสิทธิของบุคคล ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ตามมาตรา 45 46 และมาตรา 290 แห่งรัฐธรรมนูญ เรื่องวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ : ศึกษากรณีศาลรัฐธณรมนูญต่างประเทศกบศาลรัฐธรรมนูญไทย เรื่อง หลักการใช้อำนาจขององค์กรที่ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และเรื่อง หนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และในปีนี้ก็กำลังจะมีโครงการวิจัยต่อไปอีก 3 เรื่อง ได้แก่เรื่อง การออกเสียงประชามติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ (มาตรา 214) ผลกระทบ และวิธีการแก้ไข เรื่อง สิทธิของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาที่จะเสนอความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า การกระทำใดจะมีผลในการใช้งบประมาณรายจ่าย โดยตรงหรือโดยอ้อมหรือไม่ (มาตรา 180 วรรคหก และวรรคเจ็ด) และเรื่อง ข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราได้มอบหมายให้นักวิชาการที่ทรงคุณวุฒิภายนอกรับไปวิจัย แต่อีกส่วนหนึ่งนั้นก็คือการศึกษาวิจัยด้วยตัวของเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ ซึ่งในจำนวนนี้ก็มีประมาณ 3 ถึง 4 เรื่อง และเอกสารในส่วนนี้ก็จะเป็นเอกสารที่จะประกอบการปฏิบัติงานของกลุ่มงานคดีรวมทั้งสนับสนุนการทำหน้าที่ของตุลาการ และทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเองก็คงจะได้คัดเอาผลการศึกษาในส่วนที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานได้ดำเนินการออกไปเผยแพร่ในทางวิชาการในวงกว้างต่อไป นอกเหนือจากการวิจัยดังกล่าวนี้แล้วทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเองก็ได้มีการจัดให้มีการสัมมนาทางวิชาการในประเด็นต่างๆอีกประมาณ 8 เรื่อง ได้แก่ เรื่อง เขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่อง อิสระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับพันธะผูกพันของมติพรรค เรื่อง ศักด์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ เรื่อง การควบคุมกฎหมายมิให้ต่อรัฐธรรมนูญ เรื่อง การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป้นธรรมและมาตรการของรัฐที่ไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลโดยไม่เป็นธรรม เรื่อง การเลือกตั้งระบบใหม่กับอิสระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการเลือนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 202 การสัมมนาทางวิชาการเนื่องในวาระครบรอบ 3 ปี ศาลรัฐธรรมนูญเรื่อง "รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป : ความก้าวหน้าและผลสำเร็จ" และ "รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป : ความล้าหลังและอุปสรรค" และ ประชาชนกับการใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายและข้อบัญญัติท้องถิ่น เรื่องตลอดทั้งผลสำเร็จของรัฐธรรมนูญของการปฏิรูปทางการเมือง งานวิจัย งานสัมมนาทางวิชาการบางส่วนส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนางานทางด้านกฎหมายมหาชน สำหรับงานวิจัยและงานสัมมนาทางวิชาการที่ทางสำนักงานได้ทำไปแล้วนั้น มีเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เรื่องเกี่ยวกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับบทบาทของพรรคการเมือง เรื่องเกี่ยวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งโดยภาพรวมก็จะครอบคลุมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาก็จะเน้นในเรื่องของฝ่ายบริหารค่อนข้างมากแล้วก็องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับกิจการของศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากงานสัมมนาทางวิชาการแล้ว เรายังมีหนังสือที่ทางสำนักงานฯจัดทำออกมาเผยแพร่ คือ วารสารศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งออกปีละ 3 ฉบับ หรือ 4 เดือน/เล่ม ขณะนี้เป็นปีที่ 3 กำลังจะย่างเข้าสู่ปีที่ 4 วารสารศาลรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับจะรวมบทความของผู้ทรงคุณวุฒิมาเผยแพร่สู่สมาชิกและประชาชนโดยแจกจ่ายไปสู่สาธารณชนในวงกว้างทั้งห้องสมุดสถานศึกษา องค์กรและหน่วยงานต่างๆ บทความที่ปรากฏในวารสารจะเป็นบทความที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในแง่มุมต่างๆ เกี่ยวข้องกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญในแง่มุมต่างๆ เกี่ยวข้องกับองค์กรศาลรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ในเรื่องการดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญรวมตลอดทั้งบทบาทหน้าที่ขององค์กรศาลรัฐธรรมนูญที่มีผลต่อการปฏิรูปทางการเมืองที่มีผลต่อการพัฒนาประชาธิปไตย นอกจากนั้นวารสารศาลรัฐธรรมนูญก็ได้เปิดโอกาสให้มีการตอบข้อซักถามปัญหาที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพประชาชน ที่สมาชิกหรือประชาชนติดใจสงสัยก็จะมีการตอบคำถาม อีกส่วนหนึ่งที่เราได้ดำเนินการ เผยแพร่ออกไปในวงกว้าง คือ จดหมายข่าวของศาลรัฐธรรมนูญ จดหมายข่าวของศาลรัฐธรรมนูญนี้ออก 2 เดือน / 1 ฉบับ ปีหนึ่งก็หกฉบับ จำนวนที่เราจัดพิมพ์ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากเดิม 1,000 ฉบับ ก็เพิ่มเป็น 2,000 ฉบับ และปัจจุบัน 3,000 ฉบับ จะเห็นว่าสมาชิกจะให้ความสนใจขอรับจดหมายข่าวจากทางสำนักงานฯ เพิ่มขึ้นทุกปี ในจดหมายข่าวนี้เราก็จะเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพในแง่มุมต่างๆและก็มีการสรุปคำวินิจฉัยที่สำคัญๆต่างๆออกไปให้ประชาชนได้รับทราบ ข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญนั้นจดหมายข่าวนั้นก็เป็นสื่อที่จะให้ประชาชนได้เกิดความเข้าใจในข้อเท็จจริงบางประการที่อาจจะคลาดเคลื่อนหรืออาจจะส่งผลกระทบต่อตัวสถาบันศาลรัฐธรรมนูญ เราก็จะใช้จดหมายข่าวที่จะแจ้งไปยังสมาชิกของจดหมายข่าวให้รับทราบ แต่จดหมายข่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะไปโต้แย้งความเห็น หรือคำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทางศาลรัฐธรรมนูญเองตระหนักดีว่าศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นองค์กรของประชาชนจึงยินดีรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ที่มีเหตุมีผลแต่ถ้าคำวิพากษ์วิจารณ์กระทบต่อสถาบันศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นหน้าที่ที่ต้องชี้แจงทำความเข้าใจในจุดที่ถูกต้องไปยังสมาชิกและประชาชน เอกสารที่สำคัญนอกเหนือจากที่ผมได้เรียนนั้น ทางสำนักงานฯได้จัดทำหนังสือรวมคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในรอบปีเพื่อเผยแพร่ไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือศาล หรือองค์กรของรัฐทั้งปวง เพราะฉะนั้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง อย่างไรก็ตามในปีแรกของการเผยแพร่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นค่อนข้างจะมีข้อจำกัดเนื่องจากไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการในการดำเนินการ พอในปีที่สอง คือ 2542 เราเริ่มที่จะใช้งบประมาณของทางราชการเข้ามาจัดพิมพ์แล้วแจกจ่ายเผยแพร่ออกไป กับอีกส่วนหนึ่งก็ใช้กองทุนสวัสดิการของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจัดพิมพ์เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจ เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของทางราชการครับ หนังสือรวมคำวินิจฉัยนั้นเป็นหนังสือที่มีคุณค่า ทั้งนี้เป็นเพราะว่าในระบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยของนานาประเทศที่มีองค์กรศาลรัฐธรรมนูญแล้วนอกเหนือจากคุณภาพของกฎหมายที่ได้ตราขึ้นโดยองค์กรนิติบัญญัติแล้ว คุณภาพของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นหัวใจสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาหลักกฎหมายโดยเฉพาะหลักกฎหมายมหาชนในประเทศหรือในสังคมนั้น ถ้าได้พิจารณาและวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาโดยลำดับ จะเห็นวิวัฒนาการของการพัฒนาคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงในเชิงพัฒนาการสื่อความหมายที่ชัดเจนด้วยการสรุปข้อเท็จจริงและการให้เหตุผลประกอบการวินิจฉัย ทั้งในประเด็นข้อเท็จจริงและในข้อกฎหมายที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น และผมเชื่อว่าทางด้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคงไม่อยู่กับที่คงต้องมีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในอีกส่วนหนึ่งของการเผยแพร่งานของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็จะมีผลต่อการพัฒนางานของกฎหมายมหาชนในภายหน้า คือ การจัดทำรายงานกิจการประจำปีของศาลรัฐธรรมนูญ ในแต่ละปีศาลรัฐธรรมนูญได้มีการจัดทำรายงานกิจการประจำปีของศาลรัฐธรรมนูเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ต่อสภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา และรายงานกิจการก็จะแจกจ่ายไปยังหน่วยงานของรัฐ ห้องสมุด และประชาชนผู้สนใจในจุดต่างๆ ทั้งหมดนี้ก็เป็นงานของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการเผยแพร่งานทางวิชาการอันมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนางานทางด้านกฎหมายมหาชนครับ


       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ถ้ามีผู้สนใจสิ่งพิมพ์ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะติดต่อได้ที่ไหนครับ
       
       คุณนพดลฯ :
ติดต่อได้ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญครับ เรามีหน่วยงานรับผิดชอบในการให้บริการข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่มาติดต่อ ขณะนี้เรามอบให้ทางส่วนประชาสัมพันธ์ของสำนักอำนวยกิจการศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในส่วนนี้ เอกสารที่ประชาชนจะเข้ามาขอรับบริการนั้นจะเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนแรกจะเป็นเอกสารเผยแพร่ซึ่งประชาชนสามารถมาขอรับได้ เช่น จดหมายข่าวของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข้อควรรู้เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นหนังสือเผยแพร่ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญและแผ่นพับต่างๆ ในส่วนนี้เป็นเอกสารเผยแพร่ที่เราแจกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในส่วนที่สองจะต้องซื้อหรือบอกรับเป็นสมาชิก เช่น หนังสือรวมคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ วารสารศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนที่สาม เอกสารหลักฐานต่างๆ โดยเฉพาะเอกสารที่เกี่ยวข้องสำนวนคดีต่างๆซึ่งประชาชนจะสามารถเข้ามาขออนุญาตตรวจค้น และขอคัดสำเนา ขอให้มีการรับรองสำเนาเอกสารต่างๆเพื่อประโยชน์ในการศึกษา เพื่อประโยชน์ในการวิจัยต่างๆได้ เรามีหอจดหมายเหตุของศาลรัฐธรรมนูญ ในหอจดหมายเหตุนี้จะรวบรวมข่าวหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดแรกเรื่อยมา เก็บต่อเนื่องติดต่อกันมาและเรามีการบันทึกเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในแต่ละสัปดาห์ ประชาชนที่สนใจสามารถมาขอศึกษา ค้นคว้า ตรวจดู ขอคัด ขอรับรอง ทางเราก็ยินดีบริการ เอกสารเผยแพร่ที่ไม่ได้จำหน่ายนอกจากที่ผมเรียนเมื่อสักครู่ เรายังมีเอกสารที่เราได้จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ คือ รวมบทความทางวิชาการของศาลรัฐธรรมนูญ หนังสือวิจัยเรื่องการอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามมาตรา 28 และหนังสือรัฐธรรมนูญภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่แปลควบเป็นรายมาตรา เอกสารนี้ก็มีจำนวนจำกัด เราคงไม่สามารถแจกบุคคลได้เป็นรายบุคคล ถ้าหน่วยงานใดสนใจที่จะขอรับเอกสารเผยแพร่ดังกล่าวก็สามารถที่จะยื่นคำร้องขอหนังสือดังกล่าวได้ เนื่องจากการขอไปนามของหน่วยงาน ในนามขององค์กร ในนามของหมู่คณะก็น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าที่จะขอเป็นประโยชน์ส่วนตัวเป็นรายบุคคลครับ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ขอขอบพระคุณท่านเลขาธิการที่ได้กรุณาสละเวลาให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ครับ
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=170
เวลา 27 เมษายน 2567 07:02 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)