บทสัมภาษณ์ คุณชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา วันที่ 4 มิถุนายน 2544 |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ผมขอเรียนถามถึงภาพรวมของคณะกรรมการกฤษฎีกาในปัจจุบันหลังที่มีการยุบเลิกคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ เนื่องจากมีการตั้งศาลปกครอง อยากทราบว่าภาระหน้าที่การ
คุณชัยวัฒน์ ฯ : ปัจจุบันเรามีงานด้านการร่างกฎหมายเพียงอย่างเดียว ในการจัดทำร่างกฎหมายก็แยกเป็นหลายส่วน ส่วนแรกคือการช่วยตรวจร่างกฎหมายที่กระทรวง ทบวง กรม เสนอมา ส่วนที่สองคือการจัดทำร่างกฎหมายที่เราคิดว่าน่าจะมี โดยเสนอขึ้นเองและร่วมมือกับกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องจัดทำให้กับเขา ส่วนที่สามเป็นเรื่องของการพัฒนากฎหมาย มีการศึกษาวิจัยกฎหมายต่างๆที่ประเทศไทยควรจะมีผ่านทางคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ส่วนที่สี่ก็เป็นส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ซึ่งส่วนนี้ก็มีกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองอยู่คณะหนึ่ง ซึ่งทางกฤษฎีกาเป็นฝ่ายเลขานุการอยู่ งานในหน้าที่ได้แก่ งานให้คำแนะนำ หรือให้ความเห็นเรื่องวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองครับ
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : นิติกรที่ทำงานที่นี่ส่วนใหญ่มีความถนัดหรือว่าจบทางด้านกฎหมายมหาชนหรือไม่ครับ
คุณชัยวัฒน์ฯ : การให้การศึกษาในมหาวิทยาลัยปัจจุบันนั้น การศึกษาด้านกฎหมายมหาชนยังมีการเน้นหนักน้อย จำนวนวิชาในปริญญาตรีก็ยังน้อยอยู่เนื่องจากจำเป็นต้องเป็นหลักสูตรกลางๆสำหรับหลายๆสาขา เพราะฉะนั้น คนที่มาอยู่กับเราส่วนใหญ่ก็มาจากการศึกษาแบบนั้น แต่เวลามาอยู่ที่กฤษฎีกาแล้ว ก็ใช้การสอนโดยให้ปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น(on the job training) เพื่อให้มีความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชนเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันที่ผ่านมาในอดีตเราก็พยายามรับนักศึกษาปริญญาโททางด้านกฎหมายมหาชนโดยตรงมาด้วย แต่เนื่องจากคนที่จบทางด้านนี้ก็มีไม่มากนัก การรับปริญญาโทโดยตรงก็รับอยู่หลายสาขาครับเพราะงานเรากว้างครอบคลุมทุกสาขากฎหมาย
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ที่อาจารย์บอกว่ารับปริญญาโทกฎหมายมหาชน เวลารับเข้ามามีเงื่อนไขอะไรหรือเปล่าครับ ตัวอย่างเช่น ที่คณะผม นิสิตที่จบมหาชนหลายคนที่ทำวิทยานิพนธ์ที่บางคนมองว่าเป็นมหาชนแต่ทางกฤษฎีกาอาจจะไม่รับ เช่น บางทีเป็นกฎหมายแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม ผมอยากขอทราบแนวทางพราะเว็บไซต์นี้นิสิตนักศึกษาใช้บริการเยอะ จะได้เป็นทิศทางว่า หากคุณเรียนปริญญาโทกฎหมายมหาชน คุณควรจะทำวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวกับกฎหมายมหาชนแท้ๆอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ ปกครอง การคลัง หรือไม่ครับ
คุณชัยวัฒน์ฯ : ครับ ผมว่าก็ควรจะเป็นเช่นนั้น
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : หมายความว่าทางกฤษฎีกาดูวิทยานิพนธ์ด้วยใช่หรือไม่ครับ
คุณชัยวัฒน์ ฯ : ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : แล้วก็ให้ความสำคัญกับที่เป็นมหาชนแท้ๆมากกว่าใช่หรือไม่ครับ
คุณชัยวัฒน์ฯ : ใช่ครับ
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : บทบาทของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชนในปัจจุบันครับ อันนี้ที่ถามเพราะว่าแต่เดิมเราคิดว่าคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์เท่านั้นที่มีบทบาททางด้านกฎหมายมหาชน แต่ตอนนี้พอไม่มีคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์แล้วบทบาทเป็นอย่างไรครับ
คุณชัยวัฒน์ฯ : คือ จริงๆแล้วกฎหมายมหาชนจะเป็นแกนกลางของระบบบริหารภาครัฐนะครับ การจัดองค์กรก็ดี การบริหารบุคลากรก็ดี การใช้อำนาจทางปกครองก็ดี การบริหารการเงินภาครัฐก็ดี เกี่ยวกับกฎหมายมหาชนทั้งนั้น ตรงนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ของภาครัฐที่จะต้องทำ ซึ่งทั้งกระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งกฤษฎีกายังต้องมีส่วนช่วยในเรื่องนี้อีกเยอะ ดังนั้นเนื้อของกฎหมายมหาชนจึงปนอยู่ในงานของภาครัฐกว่าครึ่ง ผมให้น้ำหนักถึง 60 เปอร์เซนต์ ส่วนที่เหลือจะเป็นเรื่องกฎหมายปกครองเฉพาะด้าน กฎหมายมหาชนเฉพาะด้าน เช่น ด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากร หรือโทรคมนาคม นั่นเป็นส่วนเพิ่มเท่านั้นเอง แต่ตัวแกนกลางเป็นหลัก เพราะฉะนั้นจริงๆแล้วคนที่ทำงานในภาครัฐต้องเก่งทางด้านกฎหมายมหาชนอยู่แล้วครับ
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : แล้วบทบาทของเลขาธิการฯทางด้านกฎหมายมหาชนเป็นอย่างไรครับ
คุณชัยวัฒน์ฯ : ในส่วนนี้เราก็พยายามทำให้นักกฎหมายมหาชนเป็นสิ่งที่สำคัญให้รัฐบาลยอมรับ ที่ผ่านมาในอดีตเราก็ได้มีการจัดตั้งสถาบันพัฒนานักกฎหมายมหาชนขึ้น แต่เนื่องจากที่ผ่านมางานเรามาก การกระตุ้นด้านนี้จึงค่อนข้างน้อยหน่อย แต่มาในขณะนี้ ผมมีความรู้สึกว่ามีความจำเป็นโดยระยะเวลาบีบคั้นเข้ามาแล้วที่ต้องพยายามหานักกฎหมายมหาชนให้แก่ภาครัฐอย่างจริงๆจังๆ เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาในอดีตนักกฎหมายมหาชนมีน้อยมาก การจัดตั้งศาลปกครองครั้งแรกนั้น ซึ่งผมมีบทบาทร่วมอยู่ด้วยนั้น ผมได้ประเมินตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่าเราตั้งศาลปกครองได้แน่ๆ เนื่องจากในตอนนั้นมีกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ประมาณ 60 คน การหาตุลาการศาลปกครองชั้นต้นและตุลาการศาลปกครองสูงสุดประมาณ 120 คน จึงมีความเป็นไปได้ แต่มากกว่านั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะนี้พอองค์กรด้านนี้ต้องการนักกฎหมายมหาชนเพิ่มขึ้นเราจึงต้องเร่งรีบสร้าง ผมจึงหยิบเรื่องการพัฒนานักกฎหมายมหาชนขึ้นมาทำเป็นจริงเป็นจัง โดยประการแรก ก็คือ ทำให้คนเข้ามาทำงานในกฤษฎีกา ปัจจุบันนี้ก็ร่อยหรอเหรอไปเยอะเนื่องจากไปทำงานที่อื่น ที่อื่นจะมีความต้องการมากสำหรับนักกฎหมายมหาชนระดับสูง เพราะฉะนั้นนักกฎหมายจำนวนหนึ่งจึงย้ายไปทำงานที่อื่นเพราะมีอัตราเงินเดือนสูงกว่า ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาบุคลากรกว่าครึ่งด้วยเวลาที่รวดเร็วเพื่อจะได้มีคนไว้ใช้งาน ส่วนประการที่สองนั้น เมื่อจัดตั้งศาลปกครองขึ้นแล้ว ทำให้ความต้องการบุคลากรทางด้านนี้เพิ่มขึ้นโดยปริยาย ดังนั้นต้องรีบสร้างนักกฎหมายมหาชนขึ้นมาเพื่อรองรับงานด้านกฎหมายมหาชนที่เป็นเรื่องการอำนวยความยุติธรรมของภาครัฐให้แก่ประชาชน
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : อาจารย์มีความเห็นอย่างไรในการศึกษากฎหมายมหาชนในบ้านเราครับ อาจารย์คิดว่าเราควรปรับตั้งแต่หลักสูตรปริญญาตรีโดยแยกสาขาเป็นมหาชนเลยหรือว่าเป็นแยกในชั้น ปริญญาโท เช่น กฎหมายมหาชนเช่นในปัจจุบันแต่ว่าพัฒนาหลักสูตรไปให้ไกลกว่านี้อีกครับ
คุณชัยวัฒน์ฯ : คือ ผมเข้าใจว่าสถาบันการศึกษาจริงๆแล้วยังไม่มีความพร้อมเต็มที่ที่จะจัดการการศึกษาในแง่ความชำนาญเฉพาะด้าน ตัวอย่างเรื่องกฎหมายมหาชนก็ตาม ผมว่าทุกแห่งยังไม่มีความพร้อมในตัวเอง เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า ผู้สอนก็จะซ้ำกัน จะมีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างมหาวิทยาลัย อันนี้เป็นตัวชี้ให้เห็นว่าบุคลากรด้านการสอนเรายังไม่พอ แต่การทำร่วมกันทำได้ เพราะฉะนั้นการจะมาเน้นเป็นวิชาเฉพาะด้านขึ้นมาในทุกมหาวิทยาลัยก็คงต้องใช้คนสอนคนเดิมนั่นเองเพียงแต่ว่าสถานที่เรียนที่สอนมันคนละที่กันเท่านั้น เพราะฉะนั้นแนวความคิดส่วนตัวผมเห็นว่า ในช่วงต้นๆน่าจะต้องมีสถาบันกลางๆขึ้นมาสักแห่งหนึ่งเพื่ออุดช่องว่างในตรงนี้ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็จะตั้งสถาบันพัฒนานักกฎหมายมหาชนขึ้น โดยจัดหลักสูตรการศึกษาอบรมขึ้นมาเพื่อแทนที่ตรงนี้ให้ได้ ให้สามารถได้บุคลากรไปใช้งานภาครัฐที่มีคุณภาพ ผมเข้าใจว่าตอนต้นเป็นอย่างนั้น ขณะเดียวกันเสรีภาพทางวิชาการในคณะแต่ละคณะจะจัดการศึกษาอย่างไรก็เป็นเรื่องของทางคณะว่าจะจัดไปเพื่ออะไร ให้คนมีความรู้อย่างไรก็แล้วแต่เพราะมีความหลากหลายในเรื่องความต้องการ แต่ในอนาคตแล้วความเปลี่ยนแปลงคงจะมี พอจำนวนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆเพิ่มขึ้น แต่ละคณะคงจะแยกเป็นปริญญาตรีสาขาเฉพาะได้ เมื่อนั้นก็คงเป็นการพัฒนาอีกแบบหนึ่ง ส่วนสถาบันนักกฎหมายมหาชนก็ต้องปรับบทบาทใหม่ให้เข้ากับจุดนั้น ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น อย่างปัจจุบันการศึกษากฎหมายมหาชนก็ต้องยอมรับว่าตำราก็ไม่พร้อม มีตำราอยู่ก็ไม่กี่เล่ม การศึกษาก็มีแต่ฟังบรรยายอย่างเดียวไม่สามารถหาตำรามาอ่านได้ เพราะฉะนั้นการพัฒนาทั้งตำรา พัฒนาทั้งผู้สอนขึ้นมาจึงมีความจำเป็น ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ก็อยู่ในโครงการแผนปฏิรูปภาครัฐด้านกฎหมายที่ผมรับผิดชอบอยู่ คือถ้างานด้านนี้สำเร็จอย่างที่ว่าต่อไปโอกาสที่แต่ละคณะจะมีคุณภาพในการจัดการตัวเองได้โดยเต็มที่โดยสมบูรณ์คงจะเกิดขึ้น
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : แล้วอาจารย์คิดว่าการพัฒนาตำราทางด้านกฎหมายมหาชนควรจะทำอย่างไรครับ เพราะในปัจจุบันผมเข้าใจว่าตลาดก็ยังไม่ค่อยกว้างเท่าไหร่ครับ จากประสบการณ์ส่วนตัวนะครับ ผมพบว่าสำนักพิมพ์บางแห่งก็ไม่พร้อมจะพิมพ์ตำราเฉพาะด้านให้ อย่างบางเรื่องก็พิมพ์ตำราที่เรียบเรียงจากภาษาต่างประเทศออกมาขายซึ่งแทบจะขายไม่ได้ แล้วก็ทางสำนักพิมพ์ก็บอกว่าเข็ดไม่อยากพิมพ์หนังสือที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศอีก
คุณชัยวัฒน์ฯ : คือกรณีอย่างนี้ต้องเป็นเรื่องที่เราคิดว่าต้องลงทุน เพราะตลาดยังไม่เข้าใจ ตลาดยังไม่ยอมรับ แต่เป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องลงทุนเพื่อสังคม เพราะฉะนั้นในโครงการปฏิรูปภาครัฐด้านกฎหมายก็จะมีโครงการให้ผลิตตำราขึ้นทั้งโดยการแปลและโดยการแต่ง มีทุนให้ ดังนั้นก็จะมีค่าตอบแทนที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่ตั้งใจจะเขียน ส่วนการแพร่หลายก็อาจจะต้องยอมรับในช่วงต้นๆถ้าสมมติว่าตัวบุคลากรที่ซื้อตำราด้านนี้มีน้อย ซึ่งก็ขึ้นกับตำแหน่งงานในอนาคตที่จะมี ถ้าตำแหน่งงานมีเยอะเป็นที่น่าสนใจเยอะ คนมาศึกษาก็จะมีเยอะ คนศึกษาเยอะเมื่อใดเมื่อนั้นการซื้อตำราก็เยอะขึ้นตาม แต่ตราบใดตำแหน่งงานข้างบนยังไม่มี โอกาสขึ้นสู่ตำแหน่งยังเห็นภาพไม่ชัด คนมายังน้อยอันนี้มันก็คงต้องเป็นการลงทุน ก็คือว่าต้องมีเงินกองกลางจำนวนหนึ่งไปช่วยเหลือในการพิมพ์ แล้วก็ขายในราคาซึ่งไม่เอากำไรมากนักไม่หวังถอนทุนคืน มันจะต้องเป็นอย่างนั้นไปสักระยะหนึ่งจนกว่าระบบตลาดปกติจะทำงานครับ
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : เมื่อสักครู่ผมถามขาดไปนิดหนึ่ง บุคลากรที่อาจารย์รับเข้ามา คือ ทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท เวลาเข้ามาแล้ว เนื่องจากพื้นทางด้านกฎหมายมหาชนค่อนข้างอ่อน ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการฝึกอบรม หรือไม่เพื่อที่จะให้คนเหล่านั้นมีพื้นความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชนมากขึ้น ถ้ามีนะครับผมไม่แน่ใจว่าใช้คนสอนจากมหาวิทยาลัยหรือไม่ครับ
คุณชัยวัฒน์ฯ : คือขณะนี้จริงๆแล้ว การจัดโครงการบรรยายให้กับข้าราชการสำนักงานกฤษฎีกาโดยเฉพาะยังไม่มี เพราะฉะนั้นขณะนี้ก็เป็นการเรียนไปพร้อมกับการทำงาน การเข้าประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ยังมีการถกปัญหาต่างๆกัน หรือการได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ไปค้นเอกสารทางวิชาการ อันนี้ยังเป็นจุดที่ข้าราชการกฤษฎีกามีโอกาสเรียนไปในตัว แต่ขณะนี้สิ่งเหล่านี้คงต้องเปลี่ยนไปบ้างเพราะการฝึกแบบนี้ต้องใช้เวลายาวนาน เพราะฉะนั้นการฝึกโดยการบรรยาย การฝึกภาคปฏิบัติที่มีตัวอย่างให้ลองทำเพื่อให้เกิดความรู้ในหลายๆเรื่องในระยะเวลาอันสั้นก็เป็นสิ่งจำเป็น ขณะนี้ก็กำลังคิดถึงหลักสูตรในการพัฒนาข้าราชการกฤษฎีกาขึ้นมาโดยเฉพาะ อาจจะเป็นหลักสูตรสั้นๆ ผมเคยทำอยู่บ้างแต่เป็นเรื่องการเตรียมตัวพร้อมที่จะเป็นข้าราชการกฤษฎีกา คือ การจัดทำร่างกฎหมาย รู้จักการค้นกฎหมาย รู้จักร่างกฎหมายเบื้องต้น ก็มีการจัดฝึกอบรมกัน ซึ่งการฝึกอบรมกันผมพยายามเปลี่ยนแนวที่เป็นมาในอดีตเพราะว่าการที่เอาข้าราชการซึ่งทำงานเต็มเวลาอยู่แล้วมาอบรมแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเขาทำงานกันทั้งวันก็เหนื่อย สมาธิในการเรียนการอะไรต่างๆก็ลดลง โดยเฉพาะคนทำงานกฤษฎีกาก็คงจะทราบดี เพราะว่าการทำงานถึงทุ่ม สองทุ่ม เป็นเรื่องปกติของพวกเรา เวลาจะมานั่งฟังบรรยายก็แทบจะไม่มีด้วยซ้ำ แต่ผมเข้าใจว่าไม่ทำก็ไม่ได้ ผมก็เคยทำโดยตัดนิติกรออกมาจำนวนหนึ่งทีละประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ โดยให้เขาหยุดงาน 1 อาทิตย์ ให้อบรมอย่างเดียวทั้งวันแล้วก็มีการประเมิน ซึ่งผมก็เห็นว่าได้ผลมากกว่า แต่ขณะนี้ก็มักเป็นหลักสูตรสั้น เป็นเรื่องๆไปครั้งละสัปดาห์เดียว
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ที่อาจารย์ว่าเป็นหลักสูตรสั้นๆ ได้มีการเชิญนิติกรจากส่วนราชการอื่นมาร่วมด้วยหรือไม่ครับ
คุณชัยวัฒน์ฯ : ผมมีวิธีของผมอยู่ 2 ขั้นตอน ในขั้นตอนแรกนั้นผมต้องการให้คนของผมที่เป็นเด็กใหม่ๆ อ่านกฎหมายในความรับผิดชอบของเขาให้เต็มที่ แต่เดิมมากฎหมายมีอยู่หกร้อยฉบับทุกคนอ่านได้ไม่หมด ผมก็เลยแบ่งเป็นกลุ่มกฎหมายขึ้นมาเป็น 10 สาขา เพราะฉะนั้นขณะนี้แต่ละกลุ่มก็รับผิดชอบกฎหมายประมาณกลุ่มละ 60 กว่าฉบับก็สามารถอ่านได้หมด นี่เป็นขั้นตอนที่เขาควรจะรู้ คือ อ่าน 60 ฉบับของเขาให้เต็มที่ ให้พอรู้ จับเนื้อหาจับใจความให้ได้ว่าอะไรอยู่ที่ไหนอย่างไร ความเข้าใจอาจจะไม่ลึกซึ้ง ขั้นตอนต่อมาก็คือว่า เชิญคนที่เกี่ยวข้องมาพูดคุย ซึ่งขณะนี้ผมเรียกว่าเป็นกิจกรรมกลุ่ม ซึ่งทุกกลุ่มกฎหมายจะให้เวลากับสิ่งนี้ครึ่งวันต่อสัปดาห์ จะมีการเชิญนิติกรตามกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องมาคุยหัวข้อบางหัวข้อ แลกเปลี่ยนความรู้กัน ทราบว่าเขาปฏิบัติเรื่องอะไรแบบไหนอย่างไร อันนี้เป็นการเติมความรู้ให้กับคนที่ทำงานด้านกฎหมายแต่ไม่ทำงานภาคปฏิบัติ เสร็จแล้วในบางครั้งก็มีอาจจะมีการจัดสัมมนาย่อยในกลุ่มของเขา เชิญข้าราชการ อาจารย์มหาวิทยาลัยถกกันในหัวข้อบางหัวข้อที่ยากๆ อยากจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน อันนี้จะเป็นตัวเสริมทำให้ความรู้เพิ่มขึ้น อันนี้เป็นกิจกรรมกลุ่มที่ผมให้ทุกกลุ่มทำอยู่
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : แล้วการฝึกนิติกรให้แก่หน่วยงานอื่น ทางกฤษฎีกามีการทำหรือไม่ครับ
คุณชัยวัฒน์ฯ : เรายังไม่เคยเริ่มทำเป็นกิจลักษณะนะครับ คือเมื่อก่อนเรามีโครงการฝึกอบรมของเรา หน่วยงานอื่นก็ขอมาร่วมด้วยสักห้าคนสิบคน แต่ยังไม่ได้ทำเป็นกิจจะลักษณะ แต่ต่อไปถ้าผมพัฒนาหลักสูตรพัฒนานักกฎหมายมหาชนขึ้นมาได้ก็จะเปิดรับทั่วไป อย่างของสถาบันพัฒนานักกฎหมายมหาชนก็คงจะต้องมีหลักสูตรของนักกฎหมายมหาชน มีประกาศนียบัตรอะไรสักอย่างที่เป็นตัวชี้ว่าบุคคลเหล่านี้พร้อมจะเข้าทำงานด้านนี้ กรณีอันนี้ก็คงจะเปิดรับจากทุกหน่วยงาน
|
รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : แล้วการให้บริการทางวิชาการนอกหน่วยงาน ผมจำได้สมัยที่กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองใช้บังคับใหม่ๆ ทางกฤษฎีกาได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปให้ความรู้ ปัจจุบันยังมีอยู่หรือไม่ครับการให้บริการต่างๆเหล่านี้นอกหน่วยงาน หรือว่าอย่างส่งคนไปสอนในนามของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะว่าอย่างตามมหาวิทยาลัยต่างๆก็มีบางวิชาที่สอนในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับงานของทางนี้ เช่น การร่างกฎหมาย
คุณชัยวัฒน์ฯ : อันนี้เราก็มีส่งไปบ้างนะครับ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเวลาว่าเราจะไปร่วมกันได้หรือไม่ เพราะถ้าพูดไปแล้วเวลานี้คนของกฤษฎีกาเองก็ค่อนข้างมีน้อย และหลายคนก็จะมีงานเยอะ เพราะฉะนั้นตรงจุดนี้ก็ยังไม่ได้ช่วยเหลือกันเต็มที่
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : แล้วบริการทางด้านวิชาการอื่น เช่น วารสารกฎหมายปกครอง ตอนนี้ยังทำอยู่หรือไม่ครับ
คุณชัยวัฒน์ฯ : ยังทำอยู่ครับ ยังออกปกติ
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ผมเห็นศาลปกครองมีวารสารของตนเองเหมือนกัน แล้วเนื้อหาจะเป็นเหมือนเดิมหรือจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่ครับ คุณชัยวัฒน์ฯ : ตอนนี้ยังเป็นเหมือนเดิมอยู่
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : แต่ก็ไม่มีคำวินิจฉัยร้องทุกข์มาลง
คุณชัยวัฒน์ฯ : ครับ องค์กรนั้นเลิกไปแล้ว
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ความสัมพันธ์ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากับสำนักงานศาลปกครอง ในฐานะที่เคยอยู่ด้วยกันมาก่อน ยังมีความร่วมมือกันใช่หรือไม่ครับ
คุณชัยวัฒน์ฯ : ครับ ก็เป็นการจัดสัมมนากัน ครั้งที่แล้วผมก็ไปร่วมกับเขา ก็มีการพูดกันกับผู้ที่รับผิดชอบงานสัมมนาว่า ถ้ามีการจัดสัมมนาก็พยายามชวนซึ่งกันและกันก็แล้วกัน เพราะเป็นการเติมความรู้ให้กับแต่ละข้าง
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : แล้วงานวิชาการด้านอื่นๆละครับอาจารย์
คุณชัยวัฒน์ฯ : ยังครับ ผมคิดว่าสำนักงานศาลปกครองก็ยังอยู่ในระยะตั้งตัวว่าจะทำอะไรบ้าง
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ปัญหาและอุปสรรคของอาจารย์ในตำแหน่งเลขาธิการในปัจจุบัน อาจารย์คิดว่ามีอะไรบ้างครับ
คุณชัยวัฒน์ฯ : มีปัญหาเยอะแยะเลย ปัญหาประการแรก คือ บุคลากรที่เรามีอยู่ที่มีคุณภาพดีจะทำอย่างไรจึงจะรักษาเขาไว้ได้ เพราะความต้องการทางด้านนี้ก็มีมาก ทางด้านศาลปกครองก็ดี หน่วยงานอิสระต่างๆก็ดีที่เปิดขึ้นใหม่ก็มีตำแหน่งมาก เพราะฉะนั้นบุคคลเหล่านี้ที่มีความสามารถ มีศักยภาพ เขาก็พร้อมที่จะไปได้เสมอ ก็ทำให้คนของเราน้อยลง คนใหม่ๆที่จะเข้ามาก็เหมือนกัน ผมเข้าใจว่าเป็นการพัฒนาที่ผิดพลาดที่ให้เงินเดือนตุลาการขึ้นไปสูงกว่าข้าราชการธรรมดาค่อนข้างเยอะเกินไป สิ่งนี้กลายเป็นแรงดูดมหาศาล ที่ทำให้นักกฎหมายจำนวนหนึ่งที่เดิมเคยลังเลว่าจะทำงานที่โน่นดีที่นี่ดี ก็จะตัดสินใจไปเป็นตุลาการ เพราะฉะนั้นก็จะทำให้บุคลากรที่เข้าสู่ระบบภาคบริหารจะมีน้อยลง คุณภาพของคนที่เข้ามาทำงานพวกนี้จะเริ่มมีปัญหา เพราะจะสร้างปัญหาให้มีคดีข้อพิพาทมากยิ่งขึ้นในระดับของศาลต่างๆ ศาลจะทำงานไม่ไหว
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ปัญหาอื่นมีอีกหรือไม่ครับ
คุณชัยวัฒน์ฯ : ปัญหาอื่นก็อ่อนไปหมด เพราะถ้าบุคลากรภาครัฐอ่อน ในการจัดทำร่างกฎหมายกระทรวง ทบวง กรม คุณภาพก็จะไม่ดีนัก พอทำได้ไม่ดี พอมาถึงเรา เราก็ต้องศึกษาใหม่แก้ใหม่ทั้งหมด งานก็ตกหนักมาที่เราอีก
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ปกติในการทำงานที่อาจารย์บอกว่าถ้าบุคลากรของรัฐคุณภาพไม่ดีพอแล้วมาตกหนักที่นี่ ผมอยากเรียนถามว่าเมื่อส่วนราชการส่งร่างกฎหมายมา เขาทราบหรือไม่ครับว่าร่างที่เขาส่งมามีปัญหา คือ ผมเข้าใจว่า ณ วันนี้ถ้าสมมติกระทรวง ก. ส่งมามีปัญหา แล้วเราไม่แจ้งเขาไป อีกวันกระทรวงเดิมก็ส่งร่างที่ทำแบบง่ายๆมาอีก
คุณชัยวัฒน์ฯ : ผมว่าเขาคงทำเต็มที่เขาแล้ว ผมว่าเขาคงไม่ได้ทำแบบสุกเอาเผากิน แต่เนื่องจากว่าคุณภาพของคนที่เหลืออยู่ที่ทำการยกร่างกฎหมาย อาจจะเป็นเด็กใหม่บ้าง พวกไม่มีประสบการณ์บ้าง หรือว่าอาจจะเป็นผู้ที่ไปไหนไม่ได้บ้าง เพราะคุณภาพไม่พร้อมจะไปไหน อย่างนี้เป็นต้น จึงทำให้งานที่ออกมามีช่องโหว่มาก
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ในชั้นยกร่างกฎหมายของกระทรวง ถ้าทางกระทรวงขอให้ทางกฤษฎีกาส่งคนไปร่วมตั้งแต่ต้นสามารถทำได้ใช่หรือไม่ครับ
คุณชัยวัฒน์ฯ : ทำได้
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : แล้วในทางปฏิบัติมีหรือไม่ครับที่ขอให้กฤษฎีกาส่งคนไปช่วยตั้งแต่ต้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเวลามาถึงที่นี่
คุณชัยวัฒน์ฯ : ส่วนมากเขาไม่คิดอย่างนั้น คือ เขาอาจจะไม่เข้าใจ เขาอาจจะคิดว่าการร่างกฎหมายเป็นเรื่องแบบ เขาก็มักจะนึกว่าเขาต้องการคนของเราไปช่วยให้เขาทำให้สิ่งที่เขาคิดมีหน้าตาเป็นกฎหมาย มีมาตรา มีคำนิยาม มีอะไรแบบนั้น ซึ่งจริงๆมันไม่ใช่ มันอยู่ที่สาระมากกว่า สิ่งที่ผมอยากจะทำในอนาคต คือ ทางกฤษฎีกากับหน่วยงานต้องร่วมมือกันในการจัดทำร่างกฎหมายแบบจริงๆจังๆ โดยมีบทบาทกันคนละครึ่ง หน่วยราชการต่างๆก็รับผิดชอบทางเทคนิคที่เขารู้ลึกซึ้ง จะเป็นแรงงาน จะเป็นสิ่งแวดล้อม อะไรก็ว่าไป เขาต้องรับผิดชอบตรงส่วนนั้นให้ดี รู้ให้ลึกจริงๆ ส่วนการจัดทำร่างกฎหมาย จะใช้มาตรการอย่างไร กลไกแบบไหน ใช้หลักกฎหมายอะไร ตรงนั้นกฤษฎีกาจะต้องไปช่วยรับผิดชอบ ร่วมมือกันทำทั้งสองข้างตั้งแต่ต้น ต้องมีบทบาทเท่าๆกัน ไม่ใช่ว่าเราเป็นเพียงหนึ่งในคณะทำงาน จากจำนวน 10 คน 20 คน ซึ่งคนของเราก็ไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรมากมายนัก หรือพูดไปเขาก็อาจจะไม่ให้บทบาทอะไรตรงนี้ ถ้าหากมีการรับผิดคนละครึ่งได้ คนของกฤษฎีกาก็จะมีส่วนช่วยกระทรวง ทบวง กรมได้เยอะ ทั้งในการจัดทำร่างตรงนั้นให้เหมาะสมจริงๆ คุณภาพก็จะได้ในระดับที่เราอยากให้เป็นในระดับเจ้าหน้าที่ ซึ่งตรงนั้นก็จะดีมาก จากนั้นมาคนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับของกฤษฎีกาก็คงจะต้องพร้อมที่จะเป็นคนชี้แจงร่างกฎหมายนั้นต่อสังคม ก็คือ ชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรี และส่งมาตรวจที่กฤษฎีกา คนของเราก็จะช่วยเขาชี้แจง ช่วยเขาทำตลอด แล้วเราก็จะเข้าใจปัญหานั้นตั้งแต่ต้นว่าจริงๆคืออะไร เราคงช่วยได้มาก คือร่างจะดีมาตั้งแต่ต้นแล้ว แม้กระทั่งเข้าสภาเราก็ควรจะช่วยเขาตลอดโดยการเป็นกรรมาธิการหรือชี้แจงในชั้นกรรมาธิการทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจนกระทั่งกลายเป็นกฎหมาย ซึ่งถ้าทำอย่างนี้ได้ คือ มีผู้เชี่ยวชาญอยู่จัดทำร่างกฎหมายตั้งแต่ต้น และช่วยชี้แจงร่างกฎหมายฉบับนั้น หรือว่าแก้ไขเปลี่ยนแปลงฉบับนั้นตามจุดบกพร่องที่เราเจอแต่ละขั้นตอนจนจบ ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ ผมว่ากฎหมายจะสมบูรณ์ขึ้นเยอะและเร็วกว่านี้เยอะ
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ควรจะเป็นคนๆเดียวตั้งแต่ต้นที่ทำหน้าที่ตามติดร่างกฎหมายใช่หรือไม่ครับ
คุณชัยวัฒน์ฯ : ใช่ครับ
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : อาจารย์มีความเห็นอย่างไรครับในการศึกษาวิจัยหรือศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบร่างกฎหมายต่างประเทศเพื่อนำมาเป็นแนวความคิดในการจัดทำร่างกฎหมายของไทย มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดครับ
คุณชัยวัฒน์ฯ : มีความจำเป็นมากที่สุด เพราะการจัดทำร่างกฎหมายนั้น เรากำลังคิดกติกาใหม่ ร่างกฎหมายทุกฉบับพูดได้ว่าเป็นนวัตกรรม เรากำลังคิดสิ่งใหม่เพื่อแก้ปัญหาที่เราพบ ซึ่งสิ่งที่เรานำแก้ปัญหาอาจจะมีหลายวิธีการ วิธีการไหนที่มีประสิทธิภาพที่สุด ประหยัดที่สุด ง่ายที่สุดในการใช้ อันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะฉะนั้นการที่เรามานั่งคิดใหม่ คิดไปเองคนเดียว ยากที่จะสำเร็จ คิดกัน 50 คนก็อาจจะดีขึ้น 100 คนก็คงจะดีมากขึ้น แต่จริงๆถ้าเราค้นกฎหมายต่างประเทศเราก็ได้แนวคิดของคนกลุ่มหนึ่ง สภาของประเทศนั้นอย่างน้อยก็ประกอบด้วยคน 300-400 คน คนจัดทำร่าง [EROR] วิธีอะไรบ้าง และนอกจากนั้นเราสามารถวัดผลได้ด้วย ถ้าเราตามไปศึกษาว่าประเทศนั้นเขามีกฎหมายอย่างนั้น พอเขาใช้ไปแล้วเป็นผลเป็นอย่างไร ดีขึ้นหรือไม่ มีปัญหาแทรกซ้อนอะไรบ้างหรือไม่ นี่เป็นตัวอย่างอย่างดีที่จะทำให้เรามาคิดได้ว่าระบบของเราจะเอาอย่างไร สามารถดึงส่วนดีๆส่วนอะไรขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นตัวนี้เป็นตัวทดสอบ ซึ่งเป็นทางเดียวในการร่างกฎหมายเพื่อทดสอบโดยผ่านกระบวนการวิชากฎหมายเปรียบเทียบ เพราะฉะนั้นเป็นความจำเป็นอย่างมากๆ แต่ปัญหาปัจจุบันก็คือ มีกี่คนที่สามารถทำการศึกษาบทกฎหมายเปรียบเทียบได้ เพื่อหาข้อยุติตรงนั้นออกมา งานของเจ้าหน้าที่ของกฤษฎีกาจึงมีความสำคัญมากในด้านนี้
|
STRONG>รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : อาจารย์คิดว่าการศึกษาเปรียบเทียบควรจะทำในชั้นกระทรวง ทบวง กรม ที่ยกร่างกฎหมายขึ้นมา หรือว่ามาทำที่กฤษฎีกาครับ
คุณชัยวัฒน์ฯ : จริงๆต้องทำตั้งแต่ต้น จะบอกว่าทำในชั้นกระทรวง ทบวง กรม ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะกระทรวง ทบวง กรม ก็คงไม่มีนักกฎหมายระดับสูงขนาดนั้น มีความรู้ขนาดนั้น ผมเลยบอกว่าทางกฤษฎีกาควรเข้าไปช่วยตั้งแต่ต้น แต่ถ้ามาทำที่กฤษฎีกาก็เหมือนที่เป็นอยู่ขณะนี้ก็คือ ทางกระทรวง ทบวง กรม ก็รู้เรื่องกฎหมายต่างประเทศนิดๆหน่อยๆ แต่อาจจะไม่ใช่นักกฎหมายจึงไม่เข้าใจเทคนิคทางกฎหมาย ก็ทำอะไรขึ้นมาแล้วนึกว่าตัวเองแก้ปัญหาได้แล้ว แต่พอมาถึงเรา เราจำเป็นต้องรื้อใหม่ ต้องทำการศึกษากฎหมายเปรียบเทียบใหม่เพื่อหาหลักกฎหมายว่าหลักกฎหมายจริงๆมันอยู่ที่ไหน ตรงนี้ทำอย่างไรให้เทคนิคและกฎหมายพบกันและช่วยเหลือกันตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นกระบวนการจัดทำร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฤษฎีกาต้องร่วมกันศึกษาตั้งแต่ต้น ว่าหลักการจะเอาอย่างไรจะได้จัดทำร่างกฎหมายขึ้น ร่างกฎหมายที่จัดทำขึ้นควรจะผ่านการให้ความเห็นอย่างกว้างขวางพอสมควรจากประชาชน ขึ้นอยู่กับความสำคัญ ขึ้นอยู่กับความเร่งด่วนของกฎหมายที่จะจัดทำ หลังจากนั้นแล้วถึงจะมาสรุปเข้าสู่คณะรัฐมนตรี เข้าสู่กฤษฎีกา แล้วไปสภานะครับ ถ้าเป็นอย่างนี้กฎหมายจะสมบูรณ์ค่อนข้างมาก การผ่านไปในคณะรัฐมนตรีก็ดี การผ่านไปในสภาก็ดี เป็นการผ่านไปสู่ผู้รับผิดชอบทางการเมืองให้ยอมรับเท่านั้นเอง แต่ในทางปฏิบัติต้องรับฟังความเห็นจากสังคม ทั้งนักการเมืองก็ดี ทั้งข้าราชการที่เกี่ยวข้องก็ดีจะมีส่วนช่วยไปออกความเห็นแล้วตั้งแต่ตอนชั้นนั้น เพราะฉะนั้นทุกคนจะร่วมกันทำกฎหมาย ไม่ใช่เหมือนปัจจุบัน ที่หากทางกระทรวง ทบวง กรม ต้องการกฎหมายขึ้นมาที่ในบางครั้งก็ถือว่าเป็นหน้าเป็นตาของคนเป็นคณะรัฐมนตรีก็ขอให้มีเร่งการพิจารณาเร็ว ขอให้มีการเสนอเร็ว แล้วก็การศึกษาแบบอย่างที่ว่าก็ไม่มี ผ่านไปในคณะรัฐมนตรีก็คงพิจารณาในหลักการกว้างๆ ดูหลักการก็น่าจะดี คณะรัฐมนตรีก็รับหลักการแล้วนำส่งกฤษฎีกา พอส่งกฤษฎีกาเราก็ต้องมานั่งศึกษานับหนึ่งใหม่ ทำกฎหมายเปรียบเทียบขึ้นมา คือบางฉบับเราไม่มีเวลาทำให้ เพราะบางฉบับรัฐบาลก็ขอด่วน ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่คิดได้ขณะนั้น แต่ถ้าบางฉบับที่รัฐบาลไม่ได้ขอด่วนเราก็มีเวลาศึกษากฎหมายเปรียบเทียบขึ้นมา ก็จะมีตัวชี้วัดมีตัวประเมินว่าสิ่งที่ทำดีหรือยังหรือควรแก้ไข และจะกลายเป็นการนับหนึ่งใหม่ทุกครั้งถ้าทำงานแบบนี้ บางทีเกิดความไม่เข้าใจระหว่างหน่วยงานกับกฤษฎีกาด้วยซ้ำ อยากจะช่วยกันทำก็กลายเป็นขัดแย้งกัน เห็นตรงข้ามกันเพราะความจริงไม่ได้ศึกษาให้มันสมบูรณ์มาตั้งแต่ต้น
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : อาจารย์เคยมีตัวอย่างหรือไม่ครับ เท่าที่ผ่านมามีหน่วยงานทำการศึกษามาอย่างดีมาแล้ว
คุณชัยวัฒน์ฯ : ไม่มีเลย
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : แล้วเรื่องการรับฟังความคิดของประชาชนที่อาจารย์บอกว่าควรจะมี
คุณชัยวัฒน์ฯ : แต่เดิมก็ไม่มี แต่ตอนหลังๆทางกฤษฎีกาก็มาเริ่มเปิดฟังความคิดเห็นของประชาชนอยู่ 2-3 ครั้ง ก็พยายามทำในกฎหมายที่ค่อนข้างมีปัญหา แต่อย่างไรก็ตามเราก็มีปัญหาในเรื่องสถานที่กับงบประมาณอยู่นิดหน่อย แต่ในปีงบประมาณใหม่รู้สึกว่ารัฐบาลจะให้งบประมาณในส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาหน่อยสำหรับการจัดทำประชาพิจารณ์ การรับฟังความคิดเห็นอะไรต่างๆ
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ที่ผ่านมาเคยทำร่างกฎหมายอะไรไปบ้างครับ ที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน
คุณชัยวัฒน์ฯ : ตัวอย่างเช่น กฎหมายกิจการกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ ขณะนี้กำลังเริ่มทำอยู่หลายๆเรื่อง
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ที่รับฟังความคิดเห็นประชาชนไปแล้ว อาจารย์คิดว่าที่ผ่านมามีคนที่มาให้ความเห็นได้ทำให้ร่างกฎหมายดีขึ้นหรือไม่ครับ หมายความว่าได้ประโยชน์จากการรับฟังความคิดเห็นหรือไม่ครับ คุณชัยวัฒน์ฯ : มีส่วนดีขึ้น เพราะหลายคนช่วยกันคิดดีกว่าคนเดียวคิด บางทีเปิดรับฟังความคิดเห็นเราเชิญคนที่เกี่ยวข้องกฎหมายมา คนจะใช้บังคับกฎหมาย คนที่จะถูกกฎหมายใช้บังคับ นักวิชาการทั่วไป บุคคลทั่วไปจำนวนหนึ่งที่ค่อนข้างจะสนใจว่าเป็นอย่างไร
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ที่ผ่านมาทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้นำความเห็นเหล่านั้นมาปรับแก้กฎหมายด้วยหรือไม่ครับ
คุณชัยวัฒน์ฯ : เอามาใช้ครับถ้าเป็นประโยชน์
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : งานวิชาการของอาจารย์ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ เพราะหลังๆตั้งแต่อาจารย์ออกหนังสือเรื่องธนกิจการเมือง แล้วยังไม่เห็นหนังสือของอาจารย์เลยครับ ไม่มีเวลาหรือครับ
คุณชัยวัฒน์ฯ : ใช่ เพราะงานราชการก็นั่งตรวจความเห็นในการตีความแต่ละครั้ง ร่างกฎหมายในแต่ละเรื่องก็เยอะทีเดียว อยากพยายามทำอยู่เหมือนกัน แต่งานรัดตัวเยอะมาก
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ตอนนี้อาจารย์ยังสอนอยู่หรือไม่ครับ
คุณชัยวัฒน์ฯ : สอนอยู่ที่เดียว ที่ธรรมศาสตร์
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : วิชาอะไรครับ
คุณชัยวัฒน์ฯ : วิชากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค จริงๆแล้วพูดกันตรงๆเวลาไปสอนหนังสือแทบจะไม่มี แต่บังเอิญธรรมศาสตร์อยู่ใกล้ๆก็เลยสอนให้วิชาหนึ่ง
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : คำถามสุดท้ายครับ นักกฎหมายมหาชนที่อาจารย์ชื่นชม ที่อาจารย์คิดว่าน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเด็กรุ่นๆหลังๆครับ
คุณชัยวัฒน์ฯ : ความจริงคนเก่าๆในกฤษฎีกาเองหลายคน เป็นคนที่อุทิศเวลาให้กับงาน อุทิศกำลังใจให้กับงาน ทีนี้บางคนทางสังคมอาจจะมองไม่เห็น หรือบางทีสังคมอาจจะเข้าใจไปในทางที่ไม่ถูกต้องก็มีเนื่องจากไม่รู้จักกันจริง ผมเองก็เข้าใจว่ามีอยู่หลายท่านนะ ท่านอาจารย์หยุด แสงอุทัย เป็นผู้ที่อุทิศให้แก่งานวิชาการมาก ท่านอาจารย์สมภพ โหตระกิตย์ ท่านก็เป็นผู้มีความรู้ดี ท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ ท่านก็เป็นคนสนใจจะพัฒนาด้านนี้อย่างจริงจัง ท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็เป็นคนซึ่งมีความรู้ทางด้านกฎหมายสูง บุคคลเหล่านี้ผมว่าล้วนเป็นคนที่ดีและน่าชื่นชมทั้งนั้นนะครับ
รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : อาจารย์มีอะไรอยากจะฝากไปถึงคนอ่านหรือไม่ครับ เพราะส่วนใหญ่คนที่เข้ามาใช้เว็บไซต์นี้จะเป็นนิสิต นักศึกษาสาขากฎหมายมหาชน
คุณชัยวัฒน์ฯ : อยู่ที่ว่าเราเรียนเพื่ออะไร แต่ผมว่าคนทุกคนมีส่วนสร้างสังคมทั้งนั้นไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง เราไปรับผิดชอบส่วนไหนด้านไหน ก็พยายามทำด้านนั้นให้ดีก็แล้วกัน ทำให้มันดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ คนเราเกิดมาชาติหนึ่งมันอยู่ที่ความดีที่เราทำไว้ การได้เงินได้ทองอะไรมาต่างๆก็เป็นของนอกกายทั้งนั้น ตราบใดเรามีรายได้พอให้เรามีความสุขในการดำรงชีวิตตามปกติได้ก็น่าจะเป็นการเพียงพอ พยายามทำดีเพื่อสังคมเข้าไว้มันน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ขอบคุณครับ
รศ.ดร.นันทวัฒน์ : ขอขอบคุณอาจารย์ที่ได้กรุณาสละเวลาให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ครับ
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|