สิทธิพลเมือง อธิปไตยของปวงชน : ฐานะและบทบาทที่ลดลง

4 มกราคม 2548 13:58 น.

                   
       ฐานะและบทบาทของ สิทธิพลเมือง (Civil Rights) และ อำนาจอธิปไตยของชาติ (Sovereignty of State) นั้นมีบทบาทที่สำคัญและเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันอย่างยิ่งโดยเฉพาะต่อการกำหนดทิศทาง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองให้ตอบสนองต่อความยั่งยืน (sustainable) ในเป้าหมาย หลากหลายมิติ ทั้งนี้เพราะ ฐานะบทบาทและความสัมพันธ์ที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ของประเด็นทั้งสองนี้ จะเป็นตัวชี้วัด และ ส่งผลต่อ การกำหนดเป้าหมาย การออกแบบ เครื่องมือและกระบวนการตัดสินใจของประเทศ ให้ตอบสนองต่อความยั่งยืนที่ว่านี้ได้ โดยนัยการเข้าถึง สิทธิพลเมืองของประชาชนในทาง เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมผ่านกระบวนการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะอย่างแท้จริงนั้น จะส่งผลสะท้อนต่อทิศทางการใช้ อำนาจอธิปไตยของรัฐ ที่หลอมรวมเอาผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวม(ปวงชน) ไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างเกื้อกูลต่อกันได้ ในทางตรงกันข้ามหากสิทธิพลเมืองถูกจำกัดตัดทอนหรือมีอยู่ในระดับต่ำ หรือเต็มไปด้วยเงื่อนไข ผลที่จะมีต่อการตัดสินใจในการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐก็จะลดน้อยตามไปด้วย ดังตัวอย่างสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในด้านการเมือง ที่ประชาชนพึงได้รับข้อมูลข่าวสาร และ ร่วมแสดงออกในความคิดเห็น ต่อนโยบายสาธารณะ หากประชาชนในฐานะ “บุคคล” ขาดไปซึ่งสิทธิเสรีภาพในด้านนี้ทั้ง ๆ ที่เป็นสิทธิในฐานะปัจเจกบุคคล ก็เป็นเรื่องยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ผลจากการรับรองสิทธิของปัจเจกบุคคล จะสามารถขยายไปสู่สิทธิของปวงชนที่กว้างขวางออกไปจนสามารถ พัฒนาขยายเป็นการแสดงออกถึงซึ่งสิทธิที่กว้างขวางใหญ่กว่านั้นในฐานะ อธิปไตยของปวงชน ซึ่งมีรากแก้วมาจากอำนาจของปวงชนได้ ด้วยเหตุนี้ฐานะและบทบาทของ “สิทธิพลเมือง” จึงหาได้มีความหมายจำกัดคับแคบวนเวียนอยู่แต่เพียงเฉพาะประโยชน์ส่วนบุคคล ในแต่ละด้านตามที่กฎหมายให้การรับรองคุ้มครองไว้ หากแต่ในระดับคุณค่าหรือเป้าหมายปลายที่สูงกว่านั้นยังสามารถแสดงถึง ฐานะ และ บทบาทของการใช้อำนาจอธิปไตยของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย
                   
       ความสัมพันธ์ในข้อนี้สามารถพิจารณาต่อไปได้อีกว่า ฐานะและบทบาทในเชิง “คุณค่า” ของการใช้อำนาจอธิปไตยของประเทศ หาใช่เพียงแค่การมีองค์กรทางการเมือง หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งสามารถตัดสินใจแทนคนทั้งประเทศได้อย่างรวดเร็ว เด็ดขาดไม่ หากแต่จะต้องพิจารณาใคร่ครวญให้ลึกซึ้งเห็นถึงฐานะแก่นสารของบทบาทที่แท้ของ “สิทธิพลเมือง” ว่าได้วางอยู่และสามารถนำไปสู่การบังคับใช้ได้จริงในบริบทสังคมเศรษฐกิจการเมืองแบบใด เป็นต้นว่า ได้จัดตั้งวางอยู่บนฐานแห่งวัฒนธรรมเชิงอำนาจ (authoritarian) ที่ขึ้นอยู่กับผู้นำ หรือ ประชาธิปไตยแบบการมีส่วนร่วมของประชาชน (Participatory Democracy) ที่การใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน สะท้อนและมีจุดยึดโยงอยู่กับสิทธิเสรีภาพของปวงชนในสังคมได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะส่งผลต่อให้กระบวนการตัดสินใจของประเทศบนฐานความรู้ (Knowledge base) สามารถทำงานได้จริงผ่านโครงสร้าง และ กลไก การใช้อำนาจรัฐ ในหลากหลายระดับ และ รูปแบบ (forms) ที่การริเริ่มหรือดำเนินการ ในนโยบายสาธารณะ (Public Service Policy) นั้นมาจากเสียงสะท้อนแสดงความต้องการของสังคมโดยรวมจริง ๆ
       
                   
        ฐานะและบทบาทของทั้ง สิทธิพลเมืองและอำนาจอธิปไตยของปวงชนในลักษณะที่เป็น สารัตถะ (substantial) นี้ นับได้ว่ามีนัยสำคัญมากต่อความเคลื่อนไหวปรับเปลี่ยน เพื่อออกแบบกลไก การตัดสินใจแทนคนทั้งประเทศเสียใหม่ โดยเฉพาะในยุคสมัยที่ ประเทศกำลังเผชิญกับกระบวนการจัดระเบียบโลกใหม่ของโลก(New World Order) ในเวลานี้ โดยที่ระบบเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) ที่เป็นผลพลวงของสำนักคิดเศรษฐศาสตร์จาก Chicago School ที่แนวความคิดนี้ถูกนำมาปลูก (Transplant) และใช้กันทั่วโลกแม้กระทั่งในประเทศไทย ที่รู้จักกันในนาม การเปิดเสรีทางการค้า (Trade Liberalization) ที่ได้สร้างทางขึ้นให้รับกับการแผ่อิทธิพลของอำนาจทุนและเทคโนโลยี บวกกับอำนาจทางการเมืองและการทหาร สามารถเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อการกำหนด เปลี่ยนแปลงในนโยบายสาธารณะของประเทศในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้าน การศึกษา บริการการสาธารณะ พลังงาน ฐานทรัพยากรของประเทศ การค้าและบริการ (Trade and Services) ฯลฯ ทั้งนี้โดยพยายาม ขยายแนวคิด ปรับเปลี่ยนกลไกทางนโยบายของรัฐชาติให้มาตอบสนองต่อการเปิดเสรีทางการค้าโดยเฉพาะ ภาคการค้าและบริการ และ พยายามเปลี่ยนสิ่งที่เป็นสมบัติสาธารณะ (public goods) ให้เป็น “สินค้า(Commodity)” แล้วถ่ายโอนไปเป็นของภาคเอกชน (Private Sector) ภายใต้ธงของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ(Privatization) หรือ การลงทุนเป็นจุดหมายปลายทาง
                   
       กระบวนการเคลื่อนย้ายทุนและเทคโนโลยีในช่วงเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้ ได้ส่งผลโดยตรงต่อการพลิกโฉมหน้าใหม่ของการจัดบริการสาธารณะ (Public Services) และการเกิดขึ้นของโครงการขนาดใหญ่ของรัฐในเรื่องใหม่ ๆ แม้กระทั่งโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ ฐานะและบทบาทของสิทธิพลเมืองและอธิปไตยของปวงชนภายในรัฐโดยตรง เฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็น กระบวนการตัดสินใจของรัฐในการริเริ่ม ดำเนินการจัดทำนโยบายสาธารณะ หรือ นโยบายต่าง ๆ เพื่อให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน (Trade liberalization and Investment) ที่ผลการดำเนินการ จะไปบดบังเปลี่ยนแปลงแก่นสารในบทบาทหน้าที่ของรัฐชาติที่จะต้องนำการจัดบริการสาธารณะให้ตอบสนองต่อ สภาพปัญหา ความเป็นจริงของสังคมเศรษฐกิจ และระดับการพัฒนาของประเทศ หรือ ความเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะ sui generis ของประเทศไทย ไปเป็นการมุ่งเน้น เกื้อหนุน ตอบสนองและอำนวยความสะดวกต่อนักลงทุนต่างชาติ เพื่อการแสวงหากำไร (Marginalization) มากขึ้น เป็นจุดหมายปลายทาง ทั้ง ๆ ที่บทบาทหน้าที่ๆ ควรจะเป็นของรัฐแทนที่จะเป็นตัวสะท้อนความต้องการของประชาชน หรือ ผลประโยชน์สาธารณะ ที่ได้จากกระบวนการตัดสินใจ ผ่านกระบวนการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่ได้แสดงความต้องการและสามารถยกระดับขยายไปจนถึง การแสดงออกถึงการใช้อำนาจอธิปไตยของประเทศ ในการก่อตั้งหรือ ดำเนินการในนโยบายสาธารณะในด้านต่าง ๆ
                   
       ตัวอย่างการจัดทำ ร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความเห็นของประชาชน พ.ศ... ของรัฐบาล โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบยกร่างกฎหมายนี้ ก่อนที่จะนำไปสู่การพิจารณาของสถาบันนิติบัญญัติต่อไปนั้น เป็นภาพสะท้อนที่ดีแสดงถึงฐานะและบทบาทของทั้งสิทธิพลเมืองและอำนาจอธิปไตยของประเทศ ในอนาคตว่าจะนำประเทศไปสู่ทิศทางใด หากมองจากแง่มุมของสิทธิเสรีภาพของสังคม เศรษฐกิจและการเมืองไทย
                   
       บทความนี้จะพิจารณาพิเคราะห์ถึงสารัตถะแก่นสาร ที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ก่อตั้งขึ้น ในประเด็นสำคัญที่ว่า ร่างกฎหมายนี้สามารถสะท้อนสิทธิเสรีภาพของพลเมืองได้ในระดับใด และ ผลดังกล่าวจะส่งผลต่อการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ในสภาวะการของอิทธิพลจากพลังอำนาจของ ทุน เทคโนโลยี และ เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศที่เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินการหรือการเกิดขึ้นของการบริการสาธารณะตลอดทั้งนโยบายในด้านต่าง ๆ ได้ในระดับใด และ อย่างไร สุดท้าย ร่างกฎหมายควรมีกรอบและแนวคิดหลักการอย่างไร ที่จะสอดคล้องกับยุคสมัยและบริบทปัญหาของสังคมเศรษฐกิจไทยในทัศนะของผู้เขียน
       
       สิทธิพลเมืองภายใต้ ร่าง พ.ร.บ. การรับฟังความเห็นของประชาชน พ.ศ...
                   
        1. กรอบคิดในการวิเคราะห์
       
                   
        ร่างพระราชบัญญัติรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ... ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้จัดเตรียมขึ้นนี้ มีเจตนาที่ จำกัดขอบเขตสิทธิของพลเมืองในการได้รับข้อมูล คำชี้แจงในการดำเนินโครงการ หรือ การกระทำที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น ให้อยู่เฉพาะภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๕๙ ที่รับรองสิทธิในการได้รับข้อมูลคำชี้แจงและเหตุผลจากทางราชการ ในการดำเนินโครงการในขอบเขตที่ว่านี้ โดยบัญญัติไว้ความว่า
       
                   
        “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ
                   
        หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นก่อนการอนุญาต
                   
        หรือดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่ง
                   
        แวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใด
                   
        ที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตน
                   
        ในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ตามกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน
                   
        ที่กฎหมายบัญญัติ”

       
                   
        ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ ผู้เสนอและจัดทำร่างกฎหมายนี้ จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ยึดเอากรอบแนวคิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๙ เป็นกรอบและเงื่อนไขสำคัญในการ ไปกำหนดหลักการ กลไก เงื่อนไข และกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งมีหลักการสำคัญที่ว่า บุคคลมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากการดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมใด ที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใด ก่อนการอนุญาตหรือดำเนินโครงการ ทั้งยังมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนในการดำเนินโครงการดังกล่าวตามมา
                   
        สาระสำคัญใน มาตรา ๕๙ แห่งรัฐธรรมนูญฯ จึงได้บัญญัติก่อตั้งหลักการที่ว่านี้ไว้โดยสามารถแยกแยะได้โดยสรุปคือ
                   
        - การได้รับข้อมูลคำชี้แจง และเหตุผลจากทางราชการ ก่อนการดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมอื่นใดที่อาจกระทบต่อ สิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตหรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตน หรือ ชุมชนท้องถิ่น นั้นถือ “เป็นสิทธิ (rights)” ซึ่งจะไปสร้าง หน้าที่ ต่อรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ในอันที่จะให้ข้อมูล และมีความผูกพันต่อองค์กรของรัฐที่จะต้องปฎิบัติและทำให้เกิดผลตามเนื้อหาแห่งสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรอง โดยนัยมาตรา ๒๗ แห่งรัฐธรรมนูญ
       
                   
        - เมื่อได้รับข้อมูลคำชี้แจงดังกล่าวข้างต้นนี้แล้ว รัฐธรรมนูญ ฯ ยังได้ให้การรับรองต่อไปถึง สิทธิในการแสดงความคิดเห็น จะในลักษณะใด ๆ เช่นเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือแม้แต่ข้อเสนอแนะอื่นใด จากการดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมดังกล่าว
       
                   
        - สิ่งที่จะเป็นเงื่อนไขนำไปสู่การใช้สิทธิทั้งสองประการนี้ จำกัดอยู่ในประเด็นเรื่องโครงการหรือกิจการที่อาจจะมีผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียอื่นใดที่เกี่ยวกับตน หรือ ชุมชนท้องถิ่น
                   
        - สิทธิที่รัฐธรรมนูญ ฯ ก่อตั้งโดยนัยมาตราที่ ๕๙ นี้จะรองรับต่อ บุคคลสองฐานะคือ ในฐานะที่เกี่ยวกับตนเอง และ/หรือ ในฐานะชุมชนท้องถิ่น ที่แม้ไม่เกี่ยวกับตนเองแต่หากจะเกิดผลต่อชุมชนท้องถิ่น การใช้สิทธิโดยอาศัยฐานสิทธิตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๕๙ นี้ย่อมสามารถทำได้ แต่ยังจำกัดเงื่อนไขความสัมพันธ์ของผู้ใช้สิทธิและโครงการหรือกิจกรรมนั้น ๆ ด้วย หาได้มีผลเป็นการทั่วไปที่ใคร ๆ ก็จะสามารถมาใช้สิทธินี้ได้ แต่กระนั้นก็ตามก็ต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ของโครงการหรือกิจกรรม ด้วยว่ามีขอบเขตกว้างขวางเพียงใด ซึ่งหากเป็นโครงการที่กว้างขวางกระทบต่อส่วนได้เสียของคนโดยทั่วไป สิทธิของบุคคลทั่วไปก็สามารถเข้ามาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๕๙ นี้ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ ได้ถือเอาส่วนได้เสียเป็นเงื่อนไขสำคัญด้วยประการหนึ่ง ที่บุคคลจะสามารถอ้างสิทธิในการเข้าถึง สิทธิที่รัฐธรรมนูญ ฯ รับรองคุ้มครองตามมาตรา ๕๙ นี้ได้
                   
        - รัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๕๙ หาได้บัญญัติรายละเอียดถึงฐานะความผูกพัน ว่าส่วนราชการจะใช้ข้อมูล ข้อคิดเห็นของประชาชน ไปในทิศทางใดโดยกรณีอาจจะมีฐานะเป็นเพียง ข้อมูลความคิดเห็นของประชาชน ประกอบความเห็นการตัดสินใจ หรือ กรณีที่มีความเข้มข้นผูกพันลึกไปมากกว่านั้นถึง การออกคำสั่ง หรือ นิติกรรมทางปกครอง หรือไม่อย่างไร จึงเป็นประเด็นที่ทิ้งไว้ให้เป็นหลักการที่จะต้องกำหนดรายละเอียดในกฎหมายลูก ที่มีฐานะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะกำหนดรายละเอียดขึ้นมาภายหลัง คือ ร่างพระราชบัญญัตรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ....ที่พิจารณาอยู่นี้
       
                   
        อาจกล่าวได้ว่า แนวคิดที่มาซึ่งเป็นเหตุผลเบื้องหลังของการมีร่างกฎหมายนี้อาศัยที่มาจาก เป้าหมายแนวทางในการกำหนดรายละเอียดสิทธิในการได้รับข้อมูล คำชี้แจง จากราชการที่รัฐธรรมนูญมาตรา ๕๙ ให้การรับรองคุ้มครองไว้เท่านั้น รายละเอียดที่แสดงออกจากร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.... จึงสะท้อนหลักการแนวคิดที่ว่านี้
                   
       ความสัมพันธ์ในการกำหนดขอบเขตของ “สิทธิพลเมือง” ของร่างกฎหมายนี้จึงอยู่ในลักษณะที่จำกัด หากพิจารณาในแง่ของเนื้อหาแห่งสิทธิแล้ว จะถือเอาลักษณะโครงการหรือกิจกรรมเป็นตัวตั้ง หากโครงการดังกล่าว อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใด หากไม่อยู่ในขอบเขตข้างต้นนี้อาจไม่เข้าข่ายที่จะอ้างสิทธิที่กฎหมายรับรองคุ้มครองได้ ในประการสำคัญ สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเนื้อหาสาระแห่งสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้หลักประกัน รับรองคุ้มครองไว้ จะต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า สิทธิในการรับทราบข้อมูล และ การแสดงความคิดเห็นต่อโครงการหรือกิจการต่าง ๆ นั้น ผู้ใช้สิทธิจะสามารถเข้าถึง (Access to) ได้มากน้อย หรือ สะดวก ปราศจากเงื่อนไขข้อจำกัดหรือไม่ เมื่อพิเคราะห์จากหลักการตามรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๕๙ นี้แล้ว พบว่าตัวรัฐธรรมนูญ ฯ เพียงแต่ให้การรับรองและประกันเฉพาะ “สิทธิในการรับทราบข้อมูล และร่วมแสดงความคิดเห็น” เท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญฯ ไม่ได้กำหนดรายละเอียดหลักการสำคัญ ๆ ว่า สิทธิที่ได้รับรองคุ้มครองประกันไว้นั้น จะเข้าถึงมันอย่างไร การเข้าถึงสิทธิที่ว่านี้จึงมีทางเดียวคือ จะต้องกระทำผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ทางราชการจะกำหนดจัดให้มีขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับรายละเอียด หลักการ กลไก ตลอดจนวิธีการ ตามที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะตราขึ้นภายหลังจะถูกออกแบบมาอย่างไร ดังตัวอย่างรูปธรรมที่แสดงออกตาม ร่าง พ.ร.บ. การรับฟังความเห็นของประชาชน พ.ศ... ที่พิจารณานี้ จึงอาจกล่าวได้ว่าโดยเนื้อหาและแก่นสารแล้วเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๕๙ นี้เป็นเพียงให้ประกันเพียง “เนื้อหาแห่งสิทธิ” เท่านั้น หาได้ประกันครอบคลุมไปจนถึง “กระบวนการทางกฎหมาย” (Legal Process ) ที่เป็นหัวใจสำคัญและเป็นเนื้อหนังของสิทธิซึ่งจะต้องพิจารณาควบคู่กันเป็นเงาตามไปด้วย ที่จะเป็นตัวชีวัดถึงประสิทธิภาพของการเข้าถึงสิทธิพลเมืองของคนไทยนั่นเอง
                   
       นอกจากนี้แล้วหากประเด็นการพิจารณาของเราไม่จำกัดเพียงแค่ ตัวสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้หลักประกันรับรองคุ้มครองไว้เท่านั้น โดยมองให้ลึกจนถึงการเข้าถึงสิทธิเป็นอีกส่วนหนึ่งด้วยแล้ว เฉพาะประเด็นการเข้าถึงสิทธิพลเมืองของประชาชนยังจำต้องเข้าใจถึงบริบทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไปด้วย อาทิเช่น ความโปร่งใสในการก่อตั้ง หรือ ดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะ การมีส่วนร่วมของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ตลอดทั้งการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารของทางราชการ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีนัยความหมายที่สำคัญต่อประสิทธิภาพในการเข้าถึงสิทธิ ตลอดจนการใช้สิทธิของประชาชน โดยเฉพาะในประเด็นทางด้านเทคนิค ทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ ซึ่งจำต้องมีการศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริงจากส่วนต่าง ๆ ของสังคมก่อนเพื่อสร้างระดับการเรียนรู้ในทุกแง่ทุกมุม ก็จะทำให้การใช้สิทธิของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น มีคุณภาพและมีความรอบด้านในเนื้อหาสาระ บนฐานของความรู้มากยิ่งขึ้น อันจะเป็นหลักประกันต่อมาสู่การตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สนองประโยชน์ในระยะยาวของประเทศและสาธารณะได้กว้างขวางยิ่ง ๆ ขึ้นไป
                   
       ฉะนั้น การทำความเข้าใจสิทธิพลเมือง ภายใต้ร่าง พระราชบัญญัติการรับฟังความเห็นของประชาชน พ.ศ… จึงจำต้องมาจากรากฐานทางความคิดที่ข้ามพ้น (Over look) เพียงถ้อยวลีหรือถ้อยคำในทางกฎกมายที่ประกอบขึ้นเป็น “สิทธิ(Rights)” ที่รัฐธรรมนูญ ตลอดจน ตัวร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะตราขึ้นตามมา หากแต่จะต้องพิจารณาสำรวจถึงประเด็นสาระที่ไกลกว่านั้น โดยเฉพาะ การเข้าถึงสิทธิของพลเมืองที่อาจจะอยู่ในรูปของ การออกแบบมาตรการ กลไก และกระบวนการทางกฎหมาย รวมถึง บริบทอื่นๆ เช่นการทำให้ข้อมูลภาครัฐมีการไหลเวียน ซึ่งจะส่งเสริมให้การเข้าถึงสิทธิที่ว่านั้นมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย
                   
       2. “สิทธิพลเมือง” และ “การเข้าถึงสิทธิ”
                   
       สิทธิของพลเมือง ในการได้รับข้อมูลคำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือดำเนินโครงการ หรือ กิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๙ นี้นั้น เป็นสิทธิที่ถูกกำหนดอยู่ภายใต้หลักการและเงื่อนไข ในการเข้าถึงสิทธิดังกล่าวนั้น โดยนัย ร่าง พระราชบัญญัติการรับฟังความเห็นของประชาชน พ.ศ…ที่ได้กำหนดหลักการและวางเงื่อนไขการเข้าถึงสิทธิที่ว่านี้ไว้ใน ๓ ลักษณะคือ ๑.) การกำหนดวิธีการเข้าถึงสิทธิให้อยู่ภายใต้ดุลยพินิจของฝ่ายการเมือง และ อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับอื่น ๒.) การกำหนดขอบเขตบุคคลที่จะเข้าถึงสิทธิให้อยู่ในบทนิยาม “ผู้ได้รับผลกระทบ” และ ๓.) กำหนดขอบเขตเงื่อนไขการใช้สิทธิให้อิงอยู่กับโครงการหรือกิจกรรม ที่ยึดพื้นที่เป็นตัวกำหนดทั้งหมดนี้แสดงออกจากสาระสำคัญที่ปรากฎในร่างทางกฎหมาย กล่าวคือ
                   
       ก. หลักการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

                   
       ร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ… กำหนดหลักการทั่วไป ในการเข้าถึงสิทธิ ในมาตรา ๑๔ วรรคแรก โดยถือว่าเป็นมาตราหลักของการเข้าถึงสิทธิ โดยบัญญัติว่า
                   
       “ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐจะพิจารณาอนุญาตหรือดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมใด ถ้าเป็นกรณีที่มีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับบุคคล หรือชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลเพื่อให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบได้รับทราบ และต้องปรึกษาหารือร่วมกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นก่อนที่จะตัดสินใจพิจารณาอนุญาต หรือดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมนั้น…”
                   
       มาตรา ๑๔ วรรคแรกของร่างกฎหมาย ได้รับรองสิทธิของพลเมือง ในการรับทราบข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผล ในการดำเนินโครงการ หรือ กิจกรรมใด ที่มีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับบุคคล หรือชุมชนท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็มี สิทธิในการแสดงความคิดเห็น ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และปรึกษาหารือร่วมกับหน่วยงานของรัฐ ก่อนที่ทางราชการจะตัดสินใจพิจารณาอนุญาต หรือ ดำเนินโครงการหรือกิจกรรม นั้น ๆ การเข้าถึงสิทธิโดยนัย มาตรา ๑๔ วรรคแรกนี้ ได้แสดงและตอกย้ำถึง สิทธิในการรับข้อมูล คำชี้แจง และ สิทธิในการแสดงความคิดเห็น ก่อนที่ทางราชการจะตัดสินใจ อนุญาต หรือ ดำเนินการโครงการ หรือ กิจกรรม หลักการที่กฎหมายก่อตั้งขึ้นนี้ ทำให้หน่วยงานของรัฐมีความผูกพันที่จะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ก่อนการตัดสินใจอนุญาตหรือดำเนินโครงการหรือกิจกรรมจากหน่วยราชการเจ้าของเรื่อง ซึ่งถือว่าเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญ ที่ผู้ร่างยึดถือจากหลักการที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๕๙ ของรัฐธรรมนูญ ฯ เป็นแนวทางนั่นเอง
                   
       แต่อย่างไรก็ตามการรับรองสิทธิของพลเมืองในเนื้อหาสาระ สิทธิทั้งสองด้านข้างต้นนี้หาได้เป็นบทบัญญัติทางกฎหมายที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ในทุก ๆ กรณีแต่อย่างใดไม่ ทั้งนี้เพราะในร่างกฎหมายนี้เองได้ มีการบัญญัติเงื่อนไขของการเข้าถึงสิทธิไว้อีกอย่างน้อย ๓ ประการ ซึ่งยังผลให้สิทธิของพลเมืองที่ร่างกฎหมายนี้ให้การรับรองคุ้มครองไว้ใน มาตรา ๑๔ วรรคแรก นั้นจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ร่างกฎหมายได้วางไว้ด้วย
                   
       ข. เงื่อนไขในการเข้าถึงสิทธิ

                   
       ๒.๑ การกำหนดวิธีการเข้าถึงสิทธิให้อยู่ภายใต้ดุลยพินิจของฝ่ายการเมือง และ อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับอื่น ดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕ ซึ่งกำหนดไว้ว่า..
                   
       “การอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่หน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการตามมาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง ได้แก่กรณีดังต่อไปนี้
                   
       (๑) กรณีที่กฎหมายกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
                   
       
       (๒) กรณีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
                   
       (๓) กรณีอื่นที่มีผลกระทบตามลักษณะหรือขอบเขตที่กำหนดในกฎกระทรวง
                   
       ในกรณีที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลหน่วยงานของรัฐเห็นสมควรจัดให้มีการปรึกษาหารือร่วมกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ในโครงการหรือกิจกรรมใด นอกเหนือจากที่กำหนดในวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ด้วย
                   
       ถ้าประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเห็นว่าการจะพิจารณาอนุญาตหรือการจะดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดของหน่วยงานของรัฐมีผลกระทบมาตรา ๑๔ วรรคหนึ่งซึ่งทำให้ชุมชนของตนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย อาจเข้าชื่อร้องขอต่อคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการที่ได้รับมอบหมาย เพื่อพิจารณามีคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ได้ ทั้งนี้หลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อร้องขอให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด”
       
       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2547

       
       
       


                   
       หลักการทางกฎหมายที่ได้บัญญัติไว้เป็นเงื่อนไขการเข้าถึงสิทธิข้างต้นนี้ ถือเป็นหลักฐานเด่นชัด ที่แสดงให้เห็นว่าการเข้าถึงสิทธิ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้สิทธิพลเมืองที่ได้รับการรับรองคุ้มครองตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญนั้น อาจจะไม่บรรลุตามเป้าหมาย หรือ เต็มไปด้วยขวากหนามได้ ดังแสดงให้เห็นจากร่างกฎหมายที่ได้บัญญัติเป็นเงื่อนไขไว้เป็นหลักการในขั้นตอนต่อมาโดย
                   
       - กฎหมายอื่นที่ใช้บังคับอยู่ก่อนแล้ว จะต้องกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
                   
       - กฎหมายกำหนดให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ
                   
       - มีกฎกระทรวงกำหนดไว้ให้ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
                   
       - เป็นดุลพินิจของ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรีผู้กำกับหน่วยงานต่างที่จะเห็นสมควร และ
                   
       - การเข้าชื่อเรียกร้องจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบร้องขอให้มีการเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็น
                   
       ทั้งหมดเหล่านี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า การจะเข้าถึงสิทธิของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ จะต้องด้วยเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้ง ๔ ประการข้างต้นนี้ หรือ เป็นกรณีการแสดงเจตนาเรียกร้องด้วยในเวลาเดียวกัน แต่การเรียกร้องดังกล่าวก็ใช่ที่จะบรรลุผลโดยทันทีทันใด ข้อเรียกร้องของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าวจำต้องถูกกลั่นกรอง ใช้ดุลยพินิจอีกชึ้นหนึ่งต่อคณะกรรมการ เพื่อมีคำสั่งให้หน่วยราชการดำเนินการเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ซึ่งหน่วยราชการนั้น ๆ จะยอมปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้ ร่างกฎหมายก็หาได้มีมาตรการอะไรมาบังคับเพื่อเป็นการประกันว่าการใช้สิทธิเรียกร้อง ของประชาชน ตามมาตรา ๑๕ วรรคสาม ไปสู่การปฎิบัติได้
                   
       ๒.๒ การกำหนดขอบเขตบุคคลที่จะเข้าถึงสิทธิให้อยู่ในบทนิยาม “ผู้ได้รับผลกระทบ” ในความหมายโดยแคบ
                   
       ซึ่งปรากฎในร่างกฎหมาย มาตรา ๓ ที่บัญญัตินิยามความหมายของคำว่า “ผู้ได้รับผลกระทบ” หมายความว่า ผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐอนุญาต หรือสั่งการให้ดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมใด อันแสดงให้เห็นว่าบุคคลที่จะเข้าถึงสิทธิในอันที่จะได้รับข้อมูล คำชี้แจง และ สิทธิในการแสดงความคิดเห็นในการดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมใดนั้น จำกัดเฉพาะบุคคลผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงประการแรก และ จะต้องมีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับโครงการ หรือ พื้นที่ ๆ จะมีการอนุญาต หรือดำเนินโครงการหรือกิจกรรมนั้น ๆ ด้วย ซึ่งจะส่งผลให้บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น จากนักวิชาการ องค์กรเอกชน ที่ปรึกษาชาวบ้านอื่น ๆ ไม่มีสิทธิเข้ามามีส่วนในการรับฟังหรือแสดงความเห็น ต่อการดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้เลยอันเป็นการจ่อเจตนาของผู้ร่างที่ต้องการกีดกันบุคคลเหล่านี้ออกไป ไม่ให้มามีส่วนร่วมในการเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็น อันเป็นการทำลายประสิทธิภาพของการเข้าถึงสิทธิของประชาชน ที่จะมีข้อมูลที่มีความแตกต่าง หรือเหตุผลในทางเทคนิคอื่น ๆ ที่ประชาชนผู้ถือสิทธิตามร่างกฎหมายนี้จะได้ทราบข้อความจริง
                   
       ๒.๓ กำหนดขอบเขตเงื่อนไขการเข้าถึงสิทธิ ให้อิงอยู่กับ โครงการหรือกิจกรรมซึ่งยึดพื้นที่เป็นตัวกำหนด
                   
       การจำกัดขอบเขตและเงื่อนไขประการสุดท้ายของการเข้าถึงสิทธิ ในกรณีการจำกัดขอบเขตสิทธิที่จะรับรู้ข้อมูล เหตุผลคำชี้แจง และ สิทธิในการแสดงความเห็นภายใต้ร่างกฎมายนี้ จะเน้นอยู่ติดกับพื้นที่ ๆ จะมีการอนุญาต หรือ การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจจะมีผลกระทบต่อ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น ทำให้การดำเนินนโยบายอื่น ๆ ของรัฐที่ไม่เกี่ยวข้องกับการอนุญาต หรือ การก่อสร้าง แต่ก่อผลกระทบต่อประชาชน ทั้งฐานทรัพยากร คุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือ นำไปสู่ปัญหาความยากจนได้ ดังกรณีเช่น การทำข้อผูกพันระหว่างประเทศ ด้านทรัพยากร การเปิดเสรีทางการค้า และ การลงทุน ฯลฯ ตัวอย่างที่ประเทศไทยจะดำเนินการเจรจาเพื่อนำไปสู่การทำข้อตกลงเขตการค้า หรือ FTA (Free Trade Agreement) ระหว่างไทย-สหรัฐ เป็นต้น อันจะส่งผลเปลี่ยนแปลงทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของประเทศในขอบเขตที่กว้างขวาง และอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญและกำลังเป็นปัญหาถกเถียงสาธารณะ ประชาชนก็ไม่อาจใช้สิทธิได้ตามร่างกฎหมายนี้แต่อย่างใด เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอนุญาติ หรือ การดำเนินการก่อสร้างใด ๆ
                   
       3. ก่อตั้งสิทธิให้แก่รัฐ ในการดำเนินโครงการ
       
                   
        โดยสาระแก่นสารการนำกฎหมายไปบังคับใช้ของสังคมเศรษฐกิจไทย ที่ยึดถือหลักการนิติรัฐ (Legal State) ซึ่งอิงอยู่กับ “กฎหมายที่เขียน (written law)” เป็น บ่อเกิดที่มาของอำนาจและ เป็นตัวสะท้อนข้อจำกัดการใช้อำนาจได้อีกทางหนึ่งนั้น ร่างกฎหมายนี้นอกจากจะไปรองรับสิทธิพลเมืองตามรัฐธธรรมนูญ ฯ มาตรา ๕๙ ด้วยแล้ว ยังมีหลักการใหม่ ๆ ที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนโดยร่างกฎหมายนี้ยัง นำไปสู่การสถาปนาอำนาจรัฐใหม่ให้แก่ คณะรัฐมนตรีในการดำเนินโครงการใด ๆ โดยไม่ต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของสาธารณะ หรือ ไม่ต้องนำเอาผลจากการรับฟังความคิดเห็น ของสาธารณะมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจดำเนินโครงการ แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติรับรองสิทธิพลเมืองในด้านนี้เอาไว้ ประกอบกับมีการตรากฎหมายลูกออกมารองรับ จะเห็นได้จากหลักการที่บัญญัติไว้ใน วรรคสาม และ วรรคสี่ของมาตรา ๑๔ ที่ว่า..
       
                   
        “หน่วยงานของรัฐต้องนำผลการรับฟังความเห็นมาประกอบการตัดสินใจ พิจารณาอนุญาตหรือดำเนินการโครงการโครงการหรือกิจกรรมนั้น โดยต้องหลีกเลี่ยงการดำเนินการที่จะมีผลกระทบตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่ เป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของประเทศหรือสังคมส่วรรวมและมีมาตรการเพื่อป้องกันหรือเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากผลกระทบที่เหมาะสมแล้ว
                   
        บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ไม่ใช้บังคับแก่โครงการหรือกิจกรรมใด ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการเป็นการเร่งด่วน เพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์ของประเทศ หรือ ประโยชน์สาธารณะที่จำเป็นต้องดำเนินการทันที”
       
                   
        จึงถือเป็นหลักฐานเด่นชัดอีกเช่นกันว่า ร่างกฎหมายนี้ หาได้รองรับเพียงการให้สิทธิของพลเมืองโดยนัยตาม รัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๕๙ แต่อย่างใดไม่ หากแต่ร่างกฎหมายยังนำไปสู่การสถาปนาอำนาจใหม่ให้แก่รัฐอีกทางหนึ่ง โดยหลีกเลี่ยง ที่จะไม่ต้องให้มีการรับฟังความเห็นจากสาธารณะในการดำเนินโครงการ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นว่าให้ดำเนินโครงการเป็นการ เร่งด่วน เพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์ของประเทศ หรือ ประโยชน์สาธารณะที่จำเป็นต้องดำเนินการทันที โดยถึงแม้ว่าร่างกฎหมายมาตรา ๑๔ วรรคสี่จะบัญญัติเป็นข้อยกเว้นมิให้นำหลักการของกฎหมายที่บัญญัติไว้ในร่างกฎหมายนี้มาใช้บังคับ โดยไม่ต้องมีการเปิดเผยและให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ แต่ในทางกลับกันตัวบทบัญญัตินี้นี่เอง ได้ก่อตั้งอำนาจใหม่ให้แก่คณะรัฐมนตรี ที่ว่าคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการเร่งด่วน เพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์ของประเทศ หรือ ประโยชน์สาธารณะที่จำเป็นต้องดำเนินการทันที จึงเท่ากับว่าบทบัญญัติวรรคสี่ มาตรา ๑๔ นี้เป็นการยอมรับและให้อำนาจต่อคณะรัฐมนตรีที่จะสามารถดำเนินโครงการใด ๆ ที่เห็นว่ามีความจำเป็นซึ่งสามารถทำได้ทันที การเขียนข้อยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติในร่างกฎหมายนี้ไปใช้บังคับ ไม่เพียงแต่จะบอกว่าคณะรัฐมนตรีไม่จำต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขที่ร่างกฎหมายนี้ได้กำหนดไว้เท่านั้น หากแต่ยังนำไปสู่การให้อำนาจที่ว่านี้ต่อคณะรัฐมนตรีอีกทางหนึ่งด้วย
                   
       การที่ร่างกฎหมายนี้บัญญัติก่อตั้งสิทธิให้แก่คณะรัฐมนตรีให้สามารถดำเนินการโครงการใดๆ ได้โดยอ้างเหตุจำเป็นโดยนัยมาตรา ๑๔ วรรคสี่ ทั้งที่เหตุผลการจัดทำร่างกฎหมายนี้เป็นไปเพื่อบัญญัติรับรองสิทธิพลเมืองตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๕๙ ที่ไม่ได้วางกรอบให้มีการขยายสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครองไว้ถึงการรับรองสิทธิในการดำเนินโครงการของคณะรัฐมนตรี ประเด็นจึงนำไปสู่ปัญหาความชอบด้วยกฎหมายว่า ร่างกฎหมายนี้ได้บัญญัติหลักการขยายขอบเขตเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ตามมาตรา ๕๙ หรือไม่ จึงเป็นประเด็นปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย ของร่างกฎหมายนี้ที่จะต้องได้รับการพิจารณาแก้ไขให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
       ฐานะและบทบาทของอำนาจอธิปไตยของปวงชน
       
                   
        หลักการสำคัญของการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ ได้ให้การรับรองอำนาจอธิปไตยสูงสุดเป็นของปวงชน ดังสะท้อนเห็นได้จาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓ ซึ่งได้บัญญัติไว้ความว่า...
       
       
                   
        “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็น
                   
        พระประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และ ศาล
                   
        ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”
       
                   
        บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓ นอกจากจะบัญญัติรับรองอำนาจอธิปไตยสูงสุดว่าเป็นของปวงชนชาวไทยแล้ว บทบัญญัตินี้ยังแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าการใช้อำนาจอธิปไตยที่ว่านี้ ฝ่ายบริหาร หรือคณะรัฐมนตรีนั้นหาได้มีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวไม่ หากแต่จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ความสัมพันธ์ที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขสำคัญของการใช้อำนาจดำเนินโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งต้องมาจากการมีส่วนร่วมของพลเมือง โดยเห็นได้จากเหตุผลการจัดทำร่าง พระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.... ที่กล่าวถึงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการและกลไก ของการใช้อำนาจรัฐ ที่บัญญัติรับรองให้การมีส่วนร่วมของพลเมืองสามารถเกิดขึ้นได้ อีกทั้งยังสะท้อนความเป็นอธิปไตยสูงสุดของปวงชน ในการใช้อำนาจที่ว่านี้อีกด้วย ความข้อนี้ถือเป็นหลักการสำคัญมากที่ชี้ให้เห็นถึงเงื่อนไขความสัมพันธ์ ของการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน ในฐานะที่เป็นกระบวนการตัดสินใจของประเทศซึ่ง ไม่อาจจะตัดความสัมพันธ์ของการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการตัดสินใจที่ว่านี้ไปได้ ความเกี่ยวเนื่องในสาระสำคัญนี้จึงมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อความสัมพันธ์ในระดับต่อมาของการกำหนดสิทธิพลเมือง ที่พึงจะได้รับการรับรองคุ้มครอง ตามร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญตัวอย่าง ร่าง พระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.... ที่ได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาประกอบในบทความนี้ ในประการสำคัญหากระดับหรือฐานะสิทธิพลเมืองที่บัญญัติรับรองไว้ในร่างกฎหมายมีความบกพร่อง เต็มไปด้วยข้อจำกัดหรือขวากหนามใด ๆ ก็จะส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจที่สูงกว่านั้นในระดับประเทศ หรือ การใช้อำนาจอธิปไตยได้อย่างไม่ต้องสงสัย
       
                   
        จำเพาะอย่างยิ่งในสภาวะการณ์โฉมหน้าการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจยุคเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) หรือ ตามกระแสโลกาภิวัฒน์ ที่พลิกผันผลักดันให้รัฐต้องเปลี่ยนบทบาทให้ตอบสนองกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจ และนโยบายสาธารณะมากมายหลายเรื่องให้เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มผู้ลงทุน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากการจัดทำนโยบายสาธารณะ การเปิดเสรีทางการค้า (trade liberalization) การเปิดตลาดทางการค้า (market access) การค้าและการลงทุน (trade and investment) ตลอดจนการแปรรูปสาธารณะสมบัติและสาธารณูปโภคของรัฐแก่เอกชนผู้ลงทุน (private sector) ในหลากหลายรูปแบบ (forms) เช่น กรณีความสนใจของนักลงทุนในขณะนี้ ที่กำลังหันเหเข้ามาให้ความสนใจกับการผลักดันให้มีการเปิดตลาดการค้าบริการในธุรกิจน้ำ การเจรจาในระดับพหุภาคีภายใต้องค์การการค้าโลก (World Trade Organization) ในเรื่องต่าง ๆ ข้างต้น หรือ การเจรจาในระดับทวิภาคีที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ดังตัวอย่างที่ประเทศไทยกำลังจะมีการเจรจาจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี FTA (Free Trade Agreement) Thai-US และกับประเทศอื่น ต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นต้นตอ ที่สำคัญและเป็นที่มาของ โครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งจะเกิดขึ้นตามมา เพื่อจัดบริการสาธารณะ หรือ การปฎิบัติตามเงื่อนไขของข้อตกลง ที่ดูจะเป็นเหตุผลความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีร่าง พระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ... ขึ้นมาเป็นกลไกที่สำคัญในทางกฎหมาย มารองรับกระบวนการมีส่วนร่วมของพลเมือง ตามเงื่อนไขและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะสิทธิพลเมืองที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๙ ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ฉะนั้นการมีอยู่ของตัวกฎหมายเพื่อรองรับกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองของประเทศ กับ การบรรลุผลให้ถึงที่สุด (executions) ในสิทธิพลเมืองกรณีการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของรัฐให้ส่งผลต่อการใช้อธิปไตยของปวงชน จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมไทยโดยเฉพาะผู้ที่ให้ความสนใจต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงในนโยบายสาธารณะในขณะนี้ สมควรหยิบยกขึ้นมาพิจารณา และ จะยกฐานะประเด็นข้อถกเถียงและการกำหนดเป้าหมายปลายทางของการมี ร่าง พระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.... ให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้นไปให้ถึงคุณภาพของการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ ทั้งหมดนี้จึงขึ้นอยู่กับการทำความเข้าใจประเด็นความสัมพันธ์ของสิ่งสำสัญสามประการคือ สิทธิ (rights) พลเมือง(civil) และ อธิปไตย (sovereign) ให้สามารถตอบสนองต่อ การออกแบบ และกำหนด กลไก ในร่างกฎหมายให้รอบด้านมากขึ้นได้อย่างไร


       
       ภาพประกอบ : ความสัมพันธ์ของสิทธิพลเมืองและอำนาจอธิปไตย
       
       
                   
        จากแผนภาพแสดงให้เห็นถึง ฐานะความสัมพันธ์ขององค์ประกอบสามส่วนที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานะความเป็นอธิปไตยสูงสุดในระบบสังคมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่สามารถแยก ฐานะและบทบาทของสิทธิ (rights) และผู้เป็นฐานรองรับสิทธิดังกล่าวนั้นคือ พลเมือง (civil) ได้ ในระบบสังคมที่พลเมืองปราศจากสิทธิ หรือ การเข้าถึงสิทธิเต็มไปด้วยขวากหนามหรืออุปสรรค์ ย่อมจะส่งผลโดยตรงต่อการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ (sovereignty of state) ในประการสำคัญที่ว่า การใช้อำนาจตัดสินใจดังกล่าวนั้นได้สะท้อนฐานะและบทบาทของความเป็นอธิปไตยสูงสุด ที่เป็นของประชาชนหรือไม่ ความในข้อนี้แสดงว่าการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ หาได้จำกัดวนเวียนเฉพาะการทำหน้าที่ ความสัมพันธ์จาก ฝ่ายบริหาร กับรัฐสภา เท่านั้นหากแต่ฝ่ายผู้ใช้อำนาจตัดสินใจ (รัฐบาล หรือ คณะรัฐมนตรี) จำต้องผูกพันตนเองต่อรัฐธรรมนูญ และ การจัดให้มีนโยบายหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อ รองรับยึดโยงกับการมีส่วนร่วมของสิทธิพลเมืองเพื่อสะท้อนถึงการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐที่ว่านี้ด้วย
       
                   
        ในขณะเดียวกันหากระดับของการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ ไม่ได้สะท้อนอำนาจของปวงชน เช่นรองรับการใช้อำนาจของผู้บริหาร ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อ สิทธิเสรีภาพ ตลอดจน การใช้สิทธิของพลเมือง (civil) ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ส่งผลต่อกันของทั้ง อำนาจอธิปไตย สิทธิ และ พลเมือง จึงถือเป็นหัวใจสำคัญของการพิจารณาฐานะและบทบาทของสิทธิพลเมือง และ อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐว่า มีฐานะอยู่อย่างไร
       
                   
        ได้มีการจัดสรรความสัมพันธ์ของการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ ซึ่งสะท้อนอำนาจอธิปไตยของปวงชนได้อีกทาง ดังกรณีการที่รัฐธรรมนูญ ฯ บัญญัติประกันสิทธิของพลเมืองในทางการเมืองไว้ เพื่อกำหนดเงื่อนไข การใช้อำนาจอธิปไตยในนามประเทศ ผ่านรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๒๔ ที่บัญญัติไว้ความว่า
                   
       “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ
        สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศ หรือ กับองค์การระหว่างประเทศ.
       . หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือ เขตอำนาจแห่งรัฐ
       หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา”

                   
       จึงเป็นเครื่องยืนยันได้อีกทางหนึ่งว่าฝ่ายบริหาร รัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรี ไม่ได้มีอำนาจโดยเด็ดขาดและเป็นอิสระ อย่างความสับสนหลงผิดที่นักการเมืองจำนวนไม่น้อยเข้าใจ หากแต่สามารถกระทำได้ภายใต้เงื่อนไข การถูกตรวจสอบจากองค์กรทางการเมือง อีกทั้งองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญอื่น ๆ สุดแต่ประเด็นที่ตรวจสอบนั้นจะอยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจตามกฎหมาย (jurisdiction) ขององค์กรใด หรือแม้ในกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญกระทบต่อผลประโยชน์ได้เสียของประเทศหรือของประชาชน ก็อาจนำไปสู่การออกเสียงประชามติได้ อันเป็นการสะท้อนถึงอำนาจสูงสุดของปวงชนหรืออธิปไตยของปวงชนที่ฝังลึก (embedded) อยู่ในรัฐธรรมนูญนั่นเอง
       
                   
        กล่าวจำเพาะถึงฐานะและบทบาทที่ลดลงในสิทธิพลเมือง ที่พิจารณาจากสาระแก่นสาร และ การเข้าถึงสิทธิ จากร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ... ที่กล่าวมาข้างต้นย่อมส่งผลกระทบตามต่อ การใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐที่มีฐานะและบทบาทที่ลดลงด้วย ตัวอย่างที่อธิบายความสัมพันธ์ที่ว่านี้จะเห็นได้จากกรณีการมีส่วนร่วมของประชาชนกรณีที่รัฐประเทศไทย เปลี่ยนนโยบายสาธารณะอันเป็นผลเนื่องมาจาก ข้อผูกพันระหว่างประเทศอันเป็นผลจาก การจัดทำข้อตกลงทางการค้าแบบ พหุภาคี หรือ ทวิภาคี เช่น การเปิดเสรีทางการค้าและบริการ ในกิจการสาธารณะประโยชน์ (public services) ในด้านต่าง ๆ อันเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ของ การใช้สิทธิของพลเมืองตามร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ... ที่จำกัดขอบเขตเฉพาะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ หรือกรณีการจำกัดสิทธิของบุคคลอื่นในการเข้าไปใช้สิทธิในการรับฟังและแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการ เฉพาะผู้ได้รับความเสียหายโดยตรง หรือ กรณีการบัญญัติรับรองก่อตั้งอำนาจให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจดำเนินโครงการใด ๆ กรณีที่เห็นว่ามีความจำเป็น และมิให้นำบทบัญญัติในร่างกฎหมายนี้มาใช้บังคับ อันเป็นการเพิ่มอำนาจเด็ดขาดให้แก่ผู้มีอำนาจ (รัฐบาลและคณะรัฐมนตรี) ต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้ฐานะและบทบาทของสิทธิพลเมือง อยู่ในฐานะที่ลดลง อันจะกระทบต่อการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐเป็นผลตามมาในที่สุด
       
       ส่งท้าย และ ข้อเสนอแนะ
       
                   
        สังคมเศรษฐกิจไทย กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการเมือง ภายใต้กระแสการปฎิรูปทางการเมือง ทั้งนี้โดยรัฐธรรมนูญได้ออกแบบกลไกทางนโยบายและการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพื่อมุ่งหวังที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคมวิทยาทางการเมืองใหม่ ให้เปี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะการใช้อำนาจรัฐ ในความพยายามที่อยากจะเปลี่ยนจาก ฐานวัฒนธรรมเชิงอำนาจ การบังคับบัญชา เข้าสู่การเมืองแบบมีส่วนร่วมของการเมืองภาคพลเมือง ประกอบกับการมีองค์กรการตรวจสอบที่หลากหลายที่รัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้น เข้ามาตรวจสอบควบคุมการใช้อำนาจรัฐ ภายใต้เงื่อนไขบรรยากาศการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ การเปิดพื้นที่ และ การสร้างนวัตกรรม การออกแบบเครื่องมือทางนโยบาย จึงมีความสำคัญมากที่จะสามารถตอบสนอง ต่อเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้ได้ ตัวอย่างข้อถกเถียงในเรื่อง การประชาวิจารณ์ หรือ นโยบายการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของสังคมไทย ที่มีมาช้านานจนนำไปสู่การจัดทำร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความเห็นของประชาชน พ.ศ....นั้น นับเป็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางนโยบายที่สำคัญในบริบททางการเมืองไทยยุคปัจจุบัน บทความนี้ผู้เขียนได้หยิบยกประเด็น ฐานะและบทบาท ความสัมพันธ์ของ สิทธิพลเมือง และอำนาจอธิปไตยของปวงชน ขึ้นมาพิจารณา โดยได้พิจารณาจากสารัตถะสิทธิพลเมือง ดังที่ ร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.... ได้บัญญัติและออกแบบไว้ โดยในอนาคตอันใกล้รัฐบาลก็จะเสนอร่างกฎหมายนี้ต่อสภานิติบัญญัติ และ ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
       
                   
        ผลที่ได้จากการศึกษาพบว่า ร่างกฎหมายนี้ยังมีจุดอ่อนที่สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขหลายเรื่อง ตั้งแต่เป้าหมายหรือเหตุผลของการมีกฎหมายนี้มาใช้บังคับ ที่ยังจำกัดวนเวียนอยู่ภายใต้ขอบเขตในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๙ ซึ่งยังไม่ครอบคลุมต่อเป้าหมายสิทธิการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการตัดสินใจในทางการเมือง ถึงกระนั้นก็ตามร่างกฎหมายแม้จะตราขึ้นมารองรับสิทธิการได้รับข้อมูลและการแสดงความคิดเห็น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๕๙ ก็ตาม แต่ในร่างกฎหมายนี้เองยังแยกสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครอง ออกจากการเข้าถึงสิทธิ (access to rights) ด้วยการบัญญัติให้การเข้าถึงสิทธิดังกล่าวต้องก้าวข้ามพ้นเงื่อนไขที่ร่างกฎหมายบัญญัติขึ้นถึง ๓ ประการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อันจะส่งผลให้การเข้าถึงสิทธิของพลเมืองมีอุปสรรค และขวากหนามมากยิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้ามกลับก่อตั้งและเพิ่มอำนาจใหม่ให้แก่คณะรัฐมนตรีที่จะอ้างความจำเป็นในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ได้ โดยไม่จำต้องเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ซึ่งอาจเป็นปัญหาความชอบธรรมที่ร่างกฎหมายนี้จะบัญญัติหลักการทางกฎหมายที่เกินขอบเขตรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๙ ที่ระบุเป็นเหตุผลในการมีร่างกฎหมายนี้มาใช้บังคับ
       
                   
        เมื่อการใช้สิทธิของพลเมือง ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.... ยังมีข้อจำกัดจากการเข้าถึงสิทธิ ขณะที่ร่างกฎหมายกลับก่อตั้ง และเพิ่มอำนาจเด็ดขาดสมบูรณ์ (absolute power) ต่อคณะรัฐมนตรีในการดำเนินโครงการ ตลอดทั้งการจำกัดขอบเขต การเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะยังจำกัดเฉพาะการดำเนินโครงการก่อสร้าง ขณะที่ทิศทางการปรับเปลี่ยนทางนโยบายเศรษฐกิจและสังคมของไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ภายใต้อิทธิพลของเสรีนิยมใหม่ ที่รัฐไทยจะถูกกดดันและปรับตัวให้มีการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน การเข้าถึงตลาดการค้าและบริการ การแปรรูปสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ให้เป็นสินค้า เช่น กรณี การจัดการน้ำ พลังงาน ฯลฯ อันเป็นต้นตอของการเกิดขึ้นของโครงการขนาดใหญ่ และ แนวนโยบายสาธารณะใหม่ ๆ ตามมามากมายหลายเรื่อง อันถือเสมือนเงื่อนปมปัญหาใหม่ที่จะต้องติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด
       
                   
        การเปลี่ยนแปลงบริบททางเศรษฐกิจการเมืองข้างต้นนี้ แทนที่ร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.. จะได้เล็งเห็นถึง เหตุผล ความจำเป็น ในการหยิบยื่น หรือ สร้างความเข้มแข็งให้สิทธิพลเมืองมีฐานะและบทบาทที่สูงขึ้น เพื่อให้การตัดสินในระดับที่สูงกว่านั้น (อธิปไตยของปวงชน) สะท้อนและหล่อหลอมมาจากความต้องการของพลเมือง ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยสูงสุด ที่เปิดกว้างและให้โอกาสพลเมืองได้ใช้ สิทธิตามร่างกฎหมาย เข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมือง ตลอดจนการตัดสินใจที่สำคัญ ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงการใด ๆ ได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นมากเท่าใด ประสิทธิภาพในการใช้อำนาจอธิปไตยของประเทศ ก็จะมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะ การขยายสิทธิเสรีภาพของพลเมือง และการเข้าถึงสิทธิที่ว่านั้นได้มากขึ้นเท่าใด ย่อมส่งผลต่อคุณภาพของการตัดสินใจในระดับที่สูงขึ้นในฐานะประเทศ หรือ การใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน ได้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของประเทศมากยิ่งขึ้นเช่นกัน
       
                   
        ฐานะและบทบาทของทั้ง สิทธิพลเมือง และอธิปไตยของปวงชน แม้จะพิจารณาจาก ร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ... ก็มีนัยสำคัญยิ่งต่อพัฒนาการเศรษฐกิจการเมืองไทย ที่ไม่อาจมองข้ามได้ ผู้เขียนเห็นว่าจุดที่สมควรปรับปรุง ในร่างกฎหมายนี้ ไม่เพียงแต่สาระแก่นสารในบทบัญญัติต่าง ๆ ที่มีปัญหาดังที่กล่าวมาเท่านั้น หากแต่จะต้องมีการทบทวนแก้ไข แม้กระทั่งหลักการ เหตุผลของการมีร่างกฎหมายนี้เสียใหม่ ให้กว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่ และสำหรับการบัญญัติรับรองสิทธิพลเมืองในร่างกฎหมาย ควรกำหนดเป้าหมายไกลเกินกว่าการหยิบยื่นสิทธิให้แก่ปัจเจกบุคคลเท่านั้น หากแต่ต้องมองไกลจนถึง ประเด็นอธิปไตยของปวงชนเป็นจุดหมายปลายทางด้วย การจะทำให้ได้อย่างที่ว่านี้... อย่างน้อยผู้ร่างกฎหมาย ต้องมีความเข้าใจและแยกแยะความแตกต่างระหว่าง กฎหมายโดยรูปแบบ และ กฎหมายเชิงกระบวนการ ให้ได้อย่างท่องแท้เสียก่อน กล่าวโดยสรุปจะต้องมีการปฎิวัติวัฒนธรรมทางกฎหมาย (legal culture) ของไทยเสียใหม่ เราถึงจะได้กฎหมายที่ดี ๆ ไม่เป็นอุปสรรคและต้นตอของความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (structural violence) ที่ทุกฝ่ายอยากจะขจัดเงื่อนไขนี้ให้หมดไปจากสังคมไทย...
       
       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2547

       
       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=661
เวลา 21 เมษายน 2568 14:37 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)