รศ.ดร.นันทวัฒน์ ท่านอาจารย์บวรศักดิ์ฯ ก็พูดให้เราฟังถึงเรื่องนิติรัฐกับประชาสังคม โดยท่านแยกพูดถึงเรื่องนิติรัฐว่า เป็นนิติรัฐยุคดั้งเดิมที่เน้นเรื่องการใช้อำนาจของรัฐ และเน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยในยุคดั้งเดิมก็มีการสร้างระบบตรวจสอบในระบบเดิมขึ้นมา ก็คือ ตรวจสอบโดยระบบศาล ในขณะที่ประชาสังคมนั้น อาจารย์บวรศักดิ์ฯ ท่านชี้ให้เห็นว่าเป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมในระยะเวลาไม่นานมานี้เอง และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเราก็ได้เน้นบทบาทประชาสังคมมากขึ้นโดยมีบทบัญญัติในหลายๆมาตราที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม อาจารย์บวรศักดิ์ ฯ ก็ได้เน้นในตอนท้ายว่า แม้ประชาชนจะมีอำนาจหรือมีส่วนเข้ามาปกครองประเทศได้ในด้านวิธีการให้ความเห็น หรือแสดงความเห็นต่างๆ แต่ก็คงไม่สามารถที่จะปล่อยให้การดำเนินการของภาคประชาชนเกินขอบเขตไปเพราะอาจจะต้องถูกตรวจสอบได้ โดยอาจารย์บวรศักดิ์ฯ ก็ได้พูดถึงเรื่องระบบธรรมาภิบาลที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานของภาคประชาชนด้วย
วิทยากรท่านต่อไปที่จะเรียนเชิญพูด คือ ท่านอาจารย์โภคิน ฯ ครับ ขอเรียนเชิญครับ
รศ.ดร.โภคิน ขอสวัสดีท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ทั้งสองท่านก็ได้กล่าวไปในสิ่งที่เป็นประโยชน์และทำให้ผมได้ความคิดขึ้นมาอีกบางประการ ก็เลยอยากเรียนเสนอเป็น 3 หัวข้อใหญ่ๆ หัวข้อแรก ก็คือ ความหมายของคำว่า นิติรัฐกับประชาสังคม ก็คงผ่านไปเร็วๆ หัวข้อที่สอง ก็คือ นิติรัฐในกรอบของโลกและของรัฐต่างๆ หัวข้อที่สาม ก็คือ สิ่งที่จะวางหลักประกันในดุลยภาพระหว่างอำนาจกับเสรีภาพและยุคศตวรรษที่ 21นี้ก็คือการมีส่วนร่วมทั้งในระดับของรัฐต่างๆ ในเวทีโลก และของประชาชนในเวทีของรัฐ และประการสุดท้ายที่ท่านอาจารย์บวรศักดิ์ ฯ ได้พูดถึง ก็คือว่า การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและค่าใช้จ่าย
ในเรื่องแรกนั้น ความหมายของคำว่านิติรัฐก็ดี ประชาสังคมก็ดี นิติรัฐผมคงไม่ต้องไปพูดมากนักเพราะหลายท่านได้พูดมาแล้ว โดยสรุปก็คือ ทำยังไงให้กฎหมายนั้นเป็นใหญ่ คือ กฎหมายนั้นเป็นหลัก แต่คำว่ากฎหมายเป็นหลักนั้นก็คงต้องสองด้าน ก็คือว่า การใช้อำนาจรัฐก็ดี ฝ่ายที่เข้าไปใช้นั้นก็ต้องใช้ให้ถูกต้อง ให้ชอบด้วยกรอบของกฎหมาย ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตลอดจนที่สำคัญเวลานี้ก็คือ การไม่เลือกปฏิบัติ ส่วนคำว่าประชาสังคมนั้น เท่าที่ค้นมาก็มีผู้นิยามไว้ค่อนข้างมากมายหลายส่วนก็จะตรงกัน แต่หลายส่วนบางทีก็อ่านแล้วงงๆ ผมเลยสรุปอย่างนี้ว่า ประชาสังคม ก็คือ การยอมรับหรือการมีบทบาทของประชาชนในการที่จะจัดการเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของเขาเองโดยไม่ได้มีความมุ่งหมายในทางธุรกิจ โดยมีการจัดตั้งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นๆ แต่จุดสำคัญก็คือว่า การดำเนินการทั้งหมดของประชาชนนั้นทำภายใต้กรอบของรัฐแต่ไม่ได้ใช้กลไกของรัฐ ถ้าเรามองสองสิ่งนี้แล้วก็อาจจะมีจุดที่ดูห่างไกลกับจุดที่เกี่ยวพันและอยู่ใกล้ชิดกันอยู่พอสมควร ทีนี้ก็มาดูเรื่องของนิติรัฐในกรอบของโลกและของรัฐ ต้องขอบคุณท่านอาจารย์อมรฯ ที่ได้ยกตรงนี้ขึ้นมาเพราะผมเองได้พยายามพูดสิ่งเหล่านี้มาตลอดว่า เราอยู่ของเรานั้นโดยไม่มองอำนาจของระดับโลกนั้นไม่ได้แล้วอำนาจของระดับโลกไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ที่เรียกว่า globalization มันเกิดมาตั้งแต่อดีต ท่านจะเห็นว่ายุคกรีก ยุคโรมัน การแผ่อาณาจักรของประเทศเหล่านั้น หรือแม้แต่ของจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่มองโกลปกครองนั้น ก็พยายามจะแผ่อิทธิพลของตนไปในพื้นที่ให้กว้างที่สุดของโลก เพื่อจะเอากฎเกณฑ์ของตนนั้นไปปกครอง สงครามครูเซดก็เช่นเดียวกัน แม้จะมีแรงบันดาลใจจากศาสนา จีนเองบางยุคก็มีดินแดนที่ขยายออกไปกว้างขวาง สงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 วัตถุประสงค์ก็คือ พยายามจะสถาปนา world order แต่ภายใต้อิทธิพลหรือภายใต้การกำหนดของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นหลัก แล้วจะเห็นได้ชัดเจนอีกยุคหนึ่งก่อนจะมายุค globalization ก็คือ ยุค colonization อันนั้นก็เป็นเรื่องของประเทศที่เจริญกว่าทางด้านวัฒนธรรม ทางด้านการทหาร ทางด้านการจัดการ ก็พยายามแสวงหาประโยชน์สร้าง wealth หรือความร่ำรวยให้กับตัวเองโดยการไปหาดินแดนใหม่เพื่อที่จะหาทรัพยากรต่างๆ มาสู่การผลิตและเป็นที่ระบายสินค้า สิ่งนี้เป็น world order ทั้งสิ้น แต่เป็น world order ที่เราพูดกันมาตลอดว่า มันไม่ได้ก่อให้เกิดความเสมอภาคอย่างแท้จริง ยุคนี้เราพยายามต่อสู้ผลักดันว่า ภายใต้ globalization นั้น ทำอย่างไรจะให้ประเทศที่เล็กกว่า ประเทศที่อ่อนแอกว่านั้นสามารถได้รับการยอมรับ สามารถมีสิทธิมีเสียงต่างๆ ได้ คงอาจจะเท่าประเทศใหญ่ไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็คือคำนึงถึงความเป็นตัวของตัวเอง คำนึงถึงความเป็นประเทศนั้นๆ หรือเผ่าพันธุ์ของประเทศนั้นๆ ซึ่งก็ไม่แตกต่างกับภายในรัฐแต่ละรัฐเอง ดังนั้นเราจะเห็นว่า world order ในอดีตจะถูกครอบงำโดยประเทศที่มีศักยภาพสูงกว่าทั้งสิ้น เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง เพื่อความร่ำรวยของตนเองเป็นหลัก
เราจะเห็นว่าในยุคปัจจุบันนี้ ถ้าเรามาดูแล้วนอกจากอำนาจของโลกซึ่งใช้ผ่านทาง UN ก็ดี WTO หรืออาจจะมีองค์กรอื่นๆ อีก เวลานี้การใช้อำนาจในเชิงการจัดการในเรื่องความมั่นคงอย่างเดียวมันจำกัดอยู่แค่นี้ไม่ได้ มันขยายไปสู่ระบบเศรษฐกิจ เพราะโลกทุกวันนี้ระบบการผลิตมีความหลากหลายมากกว่าในอดีตจนเราไม่สามารถจะอธิบายได้อีกต่อไปแล้วว่า ระบบการผลิตนั้นจะไปสู่ทิศทางใด หรือจะไปจุดใด ซึ่งเราไม่เคยคิดว่าจะเป็นธุรกิจมันจะกลายเป็นธุรกิจขึ้นมา ในอดีตเราจะเห็นว่าระบบการผลิตของมนุษยชาตินั้น อยู่บนที่ดิน อยู่บนการทำมาหากินบนที่ดิน แล้วก็มีการค้าขายผลิตผลที่ไปจากที่ดินเป็นหลัก ปัจจุบันนี้ถ้าถามว่าอาชีพมีอะไรบ้างคงจะตอบยากมาก เพราะบางทีนั่งอยู่ที่บ้านเฉยๆ มีคอมพิวเตอร์ตัวหนึ่งก็ประกอบอาชีพได้แล้ว มันเป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากในอดีตหมด การเดินทางเป็นเรื่องง่ายๆ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่เชื้อโรคจากที่หนึ่งจะไปอีกสุดแดนของโลกเพียงชั่วพริบตา เพราะว่าไปทางเครื่องบิน ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ก็ชั่วพริบตาเท่านั้นเองเราได้หมด นี่คือสิ่งที่เป็นปัจจัยหรือสภาวะแวดล้อมของเราอยู่ อำนาจของโลกจะเป็นตรงนี้ ทีนี้มาดูอำนาจของรัฐต่างๆ เราจะพบว่าในแต่ละรัฐนั้น มันจะมีตัวรัฐนั้นเองซึ่งเราจะเห็นว่าโลกปัจจุบันตัวรัฐนั้นเองอยู่คนเดียวมันอยู่ไม่ไหว เพราะความที่โลกมันเชื่อมต่อกันหมดถึงจะยิ่งใหญ่ให้ตายท่านจำเป็นต้องมีพันธมิตรเพียงแต่พันธมิตรมีตั้งแต่ระดับหลวมจนกระทั่งมีระดับการจัดองค์กรอย่างดีแล้วพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ EU เป็น ตัวอย่างของการจัดรัฐรวมสมัยใหม่ ซึ่งเป็นรัฐรวมทางเศรษฐกิจแล้วก็เริ่มเข้าไปสู่เป็นรัฐรวมทางการเมืองมากขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งไม่แน่ว่าวันข้างหน้า EU อาจจะเป็นรัฐรวมแบบสหรัฐอเมริกา แต่จะมีกลไก มีความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่างๆ อาจจะมีความแตกต่างออกไปบ้าง แต่ท้ายที่สุดก็คือเพื่อความเข้มแข็งของการจัด wealth ของกลุ่มประเทศของตัวเองนั่นเอง แม้แต่สหรัฐอเมริกาเองซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่และร่ำรวยมากก็จำเป็นต้องมีพันธมิตร อย่าง NAFTA เป็นต้น ต้องเป็นพันธมิตรกับแคนาดา กับเม็กซิโกพวกนี้ ตัวเองก็อาจจะมีปัญหาด้านแรงงานที่หลั่งไหลเข้ามา ปัญหาความมั่นคงและเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ตามมา เพราะฉะนั้นทุกประเทศต้องหาพันธมิตรทั้งสิ้น ของเรานั้นเราก็พยายามพูดถึง AFTA อันนี้ก็เน้นในเรื่องเศรษฐกิจ เน้นเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นหลัก เพียงแต่ว่าการพัฒนาของเราอาจจะช้าหรือห่างไกลจาก EU มากพอสมควร แล้วก็ขึ้นอยู่กับผลผลิตต่างๆ ด้วยว่ามันมีความเหมือนกัน มีความหลากหลายมากน้อยแค่ไหน นี่คือกรอบใหญ่ๆ ที่คิดว่าเราต้องเอามาดูกันอย่างค่อนข้างละเอียด
พอเราดูตรงนี้แล้วจะเห็นว่า ถ้าดูลงมาถึงระดับรัฐซึ่งจะได้มาสู่คำว่านิติรัฐชัดเจนขึ้น ซึ่งผมเรียนแล้วว่า นิติรัฐของระดับรัฐนั้นถูกล้อมโดยที่ท่านอาจารย์อมรฯ เรียกว่า นิติโลก world order กำหนดนิติรัฐในแต่ละประเทศอยู่ไม่มากก็น้อย เราจะเห็นได้ชัดเจนอย่างหนึ่งที่เราพูดกันแล้วเป็นปัญหากันมาตลอด คือ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เวลานี้ wealth ของประเทศมหาอำนาจทั้งหลายคือทรัพย์สินทางปัญญา แล้วต่อไปก็อาจจะเป็นการค้นคว้า การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพทั้งหลาย ซึ่งก็หนีไม่พ้นมาสู่ระบบทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาลกับเขาเพราะฉะนั้นเขาต้องปกป้องสิ่งเหล่านี้อย่างเต็มที่ การผลักดันให้เกิดการคุ้มครองในทรัพย์สินทางปัญญา การเกิดองค์กรหรือแม้แต่ศาลที่จะมาตัดสินคดีเหล่านี้ ก็ต้องถามเหมือนกันว่าเป็นประโยชน์กับประเทศที่ด้อยกว่า หรือเป็นประโยชน์กับประเทศที่เข้มแข็งกว่า ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ก็ต้องดู แล้วเราอยู่ในรัฐของเราก็ต้องดูให้เหมาะสม มันไม่ได้แตกต่างจากยุคอาณานิคมเท่าไหร่นัก เพียงแต่รูปแบบการเข้ามานั้นไม่น่าเกลียดเหมือนยุคก่อน เป็นรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น ดูดีมากขึ้น
ทีนี้มามองถึงอำนาจรัฐ เราจะเห็นว่าอำนาจของรัฐต่างๆ นั้นในอดีตค่อนข้างจะเน้นเรื่องการดูแลจัดการโดยรัฐเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการทั่วๆ ไป หรือแม้แต่การจัดสรรทรัพยากรต่างๆ รัฐเป็นคนจัดการเองทั้งหมด กระแสที่ต่อต้านรัฐก็จะมาจากอำนาจของประชาชน อำนาจประชาชนก็จะเห็นว่าในระยะแรกนั้น ก็เน้นไปในเรื่องของการมีสิทธิเลือกตั้ง พยายามเน้นให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากขึ้น เน้นในเรื่องของบทบาทของพรรคการเมือง การรวมตัวทางการเมือง ความคิดทางการเมือง เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าค่อนข้างอยู่บนกรอบที่แคบอยู่ในอดีต ต่อมาเราจะเห็นว่าการเน้นบทบาทนั้นจะเพิ่มมากขึ้น ก็คือว่า ท่ามกลางการใช้อำนาจทางการเมืองซึ่ง abuseง่ายนั้น เพราะรวมไปถึงอำนาจในทางปกครองด้วย เพราะการเมืองเพียวๆ นั้นค่อนข้างจะลอย มันต้องลงไปสู่การปกครอง คือ การบริหารจัดการ แนวคิดในเรื่องนิติรัฐก็เกิดในช่วงนี้เอง ทำยังไงจะให้การบริหารจัดการของฝ่ายการเมืองซึ่งลงมาในทางปกครองนั้นมันชอบด้วยกฎหมาย ที่มนุษย์กล้าพูดถึงความชอบด้วยกฎหมายก็เพราะว่าระบบการตรากฎหมายนั้นมันดูมีความชอบธรรมมากขึ้น เพราะกฎหมายจะตราโดยสภา สภาก็เป็นบุคคลที่ประชาชนเลือกเข้าไป ตัว logic มันไปได้หมด แต่ตัว logic นี้เองก็ถูกครอบโดยระบบทุนนิยม จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมกลุ่มมาร์คซิส หรือสังคมนิยมจึงบอกว่า คุณเสมอภาคในทางกฎหมายมันเป็นแค่ตัวอักษร ถ้าตราบใดทางเศรษฐกิจคุณไม่เสมอภาค การมีส่วนร่วม การเข้าถึงสิ่งต่างๆ คุณไม่มีเลยนั้น คุณไม่มีทางเสมอภาคได้ คอมมิวนิสต์ก็เสนอไปอีกแบบหนึ่งเลย ก็คือว่า วิธีจะสร้างความเสมอภาคได้นั้นต้องเป็นชนชั้นเดียวกันให้หมด ก็คือ เป็นชนชั้นกรรมาชีพ ฉะนั้นชนชั้นกรรมาชีพก็ต้องดำรงอยู่เพื่อทำลายความคิดหรือระบบชนชั้นนายทุนให้หมด เพื่อเป็นวัฒนธรรมเดียวกัน นั่นก็เป็นวิธีเสนอความคิดอีกแบบหนึ่ง ก็เห็นว่าประสบความสำเร็จในบางช่วง แล้วในที่สุดก็ค่อนข้างจะประสบความล้มเหลวซึ่งผมไม่ขอวิเคราะห์ในจุดเหล่านั้น
ประการต่อมาที่ผู้คนเริ่มพูดถึงนอกจากการตรวจสอบการใช้อำนาจ โดยเฉพาะที่ลงมาในทางปกครอง ในการบริหารจัดการต่างๆ แล้ว ก็คือเราเน้นเรื่องการกระจายอำนาจ ในอดีตที่ผ่านมาก็จะพูดถึงว่าเราจะไม่มีประชาธิปไตย ประชาชนจะไม่มีบทบาทต่างๆ ถ้าไม่กระจายอำนาจ โดยเฉพาะการกระจายอำนาจทางพื้นที่ ก็คือ การปกครองท้องถิ่นต่างๆ ฉะนั้นในอดีตนั้นถ้าใครไม่ได้พูดถึงการปกครองท้องถิ่น พูดถึงการกระจายอำนาจ ก็ดูเหมือนว่าจะเชย แต่ในยุคปัจจุบันนี้ตรงจุดเหล่านี้เราไม่ได้พูดถึงต้องกระจายอำนาจแล้ว เราพูดถึงว่าจะกระจายอำนาจอย่างไร จะจัดสรรทรัพยากรอย่างไร จะจัดสรรเงินอย่างไร ท้องถิ่นจึงจะสามารถทำได้ แล้วเมื่อท้องถิ่นได้อำนาจไปแล้วทั้งในการจัดการและเงิน จะตรวจสอบอย่างไรให้การจัดการและการใช้เงินต่างๆ นั้นเป็นไปโดยถูกต้อง มีประสิทธิภาพ แต่จุดที่ได้เพิ่มเข้ามาในยุคปัจจุบันซึ่งผมอยากจะมาโยงกับประชาสังคม ก็คือว่า การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการของประชาชน ซึ่งการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการนอกเหนือไปจากการตรวจสอบความชอบโดยกฎหมายของการกระทำต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางปกครอง นอกเหนือไปจากเรื่องการกระจายอำนาจแล้ว ก็มาเน้นบทบาทของประชาชนในสองกรอบ กรอบแรก คือ ในกรอบของอำนาจรัฐ อย่าง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเขารับรองสิทธิของประชาชนไว้หลายอย่าง การจะเสนอร่างกฎหมาย การจะเสนอเรื่องถอดถอนต่างๆ ผมคงไม่ลงรายละเอียด แต่จะชี้ให้เห็นว่านี่คือในกรอบที่กฎหมายให้ แต่เวลาเราพูดถึงประชารัฐหรือประชาสังคมนี่ เราไม่พูดถึงในกรอบตรงนี้ เราพูดถึงในกรอบของประชาชนที่จะดำเนินการโดยองค์กรของตัวเอง โดยค่าใช้จ่ายของตัวเอง โดยเป้าหมายของตัวเอง เพื่อให้ประสบความสำเร็จต่อสิ่งต่างๆ ซึ่งสิ่งที่สำคัญถ้าสรุปง่ายๆ ก็คือ การต่อรองกับอำนาจรัฐ ซึ่งเวลานี้อำนาจรัฐเองก็ต้องถือว่าอ่อนตัวลงมามากเมื่อเทียบกับในอดีต ดังนั้นพอเรามองจุดตรงนี้ ระดับรัฐก็มีสองด้าน อำนาจรัฐ กับอำนาจของประชาชน อำนาจรัฐนั้นก็ยังบริหารจัดการเหมือนเดิม ยังต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบความชอบโดยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง ยังต้องเน้นในเรื่องการกระจายอำนาจ แต่อำนาจของประชาชนนั้นพอกพูนขึ้นโดยเฉพาะในส่วนของการมีส่วนร่วมทั้งในระบบอำนาจรัฐและนอกระบบอำนาจรัฐ ถ้าให้ดูก็คือว่า ปัจจุบันนี้ก็คือยุคที่เราจะต้องดูถึงดุลยภาพระหว่างถ้าเทียบองค์กรระดับโลกก็คือองค์กรระดับโลกทั้งหลาย จะเป็น UN จะเป็น WTO ประเทศที่ dominate องค์กรเหล่านั้นกับประเทศที่ด้อยกว่าที่จะใช้สิทธิในการต่อรอง ในการที่จะให้เขาฟังเสียง ในการที่จะให้มีบทบาทมากขึ้นเพื่อยอมรับถึงประชากรส่วนใหญ่ของโลกที่ยังถูกเอาเปรียบและยากจน ในขณะที่ในระดับรัฐนั้น ก็จะเห็นได้ชัดว่า ก็คือการต่อรองให้รัฐนั้นต้องอยู่ในกรอบต่างๆ ที่ผมได้กล่าวมาแล้วให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ทีนี้มาดูในส่วนที่สาม ก็คือ สิ่งที่จะเป็นหลักประกันของดุลยภาพระหว่างอำนาจของรัฐกับเสรีภาพและการมีส่วนร่วม ผมคงไม่ไปพูดถึงระดับโลกแล้วเพราะตรงนั้นจะออกไปไกล ก็มาพูดถึงในระดับรัฐ ผมคิดว่าคงมีอยู่ 2 ส่วนที่สำคัญ ส่วนแรก ก็คือ เราจะมีหลักเกณฑ์ที่ออกมาแล้วเสมอภาค เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ตรงนี้เป็นหัวใจ ผมใช้คำ 3 คำง่ายๆ ก็คือ เสมอภาค เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ เพราะถ้ามีความเสมอภาค มีความเป็นธรรม แต่ไร้ประสิทธิภาพ ในที่สุดก็อาจจะเกิด anarchy ขึ้นมา ก็คือ อนาธิปไตย เพราะคนมองว่าความเป็นธรรมแต่ไม่มีประสิทธิภาพอะไรเลยมันเป็นไปไม่ได้ในตัวมันเอง ตรงนี้เองที่บางทีเขาไปพูดถึงคำว่า good governance ผมอยากจะเรียนตรงนี้ว่า คือคนไทยก็มีความน่ารัก ชอบหาคำใหม่ๆ มาเรื่อย จนทำให้สังคมสับสน ความจริงเราก็พูดกันมาหลายถ้อยคำ ตั้งแต่ยุคอดีตพอระบบเศรษฐกิจเราอยากจะให้ ระบบธุรกิจ-อุตสาหกรรมเขามีระบบ QC คือ quality control ทุกอย่าง ผลผลิตที่ออกมาจะต้องเหมือนกัน เราก็พยายามเอามาใช้กับระบบบริหารโดยเฉพาะบริหารราชการ ซึ่งในที่สุดความคิดนี้ก็จบไปเพราะมันมีปัจจัยหลายอย่าง ไม่ได้เหมือนเข้าปั๊มในโรงงานอุตสาหกรรม ผ่านการตรวจเช็คต่างๆ แล้วก็ stamp ว่า pass มันไม่ใช่อย่างนั้น เราต้องคำนึงถึงปัจจัยที่ความเป็นมนุษย์ ความมีส่วนร่วมต่างๆ ต่อมาเราก็พูดถึง re-engineering ก็มาจากภาคธุรกิจ มาจากประเทศซึ่งระบบการเมืองเขานั้น dominate โดยระบบธุรกิจของไทยเองเราก็พูดถึงปฏิรูปการเมืองซึ่งเป็นเรื่องใหญ่โตในสังคมมาก แล้วเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย ซึ่งการปฏิรูปการเมืองนั้นเราก็ไม่ได้มองเฉพาะเรื่อง ทำยังไงให้เลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมขึ้น ทำยังไงให้ไม่มีการซื้อสิทธิ์ ซื้อเสียงต่างๆ เราพูดรวมในบริบททั้งหมดของสังคม ต่อมาก็มีคำใหม่ good governance คำนี้เป็นคำที่ใช้โดยผมเข้าใจว่าเป็นสหประชาชาติ ไปมองแอฟริกาว่าค่อนข้างจะไม่โปร่งใส ไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่ดูเสมอภาคเป็นธรรมเลย ก็เลยเรียกว่า ไม่มี good governance ในที่สุดก็เอาคำนี้มาใช้ ออสเตรเลียก็นำมาใช้เวลาจะให้ทุนให้อะไรต่างๆ แล้วก็เลยเป็นคำสากลของโลกไปแล้ว แล้วคำว่า good governance ก็ไม่ได้ใช้ภาครัฐเท่านั้น ก็ใช้ถึงภาคธุรกิจด้วย ซึ่งอเมริกาก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเที่ยวไปว่าใครต่อใครแล้วธุรกิจของตัวก็ไม่มี good governance เลยโดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ ขนาดเหตุการณ์ถล่มตึกของอเมริกาหุ้นยังไม่ตกเท่ากับพบว่าบริษัทใหญ่ๆ ของอเมริกานั้นปรับปรุงแต่งบัญชีเพื่อจะให้เห็นว่ามีกำไรมากๆ ทั้งที่ความจริงขาดทุน อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นทุกระบบมันมีจุดอ่อนในตัวมันเองหมด แต่ทุกคนพยายามพูดในสิ่งที่ดี พูดในสิ่งที่อยากจะเห็น
เมื่อสักครู่ผมพูดถึงหลักเกณฑ์ทำอย่างไรจะให้เสมอภาค เป็นธรรมและมี ประสิทธิภาพ ประการต่อมาซึ่งผมคิดว่าสำคัญอย่างมากแล้วเราพูดกันมาตลอด ก็คือ จะบังคับใช้หลักเกณฑ์ที่ดีเหล่านั้นให้เสมอภาค เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ ได้อย่างไร หนึ่ง หลักเกณฑ์ต้องดี หลักเกณฑ์ดีแล้วแต่ถ้าการบังคับใช้ไม่ดีอีกมันก็สูญเปล่าแล้วก็มีปัญหาตามมาอีกมากมาย ฉะนั้นในส่วนนี้เองผมคิดว่า กลไกระดับรัฐที่จะมาทำให้หลักเกณฑ์เหล่านี้มันดีจึงมีความสำคัญมาก ทั้งกลไกในแง่กฎหมาย กลไกในแง่ขององค์กรต่างๆ ต้องถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเราได้สร้างระบบกลไกที่ต้องถือว่าดีมาก เรียกว่า ถ้าเอารัฐธรรมนูญเปรียบเทียบกันตามตัวอักษร มาตราต่อมาตรา อาจจะดีที่สุดในโลก แต่ปัญหาของเราก็คือว่า จะให้สิ่งที่ดีเหล่านี้มาอยู่ด้วยกันแล้วมัน synchronize กัน คือทำงานแล้วสัมพันธ์ด้วยกันนั้นทำได้อย่างไร เวลานี้ดูเหมือนจะมีปัญหาเรื่อง synchronization อยู่พอสมควร ถ้าปัญหานี้มันมากขึ้นทุกวันสิ่งที่ดีเหล่านั้นมาอยู่ด้วยกันอาจจะปวดหัวมากกว่าดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่เรามีสิ่งที่ดีอย่าไปทิ้งมัน ทำอย่างไรจะให้มันมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผมขอแยกกลไกออกเป็น 3-4 กลไกใหญ่ กลไกแรก ก็คือ กลไกที่วางกรอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกลไกที่ใช้ภาษามาร์คซิส คือ ติดอาวุธให้ประชาชนที่จะได้รับรู้ ที่จะได้สามารถตรวจสอบได้ ท่านจะเห็นว่ากลไกสำคัญอันแรกที่วางกรอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่นั้น ก็คือ การตรากฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ซึ่งมุ่งใช้บังคับกับ คำสั่งทางปกครอง ว่าการจะออกคำสั่งทางปกครองซึ่งแน่นอนมันก็เพื่อการบริหารราชการ ถ้าคุณจะออกคำสั่งทางปกครองนั้นต้องมีหลักเกณฑ์อย่างไร ถ้ากระทบสิทธิเขาจะเป็นอย่างไร เหล่านี้เป็นต้น อันนี้เป็นหัวใจสำคัญ เพราะว่าการทำงานของฝ่ายปกครองนั้นที่ใช้มากที่สุดคือการออกคำสั่ง ออกหลักเกณฑ์ต่างๆ ออกกฎนั้นยังถือว่าน้อยกว่าคำสั่งมาก แล้วสิ่งที่ส่งผลกระทบมาก ทำอย่างไรจะให้การออกคำสั่งมีมาตรฐาน แล้วก็สามารถที่จะได้รับการตรวจสอบได้อย่างค่อนข้างเป็นระบบ นี่คือหัวใจประการแรก
ประการต่อมาที่เราถือว่าติดอาวุธให้ประชาชนก็คือกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสาร ถ้าผู้ใช้อำนาจรัฐนั้นปกปิดข้อมูลข่าวสาร ประชาชนนั้นไม่มีโอกาสจะทราบว่าเขาใช้อำนาจถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เหตุผลต่างๆ ของเขานั้นใช้ได้หรือไม่ได้ ฉะนั้นจึงจะต้องติดอาวุธเหล่านี้ให้กับประชาชน คือทำอย่างไรเขาถึงจะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากที่สุด ยกเว้นข้อมูลข่าวสารที่ จำเป็นจริงๆ เท่านั้นที่จะต้องปกปิดเอาไว้เพื่อรัฐ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ถึงกระนั้นก็ดี ก็ต้องมีระบบตรวจสอบอีกว่าที่ท่านอ้างว่าเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมมันจริงหรือไม่ นี่ก็คือกลไกต่างๆ ที่วาง อาจจะไม่สมบูรณ์แบบที่สุดแต่เราได้วางกลไกนี้ลงไปแล้ว ก็อยู่ที่การปรับปรุงแก้ไขกลไกเหล่านี้ให้เหมาะ ให้ทันสมัยกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
ประการต่อมา ก็คือ กลไกตรวจสอบระหว่างอำนาจทางการเมืองด้วยกัน ผมอาจจะเรียกเลี่ยงตรงนี้ไปนิดแล้วกัน ระหว่างให้ฝ่ายนิติบัญญัติมาตรวจสอบฝ่ายบริหารก็แล้วกัน ตรงนี้ก็สำคัญ เพราะว่าโดยปกติแล้วฝ่ายนิติบัญญัติจะตรวจสอบฝ่ายบริหาร ถ้าเผื่อเป็นพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก อาจจะเป็นรัฐบาลผสม หรือถ้ายิ่งเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวที่มีเสียงข้างมาก โอกาสที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะตรวจสอบจะเป็นไปได้ค่อนข้างยากและอ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบ เช่น จะเป็นระบบกรรมาธิการก็ดี การเปิดอภิปรายต่างๆ ก็ดี จะค่อนข้างทำได้ค่อนข้างลำบากและประสิทธิภาพอาจจะไม่ดีเท่าไหร่นัก เพราะว่าในที่สุดแล้วไม่ว่าจะอภิปรายได้ดีเพียงใด จะตรวจสอบดีเพียงใด มันก็ขึ้นอยู่กับเสียงที่จะยกมือให้ ถ้าทั้งหมดเขาบอกว่าเป็นอย่างนี้นะ มันก็เป็นไปตามนั้นทั้งหมด เพราะนี่คือกลไกทางการเมือง แล้วคนก็จะยอมรับว่าเรื่องผิดถูกตรงนี้เราตัดออกไป เราตัดที่ว่าใครกุมเสียงข้างมากได้คนนั้นเป็นผู้ชนะ อันนี้ไม่ใช่เป็นกลไกที่เสียหาย เป็นกลไกปกติของทั้งระบบ แต่มันก็จะมีข้อจำกัดของการตรวจสอบ ด้วยเหตุนี้เองเราจึงได้เพิ่มกลไกอะไรเข้ามา คือ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา แม้จะอยู่กับฝ่ายสภา แต่ตัวผู้ตรวจการแผ่นดินหรือองค์กรนั้นจะมีอิสระมากกว่าในการตรวจสอบ ไม่ subject to การเมือง มากเหมือนกับตัวระบบพรรคการเมืองเอง ซึ่งเป็นธรรมดาพรรคการเมืองถ้าไม่อยู่ในระบบของตน ไม่มีวินัยของตน มันก็เสียหาย หรือที่เรารู้จักกันดี ก็คือ กรรมการสิทธิมนุษยชน ของเราก็ถือว่าสององค์กรนี้ก็เป็นอีกมาตรการหนึ่งในการที่ฝ่ายนิติบัญญัตินั้นจะมาตรวจสอบฝ่ายบริหาร
กลไกประการต่อมา ก็คือ การตรวจสอบระหว่างองค์กรที่ใช้อำนาจในลักษณะบริหารด้วยกัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่ได้แยกฝ่ายบริหารเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก คือ ฝ่ายบริหารที่เรียกว่ารัฐบาล ซึ่งจะดูแลกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ รัฐบาลทั้งหลาย กับกลุ่มที่ใช้อำนาจบริหารแต่ไม่อยู่ภายใต้รัฐบาล เช่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. สตง. (คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน) หรือ กกต. เป็นต้น องค์กรเหล่านี้คือองค์กรที่ใช้อำนาจในลักษณะทางบริหารทั้งสิ้นแต่ไม่ขึ้นกับรัฐบาลในแง่ของการบริหารจัดการ ดังนั้นท่านจะเห็นว่าในฝ่ายบริหารด้วยกัน รัฐธรรมนูญก็วางกลไกให้องค์กรที่ใช้อำนาจในลักษณะบริหารด้วยกันนั้นตรวจสอบกันเองด้วย ไม่ใช่ให้เฉพาะนิติบัญญัติไปตรวจสอบในทางสภา ในทางการเปิดอภิปราย ในทางการใช้ระบบกรรมาธิการ หรือใช้กลไกของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ก็ดี กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ก็ดี ฝ่ายบริหารก็จะตรวจสอบกันเอง แล้วกลไกประการสุดท้าย ก็คือ กลไกตรวจสอบที่เป็นระบบศาล ท่านจะเห็นว่ากลไกตรวจสอบที่เป็นระบบศาลปัจจุบันเรามีถึง 4 ระบบศาล ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร ศาลทหารผมขออนุญาตตัดออกไปก่อนเพราะว่าบุคลากรที่อยู่ภายใต้อำนาจศาลทหารนั้นก็คือทหารเป็นหลัก และส่วนใหญ่ก็เป็นคดีของวินัยทหารเป็นหลัก ศาลรัฐธรรมนูญนั้น ท่านจะเห็นว่าบทบาทสำคัญก็คือการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้เคยวินิจฉัยไว้ว่าหมายถึงระดับพระราชบัญญัติ ดังนั้นกฎหมายที่ตราออกมาโดยสภาหรือแม้แต่ยังไม่ได้ตราออกมาเป็นร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบสองสภาแล้วก่อนนำความกราบบังคมทูล ถ้าสงสัยว่าอาจจะมีบางมาตรา บางประเด็นขัดรัฐธรรมนูญก็สามารถถูกตรวจสอบโดยศาลรัฐธรรมนูญได้ นี่ก็คือความชอบโดยรัฐธรรมนูญ ประการต่อมาคือการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายของการกระทำทางปกครองทั้งหลาย ตรงนี้ก็เป็นอำนาจหรือ บทบาทของศาลปกครอง ซึ่งศาลปกครองนั้นจะตรวจสอบอะไรบ้างที่ถือว่าเป็นการกระทำทางปกครอง หนึ่ง ก็คือ กฎ สอง คือ คำสั่ง สาม การกระทำอื่น ตรงนี้ศาลปกครองก็ตีความว่า หมายถึง การใช้ดุลพินิจทั้งหลายที่ไม่ได้ออกมาในรูปของคำสั่ง เช่น การกำหนดที่ศาลปกครองวินิจฉัยไว้ในการกำหนดจุดสร้างสะพานลอย อย่างนี้เป็นต้น เดิมกำหนดไว้ตรงจุด ก. ย้ายมาเป็นจุด ข. คนที่มาโดนตรงจุด ข. เขาก็อาจจะร้องว่าการใช้ดุลพินิจกำหนดย้ายจุดมันไม่ชอบ เช่น อาจจะเป็นโดยไม่สุจริตหรือโดยทุจริต เป็นการกลั่นแกล้งกัน หรือเป็นการเลือกปฏิบัติ อันนี้ก็เท่ากับว่ามองว่าทั้งกฎ ทั้งคำสั่ง หรือแม้แต่การกระทำอื่นในรูปของการใช้ดุลพินิจถูกตรวจสอบได้
ประการต่อมาที่ศาลปกครองตรวจสอบ ก็คือ สัญญาทางปกครอง ผมคงไม่อธิบายว่าหมายความว่าอย่างไร โดยย่อๆ เท่านั้นว่า ก็หมายถึงสัญญาที่เราถือว่าไปมอบให้เอกชนจัดทำบริการสาธารณะ หรือมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการจัดทำบริการสาธารณะ เพราะเป้าหมายที่ทำตรงนั้นมันไม่ได้มุ่งหมายในฝ่ายรัฐ หรือฝ่ายเอกชนที่เข้ามาทำ ไม่ได้มุ่งหมายเพียงแบบสัญญาระหว่างเอกชน คือหากำไรหรือความพึงพอใจของสองฝ่าย แต่เป็นความพึงพอใจของสาธารณะเป็นเงื่อนไขหลัก เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ต้องเข้าไปตรวจสอบดูว่าระบบของสัญญานั้นจะเป็นอย่างไร
และอีกประการหนึ่งที่สำคัญ ก็คือ การตรวจสอบเรื่องการละเลย ล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ ตรงนี้เป็นส่วนในการสร้างประสิทธิภาพ ปัญหาส่วนหนึ่งของระบบราชการก็คือ การละเลย คือไม่ทำงานในเรื่องนั้น มีนะครับที่มาฟ้องศาลปกครองซึ่งแม้อาจจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมอยู่บ้าง แต่ศาลปกครองก็ยอมรับที่จะตัดสินให้ ก็เช่น เขาไปแจ้งความตำรวจ 7 ปี ไม่ทำการสืบสวนสอบสวนอะไรเลย อันนี้เข้าข่ายละเลย ล่าช้า อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ หรือบางกรณีกฎหมายบอกว่าถ้าท่านไม่พอใจอย่างนี้ให้อุทธรณ์ไปยังรัฐมนตรี กฎหมายกำหนดให้รัฐมนตรีว่าต้องวินิจฉัยให้เสร็จภายใน 60 วัน บางที 4 ปี ยังไม่วินิจฉัยอะไรเลย กฎหมายก็บอกว่าท่านสามารถจะมาฟ้องได้ แต่มันอาจจะขาดอายุความ วิธีแก้ ศาลปกครองก็ค่อนข้างจะยืดหยุ่น ถ้าท่านมีหนังสือเตือนไปให้เขาปฏิบัติหน้าที่ซะ แล้วเขายังไม่ปฏิบัติครบ 90 วัน คุณก็มาฟ้องได้ หรือเขาชี้แจงมาไม่เป็นที่พอใจหลังจากได้รับแจ้งแล้วก็มาฟ้องได้ใน 90 วัน อันนี้ก็เพื่อกระตุ้น ท่านจะเห็นว่า คำว่า good governance ประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญนั้นก็คือการไม่ละเลย ล่าช้านั้นบางทีอาจจะอธิบายได้เพราะมีปัจจัยต่างๆ ตามมามากมาย บางทีอาจจะเร็วไม่ได้เพราะมันเกิดสองฝ่ายโต้แย้งกัน ยกเหตุผลอันโน้นอันนี้ ก็ต้องดูให้รอบคอบ แต่การไม่ทำอะไรเลยตรงนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เสียหายต่อการทำงานมาโดยตลอด
ส่วนสุดท้าย ก็คือ การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและค่าใช้จ่าย ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้นั้นสำคัญค่อนข้างมาก เพราะว่าการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมถ้ามันทำได้ยาก หลักเกณฑ์ที่ว่าดี การบังคับใช้มันจะเกิดขึ้นไม่ได้เพราะเขาเห็นว่าผู้ใช้กฎหมายโดยเฉพาะฝ่ายบริหารนั้น ใช้ไม่ถูกต้อง แต่จะมาหาองค์กรที่จะบอกว่าท่านใช้ไม่ถูกต้องนะ มาได้ยาก หรือเราไปตีความซะว่าการใช้อำนาจของเรานั้นเป็นเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ใครก็แตะต้องไม่ได้เลย การใช้สิทธิทางศาลจะเกิดขึ้นไม่ได้อีก อันนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่พึงระมัดระวัง ที่ผมเรียนตรงนี้ก็เพราะว่ามันเกิดปัญหาขึ้นมาเหมือนกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นได้สร้างองค์กรที่ใช้อำนาจทางบริหารที่ไม่อยู่ภายใต้รัฐบาล แล้วก็เขียนถึงอำนาจหน้าที่ไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็มีความเข้าใจเหมือนกันว่าการเขียนถึงอำนาจหน้าที่ไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างนั้น แปลว่าเป็นอำนาจประการที่สี่ คือ ไม่ใช่นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ผมพูดให้เพื่อเข้าใจง่าย คือใครเข้าไปแตะต้องไม่ได้โดยเฉพาะองค์กรศาล ผมก็อยากจะเรียนว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นได้แบ่งแยก คือได้แยกอำนาจออกเป็นสามลักษณะเท่านั้น นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แต่การใช้อำนาจแต่ละลักษณะนั้นอาจจะใช้มากกว่าหนึ่งองค์กร นิติบัญญัติท่านจะเห็นว่าใช้สององค์กร สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา บริหารนั้นสองกลุ่ม กลุ่มที่เป็นรัฐบาลกับกลุ่มที่เป็นองค์กรอิสระ ผมใช้คำนี้ก็แล้วกัน ตุลาการนั้นมีถึงสี่ศาล ฉะนั้นแต่ละกลุ่มนั้นมีองค์กรมากกว่าหนึ่ง แต่ละกลุ่มนั้นก็จะใช้อำนาจที่เป็นลักษณะของตัวเอง ดังนั้นการดำเนินการทั้งหลายจึงอาจมีความเกี่ยวพันกัน แต่จะไปขัดแย้งกันไม่ได้ ศาลจะไปดำเนินการที่ขัดแย้งกับ ป.ป.ช. ไม่ได้ กกต. ไม่ได้ สตง. ไม่ได้ เพราะศาลคือผู้ตรวจสอบว่าท่านใช้อำนาจในทางบริหารชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลไม่ได้ไปใช้อำนาจในทางบริหารด้วยตัวเอง เพียงแต่บอกว่า ถ้าท่านใช้อำนาจโดยไม่ชอบ ถ้าเขาฟ้องมาว่าออกคำสั่งไม่ชอบ สิ่งที่ศาลทำได้คือเพิกถอนคำสั่งนั้น ถ้าเขาเรียกค่าเสียหาย ศาลเห็นว่าการใช้อำนาจไม่ชอบเกิดความเสียหาย ศาลก็สั่งชดใช้ค่าเสียหายใช้ให้ไป เขาฟ้องมาว่าท่านไม่ใช้อำนาจเสียที ก็ถือว่าท่านละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด นี่คือสิ่งที่ศาลปกครองทำ ดังนั้นมันจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ศาลจะไปขัดแย้งทางอำนาจกับองค์กรอื่นๆ หรือแม้แต่นิติบัญญัติก็ตาม เพราะลักษณะของการใช้อำนาจมันคนละแบบกัน
ท้ายที่สุด ก็คือ เรื่องการเข้าถึงนั้น ผมจะเรียนสองเรื่อง คือ ระบบวิธีพิจารณากับเรื่องค่าใช้จ่าย ท่านจะเห็นว่าระบบวิธีพิจารณาคดีปกครองนั้น อย่างที่ท่านอาจารย์บวรศักดิ์ฯ พูด ก็คือ ทำอย่างไรจะให้มันค่อนข้างจะสะดวก ง่าย และค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ส่วนค่าใช้จ่ายที่เป็นปัญหาอยู่ระดับหนึ่ง ก็คือว่า ศาลปกครองกรณีคดีที่มีทุนทรัพย์ เช่น ฟ้องเรื่องสัญญาก็ดี เรียกค่าเสียหายก็ดี บางท่านก็ต่อว่าบอกว่า บางคนไม่มีสตางค์ก็ไม่มีเรื่องขออนาถา ก็เลยต้องเสียค่าใช้จ่าย ตรงนี้ต้องเรียนว่า เดิมทีเดียวนั้น ในคดีปกครองไม่ว่าจะคดีประเภทไหน ต้นร่างเดิมนั้นไม่มีค่าใช้จ่ายเลย ไม่มีทุนทรัพย์ มาแก้เพิ่มเติมว่ามีทุนทรัพย์ในชั้นวุฒิสภา ซึ่งถ้าดูแล้วก็มีเหตุผล เพราะไม่อย่างนั้นเรื่องคดีสัญญาทางปกครอง คดีสัญญาเป็นร้อยล้าน พันล้าน หมื่นล้าน มาฟ้องฟรีหมด แล้วนึกอยากจะฟ้องอะไรก็ฟ้องได้หมด เรื่องละเมิดมีปัญหานิดหน่อยก็ฟ้องหมด เพียงแต่ว่าพอกำหนดให้มีทุนทรัพย์ มีค่าใช้จ่ายขึ้นมาแล้ว ลืมคิดเป็นเรื่องสำหรับคนจนตรงนี้ขึ้นมา ก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายตรงนี้ต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม โดยระบบของศาลปกครองเองนั้น ค่าใช้จ่ายก็ต่ำกว่าอยู่แล้วในการดำเนินกระบวนการทั้งหมด ยกเว้นเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะวางศาลเท่านั้นเอง อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมอยากจะเรียน แล้วอยากจะเสริมด้วยว่า ผมเพิ่งไปดูงานที่ประเทศจีนกลับมา ไปกับท่านประธานศาลปกครองสูงสุด จีนก็พูดถึงศาลปกครอง จีนซึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ เวลานี้จีนจำเป็นต้องเข้าสู่เวทีโลก จะต้องเข้า WTO เขาก็พูดว่าเขาต้องเป็น legal state คือไม่เป็นไม่ได้ ถามบอกว่าคดีปกครองของท่านส่วนใหญ่เป็นเรื่องอะไร ก็เป็นเรื่องระหว่างประชาชนกับรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้นถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐไปถอนใบอนุญาตเขาหรือไม่อนุญาต ก็มาฟ้องได้ เขาก็บอกว่าศาลก็ใช้วิธีพิจารณาที่แตกต่างไปจากวิธีพิจารณาคดีแพ่ง นั่นก็คือ ใช้ระบบไต่สวนสำหรับในคดีปกครอง คือทำอย่างไรจะช่วยราษฎร เพราะราษฎรเหล่านั้นจะไม่ค่อยมีศักยภาพในการเข้ามาสู่ศาล อันนี้ก็เป็นอีกประการหนึ่งซึ่งจะเห็นว่าวิธีพิจารณาตรงนี้ของศาลปกครองก็เน้นในเรื่องนี้ เพราะว่ามันเกิดความไม่เสมอภาคระหว่างคนสองกลุ่ม ทำอย่างไรที่ศาลจะเข้าไปดูแลตรงนี้ได้มากขึ้น เขาก็พูดว่าจุดที่เขาจะต้องดูต่อไปก็คือว่า เขาควรจะมีศาลปกครองที่แยกต่างหากออกมา หรือยังเป็นศาลปกครองที่อยู่ในระบบศาลยุติธรรม แต่ที่แน่ๆ ก็คือ concept ในเรื่องการคุ้มครองผู้ที่อ่อนแอกว่ามีเหมือนกัน เพียงแต่ของเราดีกว่าตรงที่ผู้ที่อ่อนแอกว่ายังสามารถจัดตั้ง สามารถรวมตัว สามารถมีบทบาทเพื่อกดดันผู้ที่ใช้อำนาจรัฐนั้นให้อยู่ในกรอบ ในร่องในรอยได้มากกว่า ผมขออนุญาตจบรอบแรกเพียงเท่านี้ครับ
รศ.ดร.นันทวัฒน์ เมื่อสักครู่ก่อนหน้าที่ท่านอาจารย์บวรศักดิ์ฯ ก็ได้พูดถึงบทบาทของภาคประชาชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนิติรัฐ โดยท่านเน้นว่าประชาชนควรจะเข้ามามีส่วนร่วมยังไงในเรื่องนิติรัฐ ในการดูแลกฎหมายที่นำมาใช้กับสังคม ซึ่งท่านอาจารย์โภคินฯ ท่านก็ได้พูดต่อ โดยท่านได้แนะนำถึงวิธีการติดอาวุธให้กับประชาชน ก็คือ เพิ่มศักยภาพให้ประชาชนรักษาความเป็นนิติรัฐไว้ โดยการที่ท่านได้แนะนำว่าเรามีระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายและองค์กรต่างๆ อย่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็มีกฎหมายหลายฉบับที่ให้สิทธิกับประชาชนในการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง หรือข้อมูลข่าวสาร ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ได้ตั้งองค์กรใหม่ๆ ขึ้นมาหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่ไม่ใช่ศาล หรือองค์กรที่เป็นศาล ที่มีส่วนร่วมในการให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิผ่านองค์กรเหล่านั้นได้เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
เพื่อไม่ให้เสียเวลา ผมคงต้องขอเรียนเชิญท่านอาจารย์สุรพฯ อภิปรายเป็นคนต่อไปเลยครับ
|