ส่วนที่ 2

1 ตุลาคม 2549 21:33 น.

       ส่วนที่ 2
       
       วิธีการกำหนด
       
       นโยบายของพรรคการเมือง (พรรคใหม่)
       
       (ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์)
       
       *****************
       โดยที่สถานการณ์ปัจจุบัน เป็น “ผล” มาจากความผิดพลาดในการออกแบบรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2540) ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งได้ทำให้เกิด “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง” และทำให้นักธุรกิจนายทุนรวมทุนกันก่อตั้งพรรคการเมือง (และเอาชนะ “การเลือกตั้ง”ด้วยการใช้เงินและอิทธิพลในภาวะที่สังคมไทยอ่อนแอ) โดยสามารถเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จในระบบรัฐสภา (parliamentary system) คือ เป็นผู้ใช้อำนาจบริหารในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี และในขณะเดียวกัน ก็เป็นผู้ควบคุมสมาชิกเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จนทำให้สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นสถาบันที่มีหน้าที่ถ่วงดุลการบริหารและ ตรวจสอบการปฏิบัติของผู้ใช้อำนาจบริหาร ได้กลายเป็นเครื่องมือในการใช้อำนาจของกลุ่มนักธุรกิจนายทุนที่เป็นรัฐบาล ทั้งนี้ ไม่ว่าการผูกขาดอำนาจรัฐ จะเป็นการผูกขาดโดยพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวเช่นในปัจจุบัน หรือเป็นการรวมกลุ่มกันผูกขาดอำนาจโดยพรรคการเมืองสองสามพรรค เช่นในระยะก่อนหน้านี้
       ดังนั้น พรรคการเมือง(พรรคใหม่) ที่จะเข้ามารับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยมีความมุ่งหมายจะเข้ามาแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง จึงจำเป็นจะต้องมีวิสัยทัศน์-vision ที่มองไกลและมองเห็นปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และในการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง(พรรคใหม่) ดังกล่าว พรรคจะต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ 2 ประการ คือ (1) การกำหนดนโยบายจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง – reality อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในขณะนี้ และ
       (2) ต้องเสนอ “ทางออก” ให้แก่คนไทย โดยเป็นทางออกที่จะต้องปฏิบัติได้
       
       (1) การกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง (พรรคใหม่) ต้องคำนึงถึงความเป็นจริง สภาพความเป็นจริง – reality ณ ปัจจุบัน ได้แก่ ความเสื่อมของระบบสถาบันการเมือง (รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร) และความเสื่อมในพฤติกรรม(ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว)ของนักการเมือง
       “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ)”ในภาวะที่สังคมไทยมีสภาพความอ่อนแอ(ยากจนและขาดประสบการณ์ทางการเมือง) และในภาวะที่กลไกการบริหารราชการอยู่ในสภาพที่พิกลพิการ (ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง) ได้เปิดโอกาสและช่องทางให้นักธุรกิจการเมืองในระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง ใช้อำนาจรัฐเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว และทำการทุจริตคอรัปชั่นทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
       การทุจริตทางตรง ได้แก่ การทุจริตและการแสวงหาประโยชน์โดยฝ่าฝืนกฎหมาย แต่นักการเมืองได้อาศัยอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองปกปิดข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชน และสาธารณะ และทำลายกลไกในกระบวนการบังคับการตามกฎหมาย (law enforcement) ตลอดจนขัดขวางการทำหน้าที่ของข้าราชการที่สุจริต และให้บำเหน็จและตำแหน่งแก่ข้าราชการที่ช่วยเหลือตน เพื่อทำให้ตนเองไม่ต้องถูกดำเนินคดีและถูกลงโทษตามกฎหมาย
       การทุจริตทางอ้อม ได้แก่ การทุจริตและทางแสวงหาประโยชน์ที่อาศัยช่องว่างของกฎหมาย หรือด้วยการตรากฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพรรคพวก โดยบิดเบือนเจตนารมณ์อ้างว่ากระทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติ แต่ได้ซ่อนเร้นผลประโยชน์ทับซ้อนของตนเอง(conflict of interests) รวมทั้ง ทำการถ่ายโอนสิทธิและทรัพยากรของส่วนรวม (สาธารณะ) ไปเป็น “กิจการและธุรกิจ” ของตนเองและพรรคพวก และนำกิจการและธุรกิจไปขายให้แก่ต่างชาติ ฯลฯ ซึ่งเงื่อนไขการกระทำลักษณะนี้ในบางประเทศ จะเข้าข่ายในลักษณะที่เป็นความผิดที่เรียกกันว่า ทรยศต่อชาติ – treason เพราะว่าเป็นความผิดที่เกิดจากการใช้อำนาจรัฐในตำแหน่งหน้าที่สูงสุดเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอันเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศ
       เป็นที่ปรากฏ เพื่ออำพรางการทุจริตคอรัปชั่น นักการเมือง (นักธุรกิจนายทุน)ในปัจจุบันได้ดำเนินการออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านสว่าง(ที่เปิดเผย) และด้านมืด(ที่ปกปิด)
       
นอกเหนือไปจากการแสดงตนว่าเป็น “ผู้นำ” ที่มีความสามารถด้วยการพูดในที่ต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อถือแล้ว ด้านสว่าง ได้แก่ การใช้นโยบายเอื้ออาทร (populist policy) ด้วยการนำทรัพยากรของชาติมา ลด / แลก / แจก / แถม ให้แก่ประชาชนทั่วไปอย่างปราศจากขอบเขตจำกัด โดยมีความมุ่งหมายที่จะซื้อเสียงและความนิยมให้แก่ตนเองให้มากที่สุด เพื่อการดำรงอยู่ในอำนาจรัฐด้วย “การเลือกตั้ง” ทั้งนี้ โดยไม่คำนึงว่า นโยบายลด / แลก / แจก / แถม โดยปราศจากขอบเขตเช่นนี้ ย่อมเป็นผลเสียแก่ประเทศในระยะยาวเมื่อทรัพยากรส่วนรวมของชาติได้ตกไปเป็นสิทธิส่วนตัวของกลุ่มนักการเมืองและต่างชาติ โดยไม่สามารถนำกลับคืนมาได้หรือยากที่นำกลับคืนมา
       ส่วนด้านมืด ได้แก่ การทำทุจริตคอรัปชั่นและแสวงหาประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งทุจริตที่ผ่าผืนกฎหมายโดยตรง และทุจริตทางนโยบายที่ใช้อำนาจตามบทกฎหมาย(ที่พิกลพิการ) พร้อมทั้งพยายามปกปิดข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชนและสาธารณะ ด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อมิให้บุคคลทั่วไปได้รู้ถึง “ความจริง” รวมทั้งการข่มขู่ด้วยการฟ้องศาล เป็นคดีหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหายนับเป็นร้อยพันล้านบาท (ทั้งๆ ที่เป็น “หน้าที่” ของรัฐบาลที่จะต้องกระทำการอย่างเปิดเผยและโปร่งใสและต้องอธิบายต่อประชาชน) และที่ชัดแจ้งที่สุด ก็ได้แก่ การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อหลีกหนีการอภิปรายสาธารณะในสภาผู้แทนราษฎร ทั้ง ๆ ที่พรรครัฐบาลมีเสียงข้างมากถึง 377 เสียงในจำนวน 500 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของการยุบสภาในระบบรัฐสภา ทั้งนี้ โดยหวังให้มีการ“เลือกตั้ง” ครั้งใหม่ และคาดหมายว่าด้วยการใช้ นโยบายเอื้ออาทร (ลด / แลก / แจก / แถม) ที่ไร้ขอบเขต จะทำให้พรรคของตนเองได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาครองอำนาจ และทำให้ตนสามารถนำคะแนนเสียง(จากการเลือกตั้ง)มาลบล้างการกล่าวหาเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นของตนได้ โดยไม่ต้องชี้แจงและพิสูจน์การกระทำของตน
       

       (2) การกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง (พรรคใหม่) ต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและปฏิบัติได้ ในการกำหนดนโยบาย พรรคฯ จะต้องอธิบายให้ประชาชนเห็นและเข้าใจได้ว่า การเสนอนโยบายของพรรคการเมือง(พรรคใหม่) ที่ประสงค์จะเข้ามาแก้ปัญหาให้บ้านเมือง จะต้องมี “มาตรการ” ที่สามารถแก้ปัญหาได้ ในการนี้ พรรคการเมือง (พรรคใหม่) ควรกำหนดนโยบาย โดยแยกออกเป็น 3 ส่วน ตามลำดับน้ำหนักของความสำคัญของปัญหาบ้านเมือง คือ (1) การปฏิรูปการเมือง (2) นโยบายระยะสั้นช่วงการปฏิรูปการเมือง และ (3) การปรับ “นโยบาย เอื้ออาทร” ที่รัฐบาลในปัจจุบันใช้อยู่
       
       (ก) การปฏิรูปการเมือง จะต้องอยู่ในลำดับแรก การปฏิรูปการเมืองได้แก่
       การปรับเปลี่ยน “ระบบสถาบันการเมือง(ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ)”
       สถาบันการเมือง (ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ) เป็นองค์กรสูงสุดของประเทศ ซึ่งเป็น “ที่มา – source” ของการใช้อำนาจรัฐ ดังนั้น ถ้าสถาบันการเมือง (ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ) ไม่ทำงานตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คือไม่ใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติแล้ว ปัญหาทั้งหมดของประเทศ ไม่ว่าปัญหาสังคมหรือปัญหาเศรษฐกิจหรือปัญหาการบริหารหรือปัญหาใดก็ตาม ย่อมไม่อาจแก้ได้
       
ในการปฏิรูปการเมือง(การปรับเปลี่ยน “ระบบสถาบันการเมือง”) พรรคการเมือง (พรรคใหม่) จะต้องสำนึกถึงความเป็นจริงในทางพฤติกรรมของมนุษย์ (สังคมวิทยา)ว่า นักการเมืองในปัจจุบันที่มีอำนาจอยู่แล้วในมือ ย่อมไม่ประสงค์และไม่มีความจริงใจที่จะ “ปฏิรูปการเมือง” เพราะการปฏิรูปการเมืองจะเป็นเหตุให้ตนเองหมดอำนาจ ทั้งนี้ โดยมีความหมายรวมไปถึงบรรดานักการเมืองในพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่กำลังรอการกลับเข้าสู่อำนาจรัฐตามแบบเดิม ๆ ด้วย
       การปฏิรูปการเมือง ก็เสมือนนิยายเรื่องหนูกับแมวว่า ใครจะเอา “กระพรวน” ไปผูกคอแมว
       
การปฏิรูปการเมืองมิใช่เริ่มต้นที่ปัญหาว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีสาระอย่างไร หรือจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในประเด็นใดบ้าง (ทั้งนี้ ตามที่นักการเมืองชักชวนให้ทำกันอยู่ในปัจจุบัน)
       ในการประชุมของหนูทั้งหลายที่ประสงค์จะเอากระพรวนไปผูกคอแมว คงไม่เริ่มต้นด้วยการพิจารณาปัญหาว่า “กระพรวน” ที่จะนำไปผูกคอแมวนั้น จะเป็นกระพรวนใบใหญ่หรือใบเล็ก และกระพรวนนั้นจะมีเสียงดังไปไกลขนาดไหน แต่ที่ประชุมหนูคงต้องเริ่มต้นพิจารณาเป็นเบื้องต้นเสียก่อนว่า ใคร (หนูตัวไหน)จะเอากระพรวนไปผูกคอแมวได้ และ (หนูตัวนั้น) จะนำกระพรวนไปผูกได้อย่างไร เพราะถ้าหนูคิดตอบปัญหาเบื้องต้นไม่ได้เสียแล้ว ก็ป่วยการที่จะไปคิดว่า กระพรวนที่จะนำไปผูกคอแมวจะเป็นกระพรวนใบใหญ่หรือใบเล็ก และเสียงจะดังไปไกลหรือไม่ไกล
       ปัญหาของการปฏิรูปการเมืองก็เช่นกัน ที่ประชุม (หนู)คงต้องพิจารณาว่า ใครจะเป็นผู้ทำให้นักการเมืองนายทุนธุรกิจ(แมว)ที่ยึดครองผูกขาดอำนาจรัฐและใช้อำนาจรัฐทำการทุจริตคอรัปชั่นโดยไม่มีใครจับได้อยู่ในขณะนี้ จะสละผลประโยชน์ของตนเองมาการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ให้คนไทย)ที่ไม่มีการผูกขาดอำนาจและให้มีกลไกตรวจจับการคอรัปชั่นของนักการเมืองเอง พูดง่าย ๆ ก็คือ ใครจะทำให้แมวเลิกจับหนูได้บ้าง ถ้าทำไม่ได้ ก็ต้องคิดต่อไปว่า ใครจะมาเขียน รธน. ใหม่ให้คนไทย (หนูตัวไหน จะอาสาเอากระพรวนไปผูกคอแมว) และในการตั้ง “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” จะต้องจัดองค์กรในรูปแบบใด ที่นักการเมือง (นักธุรกิจนายทุน)จะไม่มีโอกาส (หรือมีโอกาสน้อย) ในการแทรกแซงการเขียนรัฐธรรมนูญ (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) เพื่อให้กลไกในรัฐธรรมนูญเป็นประโยชน์แก่ตนเอง (หนูตัวนั้น จะมี “วิธีการ”เอากระพรวนไปผูกคอแมวไว้ได้อย่างไร)
       คนไทยได้มีประสบการณ์มาแล้วครั้งหนึ่ง คือ การปฏิรูปการเมืองครั้งที่หนึ่ง” โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ - สสร. (พ.ศ. 2539) ซึ่งผลของการเขียนรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น ได้ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ฉบับปัจจุบัน ได้สร้างระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ ให้คนไทยทั้งชาติ
       คนไทยคงต้องศึกษาว่า “สภาร่างรัฐธรรมนูญ - ส.ส.ร. (พ.ศ. 2539)” มีโครงสร้างอย่างไร มีองค์ประกอบอย่างไร และทำไมสมาชิกในสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 99 คน จึงได้เขียน “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง” จนทำให้นักธุรกิจนายทุนยึดครองอำนาจรัฐและเกิดการทุจริตคอรัปชั่นอย่างมากมายในปัจจุบัน
       คนไทยต้องตระหนักว่า ในอนาคต การปฏิรูปการเมืองจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จขึ้นอยู่กับ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” โดยคนไทยจะต้องตรวจสอบว่า องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีการจัดองค์กรและวิธีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร จึงจะขจัดหรือลดโอกาสของนักการเมือง (นักธุรกิจนายทุน) ที่กุมอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบัน ที่จะแอบแฝงเข้ามาใช้อิทธิพลบิดเบือนการปฏิรูปการเมือง (การออกแบบ-design รธน.) เพื่อรักษา“ที่มา”แห่งอำนาจของตนและทำให้การปฏิรูปการเมืองไม่เกิดผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย
       ผู้เขียนเห็นว่า ถ้าคนไทยอยากจะให้การปฏิรูปการเมืองครั้งที่สองประสบความสำเร็จ คนไทยจะต้องทบทวนกรอบความคิด ที่เรียกกันว่า “กระบวนทัศน์ – paradigm” ในการจัดรูปแบบของ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” เสียใหม่ โดยลบล้าง “กรอบความคิดเดิม ๆ old paradigm” ไปสู่ “กระบวนทัศน์ใหม่ – new paradigm” เพราะมิฉะนั้นแล้ว คนไทยก็คงจะประสบกับความผิดหวังในการปฏิรูปการเมืองอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน [หมายเหตุ :- อะไรคือ
       old paradigm และอะไร คือ new paradigm โปรดดูส่วนที่ 3]
       
       (ข) นโยบายระยะสั้น นโยบายระยะสั้น คือ นโยบายที่พรรคการเมืองสามารถจะทำสำเร็จได้ภายในระยะเวลาของการปฏิรูปการเมือง(ประมาณ 1 ปีครึ่ง) โดยพรรคฯ จะต้องสัญญากับผู้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งว่า ถ้าหากพรรคฯ ได้รับเลือกตั้งเข้ามา พรรคจะทำให้สำเร็จได้อย่างไร ภายในระยะอันจำกัด
       ในการเสนอนโยบายระยะสั้นเพื่อการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคการเมือง(พรรคใหม่)จะต้องเสนอมาตรการที่แน่นอนใน “จุดมุ่งหมาย” ต่าง ๆ เช่น จะทำให้การบริหารประเทศมีความโปร่งใส – transparency ได้อย่างไร / จะแก้ไขปัญหาความยากจนของคนไทยในช่วงระยะสั้นเท่าที่มีอยู่ได้อย่างไร ฯลฯ ทั้งนี้ โดยพรรคฯ จะต้องตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในขณะนี้ พร้อมทั้งสำรวจตรวจดูตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และควรเสนอแก้ไขกฎหมายหรือเสนอมาตรการที่เป็นรูปธรรม / เห็นชัด / และทำได้จริง [หมายเหตุ :- โปรดดูส่วนที่ 4]
       
       (ค) การปรับ “นโยบายเอื้ออาทร” และนโยบายที่รัฐบาลปัจจุบันกระทำอยู่ ในการแก้ปัญหาข้อเสียของ “นโยบายเอื้ออาทร(ที่ปราศจากขอบเขต)”ที่รัฐบาล(เผด็จการ)ปัจจุบันใช้อยู่ในขณะนี้ พรรคการเมือง(พรรคใหม่) ต้องยอมรับว่า นโยบายเอื้ออาทรที่นักการเมืองนายทุนธุรกิจที่ผูกขาดอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบันนำมาใช้ (โดยมีเจตนาอำพรางและปิดบังการทุจริตคอรัปชั่น) ได้ผลค่อนข้างมาก แม้ว่าในระยะยาว นโยบายนี้จะทำให้เกิดผลเสียหายแก่ประเทศอย่างร้ายแรงก็ตาม ทั้งนี้ เพราะสังคมไทยมีความอ่อนแอ (ยากจนและขาดประสบการณ์ทางการเมือง) ดังนั้น ผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศในอนาคต จึงเป็นสิ่งที่ไกลตัว สำหรับคนจำนวนมากในปัจจุบัน
       
นโยบายเอื้ออาทร(ที่ปราศจากขอบเขต)ได้ทำให้พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลและผูกขาดอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบันได้รับคะแนนนิยม (popularity) จากประชาชน ซึ่งพรรคการเมืองดังกล่าวก็ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างอยู่เสมอ ดังนั้น การที่พรรคการเมือง(พรรคใหม่) จะปรับเปลี่ยนแก้ไขนโยบายประชานิยม(ที่ปราศจากขอบเขต) ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ จึงย่อมกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนที่เคยได้รับประโยชน์อยู่ในขณะนี้
       ผู้เขียนจึงเห็นว่า พรรคการเมือง(พรรคใหม่) ควรกำหนดนโยบายในการปรับเปลี่ยน “นโยบายเอื้ออาทร (ที่ปราศจากขอบเขต)” อย่างระมัดระวัง และควรกำหนดไว้เพียงกว้าง ๆ ว่า พรรคการเมือง(พรรคใหม่) จะดำเนินการต่อไป แต่จะเข้ามาตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นที่ซุกซ่อนอยู่ในการดำเนินการตามนโยบายเอื้ออาทรในด้านต่าง ๆ และจะปรับเปลี่ยนการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวให้เหมาะสมและให้สอดคล้องกับความเป็นจริงตามความสามารถในการหา “รายได้ของรัฐ” โดยจะประสานประโยชน์ระหว่างประโยชน์ส่วนรวมในระยะยาวกับประโยชน์ของประชาชน(ปัจเจกชน) ในระยะสั้นต่อไป
       ***********************************


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=977
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 21:52 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)