ส่วนที่ 2
วิธีการกำหนด
นโยบายของพรรคการเมือง (พรรคใหม่)
(ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์)
*****************
โดยที่สถานการณ์ปัจจุบัน เป็น ผล มาจากความผิดพลาดในการออกแบบรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2540) ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งได้ทำให้เกิด ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง และทำให้นักธุรกิจนายทุนรวมทุนกันก่อตั้งพรรคการเมือง (และเอาชนะ การเลือกตั้งด้วยการใช้เงินและอิทธิพลในภาวะที่สังคมไทยอ่อนแอ) โดยสามารถเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จในระบบรัฐสภา (parliamentary system) คือ เป็นผู้ใช้อำนาจบริหารในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี และในขณะเดียวกัน ก็เป็นผู้ควบคุมสมาชิกเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จนทำให้สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นสถาบันที่มีหน้าที่ถ่วงดุลการบริหารและ ตรวจสอบการปฏิบัติของผู้ใช้อำนาจบริหาร ได้กลายเป็นเครื่องมือในการใช้อำนาจของกลุ่มนักธุรกิจนายทุนที่เป็นรัฐบาล ทั้งนี้ ไม่ว่าการผูกขาดอำนาจรัฐ จะเป็นการผูกขาดโดยพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวเช่นในปัจจุบัน หรือเป็นการรวมกลุ่มกันผูกขาดอำนาจโดยพรรคการเมืองสองสามพรรค เช่นในระยะก่อนหน้านี้
ดังนั้น พรรคการเมือง(พรรคใหม่) ที่จะเข้ามารับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยมีความมุ่งหมายจะเข้ามาแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง จึงจำเป็นจะต้องมีวิสัยทัศน์-vision ที่มองไกลและมองเห็นปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และในการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง(พรรคใหม่) ดังกล่าว พรรคจะต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ 2 ประการ คือ (1) การกำหนดนโยบายจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง reality อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในขณะนี้ และ
(2) ต้องเสนอ ทางออก ให้แก่คนไทย โดยเป็นทางออกที่จะต้องปฏิบัติได้
(1) การกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง (พรรคใหม่) ต้องคำนึงถึงความเป็นจริง สภาพความเป็นจริง reality ณ ปัจจุบัน ได้แก่ ความเสื่อมของระบบสถาบันการเมือง (รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร) และความเสื่อมในพฤติกรรม(ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว)ของนักการเมือง
ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ)ในภาวะที่สังคมไทยมีสภาพความอ่อนแอ(ยากจนและขาดประสบการณ์ทางการเมือง) และในภาวะที่กลไกการบริหารราชการอยู่ในสภาพที่พิกลพิการ (ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง) ได้เปิดโอกาสและช่องทางให้นักธุรกิจการเมืองในระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง ใช้อำนาจรัฐเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว และทำการทุจริตคอรัปชั่นทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
การทุจริตทางตรง ได้แก่ การทุจริตและการแสวงหาประโยชน์โดยฝ่าฝืนกฎหมาย แต่นักการเมืองได้อาศัยอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองปกปิดข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชน และสาธารณะ และทำลายกลไกในกระบวนการบังคับการตามกฎหมาย (law enforcement) ตลอดจนขัดขวางการทำหน้าที่ของข้าราชการที่สุจริต และให้บำเหน็จและตำแหน่งแก่ข้าราชการที่ช่วยเหลือตน เพื่อทำให้ตนเองไม่ต้องถูกดำเนินคดีและถูกลงโทษตามกฎหมาย
การทุจริตทางอ้อม ได้แก่ การทุจริตและทางแสวงหาประโยชน์ที่อาศัยช่องว่างของกฎหมาย หรือด้วยการตรากฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพรรคพวก โดยบิดเบือนเจตนารมณ์อ้างว่ากระทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติ แต่ได้ซ่อนเร้นผลประโยชน์ทับซ้อนของตนเอง(conflict of interests) รวมทั้ง ทำการถ่ายโอนสิทธิและทรัพยากรของส่วนรวม (สาธารณะ) ไปเป็น กิจการและธุรกิจ ของตนเองและพรรคพวก และนำกิจการและธุรกิจไปขายให้แก่ต่างชาติ ฯลฯ ซึ่งเงื่อนไขการกระทำลักษณะนี้ในบางประเทศ จะเข้าข่ายในลักษณะที่เป็นความผิดที่เรียกกันว่า ทรยศต่อชาติ treason เพราะว่าเป็นความผิดที่เกิดจากการใช้อำนาจรัฐในตำแหน่งหน้าที่สูงสุดเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอันเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศ
เป็นที่ปรากฏ เพื่ออำพรางการทุจริตคอรัปชั่น นักการเมือง (นักธุรกิจนายทุน)ในปัจจุบันได้ดำเนินการออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านสว่าง(ที่เปิดเผย) และด้านมืด(ที่ปกปิด)
นอกเหนือไปจากการแสดงตนว่าเป็น ผู้นำ ที่มีความสามารถด้วยการพูดในที่ต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อถือแล้ว ด้านสว่าง ได้แก่ การใช้นโยบายเอื้ออาทร (populist policy) ด้วยการนำทรัพยากรของชาติมา ลด / แลก / แจก / แถม ให้แก่ประชาชนทั่วไปอย่างปราศจากขอบเขตจำกัด โดยมีความมุ่งหมายที่จะซื้อเสียงและความนิยมให้แก่ตนเองให้มากที่สุด เพื่อการดำรงอยู่ในอำนาจรัฐด้วย การเลือกตั้ง ทั้งนี้ โดยไม่คำนึงว่า นโยบายลด / แลก / แจก / แถม โดยปราศจากขอบเขตเช่นนี้ ย่อมเป็นผลเสียแก่ประเทศในระยะยาวเมื่อทรัพยากรส่วนรวมของชาติได้ตกไปเป็นสิทธิส่วนตัวของกลุ่มนักการเมืองและต่างชาติ โดยไม่สามารถนำกลับคืนมาได้หรือยากที่นำกลับคืนมา
ส่วนด้านมืด ได้แก่ การทำทุจริตคอรัปชั่นและแสวงหาประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งทุจริตที่ผ่าผืนกฎหมายโดยตรง และทุจริตทางนโยบายที่ใช้อำนาจตามบทกฎหมาย(ที่พิกลพิการ) พร้อมทั้งพยายามปกปิดข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชนและสาธารณะ ด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อมิให้บุคคลทั่วไปได้รู้ถึง ความจริง รวมทั้งการข่มขู่ด้วยการฟ้องศาล เป็นคดีหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหายนับเป็นร้อยพันล้านบาท (ทั้งๆ ที่เป็น หน้าที่ ของรัฐบาลที่จะต้องกระทำการอย่างเปิดเผยและโปร่งใสและต้องอธิบายต่อประชาชน) และที่ชัดแจ้งที่สุด ก็ได้แก่ การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อหลีกหนีการอภิปรายสาธารณะในสภาผู้แทนราษฎร ทั้ง ๆ ที่พรรครัฐบาลมีเสียงข้างมากถึง 377 เสียงในจำนวน 500 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของการยุบสภาในระบบรัฐสภา ทั้งนี้ โดยหวังให้มีการเลือกตั้ง ครั้งใหม่ และคาดหมายว่าด้วยการใช้ นโยบายเอื้ออาทร (ลด / แลก / แจก / แถม) ที่ไร้ขอบเขต จะทำให้พรรคของตนเองได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาครองอำนาจ และทำให้ตนสามารถนำคะแนนเสียง(จากการเลือกตั้ง)มาลบล้างการกล่าวหาเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นของตนได้ โดยไม่ต้องชี้แจงและพิสูจน์การกระทำของตน
(2) การกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง (พรรคใหม่) ต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและปฏิบัติได้ ในการกำหนดนโยบาย พรรคฯ จะต้องอธิบายให้ประชาชนเห็นและเข้าใจได้ว่า การเสนอนโยบายของพรรคการเมือง(พรรคใหม่) ที่ประสงค์จะเข้ามาแก้ปัญหาให้บ้านเมือง จะต้องมี มาตรการ ที่สามารถแก้ปัญหาได้ ในการนี้ พรรคการเมือง (พรรคใหม่) ควรกำหนดนโยบาย โดยแยกออกเป็น 3 ส่วน ตามลำดับน้ำหนักของความสำคัญของปัญหาบ้านเมือง คือ (1) การปฏิรูปการเมือง (2) นโยบายระยะสั้นช่วงการปฏิรูปการเมือง และ (3) การปรับ นโยบาย เอื้ออาทร ที่รัฐบาลในปัจจุบันใช้อยู่
(ก) การปฏิรูปการเมือง จะต้องอยู่ในลำดับแรก การปฏิรูปการเมืองได้แก่
การปรับเปลี่ยน ระบบสถาบันการเมือง(ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ)
สถาบันการเมือง (ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ) เป็นองค์กรสูงสุดของประเทศ ซึ่งเป็น ที่มา source ของการใช้อำนาจรัฐ ดังนั้น ถ้าสถาบันการเมือง (ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ) ไม่ทำงานตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คือไม่ใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติแล้ว ปัญหาทั้งหมดของประเทศ ไม่ว่าปัญหาสังคมหรือปัญหาเศรษฐกิจหรือปัญหาการบริหารหรือปัญหาใดก็ตาม ย่อมไม่อาจแก้ได้
ในการปฏิรูปการเมือง(การปรับเปลี่ยน ระบบสถาบันการเมือง) พรรคการเมือง (พรรคใหม่) จะต้องสำนึกถึงความเป็นจริงในทางพฤติกรรมของมนุษย์ (สังคมวิทยา)ว่า นักการเมืองในปัจจุบันที่มีอำนาจอยู่แล้วในมือ ย่อมไม่ประสงค์และไม่มีความจริงใจที่จะ ปฏิรูปการเมือง เพราะการปฏิรูปการเมืองจะเป็นเหตุให้ตนเองหมดอำนาจ ทั้งนี้ โดยมีความหมายรวมไปถึงบรรดานักการเมืองในพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่กำลังรอการกลับเข้าสู่อำนาจรัฐตามแบบเดิม ๆ ด้วย
การปฏิรูปการเมือง ก็เสมือนนิยายเรื่องหนูกับแมวว่า ใครจะเอา กระพรวน ไปผูกคอแมว
การปฏิรูปการเมืองมิใช่เริ่มต้นที่ปัญหาว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีสาระอย่างไร หรือจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในประเด็นใดบ้าง (ทั้งนี้ ตามที่นักการเมืองชักชวนให้ทำกันอยู่ในปัจจุบัน)
ในการประชุมของหนูทั้งหลายที่ประสงค์จะเอากระพรวนไปผูกคอแมว คงไม่เริ่มต้นด้วยการพิจารณาปัญหาว่า กระพรวน ที่จะนำไปผูกคอแมวนั้น จะเป็นกระพรวนใบใหญ่หรือใบเล็ก และกระพรวนนั้นจะมีเสียงดังไปไกลขนาดไหน แต่ที่ประชุมหนูคงต้องเริ่มต้นพิจารณาเป็นเบื้องต้นเสียก่อนว่า ใคร (หนูตัวไหน)จะเอากระพรวนไปผูกคอแมวได้ และ (หนูตัวนั้น) จะนำกระพรวนไปผูกได้อย่างไร เพราะถ้าหนูคิดตอบปัญหาเบื้องต้นไม่ได้เสียแล้ว ก็ป่วยการที่จะไปคิดว่า กระพรวนที่จะนำไปผูกคอแมวจะเป็นกระพรวนใบใหญ่หรือใบเล็ก และเสียงจะดังไปไกลหรือไม่ไกล
ปัญหาของการปฏิรูปการเมืองก็เช่นกัน ที่ประชุม (หนู)คงต้องพิจารณาว่า ใครจะเป็นผู้ทำให้นักการเมืองนายทุนธุรกิจ(แมว)ที่ยึดครองผูกขาดอำนาจรัฐและใช้อำนาจรัฐทำการทุจริตคอรัปชั่นโดยไม่มีใครจับได้อยู่ในขณะนี้ จะสละผลประโยชน์ของตนเองมาการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ให้คนไทย)ที่ไม่มีการผูกขาดอำนาจและให้มีกลไกตรวจจับการคอรัปชั่นของนักการเมืองเอง พูดง่าย ๆ ก็คือ ใครจะทำให้แมวเลิกจับหนูได้บ้าง ถ้าทำไม่ได้ ก็ต้องคิดต่อไปว่า ใครจะมาเขียน รธน. ใหม่ให้คนไทย (หนูตัวไหน จะอาสาเอากระพรวนไปผูกคอแมว) และในการตั้ง องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องจัดองค์กรในรูปแบบใด ที่นักการเมือง (นักธุรกิจนายทุน)จะไม่มีโอกาส (หรือมีโอกาสน้อย) ในการแทรกแซงการเขียนรัฐธรรมนูญ (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) เพื่อให้กลไกในรัฐธรรมนูญเป็นประโยชน์แก่ตนเอง (หนูตัวนั้น จะมี วิธีการเอากระพรวนไปผูกคอแมวไว้ได้อย่างไร)
คนไทยได้มีประสบการณ์มาแล้วครั้งหนึ่ง คือ การปฏิรูปการเมืองครั้งที่หนึ่ง โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ - สสร. (พ.ศ. 2539) ซึ่งผลของการเขียนรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น ได้ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ฉบับปัจจุบัน ได้สร้างระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ ให้คนไทยทั้งชาติ
คนไทยคงต้องศึกษาว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญ - ส.ส.ร. (พ.ศ. 2539) มีโครงสร้างอย่างไร มีองค์ประกอบอย่างไร และทำไมสมาชิกในสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 99 คน จึงได้เขียน ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง จนทำให้นักธุรกิจนายทุนยึดครองอำนาจรัฐและเกิดการทุจริตคอรัปชั่นอย่างมากมายในปัจจุบัน
คนไทยต้องตระหนักว่า ในอนาคต การปฏิรูปการเมืองจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จขึ้นอยู่กับ องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยคนไทยจะต้องตรวจสอบว่า องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีการจัดองค์กรและวิธีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร จึงจะขจัดหรือลดโอกาสของนักการเมือง (นักธุรกิจนายทุน) ที่กุมอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบัน ที่จะแอบแฝงเข้ามาใช้อิทธิพลบิดเบือนการปฏิรูปการเมือง (การออกแบบ-design รธน.) เพื่อรักษาที่มาแห่งอำนาจของตนและทำให้การปฏิรูปการเมืองไม่เกิดผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย
ผู้เขียนเห็นว่า ถ้าคนไทยอยากจะให้การปฏิรูปการเมืองครั้งที่สองประสบความสำเร็จ คนไทยจะต้องทบทวนกรอบความคิด ที่เรียกกันว่า กระบวนทัศน์ paradigm ในการจัดรูปแบบของ องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ เสียใหม่ โดยลบล้าง กรอบความคิดเดิม ๆ old paradigm ไปสู่ กระบวนทัศน์ใหม่ new paradigm เพราะมิฉะนั้นแล้ว คนไทยก็คงจะประสบกับความผิดหวังในการปฏิรูปการเมืองอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน [หมายเหตุ :- อะไรคือ
old paradigm และอะไร คือ new paradigm โปรดดูส่วนที่ 3]
(ข) นโยบายระยะสั้น นโยบายระยะสั้น คือ นโยบายที่พรรคการเมืองสามารถจะทำสำเร็จได้ภายในระยะเวลาของการปฏิรูปการเมือง(ประมาณ 1 ปีครึ่ง) โดยพรรคฯ จะต้องสัญญากับผู้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งว่า ถ้าหากพรรคฯ ได้รับเลือกตั้งเข้ามา พรรคจะทำให้สำเร็จได้อย่างไร ภายในระยะอันจำกัด
ในการเสนอนโยบายระยะสั้นเพื่อการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคการเมือง(พรรคใหม่)จะต้องเสนอมาตรการที่แน่นอนใน จุดมุ่งหมาย ต่าง ๆ เช่น จะทำให้การบริหารประเทศมีความโปร่งใส transparency ได้อย่างไร / จะแก้ไขปัญหาความยากจนของคนไทยในช่วงระยะสั้นเท่าที่มีอยู่ได้อย่างไร ฯลฯ ทั้งนี้ โดยพรรคฯ จะต้องตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในขณะนี้ พร้อมทั้งสำรวจตรวจดูตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และควรเสนอแก้ไขกฎหมายหรือเสนอมาตรการที่เป็นรูปธรรม / เห็นชัด / และทำได้จริง [หมายเหตุ :- โปรดดูส่วนที่ 4]
(ค) การปรับ นโยบายเอื้ออาทร และนโยบายที่รัฐบาลปัจจุบันกระทำอยู่ ในการแก้ปัญหาข้อเสียของ นโยบายเอื้ออาทร(ที่ปราศจากขอบเขต)ที่รัฐบาล(เผด็จการ)ปัจจุบันใช้อยู่ในขณะนี้ พรรคการเมือง(พรรคใหม่) ต้องยอมรับว่า นโยบายเอื้ออาทรที่นักการเมืองนายทุนธุรกิจที่ผูกขาดอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบันนำมาใช้ (โดยมีเจตนาอำพรางและปิดบังการทุจริตคอรัปชั่น) ได้ผลค่อนข้างมาก แม้ว่าในระยะยาว นโยบายนี้จะทำให้เกิดผลเสียหายแก่ประเทศอย่างร้ายแรงก็ตาม ทั้งนี้ เพราะสังคมไทยมีความอ่อนแอ (ยากจนและขาดประสบการณ์ทางการเมือง) ดังนั้น ผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศในอนาคต จึงเป็นสิ่งที่ไกลตัว สำหรับคนจำนวนมากในปัจจุบัน
นโยบายเอื้ออาทร(ที่ปราศจากขอบเขต)ได้ทำให้พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลและผูกขาดอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบันได้รับคะแนนนิยม (popularity) จากประชาชน ซึ่งพรรคการเมืองดังกล่าวก็ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างอยู่เสมอ ดังนั้น การที่พรรคการเมือง(พรรคใหม่) จะปรับเปลี่ยนแก้ไขนโยบายประชานิยม(ที่ปราศจากขอบเขต) ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ จึงย่อมกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนที่เคยได้รับประโยชน์อยู่ในขณะนี้
ผู้เขียนจึงเห็นว่า พรรคการเมือง(พรรคใหม่) ควรกำหนดนโยบายในการปรับเปลี่ยน นโยบายเอื้ออาทร (ที่ปราศจากขอบเขต) อย่างระมัดระวัง และควรกำหนดไว้เพียงกว้าง ๆ ว่า พรรคการเมือง(พรรคใหม่) จะดำเนินการต่อไป แต่จะเข้ามาตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นที่ซุกซ่อนอยู่ในการดำเนินการตามนโยบายเอื้ออาทรในด้านต่าง ๆ และจะปรับเปลี่ยนการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวให้เหมาะสมและให้สอดคล้องกับความเป็นจริงตามความสามารถในการหา รายได้ของรัฐ โดยจะประสานประโยชน์ระหว่างประโยชน์ส่วนรวมในระยะยาวกับประโยชน์ของประชาชน(ปัจเจกชน) ในระยะสั้นต่อไป
***********************************
|