ถอดเทปการอภิปราย เรื่อง นิติรัฐกับประชาสังคม(ฉบับเต็ม) |
 |
|
|
จัดโดย สถาบันนโยบายศึกษา และ www.pub-law.net
ร่วมกับ สมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทย
สนับสนุนโดย มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์
วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม 2546 ระหว่างเวลา 08.30-13.00 น.
ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรมสยามซิตี ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ |
|
|
|
|
|
|
|
 |
|
ศ.ดร.สุรพล ท่านผู้มีเกียรติครับ ผมนั่งนึกดูอยู่ว่าหัวข้อการอภิปรายและหัวข้อหนังสือของอาจารย์นันทวัฒน์ฯ เรื่องนิติรัฐกับประชาสังคม มันเป็นเรื่องไกลตัวไปหรือเปล่า พูดกันในประเทศไทย ใน พ.ศ. 2546 แล้วกลายเป็นกลับไปพูดเรื่องที่ล้าสมัยไปแล้วหรือเปล่า มันยังมีอยู่จริงหรือเปล่าผมยังไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ ถ้าอาจารย์นันทวัฒน์ฯ จะเปลี่ยนหัวข้อสักนิดหนึ่ง บอก นิติรัฐกับประชานิยม อาจจะพูดกันได้มากมายกว่านี้เยอะทีเดียว หรือประชานิยมกับประชาสังคม อาจจะได้เนื้อหาที่สนุกสนานมากขึ้นทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อท่านตั้งชื่ออย่างนี้ก็ขออนุญาตพูดในหัวข้อที่ท่านตั้งเอาไว้ว่า นิติรัฐกับประชาสังคม มันควรจะเป็นอย่างไร ข้อได้เปรียบของคนพูดสุดท้ายก็คงจะอยู่ตรงนี้ ที่เมื่อสักครู่ผมฟังท่านอาจารย์อมรฯ พูดเรื่องกรอบของโลกที่กำหนดนิติรัฐมาแล้ว ฟังอาจารย์บวรศักดิ์ฯ พูดถึงประวัติศาสตร์ของนิติรัฐในโลกตะวันตกมายาวพอสมควร มาฟังท่านอาจารย์โภคินฯ พูดถึงพัฒนาการของนิติรัฐในสังคมไทย ก็ครบถ้วน ความจริงก็ไม่ต้องพูดอะไรอีกแล้ว แต่ถ้าเผื่อจะให้พูดในหัวข้อที่กำหนดมานี้ เรื่องนิติรัฐ บ้าง ผมอาจจะเรียนสรุปได้สักสามข้อเท่านั้นว่า เวลาเราพูดถึงนิติรัฐภายใต้สิ่งที่ทั้งสามท่านได้พูดมาทั้งหมด มันมีความหมายสำคัญอยู่สามประการเท่านั้นสำหรับสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นนิติรัฐ หรือ legal state
ประการที่หนึ่ง รัฐไหนก็ตามที่เราจะเรียกว่าเป็นนิติรัฐหรือเป็นรัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย หรือเป็น legal state นั้น ประการที่หนึ่ง ก็คือ รัฐนั้นจะต้องมีหลักเกณฑ์ในเรื่องการรับรอง คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร และผ่านกระบวนการที่ชอบ นี่ดูเป็นเรื่องที่ตรงกันหมดไม่ว่าอธิบายจากทฤษฎีของฝรั่งเศส ของเยอรมัน หรือของอังกฤษ เขาก็บอกว่าจะเป็นรัฐที่ปกครองโดยกฎหมายใน concept ของบางประเทศหรือเป็นนิติรัฐใน concept ของอีกประเทศหนึ่ง จะต้องเป็นประเทศที่มีหลักการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร
องค์ประกอบประการที่สอง รัฐไหนจะเป็นนิติรัฐได้นั้น ต้องมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และมีหลักการว่าด้วยลำดับชั้นของกฎหมาย ซึ่งก็หมายความต่อไปว่า ก็จำเป็นต้องมีกระบวนการควบคุมไม่ให้กฎหมายขัดรัฐธรรมนูญอยู่ในรัฐนั้นๆ ด้วย คือบนยอดสุดของกฎหมายต้องมีรัฐธรรมนูญซึ่งมีสถานะสูงกว่า แล้วก็มีระบบการควบคุมไม่ให้กฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าไปขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ระบบควบคุมที่ว่านี้ก็เป็นที่มาของการจัดตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ หรือศาลรัฐธรรมนูญ ขึ้นในประเทศต่างๆ นั่นเอง
องค์ประกอบประการที่สาม ประการสุดท้ายของนิติรัฐ ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ก็คือ ในนิติรัฐนั้น จำเป็นจะต้องมีระบบองค์กรวินิจฉัยชี้ขาดที่จะคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่เป็นอิสระ องค์กรวินิจฉัยชี้ขาดที่ว่านี้ ก็คือ องค์กรศาล ที่จะต้องมีความเป็นอิสระ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอย่างเต็มที่ ไม่ต้องเกรงใจ ไม่ต้องเป็นห่วงกังวลสถานะ ตำแหน่งหน้าที่อะไรต่างๆ ของตัวเอง เป็นอิสระปลอดจากการแทรกแซงของฝ่ายบริหาร
ที่จริงองค์ประกอบสามประการนี้ก็เป็นองค์ประกอบ classic ของ concept นิติรัฐที่เราพูดกันมาตลอด แล้วก็เรียน-สอนกันในมหาวิทยาลัย ไม่ค่อยต่างไปจากกรอบสามประการนี้เท่าไหร่หรอก ถ้าดูสังคมไทยใน 2540 เป็นต้นมา ท่านจะพบว่ารัฐธรรมนูญไทยที่ตราขึ้นในปีนั้น รับรองแนวคิดสามประการนี้ชัดเจน บทบัญญัติในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนใน รัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญ 2540 ก้าวหน้าไปไกลกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา มีการคิดประดิษฐ์สิทธิเสรีภาพใหม่ๆ ที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครอง มีการวางกลไกในเรื่องการดูแลคุ้มครองสิทธิเหล่านี้เอาไว้จากอำนาจรัฐอย่างชัดเจน ทั้งเงื่อนไข ทั้งระยะเวลา ทั้งองค์กรต่างๆ มีกรอบตรงนี้ชัดมาก ไปดูหลักในเรื่องความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ท่านก็จะเห็นร่องรอยอันนี้ปรากฏชัดเจนอยู่ในตัวรัฐธรรมนูญแทบไม่ต้องอธิบายว่ากฎหมายอื่นจะขัดรัฐธรรมนูญไม่ได้ แล้วก็ได้สร้างองค์กรวินิจฉัยชี้ขาดเอาไว้ในรูปของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นนวัตกรรมใหม่ของรัฐธรรมนูญ 2540
ไปดูหลักในเรื่องมีองค์กรศาลที่เป็นอิสระในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่อาจจะถูกละเมิดโดยรัฐ หรือองค์กรตัดสินข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในสังคมที่รัฐจะเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงไม่ได้ เราก็เห็นหลักการรับรองความเป็นอิสระของศาล เราเห็นการแยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรม เราเห็นการจัดตั้งศาลปกครอง เราเห็นการรับรองความเป็นอิสระของตุลาการ ทั้งหมดนี้เกือบจะกล่าวได้ว่ามีอยู่ครบถ้วนในรัฐธรรมนูญ 2540 เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญ 2540 นั้น สถาปนาแนวคิดในเรื่องนิติรัฐขึ้นอย่างชัดเจน สมบูรณ์ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ผมใช้คำว่าเป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านั้นกลไกหลายกลไก หรือหลักการหลายหลักการยังไม่ได้ปรากฏผลจริงจังขึ้น อย่างน้อยที่สุดกระบวนการควบคุมไม่ให้กฎหมายขัด รัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้มีลักษณะองค์กร ตลอดจนอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจนก่อนหน้านั้น แต่ในเวลาเดียวกันถ้าจะลากให้เข้าหัวข้อเรื่องของอาจารย์นันทวัฒน์ฯ รัฐธรรมนูญ 2540 ก็สถาปนาอะไรบางอย่างที่เราเรียกกันในภาษาปัจจุบันว่า ประชาสังคม ขึ้นไว้ด้วยเหมือนกัน ไม่ได้วางกลไกทางกฎหมายเอาไว้ในตัวรัฐธรรมนูญอย่างเดียว แต่รัฐธรรมนูญ 2540 รับรองสิทธิการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชน ของสังคม ของครอบครัว ขององค์กรเอกชนทุกระดับในการตัดสินใจ มี บทบาทในการใช้อำนาจรัฐด้วย อาจจะเป็นเพราะว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีความเห็นว่า กฎหมายหรือกติกาที่บอกว่าคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น มันอาจจะถูกบิดเบือนโดยองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐ หรือองค์กรที่ได้รับเลือกตั้ง หรือรัฐบาล ได้ทุกเมื่อ เพราะฉะนั้นเพื่อจะคานตรงนี้ก็จึงได้สร้างหลักเกณฑ์ของการมีส่วนร่วมในระดับต่างๆ ขึ้นมา เพื่อจะทำหน้าที่ตรวจสอบ เพื่อจะให้มีองค์กรอื่นนอกจากองค์กรรัฐที่มีปากมีเสียง เสนอแนะ หรือควบคุม หรือตรวจสอบ แนวทางการดำเนินการของรัฐนอกเหนือไปจากองค์กรในระบบปกติด้วย เพราะฉะนั้นถ้าถามผมภายใต้กรอบของหัวข้อการอภิปรายคราวนี้ ผมเรียนว่า รัฐธรรมนูญ 2540 นั้น ไม่ได้สร้างแต่เพียงนิติรัฐขึ้นเท่านั้น แต่ได้สถาปนาแนวคิดในเรื่องประชาสังคมชัดเจนเป็นครั้งแรก บทบัญญัติของ รัฐธรรมนูญหลายมาตรา มาตรา 45 46 และมาตราอื่นๆ นั้น เขียนสิทธิของชุมชน เขียนสิทธิในการรวมตัว เขียนสิทธิในการที่จะเข้าถึงอะไรต่างๆ เอาไว้ชัด รวมตลอดไปถึงส่วนที่เขียนอยู่ในบทมาตราอื่นๆ ในเรื่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ในเรื่องการตรวจสอบการทำงานของรัฐ ของประชาชนทั้งหลายด้วย เพราะฉะนั้นถ้าพูดกันไป รัฐธรรมนูญ 2540 จึงรับรองทั้งแนวคิดในเรื่องนิติรัฐ รับรองทั้งแนวคิดในเรื่องประชาสังคม ไม่ใช่เฉพาะการเขียนบทบัญญัติรับรองสิทธิเท่านั้น องค์กรต่างๆ ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 ก็รับรองแนวคิดประชาสังคม องค์กรที่เป็นทางการทั้งสิ้น สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการกระจายอำนาจ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบนกระแสความคิดอีกด้านหนึ่ง ก็คือ ปล่อยให้กลไกทางกฎหมายมันทำงานของมันไปโดยเฉพาะอย่างเดียวไม่ได้ สังคมที่กว้างขวาง หลากหลายขึ้น ต้องการการมีส่วนร่วม ต้องการความคิดเห็นที่อาจจะมาจากด้านอื่นๆ ด้วย แล้วกลไกทั้งสองด้านนี้ รัฐธรรมนูญ 2540 เขียนเอาไว้ชัดเจน
ประเด็นต่อไปที่ผมอยากจะนำเสนอหลังจากที่บอกว่า รัฐธรรมนูญ 2540 เขียนเรื่องเหล่านี้เอาไว้ชัดทั้งนิติรัฐ ทั้งประชาสังคม ก็คือ ความมุ่งหมายของมันคืออะไร เราสถาปนาหลักนิติรัฐ หรือเราไปสร้างกลไกเรื่องประชาสังคมขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์อะไร ถ้าอธิบายโดยอาศัยความคิดรวบยอด ผมเรียนได้ว่าจุดมุ่งหมายสุดท้ายของรัฐ ก็คือ ประโยชน์สุขของคนทุกคนในรัฐ ประโยชน์สุขของประชาชนทั้งหลาย นั่นคือจุดมุ่งหมายสุดท้ายของนิติรัฐ ทำให้สังคมไทยรุ่งเรือง ทำให้คนไทยมีความสุข ทำให้ชีวิตของคนไทยดีขึ้น นั่นคือจุดมุ่งหมายของการจัดระบบอย่างนี้ แต่การจัดระบบอย่างนี้ในสังคมที่กว้างขวาง ในสังคมที่มีคนมากขึ้น ในสังคมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น มันไม่มีทางอื่นที่จะทำได้นอกจากการวางกลไกโดยอาศัยกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย คือการสถาปนาระบบกฎหมายรองรับการบริหารจัดการต่างๆ เพื่อให้ไปถึงประโยชน์สุขของประชาชนให้ได้อย่างแท้จริง ยิ่งสังคมซับซ้อนขึ้นก็ต้องมีเจ้าหน้าที่ของรัฐมากขึ้น มีกลไกต่างๆ มากขึ้น แล้วกลไกเหล่านี้ก็เป็นกลไกที่สร้างขึ้นโดยกฎหมายทั้งสิ้น แต่ในทางกลับกัน ยิ่งกลไกที่มันซับซ้อนขึ้น ยิ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐมีมากขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีคนมากขึ้นนั้น มันก็ยิ่งทำให้จุดมุ่งหมายค่อยๆ เลือนไปทีละน้อยเพราะกลไกต่างๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่างๆ กฎหมายฉบับต่างๆ ที่สร้างขึ้นนั้นมันมีวัตถุประสงค์เพื่อจะทำให้เกิดประโยชน์สุขของประชาชน แต่ยิ่งเรามีกฎหมาย มีเจ้าหน้าที่มากขึ้น กฎหมายมันยิ่งค่อยๆ พัฒนาตัวมันไปทีละน้อย โดยไม่มีใครต้องการให้มันเป็น แต่มันเป็นไปโดยความจำเป็นของเรื่องที่ทำให้กฎหมายมันกลายเป็นเรื่องเทคนิคมากขึ้น มันกลายเป็นเทคนิคไปหมดว่า ทำไมต้องมีเจ้าหน้าที่ประเภทนั้น ทำไมต้องมีคนทำอย่างนี้ ทำไมกฎหมายจึงกำหนดกฎเกณฑ์อย่างนี้ มันค่อยๆ ดึงให้กลไกของการปฏิบัติตามกฎหมายนั้นไปห่างไกล หรือค่อยๆ ถอยออกมาจากประโยชน์สุขของประชาชนมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งบางครั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐบางประเภท หน่วยงานของรัฐบางหน่วยงานอาจจะมองไม่เห็นด้วยซ้ำว่าตัวกำลังทำอะไรเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนจริงหรือไม่ นี่เป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นในทุกๆ สังคม เพราะเมื่อสังคมกว้างขวางขึ้น มีคนมากขึ้น มี ภารกิจของรัฐซับซ้อนขึ้น กลไกหรือกระบวนการทางกฎหมายก็จำเป็นที่จะต้องมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมันกลายเป็นเทคนิคโดยเฉพาะ เมื่อกฎหมายมันค่อยๆ กลายเป็นเทคนิค แนวคิดสมัยใหม่ซึ่งอาจจะเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้จึงมีความคิดว่า ถ้ากฎหมายเป็นเรื่องเทคนิคมากขึ้น กฎหมายเป็นเรื่องที่จะต้องมีคนรับผิดชอบโดยตรง กฎหมายไม่อาจจะตอบคำถามในเรื่องประโยชน์สุขของประชาชนได้โดยตรง แต่ต้องไปถามรัฐมนตรีที่รับผิดชอบก่อน ต้องให้ปลัดกระทรวงรายงานก่อน หรือเรื่องนี้ยังไม่ได้รับรายงาน เพราะมีขั้นตอนในทางเทคนิคเยอะเหลือเกิน มันก็ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย แล้วสังคม คนจำนวนมากในสังคมก็เริ่มปฏิเสธกฎหมาย เริ่มมีความรู้สึกว่ากลไกสำคัญที่สุดของนิติรัฐ ก็คือ เทคนิคทางกฎหมายนั้นมันไม่สามารถตอบสนองวัตถุประสงค์โดยตรงของการมีกฎหมาย ก็คือ ประโยชน์สุขของประชาชนได้ เพราะฉะนั้นแนวคิดในเรื่องประชาสังคมมันจึงเกิดขึ้นเพื่อจะแก้ไขปัญหา หรือเพื่อจะแก้จุดอ่อนที่มันเกิดขึ้นตรงนี้ว่าต้องเอาประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม เข้ามาตรวจสอบ เข้ามาทำให้มันมีปากมีเสียงของคนอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้กลไกของกฎหมาย หรือองค์กร หรือเทคนิคทางกฎหมายถูกตรวจสอบโดยภาคอีกภาคหนึ่งซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะ และไม่ใช่กลไกที่ไปหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างที่เราคุ้นเคยกันในระบบนิติรัฐปกติ เพราะผู้มีอำนาจรัฐจะต้องมาจากประชาชน เพราะฉะนั้นแนวคิดในเรื่องประชาสังคมมันสร้างขึ้นมาเพื่อมาแก้ปัญหา แก้จุดอ่อนของนิติรัฐตรงนี้ ก็คือต้องการให้เสียงสะท้อนของคนข้างล่าง คนที่มีส่วนร่วม คนที่ได้เสีย ได้ยินไปถึงกลไกในการตรากฎหมาย กลไกในการบังคับใช้ หรือการบริหารจัดการรัฐด้วย แต่ประเด็นที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นตั้งแต่ในชั้นนี้ก็คือ กระบวนการที่ผมเรียกว่า กระบวนการประชาสังคมที่ว่าถึงการมีส่วนร่วม บทบาทขององค์กรต่างๆ นั้นมันจะต้องเป็นการบริหารจัดการภายใต้บริบททางกฎหมาย ก็คือ ต้องมีการแก้ไขปรับเปลี่ยนกฎหมาย เปิดโอกาสให้มีองค์กรต่างๆ เข้าถึงได้ กำหนดรับรองสิทธิหน้าที่ขององค์กรชุมชน ขององค์กรเอกชนไว้ในกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องเปลี่ยนแปลงไปจากกรอบของกฎหมาย แล้วรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ทำหน้าที่นี้ ก็คือเปิดช่องเอาไว้บอกว่า ภาคประชาสังคมคมก็เข้ามามีส่วนได้ บอกว่าองค์กรเอกชน บอกว่าชุมชนก็มีสิทธิโดยกระบวนการผ่านสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม ด้วยกระบวนการที่บอกว่าเขามีสิทธิเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจสำคัญที่กระทบกับชีวิตของเขา ด้วยกระบวนการที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิที่เกี่ยวกับท้องถิ่นเอาไว้สำหรับชุมชนท้องถิ่น เรื่องเหล่านี้เป็นไปโดยกฎหมายทั้งสิ้น คำถามสุดท้ายที่ว่าทั้งสองเรื่องนี้มันสัมพันธ์กันอย่างไรระหว่างนิติรัฐกับประชาสังคม แล้วก็เอากฎหมายมาเป็นเครื่องมือในกระบวนการจัดการต่างๆ ผมอยากจะเรียนท่านทั้งหลายว่า ประโยชน์สุขของสังคม ประโยชน์สุขของประชาชนนั้นโดยหลักคือจุดมุ่งหมายของกฎหมายอยู่แล้ว แต่มันมีนิติรัฐและกระบวนการทางกฎหมาย ตลอดจนกระบวนการทางประชาสังคมทั้งหลายเป็นเครื่องมือ หรือเป็นวิธีการ ถ้าจะพูดให้ชัดก็คือ ประโยชน์สุขของประชาชนเป็นจุด มุ่งหมาย แต่กฎหมายและกลไกทางกฎหมายเป็นกระบวนการ เราไม่อาจละเลยกระบวนการหรือวิธีการแล้วก็ไปสู่จุดมุ่งหมายได้
ที่จริงผมกำลังจะเข้าเรื่องที่ผมเรียนไว้ตอนต้นว่าจะต้องเปลี่ยนหัวข้อสักเล็กน้อย ถ้าไม่เปลี่ยนผมเปลี่ยนของผมเองก็ได้ว่า ถ้าหากว่าเราหยิบกรณีของประชาสังคมเปลี่ยนให้เป็นประชานิยม เวลาที่เราพูดว่าประชานิยม มันหมายถึง การพยายามทำให้เกิดประโยชน์กับคนจำนวนมาก ถ้าเราไปที่จุดนั้นเลยโดยบอกว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือที่อาจจะไม่ค่อยมีความสำคัญนัก แต่การทำให้ประชาชนส่วนมากได้รับประโยชน์หรือได้รับความสุขคือจุดมุ่งหมายสุดท้ายของการมีรัฐ อะไรจะเกิดขึ้นกับสังคม ผมคิดว่าเราคุ้นเคยกับคำว่าประชานิยมที่เกิดขึ้น 2-3 ปีมานี้ ถ้าพูดถึงเป้าหมายของมันโดยเฉพาะคงไม่มีใครปฏิเสธเพราะมันเป็นการทำให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด ทำให้คนพอใจ ทำให้คนมีความสุข ทำให้คนมีหลักประกันความมั่นคงในชีวิตโดยตรง แต่คำถามก็คือ มันละเลยกลไกหรือกระบวนการทางกฎหมายหรือเปล่า ในระยะสั้นแน่นอนทุกคนมีความสุขกับการที่ได้รับอะไรบางอย่าง หรืออะไรหลายๆ อย่างจากรัฐ ทุกคนมีความรู้สึกว่ารัฐที่ดีต้องทำอย่างนั้น ก็คือ รัฐที่ดีจะต้องตอบสนองประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ให้มากที่สุด แต่ในระยะยาวคำถามมันมีอยู่ว่า มันเป็นประโยชน์ต่อรัฐโดยรวมจริงหรือไม่ รัฐมีความเป็นอยู่ของมันเป็นเอกเทศจากผู้ปกครองรัฐ รัฐทุกรัฐมีประวัติ วิวัฒนาการ และความเป็นมาของมันมานาน รัฐไทยมีอายุหลายร้อยปีถ้าไม่พูดว่าหลายพันปี เมื่อวานมีรัฐไทย วันนี้ ก็มี พรุ่งนี้และอีกร้อยปีข้างหน้าเราก็จะมีรัฐของเรา คำถามมีอยู่ว่า เราจะมีรัฐที่ตอบสนองประโยชน์ของประชาชนจำนวนมากโดยไม่ยึดมั่นกับหลักเกณฑ์เรื่องการปกครองโดยกฎหมายหรือการปกครองโดยนิติรัฐได้หรือไม่ เราจะก้าวข้ามไปที่ประโยชน์สุขของประชาชนจำนวนมากโดยไม่ผ่านกระบวนการทางกฎหมายได้หรือไม่ คำถามที่ผมคิดว่าอาจจะต้องถามกันในแวดวงของนักกฎหมายหรือผู้ที่สนใจความเป็นมาของกฎหมาย ความเป็นมาของสังคม ของบ้านเมือง ก็คือว่า เวลาที่เราพูดว่า ประโยชน์ของประชาชนเป็นกฎหมายสูงสุด และมาตรการหรือกระบวนการต่างๆ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนจำนวนมาก คำถามมีอยู่ว่า มันเป็นประโยชน์ของประชาชนจำนวนมากจริงหรือไม่ และมันมีประโยชน์ของผู้กำหนดนโยบายปนอยู่ด้วยในประโยชน์ของประชาชนจำนวนมาก มันมีประโยชน์ของคนที่ชี้ว่าเป็นประโยชน์ของประชาชนจำนวนมากแล้ว แต่มันมีประโยชน์ของคนที่ชี้อย่างนั้นรวมอยู่ด้วยหรือไม่ ในเวลาใดก็ตามที่เราเอาจุดมุ่งหมายเป็นตัวตั้ง อย่างที่ฝรั่งบอกว่า เอา end justify means เอาจุดมุ่งหมายเป็นตัวกำหนดวิธีการ เอาจุดมุ่งหมายมาก่อนวิธีการ คำถามมีว่า จุดมุ่งหมายที่ว่านั้นเป็นจุดมุ่งหมายที่แท้จริงหรือไม่ มันเป็นประโยชน์สุขของประชาชนทั้งหมดตลอดไปหรือไม่ และมีประโยชน์ได้เสียของผู้กำหนดนโยบายรวมอยู่ด้วยหรือไม่ ผมคิดว่าคำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่น่าสนใจที่จะต้องหาคำตอบ หลายเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วงสองปีที่ผ่านมา เป็นโจทย์ที่ท้าทายกับการหาคำตอบเหล่านี้ทั้งสิ้น มาตรการในการปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลเป็นมาตรการที่ทุกคนรู้ว่าเป็นมาตรการที่จะเป็นประโยชน์กับสังคม มีจุดมุ่งหมายระยะยาวที่ความมั่นคงของสังคมไทย แต่วิธีการในการดำเนินการที่ทุกคนก็รู้ว่ามีคนตายจากมาตรการนี้หลายพันคน มีการวิสามัญฆาตกรรม มีคนที่เกี่ยวข้อง มีครอบครัวจำนวนมากที่เสียคนในครอบครัวไป ถามว่ามาตรการอย่างนี้ในระยะยาวมันจะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่สงบสุข ปลอดจากยาเสพติด ไม่มีผู้มีอิทธิพล หรือว่าสุดท้ายมันกำลังจะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความกลัว กลัวผู้มีอำนาจรัฐ กลัวผู้ถืออาวุธ แล้วสังคมไทยจะสงบสุขจริงหรือไม่ ผมคิดว่านั่นเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบค่อนข้างมาก แล้วต้องการการช่วยกันคิดค่อนข้างมากทีเดียว
พระราชกำหนดภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคมที่รัฐบาลออกมานั้น เป็นนโยบายที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนจำนวนมาก อาจจะใช่ แต่มีประโยชน์สุขของผู้เกี่ยวข้องรวมอยู่ด้วยหรือไม่ ผมคิดว่าสังคมไทยมีคำตอบกับปัญหานี้อยู่บ้างแม้ไม่ค่อยมีใครอยากตอบก็ตาม มาตรการในการจัดการกับปัญหาที่ดิน สปก.4-01 ที่เป็นข่าวอยู่ในปัจจุบันนี้ที่ภูเก็ต ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่คนสนับสนุนว่าไม่มีใครมีอภิสิทธิ์อยู่เหนือกฎหมาย จะเป็นพรรคพวก จะเป็นญาติ จะเป็นใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจทางการเมืองในอดีตหรือปัจจุบันก็ตาม ก็จำเป็นจะต้องถูกสะสางแล้วเอาตัวคนที่กระทำความผิดหรือฉ้อฉลที่ดินของรัฐมาลงโทษ คำถามมีอยู่ว่าการฉ้อฉลที่ธรณีสงฆ์ที่สนามกอล์ฟ อัลไพน์ นั้นหายไปที่ไหน ผมยังไม่พบนักกฎหมายคนไหนในสังคมไทยที่บอกว่า กรณีที่ดินอัลไพน์นั้น เป็นเรื่องชอบด้วยกฎหมาย แต่ทำไมสองกรณีนี้จึงแตกต่างกัน มันมีประโยชน์ได้เสียของผู้กำหนดนโยบายรวมอยู่ด้วยหรือไม่ สังคมไทยต้องการคำถามทำนองนี้ แล้วก็ต้องการคำตอบอยู่มากทีเดียว พระราชบัญญัติปฏิรูประบบราชการสองฉบับในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีคนตั้งคำถามในประเด็นความชอบโดยรัฐธรรมนูญของกฎหมายซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ประการสำคัญที่สุดที่ผมเรียนว่าอยู่ในหัวใจของนิติรัฐ ก็คือ ระบบการควบคุมไม่ให้กฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ องค์กรวินิจฉัยชี้ขาดกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญจำเป็นจะต้องมีในทุกนิติรัฐ แล้วรัฐธรรมนูญก็ต้องมีกลไกป้องกันตัวเองในทำนองนี้เอาไว้ ถ้าประเทศเป็นประเทศที่ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญมีกฎหมายสูงสุด รัฐจงใจไม่ปฏิบัติตามมาตรา 262 ไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ผมใช้คำว่ารัฐ ไม่ใช่ประธานสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น แต่ว่ารัฐจงใจให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีโอกาสวินิจฉัย ด้วยการไม่เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญทั้งๆ ที่กลไกจะต้องเสนอ ผมไม่ได้ติดใจว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็ได้ แต่ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย รัฐจงใจไม่ส่งร่าง พระราชบัญญัติสองฉบับนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญโดยความร่วมมือของคนหลายฝ่าย ผมถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ใช่ในเชิงสาระของมันว่าขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่มันสะท้อนกลไกของการปฏิเสธหัวใจสำคัญของนิติรัฐในเรื่องการมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด กฎหมายอื่นละเมิดรัฐธรรมนูญไม่ได้ ผมถือว่าเป็นการฉ้อฉลรัฐ ถ้าพูดเป็นภาษาฝรั่งเศส อาจจะบอกว่านี่คือ coup d'état นี่คือการกระทบกระแทกรัฐอย่างสำคัญประการหนึ่ง มันทำให้สาระสำคัญของการเป็นนิติรัฐอยู่ไม่ได้ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วก็น่าตั้งคำถาม น่าหาคำตอบว่า วันนี้ รัฐธรรมนูญ 2540 สถาปนาระบบนิติรัฐ วางหลักเกณฑ์ในเรื่องประชาสังคมเอาไว้ แล้วก็มีกระบวนการเลือกตั้ง มีการจัดตั้งรัฐบาล มีการดำเนินการในเชิงนโยบายต่างๆ เราเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลปัจจุบันพยายามทำอะไรหลายอย่างที่มุ่งไปที่ประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นหลัก แล้วกลไกการดำเนินการหลายเรื่องที่ผ่านมาผมคิดว่าเอาจุดมุ่งหมายเป็นตัวตั้งชัดเจน ปฏิเสธกลไกในทางกฎหมายโดยชัดเจนหรือโดยปริยายก็ตาม สถานการณ์ที่ว่านี้มันควรจะต้องตั้งคำถามกันในหมู่ของนักกฎหมายและผู้สนใจปัญหาบ้านเมืองว่า แม้รัฐธรรมนูญ 2540 จะยังคงเขียนอย่างนี้อยู่ แต่ว่าบนพื้นฐานความเป็นจริงสังคมไทยยังเป็นนิติรัฐอยู่อีกหรือ เรายังคงยึดถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายจริงหรือ นี่เป็นคำถามที่ผมอยากจะฝากท่านทั้งหลายช่วยคิดว่าเรายังคงเป็นนิติรัฐกันอยู่หรือ แล้วถ้าสมมติว่าเราไม่เป็นนิติรัฐแล้วประโยชน์สุขของประชาชนจะมีอยู่ได้หรือ ถ้าไม่มีโดยกระบวนการหรือกลไกที่มีหลักประกันว่ามันเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีประโยชน์ได้เสียส่วนตัวเกี่ยวข้อง หลักการหรูๆ ที่เราพูดกันมานี้เป็นหลักการที่อยู่ในกฎหมายทั้งสิ้น อยู่ในรัฐธรรมนูญทั้งนั้น หลักความเสมอภาค หลักการไม่เลือกปฏิบัติ หลักการไม่มีประโยชน์ได้เสียส่วนตัว เป็นหลักการที่ได้รับการรับประกันโดยกฎหมายทั้งสิ้น ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามเราก้าวข้ามตรงนี้ไปเสีย แล้วบอกว่าประโยชน์ของประชาชนเป็นกฎหมายสูงสุด คำถามก็มีอยู่ว่า ใครเป็นคนชี้ว่าอันนั้น หรืออันนี้เป็นประโยชน์ของประชาชนจริงๆ ถ้าเราไม่มีนิติรัฐเสียแล้ว ประโยชน์สุขของประชาชนก็เป็นเพียงเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองเท่านั้น เพราะมันไม่มีหลักประกันอะไรที่จะบอกว่าการดำเนินการนั้นๆ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ถ้าไม่มีนิติรัฐแล้วก็ไม่มีประชาสังคมแล้ว อีก 6 ปีข้างหน้า ถ้าไม่มีประชานิยมด้วย สังคมไทยจะอยู่อย่างไร สังคมไทยซึ่งเคยมีประวัติศาสตร์วิวัฒนาการมายาว นานกว่าเราจะสร้างระบบการปกครองขึ้นมาโดยกฎหมายขึ้นมาได้นั้น อีก 6 ปี หรืออีก 16 ปีข้างหน้า ถ้าไม่มีนิติรัฐ ไม่มีประชาสังคม และไม่มีประชานิยม สังคมไทยจะดำรงอยู่ต่อไป อย่างไร นั่นเป็นประเด็นที่ผมอยากจะฝากท่านทั้งหลายช่วยกันคิด
|
|
 |
|
|
|
|
|
|
|
|