หน้าแรก บทความสาระ
สิทธิพลเมือง อธิปไตยของปวงชน : ฐานะและบทบาทที่ลดลง
เจริญ คัมภีรภาพ
4 มกราคม 2548 13:58 น.
 
หน้าที่แล้ว
1 | 2 | 3

       
       


       ภาพประกอบ : ความสัมพันธ์ของสิทธิพลเมืองและอำนาจอธิปไตย
       
       


                   
        จากแผนภาพแสดงให้เห็นถึง ฐานะความสัมพันธ์ขององค์ประกอบสามส่วนที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานะความเป็นอธิปไตยสูงสุดในระบบสังคมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่สามารถแยก ฐานะและบทบาทของสิทธิ (rights) และผู้เป็นฐานรองรับสิทธิดังกล่าวนั้นคือ พลเมือง (civil) ได้ ในระบบสังคมที่พลเมืองปราศจากสิทธิ หรือ การเข้าถึงสิทธิเต็มไปด้วยขวากหนามหรืออุปสรรค์ ย่อมจะส่งผลโดยตรงต่อการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ (sovereignty of state) ในประการสำคัญที่ว่า การใช้อำนาจตัดสินใจดังกล่าวนั้นได้สะท้อนฐานะและบทบาทของความเป็นอธิปไตยสูงสุด ที่เป็นของประชาชนหรือไม่ ความในข้อนี้แสดงว่าการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ หาได้จำกัดวนเวียนเฉพาะการทำหน้าที่ ความสัมพันธ์จาก ฝ่ายบริหาร กับรัฐสภา เท่านั้นหากแต่ฝ่ายผู้ใช้อำนาจตัดสินใจ (รัฐบาล หรือ คณะรัฐมนตรี) จำต้องผูกพันตนเองต่อรัฐธรรมนูญ และ การจัดให้มีนโยบายหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อ รองรับยึดโยงกับการมีส่วนร่วมของสิทธิพลเมืองเพื่อสะท้อนถึงการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐที่ว่านี้ด้วย
       

                   
        ในขณะเดียวกันหากระดับของการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ ไม่ได้สะท้อนอำนาจของปวงชน เช่นรองรับการใช้อำนาจของผู้บริหาร ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อ สิทธิเสรีภาพ ตลอดจน การใช้สิทธิของพลเมือง (civil) ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ส่งผลต่อกันของทั้ง อำนาจอธิปไตย สิทธิ และ พลเมือง จึงถือเป็นหัวใจสำคัญของการพิจารณาฐานะและบทบาทของสิทธิพลเมือง และ อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐว่า มีฐานะอยู่อย่างไร
       

                   
        ได้มีการจัดสรรความสัมพันธ์ของการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ ซึ่งสะท้อนอำนาจอธิปไตยของปวงชนได้อีกทาง ดังกรณีการที่รัฐธรรมนูญ ฯ บัญญัติประกันสิทธิของพลเมืองในทางการเมืองไว้ เพื่อกำหนดเงื่อนไข การใช้อำนาจอธิปไตยในนามประเทศ ผ่านรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๒๔ ที่บัญญัติไว้ความว่า


                   
       “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ
        สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศ หรือ กับองค์การระหว่างประเทศ.
       . หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือ เขตอำนาจแห่งรัฐ
       หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา”


                   
       จึงเป็นเครื่องยืนยันได้อีกทางหนึ่งว่าฝ่ายบริหาร รัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรี ไม่ได้มีอำนาจโดยเด็ดขาดและเป็นอิสระ อย่างความสับสนหลงผิดที่นักการเมืองจำนวนไม่น้อยเข้าใจ หากแต่สามารถกระทำได้ภายใต้เงื่อนไข การถูกตรวจสอบจากองค์กรทางการเมือง อีกทั้งองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญอื่น ๆ สุดแต่ประเด็นที่ตรวจสอบนั้นจะอยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจตามกฎหมาย (jurisdiction) ขององค์กรใด หรือแม้ในกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญกระทบต่อผลประโยชน์ได้เสียของประเทศหรือของประชาชน ก็อาจนำไปสู่การออกเสียงประชามติได้ อันเป็นการสะท้อนถึงอำนาจสูงสุดของปวงชนหรืออธิปไตยของปวงชนที่ฝังลึก (embedded) อยู่ในรัฐธรรมนูญนั่นเอง
       

                   
        กล่าวจำเพาะถึงฐานะและบทบาทที่ลดลงในสิทธิพลเมือง ที่พิจารณาจากสาระแก่นสาร และ การเข้าถึงสิทธิ จากร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ... ที่กล่าวมาข้างต้นย่อมส่งผลกระทบตามต่อ การใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐที่มีฐานะและบทบาทที่ลดลงด้วย ตัวอย่างที่อธิบายความสัมพันธ์ที่ว่านี้จะเห็นได้จากกรณีการมีส่วนร่วมของประชาชนกรณีที่รัฐประเทศไทย เปลี่ยนนโยบายสาธารณะอันเป็นผลเนื่องมาจาก ข้อผูกพันระหว่างประเทศอันเป็นผลจาก การจัดทำข้อตกลงทางการค้าแบบ พหุภาคี หรือ ทวิภาคี เช่น การเปิดเสรีทางการค้าและบริการ ในกิจการสาธารณะประโยชน์ (public services) ในด้านต่าง ๆ อันเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ของ การใช้สิทธิของพลเมืองตามร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ... ที่จำกัดขอบเขตเฉพาะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ หรือกรณีการจำกัดสิทธิของบุคคลอื่นในการเข้าไปใช้สิทธิในการรับฟังและแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการ เฉพาะผู้ได้รับความเสียหายโดยตรง หรือ กรณีการบัญญัติรับรองก่อตั้งอำนาจให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจดำเนินโครงการใด ๆ กรณีที่เห็นว่ามีความจำเป็น และมิให้นำบทบัญญัติในร่างกฎหมายนี้มาใช้บังคับ อันเป็นการเพิ่มอำนาจเด็ดขาดให้แก่ผู้มีอำนาจ (รัฐบาลและคณะรัฐมนตรี) ต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้ฐานะและบทบาทของสิทธิพลเมือง อยู่ในฐานะที่ลดลง อันจะกระทบต่อการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐเป็นผลตามมาในที่สุด


       
       ส่งท้าย และ ข้อเสนอแนะ
       

                   
        สังคมเศรษฐกิจไทย กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการเมือง ภายใต้กระแสการปฎิรูปทางการเมือง ทั้งนี้โดยรัฐธรรมนูญได้ออกแบบกลไกทางนโยบายและการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพื่อมุ่งหวังที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคมวิทยาทางการเมืองใหม่ ให้เปี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะการใช้อำนาจรัฐ ในความพยายามที่อยากจะเปลี่ยนจาก ฐานวัฒนธรรมเชิงอำนาจ การบังคับบัญชา เข้าสู่การเมืองแบบมีส่วนร่วมของการเมืองภาคพลเมือง ประกอบกับการมีองค์กรการตรวจสอบที่หลากหลายที่รัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้น เข้ามาตรวจสอบควบคุมการใช้อำนาจรัฐ ภายใต้เงื่อนไขบรรยากาศการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ การเปิดพื้นที่ และ การสร้างนวัตกรรม การออกแบบเครื่องมือทางนโยบาย จึงมีความสำคัญมากที่จะสามารถตอบสนอง ต่อเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้ได้ ตัวอย่างข้อถกเถียงในเรื่อง การประชาวิจารณ์ หรือ นโยบายการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของสังคมไทย ที่มีมาช้านานจนนำไปสู่การจัดทำร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความเห็นของประชาชน พ.ศ....นั้น นับเป็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางนโยบายที่สำคัญในบริบททางการเมืองไทยยุคปัจจุบัน บทความนี้ผู้เขียนได้หยิบยกประเด็น ฐานะและบทบาท ความสัมพันธ์ของ สิทธิพลเมือง และอำนาจอธิปไตยของปวงชน ขึ้นมาพิจารณา โดยได้พิจารณาจากสารัตถะสิทธิพลเมือง ดังที่ ร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.... ได้บัญญัติและออกแบบไว้ โดยในอนาคตอันใกล้รัฐบาลก็จะเสนอร่างกฎหมายนี้ต่อสภานิติบัญญัติ และ ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
       

                   
        ผลที่ได้จากการศึกษาพบว่า ร่างกฎหมายนี้ยังมีจุดอ่อนที่สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขหลายเรื่อง ตั้งแต่เป้าหมายหรือเหตุผลของการมีกฎหมายนี้มาใช้บังคับ ที่ยังจำกัดวนเวียนอยู่ภายใต้ขอบเขตในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๙ ซึ่งยังไม่ครอบคลุมต่อเป้าหมายสิทธิการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการตัดสินใจในทางการเมือง ถึงกระนั้นก็ตามร่างกฎหมายแม้จะตราขึ้นมารองรับสิทธิการได้รับข้อมูลและการแสดงความคิดเห็น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๕๙ ก็ตาม แต่ในร่างกฎหมายนี้เองยังแยกสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครอง ออกจากการเข้าถึงสิทธิ (access to rights) ด้วยการบัญญัติให้การเข้าถึงสิทธิดังกล่าวต้องก้าวข้ามพ้นเงื่อนไขที่ร่างกฎหมายบัญญัติขึ้นถึง ๓ ประการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อันจะส่งผลให้การเข้าถึงสิทธิของพลเมืองมีอุปสรรค และขวากหนามมากยิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้ามกลับก่อตั้งและเพิ่มอำนาจใหม่ให้แก่คณะรัฐมนตรีที่จะอ้างความจำเป็นในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ได้ โดยไม่จำต้องเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ซึ่งอาจเป็นปัญหาความชอบธรรมที่ร่างกฎหมายนี้จะบัญญัติหลักการทางกฎหมายที่เกินขอบเขตรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๙ ที่ระบุเป็นเหตุผลในการมีร่างกฎหมายนี้มาใช้บังคับ
       

                   
        เมื่อการใช้สิทธิของพลเมือง ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.... ยังมีข้อจำกัดจากการเข้าถึงสิทธิ ขณะที่ร่างกฎหมายกลับก่อตั้ง และเพิ่มอำนาจเด็ดขาดสมบูรณ์ (absolute power) ต่อคณะรัฐมนตรีในการดำเนินโครงการ ตลอดทั้งการจำกัดขอบเขต การเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะยังจำกัดเฉพาะการดำเนินโครงการก่อสร้าง ขณะที่ทิศทางการปรับเปลี่ยนทางนโยบายเศรษฐกิจและสังคมของไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ภายใต้อิทธิพลของเสรีนิยมใหม่ ที่รัฐไทยจะถูกกดดันและปรับตัวให้มีการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน การเข้าถึงตลาดการค้าและบริการ การแปรรูปสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ให้เป็นสินค้า เช่น กรณี การจัดการน้ำ พลังงาน ฯลฯ อันเป็นต้นตอของการเกิดขึ้นของโครงการขนาดใหญ่ และ แนวนโยบายสาธารณะใหม่ ๆ ตามมามากมายหลายเรื่อง อันถือเสมือนเงื่อนปมปัญหาใหม่ที่จะต้องติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด
       

                   
        การเปลี่ยนแปลงบริบททางเศรษฐกิจการเมืองข้างต้นนี้ แทนที่ร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.. จะได้เล็งเห็นถึง เหตุผล ความจำเป็น ในการหยิบยื่น หรือ สร้างความเข้มแข็งให้สิทธิพลเมืองมีฐานะและบทบาทที่สูงขึ้น เพื่อให้การตัดสินในระดับที่สูงกว่านั้น (อธิปไตยของปวงชน) สะท้อนและหล่อหลอมมาจากความต้องการของพลเมือง ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยสูงสุด ที่เปิดกว้างและให้โอกาสพลเมืองได้ใช้ สิทธิตามร่างกฎหมาย เข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมือง ตลอดจนการตัดสินใจที่สำคัญ ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงการใด ๆ ได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นมากเท่าใด ประสิทธิภาพในการใช้อำนาจอธิปไตยของประเทศ ก็จะมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะ การขยายสิทธิเสรีภาพของพลเมือง และการเข้าถึงสิทธิที่ว่านั้นได้มากขึ้นเท่าใด ย่อมส่งผลต่อคุณภาพของการตัดสินใจในระดับที่สูงขึ้นในฐานะประเทศ หรือ การใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน ได้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของประเทศมากยิ่งขึ้นเช่นกัน
       

                   
        ฐานะและบทบาทของทั้ง สิทธิพลเมือง และอธิปไตยของปวงชน แม้จะพิจารณาจาก ร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ... ก็มีนัยสำคัญยิ่งต่อพัฒนาการเศรษฐกิจการเมืองไทย ที่ไม่อาจมองข้ามได้ ผู้เขียนเห็นว่าจุดที่สมควรปรับปรุง ในร่างกฎหมายนี้ ไม่เพียงแต่สาระแก่นสารในบทบัญญัติต่าง ๆ ที่มีปัญหาดังที่กล่าวมาเท่านั้น หากแต่จะต้องมีการทบทวนแก้ไข แม้กระทั่งหลักการ เหตุผลของการมีร่างกฎหมายนี้เสียใหม่ ให้กว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่ และสำหรับการบัญญัติรับรองสิทธิพลเมืองในร่างกฎหมาย ควรกำหนดเป้าหมายไกลเกินกว่าการหยิบยื่นสิทธิให้แก่ปัจเจกบุคคลเท่านั้น หากแต่ต้องมองไกลจนถึง ประเด็นอธิปไตยของปวงชนเป็นจุดหมายปลายทางด้วย การจะทำให้ได้อย่างที่ว่านี้... อย่างน้อยผู้ร่างกฎหมาย ต้องมีความเข้าใจและแยกแยะความแตกต่างระหว่าง กฎหมายโดยรูปแบบ และ กฎหมายเชิงกระบวนการ ให้ได้อย่างท่องแท้เสียก่อน กล่าวโดยสรุปจะต้องมีการปฎิวัติวัฒนธรรมทางกฎหมาย (legal culture) ของไทยเสียใหม่ เราถึงจะได้กฎหมายที่ดี ๆ ไม่เป็นอุปสรรคและต้นตอของความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (structural violence) ที่ทุกฝ่ายอยากจะขจัดเงื่อนไขนี้ให้หมดไปจากสังคมไทย...


       
       



       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2547


       



หน้าที่แล้ว
1 | 2 | 3

 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544